หิริและโอตตัปปะ

มหิจฉตาคือความใคร่เป็นใหญ่ กล่าวตามคำพระพุทธเจ้าว่ามิใช่ธรรม มิใช่วินัย มิใช่คำสั่งสอนของพระองค์ ถ้าบรรดาผู้เป็นใหญ่เป็นประธานในประเทศต่าง ๆ รู้คำตรัสคำนี้ แลเห็นจริงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า โลกก็จะธำรงอยู่ในความสงบ ปราศจากความสดุ้งสเทือน เช่นในเวลานี้ (มิ.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒)

ความมักใหญ่ใฝ่สูง ย่อมนำบุคคลให้เคว้งคว้าง ไปจากหิริและโอตตัปปะ คือ ความลอาย ๒ อย่างที่กีดกั้นมิให้คนประกอบกรรมเป็นบาป ถ้าชาติหรือประเทศ หรือถ้าจะพูดให้แคบเข้า ก็คือบุคคลหรือคณะที่เป็นประมุขปกครองชาติ หรือประเทศ มีความมักใหญ่ใฝ่สูง มุ่งอยู่แต่จะใช้แสนยานุภาพแผ่อำนาจเหนือชาติหรือประเทศอื่น ๆ โดยทางอันมิเป็นธรรมไซร้ ความมักใหญ่ใฝ่สูงนั้น ก็นำให้ชาติหรือประเทศของคนปราศจากหิริและโอตตัปปะ ละธรรมอันเป็นธงชัยแห่งความเจริญ แม้จะได้ตั้งอยู่ในฐานะอันดีมาแล้ว ก่อนที่ความมักใหญ่ใฝ่สูงเข้าครอบงำก็ตาม แต่ไม่ช้าก็คงจะตกต่ำ ความเจริญที่เคยมีมาแล้วก็ไม่ยั่งยืนไปได้.

คำ ๒ คำ คือหิริและโอตตัปปะนี้ แม้เราจะได้ยินพระเทศน์อยู่บ่อย ๆ ก็เข้าใจไม่สู้ง่าย พระธรรมกถึกท่านย่อมทราบใจความแจ่มแจ้ง แต่ลำพังที่เราฟังท่านเทศน์ บางทีเราก็ไม่เข้าใจซึมทราบ และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ควรถามให้ท่านชี้แจงภายหลัง จึงจะได้ความรู้ดี.

ตามที่แปลกันธรรมดา หิริแปลว่าความลอาย หรือความลอายบาป โอตตัปปะแปลว่าความเกรงบาป หรือความสดุ้งกลัวบาป แต่ถ้าฟังเพียงคำแปลเท่านี้ ก็ไม่เข้าใจแจ่มแจ้งว่า ๒ คำนั้นผิดกันอย่างไร.

ผู้เขียนเคยรับหน้าที่แปลพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่ง ของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อแปลเสร็จแล้วนำไปถวาย ทรงตรวจแก้อยู่กว่า ๒ ชั่วโมง ที่กินเวลานานเช่นนั้น ก็เพราะบางที ผู้เขียนไม่เข้าใจความหมายแห่งศัพท์มคธบางศัพท์ ที่ใช้ในพุทธศาสนา และไม่มีคำอังกฤษที่จะแปลให้ตรงกันจริง ๆ ได้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงทราบภาษาอังกฤษไม่น้อย ถ้าคำแปลตอนไหนไม่ถูกแท้ตามความหมายของพระองค์ ก็ไม่ทรงปล่อยให้ผ่านไป บางแห่งต้องคิดค้นหาศัพท์กันช้านาน และคำมคธบางคำที่ฝรั่งแปลไว้เป็นอังกฤษในดิกชั่นนารี เมื่อ เปิดชี้ถวายก็ตรัสว่า ฝรั่งไม่เข้าใจความหมายสนิท และภาษาของเขาอาจไม่มีคำที่ตรงแท้ด้วย.

ส่วน คำว่าหิริและโอตตัปปะนั้น โปรดให้ใช้คำอังกฤษว่า Shame และ Conscience ในคำแปลพระธรรมเทศนากัณฑ์นั้น.

ถ้าพูดตามคำแปลที่กล่าวมานี้ หิริ คือความลอายผู้อื่น โอตตัปปะ คือความลอายในใจตนเอง.

