- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
อินโดจีนของฝรั่งเศส
ตามที่ใช้ในภูมิศาสตร์ คำว่าอินโดจีน หรืออินเดียจีน เป็นที่ดินทั้งหมดซึ่งเป็นแหลมอยู่ในตวันออกภาคใต้ของทวีปเอเซีย มีประเทศหลายประเทศ คือ สยาม มลายู พม่า เขมร ลาว ญวน เป็นต้น ทั้งหมดนี้เรียกว่าแหลมอินโดจีน แต่ส่วนที่ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสนั้น เรียกว่าอินโดจีนฝรั่งเศส หรืออินโดจีนของฝรั่งเศส.
ในภาษาพูดธรรมดาต่างหากจากภาษาภูมิศาสตร์ เราใช้อินโดจีนหมายความว่า อินโดจีนของฝรั่งเศส ไม่รวมประเทศอื่น ๆ เข้าไปด้วย ในภาษาอังกฤษก็มักจะใช้ห้วนเช่นนี้ เพื่อจะพูดให้สั้นเข้าไป.
ฝรั่งเศสได้อินโดจีนเป็นเมืองขึ้น ในสมัยที่ประเทศมหาอำนาจกำลังรวบรีรวบขวาง พวกฝรั่งเศสสอนศาสนาได้เข้าตั้งอยู่ในประเทศนั้นกว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว แต่เพิ่งจะเริ่มเป็นเมืองขึ้นกันจริงจัง ในสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ นี้เอง และในสมัยต่อมาเมื่อประเทศมหาอำนาจยังไม่เลิกการรวบรีรวบขวาง อินโดจีนของฝรั่งเศสกได้ขยายอาณาเขตออกไปตามลำดับจนถึงเป็นอยู่ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑)
ในสมัยที่ฝรั่งเศสขยายอาณาเขตออกไปในอินโดจีนใหม่ ๆ นั้น อาณาเขตที่ได้ไม่สู้จะเป็นพักเป็นผลอะไรนัก ได้ยินว่าขาดทุนโดยมาก แต่เดี๋ยวนี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ไม่เป็นเช่นนั้น อินโดจีนสำคัญแก่ฝรั่งเศสขึ้นทุกที ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) เป็นเมืองขึ้นซึ่งเจ้าของหวงเป็นที่สุด ควรทราบได้แน่นอนว่า เมื่อมาถึงตอนนี้แล้ว ฝรั่งเศสจะไม่ทิ้งไปจากอินโดจีน หรือสละให้แก่ใครในทางแลกเปลี่ยน หรือในทางไหนเป็นอันขาด ถ้าถึงคราวที่จะต้องสู้กับใคร เพื่อจะรักษาอินโดจีนก็คงจะสู้จนเย็บตา ใช่แต่จะใช้กำลังที่มีอยู่ในอินโดจีนแล้วเท่านั้น ถ้าจำเป็นก็คงจะส่งกำลังมาจากยุโรปและแอฟริกาด้วย ใช่แต่เท่านั้น ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ฝรั่งเศสยังวางโครงการป้องกันอินโดจีนด้วยความกลมเกลียวว่าจะร่วมศึกกับอังกฤษและฮอลันดาด้วย ทั้งนี้ก็เพราะเกรงภัยญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจอยู่ในแถบนี้
เราจะชี้แจงให้ผู้อ่านเห็นว่า เหตุไรฝรั่งเศสจึงหวงอินโดจีนนัก แม้แต่ก่อนได้หวงมากอยู่แล้ว ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ก็กลับหวงมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ก็เพราะว่า ผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในอินโดจีนได้เพิ่มขึ้นใน ๒ – ๓ ปีนี้อย่างรวดเร็วที่สุด.
