แค็นตอน

หนังสือพิมพ์นี้ได้กล่าว ๒-๓ หนแล้วในหมู่นี้ว่า วิธีหนึ่งซึ่งกล่าวกันว่าอาจเก้ปัญหายุ่งยากในเชกโกสโลวาเกีย ก็คือวิธีจัดดินแดนอันเป็นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อยให้เป็นไปตามแบบแค็นตอนในสวิตเซอร์แลนด์ แต่ยังไม่เคยชี้แจงว่า แค็นตอนในสวิตเซอร์แลนด์นั้นเป็นอย่างไร ผู้เขียนไม่ทราบว่าคำชี้แจงเช่นนั้นจะได้มีในหนังสือไทยที่ไหนบ้างแล้วหรือยัง แต่คิดจะชี้แจงย่อ ๆ ในที่นี้ อย่างน้อยที่สำหรับผู้อ่านประมวญวัน.

ก่อนที่จะชี้แจงถึงแค็นตอน จะกล่าวข่าวใหม่ในยุโรปเพียงเช้าวันนี้เล็กน้อย (ทรงเรื่องนี้เมื่อ ๒ ๓ ก.ย. พ.ศ. ๒๔๘๑) ข่าวเลอียดมีในหน้า ๖ และหน้าต่อ ๆ ไป ซึ่งเชิญผู้อ่านพลิกอ่านเพื่อทราบความมากขึ้น (ทรงหมายถึงประมวญวัน)

ข่าววันนี้ว่า รัฐบาลเชกโกสโลวาเกียเป็นอันยอมแล้ว ตามแปลนซึ่งรัฐบาลอังกฤษเสนอ และซึ่งรัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศสขะยั้นขะยอให้ตกลงทันที มิฉนั้นจะเกิดลุกลามต่อไปอีก ข้อที่ขะยั้นจะยอให้ตกลงทันที จนถึงราชทูตอังกฤษกับฝรั่งเศสได้ไปเตือนเมื่อเวลากลางคืน และรัฐบาลเชก โกสโลวาเกียต้องประชุมปรึกษากันไปจนสว่าง เมื่อสว่างแล้วก็ต้องประชุมกันไปอีกทอดหนึ่งจนสายนั้น ทำให้นึกว่าแฮร์ฮิตเลอร์คงจะกำหนดเวลาให้ตกลง เป็นทำนองอัลติเมตัม และ มร. เชมเบอเลน ต้องรับความตกลงของเชกโกสโลวาเกียไปเสนอต่อแฮร์ฮิตเลอร์วันนี้ คือวันพฤหัสบดี (ทรงเรื่องนี้เมื่อวันศุกร ๒๓ ก.ย. พ.ศ. ๒๔๘๑)

ถ้าพูดตามที่นึกนี้ สงครามก็อาจระงับไปได้ แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่ไว้ใจเอาเป็นแน่ เพราะเชกโกสโลวาเกียมิได้หมอบราบคาบแก้วเสียแต่ในนาฑีแรก ถ้าจะถือข้อที่มิได้ยอมทันที เป็นเหตุที่เรียกเอาอีกก็ยังได้ อนึ่ง โปแลนด์และฮังการีซึ่งตระหนาบท่อนกลางและท่อนหางของตุ๊กแก (รูปแผนที่ประเทศเชกโกสโลวาเกีย สมัยที่ทรงเขียนเรื่องนี้เหมือนตุ๊กแก) อยู่ ๒ ข้างนั้น ก็คำรามว่าจะเอาเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า ถ้าเอาได้ด้วยความหนุนหลังของแฮร์ฮิตเลอร์ เชกโกสโลวาเกียก็จะไม่อยู่เป็นประเทศต่อไปได้ จึงมีความเห็นบางพวกว่า ถ้าระงับสงครามไว้ได้ในวันนี้ สงครามใหญ่ขึ้นไปก็จะต้องเกิดในวันหน้าเป็นแน่ ในวันนี้ความเห็นแยกกันเป็น ๒ ฝ่ายทุกประเทศ ทั้งรัฐบุรุษชั้นสูงสุดและหนังสือพิมพ์ก็กล่าวเห็นชอบและไม่เห็นชอบแตกต่างตรงกันข้าม ในเวลานี้กฎหมายนานาประเทศ หรือหนังสือสัญญาอันใดก็ยึดเป็นหลักไม่ได้แล้ว การที่จะเดาอะไรโดยไม่มีหลักที่อ้างก็เดาไม่ได้ การต่อไปจึง “อยู่บนเข่าเทวดา” ทั้งหมด.

