อาวุธเศรษฐกิจ

อาวุธเศรษฐกิจเป็นอาวุธสำคัญ ซึ่งอาจใช้ข่มกันได้ สำคัญจนถึงว่า ถ้าใช้อาวุธชนิดนี้ในเวลาที่อาวุธปืนและบอมบ์ของผู้ใช้ไม่แข็งแรง และผู้ถูกข่มไม่ยอมให้ข่มก็อาจเกิดสงครามขึ้นได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าฝ่ายที่ถูกระดมด้วยอาวุธเศรษฐกิจ ถ้าจะต่อต้านได้ด้วยปืนและบอมบ์ ก็คงจะต่อต้านด้วยอาวุธชนิดนั้น ๆ แทนที่จะยอมนิ่งตายลงไปด้วยอาวุธเศรษฐกิจของปฏิปักษ์.

ตัวอย่างที่จะยกมาเป็นอุทาหรณ์ได้ในข้อนี้ ก็คือสมัยที่อิตาลีทำสงครามกับอบิซซีเนีย ในครั้งนั้นได้มีประเทศใหญ่ ๆ ชักชวนประเทศทั้งหลาย ในสันนิบาตชาติให้ใช้ “แซงชั่น” เศรษฐกิจโดยนัยที่กำหนดไว้ในกติกาของสันนิบาตชาติ แต่อิตาลีกล่าวเผง ๆ ว่า ถ้าขืนทำเช่นนั้นก็จะเกิดสงครามใหญ่ การใช้แซงชั่นจึงเป็นอันไม่ได้ใช้ ในครั้งนั้น.

แต่การใช้อาวุธเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นจะทำให้เกิดต้องใช้อาวุธปืนและบอมบ์เสมอไป เพราะอาวุธเศรษฐกิจเป็นอาวุธยาวซึ่งปืนยิงไม่ถึง และพ้นระยะที่จะทิ้งบอมบก็ได้ หรือผู้ใช้อาวุธเศรษฐกิจเป็นผู้มีปืนและบอมบยิ่งกว่าหรือทัดเทียมกับฝ่ายโน้น จนเป็นที่เกรงขามก็ได้.

ตัวอย่างการใช้อาวุธเศรษฐกิจ ซึ่งคงจะไม่นำให้เกิดสงครามนั้น มีอุทาหรณ์ที่ ส.ป.ร. กำลังใช้แก่เยอรมันในเวลานี้ (เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) ดังจะนำมาชี้แจงให้เลอียดกว่าที่เคยมีข่าวมาในโทรเลขเป็นต้น.

ในปัจจุบันนี้ (๒๘ เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) น้ำใจประชาชนทั่วไปใน ส.ป.ร. จะโน้มไปจนถึงว่า จะยอมเข้าร่วมสงครามในยุโรปหรือยัง เราก็ทราบแน่ไม่ได้ แต่ถ้าจะพูดถอยหลังไปเพียงเดือนเศษมาแล้ว ก็ดูเหมือนยังก้ำกึ่งกันอยู่ ถ้าจะสำเหนียกตามคำพูดของเปรซิเด็นต์ และผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล ส.ป.ร. ไซร้ ก็ดูเหมือนจะ “เห็นภัยในขันธสันดาน” และรู้สึกจะต้องเข้าช่วย “ตัดห่วงบ่วงมาร” เพื่อ “สำราญสำเร็จเม็ตตา” ในภายหน้า แต่ประชาชนใน ส.ป.ร. ยังมีเป็นอันมากที่เห็นว่า อเมริกาไม่ควรจะข้องแวะเหตุการในยุโรป ควรตั้งตัวเป็นกลางไว้ เพื่อประโยชน์และความสุขของอเมริกาเอง หรือถ้าจะพูดให้สั้นลงก็คือว่า อเมริกาไม่ควรเข้าทำสงครามในยุโรป การที่ยังไม่เห็นชัดว่า ชนส่วนมากใน ส.ป.ร. เห็นไปทางไหนแน่นี้ เป็นเหตุทำให้รัฐบาลขยักขย่อน และในที่สุดตกลงใช้อาวุธเศรษฐกิจแต่ เพียงที่จะไม่ก่อให้เกิดสงครามเป็นการทำฝ่ายเดียว เพราะอีกฝ่ายหนึ่งจะทำโต้บ้างก็ไม่ได้ อาวุธเศรษฐกิจที่รัฐบาล ส.ป.ร. ใช้แล้วเช่นนี้ คือการขึ้นภาษีขาเข้าสินค้าเยอรมันที่ส่งไปขายใน ส.ป.ร. ตามพิกัดซึ่งมักเรียกกันว่า พิกัดโทษ” (Penalty Tariffs) มีนัยดังจะกล่าวต่อไปนี้

การที่ ส.ป.ร. ใช้พิกัดโทษแก่สินค้าเยอรมันขาเข้าเช่นนี้ เป็นการเดินประศาสโนบายอย่างใหม่ในคราวฉุกละหุกของโลก นัยหนึ่งใช้อาวุธเศรษฐกิจเป็นทางอุดหนุนระบอบการเมืองในยุโรป ชนิดที่ชาวอเมริกาเห็นชอบ ทำนองเดียวกันกับที่ ส.ป.ร. ได้ทำในประเทศจีนบ้างแล้ว แต่ทำไปคนละทางฉนั้น.

