- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
พระไตรยสรณาคมน์
เหตุใดเราจึงเรียกพระไตรยรัตน์ว่า เป็นที่พึ่ง เหตุใดเมื่อเราจะรับศีลหรือสวดมนต์ เราจึงท่องว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรมเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระสงฆเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง
พระพุทธเจ้าเข้าปรินิพพานไปแล้วเกือบ ๒๕๐๐ ปี (ทรงเรื่องนี้เมื่อ ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ท่านเกิดและมีชีวิตอยู่ ๘๐ ปีในอินเดีย และสิ้นชีวิตอยู่ที่นั่น เราน้อยคนจะเคยไปเห็นท้องที่ซึ่งเป็นที่เกิด ที่อยู่ และที่ตายของพระพุทธเจ้า ต่างว่าเราไปพบท่านเข้าตัวต่อตัว ท่านกับเราก็พูดไม่รู้ภาษากัน เพราะถึงท่านจะได้นามว่า นิรุกติปฏิสัมภิทา คือแตกฉานในหลักแห่งคำพูด ยกกันว่าเข้าใจภาษาทั้งหลายก็จริง แต่ถ้าจะพูดตามความรู้ในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ภาษาทั้งหลายที่กล่าวนั้น คงจะหมายความแต่เพียงภาษาในอินเดีย หรืออย่างมากก็ภาษาแห่งคนอารยะด้วยกัน ท่านจะทราบภาษาไทยสยามในสมัยที่ไทยยังไม่ได้มาอยู่สยามก็คงจะไม่ได้.
แต่เหตุไรเราในสยามโดยมากในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) จึงยังนับถือว่าท่านกับคำสอนของท่านและสาวกของท่าน เป็นที่พึ่งของเรา.
พระธรรมกถึกเทศน์ว่า พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์นั้น ถึงระบุเป็น ๓ ก็รวมกันเป็นหนึ่ง แยกจากกันไม่ได้ ข้อนี้ท่านมักชี้แจงตามความที่มีมาในอรรถกถาว่า เปรียบเหมือนปืนพิงกันอยู่ ๓ เส้า ถ้าเอาออกเสียเส้าหนึ่ง ก็พิงกันอยู่ไม่ได้ คำชี้แจงยกอุทาหรณ์อย่างอื่นตามอารามิกโวหารยังมีอีก ซึ่งผู้เขียนไม่ได้จำไว้ แต่ใจความก็ว่า ถ้าแยกพระไตรยรัตน์ออกจากกัน ก็เปรียบเหมือนวัตถุไม่ครบส่วน.
ข้อที่ว่า พระไตรยรัตน์ทั้ง ๓ แยกกันไม่ได้นี้ ก่อนสมัยที่แต่งอรรถกถา หรือในสมัยที่แต่งนั้นก็ดี ถ้าแยกออกจากกัน ก็คงจะเหมือนกระโจมปืนล้ม ในเมื่อถอนออกเสียกระบอกหนึ่ง ที่คงจะเป็นดังนั้น ก็เพราะว่าในสมัยที่ยังไม่มีหนังสือ พระสงฆ์เป็นคนจำพวกเดียว ที่ทรงไว้ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้า คือเป็นศิษยซึ่งสาธยายคำสอนจำไว้ได้หมด ถ้าไม่มีผู้จำไว้ พระธรรมก็คงจะศูนย และถ้าพระธรรมคืออนุสรณ์ของพระพุทธเจ้าศูนยไป พระนามของพระพุทธเจ้าก็คงจะเหลือน้อยเต็มที ดังนี้กระโจมนั้นก็จะล้มลงทั้งหมด.
แต่ในสมัยที่มีหนังสือจารึกพระธรรมไว้แพร่หลายแล้ว พระสงฆ์ก็ยังสำคัญในฐานที่เป็นผู้รู้หนังสือและรับชี้แจงจากพวกเดียวกันผู้มีอาวุโส คนทั่วไปโดยมากไม่รู้หนังสือ และไม่ได้เล่าเรียนในสำนักปริยัติ ไม่อาจเข้าใจพระธรรม ซึ่งเป็นของสูงได้โดยตนเอง เพราะฉนั้นพระสงฆ์จึงสำคัญ และนับเข้าเป็นส่วนหนึ่งในไตรยสรณาคมน์ต่อมาจนบัดนี้ และเราก็ยังฟังเทศน์ และเรียนพระปริยัติธรรมจากพระสงฆ์อยู่ดังแต่ก่อน.
