สินบน

คำว่า “สินบน” ปทานุกรมแปลว่า “เงินที่ให้แก่ผู้ทำธุระเสร็จตามสัญญาที่บอกล่วงหน้าไว้” คำแปลเช่นนี้ ผู้เขียนไม่ทราบว่าจะถูกตามความหมายดั้งเดิมหรือไม่ แต่ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๗) เราไม่ได้เข้าใจกันอย่างนั้น เป็นต้นว่าถ้าเราว่ากับช่างตัดเสื้อให้ตัดเพื่อให้เราตัวหนึ่ง ตกลงราคากัน (ต่างว่า) ๕ บาท ครั้นเราได้เสื้อ เราก็ให้เงิน แต่เงินนั้นหาเรียกว่าสินบนไม่ ถ้าเราขอต่อเจ้าพ่อหลักเมืองว่า ขอให้เราถูกลอตเตอรี่เทศบาล เมื่อถูกแล้วเราจะถวายไข่ต้ม ๕๐๐ ฟอง ไข่ต้มนั้นก็คือสินบน แต่เราก็ยังไม่เรียกว่าสินบนแท้ ถ้าเราไปหาผู้พิพากษาบอกว่า ถ้าตัดสินให้เราชนะความ เราจะสมณาคุณ ๕๐๐ บาทฉนี้ ๕๐๐ บาท นั้นแหละสินบนแน่.

สินบนนี้ถ้าจะเปรียบก็คล้ายข้าว ซึ่งเป็นของกินของมนุษย์ทั่ว ๆ ไปในโลก ถ้าไม่ใช่ข้าวชนิดที่เรากิน ก็คงเป็นข้าวสาลีหรือข้าวชนิดอื่น ๆ ในกรุงเทพหลายสิบปีมาแล้ว มีจีนคนหนึ่งเป็นขุนพัฒน์ รับทำภาษีอากรผูกขาด ครั้งหนึ่งรับทำภาษี กำหนดจะส่งเงินขึ้นคลังมาก จนคนอื่นๆ เห็นว่าจะขาดทุน จึงมีคนทักว่า ทำไมกล้ารับเช่นนั้น ขุนพัฒน์ตอบว่า ถ้าไก่ยังกินข้าวสารอยู่ตราบใด ก็พอยังรับ ทำได้ คำที่กล่าวนั้น มีใจความเป็นที่เข้าใจกันแจ่มแจ้ง ผู้เขียนจะไม่อธิบายในที่นี้ จะกล่าวแต่ว่า ขุนพัฒน์คนนั้นในที่สุดก็ล้มหลายทอด จะเป็นด้วยไก่เลิกกินข้าวสาร หรือไม่มีข้าวสารพอจะให้ไก่กิน ก็เป็นเรื่องที่คงจะมีคำอธิบายอีกส่วนหนึ่ง.

เหตุที่ชักให้เขียนเรื่องนี้ ก็คือข่าวที่ว่า จอมพลเจียงไกเช๊ก ได้พยายามจะปราบปรามการกินสินบนของข้าราชการจีนให้สิ้นไป ได้ออกคำสั่งพิเศษในการนี้ และชี้แจงว่า ที่เรียกว่าสินบนนั้น คืออะไรบ้าง... จอมพลเจียงไกเช๊กให้เวลา ๒ เดือน กำหนดเวลาการรับสินบนต้องเลิกให้สิ้นเชิง ภายในเวลานั้น หนังสือบางกอกไตมส์วันที่ ๗ (เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙) นำเอาความในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เซี่ยงไฮ้ชื่อ “ออเรียนทัลแอฟแฟซ์” มากล่าวว่า คำสั่งของจอมพลเจียงไกเช๊กนี้คงจะทำให้เกิดกระเทือนกัน ในสำนักราชการต่าง ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อันที่จริง การกินสินบน ย่อมจะเป็นศัตรูกับความสำเร็จไปด้วยดีของราชการบ้านเมือง หรือแม้การงานของบริษัทค้าขาย และน่าจะเชื่อว่า การอันนั้นเป็นเหตุสำคัญเหตุหนึ่งซึ่งทำให้เทศชน (เนชั่น) จีนอ่อนจนยังไม่มีเวลาแข็งแรงขึ้นได้.

ในประเทศนั้น การกินสินบนหรือกินกำไร มีมาช้านาน จนไม่ประมาณได้ว่าเท่าไร อย่าว่าแต่ในกิจธุระใหญ่ๆ แม้ในบ้านเรือนของครอบครัวก็เป็นดังนั้นเสียแล้ว เช่นคนทำครัวหรือคนใช้ ก็กินกำไรจากนายตามที่จะกินได้ ในหน้าที่งานของตน การเป็นดังนั้น ตั้งแต่งานชั้นต่ำคือการรับใช้ครอบครัวในบ้าน ตลอดไปจนงานชั้นสูงคือการรับใช้ประเทศ การเป็นเช่นนี้ผู้ที่เชื่อว่า จะปราบปรามการกินสินบนและกินกำไรให้ศูนยสิ้นไปได้ใน ๒ เดือนนั้น คงจะเป็นผู้มีใจเห็นไปแต่ในทางดีทางเดียว นักเขียนในหนังสือพิมพ์เซี่ยงไฮ้กล่าวว่า จะต้องมีพายุไตฟูนอย่างแรงที่สุดพัดกวาดไปในสังสรรค์ของเทศชน จึงจะถอนรากการกินสินบนให้หลุดขึ้นได้.

