เมืองท้าวเวสสุวัณ

ท้าวเวสสวัณคือพญายักษ์ สีกายเขียวซึ่งเขาเขียนไว้ที่ผืนผ้าแขวนเหนือเปลเด็ก เมื่อไกวเปล ผ้านั้นก็แกว่งเป็นพัดไปในตัว.

ท้าวเวสสุวัณเป็นยักษ์ใจดี เป็นนายของยักษ์ทั้งหลาย ไทยเราจึงเขียนรูปแขวนไว้เหนือเปลเด็ก เพื่อมิให้อสูรร้ายมาทำอะไรแก่เด็กได้ ความคิดก็เห็นจะว่า เมื่อทารกอยู่ในความคุ้มครองของท้าวเวสสวัณแล้ว อสูรทั้งหลายก็ไม่กล้าทำร้าย เพราะยำเกรงนายใหญ่ของยักษ์.

ชื่อของเวสสวัณอีกชื่อหนึ่ง คือท้าวกุเวร ซึ่งเป็นโลกบาลองค์ ๑ ใน ๔ องค์ ท้าวกุเวรได้ชื่อว่า เวสสวัณ เพราะราชธานีของเธอชื่อ วิสาณ ฉนี้ ท้าวเวสสวัณก็คือ เจ้ากรุงวิสาณ (มีในทีฆนิกาย สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาสุตตนิบาต และชาดกบางเรื่อง)

ประเทศของท้าวกุเวรเรียกว่า อุตตรกุรุ ซึ่งหนังสือบางแห่งก็ว่าเป็นชื่อกรุง มีกล่าวบ่อย ๆ ในนิกายและหนังสือที่แต่งภายหลัง ว่าเป็นท้องที่แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏว่าอยู่ที่ไหนแน่ แต่มีกล่าวเลอียดในอาฏานาฏิยสูตรว่า ชายในอุตตรกุรุไม่มีทรัพยสมบัติ และไม่มีเมียของตนเอง ไม่ต้องทำงานหากินเลย เพราะข้าวสาลีขึ้นเองสุกเอง ข้าวกลิ่นหอมก็ต้มอยู่ในหม้อบนเตาเอง ไม่ต้องมีผู้ทำ ชาวอุตตรกุรุขี่งัวเป็นพาหนะบ้าง ขี่ม้าบ้าง ขี่ชายและหญิงผู้ใหญ่บ้าง ขี่หญิงสาวและชายหนุ่มบ้าง คำพูดโดยนัยฉนี้ ชาวอุตตรกุรุก็เป็นชายทั้งนั้น หญิงเป็นประเภทหนึ่งแห่งทรัพย และพวกที่ถูกขี่ ก็คงจะไม่มีฐานะเป็นชาวเมือง.

พระราชาแห่งอุตตรกุรุใช้ช้างเป็นพาหนะบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง วอบ้าง เมืองต่าง ๆ ในอุตตรกุรุลอยอยู่ในฟ้าทั้งนั้น ที่อ้างชื่อมีเช่น อาฏานาฏา กุสินาฏา นาฏกุริยา ปรกุสินาฏา กปิวันต ชโนฆ นวนวติยอัมพร อัมพรวติย นวนวติย และอาฬกมัณฑา ชื่อหลังนี้เป็นชื่อกรุงอีกชื่อหนึ่ง.

เจ้าแผ่นดินอุตตรกุรุ คือท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสวัณ ในหนังสือมีออกชื่อทเลสาปแห่งหนึ่ง เรียกว่าธรณี กับออกชื่อศาลาใหญ่แห่งหนึ่งว่า ภครวดี อันเป็นสภาซึ่งพวกยักษ์ไปประชุมกัน ชาวอุตตรกุรุเป็นยักษ์ แต่ยักษ์ไม่ใช่อสูรพวกดุร้าย เช่น รากษสฺ แทตย์และทานพเป็นต้น ถ้าจะพูดทั่ว ๆ ไป ยักษ์เป็นอสูรจำพวกใจดี แต่หนังสือไทยมักจะเอายักษ์ไปปนกับรากษส ซึ่งใจร้ายเสมอ เหมือนเช่นรามเกียรติ์ ก็มักเรียกทศกรรฐ์ว่ายักษ์ และชาวลงกาก็ว่าเป็นยักษ์ทั้งนั้น แต่ถ้าจะกล่าวจำแนกชนิดแห่งอสูรออกไป ทศกรรฐ์และชาวลงกาก็เป็นรากษส ซึ่งนับเป็นพวกใจร้ายทั้งนั้น.

