รายงานรางวัดเศรษฐกิจ

สมุดรายงานของนายเยมส์ เอ็ม. แอนดรูส์ แสดงผลของการรางวัดเศรษฐกิจบ้านนอกครั้งที่ ๒ (Second Rural Economic Survey) ซึ่งได้พิมพ์ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๕ นั้น เป็นสมุดมีประโยชน์ที่จะเปิดดูข้อความและตัวเลขได้หลายอย่าง ยังความเห็นซึ่งเก็บมาเล่าย่อ ๆ ไว้บางอย่างอีกเล่า นายแอนดรูส์มีตำแหน่งเป็นครูอยู่ในมหาวิทยาลัยฮาวาด (อเมริกา) ได้มาที่นี่เพื่อจะสืบหาความรู้ในเรื่องวิชาว่าด้วยมนุษย์ ไปรายงานต่อมหาวิทยาลัยฮาวาดส่วนหนึ่ง เพื่อจะสืบความรู้ทางเศรษฐกิจ รายงานต่อรัฐบาลสยามส่วนหนึ่ง.

ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ ย่อมมีปัญญาความรู้ตามปกติ แต่ก็ไม่เคยอ่านรายงานของนายแอนดรูส์อาจมีหลายสิบคน ถ้าเราเก็บรายงานบางข้อมากล่าวโดยสังเขป ก็อาจเป็นข้อความที่ผู้อ่านหลายสิบคนนั้น ๆ ใส่ใจจะทราบ.

นายแอนดรูส์กล่าวว่า ประเทศสยามวันนี้ ก็อย่างเดียวกับประเทศอื่นโดยมาก ในที่ต้องประชันหน้ากับความจำเป็นที่จะจัดให้รายได้ของเทศชน (เนชั่น) มากขึ้น ไม่ให้ขึ้น ๆ ลด ๆ และจะต้องจัดโดยวิธีที่ต้องใช้เวลานานและมีผลไปไกล เพื่อความเจริญแห่งโภคทรัพย์ของพลเมือง.

ชนทั้งหลายย่อมเห็นได้แล้วว่า ส่วนมากแห่งรายได้ของชาวบ้านนอกนั้น มาจากการทำนา ในวันนี้ข้าวเป็นเครื่องนำมาซึ่งรายได้ของชาวบ้านนอกโดยทางตรง และรายได้ส่วนมากของรัฐบาลโดยทางอ้อม ชาวนาต้องขายข้าว และข้าวนั้นพ่อค้าต้องส่งไปขายต่างประเทศ ในเวลาเดียวกันนั้น ชาวนายังต้องขายพืชผลอย่างอื่น ๆ ด้วย เพื่อแลกกับสินค้าหรือพืชผลของเทศชนต่างด้าว และแลกกับคนในท้องที่อื่น ๆ ในสยามด้วยกัน ข้อบ่งให้เห็นว่า ต้องจัดการค้าขายภายในประเทศให้เจริญขึ้น.

ถ้าจะส่งข้าวไปขายต่างประเทศให้ได้ดี และส่งสินค้าอื่นไปจำหน่ายให้ได้ดี ก็จะต้องจัดการค้าขายกับต่างประเทศให้กว้างขวางออกไป.

พลเมืองที่เป็นชาวนาต้องได้รับความชักจูงให้รู้จักและเห็นคุณความดี แห่งวิธีที่จะช่วยให้ได้ใช้ความสดวกที่มีใหม่ ๆ เพื่อยังให้เพาะปลูกเกิดผลมากขึ้น รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือทุกประการที่ควรให้ได้ แต่ในการให้ความช่วยเหลือนี้ ต้องเป็นที่แน่ว่า ไม่เป็นการเปลืองทรัพย์ของรัฐบาลไปเปล่า และจะไม่ทำให้พลเมืองลดหย่อนความไว้ใจตัวเอง หรือลดหย่อนความมั่นคงในนิสัยของตน.

การค้าขายภายใน

ในสมุดรายงานเล่มนี้ ได้แสดงในตอนก่อน ๆ ให้เห็นว่า การจัดให้ค้าขายได้สดวกย่อมสำคัญแก่ความเป็นไปของชาวบ้านนอก หมู่บ้านที่ซื้อง่ายขายคล่อง เป็นหมู่บ้านที่ราษฎรมีรายได้สูง ถ้าจะคิดจัดการให้ทำสินค้าได้มากขึ้น ถ้าทางค้าขายไม่สดวก ก็ไม่มีประโยชน์อะไร และเครื่องให้ความสดวกนั้น ก็คือคมนาคมความติดต่อกับตำบลอื่น ๆ เป็นต้นว่า ราษฎรในภาคตวันออกเฉียงเหนือ ถ้าจะเลี้ยงไหมและปลูกฝ้ายให้มากขึ้น ก็ขายไม่ได้ เพราะพวกเอเย็นต์ของอุตสาหกรรมแห่งการทอผ้า จะรวมซื้อไหมและฝ้ายส่งไปเป็นสินค้าที่อื่น ก็ไม่มีถนนหนทางที่จะส่งได้สดวก ในภาคกลางแห่งสยาม ถ้าชาวนาจะปลูกผลไม้ หรือพืชผลอย่างอื่นที่เก็บไว้ไม่ได้นาน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะคมนาคมไม่มีพอให้ส่งสินค้าไปจำหน่ายได้เร็ว เหตุที่ภาคกลางมีการค้าขายได้ ก็เพราะปลูกข้าว ซึ่งเก็บไว้ได้นาน และถึงจะเสียเวลามากในการขนส่ง ก็ยังไม่เสียข้าว การขนส่งสินค้าจากบ้านนอกในเวลาปัจจุบันมีทางดังนี้

