- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
มหาวิทยาลัยอังกฤษ
หนังสือพิมพ์ว่าด้วยมหาวิทยาลัยอังกฤษเขียนส่งมาจากลอนดอน โดยเมล์อากาศ ได้รับวันที่ ๑๑ เดือนนี้ (๑๑ พ.ค. ๒๔๗๙) เราไม่ได้รีบแปลลง แต่มีความซึ่งน่าสนใจฟัง เผื่อจะเป็นคติแก่การศึกษาชั้นสูงของเราบ้าง ใจความในหนังสือนั้นว่า ระดับแห่งการศึกษาในประเทศอังกฤษสูงเป็นที่น่าพอใจ และตั้งแต่มหาสงครามแล้วมา รัฐบาลหลายชุดซึ่งได้รับหน้าที่ราชการเป็นลำดับกันมา ได้จัดบำรุงการศึกษาให้จำเริญขึ้น โดยประการต่าง ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เสนอกฎหมายต่อปาลิเม็นต์รายหนึ่ง เพื่อจะบัญญัติการศึกษาให้ก้าวหน้าไปบางอย่าง และเวลานี้ (๒๔๗๙) บัญญัติว่า เด็กจะออกจากโรงเรียนต้องมีอายุถึง ๑๕ ปีแล้วจึงจะออกได้ แต่ในข้อนี้ให้เด็กมีสิทธิที่จะได้รับยกเว้นบางอย่าง วิธีศึกษาปัจจุบันนี้ เตรียมสำหรับให้เด็กทุกชั้นดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้า.
ความเปลี่ยนในสังสรรค์ของประชาชน ได้ทำให้จำเป็นต้องแลดูปัญหาเรื่องศึกษาให้กว้างขึ้น จึงพิจารณาเห็นควรที่จะขยายกิจการของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อจะให้รับนักเรียนจากหมู่ชนกว้างขึ้นกว่าแต่ก่อน สำนักกิจการต่าง ๆ ที่เป็นของเทศชน (เนชั่น) ก็ดี ที่เป็นของท้องที่ก็ดี ได้ช่วยกันอยู่แล้ว ที่จะให้พลเมืองมีส่วนได้รับศึกษาจากมหาวิทยาลัยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีกรรมการหมู่หนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้แบ่งเงินอุดหนุนให้แก่มหาวิทยาลัยในนามของรัฐและจ่ายเงินอุดหนุนเช่นนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อยู่ถึงปีละ ๒ ล้านปอนด์ ยังเทศบาลต่าง ๆ จ่ายอยู่อีกปีละ ๖ แสนปอนด์อีกเล่า นอกจากนี้ใน ๖ ปีที่แล้วมา เอกชนหลายท่านได้ให้เงินแก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นจำนวน ๕,๒๕๐,๐๐๐ ปอนด์
กรรมการที่กล่าวมานั้น ได้แบ่งเงินให้แก่มหาวิทยาลัย ๑๖ แห่ง วิทยาลัยแบบมหาวิทยาลัย ๓ แห่ง โรงเรียนอาชีพชั้นสูง ๒ แห่ง ในศึกษาสถานเหล่านั้น มีนักเรียนซึ่งเรียนเต็มเวลา ๕๐,๖๓๘ คน เป็นหญิงประมาณ ๑ ใน ๔ ในปีหลัง ๆ นี้ จำนวนนักเรียนหญิงเพิ่มขึ้นมาก และใน ๖ ปีที่แล้วมานี้ จำนวนนักเรียนทั้งชายและหญิงได้มากขึ้น ๑๑ เปอรเซ็นต์.
นักเรียนคนจนที่ไม่มีเงินจะไปมหาวิทยาลัยได้นั้น ได้รับเงินช่วยให้ไปได้เป็นอันมาก ประมาณว่า นักเรียนที่ได้รับเงินช่วยเช่นนี้มีถึง ๔๒ เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนักเรียนมหาวิทยาลัยทั้งหมด.
แต่ก่อนมหาวิทยาลัยเป็นสำนักศึกษาของลูกผู้ดีมีเงิน แต่เดี๋ยวนี้หนุ่มและสาวทุกชั้นมีปะปนกันในมหาวิทยาลัย แม้ครอบครัวที่จนที่สุด ก็มีหวังว่าลูกจะไปมหาวิทยาลัยได้ รายงานที่เสนอรัฐบาลคราวนี้กล่าวว่า จำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากคนชั้นต่ำโดยมาก ถ้าจะพูดเฉพาะที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยหัวเมือง ก็มีนักเรียนประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียนที่ไม่ต้องเสียเงิน คือโรงเรียนคนจน.
ในเวลานี้ (๒๔๗๙) ทารกเกิดในประเทศอังกฤษน้อยลงกว่าแต่ก่อน กรรมการเชื่อว่าจะเป็นเหตุให้คนได้ไปมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพราะคนมีลูกน้อยลง ก็พากเพียรที่จะให้เล่าเรียนอย่างซึ่งนอกจากในมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ไม่อาจเรียนที่อื่นได้ ความข้อนี้อาจทำให้เกิดปัญหา ๒ อย่าง คือ
๑. จะเกิดมีคนมีการศึกษาสูงไม่มีงานทำ (educated unemployed) ข้อนี้มักจะทำให้ยาก คนมีวิชาแต่ไม่มีงานทำ ถ้ามีมากนัก ก็เกิดเป็นปัญหาใหญ่มาหลายประเทศ อุปราชอินเดียกล่าวเช่นนั้นเมื่อเดือนก่อนนี้เอง.
๒. ถ้ามหาวิทยาลัยมีนักเรียนมากจนเกินไป ความคุ้นเคยกันในพวกนักเรียนมหาวิทยาลัยก็จะเป็นไปไม่ได้.
ปัญหาเรื่องขนาดและส่วนที่เป็นปัญหาสำคัญ มหาวิทยาลัยอังกฤษไม่มีหน้าที่แต่เพียงจะฝึกหัดคนสำหรับรับจ้างทำงานเท่านั้น มหาวิทยาลัย ย่อมมีหน้าที่จะช่วยอุดหนุนคนให้มีนิสัยอันดี มิใช่จะให้มีความรู้อย่างเดียว ขอที่จะช่วยและสั่งสอนนักเรียนให้มีความคิดของตนเองนั้น ไม่ต้องการจะให้คิดเหมือนกันหมดทุกคน ต้องการให้คิดถ้วนถี่ ไม่ใช่คิดเผิน ๆ ให้คิดถึงผลแห่งความผิดและความถูก ให้คิดถึงอิสรภาพและรัฐบาล ให้มีความเห็นอันเกิดตามวิสัยที่อบรมแล้ว เพื่อประโยชน์แก่บุคคลด้วย แก่ประชุมชนด้วย.