ศาลชายแดน

ในอินเดียมีเขตนิดแคว้นน้อยมากมาย ซึ่งถ้าจะพูดไปถึงเป็นประเทศราช แต่ประเทศราชอย่างเล็กที่สุด ผู้เขียนเคยขับรถผ่านไปตามท้องนา เห็นคนไถนาอยู่ เขาชี้บอกว่าเป็นราชาเจ้าประเทศราช มีอาณาเขตของตน ๑๐ ไร่ ๒๐ ไร่ เรียกกันว่า ราชา มีราษฎรแต่เพียงลูกเมียในครอบครัวของตนเองรวมกันอยู่ในบ้านแห่งเดียวเท่านั้น เขาว่าราชา บางคนมีอาณาเขตใหญ่ออกไปอีกหน่อย มีราษฎรหลายหลังคาเรือนก็มี ราชาพวกนั้นแกก็นุ่งผ้าสกปรกผืนเดียว ไม่มีสง่าราศีอะไรยิ่งไปกว่าชาวนาจน ๆ ในท้องที่เหล่านั้นเลย แต่แกมีอาณาเขตของแกเอง จึงเรียกได้ว่าเป็นประเทศราช.

ในราชปูตานะ คือท้องที่กว้างใหญ่ในอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งเดิมของพวกราชบุตร คือเจ้านายในราชวงศ์โบราณ มีแคว้นย่อม ๆ เช่นนั้นอยู่มาก ท้องที่มักเป็นเขาและป่า แต่ถ้าเป็นอาณาเขตใหญ่หน่อย ก็มีด่านเก็บภาษี และถือว่าใคร ๆ นอกอาณาเขตน้อยของตน ก็เป็นชาวต่างประเทศทั้งสิ้น การยุติธรรมต่างแคว้นก็ต่างชำระความกันเอง แต่บางทีมีข้าราชการอังกฤษ (ทรงเรื่องนี้ เมื่อ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐) เป็นที่ปรึกษาไปตั้งศาล เรียกว่าศาลชายแดน ชำระความในตำบลที่เป็นแหล่งกลาง ชำระคดีได้ทุกแคว้น เป็นทำนองศาลอุทธรณ์รวมคดีแคว้นต่าง ๆ ไปชำระ.

ราษฎรในท้องที่เหล่านั้น โดยมากเป็นพวกที่เรียกว่า ภีล โดยมากนุ่งผ้าน้อยเต็มที ใช้ธนูเป็นอาวุธ คนพวกนั้นไม่ค่อยต้องการอะไร ถ้าหาได้เดือนหนึ่งประมาณ ๖ สลึงก็พอเลี้ยงกันทั้งครอบครัว อาหารก็คือข้าวกับน้ำ บางทีก็กินเนื้อสัตว์ซึ่งยิงได้ในป่า ถ้าใครมีนมควายหรือนมแพะกินก็เป็นอาหารวิเศษ แต่น้ำตาลเมาเป็นของจำเป็น เพราะดังนี้ การชำระคดีในศาลชายแดน จึงเป็นคดีอย่างง่าย ๆ ทั้งนั้น.

เป็นต้นว่า ชายคนที่ ๑ ล่วงล้ำเข้าไปในอาณาเขตของชายคนที่ ๒ ขะโมยเมียไปได้ ชายคนที่ ๒ แก้เผ็ด โดยวิธีขะโมยเอาควายนมของชายคนที่ ๑ ไปเสีย เมียเป็นของซึ่งมีกันเป็นธรรมดา ควายนมเป็นทรัพย์วิเศษ เพราะฉนั้น เมื่อเกิดขะโมยกันขึ้นทั้ง ๒ ฝ่าย ชายผู้ถูกขะโมยควายก็เสียเปรียบ เพราะเมียไม่สำคัญเท่าควาย จึงควรได้ค่าทำขวัญจากชายคนที่ ๑

