- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
นิราศนรินทร์
ฉันพูดเรื่องนิราศนรินทร์วันนี้ เป็นการพูดเรื่องหญ้าปากคอก ใครเคยอ่านหนังสือมากหน่อย ก็คงเคยอ่านนิราศนรินทร์ทุกคน ขึ้นตั้งแต่ที่ถูกบังคับในโรงเรียนมาแล้ว.
หญ้าปากคอกนั้นเรามักจะคุ้นเกินไป จนไม่ใคร่จะสังเกต เหมือนห้องในสามัคยาจารย์สโมสรที่เรากำลังประชุมกันอยู่เดี๋ยวนี้ มีหน้าต่างกี่หน้าต่าง ท่านรู้หรือไม่ อย่าเหลียวดู ไม่รู้ จริงหรือไม่จริง หญ้าปากคอกมีหลายชนิด เราไม่เคยสังเกต แต่บางชนิดอาจเป็นหญ้าใหม่ในพฤกษศาสตร์ คือนักปราชญ์ยังไม่เคยพบ จึงยังไม่เคยนำไปลงไว้ในตำราก็ได้ ต้นไม้ในสยามนี้ มีสองสามอย่าง ซึ่งเรียกชื่อเป็นภาษาลตินในตำราพฤกษศาสตร์ว่า เป็นต้นไม้ชนิดนั้นๆ ของฉัน เป็นต้นว่า จำปีหลวงคือจำปีชนิดหนึ่ง ซึ่งมีในภาคเหนือแห่งสยามนี้ เรียกชื่อในตำราพฤกษศาสตร์ทั่วโลกว่า จำปากของรัชนี (คือฉัน) เพราะเหตุว่าตำราพฤกษศาสตร์ ไม่เคยรู้จักจำปีชนิดนั้น จนได้พบในสยาม แล้วส่งไปให้จดทะเบียนในยุโรปในชื่อฉัน เสมอว่าฉันเป็นผู้พบจำปีชนิดนั้น และนำออกให้รู้จักกันในพฤกษศาสตร์ อันที่จริงฉันไม่มีความรู้ในเรื่องพฤกษศาสตร์เลย แต่เพราะเหตุชั่วพลัดชั่วผลู ก็มีชื่อในตำราได้ ที่ฉันนำเอาชื่อต้นไม้มากล่าว ในขณะที่พูดเรื่องนิราศนรินทร์นี้ เป็นตัวอย่างนำมาเปรียบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า บุคคลผู้สนใจในเรื่องกาพย์กลอน แม้ไม่มีความรู้ลึกซึ้ง ก็อาจชั่วพลัดชั่วผลูเห็นอะไรซึ่งกวีใหญ่และนักปราชญ์ผู้มีปัญญาสุขุม ไม่เคยสังเกตก็ได้ เพราะฉนั้น ถ้าท่านได้ยินฉันพูดอะไรแปลกหูซึ่งท่านไม่เคยนึก หรือผิดกับที่เคยได้ยินครูบาอาจารย์กล่าว ก็จงนึกเทียบกับจำปีหลวงว่า นักปราชญ์พฤกษศาสตร์ทั้งหลาย ได้ความรู้เรื่องต้นไม้ชนิดนั้น จากผู้ไม่รู้อะไรเลย.
ศัพท์นิราศ
ศัพท์นิราศมาจากคำไหนในภาษาไหน ฉันไม่บ่งความเห็นไว้ในที่นี้ แต่ที่มักจะเข้าใจกันว่า นิราศมาจากคำสํสกฤตแลบาลีแปลว่า ปราศจากความหวัง (ไม่มีอาศา) นั้น ฉันไม่วางใจว่า เป็นศัพท์เดียวกับที่ใช้เป็นชื่อหนังสือพรรณนาความร้างเมียได้ ที่แปลนิราศว่าไม่มีอาศานั้นก็ถูก แต่จะแปลหนังสือนิราศว่า หนังสือไม่มีอาศา (คือความหวัง) นั้น ดูไม่เข้ากันเลย ถ้าจะพูดตามทางศาสนาของเรา อาศาเป็นเครื่องร้อน เป็นของไม่ดี ไม่มีอาศาก็คือตัดเครื่องร้อนได้ เป็นความสุข ภาษาสํสกฤตมีสุภาษิตว่า อาศา หิ ปรมํ ทุะขํ ไนราศฺยํ ปรมํ สุขํ (ความหวังเป็นทุกข์ยิ่ง ปราศจากความหวังเป็นสุขยิ่ง) ในภาษาบาลีมีตัวอย่างในวิธูรชาดกว่า นิราสนฺติ ปุตฺตทาราทีหิ นิราสจิตฺตํ ความว่านิราสจิต คือจิตที่พรากจากลูกเมียได้ โดยไม่เดือดร้อนกังวล หมายความว่าตัดขาดได้ในเวลากำหนด ไม่ใช่คร่ำครวญในคราวพรากอย่างหนังสือนิราศของเรา เป็นการตรงกันข้ามฉนี้ ถ้านิราศ หรือนิราส ทั้งในสํสกฤตและบาลี มีความว่าตัดความร้อนได้เป็นของดีในทางศาสนาและเราเอามาใช้เป็นชื่อหนังสือที่คร่ำครวญถึงเมีย อันเต็มไปด้วยความร้อนไซร้ ก็ดูไม่เข้ากันเลย พูดซ้ำอีกที ถ้านิราศ คือไม่มีอาศานั้น เป็นบรมสุขดังในภาษิตสํสกฤตที่อ้างเมื่อตะกี้คือในราศฺยํ ปรมํ สุขํ ฟังใกล้ ๆ เข้าไปกับพระนิพพาน (นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ) ไซร้ คำเดียวกัน ซึ่งมีความไปในทางเป็นบรมสุขนั้น จะเอามาเป็นชื่อหนังสือ ซึ่งแสดงบรมทุกข์ คือโหยหวลครวญคร่ำถึงเมียอย่างไรได้ เพราะฉนั้น จึ่งไม่น่าเชื่อว่า นิราศซึ่งเป็นชื่อหนังสือชนิดหนึ่งของเรานั้น จะมาจากคำที่แปลว่าไม่มีความหวัง หรือถ้าจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ของตรงกันข้ามไม่ควรเชื่อว่ามาจากกัน สีดำจะมาจากสีขาวไม่ได้.
ที่กล่าวมานี้ น่าจะเอาเป็นยุติกันได้ว่า หนังสือนิราศนั้น ไม่ได้แปลว่าหนังสือไม่มีอาศา แต่ยังมีพยานประกอบอีกข้อหนึ่งซึ่งจะนำมากล่าว ถ้าจะว่าข้อที่กล่าวนี้ไม่ถูก ก็ต้องว่ากวีไทยทั้งหลายโง่หมด รวมทั้งสมเด็จพระปรมานุชิตด้วย สมเด็จพระปรมานุชิต ทรงแต่งในเตลงพ่ายว่า
๏ ใช่ชิงชังแม่แล้ว | จึงจร |
ขัดพระเดชอดิศร | ห่อนได้ |
จำเรียมนิราสมร | เสมอชีพ |
เชอญแม่ดับเทวศไห้ | อยู่ถ้าคืนสม ฯ |
๏ คิดโฉมนงโพธผู้ | เพ็ญศรี |
เคยร่วมรมย์ฤดี | ดับร้อน |
ถนอมนุชแนบนาภี | ภูลเสน่ห์ |
นึกนิรารศข้อน | อกไห้โหยถวิล ฯ |
๏ ปวงแสนเสาวลักษณ์ล้วน | เคียมเคย |
คิดเมื่อยามเรียมเสวอย | แวดล้อม |
ปางร้างนิราเสบอย | บอมเทวศ |
เสวอยบ่ยลเยาวห้อม | อยู่ให้เห็นโฉม ฯ |
๏ เคยตระโบมบัวมาศแก้ว | กับกร |
เกี้ยวตระกองบังอร | อุ่นเนื้อ |
ปางร้างนิราสมร | มาเทวศ |
ถวิลบ่วายรศเกื้อ | กวดเกี้ยวก่ายเขนย ฯ |
ในโคลง ๔ บทที่ยกมาอ้างนี้ สมเด็จพระปรมานุชิตทรงใช้นิราไม่มี ศ สะกด ทำให้เห็นว่า ไม่มีระแวงไปถึงอาศาเลย ถ้านิราศแปลว่าไม่มีอาศาไซร้ ตัดตัว ศ เสีย อาศาก็หลุดไป สมเด็จพระปรมานุชิตท่านทรงทราบ ท่านจะทรงใช้กระนั้นอย่างไรได้ แต่โคลงบางบทความอย่างเดียวกันทรงใช้ว่า นิราศก็มี คือ
๏ จำใจจำจากเจ้า | จำจร |
จำนิราศแรมสมร | แม่ร้าง |
เพราะเพื่อจะไปรอญ | อรินราช แลแม่ |
จำทุกข์จำเทวศว้าง | สวาดิว้าหวั่นถวิล ฯ |
ในโคลงบทหลังนี้ทรงใช้นิราศ ไม่ใช้นิรา แต่ถ้าจะทรงใช้ นิรา แทนนิราศในที่นั้นก็ไม่เสียความ จึงชวนให้คิดว่า เหตุไรจึงทรงใช้นิราบ้าง นิราศบ้าง จะเข้าใจความข้อนี้ ต้องขัดเกลาหูของเราให้เป็นหูกวี คล้ายพระกรรณของท่านแล้ว ลองท่องดูดัง ๆ ว่า
จำใจจำจากเจ้า | จำจร |
จำนิราศแรมสมร | แม่ร้าง |
จำใจจำจากเจ้า | จำจร |
จำนิราแรมสมร | แม่ร้าง |
คงจะเห็นว่า ในที่ตรงนั้นนิราศแน่นกว่านิรา ไพเราะกว่ากันเป็นกอง ถ้าเปลี่ยน ถึงจะไม่เสียความก็เสียไพเราะ ส่วนในที่ซึ่งทรงใช้นิรานั้น บางแห่งลองไปเปลี่ยนเป็นนิราศเข้าจะเป็นอย่างไรบ้าง
ยามร้างนิราเสบอย | บอมเทวศ |
ยามร้างนิราศเสบอย | บอมเทวศ |
ฉนี้ จะเปลี่ยนไม่ได้.