เมื่อแรกฝรั่งเศสได้ตังเกี๋ยไปใหม่ ๆ การได้เมืองขึ้นนั้นไม่เป็นที่ชอบใจชนฝรั่งเศสนัก ในตอนหนึ่งมีข่าวไปถึงปารีสว่า กองทหารฝรั่งเศสที่รบอยู่ในอินโดจีนได้พ่ายแพ้แก่ข้าศึก เป็นเรื่องให้ราษฎรในประเทศโน้นแค้นเคืองรัฐบาลว่าหาอันไม่เลย จนอัครเสนาบดีชื่อเฟร์รีย์ตกแท่นในเวลานั้น เคฺลมังโซได้พูดเรี่ยวแรงที่สุดกล่าวหาอัครเสนาบดีว่า รับสินบนเยอรมันเพื่อจะจูงใจคนฝรั่งเศสให้ไปตื่นเต้นในทวีปเอเซีย แทนที่จะตั้งหน้าระวังตัวอยู่ในยุโรป เฟร์รีย์ได้ตกแท่นอัครเสนาบดีลงไปในครั้งนั้น และต่อมาเคฺลมังโซก็ได้เป็นรัฐบุรุษชั้นเยี่ยมของประเทศฝรั่งเศส แต่ถ้าย้อนคิดไปถึงเหตุการในสมัยโน้น ประชามติฝรั่งเศสเดี๋ยวนี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ก็เห็นชอบกับเฟร์รีย์ หาใช่เห็นชอบกับเคฺลมังโซไม่.
ทั้งนี้ก็เพราะว่า ตั้งแต่สิ้นมหาสงครามมาแล้ว (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ชนฝรั่งเศสได้ใส่ใจในเมืองขึ้นซึ่งอยู่ต่างทวีปมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า เหตุ ๆ หนึ่งคือคมนาคมในสมัยนี้สดวก ชนฝรั่งเศสไปมาถึงกันกับเมืองขึ้น ก็ได้เห็นความสำคัญยิ่งขึ้น ๆ เหตุอีกเหตุหนึ่งคือว่ามหาสงครามได้ทำให้เห็นแจ่มแจ้งว่า แม้ท้องที่ซึ่งอยู่ห่างไกลกันถึงคนละทวีป ที่ติดต่อกันได้อย่างสนิท เพราะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้ อีกประการหนึ่ง โลกทั่วไปในสมัยนี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ดำเนินไปในวิถีที่จะเกียดกันการค้าขายแก่กัน การค้าขายของใครก็ยกขึ้นเป็นเบื้องต้น การค้าขายกับผู้อื่นกันเป็นที่ ๒ เพราะฉนั้นค่าแห่งเมืองขึ้นในทางเศรษฐกิจจึงสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ประเทศใดมีอาณาเขตแผ่กว้างไป ประเทศนั้นย่อมได้เปรียบประเทศอื่น ในทางที่มีสินค้าของตนเอง อันจำเป็นแก่การบำรุงชีวิตและกำลัง เหมือนดังจักรพรรดิราชย์อังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มแห่งประเทศใหญ่ ๆ ย่อมอาศัยซึ่งกันแลกันได้ โดยประการที่กล่าวนี้.
พูดส่วนฝรั่งเศส เมืองขึ้นที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นกำลังมากที่สุด คือเมืองขึ้นในแอฟริกาเหนือ ถัดมาที่ ๒ คืออินโดจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีราษฎรพลเมืองมากกว่าเมืองขึ้นอื่น ๆ ของฝรั่งเศสทั้งสิ้น อนึ่ง อินโดจีนมีทรัพย์ใต้ดินและบนดินซึ่งช่วยกำลังของประเทศฝรั่งเศสได้มากมาย เป็นตลาดสำหรับฝรั่งเศสส่งสินค้ามาขาย และมีสินค้าขายให้แก่ประเทศฝรั่งเศสมากกว่าเมืองขึ้นไหน ๆ ของฝรั่งเศสทั้งสิ้น การเป็นดังนี้ ฝรั่งเศสจึงส่งทรัพย์มาลงทุนไว้ประมาณกันว่า ๒๕ พันล้านแฟรงค์ และทรัพยสมบัติที่ลงทุนไว้นี้ คะเนกันว่า ตั้งแต่สิ้นมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) แล้ว ได้มีค่าสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเกือบ ๖ เท่า ในระหว่างปี ๒ ปีที่แล้วมา โดยเฉพาะตั้งแต่ลดราคาแฟรงก์ลงไป อินโดจีนเป็นประเทศซึ่งเอาตัวรอดได้ จากความคับแค้นทางเศรษฐกิจ ดีกว่าเมืองขึ้นอื่น ๆ เป็นเมืองขึ้นแห่งเดียวของฝรั่งเศส ซึ่งค้าขายกับต่างประเทศได้กำไรเป็นอันมาก.
