- คำแถลงของผู้รวบรวม
- ๑. พูดให้นักเรียนฟัง ที่โรงเรียนวชิราวุธ
- ๒. หนังสือและคำพูด
- ๓. วิธีของหัวหน้าคน
- ๔. สินบน
- ๕ น๊ะ อรสา
- ๖. พยานโหราศาสตร์
- ๗. นิราศนรินทร์
- ๘. คำและความ
- ๙. “ชาติ” และ “อารยะ”
- ๑๐. อิสระแห่งหนังสือพิมพ์ในอเมริกา
- ๑๑. ประชาธิปัตย์สำเร็จด้วยประมุขดี
- ๑๒. ผักบุ้งโหรงเหรง
- ๑๓. แข่ง
- ๑๔. ชื่ออังกฤษ
- ๑๕. เก่ากับใหม่
- ๑๖. ลักษณะปาลิเม็นต์ฝรั่งเศส
- ๑๗. บ่อน้ำมัน
- ๑๘. หลักบงการประเทศ
- ๑๙. อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศอังกฤษ
- ๒๐. นานาประการ
- ๒๑. มหาวิทยาลัยอังกฤษ
- ๒๒. รายงานรางวัดเศรษฐกิจ
- ๒๓. เรื่องของผู้เที่ยวใน ๖๑ ประเทศ
- ๒๔. ย่นทาง
- ๒๕. เปลี่ยนชื่อ
- ๒๖. ปเกียรณกะ
- ๒๗. พระเจ้ายอชที่ ๕
- ๒๘. ดีเซ็ล
- ๒๙. อาบแดด
- ๓๐. อั้งยี่จีน
- ๓๑. ราชทูตอังกฤษ
- ๓๒. ช้างเอราวัณ
- ๓๓. เมืองท้าวเวสสุวัณ
- ๓๔. โทษและทัณฑ์
- ๓๕. จางโซหลิน
- ๓๖. ศาลชายแดน
- ๓๗. หิริและโอตตัปปะ
- ๓๘. รัฐบาลกับหนังสือพิมพ์ ในแผ่นดินพระจอมเกล้า ฯ
- ๓๙. สินค้าดิบ
- ๔๐. อาวุธเศรษฐกิจ
- ๔๑. ดานซิค
- ๔๒. แร้ง
- ๔๓. เบญจกัลยาณี
- ๔๔. สติ
- ๔๕. พระไตรยสรณาคมน์
- ๔๖. อินโดจีนของฝรั่งเศส
- ๔๗. จอมบงการ
- ๔๘. แค็นตอน
- ๔๙. รักชาติ
สติ
คำว่า สติ ตามภาษาเดิมแปลได้หลายทาง แต่ที่เราใช้กันในภาษาไทยมักใช้เพียงว่า ความตรึกตรองให้รอบคอบเสียก่อนจึงทำ ไม่ใช่หุนหันพลันแล่นทำอะไรลงไป โดยมิได้ยั้งคิดถึงทางได้ทางเสียเสียก่อน.
เรามักใช้คำว่าสติกับปัญญาควบกันไป ปัญญาเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้ใคร่ครวญลู่ทางเสียก่อน บุคคลบางคนอาจมีทั้งสติและปัญญาพร้อมอยู่ในตัว แต่ในคณะบุคคลที่ประชุมร่วมความคิดปรึกษากัน บางคนก็เป็นตัวปัญญาซึ่งจูงให้ทำ บางคนก็เป็นตัวสติซึ่งจูงให้ยั้งคิด ทั้ง ๒ อย่างนี้ ต้องมีส่วนให้พอดีกัน มิฉนั้น ถ้าเป็นปัญญากันไปเสียหมด คิดอะไรขึ้นมาแม้เป็นการใหญ่ที่สุด ก็เฮโลสาระพากันไป การงานมักจะพลาดพลั้ง เพราะคิดไม่รอบคอบ แต่ถ้าเป็นสติกันเสียหมด ก็จะมัวแต่ยั้งแล้วยั้งเล่า ไม่ได้ทำอะไรกันลงไป.
ที่กล่าวถึงการผสมส่วนแห่งปัญญาและสตินี้ จำเป็นตั้งแต่งานเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนราชการบ้านเมือง ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งสำคัญหนักขึ้น ทั้งนี้กินความไปจนถึงการรบทัพจับศึก อันเป็นความคิดซึ่งกระจายภพอยู่ในเวลานี้ (ส.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑)
ผู้เขียนได้อ่านในหนังสือพิมพ์ยุโรปที่มาถึงใหม่ ๆ ว่า เมื่อตอนที่หวุดหวิดจะเกิดสงครามเรื่องเชกโกสโลวาเกียนั้น พวกนายทหารผู้ใหญ่เป็นผู้ให้สติแก่จอมบงการ มิฉนั้นศึกใหญ่ก็คงเกิด.
