จอมบงการ

จอมบงการถ้าจะว่าเป็นอัจฉริยบุคคลก็ไปปนกับพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเรียกว่าบุรุษอัศจรรย์ ก็เห็นจะพอไปได้ พูดเฉพาะจอมบงการที่เด่นอยู่ในโลก ๓ คนเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ก็ล้วนแต่ได้เคยเป็นคนชั้นต่ำมาก่อนทั้ง ๓ คน คนหนึ่งเคยเป็นช่างทาสีเรือน เคยเล่าเรียนแต่ในโรงเรียนชั้นต่ำ อีกคนหนึ่งเป็นลูกของคนตีเหล็ก แต่แม่เคยเป็นครูโรงเรียน ลูกจึงได้เคยเป็นครูอยู่คราวหนึ่ง คนที่ ๓ พ่อเป็นช่างไม้หรือช่างอะไรก็ลืมเสียแล้ว เคยเรียนในโรงเรียนนักบวช แต่เรียนไม่ตลอด

เดี๋ยวนี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ทั้ง ๓ ท่านเป็นคนใหญ่โตในโลก มีอภินิหารยิ่งกว่าอภินิหารของพระเจ้าแผ่นดินก่อนสมัยมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) เพราะพระเจ้าแผ่นดินในเวลาโน้น ถึงจะสมมติว่าทรงอำนาจบริบูรณ์ ก็ไม่ปรากฏว่าทรงบัญชาการบ้านเมืองได้เด็ดขาดเสมอจอมบงการในสมัยปัจจุบัน (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑)

เราท่านชาวสยามรุ่นชราที่สุดที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) ตลอดจนคนหนุ่มสาว เคยอยู่ใต้ความปกครองของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ยังหามีใครเคยรู้รสอำนาจของจอมบงการไม่ ธรรมดาพระเจ้าแผ่นดินจะดีหรือร้ายก็อาศัยอำนาจพระองค์เองพระองค์เดียว พระองค์จะลโมภ จะโหดเหี้ยม จะทารุณ ก็เป็นความลโมภ ความโหดเหี้ยม และความทารุณของคน ๆ เดียว หากจะมีตัวโปรด ตัวประจบ หรือตัวร้ายอย่างอื่นที่แอบอิงเอาประโยชน์แก่ตนได้บ้าง ก็มีน้อยคน เพราะจะต้องปิดบังพระเจ้าแผ่นดินอยู่เสมอ จะปล่อยให้ทรงทราบว่า แอบอิงพระราชอำนาจถือเอาประโยชน์แก่ตน เป็นเหตุให้เกิดเดือดร้อนแก่ไพร่ฟ้าประชากรของพระองค์นั้นหาได้ไม่

จอมบงการผู้ซึ่งมีนัยว่าได้อำนาจจากชมรมการเมือง อันสมมติว่าประเสริฐ เป็นชมรมมีวาศนาอยู่ชมรมเดียว ไม่ยอมให้ชมรมอื่นตั้งแข่งได้ สมาชิกของชมรมประเสริฐก็คือสาวกของจอมบงการ มีหน้าที่เป็นลูกขุนคอยพยัก และได้รับตอบแทนให้เป็นผู้มีวาศนาด้วย ตามธรรมดาในสัตวโลก ถ้าใครไม่มีอะไร ผู้นั้นจะให้สิ่งที่ไม่มีแก่ผู้อื่นก็ไม่ได้ เพราะฉนั้นถ้าชมรมสาวกเป็นผู้ให้อำนาจแก่จอมบงการ ชมรมสาวกก็ต้องเป็นผู้มีอำนาจด้วย อำนาจของจอมบงการจึงเป็นอำนาจซึ่งมีกันทั้งกลุ่มใหญ่ ผิดกับอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีพระองค์เดียว

เราเข้าใจกันอยู่ว่า ชมรมสาวกของจอมบงการเป็นลูกขุนคอยพยัก แต่ถึงกระนั้น จอมบงการก็อ้างความเห็นชอบของชมรมได้เสมอ ชมรมจึงปรากฏประดุจผู้มีประเทศเป็นสมบัติของตนตลอดสมัยที่จอมบงการธำรงวาศนาอยู่

เหตุใดจอมบงการจึงต้องมีชมรมสาวกไว้เป็นฉากหลัง ถ้าจะเลิกฉากนั้นเสียก็ไม่น่าจะเห็นว่าทำให้อำนาจผิดกันเลย ทั้งนี้อธิบายว่า เป็นเพราะจอมบงการไม่มีการสืบสันตติวงศ์เป็นฐานที่ตั้ง ข้อนี้พระราชาได้เปรียบเพราะว่า ถ้ามีการสืบสันตติวงศ์เป็นประเพณีของบ้านเมืองอยู่แล้ว ถึงหากพระราชาจะทรงอุ่ย ๆ สักหน่อยก็ตาม แต่ถ้าไม่มีราชจริยาร้ายกาจ หรือทรงทำความเลวมากมาย ก็ไม่สู้กระไรนัก เพราะพระองค์ก็ทรงรับตำแหน่งพระราชา โดยกำเนิดตามประเพณี หาได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าประเทศโดยคำมั่นสัญญาว่า จะบันดาลความเจริญให้มีมาโดยประการฉนั้นฉนี้ไม่.