ส่วนนรินทร์อินนั้น ในนิราศของแกทั้งหมดใช้ นิรา ๒ แห่ง ใช้นิราศแห่งเดียว ดังจะยกมากล่าวให้ฟังดังนี้
๏ วัดหงษเหมราชร้าง | รังถวาย นามนา |
เรียมนิราเรือนสาย | สวาดิสร้อย |
หงษทรงสี่ภักตรผาย | พรหมโลก แลฤๅ |
จะสั่งสารนุชคล้าย | คลาดท้าว ไป่ทัน ฯ |
๏ บางกกกลกล่อมแก้ว | กับแด |
กรตระกองนุชแปร | ปรับเนื้อ |
ลาญโลมวิไลยแถลง | ชรมุ่น อกเอย |
จำนิรารศเกื้อ | กกแก้ว กับทรวง ฯ |
ขอให้สังเกตว่า ในโคลงบทที่ว่าด้วยวัดหงษนั้น นรินทร์อินใช้ นิรา ในที่ซึ่งสมเด็จพระปรมานุชิตทรงใช้นิราศ ถ้านรินทร์อินจะเปลี่ยนเป็น “เรียมนิราศเรือนสลาย สวาดิสร้อย” ก็ไม่เสีย แต่ว่านิราก็ไม่ขัด เพราะเรียมเป็นคำตัว ร ตั้งแน่นอยู่ข้างหน้าแล้ว.
(พูดถึงโคลงบทที่ว่าด้วยวัดหงษ ขอกล่าวในวงเล็บเป็นคำแทรกว่า ในชุมนุมที่ฟังอยู่เวลานี้ คงจะมีครูหลายคนที่สอนนิราศนรินทร์ในโรงเรียน ในโรงเรียนมักจะสอนโคลงบทนี้ผิดกันบ่อย ๆ เพราะความในบาทต้น “วัดหงษเหมราชร้าง รังถวาย นามนา” นั้น มักจะเข้าใจกันว่า หมายความว่า วัดนั้นให้ชื่อว่าวัดหงษเท่านั้นเอง แต่หงษทองหายไปไหนเสียแล้ว ที่เข้าใจเช่นนี้ไม่ถูก ที่ถูกควรเข้าใจความหมายของผู้แต่งว่า
บาทต้น วัดหงษารามนี้ พญาหงษทองทิ้งรังไว้ถวายเป็นนามอาราม
บาทสอง ตัวนรินทร์อินเองร้างมาจากเมีย
บาทสาม หงษซึ่งเป็นพาหนะของพระสี่พักตร์ไปพรหมโลกเสียแล้ว
บาทสี่ จะสั่งให้ช่วยพาข่าวไปบอกเมียก็ไม่ทัน)
กล่าวถึงคำว่านิราศต่อไปว่า นรินทร์อินใช้คำนี้ในโคลงของแกแห่งเดียวเท่านั้น คือโคลงบทสุดท้ายว่า
“โคลงเรื่องนิราศนี้ | นรินทร์อิน |
รองบาทบวรวังถวิล | ว่าไว้” |
ที่ใช้นิราศในโคลงบทหลังนี้ จะใช้นิราแทนไม่ได้เพราะผิดเอก.
อนึ่งน่าสังเกตว่า ในที่ซึ่งใช้ว่านิรานั้น ต้องว่านิราอะไร คือมีนามศัพท์มาข้างหลัง เช่น นิราสมร นิราเรือน เป็นต้น ส่วนคำนิราศนั้น ใช้เป็นนามก็ได้ ใช้อย่างที่ใช้นิราก็ได้
ตามที่กล่าวมานี้ชวนให้นึกว่า นิราก็ดี นิราศก็ดี ไป ๆ มา ๆ มันจะมาจากนิร คำเดียวก็เป็นได้ ถ้าจะถามว่านิรอะไร ก็เห็นจะต้องตอบว่า หมายให้เข้าใจว่านิรเมีย คือในคราวที่จากบ้านไปนั้น เมียไม่ได้ไปด้วย ส่วนที่นิรทำไมเติมสระอาแล ศ สกดนั้นเล่า การเติมสระ อา ของไทยไม่เป็นของประหลาด และที่เอาตัว ศ สกดนั้น ก็ไม่ประหลาดเหมือนกัน คำที่เราใช้กันในภาษาไทย เห็นจะมีหลายคำที่เติมสระ อา แล้วสกด ศ เข้าไปเฉย ๆ เช่น กมล แปลงเป็น กมลาศ ดังที่ใช้ในเตลงพ่ายว่า “แม้นดวงกมลาศได้มาดล” เป็นต้น.
ฉันขอบอกอีกครั้งหนึ่งว่า คำว่านิราศก็ดี นิราสก็ดี ที่ไทยเราใช้เป็นชื่อหนังสือชนิดหนึ่งในวรรณคดีนั้น ฉันไม่กล่าวยืนยันว่า เป็นคำมาจากสํสกฤตหรือบาลี แต่ถ้าเปิดดูในดิกชันนารี ของมอเนียวิลเลียมซ์ก็ตาม หรือของอัปเตก็ตาม ท่านจะพบคำว่า นิราศ แปลว่าปราศหวัง และ นิราส แปลว่าถูกขับ ถูกบังคับให้ออก หรือถูกบังคับให้ไป ถ้ารำลึกว่าผู้แต่งนิราศ สมัคกล่าวว่า ที่จากเมียไป ก็เพราะถูกบังคับ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ไป เช่น
“ใช่ชิงชังแม่แล้ว | จึงจร |
ขัดพระเดชอดิศร | ห่อนได้” (เตลงพ่าย) |
ฉนี้ก็อาจนึกต่อไปอีกทางหนึ่งว่า นิราศ (หรือนิราส) เป็นหนังสือแต่งในคราวที่ถูกบังคับให้จากไป จะเป็นราชการบังคับ หรือกิจการอื่นบังคับ ก็เป็นได้ ที่กล่าวนี้จะผิดถูกอย่างไรไม่รู้ แต่เมื่อทราบว่ามีทางที่อาจเป็นได้เช่นนี้ ก็นำมากล่าวไว้ ว่ายังมีอีกทางหนึ่ง.
