๒๒๕ - ๒๕๖

๒๒๕ บุนนากพลเทพข้าหลวงเดิม ปลายแผ่นดินต้นเข้ากับขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์ มาตีกรุงธนบุรี สมเด็จพระไอยกาได้ปราบดาเปนปฐม ครั้นเสด็จสวรรค์คต สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะได้ราชสมบัติ กลับเข้ากับพระหน่อแผ่นดินต้นเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรา

๒๒๕ ข้อที่จดท้ายบุญนาคพลเทพว่า เปนข้าหลวงเดิมปลายแผ่นดินต้น คำนี้ออกจะเปนเยาะ ๆ ว่าพึ่งมาพึ่งพระบารมีเมื่อปลายแผ่นดินตาก แด่ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะได้ราชสมบัติ กลับวกไปเข้าข้างพระหน่อแผ่นดินต้น คือเจ้าฟ้าเหม็น

๒๒๖ อินทรเดชะ, สท้านมณเฑียร, รอดทรงราม, พระตเบิดจางวางกองมอญ, เพชรปาณี, พลเทพ, ลุงหลานเปนกำลังกรมขุนกระษัตราจะเกิดศึกกลางเมือง ยังหาได้ถวายพระเพลิงไม่

๒๒๖ รอดทรงรามในที่นี้ เห็นจะเปนรอดสงครามรามัญ ออกชื่อไว้ในนี้ ๖ คน แต่ซ้ำเปนพลเทพเสียคนหนึ่ง พลเทพนั้น คือพลเทพบุญนาคนั้นเอง คนที่ไม่ได้ออกชื่อเห็นจะเปนหลานของพลเทพอยู่ในนั้นด้วย

๒๒๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ปราบดาลำดับวงษเปน ๒ ครั้ง

๒๒๗ คำที่ใช้ว่าได้ปราบดาลำดับวงษ์เปน ๒ ครั้ง คำว่า ๒ ครั้งเช่นนี้เปนภาษาเก่า ตรงกับคำที่จะใช้เดี๋ยวนี้ว่าครั้งที่ ๒

พระฤกษราชาภิเศก วันอาทิตย์เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๖ บาท

๒๒๘ ณวัน ๒ ๑๐ ค่ำ เจ้าพระยาอไภยภูธรจับเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตราที่ทวารสองชั้น

๒๒๘ จับที่ประตูสองชั้นนี้เปนการกึกกักกันมาก ว่าปล่อยให้เสลี่ยงเข้ามาในประตูสองชั้น แล้วปิดประตูทั้งสองข้าง เมื่อเวลาจับนั้น เจ้าฟ้าเหม็นเอามือตบขา พูดติดอ่างว่าจะจับข้าไปข้างไหน

๒๒๙ ณวัน ๔ ๑๐ ค่ำ สำเร็จโทษ ตัดไม้ไม่ไว้หน่อ ฆ่าพ่อไม่เลี้ยงลูก สำเร็จโทษเสียด้วยกัน ณวัดประทุมคงคา (คนอื่น) ทั้งนั้นประหารชีวิตรที่สำเหร่

๒๒๙ เรื่องตัดไม้ไม่ไว้หนามหน่อ ที่ท่านผู้เขียนท่านมาย้ำลงไว้ในที่นี้ นึกถึงการเก่าเมื่อเวลาเปลี่ยนแผ่นดินครั้งแรก วังน่าทูลขอจะให้เอาลูกเจ้ากรุงธนไปล่มน้ำเสีย ตามคำสุภาสิตเขาว่า ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก แต่วังหลวงทรงเห็นเปนการดุร้ายเหลือเกินนักไม่ยอมให้ทำ วังน่าจึงทำนายไว้ว่า แล้วจะได้ยากแก่ลูกหลาน ครั้นเมื่อเกิดเหตุครั้งนี้พากันเห็นว่า คำที่วังน่ารับสั่งนั้นถูก

๒๓๐ พระโองการให้ตั้งการพระเมรุ มีศึกพม่าแทรกกลาง มาล้อมประชิดเมืองถลาง

๒๓๐ คือเมรุพระบรมศพค้างปี เพราะเหตุที่พม่ามาตีเมืองกลาง ซึ่งรอดอยู่ครั้งก่อน ตั้งใจจะปล้นทรัพย์สมบัติอย่างเดียว ที่อื่นปล้นได้หมดแล้ว ยังแต่ถลางเปนที่มั่งมี จึงมุ่งมาปล้นถลางด้วยเห็นแก่ทรัพย์ ไม่ใช่เกี่ยวข้องแก่การบ้านเมือง

๒๓๑ สมเด็จพระบิตุฉา กรมพระราชวังบวรสฐานมงคลเสด็จไปปราบพม่าที่ล้อมถลางไว้

๒๓๑ สมเด็จพระบิตุฉานี้ คือกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จไปไม่ทัน การเสด็จครั้งนี้ เปนเวลาที่นายนรินทรธิเบศร์ อินทร์ แต่งโคลงนิราศที่มีชื่อเสียงมาก

๒๓๒ เดชะพระบารมีที่ได้ยกพระไตรย์ปิฎกขึ้นไว้ให้พระพุทธสาสนาเรียบเรียง พม่าได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่งดัง ดั่งกำลังเสียงปืนใหญ่ พม่าหนีเลิกทัพกลับไป มีไชยชนะด้วยพระบารมี กลับคืนเข้าพระนคร

๒๓๒ เรื่องพม่าตื่นเสียงคลื่นนี้ จริง เพราะมันเปนหัวคโมย อย่างขี้ขลาด มุ่งมาเอาเงินเท่านั้น

๒๓๓ ณวัน ๗ ๖ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๗๓ ปีมแมตรีนิศก เพลาอุดมฤกษ์เชิญพระบรมโกษฐทรงพระพิไชยราชรถ ชักแห่เข้าพระเมรุทอง พระเบญจาทองคำเปนรูปภาพประดับ ๙ ชั้น ทรงพระบรมโกษฐ ๗ วัน ถวายพระเพลิง สมโภชพระอัฐิ ๓ วัน เอกาทศวารการเสร็จ เชิญเสด็จพระบรมโกษฐทรงยานุมาศแห่กลับเข้าพระราชวัง ทรงประดิษฐานไว้ณหอพระอัฐิ

๒๓๓ พระเบญจา พระพุทธยอดฟ้านี้ ยังอยู่ที่ตำหนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิต วัดพระเชตุพน

๒๓๔ ณวัน ๑๑ ๔ ค่ำ ปีวอกจัตวาศก สมเด็จพระบิตุฉา กรมพระราชวังบวรสฐานมงคล เสด็จขึ้นไปรับเจ้าพระยาเสวตรกุญชร

๒๓๔ พระยาเสวตรกุญชรได้จากเมืองเขมร เมื่อขณะกำลังรบกันอยู่ในเมืองเขมร ช้างยังเล็กมากจะให้เดินมาไม่ได้ ต้องทำเลื่อนให้ช้างยืนแล้วลากมา กรมพระราชวังเสด็จขึ้นไปรับ

ปูมปีวอกจัตวาศก จดไว้ว่าได้ช้างเผือกเข้ามาแต่เมืองโพธิสัตว วันพฤหัศบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ

