ดีเซ็ล

เราขึ้นรถไฟไปมาระหว่างกรุงเทพกับปักใต้ฝ่ายเหนือ ก็ได้เห็นรถดีเซ็ลเป็นรถลากอยู่เสมอ ๆ เมื่อไปเรือเดินทเล บางลำเขาก็ชี้ให้ดูเครื่องจักรบอกว่าเป็นเครื่องยนต์ชนิดนั้น เครื่องยนต์ทำงานชนิดอื่น ๆ ก็เป็นเครื่องยนต์ซึ่งใช้ชื่อเหมือนกันอีกมาก.

คำว่า ดีเซ็ล เป็นชื่อของผู้แรกคิดเครื่องยนต์ชนิดนี้ ได้คิดสำเร็จไปได้เพียงคั่นสองคั่น ครั้นผู้เริ่มคิดตายแล้ว ผู้อื่น ๆ ก็เก็บไปคิดต่อ จนเครื่องยนต์ดีเซ็ลเป็นของใช้ทั่วไป ในเวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) แต่จะเหมือนกับเครื่องที่เจ้าของเดิมคิดสักกี่มากน้อย ผู้เขียนก็ไม่รับชี้แจงได้ ในที่นี้ตั้งใจแต่เพียงจะเล่าเรื่อง ๆ หนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดสันนิษฐานกันขึ้นว่า มิศเตอร์ดีเซ็ลถึงความตาย เพราะเป็นผู้ติดเครื่องจักรชนิดนี้สำเร็จ.

เรื่องนี้จริงเพียงไหน ผู้เขียนไม่เคยทราบที่อื่น ที่เขียนนี้เขียนย่อตามหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสชื่อ “ปารีส์ ซัวร์” (Paris-Soir) ซึ่งออกในกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑)

ในหนังสือสัญญาแวร์ไซล์มีบัญญัติไว้ข้อหนึ่งว่า ห้ามไม่ให้ประเทศเยอรมันทำหรือใช้เครื่องยนต์ดีเซ็ลเป็นกำหนดเวลา ๑๐ ปี หนังสือสัญญาแวร์ไซล์ได้ทำกันภายหลังมหาสงคราม แต่ตัวมิศเตอร์ดีเซ็ลเองได้หายไปก่อนมหาสงคราม ไม่มีใครยืนยันได้ว่า หายไปไหนจนบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑)

บิดาของดีเซ็ลเป็นเยอรมัน มีอาชีพเป็นช่างเย็บหนังสือ ได้ไปอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เพื่อจะหัดวิชาของตนให้ดีขึ้น เกิดบุตรในประเทศฝรั่งเศส คือผู้ต้นคิดออกแบบเครื่องยนต์ชนิดที่กล่าวนี้ บุตรที่เกิดมาจึงรู้ภาษาฝรั่งเศสก่อนรู้ภาษาของตัวเอง ครั้นเกิดสงครามฝรั่งเศสกับเยอรมันขึ้นเมื่อ ๖๘ ปีมาแล้ว บิดาของดีเซ็ลก็พาลูกเมียข้ามไปอยู่ลอนดอน ต่อสิ้นสงครามแล้วจึงกลับไปอยู่ปารีสใหม่ ตอนนี้ลูกชายโตขึ้น พ่อก็ส่งให้ไปอยู่กับปู่และย่าในประเทศเยอรมัน เพื่อจะได้เรียนภาษาและเรียนวิชาหากินด้วย แต่ในเรื่องวิชาหากินนั้นเด็กดีเซ็ลได้ตกลงในใจเองแล้วว่า จะเป็นอินยิเนียร์ แต่ครั้นถึงคั่นที่จะเรียนเป็นอินยิเนียร์ พ่อแม่จนไม่มีเงินจะให้เป็นค่าเรียนและค่าฝึกซ้อม ดีเซ็ลหนุ่มจึงรับจ้างสอนภาษาฝรั่งเศส เอาเงินไปเป็นค่าเล่าเรียนวิชาอินยิเนียร์ในประเทศเยอรมัน