นิราศคือหนังสือชนิดไร
ศัพท์นิราศจะมาจากไหนก็ตาม แต่ถ้าจะอธิบายว่านิราศเป็นหนังสืออย่างไร ก็อาจอธิบายได้ตามคำของสุนทรภู่ ซึ่งเริ่มนิราศอิเหนาว่า “นิราศร้างห่างเหเสน่หา ปางอิเหนาเศร้าสุดถึงบุษบา พระพายพาพัดน้องเที่ยงล่องลอย” คำว่า “ร้างห่างเหเสน่หา” นั่นแหละเป็นคำอธิบายศัพท์นิราศซึ่งใช้เป็นชื่อชนิดของหนังสือ คือว่านิราศเป็นหนังสือซึ่งร้างไปจากความรัก คือเมีย ถ้าเมียไม่รักก็ไม่นิราศ หนังสือชนิดนั้นจับเอาความเศร้า เพราะร้างรักนั้นเป็นแก่นของเรื่อง ถ้ากล่าวเลอียดไปในทางอื่นก็เป็นกระพี้ ทั้งนั้น นิราศบางเรื่องกระพี้สำคัญกว่าแก่น เช่นนิราศลอนดอนเป็นต้น แต่แก่นต้องมี ถ้าไม่มีไม่เป็นนิราศ ที่กล่าวนี้กล่าวตามลักษณะแห่งนิราศโดยมาก แต่ถ้าฉันจะแต่งโคลงเรื่องอยู่บ้านร่ำไร ว่าร้างจากเมืองลำพูน เพราะไม่เคยไป และคร่ำครวญถึงสาวชื่ออะไรที่ลือกันว่าสวยนัก แต่ฉันไม่เคยเห็น แล้วเรียกหนังสือนั้นว่า นิราศลำพูดก็เห็นจะได้ ทีนี้สมมติต่อไปว่าฉันแต่งโคลงไพเราะ และสมมติว่าท่านชอบอ่านโคลงไพเราะ ท่านก็อ่านโคลงเหล่านั้นแล้ว เรียกว่านิราศลำพูนตามที่ฉันตั้งชื่อ ถ้าใครทักท้วงท่านก็ตอบว่า ผู้แต่งตั้งชื่ออย่างนั้น ถ้าไม่เรียกตามเจ้าของ จะเรียกว่ากระไร นิราศเหลว ๆ เช่นนั้น ที่จริงฉันเคยแต่งประมาณ ๑๐ ปีมาแล้ว (ทรงปาฐกถาเรื่องนี้ เมื่อ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖) เรียกว่านิราศโคมลอย แต่งเมื่อไม่ได้ไปไหนเลย และเมียก็ยังไม่มี รักผู้หญิงก็ยังไม่ได้รัก แต่งเล่นเหลว ๆ เท่านั้นเอง.
อนึ่ง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร พระมหาอุปราช แผ่นดินขุนหลวงบรมโกรฐ ทรงแต่งนิราศในคราวที่เจ้าจอมหม่อมห้ามตามเสด็จแวดล้อมพร้อมหน้า ลงท้ายจึงทรงเขียนว่า
จบเสร็จคร่ำครวญกาพย์ |
บทพิลาปถึงสาวศรี |
แต่งตามประเวณี |
ใช่เมียรักจักจากจริง |
ฉนี้เป็นต้น.
แต่ถ้าจะพูดตามทางที่เขาแต่งนิราศกัน นางเอกก็ไม่ใช่คน เป็นเพียงความคิดเท่านั้น การกล่าวถึงนางเอกในนิราศ เป็นการเชิดความงามอันมีโดยความนึก และความงามนั้นเป็นคุณนาม ถึงจะมีในตัวมนุษยบ้าง ก็ไม่ใช่มนุษย เพราะฉนั้น การที่กล่าวความงามของนางเอก เปรียบกับสิ่งต่าง ๆ นั้น ก็เป็นการกล่าวตามเคย หรือเพื่อจะให้ไพเราะ ไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครเชื่อว่าจริง ยิ่งตัวเมียเอก (ถ้ามี) ถ้าไปบอกแกว่า ผิวแกเย้ยมลิให้ได้อาย แกคงจะหัวเราะว่าพูดบ้า ๆ ไม่เชื่อเป็นอันขาด แม้จะกล่าวว่าเป็นห่วงกลัวแกจะมีชู้ แกก็ไม่โกรธว่าดูถูก เพราะไม่ถือว่าพูดถึงแกจริง ๆ.
ดังนี้แหละ นางเอกในนิราศ จึงไม่จำเป็นจะต้องมีตัวมีตน เป็นเพียงความคิดหรือเครื่องนึกขึ้น สำหรับช่วยให้แต่งไพเราะเท่านั้น ตามความจริงเมียอาจเป็นยายแก่ หรือหญิงขี้ริ้ว ซึ่งเมื่อนึกถึงจริง ๆ ก็ไม่เป็นเครื่องจูงปัญญาให้โคลงกลอนไพเราะเกิดขึ้นได้ สุนทรภู่เมื่อแต่งนิราศ ฉันนึกว่าแกไม่ได้คิดถึงยายจันจริง ๆ และไม่ได้นึกถึงหญิงคนไหน แกนึกถึงชุมนุมความงาม ซึ่งสมมติว่ามีในตัวนางเอกเท่านั้น ที่พูดนี้เป็นส่วนความคิด ความรู้สึกของตัวฉันเองในเรื่องแต่งนิราศ ผู้แต่งโคลงกลอนสังวาสอย่างอื่นบางคนอาจต้องนึกถึงหญิงมีตัวมีตนจริง ๆ (ไม่จำเป็นจะต้องเมียของตัว) จึงแต่งได้ไพเราะก็เป็นได้.
อนึ่ง ในเตลงพ่ายตั้งแต่ “พระผาดผายสู่ห้อง หาอนุชนวลน้อง หนุ่มหน้าพระสนม” ไปนั้น ก็นิราศเรานี่เอง สมเด็จพระปรมานุชิต ทรงแต่งนิราศพระมหาอุปราชา ๑๙๘ ปี ก่อนสมเด็จพระปรมานุชิตประสูติ ท่านไม่อาจทรงทราบได้ว่า พระมหาอุปราชามีชายาหลวง ชายาน้อยนักสนมกรมในกี่มากน้อย ทรงนึกว่าคงจะมี แต่จะมีนามและตำแหน่งอย่างไร ไม่ปรากฎในหนังสือ ไม่ทรงทราบว่าเรียกอย่างไรจึงจะถูก จึงทรงแต่งว่า “สาวสนมสนองนารถไท้ ทูลสาร” ถ้าพระมหาอุปราชมีเมียหลวงไปเรียกแกว่าสาวสนม แกคงจะโกรธถึงไม่มองหน้า ในเตลงพ่ายต่อ ๆ ไป สมเด็จกรมพระปรมานุชิต ทรงเรียกนางเอกว่า “อ่อนไท้” ก็เป็นอันใช้ได้ ข้อที่ไม่มีใครทราบว่า พระมหาอุปราชามีชายามากหรือน้อย หรือไม่มีเลยนั้น ไม่เป็นเหตุกีดกัน การแต่งนิราศพระมหาอุปราชาในเตลงพ่าย ซึ่งเป็นโคลงไพเราะที่สุดที่ฉันรู้จัก จะเอานรินทร์อิน หรือใครไปเทียบไม่ได้ทั้งนั้น.
