เปลี่ยนชื่อ

ในไม่สู้นานเลยแผนที่โลกได้เปลี่ยนไป จนแทบจะจำหน้าไม่ได้หลายแห่ง เพราะได้เขียนเส้นอาณาเขตยักย้ายกันไปมา และแผนที่กระบายเปลี่ยนไปเช่นกัน ดังในเร็ว ๆ นี้ เอง (ทรงเรื่องนี้ เมื่อ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) ประเทศออซเตรียหายไปทั้งประเทศ ประเทศนั้นเคยเป็นประเทศใหญ่ชั้นเยี่ยม แต่เดี๋ยวนี้เป็นเพียงมณฑลหนึ่ง ของประเทศซึ่งเคยเล็กกว่า ประเทศซึ่งเคยเล็กกว่านั้น เดี๋ยวนี้กลับเป็นประเทศมหิมา ซึ่งอมออซเตรียเข้าไว้ได้เหมือนดังราหูอมจันทร์.

การเปลี่ยนเช่นนี้ ถ้าจะว่าเป็นของธรรมดา ทั้งที่เป็นส่วนใหญ่และส่วนเล็ก ก็เห็นจะได้ ในสยามของเรา ได้เคยยุบมณฑลเป็นเมือง ยุบเมืองเป็นอำเภอ แล้วภายหลังอำเภอกลับเป็นเมือง เมืองกลับเป็นมณฑลใหม่ก็เคยมี.

สมุหเทศาภิบาลเลื่อนขึ้นเป็นอุปราช แล้วอุปราชเลื่อนลงเป็นสมุหเทศาภิบาลก็เคยมี บางแห่งสมุหเทศาภิบาลกับผู้ว่าราชการเมืองสับกันไปสับกันมา แต่เดี๋ยวนี้ (พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) เปลี่ยนเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดไปหมด ต่อไปข้างหน้าอาจจะเปลี่ยนไปอีกก็ได้ ประเทศอื่นทั้งประเทศก็เคยเป็นเช่นนี้ เป็นต้นว่าโปแลนด์ เคยเป็นประเทศมีมหากษัตริย์ปกครอง และลิทัวเนียก็เป็นประเทศมีมหากษัตริย์เช่นกัน ภายหลังโปแลนด์อมลิทัวเนีย แล้วประเทศอื่นอมโปแลนด์ จนภายหลังมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) จึงกลับเป็นประเทศอิสระขึ้นใหม่ทั้ง ๒ ประเทศ แต่โปแลนด์ก็อมเอาลิทัวเนียได้บ้าง เหมือนจันทร์อังฆาตไม่เต็มดวง.

แต่อันที่จริงการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเช่นนี้ พื้นโลกก็อยู่อย่างเก่า มนุษย์ก็อยู่อย่างเก่า ที่สมมติกันว่าเปลี่ยน ก็คือเปลี่ยนตัวคน ชุดคนที่มีอำนาจบังคับ และเขียนแผนที่ลงในกระดาษใหม่เท่านั้นเอง.