๒๓๕ พร้อม (กับ) กำหนด

๒๓๕ คำที่ว่าพร้อมนี้ คือปีเดียวกันกับปีลงสรง

๒๓๖ พิธีลงสรงทูลกระหม่อมฟ้ามงกุฎไกรภพ

๒๓๖ ในที่นี้เรียกว่าทูลกระหม่อมฟ้ามงกุฎไตรภพ ดูเข้าเรื่องกับที่ได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า เมื่อขนานพระนามมีเจ้านายผู้ใหญ่ทูลว่าถ้าเช่นนั้น จะมิเหมือนพระบุตรที่ชื่อมงกุฎไตรภพฤๅ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า รับสั่งว่าก็จะเปนไรไป พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามรามาธิบดีทำไมจึงใช้ได้ ทีท่านจะได้ยินเช่นนั้น จึงได้ยึดมั่นว่าพระนามมงกุฎไตรภพ

การพระราชพิธีลงสรงมีตำราเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเรียงถวาย กำหนดพระฤกษ์วันศุกรวันเสาร์วันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ๖ ค่ำ ตั้งพระราชพิธี แล้วเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ทรงเครื่องณพระที่นั่งน่าพระไชย ประดับพระองค์อาภรณ์ขาวตามอย่างพระราชกุมาร มาขึ้นเกยณพระที่นั่งราชมณเฑียรฝ่ายตวันออกตรงสวนขวา แห่ออกประตูราชสำราญมาประทับเกยณพระมหาปราสาท ล้นเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เกยคอยรับพระกรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอจากพระราชยาน เจ้าจอมข้างในซึ่งรับพระกร รับต่อพระหัดถ์ลงมาชำระพระบาทในถาดเงินปากจำหลัก มีผ้าลาด พนักงานถวายน้ำล้างพระบาทด้วยพระเต้าเงินถมยาดำ แล้วเสด็จขึ้นบนพระมหาปราสาท ทรงนั่งอยู่ในพระฉาก ล้นเกล้า ฯ ก็เสด็จพระราชดำเนินตามขึ้นไปต่อภายหลัง ทรงจุดเทียน ทรงศีล ทรงฟังสวดจบแล้ว ล้นเกล้า ฯ เสด็จลงมาณเกยก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอตามเสด็จลงมา ล้นเกล้า ฯ ทรงจูงพระกรส่งลงพระราชยาน แห่กลับเข้าในพระราชวังเหมือนกันทั้ง ๓ วัน ครั้นรุ่งขึ้นวันเดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เพลาเช้าโมงกับ ๓ บาท พระฤกษจะได้เชิญเสด็จขึ้นทรงพระราชยาน ตั้งกระบวนแห่ลงไปประทับเกยที่ฉนวนตำหนักแพ ล้นเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินมาคอยที่เกยรับพระกรลงจากพระราชยาน เจ้าจอมข้างในรับต่อพระหัดถ์ลงมาชำระพระบาทแล้ว เจ้าจอมข้างในเชิญเสด็จลงไปพระตำหนักแพเปลื้องเครื่องทรง แล้วทรงพระ$\left. \begin{array}{}\mbox{ภูษา } \\\mbox{ฉลองพระองค์ }\end{array} \right\}$ ถอด โหรกับชาววังคอยบอกบาทพระฤกษ์ ครั้นจวนพระฤกษ์ ล้นเกล้า ฯ ทรงจูงพระกรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จไปถึงแพพระสนาน เจ้าต่างกรม เข้าต่อพระหัดถ์เชิญเสด็จตามเสด็จล้นเกล้า ฯ เข้าไปในพระมณทป ล้นเกล้า ฯ เสด็จพักอยู่ที่พระเก้าอี้คอยพระฤกษ์ ชีพ่อพราหมณ์ลอย$\left. \begin{array}{}\mbox{กุ้ง }\begin{array}{}\mbox{ทอง } \\\mbox{นาก } \\\mbox{เงิน }\end{array} \\\mbox{ปลา }\begin{array}{}\mbox{ทอง } \\\mbox{นาก } \\\mbox{เงิน }\end{array} \end{array} \right\}$ ลอยหมากพร้าวปิดทอง ๒ คู่ลงในพระกรงสรง โหรลอยบัตรตามสายน้ำ ครั้นได้พระฤกษ์ลั่นฆ้องประโคมพิณพาทย์แตรสังข์ล้นเกล้า ฯ ทรงอุ้มสมเด็จพระเจ้าลูกเธอลงสรง เจ้าต่างกรม ลงในกรงรับต่อพระหัดถ์ สรงแล้วเจ้าต่างกรมเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอขึ้นบนเตียงสรง พระราชาคณะ $\left. \begin{array}{}\mbox{ประพระกระยาสนาน } \\\mbox{รดน้ำพระพุทธมนต์ }\end{array} \right\}$ ล้นเกล้า ฯ ทรงรดน้ำพระมหาสังข์ แล้วชีพ่อพราหมณ์ถวายน้ำสังข์น้ำกรด แล้วทรงผลัดพระภูษา แล้วเจ้าต่างกรมเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ตามเสด็จล้นเกล้า ฯ เข้าไปณพระตำหนักแพ ทรงเครื่องอย่างเทศ แล้วเจ้าจอมข้างในที่รับพระกรเชิญเสด็จตามเสด็จล้นเกล้า ฯ ขึ้นมาบนเกยทรงพระราชยานแห่กลับเข้าพระราชวัง ล้นเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนิน ขึ้นมาณพระมหาปราสาททรงประเคนปฏิบัติพระสงฆ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เปลื้องพระเครื่องแล้วเสด็จมาถวายผ้าพระสงฆ์ ณพระมหาปราสาท ครั้นเพลาบ่าย ๒ โมง ๖ บาท เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ มาทรงเครื่องตนณพระที่นั่งน่าพระไชย ตั้งกระบวนแห่แต่ในพระราชวัง มาประทับเกยณพระมหาปราสาท ล้นเกล้า ฯ รับลงจากพระราชยาน เจ้าจอมข้างในรับต่อพระหัดถ์มาชำระพระบาทแล้ว เชิญเสด็จเข้าไปสมโภชในพระมหาปราสาท เหมือนกันทั้ง ๓ วัน ขอเดชะ” ๛

๒๓๗ ได้พระคชาธารเผือกผู้เปนศรีพระนครมาถึงแผ่นดินนี้

๒๓๗ ในระยะนี้น่าจะกล่าวถึงพระยาเสวตรกุญชรนั้นเองว่าเปนเผือกผู้ เพราะรัชกาลก่อนมีเผือกพัง

๒๓๘ ณเดือน ๑๐ ปีรกาเบญจศก ข้างในทำผิดคิดมิชอบ พระโองการให้ประหารชีวิตรทั้งผู้หญิงผู้ชาย

๒๓๘ ความที่ว่าย่อในที่นี้ ในเรื่องข้างในคิดมิชอบ เห็นจะหมายความว่าเรื่องคุณไพ

๒๓๙ แล้วทรงพระดำริห์ให้ช่างเขียนเส้นลายบานประตูวัดพระใหญ่ยกเข้าไป ทรงพระศรัทธาลงลายพระหัดถ์ สลักภาพกับกรมหมื่นจิตรภักดี