เพียงที่กล่าวมานี้เป็นส่วนเศรษฐกิจ ในส่วนการสั่งสอนชักจูงไปในวิชาอย่างตวันตก ฝรั่งเศสได้จัดลงไปในอินโดจีนมาก เช่นการศึกษาชั้นกลาง และชั้นมหาวิทยาลัย แต่ในวิธีจัดเหล่านี้ รัฐบาลฝรั่งเศสแสดงประสงค์ว่า จะไม่รื้อถอนประเพณีเก่า เป็นแต่เพียงจะนำความรู้ใหม่มาเพิ่มความรู้เก่าเท่านั้น.
ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) อินโดจีนเป็นที่ตั้งมั่นของฝรั่งเศสอยู่ในเอเซีย ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไม่เป็นปัญหา พรมแดนของอินโดจีนติดต่อกับอาณาเขตจีนยืดยาว อินโดจีนจึงจำเป็นจะต้องใส่ใจในความสงบราบคาบของประเทศจีนผู้เป็นเพื่อนบ้าน อนึ่ง อินโดจีนเป็นแหล่งกลาง หรือเป็นคั่นก้าวระหว่างฝรั่งเศสกับจีน เป็นสถานีเรือเหาะระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับเมืองฮานอย และเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ไปมาสัปดาห์ละครั้ง อนึ่งในอานัมมีอ่าวสำคัญสำหรับทัพเรือ คืออ่าวที่เรียกว่ากัมรานห์ อันเป็นอ่าวซึ่งทัพเรือใหญ่ของรัซเซียได้ไปอาศัยพักอยู่เป็นนาน เพื่อซ่อมแซมให้คล่องแคล่วก่อนที่จะออกรบกับทัพเรือญี่ปุ่นในสงครามครั้งโน้น ทัพเรือรัซเซียเป็นทัพใหญ่ ซึ่งมาจากยุโรป มีเรือลำเลียงมาเป็นกองใหญ่ แต่พักในอ่าวนั้นได้หมด ทัพเรือญี่ปุ่นมาทำร้ายไม่ถึง.
อนึ่ง อินโดจีนในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) เป็นทางเดินทางบกที่จะติดต่อกับประเทศจีนได้ทางมณฑลยูนาน ถ้าคำนึงว่าการเปิดทางบกเข้าออกกับประเทศจีนได้อีกทางหนึ่งในเวลาข้างหน้า ย่อมเป็นของสำคัญอย่างไร ก็คงจะเห็นได้ว่า นอกจากอินโดจีนสำคัญแก่ฝรั่งเศส โดยน้ำเนื้อของอินโดจีนเองแล้ว ยังสำคัญโดยประการที่จะเป็นทางติดต่อกับประเทศจีน อันเป็นแหล่งซึ่งฝรั่งเศสมีผลประโยชน์ ลงทุนค้าขายไว้มากมายแล้วนั้นด้วย.
ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีรัฐบุรุษคนใดในประเทศฝรั่งเศส หรือชมรมการเมืองชมรมใด ที่จะยอมให้ฝรั่งเศสสละเมืองขึ้นอันสำคัญนี้ ซึ่งถ้าทิ้งไป หรือยอมให้แก่ใคร ก็จะเสมอกับถอนรากไปจากทวีปเอเซีย อนึ่ง เวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ฝรั่งเศสกับอังกฤษร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในการป้องกันภัยจากมหาอำนาจอื่น ๆ การที่ฝรั่งเศสตั้งมั่นอยู่ในอินโดจีน ย่อมเป็นการช่วยกำลังอังกฤษ ที่จะต้านทานศัตรูใหญ่ในแถบนี้ จึงควรเข้าใจได้ว่า อังกฤษย่อมสนับสนุนฝรั่งเศสในอินโดจีนด้วย.
