รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ

ในรัชกาลที่ ๔ มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เรียกว่า “บางกอกรีกอเดอร์” ออกที่โรงพิมพ์หมอบรัดเล เป็นหนังสือพิมพ์พูดห้าว ๆ แต่พูดตรง ๆ ซื่อ ๆ ผิดบ้าง ถูกบ้าง ถ้าผิดก็ลงแก้ว่าพูดผิดไป ที่ถูกอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าเห็นไม่ผิดก็ยืนกราน.

ครั้งหนึ่งหนังสือบางกอกรีกอเดอร์ลงเรื่องความในศาล กล่าวความผิดความถูกของคดีระหว่างชำระ และดูเหมือนจะพาดพิงไปถึงตุลาการด้วย คติที่เอาความในศาลระหว่างชำระ มาบรรยายออกความเห็นในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นคติในอเมริกา ไม่ใช่คติในประเทศอังกฤษ ส่วนในสยามในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ เคาเวอเม็นต์ไม่โปรดคตินั้น จึงมี “จดหมายเหตุ” ประกาศออกไปจากกรมพระอาลักษณ์ หนังสือบางกอกรีกอเดอร์เขียนตอบจดหมายเหตุทางราชการ เมื่ออ่านเวลานี้ก็เห็นว่าหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น มีอิสระเป็นอย่างมาก.

ต่อมาในแผ่นดินพระจุลจอมเกล้า ๆ หนังสือพิมพ์บางฉบับก็เขียนได้ตามใจสมัค แต่บางทีก็เกิดเป็นเรื่องขึ้น เพราะผู้เขียน ๆ ปราศจากสติ หรือไม่รู้ความควรและไม่ควรเพียงไร.

ในแผ่นดินพระมงกุฎเกล้า ฯ หนังสือพิมพ์บางฉบับห้าวหาญเป็นอย่างที่สุด ฝรั่งหลายคนที่อยู่ในกรุงเทพพูดว่า จะหาประเทศไหนที่หนังสือพิมพ์ “ฟรี” เหมือนสยามเห็นจะไม่มีแน่แล้ว ที่ว่าอย่างนั้นก็อาจเกินไป แต่ผู้ที่จำได้คงจะเห็นพร้อมกันหมดว่า หนังสือพิมพ์บางฉบับในตอนหนึ่งแห่งรัชกาลที่ ๖ นั้น ไม่ฟรีอย่างตรง ๆ ทื่อ ๆ เหมือนหนังสือพิมพ์เชลยศักดิ์ในรัชกาลที่ ๔.

เราคัดหนังสือพิมพ์บางกอกรีกอเดอร์ตอนหนึ่งมาพิมพ์ในที่นี้ เพื่อจะได้เห็นสำนวนหนังสือพิมพ์ในรัชกาลที่ ๔ ผู้อ่านจะเห็นว่า การเขียนหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเวลานั้น ลำบากด้วยเรื่องถ้อยคำที่จะใช้ให้เข้าใจความหมายของผู้เขียน ซึ่งนึกเป็นภาษาอังกฤษ บางทีคำที่เราเข้าใจกันง่าย ๆ ในเวลานี้ ก็ต้องชี้แจงหลายบรรทัด เช่น โฆษณาการค้า เป็นต้น แต่ก็ได้ความชัดเจนดี.

ต่อไปนี้คัดจาก “บางกอกรีกอเดอร์”

“ในหนังสือจดหมายเหตุที่ออกเมื่อเดือน ๔ ขึ้นค่ำหนึ่งนั้น มีหนังสือประกาศมาแต่กรมพระอาลักษณ์ ข้าพเจ้าอ่านเข้าใจว่า คดีหัวเมืองในกรุงนอกกรุง ความที่มีโจษจำเลยสู้ความกันอยู่นั้น เคาเวอเมนต์สยามนั้น ไม่ชอบจะให้คนทั้งปวงลงหนังสือพิมพ์กล่าวโทษลูกขุนตระลาการ ผู้ที่ไปลงพิมพ์ว่า ประจานตระลาการเล่น ก็เป็นคนพิรุทธไป จะไม่ทรงหยิบเรื่องในหนังสือพิมพ์ออกชำระเป็นอันขาด.

“อนึ่ง เข้าใจว่า ความอันใดอันหนึ่งที่ยังไม่ฟ้องโรงศาล เคาเวอเม็นต์ไม่ชอบให้ลงหนังสือพิมพ์ ว่าเป็นพิรุทธนัก ความ ๒ อย่างนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นว่า ราษฎรทั้งปวงจะเกรงกลัวพระราชอาญา จะไม่อาจกล่าวโทษผู้กระทำผิดลงหนังสือพิมพ์ต่อไป คนร้ายก็จะดีใจ เพราะได้ของที่จะทำร้ายทวีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะคนไม่อาจเก็บความที่ชั่วร้ายมาว่าในหนังสือพิมพ์ และคนที่จะฟ้องร้องนั้นก็มักกลัวจะกลับเป็นอันตรายแก่ตัว เหมือนอย่างคนที่เมืองสมุทรสงครามนั้น จีนไหหลำ ๒ คน ที่ได้รับสินบนจับอ้ายสิน เป็นทุกข์นักอยู่ว่า ถ้าอ้ายสินหลุดไปได้แล้ว ก็คงจะฆ่าจีนไหหลำ ๒ คนเป็นแน่ ถ้าลงในหนังสือพิมพ์ ผู้ใด ๆ ปรารถนาจะให้ความมิดก็ได้ ผู้เจ้าของจดหมายเหตุรับเอาเป็นธุระเอง ถ้าเห็นว่าเป็นการไม่จริง ผู้เจ้าของจดหมายเหตุก็ไม่ยอมให้ลงพิมพ์.