๒๓๙ เรื่องบานประตูวัดพระใหญ่ ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่าพระโต คือพระศรีสากยมุนีวัดสุทัศน์นี้ ได้ความชัดเจนดีนัก ปลาดที่ไม่ใคร่จะมีใครรู้ เล่ากันไปต่าง ๆ นา ๆ แต่ที่ทรงเองเห็นจะเปนบานกลาง เมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ มีพระราชประสงค์อยากจะให้สลักบานอย่างพระวิหารพระศรีสากยมุนี โปรดให้กรมขุนราชสีห์ แลช่างสลักมีพระยาจินดารังสรรค์เปนต้น ไปคิดอ่านสลักให้เหมือนเช่นนั้นไม่สำเร็จ ต้องสลักเปนสองชั้นซ้อนกันลงเพราะถากไม่เปน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงถากรูปหุ่นดีนัก จึงได้ถากลายบานนี้ได้ เพราะเปนการเหลือวิไสย ที่ช่างเขียนฤๅช่างสลักจะทำ

๒๔๐ มีพระโองการให้ช่างแต่งทรงพระมณฑป ให้ทรงเครื่องบนสูงกว่าเก่า จะทรงพระพุทธบาท

๒๔๐ มณฑปพระพุทธบาทนี้ เห็นจะค้างมาแต่รัชกาลที่ ๑ ที่ยกตัวลำยอง จะเปนข้างในฤๅข้างนอก ถ้าครั้งนั้นเปนข้างนอก คราวนี้คงเปนข้างใน

๒๔๑ แล้วบุรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง ให้บริเวณกว้างกว่าเก่า

๒๔๑ ปฏิสังขรณ์วัดแจ้งครั้งนี้สร้างกุฏิพระอุโบสถทรงสร้างไว้แต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว

๒๔๒ ณปีจอต่อกุน ได้พระคชาธารเผือกผู้ เจ้าพระยากลาง

๒๔๒ นี่คือพระยาเสวตรไอยรา ได้จากเมืองเชียงใหม่

ปูมปีชวดอัฐศก จุลศักราช ๑๑๗๘ ว่าวันศุกร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาบ่ายโมง ๑ พระยาช้างเผือกผู้มาแต่เชียงใหม่ถึงกรุง

๒๔๓ ณวัน ๔ ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๗๘ ปีชวดอัฐศก พม่าออกจากคุกฆ่าพธำมรง, พัศดีเปนศึกขึ้นกลางเมือง

๒๔๓ พม่าแหกคุกนี้ เวลาบ่ายเสด็จออกทรงว่าวอยู่สนาม น่าวัดพระศรีรัตนสาสดาราม พม่าแตกไปหลายแห่งเพ่นพ่านมาก จับกันอยู่ถึง ๒ วัน

๒๔๔ ณวัน ๖ ๕ ค่ำ เจ้าฟ้ากุณฑลประสูตรเจ้าฟ้าอำภร ได้จตุรงคโชคไชยชนะสิ้นเสร็จ

๒๔๔ เจ้าฟ้าอาภรณ์พเอินมาประสูตรประจวบเวลานี้ จึงได้ถือว่าเปนโชคดี

ถึงปูมก็จดไว้เฉพาะว่า วันพฤหัศบดี เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ เจ้าลูกเธอประสูตรใหม่ บ่าย ๔ โมง ๕ บาท

๒๔๕ พระยาทวาย, ปลัดทวาย พระโองการปราบปรามเลี่ยนสิ้นเสี้ยนแผ่นดิน ยิ่งด้วยบารมีที่สุด

๒๔๕ นี่ว่าไม่ชัดเลย คือพิจารณาได้ความว่าพระยาทวาย ปลัดทวาย ได้นัดหมายรู้เห็นเปนใจกับพม่าในคุกด้วย ต้องรับโทษด้วยในคราวนั้น

๒๔๖ ยังสมบัติมนุษย์ยังไม่ได้เห็นแก่ตา ว่ามีพระคชาธารเผือกผู้คู่ควร ไม่ได้บาศซัดคล้อง

๒๔๖ ในที่นี้ตั้งใจจะว่า ๆ มีช้างเผือกมาถึงเองไม่ต้องไปเที่ยวคล้องโดยพระบารมี

๒๔๗ เมืองปัตบอง, เมืองเชียงใหม่, เมืองน่าน ถวายเปนเครื่องบรรณาการด้วยบารมีบุญฤทธิ์ พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระเจ้าช้างเผือก

๒๔๗ เมืองพระตะบอง คือพระยาเสวตรกุญชร เมืองเชียงใหม่ คือพระยาเสวตรไอยรา เมืองน่าน พระยาเสวตรคชลักษณ์ แต่พระยาเสวตรคชลักษณ์มาเมื่อไรลืมเสียไม่ยักกล่าว ยกย่องว่าเปนพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งเปนความเห็นทั่วกันในเวลานั้น

ปูมปีฉลูนพศกจุลศักราช ๑๑๗๙ ว่าวันพฤหัศบดีเดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ช้างเผือกผู้เมืองน่านมาถึง เวลาเช้า ๕ โมง ๓ บาท

๒๔๘ ณวัน ๓ ค่ำ เจ้ากรมศรีสุเรนทร์ถึงอนิจกรรมในระหว่างโทษ

๒๔๘ กรมศรีสุเรนทร์นี่ว่ามิดเม้นมาก

๒๔๙ ณเดือน ๕ ลุศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก กรมหมื่นสิ้นชนมายุ ประชุมเพลิงณวัดราชบุรณ

๒๔๙ ตอนนี้เปนพยานตอนแรก ว่าข้อที่คิดเห็นว่า กรมหลวงนรินทรเทวีทรงจดหมายนี้นั้นไม่มีคลาศเคลื่อน ท่านจดเรื่องเจ้านายสิ้นพระชนม์แต่ต้นมา ให้สังเกตดูว่าใช้คำว่า สวรรคาไลยฤๅสิ้นพระชนม์แลถวายพระเพลิงทุกแห่ง ที่ไม่ยกย่องก็ใช้ว่าอนิจกรรมเหมือนแมลงมุม ในที่นี้ใช้ว่ากรมหมื่นสิ้นชนมายุ ประชุมเพลิง ณวัดราชบุรณ เพราะตามคำเล่าว่าท่านอยู่ข้างจะกดขี่ฤๅถ่อมพระองค์มาก

๒๕๐ เจ้ากระษัตรีทำผิดคิดมิชอบ พระโองการให้ใส่ด้วยบทสำเร็จโทษ ณวัดประทุมคงคา

๒๕๐ เรื่องพระองค์กระษัตรีก็ว่ามิดเม้น

๒๕๑ ณวัน ๘ ค่ำ สมเด็จพระบิตุฉาวังบวรสฐานมงคล เสด็จสู่สวรรคาไลย อยู่ในราชสมบัติ ๗ ปีกับ ๑๐ เดือน

๒๕๑ วันที่จดไว้ขาดข้อสังเกตชื่อเดือน ปูมจดไว้ว่า วันพุฒเดือน ๘ อุตราสาธ ขึ้น ๓ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง ๗ บาท

