บ่อน้ำมัน

ข้อที่ว่าในสยามมีแอ่งน้ำมันใหญ่อยู่ใต้ดินหรือไม่นั้น เป็นปัญหาซึ่งผลุบๆ โผล่ ๆ มาช้านาน ในสมัยโบราณเมื่อสยามกับพม่ายังเป็นเอกราชอยู่ด้วยกัน ได้เคยมีวิวาทกัน เรื่องแย่งตักน้ำมันบ่อย ๆ แต่ในสมัยนั้นเป็นเรื่องตักน้ำมันข้น ๆ ที่ลอยขึ้นมาหลังน้ำ หาใช้ท่อเจาะลึกลงไปในดินหลายพันฟิตดังที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ อันที่จริงการตักน้ำมันที่ลอยขึ้นมาบนหลังน้ำนั้น ถึงเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ก็ยังทำกันอยู่ แต่เป็นทางหากินของคนจน ๆ จะทำเป็นกิจการใหญ่โตไม่ได้.

ในประเทศพม่า รัฐบาลได้ให้สัมปทานแก่บุคคลและบริษัทใหญ่น้อยให้ขุดและเจาะเอาน้ำมันใต้ดินขึ้นมาเป็นสินค้า ได้ทำเช่นนี้มาหลายสิบปีแล้ว ผู้รับสัมปทาน ถ้าไม่มีทุนมาก ก็ขุดด้วยแรงคน ลงไปลึกไม่ได้กี่มากน้อย ใช้แรงคนตักน้ำมันขึ้นมาด้วยโพง เมื่อน้ำมันหมดก็ขุดลึกลงไปอีก แต่การใช้แรงคนขุดนั้น จะขุดบ่อให้ลึกมากนัก คนก็ไม่มีอากาศหายใจ เพราะฉนั้น ผู้มีทุนน้อยเมื่อขุดบ่อตื้น ๆ ได้ น้ำมันเกือบหมดแล้ว ก็ขายสัมปทานให้แก่ผู้มีทุนมาก ใช้เครื่องจักรเจาะลึกลงไป และใช้สูบ ๆ เอาน้ำมันขึ้นมา เมื่อทำไปถึงตอนนี้ ต้องใช้ทุนมาก.

ในพม่า ตำบลที่เป็นแอ่งน้ำมัน หรือที่เรียกว่า กระเป๋าน้ำมันใหญ่และเล็กอยู่ใต้ดินตื้นและลึก ใกล้และห่างกันมากบ้างน้อยบ้างนั้น ชื่อว่า ตำบล เยนันคฺยอง (ได้ยินว่าแปลว่าคลองน้ำเหม็น) อยู่ใต้ภุกามลงมาไม่มากนัก แต่เห็นจะสูงประมาณได้แนวกับเมืองฝางของเราดอกกระมัง (เราไม่มีแผนที่จะสอบได้ในเวลาที่เขียนนี้).

ส่วนในแดนสยามทราบกันมานานแล้วว่า มีแอ่งน้ำมันใต้ดิน และราษฎรที่นั่นได้ตักน้ำมันที่ลอยขึ้นมาในหนอง แต่เคยเข้าใจกันว่า น้ำมันใต้ดินไม่มีพอที่จะลงทุนได้ ในรัชกาลที่ ๖ ได้พยายามจะทราบว่าน้ำมันใต้ดินที่เมืองฝางมีพอจะเป็นพักเป็นผลได้หรือไม่ และในครั้งนั้นรัฐบาลได้อนุญาตเงินกว่าล้านบาท สำหรับให้ตรวจหาความรู้ข้อนี้ ได้จ้างฝรั่งมาเป็นหัวหน้า และซื้อเครื่องจักรเครื่องใช้ขึ้นไปไว้ที่นั่นมาก งานตอนนั้นเป็นงานที่ทำอยู่ใต้ปีกของกรมรถไฟ และตามที่เราจำได้ ดูเหมือนจะมีรายงานว่า น้ำมันใต้ดินไม่มีจริงดังหวัง ก็คงจะเป็นอันเสียเงินเปล่าไปตอนหนึ่ง.

