- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
ปเกียรณกะ
ราชสำนักอังกฤษ เป็นราชสำนัก ซึ่งเห็นจะมีสง่าผ่าเผย กว่าราชสำนักไหน ๆ ในยุโรปในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ถ้าใครจะดูราชพิธีโอ่โถง อันกระทำตามประเพณีสืบเนื่องกันมาช้านาน จะเป็นขบวนแห่ก็ดี พิธีในพระราชวังก็ดี หรือพิธีในโบถก็ดี ต้องไปดูในประเทศอังกฤษจึงจะได้เห็นของดีจริง ๆ ประเทศอื่น ๆ ที่เคยมีราชพิธีเป็นสง่างดงาม เดี๋ยวนี้โซมไปเสียแล้วโดยมาก.
กระทรวงวังอังกฤษ มีข้าราชการชายหญิงรวม ๒๘๕ คน เป็นคนมียศบรรดาศักดิ์ หรืออยู่ในสกุลชั้นสูงโดยมาก หัวหน้าราชการแผนกต่าง ๆ ในกระทรวงนั้น มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระราชาและพระราชินีในเรื่องขนบธรรมเนียมราชประเพณี จึงเลือกล้วนแต่ผู้แก่อาวุโสในราชการ หรือมิฉนั้นก็เป็นลูกของพ่อ หรือหลานของปู่ และเหลนของทวด ที่ได้อยู่ในตำแหน่งราชการนั้น ๆ สืบเนื่องกันมาช้านาน.
วันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเสด็จพระราชดำเนินไปในงานแห่งหนึ่ง ซึ่งราษฎรพลเมืองไปกันเกลื่อนกล่น พระราชาทรงต้องการเงินเล็กน้อย ทรงควักกระเป๋าสนับเพลาไม่มี ก็ทรงหันไปหานายม้าต้น ซึ่งอยู่เวรตามเสด็จ นายม้าต้นควักกระเป๋าตนเอง ก็ไม่มีเงินเหมือนกัน ในที่สุด พระราชาทรงยืมเงิน ๑ ปอนด์จากนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง ซึ่งเดินตามขบวนเสด็จไปใกล้ ๆ.
เรื่องข้างบนนี้เป็นเรื่องจริง พระราชาพระองค์นั้น คือ พระเจ้ายอชที่ ๕ นายม้าต้นผู้บกพร่องคนนั้นคือใคร เขาไม่ได้กล่าวชื่อ แต่เป็นผู้มีหน้าที่ที่จะมีเงินหลวงไปในตัวในเวลาตามเสด็จ.
ข้าราชการกระทรวงวัง ๒๘๕ คน มีหน้าที่รับราชการในพระราชาและพระราชินี กวีนแมรีพระราชมารดา พระราชอนุชา ๒ พระองค์ และพระชายากับเจ้านายอื่น ๆ ในพระราชวงศ์ บางคนก็รับตำแหน่งถึง ๒ ตำแหน่ง ๓ ตำแหน่ง บางคนตำแหน่งไม่สู้จะมีงานในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๑) แต่ก็ตั้งไว้ตามราชประเพณี มิให้ขาดได้.
ที่ปรึกษาราชการในพระองค์ของพระราชาเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ซึ่งนับว่าใกล้ชิดพระองค์ที่สุด ก็คือหลอดวิแกรม เคยเป็นเลขานุการส่วนพระองค์ของพระเจ้ายอชที่ ๕ เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) เป็นหัวหน้าหอเก็บหนังสือหลวง (ซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่) กับเป็น “หลอดเวร” ประจำ (คือตั้งแล้วไม่ต้องเปลี่ยน) และตำแหน่งอื่น ๆ รวมทั้งรองเกาวนา ของพระราชวังวินด์เซอร์ด้วย.
ราชการในราชสำนักแยกเป็นหลายแผนก ๆ ใหญ่แผนกหนึ่ง คือแผนกแพทย์ ซึ่งถ้าเรียกตามทำเนียบไทยแต่ก่อน ก็เรียกว่ากรมหมอ กรมหมออังกฤษมีแพทย์ผ่าตัด แพทย์ผสมยา แพทย์ทางยา และแพทย์สำรองเผื่อเรียกด้วย ตำแหน่งหัวหน้าแพทย์รักษาทางยา เรียกตำแหน่งว่า Chief Physician ตามภาษาธรรมดา แต่หัวหน้าแพทย์ผ่าตัดเรียกว่า ซายันต์ เซอเยียน (Sergeant Surgeon) แพทย์พระทนต์เรียกว่า Surgeon Dentist แพทย์พระเนตรเรียกว่า Surgeon Oculist เป็นต้น.