ในที่นี้ไม่น่าจะใช้สวรรคาไลย จะเปนด้วยเด็กกว่าท่าน ๆ เผลอไปฤาอย่างไร วังน่าองค์แรกท่านเรียกสวรรค์คต

ส่วนการสวรรค์คตของกรมพระราชวังพระองค์นี้ มีร่างหมายว่า “ณเดือน ๘ อุตราสาธ จุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก กรมพระราชวังบวรทรงพระประชวร ล้นเกล้า ฯ พระราชวังหลวง เสด็จขึ้นไปเยือนพระประชวรทุกวันมิได้ขาด พระโรคนั้นหนักไป จึงทรงพระกรุณาสั่ง เจ้าพระยาอไภยภูธร ผู้ว่าที่สมุหนายก ให้จัดแจงเกณฑ์เวรประจำซอง เวรกองเชิงกำแพงรอบพระราชวังหลวงแลพระราชวังน่าชั้นในชั้นนอก แลได้ตั้งกองรายตามถนน ตั้งแต่ประตูวิเศษไชยศรี ตรงขึ้นไปถึงประตูพรหมทวาร แลตามถนนตวันออก ถึงศาลาสารบาญชี ตามถนนตวันตกถึงประตูท่าพระ ให้เจ้าพระยาธรรมา พระยาเพ็ชรพิไชย รักษาพระราชวังหลวง ให้พระยารองเมืองตั้งกองอยู่ทุ่งพระเมรุน่าวัดพระมหาธาตุ ให้พระยาพลเทพ พระยายมราช ตั้งกองอยู่ศาลาริมประตูพรหมทวารวังน่า เจ้าพระยาอไภยภูธร ผู้ว่าที่สมุหนายก ตั้งอยู่ริมประตูมหาโภคราช ข้างเหนือ

ล้นเกล้า ฯเสด็จฯ ขึ้นไปทรงพระทมแรมในพระราชวังบวร”

ต่อนี้สั่งมหาดเล็กเชิญเครื่องแล้ว จึง “ณเดือน ๘ อุตราสาธขึ้น ๓ ค่ำ เพลาเช้า ๕ โมง ๗ บาท กรมพระราชวังบวร เสด็จสู่สวรรค์คต ณะ พระที่นั่งวายุสฐานอมเรศ พระราชวังชั้นใน ล้นเกล้า ฯ เปนประธาน ทั้งสมเด็จพระราชบุตร สมเด็จพระราชนัดดา พระญาติประยูรวงษา มีกรมหากรมมิได้ ฝ่ายน่าฝ่ายใน แลนางท้าวเถ้าแก่ ชาวแม่พระกำนัล พร้อมกันโสดสรงพระบรมศพ พร้อมไปด้วยน้ำพระสุคนธ แลพระสุคนธที่สำอางหอมเสร็จแล้ว จึงชาวพระมาลาชาวพระภูษา เชิญพระเครื่องประดับพระบรมศพ พร้อมไปด้วยเครื่องสุกร่ำ เสร็จแล้วเชิญพระบรมศพเข้าสู่พระบรมโกษฐ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ ชาวพระราชยานเชิญพระเสลี่ยงแว่นฟ้าเข้าไปรับพระบรมโกษฐในพระราชวังบวร ออกประตูพรหมภักตร เชิญพระโกษฐขึ้นพระยานุมาศสามลำคานเข้ากระบวนแห่ คู่แห่นุ่งสมปักลายเสื้อครุยลำพอกถีอดอกบัว น่า ๕๕๐ หลัง ๕๐ รวม ๒๐๐ คนใช้คนวังหลวงครึ่งหนึ่ง วังน่าครึ่งหนึ่ง เครื่องสูงสั่งชัดเจนว่า ชุมสาย นำน่า ๓ คู่ เครื่องสูง ๕ ชั้น ทองแผ่นลวดสำรับหนึ่ง หักทองขวางสำรับหนึ่ง ๒ สำรับ ๕๔ ฅน รวมเครื่องน่า ๖๐ เครื่องหลังทองแผ่นลวด ๒๐ พระกลด บังสูริย์ พัชนี กลองชนะ จ่าปี่ จ่ากลอง ๔๒ แตรงอน ๘ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ สังข์ ๒ ๒๖ อินทร์พรหม ๑๖ พระแสงหว่างเครื่อง ๕ หามพระยานุมาศ ๔๐ ขุนนางในกรมเคียง พระยานุมาศ พระยากระลาโหม พระยาพิไชยบุรินทรา ๑ คู่ พระยาไกรโกษา พระยาราชโยธา ๑ คู่ พระยาเพ็ชร์รัตน พระยาพิบูลย์สมบัติ ๑ คู่ พระยาเทพมณเฑียร พระยาบริรักษราชา ๑ คู่ พระยาทศโยธา พระยาทัศดาจตุรงค์ ๑ คู่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ แลข้าทูลลออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนนอกกระบวนแห่นั้น ตามเสด็จเปนอันมาก เมื่อชาวพระมาลาชาวพระภูษาเชิญพระโกษฐขึ้นสู่พระยานุมาศนั้น พระองค์เจ้าในกรมพระราชวังบวร คือพระองค์เจ้ากรมหมื่นธิเบศร์บวร พระองค์เจ้าครอกกลาง เสด็จขึ้นบนพระยานุมาศ ประคองพระโกษฐเชิญพระบรมศพมาไว้ณพระที่นั่งสุธาสวรรย์”

นอกนั้นก็สั่งให้ตั้งเครื่องประดับประดาเครื่องตั้ง มีมณฑปเพลิง ๔ ทิศ ตั้งเครื่องสูง ๑๘ พระแท่นพระสวด ๒ ต้นไม้เงินทอง ๔ คู่ มีนางร้องไห้ร้อง ๕ บท ๑ พระยอดฟ้าพระสุเมรุทอง ๒ พระทูลกระหม่อมแก้ว ๓ พระร่มโพธิ์ทอง ๔ พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไป ๕ พระเสด็จสู่สวรรค์ชั้นใด

เดือน ๘ อุตราสาธขึ้น ๙ ค่ำ พระราชทานเพลิงพระบุพโพ ณวัดมหาธาตุ

ณวัน ๔ ๓ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๖ นาที ยกเสาพระเมรุ ต่อไปก็เปนบาญชีเกณฑ์ รูปสัตว์ ๕๕ ตัว รูปยักษ์ ๘ ตัว เปนน่าที่กรมหมื่นเทพพลภักดิ์เปนผู้ทำ

มีรายเกณฑ์ตั้งศาลาฉ้อทาน เห็นจะเปนจำนวนถวายพระราชกุศลเมื่อเสร็จงาน เปนอย่างที่ไม่เคยเห็นมีในงานเมรุชั้นหลัง อิกประการหนึ่งนั้นเปนตัวอย่างให้เห็น ว่าเขาเรียกสมเด็จพระอัมรินทร์ ซึ่งเปนพระพันปีหลวง ยังทรงพระชนม์อยู่ในเวลานั้นอย่างไร แต่บาญชีที่จดไว้นั้น จดเข้าควงอย่างเก่าจะลำบากแก่การลงพิมพ์ ข้าพเจ้าจึงกระจายควงเสีย เปนอย่างใหม่ดังนี้

