ผักบุ้งโหรงเหรง

“นิราศเรื่องเมืองลอนดอนอาวรณ์ถวิล จำจากมิตรขนิษฐายุพาพิน”

กลอน ๒ วรรคนี้ ขึ้นต้นนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย (กระต่าย) หม่อมราโชทัยเป็นผู้พูดอังกฤษได้ ในสมัยที่ไทยน้อยคนพูดได้ ในรัชกาลที่ ๔ จึงได้ไปเป็นล่าม เมื่อราชทูตสยามไปเฝ้าเจริญทางพระราชไมตรีต่อกวีนวิกตอเรีย พระบรมราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษ.

ผู้อ่านพึงสังเกตคำว่าบรมราชินีนาถ ไม่ใช่บรมราชินีเฉย ๆ เพราะว่าเมื่อเติมคำว่า “นาถ” เข้าไป ก็หมายความว่า ราชินีซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินโดยพระองค์เอง หาใช่เป็นเพียงมเหสีของเจ้าแผ่นดินชายไม่.

ในสยามได้เคยเรียกสมเด็จพระศรีพัชรินทราว่า พระบรมราชินีนาถ เพราะได้ทรงว่าราชการบ้านเมือง ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อ ร.ศ. ๑๑๖.

คำว่าประพาส ซึ่งเคยเขียนประพาศ แปลว่าไปจากบ้านของตน จะไปธุระหรือไปเที่ยว ถ้าไปจากบ้านเรียกว่าประพาสได้ แต่หนังสือไทยมักใช้ประพาสว่าเที่ยว ไม่ต้องไปไหนไกล แม้เพียงพระธิดาเสด็จลงชมสวนชั่วประเดี๋ยวเดียว ก็เรียกว่าประพาสสวนเสียแล้ว แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จยุโรปครั้งนั้น จะว่าเสด็จเที่ยวแท้ ๆ ก็ไม่ได้ เพราะได้ทรงทำให้สัมพันธไมตรีกับประเทศอื่น ๆ มั่นคงขึ้น.

ย้อนกลับไปพูดถึงคนรู้ภาษาอังกฤษในรัชกาลที่ ๔ เห็นจะควรเชื่อได้ว่า ไทยที่รู้มากที่สุดในเวลานั้น ก็คือพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ เพราะผู้เรียนเวลานั้น ก็ล้วนแต่ “โดยเสด็จ” ในการเรียนทั้งนั้น ถ้าใครเคยอ่านพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษ ก็คงจะเห็นเช่นที่ว่านี้ หม่อมราโชทัยเมื่อกลับจากยุโรปแล้ว คงจะพูดอังกฤษคล่องกว่า และรู้มากกว่าเมื่อก่อนไป แต่ไม่ใช่อย่างที่เรารู้กันเดี๋ยวนี้ เห็นได้เช่น “ถึงโฮเต็ลเอนกายให้หายเมื่อย ช่างเหน็ดเหนื่อยอ่อนใจกระไรหนอ ขุนนางหนึ่งสมญาลอดมายอ เขามาขอเชิญทูตทั้งสามคน” เป็นต้น.

ในรัชกาลที่ ๔ หม่อมราโชทัยได้เป็นหัวหน้าตุลาการศาลคดีต่างประเทศ การเลือกคนเข้ารับราชการ ในสมัยที่คนมีความรู้มีน้อย ย่อมจะไม่ลำบากในการเลือก ในตอนต้น ๆ รัชกาลที่ ๕ นักเรียนที่สอบไล่ประโยคสุดของโรงเรียนสวนกุหลาบ ถูกจองไปรับราชการตามกระทรวงก่อนเวลาสอบไล่ได้ ไม่ใช่เพียงจองเฉย ๆ ถ้าเด็กมีหน่วยก้านดีก็แย่งกันด้วยซ้ำ.

ในสมัยนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) มี ก.พ. ซึ่งเกิดยุ่งอะไรกันนักหนา จนต้องตั้งกรรมการไต่สวน และเจ้าหน้าที่ถูกสั่งพักราชการกันเป็น ๓ คน.

