ช้างเอราวัณ

ช้างเอราวัณเป็นพาหนะของพระอินทร์ในสวรรค์ ชาติก่อนเป็นช้างของพระราชากรุงราชคฤห์แห่งประเทศมคธ กล่าวความตามกุลาวกชาดกว่า พระโพธิสัตว์เกิดในสกุลผู้ดี ทรงนามว่า มฆมาณพ ได้นำชาวบ้านในการทำดี คือรักษาศีลและประพฤติธรรม จนในละแวกบ้านนั้นมีความสุขสงบทั่วหน้า

ฝ่ายผู้ใหญ่บ้านในละแวกนั้น เห็นความเรียบร้อยในหมู่บ้านมีมานานเข้าก็เกิดขัดใจ กล่าวแก่ตนเองว่า ชาวบ้านเหล่านี้เคยกินเหล้าเมาแล้ววิวาทตีรันฟันแทงกัน ตัวผู้ใหญ่บ้านเคยได้ประโยชน์ คือขายเหล้าให้กิน และได้ค่าปรับในการลงโทษผู้ผิดเป็นต้น แต่บัดนี้ มฆมาณพมาชักชวนให้คนพวกนั้นถือศีล คือเว้นดื่มน้ำเมาเป็นอาทิ ต่างคนก็ต่างมุ่งหน้าแต่จะทำดีแก่กัน ผลประโยชน์ของผู้ใหญ่บ้านที่เคยได้ก็ไม่ได้ จะต้องแก้แค้นให้สาสม มิฉนั้น ความย่อยยับก็จะเกิดแก่ตน.

ผู้ใหญ่บ้านคิดดังนี้แล้ว ก็ไปเฝ้าพระราชา ทูลว่า “พระเจ้าข้า บัดนี้มีโจรหมู่หนึ่งเที่ยวปล้นสดมภ์ทำร้ายคน เป็นเครื่องเดือดร้อนยิ่งนัก”

พระราชามีพระกรรณเบา ครั้นได้ยินผู้ใหญ่บ้านเข้าไปทูลเช่นนั้น ก็มิได้ทรงคิดที่จะสอบสวน ตรัสสั่งให้ไปตามตัวพวกที่ถูกหาว่าเป็นผู้ร้ายเข้าไปยังหน้าพระลาน แล้วตรัสสั่งให้ลงโทษตามเคย โดยที่มิได้ชำระปากคำสืบสวนทวนพยานประการใดเลย.

วิธีลงโทษของพระราชา คือใสช้างเมามันเข้าเหยียบนักโทษให้แบนไปในพระลานนั้นเอง ดังนี้ ราชบุรุษจึงสั่งให้มฆมาณพ และพวกพ้องนอนลงในพระลาน แล้วให้ไปเรียกช้างเข้ามา ระหว่างนั้นมฆมาณพกล่าวแก่สหายว่า “พวกท่านจงนึกถึงศีลไว้ให้มั่น จงรักผู้กล่าวโทษท่าน อีกทั้งรักพระราชาและรักช้างเสมอกับรักตัวท่านเอง” พวกพ้องได้ฟังคำมฆมาณพดังนั้นก็ทำตาม.

อีกครู่หนึ่งนายช้างก็ขับช้างต้นเข้าไปจะให้เหยียบมฆมาณพและพรรคพวก แต่ช้างไม่ยอมเหยียบ หมอควาญจะขับใสเท่าไร ก็ไม่เข้าใกล้ ในที่สุดช้างก็วิ่งร้องหนีออกจากพระลานไป.

พวกหมอช้างเห็นดังนั้น ก็ไปพาช้างอื่น ๆ มาใหม่ แต่ช้างกี่ตัว ๆ ก็เป็นเช่นนั้นทั้งสิ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ตรัสแก่ราชบุรุษว่า นักโทษเหล่านี้คงจะมีเครื่องรางซึ่งทำให้ช้างกลัว จงค้นดูในตัวเถิด แต่เมื่อราชบุรุษคนทั่วทุกคนแล้วก็หาพบอันใดไม่ พระราชาจึงตรัสว่า ถ้าไม่มีเครื่องราง ก็คงมีมนต์ซึ่งร่ายให้ช้างกลัว จงถามมันดูว่า มันร่ายมนต์ว่ากระไร.

เมื่อราชบุรุษไปถามมฆมาณพ มฆมาณพก็ตอบว่า มีมนต์จริง ครั้นเขากลับไปทูลพระราชา พระราชาก็ตรัสให้พาตัวมฆมาณพเข้าไปถึงที่ประทับ แล้วตรัสว่า “เจ้าร่ายมนต์ว่ากระไร จงบอกเราเถิด”

มฆมาณพทูลว่า “ขอเดชะ เราทั้งหลายมีมนต์อยู่เพียงเท่านี้ คือไม่มีใครฆ่าสัตว์อย่าง ๑ ไม่มีใครถือเอาทรัพย์ซึ่งเจ้าของไม่ให้อย่าง ๑ ไม่ประพฤติผิดในกามอย่าง ๑ ไม่พูดปดอย่าง ๑ ไม่ดื่มน้ำเมาอย่าง ๑ นอกจากนี้เราทุกคนกอบด้วยเมตตา และเราทำทานอยู่เสมอ ๆ อีกทั้งกวาดและเกลี่ยถนนให้เตียน, ขุดสระน้ำบริโภค และปลูกศาลาเป็นที่อาศัยของคนทั้งหลาย เหล่านี้คือมนต์ ซึ่งรักษาเราและเป็นกำลังของเรา.