สมเด็จกรมพระอัมรินทรามาตย์ เลี้ยงพระสงฆ์ในพระเมรุ ๒๐ อนุจร ๗๗๑ เปน ๗๙๑ สามเณร ๕๑ รวม ๘๔๒ รูป ข้าราชการ ๙๙๙ ไพร่ ชายหญิง ๗,๘๖๘ รวม ๘,๘๖๘ รวมทั้งพระทั้งคฤหัษฐ์ ๙๗๑๐ คน สำรับเอก คาว ๒๐ หวาน ๒๐ สำรับโท คาว ๔๑๐ หวาน ๔๑๐ สำรับตรี คาว ๒๑๒๑ รวมสำรับคาวหวาน ๕๗๐๒ สำรับ เข้าขาวเข้ากลาง ๙๗ ถัง ขนมจีน ๑๒ ถัง น้ำยา ๑๐ นางเลิ้ง แกงร้อน ๖ กระทะ ต้มจีน ๓ กระทะ รวม ๙ กระทะ

แต่นี้จะไม่บอกยอดใน ซึ่งเห็นว่าจะอ่านเบื่อไป จึงจะบอกแต่ยอดนอก

กรมหลวงเทพวดี๑๐ เลี้ยงพระสงฆ์ ๒๑๕๒ สำรับ แลข้าราชการราษฎร ๓๒๐๔ คน เข้าขาว ๔๐ ถัง เข้าแดง ๓๓ ถัง เข้าอย่างเทศ ๑ ถัง ขนมจีน ๑๐ ถัง น้ำยา ๗ นางเลิ้ง

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์๑๑ พระสงฆ์สามเณรข้าราชการ มีหัวเมืองแลไพร่ ๕๕๘๔ คน สำรับ ๑๗๓๔ สำรับ เข้าขาว ๒๕ ถัง เข้าแดง ๓๘ ถัง

กรมหมื่นสุนทรธิบดี๑๒ พระสงฆ์สามเณร ข้าราชการไพร่ ๔๔๑๕ คน สำรับ ๔๔๓๐ สำรับ กลับมากไปกว่าคน ยิ่งถึงจำนวนเข้า กลับเลอะใหญ่เหตุด้วยเปนเส้นดินสอ ผู้มีปัญญาที่นับนิ้วมือไม่ถ้วนลากลงไปใหม่ จะให้เห็นชัด คงได้แต่ยอดนอก ว่าเกวียน ๑ กับ ๓๔ ถัง ขนมจีนก็มี ๑๐ ถัง แต่น้ำยา ๕ นางเลิ้ง ฤาจะเปนการประมูลกันกับโรงกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เลอะมาแต่เดิมก็ไม่ทราบ

กรมพระราชวังหลัง๑๓ เลี้ยงพระสงฆ์ สามเณร ข้าราชการไพร่ ๔๔๕๔ คน สำรับ ๒๗๘๒ สำรับ เข้าขาว ๒๗ ถัง เข้าแดง ๖๑ ถัง ขนมจีน ๑๒ ถัง รวม เกวียน ๑ น้ำยา ๙ นางเลิ้ง

กรมหมื่นนรินทรเทพ นี่คือโรงกรมหลวงนรินทรเทวี ท่านเคยตั้งมาเสมอ แต่กรมหมื่นนรินทรพิทักษสิ้นพระชนม์เสียแล้ว จึงใช้พระนามกรมหมื่นนรินทรเทพซึ่งเปนพระโอรส พระสงฆ์สามเณรข้าราชการ ไพร่ ๒๙๙๗ คน สำรับ ๒๒๑๐ สำรับ เข้าขาว ๓๕ ถัง ๑๙ ทนาน เข้าแดง ๓๗ ถัง ๑๔ ทนาน ขนมจีน ๕ ถัง รวม ๗๓ ถัง ๑๘ ทนาน น้ำยา ๗ นางเลิ้ง

เรื่องโกนผม มีในหนังสือที่อ้างว่าเปนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงในหนังสือวชิรญาณวิเศษ น่า ๓๘๐ ถึงน่า ๓๘๗ เปนเรื่องที่เทียบพระชนมายุวังหลวงกับวังน่า ได้คัดมาแต่เฉพาะเรื่องโกนผม แลเฉพาะแต่กรมพระราชวังพระองค์นี้ มีข้อความว่า “ครั้งแผ่นดินที่ ๒ บังคับให้ผู้หญิงทั้งแผ่นดินโกนผมหมด เว้นแต่พระราชวงษานุวงษ์ที่ทรงพระเจริญพระชนม์กว่ากรมพระราชวัง แลหญิงที่ไว้ผมจุกผมมวย แต่ผู้ชายบังคับให้โกนแต่สังกัดขึ้นในพระบวรราชวัง ถึงกระนั้นพระเจ้าลูกเธอในแผ่นดินประจุบันนั้น ก็มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้ทรงพระกรรบิดด้วย แต่ข้าในกรมที่เปนชายไม่ต้องโกน”

“อนึ่งเชื้อพระวงษ์ ที่สนิทในสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ก็โปรดให้โกนผมด้วย โกนแต่นายบ่าวไม่ต้องโกน เชื้อพระวงษ์ที่ไม่สนิท ที่เปนส่วนสังกัดวังหลวงก็ไม่โปรดให้โกน ผู้ที่โปรดให้โกนไม่ยอมโกน หลุดไปได้ก็มี”

พระราชวินิจฉัยในรัชกาลที่ ๔ ไม่ทรงเห็นชอบในการที่บังคับดังนี้ โดยอรรถาธิบายว่า “อนึ่งการโกนผมนั้น ก็เปนที่สำแดงว่าเปนข้าเจ้าสิ้นพระชนม์ ฤๅเปนเมียผัวตาย เปนบ่าวนายตาย ก็จะไปบังคับเมียที่มีผัวอยู่ ปาวที่นายยังอยู่ ข้าที่เจ้ายังอยู่ ให้โกนผมดังนั้นก็เปนอันพันละวันเลอะไป ก็เมื่อให้ผู้หญิงโกนผมหมด ไม่ว่าสังกัดไหนก็ดูเปนผู้หญิงเปนข้าวังน่าไปหมด ข้าวังหลวงมีแต่ผู้ชาย ผัวไม่ต้องโกนแล้วเมียต้องโกนเล่า อย่างไรมิรู้อยู่”

กระแสพระราชปรารภนี้ ทรงเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรค์คต ว่าด้วยวังน่าตลอด ถ้าผู้ใดอยากจะทราบความเลอียด จงดูหนังสือวชิรญาณวิเศษเล่ม ๓ น่าซึ่งได้ระบุไว้ในเบื้องต้นนั้น

๒๕๒ ณปีขานสัมฤทธิศก พระโองการให้ตั้งเขาขุดท่อ ผ่าเส้นกลางไขรหัดน้ำเข้าในวังที่สวนขวา รื้อขนศิลามาก่อเปนหอพระเจ้าอยู่กลาง ทรงสร้างพิมานเสร็จ เถลิงสมโภชมีดอกสร้อยสักรวา เกษมสำราญบานจนถึงกาล

