ย่นทาง

พระอิศวร หรือพระอินทร์ หรือเทวดาองค์ไหน มีองค์หนึ่งในเรื่องบทกลอนไทยที่รับหน้าที่ย่นทางให้นางเอกในเวลาที่ต้องเดินทางไกลกันดาร ทางตั้งร้อยตั้งพันโยชน์ซึ่งคนธรรมดาจะต้องเดินอยู่ตั้งเดือนตั้งปี เทวดาย่นทางให้ประเดี๋ยวเดียวนางเอกก็เดินถึงได้.

เทวดาเลือกที่รักมักที่ชัง จำเพาะจะกรุณาอยู่แต่นางเอก ซึ่งเป็นธรรมดาต้องเป็นสาวสวยผิดมนุษย์ สาวไม่สวยยิ่งมนุษย์ไม่ได้เป็นนางเอก เพราะฉนั้นเทวดาไม่ย่นทางให้ แม้นางพันธุรัตแลนางเบ็ญกายก็ต้องมีฤทธิ์เหาะได้เอง จึงไปไหนถึงเร็วได้.

คนนอกหนังสือไม่เคยมีใครเลยที่เทวดาช่วยย่นทางให้ เราจะไปไหน จะเร็วก็ตามช้าก็ตาม ต้องอาศัยกำลังและปัญญาของคนทั้งนั้น สมัยนี้เทวดาออกเวรไปหมดแล้ว และผลแห่งปัญญาของมนุษย์ก็เกิดยิ่ง ๆ ขึ้น.

เพียงรัชกาลที่ ๓ นี้เอง ถ้าท่านอยู่ในกำแพงพระนคร จะมาที่ทุ่งหรือป่า ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานประมวญมารค ท่านก็จะต้องมีเสบียงอาหารมากิน โดยมากจะต้องค้างคืนด้วย เดี๋ยวนี้เรากับท่านไปถึงตัวกันได้ในประเดี๋ยวเดียว ถ้าท่านจะพูดกับเรา ท่านบอกสำนักงานโทรศัพท์กลางว่า “บางรัก ๕๘๘๕” ก็พูดกันได้ทันที (ถ้าโทรศัพท์ไม่เสีย) ทั้งนี้ ก็เพราะเราหูทิพย์ทั้ง ๒ ฝ่าย.

พูดถึงหูทิพย์ เราดีกว่าเทวดาผู้มีทิพยโสตร หูทิพย์ของเรามีต่อเมื่อเรายกเครื่องฟังโทรศัพท์ขึ้นจอที่หูของเรา หรือเมื่อเราเปิดเครื่องรับวิทยุ (ในคืนที่อากาศโปร่ง) เราไม่ต้องการฟังเราก็ไม่เข้าไปที่เครื่องโทรศัพท์ หรือเปิดเครื่องรับวิทยุ แต่ถ้าเรามีหูทิพย์ได้อย่างเทวดา เราจะได้ยินอะไรที่ไม่ต้องการได้ยิน ชีวิตจะเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น เราฟังวิทยุกระจายเสียง เราได้ยินใครพูดไม่น่าฟัง เราก็ปิดเสีย ถ้าหูทิพย์อย่างเทวดาก็จะต้องใช้สำลีอุดหูกันเป็นนิตย์ แล้วจะต้องวิ่งหาหลวงแพทย์โกศลและหลวงโกศวชศาสตร์ร่ำไป ตาทิพย์ก็อย่างเดียวกันอีก ในสมัยนี้ถ้าที่ว่าง ๆ เราส่องกล้องก็เห็นได้ไกลพอใช้ แต่ถ้าตาทิพย์อย่างเทวดา เห็นไกลและเห็นทลุอะไรต่ออะไรไปได้ ใครจะทำบ้าหรือทำสกปรกอะไรที่ไหน เราไม่ต้องการเห็นก็ต้องเห็น จะเปลืองยาล้างตามาก ๆ

กลับไปพูดถึงการย่นทางใหม่ อย่าพูดเพียงเมืองไทยเลย พูดทั่วโลกทีเดียวเถิด.