ต่อมาอีกไม่นานนัก งานอันนี้ได้ย้ายไปอยู่กระทรวงเกษตร จึงได้รื้อสอบสวนรายงานกันใหม่ ปรากฏเหมือนว่าที่ว่าน้ำมันไม่มีนั้นยังไม่แน่ น่าจะตรวจตราต่อไปอีก แต่ในเวลานั้นรัฐบาลเห็นจะเข็ดเขี้ยวเรื่องจำนวนเงินที่จ่ายออกไปมากแล้วดอกกระมัง กระทรวงเกษตรจึงมิได้รับอนุมัติให้ดำเนินความพยายามต่อไป.

ต่อมาในตอนที่เปลี่ยนแปลงการปกครองกันแล้วนี้ ทราบว่าได้พยายามเรื่องน้ำมันเมืองฝางกันใหม่ และได้จ้างฝรั่งผู้ชำนาญพิเศษเข้ามา ๒ นาย ผู้ชำนาญจะได้รายงานแล้วประการใด ทางราชการยังมิได้แจ้งให้ทราบ แต่มีข่าวกล่าวกันแล้วว่า ได้พบแอ่งซึ่งคเนว่ามีน้ำมันมาก ตามคำบอกเล่าที่เราเคยได้ยินว่า การเจาะบ่อใหม่นั้น ทราบไม่ได้ว่าน้ำมันจะพุ่งขึ้นมาเป็นลำตาลเมื่อไร เพราะฉนั้นต้องเตรียมพร้อมอยู่ทุกเมื่อที่จะปิดปากท่อด้วยเครื่องใช้ที่มีไว้สำหรับ มิฉนั้น น้ำมันที่พุ่งแรงขึ้นมาจากใต้ดิน ก็จะไหลบ่าทั่วไปหมด ถ้ายิ่งไฟลุกขึ้นก็ไม่มีอะไรจะดับได้ ในประเทศเวเนซูลา ซึ่งแรกพบแอ่งน้ำมันใต้ดินประมาณ ๓๐ ปีมานี้ ได้พบเมื่อสิ้นศรัทธาและจะเลิกหาอยู่แล้ว อยู่ดี ๆ ปากท่อก็ระเบิดขึ้นมา คนเป็นอันตรายกว่า ๒๐ คน น้ำมันก็ไหลบ่าท่วมท้องที่ใกล้เคียงกว้างใหญ่ออกไปทุกที เป็นอยู่ดังนั้นถึง ๙ วัน ๙ คืน ประมาณว่าเสียน้ำมันไปเปล่าวันละ ๑๐๐,๐๐๐ ถัง บ้านช่องที่ดินและทรัพย์สมบัติของราษฎรเสียไปเป็นอันมาก.

การตรวจที่เมืองฝาง เมื่อมีผู้ชำนาญมาคอยดูแล ก็คงจะเป็นที่ไว้ใจได้ว่า จะไม่มีเหตุเช่นนั้น.

ข้อที่ว่า ใต้ดินในแถบเมืองฝางมีน้ำมันนั้น ถึงตั้งแต่ไหน ๆ มาก็ไม่น่าสงสัยเลย ข้อที่ไม่แน่ก็มีอยู่แต่ว่า น้ำมันจะมีพอที่จะลงทุนหรือไม่ นายช่างใหญ่คนหนึ่งที่ตำบลเยนันคฺยองบอกเราว่า การเจาะบ่อน้ำมันที่นั่นลึก ๓,๐๐๐ ฟิตจะเปลืองเงินประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูปีสำหรับบ่อเดียว (บ่อที่นั่นมีหลายร้อยบ่อ) เยนันคฺยองอยู่ริมแม่น้ำใหญ่ ซึ่งเรือไฟขนาดใหญ่เดินได้ มีถนนหนทางพร้อม การขนเครื่องใช้ไปมาขนได้สดวก แต่กระนั้นยังกินเงินถึงเท่านั้น ถ้าทำเช่นเดียวกันที่เมืองฝางซึ่งไปมายาก จะกินเงินสักเท่าใดก็ทราบยาก ถึงกระนั้นก็ดี ควรเป็นที่เข้าใจกันว่า ถ้าทราบแน่ว่าน้ำมันมีพอแล้ว การลงทุนทำก็คงจะไม่มีปัญหา ในเมืองพม่ารัฐบาลไม่ได้ทำเองเลย เพียงแต่ทำแผนที่ที่ตรวจทราบว่ามีน้ำมัน แบ่งที่ดินเป็นแปลง ๆ แล้วให้สัมปทานให้บุคคลหรือบริษัททำ โดยมากเป็นบริษัทอังกฤษ แต่บริษัทของชาวต่างประเทศก็มี เช่นบริษัทอเมริกันเป็นต้น และเราได้เห็นบ่อเล็ก ๆ ๒-๓ บ่อ ซึ่งเจ้าของเป็นจีน.

