ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส

รัฐธรรมนูญปาลิเม็นต์ของฝรั่งเศส ได้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๗๕ และยังใช้อยู่จนเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙)

เมื่อฝรั่งเศสร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เมื่อ ๖๐ ปีเศษมาแล้วนั้น ก็ได้ใช้รัฐธรรมนูญอังกฤษเป็นแบบอย่าง คล้ายกับที่อเมริกันได้เอาอย่างเกือบร้อยปีก่อนนั้น แต่ฝรั่งเศสเอาอย่างภายหลังอเมริกาช้านาน จึงเข้าใจวิธีการของคณะเสนาบดี (แคบิเน็ตซีสเต็ม Cabinet System) ดีกว่าอเมริกันเข้าใจเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญอเมริกัน เหตุฉนี้รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส จึงคล้ายรัฐธรรมนูญอังกฤษมากกว่า.

การปกครองในประเทศฝรั่งเศสตามรัฐธรรมนูญที่กล่าวนี้ เปรซิเด็นต์แห่งริปับลิคมีตำแหน่งอย่างเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินในประเทศอังกฤษ คือเป็นหัวหน้าของรัฐ และอยู่เหนือชมรมการเมืองทั้งหลาย และเป็นผู้แทนของชาติทั้งชาติ ส่วนงานปกครองของรัฐบาลนั้น ตกเป็นหน้าที่ของอัครเสนาบดี และของเสนาบดีอื่น ๆ ที่รวมกันเป็นคณะ เปรซิเด็นต์เป็นผู้ตั้งอัครเสนาบดี อย่างเดียวกับที่พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ทรงตั้งอัครเสนาบดีของพระองค์นั้นเอง ส่วนเสนาบดีอื่น ๆ ในคณะนั้น อัครเสนาบดีเป็นผู้เลือก ทั้งในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส.

เปรซิเด็นต์มีนามเป็นหัวหน้าของรัฐบาล แต่การงานทุกอย่างที่ทำในนามของเปรซิเด็นต์นั้น ต้องมีเสนาบดีเซ็นชื่อกำกับคนหนึ่ง และเสนาบดีคนนั้นเป็นผู้รับผิดชอบเต็มที่.

สิทธิและอำนาจที่จะบัญญัติกฎหมายและที่จะกำหนดให้เก็บภาษีอากรนั้น เป็นสิทธิและอำนาจของปาลิเม็นต์ ซึ่งในประเทศฝรั่งเศสมี ๒ สภาตามรัฐธรรมนูญ คือสภาผู้แทน ๑ สภาผู้เฒ่า ๑ (The Chamber of Deputies and the Senate)

อัครเสนาบดีฝรั่งเศสเหมือนอัครเสนาบดีอังกฤษ ในข้อที่รับผิดชอบต่อปาลิเม็นต์ อัครเสนาบดีเอง ก็เป็นสมาชิกปาลิเม็นต์ และพวกเสนาบดี ก็เลือกจากพวกหัวหน้าชมรมการเมืองที่อยู่ในปาลิเม็นต์ทั้งนั้น.

อัครเสนาบดีฝรั่งเศส จะอยู่ในตำแหน่งไปได้ ก็แต่ในขณะที่สภาผู้แทนให้ความไว้วางใจเชื่อถือ ถ้าส่วนมากในสภาผู้แทนกลับเป็นอริ และเกิดมีโหวตไม่ไว้วางใจขึ้นเมื่อไร อัครเสนาบดีฝรั่งเศส ก็ต้องลาออกทุกที ทำอย่างอื่นไม่ได้.

ฝรั่งเศสได้เอาอย่างรัฐธรรมนูญอังกฤษในข้อสำคัญๆ โดยมาก แต่เมื่อทำเข้าจริง วิธีของประเทศทั้ง ๒ ก็กลายเป็นผิดกันไปไกลในข้อสำคัญหลายข้อ.

ในประเทศอังกฤษ คณะเสนาบดีแข็งแรงมาก และรัฐบาลชุดหนึ่ง ๆ มักจะอยู่ในตำแหน่งตั้ง ๔ ปี ๕ ปี เมื่ออยู่ในตำแหน่งก็มีอำนาจเกือบจะเต็มที่ที่จะดำเนินประศาสโนบายไปตามที่เห็นชอบ น้อยนักที่จะทำไปไม่ได้.