๒๕๒ เขาที่สร้างในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย มีเขตร์กำหนดตั้งแต่ถนนตรงประตูราชสำราญขึ้นมาข้างเหนือ ถึงเขื่อนเพ็ชร์โรงแสง ซึ่งเดี๋ยวนี้เปนหลังพระที่นั่งภาณุมาศ ด้านตวันออกแนวประตูแถลงราชกิจไปหาพระที่นั่งศิวาไลย ด้านตวันตกแนวประตูกลม ซึ่งยังเปนขอบเขตร์อยู่จนบัดนี้ ตอนข้างตวันออกเปนสระ มีเกาะในกลางสระ เห็นหอพระจะอยู่ในที่นั้นคงจะอยู่ในราวที่ตั้งพระพุทธรัตนสฐานเดี๋ยวนี้ พระราชมณเฑียรอยู่ต่อหลังพระพุทธรัตนสฐาน มาข้างตวันตกเปนจตุรมุข มุขตวันออกตวันตกเสมอกันเปนพื้นเดียว แต่มุขเหนือพื้นลดเปน ๒ ชั้น มุขใต้พื้นลดเปน ๓ ชั้น พระราชมณเฑียรนี้เปนเสาไม้ฝากระดานแต่ทำอย่างประณีต เสาเขียนลายทองพื้นแดง น้ำยาสีแดงนั้นมีผู้ผสมถวายได้รางวัลถึง ๓ ชั่ง พระแกลเปิดเปน ๔ บาน พับกลางช่องพระแกลตัดเปนโค้งอย่างฝรั่ง เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเปนนายช่าง ตรงน่าพระราชมณเฑียรด้านใต้นี้ มีโรงลครใหญ่ทำเปนเก๋งจีนหลังคาสามหลังคาติดกัน พบหมายถึงกำหนดยกเสาพระที่นั่งว่า

ณวัน ๖ ๙ ค่ำ เพลาย่ำรุ่งแล้ว ๑ โมง ๓ บาท หมายนี่ง่ายกันเต็มที่ ไม่ลงปีว่าปีไร เดือนไร เห็นจะเปนปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ เพราะในหมายนี้ดูประหนึ่งว่า เก๋งโรงลครนั้นได้ทำแล้วสำเร็จ พระที่นั่งนี้ได้เสด็จเถลิงพระราชมณเฑียร ประทับคืนเดียวเท่านั้น

ครั้นภายหลังมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสร้างพระที่นั่งหมู่ตวันออกถมสระเสียหมด จึงให้สร้างพระพุทธรัตนสฐานขึ้นที่หอพระเดิม

มีอ่างแก้วสองข้างยาวเสมอพระพุทธรัตนสฐาน กว้างเสมอน่ามุขทิศเหนือทิศใต้ของพระราชมณเฑียร อ่างแก้วนั้นก่ออิฐสูงประมาณ ๓ ศอกเศษ ข้างหนึ่งเปนสระกรุด้วยดิบุก ตั้งร้านให้หุ้มดิบุกก่อเขาบนร้าน เปนเกาะเล็กเกาะน้อย ขังน้ำเสมอเชิงเขา ข้างเหนือเปนเขา บนบกมีพื้นแผ่นดิน แลซอกห้วยชานเขา มีเก๋งจีนแฝดเขียนลวดลายงาม สกัดที่ต่อพระราชมณเฑียรข้างละหลัง

พระราชมณเฑียรแปลงเปนพระพุทธมณเฑียรตั้งพระเจดีย์กาไหล่ทอง ที่กลางมุขใต้ตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อยเปนที่นมัสการเพิ่มเติมเขียนฝาพระที่นั่ง เปนลายรดน้ำปฐมสมโพธิ แต่พระที่นั่งนั้นได้ทิ้งร้างมาตลอดรัชกาลที่ ๓ ครั้นมาจับทำงานขึ้นในรัชกาลที่ ๔ การเลอียดก็ทำช้ามาก ไม่ใคร่จะแล้วลงได้ จนตัวไม้เก่าชำรุดทรุดโทรมไป งานใหม่ก็ยังไม่แล้วสำเร็จ มาแล้วสำเร็จแผ่นดินประจุบันนี้ เมื่อก่อนทรงผนวชปีรกาเบ็ญจศก จุลศักราช ๑๑๓๕ แต่เพราะโครงเก่าชำรุดนักเสาขาด แลเปนโพรงตลอดไปทุกต้น เหลือรักษาจึงต้องรื้อ โรงลครนั้นโปรดให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “พระที่นั่งทรงธรรม” เปนที่สำหรับมีเทศน์ในวัง มหาชาติหลวงก็มีที่นั่น ถ้าเวลามีลครก็เล่นลครบ้างนาน ๆ ครั้งหนึ่ง โดยปรกติเปนโรงลคร สำหรับพระเจ้าลูกเธอเรียนหนังสือ

กรมหลวงดำรงไปค้นได้ร่างตรามีขึ้นไปถึงเจ้าอนุเวียงจันท์ ว่าด้วยเรื่องทำสวนนี้ มีข้อความเลอียดลออไพเราะดีมาก ควรจะเห็นได้ ว่าเปนพระกระแสพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า รับสั่งเรียงเอง ไม่ใช่เจ้าพระยาอภัยภูธรแต่งเปนแน่ ต้องเปนผู้ที่ได้คัดแลได้เห็นงานแล้วจึงจะเรียงลงได้ เพราะราวกับบทลคร เห็นว่าไม่ยาวนักจึงได้คัดลงไว้ในคำบรรยายนี้ทีเดียว

ร่างตราเมืองเวียงจันท์

“๏ ให้พระราชทานแผนที่ อย่างสระอย่างเก๋ง สิ่งของขึ้นไปให้เจ้าเวียงจันท์ ณ ปีเถาะเอกศกศักราช ๑๑๘๑