คดีเช่นนี้เป็นคดีง่าย ๆ มันจะตั้งคนกลางให้ตัดสินกันเองได้ คนกลางพวกนั้นชำนาญคิดราคาผู้หญิงและราคาควาย ว่าได้เปรียบเสียเปรียบกันเพียงใด ถ้าทั้ง ๒ ฝ่ายจะตกลงกันเสียเองว่า ข้างหนึ่งได้เมียไป ข้างหนึ่งได้ควายไป ก็นับว่าพอถ่วงราคากันพอดีแล้ว เช่นนี้ก็ได้ แต่โจษและจำเลยไม่ต้องการตกลงกันง่าย ๆ ต้องการโอกาศที่จะทุ่งเถียงด่าว่ากันประมาณ ๗ วัน ในที่สุดเมื่อคอแห้งเข้าก็ยอมให้ผู้เป็นกลางตัดสิน ว่าให้เลิกแล้วกันไป.

คดีเช่นที่กล่าวนี้เป็นคดีง่าย แต่ถ้าผู้ถูกขะโมยเมีย ไม่แก้แค้นด้วยขะโมยควายของผู้ขะโมยเมียไพล่ไปขะโมยควายหรือเมีย หรือทรัพย์อย่างอื่นในแคว้นอื่น และผู้ถูกชะโมยควายก็ไปขะโมยควายหรือเมียของแคว้นอื่นออกไปอีก ก็เกิดเป็นคดีหลายเสียง ต้องร้อนถึงศาลชายแดนจึงจะชำระได้ ระหว่างที่ศาลยังไม่เปิดหรือศาลกำลังชำระอยู่นั้น โจษจำเลยทุกฝ่ายอาจตัดสินคดีนอกศาลโดยวิธีลอบฆ่าฝ่ายโน้นเสียเอง แต่ถ้าฆ่ากันไม่ได้ ศาลก็ต้องตัดสิน.

ในระหว่างมหาสงคราม การตั้งศาลชายแดนชำระคดีชนิดนี้ ต้องระงับอยู่หลายปี คดีก็สุมกันมากขึ้น จนในปีหนึ่งเมื่อเสร็จสงครามไปแล้ว ก็ได้มีศาลไปตั้งชำระความ ปักเต๊นต์หลายหลังอย่างพูมถานในที่อันเป็นท่ามกลาง นายพันเอกผู้หนึ่งเป็นหัวหน้าศาล ท่านผู้นั้นเป็นคนชอบยิงสัตว์ จึงใช้โอกาศที่ไปชำระความในท้องที่เช่นนั้น สำหรับการยิงสัตว์ด้วย.

เต๊นต์ที่ปักนั้นหลายเต๊นต์ ล้วนแต่เต๊นต์ใหญ ขนาดเรือนห้องเล็ก ๆ พื้นปูพรมหนา มีเก้าอี้นวม ตู้เสื้อผ้า และเครื่องเรือนอื่น ๆ เต๊นต์ทุกหลังปักอยู่ใต้ต้นกร่าง หรือต้นไม้ใหญ่ชนิดอื่น ที่ประตูเต๊นต์ของพวกผู้พิพากษา มีคนยามสวมเสื้อแดงยันต์ทองอยู่ยามรักษาการณ์อย่างสง่าผ่าเผย ท่านนายพันเอกได้พาภรรยาไปด้วย ภรรยาพาลูกไปด้วย และลูกมีครูประจำตัวไปด้วย นอกจากนั้น ยังมีพ่อครัวใหญ่น้อย และนายบ๋อยและบ๋อยพร้อมด้วยตู้น้ำแข็ง และสิ่งอื่น ๆ ซึ่งผู้มีวาศนาจำต้องขนไปใช้ในท้องที่กันดาร

มีฝรั่งคนหนึ่งไม่เคยไปเห็นการชำระความชนิดนั้น แต่ได้รับทั้งให้ไปมีหน้าที่ด้วย ครั้นไปถึงที่พร้อมกัน และต่างคนต่างเข้าอยู่ในเต๊นต์ ซึ่งราวกับตำหนักเสร็จแล้ว ผู้ไปใหม่แลดูบาญชีคดีก็ตกใจว่า จะมิต้องอยู่กันที่นั้นช้านานนักหรือ

แต่ท่านนายพันเอกได้เตรียมไว้เสร็จแล้ว ที่จะรวบรัดการชำระคดีไม่ให้ต้องยืดยาด และได้กำหนดว่า จะออกยิงเสือในวันรุ่งขึ้น ได้เตรียมคนล่าต้อนไว้เสร็จ.

