๑ - ๑๓๐

๑ กรุงเก่าพม่ายกมา ๕๐๐๐ ล้อมประชิดตั้งค่ายบ้านระจัน โพธิ์สามต้นค่ายใหญ่ล้อมรอบเกาะเมืองอยู่กลาง

๑ ในที่นี้กล่าวชื่อค่ายแต่สองค่าย บอกจำนวนคน ๕๐๐๐ แยกกันอยู่สองค่ายเห็นจะถูก ค่ายโพธิ์สามต้นเปนค่ายมั่นซึ่งตั้งภายหลังที่สุด ค่ายบางระจันเปนค่ายที่ดีที่กล้า มีจดหมายไว้ในปูมว่า “ศักราช ๑๑๒๗ พม่ายกมาตั้งดงรังหนองขาว” “วัน ๒ ๘ ค่ำ ปีจออัฐศกศักราช ๑๑๒๘ เสียค่ายบางระจัน” ในเวลาที่กล่าวนี้ คนคงอยู่ที่โพธิ์สามต้นมากกว่าที่บางระจัน แต่ไม่ได้ควบคุมรักษากันอย่างกองทัพที่ตั้งประชิดเมือง แยกย้ายกันเปนกองโจรไปเที่ยวตีปล้นในที่ต่าง ๆ ค้างวันค้างคืนอย่างหละหลวม แต่หากคนในเมืองฝีมืออ่อนเองจึงกำจัดไม่ได้ ดูประหนึ่งเวลานั้นพม่าจะกระจายกันอยู่ในแขวงเมืองกุย, เมืองปราณ, เพ็ชรบุรี, ราชบุรี, กาญจนบุรี, นครไชยศรี, สุพรรณ, อ่างทอง, เมืองพรหม, เมืองธน, เมืองนนท์เหล่านี้ การที่จะออกไปถึงเมืองฉะเชิงเทรา, เมืองปราจิณ, เปนความลำบากของพม่าเสียแล้ว ต้องยกไปเปนคราว หัวเมืองไกล ๆ เช่น จันทบุรี ฤๅเหนือเมืองพรหมขึ้นไป ใช้แต่งไปเกลี้ยกล่อม เมืองอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมานี้ดูเปนปรกติอยู่ มีแต่การรบราฆ่าฟันกันเอง ด้วยไม่เชื่ออำนาจกลางว่าจะคุ้มครองฤๅจะลงโทษอย่างใดได้

๒ พลในเมืองขึ้นน่าที่ประจำช่องเสมาเมืองถึง ๗๐๐๐๐๐

๒ จำนวนคนที่รักษาเมืองตั้ง ๗๐๐,๐๐๐ ในที่นี้น่าจะเปนตรางเกณฑ์เตรียมไว้ก่อนตั้งแต่พม่ากลับไปคราวก่อนแล้ว หากว่าจะได้คิดกันขึ้นใหม่ในเวลาพม่าตีครั้งนี้ก็ทัน เพราะพม่าเข้ามาตั้งทางเมืองกุยรู้เสียเปนนาน จึงได้มาถึงเพ็ชร์บุรี จนจัดทัพไปตั้งคอยอยู่ได้รบกันที่ราชบุรี ทัพที่ออกไปรับแตกแล้วก็ไม่ใช่ไล่รุกร้นขึ้นไปตีกรุง เที่ยวปล้นสดมในลำน้ำท่าจีน, แม่กลอง, ตลอดเข้ามาจนลำน้ำเจ้าพระยา ในสามแม่น้ำที่เปนท่าค้าขายต่างประเทศ ปล้นตีชิงลูกค้าบกแลเรือได้ผลประโยชน์เพลินมาก กว่าจะขึ้นไปถึงกรุงประมาณเกือบปีหนึ่งไป ถ้าจะทำตรางเกณฑ์ทัพก็มีเวลาเกินทัน เอาทัพกรุงลงไปรับข้างล่าง เอาทัพพิศณุโลก, นครราชสิมาเข้ามารักษากรุง แต่เอาไว้ไม่ใคร่อยู่ เช่นกำลังศึกติดเมืองอยู่ พระยาพิศณุโลกก็ทูลลาไปเผาศพแม่ ซึ่งกลับถือว่าเปนการสำคัญยิ่งกว่าการทัพศึก คนที่อยู่ในเมืองน่าจะเปนสำมโนครัวที่กวาดต้อนเข้ามาจากแขวงจังหวัดหัวเมืองที่ใกล้ เปนผู้หญิงแลเด็กเปนพื้น เมื่อเวลาพม่าล้อมกรุงอยู่ ถ้าพอมีกำลังใครจะไปข้างไหนก็ไปได้ จะไปไหนไม่ได้ก็แต่ที่หนีพวกกองโจรพม่าไม่รอดเท่านั้น ครอบครัวจึงตกค้างในเมืองมาก พวกที่ฉกรรจ์เกณฑ์ไปทัพเลยไม่กลับ แลพวกที่คุมกันติด ตีแหกออกไปอย่างเจ้ากรุงธนคงมีมาก ถ้าจะลดจำนวนคนลงเสียสูญหนึ่งแต่ ๗๐๐๐๐ ก็คงเกณฑ์ไม่ได้เท่านั้น

๓ ประจุปืนทุกน่าที่มิให้ยิงสู้ข้าศึก

๓ เรื่องยิงปืนไม่เปนปลายกรุงเก่านี้ ดูเล่าต้องกันมากนัก เครื่องสาตรารุธเห็นจะขัดสนมาก อย่างไขว้เขวกัน มีปืนไม่มีลูก มีลูกไม่มีปืน อาวุธที่จ่ายออกมาก็ชำรุดทรุดโทรม ปืนเอาไปยิงก็จะเกิดอันตรายเนือง ๆ แตกบ้างตกรางบ้าง ยิงไปออกบ้าง ยิงไม่ได้บ้าง เข็ดขยาดเห็นการยิงปืนยากเสียเต็มที คราวนี้ก็เลยกลัวไม่ใคร่จะมีใครกล้ายิงอยู่เองแล้ว ซ้ำเจ้านายแลผู้ดีก็พากันสวิงสวายกลัวอไรต่ออไร ตั้งแต่ฟ้าร้องเปนต้นไป เปนปรกติของผู้ดีชั้นนั้น

๔ แผ่นดินต้นอยู่น่าที่วัดแก้ว ได้ยิงสู้พม่าครั้งหนึ่ง ต้องคาดโทษมิให้ยิง ให้แจ้งศาลาก่อน พม่าล้อมไว้ ๓ ปี

๔ คำที่เรียกว่าแผ่นดินต้น หมายความว่าเจ้ากรุงธนบุรี เรื่องที่เล่าต่อไปถึงจะยิงปืนต้องบอกศาลา มีในที่อื่นคล้ายกัน เช่นจดหมายหลวงอุดม แลมีคำเล่าถึงเรื่องหม่อมเพ็งหม่อมแมน ซึ่งเปนคนขวัญอ่อนกลัวปืน ข้อนี้นับว่าเปนพยานอิกเรื่องหนึ่ง

๕ แผ่นดินต้นหนีออกจากเมืองกับผู้คนพรรคพวก ๕๐๐

๕ เจ้ากรุงธนบุรีหนีออกจากเมืองนี้ หนีออกทางตวันออกเฉียงใต้ไปวัดพิไชย เห็นจะเปนแห่งที่พม่าบางกว่าทางอื่น เพราะพม่าเข้ามาทางฝั่งตวันตก แล้วจึงเดินโอบขึ้นไปข้างเหนือ

๖ มีปืนถือติดมือแต่ท่าน หนีข้ามฟากไปตวันออก

๖ ในที่นี้ดูปืนน้อยเต็มที แต่ตัวนายยังมีปืนบอกเดียวเท่านั้น คนรักษาน่าที่จะไม่มีอะไรถือ นอกจากดาบหอกแหลนหลาวนัก

๗ ณวัน ๗ ๕ ค่ำ หนีออกจากเมือง

๗ วันที่ลงในนี้ไกลจากพงษาวดารมาก เห็นจะไม่ใช่หมายความว่าเจ้ากรุงธนออกจากกรุง จะว่าด้วยเรื่องกรุงเสีย แต่จะสอบเอาวันให้ตรงกับพงษาวดารว่ากรุงเสียก็ไม่ตรง ในพงษาวดารเขากำหนด วัน ๓ ๕ ค่ำ ผิดกับวันที่ได้จดไว้ในที่นี้ เห็นจะเชื่อวันคืนเปนแน่ไม่ได้

๘ พม่าขุดอุโมงค์เข้าเผาเมืองได้ด้านวังน่าก่อน

๘ ที่ว่าพม่าขุดอุโมงค์ ในที่นี้ขุดรางลงไปตามริมกำแพง เอาเชื้อเพลิงเผาให้กำแพงทรุด ดูเถอะพม่ามันมีกำลังอะไร จะยกหักเข้าในกำแพงก็ไม่ได้ ดูเถอะชาวเมืองช่างนั่งให้พม่ามันมาสุมไฟริมกำแพงได้ มันเหลวเข้าหากันทั้งสองฝ่ายเช่นนี้

๙ ณวัน ๗ ๑๑ ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศกเพลายามเศษเข้าเมืองได้

๙ มีจดหมายไว้ในปูมว่าวัน ๓ ๕ ค่ำ เสียกรุงแก่พม่า วัน ๕ ๑๑ ๙ ค่ำ พม่าฆ่าคน วันในที่นี้ช้าไปกว่าในพงษาวดาร ๒ วัน ทีมันจะเข้ามาออด ๆ พึ่งรู้กันเมื่อฆ่าคน ข้อที่จะรู้กันว่าพม่าเข้าเมืองได้นั้น เผาวังแลเผาวัดพระศรีสรรเพชญ์ แต่ไฟไหม้ในเมืองเวลานั้นมันก็ไม่อัศจรรย์ ด้วยคนในเมืองอดโซแย่งชิงกันกินอยู่ ประเดี๋ยวไฟไหม้แห่งโน้นแห่งนี้ จึงรู้ช้าไป ๒ วัน

๑๐ กวาดครัวผ่อนหย่อนสายเชือกให้ลงข้างช่องใบเสมาประตูเมืองไม่เปิดให้ออกกลางคืนอยู่สัก ๑๕ วัน

๑๐ กวาดครัวหย่อนสายเชือกให้ลงข้างช่องใบเสมา คิดไม่เห็นว่าทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น ถ้าจะมีเหตุก็แต่เรื่องคนคุมไม่พอเชลยมาก แต่ประตูก็ดูเหมือนว่าเปิดกลางวัน ปิดแต่กลางคืน เมื่อจะมัดเสียให้เสร็จต้อนออกมาเปนพวง ๆ ก็ได้ ด้วยเหตุฉนั้นในข้อนี้ยังเอาเปนอธิบายไม่พอ

๑๑ ตั้งให้นายทองสุกเปนเจ้าอยู่โพธิ์สามต้น

๑๑ ในนี้ว่าตั้งนายทองสุกเปนเจ้า จะเข้าใจว่านายทองสุกคนนี้เปนสุกี้ ที่เรียกว่าพระนายกองฤๅ

๑๒ ให้นายบุญสงเปนเจ้าอยู่เมืองธนบุรี พม่าเลิกทัพกลับไป

๑๒ เจ้าเมืองธนว่าชื่อนายบุญสง ผิดกับพงษาวดารว่าเจ้าทองอิน

๑๓ แผ่นดินต้นกับไพร่ ๕๐๐ ไปปะพระเชียงเงิน ให้พลายแหวนกับพังหมอนทรง

๑๓ พระเชียงเงินมีชื่อในพงษาวดาร แต่พลายแหวนกับพังหมอนพิศดารออกไป

๑๔ ไปตีเมืองตราด เมืองจันทบุรี ตีรยอง เมืองชล เข้าปากน้ำเมืองธนบุรี เดือน ๑๒ ปีกุนนพศก