ในประเทศฝรั่งเศส คณะเสนาบดีมักจะอ่อนแอ ชุดหนึ่ง ๆ อยู่ในตำแหน่งคิดถัวเพียง ๙ เดือน บางทีอยู่ได้เพียง ๖ เดือนก็ต้องออกทั้งชุด ถ้ารัฐบาลชุดไหนอยู่ได้ถึงปีครึ่ง ก็เห็นกันว่าน่าพิศวงมาก.

อีกประการหนึ่ง งานที่รัฐบาลทำนั้น มักจะถูกชมรมปรปักษ์กีดขวางขัดคอในปาลิเม็นต์เสมอ ๆ ร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ มักจะถูกแก้หรือแปร ไม่อย่างนั้นก็อย่างนี้จนได้ รัฐบาลชุดไหนจะหวังว่าจะดำเนินประศาสโนบายไปให้เต็มโครงการนั้นหวังไม่ได้ หรือแม้จะเพียงแต่ส่วนมากแห่งโครงการ ก็มักจะไม่ได้เสียแล้ว.

ที่เป็นเช่นนี้ เป็นผลของวิธีชมรมการเมืองฝรั่งเศส ในประเทศอังกฤษมีชมรมการเมือง ๒ ชมรม หรืออย่างมากก็ ๓ ชมรม แต่ในประเทศฝรั่งเศส มีตั้ง ๑๐ หรือ ๑๒ ชมรม โดยมากจึงเป็นชมรมเล็ก ๆ เหตุที่มีชมรมมากเช่นนี้ เป็นผลให้ไม่เคยมีชมรมไหนมีคะแนนโหวตมากกว่าคะแนนรวมกันของชมรมอื่น ๆ ในสภาผู้แทน เป็นเช่นนั้นมาตลอดตำนานของรีปับลิค การเป็นเช่นนี้ จะรวมชุดรัฐบาลก็ยากเสมอ บางทีต้องเจรจาและต่อรองกันพักใหญ่ในพวกหัวหน้าชมรมต่าง ๆ แล้วจึงจะรวมสมาชิกจากชมรมหลายชมรมเข้าเป็นชุดรัฐบาลจั๊บฉ่ายได้ และชุดรัฐบาลที่มาจากชมรมต่าง ๆ เช่นนั้น ต่างบุคคลก็ต่างมีโครงการตามเค้าแห่งชมรมของตน จะกลมเกลียวเหมือนคนที่มาจากชมรมเดียวกันทั้งหมดไม่ได้ เพราะฉนั้นเมื่อรัฐบาลเสนอรัฐประศาสโนบายอะไรออกมา ก็ไม่สู้จะเฉียบขาดลงไปได้ เพราะต้องเอาใจข้างโน้นและข้างนี้ ในที่สุดโครงการนั้นไม่เป็นที่ถูกใจของใครเต็มที่เลย เสนาบดีที่อยู่ในรัฐบาลจั๊บฉ่ายเช่นนี้ นอกจากในเวลาคับขันของประเทศแล้ว จะกลมเกลียวกันก็ยาก เสนาบดีบางคนอาจได้กล่าวติเตียนเสนาบดีอื่นอย่างรุนแรงมาแล้วในคราวเลือก เพราะอยู่ต่างชมรมกัน ครั้นเข้ามาอยู่ร่วมกันในชุดจั๊บฉ่าย ก็วางหน้าไม่ค่อยสนิท และในคราวเลือกคราวหน้า อาจว่ากล่าวติเตียนกันเช่นนั้นอีก ก็เป็นได้ การที่จะรวมชุดเสนาบดีจั๊บฉ่ายจากสมาชิกชมรมต่าง ๆ ที่เป็นอริแก่กันนั้น ย่อมจะยากเสมอ และบางทีเมื่อได้พยายามจัดอยู่แล้วช้านาน ก็ไม่ตกลงกันได้ เพราะไม่สามารถรวมชมรมใหญ่ ๆ ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าแล้ว จะมีโหวตเป็นส่วนมากในสภา เป็นเครื่องให้กำลังแก่รัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนั้น บางทีรัฐบาลต้องยอมเข้ารับตำแหน่งโดยที่ไม่มีโหวตอุดหนุนเป็นหมู่มากในปาลิเม็นต์ ก็คือว่ารัฐบาลไม่มีพวกมากไว้คอยหนุนหลัง รัฐบาลเช่นนี้จะดำเนินโครงการประศาสโนบายให้สม่ำเสมอไปนั้นไม่ได้ เพราะรัฐบาลจะมีชีวิตอยู่ได้ ก็แต่เมื่อชมรมปรปักษ์ต่าง ๆ แก่งแย่งกันเอง แม้ต่างชมรมต่างไม่เห็นชอบกับรัฐบาล ก็ไม่สามัคคีกันพอที่จะร่วมมือกันโหวตโค่นรัฐบาลได้ แต่ถ้าชมรมเหล่านั้นหันเข้ากลมเกลียวกันเล่นงานรัฐบาลคราวไร รัฐบาลก็ต้องล้มทุกที เหตุฉนี้รัฐบาลจึงไม่ค่อยกล้าจะนำปัญหาที่ต้องเถียงกันมากออกเสนอให้ปาลิเม็นต์พิจารณา เพราะกลัวชมรมปรปักษ์ต่าง ๆ จะ “ร่วมหัว” กันสู้ ธรรมดารัฐบาลที่ไว้ใจความอุดหนุนในปาลิเม็นต์ไม่ได้ ก็ย่อมจะเป็นเช่นนั้นอยู่เอง