ผู้มีปัญญาเคยกล่าวว่า ถ้าจะไปไหนให้เร็วทันใจ ให้ไปโดยกำลังตัวเอง ถ้าทางบกก็เดินไปหรือวิ่งไป หรือขี่จักรยานชนิดที่ถีบด้วยเท้า ถ้าทางน้ำก็ว่ายน้ำหรือแจวพายไปเอง จะรีบไปไหนทางบก ถ้าเดินไม่เร็วทันใจก็วิ่ง ถ้าวิ่งไม่ทันใจก็วิ่งให้เร็วเข้าอีก นั่นแหละจะทันใจแท้ ผู้มีปัญญาที่เคยกล่าวเช่นนี้จะเป็นใครเราก็จำไม่ได้ อาจเป็นเราเองกล่าวไว้นานจนลืมก็ได้ ถ้าเราเองเป็นผู้กล่าวก็ต้องขอถอนคำที่ว่า คำกล่าวนั้นเป็นคำกล่าวของผู้มีปัญญา.

มนุษย์บุราณแท้ ๆ จะไปไหนก็ไปเร็วทันใจโดยประการที่กล่าวข้างบนนี้ และเป็นเช่นนั้นอยู่หลายพันปี คือใครจะไปไหนก็ไปด้วยเท้าตัวเองทั้งนั้น การขี่ม้าหรือใช้พาหนะอย่างอื่นเป็นของเกิดภายหลัง.

ในประเทศอังกฤษตอนต้นร้อยปีที่ ๑๙ แห่งคริสต์ศักราช รัชกาลกวีนวิกตอเรีย มีข้าราชการคนหนึ่งเดินทางจากกรุงโรมไปกรุงลอนดอน ถึงเร็วจนเทียบกันในเวลานั้นว่า เร็วเท่ากับคนวิ่งส่งข่าวสารในสมัยกรุงโรมบุราณ ซึ่งไม่มีใครเดินทางเร็วไปกว่า พูดย่อ ๆ ก็คือว่าก่อนรัชกาลกวีนวิกตอเรียไปตั้ง ๒๐๐๐ ปี ไม่ปรากฏว่ามีใครเดินทางได้เร็วกว่านั้น ในรัชกาลเดียวกันนั้นเอง เกิดมีรถไฟขึ้น การเดินทางก็เร็วอย่างที่คนแต่ก่อนนึกไม่เห้น แต่ความเร็วหยุดอยู่เพียงรถไฟกว่า ๕๐ ปี กวีนวิกตอเรียไม่ทรงรู้จักอะไรที่เร็วกว่านั้น.

รถยนต์เกิดในร้อยปีที่ ๒๐ คือร้อยปีนี้ ภายในชั่วอายุเดียว รถยนต์เดินได้ถึงชั่วโมงละ ๒๗๐ ไมล์ (เมื่อแล่นอยู่ในลานแข่ง) (ทรงเรื่องนี้เมื่อธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗)

ไม่ช้าก็เกิดเรือเหาะ ซึ่งเมื่อเดือนก่อนนี้เอง ได้แข่งกันตั้งแต่ลอนดอนไปเม็ลบอน (ออสเตรเลีย) ทาง ๑๒,๐๐๐ ไมล์ ผู้ชนะไปถึงใน ๒ วันกับ ๒๓ ชั่วโมง แทนที่ต้องเดินทางแรมเดือนอยู่เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ตั้งแต่ลอนดอนมาถึงสิงคโปร์เรือเหาะลำชนะมาถึงได้ใน ๓๙ ชั่วโมง ๕๖ นาฑีนั้น เร็วนักหนาอยู่ ถ้าเดินทางเช่นนั้นออกจากกรุงเทพ ฯ วันนี้ พรุ่งนี้ก็ถึงลอนดอน เทียบกับแผ่นดินพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมราโชทัย (กระต่าย) ไปเรือรบอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลฝ่ายโน้นจัดให้มารับ เดินทาง ๓ เดือน ๑๐ วันจึงถึง นั่นเป็นอย่างเร็วในสมัยนั้น.