ในรูปภาพที่ไทยเราเขียน รูปรากษสและรูปยักษ์ ก็เขียนเหมือนกับรูปท้าวเวสสวัณ ถ้าแขวนอยู่เหนือเปลเด็ก เราก็รู้ว่าใคร แต่ถ้าเขียนไว้ที่อื่น ก็เห็นจะเข้าใจผิด ว่าทศกรรฐ์โดยมาก ที่แท้รูปยักษ์กับรูปอสูรอื่น ๆ จะผิดกันอย่างไร ผู้เขียนก็ยังไม่เคยเห็นกล่าวไว้ในหนังสือที่ไหนเลย.

ประเทศอุตตรกุรุนั้น กล่าวในหนังสือว่า อยู่เหนือชมพูทวีปเป็นเกาะ ๘๐๐๐ โยชน์ บางทีก็ว่าเป็นมหาทวีป ๑ ใน ๔ มหาทวีป อีก ๓ มหาทวีป คือ อปรโคยาน (อมรโคยาน) บุพพวิเทหะ และชมพูทวีป มหาทวีปทั้ง ๔ นี้ แต่ละมหาทวีป มีทวีบเล็กล้อมอยู่ ๕๐๐ ทวีปเสมอกัน (ทวีป แปลว่าเกาะ)

มหาทวีปทั้ง ๔ นี้รวมกันเรียกว่า จักรวาฬ มีเขาเมรุอยู่กลาง ถ้าจะพูดตามทางภูมิศาสตร์ ลักษณะแห่งจักรวาฬนี้ ก็คือภูมิศาสตร์โลกแบน.

พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้มีอาณาจักรทั่วทั้ง ๔ มหาทวีป (ทีฆนิกายและสุมังคลวิลาสินี) อัครมเหษีของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมจะมาจากราชวงศ์ของพระเจ้ามัทราช หรือมิฉนั้น มาจากอุตตรกุรุ ถ้ามาจากอุตตรกุรุ นางก็มาสู่พระเจ้าจักรพรรดิ โดยความดีของนางเอง.

ต้นไม้ในอุตตรกุรุ เผด็ดดอกออกผลตลอดปี และมีต้นไม้พิเศษต้นหนึ่งเรียกว่า กัปปรุกข (กัลปพฤกษ์) ซึ่งอยู่ตลอดกัปป์.

ชาวอุตตรกุรุไม่อยู่เรือน ใช้พื้นดินเป็นที่นอน จึงได้ชื่อ ภูมิสยา แปลว่านอนบนพื้น (อรรถกถาเถรกถา)

ชายอุตตรกุรุดียิ่งกว่าเทวดาในดาวดึงส์ ๔ ประการ เรียกอมมา ๑ อปริคคหา ๑ นิยตายุกา ๑ วิเสสภูโน ๑ ทั้ง ๔ อย่างนี้ ถ้าจะแปลตามที่เคยเห็นอธิบายในหนังสือฝรั่ง ก็ว่าไม่มีความอยากได้อย่าง ๑ ไม่มีทรัพย์ของตนเองอย่าง ๑ มีอายุแน่นอนอย่าง ๑ มีซวดทรงสง่าอย่าง ๑

แต่ชาวอุตตรกุรุยังต่ำกว่าชาวชมพูทวีปอยู่ ๓ อย่างคือ กล้าน้อยกว่าอย่าง ๑ ปลงใจไม่สนิทอย่าง ๑ ปฏิบัติศาสนาสู้ไม่ได้อย่าง ๑

ในหนังสือหลายแห่ง กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จไปรับบิณฑบาตรที่อุตตรกุรุ แต่ผู้ที่ไปอุตตรกุรุได้นั้น ใช่แต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว พวกปัจเจกพุทธก็ไปได้ ความสามารถไปถึงอุตตรกุรุนับว่าเป็นอิทธิอย่าง ๑ (ปัจเจกพุทธ คือ บุคคลที่ตรัสแล้วไม่สอนใคร)

ตามหนังสือกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตรที่อุตตรกุรุแล้ว ก็เสด็จเลยไปสระอโนดาด (อโนตตฺต) สรงน้ำในสระและเสวยแล้ว ก็ทรงพักอยู่ที่ขอบสระในเวลาบ่าย.

ข้างบนนี้ มาจากหนังสือภาษาบาลีมคธ ถ้าค้นในหนังสือภาษาสํสกฤต จะได้เรื่องยาวออกไปมาก และไม่เหมือนกัน.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