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า อินโดจีนเป็นตำแหน่งสำคัญในโครงการทั้งหมดของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงหวงนัก และคงจะป้องกันด้วยกำลังอาวุธและกำลังเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากที่มีอยู่กับที่แล้ว ยังจะส่งมาจากทวีปอื่นได้ เหมือนดังเมื่อแรกรบกับญวน กองทหารฝรั่งเศสที่ส่งมาแล้วไม่มีกำลังจะทำอันใดแก่กองทัพของพระเจ้าแผ่นดินญวนได้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งกองทัพเรือและบกหนุนเนื่องมาจากยุโรปเอาชัยจนได้.
ได้กล่าวบ้างถึงรถไฟสายยูนาน ซึ่งปลายทางหนึ่งอยู่เมืองฮานอยในอินโดจีน อีกปลายทางหนึ่งอยู่เมืองยูนานฟู คือเมืองหลวงของมณฑลยูนาน รถไฟนี้ได้เปิดตอนหนึ่งก่อนหลายปีมาแล้ว ฝรั่งเศสได้ลงทุนไปล้านแฟรงก์เศษ บางทีก็กล่าวกันว่าเป็นทุนซึ่งได้ลงไปเพื่อประโยชน์การเมือง แต่เขาว่าอันที่จริง ความตั้งใจเดิมเป็นทางเศรษฐกิจ คือจะเปิดให้สินค้าในภาคใต้แห่งจีนมีทางไปลงอ่าวทเลได้ ในภาคเหนือแห่งอินโดจีน สินค้าจีนภาคนั้นไม่มีทางออกได้สดวกที่อ่าวไหนของจีนเอง ฝรั่งเศสจึงคิดทำทางรถไฟ เพื่อจะดูดมาลงทเลทางนี้ ให้เกิดเป็นรายได้แก่อินโดจีนเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง.
การที่ทำทางรถไฟให้จีนมีทางมาลงทเลในดินแดนของประเทศอื่นอีกทางหนึ่งนี้ มาในตอนนี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) สำคัญนัก นายพลเจียงไคเชก ได้เห็นล่วงหน้ามาหลายปีแล้ว และได้พยายามที่จะทำทางคมนาคมระหว่างจีนภาคกลางกับยูนานให้ดีขึ้น และในเมืองเชงตูซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีนอยู่ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ได้มีทางรถไฟติดต่อกับยูนานและอินโดจีนได้ เมื่อต้นปีกลาย (ค.ศ. ๑๙๓๗) ได้ทำหนังสือสัญญาสร้างทางรถไฟจากเมืองเชงตูไปเมืองจุงกิง ใช้ทุนฝรั่งเศส และจีนยังกำหนดจะสร้างรถไฟสายอื่นในแถบนั้น ด้วยทุนที่จะได้จากประเทศอื่นด้วย ทั้งนี้ก็เพราะนายพลเจียงไคเชกคงจะคิดล่วงหน้าไว้ว่า ถ้าจีนถูกปิดอ่าวทเลก็จะได้มีทางออกทางบกอีกทางหนึ่ง ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) มีเรือเหาะบินระหว่างอินโดจีนกับเมืองเชงตูแล้ว และตั้งแต่เดือนธันวาคมมา (ทรงเรื่องนี้ เมื่อ ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ได้ยินว่ามีบริษัทเยอรมันเดินเรือเหาะระหว่างยูนานฟูกับฮานอยอยู่ด้วย ดังนี้จะเห็นได้ว่า มณฑลยูนานกลายเป็นมณฑลสำคัญ เพราะเป็นประตูต้นทางเข้าออกกับอินโดจีน และในเวลานี้ ก็มีโรงเรียนนักบินอยู่ที่เมืองยูนานฟูแล้ว.
ที่กล่าวข้างบนนี้แสดงให้เห็นเลอียดกว่าที่กล่าวมาแล้วว่า การติดต่อกับจีนที่มีขึ้นใหม่ ๆ นี้ ทำให้อินโดจีนสำคัญแก่ฝรั่งเศสกว่าแต่ก่อน.
