- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
ในเดือนกุมภาพันธ์ (พ.ศ. ๒๔๗๘) ศาลฎีกาหรือศาลสูงสุดในอเมริกา ได้ตัดสินเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับอิสระของหนังสือพิมพ์ เราคิดว่าเป็นเรื่องที่ผู้อ่านของเราอาจอยากทราบ เพราะในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เจรจากันเป็นอันมากในเรื่องหนังสือพิมพ์.
คดีในอเมริการายนั้น ติดต่อมาจากครั้งเมื่อมิสเตอรหวยลองเป็นใหญ่อยู่ในแคว้น (หรือรัฐ) ลุยเซียนา ท่านผู้นั้นก็ตายหลายเดือนมาแล้ว แต่คดีเรื่องนี้เพิ่งจะมาถึงที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง หวยลองเป็นผู้มีอำนาจทำอะไรทำได้ในแคว้นลุยเซียนา แต่ก็มีปฏิปักษ์มาก หนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ ในลุยเซียนา มีหลายฉบับที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหวยลอง ทำให้ท่านผู้นั้นแค้นเคืองมาก แต่ในไม่ช้าความแค้นเคืองนั้นก็ได้แก้เผ็ดออกมาในกฎหมาย ซึ่งออกใหม่และบัญญัติว่า หนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ ฉบับขึ้นไปนั้น ให้เก็บภาษี ๒ เปอร์เซ็นต์แห่งรายรับค่าแจ้งความ คิดตามที่รับจริงก่อนหักรายจ่าย.
การออกกฎหมายเก็บภาษีเช่นนี้ ถ้าดูเผิน ๆ ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องหารายได้ของรัฐบาล แต่อันที่จริงเป็นลิ่มแทรกเข้าไปในกิจการของหนังสือพิมพ์ เพื่อจะให้มีทางบังคับได้ถนัด เพราะว่า ถ้าตกลงกันว่า ๒ เปอรเซ็นต์แล้ว ถ้าหนังสือพิมพ์ขืนดื้อดึง ก็อาจเลื่อนภาษีขึ้นไปเป็นกี่เปอรเซ็นต์ก็ได้ รัฐสภาในแคว้นของหวยลองนั้น หวยลองจะบันดาลให้ทำอะไรก็ได้ การเป็นดังนี้ พวกเจ้าของหนังสือพิมพ์จึงอุทธรณ์กฎหมายของหวยลองต่อศาลกลางของสหปาลีรัฐ ศาลนั้นตัดสินว่า หวยลองออกกฎหมายนอกเหนืออำนาจที่มีในรัฐธรรมนูญ ครั้นฎีกาขึ้นไปถึงศาลสูงสุด ศาลสูงสุดก็ตัดสินยืนตามศาลเดิม.
การเป็นดังนี้ กฎหมายซึ่งหวยลองออกไว้ในลุยเซียนานั้น จึงเป็นกฎหมายที่ใช้ไม่ได้ คนในประเทศอังกฤษใส่ใจฟังกันในเรื่องนี้ เพราะว่าในประเทศอังกฤษเอง ได้มีกฎหมายเก็บภาษีพิเศษจากหนังสือพิมพ์หลายร้อยปีมาแล้ว พวกหนังสือพิมพ์ช่วยกันร้องทุกข์ด้วยเสียงอันดัง และชนะเมื่อร้อยปีเศษ ๆ นี้เอง คำตัดสินของศาลอเมริกัน ได้นำเอาตำนานเรื่องอิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษและอเมริกามากล่าว คำตัดสินนี้พูดถอยหลังไปถึงครั้งที่ยอนมิลตันร้องทุกข์ขัดขวางการจำกัดอำนาจผู้พิมพ์ให้พิมพ์ได้แต่หนังสือที่เจ้าพนักงานตรวจแล้วอนุญาตให้พิมพ์เท่านั้น ต่อมาในร้อยปีที่ ๑๘ แห่งคริสตศักราช รัฐบาลอังกฤษก็ได้พยายามที่จะห้าม หรือตัดทอนการแสดงความเห็นติเตียนรัฐบาล และเป็นดังนี้อยู่ช้านาน.
ส่วนกฎหมายที่มิลตันร้องทุกข์นั้น เมื่อสิ้นอายุแล้วก็ไม่ได้ออกใหม่ แต่การที่กฎหมายรายนั้นสิ้นอายุลงไปนั้น ก็เป็นแต่เพียงว่า เจ้าของหนังสือไม่ต้องนำหนังสือส่งให้เจ้าพนักงานตรวจเสียก่อนจึงพิมพ์ นอกจากนั้นอิสระของหนังสือพิมพ์ก็ยังถูกเขียนวงอยู่นั่นเอง.
ต่อนั้นมาประมาณ ๑๗ ปีมีกฎหมายออกใหม่เก็บภาษีค่าขายหนังสือพิมพ์และค่าแจ้งความ ก็เป็นเรื่องต้องการจะห้ามไม่ให้กล่าวติเตียน หรือพูดเป็นอริกับรัฐบาลนั้นเอง กฎหมายนี้ใช้อยู่ร้อยปีเศษ เพราะหนังสือพิมพ์ทั้งหลายร้องทุกข์หาสำเร็จไม่ การเก็บภาษีหนังสือพิมพ์ใช้ปิดแสตมป์ รัฐบาลอังกฤษได้ส่งแสตมป์ไปสำหรับเก็บภาษีหนังสือพิมพ์ในอเมริกาซึ่งในเวลานั้นยังขึ้นอังกฤษอยู่ คำพิพากษาศาลอเมริกัน ที่เรานำมากล่าวนี้ อเมริกาได้เริ่มเอาใจออกหากจากอังกฤษตั้งแต่นั้นมา.
คำพิพากษาอเมริกันกล่าวต่อไปว่า การที่คนดี ๆ ในประเทศอังกฤษเป็นอันมาก กล่าวประท้วงการเก็บภาษีหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นอยู่ถึงร้อยปีนี้ เห็นได้ว่ามิใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเก็บเงินรายได้ของรัฐบาลเท่านั้น ย่อมเป็นความพยายามที่จะรักษาสิทธิอย่างหนึ่งของประชาชนอังกฤษ คือสิทธิที่จะทราบความทำถูกทำผิดของรัฐบาล. เพราะหนังสือพิมพ์ที่มีอิสระย่อมเป็นเหมือนหนึ่งถามระหว่างรัฐบาลกับประชาชนพลเมือง ถ้าประชาชนพลเมืองมีความรู้ว่า กิจการของรัฐบาลเป็นไปอย่างไร ก็ย่อมจะเป็นประกันการทำผิดได้มาก เหตุฉนั้นการที่จะห้ามหรือตัดทอนมิให้หนังสือพิมพ์รายงานข้อความทั้งหลายได้โดยสดวกนั้น ย่อมเป็นสิ่งซึ่งชนชาวอังกฤษในสมัยนั้นวิตกมาก.
เราควรจะชี้แจงเพิ่มเติมในที่นี้ว่า ที่เรียกว่าอิสระของหนังสือพิมพ์นั้น หมายความว่า อิสระที่จะให้ข่าวกล่าวความโดยสุจริต ภายในขอบเขตแห่งกฎหมาย.