๑๔ จดหมายนี้กล่าวนอกเปนในไกลเปนใกล้ คือกล่าวถึงตราดก่อนตีย้อนกลับเข้ามา เห็นจะไม่รู้แผนที่ ความจริงเจ้ากรุงธนได้เดินเข้าไปลึก ห่างฝั่งน้ำทางตวันออก ตั้งน่าออกไปนครนายกปราจิณ แล้วไปทางบางลมุง รยอง ไปจันทบุรีทีเดียว เมืองตราดออกไปแต่ไม่ได้ตั้งอยู่ การที่หลบไปทางตวันออกมากเช่นนี้ เพราะในแถบแม่น้ำพม่าเกลื่อนกล่นไปทั้งนั้น ไปจับลงเดินริมทเลตั้งแต่ทองหลางพานทองไป ตั้งแต่เมืองชลไปนั้นพ้นพม่าเสียแล้ว ขากลับยกจากจันทบุรี เดือน ๑๑ มาแวะเมืองชลเข้ามาถึงเมืองธนต่อเดือน ๑๒ นั้นเห็นจะถูก

๑๕ มีแต่ซากศพเผาเสีย

๑๕ ว่ามีแต่ทรากศพเผาเสียนั้น คงจะเปนศพที่ทิ้งอยู่เปนอันมาก เพราะฆ่ากันอยู่เสมอไม่มีใครเผาใคร

๑๖ คนโทษอยู่ $\left. \begin{array}{}\mbox{สอง } \\\mbox{สาม }\end{array} \right\}$ ๓๐๐๐

๑๖ ที่ว่าด้วยคนโทษนี้ จะอ่านว่ากระไร สองสามพันฤๅ เห็นตัวอย่างเคยเขียน อย่างคนเขียนเลขไม่เปน คือสองกับสามเข้าควงกัน แล้วเขียนเลขพันลงไว้ข้างหลังดังนี้ $\left. \begin{array}{}\mbox{สอง } \\\mbox{สาม }\end{array} \right\}$ ๑๐๐๐ แต่ที่นี้เอา ๓ ไว้น่าสูญไม่ใช่เลข ๑ สองสามเขียนด้วยตัวหนังสือที่ข้างน่านั้นเขียนทำไมก็ไม่รู้ แต่คนโทษถึง ๓๐๐๐ นั้นอยู่ข้างจะมากเกินไป ข้อที่ผิดนี้จะผิดด้วยคนที่คัดหนังสือกันต่อ ๆ มา เข้าใจเลขอยู่บ้าง แต่ความคิดไม่พอรำคาญสองสามเขียนเปนตัวหนังสือ พันเขียนเปนตัวเลข เข้าใจว่าสามพันอยู่แล้ว ก็เปลี่ยนเลข ๑ เปนเลข ๓ เสีย ตัวหนังสือที่เขียนว่าสองสามข้างน่าชา ๆ แลไม่เห็น เลยทิ้งไว้เช่นนั้น

๑๗ ไปตีโพธิ์สามต้นได้หม่อมเจ้ามิด หม่อมเจ้ากระจาด

๑๗ หม่อมเจ้ามิตร, หม่อมเจ้ากระจาด, ว่าได้จากค่ายโพธิ์สามต้น ถูกกันกับพงษาวดาร

๑๘ ได้ปืนใหญ่พม่าเอาไปไม่ได้ค้างอยู่ ให้รเบิดเอาทองลงสำเภา

๑๘ เห็นจะเปนทองที่ย่อยลงมานี้เองได้มาหล่อปืนพระพิรุณที่สวนมังคุด เมื่อวัน ๖ ๔ ค่ำปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘

๑๙ ซื้อเข้าถังละ ๖ บาท เลี้ยงคนโซไว้ได้กว่า ๑๐๐๐

๑๙ ซื้อเข้าเลี้ยงคนโซ คงจะได้เงินจากค่ายโพธิ์สามต้น

๒๐ ไปตีเกยไชย ถูกปืนไม่เข้า

๒๐ ตีเกยไชย ในพงษาวดารว่าถูกปืนเลิกกลับลงมา ในที่นี้ว่าปืนไม่เข้า เห็นจะเปนความนิยมของราษฎรในเวลานั้น

๒๑ ไปตีพิศณุโลกย์ได้หม่อมฉิม ลูกเจ้าฟ้าจีด

๒๑ หม่อมเจ้าฉิม ในพงษาวดารว่าได้ที่โพธิ์สามต้น ในหนังสือนี้ว่าไปได้เมื่อไปตีเกยไชย

๒๒ ในปลายปีกุนกลับมาถวายพระเพลิง (พระ) ที่นั่งสุริยาอำมรินทร์ เจ้าแผ่นดินกรุงเก่า มีการสมโภชพร้อมเสร็จ

๒๒ การถวายพระเพลิงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ในพงษาวดารว่าตีค่ายโพธิ์สามต้นได้แล้วก็ทำ ในหนังสือนี้ว่ากลับลงมาจากพิศณุโลกย์จึงได้ทำ พงษาวดารเห็นจะถูก

๒๓. ณปีชวดสัมฤทธิศก ไปตีเมืองนครหนังราชสีห์มา

๒๓ เรียกเมืองนครราชสีมาเติมหนังลงไปเต็มที่ เห็นจะฝันมาจากเรื่องขุนสิงหฬสาคร

๒๔. กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าสีสังข์ไปอยู่พิมาย ต่อสู้รบประจันกัน จับได้กรมหมื่นเทพพิพิธ บุตรชาย ๓ บุตรหญิง ๑ กับเจ้าสีสังข์ กรมหมื่นเทพพิพิธ ท่านให้สำเร็จโทษเสีย เจ้าสีสังข์หนีไปเมืองขอม

๒๔ เจ้าศรีสังข์ในที่นี้ไขว้เขวกันอยู่ ในพงษาวดารว่าเจ้ากรุงธนบุรีออกไปจันทบุรี เจ้าจุ้ย, เจ้าศรีสังข์, หนีออกไปเมืองพุทไธมาศ ซึ่งเปนเหตุให้ยกขึ้นมีหนังสือไปถึงพระยาราชาเสรษฐีญวนให้มาสวามิภักดิ์ ส่งตัวเจ้าจุ้ยเจ้าศรีสังข์, ลูกกรมหมื่นเทพพิพิธ ในพงษาวดารว่าเจ้าประยง ถึงเจ้าศรีสังข์ที่กล่าวในหนังสือฉบับนี้ ก็จำหน่ายว่าหนีไปเมืองขอม ลงความกัน

๒๕ บุตรกรมหมื่นสุนทรเทพ หม่อมประยง โปรดให้เปนเจ้าอนิรุทธ์เทวา บุตรกรมหมื่นจิตรสุนทร หม่อมเจ้ากระจาด ให้ชื่อบุษบา บุตรกรมพระราชวัง หม่อมเจ้ามิด ประทานชื่อประทุม

๒๕ เจ้าประยงซึ่งพงษาวดารกล่าวว่าหลวงแพ่งจับฆ่าเสีย ในที่นี้กลายเปนภายหลังตั้งให้เปนเจ้าอนุรุทธ์เทวา หวนกล่าวถึงเจ้าผู้หญิงที่ได้มา เจ้ากระจาดลูกกรมหมื่นจิตร ในพงษาวดารว่าให้ชื่อบุบผา ในที่นี้ว่าบุษบา ก็เปนเนื้อความเดียวกัน เจ้ามิตรบุตรกรมพระราชวังให้ชื่อประทุมต้องกัน

๒๖. บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพควม (รำดวน) พี่

๒๖ ลูกกรมหมื่นเทพพิพิธในหนังสือที่คัดมานี้เลอะเทอะอยู่ ว่าหม่อมมงคล, หม่อมพควม, เห็นจะเปนลำดวน แต่คนคัดหนังสือผิด เจ้าสองคนนี้ดอกกระมังที่เปนเจ้าเชษฐกุมารคนหนึ่ง เจ้าอนุรุทธ์เทวาคนหนึ่ง เจ้าอนุรุทธ์เทวานี้ มีชื่อในบานแพนกตั้งเจ้านครศรีธรรมราชใช้ว่าหม่อมเจ้า แต่เจ้าอุบลลูกกรมเทพ เจ้าฉิมลูกเจ้าฟ้าจีดเปนชื่อเดิม

๒๗. หม่อมอุบล บุตรเจ้าฟ้าจีด เลี้ยงเสมอกันทั้ง ๔ คน

๒๗ เจ้าสี่คนนั้นคือ บุษบา ฤๅ บุบผา ลูกกรมจิตร เจ้าประทุมลูกกรมพระราชวัง เจ้าอุบลลูกกรมเทพ เจ้าฉิมลูกเจ้าฟ้าจีด แต่โปรดไม่เสมอกัน

๒๘. แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง

๒๘ ในที่นี้มีพิศดารออกไปว่า โปรดหม่อมฉิมแลหม่อมอุบล

๒๙. วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย (แล) ในที่ (บรรทม) ด้วย

๒๙ เรื่องเกิดหนูกัดพระวิสูตรนี้ ออกจะถือเปนอุบาทว์ ข้อที่ว่าฝรั่งเปนชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ชื่อนายเวรมหาดเล็กวังน่าก็ชอบกล ฝรั่งนี้เข้าใจว่าโปรตุเกศอย่างพวกกดีจีน

๓๐. เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ ๔ คน เปน ๖ คนด้วยกัน

๓๐ ทำนองเปนความสงไสยว่าเจ้าประทุมหึงเจ้าอุบล แกล้งทูลใส่ความ แต่ที่แท้ก็อาจจะเปนจริงได้ เจ้าอุบลคนนี้เคยตกเปนเมียนายแก่นพวกหลวงแพ่งครั้งหนึ่งแล้ว เจ้าฉิมก็คงซัดเซคเนจรมาแล้วเหมือนกัน อาจจะทำผิดได้

๓๑ รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่ายังจะอยู่เปนมเหษีขี้ซ้อนฤๅ มาตายตามเจ้าพ่อเถิด รับเปนสัตย์หมด ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรด ทำประจานด้วยแสนสาหัส ประหารชีวิตรผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้า

๓๑ หม่อมอุบล, ทีจะเปนคนไม่สู้เหี้ยมหาญ หม่อมฉิมนั้นเห็นจะเปนคนที่มีโวหารกล้า ผู้รับเปนสัตย์คงเปนหม่อมฉิมรับเปนสัตย์ลงไปก่อน หม่อมอุบลจึงได้พลอยรับตาม แก้ความเสียหายด้วยทำเปนทีว่าแค้นขึ้นมาจึงได้รับ

๓๒ สำเร็จโทษเสร็จแล้วไม่สบายพระไทย คิดถึงหม่อมอุบล ว่ามีครรภ์อยู่ ๒ เดือน

๓๒ การที่ทรงพระอาไลยหม่อมอุบลขึ้นมานั้น จะไม่ใช่แต่มีครรภ์ จะคิดเห็นไปว่าหม่อมอุบลพลอยรับไปด้วยตามคำหม่อมฉิม ฤๅบางทีพิจารณา พอหม่อมฉิมรับก็ทึกเอาเปนรับทั้งสองคน จึงได้ทรงพระอาไลยสงสาร

๓๓ ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบลว่าใครจะตายกับกูบ้าง

๓๓ ข้อที่ว่าจะตายตามหม่อมอุบลนี้ เปนการปรากฎครั้งแรกในหนังสือนี้ รับว่าพระสติอยู่ข้างฟั่นเฟือน

๓๔ เสม เมียกรมหมื่นเทพพิพิธ ว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทน์ หม่อมเกษ หม่อมลา สังบุษบาจะตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ ให้บังสกุลตัว ทองคนละ $\begin{array}{c} \\\begin{array}{c|c} &๑\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ ให้ทำพระแล้ว ให้นั่งในแพหยวก นิมนต์พระเข้ามาบังสกุลแล้วจะประหารชีวิตรคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่ด้วยกันเจ้าข้า พระสตินั้นฟั่นเฟือน