กรมศาสนาแห่งราชสำนักมีมหาสังฆราชแห่งแคนเตอร์เบอรีเป็นหัวหน้า เรียกตำแหน่งว่า Lord High Almoner มีฐานานุกรมหลายท่าน และมีคนหนึ่งเป็นตำแหน่งดีดหีบเพลง เป็นผู้กำกับคณะร้องเพลงหมู่ในโบถหลวง กับเป็นตำแหน่งเรียกชื่อพิกัดว่า Composer at His Majesty’s Chanels Royal เห็นจะหมายความว่า เจ้าหน้าที่แต่งเพลงสำหรับสวดในโบถหลวง คงจะเป็นตำแหน่งเก่า แต่ครั้งเมื่อไม่ค่อยจะมีใครแต่งเพลง แต่เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) เข้าใจว่าไม่ต้องทำอะไรในหน้าที่นั้น.
หัวหน้าใหญ่ของกระทรวงวัง เรียกตำแหน่งว่า หลอด เกรด เชมเบอร์เลน (Lord Great Chamberlain) มีหน้าที่จัดราชพิธีเช่นการทรงมงกุฎ การแต่งงาน และการปลงศพ เป็นต้น.
สมุหพระอัศวราช (Master of the Horse) มีหน้าที่ดูแลกรมม้า ซึ่งรวมทั้งรถม้าและรถยนต์ และมีหน้าที่ควบคุมคนรถคนม้าด้วย.
หลอด สตวต (Lord Steward) เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ไม่ค่อยมีอะไรทำ แต่เป็นตำแหน่งใหญ่.
หลอดเชมเบอร์เลน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาในเรื่องงานหลวง เช่น การเสด็จออกรับแขก การพระราชทานเลี้ยง และงานเต้นรำในราชสำนักเป็นต้น.
สมุหพระอัศวราชมีข้าราชการรองเรียกว่า เคราน์เอเลวอร์รีย์ มีบ้านอยู่ในบริเวณกรมยานหลวง เป็นผู้จัดการรถม้าทั้งหมด มีคนเป็นคนขับรถยนต์ ขับรถม้า อินยิเนียร์ และคนเลี้ยงม้า คนรักษารถ รวมประมาณร้อยคน หน้าที่ของท่านผู้นี้ คือดูแลตั้งแต่ราชรถ ซึ่งใช้ในขบวนแห่ใหญ่ทางสถลมารคลงไป จนถึงรถยนต์สลูนทาสีดำ ซึ่งพระราชาทรงใช้ตามปรกติ สมุหพระอัศวราช มีสิทธิสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเกียรติใหญ่ คือเมื่อพระราชาทรงรถจะไปเสด็จออกรับแขก สมุหพระอัศวราชสวมสายสพายการ์เตอร์ เป็นผู้นั่งเคียงพระองค์ไปในรถพระที่นั่ง.
ข้าราชการในราชสำนัก แบ่งออกไปได้อีกเป็น ๒ พวก คือพวกที่ต้องไปทำงานในพระราชวังทุกวันพวกหนึ่ง พวกที่ไม่ค่อยจะต้องไปทำงานเพราะรับตำแหน่ง ซึ่งไม่ค่อยมีงานพวกหนึ่ง พวกหลังนี้มีมากกว่าพวกก่อน และที่ได้รับตำแหน่งเช่นนี้ ก็เพราะเป็นรางวัลความชอบที่ได้ทำมาแต่ก่อน.
ในพวกที่ต้องไปทำงานทุกวัน มีหัวหน้าราชการ ๒ คน คือราชเลขานุการคนหนึ่ง หัวหน้าพระคลังส่วนพระองค์คนหนึ่ง.
ราชเลขานุการ ถ้าจะเปรียบเหมือนอัครเสนาบดีส่วนพระองค์ ต้องทำงานใกล้ชิดพระองค์พระเจ้าแผ่นดินทุกวัน และเป็นผู้สื่อราชการระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับคณะเสนาบดีของพระองค์ ถ้าโปรดให้อัครเสนาบดีเข้าเฝ้า ก็เป็นหน้าที่ของราชเลขานุการที่จะนำเข้าเฝ้า.
ราชเลขานุการมีผู้ช่วย ๓ คน มีหน้าที่ในเรื่องหนังสือโต้ตอบ และกำหนดจดจำวันพระราชทานให้คนเข้าเฝ้า หรืองานซึ่งจะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปไหน และเป็นผู้ติดต่อในเรื่องเสด็จพระราชดำเนินตามหัวเมืองด้วย.
