- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
หนังสือและคำพูด
ปัญหา “ประมวญมารค” เป็นหนังสือชนิดไหน ก่อนที่จะตอบปัญหานี้ เราจะต้องตั้งศัพท์ใหม่ศัพท์หนึ่ง การตั้งศัพท์ใหม่ของเราจะมีเรื่อย ๆ ไป ตามคราวที่ต้องการ.
ศัพท์ใหม่
หนังสือชนิดหนึ่งซึ่งรู้จักกันอยู่แล้วโดยมาก อังกฤษเรียกว่า Magazine เป็นหนังสือออกมีกำหนดเวลา มักจะเดือนละครั้ง มีเรื่องสำหรับอ่านเล่น เพื่อความรู้ อ่านเพื่อฟังวิจารณ์ ฯลฯ เหล่านี้ เราตั้งศัพท์เรียกว่า มัคสิน (ถ้าท่านเห็นควรเขียนมรรคศิลป์ เราไม่เห็นด้วย).
ศัพท์อังกฤษซึ่งเป็นชื่อหนังสือชนิดนั้น (Magazine) ซึ่งเรานำมาใช้ว่า มัคสิน นี้ เป็นคำที่ชักให้หวนคิดไปถึงสมัยที่แขกมัวร์ มีอำนาจเป็นเจ้าแผ่นดิน ปกครองอยู่ในทวีปยุโรปแถบทเลเมดิเตอเรเนียน เพราะคำนั้นเป็นคำอาหรับ ซึ่งผ่านภาษาสเปนิชและภาษาฝรั่งเศส หรืออิตาเลียนไปถึงภาษาอังกฤษ คำในภาษาอาหรับ ซึ่งฝรั่งรับเอาไปใช้เช่นนี้มีมาก.
คำอาหรับเดิมไม่ได้ใช้เป็นชื่อหนังสือชนิดหนึ่ง แต่ถ้าถามเด็กในโรงเรียนเมืองอังกฤษเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๗) ว่าศัพท์นั้นทำให้นึกถึงอะไร เด็ก ๙๙ คนใน ๑๐๐ คงจะตอบว่า นึกถึงหนังสือออกรายเดือน ซึ่งโดยมากมีหน้าปกระบายสีงดงาม มักจะเป็นรูปสาวสวยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าโหรงเหรง ตามสมัยนิยม ถ้าถามเด็กไทย คงจะนึกถึงหนังสือวิทยาจารย์และไทยเขษมเป็นต้น.
อันที่จริง คำอังกฤษคำนั้น เพิ่งใช้แปลว่า หนังสือ ายเดือนภายใน ๒๐๐ ปีนี้เอง และแม่สาวแต่งกายโหรงเหรง ก็คือเครื่องหมายความแผ่กว้างของ “ริปับลิกแห่งอักษร” เท่านั้น.
ส่วนคำอาหรับซึ่งเป็นที่มาแห่งคำศัพท์ที่กล่าวนี้ ถ้าจะแปลเป็นไทยให้กระทัดรัด ก็ควรแปลว่า “กว้าน” คือคำที่สุนทรภู่ใช้เทียบแม่กดว่า “ตึกกว้านบ้านเรือนโรง โคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน”.
คำว่ากว้านในที่นั้น ถึงแม้ท่านจะเคยอ่านมูลบทมา ถ้าเราทายว่า ท่านไม่รู้ว่าแปลว่ากระไร ก็จะถูกประมาณ ๘ ใน ๑๐ ถ้าท่านพลิกดูในปทานุกรม ถ้าท่านอยากทราบคำแปลของเรา โปรดคอยอ่านวันอื่น.
เมื่อได้ตั้งศัพท์และอธิบายดังข้างบนนี้แล้ว ก็จะขอตอบปัญหาที่ตั้งไว้ในเบื้องต้นว่า “ประมวญมารค” เป็นมัคสิน ออกทุกวันศุกร์.
ศัพท์เก่า
มีศัพท์ ๆ หนึ่งซึ่งแม้เดี๋ยวนี้มักจะใช้เอนไปจากความเดิม โดยที่ให้ความหมายเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เราก็ใช้ยืนความอยู่อย่างเก่า ศัพท์นั้นคือ “สมาชิก” อันเป็นศัพท์บัญญัติขึ้นใช้เมื่อตั้งหอพระสมุดวชิรญาณในรัชกาลที่ ๕ ศัพท์นี้ตั้งขึ้นในครั้งโน้น สำหรับใช้ตรงกับคำอังกฤษว่า เม็มเบอร และเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๗) ที่ใช้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ถูกต้องตามหมายแห่งศัพท์ แต่ที่หนังสือพิมพ์มักจะเรียกผู้รับซื้อว่า สมาชิกนั้น เป็นการให้ความใหม่ เพราะผู้รับซื้อเป็น สับสไครเบอร หาใช่เม็มเบอรของหนังสือพิมพ์ไม่.
เรากล่าวข้อนี้ให้ผู้รับซื้อหนังสือของเราทราบ เพื่อมิให้แปลกใจ เมื่อเราไม่เรียกท่านว่าสมาชิกของเรา.
ถ้าท่านอ่านประมวญมารคฉบับแรก ท่านจะพบคำใหม่คำหนึ่ง ซึ่งไม่เคยเห็นในหนังสือไทย ถ้าท่านเป็นกวีคงจะชอบ คำนำนั้นคือ ประวีณ แปลว่า ชำนาญ เป็นคำในกลอนอื่น คือรับสัมผัสกับศีล จีน ตีน ปีน ฯลฯ อันเป็นคำคล้องซึ่งมีน้อย เราขอมอบอบคำนี้แก่กวีทั้งหลายเป็นของกำนัน ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไป.
เหตุใดไทยจึงพูดซ้อนคำ
จะตอบปัญหาที่จ่าหน้าไว้ข้างบนนี้ ก็ควรต้องอธิบายเสียก่อนว่า ปัญหาหมายความอย่างไร เพราะที่เราเลือกใช้ว่า ซ้อนคำ นั้น มิใช่อย่างเดียวกับที่นักเลงหนังสือเรียกว่า ทับศัพท์ “ซ้อนคำ” กับ “ทับศัพท์” ถ้าจะแปลตามคำก็อย่างเดียวกัน แต่ในที่นี้ เราตั้งใจให้ความแปลกไปคนละอย่าง เป็นการตั้งศัพท์ใหม่ในภาษาหนังสือ และศัพท์ใหม่นี้ เราจะใช้ต่อไปใน “ประมวญมารค” จึงควรอธิบายให้แจ่มแจ้งเสียก่อน.
ที่เรียกว่า “ทับศัพท์” นั้น เป็นค่าใช้กันมาเก่า ในวิธีพูดของคนแต่งหนังสือ หรือที่เรียกว่า ภาษาหนังสือ ซึ่งไม่เหมือนกันทีเดียวกับภาษาพูด วิธีทับศัพท์นั้น คือเอาคำ ๒ คำซึ่งรู้อยู่ทั่ว ๆ กันแล้วมาใช้ด้วยกัน โดยไม่จำเป็นเพื่อความเข้าใจ เป็นต้นว่า.
“แสงบุหลันจันทร์กระจ่างกลางเวหา | หอมบุบผากลิ่นกลบกระหลบสวน” |
ฉนี้ คำว่า บุหลัน กับจันทร์ ก็แปลว่าเดือนทั้ง ๒ คำ กลบกับกระหลบก็คำเดียวกันอีก จะว่าบุหลันคำเดียวก็พอ กลบหรือกระหลบคำเดียวก็พอเหมือนกัน เหตุที่ผู้แต่งกลอนใส่ลงไปทั้งบุหลันและจันทร์ ทั้งกลบและกระหลบ ก็เพราะจะเอาสัมผัสให้กลอนไพเราะ เป็นการแสดงความแร้นแค้นในเรื่องถ้อยคำ เป็นทางเสีย ไม่ใช่ทางดี เพราะเติมคำเข้าไปอีกคำหนึ่ง โดยไม่จำเป็นเพื่อความเข้าใจ กวีพลาดในทางนี้บ่อย ๆ เพราะไม่ทันคิดบ้าง เพราะอับจนบ้าง เพราะบางสมัยไม่ถือกันว่าไม่ดีบ้าง การใช้คำ ๒ คำควบกันเช่นนี้เรียกว่า ทับศัพท์.
ส่วนที่เราใช้ว่าซ้อนคำในที่นี้ หมายความคนละอย่าง ก่อนที่จะชี้แจงต่อไป ขอกล่าวเหตุดั้งเดิมเสียแต่บัดนี้ว่า วิธีซ้อนคำนั้น จำเป็นเพื่อความเข้าใจ.
ตัวอย่างซ้อนคำที่เรายังใช้อยู่มีเป็นต้นว่า “เสื่อสาด” เสื่อก็แปลว่าสาด สาดก็แปลว่าเสื่อ “ทั้งสิ้น” ทั้งก็แปลว่าหมด สิ้นก็แปลว่าหมด ยังมีทั้งหลายอีกคำหนึ่ง หลาย (ลาย) คำเดิมก็แปลว่าหมดเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เราใช้แปลว่ามาก คำที่เราใช้ซ้อนเช่นนี้ ยังมีอีกมาก เช่นเย่าเรือน เกียจคร้าน ยักย้าย กว้างขวาง ฝักไฝ่หรือฝักฝ่าย (ฝัก แปลว่าข้าง และฝ่ายก็เหมือนกัน) เป็นต้น.
ในกรุงสยามสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๗) ไม่จำเป็นพูดซ้อนคำ ที่ยังใช้อยู่เช่นนั้นก็เพราะติดมาแต่สมัยที่ภาษาไทยยังแคบ และยังไม่มีวิธีที่จะพูดและเขียนได้อย่างในสมัยนี้ ภาษาไทยเป็นภาษาพยางค์เดียว คำที่เป็นคำไทยแท้ เป็นคำพยางค์เดียวทั้งนั้น คำ ๆ เดียวจึงต้องใช้มีความหลายอย่าง และเมื่อยังมีตัวหนังสือน้อย และยังไม่ได้จัดอักขรวิธีให้กว้างขวาง ก็ต้องเขียนคำซ้ำ ๆ กัน เช่นที่เดี๋ยวนี้เราเขียนว่าขายไข่ แต่ก่อนต้องเขียนว่า ไขไข ฉนี้ก็ยากที่จะรู้ความหมายได้ ภาษาไทยใหญ่ (เงี้ยว) ก็ยังเขียน ไขไขไก แทนที่เราเขียน ขายไข่ไก่ อยู่จนเดี๋ยวนี้ คำพูดและหนังสือไทยใหญ่ปัจจุบัน ย่อมจะเจริญมาแล้วไกลจากบุราณแท้ ๆ แต่ถึงกระนั้น ถ้าจะเขียนแปลคำอังกฤษ This fire is very hot ก็ต้องเขียนว่า ไฝไนไมเตเต (ดูสมุดคู่มือของดอกเตอร์คุฉิง) ซึ่งถ้าเขียนตามอักขรวิธีของไทยกรุงสยาม ก็เขียนว่า ไฟนี้ไหม้แท้แท้ (ไหม้แปลว่าร้อน) ฉนี้.
ส่วนวิธีออกเสียงพูดนั้น ไทยมีสำเนียงผันมาแต่เดิม อาจพูดเสียงสูงต่ำ เช่น ไข ออกเสียงเป็น ไข่ เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่แน่ว่า คนฟังจะเข้าใจ จึงต้องพูดซ้อนคำ คือเอาคำ ๒ คำที่ความอย่างเดียวกันมาพูดซ้อนให้แปลกกันไปเองในตัว จะยกตัวอย่างให้เห็นชัด ต้องยกไทยพวกที่ภาษายังไม่เดินมาถึงคั่นเจริญของเรา เป็นต้นว่า ไทยในอาสามจะพูดว่า ตัด ต้องว่า ขาฝัน (ฆ่าฟัน) เพราะ ขา แปลได้หลายอย่าง และ ฝัน ก็แปลได้หลายอย่าง แต่ทั้ง ๒ คำแปลว่า ตัด ได้ ถ้าใช้รวมกันก็เป็นคำอรรถคำแปลไปในตัว เราไทยกรุงสยามยังพูดว่า ฆ่าฟัน อยู่จนบัดนี้ แต่ไม่ใช่โดยความจำเป็นเลย อันที่จริง ตามความเดิมแห่งภาษาของเรา ฆ่ากับฟันเดี๋ยวนี้ก็มีความคนละอย่าง แต่ถึงกระนั้น เมื่อเราจะพูดถึงฆ่า ก็มักจะแถมฟันด้วย ต่างว่าคน ๒ คนที่เรารู้จัก เกิดวิวาทเรื่องเล็กน้อย ถึงจะยิงกันด้วยปืน เราเป็นผู้ห้าม เราอาจพูดว่า เรื่องเล็กน้อยเท่านี้จะถึงฆ่าฟันกันทำไมฉนี้ ที่จริงเราหมายว่าฆ่าคำเดียว เราจะหมายความว่าฟันด้วยหามิได้ เพราะเขาจะยิงกันต่างหาก อธิบายเรื่องซ้อนคำโดยนัยที่กล่าวนี้ ได้มีแล้วในปาฐกถาของกรมหมื่นพิทยาลงกรณว่าด้วย “ความขยายตัวแห่งภาษา” (พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๒) แต่ยังหาได้ตั้งศัพท์ “ซ้อนคำ” ลงในคราวนั้นไม่.
หลักในเรื่องซ้อนคำ ก็คือไทยเรามักพูดเช่นนั้น เพราะจำเป็นเพื่อความเข้าใจ ของผู้ฟัง ผิดกับทับศัพท์ ซึ่งไม่จำเป็นเพื่อความเข้าใจ ของผู้ฟัง (หรือผู้อ่าน) นี้ เป็นข้อต้น แต่ต่อมาเราพูดซ้อนคำจนติดปาก แม้นาน ๆ มา เมื่อมีความในคำหนึ่งของสองคำนั้นแล้ว คำที่ลืมนั้นเลยเป็นคำสร้อย เป็นต้นพูดว่า ครูบา และ วัดวา บาและวา จะแปลว่าอะไรก็ลืมเสียแล้ว.
เหตุที่เราชอบพูดคำสร้อยมีอีกอย่างหนึ่ง คือไทยเราเป็นชาตินักกลอน ชอบพูดคำคล้อง จนถึงเติมคำให้ยาวออกไปอีกก็มี เช่น ครูบาอาจารย์ วัดวาอาราม เป็นต้น พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดตรัสว่า “ไม่เป็นแก้วเป็นการ”
เรานำเอาเรื่องซ้อนคำมากล่าวในที่นี้ ซ้ำกับที่เคยกล่าวในที่อื่นแล้ว ก็เพื่อให้เป็นคำนำความอย่างอื่น ในเรื่องของคำไทย ที่จะได้ลงต่อไปในหนังสือนี้ (ประมวญมารค).
ทิคัมพร
ศัพท์ว่า “ทิคัมพร” แปลว่านุ่งทิศ หมายความว่า ใช้ฟ้าเป็นเครื่องปกคลุมกายแทนเสื้อผ้า ในสมัยบุราณมีความอายอย่างเดียว ที่บังคับไม่ให้คนนุ่งฟ้า สมัยปัจจุบันมีกฎหมายเข้าช่วยห้ามด้วย คนบางจำพวกถ้าห้ามอะไร ก็อยากทำสิ่งนั้น.
ถ้าท่านดูหนังอยู่เสมอ ๆ ท่านก็คงจะได้เห็นแล้วว่า เครื่องแต่งกายของนางระบำบนเวทีนั้น ใช้ฟ้ามากเข้าทุกที แต่แม้ในอเมริกา ก็มีข่าวมาว่า จะบังคับให้ตัดทอนการอวดเนื้อลงไปเสียบ้าง เพราะปรากฏว่า ทำให้คนรุ่นใหม่ถือเสรีภาพทางประเวณีมากขึ้น ซึ่งไม่แน่ว่าดี.
คนในศาสนาพระชินเจ้า (ในอินเดีย) แบ่งเป็น ๒ นิกาย เรียกว่าพวกเศวตามพร (นุ่งขาว) นิกายหนึ่ง พวกทิคัมพร (นุ่งฟ้า) นิกายหนึ่ง พวกนุ่งฟ้าเป็นนิกายเก่ากว่าพวกนุ่งทิศ มีมาแต่ครั้งพุทธกาลเป็นอย่างน้อย พวกนั้นในสมัยปัจจุบันนุ่งผ้าเป็นปรกติเว้นแต่เวลากินข้าว ลัทธินุ่งฟ้าจึงเป็นอันจะย้ายไปอยู่เมืองฝรั่งดอกกระมัง.
อันที่จริง มนุษยชาติเคยนุ่งฟ้ามาก่อนแต่งกายอย่างอื่น ๆ ทั้งนั้น นั่นแหละเป็นแบบสากลแท้ในสมัยดึกดำบรรพ์
อันที่จริง การนุ่งฟ้ามีประโยชน์สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยได้ยินพวกทิคัมพรสมัยใหม่นำมาอ้าง คือว่าผู้นุ่งฟ้าจะไม่ถูกล้วงกระเป๋าเป็นอันขาด.
สมาคมรักษาภาษาไทย
พระบรมราโชบาย
ของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทวีปยุโรปครั้งที่ ๒ ร.ศ. ๑๒๖ ทรงพระราชปรารภคำพูดในภาษาของเรา ซึ่งเริ่มเป็นไปในทางเลว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เชิญกันตั้งเป็นสมาคมขึ้นหมู่หนึ่ง ผู้จะเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตั้งใจแน่วแน่แล้วว่า จะปฏิบัติตามทางที่กำหนดไว้ เพื่อช่วยแก้กู้ภาษาไทยให้พ้นจากทางเลว เวลานั้นประทับอยู่ ณ เมืองฮอมเบิค (เยอรมัน) มีพระราชหัตถเลขามาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ผู้รักษาพระนครให้ทรงจัดการ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (กมล สาลักษณ์) มีหนังสือเชิญผู้มีชื่อหลายท่าน ให้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ซึ่งได้ตั้งขึ้นในเดือน ตุลาคม ปีนั้น.