๓๔ เสมเมียกรมหมื่นเทพพิพิธที่ยอมตายตามเสด็จคนนี้ เคยตกไปเปนเมียนายย่นพวกหลวงแพ่งครั้งหนึ่งแล้ว ทั้งเวลากรมหมื่นเทพพิพิธเปนเจ้าพิมายอยู่ดังนั้น ทีจะเปนคนแปดเหลี่ยมแปดคม

๓๕ เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาล กับเตี่ยหม่อมทองจันทน์ นิมนต์พระเข้ามามาก ชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรขออย่าให้ทำหาควรไม่ ว่าที่จะได้พบกันนั้นหามิได้แล้ว ถวายพระพรขอชีวิตรไว้ ได้พระสติคืนสมประดี ประทานเงินเติมให้แก่ผู้รับตามเสด็จนั้น

๓๕ เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาลผู้นี้ คือท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) เปนไปยิกาของสมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูรฝ่ายหนึ่ง ซึ่งลงเรือพระที่นั่งมารับเสด็จพระพุทธยอดฟ้าที่วัดโพธาราม แต่ไม่เคยปรากฎว่าเปนเจ้าคุณ คำที่ออกชื่อว่าเจ้าคุณใหญ่แล้วแปลว่าท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ทั้งนั้น เพราะเหตุที่เปนแม่วังอยู่ดังนี้ จึงได้ลงเรือมารับเสด็จ

๓๖ เจ้าหอกลางประสูตรเจ้าเปนพระราชกุมารแผ่นดินไหว ฉลูต้นปีโปรดปล่อยคนโทษในคุกสิ้น หมายสมโภชเจ้าฟ้าน้อย

๓๖ เจ้าหอกลางมีลูกเปนผู้ชายนี้, แปลก เห็นจะตายเสียจึงมิได้กล่าวในที่อื่น ถ้าอยู่คงแก่กว่าพระพงษ์นรินทร์สักปีหนึ่งสองปี ดูก็ไม่น่าจะฆ่าเสีย เพราะอายุห่างกันน้อยนัก ในเวลาประสูตร เห็นจะเห็นว่ามีบุญ แผ่นดินจึงไหว ปล่อยคนโทษนั้น จะไม่ใช่เพราะเรื่องประสูตร จะประสมให้เข้ารอยกับปล่อยคนโทษเสวยราชใหม่ด้วย

๓๗ แล้วเสด็จไปตีเมืองนครเสด็จเปนทัพเรือ ทรงพระที่นั่งศรีสักหลาดเข้าปากน้ำเมืองนคร ณวัน ๑๐ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลูเอกศก

๓๗ เสด็จตีเมืองนครศรีธรรมราชนี้เพราะกองทัพส่งออกไปตีไม่ได้ ถอยเข้ามาอยู่ไชยา เสด็จด้วยเรือพายนั้นอยู่ข้างจะแขงมาก

๓๘ เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาอภัยราชา เจ้าพระยาดาฤทธิรงค์ ยกทางสถลมารคสามทัพ ไม่ทันเสด็จ เข้าเมืองได้แล้วเปนวัน (หนึ่ง) ทรงพระพิโรธ คาดโทษให้ตามเจ้านครที่หนีไปอยู่เมืองจะหนะ

๓๘ แม่ทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยายมราช, ตรงกัน เจ้าพระยาอไภยราชา น่าจะเปนคนเดียวกับพิไชยราชา แต่เจ้าพระยาดาฤทธิรงค์, ไม่เคยได้ยินเลย ถ้าจะเดาให้ค่อยเปนภาษาคนขึ้น ก็จะเปนนราฤทธิรงค์ แต่ชื่อนี้ไม่เคยมี มีอิกชื่อก็แต่เจ้าพระยาจักรกรี เปนแม่ทัพเรือ พระยาเพ็ชร์บุรี, พระยาศรีพิพัฒน์, ตายในที่รบเมื่อคราวแรก เห็นจะไม่เอามาหลงเปนดาฤทธิรงค์ได้ทั้ง ๓ คน

๓๙. พระฤทธิ์เทวาเจ้าเมือง รู้ว่ากองทัพยกติดตาม (มา) กลัวพระบารมีส่งตัวเจ้านครกับพวกพ้องพงษ์พันธุ์ ทั้งลครผู้หญิงเครื่องประดับเงินทองราชทรัพย์สิ่งของส่งถวายมาพร้อม เสด็จลงมาสมโภชพระบรมธาตุมีลครผู้หญิง แล้วให้แห่สระสนาน ๓ วัน เสด็จอยู่นานจนจีนนายสำเภาเอาของปากสำเภามาถวาย

๓๙ ในหนังสือฉบับนี้ ว่าเจ้านครหนีไปอยู่เมืองจะนะ ในพงษาวดารว่าเทพา ให้ลงไปตามที่เทพา จำหน่ายว่าหนีไปตานี แต่ชื่อพระฤทธิ์เทวา สมเปนเจ้าเมืองเทพา ซึ่งเดี๋ยวนี้เปลี่ยนเปนดำรงเทวฤทธิ์ มีจดหมายไว้ในปูมว่าที่เมืองนครศรีธรรมราชพระสงฆ์ลุยไฟ

๔๐ จึงให้เจ้าดาราสุริย์วงษ์อยู่กินเมือง เสด็จกลับมากรุงธนบุรี

๔๐ เจ้าดาราสุริวงษ์นั้น เปนธรรมเนียมที่สำหรับคนเรียกไม่ถูก เช่น กรมนรา, พระยานรา, เรียกว่ากรมดารา, พระยาดารา ทั้งนั้น ที่แท้ก็ตรงกับพงษาวดาร คือเจ้านราสุริวงษ์ เจ้านรานี้มียศเปนพระเจ้า ตั้งเสนาบดีได้

๔๑. นางห้ามประสูตรเจ้า ท่านสงไสยว่าเรียกหนเดียวมิใช่ลูกท่าน รับสั่งให้หาภรรยาขุนนางเข้าไปถาม ได้พยานคนหนึ่งว่าผัวไปหาหนเดียวมีบุตร จึงถามเจ้าตัวว่าท้องกับใคร (ทูล) ว่าท้องกับเจ๊ก เฆี่ยนสิ้นชีวิตรในฝีหวาย

๔๑ เรื่องนางห้ามประสูตรเจ้า นางห้ามคนนี้เห็นจะไม่ได้ตามเสด็จจึงได้ทรงสงไสย คำให้การอยู่ข้างจะขันอยู่หน่อยจึงต้องถูกเฆี่ยนถึงตาย

๔๒. แต่เจ้าเล็กนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกาเอาไปเลี้ยงไว้

๔๒ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกาในที่นี้, น่าสงไสย จะว่าใช้เรียกกรมพระเทพามาตย์ก็มิใช่ ด้วยเรียกกรมพระเทพามาตย์ตรง ๆ ก็มี จะว่าเจ้าฮั่น, แกก็เปนน้า เชื้อวงษ์ผู้ใหญ่เจ้ากรุงธนบุรีมีอยู่ไม่ปรากฎในพงษาวดารเล่มใหญ่อิก ๒ คน คือกรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่ใช่เจ้าจุ้ยลูกเธอ ซึ่งจะได้วินิจฉัยในที่อื่น ดูเปนพระญาติวงษ์สำคัญอยู่เพราะอัษฐิอยู่ในวัง อิกคนหนึ่งก็เจ้าแสง สังเกตดูว่าจะเปนคนแก่ น่าจะเปนบิดาเจ้าเสงฤๅเจ้านราสุริวงษ์ด้วย แต่จะสันนิษฐานว่าเจ้า ๒ คนที่ไม่มีชื่ออยู่ในพงษาวดารนี้ก็ขัดข้องอยู่หนักหนา ด้วยกรมหลวงนรินทรเทวีท่านเรียก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกา น่ากลัวจะหมายความว่าพระพุทธยอดฟ้า แต่ความมันฝืน ๆ อยู่กับที่หมายเลข ๕๐ ต่อไปข้างน่า รอไว้พิจารณาในที่นั้น

๔๓ ปีขานโทศก ไปตีเมืองสวางค์บุรี พระฝางมีช้างเผือกลูกบ้านออกยังไม่จับหญ้า รู้ว่าทัพเมืองใต้ยกขึ้นไปจะรบเอาช้างเผือก จึงเสี่ยง (ทาย) หญ้า ว่าช้างนี้คู่บุญเมืองเหนือ ให้รับหญ้าเมืองเหนือ คู่บุญเมืองใต้ให้รับหญ้าเมืองใต้ (ช้าง) รับหญ้าเมืองใต้ พอทัพถึงเข้าตีได้เมือง พระฝางพาช้างหนี ติดตามไปพบช้างอยู่ชายป่าแม่น้ำมืดได้มาถวาย รับสั่งให้สมโภชนางพระยาแล้ว ให้รับลครผู้หญิงขึ้นไปสมโภชพระฝาง ๗ วัน แล้วเสด็จไปเหยียบเมืองพิศณุโลกย์ สมโภชพระชินราชพระชินศรี ๗ วัน มีลครผู้หญิงเสร็จแล้ว

๔๓ ตอนนี้, ว่าถูกต้องชัดเจนดีนัก กลับได้ความชัดออกไปว่าไปได้ช้างเผือกจากน้ำมืด

๔๔ แล้วเสด็จกลับมาที่หาดสูง เสด็จทรงพลายแหวน ประหารชีวิตรผู้ทำผิดคิดมิชอบเสร็จแล้ว

๔๔ เสด็จกลับมาที่หาดสูง ประหารชีวิตร์ผู้ทำผิดคิดมิชอบนั้น คงหมายความว่าเรื่องให้พระพิสูทธ์ดำน้ำที่มีในพงษาวดาร

๔๕ ให้พลายแหวนเปนพระยาปราบ พังหมอนแม่นมนางพระยาแล้วเสด็จกลับมากรุง

๔๕ แม่นมนางพระยานี่ผู้คัดเขียนเกินไปเปนแน่ พังหมอนคงไม่ได้เปนแม่นมใคร คงจะเรียกแต่แม่นางพระยาเท่านั้น

๔๖ ณปีเถาะ ไปตีกัมพูชาพุทไธมาศก็ได้ เสร็จกัมพูชา ให้องค์รามอยู่กินเมือง

๔๖ ตีเมืองกัมพูชาให้นักองค์รามครั้งนี้เปนครั้งที่สอง ครั้งแรกยกพร้อมกันกับเสด็จไปเมืองนคร แต่เลิกทัพกลับเข้ามาเสีย ด้วยมีข่าวฦๅว่า เจ้ากรุงธนเสียทัพที่เมืองนคร ยกไปคราวนี้ไปทั้งทัพบกทัพเรือ ทัพบกไปทางเสียมราฐ ตีเมืองประทายเพ็ชร์ได้ ทัพเรือเจ้ากรุงธนเสด็จเอง ไปตีเมืองพุทไธมาศก่อน ได้เมืองให้พระยาพิพิธอยู่รักษา เสด็จยกขึ้นไปตีเมืองเขมร ไปถึงพนมเปญ นักองค์พระอุไทยราชา หนีทัพบกไปก่อนแล้ว จึงตั้งนักองค์รามเปนเจ้ากรุงกัมพูชา

