โทษและทัณฑ์

พระเจ้าโซโลมอนเจ้าแผ่นดินยิวโบราณ และมโหสถบัณฑิตผู้เป็นข้าราชการของพระเจ้าแผ่นดินมิถิลาในอินเดีย ปรากฏนามเป็นผู้ตัดสินคดีลงทัณฑ์ตามโทษอย่างแปลก.

ในอเมริกาสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) มีตัวอย่างเป็นอันมาก ที่ผู้พิพากษาตัดสินลงทัณฑ์ตามนักโทษ หาใช่ลงทัณฑ์ตามโทษไม่ ตุลาการในอเมริกาแต่ก่อนตัดสินความได้ง่าย เพราะโทษอย่างไรจะต้องลงทัณฑ์อย่างไร ก็พิมพ์ไว้ในสมุดกฎหมาย ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๘๑) ตุลาการพยายามจะทดลองการลงทัณฑ์ เพื่อประโยชน์แก่ประชุมชน เช่นคนยังไม่ทันเสีย ก็ไม่ลงทัณฑ์ให้เป็นคนเสียเป็นต้น คนบางคนทำผิดเล็กน้อยพอจะแก้ตัวได้ แต่ถ้าถูกลงโทษจำคุกเสียแล้วก็เสียคนเลย.

เขาว่าการลงทัณฑ์ตามควรแก่นักโทษ ไม่ใช่ตามควรแก่โทษนี้ ทำให้ตุลาการมัวพะวงว่า จะลงทัณฑ์อย่างไรดี จนบางคนนอนไม่หลับ.

ตัวอย่างการลงทัณฑ์ตามควรแก่นักโทษ มีดังต่อไปนี้

คดีรายหนึ่งเจ้าของโรงแรมฟ้องผู้เช่าห้องคนหนึ่งว่า ประพฤติก้าวร้าว เพราะกำลังนอนหลับอยู่ ก็ลุกขึ้นเดินทั้งหลับ และพูดเอะอะไม่รู้สึกตัว เป็นเครื่องเดือดร้อนแก่เจ้าของโรงแรม และผู้อาศัยอีก ๑๗ คน.

การทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่นไม่เว้นคืน ย่อมจะเป็นความผิด ผู้พิพากษาจึงตัดสินให้ผู้ผิดเดินถนนวันหนึ่ง ตั้งแต่ ๓ ไมล์ถึง ๕ ไมล์ทุกวันในเวลาเย็น ในหนังสือเขาไม่ได้เล่าว่า นักโทษผู้นั้นต้องเดินเหนื่อยในตอนเย็นทุกวัน ก็นอนสนิท จึงไม่ลุกขึ้นเดินและพูดทั้งกำลังหลับ แต่ก็เห็นจะเป็นเช่นนั้น.

คดีอีกเรื่องหนึ่งในกรุงซันฟรานซิสโก มีนักเลงเกะกะตามถนนคนหนึ่ง กระชากตราเครื่องหมายที่ติดอยู่ที่เสื้อตำรวจคนหนึ่ง เมื่อนำไปศาล ก็ถูกตัดสินให้เปิดหมวกคำนับตำรวจทุกคน และทุกครั้งที่ผ่านตำรวจตามถนน.

นายประตูคนหนึ่งทำรกตามถนน ถูกตัดสินให้เลือกเอาว่าจะติดตะรางวันหนึ่ง หรือจะกวาดถนนให้เตียนอยู่ตลอดวัน.

ชายคนหนึ่งขะโมยฟืน ๑๔ มัด ถูกตัดสินให้ตัดฟืนใช้หนี้ ๒๘ มัด.

