- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
คำแถลงของผู้รวบรวม
พระนิพนธ์ต่าง ๆ ของท่าน น.ม.ส. ได้ถูกรวบรวมขึ้นเป็นเล่มสมุดอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ ๓ ในระยะเวลาประมาณ ๒ ปีที่ผ่านไป เล่ม ๓ นี้พิมพ์ผิดพลาดลดน้อยลงไปมาก และมีปาฐกถาอยู่ด้วย ๒ เรื่อง คือเรื่องพูดให้นักเรียนฟังที่โรงเรียนวชิราวุธ กับเรื่องนิราศนรินทร์ นี่อาจจะถือว่าเป็นความแตกต่างกับ ๒ เล่มที่แล้วมาได้.
ท่านเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้รวบรวม และทางโรงพิมพ์ผู้พิมพ์เรื่องนี้ ต่างร่วมมือกันตรวจทานหลายครั้ง จึงทำให้ผิดพลาดลดน้อยลงไปกว่าแต่ก่อนมาก แต่ไม่ถึงดีที่สุด คือไม่มีผิดเลย การตรวจทานต้นฉบับ ถ้ามีต้นฉบับอื่นนอกไปจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องใช้อยู่โดยปกตินั้นแล้ว ผู้รวบรวมก็ได้นำมาตรวจสอบด้วยเท่าที่จะหามาได้ ต้นฉบับดังกล่าวถึงนี้ คือนิราศนรินทร์กับกำศรวญศรีปราชญ์ จับความผิดพลาดของหนังสือพิมพ์ได้บ้าง แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีปนอยู่ไม่น้อยในเล่มนี้แล้ว ไม่มีต้นฉบับอื่นใดที่จะนำมาสอบทานได้เลย ท่านเจ้าของลิขสิทธิ์ทรงแจ้งว่า ต้นฉบับถูกไฟไหม้หมด ดังนั้นจึงเป็นไปตามหนังสือพิมพ์ซึ่งคงจะต้องมีผิดพลาดบ้างเป็นแน่ ขอท่านผู้ที่มีความชำนาญทางภาษาอังกฤษได้โปรดประทานอภัย อนึ่ง ท่านเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ได้ทรงแนะนำผู้รวบรวมเหมือนกันว่า ให้ตัดภาษาอังกฤษทิ้งไป แต่ผู้รวบรวมได้ทูลว่า เกรงใจความของท่านที่ทรงไว้จะขาดหายไป จึงจะขอคงของท่านไว้บ้าง แต่ถ้าเห็นไม่จำเป็น ก็จะขอตัดออกไปบ้าง ได้ถือแนวนี้ปฏิบัติตลอดมา.
ความรู้ทางถ้อยคำสำนวนภาษาไทยและต่างประเทศ ได้จัดเข้ากลุ่มไว้กลุ่มหนึ่ง ในหัวเรื่องที่ว่า “หนังสือและคำพูด” เรื่องในกลุ่มนี้คงจะส่งเสริมความรู้ทางภาษาไทยแก่ท่านผู้อ่านได้ไม่น้อยเลย และยังมีเรื่องนิราศนรินทร์ซึ่งอาจให้ความรู้อย่างเดียวกันอยู่อีกเรื่องหนึ่งด้วย เมื่อเรามาพินิจพิจารณากันดูถึงความรู้สึกนึกคิดในเรื่องที่เกี่ยวกับภาษาไทยของท่าน น.ม.ส. ที่ทรงแสดงออกซึ่งปรากฏมากแห่งใน “ผสมผสาน” ตั้งแต่เล่ม ๑ มาจนถึงเล่ม ๓ นี้แล้ว เราก็จะเห็นได้เด่นชัดว่า ท่าน น.ม.ส. ทรงวิตกเดือดร้อนไม่น้อยทีเดียว อนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงมีพระราชวิตกทุกข์ร้อนเช่นนั้น แต่อาศัยที่พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจกับทั้งทรงมีพระราชประสงค์อันสูงยิ่ง ที่จะดำรงไว้ซึ่งภาษาไทยอันดี เพื่อประเทศชาติไทยของพระองค์ จึงทรงหาทางแก้ไขให้ภาษาที่เลวกลับเป็นดีขึ้นได้โดยเร็วทันในรัชสมัยของพระองค์ ผู้อื่นถึงจะมีความหวังดีทัดทานท้วงติงสักเพียงไรดังเช่นท่าน น.ม.ส. ได้ทรงพยายามมาเป็นอันมากนั้น ก็ดูจะได้ผลไม่ไกลอะไรนัก ในที่สุดพระองค์ท่านก็ทรงอ่อนพระทัยไปเอง คงจะเห็นได้ที่ท่าน น.ม.ส. ทรงเขียนไว้แห่งหนึ่งว่า... “เราเขียนข้างบนนี้เป็นพลีครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือและภาษาไทยกันมาเดิม หรือเหมือนจุดธูปเทียนลอยกระทงไปตามกระแสน้ำ ลอยแล้วก็แล้วกัน ลอยทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เทียนไม่ทำความสว่างให้แก่แม่น้ำได้”
สงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดเมื่อ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เรื่องที่ท่าน น.ม.ส. ทรงเขียนก่อนหน้าสงครามปีสองปีจึงกล่าวถึงสงครามในอนาคตอยู่ด้วยอย่างน่าอ่าน ผู้รวบรวมได้นำมาบ้างเล็กน้อย หวังจะให้ผู้อ่านได้เห็นทิศทางของสงครามใหญ่ว่ามีมาแล้วประการไรบ้าง เรื่องลักษณะนี้ทรงเขียนไว้ไม่น้อย โลกเรานี้ดูจะไม่ว่างเว้นจากศึกสงครามเสียเลย ไม่มีชนิดใหญ่ก็มีชนิดย่อยที่โน่นบ้างที่นี่บ้างอยู่เสมอมา ลาวเพื่อนบ้านของเราก็กำลังตกอยู่ในภาวะดังกล่าวนี้ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นแล้ว ท่าน น.ม.ส. ก็ได้ทรงเขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์ “ประมวญวัน” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ท่านทรงสนับสนุนอยู่เป็นอันดีมากมาย ถ้าจะนำเรื่องดังกล่าวมารวมพิมพ์เป็นเล่มก็คงจะได้เล่มขนาดเรื่องสัก ๒ - ๓ เล่มดอกกระมัง เพราะท่านทรงเขียนอยู่หลายปี และทรงเขียนเกือบจะทุกวันทีเดียว ท่าน น.ม.ส. มาทรงหยุดเขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์เป็นประจำก็ตอนที่ผู้ควบคุมรัฐประศาสโนบายในสมัยนั้นไม่เห็นชอบให้ท่านเขียน โดยเห็นว่าท่านเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ และดูจะเนื่องมาจากเรื่องอักขรไทยวิบัติครั้งใหญ่ยิ่ง เช่น กฎหมาย ให้เขียนว่า กดหมาย เจริญ ให้เขียนว่า เจริน ดังนี้เป็นต้นด้วย ท่านเป็นนักภาษาและกวีชั้นแนวหน้าของชาติไทย ท่านทนไปไม่ไหว ท่านก็เลิกไป จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ไปในกาลต่อมา.
ผู้รวบรวมตั้งใจจะปรับปรุง “ผสมผสาน” เล่ม ๑ ให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น และจะเพิ่มเติมเรื่องที่น่าอ่านน่ารู้เข้าไปอีก คิดว่าคงจะได้รูปเล่มโตขึ้นอีก คงจะโตกว่า ๒ เล่มในชุดเดียวกัน
ล. อุดมศรี
พระนคร
๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