เมื่อวานนี้ผู้เขียนได้นำข่าวอัตราประกันภัยสงครามมากล่าวตามที่ได้ยินเป็นใจความข้อหนึ่งว่า อัตราประกันภัยสงครามเรือเดินผ่านทเลกลางขามาจากยุโรปตันละ ๓๐ ชิลลิง ขาไปยุโรปตันละ ๖๐ ชิลลิง (เดิมตันละ ๒ ชิลลิงครึ่งทั้งขาไปขามา)

การที่บริษัทประกันภัยวางอัตราผิดกันเช่นนี้ ก็เพราะว่า เรือที่เดินทางออกจากยุโรปอาจผ่านพ้นทเลกลางมาได้ในราว ๗ วัน แต่เรือที่จะไปยุโรปนั้น ออกเดินทางจากอ่าวไกล ๆ กว่าจะถึงทเลกลางก็อาจเดือนหนึ่ง การที่กำหนดอัตราขามาจากยุโรปเพียงครึ่งหนึ่งของขาไปยุโรปนั้น ก็เพราะบริษัทประกันภัยเห็นว่า ท่วงทีที่จะเกิดสงครามภายใน ๗ วันนั้น น้อยกว่าท่วงทีที่จะเกิดในเดือนหนึ่ง.

ตามความเข้าใจของผู้เขียนในวันนี้ว่า เมื่อเฉือนหัวตุ๊กแกออกไปให้เยอรมันแล้ว ส่วนที่ยังเหลือ ถ้าภาคใดมีชนเผ่าต่างประเทศอยู่มาก ก็จะจัดให้เป็นแบบแค็นตอนต่อไป (ความข้อนี้พรุ่งนี้อาจเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น แต่จะพูดเพียงที่เป็นอยู่ในวันนี้)

ประเทศที่จัดเป็นแค็นตอนคือสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศนั้นเป็นตัวอย่างวิธีปกครองแบบนี้ในตำรา เพราะเป็นแบบประชาธิปัตย์แบบหนึ่งซึ่งไม่เหมือนใคร และใครทำไม่เหมือน.

แค็นตอนคือมณฑลประเทศราช มีสิทธปกครองตนเอง แต่มีรัฐบาลกลางเป็นผู้บัญชาการทั่วไปทั้งประเทศในเรื่องสงคราม และในการทำหนังสือสัญญากับประเทศอื่น ๆ อีกทั้งเป็นผู้ควบคุมราชการชนิดที่ต้องทำเหมือนกันทั่วประเทศด้วย ระบอบปกครองระบอบนี้เรียกในตำราว่า ประชาธิปัตย์ แบบเรเฟอเร็นดัล ดีโมคระซี ผิดกับแบบเปรซิเด็นต์เชียล ดีโมคระซีของ ส.ป.ร. อเมริกา หรือแบบปาลิเมนตารี ดีโมคระซีของอังกฤษ ระบอบปกครองอย่างสวิตเซอร์แลนด์ ไม่น่าจะตั้งอยู่ได้ เพราะพลเมืองสำส่อนกันหลายพวก แต่ละพวกล้วนมีสิทธิเสมอกัน แยกพวกกันแต่ไม่แก่งแย่งกัน จึงเป็นของแปลกในโลก ซึ่งแม้พวกเดียวกันแท้ ๆ ถ้าไม่มีพวกอื่นจะแก่งแย่งด้วยก็แก่งแย่งกันเอง.

ในสมัยที่แล้วมา สวิตเซอร์แลนด์มีอาการว่า มีอนาคตอันมั่นคงยิ่งกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะไม่มีประเทศใดปองร้าย จึงได้รับยกย่องให้เป็นที่ตั้งสำนักงานระหว่างประเทศ เช่น สันนิบาตชาติ สันนิบาตกาชาด สมาคมไปรษณีย์ระหว่างประเทศ และสมาคมโทรเลขระหว่างประเทศ เป็นต้น ครั้นมหาสงครามที่แล้วมา (สงครามโลกครั้งที่ ๑) แม้ประเทศรอบด้านจะรบกัน เหมือนระลอกเต็มไปในสระ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเปรียบเหมือนใบบัวใบเดียวลอยอยู่กลางสระก็ลอยอยู่ได้ แต่ในปัจจุบัน (ก.ย. พ.ศ. ๒๔๘๑) สวิตเซอร์แลนด์ชักจะร้อนตัวขึ้นมาบ้าง เพราะลัทธิอย่างใหม่ที่ถือว่า ชนเผ่าใดอยู่ไหน คติปกครองก็ต้องกินลามไปถึงให้จนได้นั้น เป็นลัทธิซึ่งทำให้เกรงว่า ถ้าเกิดสงครามขึ้นอีก ใบบัวก็อาจทนระลอกไม่ได้.

ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะชาติสวิสประกอบขึ้นด้วยชนเผ่าต่าง ๆ คือเยอรมันประมาณ ๓ ใน ๔ แห่งพลเมือง ฝรั่งเศส ๑ ใน ๕ อิตาเลี่ยน ๑ ใน ๑๖ กับมีชนเผ่าอื่นซึ่งใช้ภาษาเรียกว่าโรแมนช์อีกบ้าง ชนทั้ง ๔ เผ่านั้น ภาษาของใคร ใครก็พูด เป็นภาษาราชการทั้ง ๔ ภาษา กฎหมายของประเทศพิมพ์กำกับกันทุกภาษา ไม่ถือว่าภาษาไหนสำคัญกว่ากัน (เรื่องภาษานี้คือข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเชคโกสโลวาเกีย) ถ้าผู้อ่านอ่านหนังสือเก่ากว่าที่ออกปีนี้ จะเข้าใจว่าภาษาราชการในสวิตเซอร์แลนด์ยกว่าเสมอกันเพียง ๓ ภาษา คือเยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาเลียน ทั้งนี้ ก็เพราะว่าได้ตกลงกันยกภาษาโรแมนช์ขึ้นเป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคมปีกลายนี้เอง (ทรงเรื่องนี้เมื่อ ๒๓ ก.ย. พ.ศ. ๒๔๘๑) ภาษานี้มีคนพูดประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน ในแค็นตอนที่อยู่ภาคตวันออก.

สวิตเซอร์แลนด์แยกเป็นแค็นตอน ๒๕ แค็นตอน (หนังสือบางเล่มว่า ๒๒ แค็นตอน เพราะกล่าวจำแนกไม่เลอียด)

เหตุไฉนชนเยอรมัน ฝรั่งเศสและอิตาเลียนจึงอยู่กลมเกลียวกันดีในสวิตเซอร์แลนด์ แต่นอกสวิตเซอร์แลนด์ออกมารบและแก่งแย่งกันแทบไม่มีเวลาหยุด ปัญหานี้ตอบว่า ข้อที่ ๑ เพราะยกย่องภาษาเสมอกันหมดไม่มีอิจฉากันในเรื่องนี้ ข้อที่ ๒ เป็นเพราะวิธีปกครองไม่มีใครได้เปรียบใครในรัฐบาลกลาง ส่วนการปกครองตัวเองภายในแค็นตอนนั้น เป็นอิสระกันทุกแค็นตอน แค็นตอนเหล่านั้น บางทีก็เล็กจนถึงพลเมืองไปประชุมพร้อมกันในที่เดียวได้ทั้งหมด ทุกคนออกเสียงได้เองไม่ต้องมีผู้แทน ซึ่งเป็นประชาธิปัตย์แท้.

ส่วนงานซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง นัยหนึ่งงานซึ่งแค็นตอนทั้งหลายร่วมกันทำ เป็นต้นว่าประศาสโนบายต่างประเทศ การป้องกันประเทศ หรือการจัดเบี้ยตราของประเทศ เหล่านี้เป็นธุระของรัฐบาลกลาง ซึ่งตั้งสำนักอยู่ที่เมืองหลวง ปาลิเม็นต์ของสวิตเซอร์แลนด์มี ๒ สภา สภาสูงคือผู้แทนแค็นตอน ๆ ละ ๒ คน สภาล่างเป็นผู้แทนราษฎร เลือกตามจำนวนพลเมือง พลเมือง ๒๐,๐๐๐ คนเลือกผู้แทนได้ ๑ คน ปาลิเม็นต์ของสวิตเซอร์แลนด์นี้ดูเผิน ๆ ก็คล้าย ส.ป.ร. อเมริกา แต่ตำราแยกว่าเป็นประชาธิปัตย์คนละชนิด ดังกล่าวมาในเบื้องต้นนั้นแล้ว.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