ยังมีข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสผิดกับรัฐธรรมนูญอังกฤษ ในประเทศฝรั่งเศสเลือกสมาชิกสภาผู้แทนคราวละ ๔ ปี และคนที่ได้รับเลือกนั้นเป็นสมาชิกอยู่ตลอดเวลาที่กำหนดไว้ ทุก ๆ ๔ ปีมีการเลือกใหม่ และในระหว่าง ๔ ปีนั้นยุบปาลิเม็นต์ไม่ได้ เมื่อเลือกแล้วถึงจะมีเหตุการอะไร ก็ต้องปล่อยให้อยู่ไปเต็ม ๔ ปีเสมอ.

ส่วนในประเทศอังกฤษนั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะยุบปาลิเม็นต์ได้ทุกเมื่อ การปฏิบัติระเบียบแห่งรัฐธรรมนูญอังกฤษข้อนี้ เป็นธรรมเนียมว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้อำนาจยุบปาลิเม็นต์ ต่อเมื่ออัครเสนาบดีถวายคำปรึกษาให้ยุบเท่านั้น ถึงพระองค์ทรงอำนาจจะยุบได้ ก็ไม่ทรงยุบโดยลำพังพระราชดำริของพระองค์เองเลย แต่ถ้าอัครเสนาบดีถวายคำปรึกษาให้ทรงยุบปาลิเม็นต์เมื่อไร พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงยุบทุกครั้ง ครั้นเมื่อยุบแล้วก็ต้องเลือกปาลิเม็นต์ใหม่ ดังนี้ก็คือว่า อัครเสนาบดีอังกฤษมีอำนาจจะให้ยุบปาลิเม็นต์ เพื่อเลือกใหม่เมื่อไรก็ได้ วิธีของอังกฤษที่ยุบปาลิเม็นต์ให้เลือกใหม่นั้น ความมุ่งหมายที่จะให้ราษฎรตัดสินว่า เห็นชอบตามรัฐบาลหรือไม่ ถ้าเห็นชอบก็จงเลือกผู้แทนที่เห็นชอบเข้ามาในปาลิเม็นต์ใหม่ ถ้าไม่เห็นชอบ ก็จงเลือกคนเก่ากลับเข้ามา รัฐบาลจะได้ลาออก

เมื่อฝรั่งเศสตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ ใน ค.ศ. ๑๘๗๕ นั้น วิตกว่าถ้าให้อำนาจแก่เปรซิเด็นต์มากเกินไป เปรซิเด็นต์ก็อาจใช้อำนาจล้มริปับลิคเสีย ดังซึ่งหลุยนะโปเลียนได้ทำเมื่อครั้งกระโน้น เหตุดังนี้ รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสจึงบัญญัติไว้ว่า เปรซิเด็นต์จะยุบสภาผู้แทนได้ ก็ต่อเมื่อสภาผู้เฒ่าให้อนุมัติเท่านั้น.