๔๗ พุทไธมาศให้พระยาพิพิธว่าราชการ เปนพระยาราชาเศรษฐี

๔๗ ให้พระพิพิธเปนพระยาราชาเสรษฐี ได้ความว่า พระยาราชาเสรษฐีคนนี้เปนเจ๊ก ภายหลังพระยาราชาเสรษฐีญวนกลับเข้ามาตีคืนได้ พระยาราชาเศรษฐีจีนไปได้กำลังเมืองกำปอช กลับมาตีคืนได้อิก เห็นว่าเมืองพุทไธมาศล่อแหลมจึงให้เลิกครัวกลับเข้ามาเสียกรุงเทพ ฯ พระยาราชาเสรษฐีญวนก็กลับมาอยู่เมืองพุทไธมาศต่อไปใหม่

๔๘. ได้เจ้าน่ำก๊กเล่าเอี๋ย

๔๘ ที่ว่าได้เจ้าน่ำก๊กเล่าเอี๋ยนั้นหมายความว่าองเชียงซุน เดิมก็ไม่นึกจะอธิบายอไร เพราะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ไว้มีอยู่แล้ว แต่ครั้นอ่านเข้าดูเห็นความมันแตกต่างกันไป จึงนึกว่าจะเก็บเรื่องเมืองญวนลงไว้ดูเล่นสักทีหนึ่ง ผลแห่งการที่สอบสวนนั้นได้เช่นนี้

ในพงษาวดารเก่า ซึ่งควรจะเข้าใจว่า จดลงไว้ตามคำให้การขององเชียงสือ เริ่มความเพียงเวลาองเหี่ยวหูเบืองเปนเจ้าเมืองเว้ จนถึงองเชียงสือเปนเจ้าเมืองไซ่ง่อน

พงษาวดารรัตนโกสินทร์ อ้างว่าเปนพงษาวดารที่องเชียงสือประชุมผู้หลักผู้ใหญ่ข้างญวนที่มาด้วย เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ตามพระราชโองการ

เรื่องราวทั้ง ๒ ฉบับนี้ ข้อความลงกัน เปนแต่ยาวแลสั้นตามที่กล่าวกว้างฤๅกล่าวแคบ เชื้อสายองเชียงสือที่ได้จากหนังสือ ๒ ฉบับนี้ ดังที่ได้เขียนโยงลำดับมา เพื่อจะให้เข้าใจง่าย

มีสมุดพงษาวดารญวน ซึ่งว่านายหยองแปลขึ้นใหม่ เร็ว ๆ นี้อิกเล่มหนึ่ง ลองสอบดู ข้อความล้มละลายหายไปในโวหารของผู้แต่ง ซึ่งมิใช่นายหยองแต่งเอง พยายามจะให้เหมือนหนังสือจีนอันเปนหนังสืออ่านเล่น มิใช่พงษาวดาร เพลินไปละลายหายเสียเหลือที่จะเข้าใจว่ากระไร จึงได้คัดทิ้งลงไว้ในนี้ทั้งดุ้น สำหรับผู้มีปัญญาจะพิจารณาเห็นประการใดก็ตาม แต่ได้ตัดข้อความซึ่งไม่มีใจความในนั้น พูดให้ดังครึคระนั้นเสีย ๔ บันทัด ในที่ซึ่งหมายดอกจันท์เรียงเปนแถวไว้นั้น เพราะเปลืองกระดาษ

“พระเจ้าเหงวียงท้ายโต๋กาวว่างเด๊ตั้งตัวเปนกระษัตริย์ต่อวงษ์ตระกูลลงมาคือ พระเจ้าเฮี้ยววังว่างเด๊ ๑ พระเจ้าเฮี้ยวเจียวว่างเด๊ ๑ พระเจ้าเฮี้ยวตงว่างเด๊ ๑ พระเจ้าเฮี้ยวหวอว่างเด๊ ๑ พระเจ้าเฮี้ยวเหง่ตงว่างเด๊ ๑ รวม ๘ พระองค์ นับเปนปีได้ ๒๐๐ ปีเศษ” ****************

“พระเจ้าเฮี้ยวหวอเด๊ มีพระราชบุตรที่ ๒ คือพระเจ้าเฮี้ยวคางว่างเด๊ พระราชโอรสที่ ๙ คือท้ายตื้อเหี่ยว ๆ อยู่ในยศมีนามยี่ห้อว่าเตวียวเวือง พระราชโอรสที่ ๑๖ ของพระเจ้าเฮี้ยวหวอว่างเด๊ คือพระเจ้าเฮี้ยวเหง่ว่างเด๊ พระราชโอรสที่ ๑๘ คือตงเทิกทัง ๆ อยู่ในยศมียี่ห้อว่าทุกเจื๋องเกอกุ่นกง มาภายหลังเลื่อนยศขึ้นมียี่ห้อว่าเทือกล็องกงท้ายตื๋อเหี่ยว มีพระราชบุตรองค์หนึ่งมีนามว่าเตรื้อง ๆ อยู่ในตำแหน่งยศว่าเตงจิ๊นเวือง”

“พระเจ้าเฮี้ยวคางว่างเด๊มีว่างโหว่ มีนามว่านางเหงวี่งถี่คางว่างโหว่ มีราชบุตรหลายองค์ นับแต่องเทียนสือนั้นเปนพระราชบุตรที่สาม องเทียนสือเกิดในปีมเมียในรัชกาลพระเจ้าเลเฮี้ยวตงว่างเด๊ เปนปีที่ ๒๓ ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าเขียนหลงฮ่องเต๊กรุงจีนเปนปีที่ ๒๗ ตรงกันกับจุลศักราช ๑๑๒๔ องเทียนสือมีพระนาม ๓ พระนาม คือเหงีวงเพือกเหวียน ๑ เหงวีงเพือกบ็อก ๑ เหงี่วงเพือกอั๋น ๑”

ข้าพเจ้าไม่เข้าใจชัดเจน ว่าเรื่องที่เล่ามานี้ว่ากระไร บางทีจะเอาชื่อเมื่อเวลาลูกเปนเจ้าแผ่นดินแล้วหองให้พ่อมานับว่าเปนเจ้าแผ่นดินโดยความไม่รู้ จึงไม่สามารถจะอธิบายได้

ส่วนท้องเรื่องที่กล่าวในหนังสือที่เรียกว่าพงษาวดารญวนนี้ กล่าวถึงแต่เจ้าแผ่นดินคนหนึ่ง กับองเทียนสือพระราชนัดดา เจ้านายอื่น ๆ ดูไม่มีผู้ใดมีชื่อเสียงอันใด นอกจากที่ว่าพระวงษานุวงษ์แตกกระจุยกระจายกันไป เมื่อขบถยกมาถึง เจ้าแผ่นดินกับองเทียนสือก็ยกลงมาตั้งเมืองไซ่ง่อน สู้รบด้วยข้าสึกศัตรูกันอยู่สองคนเท่านั้น เต็มไปด้วยเรื่องสามเพลงตกม้าตายอย่างหนังสืออ่านเล่นพอให้สบาย ๆ ปาก ไม่ใช่พงษาวดาร ถ้าจะไปเที่ยวงมหาท้องเรื่องพงษาวดารในหนังสือนี้เปนงมเข็มในพระมหาสมุท อันประกอบไปด้วยละลอกแห่งสำนวนไพเราะต่าง ๆ จึงของดไว้เสียที

ว่าด้วยท้องเรื่องที่ได้จากจดหมายองเชียงสือแต่งเองนั้น มีข้อความโดยย่อดังนี้

ราชธานีของประเทศอานาม ได้อยู่ในประเทศตังเกี๋ยสืบมาแต่โบราณ ในครั้งวงษ์กิม เจ้าแผ่นดินที่ ๖ ชื่อหุงเมืองกรุงจีนให้แม่ทัพชื่อเลียวทางมาตีได้เมืองตังเกี๋ย แล้วเปนเจ้าเมืองต่อมา เกิดผู้มีบุญ ชื่อเลเลย เทวดามาบอกให้ดวงตราแลกระบี่ กับว่าเวียนกรายจะได้เปนอุปราช เมื่อตามหาพบกันแล้ว ช่วยกันซ่องสุมผู้คนเปนขบถจับเจ้าเมืองตังเกี๋ยฆ่าเสีย เลเลยตั้งตัวเปนเจ้าแผ่นดิน เวียนกรายเปนอุปราช เวียนกรายมีบุตร ๒ คน เปนหญิงคน ๑ เปนชายคน ๑ ชื่อจัวเตียน บุตรหญิงนั้นเปนภรรยาตินเกียม ครั้นเวียนกรายชราลาออกจากตำแหน่ง ขอให้บุตรเขยว่าที่อุปราชไปกว่าบุตรชายจะโต บุตรเขยคิดประทุษฐร้ายจัวเตียนน้องภรรยา จัวเตียนทราบแกล้งทำเปนบ้า พี่เขยจึงไปทูลเจ้าแผ่นดิน ขอให้เนรเทศจัวเตียนเสีย จึงได้ส่งมาไว้ที่ป่าแห่งหนึ่ง ชื่อโอจัวเปนที่สำหรับปล่อยคนโทษ มีเขาวงหนทางเข้าออกยาก จัวเตียนเกลี้ยกล่อมผู้คนสร้างเมืองขึ้น จึงได้ชื่อว่าเมืองเว้

ครั้นตินเกียมรู้จึงให้ยกกองทัพมาจับ จัวเตียนกลัวจะเปนศึกยืดยาวไปจึงยอมอ่อนน้อมเปนเมืองขึ้น ก็ได้เปนเจ้าเมืองสืบตระกูลมา ๖ ชั่ว ๆ ที่ ๖ จึงได้แขงเมืองไม่ไปขึ้นตังเกี๋ย เมืองตังเกี๋ยมาตีหลายครั้งไม่ได้ ก็เปนเอกราชมาหลายปี จนถึงองเฮียวฮูเวียงเจ้าเมืองที่ ๖ นั้นตาย เพราะเหตุที่บุตรใหญ่ ๒ คนตายไปเสียก่อน องกวักพอขุนนางผู้ใหญ่ จึงยกองเทิงกวางบุตรที่ ๓ ขึ้นเปนเจ้าเมืองเว้ องกวักพอเปนผู้สำเร็จราชการ ราษฎรไม่พอใจบ้านเมืองเกิดจลาจลต่าง ๆ