ประเทศอังกฤษ ได้ชื่อว่าระเบียบข้าราชการ Civil Service ดีนัก มีกรรมการชุดหนึ่งตรงกับ ก.พ. ของเรา ภาษาของเขาเรียกว่า Civil Service Commission และเราเรียกในที่นี้ว่า ก.พ.อ. (อ. แปลว่า อังกฤษ) ก.พ.อ. ได้ตั้งมาแต่สมัยสงครามไครเมีย มีหน้าที่เป็นผู้เลือกคนเข้าเป็นข้าราชการ เปลี่ยนจากวิธีตั้งลูกท่านหลานเธอตั้งแต่ก่อน ตั้งแต่มี ก.พ.อ. มาจนบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ก็กว่า ๘๐ ปีแล้ว ยังไม่เคยได้ยินว่า มีเรื่องมีราวอะไรเลย ได้ยินแต่ว่า ของเขาเรียบร้อยนัก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก.พ.อ. ได้พิมพ์สมุดรายงาน กล่าวถึงการสอบไล่รับคนใหม่เข้าประจำตำแหน่งราชการในปีหนึ่งถึง ๑๔,๐๐๐ คน เก็บเงินค่าธรรมเนียมจากผู้สมัคได้ถึง ๔๐,๐๐๐ ปอนด์ ในการสอบไล่ของ ก.พ.อ. คราวหน้า ได้มีผู้สมัคแล้ว ๗,๐๐๐ คน แต่ยังไม่ได้สอบไล่ ก.พ.อ. เขามีวิธีงานอย่างไรจึงเรียบร้อยนักหนา รายงานของเขาที่ออกใหม่นั้น เผื่อ ก.พ. ของเราจะยังไม่ได้เห็น ถ้าซื้อมาดูก็คงไม่เสียเงินเปล่า อนึ่ง ถ้าใครใส่ใจจะทราบเรื่อง ก.พ.อ. ก็ขอแนะให้อ่านสมุดของ Trollope ด้วย.

การอ่านหนังสือเอาเอง เพื่อจะได้ความรู้ที่ไม่เคยเรียนนั้น แม้จะสู้เรียนจริง ๆ ไม่ได้ ก็ยังดีกว่าไม่ได้อ่าน ที่แท้ใครจะเรียนจริง ๆ หลาย ๆ แผนกวิชาก็ไม่ได้ เพราะฉนั้น ถ้ามีพื้นความรู้พอควรอยู่แล้วก็อ่านต่อได้มาก ๆ เรานึกถึงเรื่องนี้ เพราะวันหนึ่งประมาณ ๓ สัปดาหะมานี้เป็นวัน “ยูบิลีเงิน” ของสมุดชุดหนึ่งที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยในบ้าน” (The Home University Library) ซึ่งตั้งใจให้เกิดความรู้แก่ผู้อ่านในแผนกวิชาต่าง ๆ ซึ่งไม่เคยมีโอกาสได้เรียนในสำนักศึกษา และเป็นสมุดราคาถูกพอที่คนจนจะซื้อได้ สมุดชุดนั้นพอออกก็ขายดีทันที ชั้นแรกก็ได้ออกเพียง ๗ เล่ม เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) มีถึง ๑๗๐ เล่ม ข้อประหลาดหรือไม่ประหลาดที่จะกล่าวในที่นี้ ก็คือว่า นอกจากในประเทศอังกฤษเองแล้ว สมุดชุดนั้นขายในประเทศญี่ปุ่นมากกว่าในประเทศไหน ๆ ทั้งนั้น.

ผู้เขียนไม่ได้กล่าวหรือหมายความว่า ญี่ปุ่นไปไกลในทางจำเริญ เพราะอ่านหนังสือชุดนั้น กล่าวได้แต่เพียงว่า นิสัยที่ต้องการจะคืบความรู้อยู่ร่ำไป ย่อมเป็นสิ่งมีประโยชน์นัก นิสัยที่รู้เพียงไหนก็พอ หรือไม่รู้เลยก็พอนั้น ถ้าพูดถึงความใคร่จำเริญก็เสียเปรียบผู้ยังไม่พออยู่ร่ำไป นี่อาจเป็นเพียงคติโลก ไม่ใช่คติธรรมก็เป็นได้.