สมาชิกคนหนึ่งซึ่งเดี๋ยวนี้อยู่ในสำนักประมวญมารคได้รับทรงเชิญเข้าสมาคม กล่าวว่าได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์อย่างเคร่งครัด และสมาชิกอื่น ๆ ของสมาคมก็ได้ทำเช่นกัน คำเลว ๆ เช่นที่ทรงระบุนั้น ได้หมดไปราวกับปลิดทิ้ง แต่ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๗๗) เมื่อสมาชิกของสมาคมตายหรือแก่ไปเกือบหมด คนอื่น ๆ ไม่รู้หรือไม่ได้จำไว้ คำพูดเช่น “รับ” แปลว่ากินก็กลับมาบ้างแล้ว.
เรานำสำเนาประกาศตั้งสมาคม และสำเนากระแสพระราชดำริเรื่องตั้งสมาคมมาพิมพ์ต่อไปนี้ เพื่อให้เห็นวิธี ๆ หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการรักษาภาษาไทย เราเชื่อว่าผู้อ่านทั้งหลายของเรา ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และความคิดในเรื่องคำพูด คงจะอนุโมทนาที่เรานำสำเนาทั้ง ๒ นี้มาให้ทราบแพร่หลายในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๗๗) บรรณาธิการใหม่ของประมวญมารคมีปีติเป็นอันมาก ๆ หนังสือของเราเป็นหนังสือแรก ที่ได้เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในส่วนนี้.
(สำเนาประกาศตั้งสมาคม)
ขอแจ้งความให้ทราบทั่วกันว่า ด้วยบัดนี้มีภาษาใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น กินข้าวพูดกันว่า รับ เป็นต้น แพร่หลายรวดเร็วนัก ที่จริง ธรรมดาภาษาย่อมมีเวลาแปรไปตามคราวตามสมัยทุกชาติทุกภาษา แต่ถ้าภาษาใด มีผู้รู้คอยป้องกันแก้ไขอยู่แล้ว ภาษานั้นถึงจะแปรไป ก็ค่อยเป็นไปทีละน้อยตามควรแก่สมัย และถ้าภาษาใด ผู้มีความรู้ไม่คอยป้องกันแก้ไข ปล่อยให้ตกไปอยู่ในความเดา ของผู้ที่ไม่มีความรู้ถึงมูลศัพท์เป็นต้นคิดใช้ขึ้นแล้ว ภาษานั้นย่อมแปรไปโดยรวดเร็วกว่ากาลที่สมควร ดุจคำว่ากินข้าวพูดกันว่า รับเป็นต้น ซึ่งแพร่หลายรวดเร็วอยู่ในเวลานี้ จนทราบถึงพระเนตรพระกรรณ์จึงทรงพระราชวิตกว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่สมบูรณ์ คือมีคำไม่ใคร่พอใช้อยู่แล้ว ยังจะยิ่งย่อสั้นลดคำน้อยลงอีกดังนี้ ถ้าทิ้งไว้ช้าไป คำใหม่ ๆ จะเกิดมากขึ้น แล้วจะแก้ไม่ไหว ภาษาไทยจะกลายเป็นภาษาเลวทราม ไปตามคติของผู้ที่ไม่มีความรู้เป็นหัวหน้า ทรงพระราชดำริเพื่อจะป้องกันถ้อยคำที่ใช้ไม่ถูกต้องมิให้แพร่หลายขึ้นโดยรวดเร็ว และเพื่อจะแก้ไขถ้อยคำแลอักษรที่ใช้กันมา ในที่ผิด ๆ ให้ถูกต้อง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระแสพระราชการชักชวนมา ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะตั้งสมาคมขึ้นหมู่หนึ่งสำหรับวินิจฉัยศัพท์ที่ควรใช้อย่างไร และไม่ควรใช้อย่างไรเป็นต้น ทรงรับภาระในหน้าที่สภานายก โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งอุปนายก พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวชิรญาณวโรรส ๑ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงษ์ ๑ เป็นกรรมการ และพระยาศรีสุนทรโวหาร เป็นเลขานุการ ข้อความมแจ้งอยู่ในกระแสพระราชดำริ ซึ่งได้พิมพ์ต่อท้ายประกาศนี้มาด้วยแล้ว.
บัดนี้ สมาคมนี้ได้ตั้งขึ้นตามกระแสพระราชโองการแล้วแต่วันที่ ๑๙ ตุลาคม รัตนโกสินทร ๔๐ศก ๑๒๖.
ประกาศมา ณ วันที่ ๑ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร ๔๐ศก ๑๒๖.
(พระนามาภิชัย) วชิราวุธ
อุปนายก
(สำเนากระแสพระราชดำริเรื่องตั้งสมาคม)
คำชักชวน
ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ได้เกิดแล้วในประเทศสยามเป็นชาติไทย ได้พูดภาษาซึ่งชาวสยามพูดมากว่า ๕๐ ปีแล้ว จึงเป็นผู้รักแลหวังจะให้ภาษานั้นยั่งยืนมั่นคงอยู่ ไม่ให้กลับกลายเป็นภาษาเลวยิ่งไปกว่าที่เคยพูด.
ภาษาไทยย่อมแพร่หลายไปในฝูงคนที่พูดเป็นหลายล้าน ไม่ใช่แต่ในประเทศสยาม ซึ่งข้าพเจ้าไม่ได้ประสงค์จะกล่าวถึงภาษาไทยเดิมนั้น แลไม่ได้ตั้งใจเฉพาะจะกล่าวถึงภาษาที่พูดอยู่ในแว่นแคว้นแดนสยาม แต่หากต่างโวหารถ้อยคำยักเยื้องกันไปบ้างนั้น ประสงค์จะกล่าวถึงภาษาสยามที่พูดกันอยู่ ในมหาราชธานี ในราชสำนัก แลในราชการทั่วพระราชอาณาเขตเป็นที่ตั้ง ขอให้เข้าใจความประสงค์ไว้ชั้นหนึ่งดังนี้.
ในปัจจุบันนี้ มีคำพูดแปลก ๆ หูมาใหม่ เช่น กับกินข้าว เรียกว่า “รับ” เป็นต้นอย่าง ๑.
คำลัดตัดสั้น “ซึ่งมิใช่ทำนองพูดของชาวสยามฝ่ายตวันตก เช่น ตพานว่า พาน เรียกตลาดว่า หลาด แต่ได้เกิดขึ้นใหม่ เช่น กับไม้ขีดไฟ เรียกว่าไม้ขีด ฤๅ “ขีด” เปล่า เข็มกลัดเรียกว่า “กลัด” เปล่า เสื้อครุยเรียกว่า “ครุย” เปล่านี้อย่าง ๑.
คำที่ขอยืมมาจากภาษาฝรั่ง เช่น ยูนิฟอม มาเรียกว่า “อยู่ในฟอม” นอกฟอม “แต่งตัวนอกฟอม” “นัมเบอร์” เรียกว่า “เบอร” เป็นต้นนี้อย่าง ๑.
ยังคำที่พูดไม่มีภาษา เช่น ๖ โมง ๓ ทุ่ม จะเป็นภาษาฝรั่งก็ไม่ใช่ ภาษาไทยก็ไม่ใช่ นี้เป็นต้นอีกอย่าง ๑.
คำพูดทั้งหลายที่ได้ยกตัวอย่างมาโดยสังเขป ๔ จำพวกนี้ เป็นเหตุให้ภาษาสยามในพระราชธานีเสื่อมเสียไปเป็นอันมาก และแพร่หลายออกไปยังหัวเมืองโดยรอบคอบแล้ว ภาษาเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นเนือง ๆ ด้วยความเข้าใจผิดในคำพูดเล่นของเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายชั้นสูง ฤๅพระบรมราชาธิบายบ้าง โดยความมักง่ายบ้าง โดยทำเป็นทีว่ารู้ภาษาฝรั่งแต่ความจริงไม่รู้บ้าง พูดเลยไปตามเลย เขาพูดกันมากก็พูดตามเขาไปบ้าง จึงทำให้เสียภาษาลงไปโดยลำดับ สาเหตุเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าอาจจะจับมูลเหตุของศัพท์ที่พูดภาษาต่ำเช่นนี้ได้ว่า เกิดจากเหตุอันใดแทบทุกอย่าง แต่หาควรที่จะกล่าวในหนังสือฉบับนี้ให้ฟั่นเฝือไปไม่.
ความปรารถนาที่จะเชื้อเชิญท่านทั้งหลาย ให้พิจารณาข้อความที่ได้กล่าวมาข้างต้นให้เห็นความเสื่อมเสียของภาษาแล้ว จะคิดอ่านแก้ไขต่อไปอย่างใดนั้น มีความคิดดั่งนี้.
การที่จะแก้ภาษาผิดเช่นนี้ จะแก้โดยหมายประกาศ ฤๅ แต่งตำราเรียนอย่างหนึ่งอย่างใด ได้เคยทดลองแล้ว ไม่ใคร่มีผลเร็วทันใจ ฤๅ ไม่มีผลเสียเลย เช่น กับเรื่องทุ่มโมง ได้ประกาศแล้ว ทั้งในราชกิจจานุเบกษา และกระทรวง ก็หาสำเหร็จไม่ ถ้าจะรอแต่งตำราเรียน จะไปแก้ภาษาได้ต่อเด็ก ๆ ชั้นหลัง ในเวลานี้ภาษาจะยิ่งเสียหนักลงไป แก้ไขไม่ทันท่วงทีได้.
ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ควรจะตั้งเป็นสมาคมอันหนึ่งขึ้นไว้ในหมู่ท่านผู้มีบันดาศักดิ์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะรับเป็นหัวหน้า เป็นประธาน ให้มกุฎราชกุมารเป็นอุปนายก ขอเชิญท่านทั้งหลายเข้าเป็นสมาชิก ให้มีเลขานุการสำหรับจดชื่อสมาชิกไว้เป็นสำคัญ.
สมาคมนี้ สมาชิกไม่จำเป็นจะต้องออกเงินเข้าเรี่ยรายอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้นต้น แต่จะต้องกระทำความสันนิษฐานให้มั่นคงในใจตัวก่อนเวลาที่จะรับเข้าเป็นสมาชิกดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
๑. ต้องตั้งใจว่าจะไม่ใช้ภาษาอย่างเลวทราม ที่เกิดขึ้นนี้ด้วยตัวเองเป็นอันขาด.
๒. จะไม่ยอมรับเข้าใจภาษาเลวทรามชนิดนี้ ซึ่งผู้ใดจะมาพูดด้วยเป็นอันขาด.
๓. จะตั้งใจแนะนำบอกเล่าสั่งสอนแก่บริษัทบริวารของตัว ฤๅ เพื่อนข้าราชการและผู้หนึ่งผู้ใดที่ได้มาพูดแก่ตัว ด้วยภาษาเลวทรามเช่นนี้ ให้รู้ว่าคำที่พูดนั้นผิด ไม่เกรงใจ และไม่เพิกเฉยตามแต่จะเป็นไป ด้วยถือว่าไม่ใช่ธุระ.
๔. จะลงโทษแก่ผู้ที่อยู่ในอำนาจ เช่นเสมียนทนาย เขียนหนังสือมีคำผิดมาต้องให้ไปเขียนเสียใหม่ อย่าให้ยอมรับคำที่ผิดนั้นว่าเป็นที่เข้าใจ.
ถ้าหากว่าสมาชิกผู้ใดได้กระทำในใจมั่นคงว่า จะประพฤติดังนี้แล้ว จึงให้จดชื่อลงในสมุดที่เลขานุการว่า ตนเป็นสมาชิกของสมาคมอันนี้
ในคำพูดเช่นนี้ บางทีมีคำที่ต้องการวินิจฉัยว่า จะใช้อย่างไรจึงจะควร ถ้ามีข้อปัญหาดังนี้ขึ้น ให้สมาชิกทั้งปวงที่มีความรู้ และสติปัญญาปฤกษาหาฤๅกันนำเสนอในที่ประชุมให้วินิจฉัย ถ้าวินิจฉัยฉันใด ได้พระบรมราชานุมัติแล้ว จึงจดคำนั้นลงไว้ในบาญชีที่เลขานุการ ถ้าสมาชิกผู้ใดอยากจะทราบว่าที่ควรใช้อย่างไร ให้มาถามที่เลขานุการ ฤๅ เมื่อมีมากอาจจะพิมพ์เป็นตำราซื้อขายได้ จึงค่อยคิดอ่านต่อไป ในเวลานี้ขอเริ่มต้นไว้เพียงเท่านี้ หวังว่าท่านผู้ที่มีความรู้และสติปัญญา ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต คงจะมีน้ำใจช่วยรักษาภาษาสยามสำหรับราชสำนัก และพระมหานครราชธานีให้มั่นคงถาวร เป็นภาษาอันดีสืบไปในภายหน้า.
(พระปรมาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.
ฮอมเบิค วันที่ ๒๖ สิงหาคม
รัตนโกสินทร์ ๔๐ศก ๑๒๖
สภาพ
เราได้อ่านในหนังสืออะไรก็จำไม่ได้ว่า “สภาพ” ในแถบราชบุรีและนครปฐมเต็มไปด้วยโจรผู้ร้ายอย่างอุจฉกรรจ์ที่สุด.
และเราได้อ่านในบรรทึกของกรรมการปทานุกรม ในกระทรวงธรรมการว่า สภาพ แปลตรงกับเนเชอร.
เราลงมติตามกรรมการปทานุกรมว่าแปลถูก แต่ถ้าราชบุรีและนครปฐมมีเนเชอรเป็นโจรผู้ร้ายจริงอย่างว่า ก็แย่.
น่ารำคาญที่นักเขียนหลายคน มีสภาพชนิดที่ใช้คำ “สภาพ” ผิด ๆ จะว่าเป็นเพราะสภาพบรรดาลมาอย่างนั้นหรือ.
ประมวญ
หนังสือของเราชื่อประมวญมารค ตั้งสำนักงานอยู่ถนนประมวญ คือถนนซึ่งพระประมวญคัคณานต์สร้าง ชื่อผู้สร้างถนนนี้ เป็นราชทินนามเขียนในสัญญาบัตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พูดอีกอย่างหนึ่งก็เป็นชื่อพระราชทานซึ่งทรงสกด ประมวญ ด้วย ญ. เราจึงขอต่อผู้จะเขียนออกชื่อหนังสือของเรา ให้สกด ญ. ตามชื่อเนื่องมาจากนามสัญญาบัตร ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนั้นเถิด เราเห็นว่าชื่อพระราชทานอย่างไร ก็ไม่ควรใครจะไปแก้ภายหลัง.
ถ้าบุคคลคนหนึ่งเขาเขียนชื่อของเขาเองว่า นายสิน (เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ให้อย่างนั้น หรือเขาเขียนของเขาเองก็ตาม) ท่านนึกหรือไม่ว่า ท่านจะไม่เปลี่ยนตัวสกดของเขา เป็นนายศิลป์เป็นอันขาด ถ้าท่านเปลี่ยนก็เป็นการดูหมิ่นผู้ให้ชื่อและเจ้าของชื่อ หาว่าไม่รู้หนังสือหรือโง่อย่างอื่น.
เราคิดว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานชื่อพระประมวญคัคนานต์ ก็ทรงรู้หนังสือบ้าง และผู้ตั้งชื่อประมวญมารค ก็รู้นิดหน่อยเหมือนกัน.
เราอยากจะชวนท่าน ให้เปิดปทานุกรม (พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๗๐) หน้า ๔๓๓ ท่านจะได้เห็นตัวสกดคำที่เราพูดถึงในบัดนี้.
ในรัชกาลที่ ๕ ได้มีพระราชทานบัญญัติศัพท์ให้ใช้กันในภาษาไทยหลายศัพท์ และเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๗) ก็ใช้กันแพร่หลาย ใคร ๆ ก็รู้จักใช้ และเข้าใจหมด ศัพท์เหล่านั้นมีเป็นต้นว่า สถานี ประปา และประมวลกฎหมาย เป็นต้น เวลาที่ประกาศให้ใช้ศัพทเหล่านี้ เราจำได้ดี และรู้ว่าเหตุใด จึงพระราชทานบัญญัติเช่นนั้น.
เราขอชวนผู้อ่านของเรา ที่สนใจในทางภาษา ให้อ่านแผนกหนังสือและคำพูดของเรา และถือเอาพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นคติ ช่วยกันทำตามที่สามารถทำได้ เพื่อรักษาภาษาไทยมิให้เลวลงไป.
ธรรมดาภาษาของชาติที่กำลังเจริญ ย่อมจะเดินออกไปเสมอ แต่ถ้าเดินเข้าป่าเข้ารกหนักนัก ก็ถ่วงความจำเริญลงไป.
เราจะยกตัวอย่างได้มากมาย ที่ผู้รู้บัญญัติศัพท์ขึ้น แต่ผู้ใช้นำไปใช้ผิด ๆ เพราะไม่เข้าใจความหมายของผู้บัญญัติ แม้คำเก่า ๆ ก็มีเป็นอันมากที่เป็นเช่นนี้ เช่น สภาพ เป็นต้น.
รีวิว
หนังสือพิมพ์ประเทศอังกฤษที่มาคราวเมล์วันเสาร์ที่แล้วมานี้ (ทรงเรื่องนี้เมื่อศุกร ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗) มีฉบับหนึ่งลงคำเขียนของผู้หนึ่ง ซึ่งรีวิวสมุดที่ออกจำหน่ายใหม่ อาชีพของผู้นั้น คืออ่านสมุดเหล่านั้น แล้วเขียนลงในหนังสือพิมพ์ว่า เป็นสมุดชนิดไหน ดีหรือชั่ว อ่อนหรือแข็งอย่างไร สมุดในประเทศอังกฤษออกปีละมาก ๆ ผู้ซื้อจำต้องเลือกเฟ้นที่จะซื้อ มิฉนั้นหนังสือที่ไม่ถูกใจมาล้นตู้ เปลืองเงินเปล่า การเลือกซื้อสมุดนั้น คนโดยมาก็อาศัยนักรีวิว สมุดไหนได้รีวิวดีก็ขายได้มาก การรีวิวจึงเป็นอาชีพสำคัญชนิดหนึ่ง.
การรีวิวย่อมมีการติและชม แลผู้ติแลชมนั้นเรียกว่า คริติค คริติคนี้เป็นคนประหลาดนักหนา เพราะไม่ได้ตั้งตัวว่าสามารถเขียนหนังสือชนิดที่ตนติและชมเลย แปลกกับคนอื่น ๆ เป็นต้นว่า ถ้าเราต้องการความเห็นว่า สพานดีหรือไม่ดี เราก็คงจะฟังความเห็นผู้ที่ชำนาญการทำสพาน ถ้าเราต้องการทราบว่า เรือลำไหนจะแล่นดีหรือไม่ดี เราก็คงจะฟังความเห็นผู้ชำนาญการต่อเรือ ฉนี้เป็นตัวอย่าง แต่ถ้าเราอยากรู้ว่าหนังสือดีหรือไม่ดี เราไพล่ไปฟังความเห็นคริติค ซึ่งหาได้แสดงตัวว่า เป็นผู้แต่งหนังสือชนิดนั้นไม่.
