ดานซิค

ข่าวมีแปลกมาวันนี้ (๒๓ พ.ค. พ.ศ. ๒๔๘๒) คือ ข่าวเรื่องทำลายด่านศุลกากรของเมืองดานซิค แล้วมียิงกันภายหลังและเยอรมันตายไปคนหนึ่ง.

โทรเลขที่มีมาวันนี้ มีแต่ข่าวฝ่ายเยอรมัน ซึ่งเรานำมาแปลไว้ในหน้าอื่นแล้ว (หมายถึงหนังสือพิมพ์ประมวญวัน) แต่การอ่านข่าวตามโทรเลขฉบับนั้นเป็นการฟังข้างเดียว ในที่นี้เราจึงนำข่าวที่ได้ทราบทางอื่นมาเล่าไว้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านของเราได้อ่านประกอบกับข่าวเยอรมันที่มีมาทางโทรเลข และเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อแล้วแต่ใจ

ตามข่าวอีกทางหนึ่งที่เราทราบมานั้นว่า ได้มีเยอรมันพวกหนึ่ง ไปที่ด่านศุลกากรแห่งหนึ่งของดานซิคเมื่อวันเสาร์ (ทรงเรื่องนี้เมื่ออังคารที่ ๒๘ พ.ค. พ.ศ. ๒๔๘๒) เข้าไปขับไล่พวกเจ้าพนักงานชาวโปแลนด์ผู้ประจำด่านให้ไปเสีย มิฉนั้นจะได้รับอันตราย ฝ่ายเจ้าพนักงานชาวด่านเมื่อได้ฟังคำขู่ขับไล่ก็ออกจากด่านไป ชรอยจะไม่มีกำลังต่อสู้พวกเยอรมันเหล่านั้นได้ ครั้นชาวด่านพวกโปล์ออกจากด่านไปแล้ว พวกเยอรมันก็ทำลายด่านนั้นเสีย.

ฝ่ายข้าหลวงประจำดานซิคเมื่อได้ทราบรายงานว่า ด่านถูกทำลาย ก็ขึ้นรถยนต์ไปดูถึงที่เกิดเหตุ ครั้นไปถึงที่ ข้าหลวงก็ลงจากรถเดินต่อไปจนถึงด่าน ซึ่งจะอยู่ห่างจากที่จอดรถสักเพียงไรเราไม่ทราบ ระหว่างที่รถของข้าหลวงจอดคอยอยู่นั้น มีผู้เอาปืนยิงรถ คนขับรถจึงเอาปืนยิงตอบบ้าง ถูกเยอรมันตายคนหนึ่ง.

ต่อนั้นมา ได้ยื่นประท้วงกันทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายข้าหลวงหรือฝ่ายโปแลนด์ ยื่นประท้วงต่อรัฐบาลดานซิคว่า เยอรมันทำลายด่านศุลกากร ฝ่ายรัฐบาลดานซิค หรือฝ่ายเยอรมันยื่นประท้วงว่า คนขับรถของข้าหลวงยิงเยอรมันตาย เพียงวันนี้ (๒๓ พ.ค. พ.ศ. ๒๔๘๒) จะโต้ตอบกันว่ากระไรต่อไป และมีรายเลอียดอย่างไรอีกเรายังไม่รู้.

ข่าวข้างบนนี้ พอเราได้ยินก็นึกทันทีว่า หนังม้วนนี้เคยดูแล้วดอกกระมัง ไม่ช้าก็นึกได้ว่า เมื่อครั้งขึ้นต้นเรื่องเชกโกสโลวาเกียในสุเดเต็นแลนด์ ก็ได้เริ่มเกิดเหตุตามด่านศุลกากรเช่นนี้เหมือนกัน วันนี้เราไม่ได้พลิกหนังสือสอบถอยหลังไป แต่จำได้ว่าคราวโน้น ด่านศุลกากรของเชกโกสโลวาเกียถูกทำลายไป ๒-๓ แห่ง พวกเชกจึงเตรียมปืนป้องกัน บางแห่งต่อสู้กันตายลงไปหลาย ๆ คน เกิดเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นทุกที จนในที่สุดเป็นดังที่ทราบกันอยู่แล้ว.