ที่ฝรั่งเศสทำดังนี้ ก็คิดว่าเป็นการเอาอย่างรัฐธรรมนูญอังกฤษ แต่เติมข้อไม่ประมาทข้อหนึ่ง คือป้องกันมิให้เปรซิเด็นต์ใช้อำนาจล้มริปับลิคได้ ฝรั่งเศสในสมัยที่ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ทันรู้สึกว่า อำนาจยุบปาลิเม็นต์เป็นของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ตามตัวหนังสือเท่านั้นเอง ตามความจริง อัครเสนาบดีเป็นผู้มีอำนาจ เพราะพระเจ้าแผ่นดินยุบปาลิเม็นต์ตามใจอัครเสนาบดีเสมอ.

การเป็นดังนี้ ในประเทศฝรั่งเศส อำนาจของเปรซิเด็นต์ที่จะยุบสภา จึงกลายเป็นกฎหมายหมัน เปรซิเด็นต์คนหนึ่ง (General Macmahon) พยายามจะยุบสภาครั้งหนึ่งนานมาแล้ว แต่ทำไม่สำเร็จ ตั้งแต่นั้นมาก็เป็นอันถือกันว่า เปรซิเด็นต์ไม่พึงคิดยุบสภาเป็นอันขาด.

ฉนี้ ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อเลือกสภาผู้แทนราษฎรกันขึ้นแล้ว ก็ต้องปล่อยให้อยู่ไปเต็ม ๔ ปี แตะต้องไม่ได้ ถึงสภาจะเกะกะก้าวร้าวขัดขวางการดำเนินประศาสโนบายของรัฐบาล หรือสภาจะกลับเป็นที่ไม่พอใจของราษฎร เพราะไม่ทำงานตามที่คาดหมายไว้ ก็ต้องนิ่งทนไปจนตลอดเวลา ข้อนี้กล่าวกันว่าเป็นข้อลำบากสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ดังจะได้ชี้แจงต่อไปนี้

ในประเทศอังกฤษ อัครเสนาบดีมีกำลังในปาลิเม็นต์มาก เพราะอาจยุบปาลิเม็นต์เมื่อไรก็ได้ ถ้าอัครเสนาบดีเห็นจำเป็นที่จะทำอะไรลงไป เพื่อประโยชน์ทั่วไป และปาลิเม็นต์ (คือสภาสามัญ) ไม่ยอมเห็นด้วย หรือจะแก้ไขข้อความที่สำคัญในประศาสโนบายไซร้ อัครเสนาบดีก็ขู่ว่าจะยุบสภาเพื่อให้ประชาชนพลเมืองตัดสิน มักจะเป็นวิธีที่ให้ผลสมประสงค์เสมอ ๆ เพราะพวกที่โหวตให้ข้างรัฐบาลนั้น ถ้าลังเลจนเหลือน้อยลงไปถึงรัฐบาลจะแพ้โหวตไซร้ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นถึงว่าจะยุบสภา พวกนั้นก็มักกลับรวมกำลังกันโหวตให้รัฐบาลใหม่ เพื่อที่สภาจะได้ไม่ต้องยุบ วิธีที่อัครเสนาบดีอังกฤษทำเช่นนี้รวมความลงก็คือท้าว่า ถ้าท่านไม่เห็นตามรัฐบาลก็มาไปด้วยกัน ไปหาราษฎรทั้งหมดให้ตัดสินว่าท่านถูกหรือรัฐบาลชุดนี้ถูก ท่านจะไปชี้แจงต่อราษฎรตามความเห็นของท่าน เราก็จะชี้แจงให้เห็นผิดชอบตามความเห็นของเรา ถ้าราษฎรเห็นชอบกับท่าน ก็คงจะเลือกพวกท่านเข้ามามากในปาลิเม็นต์หน้า พวกเราแพ้โหวต ก็ต้องออกจากตำแหน่งรัฐบาล มอบให้พวกท่านเป็นรัฐบาลต่อไป แต่ถ้าราษฎรเห็นชอบกับเรา พวกเราก็จะได้รับเลือกเข้ามามากในปาลิเม็นต์ใหม่ ท่านก็เป็นอันแพ้ไปเองในตัว ตามความตัดสินของประชาชน เราก็จะรับเป็นรัฐบาลต่อไป และปฏิบัติราชการตามประศาสโนบายของเรา ซึ่งชนส่วนมากในบ้านเมืองให้อนุมัติแล้ว.