ในเมืองฝรั่งตอน ๑๕๐ ปีมาแล้ว พวกคริติคถูกหาว่า ตัวเองทำไม่ได้แล้ว จึงหันไปติและชมคนอื่น.
นั่นเป็นคำหมิ่นของคนยุคเก่า แต่คนเวลานี้ต้องอาศัยคริติก ซึ่งเป็นคนรู้แต่ไม่ใช่คนทำ และอยู่ระหว่างคนทำโดยไม่รู้ฝ่ายหนึ่ง คนรู้ด้วยทำด้วยฝ่ายหนึ่ง.
เพื่อชี้แจงความข้อนี้ให้แจ่มแจ้ง ขอยกตัวอย่างต่างว่า ตัวเราเองเป็นผู้มีความรู้แลเขียนหนังสือดี แลเราใช้เวลาของเราในการเขียนหนังสือ ฉนี้เราก็ไม่มีเวลาจะเที่ยวอ่านหนังสือของคนอื่น ๆ เนืองนิตย เพื่อจะนำมาเขียนบอกเล่าต่อท่าน ทีนี้ต่างว่าเราเป็นผู้ไม่มีความรู้และแต่งหนังสือไม่เป็นรส เรามีเวลาว่างจากการแต่งหนังสือ (ซึ่งเราทำไม่เป็น) เราก็เอาเวลาว่างนั้นไปอ่านหนังสือของคนอื่น ๆ แล้วเก็บเอามาเล่าต่อท่านว่าดีชั่วอย่างไรฉนี้ เราเป็นคนไม่มีความรู้ ถ้าท่านหลงเชื่อเรา ๆ ก็คงจะพาท่านเข้ารกเข้าพงไปตามกัน.
ผู้เป็นคริติคคือคนอยู่กลางระหว่าง ๒ พวกนั้น เขาเป็นคนรู้และอาจแต่งหนังสือทั้งเล่มสมุดได้ดี ๆ แต่เขาไม่ทำ เขาใช้ความสามารถและเวลาของเขาในทางอ่านหนังสือของคนอื่น และเก็บมาเขียนบอกเล่า ว่าเป็นอย่างไรบ้าง และใช้การนั้นเป็นอาชีพของเขา เมืองฝรั่งมีหนังสือและคนอ่านหนังสือมากมาย อาชีพนั้นจึงนำมาซึ่งความมั่งคั่งพอควร.
เมืองเราไม่มีอาชีพชนิดนั้น และยังไม่มีอีกนาน เพราะหนังสือและคนอ่านของเรายังน้อยนัก ถ้าใครใช้อาชีพเช่นที่ว่า และไม่มีทางได้ทางอื่น ก็เห็นจะหาข้าวสารกรอกหม้อไม่ค่อยได้.
คนที่มีความรู้และสามารถเขียนหนังสือ ทั้งสมัคจะเขียนนั้น อย่าว่าแต่จะมีเหลือถึงแก่จะเป็นคริติคดี ๆ เลย แม้จะเขียนเองก็ไม่พอเสียแล้ว.
ทีนี้กลับไปถึงนักรีวิวที่เรากล่าวในเบื้องต้นว่า เขาเขียนเล่าถึงหนังสือที่เขา “อ่านไม่ได้” (ซึ่งหมายความว่าเขาไม่ชอบอ่านหรือไม่ยอมอ่าน) หนังสือที่เขาว่าเขาอ่านไม่ได้นั้น ที่ยกมาอ้างก็ล้วนแต่หนังสือมีชื่อเสียงทั้งนั้น แม้หนังสือที่คนแต่งคนเดียวกัน เช่น เบรานิง เป็นต้น เขาก็ชอบบางเล่มจนถึงบูชา แต่บางเล่มก็อ่านไม่ได้ ถึงจะพากเพียรจับอ่านแล้วจับอ่านเล่า ก็เหมือนกินยาต้มหม้อใหญ่ ไม่เพลิดเพลินเลย.
หนังสือที่เขานำมาอ้างนั้น เพราะเขาอยู่เมืองอังกฤษ เขียนภาษาอังกฤษ สำหรับให้คนอังกฤษอ่าน เขาจึงยกตัวอย่างแต่หนังสืออังกฤษทั้งนั้น จะนำมาจาระไนก็หาสาระแก่เรามิได้ ที่นำเอาข้อความมากล่าว ก็เพราะนึกถึงหนังสือไทยที่เราอ่านได้และอ่านไม่ได้ นึกไปนึกมาเห็นว่า หนังสือที่อ่านไม่ได้นั้นมีน้อยนัก ที่ว่าเช่นนี้ไม่ใช่ดูหมิ่นหนังสือไทยว่ามีดีเพียงสองสามเล่ม หมายความว่า ถ้าอ่านอยู่เสมอเช่นที่ฝรั่งอ่าน ดูเหมือนอ่านอยู่ไม่เกินปี ก็จะหมดหนังสือที่มีอยู่แล้ว และหนังสือที่ออกใหม่ ๆ ก็ไม่ทันอ่าน.
นี้คงจะเป็นเหตุหนึ่งที่ไทยเราอ่านหนังสือน้อย ถ้าหนังสือมีไม่พอให้เราอ่าน เราจะอ่านมากอย่างไรได้ ถ้าจะเปรียบเสมอกับคนกินข้าวจุ ถ้าข้าวมีไม่พอ จะกินจุอย่างไรได้ แต่ครั้นเมื่อกินน้อย ๆ นานเข้ากระเพาะอาหารก็หดตัว จนไม่ต้องกินมากก็อิ่ม การที่เราไม่เดือดร้อน ในการที่ไม่มีหนังสืออ่านมาก ๆ นั้น จะเป็นด้วยเช่นเดียวกันนี้เหตุหนึ่งกระมัง เปรียบเหมือนคนไม่มีแชมเปญจะกิน ก็ไม่ติดแชมเปญ.
ทึ่งทึ่ง
คำว่า “ทึ่ง” ซึ่งแปลว่าตื่นเต้นอยากรู้อยากเห็นนี้ เราใช้กันบ่อย ๆ แต่น้อยคนจะรู้ตำนานของศัพท์ ซึ่งมีดังนี้.
ในแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประทับในพระบรมมหาราชวัง ก่อนสร้างพระราชวังสวนดุสิตนาน หน้าพระที่นั่งจักรีเป็นที่พักเจ้านายข้าราชการที่เข้าไปคอยเฝ้า มีนกชนิดหนึ่งเรียกว่า อีมิว (Emeu หรือ Emu สมัยนี้เขียนอย่างหลังโดยมาก) ทรงเลี้ยงไว้ในสวนในพระราชวัง และ มันเที่ยวเพ่นพ่านทั่ว ๆ ไปตามหน้าพระที่นั่งจักรี ทำนองที่บ้านใหญ่เสียงนกกาเรียนในเวลานี้ นกอีมิวเป็นนกขนาดใหญ่ มี ๒ ชนิด ชนิดไม่มีหงอนชนิดหนึ่ง ชนิดมีหงอน (หงอนเรียกเฮ็ลเม็ตในภาษาอังกฤษ) ชนิดหนึ่ง.
นกอีมิวมีกริยาอยากรู้อยากเห็น ถ้าคนนั่งพูดกันเป็นวง มันก็เวียนเข้าไปข้างหลัง ชูหัวเข้าไปกลางวง แล้วออกเสียงดัง “ทึ่งๆ” ถ้าใครนั่งเก้าอี้อ่านหนังสือ มันอาจยื่นหัวข้ามบ่าเข้าไปแสดงวาจาคำเดียวกัน เป็นการแสดงความอยากรู้อยากเห็นของมัน คำว่า “ทึ่ง” จึงแปลว่าอยากรู้อยากเห็น (ตามลักษณะนกอีมิว) และต่อมาเลยแปลว่าตื่นเต้น แต่มักจะเป็นความตื่นเต้นชนิดที่มีความอยากรู้อยากเห็นแทรกอยู่ด้วย.
