- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
พระเจ้ายอชที่ ๕
ในรัชกาลกวีนวิกตอเรีย บรมราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๕ ได้มียิงสลุตในกรุงลอนดอน เป็นเครื่องหมายให้ชนชาวกรุงทราบว่า พระราชกุมารประสูติใหม่พระองค์หนึ่ง เป็นพระราชโอรสของปรินซ์ออฟเวลส์ รัชทายาทอังกฤษในเวลานั้น (คือพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ ๗ ซึ่งภายหลังได้เถลิงราชบัลลังก์สนองพระองค์กวีนวิกตอเรียพระราชมารดาต่อมา)
ราชกุมารพระองค์นั้น เป็นราชโอรสพระองค์ที่ ๒ ของพระราชบิดามารดา ประสูติในสมัยซึ่งเดชแห่งปาลิเม็นต์มีมาง้ำตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ในสมัยนั้นการอภิปรายญัตติในปาลิเม็นต์ เป็นของซึ่งราษฎรชั้นกลางอ่านอย่างดูดดื่ม ไม่สู้จะภักดีต่อตำแหน่งราชาธิบดี ความคิดเห็นของคนส่วนมาก เอนเอียงไปข้างวิธีริปับลิก ชนิดไม่รุนแรง คือ ริปับลิคชนิดซึ่งไม่ยึดสมบัติของราษฎรไปเป็นของกลาง ต้องการเพียงแต่ให้ประชุมชนได้มีเสียงในการปกครองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน การเป็นเช่นนี้ จนถึงกับเข้าใจกันเป็นอันมาก ในหมู่ชนผู้มีสติปัญญาว่า พระราชบิดาของพระราชกุมารประสูติใหม่นั้น จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของประเทศอังกฤษ ซึ่งเสวยราชย์ต่อจากพระราชมารดามา.
ส่วนกวีนวิกตอเรียพระเจ้าแผ่นดินนั้น จำเดิมแต่พระราชสามีสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ประทับอยู่แต่ในที่รโหฐาน เยี่ยงสตรีผู้เป็นหม้ายสามีใหม่ ๆ ไม่ค่อยจะแสดงพระองค์ให้ราษฎรได้เห็น หรือเสด็จออกให้เฝ้าในพระราชพิธีต่าง ๆ แม้ราชสมีได้สิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว กวีนวิกตอเรียก็ยังฝังพระองค์อยู่ในความไว้ทุกข์ จนราษฎรชักจะเบื่อคำที่ได้ยินร่ำไปในทางราชการว่า พระเจ้าแผ่นดินยังไม่ส่างโศกที่สิ้นพระราชสามีไป.
ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินเริ่มทรงหวงพระองค์อยู่ในรโหฐานมาแล้ว ราษฎรได้มีโอกาศแสดงปีติครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าหญิงราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินเด็นมาร์ค ข้ามฟากมาในพิธีวิวาหมงคลกับปริ๊นซ์ออฟเวลส์รัชทายาทอังกฤษ บัดนี้เกิดพระราชโอรสแล้ว เป็นพระองค์ที่ ๒ พระชนมายุผิดกัน ๑๘ เดือน และในวันที่ชนชาวกรุงทราบข่าวประสูติราชกุมาร พระองค์ที่ ๒ นี้ ก็ไม่ค่อยมีใครนึกว่า ลู่ทางแห่งการบ้านเมืองจะเปลี่ยนจากตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินโงนเงนไปเป็นตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินมั่นคงประการใดได้ ถ้าจะกล่าวตามพงศาวดาร ต่อมากวีนวิกตอเรียได้เปลี่ยนเป็นแสดงพระองค์ในประชุมชนมากขึ้นทุกที และใส่พระทัยในราชการบ้านเมืองยิ่งขึ้น ๆ เพราะทรงรู้สึกว่า หน้าที่พระเจ้าแผ่นดินมาบังคับให้ต้องสละความเศร้าสร้อยถึงราชสมี ผู้มิอาจคืนพระชนม์มาได้ ในตอนปลายรัชกาลของพระองค์ กวีนวิกตอเรียได้เป็นที่รักของประชาราษฎรทั่วไป จนตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินกลับตั้งมั่นลงในน้ำใจคนได้.
พระราชกุมารที่ประสูติเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒ ของปริ๊นซ์ออฟเวลล์นั้น ได้ขนานพระนามว่า ยอช เฟรเดอริก เออเน็สต์ อัลเบอต มีพระนามพระปู่ ซึ่งเป็นชื่อเยอรมันอยู่ด้วย แต่พระราชกุมาร ได้ทรงรับความเลี้ยงดูอย่างเด็กอังกฤษมาตั้งแต่แรก เพราะพระราชบิดาไม่ทรงเห็นชยบ ที่จะเลี้ยงราชกุมาร ๒ พระองค์ให้เป็นผ้าพับไว้ อย่างที่พระองค์เองได้เคยทรงรับเลี้ยงมา จึงทรงจัดให้ราชกุมาร ๒ พระองค์ ทรงรับเลี้ยงดูอย่างเด็กธรรมดา ทั้ง ๒ องค์ได้อยู่ที่ราชเคหะนอกกรุงของพระราชบิดา ได้ทรงหัดขี่ม้าและยิงปืน ได้ทรงสำราญอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ และในสวนดอกไม้ ทรงเป็นเกลอกับหมาทุกตัวในคอกหมา และม้าทุกตัวในคอกม้าของพระราชบิดา ทรงจำเริญพระชนมายุและพระกายขึ้นด้วยหฤทัยอันแจ่มใส พระรูปปริ๊นซ์ยอชถ่ายเมื่อทรงพระเยาว์เป็นรูปเด็กลืมตากว้าง ปากกว้างและอ้าเหมือนกับกำลังประหลาดใจ หน้าเป็นหน้าเด็ก แต่เป็นเด็กซึ่งน้ำใจเปิดเผย ไม่มีอาการว่ากระมิดกระเมี้ยนความในใจเลย ในพระราชวงศ์เวลานั้นตัดสินกันว่า ราชกุมารพระองค์นี้เป็นเด็กอยู่ไม่สุข บางทีซุกซนเอามาก ๆ มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งปริ๊นซ์ยอช (คือราชกุมารองค์ที่เล่านี้) มีพระชนมายุประมาณ ๔ พรรษา กวีนวิกตอเรียพระเจ้าย่าทรงลงโทษเพราะตรัสเอ็ดในห้องเสวย ถูกห้ามแล้ว พอเผลอพระองค์ก็ทำอีก พระเจ้าย่าจึงตรัสให้มุดเข้าไปอยู่ใต้โต๊ะเสวย ปริ๊นซ์ยอชเข้าไปอยู่ใต้โต๊ะครู่ใหญ่ ๆ แล้วก็ร้องทูลออกมาว่า เป็นเด็กดีแล้ว พระเจ้าย่าทรงพระสรวลตรัสว่า ถ้าเป็นเด็กดีแล้ว ก็จงออกมาจากใต้โต๊ะเถิด.
ในระหว่างที่อยู่ใต้โต๊ะนั้น จะเป็นด้วยร้อนหรืออะไรก็ตาม ปริ๊นซ์ยอชได้เปลื้องเสื้อผ้าเครื่องทรงออกกองไว้หมด ครั้นคลานออกมาจากใต้โต๊ะ ก็ล่อนจ้อนทั้งพระองค์.