นรินทร์อินคือใคร
“โคลงเรื่องนิราศนี้ | นรินทร์อิน |
รองบาทบวรวังถวิล | ว่าไว้” |
รู้เท่านั้นเอง แกเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ก่อนแต่งนิราศหรือเมื่อแต่งแล้วมีประวัติอย่างไร ก็ไม่รู้อีกเลย ในทำเนียบวังหน้า มีตำแหน่งมหาดเล็กหุ้มแพรชื่อนายนรินทร์ธิเบศร ผู้แต่งนิราศแสดงตนว่า ชื่อนรินทร์อินเป็นข้าราชการวังหน้า เราก็เข้าใจ ว่าคือนายนรินทร์ธิเบศร์ นามเดิมชื่ออิน เป็นสิ้นความรู้ของเราอยู่เพียงเท่านั้น แต่การที่ทราบว่า กรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๒ มีมหาดเล็กคนหนึ่งชื่ออิน ซึ่งทรงตั้งเป็นนายนรินทร์ธิเบศร์นั้น ก็ควรคิดว่าเป็นความรู้มาก เพราะรู้แทรกลงไปถึงมหาดเล็กหุ้มแพร ซึ่งเป็นตำแหน่งต่ำ ๆ ส่วนข้าราชการตำแหน่งสูง ๆ เป็นต้นว่าหน้าที่กลาโหม มหาดไทยในวังหน้า จะมีใครบ้างเราไม่รู้ทั้งนั้น ฉันหาญจะกล่าวว่า ในพวกท่านที่นั่งอยู่เวลานี้มี ๙๐ คนใน ๑๐๐ ที่ไม่ทราบพระนามเดิมของกรมพระราชวังบวร พระองค์นั้น แต่ทุกคนทราบนามเดิมของนายนรินทร์ธิเบศร์มหาดเล็กของท่าน กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เป็นหลักบ้านเมืองในสมัยของท่าน ทรงว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ไม่มีผู้ใดจะใกล้เคียงท่านเลย นายนรินทร์ธิเบศร์เป็นคนรับใช้ของท่านส่วนพระองค์ ไม่มีตำแหน่งสำคัญในราชการบ้านเมือง แต่ในเวลานี้ เราออกชื่อนรินทร์อินบ่อยกว่าเจ้านายของนรินทร์อินเสียอีก เหตุที่เรารู้จักชื่อนรินทร์อิน เพราะแกแต่งหนังสือไว้เป็นอนุสาวรีย์ และหนังสือของแกดีพอจะเป็นอนุสาวรีย์ได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฉันค้นหนังสือหอพระสมุดวชิรญาณ พบนิราศเล่มหนึ่ง เรียกว่านิราศนายเสน่ห์ เข้าใจว่าเห็นจะนายเสน่ห์หุ้มแพรแต่งไว้ ฉันไม่รู้ว่านายเสน่ห์นั้นใคร ก็เพราะนิราศที่แกแต่งไว้นั้นไม่ดีพอจะเป็นอนุสาวรีย์ได้ คนเราแต่งหนังสือกันถมไป แต่น้อยคนแต่งดีพอที่จะไม่ศูนย์ และจะเป็นอนุสาวรีย์ของผู้แต่งได้ กวีโรมันโบราณคนหนึ่ง ชื่อฮอเรซ Horace ตายก่อนพระเยซูเกิด แต่งฉันท์บทหนึ่งอยู่ท้ายสมุดเล่มหนึ่งของแก ขึ้นต้นว่า “ข้าพเจ้าได้สร้างแล้วซึ่งอนุสาวรีย์อันจะยืนยงนานกว่าอนุสาวรีย์ทำด้วยทองผสม” เป็นข้อซึ่งน่าจะเห็นว่าใกล้ความจริงมาก เมื่อฉันเป็นนักเรียน ถ้านับก็ราว ๒๐๐๐ ปี จากอายุฮอเรซ ได้ท่องอนุสาวรีย์ของแกจำได้ขึ้นใจตั้ง ๒ เล่ม และสมุดนั้นที่บ้านฉันก็มีอยู่จนเดี๋ยวนี้ ถ้าฮอเรซทำอนุสาวรีย์ด้วยทองผสม อนุสาวรีย์นั้นก็คงจะไม่อยู่ที่กรุงโรม ไม่มีสำเนาหลายหมื่นหลายแสน เที่ยวอยู่ไปทุกหนทุกแห่งเหมือนอนุสาวรีย์หนังสือของแกเป็นแน่ ถ้าพูดให้ใกล้เราเข้ามา ท่านทราบหรือเปล่าว่า ในสมัยเดียวกับนรินทร์อิน มีสมเด็จพระราชาคณะองค์หนึ่ง ชื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นามเดิมชื่อขุน ครองวัดโมลีโลกที่คลองบางหลวง อนุสาวรีย์คือรูปของท่านหล่อด้วยทองเหลือง ยังมีอยู่ที่วัดนั้นจนบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๖) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นอาจารย์ของเจ้านายในสมัยของท่าน เป็นที่นับถือของคนทั่วไป ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมา เป็นบุคคลสำคัญกว่ามหาดเล็กหุ้มแพรเป็นกอง เหตุไรอนุสาวรีย์ของท่าน จึงไม่มีใครรู้จักเหมือนอนุสาวรีย์ของมหาดเล็กหุ้มแพร.
เหตุใดฉันจึงอ่านนิราศนิรนทร์ครั้งหลัง
บัดนี้ฉันจะชี้แจงว่า เหตุใดจึงได้อ่านนิราศนรินทร์ครั้งหลัง จนนำมาพูดในวันนี้ (๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖) โคลงนิราศชุดนี้ทุกคนว่าดี แต่มีน้อยคนที่เข้าใจโคลงทุกบท.
ฉันไม่เข้าใจก็แยะ ท่านไม่เข้าใจก็หลายแห่ง และถ้าไม่เข้าใจทำไมจึงรู้ว่าดี.
ฉันนึกว่าเราโดยมาก เมื่ออ่านโคลงชุดเก่า ๆ นั้น ไม่ว่าเข้าใจตรงไหนก็ผ่านไป นึกว่าครูนั้นว่าดี อาจารย์นี้ว่าดี เราว่าดีด้วยก็คงไม่ผิด เราอ่านโคลงบทที่ ๑๒๙ ในนิราศนรินทร์อินว่า “พวงจาวเจิดแจ่มแก้ว จักรพรรดิ์พี่เอย” ไพเราะหรือไม่ ตอบว่าไพเราะ ดีหรือไม่ ตอบว่าดี ก็ถ้ากระนั้นพวงจาวแปลว่ากระไร ทั้งหมดนั้นหมายความว่ากระไร คำว่าจาว เรารู้จักแต่จาวมะพร้าว จาวตาล นี่พวงจาวแล้ว มิหนำซ้ำเจิดแจ่มแก้วจักรพรรดิ์ด้วย โคลงทวาทศมาศบทหนึ่งว่า
๏ ตาเรียมกระหง่องตั้ง | ตาเรือ แม่ฮา |
ตาหลิ่งดูดูดาย | หน่อน้อง |
ชลธารนทีเจือ | จาวหลั่ง ไหลนา |
อกแผ่นดินฟ้าฟ้อง | เพื่อนาง ฯ |
ฉนี้จาวจะแปลว่ากระไร ท่านก็ไม่รู้แน่ ฉันก็ไม่รู้แน่ แต่ทั้งท่านทั้งฉันช่วยกันว่า “พวงจาวเจิดแจ่มแก้ว จักรพรรดิ์ พี่เอย” ไพเราะนัก ถ้าใครถามว่ากระไร ก็ชักจะโกรธเอาด้วยซ้ำ.
ฉันจะพูดความลับสักข้อหนึ่ง ซึ่งชักจะไม่กล้าพูด เป็นความในใจท่านด้วย ในใจฉันด้วย ความลับนั้นคือว่า เราจะรู้ว่ากาพย์กลอนชุดไหนดี ก็เพราะคนอื่นเขาว่าดีมาก่อน เราไม่รู้เองว่าดีหรือไม่ ถึงจะชอบก็ไม่กล้าว่าดี เพราะกลัวจะผิดและกลัวจะเสียเหลี่ยม คนที่กลัวเสียเหลี่ยมนั้น เพราะมีเหลี่ยมจะเสีย และรู้ว่าเหลี่ยมอ่อน ถ้ารู้ว่าเหลี่ยมแข็ง ก็ไม่กลัวเสีย เราโดยมากเหลี่ยมอ่อน.
ในข้อที่ว่า เราเห็นกาพย์กลอน ก็มักจะไม่รู้ว่าดี จะขอนำเรื่องในประวัติวรรณคดีอังกฤษมาเล่าเรื่องหนึ่ง คือว่าเมื่อมิลตันแต่งปรไดซ์ลอซต์สำเร็จแล้ว ก็ขายต้นฉบับให้ผู้พิมพ์เป็นเงินนิดเดียว ผู้พิมพ์รับหนังสือไปพิมพ์แล้วก็ขายไม่ออก เพราะไม่มีใครรู้ว่าดี จนท่านขุนนางคนหนึ่งไปเที่ยวหาหนังสือในร้าน เจ้าของร้านขอให้ช่วยซื้อปรไดซ์ลอซต์สักเล่ม เพราะจะเป็นกระดาษทิ้งตะกร้าอยู่แล้ว ถ้าอ่านเห็นเป็นหนังสือดี ก็ให้ช่วยบอกกล่าวต่อไปด้วย ท่านขุนนางซื้อเล่มหนึ่งแล้ว ส่งไปให้ไดรเด็น ซึ่งมีตำแหน่งเป็นราชกวีอยู่ในเวลานั้น ไดรเด็นได้หนังสือไปอ่าน ไม่ช้าก็ส่งคืน และเขียนบอกไปว่า “This man cuts us all out, and the Ancients too” ความว่า อ้ายเจ้าคนที่แต่งหนังสือนี้ ทำให้เราเลวไปหมด ทั้งกวีโบราณด้วย แต่นั้นมาคนก็รู้ว่าปรไดซ์ลอซต์ เป็นหนังสือดีชั้นเลิศ และในปัจจุบันนับถือกันว่า มิลตันเป็นกวีชั้นเอกไล่เลี่ยกับเชกซเปียร.