แต่เรือเหาะที่แข่งกันจากลอนดอนไปออสเตรเลีย เดินทางเพียงชั่วโมงละ ๒๐๐ ไมล์ ไกลกับคลื่นวิทยุซึ่งเป็นวินาฑีละ ๑๘๖,๐๐๐ ไมล์ แลเร็วจนไม่มีอะไรจะเร็วเกินไปได้ นี่ก็เข้าในเรื่องย่นทางได้อีกทางหนึ่ง เพราะถึงจะอยู่ไกลเท่าไรๆ ก็บอกรู้ถึงกันได้ในทันที และเสียงนาฬิกาบิคเบ็นซึ่งตีอยู่บนหอสูงในลอนดอนนั้น เราได้ยินในกรุงเทพก่อนชาวลอนดอนที่เดินถนนอยู่ใกล้ ๆ หอนาฬิกาได้ยินเสียงอีก ระหว่าง ๒ วัน กับ ๒๓ ชั่วโมงที่เรือเหาะกำลังแข่งกันนั้น ผู้เขียนหนังสือนี้อยู่กรุงเทพ ได้ยินบอกข่าวมาจากลอนดอนว่าลำไหนถึงไหนเมื่อไร ออกจากไหนเมื่อไร ใครเครื่องเสียต้องลงที่ไหน หรือมีติดขัดอะไรก็ได้ยินหมด เพราะเขาตั้งใจจะให้ทราบทันทีในอเมริกาด้านหนึ่ง ในออสเตรเลียด้านหนึ่ง เราก็พลอยได้ยินอย่างถนัด นี่เป็นการย่นทางอย่างใหม่ที่สุด ในคราวแข่งคราวนี้ยังมีอะไรอีกอย่างหนึ่งซึ่งน่าพิศวง คือเมื่อที่ผู้ชนะไปถึงปลายทางแล้ว ในวันเดียวกันนั้นคนในลอนดอนได้ดูภาพยนต์ผู้ชนะเมื่อแรกไปถึงเม็ลบอน กำลังสกปรกหนวดเครายาวเพราะไม่ได้ล้างหน้าโกนหนวดเกือบ ๓ วัน ทั้ง ไม่ได้นอนด้วย เหตุใดคนในลอนดอนจึงได้ดูภาพยนต์ในวันเดียวกันนั้นเอง เพราะเขาถ่ายภาพยนต์ทางออสเตรเลีย แลส่งภาพทางวิทยุไปลอนดอน ได้ทราบว่าภาพยนต์นั้นราคาลงทุนถึงฟุตละ ๖,๐๐๐ บาทเศษ.

นี่เป็นการย่นทางซึ่งเราเองเมื่อปีกลายนี้ก็ไม่ได้นึกว่าจะเป็นได้ ความเร็วของหณุมานและพระอิศวร หรือใคร ๆ ในหนังสือนั้นยกไว้ แต่ถ้าจะพูดถึงความเร็วในความนึกของเชกสเปียร์ในบทลคร “มิดซัมเมอร์ ไนตส์ ดรีม” ซึ่งมีคำพูดของปั๊กว่าจะ “คาดสายทาม” (คือไปรอบ) ใน ๔๐ นาฑี ก็ยืดยาดมาก โลกซึ่งคลื่นวิทยุจะเดินได้รอบ ๆ ถึง ๔ รอบในชั่วลัดมือเดียวนั่นแหละหรือ เชกสเปียร์จะให้เวลาถึง ๔๐ นาฑี ปั๊กคือภูตคนหนึ่งจึงจะ “คาดสายทาม” รอบได้.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