คนกินเหล้าจุบางคน แม้รู้แล้วว่าความเมาเป็นของชั่ว ก็กินเหล้าเมาเปะปะในที่เปิดเผยไม่อายใคร เพราะไม่มีทั้งหิริและโอตตัปปะ นักเลงเหล้าบางคน ไม่กินเหล้าให้ใครเห็น แต่เมากรานอยู่ในห้องนอนของตน คนชนิดหลังนี้ นับว่ามีหิริอยู่บ้าง แต่ไม่มีโอตตัปปะ ข้อที่ยังมีหิริอยู่บ้างนั้น เป็นเหตุไม่ให้ต้องโทษแห่งการเสพย์สุราหมดทั้ง ๖ ประการ เพราะเมื่อซ่อนเมาอยู่ในห้องนอนของตน ก็หลีกความนินทาได้ และเมื่อไม่เที่ยวที่อื่น ก็ไม่ไปทำให้เกิดเรื่องราวขึ้น เพราะอาการเมาของตน.

คนติดฝิ่นหรือมอเฟียบางคนไม่เปิดเผยให้ใครรู้ ถึงหากจะรั่วรู้กันไป ก็รู้กันเงียบ ๆ.

มหิจฉตาคือความมักใหญ่ใฝ่สูง ย่อมทำให้ขาดหิริและโอตตัปปะ การให้คำมั่นสัญญาว่า จะเว้นจากการกระทำฉนั้นฉนี้ แต่มิช้าก็ทำอย่างเปิดเผย ย่อมเป็นด้วยไม่มีหิริและโอตตัปปะ ถ้าผู้ที่ให้คำมั่นสัญญา แล้วลอบทำตรงกันข้าม ก็อาจหลีกความนินทาได้ชั่วคราว แต่ไม่ช้าความจริงก็มักจะปรากฏออกมา ถ้าเทียบกับนักเลงเหล้า หากจะหลีกเลี่ยงโทษบางประการได้ชั่วคราว ไม่ช้าโทษทั้ง ๖ อย่างที่จารไนในคิหิปฏิบัติก็จะมีมาหมด ในที่สุดจะไปนรกคือโทษสุดท้าย ที่จารไนไว้ในโทษ ๖ ประการที่กล่าวนั้น.

สงครามภายในในประเทศสเปญ เริ่มด้วยชนชาวประเทศนั้นรบกันขึ้นเอง แต่ไม่ช้าก็ปรากฏทั่วไปว่า ถ้ามีผู้เข้าช่วยฝ่ายหนึ่งรบ ก็คงจะมีผู้อื่นเข้าช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง และไม่ช้าผู้ช่วยกับผู้ช่วยก็จะทำศึกกันเอง จนเลยเป็นสงครามลุกลามไปในยุโรป การเป็นเช่นนี้บางประเทศจึงเสนอขึ้นว่า ประเทศทั้งหลายจงทำสัญญากัน ว่าจะไม่เข้าช่วยรบในสเปญ จะไม่ช่วยโดยการสั่งทหารไปสมทบ หรือส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ให้

ข้อที่ว่า ถ้ามีผู้อื่นเข้าช่วยทั้ง ๒ ฝ่ายก็จะเกิดสงครามลุกลามใหญ่โตไปนั้น ไม่มีใครเถียง และไม่มีใครต้องการให้มหาสงครามเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นอันยินยอมกันว่า จะทำหนังสือสัญญา “ไม่แทรกแซง” โดยนัยที่ปรึกษากันร่างขึ้น และภายหลังก็ได้เซ็นหนังสือสัญญากันเช่นนั้น และตั้งกรรมการไว้เป็นผู้คอยดูแลว่ากล่าว เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ประเทศที่เซ็นสัญญาและมีผู้แทนไปในกรรมการ มี อังกฤษ ฝรั่งเศส รัซเซีย เยอรมัน อิตาลี เป็นต้น.

ความมุ่งหมายแห่งหนังสือสัญญา ก็คือจะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามใหญ่ แต่ประมุขของบางประเทศที่เซ็นสัญญานั้น ต้องการให้ฝ่ายหนึ่งในสเปญเป็นฝ่ายชนะ เพราะฉนั้น เมื่อเซ็นสัญญาว่า จะไม่ช่วยแล้วกลอบเข้าช่วยลับหลัง ต่อมาเมื่อปรากฏขึ้นว่า ชนชาวประเทศนั้น ๆ เข้าไปช่วยรบในสเปญ รัฐบาลก็แถลงว่า เป็นพวกอาศาซึ่งไปโดยรัฐบาลไม่รู้เห็น และการโปรประกันดาในประเทศของตน ก็ยังว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยอยู่นั่นเอง.