ประธานเทศบาลของเมืองโตเลโด (ผู้มีหน้าที่เป็นตุลาการ) กำลังนั่งฟังคดีอยู่ในศาล ตำรวจจับชายคนหนึ่งไปฟ้องว่าขะโมยขนมปังก้อนหนึ่ง ประธานเทศบาลกล่าวว่า โทษขะโมยก็ต้องลงทัณฑ์ตามกฎหมายเหมือนกันหมด ให้ปรับผู้ขะโมยขนมปัง ๑๐ เหรียญ ครั้นตัดสินแล้ว ตุลาการก็ควักกระเป๋าตนเอง หยิบธนบัตร ๑๐ เหรียญออกมาส่งให้ไปเสียค่าปรับ แล้วให้จ่าศาลออกเที่ยวเรี่ยรายคนที่อยู่ในศาลเวลานั้น คนละครึ่งเหรียญ ครั้นเรี่ยรายได้ ก็ให้แก่นักโทษว่า ให้เอาไปซื้อขนมปังสู่ครอบครัวกิน.

ผู้พิพากษาที่ศาลกรุงวอชิงตันคนหนึ่ง บางทีก็ตัดสินเลี่ยงกฎหมาย เป็นต้นว่ากฎหมายห้ามไม่ให้ชายกับหญิงแสดงกิริยาโอ้โลมกันในที่ประชุมชน สามีภรรยาคู่หนึ่งจอดรถอยู่ริมถนน และจูบกันให้ตำรวจเห็น ตำรวจจึงจับตัวไปส่งศาล แต่ผู้พิพากษาตัดสินปล่อย เพราะปรากฏในสำนวนว่า สามีภรรยาคู่นั้น ได้แต่งงานกันมาถึง ๔ ปีแล้ว คู่ที่แต่งงานกันมาถึง ๔ ปี ก็ยังไม่วายจูบกัน ทั้งในที่ลับและที่แจ้งนั้น ผู้พิพากษากล่าวว่าน่าสรรเสริญ.

ผู้พิพากษาคนหนึ่งที่เมืองปิตสเบิก ตั้งหลักของตนเองว่า หญิงอ่อนแอกว่าชาย ถ้าได้รับทุกข์เท่ากัน หญิงก็รู้สึกความทุกข์มากกว่า เพราะฉนั้น ในคดีใดที่ตัดสินให้จำชาย ๓๐ วัน ก็ให้จำหญิงเพียง ๒๐ วันเท่านั้น.

ชายคนหนึ่งในเมืองบรุ๊กลินมีโทษข่มเหงภรรยา ถูกตัดสินให้เดินทาง ๑๑๐๐ ไมล์ จะไปทางไหนก็ตามใจ แต่ต้องส่งไปรษณียบัตรรูปภาพท้องที่ไปให้ผู้พิพากษาทุกระยะ ๒๐๐ ไมล์.

ผู้พิพากษาในเมืองนิวเจอร์ซีย์คนหนึ่ง ถ้าตัดสินเรื่องชายตีเมียว่า จะปรับพันเหรียญตามกฎหมาย หรือจำคุก ๒ ปี ก็มักจะถามเสียก่อนว่า ระหว่างนั้นลูกเมียจะได้อะไรกิน.

ครั้งหนึ่งผู้พิพากษาคนเดียวกัน เห็นควรลงทัณฑ์ผู้ผิดให้รู้สึกโทษที่ทำแก่เมีย ผู้นั้นได้ทุบตีภรรยาเจ็บปวด ครั้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาล ผู้พิพากษาก็ให้ไปตามลูกเมียมาหมด ครั้นพร้อมกันแล้ว ผู้พิพากษาก็ลงจากบัลลังก์ ใช้หมัดขวาชกจำเลยล้มลงไปบนพื้น แล้วเทศน์กัณฑ์ใหญ่ ครั้นเทศน์จบแล้ว ก็บอกให้ลูกเมียจำเลยขึ้นรถของผู้พิพากษา ตัวผู้พิพากษาเองขับรถไปส่งบ้าน แล้วเทศน์ให้ฟังอีกกัณฑ์หนึ่ง ส่วนจำเลยผู้ผิดนั้นปล่อยให้เดินกลับบ้าน.