ส่วน นิราศนรินทร์นั้น เราควรจะขอบใจท่านที่เป็นคนแรกที่ว่าดี ถ้าไม่อย่างนั้น บางทีเรายังจะไม่รู้ว่าดีจนป่านนี้ เฉพาะตัวฉันเอง เมื่อได้ยินคนอื่นว่าดีแล้วก็ว่าบ้าง ได้อ่านหลายครั้ง และเดี๋ยวนี้นับว่าเป็นโคลงดีจริง ๆ ไม่ใช่ดีที่สุด แต่จะหาโคลงชุดไหนมาดีกว่า หรือแม้ดีเสมอนั้น มีน้อย ฉันเคยจำโคลงนิราศนรินทร์ได้มาก แต่นานเข้าก็ลืมไปบ้าง ถึงกระนั้น ก็ยังฝังใจอยู่เสมอว่า นิราศนรินทร์ดีนัก เดี๋ยวนี้แม้เมื่อได้เขียนปาฐกถานี้แล้ว ก็ยังเห็นเช่นนั้น.
วันหนึ่งเทวดาดลใจจะให้มีเรื่องมาพูดวันนี้ เผอิญไปเปิดพบคำนำนิราศนรินทร์ฉบับพิมพ์ฉบับหนึ่ง เป็นคำนำซึ่งฉันจะคงเคยเห็นแล้ว แต่หากลืมเสีย คำนำนั้นกล่าวว่า นิราศนรินทร์นี้นับถือกันในหมู่กวีว่า เป็นโคลงแต่งดีอย่างเอกเรื่องหนึ่ง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เคยกล่าวว่า ได้ลองพิจารณาหาที่ตินิราศนรินทร์นักแล้ว ไม่พบแห่งใดที่จะแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นได้.
ฉันอ่านคำนำดังนั้นแล้ว ก็อึ้งนึกว่า การเห็นกาพย์กลอนดีนั้น ย่อมจะเป็นเรื่องต่างคนต่างใจ โคลงทั้งชุดที่เรานับถือว่าดีเป็นชั้นยอด ก็อาจมีบางแห่งซึ่งไม่ถูกใจเรา ท่านอาจารย์น้อยเองเป็นกวีชั้นสูง เป็นที่นับถือของกวีรุ่นหลัง ดังซึ่งเคยเป็นที่นับถือของกวีรุ่นเดียวกัน แต่ท่านอาจารย์จะพอใจง่ายกระมัง จึงว่านิราศนรินทร์ ไม่มีตรงไหนที่อาจแก้ให้ดีขึ้นได้ บางทีตัวเราเอง จะพอใจยากกว่าท่านอาจารย์ เพราะฉนั้นถึงไม่เคยพบคำไหนในนิราศนรินทร์ที่เคยนึกอยากแก้ ก็อยากจะให้รู้แน่ว่า เป็นเช่นนั้นเที่ยงแท้หรือไม่ เหตุฉนี้จึงจับขึ้นอ่านอีกครั้งหนึ่ง พิจารณาอย่างเลอียดจนถ้อยคำสัมผัส และข้อความในโคลงบทหนึ่ง ๆ เพื่อจะดูว่าตามความเห็นของเราเอง นิราศนรินทร์จะหาตรงไหนบกพร่อง หรือที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นไม่ได้จริง ๆ แน่หรือ.
ดังนี้ การอ่านนิราศนรินทร์ครั้งนั้น จึงเป็นไปโดยบาปจิต คืออ่านจะจับผิด และในที่นี้จะนำมากล่าวว่าจับได้บ้างหรือไม่ ในการอ่านเลอียดนั้น ย่อมจะเห็นทั้งความดีและความด่างพร้อยของโคลงไปด้วยกัน ดังจะยกมากล่าวให้ท่านเห็นตามควรแก่เวลา เพื่อจะทำเช่นนี้ จะต้องนำโคลงมาอ่านบางบทพอเป็นตัวอย่าง ถ้าท่านชอบวิธีอ่านเลอียดของฉัน ท่านก็ย่อมจะนำไปอ่านเอาเองได้ แต่ฉันควรจะบอกให้ท่านรู้ไว้ว่า ถ้าท่านอ่านพิจารณาทุกบรรทัดและทุกคำไซร้ กาพย์กลอนทั้งหลายที่ท่านเห็นว่าดี จะเหลือน้อยกว่าที่ท่านเห็นเดี๋ยวนี้เป็นอันมาก เพราะความด่างพร้อยที่ท่านไม่เคยสังเกตนั้น จะเด่นขึ้นมาหมด ฉันต้องบอกให้ท่านรู้ตัวในข้อนี้ เพราะว่า ถ้าท่านอ่านอย่างฉันอ่าน กาพย์กลอนโดยมาก เมื่อท่านจับดูสักครู่หนึ่งแล้ว ก็จะขว้างทิ้ง เพราะรำคาญความด่างพร้อยต่าง ๆ กาพย์กลอนที่ท่านจะอ่านได้คงจะเหลือน้อย อนึ่ง ถ้าท่านอ่านกาพย์กลอนด้วยพินิจพิเคราะห์นั้นไปใช้ในเมื่ออ่านหนังสือร้อยแก้ว ถ้าเห็นใช้ถ้อยคำและสำบัดสำนวนเหลว ๆ ท่านจะเกิดรำคาญขว้างทิ้งเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านก็จะได้ความเดือดร้อนที่ไม่ใคร่จะมีหนังสืออ่าน แต่ความเดือดร้อนของท่าน จะเป็นประโยชน์แก่เมืองไทย เพราะถ้าท่านไม่อ่านหนังสือแต่งเลวๆ หนังสือชนิดนั้นขายไม่ได้ ก็จะไม่มีใครแต่ง หนังสือที่แต่งออกมาก็จะต้องเป็นหนังสือดีทั้งนั้น ในชั้นที่ใจท่านเป็นเช่นนั้น ท่านอาจเหมือนฉันอีกอย่างหนึ่ง คือว่า กาพย์กลอนเรื่องใดของใครก็ตาม ถ้าเขาแต่งดี เราอ่านได้ความเพลิดเพลินและความรู้ ก็รู้สึกบุญคุณผู้แต่ง เวลาอ่านอยากจะพนมมือ เมื่ออ่านจบแล้วอยากจะยกมือไหว้ เหมือนฟังเทศน์จบ ผู้แต่งอาจเป็นคนเหลวไหน ซึ่งเราไม่คบก็เป็นได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีน้ำใจไมตรีอยู่นั่นเอง.
ต่อนี้จะนำโคลงในนิราศนรินทร์มาอ่านบ้าง พอเป็นตัวอย่างความประสงค์เบื้องต้น คือจะจับผิด แต่ถ้าพูดจริง ๆ โคลงที่จะจับผิดได้นั้นมีน้อย คำที่พูดต่อไปนี้ เห็นจะชมมากกว่าติ แต่ตำหนิจริงจังจะมีบ้างหรือไม่ เชิญท่านฟังต่อไป (ตัวสกดในโคลงที่นำมานี้ ฉันใช้ตามที่เชื่อว่านรินทร์อินใช้ คือตามวิธีตัวสกดในสมัยนั้น)
๏ อยุธยายศล่มแล้ว | ลอยสวรรค์ ลงฤๅ |
สิงหาศน์ปรางค์รัตน์บรร | เจิดหล้า |
บุญเพรงพระหากสรรค์ | ศาสนรุ่งเรืองแฮ |
บังอบายเบิกฟ้า | ฝึกฟื้นใจเมือง ฯ |
โคลงบทนี้ไพเราะนัก บาท ๑ บาท ๒ ดีพอเทียมกัน บาท ๓ ดีกว่า ๒ บาทต้น บาท ๔ ดีที่สุดส่งสูงลิ่ว ความดีหมดทุกคำ แต่ฉันมีสงสัยในบาท ๑ อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ อยุธยาหมายความว่าสยาม หรือหมายความว่าเฉพาะกรุงเก่า ถ้าหมายว่าสยาม ทำไมเมื่อล่มลงไปข้างล่างแล้ว จึงลอยลงมาจากข้างบน ถ้าหมายว่ากรุงเก่า ก็ต้องตีความว่า กรุงเก่าล่มลงไปแล้ว กรุงเทพลอยลงมาแทน ออกจะต้องเดาช่วยอยู่สักหน่อย การที่แต่งเช่นนี้ไม่เสียหายในเชิงกวี เพราะกวีมีสิทธิจะพูดเว้น ๆ ไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจเอาเอง ที่กล่าวนี้เป็นการชี้ให้เห็นความสงสัย ไม่ใช่หมายความว่าจะจับผิดได้ อันที่จริงโคลงบทนี้ดีเอามาก ๆ
๏ เรืองเรืองไตรรัตนพ้น | พันแสง |
รินรศพระธรรมแสดง | ค่ำเช้า |
เจดีย์ระดะแซง | เสียดยอด |
ยลยิ่งแสงแก้วเก้า | แก่นหล้า หลากสวรรค์ ฯ |
โคลงบทนี้ดีดาษ ๆ ทรามกว่าบทต้น แต่ก็ต้องว่าดี
๏ โบสถ์ระเบียงมรฎปพื้น | ไพหาร |
ธรรมาศน์ศาลาลาน | พระแผ้ว |
หอไตรยระฆังขาน | ภายค่ำ |
ไขประทีปโคมแก้ว | ก่ำฟ้าเพื่อนจันทร์ ฯ |
บาทต้นคำว่า “พื้น” เข้าไปอยู่ที่นั่นทำไม ไม่เข้าใจ บาทที่ ๒ ลานพระแผ้วก็เข้าใจยาก ถ้าเข้าใจก็เข้าใจโดยเดา เอาแน่ไม่ได้ เพราะไม่เห็นแจ่มออกมาทันทีในเวลาที่อ่าน บาท ๓ ดี บาท ๔ ดีมาก ส่งอย่างไพเราะจริง ๆ แต่มีปัญหาว่า “ไขประทีปโคมแก้ว” นั้น ไขที่หอระฆัง หรือไตรย หรือ ศาลา หรือธรรมาศน์ หรือที่ไหน.