อนึ่ง ความที่หนังสือเคาเวอเมนต์ติว่า เอาเงินไปจ้างลงหนังสือพิมพ์กล่าวโทษตระลาการ และคู่ความต่าง ๆ นั้นไม่ถูก เจ้าของจดหมายเหตุไม่ได้เอาเงินค่าจ้างแก่ผู้มาลงพิมพ์เลย ผู้ใด ๆ เป็นคนยากคนจน จะมาลงพิมพ์การร้ายได้ มีสำคัญว่าเป็นความจริง เจ้าของจดหมายเหตุก็ลงพิมพ์ไม่เอาค่าจ้าง เพราะคิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่เมืองมาก แต่คนที่ซื้อจดหมายเหตุ ต้องเสียเงินปีละ ๕ บาทเท่านั้น และคนที่อยากจะให้คนอื่นรู้ว่าตัวมีของขาย หรือการเลหลัง หรือที่จะรับจ้างซ่อมแปลงกำปั่นเหมือนอย่างที่อู่ใหม่นั้น ปรารถนาให้คนทั้งปวงนึกไปถึงการนั้นทุกคราวเช่นว่ามานี้ ก็ต้องเสียเงินค่าจ้าง นอกนั้นไม่ต้องเสีย.

อนึ่ง คนที่ซื้อจดหมายเหตุนี้ เป็นผู้ใหญ่หลายคน ได้สรรเสริญว่า เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองนัก เพราะผู้ที่ขี้มักฉ้อหลวงหรือฉ้อราษฎร์ กลัวว่าจะมีผู้เก็บเอาความมาลงพิมพ์ การที่ชั่วร้ายนั้นจะปรากฎ ข้าพเจ้าถามผู้ใหญ่บ่อย ๆ ว่า จะทำอย่างไรจะให้จดหมายเหตุดีขึ้น เขาก็ตอบว่า ให้เก็บ เอาที่การชั่วการร้ายแท้ ๆ มาลงพิมพ์ มากกว่าแต่ก่อนจึงจะดีขึ้น เพราะจดหมายเหตุเหมือนดวงสว่างใหญ่บังเกิดขึ้นในเมือง ความมืดที่ผู้ร้ายชอบนั้นก็จะค่อยหายไป เมืองก็จะมีความสุขขึ้น ข้าพเจ้าก็เห็นด้วย จึงเต็มใจจะทำการนี้ต่อไป เมื่อมีหนังสือเคาเวอเม็นต์ห้ามเช่นว่ามานี้ ข้าพเจ้าเสียใจไป และเห็นว่าผู้ที่ซื้อจดหมายเหตุนี้ ที่มีใจรักบ้านเมืองแท้ ๆ จะเสียใจไปด้วยทุกคน แต่คงจะมีขุนนางผู้ใหญ่หลายคน ที่มีใจรักตัวมากกว่ารักเมืองนัก จึงมีใจปรารถนาทางที่จะได้ฉ้อหลวงและฉ้อราษฎร์โดยสดวก เพื่อจะได้เงินเป็นของ ๆ ตัวมาก คนเหล่านี้ไม่ชอบให้ลงพิมพ์การร้ายเพราะกลัวจะเกิดสว่าง ความชั่วของตัวจะปรากฎ ข้าพเจ้านึกเห็นว่า คนอย่างนี้ได้ทูลขอให้เคาเวอเม็นต์ห้ามลงพิมพ์การร้ายต่าง ๆ จึงอนุญาตตามใจเขา ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า ในหลวงทรงพระกรุณาฝูงราษฎรทั้งปวงจริง ประสงค์จะให้เขาอยู่เป็นสุขแท้ แต่คงมีผู้ที่ปรึกษาราชการในเคาเวอเม็นต์พร้อมใจกันว่า การที่ไปลงพิมพ์กล่าวโทษคนทั้งปวงเป็นการไม่ดี ไม่สมควรจะมีในเมือง จึงมีหนังสือประกาศห้ามตามใจเขา ข้าพเจ้าปรารถนาจะตักเตือนเคาเวอเม็นต์สยามให้พิจารณาดูความที่ประกาศห้ามนั้นให้เลอียดขึ้น ว่าขุนนางผู้ใหญ่ผู้หนึ่งที่ได้รักตัวมากกว่ารักเมือง จะดีใจขึ้นเท่าไร และผู้ที่มักฉ้อหลวงฉ้อราษฎร์และทำร้ายต่าง ๆ จะมีใจสรรเสริญคำห้ามปรามนั้นเท่าใด เพราะสว่างที่เกิดด้วยจดหมายเหตุจะดับเสียแล้ว เคาเวอเม็นต์ใดๆ ที่ประเทศยุโรปก็ดี อเมริกาก็ดี ยอมให้มีหนังสือจดหมายเหตุกล่าวโทษคนทั้งปวงได้ ไม่ห้าม ถ้าแม้นเป็นความไม่จริงบ้างเล็กน้อย สว่างแห่งจดหมายเหตุส่องถึงก็รู้แน่ ก็จะสิ้นความสงสัย กลับเป็นประโยชน์แก่เมือง และความที่จะกล่าวถึงโรงศาลนั้น ก็หายไป เพราะสว่างจดหมายเหตุนั้น ดุจสัตว์ร้ายชอบมืดหนีไป เมื่อเวลาแดดขึ้น.”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