ส่วนในประเทศญี่ปุ่น เขาว่าตรงกันข้าม พวกทหารเป็นปัญญาที่คิดรบร่ำไป พวกพลเรือนเป็นสติว่า ต้องคิดให้รอบคอบก่อน.
ความสำคัญของสติมีเพียงไร จะอ้างใครไม่ได้ดีเท่าอ้างพระพุทธเจ้า เราทุกคนที่เป็นพุทธศาสนิก ย่อมรู้คำสอนของพระบรมศาสดาว่า ความไม่ประมาทเป็นธรรมเปรียบด้วยรอยเท้าช้าง ซึ่งรอยเท้าสัตว์ชนิดอื่นย่อมรวมอยู่ในวงทั้งสิ้น.
ภาษิตบทหนึ่งซึ่งเป็นพุทธวัจนะมีว่า นิสมฺม กรณํ เสยโย แปลว่า ตรึกตรองเสียก่อนแล้วจึงทำเป็นการดี.
ที่ว่าตรึกตรองเสียก่อนนั้น คือสติ นัยหนึ่งความระลึกก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด และรอบคอบในการงาน เป็นธรรมสำคัญของมนุษย.
มนุษยต้องมีสติปกครองตน ปกครองครอบครัวและหมู่คณะ ตลอดถึงราชการบ้านเมือง ถ้าขาดสติมักทำพลาด พูดพลาด คิดพลาด ผลุนผลันไม่รอบคอบ ไม่เทียบเหตุการภายหน้าและภายหลัง ผลที่ได้ก็มักจะเสียหายเป็นส่วนมาก.
พุทธวัจนะอีกแห่งหนึ่งในมงคลสูตรว่า....อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุเอตมฺมํคลมุตฺตมํ...ความไม่ประมาท (คือความมีสติ) ในธรรมทั้งหลาย เป็นอุดมมงคล.
คำว่า “มงคล” คือความสุขความเจริญ ซึ่งทุกคนอยากให้เกิดแก่ตน และทุกคณะอยากให้เกิดแก่คณะ มงคลจะไม่เกิดแก่บุคคลหรือคณะซึ่งทอดทิ้งเสียซึ่งสติ ถึงรู้แล้วว่าสติเป็นของสำคัญ ก็ไม่ใช้ความรู้ข้อนั้น ไม่ยั้งคิดให้รอบคอบก่อนที่จะทำลงไป ถ้าเป็นเช่นนั้นมงคลก็จะบินหนี.
พุทธภาษิตมีอีกข้อหนึ่งว่า อปฺปมตฺตสฺส ยโส ภิวฑฺฒติ แปลว่า ยศย่อมเจริญถึงที่สุดแก่ผู้ไม่ประมาท (คือผู้มีสติ).
“ยศ” ในที่นั้น อธิบายในอรรถกถาว่า ได้แก่ อิศริย ๑ เกียรติ ๑.
ยศนี้ย่อมเจริญแก่บุคคลและคณะ และประเทศที่มีความรอบคอบ นึกหน้านึกหลังไม่หุนหันพลันแล่น ไม่เห็นแต่ในทางที่จะได้ฝ่ายเดียว บุคคลหรือคณะที่เสื่อมยศ ถ้าพูดตามพุทธภาษิตข้อนี้ก็คือ ผู้ไม่มีสติตรึกตรองให้ถ่องแท้เสียก่อน.
คำของพระพุทธเจ้ามีอีกคำหนึ่งว่า ปมาโท มจฺจุโน ปทํ ความประมาท (คือขาดสติ) เป็นหนทางของความตาย.
คำว่า “ประมาท” ในพุทธภาษิตทุกแห่งที่นำมาอ้างข้างบนนี้ อรรถกถาชี้แจงว่า คือความไม่มีสติ ซึ่งถ้าจะพูดกันง่าย ๆ ก็คือว่า จะทำอันใดก็ไม่มีสติตรึกตรองทางได้ทางเสีย หรือทางเป็นทางตายให้รอบคอบเสียก่อน ภาษิตนี้ใช้ได้แก่บุคคลและแก่คณะ ตลอดถึงทางการบ้านเมืองด้วย.