จอมบงการในยุโรปสมัยโบราณ ไม่มีชมรมสาวกหนุนหลัง และเราจะไม่พูดถอยหลังไปถึง แต่จอมบงการสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) เป็นผู้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าประเทศด้วยอุบายที่ตั้งชมรมขึ้น ทำให้ราษฎรเลื่อมใสว่าจะคิดและทำให้เกิดความจำเริญโดยโครงการของชมรมที่เสนอให้ทราบไว้ก่อน เมื่อจอมบงการได้เถลิงตำแหน่งแล้ว ถ้าทำอุ่ย ๆ เสีย ความเลื่อมใสก็จะเสื่อมไป จึงต้องทำอะไรใหม่ ๆ จูงใจราษฎรให้ตื่นเต้นอยู่ร่ำไป หรือถ้ายังไม่ทำ ก็ต้องว่าจะทำเข้าไว้ทีหนึ่งก่อน.

สมมติว่า ในประเทศหนึ่งการทำมาหากินของราษฎรแร้นแค้น เพราะการค้าขายไม่ดี หรือเพราะทุนไม่มีพอ หรือเพราะอย่างไรก็ตาม ถ้าจอมบงการกระตือรือร้นทางหนึ่งไม่สำเร็จ ก็ต้องออกท่าไปทางอื่น เป็นต้นว่าแสดงความคิดให้ราษฎรเห็นว่า เหตุที่ขาดแคลนก็เพราะมีอาณาเขตไม่พอ ถ้าไม่ได้เมืองขึ้นขยายดินแดนออกไปอีกก็ไม่มีทางใด ที่จะทำให้เกิดหมูนภูลเขาได้ ส่วนเหตุที่ไม่มีเขตแดนเพียงพอนั้นเล่า ก็เป็นด้วยผู้นั้นผู้นี้เกียจกัน หาไม่ก็ไหนเลยความแร้นแค้นจะมีถึงเพียงนี้.

วิธีเช่นนี้เป็นวิธีชักจูงคนให้แค้นเคืองผู้อื่น หรือให้คิดไปเสียทางอื่น ไม่ให้พะวงคิดถึงความเป็นไปในบ้านเมืองตนเอง ซึ่งถ้าไม่ดีก็ไม่ให้โทษหัวหน้าประเทศได้ ราษฎรที่ขุ่นใจโทษหัวหน้าประเทศ ว่าไม่ทำให้ดีจึงเกิดความยากไร้นั้น เคยมีตัวอย่างที่ก่อการขบกขึ้นหลายครั้งในพงศาวดาร จึงมีตัวอย่างในพงศาวดารหลายครั้งเหมือนกัน ที่หัวหน้าประเทศต้องชิงทำศึกกับประเทศอื่น เพื่อมิให้เกิดศึกกลางเมืองขึ้นในประเทศตนเองได้ นะโปเลียนที่ ๓ สิ้นบุญเพราะเหตุที่ชิงทำศึก แต่ทำศึกไม่ชนะ จึงเลยเกิดวิบัติใหญ่แก่พระองค์เอง.

การที่จอมบงการต้องจูงความคิดราษฎรให้ไปในทางที่ประสงค์อยู่เสมอนี้ จำต้องมีวิธีปิดบังมิให้ราษฎรทราบอะไรที่ไม่ต้องการให้ทราบ เช่นห้ามหนังสือพิมพ์ ห้ามคนไม่ให้พูดตามใจ และห้ามหนังสือพิมพ์ประเทศอื่นไม่ให้เข้าไปในบ้านเมืองเป็นต้น.

แต่มนุษยเป็นสัตวกอบด้วยความอยากรู้อยากเห็น ถ้าห้ามข่าวอันมีมาตามธรรมดา ก็ต้องจัดหาข่าวอื่นให้ ดังนี้ กระทรวงโฆษณาการ มีหน้าที่สำคัญนัก หัวหน้ากระทรวงนั้น ต้องเป็นคนเฉียบแหลม มีตำแหน่งสูงจนบางทีเป็นคนที่ ๓ ในประเทศ นับแต่จอมบงการลงมา.

เขาว่าในประเทศจอมบงการบางประเทศ คนมีอาหารกินไม่เต็มท้อง หรือถ้าเต็มก็เต็มด้วยของซึ่งสักแต่ว่ากินได้ แต่ราษฎรนึกว่า การแร้นแค้นอาหารเป็นของธรรมดาทั่วไปในโลก ไม่รู้ว่ามีประเทศไหนที่ราษฎรกินเต็มอิ่มทุกวัน ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลหรือกระทรวงโฆษณาการไม่ปล่อยให้ราษฎรรู้ความเป็นไปในประเทศอื่น ๆ.

แต่ถ้าจะฟังตามที่คนต่างด้าวได้เข้าไปเห็นในประเทศจอมบงการแล้วกลับมาเล่าและเขียนให้ทราบกัน ก็ดูเหมือนในเวลานี้ เมื่อราษฎรรู้สึกความแร้นแค้นยืดยาวมานานเข้า ก็ชักจะโทษจอมบงการมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่จะพูดออกมาว่ากระไรก็ยาก เพราะกำแพงมีหูประตูมีช่องไปทุกหนทุกแห่ง

ถ้าจะพูดตามน้ำใจของคนธรรมดาผู้ไม่แสวงอำนาจวาสนาไซร้ จอมบงการก็มิใช่คนซึ่งใครควรอิจฉาเลย.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