แต่ถึงกระนั้น เมื่อพระธรรมได้จารึกลงเป็นหนังสือแพร่หลายแล้ว พระธรรมก็อาจทราบไปถึงบุคคลซึ่งเกิดมาไม่เคยเห็นพระสงฆ์เลย เช่นฝรั่งที่เรียนรู้ภาษาบาลีอยู่ในยุโรปและอเมริกา ถ้าดูตามหนังสือที่เขาเขียนไว้เป็นภาษาของเขา ก็ดูเข้าใจพระธรรมอยู่มาก ในสมัยที่พระธรรมยังมิได้จารึกลงไว้เป็นหนังสือ และมีพระสงฆ์ผู้สาธยายเท่านั้น ที่จะนำพระธรรมไปแสดงแก่ผู้อื่นได้ พระธรรมก็คงจะไม่แว่วไปถึงชนในทวีปอื่น ๆ ซึ่งไม่เคยพบปะกับพระภิกษุเลย.
อนึ่ง พระสงฆ์ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) และตั้งแต่ไหน ๆ มา บางรูปปฏิบัติไม่สมแก่ตำแหน่งผู้ทรงไว้ซึ่งสิกขาบท มีตัวอย่างตามข่าวหนังสือพิมพ์ว่า เมื่อ ๒-๓ วันนี้ (ทรงเรื่องนี้เมื่อ ๑๔ ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ได้มีภิกษุทำปฐมปาราชิกแล้ว ยังซ้ำห่มผ้าเหลืองไปทำตติยปาราชิกอีกเล่า ภิกษุผู้ประพฤติเช่นนั้นทำให้แปดเปื้อนถึงคณะสงฆ์ผู้นับเนื่องว่า เป็นผู้สืบพระพุทธศาสนา แต่จะว่าเป็นผู้ทำให้เกิดตำหนิแก่พระไตรยสรณาคมน์ก็ไม่ได้ เพราะพระไตรยสรณาคมน์ต้องรวมแก้วทั้ง ๓ ดวง ซึ่งแยกไม่ได้ แต่ละดวงหมายความเฉพาะส่วนที่เป็นความดีความงาม ไม่ใช่สะเก็ด ๆ เดียว หรือ ๒ สะเก็ด โดยเฉพาะไม่ใช่สะเก็ดลามกชนิดที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อย ๆ
ย้อนไปหาปัญหาที่เบิกเรื่องขึ้นไว้ว่า เหตุใดเราจึงเรียกพระไตรยรัตน์ว่าเป็นที่พึ่ง เหตุไรเราจึงท่องว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง ฯลฯ ฯลฯ ข้อนี้ถ้าชี้แจงตามภาษาเทศน์ก็ว่า เพราะพระพุทธเจ้าท่านประเสริฐโดยประการฉนั้นฉนี้ คำสอนของท่านเป็นศาสนาอย่างวิเศษ และสาวกของท่านเป็นผู้นำคำสอนของท่านมาให้แก่เรา แต่ถ้าจะพูดรวมความให้สั้นก็ว่า เราถือเอาพระไตรยรัตน์เป็นที่พึ่ง เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารู้เท่าสังขาร ให้รู้ว่าทุกข์เป็นของมีประจำ ว่าเหตุแห่งทุกข์ก็คือความใคร่หรือความกระวนกระวายจะเป็นนั่น หรืออยากจะได้นี่ เพราะฉนั้นทางที่จะตัดทุกข์ ก็คือตัดความใคร่ให้หมดไป
สมเด็จพระพุทธเจ้า | ตรัสธรรม |
ว่า “ทุกข์” มีประจำ | ทุกผู้ |
“ความใคร่” นั้นไซร้นำ | สู่ทุกข์ |
“หมดใคร่” หมดทุกข์รู้ | “มรรค” แผ้วนฤพาน |
พูดตามธรรมดาคนโดยมาก ถึงจะนับถือพระไตรยรัตน์เป็นที่พึ่ง ก็มักจะสักแต่ว่าถือ ต่อเมื่อมีทุกข์จึงจะหันไปหาพระพุทธเจ้า คิดถึงคำสอนของท่าน เพื่อให้เป็นเครื่องสะกดใจ.
ผู้มีปัญญารู้คำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมรำลึกถึงถ้อยคำของพระองค์อยู่เป็นปรกติ แต่ถึงกระนั้น ก็มักจะเพ่งเล็งยิ่งขึ้นในเมื่อมีทุกข์ หรือเมื่อมีเหตุกังวลเกรงจะเกิดทุกข์.
การหันเข้าหาพระพุทธเจ้า หวนไปรำลึกตรึกตรองตามคำสอนของพระองค์ ย่อมเป็นเครื่องปลดเปลื้องความกระวนกระวายในเวลาที่เกิดวิตกขึ้นว่า ทุกข์จะมีมา.