จึงมีอ้ายยาก อ้ายบาย อ้ายดาม ๓ คนพี่น้องได้ฝังศพบิดาในที่หองซุ้ยเปนรูปปากมังกร เมื่อขุดหลุมได้ทอง ๒ ไห จึงได้เอาแจกคนช่วยทุกขยาก เกลี้ยกล่อมผู้คนไว้ได้มาก เมื่อเห็นองเทิงกวางแลองกวักพอ ไม่เอาใจใส่ในราชการ เสพสุราแล้วเล่นงิ้วหลงใหลไป ๓ คนพี่น้องนั้นจึงได้ไปหาเจ้าเมืองกวางหนำเข้าทำราชการมีอำนาจสิทธิ์ขาด ได้เปนองขึ้นทั้ง ๓ คน เห็นว่าราษฎรปลงใจรักใคร่องวางตน ซึ่งเปนลูกองดิกมูลูกชายคนใหญ่ขององเฮียวฮูเวียงเจ้าเมืองเว้คนก่อน จึงได้คิดจะยกองวางตนขึ้นเปนเจ้า ตั้งแขงเมืองกวางหนำอยู่ เจ้าเมืองเว้ให้กองทัพมาก็กลับมาเข้าด้วยองบาย แล้วองบายมีหนังสือไปเมืองตังเกี๋ยขอกองทัพมาช่วย เจ้าเมืองตังเกี๋ยให้องกวักเหลา คุมกองทัพมาพร้อมด้วยองบาย ยกเข้าตีเมืองเว้คนละด้าน องเทิงกวางเจ้าเมืองพาองเชียงซุนน้องชายกับองยาบา องเชียงสือ องหมัน หลาน ๓ คนหนีมาอยู่เมืองไซ่ง่อน แต่องวางตนไม่หนี เพราะรู้ข่าวว่าเขาจะยกตัวเปนเจ้า แต่ครั้นเมื่อได้เมืองแล้ว องทั้ง ๓ กลับพาองวางตนไปไว้เสียเมืองกุยเยิน องทางน้องที่ ๕ แม่ทัพเมืองตังเกี๋ยจับไป องวางตนรู้สึกตัวว่าจะต้องเปนเจว็ด จึงได้หนีลงมาหาองเทิงกวางที่เมืองไซ่ง่อน องเทิงกวางคิดจะยกองวางตนขึ้นเปนเจ้า ก็พอกองทัพองทั้ง ๓ นั้นมาตีได้เมืองไซ่ง่อนจับองเทิงกวาง องวางตนได้ให้ฆ่าเสีย องเชียงซุนหนีมาอยู่เมืองประทายมาศ องเชียงซุนมีบุตรชายชื่อองกลัก บุตรหญิงชื่อมูเซไทยเรียกว่าโกเงิน เจ้ากรุงธนยกทัพออกไปตีจึงได้ตัวมาไว้ในกรุงธน องยาบา องเชียงสือ องหมัน หลบหนีอยู่ในป่า พวกองทั้ง ๓ จับได้องยาบา องหมันฆ่าเสีย รอดไปแต่องเชียงสือ องยากตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าเรียกว่าไกเซิน ไปอยู่เมืองกุยเยินยกขึ้นเปนเมืองหลวง จึงตั้งองบายน้องคนกลางเปนอุปราชฝ่ายน่า ชื่อบากบินเยืองอยู่เมืองไซ่ง่อน ตั้งองดามน้องน้อยเปนอุปราชฝ่ายหลัง ไปอยู่เมืองเว้ เมืองตังเกี๋ยกับองทั้ง ๓ นี้บาดหมางกัน เหตุด้วยถูกหลอกว่าจะยกองวางตนขึ้นเปนเจ้า องลองเยืองจึงคิดไปตีเมืองตังเกี๋ย ได้เมืองตังเกี๋ยเจ้าเมืองรากเลือดตาย อุปราชเชือดคอตาย องลองเยืองตั้งให้องเจียวทงหลานเจ้าเมืองตังเกี๋ยเปนเจ้าเมือง องเจียวทงมีหนังสือไปขอกองทัพเมืองจีน จ๋งต๊กกวางตุ้งเปนแม่ทัพมา องลองเยืองตีทัพจีนแตกไป องเจียวทงก็หนีไปอยู่เมืองจีน องลองเยืองจึงตั้งให้องกะวี บุตรเปนเจ้าเมืองตังเกี๋ย องลองเยืองกลับไปอยู่เมืองเว้ ครั้นเมื่อตายลงขุนนางจึงยกองกลักบุตรที่ ๒ ขึ้นเปนเจ้าเมืองเว้

ฝ่ายองเชียงสือหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าได้ ๓ ปี พวกญวนชาวป่ารู้ว่าเปนเชื้อวงษ์เจ้าก็ช่วยทนุบำรุง มีจีนทัดคนหนึ่งคิดอ่านเกลี้ยกล่อมพวกญวนจีนในเมืองไซ่ง่อน ได้มากแล้วก็เข้าปล้นเมืองไซ่ง่อน องบายซึ่งเปนบาบินเยือง หนีไปเมืองกุยเยิน จีนทัดจึงตั้งตัวเปนองกงเซิน แล้วให้ไปเชิญองเชียงสือเข้ามาเปนเจ้าเมือง องเชียงสือตั้งให้จีนทัดเปนองเทืองกง แล้วกลับเคลือบแคลง องเชียงสือทำเปนป่วย องเทืองกงมาเยี่ยมเอายาพิศม์มาจะให้กิน องเชียงสือทดลองดูเห็นว่าเปนยาพิศม์ จึงจับองเทืองกงฆ่าเสีย แล้วคิดจะฆ่าพวกจีนซึ่งเปนพรรคพวกอยู่ในเมืองไซ่ง่อนเสีย จีนแจ จีนเล็ก ลูกค้าห้ามไว้ องเชียงสือเห็นชอบด้วย ก็ให้งดเสีย ไม่ช้าทัพพวกไตเซินก็ยกมาตีเมืองไซ่ง่อน องเชียงสือเห็นว่าจะไว้ใจคนในเมืองไม่ได้เปนสองกังวลอยู่ จึงได้คิดจะหนีเข้ามากรุงเทพ ฯ ไว้คิดการต่อไป จึงได้ลงเรือทเลหนีออกทางปากน้ำสมิถ่อ มาถึงเกาะกระบือ พบพระยาชลบุรี พระยารยอง จึงได้ชวนเข้ามาเฝ้า สิ้นข้อความที่องเชียงสือจดหมายถวายเท่านี้

๔๙ ขับต้อนครอบครัวเข้ามาเมืองธนบุรี

๔๙ ข้อที่ว่าขับต้อนครอบครัวเข้ามาเมืองธนบุรีในครั้งนี้อิก คงจะเปนครัวสมัคพรรคพวกขององเชียงซุน แลพระยาราชาเสรษฐีญวน พระยาราชาเสรษฐีนี้ที่ตั้งบ้านอยู่ฟากตวันออกกรุงธน ซึ่งยกเปนพระบรมมหาราชวัง

๕๐ ประทมอยู่ แว่วเสียงลูกอ่อนร้องที่ข้างน่า กริ้วว่าลูกมันหาเอาไปกับแม่มันไม่ ยังจะทำพันธุ์ไว้อิก สมเด็จพระไอยกาทราบทรงพระดำริห์รแวงผิด

๕๐ คราวนี้รื้อเรื่องเจ้าเล็ก ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระไอยกาเอาไปเลี้ยงไว้ ว่าบรรธมอยู่แว่วเสียงลูกอ่อนร้องที่ข้างน่า ถ้าหากว่าสมเด็จพระไอยกาองค์นี้ จะเรียกพระพุทธยอดฟ้าตามที่เรียกมาในหนังสือนี้ เหตุไฉนจึงเข้าไปอยู่ในวังใกล้จนเด็กอ่อนร้องได้ยินถึงพระกรรณ แต่เปนแน่ว่าไม่ใช่กรมพระเทพามาตย์ฤๅเจ้านายผู้หญิง เพราะได้ยินเสียงเด็กนี้ทางข้างน่า เปนข้อที่ควรจะได้พิจารณาต่อไป

๕๑. จึงส่งให้เจ้าวังนอก ว่าสุดแต่เธอ (เธอ) ก็ทำตามกระแสรับสั่ง สำเร็จโทษเสีย

๕๑ เจ้าวังนอกองค์นี้, จะเปนใคร เชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี ที่เปนชายมีชื่อในพงษาวดาร หลานเธอชั้นใหญ่ ๓ คือที่ ๑ เจ้านราสุริวงษ์ซึ่งไปครองเมืองนคร ที่ ๒ เจ้าบุญมี เปนเจ้ารามลักษณ์ ที่ ๓ เจ้าประทุมไพจิตร ตั้งชั้นแรก ยังเหลือเจ้าจุ้ย, ลูกเธอ เจ้าเสง, เจ้าบุญจันท์, หลานเธอ นับว่าเปนชั้นเด็ก ภายหลังเมื่อตั้งเจ้าจุ้ยเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ จึงตั้งเจ้ารามลักษณ์เปนกรมขุนอนุรักษ์สงคราม เจ้าบุญจันท์เปนกรมขุนรามภูเบศร์ เจ้านราสุริวงษ์กับเจ้าเสงตาย, ในพงษาวดารกล่าวเหมือนเผาศพพร้อมกัน เจ้าประทุมไพจิตรยังอยู่จนตั้งเจ้านคร มีชื่อในบานแพนกแต่ไม่ได้เปนกรม

มีเจ้าอิก ๒ คนที่ปรากฎในร่างหมายการศพคือกรมขุนอินทรพิทักษ์ แลเจ้าแสง เวลานิ้คงจะยังมีชีวิตรอยู่ทั้ง ๒ คนแลคงจะอยู่ในกรุงธน แต่เหตุไฉนชื่อเสียงจึงได้ลี้ลับอับอั้น เจ้าแสงนั้นปรากฎว่าอยู่นอกวัง แต่ทีจะเปนคนแก่ เพราะเปนบิดาเจ้าเสง จะไม่ใช่เปนผู้ที่สำหรับจะลงโทษฆ่าผู้ฟันคนได้ จะว่ากรมขุนอินทรพิทักษ์ก็ชอบกลอยู่ ดูเหมือนว่ากรมขุนอินทรพิทักษ์นี้มี ๒ คราว แรกไม่ได้เปนเจ้าฟ้า แลตายในปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ ภายหลังกรมพระเทพามาตย์ปีหนึ่ง เผาเมรุเดียวกับเจ้านราสุริวงษ์แต่เผาก่อน เจ้าเสงเผาต่อปีรกานพศก คนละปีกันกับเจ้านราสุริวงษ์ ความข้อนี้ปรากฎว่าพงษาวดารผิดเปนแน่ เพราะได้ร่างหมายกำหนดวันคืนเปนสำคัญ

ส่วนเจ้าจุ้ยที่ในพงษาวดารว่าเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ ก็ได้พยานในสารตราแลกฎตั้งเจ้านครศรีธรรมราช ว่าเปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ จะตั้งชื่อเดียวซ้ำกันเปน ๒ หนฤๅอย่างไร ถ้าจะว่าด้วยในเหตุที่เปนผู้ฆ่าเจ้าเล็กนี้แล้ว ไม่ใช่กรมขุนอินทรพิทักษ์ที่เปนเจ้าฟ้า ถ้าหากว่าถ้าจะเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ที่ไม่ใช่เจ้าฟ้า ว่าโดยกาลเวลาก็สมควรที่จะเปนเจ้าวังนอกได้ แต่ถ้าเปนเจ้าที่มีอำนาจอยู่บ้าง น่าที่พงษาวดารจะไม่ลืม นี่พงษาวดารช่างลืมเสียจริง ๆ จึงให้เห็นไปว่าคำที่เรียกเจ้าวังนอกนี้ เห็นจะเปนเจ้ารามลักษณ์ ซึ่งเปนคนเข้มแขงกว่าเพื่อน ทำศึกสงครามใช้สอยการสำคัญ เห็นจะไม่ผิดตัว

๕๒. ปีมโรงมะตะมะแตก พระยาเจ่งพาครัวหนีมาพึ่งพระบารมี

๕๒ ตอนนี้คลาศกับพงษาวดาร ในพงษาวดารลงไว้ว่า จุลศักราช ๑๑๓๖ ปีมเมียฉศก มังระเจ้าแผ่นดินพม่าทราบว่าเมืองไทยกลับฟื้นตัวขึ้น จึงให้ลงมาเกณฑ์มอญเมืองเมาะตมะ ตั้งค่ายปลูกยุ้งฉางที่ท่าดินแดงสามสบ เกณฑ์มอญขนลำเลียงผ่อนขึ้นมา แต่เจ้าเมืองเมาะตมะเก็บเงินทองแก่พวกครัวรามัญ พลเมืองได้ความเดือดร้อนนักเปนขบถ ยกตีขึ้นไปได้เมืองจิตตอง เมืองหงษา ไปล้อมเมืองย่างกุ้งไว้ เจ้าอังวะจึงให้อแซวุ่นกี้มาตีพวกมอญแตกกลับลงมา พวกมอญจึงได้หนีเข้ามาเมืองเรา แยกกันเปนหลายพวก มอญคราวนี้ คือมอญพวกพระยาเจ่ง

๕๓. พระยาจ่าบ้านแขงเมืองอยู่ไม่ลงมา เสด็จขึ้นไปตีไม่ได้ ถอยล่าทัพยั้งอยู่เมืองเนิน (เถิน)