ผู้ไปใหม่ถามท่านนายพันเอกว่า “ออกยิงเสือพรุ่งนี้ แล้วจะกลับมาเริ่มชำระคดมะรืนนี้หรือ”

ท่านนายพันเอกยิ้มแล้วตอบว่า หามิได้ ท่านได้เตรียมผู้ใหญ่บ้านไว้ให้เป็นคนกลางเรื่องละคน พร้อมทุกเรื่อง ให้โจษและจำเลยทุ่งเถียงกันไปต่อหน้าคนกลาง มีตำรวจถือพลองยืนคุมไว้ไม่ให้ไปไหนจนเถียงกันเสร็จ เมื่อพวกยิงเสือกลับจากป่า ถ้าคู่ไหนยังเถียงกันไม่แล้ว ก็เพิ่มคนกลางเข้าไปอีกคนหนึ่ง แล้วให้เถียงกันไปอีก จะเถียงกันตลอดคืนก็ตามใจ แต่ไม่ให้ลุกไปไหน ส่วนพวกร้าย ๆ นั้น ท่านนายพันเอกรู้ว่า ล้วนแต่คดียุ่งเป็นปอยแก้ไม่ออกทั้งนั้น ต้องปล่อยให้เถียงกันไปตั้ง ๓ วัน เสียงจึงจะแห้ง อีก ๓ วันพวกตุลาการที่ไปยิงเสือ จึงจะกลับไปดูว่าแล้วกันหรือยัง.

ผู้ไปใหม่ถามว่า “เรื่องอื่น ๆ จะชำระตามธรรมดาหรือ”

ท่านนายพันเอกตอบว่า ชำระตามธรรมดาไม่ได้เลย วิธีชำระคือตุลาการคุมตำรวจ ให้ตำรวจคุมโจษจำเลยและคนกลาง ให้พูดกันไปจนตกลงกันให้ได้ ถ้าเรื่องเป็นปอยยุ่งนัก ก็ไม่ให้ข้าวให้น้ำกินเลยระหว่างคดี.

ผู้ไปใหม่เล่าถึงคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งตกลงกันในครั้งนั้นว่า เป็นเรื่องที่เกิดติดต่อกันยุ่งมาหลายปี มีฆ่ากันตาย ขะโมยควายนม ฉุดคร่าหญิงสาว และอะไรต่ออะไรอีกมาก แต่เมื่อมาว่ากันต่อหน้าศาลชายแดนอยู่ช้านาน จนไม่มีเสียงกันหมดแล้ว ก็ตกลงประนีประนอมกันได้ด้วยเงินทำขวัญ ๕ รูปีเท่านั้น และเมื่อตกลงกันแล้ว ต่างคนก็ต่างสบายใจหมด.

ผู้ไปใหม่แสดงความประหลาดใจต่อนายพันเอกว่า เหตุไฉนเมื่อได้วิวาทกันมาหลายปีแล้ว ก็มาตกลงประนีประนอมกันเองด้วยเงิน ๕ รูปีเท่านั้นเอง.

ท่านนายพันเอกหัวเราะแล้วว่า ท่านยังไม่เข้าใจดอกหรือ ว่าที่เราต้องพากันออกมาตั้งศาลในที่กันดารเช่นนี้ ก็เพราะพวกนี้ตกลงอะไรกันเองไม่ได้ คอยแต่จะเกี่ยงเอารัดเอาเปรียบกันไม่รู้แล้วรู้รอด จนกว่าจะมีผู้มีอำนาจมาบอกว่าให้ตกลงกันเสียเถิด.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