พระราชาฟังดังนั้น ก็ตรัสให้ปล่อยมฆมาณพกับพวกให้ไปทำดีต่อไป และให้ลงโทษผู้ใหญ่บ้านผู้นำความเท็จไปทูล กับให้มฆมาณพเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน อีกทั้งประทานช้างเป็นรางวัลมฆมาณพด้วย.

ครั้นมฆมาณพหมดชีวิตในโลกนี้แล้ว ก็ไปเกิดเป็นพระอินทร์ พวกพ้องทั้งหมดก็ตามไปเกิดเป็นเทวดาในดาวดึงส์ และช้างของมฆมาณพ ก็ไปเกิดเป็นเอราวัณ.

เอราวัณนี้ตามธรรมดาก็เป็นเทวดาองค์หนึ่ง เพราะในดาวดึงส์ไม่มีสัตว์เดรัจฉาน ต่อเมื่อไปเที่ยวเล่นป่าหรือมีกิจพิเศษ เอราวัณจึงกลายเป็นรูปช้างใหญ่ถึง ๑๕๐ โยชน์ เทวดา ๓๓ องค์ที่ไปเกิดด้วยกันนั้น เอราวัณ นิรมิตเศียรให้อยู่องค์ละเศียร เอราวัณจึงเป็นช้าง ๓๓ เศียร เศียรหนึ่งวัดโดยรอบได้ ๒ หรือ ๓ โยชน์ เศียรหนึ่ง ๆ มี ๗ งา ยาวงาละ ๕๐ โยชน์ งาหนึ่ง ๆ มีกอบัว ๗ กอ กอหนึ่งมีดอก ๗ ดอก ดอกหนึ่งมี ๗ กลีบ กลีบหนึ่งมีนางปทุมัจฉรา คือนางอับษรบัวรำอยู่กลีบละ ๗ องค์.

ในพระราชนิพนธ์คำพากษ์เรื่องรามเกียรติ์ตอนนาคบาศ มีคำว่าด้วยเอราวัณว่า.

“๏ สามสิบสามเศียรโสภา เศียรหนึ่ง ๗ งา งาหนึ่งเจ็ดโปกขรณี ฯ”

คำพากษ์นี้ก็ตรงกันกับที่กล่าวข้างบน ซึ่งมาจากท้องนิทานธรรมบทด้วยกัน

ส่วนพระอินทร์นั้น กล่าวตามธรรมบทต่อไปว่า เอราวัณนิรมิตเดียรถวายเศียรหนึ่งโดยเฉพาะ เรียกว่าเศียรสุทัศน์ วัดโดยรอบ ๓๐ โยชน์ มีเพดาน ๑๕ โยชน์ ทำด้วยมณีทั้งนั้น ใต้เพดานมีแท่น ๑ โยชนประดับด้วยมณี เป็นที่นั่งของพระอินทร์ในเวลาออกงาน.

ในหนังสืออื่น ๆ กล่าวถึงช้างเอราวัณ ว่าเป็นสัตว์ตัวหนึ่งซึ่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และถ้าหนังสือไหนกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินทรงช้าง ก้มักจะเปรียบว่า งามเหมือนพระอินทร์ทรงเอราวัณ.

ที่เล่าข้างบนนี้ มาจากหนังสือภาษาบาลีทั้งนั้น เช่นชาดก ธรรมบท และในอรรถกถาก็มีอีกหลายแห่ง.

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเอราวัณในหนังสือภาษาสํสกฤตอีกมาก ภาษาสํสกฤตเรียกช้างตัวนี้ว่า ไอราวัต แต่ในมหาภารตะบางแห่งใช้ว่า เอราวัณก็มี.

ถ้าคนในมหาภารตะ จะพบเรื่องไอราวัตหลายแห่ง แต่บางแห่งก็กล่าวไม่ตรงกัน เป็นต้นในแห่งหนึ่งเรียกช้างตัวนี้ว่า จตุรทันต์ แปลว่า งา ๔ ข้าง อีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า ช้างตัวนี้เป็นผู้อมน้ำในบาดาลขึ้นไปพ่นไว้ในเมฆ คือน้ำซึ่งพระอินทร์เทลงมาเป็นฝน อีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า ไอราวัตมีระฆัง ๒ ใบ เรียกว่าไวชยันตี แห่งหนึ่งเรียกไอราวัตว่า เทวนาโค มหาคชะ เป็นต้น ผู้เขียนไม่ได้ค้นเลอียดในเรื่องมหาภารตะ เพราะยืดยาวนัก.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