๏๕แถลงปางบำราศห้อง | โหยครวญ |
เสนาะเสน่ห์กำศรวล | สั่งแก้ว |
โอบองค์ผโอนอวน | ออกโอษฐ์ อรเอย |
ยามหนึ่งหรือแคล้วแคล้ว | คลาศคล้าย ขวบปี ฯ |
โคลงบทนี้อยู่ในพวกดีที่สุด บาท ๓ ยิ่งดีนัก แต่สงสัยบาท ๒ ทำไมจึงเสนาะเสน่ห์ ถ้าเสนาะแปลว่าน่าฟังว่าไพเราะ และเสน่ห์แปลว่าความรัก ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไพเราะความรัก แต่ถ้าเสน่ห์ในที่นั้น หมายความว่า บุคคลผู้เป็นที่รัก ทำนองที่ผัวอังกฤษเรียกว่า My love ก็พอจะตีความ ไพเราะสำเนียงนางผู้เป็นที่รักได้กระมัง แต่ถ้าเสน่ห์แปลว่าบุคคลผู้เป็นที่รักไม่ได้ ก็ไฉนจึงว่าเสนาะเสน่ห์ คำว่าเสนาะนั้น เราใช้กันเดี๋ยวนี้แปลว่าไพเราะ ว่าน่าฟัง อย่างในเตลงพ่ายที่ว่า
๏ ถวิลปางบำราศเจ้า | จากเวียง |
ยังเสนาะสำเนียง | ลห้อย |
แต่ศรีปราชญใช้ในโคลงกำศรวลดังนี้
๏ เสนาะหน้าเจ้าแว่น | ไวจนน |
ปางจากอยุธยานาน | จึงเต้า |
เสนาะกรกรายยรร | อกหย่อน |
เมรุทุเท่าหน้า | กำศรวล ฯ |
ฉนี้เสนาะจะแปลว่ากระไร ที่ว่านี้เป็นตำหนิตัวเราเองว่าไม่รู้ ไม่ใช่ตำหนินรินทร์อิน อนึ่ง ฉันเองได้เคยใช้เสนาะเสน่ห์ในโคลงซึ่งแต่งไว้นานแล้ว ขอบอกกล่าวเพื่อไม่ให้ถูกตำหนิว่า ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง
๏๙ โฉมควรจักฝากฟ้า | ฤๅดิน ดีฤา |
เกรงเทพไท้ธรณินทร์ | ลอบกล้ำ |
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน | บนเล่า นะแม่ |
ลมจะชายชักช้ำ | ชอกเนื้อเรียมสงวน ฯ |
โคลงบทนี้ดีทั้งบท บาท ๓ ดีมาก แต่บาท ๔ ก็ดีถึงกัน ส่วนบาท ๑ นั้น ถ้าเป็นฉันจะใช้ “โฉมควรจะฝากฟ้า” แทน “โฉมควรจักฝากฟ้า” คือใช้จะ แทน จัก เพราะตรงนั้นเฉพาะในโคลงบทนี้ใช้คำเบาดีกว่าคำหนัก แต่นั่นก็ต่างคนต่างใจ ติกันไม่ได้.
บาท ๒ ที่ว่า “เกรงเทพไท้ธรณินทร์ ลอบกล้ำ” นั้นทำให้สงสัย เพราะธรณินทร์แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน นรินทร์อินเห็นจะไม่กล้ากล่าวว่า เกรงพระพุทธเลิศหล้าจะทรง “ลอบกล้ำ” เมียของแก เห็นจะหมายเอาเพียงเทวดาดิน คือภุมเทวดาแลพฤกษเทวดาเป็นต้นเท่านั้นเอง ถ้าเช่นนั้นเหตุไร จึงใช้คำซึ่งอาจแปลว่า พระพุทธเลิศหล้า หรือแกจะเขียนว่า ธรณินใช้อย่างธรณี แต่หากจะถูกแก้ในฉบับพิมพ์ก็เป็นได้.
๏๑๐ ฝากอุมาสมรแม่แล้ | ลักษมี เล่านา |
ทราบสยมภูวจักรี | เกลือกใกล้ |
เรียมคิดจบจนตรี | โลกล่วง แล้วแม่ |
โฉมฝากใจแม่ได้ | ยิ่งด้วย ใครครอง ฯ |
โคลงบทนี้โด่งดังที่สุดในนิราศนรินทร์ นักนิพนธ์ชั้นหลัง ๆ นำเอาไปกล่าวเป็นตัวอย่างบ่อย ๆ และถ้าจะพูดตามจริง ก็เป็นโคลงดี แต่มีคำท้วงบ้าง.
บาทต้น “ฝากอุมาสมรแม่แล้ ลักษมี เล่านา” นั้น ฉบับสมุดไทยตัวรงบางฉบับเป็น “สมรแม่แล้ว” ก็มี แต่ฉันนึกว่าแล้ เห็นจะถูก ถ้าแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่า ฝากพระอุมาแล้ว จึงฝากพระลักษมี ถูกพระอิศวร “กล้ำ” แล้วยังจะพระนารายณ์ซ้ำอีก จะไม่ได้เรื่องหนักขึ้น แต่โคลงบาทนี้ฉันได้เคยแก้โดยไม่ได้ตั้งใจจะแก้ คือจำได้แล้วนานเข้าก็จำผิด เลยกลายเป็น
๏ ฝากอุมาสมรแม่แม้ | ลักษมี เล่านา |
ฉันจำผิดและท่องผิดอยู่จนอ่านครั้งหลังจึงรู้ว่าผิด แต่ก็ออกจะเห็นไม่เลวเหมือนกัน.
ส่วน บาท ๒ ในโคลงบทนี้ คือ “ทราบสยมภูวจักรี เกลือกใกล้” นั้นฟังดูก็ไพเราะ แต่ว่าตามลักษณะโคลงเอกเจ็ดโทสี่ เอกต้องอยู่ในบาท ๒ นี้ ๒ แห่ง เอกแรกอยู่ที่คำไหน เชิญท่านค้นดูสักที.
ตามนิยมของเรา สยม แทนเอกไม่ได้ แต่ท่านอาจว่าสะแทนเอกได้ ถูกแล้ว สะแทนเอกได้ แต่ท่านจะต้องอ่านยมภูวจักรี ห้าพยางค์ให้เป็นสามพยางค์ น่ากลัวสำลัก พูดสั้นๆ บาท ๒ แห่งโคลงบทที่ขึ้นชื่อมากที่สุดในนิราศนรินทร์นี้ ผิดเอกอย่างไม่มีทางรอด มิฉนั้นก็เยิ่นอย่างไม่มีประตูแก้เลย โคลงบทนี้ฉันจำได้มาตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ เพิ่งจะมารู้ว่าผิดเอก เมื่ออ่านจะจับผิดนี่เอง.
โคลงบาทนี้ ถ้าให้อภัยที่ผิดเอก แล้วก็ไพเราะนัก ฉันก็เคยแต่งทำนองนี้ ไม่เหมือนทีเดียว แต่จวนจะผิดมิผิดแหล่ เป็นการผัดช้างน้ำมัน แต่เห็นไพเราะก็ทนเอา.
เมื่ออ่านนิราศนรินทร์ ตรวจมาเพียงโคลงบทที่ ๑๑ นี้ ก็ได้ความว่า มีที่จะแก้ให้ดีขึ้นได้แห่งหนึ่งแล้ว เพราะในที่ซึ่งผิดเอกนั้น ถ้าแก้ให้ถูก ถึงจะแก้เลวอย่างไรก็ดีกว่าผิดทั้งนั้น การที่จะแก้นั้นไม่ยาก เพราะชื่อพระอิศวรนั้นมีตั้ง ๑๐๐๐ ชื่อ เลือกที่ถูกเอกมาแทนสยมภูวคำเดียวก็แล้วกัน.
