หลักบงการประเทศ

นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้เขียนจดหมายไปให้หนังสือพิมพ์ “ข่าวสยาม” ซึ่งไปขอเพื่อจะนำลงพิมพ์ในวันงานฉลองครบรอบปีของหนังสือพิมพ์ เราขออวยพรต่อ “ข่าวสยาม” ไม่ใช่ในส่วนที่ครบรอบวันเกิดเท่านั้น อวยพรส่วนที่เป็นพาหนะให้หลวงพิบูลได้กล่าวความเห็นด้วย.

ถ้อยความที่เป็นแก่นแห่งจดหมายของคุณหลวงนั้นก็คือว่า ในส่วนประศาสโนบายของประเทศ รัฐบาลต้องฟังความเห็นของชนส่วนมาก แต่ในทางบริหารต้องใช้วิธีบังคับกันจริง ๆ โดยวินัยเคร่งครัด นัยหนึ่งลัทธิเผด็จการ.

(ลัทธิเผด็จการหมายความตรงกับภาษาอังกฤษเรียกว่า ดิกเตเตอรชิป เผด็จแปลว่า ตัด ขจัด ขาด. ดูปทานุกรม)

เราเข้าใจความหมายของคุณหลวงดังซึ่งเราจะขอกล่าวโดยปริยายและอุปมาว่า วิธีบริหารชนิดที่มีอาการต้วมเตี้ยมเกิดจากการปรึกษาหารือ และอภิปรายความเห็นซึ่งเกิดจากความรู้บ้าง เกิดจากความไม่รู้บ้างนั้น จะพาราชการของประเทศให้เจริญไปเร็วไม่ได้ ในสมัยที่โลกเป็นอยู่เช่นเดี๋ยวนี้ ถ้าเห็นทางไหนเป็นทางที่จะนำไปสู่ความเจริญ ก็ต้องรีบก้าวเดินไป ถ้ามัวต้วมเตี้ยมกันอยู่ ก็มักจะเดินไปไม่ได้ ไม่ทราบว่าความปั่นป่วนภายนอก หรือความยากภายในจะมาปิดทางเสียเมื่อไร ถ้าจะเปรียบเหมือนขับรถไปตามถนนยาวในประเทศที่กำลังหนาวจัด ถ้าเห็นถนนก็ต้องรีบขับไป มิฉนั้นขืนโอ้เอ้อยู่เพียงหกเจ็ดชั่วโมง หิมะอาจตกกลบถนนท่วมหลังคารถก็ได้ อนึ่ง การขับรถตามถนนซึ่งลื่นด้วยน้ำแข็งนั้น เมื่อเลือกผู้ขับได้แล้วก็ต้องมอบให้ขับ ตรงไหนควรจะแล่นเร็ว ตรงไหนควรจะลงเบร๊ก ก็ต้องแล้วแต่ผู้ขับ ถ้าคนนี้หันพวงมาลัยที คนนั้นกดเบร๊กที คนโน้นเร่งน้ำมันที ถ้ารถไม่คว่ำก็คงจะหยุด โอกาศจะไปถึงที่ได้นั้นมีน้อยนัก.

เราอ่านความหมายของคุณหลวง โดยปริยายและโดยอุปมาดังที่กล่าวมานี้ ข้อใหญ่ใจความก็คือว่า รัฐบาลผู้บริหารต้องแข็งแรงจึงจะพาประเทศไปสู่ความเจริญได้ เราได้เคยกล่าวในสารกถาว่าด้วยประชาธิปัตย์ในหนังสือพิมพ์นี้ว่า ชนบางประเทศภักดีต่อรัฐบาลแข็งแรง แม้จะไม่สู้ดียิ่งกว่าภักดีต่อรัฐบาลดีแต่ป้อแป้ ในคราวที่บ้านเมืองได้ความลำบากด้วยเศรษฐกิจหรือด้วยเหตุใดก็ตาม รัฐบาลป้อแป้มักจะทำให้บ้านเมืองกระปลกกระเปลี้ยอยู่กับที่ หรือมีอาการหนักลง นั่นเป็นมติของคนบางพวกในบางประเทศ ส่วนคำว่าดิกเตเตอร์ชิปนั้น ก็เป็นเพียงนามศัพท์คำหนึ่ง จะใช้คำอื่นก็ได้ ที่แท้ในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ไม่มีผู้บงการประเทศไหนเรียกตนว่าดิกเตเตอร์เลย เราคิดว่า ความหมายของคุณหลวงก็คือว่า รัฐบาลที่จะนำประเทศไปได้ดีก็คือ รัฐบาลที่ฉลาดโดยกุศโลบายและแข็งแรงในทางปฏิบัตินั้นเอง.