ปักษ์ใต้
ผู้เขียนสงสัยมานานแล้ว ว่าเหตุใดเราจึงเรียกส่วนใต้แห่งสยามว่า ปักษ์ใต้ เหตุใดจึงเรียกดินแดนว่า ปักษ์ คือ ปีก เปิดดูคำภาษาบาลี ปักข นอกจากแปลว่า ปีก ยังแปลว่า ข้าง ว่า พวก ก็ได้ เปิดดูคำสํสกฤต ปักษ์ แปลได้กว่า ๓๐ อย่าง เช่น ข้าง ครึ่ง พวก ตำแหน่ง เป็นต้น ก็เมื่อคำแปลจากภาษาบาลีและสํสกฤตมีเลือกได้ถึงเช่นนี้ เราจะเอาปักษ์ คำสํสกฤตมาใช้ควบกับคำไทยใต้ ว่า ปักษ์ใต้ ก็ย่อมจะได้ตามใจเรา แต่น่าสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า คำนั้นเราใช้ลุ่น ๆ อย่างเดียว คือ ปักษ์ แปลว่าครึ่งแห่งเดือน เช่นใช้ว่า ปักษ์ต้นแห่งเดือนอ้าย ปักษ์หลังแห่งเดือนยี่ เป็นต้น เมื่อใช้แปลว่าครึ่งแห่งเดือนนี้ เราก็ใช้ ปักษ์ ลุ่น ๆ ไม่มีคำสํสกฤต (หรือบาลี) คำอื่นมาควบ แต่นอกจากนั้น ดูเหมือนจะมีคำสํสกฤต (หรือบาลี) คำอื่นมาใช้ด้วยเสมอ เช่น ปรปักษ์ ปฏิปักษ์ เป็นต้น แม้ที่ใช้แปลว่าครึ่งแห่งเดือน ก็มักมีคำอื่นมาเพิ่ม ดัง ชุณหปักษ์ ชุษณปักษ์ กาฬปักษ์ เป็นตัวอย่าง เมื่อคิดไปคิดมาก็เห็นว่าคำ ปักษ์ นี้ เรานำมาใช้ในภาษาไทย เมื่อจะพูดถึงศัตรู (เช่นปรปักษ์) อย่างหนึ่ง เมื่อจะพูดถึงครึ่งแห่งเดือน (เช่นกาฬปักษ์) อย่างหนึ่ง นอกนั้นนึกไม่ออกว่าใช้อย่างไหนอีกบ้าง เว้นแต่ ปักษ์ใต้ เท่านั้น.
เมื่อกล่าวลงไปเช่นนี้แล้ว ก็น่าจะเห็นว่า คำว่า ปักษ์ นี้ เราไม่ค่อยใช้ในคำพูดของเรา ไม่ใช่ว่าที่เราใช้ติดปากเสมอกับเป็นคำไทย ซึ่งใช้คุ้นจนใช้คำเดียวลุ่น ๆ ก็ไม่ขัด คำที่เราใช้กันจนเป็นคำไทยเช่นนี้มีเช่นว่า ทิศเหนือ ทิศตวันออก ทิศโน้น ทิศนี้ ก็คือเอาทิศ คำสํสกฤตมาใช้ปนกับ เหนือ ตวันออก โน้น นี้ คำไทย แต่เพราะเหตุใช้ ทิศ จนคุ้น จึงเห็นเหมือนเอาน้ำฝนปนน้ำประปา ไม่ใช่น้ำฝนปนน้ำท่า ซึ่งชักให้ขุ่น คำว่า ทิศ นั้น เห็นจะไม่มีคำไทย (ถ้ามีผู้เขียนไม่เคยทราบ) จึงต้องเอาคำต่างประเทศมาใช้ จนเสมอกับเปลี่ยนสัญชาติเป็นคำของเราเอง ส่วนคำว่า จันทร์ นั้นเล่า แม้มีคำไทย (คือเดือน) แล้วก็จริง แต่คำไทยคำนั้น เดี๋ยวนี้เรามักใช้หมายความไปคนละทาง (เช่น เดือนเมษายน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับจันทร์เลย) เมื่อคำไทย (เดือน) ของเรามีที่ใช้ไปอีกอย่างหนึ่งฉนี้ ก็เป็นการควรแล้วที่จะเอาคำสํสกฤต (จันทร์) มาใช้ จนเปลี่ยนสัญชาติไปอีกคำหนึ่ง.
คำว่า ปักษ์ นั้น จะหมายความว่าครึ่งก็ตาม ว่า ข้าง ก็ตาม ว่า พวก ว่า ปีก ก็ตาม เราก็มีคำไทยแล้วทั้งนั้น พูดเฉพาะคำว่า ปีก คำนั้นก็ไม่มีที่ใช้หมายความอย่างอื่น หรือเป็นคำหยาบคายอะไร ถ้าหมายความว่า ปีกใต้ เหตุใดจึงใช้ว่า ปักษ์ใต้ เหตุใดจึงเอาคำซึ่งเราใช้ยังไม่คุ้น มาควบกับคำไทย จนเป็นน้ำฝนปนน้ำท่า (คำว่าน้ำฝนปนน้ำท่านี้เป็นภาษาหนังสือ) ดีร้ายคำว่าปักษ์ ใน ปักษ์ใต้ นั้น จะเป็นคำไทยของเราเองที่เอาไปยกให้สํสกฤตเสียดอกกระมัง คำไทยที่เราลืมจนเอาไปยกให้ภาษาอื่นเสียเช่นนี้มีมาก ตัวอย่างคือ สาน คำไทยแท้ ๆ แปลว่าเรือน เราเอาไปยกให้เป็นสํสกฤต เขียนว่า ศาลเจ้า ศาลชำระความ ซึ่งผู้เขียนเคยกล่าวในหนังสืออื่นแล้ว เป็นต้น.
เมื่อเกิดสงสัยขึ้นเช่นนี้ ก็ลองคิดค้นคว้าดู ค้น แล้ว คว้า เอามาด้วย ธรรมดาการคว้าซึ่งเป็นผลของการค้นนั้น มิใช่จะแม่นเสมอไป ผู้ค้นอาจคว้ามาพลาด ๆ ได้บ่อย ๆ แต่ถึงกระนั้นก็เป็นประโยชน์ที่เตือนกันให้คิด และถ้าสนใจก็จะได้ช่วยกันค้นต่อไป.
การคิดค้นของผู้เขียนในเรื่องคำว่า ปักษ์ใต้ นี้ เห็นทางไปในเรื่องซ้อนคำ ซึ่งได้กล่าวแล้วในตอนก่อน เราใช้พูดว่า “ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ” แยกความออกเป็น ๒ ส่วน มีคำ ๒ คู่ ที่ว่าความ ๒ ส่วนนั้นคือ ปักษ์ใต้ ส่วนหนึ่ง ฝ่ายเหนือ ส่วนหนึ่ง และที่ว่าคำ ๒ คู่ก็คือ ใต้ กับ เหนือ คู่หนึ่ง ปักษ์ กับ ฝ่าย คู่หนึ่ง ก็เพราะเราชอบคำคล้องสัมผัส และคำนั้นพอคล้องกับใต้ได้.
แต่เหตุใดเราจึงเอาปักษ์ ไปคู่กับ ฝ่าย เล่า ปักษ์ กับ ฝ่ายเป็นคำคนละภาษา จึงไม่เข้ากับลักษณะซ้อนคำของเราเลย ถ้าจะพูดให้ถูกวิธีซ้อนคำของเรา คำที่เราใช้ซ้อนกับ ฝ่าย ก็คือ ฝัก ซ้อนกันเป็น ฝักฝ่าย (บางทีว่าฝักไฝ่) ฝัก คำไทยเดิมก็แปลว่า ข้าง และฝ่ายก็แปลว่า ข้าง เหมือนกัน
เมื่อคิดไปถึงคั่นนี้แล้ว ก็ลองค้นดูหนังสือเก่า ๆ ว่าเขียน ปักษ์ใต้ ผิดกับเดี๋ยวนี้อย่างไร ได้ความดังนี้.
๑. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (ฉบับหลวงประเสริฐ) พ.ศ. ๒๒๒๓ เขียนว่า “ปักใต้ย” (ตัว ย เห็นจะเกินไป).
๒. หนังสือตำแหน่งพระราชาคณะในกรุงนอกกรุง ครั้งกรุงเก่า ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งเขียน “ปักใต้” ฉบับหนึ่งเขียน “ปากใต้”
๓. กฎหมายตรา ๓ ดวง ลักษณะศักดินาทหารหัวเมือง เขียนว่า “ปากใต้” ลักษณะขบถศึก เขียนว่า “ปากใต้” เหมือนกัน.
๔. พระราชพงศาวดารฉบับหมอบรัดเล (ตอนแผ่นดินหลวงสรศักดิ์เกณฑ์คนไปขุดคลอง) เขียนว่า “ปากใต้”.
๕. ราชกิจจานุเบกษารัชกาลที่ ๔ เขียนว่า “ปากใต้”.
หลักที่นำมาแสดงข้างบนนี้ ควรเป็นที่เชื่อได้ว่า แต่ก่อนเคยเขียน “ปากใต้” หรือ “ปักใต้” ไม่มี ษ การันต์ เป็นคำไทย ไม่ใช่คำสํสกฤต ที่ว่าแต่ก่อนนั้น หมายความถอยหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ไปถึงต้นกรุงเทพและสมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนนั้นขึ้นไปน่าจะไม่มีคำว่า “ปักษ์ใต้ เพราะสยามในสมัยโน้น แยกเป็นหลายอาณาจักร.
ถ้าจะหาความรู้คำว่า ปัก และ ปาก ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาและก่อนสมัยกรุงสุโขทัยขึ้นไป ก็เห็นจะจับได้จากภาษาไทยนอกสยาม ซึ่งคำพูดยังไม่เดินถึงกันความเจริญแห่งคำพูดของไทยพวกเรา และควรจะเชื่อว่า เมื่ออักขรวิธีของไทยยังแค่คืบ มีตัวหนังสือพยัญชนะ ๒๔ ตัวเป็นอย่างมาก (เช่นไทยอาสามหรือที่เรียกว่าอาโหม) หรือไทยใหญ่ (เงี้ยว) นั้น คำ ๒ คำ ปัก และ ปาก นี้ก็เป็นคำซึ่งเขียนตัวหนังสืออย่างเดียวกัน ทั้งคำว่า บาก ด้วย.