ส.ป.ร. ได้ช่วยประเทศจีนด้วยอาวุธเศรษฐกิจ ๒ ประการ ประการหนึ่งคือรับซื้อเนื้อเงินจากจีน เพื่อให้จีนมีเหรียญอเมริกัน ที่จะซื้อสินค้าต่างประเทศได้สดวก อีกประการหนึ่ง ให้จีนกู้เงินไปหนุนหลังธนบัตรของจีนมิให้ตกต่ำ การช่วยหนุนหลังธนบัตรจีนนี้ เป็นเครื่องช่วยให้รัฐบาลจีนธำรงไปได้ เพราะถ้าธนบัตรของรัฐบาลจีนไม่มีราคาเสียแล้วไซร้ ประเทศจีนก็จะต้องใช้ธนบัตรของญี่ปุ่น ความมั่นคงของรัฐบาลจีนก็ธำรงไปไม่ได้ การให้เงินกู้แก่จีน แบงก์ของรัฐบาล (Government Import-Export Bank) เป็นผู้ให้กู้ อังกฤษก็ได้ให้จีนกู้เช่นนี้เหมือนกัน แต่เจ้าของเงินที่อังกฤษให้กู้คือ แบงก์ฮ่องกงและแบงก์ชาเตอร์ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษรับประกันอีกชั้นหนึ่ง.

ส่วนที่ ส.ป.ร. ใช้อาวุธเศรษฐกิจแก่เยอรมันครั้งนี้ วิธีที่ใช้คือ “พิกัดโทษ” ดังกล่าวแล้ว รัฐบาล ส.ป.ร. ได้พิเคราะห์เหตุการในยุโรปเห็นว่า จะใช้อาวุธเศรษฐกิจได้อย่างหนึ่ง ซึ่งเยอรมันจะตอบโต้ไม่ได้ จึงไม่เป็นเหตุที่จะเกิดสงครามขึ้น กฎหมายอเมริกันมีอยู่แล้วว่า สินค้าต่างประเทศที่ส่งไปขายใน ส.ป.ร. นั้น ถ้ารายใดได้รับเงินอุดหนุน (สับสิดี) จากรัฐบาลของประเทศที่เป็นเจ้าของสินค้าไซร้ รัฐบาล ส.ป.ร. จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ๒๕ เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ที่บัญญัติเช่นนี้ก็เพราะว่าสินค้าต่างประเทศที่ได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลของตนเองนั้น อาจส่งไปขายราคาต่ำ ๆ ในอเมริกา เป็นการแย่งขายและกดราคาสินค้าของอเมริกาเอง แต่ถ้ารัฐบาลอเมริกาเก็บภาษีเพิ่มเสียแล้ว สินค้าต่างประเทศจะกดราคาสินค้าอเมริกันก็ไม่ได้.

กฎหมายอเมริกันมีบัญญัติพิกัดโทษไว้เช่นนี้นานแล้ว แต่ไม่ได้บังคับว่าต้องใช้ แม้กำหนด ๒๕ เปอร์เซ็นต์ก็ไม่แน่ กฎหมายบัญญัติไว้เพียงว่า ถ้ากระทรวงคลังเห็นสมควรจะใช้พิกัดนี้เมื่อไร ก็มีอำนาจสั่งให้ใช้ได้.

การเสียภาษีตามพิกัดโทษนี้ ผู้นำสินค้าเข้าไปต้องเสียเพิ่ม ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ก่อนรับสินค้าไปจากโรงไว้สินค้า เมื่อรับสินค้าไปแล้วต้องนำหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานว่า สินค้านั้นได้รับเงินอุดหนุน (สับสิดี) จากรัฐบาลเยอรมันเท่าใด ถ้าหลักฐานนั้นแสดงให้เห็นเป็นที่พอใจของเจ้าพนักงานอเมริกันว่าต่ำกว่า ๒๕ เปอร์เซ็นต์ พ่อค้าก็จะได้รับเงินคืนภาษีตามส่วนที่ส่งไว้สูงเกินไป แต่ถ้าหลักฐานปรากฏว่า ได้สับสิดีมากกว่าเงินที่วางไว้ ก็ต้องเสียเพิ่มขึ้นให้ท่วมเงินสับสิดีที่ได้รับจากรัฐบาลของตน.