ความเปลี่ยนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีบ่อยในหมู่นี้ ก็คือเปลี่ยนชื่อ การเปลี่ยนชื่อนี้ในสยามเราเคยคล่อง ในสมัยหนึ่งได้ย้ายอำเภอไปตั้งที่โน่นที่นี่ แล้วเรียกชื่อใหม่ร่ำไป จนเกิดเป็นความไม่สดวกกันขึ้น การเปลี่ยนจึงค่อยห่างไปหน่อย ในประเทศอื่น ๆ การเปลี่ยนชื่อบ้านเมือง เป็นการเปลี่ยนใหญ่ ๆ ยิ่งกว่าที่เราเคยทำ เหมือนกรุงปกิ่งเปลี่ยนเป็นเปปิง เดี๋ยวนี้ (พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) เปลี่ยนเปปิง เป็นปกิ่ง ถ้าชั่วพลัดชั่วผลู จีนชนะญี่ปุ่นเข้า ปกิ่งก็จะกลับคืนไปชื่อเปปิงอีก การเปลี่ยนชื่อกลับไปกลับมาเช่นนี้ ก็ไม่ได้ทำให้กรุงนั้นเปลี่ยนหน้าไป นอกจากจะเปลี่ยนเพราะปรักหักพังในการรบบ้างดอกกระมัง ผู้เขียนได้พบนักหนังสือพิมพ์ฝรั่งมาจากเมืองจีนเขาเล่าว่า อยู่ในปกิ่งในเวลาที่ญี่ปุ่นยกทัพเข้ากรุง การครั้งนั้นเรียบร้อย กองทัพจีนเห็นจะรักษาไว้ไม่ได้ ก็ถอยไปเงียบ ๆ แล้วญี่ปุ่นก็ยกเข้าตั้งอย่างเงียบๆ เหมือนกัน ชาวกรุงปกิ่งไม่เดือดร้อนอะไรในคราวนั้น (แต่เขาว่าเมื่อคราวญี่ปุ่นเข้านานกิงผิดกันมาก) ดังนี้จะเปลี่ยนชื่อกรุงปกิ่งกลับไปกลับมาก็ตาม แต่กรุงก็อยู่อย่างเก่านั่นเอง.

ในยุโรปการเปลี่ยนชื่อหมู่นี้ (พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) มีมาก สมุดเรียนภูมิศาสตร์รุ่นเก่าผิดหมด เป็นต้นว่า ประเทศที่เคยเรียกว่าอินดีสตวันออกของฮอลันดานั้น เดี๋ยวนี้ (พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑) เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า อินเดียเนเดอร์แลนด์.

ถ้าท่านค้นสมุดภูมิศาสตร์รุ่นที่เก่ากว่านี้ไป ท่านจะหาชื่อสุรินัม (Surinam) ไม่พบ เพราะชื่อนั้นเป็นชื่อใหม่ของภูมิประเทศที่เคยเรียก ดัชเกียนา (Dutch Guiana)

ท่านย่อมทราบว่า อบิซซีเนียเดี๋ยวนี้ (พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) เรียกอีธิโอเปียกันทั่ว ๆ ไป อีธิโอเปียเป็นชื่อในใบเบิล.

กรุงเซ็นต์ปีเตอร์สเบิกเป็นเมืองหลวงของรัซเซียในสมัยราชาธิปัตย์ ก่อนมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ชื่อกรุงแปลว่าเมืองของเซ็นต์ปีเตอร์ พระเจ้าแผ่นดินรัซเซียทรงนามปีเตอร์มหาราช เป็นผู้สร้างกรุงนั้น ในที่ซึ่งเคยเป็นป้อมเก่าของประเทศสวีเด็น คำว่า “เบิก” เป็นคำเยอรมัน ครั้นรัซเซียกับเยอรมันเกิดรบกันขึ้นในคราวมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) รัซเซียเกิดรังเกียจศัพทเยอรมันขึ้นมา ก็เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงว่า ปีเตอร์กราด คือเอาคำรัซเซียเข้าแทนคำเยอรมัน ต่อมาเมื่อเกิดเปลี่ยนแปลงระบอบรัฐบาลกันขึ้น และเลนินได้เป็นใหญ่แล้ว ครั้นเลนินตาย ก็เปลี่ยนชื่อปีเตอร์กราด เป็นเลนินกราด เป็นการชูเกียรติเลนิน และชื่อนั้นเป็นชื่อใช้อยู่เดี๋ยวนี้ (พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) ที่เรียกว่าเมืองของเลนินนั้น อันที่จริงเอาชื่อเลนินเข้าสวมเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ชื่อผู้สร้างกรุงคือปีเตอร์มหาราช ถ้าจะเปรียบการเปลี่ยนชื่อปีเตอร์กราด เป็นเลนินกราด ก็เสมอกับเปลี่ยนชื่อ วัดเบญจมบพิตร ไปใช้ชื่อคนอื่น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๕ เลย.

