- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
คำและความ
๏ ใบโพสุวรรณห้อย | รยาบย้อยบ่รุงรัง |
ลมพัดกระดึงดัง | เสนาะศัพทอลเวง ฯ |
ผู้อ่านที่กอบด้วยความรู้กว้างขวางสมสมัย ย่อมจะไม่เคยได้ยินฉันท์ข้างบนนี้ อันเป็นของน่าอายที่ใครจะเคยอ่านและจำไว้ได้ แต่ผู้อ่านที่คร่ำเครอะ คงจะจำได้ว่า เป็นฉันท์บทหนึ่ง ในบุณโณวาทคำฉันท์ ว่าด้วยพระพุทธบาท เป็นหนังสือแต่งยอพระเกียรติ์พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา แต่งในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ครั้งกรุงเก่า.
ถ้าผู้อ่านยิ่งคร่ำเครอะหนักขึ้น ก็คงเข้าใจฉันท์บทนั้นว่า พูดถึงระฆังเล็ก ๆ ซึ่งห้อยรอบชายคามณฑปพระพุทธบาท ทุกระฆังมีใบโพทองห้อย ครั้นลมพัดถูกใบโพ ๆ ก็แกว่งกระทบระฆัง เสียงดังอลเวงไพเราะนัก.
ผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ย่อมจะค้านว่า เหตุใดจึงว่ากล่าวถึงระฆัง ไม่เห็นคำว่าระฆังอยู่ที่ไหนเลย เมื่อถูกถามเช่นนี้ ผู้คร่ำเครอะก็คงจะตอบตามปัญญาล้าสมัยว่า ระฆังคือกระดึง กระดึงแปลว่าระฆัง เดี๋ยวนี้มักจะเรียกกระดึงว่า กระดิ่ง บางทีจะเป็นด้วยระฆังฝรั่งกดดังกริ่ง จึงเลยกลายเป็นกระดิ่ง ที่จริง กริ่งควรจะเป็นกระหริ่ง หาควรจะเป็นกระดิ่งไม่ ที่เป็นเช่นนั้น ก็คงจะเป็นเพราะเอากระดิ่งคำไทย ไปปนกับเสียงกดกริ่งของฝรั่ง.
ผู้เขียนคิดถึงฉันท์แต่งครั้งกรุงเก่าดังข้างบนนี้ ก็เพราะเห็นในหนังสือพิมพ์บางฉบับ (ประมวญวันด้วย) ว่าเรียก ภูกะดึงว่าภูสะดึง ผู้เขียนนึกว่า เขาลูกนั้น เห็นจะถูกเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ ถ้าใครไปถามคนพื้นเมืองในแถบเมืองเลย ว่ากระดึงแปลว่ากระไร ก็จะได้รับตอบว่า แปลว่าระฆัง ภูกะดึงแปลว่าเขาระฆัง เป็นคำพูดของคนแถบนั้นอยู่จนเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙)
การเปลี่ยนชื่อเขานั้น เขาก็คงจะไม่ขัดข้อง แม้เขาสูงสุดในหมหิมาลัย ซึ่งมีชื่อเดิมอยู่แล้ว ยังถูกเปลี่ยนชื่อว่า เอเวอเรซต์.
คำว่า ดิกเตเตอร์แปลว่า ผู้บงการประเทศโดยอาญาสิทธินั้น เป็นคำอังกฤษแปลว่าผู้กล่าวดิกตัม (Dictum) ดิกตัม ตามภาษากฎหมายแปลว่า ความเห็นที่ตุลาการกล่าวออกมาเป็นหลัก แต่ไม่มีบทกฎหมายเป็นถานที่ตั้ง.
ที่แปลดังนี้ ท่านอย่าไปสอบในดิกชันนารีเลย ถ้าสอบก็จะได้ความว่า ดิกเตเตอร์ ดิกเตต ดิกตัม และแม้ดิกชันนารี ก็ล้วนแต่มาจากคำเดิมในภาษาลตินซึ่งแปลว่า “ว่า” ทุกคำ.