อีกเรื่องหนึ่ง ผู้พิพากษาคนเดียวกัน ชำระได้ความว่า ชายคนหนึ่งได้ทุบตีเมียจริง แต่เมียได้หนีไปเที่ยวกับชายหนุ่มอีกคนหนึ่ง ผู้พิพากษาแนะนำจำเลย อย่าให้ทำแก่เมียเช่นนั้นอีก แต่ทำไมไม่ลองเล่นงานชายหนุ่มคนนั้นบ้าง.

ชายสามีได้ฟังดังนั้น ก็รีบออกจากศาลไป ไม่ช้าตำรวจรักษาการตามถนน ซึ่งไม่รู้เรื่อง ได้พบชาย ๒ คนชกกันกลางถนนก็จับตัวไปส่งศาล ผู้พิพากษาแลเห็นก็ชอบใจ แล้วตัดสินปล่อยชายสามี ว่าไม่มีความผิด ส่วนชายอีกคนหนึ่ง ตัดสินให้จำคุก ๖ เดือน แต่ให้รอการลงอาญาไว้ตลอดเวลาที่ไม่ข้องแวะกับเมียของคนอื่น.

ในเบื้องปลายแห่งตอนที่เล่าในสัปดาหะก่อน ดูทีเหมือนว่า ตุลาการอเมริกันที่ทดลองลงทัณฑ์ให้สมแก่นักโทษนั้น กระเดียดจะลดหย่อนให้แก่หญิง แต่มิได้เป็นเช่นนั้นทั่วไป หญิงจะได้มี “เสรี” ทำตามอำเภอใจได้ยิ่งกว่าชายนั้น หามิได้ จำเลยหญิงก็ถูกลงทัณฑ์ให้สมแก่ตนผู้เป็นนักโทษ และต้องทัณฑ์แปลก ๆ เหมือนกัน เป็นต้นว่า ตุลาการคนหนึ่ง ในกรุงชิกาโกตัดสินคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งหญิงสาวคนหนึ่งถูกจับไปพ้อง ว่ากล่าวคำหยาบคายต่อตำรวจ ตุลาการตัดสินว่า ให้เอาสบู่ล้างในปากเสียให้สอาด.

ตุลาการคนหนึ่งที่เมืองเซ็นต์ปอลตัดสินหญิงคนหนึ่งซึ่งพิจารณาเป็นสัตย์ว่าเอาเบี้ยเลี้ยงที่รับไปเป็นค่าอยู่กินของคนอนาถาไปจ่ายในการสนุกเสียหมด ลงทัณฑ์ว่าไม่ให้ออกจากที่อยู่ ๓๐ วัน.

วิธีทดลองอีกอย่างหนึ่ง คือปล่อยนักโทษไปจากคุกชั่วคราว และให้กลับไปอีก ครั้งหนึ่งคุกในแคว้นคันซาสคับแคบ จนไม่พอกับนักโทษ ตุลาการจึงสั่งให้นักโทษที่ติดนาน ๆ กลับไปบ้านเสียชั่วคราว เพื่อจะได้มีที่ให้นักโทษอยู่ใหม่ พวกที่ไปบ้านชั่วคราวนี้ ต้องกลับไปเข้าคุกให้ทันวันและเวลาที่กำหนดให้.

ในเรื่องคนเมา ตุลาการอเมริกันบางคนคิดหาวิธีลงทัณฑ์แปลก ๆ เป็นต้นว่า คนเมาคนหนึ่งถูกตัดสินให้ไปศาลทุกวันจันทร์ เพื่อจะรายงานต่อตุลาการว่าได้ไปฟังเทศน์เมื่อวันอาทิตย์ ได้ความว่ากระไรบ้าง.