วิธีใช้พิกัดโทษแก่สินค้าเยอรมันครั้งนี้ใช้ทุกชนิดแห่งสินค้า แต่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาล ส.ป.ร. ใช้พิกัดโทษ แต่ก่อนได้เคยใช้พิกัดโทษ เพราะปรากฏว่า พ่อค้าในอเมริกาที่ขายสินค้าแก่ประเทศเยอรมันนั้น ได้รับสินค้าเยอรมันเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน และสินค้าเยอรมันที่นำมาแลกเปลี่ยนนั้น ตีราคาต่ำกว่าธรรมดา เพราะได้สับสิดีจากรัฐบาลของตน เมื่อปรากฏขึ้นเช่นนั้น และรัฐบาล ส.ป.ร. ใช้พิกัดโทษแก่สินค้าชนิดนั้น ๆ แล้ว เยอรมันก็หยุด แต่ไม่ช้าก็กลับเริ่มใหม่.

ในคราวนี้รัฐบาล ส.ป.ร. เห็นเป็นโอกาศอันควรที่จะใช้พิกัดโทษเป็นอาวุธเศรษฐกิจ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดสงคราม แต่มีประโยชน์ในทางการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อปีกลาย (ทรงเรื่องนี้เมื่อ ๒๗ เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) เยอรมันได้ส่งสินค้าเข้าไปในอเมริกาประมาณ ๑๓ ล้านปอนด์ ในบัดนี้ เมื่อต้องเสียภาษีตามพิกัดโทษ สินค้าที่จะส่งไปขายได้น้อยลง คงจะได้เงินอเมริกันมาใช้ในการซื้อขายกับต่างประเทศน้อยลงปีละมาก ๆ เมื่อคำนึงว่าเยอรมันไม่ค่อยมีเงินต่างประเทศสำหรับที่จะใช้ซื้อสินค้าดิบ จนถึงต้องใช้แลกสินค้าแทนค้าขายกับใครด้วยเงิน ก็ทำให้เห็นว่า อาวุธเศรษฐกิจแม้เพียงนี้ก็เจ็บแสบไม่น้อย.

การใช้อาวุธเศรษฐกิจแก่เยอรมันเช่นที่กล่าวมานี้ ควรจะชี้ให้เห็นซ้ำอีกว่า เป็นการใช้อาวุธเพียงที่จะไม่ทำให้เกิดสงคราม เปรซิเดนต์โรซเว็ลต์ดำเนินประศาสโนบาย มิให้ล้ำหน้าความเห็นประชาชนไป การใช้อาวุธเศรษฐกิจเพียงนี้ ได้รับความเห็นชอบของประชาชนเต็มที่ แต่เมื่อ ๖-๗ สัปดาห์มาแล้ว ถ้าเปรซิเด็นต์โรซเว็ลต์ทำอะไรลงไป ที่ราษฎรเห็นว่าจะทำให้เกิดสงครามขึ้น ก็คงจะยังไม่เป็นที่ถูกใจราษฎร เปรซิเด็นต์โรซเว็ลต์จึงทำแต่เพียงนั้นก่อน.

ในปัจจุบันวันนี้ (๒๘ เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) ความเห็นประชาชนในอเมริกา อาจก้าวหน้าไปข้างขุ่นเคืองเยอรมันมากขึ้น เพราะกล่าวหาว่าเยอรมันมักใหญ่ใฝ่สูงถึงคิดจะข่มโลก ที่ว่าดูท่าทางเหมือนความเห็นในอเมริกาจะเป็นเช่นนี้ ก็เพราะได้ข่าวว่า ประชาชนส่วนมากเห็นชอบกับเปรซิเด็นต์โรซเว็สต์ ในการที่มีโทรเลขไปถึง แฮร์ ฮิตเลอร์ และ ซร. มุซโซลินี ขอให้รับรองว่า จะไม่รุกรานอิสรภาพของเทศต่าง ๆ ที่ระบุชื่อไว้.

คำตอบของแฮร์ ฮิตเลอร์วันศุกรนี้ (ทรงเรื่องนี้เมื่อวันศุกรที่ ๒๘ เม.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) จะทำให้ความเห็นใน ส.ป.ร. เป็นอย่างไรต่อไปอีก ยังคาดไม่ถูก เพราะในเวลาที่เขียนนี้ ยังไม่ทราบว่าจะตอบว่ากระไร.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