หัวหน้าพระคลังส่วนพระองค์ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ผู้เก็บถุงเงินลับของพระราชา (Keeper of the King’s privy purse) มีหน้าที่ในการทำบาญชีจ่ายเงิน เช่น เงินเดือนและเงินพระราชกุศลเป็นต้น และเป็นผู้เซ็นเช็คแทนพระราชาด้วย พระราชาทรงเซ็นเช็คเองไม่ได้ เพราะลายพระราชหัตถ์มีค่ายิ่งกว่าจำนวนเงินในเช็ค.
ถ้าพระราชาเสด็จไปไหนในทางราชการ ก็ต้องมีนายม้าต้นอยู่เวรตามเสด็จ (Equerry-in-waiting) นายม้าต้นเหล่านี้มี ๖ นาย เป็นนายทหาร ๕ นาย พลเรือนนายหนึ่ง นายม้าต้นเหล่านั้น ต้องเปลี่ยนเวรกันประจำอยู่ที่พระราชวัง หรือตามเสด็จเสมอ ถ้ามีแขกไปเฝ้า ก็เป็นหน้าที่ของนายม้าต้นผู้อยู่เวร ที่จะพาเข้าไปถึงหมู่ห้องที่ประทับ นอกจากนายมาต้นทั้งหกนั้น ยังมีนายม้าต้นสำรองอีก ๓๒ คน ซึ่งถูกเรียกตัวไปรับราชการเป็นครั้งคราว พวกนี้บางคนได้เป็นเปล่า ๆ เพราะพระราชทานเกียรติเป็นรางวัลที่เคยรับราชการมาก่อน.
นอกจากนายม้าต้น ยังมีข้าราชการเรียกว่า Grooms-in-waiting ๕ คน Lords-in-waiting อีก ๖ คน พวกนี้มีหน้าที่ผลัดกันอยูเวรเหมือนกัน ถ้ามีผู้เข้าเฝ้าก็แบ่งกันเป็นผู้นำตามฐานะของผู้เฝ้า แต่บางที ถ้าผู้เฝ้าเป็นคนสำคัญ ก็ต้องพร้อมกันทั้ง ๓ พวก.
อนึ่ง ยังมีตำแหน่งเรียกว่า “เย็นตละแมนผู้รับแขก” สำหรับพาแขกเข้าท้องพระโรง (Gentlemen Ushers) อีก ๑๖ คน มีหน้าที่คอยรับแขกในงานเต้นรำเป็นต้น พวกนี้เป็นผู้พยายามไม่ให้แขกเก้อ และเป็นผู้ชี้บอกให้รู้ว่า ห้องฝากเสื้ออยู่ที่ไหน ห้องเลี้ยงอยู่ที่ไหนเป็นต้น.
ในราชสำนักของพระราชินีก็มีข้าราชการคล้ายกับของพระราชา มีหัวหน้าซึ่งไม่สู้จะมีงานทำนัก แต่ราชเลขานุการมีงานทำมาก และต้องติดต่อกับราชเลขานุการของพระราชาอยู่เสมอ เพราะต้องกำหนดวันนัดของพระราชนอย่าให้ผิดกับวันนัดของพระราชาได้.
ตำแหน่งใหญ่ในราชสำนักของพระราชินี คือนางพนักงานพระภูษา (Mistress of the Robes) ผู้รับตำแหน่งต้องเป็นสตรีบรรดาศักดิ์ชั้นขุนนางสูงสุดอยู่เสมอ ตามธรรมดาท่านผู้นี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องแต่งพระองค์พระราชินีนัก แต่ในงานเช่นงานทรงมงกุฎ นางพนักงานพระภูษามีหน้าที่รับผิดชอบมาก.
ในราชสำนักของพระราชินี มีเจ้าพนักงานอีก ๒ ชุด ชุดละ ๔ คน เรียกตำแหน่งว่า เลดีห้องพระบรรธมพวกหนึ่ง นางห้องพระบรรธมพวกหนึ่ง (Ladies of the Bedchamber) หน้าที่ราชการไม่ได้เกี่ยวกับห้องพระบรรธมจริง ๆ เป็นแต่พวกอยู่เวรตามเสด็จเท่านั้น.
ตำแหน่งในราชสำนักพระราชินีเหล่านี้ ผู้รับตำแหน่งย่อมจะเป็นผู้สนิทกับพระราชินี บางคนเป็นเพื่อนกันมาเดิม การรับตำแหน่งย่อมเป็นเกียรติใหญ่ ไม่สำคัญอยู่ที่เงินเดือนหรือรายได้อย่างอื่นที่พระราชทานเลย.