- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
สินค้าดิบ
สมาชิกปาลิเม็นต์อังกฤษคนหนึ่ง ชื่อ อัลเฟร็ด เอ็ดวาดส์ เขียนลงในหนังสือพิมพ์ว่า การที่ประเทศเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น มีกำลังทัพแข็งแรงยวดยิ่งในเวลานี้ (เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) ก็เพราะได้สินค้าดิบไปจาก ส.ป.ร. และประเทศต่าง ๆ ในเครืออังกฤษ สินค้าดิบซึ่งใช้ในการทำเครื่องรบตั้งแต่เรือประจันบานไปจนกระสุนปืนพกนั้น ได้ไปจากเครือประเทศอังกฤษและ ส.ป.ร. แทบทั้งนั้น เพราะเครือประเทศอังกฤษกับ ส.ป.ร. มีสินค้าดิบชนิดนั้น ๆ ถึง ๗๕ เปอร์เซ็นต์แห่งปริมาณที่มีในโลก เขาว่าถ้าอังกฤษและอเมริกาตกลงในใจว่า จะยอมเผชิญหน้ากับความจริง และไม่ยอมให้ประเทศที่เป็นอริซื้อ หรือรับแลกสินค้าดิบไปทำเครื่องรบขึ้นไว้สำหรับระรานประเทศเล็ก ๆ และในที่สุด ก็จะใช้ยิงอังกฤษและอเมริกาด้วยไซร้ ประเทศทั้ง ๓ ที่ระบุชื่อมานั้น ก็มีฤทธิ์เดชอะไรไม่ได้ เพราะถ้าจะเก็บสะสมสินค้าดิบเหล่านั้นได้ที่โน่นที่นี่หน่อย ก็ไม่พอที่จะสร้างกำลังมหึมาเช่นนี้ได้ การที่อังกฤษและอเมริกาขายสินค้าดิบให้แก่ประเทศที่เป็นอริ ครั้นได้เงินมาก็เอาไปสร้างอาวุธขึ้นแข่งกันนั้น ถ้าไม่ให้สินค้าดิบก็ไม่ต้องแข่งอาวุธ เพราะฝ่ายที่มีสินค้าดิบของตนเองจะเตรียมอาวุธไว้แต่พอสมควรก็พอแล้ว.
เขาว่าเขาได้เสนอความข้อนี้ขึ้นกล่าวในปาลิเม็นต์ แล้วก็ไม่มีใครจะเถียงข้อเท็จจริงได้ แต่มีผู้กล่าวแย้งว่า ถ้าปิดประตูสินค้าดิบ เยอรมันก็คงจะถือว่า อังกฤษทำการเป็นปฏิปักษ์ และจะประกาศสงครามขึ้น คำแย้งข้อนี้เขาตอบว่า เขาเต็มใจจะให้เยอรมันประกาศสงครามเมื่อไม่มีอาวุธ ยิ่งกว่าให้ประกาศสงครามแล้วใช้อาวุธซึ่งทำด้วยสินค้าดิบของอังกฤษยิงอังกฤษเอง (ทรงเรื่องนี้เมื่อ ๒๖ เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒)
เขาว่าข้อที่ว่า สินค้าดิบชนิดไหนทำเครื่องรบได้ ชนิดไหนไม่ใช้ทำเครื่องรบนั้น เป็นเรื่องที่ขีดคั่นยากหน่อย แต่ก็ได้ทำสถิติกันมาหลายปี จนรู้กันดีแล้วว่า อะไรเป็นอะไร.