แต่ข้อที่ว่า เมื่อเลือกคนขับรถได้แล้ว ก็ต้องมอบให้ขับนั้น ถ้าปรากฏว่าไม่รู้แผนที่หรือไม่เจนกับเครื่องจักร หรือไม่มีความชำนาญก็ต้องหาผู้ขับใหม่ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าต้องขับคนเดียว ไม่ใช่คนโน้นแย่งทำโน่น คนนี้แย่งทำนี่ ไปคนละอย่างสองอย่าง อนึ่ง ที่ว่าคนเดียวนั้น เป็นคำเปรียบ เพราะใช้การขับรถเป็นอุปมา ในการปกครอง, “คน” ต้องหมายความว่าชุด เพราะคนเดียวทำทุกอย่างไม่ได้.

ถ้าจะกล่าวถึงคำว่า ดิกเตเตอร์ชิป ก็อาจกล่าวได้ว่า ดิกเตเตอร์ชิปมีหลายชนิด (เรียกว่า Monarchical Dictatorship, Republican Dictatorship, Proletarian Dictatorship, Fascist Dictatorship เป็นต้น) ถ้าจะพูดตามพงศาวดาร ดิกเตเตอร์ชิปทุกชนิด มีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกัน คือว่ามีพฤติการภายนอกหรือภายในเป็นเหตุให้ต้องตั้งการปกครองแบบนั้น ซึ่งสมมติว่าชั่วคราวเสมอ.

มหาสงครามซึ่งเริ่ม ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ นั้น เดิมก็กล่าวกันว่าจะ “ทำให้โลกเป็นที่ปราศภัยแก่ประชาธิปัตย์” (To make the world safe for democracy) เมื่อสิ้นสงครามแล้วจึงมีหลายประเทศที่จัดการปกครองใหม่ไปในทางประชาธิปัตย์ แต่ต่อมาไม่นานก็ต้องหันไปหาดิกเตเตอร์ชิปกันหลายประเทศ เพราะราษฎรและความเป็นไปในบ้านเมืองทั่ว ๆ ไปยังไม่เหมาะที่จะบากหน้าดึงดันไปในทางประชาธิปัตย์ได้ ประเทศอังกฤษเป็นครูประชาธิปัตย์แบบปาลิเม็นต์ซึ่งหลายประเทศได้เอาอย่าง แต่ประเทศอังกฤษได้มีเวลาเปลี่ยนผลัดขยับขยายอยู่หลายร้อยปี ระหว่างที่โลกยังไม่หมุนจนปั่นเหมือนเดี๋ยวนี้ จึงค่อยทำค่อยเจริญไปได้ ต่อจากมหาสงครามมาได้มีหลายประเทศที่ลองใช้แบบประชาธิปัตย์ แต่ใช้ไปได้หน่อยก็เกิดยุ่งโดยเหตุแลโดยประการต่าง ๆ กัน ต้องหันไปใช้แบบดิกเตเตอร์ชิป จึงสงบความยุ่งยากได้.

เราจะจารไนชื่อดิกเตเตอร์ชิป ที่ตั้งขึ้นภายหลังมหาสงคราม แต่ผู้อ่านจะต้องเข้าใจว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปัตย์มาเดิมแต่ไม่ต้องเปลี่ยน หรือตั้งขึ้นใหม่แต่ไม่ต้องเปลี่ยน ก็มีมาก.

รัซเซียเป็น “ยักษ์ตีนโคลน” เท้าไม่มีแก่นที่จะทานน้ำหนักกายได้ ในมหาสงคราม รัซเซียอยู่ฝ่ายชนะ แต่เป็นผู้แพ้ จึงเกิดจลาจลขึ้น อันที่จริง รัฐบาลรัซเซียสมัยนั้นเลอะเทอะมาก ถึงจะเป็นผู้ชนะ ก็เห็นจะหนีจลาจลไม่พ้น แต่คงจะเกิดดิกเตเตอร์ชิปคนละชนิดกับเดี๋ยวนี้ รัซเซียได้ตั้งดิกเตเตอร์ชิปแบบ โบลเชวิก ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ เหตุที่พาให้เกิดดิกเตเตอร์ชิปนั้นเป็นอย่างไร และเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) เป็นอย่างไร ถ้าจะเล่าอย่างย่อที่สุด ก็ยาวเกินหน้ากระดาษในที่นี้.

ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ อิตาลีได้ตั้งดิกเตเตอร์ชิปแบบฟาสซิสต์ แต่มีพระเจ้าแผ่นดินเป็นเหมือนพระประธานที่สักการะนับถือ เรื่องราวที่เปลี่ยนจากประชาธิปัตย์ไปเป็นดิกเตเตอร์ชิปนั้น ยาวเกินจะนำมาเล่าในที่นี้ได้.

ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ นายพลปริโมเดอเรวิรา ได้รับพระราชานุมัติของพระเจ้าแผ่นดินสเปญ ให้ตั้งดิกเตเตอร์ชิปขึ้นในประเทศนั้น แต่อายุไม่ยืน และยังยุ่งกันอยู่จนเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) เป็นตัวอย่างดิกเตเตอร์ชิปซึ่งไม่สำเร็จ ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรต่อไป.

ใน ค.ศ. ๑๙๒๕-๖ นายพลปังคาโลสตั้งดิกเตเตอร์ชิปขึ้นในประเทศกรีซ แต่อายุยังสั้นไปกว่าสเปญอีก เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ได้เชิญพระเจ้าแผ่นดินกลับไปปกครองโดยรัฐธรรมนูญ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดิกเตเตอร์ชิปไม่สำเร็จอีกรายหนึ่ง.

ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ มัสตาฟา เกมัล ได้ตั้งดิกเตเตอร์ชิปขึ้นในประเทศเตอร์กี เป็นดิกเตเตอร์ชิปแบบริปับลิค เรียกว่า ดิกเตเตอร์ชิปบุคคล ไม่เหมือนแบบอื่นเลย เกมัลผู้นี้เป็นคนสามารถมาก เตอร์กีเป็นตัวอย่างซึ่งใช้ดิกเตเตอร์ชิปสำเร็จดี.

ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ประเทศโปแลนด์ได้ใช้แบบดิกเตเตอร์ชิป ภายหลังที่ได้ลองใช้ประชาธิปัตย์แบบปาลิเม็นต์ แต่ “เอาไว้ไม่อยู่” เวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) โปแลนด์เรียบร้อยในทางปกครอง.

ประเทศลิทัวเนียได้ลองใช้ประชาธิปัตย์แบบปาลิเม็นต์แล้วเอาไว้ไม่อยู่เหมือนกัน จึงตั้งดิกเตเตอร์ชิปใน ค.ศ. ๑๙๒๗ ประเทศลิทัวเนียกระเดียดไปข้างเลอะเทอะ จะเอาเป็นตัวอย่างในทางดีหรือไม่ดีไม่ได้.

ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ประเทศยูโกสลาเวียเกิดยุ่งกันใหญ่โต จนจะจลาจลอยู่แล้ว พระเจ้าแผ่นดินทรงแก้ไว้ได้ โดยวิธีระงับใช้รัฐธรรมนูญ ตั้งดิกเตเตอร์ชิป พระองค์เองเป็นดิกเตเตอร์ ครั้นทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงสละอำนาจเสียบ้าง ทรงกลับเป็นพระเจ้าแผ่นดินใช้รัฐธรรมนูญตามเดิม ทั้งนี้เป็นของทรงทำเอง ไม่มีใครบังคับ ประเทศนี้มักเรียกกันว่า เป็นประเทศดิกเตเตอร์ชิปแบบเจ้าแผ่นดิน อย่างเดียวกับรูมาเนียอีกประเทศหนึ่ง.

ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ แฮร์ฮิตเลอร์ตั้งดิกเตเตอร์ชิปในประเทศเยอรมัน เลิกรัฐธรรมนูญที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญไวมาเสีย.

ในประเทศออซเตรีย ดอกเตอร์ โดลฟุส ได้เอาอย่างแฮร์ฮิตเลอรตั้งดิกเตเตอร์ชิปขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญแบบปาลิเม็นต์แท้ก็เอาไว้ไม่อยู่ อีกประการหนึ่งเวลานี้ (พ.ค. ๒๔๗๙) ออซเตรียกำลังยุ่ง แต่จะหนีดิกเตเตอร์ชิปไปนั้น เห็นจะไม่ไหว เพียงแต่ว่าจะโน้มไปข้างเยอรมันหรือยึดมั่นอยู่ข้างอิตาลีเท่านั้น.

ตามหลักที่ว่า (๑) การตั้งดิกเตเตอร์ชิป ย่อมจะมีพฤติการภายนอก หรือภายในเป็นเหตุ และ (๒) ดิกเตเตอร์ชิป สมมติว่าเป็นของชั่วคราวนั้น เป็นหลักซึ่งมีพงศาวดารเป็นที่อ้างตลอดมา.