ครั้นดีเซ็ลได้เป็นอินยิเนียร์สำเร็จแล้ว ก็กลับไปอยู่ปารีส ได้ทำงานอินยิเนียร์และทดลองอยู่นาน ในที่สุดได้เขียนเป็นสมุดพิมพ์ขึ้นเล่ม ๑ ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ แสดงวิธีที่จะใช้น้ำมันข้นเป็นเชื้อไฟสำหรับเครื่องยนต์ได้ สมุดเล่มนั้น ได้ทำให้ตื่นเต้นกันมากในวงอินยิเนียร์ เพราะปัญหานั้น ยังไม่มีใครคิดตก.

เมื่อหนังสือนั้นพิมพ์ออกมาได้แล้ว ๒ - ๓ เดือน ดีเซ็ลได้รับจดหมายจากบริษัททำเครื่องจักรและเครื่องอาวุธใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมันว่า บริษัทจะให้ที่ให้เครื่องใช้ และให้ลูกมือสำหรับให้ดีเซ็ลทดลองทำเครื่องจักรให้สำเร็จตามความคิด การที่บริษัทใหญ่ยื่นความเกื้อหนุนมาให้เช่นนั้น ดีเซ็ลรับทันที เพราะเป็นโอกาศหายาก ครั้นไปทดลองอยู่ในประเทศเยอรมันได้ไม่กี่เดือน ก็ทำเครื่องยนต์ดีเซ็ลเครื่องแรกสำเร็จได้ เมื่อทำสำเร็จแล้ว บริษัทก็ให้ผู้ชำนาญตรวจและคุมให้เดินเครื่องยนต์ลองดู เครื่องยนต์ก็เดินได้จริง เป็นที่พอใจของผู้ชำนาญและของบริษัท หัวหน้าบริษัทจึงสัญญาว่าจะช่วยจัดการให้ดีเซ็ลได้เป็นเจ้าของเปเตนต์เครื่องยนต์ใหม่ของตน

แต่การขอรับเปเตนต์เครื่องจักรในประเทศเยอรมันคงจะมีพิธีซึ่งทำให้ช้ากว่าในประเทศอื่น ๆ ตามปกติ ดีเซ็ลคอยอยู่หลายเดือนก็ไม่ได้เป็นเจ้าของเปเตนต์เช่นว่า จึงเข้าไปไต่ถาม ก็ได้ความว่า เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของบริษัทคนหนึ่งเป็นคนทำให้ชักช้า ครั้นเข้าไปถามจะเอาเหตุผล ก็ได้รับชี้แจงว่า ผู้ต้นคิดทั้งหลายซึ่งคิดแบบเครื่องจักรและทดลองสำเร็จได้ ในสำนักงานของบริษัท ใช้เครื่องมือและของของบริษัท พูดสั้น ๆ ก็ว่า สำเร็จได้ด้วยความอุดหนุนของบริษัทนั้น ย่อมถือกันเป็นธรรมดาว่า ควรจดทะเบียนเปเตนต์ในนามของผู้อุดหนุน ผู้คิดแบบเองก็เพียงแต่ได้รับส่วนแบ่งกำไรเท่านั้น.

ดีเซ็ลได้ฟังดังนั้นก็โกรธเป็นกำลัง จึงผลุนผลันเข้าไปจนถึงออฟฟิศข้างในของหัวหน้าบริษัท แล้วต่อว่าด้วยอาการโกรธเคืองมาก และยืนยันว่า “เครื่องยนต์ของข้าพเจ้าเป็นผลแห่งความบากบั่นของข้าพเจ้า เป็นชิ้นสำคัญแห่งงานในชีวิตของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าจะไม่ยอมยกให้ใครเป็นอันขาด”

หัวหน้าบริษัทพูดปลอบโยนเป็นอันดีและในที่สุดสัญญาว่า เครื่องจักรนั้นจะจดทะเบียนเปเตนต์ใช้ชื่อต้นคิดว่า “เครื่องยนต์ดีเซ็ล” ไม่ใช้ชื่อบริษัท.