ลักษณะปกครองเมืองดานซิคนี้ ผู้อ่านของเราบางคนอาจฉงนว่า ข้าหลวงโปแลนด์ก็มี รัฐบาลที่เป็นเยอรมันก็มี ดูยุ่งกันนักหนา มีเรื่องมาอย่างไรกันแน่.

ในที่นี้ถ้านำเรื่องมาเล่าให้พิสดารสักหน่อยก็อาจดี แต่จะกล่าวเลอียดนักเห็นจะไม่ได้ เพราะหน้ากระดาษไม่พอ.

เมืองดานซิคก่อนมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) เป็นเมืองของเยอรมัน พลเมืองส่วนมากเป็นคนเยอรมัน แต่ติดต่อทางหากินกับโปแลนด์ แยกกันออกไปไม่ได้ในทางเศรษฐกิจ เมื่อเสร็จมหาสงครามแล้ว เปรซิเดนต์ วิสสัน แห่ง ส.ป.ร. ได้ตั้ง “หลัก ๑๔ ประการ” ในเรื่องที่จะจัดโลกให้ลงรูปกันเสียใหม่ หลักประการที่ ๑๓ ของเปรซิเด็นต์ วิลสันวางลงไว้ว่า ควรตั้งโปแลนด์เป็นประเทศอิสระขึ้นใหม่ “ให้มีทางลงทเลได้อย่างสดวกและแน่นหนา” จึงเป็นเหตุให้โปแลนด์เมื่อตั้งเป็นประเทศอิสระขึ้นแล้ว ได้มี “ฉนวน” และเป็นเจ้าหน้าที่ในดานซิค โดยรับยอมจากสันนิบาตชาติด้วย.

ต่อจากหลัก ๑๔ ประการมา ได้มีหนังสือสัญญาแวร์ไซลส์ขึ้น ดานซิคได้รับทั้งเป็น “กรุงเสรี” ขึ้นตามมาตรา ๑๐๒ ถึงมาตรา ๑๐๕ แห่งสัญญาแวร์ไซลส์ ความมุ่งหมายที่ตั้งดานซิคขึ้นในรูปนี้ มีแจ้งอยู่ในมาตรา ๑๐๔ เป็นใจความ ๖ ข้อ ซึ่งเราจะนำมาแปลในที่นี้ก็ยาวนัก แต่รวมความว่า มอบให้ โปแลนด์ดูแล กับบัญญัติในมาตรา ๑๐๕ ว่า บรรดาเยอรมันในดานซิคนั้น ให้เปลี่ยนจากร่วมธงเยอรมันไปเป็นร่วมธงดานซิคทั้งสิ้น.

การเป็นดังนี้ ปัญหาระหองระแหงระหว่างโปแลนด์กับเยอรมันจึงมีไม่รู้จักจบจักสิ้นมาช้านาน จนในตอนที่แฮร์ ฮิตเลอร์ได้เป็นใหญ่ในประเทศเยอรมันมาได้ปี ๑ จึงเปลี่ยนประศาสโนบายไปทำดีกับโปแลนด์ หนังสือพิมพ์ทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งด่าว่ากันมาตั้ง ๑๕ ปี กระงับการด่าว่าทั้ง ๒ ฝ่ายในทันที และในประชุมกรรมการสันนิบาตชาติ ซึ่งเคยต้องพิจารณาคำฟ้องร้องระหว่างเยอรมันกับโปแลนด์ในดานซิคแทบจะมิว่างเว้นนั้น ก็ไม่มีปัญหาไปให้พิจารณาอีก แฮร์ฮิตเลอร์ให้สัญญาแก่โปแลนดว่า จะไม่ระรานมีกำหนด ๑๐ ปี.

การที่แฮร์ฮิตเลอร์กับโปแลนด์กลับทำดีต่อกันขึ้นนี้ มีเหตุอันดีด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายแฮร์ฮิตเลอร์ ในตอนนั้น เพิ่งมีอำนาจเต็มทีขึ้นได้ปีเดียว และได้สำแดงเดชให้ประเทศในตวันตกแห่งยุโรป คือฝรั่งเศสและอังกฤษเป็นต้น เกิดขุ่นหมองในใจเป็นอันมาก ในด้านตวันออก แฮร์ฮิตเลอร์ก็ได้กล่าวโทษปรักปรำรัซเซียมามากแล้ว เมื่อได้ทำให้เกิดขัดใจกันขึ้นกับฝรั่งเศสและอังกฤษในด้านตวันตก แล้วจะหันไปแสวงไมตรีกับรัซเซียทางตวันออกก็ไม่ได้ ถ้าสำเนียกเหตุการในตอนนั้น ก็น่าเห็นว่า แฮร์ฮิตเลอร์เกรงว่า ประเทศเยอรมันจะตกอยู่ในตำแหน่งโดดเดี่ยว เป็นที่ระแวงรอบด้าน จึงคิดดำเนินประศาสโนบายใหม่กับโปแลนด์ ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างเยอรมันกับรัซเซีย นับว่าเยอรมันพอวางใจในด้านตวันออกได้คราวหนึ่ง ในขณะที่จะคิดการในภาคใต้ คือออซเตรียและเชกโกสโลวาเกีย.