แต่ต่อมาเมื่อศึกภายในของสเปญชักยืดไปนานเข้า ความช่วยของ “พลอาศา” ก็เปลี่ยนทีละน้อย ไปเป็นความช่วยของรัฐบาลตรง ๆ เพราะลำพังพลอาศา จะมีเครื่องรบอย่างแพง เช่น เรือฟ้า ปืนใหญ่ รถแท็งก์ ไม่ได้ แต่ถึงกระนั้น ถ้าพูดตามลัทธิ ก็ยังไม่มีความแทรกแซงอยู่นั่นเอง.

แต่บัดนี้ (มิ.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) เมื่อศึกภายในของสเปญเสร็จกันไปแล้ว กองทหารของประเทศอื่น ๆ ก็ยกกันกลับจากสเปญ ไปสู่ประเทศของตน เมื่อกองทหารไปถึง ก็มีการรับรองเป็นการใหญ่ มีตรวจพลสวนสนามต่อหน้าประมุขของประเทศ และจอมบงการได้กล่าวสปีชซึ่งกระจายเสียงทั่วไปว่า ได้กำหนดใจไว้ตั้งแต่แรกว่า จะเข้าแทรกแซงในสเปญ เพื่อประโยชนฉนั้น ๆ แต่ในสปีชไม่เอ่ยถึงหนังสือสัญญาไม่แทรกแซงที่เซ็นกันไว้นั้นเลย.

รัฐบาลอังกฤษในตอนที่เกิดศึกในสเปญใหม่ ๆ ได้ยืนยันว่า วิธีที่จะห้ามไม่ให้การรบในสเปญ ลุกลามเป็นสงครามโลกไปได้นั้น ก็มีอยู่แต่ประศาสโนบาย “ไม่แทรกแซง” เท่านั้น คำที่ว่า ไม่แทรกแซงนี้ เราทราบแน่นอนในปัจจุบันว่าแปลว่า บางพวกแทรกแซง บางพวกไม่แทรกแซง และข้อที่ได้มีบางพวกปฏิบัติจริงตามคำมั่นสัญญานั้น ถ้าพูดเพียงวันนี้ (๑๐ มิ.ย. พ.ศ. ๒๔๘๒) ก็ได้เป็นเครื่องห้ามมิให้เกิดสงครามสุกลามใหญ่โตไปจริง แต่ถ้าไม่มีหิริและโอตตัปปะด้วยกันทั้งหมดแล้ว ป่านนี้ไฟก็คงจะไหม้โลก และกำลังลุกอยู่ ต่อแต่นี้ไปจะเป็นอย่างไร เป็นคนละเรื่องกับที่พูดเพียงวันนี้.

พุทธศาสนภาษิตมีว่า “หิริโอตฺตปฺปิยฺเว โลกํ ปาเลนฺติ สาธุกํ” แปลว่า หิริและโอตตัปปะเท่านั้น ที่รักษาชาวโลกให้เป็นสาธุชนอยู่ได้.

ถ้าบุคคลซึ่งความมักใหญ่ใฝ่สูงทำให้ปราศจากหิริและโอตตัปปะไปแล้วนั้น เถลิงตำแหน่งผู้มีอำนาจครอบงำส่วนหนึ่งแห่งโลก และมีกำลังที่จะแผ่อานุภาพออกไปไม่มีขีดคั่นไซร้ หมู่มนุษยที่รักอิสรภาพ ก็ย่อมจะด้อยวาศนาจนดับศูนย์ลงไปในที่สุด.

นี้เป็นใจความแห่งคำพูดยืดยาวของรัฐบุรุษในประเทศ ที่ชักชวนให้รวมกันต่อสู้ความแผ่เผยวาศนา ของกลุ่มประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง เขาไม่ได้ใช้ถ้อยคำและอุทาหรณ์เช่นเราใช้ แต่น้ำเนื้อแห่งความหมายก็เช่นที่ว่านี้.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