เขากล่าวอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อนึกถึงคำประท้วงซับซ้อน ซึ่งรัฐบาล ส.ป.ร. ส่งให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่นในเรื่องเมืองจีน และนึกถึงยาและเครื่องพยาบาลมากมาย ซึ่งอเมริกาขนส่งไปรักษาพยาบาลจีนที่ป่วยเจ็บ แล้วกลับนึกถึงกระสุนปืนและเครื่องรบอื่น ๆ ที่อเมริกาขายให้แก่ญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะเอาไปทำแก่จีน ก็น่าสังเวช “ความเจริญ” ของโลกยิ่งนัก ตามที่เขากล่าวและยกอุทาหรณ์เช่นนี้ สังเกตความหมายก็คือว่า จะให้กลมเกลียวกันตกลงในใจ ว่าจะไม่อุดหนุนการสร้างอาวุธของประเทศซึ่งมีน้ำใจเป็นอริอยู่ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๒)
ใจความที่กล่าวข้างบนนี้ไม่ใช่อะไรใหม่ ได้เคยมีศาสตราจารย์ในประเทศอังกฤษคนหนึ่งกล่าวความข้อนี้ไว้นานแล้ว และได้เสนอตัวเลขแสดงปริมาณแห่งสินค้าดิบเป็นหลัก คำที่เขากล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่ยอมขายสินค้าเหล่านั้นให้แก่ประเทศที่ไม่มี ประเทศเหล่านั้นจะสำแดงอานุภาพอะไรก็ไม่ได้ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ (ประมวญวัน) ได้เคยนำคำของศาสตราจารยคนนั้นมาเล่าอย่างน้อยครั้งหนึ่งแล้ว.
ในเวลานี้ (เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) ประเทศที่เป็นมหาอำนาจ ต่างก็ได้สะสมอาวุธเข้าไว้มาก ถ้าเกิดสงครามขึ้นก็จะเป็นสงครามใหญ่ ข้อที่ ๒ ฝ่ายแปลกกันก็คือว่า เมื่อใช้อาวุธและสินค้าดิบที่สะสมไว้เปลืองไปแล้ว ฝ่ายหนึ่งก็ยังมีสินค้าดิบที่จะทำอาวุธขึ้นใหม่ได้เรื่อยไป แต่อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่มี เพราะฉนั้น ถ้าไม่แพ้ชนะกันลงไปในตอนต้น ๆ แล้ว ฝ่ายที่ทนได้นานก็จะได้เปรียบยิ่งขึ้นทุกที จนในที่สุดไม่มีประตูสู้กันได้ ความข้อนี้เห็นตัวอย่างในสเปญ ซึ่งฝ่ายที่แพ้ แม้จะได้ความลำบากเพียงไร ก็ไม่แพ้จนหมดอาวุธ.
นักพูดในวิทยุ ส.ป.ร. คนหนึ่งชื่อ เรย์มอนด์ แครมสวิง ได้พูดทางวิทยุเมื่อเดือนก่อน (ทรงเรื่องนี้เมื่อเดือน เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) ว่า ในกฎหมายของ ส.ป.ร. มีบัญญัติไว้ข้อหนึ่งว่า ถ้าประเทศใดทำแก่สินค้าอเมริกันผิดไปจากปรกติ รัฐบาลอเมริกาจะสั่งให้ประชาชนเลิกค้าขายกับประเทศนั้นก็ได้ เขาชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการขายไหมแท้ให้แก่ ส.ป.ร. เป็นเบื้องต้น ถ้า ส.ป.ร. หยุดซื้อไหมแท้จากญี่ปุ่นเมื่อไร เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ปางตาย ถ้ายิ่งขยายการห้ามค้าขายไปถึงสินค้าอื่น ๆ ด้วยแล้ว ญี่ปุ่นก็จะต้องอยู่ในฐานะซึ่งจะผดุงตนเป็นมหาอำนาจไปได้ด้วยยาก.
ในเรื่องไหมที่เป็นสินค้าสำคัญยิ่งของญี่ปุ่นนี้ บางทีผู้อ่านของเราจะสงสัยในเรื่องไหมแท้และไหมเทียม และอาจไม่ทราบว่าเหตุไฉนในสมัยที่ไหมเทียมเป็นของเฟื่องฟูอยู่นี้ ไหมแท้จึงเป็นสินค้าสำคัญ ถึงเป็นถึงตายแก่เศรษฐกิจของญี่ปุ่น ข้อนี้ชี้แจงได้ว่า ไหมเทียมนั้นถึงจะวิเศษปานใด ก็ไม่ใช่ไหมแท้อยู่นั่นเอง ใน ส.ป.ร. คนมั่งมีมีมาก พวกนั้นต้องการใช้ไหมแท้ ไม่ใช้ไหมเทียม ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เลี้ยงไหมกันคนละเล็กละน้อย ตามบ้านเรือนราษฎร เมื่อรวมกันเข้าก็มาก และส่งไปขายใน ส.ป.ร. เกือบ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ปริมาณแห่งไหมทั้งหมด การขายไหมดิบให้แก่ ส.ป.ร. นี้ ไม่สำคัญที่ปริมาณเท่านั้น สำคัญที่ราคาด้วย หมู่นี้ (เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) ราคาไหมแท้ใน ส.ป.ร. ลดลงไป ถึงแม้ปริมาณแห่งไหมที่ส่งไปขายยังเท่า ๆ กัน ราคาก็ตกลงไป ดังตัวเลขซึ่งนักเขียนชื่อ ดร. ฟรีดา อัตเลย์ เก็บมาแสดงไว้ในสมุดว่าด้วย ความไม่มั่นคงของประเทศญี่ปุ่น ดังนี้
ค.ศ. ๑๙๒๙ ญี่ปุ่นขายไหมดิบออกจากประเทศไปเป็นราคา ๗๘๑,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญเย็น.