ในข้อ ๑ ที่เรียกว่าพฤติการภายนอกมักจะได้แก่สงคราม ที่เรียกว่าพฤติการภายในมีเป็นต้นว่า ความจลาจล หรือป่วนปั่นกันจนบังคับไม่ได้ มักจะเป็นเพราะคณะปกครองไม่อาจกล่อมใจคนให้ภักดีได้ เพราะขาดความรู้ความชำนาญ ความรู้เท่าถึงการ หรือความสามารถอย่างอื่น หรือเหลวไหลทางความประพฤติ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลป้อแป้ บางทีก็แก้ได้ด้วยวิธีวางยาแต่พอสมควร บางทีก็ต้องวางยาแรง ทั้งนี้ก็แล้วแต่กาละเทศะทั้งนั้น.

อนึ่ง เราคิดว่าผู้อ่านของเราจะมีน้อยคนที่ทราบแน่ว่า ที่เรียกว่า “ประเทศ” ในยุโรปมีกี่ประเทศ เราได้ยินกันอยู่เสมอ ๆ ถึงประเทศใหญ่ ๆ ประมาณ ๑๕ ประเทศ (หรือจะมากกว่าหรือน้อยกว่า ก็แล้วแต่ความรู้กว้างและแคบของบุคคล) ถ้าเราลองนับดูตามชื่อที่ได้ยินอยู่เสมอ ๆ ต่างว่านับได้ ๑๕ ประเทศ เราก็อาจนึกว่า ประเทศในยุโรปที่ไม่ได้ใช้ดิกเตเตอร์ชิป มีราว ๔-๕ ประเทศเท่านั้นเอง ที่จริงมิใช่เช่นนั้น.

เพื่อจะไม่ให้ผู้อ่านของเราเข้าใจผิดในทางโน้น หรือเข้าใจผิดไปทางนี้ หรือเข้าใจผิดไปทางไหนเลย เราจะนำชื่อประเทศทั้งหมดในยุโรปมาเขียนลำดับไว้ แยกเป็นประเภทที่มีเจ้าแผ่นดินพวกหนึ่ง ที่เป็นริปับลิคพวกหนึ่ง ประเทศที่มีเจ้าแผ่นดินก็ดี ที่เป็นริปับลิคก็ดี เป็นดิกเตเตอร์ชิปไปด้วยพร้อมกันก็ได้ อนึ่ง ที่เรียกว่าดิกเตเตอร์ชิปนั้น มีสภารูปใดรูปหนึ่งทุกประเทศ ไม่ใช่ว่าผู้บงการประเทศไม่อาศัยสภาเสียเลยทีเดียว.

ประเทศเจ้าแผ่นดิน

๑. ออลเบเนีย

๒. เบ็ลเยียม

๓. บัลกาเรีย

๔. กรีซ

๕. เดนมาก

๖. ฮังการี

๗. อิตาลี

๘. ไอซแลนด์

๙. ไลซ์เต็นสไตน์

๑๐. ลุกเซมเบิค

๑๑. โมนาโค

๑๒. ฮอลันดา

๑๓. นอรเวย์

๑๔. รูมาเนีย

๑๕. สวีเด็น

๑๖. ยูโกสลาเวีย

๑๗. อังกฤษ

ประเทศริปับลิค

๑๘. อันดอรา

๑๙. ออซเตรีย

๒๑. เชกโกสโลวาเกีย

๒๑. ดานซิค

๒๒. เอซโตเนีย

๒๓. ฟินแลนด์

๒๔. ฝรั่งเศส

๒๕. เยอรมัน

๒๖. ลัตเวีย

๒๗. ลิทัวเนีย

๒๘. โปแลนด์

๒๙. โปรตุเกต

๓๐. แซนมาริโน

๓๑. สเปญ

๓๒. สวิตเซอร์แลนด์

๓๓. เตอร์กี

๓๔. รัซเซีย

ประเทศในยุโรปที่มี ๓๔ ประเทศนี้ มีเจ้าแผ่นดิน ๑๗ ประเทศ เป็นริปับลิค ๑๗ ประเทศ ประเทศทั้ง ๓๔ นี้ คงจะมีหลายประเทศที่ผู้อ่านโดยมากไม่เคยได้ยินชื่อเลย บางประเทศก็เล็กที่สุด ในยุโรปเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ความไม่แน่นอนมีมาก การปกครองอาจเปลี่ยนแปลงไปอีกได้ ดังที่เห็นมาแล้ว ว่าวิธีปกครองบางแบบในบางประเทศ พอตั้งขึ้นไม่ช้าก็ล้ม แต่แบบเดียวกันนั้นกลับตั้งแน่นในประเทศอื่น ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าสิ่งใดควรและไม่ควรตามกาละเทศะนั้นเอง.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