นักเขียนผู้นั้นกล่าวความถอยหลังไปถึงในสมัยเมื่อกษัตริยเม่งจูยังครองประเทศจีนอยู่ ในคราวที่กองทัพเรือจีนต้องการจะบำรุงกำลัง เพื่อจะได้ต่อสู้กับทัพเรือญี่ปุ่นในคราวสงครามข้างหน้า ซึ่งรู้แน่ว่าจะเกิดนั้น ได้กันเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในทัพเรือ แต่นางฮองไทเฮาองค์เฒ่า ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินอยู่ในเวลานั้น ได้โปรดให้โอนเงินจากประเภทบำรุงทัพเรือ ไปจ่ายในประเภทบำรุงพระราชวังในฤดูร้อนเสียหมด ในยุคเดียวกันนั้น ขุนนางผู้จะได้รับตำแหน่งหัวหน้าศุลกากรที่เซี่ยงไฮ้ ต้องถวายเงินกล่าวกันว่าถึงล้านตำลึงจึงจะได้รับตำแหน่ง และกล่าวกันต่อไปว่า ผู้รับตำแหน่งมักจะคำณวนว่า ถ้าได้เป็นถึง ๒ ปี ก็จะสะสมทรัพย์ลาออกไปเป็นเศรษฐีได้ ที่กล่าวนี้ คือประเทศจีนในสมัยก่อน แต่เขาว่าในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ก็มิได้ดีขึ้น และในสมัยริปับลิค การกินสินบนและกินกำไรจำเริญสุดยอด ในสมัยริปับลิคนี้ การขึ้นภาษีอากรร่ำไป และการห้ามฝิ่น ได้เป็นทางให้กินสินบนและกินกำไรอย่างเลิศลอยมาก การห้ามฝิ่นกลับเป็นโอกาศให้บังคับชาวไร่นาให้ปลูกฝิ่นเป็นประโยชน์แก่ผู้บังคับ และนักเขียนในหนังสือเซี่ยงไฮ้กล่าวต่อไปว่า การที่ตั้งโครงการใหญ่โต เพื่อจะบำรุงอุตสาหกรรม ในกวางตุ้งนั้น คงจะเลอะเทอะหมด เว้นแต่จะห้ามการกินสินบนและกินกำไรของข้าราชการได้ เขาว่าในมณฑลนั้น มีการกินสินบนและการกินกำไรมาก กว่าที่ใครจะเคยได้ยินมาแต่ก่อน.

การจัดทำกิจการผูกขาดในที่นั้นในว่า ๆ เพื่อจะบำรุงอุตสาหกรรม ที่ทำกันในบ้านราษฎร แต่ที่จริงเป็นทางสำหรับให้ข้าราชการส่งเสริมความมั่งมีของตนเอง ส่วนการลักลอบพาสินค้าเถื่อนเข้าไปนั้น เขาว่าเจ้าพนักงานรู้เห็นเป็นใจก็มาก และสินค้าเถื่อนที่บรรทุกเรือของรัฐบาลเข้าไป ก็มากเหมือนกัน.

ความมุ่งหมายของจอมพลเจียงไกเช๊กนั้น ใคร ๆ ก็คงจะช่วยอยากให้สำเร็จ แต่อำนาจของเจียงไกเช๊ก หาบังคับไปได้ทั่วประเทศจีนไ.

มีข้อหนึ่งที่นักเขียนในหนังสือเซี่ยงไฮ้กล่าว ซึ่งเป็นข้อน่าฟัง ไม่ว่าจะจัดสำเร็จไปได้หรือไม่ ข้อนั้นคือว่า ถ้าจะกำจัดการกินสินบนและกินกำไร ก็ต้องจัดระเบียบข้าราชการพลเรือน (Civil Service) ให้เรียบร้อย เขาหมายความว่า ต้องเลือกคนสามารถเข้ารับใช้ และใช้จำเพาะคนสามารถเท่านั้น ต้องให้เงินเดือนให้พอกิน ไม่จ้างคนไม่สามารถไว้ให้หนักเงิน เพื่อจะได้เอาเงินไปจ่ายให้คนสามารถ ถ้าเช่นนี้ เขาว่าความซื่อสัตย์ในราชการก็จะมีมากขึ้น.

นั่นเป็นความเห็นของนักเขียนในเซี่ยงไฮ้ ใคร ๆ ก็เห็นว่าดี แต่ข้อที่ว่าจัดเพียงเท่านั้นจะพอหรือยังนั้น เป็นปัญหาคนละอย่าง ถ้าการกินสินบนและกินกำไรเป็นน้ำหนักถ่วงความจำเริญ ให้ตกอยู่ก้นเหว และถ้าทำเพียงจัดระเบียบข้าราชการให้ดีขึ้น ความจำเริญกจะหลุดลอยขึ้นมาได้ไซร้ ก็ควรนักหนาที่จะทำ วิธีนั้นจะเป็นวิธีที่จอมพลเจียงไกเช๊กใช้ แต่หากเรายังไม่ทราบเลอียดดอกกระมัง.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