ค.ศ. ๑๙๓๕ ญี่ปุ่นขายไหมดิบออกจากประเทศไปเป็นราคา ๓๘๗,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญเย็น
ราคาไหมดิบที่ญี่ปุ่นส่งออกไปขายต่างประเทศนั้น ไป ส.ป.ร. ระหว่าง ๘๕ กับ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ดร. ฟรีดา อัตเลย์ กล่าวในหน้า ๓๕ แห่งสมุดว่า ญี่ปุ่นจะซื้อสินค้าดิบจากต่างประเทศได้ก็ต่อเมื่อ ส.ป.ร. ยังต้องการจะซื้อไหมแท้ของญี่ปุ่น และอังกฤษยอมให้ญี่ปุ่นส่งผ้าเข้าไปขายในอินเดีย มะลายา และแอฟริกาซึ่งเป็นแดนของอังกฤษเท่านั้น.
(สมุดของ ดร.ฟรีดา อัตเลย์ ที่อ้างนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นห้ามไม่ให้ส่งเข้าไปจำหน่ายในประเทศนั้น)
ความสามารถที่จะซื้อสินค้าดิบจากประเทศอื่นได้นั้น นอกจากจะมีสินค้าของตนไปขายเอาเงินมาซื้อแล้ว ก็ยังมีอีกทางหนึ่งคือเอาทองคำซื้อ จึงเป็นข้อสำคัญว่าใครมีทองคำอยู่เท่าไรในเวลานี้
ปริมาณแห่งทองคำตามตัวเลขต่อไปนี้ มาจากรายงานของบริษัทมอนตะคิว พิมพ์เป็นสมุดเรียกว่า “Annual Bullion Review” ซึ่งออกเมื่อเดือนก่อน (ทรงเรื่องนี้ เมื่อ ๒๖ เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) จำนวนที่กล่าวต่อไปนี้ เป็นจำนวนออนซ์แห่งทองคำบริสุทธิ์
เมื่อวันในปี ค.ศ. ๑๙๓๘ ประเทศต่าง ๆ มีทองคำดังนี้
ญี่ปุ่น ๔,๖๗๔,๐๐๐
อิตาลี ๕,๐๐๐,๐๐๐
เยอรมัน ๘๑๖,๐๐๐ (แต่เยอรมันได้ทองคำไปจากเชกโกสโลวาเกีย ๒,๗๐๓,๐๐๐)
อังกฤษ ๑๑๘,๗๙๒,๐๐๐
ส.ป.ร. ๔๑๔,๕๑๔,๐๐๐
ฝรั่งเศส ๖๙,๔๓๙,๐๐๐
โซเวียตรัซเซีย ๓๓,๐๐๐,๐๐๐
ตัวเลขในส่วนอิตาลีกับรัซเซียนั้น เป็นเพียงประมาณ เพราะรัฐบาล ๒ ประเทศนั้น ไม่พิมพ์รายงานให้ทราบทางราชการ
ผู้อ่านพึงสังเกตว่า จำนวนออนซ์แห่งทองคำของญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมัน นับจำนวนล้าน ของฝรั่งเศสกับโซเวียตรัซเซียนับจำนวนสิบล้าน ของอังกฤษและ ส.ป.ร. นับจำนวนร้อยล้าน ผิดกันมาก.
ราคาทองคำเมื่อเทียบกับธนบัตร ก็อาจขึ้นและลง ใน ค.ศ. ก่อน ราคาทองคำได้ขึ้นไปอย่างสูงสุดคราวหนึ่ง ถึงออนซ์ละ ๗ ปอนด์ครึ่ง