ถ้าจะคิดถอยหลังไปไม่กี่ปีนัก ก็ดูเหมือนแทบจะไม่มีใครนึกว่า อินโดจีนจำเป็นจะต้องเตรียมตัวป้องกันข้าศึกภายนอก มาเดี๋ยวนี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ไม่ใช่แต่เพียงนึกเท่านั้น ที่แท้การเตรียมตัวได้ลงมือทำแล้ว เห็นได้ในการเพิ่มจำนวนกองทหาร และในการออกใบกู้เงินภายใน ดังปรากฏในพระโองการของพระเจ้าแผ่นดินเขมร ทรงชักชวนให้ราษฎรให้เงินกู้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งหนังสือพิมพ์นี้ (ประมวญวัน) นำคำแปลในหนังสือยุทธโกษมาพิมพ์แล้ว เป็นต้น.
เหตุ ๆ หนึ่งที่ทำให้อินโดจีนต้องคิดระวังตัว ก็คือว่า อินโดจีนเป็นทางให้ขนเครื่องรบส่งเข้าไปในเมืองจีนได้ การเปิดทางให้ยุทธภัณฑ์เข้าเมืองจีน ย่อมเป็นรูปการอันทำให้เกิดเป็นอริขึ้นกับญี่ปุ่น ซึ่งกำลังรบกับจีนอยู่ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ครั้งหนึ่งขุนนางญี่ปุ่นชื่อไวซ์เคานต์ อิชิอิ ได้กล่าวแก่หนังสือพิมพ์อังกฤษว่า เครื่องรบไหลเข้าสู่ประเทศจีนหลายทาง คือทางอินโดจีน เป็นต้น ถ้าขืนไหลอยู่เช่นนั้น ญี่ปุ่นก็จะทิ้งบอมบ์ทำลายรถไฟสายยูนานฟูเสีย.
อินโดจีนเป็นประเทศซึ่งต้องระวังภัยทางทเล เพราะมีเกาะไหหลำอยู่ตรงข้าม ซึ่งถ้าศัตรูเข้าตั้งอยู่ได้แล้ว ก็จะทำร้ายอินโดจีนได้ถนัด.
ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) อินโดจีนมีกองทัพซึ่งทหารเป็นคนพื้นเมือง (คือ ญวน ฯลฯ) ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน เป็นกองทหารฝรั่งเศสกองหนึ่ง กับกองทหารชาวประเทศต่าง ๆ กองหนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกาวนาเยเนอรัลคนเก่าของอินโดจีน (ซึ่งเดี๋ยวนี้ ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ไปเป็นสมาชิกอยู่ในปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส ได้ออกความเห็นในปาฐกถาซึ่งแสดงที่ปารีสว่า ควรเพิ่มกองทหารคนพื้นที่ให้มากขึ้นและให้ให้สิทธิการเมืองแก่ราษฎรเพิ่มขึ้นอีก.
ในอินโดจีน มีลัทธิคอมมูนิสม์แทรกเข้าไป ๓ ทาง คือเข้าไปจากภาคใต้แห่งจีนทางหนึ่ง คอมมูนิสตฺจากด้านนั้น ได้เข้าไปยุยงจีนในประเทศอินโดจีนอยู่พักหนึ่ง แต่จีนที่นั่น ซึ่งมีประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน โดยมากเป็นคนค้าขายมีทรัพย์ จึงไม่เล่นด้วยกับคอมมูนิสต์.
ทางที่ ๒ ลัทธิคอมมูนิสต์ได้เข้าไปสู่อินโดจีน โดยที่คนฝรั่งเศสเองที่เป็นคอมมูนิสต์อยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้พาเข้าไป แต่บัดนี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ชมรมคอมมูนิสต์ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนความคิดไปเป็นพวกชาตินิยม และส่วนคอมมูนิสต์ในรัซเซียเล่า ก็เห็นว่าเวลานี้รัซเซียก็ไม่ต้องการจะให้ฝรั่งเศสเสียอินโดจีน เพราะฉนั้น ลัทธิคอมมูนิสม์ที่มาจากรัซเซียก็ระงับไป.
ทางที่ ๓ พวกญวนเองเป็นคอมมูนิสต์อยู่บ้าง บางคนถึงแก่ได้ไปเข้าโรงเรียนคอมมูนิสต์ที่เมืองกวางตุ้ง แต่เดี๋ยวนี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ถ้าพูดทั่วไปแล้ว ลัทธิคอมมูนิสม์ในอินโดจีนได้สงบลง นับว่าความกลมเกลียวกันกับรัฐบาลฝรั่งเศสมีมากขึ้น.