ส่วนโปแลนด์นั้น การที่ได้ทำไมตรีกับเยอรมันในตอนนั้นได้ ก็เป็นที่โล่งใจยิ่งนัก เพราะโปแลนด์ได้ถูกประเทศที่เป็นอริกันกระหนาบ ๒ ข้างมาตั้ง ๑๕ ปีแล้ว ในตอนนั้นโปแลนด์มีเพื่อนอยู่แต่ฝรั่งเศสประเทศเดียว แต่ฝรั่งเศสหันไปเซ็นหนังสือสัญญาใหม่ที่เรียกว่า “หนังสือสัญญา ๔ ประเทศ” (ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน อิตาลี) โปแลนด์แค้นใจว่า ถูกฝรั่งเศสทิ้งไปหาอิตาลี ซึ่งในตอนนั้นยังหาสู้จะเป็นประเทศมหาอำนาจเต็มที่ไม่ อีกประการหนึ่ง ในตอนนั้น แฮร์ฮิตเลอร์ได้ขยับขยายทำให้เยอรมันกลับเป็นประเทศทหารขึ้นอย่างแต่ก่อน ความแข็งแรงของกองทัพเยอรมัน ทำให้โปแลนด์แลไม่เห็นว่า ถ้าวิวาทขึ้นกับเยอรมันไซร้ ฝรั่งเศสจะช่วยโปแลนด์อย่างไรได้ ในตอนนั้น โปแลนด์อยู่ระหว่างกระหนาบ จำจะต้องเกาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โปแลนเห็นว่าเยอรมันแข็งแรงกว่ารัซเซีย และวางใจได้มากกว่า จึงตกลงยอมทำสัญญากับแฮร์ฮิตเลอร์ว่า จะไม่ระรานกัน ๑๐ ปี ถึงจะระแวงอยู่แล้วว่า สัญญาเช่นนั้นจะไม่ถาวรก็จริง แต่ถ้าเผอิญอยู่ไปได้ ๑๐ ปี ก็อาจเป็นของถาวรจริง ๆ ขึ้นได้ สัญญาว่าจะไม่ระรานกับโปแลนด์ ๑๐ ปีนั้น แฮร์ฮิตเลอร์ได้ประกาศบอกเลิกเสียเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือในวันที่พูดตอบเปรซิเด็นต์โรซเว็ลต์ในไรซ์ต๊าก อ้างว่าเพราะโปแลนด์ยอมให้อังกฤษรับประกันอิสรภาพ.

ส่วนลักษณะปกครองในดานซิคนั้น มีการเลือกสภาและรัฐบาลกันเอง พลเมืองเป็นเยอรมันโดยมาก สมาชิกสภาและรัฐบาลจึงเป็นเยอรมันเป็นส่วนใหญ่ แต่โปแลนด์เป็นผู้มีสิทธิและอำนาจที่จะตั้งข้าหลวงไปประจำ ข้าหลวงมีหน้าที่ติดต่อระหว่างรัฐบาลดานซิคกับโปแลนด์ ถ้ามีคดีขึ้นและข้าหลวงตัดสินไปแล้ว ถ้าฝ่ายไหนไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งข้าหลวงต่อกรรมการสันนิบาตชาติได้ เมื่อสันนิบาตชาติยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ ก็ได้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยได้เป็นอย่างดี แต่ในเวลานี้ (พ.ค. พ.ศ. ๒๔๘๒) คนละอย่าง ไม่เห็นท่วงทีเลยว่า ทำอย่างไรดานซิคกับโปแลนด์จึงจะกลมเกลียวกันได้.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