๕๓ จดหมายระยะนี้อยู่ข้างจะยุ่งมาก ตีเชียงใหม่ครั้งแรก ซึ่งไม่ได้เมืองถอยลงมาอยู่เมืองเถิน อันเสมียนเขียนผิดว่าเมืองเนินนั้น ตั้งแต่ปีขานโทศก จุลศักราช ๑๑๓๒

๕๔ รื้อกลับขึ้นไปตีเชียงใหม่ กลับลงมาณปลายปี พม่ายกไล่หลังมา ๕ ทางล้วนเปนทัพหมื่น แต่สู้รบกันอยู่เปน ๓ ปีเสียพิศณุโลกย์ กลับขุดอุโมงค์เข้าไปตีค่ายพม่าแตกออกจากค่าย รื้อตั้งล้อมกลางแปลง จับได้พม่าแม่ทัพใหญ่ได้พม่าหลายหมื่น พม่าแตกเลิกทัพไป

๕๔ ราชการศึกพม่าในปีมเสง, มเมีย, มแม, ๓ ปีนี้ เปนการเหลือที่ท่านจะจดจำจริง ๆ ตั้งแต่เสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งแรกไม่ได้ โปสุพลาซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ ยกลงมาตีเมืองลับแลแล้วมาตีเมืองพิไชย เจ้าพระยาสุรสีห์แลพระยาพิไชยขึ้นไปรบพม่าแตกไปถึง ๒ ครั้ง จึงได้เสด็จยกขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ เพราะถ้าโปสุพลายังคงตั้งอยู่เชียงใหม่ ก็คงลงมากวนพระราชอาณาเขตรอยู่เช่นนั้นเสมอไป เปนเวลาประจวบกันกับที่ข้างฝ่ายพม่าคิดจะมาตีกรุงสยาม ให้มาเกณฑ์มอญเมาะตมะทำทาง แลปลูกยุ้งฉางที่ท่าดินแดงสามสบ มอญเปนขบถพม่าจะลงโทษ แตกหนีเข้ามาในพระราชอาณาเขตร ทัพหลวงยกขึ้นไปตีเชียงใหม่จุลศักราช ๑๑๓๖ ทัพน่าเจ้าพระยาจักรกรีถึงเมืองเถิน ทัพหลวงตั้งกำแพงเพ็ชร์ ก็ได้ข่าวพม่าตามครัวมอญมาทางเมืองตาก ๒,๐๐๐ รับสั่งให้เจ้ารามลักษณ์คุมคน ๑,๘๐๐ ไปตั้งรับไว้ ทัพหลวงยกขึ้นไปตีเชียงใหม่ ได้เมื่อวัน ๑ ๑๔ ๒ ค่ำ พอถึงแรม ๔ ค่ำก็เสด็จกลับ ด้วยได้ข่าวพม่าเข้ามาทางแม่ลเมา ลงมาถึงรแหง ได้ข่าวงุยอคุงหวุ่นกองน่าคน ๕,๐๐๐ ตแคงมรหน่องกองหนุนคน ๓,๐๐๐ ตีทัพซึ่งให้ไปขัดอยู่ท่าดินแดงแตก พม่าเข้ามาลาดถึงเมืองนครไชยศรี มีค่ายใหญ่ตั้งอยู่ปากแพรกค่ายหนึ่ง บ้านบางนางแก้วเมืองราชบุรีค่ายหนึ่ง รีบเสด็จกลับลงมา ยกออกไปรับทางราชบุรี ทั้งในขณะนั้นก็ได้ข่าวพม่าทางมฤทตีบ้านทับสะแก อาการกิริยาของพม่าที่ยกเข้ามาคราวนี้ ลักษณคล้ายกันกับมาตีกรุงเมื่อครั้งเสียกรุง แยกกันตั้งกองใหญ่อยู่ แล้วแต่งกองเล็ก ๆ ออกเที่ยวลาดตีตามตำบลบ้านแลเมืองต่าง ๆ ทัพหลวงออกไปตั้งล้อมพม่าบ้านบางนางแก้วอยู่ช้านาน งุยอคุงหวุ่น จึงได้ออกยอมแพ้ ข้อที่ท่านลงไว้ในจดหมายว่า จับได้พม่าแม่ทัพใหญ่ แลได้พม่าหลายหมื่น ก็คืองุยอคุงหวุ่นแลพม่าบางนางแก้วนี้ แลแต่งกองทัพไปตีค่ายปากแพรกแลเขาชงุ้มแตก ในเดือน ๔ ปีมเมียนั้น ครั้นเดือน ๑๐ มีข่าวโปสุพลาจะมาตีเมืองเชียงใหม่ เพราะเชียงใหม่ในเวลานี้ข้างเราตีได้ไว้ เจ้าพระยาจักรกรี เจ้าพระยาสุรสีห์ จึงต้องยกขึ้นไปเชียงใหม่ พอถึงพม่าก็ถอย ยกตามออกไปจะตีเชียงแสนซึ่งเปนของพม่า ฝ่ายกองทัพปากแพรกเขาชงุ้มแตกไปหากองทัพใหญ่ อแซวุ่นกี้ซึ่งตั้งอยู่เมาะตมะ อแซวุ่นกี้เห็นว่า กำลังเมืองไทยยังมากเพราะเมืองเหนือยังดีอยู่ จึงรับอาสาเข้ามาตีเมืองเหนือ แมงแยยางูน้องอแซวุ่นกี้เปนทัพน่า คน ๒๐,๐๐๐ อแซวุ่นกี้ตแคงมรหน่อง เจ้าเมืองตองอูคน ๑๕,๐๐๐ กองหนึ่ง ยกเข้ามาทางเมืองตาก ตั้งหน้าจะไปตีพิศณุโลกย์ ยั้งทัพอยู่บางธรณี เจ้าพระยาจักรกรี เจ้าพระยาสุรสีห์ทราบ ถอยทัพลงมาจากเชียงใหม่ถึงศุโขทัย เจ้าพระยาสุรสีห์แยกไปตีพม่าที่บางธรณี เจ้าพระยาจักรกรีมาแต่งเมืองพิศณุโลกย์รับเจ้าพระยาสุรสีห์รับไม่อยู่ถอยเข้าพิศณุโลกย์ พม่ามาตั้งล้อมไว้

ทัพหลวงยกขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ตั้งค่ายให้พระยาราชาเสรษฐีอยู่รักษา ทัพหลวงขึ้นไปตั้งปากพิง ตั้งค่ายรายขึ้นไปทั้ง ๒ ฟากน้ำ จนกระทั่งถึงวัดจุฬามณี วัดจันทร์ พม่าเข้าตีเราะตามค่ายที่ตั้งริมลำน้ำเหล่านั้นทั้ง ๒ ฟาก วิธีรบกันในตอนนี้ พยายามที่จะตั้งโอบหลังกัน ประเดี๋ยวพม่าโอบหลังไทย ประเดี๋ยวไทยโอบหลังพม่า ลงปลายที่สุดพม่าแยกกองทัพ ให้ลงมานครสวรรค์แลอุไทยธานีตัดลำเลียง แล้วยกข้ามฟากไปตั้งโอบหลังทัพหลวงที่ปากพิงฟากตวันออก เห็นการหนักแน่น จึงได้ถอยทัพหลวงลงมาตั้งบางเข้าตอก เสบียงอาหารก็ส่งกันไม่ได้ เจ้าพระยาจักรกรี เจ้าพระยาสุรสีห์รักษาเมืองอยู่ได้ถึง ๓ เดือน จนไม่มีอะไรจะกิน จึงได้อนุญาตให้ทิ้งเมืองยกหักออกมาได้เลยไปตั้งอยู่เพชร์บูรณ์ พเอินจอแจกัน ถ้าพิศณุโลกย์ไม่เสียช้าอยู่ได้อิกหน่อยหนึ่ง อแซวุ่นกี้ก็คงจะต้องถอยทัพ เหตุด้วยมังระเจ้าแผ่นดินพม่าตาย การในเมืองพม่าเกิดหยุกหยิก พอได้เมืองพิศณุโลกย์แล้วอแซวุ่นกี้ก็ถอยทัพทันที การทัพนี้ติดต่อกันมาไม่มีเวลาว่างถึง ๓ ปี ท่านจึงได้จดลงไว้ดังนั้น

๕๕ สมเด็จพระพันปีกรมพระเทพามาตย์ประชวรหนักอยู่แล้ว เสด็จสู่สวรรคาไลย เสด็จมาตั้งเขาวงกฎ โดยสูงแลสุดสายตา ถวายพระเพลิงบนยอดเขาเสร็จ

๕๕ เมื่อกรมพระเทพามาตย์ทิวงคตนั้นปลายปีมเมียฉอศก จุลศักราช ๑๑๓๖ กำลังล้อมค่ายพม่าบ้านบางนางแก้ว ปรากฎว่าประชวรพระยอดอัคเนสัน ทิวงคตในวัน ๓ ๔ ค่ำ ได้พบในจดหมายรายวันทัพ ว่าในวัน ๓ ๔ ค่ำนั้นเอง เจ้ากรุงธนบุรีได้ทราบข่าวประชวรเปนครั้งแรก มีข้อความที่จดไว้ว่า “อนึ่งเพลาย่ำค่ำแล้ว ๕ บาท ขุนวิเศษโอสถหมอ ถือพระอาการทรงพระประชวร สมเด็จพระพันปีหลวงมาถวาย ในพระตำหนักค่ายวัดเขาพระ ครั้นทอดพระเนตรพระอาการแล้ว เร่งให้ขุนวิเศษโอสถกลับไป ถ้าเจ้าคุณเปนเปนเหตุการสิ่งใด ให้เอาหมอจำไว้แล้วริบให้สิ้น แล้วตรัสว่าพระโรคหนักนัก จะมิได้ไปทันเห็นพระองค์ ด้วยการแผ่นดินครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ครั้นจะไปบัดนี้ ไม่เห็นผู้ใดที่จะไว้ใจอยู่ต้านต่อฆ่าศึกได้”

ข้อที่ทราบข่าวทิวงคต จากหลวงมหาแพทย์ที่ออกไปจากกรุงธนบุรีนั้น เปนการภายหลัง หลวงมหาแพทย์เองนี้แกจะมิออกไปเมื่อถูกริบแล้วฤๅ เหตุใดจึงไม่จำไว้ก็ไม่ทราบ บางทีจะอยากทราบพระอาการให้เข้ามาเอาตัวออกไปซัก ครั้นเมื่อพม่าแตกไปหมดแล้ว จึงได้กลับมาทำเมรุที่วัดบางยี่เรือนอก การเมรุครั้งนี้ทำในรดูเดือน ๖ มีร่างหมายรายการพระศพได้ไว้ เมรุนั้นว่าเปนเมรุมณฑปแต่สูงต่ำเท่าใดไม่ปรากฎ ด้านทำพระมณฑปไม่ได้ใช้ตำรวจ เห็นจะใช้ตัวช่าง พระยาราชสุภาวดีด้านหนึ่ง พระเทพพี่เลี้ยงด้านหนึ่ง พระราชสงครามด้านหนึ่ง หลวงศรีกาฬสมุดด้านหนึ่ง ได้ความแต่ว่าสามสร้าง คลังในขวาทำ ๒ ด้าน คลังวิเศษทำ ๒ ด้าน โดยยาวรอบ ๕ เส้น ๑๒ วา ราชวัตรทึบเกณฑ์เจ้ากรมสี่ตำรวจคนละด้าน ๆ ละ๒๒ ผืน จตุสดมภ์ ๔ ด้าน ฉัตรเบญจรงค์ด้านละ ๒ ราชวัตรเลว ๒๒ ร้านน้ำ ๘ เกณฑ์ข้าราชการทำฉัตรเบญจรงค์คนละคันอิกด้านละ ๔ คน