ในจดหมายจากลอนดอน ๗ วันครั้ง ซึ่งมาถึงมือเรา เมื่อวันที่ ๑๓ เดือนนี้ (เม.ย. ๒๔๗๙) มีข่าวเรื่องการเจาะน้ำมันในเกาะอังกฤษ ซึ่งเป็นของใหม่ในประเทศนั้น เพราะแต่ก่อนไม่เคยรู้กันว่า มีน้ำมันใต้ดินเลย ข่าวที่มีมาในจดหมายนี้ มีข้อความซึ่งผู้อ่านของเราคงจะใส่ใจอ่าน ต่อเนื่องกับข่าวที่โจษกัน ว่าได้พบบ่อน้ำมันแน่แล้วในประเทศของเรา.

ในประเทศอังกฤษ (เกรตบริเตน) ประมาณว่าใช้น้ำมันส่งจากต่างประเทศปีละ ๒๐๐๐ ล้านแกลลอน ราคา ๓๐ ล้านปอนด์ ทั้งนี้เป็นน้ำมันที่ส่งเป็นสินค้าเข้าไปในประเทศ นอกจากนี้มีน้ำมันซึ่งทำขึ้นเองจากถ่านใช้วิธีเรียกว่า ไฮโดรยิเนชั่น ได้น้ำมันใช้ได้ดี แต่ค่าทำแพงกว่าน้ำมันที่เข้าไปจากต่างประเทศ บัดนี้อังกฤษได้ตรวจทราบแล้วว่า น้ำมันมีใต้ดินในประเทศของตนเอง และได้ออกกฎหมาย เรียกว่า เปโตรเลียมแอกต์ ค.ศ. ๑๙๓๔ อาศัยกฎหมายนั้น เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม (พ.ศ. ๒๔๗๘) ได้ลงมือเจาะเป็นครั้งแรก ใช้เครื่องจักรซึ่งได้ตั้งขึ้นสำเร็จภายใน ๒ เดือน ทั้งได้ทำถนนไปหาบ่อและก่อตึก หรือเรือนโรงอย่างอื่นที่จะต้องใช้ ทำสำเร็จลุล่วงไปอย่างเร็วที่สุด การอันนี้มีบริษัทเป็นผู้รับมอบให้ทำชื่อว่า “ดาร์ซีเอกซปฺลอเรชั่นกัมปนี” เป็นบริษัทติดต่อกับบริษัทชื่อ “แองโกลอิเรเนียนออยล์กัมปนี”

เครื่องจักรสำหรับเจาะเอาน้ำมันใต้ดินที่อังกฤษใช้คราวนี้ เป็นเครื่องจักรซึ่งอังกฤษทำเอง และมีแรงที่จะเจาะลึกลงไปใต้ดินถึง ๓ ไมล์ (๑๕,๘๔๐ ฟิต) การเจาะบ่อแรกนี้ ประมาณว่ากว่าจะสำเร็จก็อาจถึง ๒ ปี และจะกินเงิน ๖ หมื่นปอนด์ (บ่อเดียว) แต่ท่านผู้เป็นประธานของบริษัทกล่าวว่า การเจาะบ่อแรกนี้ แม้จะยังต้องเรียกว่าการทดลอง ก็เป็นการทดลองซึ่งได้ตรวจตราโดยวิธีวิทยาศาสตร์ทราบแน่นอนแล้ว ถ้าการเจาะบ่อน้ำมันในเกาะอังกฤษนี้สำเร็จไป ก็จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมอย่างใหญ่ขึ้นอีกประเภทหนึ่งในประเทศนั้น.

ตามที่กล่าวข้างบนนี้ เรายังไม่เข้าใจอยู่ข้อหนึ่งว่า เหตุใดเมื่อมเครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว จึงจะเปลืองเวลาในการเจาะบ่อ ๆ เดียวถึง ๒ ปี แต่จดหมายจากลอนดอนเขาว่าอย่างนั้น.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