ราชทูตอังกฤษ

ตำแหน่งราชทูตอังกฤษมีเป็น ๓ ชั้น เราเคยเรียกกันแต่ก่อนว่า ราชทูตชั้นหนึ่ง เรียกว่าอัครราชทูตชั้นหนึ่ง เรียกว่าเอกอัครราชทูตชั้นหนึ่ง.

ตำแหน่งราชทูตที่เป็น “เอกอัคร” มักตั้งในประเทศใหญ่ ๆ ในตวันออกอังกฤษตั้งเอกอัครราชทูต ๒ ประเทศ คือญี่ปุ่นซึ่งตั้งมานานแล้วประเทศหนึ่ง จีนซึ่งตั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ประเทศนี้ (ทรงเรื่องนี้เมื่อ ๑๒ ธ.ค. ๒๔๘๑) ในยุโรป ประเทศเช่นเดนมากและฮอลันดาเป็นต้น ก็ตั้งเพียงอัครราชทูตเท่านั้น.

คำว่า เอกอัครราชทูตและสถานเอกอัครราชทูตยาวนัก ต่อไปนี้จะเรียกว่า ราชทูตและสถานทูตสั้น ๆ แต่หมายความว่า “เอกอัคร” ทุกแห่ง.

สถานทูตในปารีส มักจะถือกันว่า เป็นที่หนึ่งในราชการทูตของอังกฤษ หรือถ้าจะมีที่พอเทียบกันได้ ก็คือสถานทูตในวอชิงตัน (ส.ป.ร.) คนมักพูดกันว่า ราชทูตอังกฤษประจำปารีสได้เงินเดือนปีละ ๑๕,๐๐๐ ปอนด์ แต่อันที่จริงไม่ถูก เพราะมีบัญญัติว่า เงินเดือนราชทูตอย่างสูงจำกัดปีละ ๒,๕๐๐ ปอนด์เท่านั้น ราชทูตอังกฤษประจำปารีส เวลานี้ (ธ.ค. ๒๔๘๑) มีเงินเดือนปีละ ๒,๓๗๕ ปอนด์ แต่มี “เบี้ยผู้แทนประเทศ” อีกปีละ ๑๒,๒๐๐ ปอนด์ ต่างหากจากเงินเดือนอีกส่วนหนึ่ง เบี้ยผู้แทนนี้อนุญาตสำหรับรับแขก และสำหรับอยู่กินให้สมสง่าของราชทูต ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งไปประจำอยู่ในประเทศใหญ่.

เบี้ยผู้แทนปีละ ๑๒,๒๐๐ ปอนด์นั้น ราชทูตต้องใช้หมดทุกสตางค์ และซ้ำจะขาดทุนด้วย เพราะการรับแขกและความพากภูมิของตำแหน่งมีมากนัก ถ้าไม่ทำเช่นนั้น ก็ไม่เป็นที่นับหน้าถือตา นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอยู่เพียง ๑๒ เดือน ได้เงินปีละ ๑๒,๐๐๐ ปอนด์ แต่ขาดทุนปีละหลายพันปอนด์.

เบี้ยผู้แทนซึ่งราชทูตอังกฤษได้นั้น ไม่เท่ากันทุกราชทูต ราชทูตประจำบางประเทศก็ได้มากกว่าที่ราชทูตปารีสได้ เช่น ราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน ได้เงินเดือนเท่ากับราชทูตปารีส แต่ได้ค่ารับแขกมากขึ้นอีก ๑,๓๐๐ ปอนด์ รวมเป็นเบี้ยผู้แทนปีละ ๑๓,๕๐๐ ปอนด์ ที่ได้มากกว่า เพราะอเมริกาแพงกว่าปารีส.

ราชทูตอังกฤษประจำเบอลิน ได้เงินเดือนเท่ากับราชทูตปารีสและวอชิงตัน แต่ได้เบี้ยผู้แทนเพียงปีละ ๕,๗๒๕ ปอนด์ ราชทูตประจำกรุงโรม ได้ประมาณเท่ากันกับราชทูตเบอรลิน แต่ภาชทูตประจำเตอรกีได้ ๔,๓๘๕ ปอนด์เท่านั้น และราชทูตประจำโปแลนด์ยังต่ำลงไปอีกปีละ ๑,๐๐๐ ปอนด์

ราชทูตอังกฤษตำแหน่งที่กล่าวมานี้ เป็นชั้นสูงในราชการทูต เบี้ยผู้แทนที่ได้นั้นต้องใช้หมด และถ้าจะพูดส่วนเงินเดือน ก็ได้ปีละ ๒,๐๐๐ ปอนด์กว่า ๆ เท่านั้นเอง นอกจากทหารบกทหารเรือแล้วก็น้อยนัก ที่ข้าราชการชั้นสูง ๆ จะได้เงินเดือนน้อยกว่าราชทูต.

