แร้ง

แร้งเป็นนกกินศพ ที่กล่าวเช่นนี้ก็ดูเป็นการที่เอาแร้งไปปนกับนกอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น เหยี่ยวและกาเป็นต้น แต่ถ้าพูดตามตำราซึ่งผู้เขียนเปิดดูเดี๋ยวนี้เอง การกินศพเป็นลักษณะเด่นที่สุดของแร้ง และถ้าพูดตามความรู้เห็น แร้งก็ดูเหมือนจะเป็นนกชนิดเดียวที่มนุษยมีชีวิต นำศพมนุษย อันเป็นที่เคารพไปทอดไว้ให้กิน ควรถือว่าแร้งเป็นนกมีเกียรติมากในส่วนนี้.

ในอินเดียบางภาคเรียกแร้งว่าครุฑ เห็นจะหมายความว่าเป็นเผ่าพันธุ์พญาครุฑตัวที่พระนารายน์ขี่ เป็นการยกย่อง หรือถ้าไม่ใช่ยกย่อง ก็คือประจบเพราะกลัว.

ในคำแปลรามายณ (คือรามเกียรติ์) เป็นภาษาอังกฤษ ผู้แปลมักเรียกสดายุว่าแร้ง สดายุเป็นนกมีฤทธิ์ ถึงกับต่อสู้ไม่แพ้ทศกรรฐ์ หากทศกรรฐ์ได้แหวนนางสีดาเป็นอาวุธ จึงเอาชนะสดายุได้ เพราะฉนั้น สดายุย่อมจะเป็นนกใหญ่ที่สุด แต่ถ้าจะนึกถึงนกใหญ่ จะหานกชนิดใดใหญ่กว่าแร้งก็ไม่ปรากฏว่ามี อย่างน้อยก็ไม่มีในอินเดีย เพราะฉนั้น ถ้าไม่สงเคราะห์สดายุเข้าไปในจำพวกแร้ง ก็ไม่มีนกชนิดอื่นที่จะสงเคราะห์เข้าไปได้.

เพราะเหตุที่แร้งเป็นนกใหญ่ตัวหนักนัก มันจะหาที่เกาะซึ่งทานน้ำหนักมันได้ก็หายาก อนึ่ง มันเป็นนกกินอาหารจุ จะอาศัยกินอาหารที่เหลือจากคนเหมือนกาและนกกระจอกก็ไม่ได้ เพราะดังนั้น มันจึงไปเที่ยวอยู่ห่างจากบ้านผู้เมืองคน หากจะมีบ้างที่เกาะอยู่ตามต้นตาล ไม่ไกลจากที่อยู่ของคนมากนัก และมันเป็นนกกระจายกันไป ไม่อยู่ร่วมกัน เว้นแต่เมื่อมีเหตุเข้ารวมฝูง จึงจะประชุมกันเป็นจำนวนมากน้อย ตามแต่จะรู้ถึงกันได้.

ดังนี้ถ้าจะเทียบแร้งกับสัตว์บนพื้นดิน ก็เทียบได้ว่า แร้งเป็นสัตว์ป่า แม้ในที่ซึ่งเขานำเอาศพไปทอดไว้ให้กินเป็นปรกติทุก ๆ วัน มันย่อมไปอยู่ร่วมกันมาก ๆ มันก็อยู่เป็นแหล่งไม่เที่ยวยุ่มย่ามตามบ้านผู้เรือนคน ในสมัยที่มีป่าช้าผีดิบอยู่ที่วัดสระเกศ มันก็ไม่ค่อยไปเกาะที่ไหนในกรุงเทพ เว้นแต่เมื่อมีเหตุที่มันจะไปเกาะ ดังนี้ จึงควรเทียบได้ว่า แร้งเป็นสัตว์ป่า แต่เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เที่ยวไปได้ไกล เพราะกำลังปีกของมัน

ตามความเชื่อของไทยเราแต่ก่อน (และเห็นจะในประเทศอื่นอีกหลายประเทศ) ถ้าแร้งไปเกาะหลังคา ก็ถือว่าลางร้าย ผู้เขียนไม่เชื่อว่าแร้งจะเกาะหลังคากระท่อม หรือหลังคาเรือนเครื่องผูก เพราะมันรู้ว่าหลังคาจะทนน้ำหนักมันไม่ได้ หลังคาที่มันเกาะมักจะเป็นหลังคากระเบื้อง มันมีน้ำหนักในตัวมาก เห็นได้ที่ต้องวิ่งไปก่อนจึงจะบินขึ้นจากดินได้ ทำนองเดียวกับเรือเหาะ ถ้ามันเกาะหลังคามันก็ทิ้งน้ำหนักตัวลงไป อาจทำให้กระเบื้องแตกทีละหลาย ๆ แผ่น ซึ่งเป็นลางร้ายแสดงว่าหลังคาจะรั่ว และเครื่องบนจะผุเป็นต้น.

อนึ่ง มักจะกล่าวกันแต่ก่อนว่า ถ้ามีคนไข้อาการร่อแร่จวนตาย ก็มักมีแร้งมาเกาะหลังคา ประหนึ่งว่า ได้กลิ่นความตายหรืออะไรก็บอกไม่ถูก ในสมัยที่ป่าช้าผีดิบวัดสระเกศยังมีอยู่นั้น แร้งย่อมบินข้ามบ้านเรือนในกรุงอยู่เสมอ ถ้ามันรู้กลิ่นความตายได้ มันก็จะรู้ในเวลาบินข้ามเรือนดอกกระมัง

ถ้าพูดตามหนังสือฝรั่ง นักปราชญ์วิทยาศาสตร์ยังรู้ไม่ได้ว่า แร้งมันรู้ว่ามีศพอยู่ที่ไหน ด้วยตามันเห็นเมื่อมันอยู่ในฟ้าสูงจนเราไม่เห็นตัวมัน หรือมันจะรู้ได้ด้วยกลิ่น แต่ความเห็นนักปราชญ์วิทยาศาสตร์เอนไปในข้างที่ว่า มันคงจะรู้ได้ด้วยตา.