ส่วนราชวัตรฉัตรรายทางเกณฑ์สนมทหารสนมพลเรือนกรมละคัน พระคลังสวน ๒ คลังวิเศษ ๒ เกณฑ์ราชวัตรเลวทั้ง ๔ กรมนี้ด้วย อาษาหกเหล่าทำทิมพระสงฆ์ ๖ ทิม สัสดีซ้ายขวาทำโรงวิเศษ ๖ โรง กรมแพ่งกลางแพ่งเกษมทำโรงศาลาลูกขุนโรงหนึ่ง คลังพิเศษรวมกันทำศาลาฉ้อทานโรงหนึ่ง ขอเฝ้าในกรมทำโรงใส่สังเคต ๒ โรง ตั้งแต่ราชวัตรทึบออกไปถึงที่ตั้งรทาดอกไม้เพลิง ๒ เส้น ๑๕ วา รทาใหญ่สูง ๗ วา ๑๖ รทา แบ่งเกณฑ์จตุสดมภ์กรมละ ๔ รทา โรงโขนใหญ่ ๒ โรง จตุสดมภ์ ๒ คนต่อโรง โรงรำหว่างรทากรมละ ๓ โรง โรงเทพทอง ๒ โรง จตุสดมภ์ ๒ คนต่อโรง ต้นกัลปพฤกษ์กรมละ ๒ ต้น ชักพระศพซึ่งเรียกว่าสมเด็จพระบรมศพ ถึงเมรุวัน ๓ ๖ ค่ำ ณวัน ๕ ๖ ค่ำ ฌาปนกิจ รุ่งขึ้นเพลาเช้าเชิญพระบรมธาตุ (พระอัฐิ) เข้าไปในพระราชวัง เวลาบ่ายพระอังคารลงเรือไปลอยวัดสำเพง งานพระเมรุครั้งนี้เปนรดูฝนเกิดความเลอะเทอะมาก ด้วยเหตุว่าพึ่งจะกลับจากทัพก็รีบทำการเมรุอย่างตลีตลาน ใช้กระดาดน้ำตะกูแทนดิบุก ติดแผงแลแต่งยอดเมรุ ครั้นก่อนวันชักศพเวลากลางคืนฝนตกหนัก ดอกน้ำตะกูร่วงหมด ดอกไม้เพลิงจุดไม่ติดทั้ง ๓ วัน กริ้วว่ามาศก็ของหลวง ดินก็ของหลวง ช่างดอกไม้ทั้งไทยทั้งจีนคิดเอาเงินหลวง จึงให้ลูกขุนปฤกษาว่าจะให้ตามราคาฤๅจะลดลงเสีย ปฤกษากันว่าให้ลดราคาลงเสีย รทาคิดรทาละ ๑๐ บาท หักเสีย ๘ บาทให้แต่กึ่งตำลึง เปนต้น พอเสร็จการศพนี้แล้วหน่อยหนึ่ง ก็เปนเวลาทัพอแซวุ่นกี้ ตีเมืองพระพิศณุโลกย์ การที่รีบร้อนทำศพภายใน ๒ เดือนเช่นนี้ เหตุด้วยเกรงว่าการทัพศึกจะติดพันต่อไป ครั้นเสร็จการทัพอแซวุ่นกี้ เสด็จออกไปบำเพ็ญพระธรรมวัดบางยี่เรือใน เขากำหนดว่าณวัน ๖ ๑๒ ๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก รับสั่งให้จัดการเชิญพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ออกไปบำเพ็ญพระราชกุศลณวัดบางยี่เรือนอก ให้ทำโรงทึมไว้พระอัฐิ เปนพนักงานสัศดีได้ทำ ลงไว้ในจดหมายว่า ครั้งนี้เปนการเร็วอยู่ เห็นมิทันจึงให้เกณฑ์กรมการ เมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร เมืองสรรค์บุรี เมืองกำแพงเพ็ชร์ช่วยทำ พลับพลาข้างในเปนพนักงานสนมตำรวจนอก แต่สนมแลตำรวจนอกต้องไปทำร้านม้ารองโกษฐ์ จึงเกณฑ์ให้กรมการเมืองไชยนาท เมืองสิงคบุรี เมืองอินทบุรี เมืองพรหมบุรีช่วยทำ ตพานเปนน่าที่พนักงานนครบาล ๆ ทำไม่ทัน เกณฑ์กรมการเมืองเพ็ชร์บุรี เมืองอ่างทอง เมืองสุพรรณช่วยทำ แผ้วถางวัดนั้นเกณฑ์ให้กรมการเมืองพิศณุโลกย์ เมืองศุโขทัย เมืองราชบุรี เมืองสระเชิงเทรา กรุง (เก่า) ถางทำงาน ๓ วันเท่านั้น รุ่งขึ้นณวัน ๒ ๑๕ ๒ ค่ำ เพลาเช้าเชิญพระอัฐขึ้นเสลี่ยงงาออกประตูพระราชวังตรงวัดท้ายตลาด มีเครื่องสูงแตรสังข์กลองชนะคู่แห่มาลงเรือที่ตพานประตูใหญ่เหนือโรงฝีพาย

กระบวนเรือ เรือโขมดยาปิดทองทึบ ที่สร้างขึ้นตั้งหีบพระธรรมแห่เมื่อเดือนก่อนนั้น ตั้งมณฑปพระอัฐิ เรือโขมดยาลายใส่เครื่องสูงแห่น่า ๒ ลำ เรือโขมดยาใส่เครื่องสูงแห่หลัง ๑ ลำ เรือสีสักหลาดแตรสังข์ เรือดั้ง ๒ ลำบรรทุกปี่กลองชนะ เกณฑ์เรือกราบข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ๕๒ ลำ เรือแผงเรือมังกุกำนันตลาดนอกเกณฑ์ด้วย ๒๐ ลำ รวมเปนเรือเข้าริ้ว ๗๙ ลำ

ครั้นแห่ไปถึงวัดแล้วโปรดให้แจกเงินผู้ชายคนละสลึงผู้หญิงคนละเฟื้อง รวมทั้งคนที่ทำการแลกระบวนแห่ ผู้ชาย ๒๗๖๐ คน ผู้หญิง ๑๕๖ คน เงิน $\begin{array}{c}๘ \\\begin{array}{c|c} ๑๗&๑\\\hline \quad&๒\\ \end{array}\end{array}$ ฝ่ายกระลาโหมแจก กรมอาษาหกเหล่า ตำรวจแลกรมการหัวเมือง เลขสมของข้าราชการนำเข้าห่อไปถวายพระ รวมกลาโหมแจก ๕๖๒ คน เงิน $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} ๑๕&\\\hline \quad&๒\\ \end{array}\end{array}$ สัสดีแจกทำทิมทำฉัตร รวม ๒๗๘ คน เงิน $\begin{array}{c} \\\begin{array}{c|c} ๑๗&๑\\\hline \quad&๒\\ \end{array}\end{array}$ มหาดไทยเวรคนแจก บ่าวผู้ว่าราชการเมืองถางหญ้า ๓๓๒ คน เงิน $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} ๔&๒\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ มหาดไทยเวรทางแจก ฝีพายแลผู้หญิงเจ้าของเรือมังกุ ๑๕๙๕ คน เงิน $\begin{array}{c}๔ \\\begin{array}{c|c} ๑๔&๓\\\hline \quad&๑\\ \end{array}\end{array}$

จำนวนพระสงฆ์สดัปกรณ์ สดัปกรณ์ในที่นี้ดูเหมือนจะเปนอย่างเก่า ไม่ใช่ให้เงินเฟื้องเงินสลึง ไม่ใช้ไทยทาน แจกเข้าห่อรูปละ ๒ ห่อเท่านั้น กรุงเก่าที่เรียกว่าสบสังวาศหมื่นหนึ่งนั้น อย่าได้เข้าใจว่าอะไร ได้เข้าห่อองค์ละ ๒ ห่อเท่านั้น จำนวนพระสงฆ์ที่มาในงานนี้ ๓๒๓๐ รูป เข้าห่อคิดราคาห่อละเฟื้อง ๒ ห่อเปนสลึง ๑ เงิน $\begin{array}{c}๑๐ \\\begin{array}{c|c} ๑&๓\\\hline \quad&๒\\ \end{array}\end{array}$ เถนเณร ๒๗๓๘ รูป ชี ๑๕๓ รวม ๒๘๙๑ รูป รูปละเฟื้อง คือว่าให้แต่ห่อเดียวเปนเงิน $\begin{array}{c}๔ \\\begin{array}{c|c} ๑๐&๑\\\hline ๑&๑\\ \end{array}\end{array}$ รวมทั้งหมด ๖๑๒๑ เปนเงิน $\begin{array}{c}๑๔ \\\begin{array}{c|c} ๑๒&\\\hline ๑&๓\\ \end{array}\end{array}$ ถูกดีไม่ใช่ฤๅ งานพระอัฐิครั้งนี้ ๔ วัน

๕๖ เจ้าเสง เจ้าดาราอยู่เมืองนครสิ้นพระชนม์ รับพระศพเข้ามาประทานเพลิงวัดบางยี่เรือ มีการสมโภชเสร็จแล้ว

๕๖ เรื่องศพเจ้าเสง เจ้านรานี้ยังไรอยู่ ตามที่ว่าในหนังสือฉบับนี้ เหมือนเจ้าเสงอยู่เมืองนครศรีธรรมราชกับเจ้านราตายลงพร้อมกัน จึงให้รับเข้ามาทั้ง ๒ ศพ ความที่ถูกแท้นั้น เจ้าเสงอยู่กรุงเทพ ฯ ศพได้เผาต่อภายหลัง ในร่างหมายรับสั่งลง วัน ๕ ๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก ปีเดียวกันกับทำบุญพระอัฐิ ทำบุญพระอัฐิเดือนอ้าย การศพเจ้านราสุริวงษ์เดือนยี่ เข้าใจว่าเมรุนั้นเอง แต่ทำเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ เอาเสาเมรุเปนดูกภูเขาแล้วยกพื้นเปนเบ็ญจา หลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้นถึงยอดเมรุตั้งแว่นฟ้าชั้นหนึ่งรองโกษฐ ศพนี้ตั้งกลางแจ้งไม่มีเมรุ เบ็ญจา ๓ ชั้นตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปผูกเปนภูเขา แล้วตั้งกระถางต้นไม้ ๓ รอบ ปักฉัตร์เงินฉัตร์ทองทั้ง ๓ ชั้น ถัดเขา ๓ ชั้นนี้ขึ้นไปเปนร้านม้า ปักเครื่องสูงที่มุมร้านม้าทั้ง ๔ ทิศ จึงถึงแว่นฟ้าตั้งโกษฐ จึงมีราชวัตรทึบ แลราชวัตรเลวตามอย่างงานเมรุทั้งปวง

ความคิดที่ทำเช่นนี้ เหมือนกันกับรัชกาลที่ ๔ เมรุกรมหมื่นวิศณุนารถ เปนจตุรมุขไม่มียอด รื้อเครื่องบนลงเสียวางรอดที่ปลายเสาเมรุ ตั้งพระเมรุน้อยขึ้นบนนั้น ข้างล่างผูกเปนเขา แต่คราวนี้ไม่ได้ทำเปนเบ็ญจาผูกอย่างเขาไกรลาศ เรียกว่าบรมบรรพต ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แลกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ๓ วัน แล้วจึงตั้งศพเจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ แต่เวลาเผาลงมาเผาที่มณฑปเชิงเขาด้านตวันตก ข้างวัดมหาธาตุ แต่ศพที่เจ้ากรุงธนบุรีทำนี้ว่าเผาบนเบ็ญจา ๕ ชั้นนั้นด้วย รูปเบ็ญจา ๕ ชั้นนี้ได้เขียนลงไว้ในตำรา นายด้านผู้ที่ทำเมรุก็ใช้นายด้านเดิมซึ่งได้ออกชื่อมาแต่ก่อนแล้ว ไม่มีอไรทำขึ้นใหม่นอกจากตัวเมรุ