วิธีการเช่นนี้ ใช่ว่าจะเป็นวิธีให้อำนาจให้อัครเสนาบดีอังกฤษบังคับโหวตในสภาได้ หรือห้ามไม่ให้กล่าวตำหนิรัฐบาลในสภาได้ ก็หามิได้ ประโยชน์แห่งอำนาจยุบสภานั้นมีว่า พวกข้างรัฐบาลเองที่ไม่ยั่งยืนในใจและอาจโหวตเกะกะต่อพวกตนเอง โดยไม่มีความรับผิดชอบนั้น ถ้าเอะอะจะยุบสภา ก็มักจะหันไปเข้าพวกตามเดิม เพราะเหตุว่าสมาชิกที่ได้รับเลือกเข้ามาในสภานั้น ถ้ายุบสภาและต้องกลับไปเสนอนามให้ราษฎรเลือกใหม่ ก็จะต้องประจันหน้ากับผู้เลือก และจะต้องชี้แจงว่าเหตุใดเมื่อรับเลือกเข้าไปเป็นพวกรัฐบาลแล้ว จึงหันเหไปเช่นนั้น สมาชิกคนใดไม่ยั่งยืนความภักดีต่อชมรมของตน เมื่อกลับไปให้เลือกใหม่ ก็อาจถูกราษฎรขนาบได้มาก ๆ และอาจเสียชื่อไม่ได้ผุดได้เกิดต่อไป การเป็นฉนี้ ในประเทศอังกฤษจึงมีน้อยนักที่รัฐบาลจะแพ้โหวตในสภา ถ้าหากเป็นปัญหาเล็กน้อยไม่สู้สำคัญ ก็อาจแพ้ได้ แต่ถ้าเป็นปัญหาใหญ่ก็ชนะเสมอ ๆ รัฐบาลอังกฤษตามปกติจึงแข็งแรงด้วยเหตุฉนี้.

ส่วนในประเทศฝรั่งเศสนั้น วิธีการคนละอย่าง เราจะลองพิจารณาดูว่า มีผลผิดกันอย่างไรบ้าง สมาชิกทุกคนที่รับเลือกเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรนั้น รู้ตัวว่าจะเป็นอยู่ในสภาไปตลอด ๔ ปี ไม่มีอันใดจะทำให้หลุดออกไปได้ ถึงจะทำอย่างไร ๆ ก็จะนั่งแน่นอยู่ตลอดเวลา จะทำถูกหรือทำผิดก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลับไปประชันหน้ากับราษฎรผู้เลือก ในระหว่าง ๔ ปีนั้นเป็นอันขาด.

การเป็นฉนี้ ก็คือว่า สภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศส มีถานที่ตั้งอันไม่โอนเอียง ก็ย่อมจะแข็งแรงมาก และเมื่อสภาแข็งแรง รัฐบาลก็ต้องอ่อน ความแข็งและความอ่อนของสภาและรัฐบาลย่อมมีส่วนขึ้นลดเสมอ ๆ กัน ในประเทศใหน สภายิ่งแข็ง รัฐบาลก็ยิ่งอ่อน ถ้าสภายิ่งอ่อน รัฐบาลก็ยิ่งแข็ง ธรรมดาย่อมเป็นฉนั้นเอง.

ในประเทศฝรั่งเศส อัครเสนาบดีมิใช่หัวหน้าของสภา มักกล่าวว่ากันเป็นทาสมากกว่า ราชการในสภาผู้แทนของฝรั่งเศสนั้น มีเป็นอันมากที่มอบให้กรรมการทำ มีกรรมการประจำไว้สำหรับงานแผนกต่าง ๆ วิธีใช้กรรมการเช่นนี้ บางทีกกล่าวกันว่าได้ผลดี แต่บางทีก็ว่าได้ผลไม่ดี เพราะกรรมการมักใช้เวลามากมายในการติเตียน หรือดัดแปลง แก้ไขร่างกฎหมายของรัฐบาล แต่ถ้าจะให้พวกที่เป็นกรรมการลองเป็นรัฐบาลดูบ้าง ก็เป็นไม่ได้ กรรมการจะเสนอความเห็นที่เป็นแก่นสารจริงจังก็ยาก เพราะเป็นความเห็นที่จะให้คนอื่นเป็นผู้ทำ ไม่ใช่ความเห็นซึ่งตนจะรับทำได้เอง.