๏๑๒ สงสารเป็นห่วงให้ | แทนขวัญ แม่ฮา |
ขวัญแม่สมบูรณ์จันทร์ | แจ่มหน้า |
เกศีสินีพรร | โณภาส |
งามเงื่อนหางยูงฟ้า | ฝากเจ้า จงดี ฯ |
โคลงบทนี้ส่งอ่อนอยู่หน่อย นอกจากนั้นก็ไพเราะดี แต่สงสัยบาท ๓ ว่าจะคัดผิด ฉบับหอพระสมุดว่า “เกศีสินีพรร โณภาส” ทั้ง ๒ ฉบับ ไม่น่าเชื่อว่าถูก เกศีสินี ไม่เห็นได้ความว่ากระไร และไม่เชื่อว่า กวีอย่างนรินทร์อินจะเขียนว่า เกศีนี อย่างฉบับกระทรวงธรรมการ ก็ถ้าเช่นนั้นจะเดาว่านรินทร์อินเขียนไว้อย่างไรเล่า ฉันได้สอบสมุดไทยสมุดฝรั่งกว่า ๑๐ ฉบับ ก็ไม่ได้ความ จึงย้ายไปค้นหาที่สังเกตจากโคลงอื่น ๆ พบโคลงเก่าชุดหนึ่ง เรียกว่านิราศสังวาศ มีโคลงบทหนึ่งขึ้นต้นว่า “เกศินินิลพรรณ โณภาส” เห็นว่าควรจะลงความเห็นยุติได้.
๏๑๓ เรียมจากจักเนิ่นน้อง | จงเนา นะแม่ |
ศรีสวัสดิ์เทอญเยาว์ | อย่าอ้อน |
อำนาจสัตย์สองเรา | คืนร่วมกันแม่ |
การณรงค์ราชการร้อน | เร่งแล้ว เรียมลา ฯ |
โคลงบทนี้ก็ไพเราะดี แต่บาทสุดท้ายผิดเอก หรือถ้าไม่ให้ผิดเอก ก็เยิ่นป่นปี้จวนจะเหมือน “ทราบสยมภูวจักรี”
๏๑๘ ชาวแพแผ่แง่ค้า | ขายของ |
แพพัตราตาดทอง | เทศย้อม |
รฤกสีสไบกรอง | เครือมาศ แม่เฮย |
ซรับสอดสองสีห้อม | ห่อหุ้ม บัวบัง ฯ |
โคลงบทนี้ดี บาท ๓ และบาท ๔ ส่งดีมาก แต่ไม่เข้าใจ “แผ่แง่” หมายความว่ากระไร ความเข้าใจกันโดยมากว่าแผ่แง่คือทำชั้นเชิงแง่งอน แต่ฉันไม่เชื่อว่าถูก ในคลองบางหลวงแต่ก่อน มีแพแทบจะตลอดลำคลอง จอดถี่บ้างห่างบ้าง ตั้งแต่ปากคลองไปจดด่าน คนอยู่แพนั้น ย่อมจะมีตั้งแต่ตาแก่ยายเฒ่าไปจนลูกเล็กเด็กน้อย จะว่าคนอยู่แพแสนงอนกว่าคนอยู่บนบก ก็ว่าไม่ได้ ยิ่งพวกที่ค้าขาย ถ้าขืนแสนงอนก็เห็นจะขายของไม่ดี จะมีบ้างก็แต่นางสาว ๆ บางคน ซึ่งคงจะแสนงอน แต่กับพวกเจ้าหนุ่ม ๆ ที่เข้าไปติดพันเท่านั้น เห็นจะหาแสนงอนกับผู้ที่ผ่านไปกับเรือกระบวนทัพไม่ แต่ถ้าแผ่แง่ไม่ได้แปลว่าแสนงอนจะแปลว่ากระไร ข้อนี้ฉันคิดมานานแล้ว และยังติดอยู่จนเดี๋ยวนี้ ได้คิดว่าบางทีจะคัดต้นฉบับผิด ได้ตรวจฉบับพิมพ์ทุกฉบับที่มี ก็เป็น “แผ่แง่” ทั้งนั้น ต้นฉบับสมุดไทยตั้ง ๑๒ ฉบับก็เช่นเดียวกันโดยมาก แต่มี ๒ ฉบับที่ว่า “ชาวแพแพแม่ค้า ขายของ” อาจถูกก็ได้ แต่ไม่ไว้ใจเลย.
๏๒๔ บางขุนเทียนถิ่นบ้าน | นามมี |
เทียนว่าเทียนแสงสี | สว่างเหย้า |
เย็นยามพระสุริยลี | ลาโลกย์ ลงแม่ |
เทียนแม่จุดจักเข้า | สู่ห้อง หาใคร ฯ |
โคลงบทนี้นำมาอ่านเพื่อจะแสดงว่าไพเราะมาก บาทต้นก็ไม่สู้กระไร แต่เป็นชื่อตำบลซึ่งไม่เข้าหูกวี จะทำกระไรได้ เมื่อพ้นบาทต้นไปแล้ว ก็ดีขึ้นทุก ๆ บาท จนถึงบาทส่งดีนัก แต่ต้องอ่าน “แม่” เป็นคำเบา จึงจะไพเราะแท้ ถ้าอ่าน “แม่” เป็นคำหนักก็เสีย.
๏๓๓ หัวกบือกบิลราชร้า | รณรงค์ แลฤา |
ตัดกบาลกบือดง | เด็ดหวิ้น |
สืบเศียรทรพีคง | คำเล่า แลแม่ |
เสมอพี่เด็ดสมรดิ้น | ขาดด้วย คมเวร ฯ |
โคลงบทนี้ฉันเห็นอยู่ในพวกดีเลิศของนรินทร์อิน ถ้าจะอ่อนอยู่ก็แต่คำสุดท้ายคือเวรคำเดียว ทำให้ส่งต่ำไปหน่อย มิฉนั้นดีหมด แต่โคลงบทนี้ทำให้ฉันฉงนอยู่นาน ดังจะนำมากล่าวตามลำดับ
ในบาทต้นกล่าวถึงทรพีกับพาลีต่อสู้กัน คำว่า “กบิล” ที่แปลว่าลิงนั้น นรินทร์อินเขียนสกด ล อย่างที่ใช้กันแต่ก่อน นิราศนรินทร์ฉบับสมุดไทย และฉบับที่พิมพ์รุ่นเก่า ๆ ใช้สกด ล ทั้งนั้น เพิ่งจะมาถูกแก้เป็น กบินทร์ ในหนังสือที่พิมพ์รุ่นใหม่ ๆ นี้เอง ที่ถูกแก้เป็น กบินทร์ นั้น ถ้าแปลว่าพญาลิงก็ถูก แต่นรินทร์อินไม่ได้เขียนอย่างนั้น คำว่า กบิล แปลว่าสีดำแดง และว่าสัตว์มีขนดำแดงก็ได้ (๑) Tawny (๒) Having tawny hair (Apte) ที่ใช้หมายความว่า ลิง จึงถูกและไม่ควรแก้.
บาท ๔ โคลงบทนี้ ทำให้อักอ่วนเป็นอันมาก แต่ก่อนอ่านเห็นไพเราะแล้วก็พอใจ ไม่ได้นึกถึงความ คราวนี้พิจารณาคำและความโดยเลอียดก็เกิดยุ่ง คือว่า “พี่เด็ดสมร” นั้นต้องเข้าใจ ผู้แต่งเด็ดเมีย เข้าใจอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นเรื่องราวที่ว่าพาลีฆ่าทรพีตัดหัว “เด็ดหวิ้น” นั้น จะเปรียบเสมอกับ “พี่เด็ดสมร” อย่างไรได้ ผู้แต่งไม่ได้เด็ดเมียเลย เหตุไฉนจึงเอาสิ่งที่ไม่ได้ทำมาเปรียบกับลิงตัดหัวควาย.
ฉันฉงนข้อนี้อยู่หลายวัน เห็นทางที่พอจะเข้าใจได้อยู่ทางเดียว คือคัดต้นฉบับผิด ถ้าเป็นเด็จแปลว่าขาดก็พอเข้าใจได้ แต่ฉบับที่สอบหลายฉบับ ทั้งสมุดไทยและสมุดฝรั่งก็เป็น “เด็ด” ทุกฉบับ จึงเป็นอันยังไม่สิ้นฉงน ในที่สุดอ่านกลับไปกลับมา จึงไปสังเกตบา ๒ เข้าอีกแห่งหนึ่งว่า “ตัดกบาลกบือดง เด็ดหวิ้น” เหตุใดเมื่อตัดแล้วจึงเด็ดอีก นรินทร์อินเป็นกวีอย่างดี ไม่แต่งอย่างนั้นเป็นแน่ ความหมายของแกคือ “ตัดกบาลกบือดง ขาดหวิ้น” แต่ขาดไม่ได้สัมผัสอักษรกับ ดง จึงเปลี่ยนเป็น เด็จ (แปลว่าขาด) ตามวิสัยกวีดี.