หนังสือเจ้าพระยาจักรีมาเถิงเจ้าเวียงจันท์ ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า ให้ขุดสระแลปลูกพระที่นั่งทำเก๋งในพระราชวัง เปนที่ทรงประพาศสบายพระไทย แลซึ่งเจ้าเวียงจันท์ได้ลงไปช่วยทำการขุดสระครั้งก่อนนั้นเห็นยังคับแคบอยู่ บัดนี้ให้ขยายกำแพงพระราชวังด้านใต้ออกไปอิก จึงให้ขุดสระประจบสระเก่าต่อลงไป โดยยาวแลกว้างรังวัดได้ ๓ เส้น ๔ วา กว้าง ๒ เส้น ๘ วา ทรงพระราชดำริห์เทียบที่เปนเกาะใหญ่เกาะเล็ก ลงเขื่อน กรุอิฐ ทำพระที่นั่งเก๋งจีนแลตึกอย่างฝรั่งขึ้นอิกเปนอันมาก หว่างเก๋งหว่างตึกนั้น ให้ปลูกต้นไม้มีดอกมีผล เอนชายออกไปตามขอบสระร่มแสงแดด ให้เอาศิลาแท่งใหญ่เล็ก มาทำเปนมอเปนแหลม แลหาดปิดบังรื้อเขื่อนเสียสิ้น ในท้องสระนั้นปูด้วยอิฐใหญ่ ให้น้ำใสสอาด ปลูกบัวหลวงบัวเผื่อนที่ชายแหลมชายหาดทุกแห่ง แล้วเลี้ยงปลาสารพรรณ เวลาเช้าเวลาเย็นเสด็จออกณพระที่นั่งเก๋ง โปรยเข้าตอกบ้าง เสด็จณพระแท่นศิลาใต้ร่มต้นไม้บ้าง ทรงโปรยเข้าตอกพระราชทานปลาทั้งปวง ทอดพระเนตรนกโนรีสัตวาแขกเต้ากระตั้ว ซึ่งแขวนไว้ที่กิ่งไม้ นกเป็ดน้ำ นกคับแคลอยเล่นน้ำอยู่ อันนกนอกกว่านี้ก็เลี้ยงปล่อย เลี้ยงแขวนไว้ในสวนเปนหลายชาติ แลซึ่งทรงพระราชดำริห์สร้างพระที่นั่งเก๋ง ขุดสระไว้ในพระราชวังทั้งนี้ เพื่อจะให้พระวงษานุวงษ์ฝ่ายใน เปนที่ประพาศเล่น ด้วยมิได้ไปเห็นภูเขา แลธารน้ำแห่งใด แล้วจะได้ดูสติปัญญาข้าราชการ ซึ่งเปนช่างข้างจะไว้ฝีมือ ช่างจำหลักช่างเขียน ช่างปั้น ช่างปูน ช่างปากไม้ ช่างต้นไม้ ไทยจีน ให้เปนพระเกียรติยศ ปรากฎไปในแผ่นดิน แล้วก็เปนพระราชกุศลอยู่อย่างหนึ่ง ครั้นเถิงเทศกาลผลไม้ชุกชุม ก็ทรงพระราชศรัทธา ให้อาราธนาพระราชาคณะเข้าไปรับพระราชทานฉันในพระที่นั่งเก๋งตามขอบสระ พระราชาคณะก็รับพะราชทานฉันปิยจันหันได้มากกว่าฉันที่อื่น เพราะได้ดูฝีมือช่างซึ่งทำไว้นั้น แลโปรดให้พระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่สนิท ๆ เข้าไปพายเรือเที่ยวชมเล่น พระราชทานเลี้ยงดูดังนี้เนือง ๆ ถ้าเทศกาลตรุสสงกรานต์ เข้าพระวษาสารทออกพระวษา วันวิสาขบูชาเพ็ญเดือน ๑๑, เดือน ๑๒ ก็ทรงพระราชศรัทธาให้เชิญพระพุทธรูปแก้วผลึก แลพระบรมสารีริกธาตุ ไปสถิตย์ไว้ในพระที่นั่งเก๋งคงคาสวรรค์ กระทำการสมโภชพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายใน ภรรยาข้าทูลลอองผู้ใหญ่ผู้น้อย เข้าไปร้องศักระวาดอกสร้อย มโหรีเพลงครึ่งท่อน มอญทแยสรรพการมโหรศพต่าง ๆ ให้แต่งเก๋งตั้งเครื่องแก้วแขวนโคมแก้ว โคมแพรหลายอย่าง ตามสักการบูชาพระบรมธาตุ ครั้งละสามคืนบ้างสี่คืนบ้าง แลเมื่อเพ็ญเดือน ๑๒ ปีเกาะเอกศกนี้ พระยานครลำปาง พระยาน่านลงไปเฝ้าทูลลอองณกรุงเทพ ฯ ก็โปรดให้พาบุตรภรรยาเข้าไปเที่ยวชมพระที่นั่งเก๋ง ซึ่งตกแต่งแลการมโหรศพสมโภชสิ้นทุกคน ถ้าเทศกาลแต่งเก๋ง แลเลี้ยงดูข้าทูลลอองครั้งใด ก็มีพระราชหฤไทยคิดเถิงเจ้าเวียงจันท์ทุกครั้ง ด้วยมิได้ลงไปเห็น จึงโปรดให้ถ่ายอย่างเปนแผนที่สระที่เก๋งเก่าใหม่พระราชทานขึ้นมาให้เจ้าเวียงจันท์ดูพอเปนสำเนาพลาง ถ้าเจ้าเวียงจันท์ว่างราชการเมืองเมื่อใด จะลงไปเฝ้าทูลลอองณกรุงเทพ ฯ ก็ให้พาบุตรภรรยามโหรีลคร กับให้หาพายแลนกเขาครมลงไปด้วยจะได้เล่นตามสบายใจ อันเรือสำหรับพายเล่นแลกิ่งไม้ที่น่าแขวนนกนั้น มีอยู่เปนอันมาก

หนังสือมาณวัน ๖ เดือน ๒ ขึ้น ค่ำ ๑ จุลศักราช ๑๑๘๑ ปีเถาะเอกศก

วัน ๖ เดือน ๒ ขึ้นค่ำ ๑ ได้ส่งตรานี้ให้เจ้าราชบุตร แต่งให้ท้าวเพี้ยถือขึ้นไปส่งให้เพี้ยเมืองกลางแล้ว”

๒๕๓ ณวัน ๕ ๖ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๘๒ ปีมโรงโทศก ฉลองวัดแจ้ง ประดับแต่งเครื่องไทยทานเหลือทลาย จะบรรยายไม่ครบประมวญการ มีลครผู้หญิงโรงเล็ก การมหรศพสมโภชพร้อมเสร็จจัตวาร

๒๕๓ ฉลองวัดแจ้งมีลครโรงเล็ก คือพระราชนิพนธ์ตอนหลังบุตรลบ

๒๕๔ ณวัน ๖ ๖ ค่ำ ปจุบันกาลเกิดมรณสงครามยุทธ์ เพียงแผ่นดินจะซุดล่มด้วยลมพยุไข้วิบัติเปลือง ฝุ่นเมืองม้วยพินาศ รอดชีวาตม์ด้วยเท (วะ) วงษ ดำรงทรงปัตพินทร์ เปนปิ่นสุธาโลก ดับโรครงับเข็ญ กลับชุ่มเย็นรงับร้อน ผ่อนถึงพรหมลิขิต

๒๕๔ คำที่กล่าวดังกึกกักอยู่นี้ คือเกิดอหิวาตกโรคเปนอย่างแรง ที่ออกชื่อกันอยู่ว่าปีมโรง

ถึงในปูมก็จดหมายลงไว้ยืดยาว ว่าวันพฤหัศบดีเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาค่ำยามเศษ ทิศพายัพเห็นเปนแสงไฟจับอากาศ หมา, คน, เปนโรค ลงรากตายมาก พระยาสมุทหนีจากเมือง วันจันทร์เดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ยิงอัตนา รุ่งเช้าแห่พระประน้ำประทราย คนแห่ตายมาก พระสงฆ์หนีวัด คฤหัษฐ์หนีบ้าน ตาย ๓๐,๐๐๐

๒๕๕ ณวัน ๖ ๗ ค่ำ กรมอินทรพิพิธสิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงที่วัดรฆัง