ดีเซ็ลได้ฟังดังนี้ก็เป็นที่พอใจว่าชนะ จึงเซ็นหนังสือสัญญากับหัวหน้าบริษัท หนังสือสัญญานั้นมีบางข้อซึ่งดีเซ็ลไม่ได้สังเกต หรือสังเกตแต่ไม่เข้าใจ ข้อเหล่านั้นรวมความลงว่า กำไรที่จะได้จากเครื่องยนต์ดีเซ็ลนั้นเป็นของบริษัทเกือบหมด เจ้าของผู้ออกแบบเองได้แต่ชื่อเท่านั้นเอง ต่อนี้ไป บริษัทก็ทำเครื่องยนต์ดีเซ็ลออกขายเป็นอันมาก.

ดีเซ็ลโกรธกำหมัดกัดฟัน แต่แก้ไขอะไรก็ไม่ได้ จึงคิดแก้แค้นอย่างสุขุม คือคิดแบบเครื่องยนต์ใหม่ให้วิเศษขึ้นไปยิ่งกว่าเก่า ได้พยายามอยู่ทั้งกลางคืนกลางวัน จนในที่สุดคิดเครื่องยนต์ดีเซ็ลแบบใหม่ออกมาได้ เครื่องใหม่นี้มีกำลังมากกว่า โสหุ้ยน้อยกว่า และราคาต่ำกว่าเครื่องยนต์ดีเซ็ลแบบเก่า ซึ่งบริษัทขายอยู่ในเวลานั้น.

แต่เครื่องยนต์ดีเซ็ลแบบใหม่นี้ ยังจดทะเบียนเปเตนต์ไม่ได้ ต้องรอให้ครบ ๑๐ ปี จากวันจดทะเบียนแบบเก่าเสียก่อน จึงจะจดทะเบียนแบบใหม่ได้ตามกฎหมายเยอรมัน.

ดีเซ็ลได้ทนนิ่งอยู่จนครบ ๑๐ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เมื่อครบกำหนดนั้นแล้ว ก็เสนอเครื่องแบบใหม่ให้ผู้ชำนาญไปดูการทดลอง กระทรวงทหารเรือได้ส่งผู้ชำนาญไปดูหลายนาย เครื่องแบบใหม่ของดีเซ็ลเดินได้เรียบร้อยเป็นที่พอใจของคนทั้งหลาย เห็นได้ว่าอาจใช้เดินรถไฟก็ได้ เดินเรือกำปั่นขนาดใหญ่ก็ได้ ดังนี้ เครื่องยนต์ดีเซ็ลแบบเก่าของบริษัทก็เป็นอันตกตะกร้าไปในวันนั้น.

ต่อมาหัวหน้าผู้ชำนาญของกระทรวงทหารเรือ ได้เรียกดีเซ็ลไปสนทนาสองต่อสองว่า “มิศเตอร์ดีเซ็ล ท่านทราบอยู่แล้วว่า มีภัยมาประชันหน้าประเทศที่รักของเราอยู่ เครื่องยนต์แบบใหม่ของท่านนี้ ย่อมเป็นชื่อเสียงแก่ท่าน แต่ท่านจะเป็นเจ้าของเปเตนต์โดยลำพังตนเองหาควรไม่ เพราะเครื่องยนต์นี้จะทำให้เรามีเครื่องมือรบอย่างเอก และจะทำให้ประเทศของเราเป็นประเทศซึ่งไม่มีใครจะเอาชนะได้”

ใจความในสนทนากันนี้ รวมลงได้ว่า รัฐบาลเยอรมันต้องการจะซื้อเครื่องยนต์ดีเซ็ลแบบใหม่ไปทำเรือดำน้ำใช้ในกองทัพเรือ.