เมื่อเห็นฉนี้ก็สิ้นฉงน กล่าวได้เต็มปากว่า ฉบับที่เคยเห็นล้วนแต่ผิดทั้งนั้น อันที่จริง เด็ด กับ เด็จ เดิมมันก็คำเดียวกัน หากเรามาใช้แบ่งออกไปเป็น ๒ ความ จึงใช้ตัวสกด ๒ อย่าง.
เวลาเปลืองไปมากแล้ว ฉันจะหยุดอ่านตัวอย่างโคลงในนิราศนรินทร์เพียงเท่านี้ และกล่าวส่งท้ายว่า ถ้าท่านริเริ่มจะแต่งโคลงทั้งชุด ก็จงลองแต่งนิราศ เพราะจะหาอะไรง่ายกว่านั้นไม่มี ข้อยากของการแต่งนิราศ อยู่ในความง่ายนั่นเอง คือว่า เพราะเหตุมันง่าย ใคร ๆ ก็แต่งดีโดยมาก เราจะแต่งให้ดีเลิศลอยเกินคนอื่น ๆ ไปนั้นยาก ส่วนนิราศนรินทร์นั้น อยู่ในพวกดีและดีเอามาก ๆ ก็จริง แต่ที่จะว่าหาด่างพร้อยไม่ได้เลยนั้นไม่ถูก ผู้แต่งกาพย์กลอนมีน้อยนักที่จะระวังถ้อยคำไปทุกคำ และคนอ่านที่สังเกตถ้อยคำทุกคำพูดตามส่วนยังมีน้อยกว่านั้นไปอีก คนอ่านโดยมากอ่านกาพย์กลอนเห็นคำไพเราะพราวไปเหมือนเพชรในหัวแหวน ไม่ใคร่จะดูให้เลอียดว่า ฝีมือสลักฝีมือขึ้นรูปและฝีมือขัดเกลาที่มีอยู่ในหัวแหวนนั้น ดีเลอียดลออหมดทั้งวงหรือไม่ โคลงบทหนึ่ง ๆ ถ้าไม่มีคำที่จะแก้ให้ดีขึ้นได้เลย ตามความเห็นของกวีคนไหน กวีคนนั้นก็ย่อมนับถือว่าเป็นโคลงดี แต่ถ้าจะยกขึ้นพิจารณากันทั้งชุด ก็คงจะมีด่างพร้อยบ้าง นับประสาแต่อะไร แม้โคลงในเตลงพ่าย ซึ่งขัดเกลายิ่งกว่าโคลงชุดไหน ๆ หมด ยังมีพลาดได้เหมือนกัน.
นิราศนรินทร์ไม่ได้ขัดเกลาอย่างเตลงพ่าย มีหลายบาทและหลายบท ซึ่งถ้าเป็นสมเด็จพระปรมานุชิต ก็คงไม่ทรงปล่อยไว้ นรินทร์อินก็ใช้กระดาษทรายมาก แต่ยังไม่เต็มที่ ประเดี๋ยว ๆ ก็ปล่อยขรุขระไว้ แต่ในวันนี้ (๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖) ฉันไม่ได้ยกนิ้วชี้ เพราะเป็นความเห็นบุคคลซึ่งพอใจยากเท่านั้น ส่วนผู้อ่านโดยมากนั้นเล่าเมื่อชอบใจตรงไหน ก็เจาะจงสังเกตตรงนั้น ไหนไม่จับใจ หรือไม่เข้าใจก็อ่านผ่าน ๆ ไป เมื่ออ่านจบแล้วก็ฝังใจอยู่แต่ตอนที่ชอบ แล้วเลยยกย่องทั้งหมด
การแต่งโคลง ที่จะชั่งน้ำหนักคำที่ใช้ทุก ๆ คำนั้นย่อมจะยาก เพราะถูกบังคับทั้งจำนวนคำ ทั้งเอกโทและทั้งสัมผัส ยิ่งเพียรจะให้ไพเราะ ก็ยิ่งยากหนักขึ้น เหตุฉนี้ กวีที่แต่งโคลงทั้งชุด ๆ ยาว ๆ จึงไม่ใคร่พิถีพิถันตลอดแต่ต้นจนปลาย และฉันนึกว่านรินทร์อิน มิได้พิถีพิถันเต็มที่ มิฉนั้นนิราศของแกคงจะดีกว่านั้นขึ้นไปอีก.
อนึ่ง คนที่แต่งโคลงขัดเกลาเต็มที่แล้วนั้น บางทีจุดนิดรอยหน่อยหลงตาไปก็ได้ ข้อนี้ฉันขอยกตัวเองเป็นตัวอย่าง เพราะฉันทราบความรู้สึกของฉัน แต่ไปทราบความรู้สึกคนอื่นไม่ได้ โคลงบทหนึ่งแต่งไว้กว่า ๓๐ ปีแล้วว่า
๏ ทศพักตรเพ่งพักตรป้อง | ชมเปาะ |
เลิศวิไลยแลเหมาะ | จิตข้า |
เชิญขนิษฐ์สถิตเกาะ | สวัสดิ์กับ เรียมเทอญ |
นอนนั่งนึกแนบหน้า | นุชน้อง นวลเสมอ ฯ |
โคลงบทนี้ เมื่อ ๓๐ ปีแล้ว ฉันนึกว่าไม่มีที่ติเลย แก้ให้ดีขึ้นไม่ได้ แต่มาเดี๋ยวนี้นึกว่า “จิตข้า” นั้นอ่อนไปเสียแล้ว อนึ่ง “นุชน้อง” นั้นทับศัพท์ จริงดอก เขาใช้กันอย่างนั้นถมไป แต่ถ้าไม่ทับศัพท์ได้จะดีกว่า เมื่อคราวงานการเปิดสพานพระพุทธยอดฟ้า ฉันได้รับมอบให้แต่งเห่เรือ สำหรับแห่เวลาเสด็จพยุหยาตราชลมารค ฉันก็แต่งตามแบบที่เคยแต่งกันมาแต่เดิม โคลงท้ายเห่ว่า
๏ สรวมชีพอัญชลิตซร้อง | อาเศียร |
ทศพิธราชธรรมเสถียร | เทอดหล้า |
ฉนำฉนำเนื่องจำเนียร | นิรทุกข์ พระเทอญ |
เผ่าพระพุทธยอดฟ้า | ยิ่งฟ้า สถาพร ฯ |
โคลงบทนี้เมื่อแต่งแล้ว นึกว่าไม่มีคำไหนจะเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้สักคำเดียว คือฉันไม่มี และเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มี แต่ฉันไม่แน่ใจดอก ต่อไปอีกหลาย ๆ ปี ฉันอาจเห็นด่างพร้อยที่ไหนก็เป็นได้ นี่แหละแม้เจ้าของเองยังเป็นเช่นนี้ คนอื่น ๆ อาจเป็นได้เช่นไรเล่า โคลงบทหลังของฉันนั้น ถ้าอยู่ไปได้ ๒๐๐ ปี ก็จะเป็นโคลงไม่มีที่ติเลย เพราะภาษาจะเปลี่ยนไปจนคนอ่านไม่ใคร่เข้าใจ และเมื่อไม่เข้าใจแล้ว นั่นแหละดีแน่ ในสมัยนี้เราชมกำศรวญยวนพ่ายกันมาก เพราะไม่ใคร่เข้าใจ ถ้าเห็นตำหนิก็ไม่กล้าติ ก็เมื่อเราไม่รู้ จะรู้ว่าไม่ดีอย่างไรได้ เมื่อเราไม่รู้ ถ้ารู้ก็ต้องรู้ว่าดี ถ้าท่านไม่เชื่อคำที่ฉันว่า กลับไปบ้านท่านจงอ่านกำศรวญยวนพ่ายดูเถิด ท่านจะรู้สึกว่า ท่านรู้ว่าดีเพราะไม่เข้าใจนั้นเอง ถ้าท่านอ่านแล้วเข้าใจตลอด จงเขียนจดหมายไปต่อว่าฉัน ถ้าท่านทำให้ฉันเห็นว่าท่านเข้าใจจริง ท่านจะปรับฉัน ๕ ตำลึงก็ได้.