รถไฟ

การสร้างรถไฟในสยาม ได้ทำไปแล้วเป็นอันมาก จนถ้าจะเทียบกับประเทศอื่น ๆ หลายประเทศในทวีปเอเซียด้วยกัน สยามก็ได้เปรียบ ประเทศใกล้เคียงที่มีรถไฟมากกว่าสยามเทียบตามจำนวนพลเมือง ก็มีแต่มลายากับญี่ปุ่นเท่านั้น ตัวเลขต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่า รถไฟของประเทศต่างๆมีไมล์ละกี่คนพลเมือง

๑. มลายา มีรถไฟ ๑ ไมล์ทุก ๓,๙๗๗ คนพลเมือง

๒. ญี่ปุ่น มีรถไฟ ๑ ไมล์ทุก ๔,๗๓๔ คนพลเมือง

๓. สยาม มีรถไฟ ๑ ไมล์ทุก ๖,๖๒๓ คนพลเมือง

๔. อีซต์อินดีส์ของฮอลันดา มีรถไฟ ๑ ไมล์ทุก ๑๓,๐๙๔ คนพลเมือง

๕. อินโดจีนของฝรั่งเศส มีรถไฟ ๑ ไมล์ทุก ๑๔,๔๔๘ คนพลเมือง

๖. ฟินลิปปินซ์ มีรถไฟ ๑ ไมล์ทุก ๑๔,๙๕๓ คนพลเมือง

๗. จีน มีรถไฟ ๑ ไมล์ทุก ๖๓,๒๑๔ คนพลเมือง

(เทียบกับสหปากรัฐอเมริกา ๔๗๑ คนต่อไมล์)

ตามตัวเลขข้างบนนี้ ย่อมเห็นได้ว่า สยามมีรถไฟเทียบได้อย่างงดงามกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งนำหน้าประเทศนี้ไปไกลในความจำเริญทางเศรษฐกิจ รถไฟสยามในเวลานี้ ทำให้แหล่งกลางที่สำคัญ ๆ ในการขนส่งมีการติดต่อกันได้ และมีกิ่งแยกไปได้ถึง ๔ ด้าน จึงน่าจะเห็นว่าการขยายรถไฟออกไปอีกนั้น ต่อไปนี้ยังไม่ต้องทำอีก นอกจากว่า เมื่อต่อสายขอนแก่นกับอุดรให้ถึงกันแล้ว ก็ควรทำต่อไปให้ถึงหนองคายด้วย รถไฟตั้งแต่ขอนแก่นไปอุดรนั้น ควรจะต้องทำต่อไปอีกหน่อยให้ถึงหนองคาย มิฉนั้นก็ป่วยการที่จะทำให้ไปถึงอุดร ที่เป็นดังนั้น เพราะหนองคายเป็นเมืองต่อแดนกับประเทศลาวของฝรั่งเศส และถ้าทำรถไฟไปถึง ก็อาจเป็นแหล่งกลางอันสำคัญของการค้าขาย ส่วนอุดรนั้น ถ้าไม่ทำรถไฟเลยไปถึงหนองคาย ลำพังอุดรก็ไม่เป็นปลายทาง ซึ่งเกิดประโยชน์เลย (เหมือนกับปลายคลองตันซึ่งไปไหนไม่ได้ แต่ถ้าขุดต่อไปอีกนิดเดียว ก็จะออกแม่น้ำใหญ่) ต่อไปอีกนาน ๆ บางทีจะควรทำรถไฟไปต่อกับแดนพม่าอีกทางหนึ่ง แต่ยังจะนานอีกมาก นอกจากนี้ก็ไม่น่าเห็นว่า จะควรทำรถไฟในสยามไปทางไหนอีกเลย.

ส่วนทางรถไฟซึ่งเคยกำหนดไว้ว่า จะทำตั้งแต่ขอนแก่นไปสกลนครนั้น ไม่มีเหตุที่ควรคิดว่าจะเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะแลดูจากแง่ไหน ก็ไม่ควรทำทั้งนั้น ถ้าทำถนนดี ๆ จากทางรถไฟที่มีอยู่แล้ว ไปจนถึงสกลนคร ก็จะได้ประโยชน์ตามแง่เศรษฐกิจ และจะเป็นของพึงปรารถนา ตามความเห็นทางยุทธศาสตร์ด้วย.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