ดังนี้ศัพท์ดิกเตเตอร์ ถ้าจะแปลตามคำเดิม ก็แปลว่า “ผู้ว่า” เท่านั้นเอง.
ภาษาไทยมีใช้คำว่า “ว่า” แปลว่าบัญชาการ “ว่ามหาดไทย” แปลว่าบัญชาการกระทรวงมหาดไทย “ว่าคลัง” แปลว่าบัญชาการกระทรวงคลัง “ผู้ว่าราชการ” แปลว่าผู้บัญชาราชการ เป็นต้น.
ดังนี้ก็น่าเห็นชอบกลที่ศัพท์มีความว่า “ว่า” ใช้หมายความอย่างเดียวกัน ทั้งภาษาในยุโรปและภาษาของเรา ซึ่งเป็นภาษาไกลกันมาก.
นักเรียนมหาวิทยาลัยอเมริกันนับจำนวนเป็นหมื่นๆ คบคิดทั้งขบวน เพื่อจะแห่กันไปร้องเรียนต่อรัฐสภาให้ออกกฎหมายจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พวกตัวเสียแต่เดี๋ยวนี้ เป็นการทดแทนที่จะเข้าตาทัพในสงครามภายหน้า แม้นักเรียนหญิงก็เรียกร้องเอารางวัล เพราะจะเป็นแม่ของทหารที่จะไปตายในศึก ซึ่งจะเกิดในอนาคต.
ความมุ่งหมายของพวกนักเรียน ก็คือประจานการ “ค้าความรักชาติ” เพื่อให้เห็นว่า ความรักชาติเพื่อจะเอาเงินนั้น เป็นของน่าบัดสีนัก.
เราคิดว่าคนที่รักชาติเพื่อเงินนั้น เห็นจะมีมากไม่แต่ในอเมริกา เห็นจะหาไม่ยากทุกประเทศ.
แต่ความรักชาตินั้นคืออะไรแน่ ปัญหาที่ถามเช่นนี้มีเป็น ๒ คั่น คั่นที่ ๑ ชาตินั้นคืออะไร คั่นที่ ๒ เมื่อรู้ว่าชาติคืออะไรแน่แล้ว ทำอย่างไรหรือเป็นอย่างไรจึงจะเรียกว่ารักชาติ.
เรื่องแห่นักเรียนมหาวิทยาลัยในอเมริกาเป็นต้นเหตุให้ผู้เขียนเขียนเลยมาถึงเรื่อง “รักชาติ” อเมริกาเป็นเหตุให้เขียน จึงจะยกอเมริกาเป็นตัวอย่างว่า ทำไมจึงถามว่าชาติคืออะไรแน่ (เราทราบกันแล้วทั้งผู้รอบรู้และผู้คร่ำเครอะว่า ศัพท์ว่า “ชาติ” แปลว่ากำเนิด)
สหปาลีรัฐอเมริกามีแคว้น (หรือรัฐ) ๔๘ แคว้น มีพลเมือง ๑๒๓,๐๐๐,๐๐๐ คน (ทรงเรื่องนี้เมื่อ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙)
ในจำนวน ๑๒๓ ล้านนี้ มีคนชาติอื่นเกิดในประเทศอื่นเข้าไปอยู่ในอเมริกาและเปลี่ยน “ร่วมธง” เป็นคนอเมริกัน ๑๔ ล้านคน
มีคนเกิดในอเมริกา แต่พ่อแม่เป็นคนไปจากต่างประเทศ ๑๗ ล้านครึ่ง.
มีแขกนิโกรกว่า ๑๓ ล้านคน (นิโกรไปจากแอฟริกา)
มียิวเป็นอันมาก ในนิวยอกกรุงเดียวมียิวถึง ๒ ล้านคน (ยิวมีกำเนิดเดิมในเอเซีย)
ชาวอเมริกันที่เป็นเยอรมันโดยกำเนิดมี ๗ ล้านคน เป็นอิตาเลี่ยนโดยกำเนิด ๕ ล้านคน.