พูดถึงการอ่านหนังสือเพื่อความรู้ จะเป็น “มหาวิทยาลัยในบ้าน” หรือ “นิราศลอนดอน” ก็ตาม ถ้ามีพื้นความรู้แล้ว อ่านลวก ๆ ก็ไม่ค่อยจะคืบความรู้ไปได้ ท่านลองย้อนไปอ่านกลอน ๒ วรรคที่เขียนไว้ข้างต้น “นิราศเรื่อง เมืองลอนดอน อาวรณ์ถวิล” คำทุกคำดีหรือไม่ อย่าเชื่อว่าดีเพราะเคยได้ยินเขาว่าดีมานานแล้ว จงคิดถึงคำและถึงความ และสังเกตสัมผัสในกลอนด้วย “จำจากมิตร ขนิษฐา ยุพาพิน” ดีทุกคำ และเมื่อรวมกันทั้งหมดดีหรือไม่ จงลองนึกดูว่า ผู้แต่งนิราศตั้งใจจะว่า จำเป็นจะต้องไปจากมิตร ๑ ขนิษฐาคือน้องสุดท้อง ๑ ยุพาพินคืออะไรก็ไม่รู้ ๑ หรือ ตั้งใจจะว่า “มิตรขนิษฐายุพาพิน” ทั้งหมดนั้นคือเมีย หรือจะเป็นด้วยปล่อยให้กลอนพาไปเท่านั้นเอง.

ถ้าเราใจเร็วเราอาจว่าคำ ๓ คำนั้นรวมความลงว่าเมีย แล้วนึกตำหนิว่า เอาศัพท์ทั้งสามมาซ้อนกันราวกับกระบวนแห่เพื่อจะเอาสัมผัส และให้มีคำเต็มวรรคเท่านั้นเอง ถ้าเรานึกเช่นนี้ เราก็ใจเร็วไป เพราะผู้แต่งนิราศย่อมจะมีมิตรหลายคน อาจมีน้องสุดท้อง และคงจะมียุพาพินด้วย เพราะฉนั้น ศัพท์สามศัพท์ อาจหมายความสามอย่างก็ได้ เมื่อไปทางไกลก็ย่อมจะจากทั้งมิตร ทั้งญาติ และทั้งยุพาพินด้วย เหตุดังนี้ เราจะกล่าวว่าเอาศัพท์มาตั้งกระบวนแห่ก็ไม่ควร เพราะมีทางอธิบายได้.

แต่คำว่า “ยุพาพิน” นั้นเหลวแน่ จะว่ายุพาก็ว่าไป หรือจะว่ายุพินก็ตามที แต่เหตุไฉนจึงเอาทั้งพาและพิน มารวมเบียดเสียดอยู่ในคำเดียวกัน ลองถามท่านมหาท่านดูเถิด ท่านว่าเหลวเป็นแน่.

แต่ที่กล่าวนี้ ไม่ใช่กล่าวตำหนิผู้แต่งนิราศลอนดอน ที่แท้กวีรุ่นเก่าใช้ “ยุพาพิน” กันมาก ยิ่งสุนทรภู่ยิ่งบ่อยทีเดียว ศัพท์ ๆ นี้ดูเหมือนกวีปัจจุบันจะไม่ใช้ ซึ่งดีกว่าใช้เป็นแน่.

ผู้เขียนได้ดูวันในนิราศลอนดอน ได้ความว่า ตั้งแต่ราชทูตออกเดินทางไปเจริญพระราชไมตรีครั้งนั้น มาถึงเดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ๗๙ ปี แต่นิราศลอนดอนจะได้แต่งเมื่อไรไม่ทราบ ในรัชกาลที่ ๔ ได้ตั้งโรงพิมพ์หมอบรัดเลแล้ว แต่ผู้เขียนไม่มีนิราศลอนดอนฉบับพิมพ์ครั้งแรก หรือถ้ามีอยู่ในบ้านก็หาไม่พบ อย่างไรก็ดี อีก ๒๐ ปีเศษ จะครบรอบ ๑๐๐ ปีของวันที่ออกนิราศลอนดอน จะมีการฉลองเหมือนที่ชนอังกฤษเขาฉลองวันครบรอบ ๑๐๐ ปีของหนังสือ “ปิ๊กวิ๊ก” เมื่อเดือนก่อนนี้หรือไม่ (ทรงเรื่องนี้เมื่อ เมษายน ๒๔๗๙) ในสยามอีก ๒๐ ปีจะชื่นชมต่อวรรณคดีมากขึ้นหรือน้อยลง หรือจะอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ ก็ทายไม่ถูก แต่ถ้าจะเดาก็ต้องเดาข้างดีไว้ คือจะยินดีต่อวรรณคดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะวรรณคดีเป็นแผนกสำคัญในความรู้อย่างผู้ดีของคนทั้งหลาย.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