เพราะรัฐบาลอ่อนสภาแข็งเช่นนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงแพ้โหวตบ่อยกว่าในประเทศที่รัฐบาลแข็งสภาอ่อน ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อรัฐบาลถูกโหวตไม่ไว้วางใจแล้ว ก็ต้องลาออกทั้งชุด แต่ไม่มีการเลือกปาลิเม็นต์ใหม่ เพราะฉนั้น ราษฎรไม่มีโอกาศจะออกเสียงว่าเห็นชอบข้างไหน ดังที่เป็นแบบในประเทศอังกฤษ.

เมื่อรัฐบาลชุดเก่าออกแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่ต้องตั้งรัฐบาลชุดใหม่แทน แต่รัฐบาลชุดใหม่อาจอ่อนแออย่างชุดเก่าก็ได้ ไม่เหมือนกับรัฐบาลในปาลิเม็นต์ใหม่เช่นประเทศอังกฤษ ซึ่งแข็งแรงเพราะเป็นพวกมากในปาลิเม็นต์ใหม่ รัฐบาลฝรั่งเศสที่เข้าใหม่โดยมิได้ยุบปาลิเม็นต์เพื่อจะฟังความเห็นราษฎรนั้น เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว ก็ยังไม่มีหลักที่ยึดอยู่นั่นเอง ถ้าได้ฟังความเห็นราษฎร โดยวิธียุบปาลิเม็นต์เลือกใหม่ไซร้ ความเห็นราษฎรนั้น ก็เป็นหลักที่ยึดของรัฐบาลได้ แต่เมื่อรัฐบาลเป็นเช่นที่ว่านี้ ก็อาจเป็นเป้าของนักราชการ ที่จะหาดีด้วยการคัดค้านรัฐบาลจนมีชื่อเสียงจนได้ ม. บริยองด์รัฐบุรุษสำคัญของฝรั่งเศส ได้กล่าวครั้งหนึ่งว่า วันใดที่อัครเสนาบดีฝรั่งเศสเข้ารับตำแหน่ง วันนั้นพึงทราบว่า มีเพื่อนเสนาบดีในชุดเดียวกันอย่างน้อยคนหนึ่ง ซึ่งตั้งต้น “ปัดเท้า” แต่นั้นไป.

ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ดูแมร์คได้เป็นอัครเสนาบดีตั้ง “รัฐบาลชาติ” ซึ่งหมายความว่า เลือกเสนาบดีจากชมรมการเมืองหลายชมรม เป็นวิธีที่ดำเนินราชการของประเทศมาได้เรียบร้อยเป็นนาน ตั้งแต่นั้นมา ชนชาวฝรั่งเศสก็ได้ใส่ใจในปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญมากขึ้น ม. ดูแมร์คเห็นว่า วิธีที่จะแก้ความยากก็คือเอาอย่างรัฐธรรมนูญอังกฤษ และให้อำนาจเปรซิเด็นต์ให้ยุบปาลิเม็นต์ได้โดยความแนะนำของอัครเสนาบดี รัฐบุรุษอื่น ๆ เห็นจริงตามนั้นก็หลายนาย แต่ยังหาได้ทำอันใดกันลงไปไม่.

ผู้อยู่ต่างประเทศจะออกความเห็นว่า วิธีปกครองของประเทศไหนควรทำอย่างไร ก็พูดไม่สนิท เพราะชาวต่างประเทศอาจไม่รู้นิสัยใจคอของคนในประเทศนั้น ๆ

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสใช้มา ๖๐ ปีเศษ ก็ได้ถูกพายุมาหลายครั้ง แต่ก็ฝ่าพ้นอันตรายมาได้ทุกที ถ้าชนชาวฝรั่งเศสคิดเช่นนี้ ก็คงจะยังไม่คิดเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ เว้นจะมีเหตุมาใหม่ในเวลาข้างหน้าต่อไป.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