เมืองหลวงเก่าของเตอรกีในสมัยที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองมาจนถึงเวลามหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ชื่อกรุงคอนสะแตนติโนเปิ้ล แปลว่ากรุงของคอนสะแตนไตน์ เพราะพระเจ้าคอนสะแตนไตน์เป็นผู้สร้าง และเป็นเมืองหลวงของโรมันเอมไปร์อยู่ประมาณ ๑๐๐๐ ปี ต่อมาอีกช้านานเตอรกีตีได้เมืองนั้น แล้วใช้เป็นเมืองหลวงอยู่ ๕๐๐ ปีเศษ เมื่อสิ้นมหาสงคราม และพวก “เตอรกีใหม่” ได้เป็นผู้ครองประเทศแล้ว ก็เปลี่ยนชื่อคอนสะแตนติโนเปิ้ล เป็น “อิสตันบูล” มีบัญญัติว่า ถ้าใครเขียนจดหมายส่งทางไปรษณียสลักหลังถึงคอนสะแตนติโนเปิ้ล ไม่เขียนว่าอิสตันบูล ก็ให้กรมไปรษณีย์คืนจดหมายกลับไปถึงผู้ส่ง อิสตันบูลเป็นเมืองอยู่ในทวีปยุโรป เดี๋ยวนี้ (พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) เตอรกีย้ายเมืองหลวงมาอยู่ในทวีปเอเซีย.

กรุงคริสเตียเนียเมืองหลวงของประเทศนอรเวย์ เดี๋ยวนี้ (พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑) เปลี่ยนชื่อกรุงออสโล กรุงนี้แต่ก่อนชื่ออย่างอื่น แต่เมื่อ ๓๐๐ ปีเศษมาแล้ว ไฟไหม้หมด พระเจ้าคริสเตียนที่ ๔ ทรงสร้างกรุงใหม่ในที่เดิม แล้วประทานชื่อว่า กรุงคริสเตียเนีย เพิ่งจะมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงออสโลเมื่อเร็ว ๆ นี้.

รัซเซียถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างใหญ่ที่สุด เพราะนอกจากกรุงและเมืองเป็นอันมากที่ถูกเปลี่ยนชื่อ เพื่อจะให้ “สมสมัย” แล้ว ชื่อประเทศเองก็ถูกเปลี่ยนด้วย ประเทศรัซเซียเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) เรียกว่า ยูเนียน ออฟ โซเวียต โซเชียลิสต์ รีปับลิค ใช้อักษรย่อว่า ยู. เอ็ส. เอ็ส. อาร์. แต่ชื่อยาวเช่นนั้นใครจะเรียกไหว ต้องทนเรียกรัซเซียไปอย่างแต่ก่อน.

ประเทศเปอร์เซียเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) เปลี่ยนชื่อเป็นอิราน ซึ่งเป็นชื่อตามภาษาพื้นเมือง.

ในประเทศอาหรับ ราชอาณาเขตที่เคยเรียก เฮยาซ แลเนชด์ เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) เรียกชื่อใหม่ว่า ประเทศเซาดีอาเรเบีย.

ประเทศเอสโตเนีย (Esthonia) ในยุโรป เปลี่ยนชื่อเป็น เอสโตเนีย (Estonia) เพราะเหตุไร ผู้เขียนไม่ทราบ เมืองหลวงของประเทศนั้น แต่ก่อนเรียกว่า เรวาล เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) เรียกกรุง ดัลลีนน์.

ชื่อที่เปลี่ยนหลังที่สุด คือไอแลนด์ ซึ่งชื่อตามทางราชการเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) เป็นแอรา (สำเนียงท้ายระหว่าง อะ กับ อา เป็นเสียงละหุมากกว่าครุ).

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