ไทยอาสามในอินเดียกับไทยใหญ่ (เงี้ยว) ในพม่า มีคำว่าปักเขียนอย่างเดียวกัน แปลเป็นภาษาไทยกรุงสยามดังนี้เป็นตัวอย่าง.
ไทยใหญ่ ปัก ไทยกรุงสยามใช้ว่า ปาก.
ไทยใหญ่ ปัก ไทยกรุงสยามใช้ว่า ฟัก (ฟักแฟง) (จงสังเกต ป เปลี่ยนเป็น ฟ).
ไทยใหญ่ ปัก ไทยกรุงสยามใช้ว่า ปัก (เช่น ปักเสา).
ไทยใหญ่ ปัก ไทยกรุงสยามใช้ว่า บาก น่าสังเกตจากคำหลังนี้ว่า ปาก ก็คือรอยบากในหน้านั่นเอง.
ที่นี้ลองสอบคำว่า “ฝัก” บ้าง ได้กล่าวแล้วว่า “ฝัก” แปลว่า ข้าง อย่างเดียวกับฝ่าย (และไฝ่) ซึ่ง แปลว่า ข้าง เหมือนกัน.
คำ ฝัก นี้ เทียบไทยอาสามกับไทยกรุงสยามดังนี้.
คำอาสาม ฝัก ไทยกรุงสยามใช้ว่า ผัก.
คำอาสาม ฝัก ไทยกรุงสยามใช้ว่า ฝาก (ของฝาก).
คำไทยอาสาม ฝัก ไทยกรุงสยามใช้ว่า ผัก (ฝักดาบ).
คำไทยอาสาม ฝัก ไทยกรุงสยามใช้ว่า ปัก (เย็บปัก).
คำไทยอาสาม ฝัก ไทยกรุงสยามใช้ว่า ฟาก (ฟากฝั่ง).
คำไทยอาสาม ฝัก แปลว่า ทัพ.
คำไทยอาสาม ฝัก แปลว่า ข้าง.
ส่วนไทยใหญ่ (เงี้ยว) นั้นมีคำว่า ฝักนา แปลว่า เบื้องหน้า (ทำให้นึกถึงคำที่เราใช้ว่า หน้าผาก).
ฝักตู แปลว่า ประตู.
เราพึงสังเกตตัวอย่างที่แสดงมาแล้วว่า ฝ ฟ ป นั้น ใช้ปน ๆ กันหลายแห่ง เช่น ฝัก กลายเป็น ฟัก เป็นต้น ไทยอาสามยังมีอีกคำหนึ่ง ซึ่งเขียน ไฝ ตรงกับคำไทยว่า ไป.
ที่กล่าวนี้ทำให้เห็นว่า ฝ ฟ กับ ป เปลี่ยนกันได้ เช่น ฝัก และ ฟาก กลายเป็น ปัก และ ปาก ในภาษาเราก็ได้ เพราะฉนั้น ปากใต้ฝ่ายเหนือ หรือ ปักใต้ฝ่ายเหนือ จะคำเดียวกับ ฟากใต้ฝ่ายเหนือ หรือ ฝักใต้ฝ่ายเหนือ ก็ได้ คำว่า ฟาก กับ ฝัก ไทยนอกสยามที่อักขรวิธียังไม่เจริญ ก็เขียนอย่างเดียวกันทั้งนั้น.
ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่กล่าวว่า ไทยกรุงสยามเคยใช้ ฟากใต้ฝ่ายเหนือ หรือ ฝักใต้ฝ่ายเหนือ ในสมัยไหน กล่าวเพียงว่า ปัก หรือ ปาก ก็ดี เดิมก็เห็นจะคำเดียวกับ ฝัก และ ฟาก นั้นเอง หรือจะนึกอีกอย่างหนึ่งว่า บาก ปาก (อย่าลืมว่าหนังสือไทยอื่นมีตัวเดียวไม่มีทั้ง บ และ ป) แปลว่าตัดให้แยกกันออกไปก็คงจะได้.
เราจะยืนยันได้ก็แต่เพียงว่า หนังสือไทยตอนกรุงศรีอยุธยามาจนรัชกาลที ๔ เชียนปากใต้หรือปักใต้ ไม่มี ษ การันต์.
โดย
คำที่ใช้กันอย่างน่ารำคาญที่สุดคำหนึ่ง ก็คือคำว่า “โดย” เรารำคาญจนนำมากล่าว ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากล่าวก็ไม่มีประโยชน์ เพราะภาษาไทยเดี๋ยวนี้ต่างคนต่างรู้ ถ้าใครโบราณงุ่มง่ามพอที่จะว่าคนอื่นผิด ถึงแม้จะนำหลักฐานตำรา หรือคำสอนของครูรุ่นเก่ามาอ้าง ก็มีแต่จะชักให้ตำราและครูรุ่นเก่าถูกตำหนิว่าโง่ด้วย อีกประการหนึ่ง ไทยเรา พูดตามบาญชีสำมโนครัว ก็ยังมีคนรู้หนังสือน้อย และแม้คนที่รู้หนังสือแล้ว ก็ยังอ่านน้อยอีกเล่า ปทานุกรมมีคำ “โดย” และบอกไว้ว่า แปลว่ากระไร ทั้งมีตัวอย่างที่ใช้ให้ดูด้วย แต่มีใครกี่คนที่เปิดดูคำในปทานุกรม ถ้าจะเปิดก็ต่อเมื่อต้องการดูศัพท์ยาก ๆ เท่านั้น แม้การเปิดดูศัพท์ยาก ๆ ก็น้อยคนจะเปิด ถ้าอ่านพบคำที่ไม่เข้าใจ ก็ผ่านไปทั้ง ๆ ที่ไม่เข้าใจ หรือมิฉนั้นก็นึกเดาเอาเอง การไม่เข้าใจแล้วอ่านผ่านไปเฉย ๆ นั้นไม่ใช่วิธีดี ของคนที่จะเป็นนักเลงหนังสือ แต่ยังดีกว่าไม่เข้าใจแล้วมิหนำซ้ำเก็บเอามาใช้ผิด ๆ ด้วย.
นอกจากปทานุกรม ยังมีหนังสือที่เป็นชั้นตำราหลายเล่มอธิบายคำว่า “โดย” และนอกจากนั้น ยังได้มีสอนกันมาหนักกว่าหนัก แต่ก็ไม่มีประโยชน์ ความรู้แพ้ความไม่รู้เสมอ เพราะความไม่รู้เป็นของหาง่าย ไม่ต้องหาก็ได้มาเอง.
สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงเขียนเล่าไว้ว่า เหตุใดจึงใช้คำว่า โดย ผิด ๆ กันขึ้นในภาษาไทย พระองค์ท่านเมื่อทรงพระเยาว์ยังเป็นนักเรียน ก็อยู่ในพวกต้นอาบัติด้วย ในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ (ราว พ.ศ. ๒๔๑๖) ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งโรงเรียนมีครูฝรั่งสอนภาษาอังกฤษ ครูต้องการจะแปลให้นักเรียนทราบว่า คำอังกฤษ ไบ By แปลว่ากระไร เปิดดูดิกชันนารีที่มีอยู่ในเวลานั้น พบแปล ไบ ว่า โดย เมื่อจะพูดถึงหนังสือของใครแต่ง ก็ว่าหนังสือแต่ง “โดย” คนนั้นคนนี้แต่นั้นมา น่าประหลาดที่ครูไทยในเวลานั้นไม่ช่วยแก้ ชรอยจะเป็นด้วยนักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษ เป็นพวกที่พ้นครูไทยไปแล้ว.
สมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงเล่านั้น เป็นเวลาเกือบ ๖๐ ปีมาแล้ว (ทรงเรื่องนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘) ต่อมาถึงสมัย “ลักวิทยา” เราก็มี “โดย” เหมือนกัน แต่เมื่อเรารู้ว่าไม่ถูก เราก็เปลี่ยน ในเวลานั้นเราก็รู้ทั้งหนังสือไทยและภาษาอังกฤษพอไปวัดไปวา ไม่ช้าก็เห็นได้ว่า ที่จะแปล ไบ ว่า โดย ตพัดไปนั้นเป็นบ้า คำอังกฤษว่า ไบ มี คำแปลตามดิกชันนารีขนาดย่อม (Concise Oxford Dictionary) รวมทั้งตัวอย่างที่นำมาให้เห็นประมาณครึ่งหน้า จะไปมัวแปลว่าโดยอยู่อย่างเดียวกระไรได้ ถ้าภาษาอังกฤษว่า By order of the King จะแปลว่า “โดยกำลังพระเจ้าแผ่นดิน” ก็พอฟัง แต่ถ้าภาษาอังกฤษว่า The mouse was eaten by the cat จะแปลว่าหนูถูกกินโดยแมวได้หรือ.
บทลครเรื่องหนึ่งเชกซเปียร์แต่ง ต่างว่า Hainlet by Shakespeare ฉนี้ ถ้าจะเขียนให้เต็มที่ก็ต้องว่า Hamlet (Which has been writen) by shakespeare คำในวงเล็บนั้น เป็นคำที่เข้าใจกันแล้วจึงตัดเสีย เรียกว่าตัดสมาส เหลือไว้แต่ ไบ คำเดียว ถ้าจะแปลอย่างไม่ตัดสมาสว่า “แฮมเล็ต ซึ่งได้ถูกเขียนแล้วโดยเชกซเปียร์” ท่านก็คงจะเห็นว่าไม่เป็นภาษาไทยเลย.