แต่เราสงสัยว่า ถ้ามันมาเกาะหลังคาเรือนที่มีคนเจ็บใกล้จะตายจริงดังที่กล่าวกัน มันก็คงจะรู้ได้ด้วยกลิ่น มันจะเห็นทลุหลังคาลงไปอย่างไรได้.

ตามคติไทยโบราณ ถ้าแร้งมาเกาะหลังคา หรือเข้าไปในบ้านคนก็มักจะจุดธูปเทียนบูชาอธิษฐาน ขออย่าให้เหตุร้ายมีมาแก่เจ้าของบ้าน บางคนแม้เพียงเห็นตัวแร้ง ก็ต้องท่องคาถา เพราะเป็นนิมิตร้าย.

คนที่เทียบแร้งเป็นสัตว์ป่านั้น ถ้าพูดตามหนังสือเก่า เรียกว่า คัมภีร์อธิไทยโพธิบาทว์ ซึ่งมักเรียกกันว่า โพไทยธิบาทว์ สัตว์ป่าเข้าเมืองเป็นลางร้าย ซึ่งต้องสังเวยพระอินทร์ จึงจะป้องกันภยันตรายได้.

[ที่เขียนชื่อหนังสือว่า อธิไทยโพธิบาทว์นี้ สกดตัวตามที่อาลักษณ์เขียนไว้ในสมุดไทย ในหอหลวง จะแปลว่ากระไรก็แปลไม่ออก แต่สันนิษฐานว่า มาจากตำราแพทย์สํสกฤตที่เรียกว่า ศุศฺรุต แบ่งอุบาทว์เป็น ๓ จำพวก ตามที่มาคือ อุบาทวภายในเช่นโรคเป็นต้นจำพวกหนึ่ง อุบาทว์เกิดเพราะภูตจำพวกหนึ่ง อุบาทว์เกิดเพราะเทวดาจำพวกหนึ่ง ชรอยชื่อตำราของเราจะมีคำว่า “เทว” และ “ภูต” ปนอยู่ แต่ตัวสกดเลือนไปก็เป็นได้]

ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์อธิไทยโพธิบาทว์ว่า ถ้าสัตว์ป่าเข้าเมืองก็ดี ถ้างัวตัวเมียขึ้นทับงัวตัวผู้ก็ดี ถ้าจวักหักในมือคนก็ดี ถ้าไพร่หลงเรือนมันเองก็ดี เหล่านี้เป็นอุบาทว์ ซึ่งพระอินทร์แสดงทำนายว่า จะมีภัยแก่ประชุมชน ให้เร่งสังเวยพระอินทร์ด้วยแก้วแหวนเงินทองธูปเทียนดอกไม้ข้าวปลาอาหาร และให้สวดมนต์ดังนี้

๏ โอม ปรวิทิสิอินฺทเทวตา สหคณปริวาราย อาคจฺฉนฺตุ ปริภนฺชนฺตุ สฺวาหาย ฯ

๏ โอม สพฺพอุปาท สพฺพโรค อุปทวฺวินาสาย สพฺพสตฺรู ปมุจฺจติ ฯ

๏ โอม อินฺทเทวตา สทารกฺขนฺตุ สฺวาหสฺวาห สฺวาหาง ฯ

การที่แร้งตั้ง ๑๐๐ ตัวมาลงที่มุมท้องสนามหลวง หน้ากรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒ เดือนนี้ (ทรงเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) และอยู่ที่นั่นตั้ง ๒ ชั่วโมง อ่านตามหนังสือพิมพ์ว่า มีศพสุนัขหลงตาอยู่ตัวหนึ่งนั้น ศพสุนัขตัวเดียวไม่น่าจะเป็นเครื่องจูงให้แร้งตั้ง ๑๐๐ ตัวมาอยู่ตั้ง ๒ ชั่วโมง เพราะถ้าจะกล่าวตามความบอกเล่าของผู้ได้เห็นไซร้ ถ้านำศพคนไปวางให้แร้งกิน มันกินพรึบเดียวก็เหลือแต่ร่างกระดูกขาวสอาด นอกนั้นไม่มีอะไรเหลือเลย.

หนังสือพิมพ์ที่ออกเมื่อวานนี้ (๓ ส.ค. ๒๔๘๑) ไม่ได้ให้ข่าวว่า ได้มีสังเวยพระอินทร์เมื่อวานนี้หรือไม่ แต่ครั้นนึกดูว่า ถ้าจะสังเวยกันตามคัมภีร์อธิไทยโพธิบาทว์ จะเป็นพนักงานของใครเป็นผู้สังเวย ก็กำหนดยาก จะว่าเป็นพนักงานกรมศิลปากร เพราะแร้งไปลงที่หน้ากรม หรือจะว่าเป็นพนักงานของสำนักพระราชวัง เพราะเป็นที่ใกล้กำแพงพระราชวัง หรือจะเป็นพนักงานสาธารณสุขของเทศบาล เพราะมีศพสุนัขหลงจมูกหลงตาอยู่ตัวหนึ่ง หรือจะเป็นพนักงานของใครก็บอกไม่ถูก แต่ถ้าไม่ต้องทำตามเคล็ดที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์อธิไทยโพธิบาทว์ ก็เป็นการโล่งที่ไม่ต้องกำหนดลงไป ว่าเป็นพนักงานของใคร.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