๒๕๕ กรมหมื่นอินทรพิพิธสิ้นพระชนม์นี้ คงจะเปนอหิวาตกโรค พระศพจึงได้ฝังวัดสระเกษ แต่พระราชทานเพลิงในร่างรับสั่งไม่มีปีแลศักราช ควรจะสันนิษฐานได้แต่ว่า อยู่ในเล่มเดียวกันกับหมายตั้งสมเด็จพระญาณสังวร เปนสังฆราชวันพฤหัศบดีเดือนอ้ายขึ้น ๙ ค่ำ ปีมโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ งานเมรุกรมอินทรพิพิธเดือนยี่ขึ้น ๘ ค่ำ ต่องานพระองค์บุบผา ซึ่งพระราชทานเพลิงเดือนยี่ขึ้น ๓ ค่ำ จะเปนปีมโรงฤๅปีมเสง ถ้าจะวินิจฉัยแล้ว น่าจะวินิจฉัยว่าเปนปีมเสงตรีศก เพราะเหตุที่ในจดหมายกรมหลวงนรินทรมีแต่กรมหมื่นอินทรพิพิธองค์เดียว ที่แท้พระราชทานเพลิง พร้อมกับกรมหมื่นนรินทรเทพลูกของท่าน เหตุใดท่านจึงไม่กล่าวถึงก็ไม่ทราบ บางทิจะเปนด้วยกรมหมื่นนรินทรเทพสิ้นพระชนม์นี้ ท่าให้ท่านเศร้าโศกมาก เลยหยุดไม่ได้จดต่อไปอิกก็อาจจะเปนได้

๒๕๖ พระโองการรับสั่งให้รื้อยกสังคายนายสวดมนต์ ลำดับกระษัตริย์แต่ก่อนหาได้ยกไม่ แต่พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระไอยกาบรมโกษฐเปนปฐม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระโกษฐแผ่นดินกลาง

๒๕๖ ความตอนนี้มัวมนท์ อ่านถึง ๓ เที่ยวแล้วยังไม่เข้าใจ จนถึงบอกจำหน่ายไว้แล้ว แต่ผิดสังเกตนักที่ท่านจะจดเลอะเทอะ จึงได้แขงใจพิจารณาดูอิกครั้งหนึ่งก็ได้ความ คือตั้งแต่ปีมโรงความไข้นั้นมา โปรดให้เจ้านายแลข้าราชการฝ่ายใน สวดมนต์ที่หอพระแลพระที่นั่งไพศาลทักษิณทุกวัน สวดเหมือนอย่างพระสงฆ์ สวดตั้งแต่ภาณต้นจนถึงอาฏานาติยสูตร ไม่แต่สวดธรรมดา ซักซ้อมเรียบร้อยมีขัดตำนาน จนถึงออกสวดให้พระสงฆ์ฟังที่พระที่นั่งอมรินทรได้ ข้อที่เขียนว่าสังคายนายในที่นี้ คล้ายกันกับสังคายนารัชกาลที่ ๑ จึงทำให้งงไปไม่เข้าใจ ที่จริงท่านหมายความตามลักษณสังคายนาที่มีมาในเรื่องราว เมื่อพระสงฆ์ที่มาประชุม ตรวจสอบว่าสูตรใดถูกต้องแล้ว ก็ให้สวดสาธยายทรงจำไว้ เพราะสังคายนาแต่ก่อนหาได้จานลงในใบลานไม่ ใช้ท่องบ่นทรงจำไว้ จึงเปนต้นเหตุของการที่สวดมนต์ ในการที่จะยกย่องพระราชดำริห์อันนี้ ท่านจึงยกย่องว่าเปนสังคายนาย อันโบราณกระษัตริย์ไม่ได้เคยทำมาแต่ก่อน ข้างในสวดมนต์นี้มีติดต่อมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ แต่การซักซ้อมไม่สู้เข้มงวดเหมือนรัชกาลที่ ๒ เปนการสวดเอาบุญ แต่รัชกาลที่ ๒ นั้นมีเพิ่มสวดเอาเพราะด้วย

ความในฉบับเดิมแต่เฉพาะเรื่องนี้ก็ยังขาดอยู่ คงจะมีในเล่มต่อไปซึ่งสูญเสียหาไม่พบ

  1. ๑. เกยที่ได้ทราบจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าเกยที่ทรงบาตร พระที่นั่งน่าพระไชย เห็นจะเปนพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

  2. ๒. เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี

  3. ๓. การสมโภชนี้ว่าแต่ส่วนลงสรง ไม่ได้กล่าวถึงพระราชทานพระสุพรรณบัตร การลงสรงแปลว่าพระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนาม ครั้งนี้ว่าพระราชทานก่อนสมโภช พระนามที่จาฤกในพระสุพรรณบัตร ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวาวงษ์พงษ์อิศวรกระษัตริยขัติยราชกุมาร

  4. ๔. ประตูพรหมทวาร เปนประตูพระราชวังบวรชั้นนอกข้างใต้ ตรงถนนน่าพระธาตุ

  5. ๕. ศาลาสารบาญชีเปนหอทเบียนสัสดี อยู่ใกล้ศาลเจ้าหลักเมือง

  6. ๖. ประตูมหาโภคราช ประตูวังชั้นกลาง ดรงพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน

  7. ๗. ประตูพรหมภักตร เปนประตูวังชั้นใน อยู่หลังพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน มีทางแวะออกมาจากฉนวนข้างใน

  8. ๘. พระราชวินิจฉัยครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าสวรรค์คต ว่าพระบรมศพวังน่าใช้เครื่องสูง ๓ ชั้น เหมือนสมุหนายก คลาศเคลื่อนกับในร่างรับสั่งนี้ บางทีจะผิดมาในรัชกาลที่ ๓ มีพระราชปรารภเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้ารับสั่ง ว่าเมื่อยังไม่ได้เปนวังน่าเคยแห่ฉัตร ๕ ชั้น ครั้นเปนวังน่าขึ้นถูกถอดลงเปนแห่ฉัตร ๓ ชั้น แล้วรับสั่งหยอกกรมหลวงวงษา ว่าพ่อนวมตายที่ศพคงได้ตั้งฉัตร์ ๕ ชั้น แต่ศพฉันมิต้องตั้ง ๓ ชั้นเปนเจ้าวังน่าฤๅ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงพระราชดำริห์ถึงคำนี้ จึงได้โปรดให้ตั้งเครื่องสูง ๕ ชั้นรอบในตามพื้นเดิมที่เปนเจ้าวังหลวง ๓ ชั้นรอบนอกตามพระเกียรติยศที่เปนวังน่า เห็นจะไม่เคยทอดพระเนตรร่างรับสั่งฉบับนี้ซึ่งจะไม่ต้องวินิจฉัยอไรเลย ที่ใช้ฉัตร ๓ ชั้นตั้งพระศพวังน่าเห็นจะเปนหม่อมไกรสรบัญชาผิด เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์

  9. ๙. นางเลิ้งแปลว่าตุ่ม

  10. ๑๐. เปนสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้า ซึ่งยังดำรงพระชนม์อยู่องค์เดียว ในเวลานั้นเรียกว่าทูลกระหม่อมปราสาท

  11. ๑๑. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

  12. ๑๒. เปนพระเจ้าลูกเธอองค์รอง ที่สิ้นพระชนม์ในเพลิง

  13. ๑๓. คำที่เรียกว่ากรมพระราชวังหลังนี้ ไม่ใช่ตัวกรมพระราชวังบวรสฐานภิมุข กรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ในกรมพระราชวังหลัง แต่มักจะเรียกสั้น ๆ กันว่า พระราชวังหลัง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