ถ้าจะเทียบเงินเดือนพวกหัวหน้าราชทูตกับพวกหัวหน้าอาชีพต่าง ๆ ก็ผิดกันมาก เช่น แพทย์ผู้ชำนาญบางคน หาเงินได้ปีหนึ่งนับจำนวนหมื่นปอนด์ นักกฎหมายที่เป็นทนายความชั้นสูง หาเงินได้ปีหนึ่งระหว่าง ๓๐,๐๐๐ ถึง ๔๐,๐๐๐ ปอนด์.

ราชทูตในสมัยนี้มีโทรศัพท์และโทรเลขที่จะเรียนปฏิบัติ และรับคำสั่งจากรัฐบาลในประเทศของตนได้สดวกรวดเร็วกว่าแต่ก่อน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีหน้าที่สำคัญในการปั้นงานของโลก ในสมัยก่อนเพียงศตวรรษที่ ๑๙ ราชทูตเจรจาการบ้านเมืองกับรัฐบาลประเทศที่ตนไปประจำ ต้องใช้ความรู้และความเห็นของตนเองคำณวนประโยชน์ และทางเสื่อมประโยชน์ของประเทศ แล้วทำไปโดยลำพังตน และความรับผิดชอบเกือบจะเต็มที่ มีตัวอย่างราชทูตอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งเจรจาตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศ โดยมิได้หันไปถามหรือบอกกล่าวแก่กระทรวงการต่างประเทศในลอนดอนเลย ทั้งนี้ก็เพราะการส่งรายงานไปเรียนปฏิบัติ ขอคำสั่งจากรัฐบาลนั้น กว่าจะเดินทางไปมาก็กินเวลามากมาย จะมัวคอยถามและตอบกันอยู่ก็ไม่ได้ ราชทูตจึงเป็นผู้ “มีอำนาจเต็ม” ตามชื่อตำแหน่งซึ่งยังใช้อยู่จนบัดนี้.

ในปัจจุบันถึงโทรศัพท์และโทรเลขจะมีติดต่อกันสดวก ราชทูตอาจรายงานเรียนปฏิบัติ และรับคำสั่งจากรัฐบาลได้อย่างรวดเร็วก็จริงอยู่ แต่ราชทูตก็ยังสำคัญในการเจรจา และเสนอถ้อยความ เป็นต้นว่าคำสั่งที่ได้รับห้วน ๆ นั้น ต้องเอาไปพูดให้เกลี้ยงเกลา ถ้าไม่ควรจะเกิดเหตุ ก็อย่าให้เกิด หรือถ้าอันไดจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศโดยถ้อยคำที่ใช้ ราชทูตก็สามารถจะทำได้เต็มที่.

ในหมู่นี้ (ธ.ค. ๒๔๘๑) หน้าที่ของราชทูตแต่ละคนเป็นหน้าที่หนัก เพราะความยุ่งยากระหว่างประเทศมีไม่ค่อยหยุด แต่ตำแหน่งราชทูตก็เป็นตำแหน่งซึ่งผู้ควรแก่ตำแหน่งมักจะแสวง เพราะเป็นตำแหน่งสูง มีหน้ามีตา ทั้งในประเทศของตนเอง และประเทศที่ไปประจำด้วย ในประเทศที่มีพระราชาเป็นประมุข ราชทูตมีตำแหน่งเดินต่อเจ้านายในพระราชวงศ์ แต่ในประเทศที่เป็นริปับลิคเอาแน่ไม่ได้ เป็นต้นว่าในประเทศฝรั่งเศส ราชทูตอยู่ต่อจากนายกของรัฐสภาทั้ง ๒ สภา แต่ใน ส.ป.ร. อเมริกา ราชทูตอังกฤษเดินต่อไวซ์เปรซิเด็นต์ คืออุปนายกของประเทศ.

ราชทูตเป็นผู้แทนประเทศของตน จึงอยู่ในฐานะที่ตำรวจจับไม่ได้ แต่คงจะไม่มีราชทูตคนไหนฆ่าคนตายแล้วหนีเข้าสถานทูต ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนของประเทศอังกฤษ ใครจะบุกบั่นเข้าไปก็เท่ากับส่งทัพขึ้นเกาะอังกฤษ ถ้าราชทูตคนไหนประพฤติเช่นที่ว่านี้ ถึงจะจับกุมไม่ได้ ก็เห็นจะเกิดโทษทางอื่น.

ราชทูตอังกฤษมีสิทธิจะลาพักราชการได้ปีละ ๖๐ วัน ไม่นับเวลาเดินทาง แต่ในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ราชทูตในยุโรปจะหยุดพักราชการมากเท่านั้น ก็เห็นจะไม่ค่อยได้ เพราะงานในหน้าที่มีมาก.

เมื่อราชทูตได้รับตำแหน่งเป็นครั้งแรก มีกำหนดให้ได้เงิน ๒๐๐ ปอนด์ สำหรับซื้อถ้วยจานและผ้าปูโต๊ะเป็นต้น ไว้เลี้ยงแขก ต่อนั้นไปถ้าย้ายสถานทูตก็ได้รับอีก ๑๐๐ ปอนด์ทุกคราว.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