คนที่สมมติกันว่าเป็น “อเมริกันแท้” มี ๕๕ เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันทั้งหมด
ดังนี้แหละ เนชั่นอเมริกันนั้นชาติอะไร และถ้าใช้ว่ารักชาติก็คือรักชาติไหน.
ฉันใดอเมริกา ฉันนั้นประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสยามด้วย พลเมืองของประเทศย่อมมีเลือดชาติต่าง ๆ ปนมากทั้งนั้น.
เนชั่น อาจเกี่ยวกับชาติเกิดของคนที่เป็นพลเมืองบ้าง แตไม่ใช่ทั้งหมด.
อันที่จริง คำที่เราเคยใช้กันมาว่ารักชาตินั้น เป็นความพยายามจะแปลคำอังกฤษว่า เปตฺริออติซัม (Patriotism) คำอังกฤษคำนั้นแปลโดยปริยายว่า ความเป็นผู้มีใจมุ่งไปในทางที่จะรักษาอิสระภาพ หรือสิทธิแห่งประเทศของตน แต่ถึงแปลดังนั้นแล้วก็ยังไม่ได้ความแน่.
ผู้เขียนมีสมุดวางอยู่ข้าง ๆ เล่มหนึ่งในเวลาที่เขียน สมุดนั้นชื่อว่า “เปตฺริ ออติซัมคืออะไร” (What is Patriotism) นักเขียนในสมุดเล่มนี้เป็นนักปราชญ์ชาววัด ๓ คน นักเศรษฐกิจคนหนึ่ง นักปราชญ์ศึกษาศาสตร์คนหนึ่ง นักหนังสือพิมพ์ (บรรณาธิการหนังสือใหญ่) คนหนึ่ง นักราชการ (โปลิติกซ์) ๓ คน (ชมรมละคน) นักเขียนหนังสืออ่านเล่น ๒ คน นักปราชญ์ฟิลอซอฟิคนหนึ่ง นักปราชญ์วิทยาศาสตร์คนหนึ่ง นายทหาร ๓ คน (ทัพเรือทัพบกและทัพฟ้า) นักปราชญ์กฎหมายระหว่างประเทศคนหนึ่ง หญิงคนหนึ่ง คนหนุ่มคนหนึ่ง คนกลางถนนคนหนึ่ง.
ผู้เขียนได้จับสมุดเล่มนั้นลองอ่านสองสามหนแล้วก็อ่านไม่จบ ได้ความแต่เพียงว่า ตอบไปคนละอย่างสองอย่าง ถ้าจะนำมาเล่าในที่นี้ก็ “หนัก” เต็มทน.
อนึ่ง เมื่อไม่ได้คิดจะนำมาเล่าก็ยังไม่ได้อ่านจบ ผู้เขียนจึงยังไม่ทราบว่า “รักชาติ” คืออะไรแน่.
ผู้เขียนเคยถามว่า ซิวิไลเซชั่น คืออะไรแน่ ทรัพย์หรือ อำนาจหรือ ปัญญาหรือ หรืออะไรแน่ เพราะเหตุไร.
ได้มีผู้กรุณาหลายคนเขียนหนังสือมาชี้แจง ให้ผู้เขียนทราบว่าชีวิไลเซชั่นคืออะไรแน่ ผู้เขียนได้ความสนุกจากคำตอบนั้น ๆ เป็นอันมาก.
แต่ครั้งนี้ ถ้าท่านผู้ใดทราบว่า “รักชาติ” คืออะไรแน่ ก็โปรดกรุณาอย่าเขียนมาบอกเลย นักปราชญ์ ๒๑ คน เถียงกันลั่นอยู่ในสมุดซึ่งผู้เขียนมีอยู่แล้ว ถ้ากว่า ๒๑ ก็เห็นจะมากเกินไป.