กรรมการหมู่หนึ่งในแมซแซสซูเซตส์ได้รับมอบให้พิจารณาว่า ควรจะลงทัณฑ์คนเมาอย่างไรบ้าง ได้เสนอความเห็นให้กลับไปใช้แบบเก่าคือให้ตอกขื่อเอาตัวทิ้งลงให้จมน้ำ และมัดเฆี่ยนกับเสาเป็นต้น นายกเทศบาลคนหนึ่งคิดจะเอากรงเสือของลครสัตว์ ใส่คนเมาเที่ยวประจานกลางถนน แต่ราษฎรที่โหวตให้ท่านผู้นั้นเป็นนายกไม่เห็นด้วย บางทีจะนึกว่าตนเองอาจมีเวลาเข้ากรง.

การถูกจับไปเป็นจำเลยในการขับรถยนต์เป็นของใหม่ ซึ่งน่าจะมีวิธีลงทัณฑ์อย่างใหม่ แต่ในแคว้นหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องว่าขับรถยนต์เร็วเกินควร หรือขับด้วยความประมาทอย่างอื่น อาจถูกตัดสินให้กินน้ำมันละหุ่ง หรือถ้าไม่ยอมกินก็ให้ติดคุก ผู้พิพากษาบางศาลตัดสินให้ผู้ขับรถยนต์ผิดกฎหมาย ต้องมีป้ายติดที่รถว่า เป็นผู้ทำความผิด บางคนถูกเอาสีแดงกับสีเหลืองทายางล้อหน้า จำเลยบางคนก็ถูกตัดสินให้คัดสำเนารายงานจากหนังสือพิมพ์ เรื่องคดีที่รถยนต์ชนคนตายหรือป่วยเจ็บ บางแห่งจำเลยถูกพาไปดูคนกำลังจะตาย.

เขาว่าในส่วนผู้ผิดนั้น วิธีตัดสินแปลก ๆ เช่นนี้ก็มีผล เป็นต้นว่าคนที่ติดคุกเสียจนคุ้นแล้วนั้น เมื่อทราบว่าตุลาการอาจตัดสินลงทัณฑ์อย่างอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าอะไรก็ชักขยาด.

แต่ตุลาการที่ตัดสินแปลก ๆ เช่นว่ามานี้กลับถูกฟ้องก็มี เป็นต้นว่าชาย ๓ คนถูกตัดสินปรับ แต่ไม่มีเงินเสียและไม่ยอมทำงานแทนเงินปรับ และว่าจะยอมติดคุก ตุลาการตัดสินให้เอาตัวไปล่ามโซ่ไว้ริมทางเดิน ให้เป็นที่เย้ยหยันของคนเดินถนน สั่งว่าเมื่อถึงเวลากินข้าว ให้พาไปกินในคุก เมื่อถึงเวลานอน ให้ไปนอนในคุก บ่ายวันหนึ่งมีลมหนาว ตุลาการจึงสั่งว่า วันนั้นไม่ต้องกลับไปล่ามโซ่.

ชาย ๓ คนนั้นเมื่อพ้นโทษแล้ว ก็หาหมอความไปยื่นฟ้องกล่าวโทษผู้พิพากษา เรียกค่าปรับชั่วโมงหนึ่งคนละ ๕,๐๐๐ เหรียญ เขาว่าชาย ๓ คนนั้น ไม่มีท่วงทีที่จะได้ค่าปรับดังที่เรียกร้องนั้นเลย แต่ก็ทำให้ผู้พิพากษาไม่กล้าลงทัณฑ์แปลก ๆ เช่นนั้นอีก.

แต่การทดลองลงทัณฑ์เช่นที่เล่ามานี้ คงจะทดลองกันต่อไปอีก เพราะรู้สึกกันว่า การปรับและจำคุกนั้น ไม่ค่อยจะทำให้คนที่ดื้อด้านเสียแล้วเข็ดหลาบ จึงคิดลองอย่างอื่นเผื่อจะได้ผลดี.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