ดังนี้ การที่จะจดทะเบียนเปเตนท์นั้นก็ยืดไปอีก เกิดมีโน่นนี่ซึ่งทำให้ชักช้าเรื่อยไป ในที่สุดดีเซ็ลเกิดโมโห จึงไปที่กระทรวงทหารเรือแล้วบอกแก่เสนาบดีว่า ถ้าไม่ได้เซ็นสัญญาตกลงกันในเร็ว ๆ ดีเซ็ลก็จะถือว่าสิ้นความผูกพันกับรัฐบาล และจะไปขายแบบของตนในประเทศอื่น.

เสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้ฟังดังนั้น ก็ยื่นสัญญาให้ดีเซ็ลทันทีว่า กระทรวงทหารเรือจะซื้อเครื่องยนต์แบบใหม่ ๑๐๐ เครื่องสำหรับทำเรือดำน้ำ ข้อนี้ทำให้ดีเซ็ลโกรธหนักขึ้น กล่าวว่าจะไม่ยอมยกสิทธิที่จะขายเครื่องยนต์ของตนได้ทั่วไปในตลาดแห่งโลก เพื่อจะได้ขายเครื่องให้แก่กระทรวงทหารเรือเพียง ๑๐๐ เครื่อง พูดเท่านั้นแล้ว ก็ออกจากห้องทำงานของเสนาบดีทหารเรือ ปล่อยให้ประตูปิดปัง แล้วรีบลงบรรใดไป ในวันเดียวกันนั้น ดีเซ็ลเขียนจดหมายไปบอกขายแบบเครื่องยนต์ของตนในลอนดอน ลอนดอนตอบรับซื้อทันที และได้รวมผู้มีทรัพย์หลายคนเป็นบริษัท ที่จะตั้งโรงงานทำเครื่องยนต์ต่อไป เรียกชื่อว่า บริษัทดีเซ็ลอังกฤษ อีก ๑๔ วัน ดีเซ็ลเดินทางจากประเทศเยอรมันไปที่ท่าเมืองอันตเว๊อปในประเทศเบลเยียม วันรุ่งขึ้นได้ลงเรือ ชื่อ “เคร็สเด็น” ข้ามไปประเทศอังกฤษ แต่เมื่อเรือไปถึงท่าอังกฤษนั้น หามีดีเซ็ลอยู่ในเรือไม่ หีบเสื้อผ้าก็อยู่ในห้องพร้อม แต่ตัวหายไป

ตำรวจอังกฤษได้พยายามสืบทุกทาง และบริษัทดีเซ็ลอังกฤษก็ได้ขวนขวายเต็มที่ เพื่อจะสืบเหตุให้ได้ แต่ไม่ได้ความอะไรยิ่งไปกว่าที่ว่าดีเซ็ลได้หายไปในระหว่างที่เดินทางทเล บริษัทดีเซ็ลอังกฤษก็เป็นอันว่าได้ตั้งขึ้นเก้อ.

ต่อนั้นไปอีกประมาณ ๑๐ วัน กลาลีฮอลันดา ๒-๓ คน พบศพดีเซ็ลลอยไปเกยอยู่ที่ใกล้ปากน้ำแห่งหนึ่ง เหตุใดดีเซ็ลจึงตาย และเหตุใดศพจึงลอยน้ำไปเกยฝั่งทเล ก็ไม่มีใครทราบมาจนบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) ต่อนั้นมาอีกประมาณ ๑๐ เดือนถึงมหาสงคราม เรือดำน้ำของกองทัพเรือเยอรมันใช้เครื่องยนต์ดีเซ็ลแบบใหม่.

ข้างบนนี้มาจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ซึ่งระบุชื่อไว้ข้างต้นแล้ว.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