อนึ่ง ถ้าจะแปล ไบ ว่า โดย หรือแปล โดย ว่า ไบ ตพัดไปไซร้ “โดยเสด็จพระราชดำเนิน” จะแปลเป็นอังกฤษว่า ไบอะไร “โดยสาร” จะแปลว่า ไป อะไร.
คำไทยว่า “โดย” มักแปลกันว่า ตาม บางท่าน เห็นว่าใช้โดยตรงไหน ถ้าเปลี่ยนเป็นตามได้ไม่เสียความ โดย ตรงนั้นก็ถูก ที่ว่านี้เราไม่เห็นด้วยแท้ เห็นว่า “โดย” มักจะแปลว่า ตาม เป็นส่วนมากก็จริง แต่ยังมีทางแปลอย่างอื่นได้อีก เป็นต้นว่า ไปโดยด่วน มาโดยเร็ว ฉนี้จะ แปลว่า ไปตามด่วน มาตามเร็ว ก็ไม่ได้ความ จะว่าใช้คำ “โดย” ผิดในที่นั้น ก็เห็นจะไม่ได้ เพราะเราพูดกันว่า โดยเร็ว โดยด่วน เสมอ ไม่ขวางหูเลย.
อันที่จริง คำแปล โดย ว่า ตามนั้น น่าจะเห็นว่าเป็นความหมายอย่างใหม่ที่เกิดทีหลัง คำว่า โดย ควรเห็นว่าคำเดียวกันกับ ด้วย คือ สระ โ กับตัว ว แทนกัน ดังจะชี้ตัวอย่างให้เห็นได้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเขียน อวยทาน ว่า โอยทาน เป็นต้น ถ้าหากว่า โดย กับ ด้วย คือคำเดียวกัน เราใช้โดยที่ใหน ก็ควรจะเปลี่ยนเป็นด้วยที่นั่นได้เสมอ แต่หากเรามาใช้ “โดย” หมายความว่า “ตาม” ขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง คำว่าโดยในเวลานี้ ซึ่งแปลว่า ตาม ก็ได้ ด้วย ก็ได้ นี่เป็นความเห็นของเรา แต่ข้อที่ว่า ด้วย กับ โดย เป็นคำเดียวกันนั้น ไม่น่าสงสัยเลย.
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างใช้คำ “โดย” คัดจากพระราชพงศาวดารเล่ม ๑. ฉบับหมอบรัดเล พิมพ์ จ.ศ. ๑๒๒๕ (ได้ลอบกับฉบับพระราชหัตถเลขาด้วย).
หน้า ๔๖ “จึงตรัสแก่พระยาลแวกว่า ท่านจงรักษาแผ่นดินกรุงกัมพูชาโดยยุติธรรมราชประเพณี” โดยยุติธรรมตรงนี้ เปลี่ยนด้วยก็ได้ เป็นตามก็ได้ ไม่เสียความ
หน้า ๔๖ “พระยาลแวกที่มิอาจที่จะขัดได้ ก็โดยบัญชาพระเจ้าอยู่หัว” โดยคำนี้เปลี่ยนเป็นตามได้ เป็นด้วยไม่ได้.
หน้า ๕๐. “โดยเสด็จ” เปลี่ยนเป็นตามเสด็จได้ แต่ว่าด้วยเสด็จ (คือไปด้วย) ก็ได้.
หน้า ๕๓ “จึงจะค่อยคิดการเอาชัยชำนะ เมื่อภายหลังเห็นจะได้โดยง่าย” โดยง่าย ตรงนี้เปลี่ยนเป็น ด้วยง่าย ได้ เปลี่ยนเป็น ตามง่าย ไม่ได้.
หน้า ๖๘ “ประการหนึ่ง ขัดโดยเสบียงอาหาร จะทำการแรมปีมิได้” ขัดโดยอาหารเปลี่ยนเป็นขัดด้วยอาหารได้ เปลี่ยนเป็นขัดตามอาหารไม่ได้.
หน้า ๑๓๕ “อันจะดูหมิ่นหักเอาโดยเร็ว เหมือนเมืองทั้งปวงนั้นมิได้” โดยเร็ว เปลี่ยนเป็นด้วยเร็วได้ เปลี่ยนเป็นตามเร็วไม่ได้.
พระนลคำฉันท์ โดย น.ม.ส. ก็ย่อมจะไม่ถูก เพราะจะเปลี่ยนเป็น
พระนลคำฉันท์ ด้วย น.ม.ส. ก็ผิด หรือจะเปลี่ยนเป็น
พระนลคำฉันท์ ตาม น.ม.ส. ก็ไม่ถูกความ.
เราเขียนข้างบนนี้เป็นพลีครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือและภาษาไทยกันมาเดิม หรือเหมือนจุดธูปเทียนลอยกระทงไปตามกระแสน้ำ ลอยแล้วก็แล้วกัน ลอยทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เทียนไม่ทำความสว่างให้แก่แม่น้ำได้.
มนต์ ยนต์
เมื่อตะกี้นี้เราชี้แจงให้เสมียนของเราฟังว่า ทำไมเราจึงเขียนคำ ๒ คำข้างบนนี้ไม่มีตัว ร การันต์ ยังมีคำอื่น ๆ อีกหลายคำซึ่งอย่างเดียวกัน เช่น สมัค เป็นต้น.
ก่อนสมัยปัจจุบัน เราเขียนสวดมนต์ ร่ายมนต์ ประน้ำมนต์ ตัว ต การันต์ตัวเดียวพอ เพราะใช้หลักคำมาจากภาษาบาลี (มคธ) เมื่อสามพราหมณ์ผูกสำเภายนต์ในเรื่องพระอภัยมณี ยนต์ของแกก็การันต์ ต ตัวเดียว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญญัติให้เรียก โมเตอร์คาร์ ว่ารถยนต์ ก็ทรงเขียน ต การันต์ตัวเดียว มาบัดนี้เหตุใดเสมียนของเราจึงเติม ร เป็นตัวการันต์เข้าไปอีกตัวหนึ่ง เมื่อสวดมนต์และรถยนต์ก็เข้าใจกันดีและถูกตามภาษาบาลีแล้ว เหตุไฉนจะใช้สวดมนตร์และรถยนตร์ ให้ต้องเสียเวลาเขียนตัว ร อีกตัวหนึ่ง.
เราสอนเสมียนของเราว่า ตัวหนังสือไทยของเรานี้ดีนัก เพราะเรียนได้เร็วไม่แพ้หนังสือภาษาไหน บรรดาหนังสือที่เราได้เห็นมา นอกจากหนังสือโรมันแล้ว จะหาหนังสืออะไรเขียนได้เร็วเท่าหนังสือไทยนั้นน้อยนัก ก็เมื่อหนังสือของเราวิเศษอยู่แล้วฉนี้ เราจะไปทอนความดีลงไป ด้วยวิธีเขียนเต็มตัวหนังสือที่ไม่จำเป็น ทำให้ช้าลงไปอีกหน่อยหนึ่งทำไม ถ้ามีวิธีสกดตัว ๒ อย่าง ซึ่งถูกเหมือนกัน เขียนแล้วมีผลเสมอกัน ก็ควรต้องเขียนอย่างนั้น มิฉนั้น เป็นการทอนความดีของหนังสือไทยลงไป.
เพราะว่าเราต้องการเขียนเร็ว และรื่นรมย์ในการที่หนังสือของเราเขียนได้เร็วนี้แหละ เราจึงไม่ชอบวิธีสกดตัวซ้อน เช่น อัยยการ ยุตติธรรมเป็นต้น ตลอดไปถึงคำเช่นอาชญาด้วย.
มีคำอีกบางคำเช่น วิชา เคยเปลี่ยนเป็น วิชชา ชรอยจะกลัวปนกับคำที่เราเอามาใช้ว่า พืช เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๘) ทำพจนานุกรมปลดตัว ช ในวิชชาเสียตัวหนึ่ง เหลือเพียงวิชาอย่างแต่ก่อน ขอให้กรรมการทำพจนานุกรมมีความเจริญเทอญ.
สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติตัดตัว ช ในอาชญา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีความเจริญเทอญ.
เราชอบใจการตัดตัวสกดในคำเช่นยุติธรรมและอาญา แต่ชอบแน่นอนเพียงในฐานะที่เป็นผู้อ่านและผู้เขียนร้อยแก้ว แต่ในกาพย์กลอน บางทีก็ต้องเขียนสกดตัวซ้อนสำหรับสัมผัส ดังที่ย่อมจะเข้าใจกันอยู่แล้ว
ทำการ
สงสารคำ “ทำการ” มานานแล้ว | ดูไม่แคล้วตาไปในหนังสือ |
มันถูกใช้หลายอย่างไม่ว่างมือ | แต่ละมื้อตรำตรากยากเต็มที |
ตำรวจเห็นโจรหาญ “ทำการจับ” | โจรมันกลับวิ่งทยาน “ทำการหนี” |
“ทำการป่วย” เป็นลมล้มพอดี | “ทำการซี้” จีนหมายว่าตายเอย ฯ |