แต่ศพที่เผานั้น เกิดการที่จะต้องวินิจฉัยกันมาก ด้วยตามจดหมายฉบับนี้ ตั้งต้นเริ่มหมายว่าจะพระราชทานเพลิงพระศพในกรมขุนอินทรพิทักษ์ แลพระเจ้านราสุริวงษ์เจ้านครศรีธรรมราช ชื่อกรมขุนอินทรพิทักษ์ตามพงษาวดารกล่าวแต่คนเดียว ว่าพระเจ้าลูกเธอเจ้าจุ้ยเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ ตามหนังสือกรมหลวงนรินทรนี้ ออกชื่อกรมขุนอินทรพิทักษ์ ก็เปนคนเดียวกันกับในพงษาวดาร

แต่ในสารตราที่มีไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช จดไว้ในบานแพนกว่าเฝ้าอยู่ในเวลานั้น เรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ กรมขุนอินทรพิทักษ์จะเปนเจ้าฟ้าก็ตาม มิใช่เจ้าฟ้าก็ตาม มีคนหนึ่งซึ่งต้องถูกเฆี่ยนแลถูกริบ เมื่อทูลแก้แทนภูษามาลาทรงเครื่องไม่หมด ไปทัพก็ได้เคยไป จนในครั้งหลังที่สุด ได้คุมทัพหัวเมืองออกไปกับสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก เจ้ากรุงธนสั่งสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกว่า ได้เมืองเขมรแล้ว ให้เศกกรมขุนอินทรพิทักษ์เปนเจ้ากรุงกัมพูชา ครั้นเมื่อเจ้ากรุงธนบุรีสิ้นวาศนาแล้ว ไพร่พลแตกกระจายทิ้งเสีย จึงได้หนีไปอยู่เขาน้อยจับตัวลงมาได้ ประหารชีวิตรภายหลังเจ้ากรุงธนบุรี มีหลักถานมั่นคงอยู่ดังนี้

ส่วนกรมขุนอินทรพิทักษ์ที่พระราชทานเพลิงนี้ คงจะได้ตายเสียแต่ปีมะแมสัปตศก เปนปีที่ ๗ ในราชสมบัติของเจ้ากรุงธน ก่อนเจ้าจุ้ยเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ เจ้าจุ้ยคงจะได้เปนกรมภายหลังเผาศพกรมขุนอินทรพิทักษ์คนนี้ก่อนตั้งเจ้านคร ถ้าจะคิดสงไสยไปว่าจะเปนคนเดียว หากเรียกเจ้าเสงผิดตัวเปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ไปก็ไม่ได้ เพราะเผาศพเจ้าเสง ก็มีหมายอยู่อิกฉบับหนึ่งเหมือนกัน น่าที่จะมีใครในญาติวงษ์เจ้ากรุงธนบุรีได้เปนกรมขุนอินทรพิทักษ์ก่อนเจ้าจุ้ย เมื่อท่านผู้นั้นตายแลเผาศพแล้วจึงได้ตั้งเจ้าจุ้ยขึ้นเปนเจ้าฟ้า รับเอาขุนอินทรพิทักษ์เจ้ากรมของกรมขุนอินทรพิทักษ์ไปเปนเจ้ากรม จึงได้เรียกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ แต่ไม่ได้ร่องรอยว่าท่านอินทรพิทักษ์คนแรกชื่อไร สังเกตได้แต่ว่าเปนผู้ใหญ่ แลสนิทกับเจ้ากรุงธนบุรี ถึงพระอัฐิเก็บไว้ในวัง เมื่อได้นำให้ผู้อ่านหนังสือรู้จักญาติวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งลี้ลับอับชื่ออยู่เช่นนี้แล้ว จะได้เล่าเรื่องเมรุต่อไป

การเมรุครั้งนี้ลดลงตามบรรดาศักดิ์ คือมีฉัตรนาก ๑๐ ฉัตรทอง ๑๐ ฉัตรเบญจรงค์ ๒๐ ราชวัตรทึบ ๕๐ ราชวัตรเลว ๔๘ โรงพิเศษลดลงเหลือแต่ ๒ โรง ระทา ๘ ระทา โขนโรงใหญ่ ๒ โรง โรงรำฤๅโขนหว่างระทา ๗ โรง เทพทองโรงหนึ่ง ต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น งิ้วโรงหนึ่ง ลครเขมรโรงหนึ่ง รามัญใหม่รำโรงหนึ่ง ลดลงกึ่งงานศพกรมพระเทพามาตย์ทั้งสิ้น

ณวัน ๒ ๓ ค่ำปีวอกอัฐศก ชักศพออกจากพระราชวัง มีคู่แห่ไปลงเรือโขมดยา แห่ไปเข้าเมรุ มีเครื่องเล่นแลดอกไม้เพลิง ๗ วัน ๗ คืน

ณวัน ๕ ๑๕ ๓ ค่ำ จึงเชิญพระศพพระเจ้านราสุริวงษ์ ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ลงเรือขนานณะตพานน้ำน่าบ้านเจ้าแสง ออกไปพระราชทานเพลิงณวัดบางยี่เรือ มีงาน ๓ วัน ๓ คืน

ศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ สดัปกรณ์พระสงฆ์ ๑๙๙๖ รูป ๆ ละบาท เงิน $\begin{array}{c}๒๔ \\\begin{array}{c|c} ๑๙&\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ เถนเณรรูปชี ๑๖๐๙ รูป ๆ ละสลึง เงิน $\begin{array}{c}๕ \\\begin{array}{c|c} &๒\\\hline \quad&๑\\ \end{array}\end{array}$ งานศพเจ้านราสุริวงษ์ พระสงฆ์ ๒๐๗๐ รูป ๆ ละบาท เงิน $\begin{array}{c}๒๕ \\\begin{array}{c|c} ๑๕&\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ เถนเณรรูปชี ๑๖๐๙ รูป ๆ ละสลึง เงิน $\begin{array}{c}๕ \\\begin{array}{c|c} &๓\\\hline \quad&\\ \end{array}\end{array}$ เงินพระราชทานพระอุไทยธรรม์ภูษามาลา $\begin{array}{c}๓ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ เหมือนกันทั้ง ๒ งาน

กรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชทานเพลิงณวัน ๑ ๑๑ ๓ ค่ำ แห่พระอัฐิกลับ พระอัฐิใส่พระราเชนทร พระอังคารใส่คานหาม พระอัฐิขึ้นท่าวัดท้ายตลาด

พระศพพระเจ้านราสุริวงษ์ พระราชทานเพลิงณวัน ๖ ๓ ค่ำ ณวัน ๗ ๓ ค่ำ เชิญพระอัฐิลงเรือดั้งอาษาใหม่ขุนราชเสนี พระอังคารลงเรือขุนศรีเสนา พระอัฐิไปขึ้นตพานหม่อมเจ้าเสง แห่ไปไว้บ้านหม่อมเจ้าเสง พระอังคารไปลอยน่าวัดสำเพง

ส่วนเจ้าเสงเองนั้นมีหมายว่า เดือน ๙ จุลศักราช ๑๑๓๙ ปีรกานพศก มีหมายมหาดไทยว่า เจ้าพระยาจักรีรับรับสั่งใส่เกล้าฯ สั่งว่าจะได้พระราชทานเพลิงศพเจ้าเสง พระยาศุโขทัย พระยาพิไชยไอสวรรย์ ที่วัดบางยี่เรือ ให้เอาตามอย่างพระศพในกรมขุนอินทรพิทักษ์ แลพระเจ้านราสุริวงษ์ ทำเบ็ญจาแลเครื่องเล่นโขนหนังรำ ศพละ ๓ วัน ๓ คืน เปน ๙ วัน ๙ คืน แต่เงินแจกภูษามาลาเผาศพหม่อมเจ้าเสง $\begin{array}{c}๓ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ พระยาศุโขทัย พระยาพิไชยไอสวรรย์คนละ $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} ๑๐&\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$

ศพหม่อมเจ้าเสงชักณวัน ๒ ๑๒ ค่ำ มีร่างหมายการศพชัดเจนดังนี้

๕๗ บุตรเจ้านครเก่าเปนสนมเอกมารดาเจ้าทัศพงษ เจ้าได้ขวบเศษ

๕๗ บุตรเจ้านครที่เปนพระสนมเอกคนนี้ชื่อฉิม เวลาเมื่อบิดาตั้งตัวเปนเจ้านคร เรียกว่าทูลหม่อมฟ้าหญิงใหญ่ มีน้องเปนทูลหม่อมฟ้าหญิงเล็กอิกคนหนึ่ง ลูกที่มามีกับเจ้ากรุงธนบุรี ชื่อทัศพงษ์ ซึ่งภายหลังเปนพระพงษ์นรินทร์ เมื่อเวลาตากลับออกไปเปนเจ้านคร อายุได้ขวบเศษจริง ภายหลังมีลูกอิกคนหนึ่งชื่อทัศไพ แล้วเปนพระอินทรอไภย เปนโทษต้องประหารชีวิตรในรัชกาลที่ ๒

๕๘ โปรดรับสั่งให้เจ้าตาไปเปนเจ้าแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราช ให้รับพระโองการ เมียรับพระเสาวนี มีลครผู้หญิงเปนเครื่องประดับ

๕๘ เจ้านครคนนี้คือหลวงนายสิทธิ์ครั้งกรุงเก่า เมื่อเจ้ากรุงธนบุรีไปตีได้เมืองนครแล้วเอาเข้ามาไว้ในกรุงธน เมื่อเจ้านราสุริวงษ์ถึงแก่พิราไลยแล้ว จึงให้กลับออกไปเปนเจ้านคร มีสำเนาข้อความวิธีตั้งแต่งอย่างไร ปรากฎอยู่ในหนังสือเทศาภิบาล แผ่นที่ ๒๗ วันที่ ๑ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ตามข้อความที่ปรากฎนั้นว่า เจ้ากรุงธนบุรีคิดอ่านสืบเสาะหาแผนเก่า ใช้เต็มตามแบบแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ เจ้าฟ้าพร ซึ่งหนาแน่นไปด้วยแบบอย่างกระจุกกระจิกอันไม่เปนสาระอะไร ธรรมเนียมแบบเคร่งครัดเช่นนี้เกิดหนักมือขึ้นตั้งแต่ปีชวดฉศกจุลศักราช ๑๑๐๖ ทูตพม่ามาเจริญทางพระราชไมตรี ไม่ไหว้เสนาบดี รับสั่งให้ต่อว่าทูตแก้ตัวไถลไปว่า ธรรมเนียมเมืองพม่าต้องถวายบังคมพระมหากระษัตริย์เสียก่อน จึงจะไหว้เสนาบดีได้ พอทรงทราบเข้าก็เลยสนุก ว่าธรรมเนียมกรุงเทพ ฯ แต่ก่อนก็เช่นนั้นเหมือนกัน ถ้ามีพระราชโองการตรัสสั่งมหาดเล็ก ให้ออกไปสั่งอรรคมหาเสนาณศาลาณลูกขุนฤๅที่ใด ๆ ก็ดี มหาดเล็กต้องขี่ฅอตำรวจสนม ไปถึงแล้วลงจากฅอยืนสั่งเสนาบดี ข้าราชการที่รับคำสั่ง ต้องประนมมือฟังจนสิ้นข้อแล้วบ่ายหน้าเข้ามาต่อพระราชวังถวายบังคม แล้วมหาดเล็กจึงนั่งลงไหว้เคารพกันได้ เมื่อรับสั่งเล่าออกมาเช่นนี้ แล้วก็เลยสั่งต่อไปว่า “แต่นี้ไปให้ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนนั้น” ข้อที่จะได้เล่นลครกันเช่นนี้ตลอดไปจริงฤๅไม่ เปนที่น่าสงไสย แต่ที่รู้เปนแน่นั้นตั้งแต่นั้นมา ก็ได้รื้อขุดคุ้ยตำรารับทูตขรแต่ครั้งแผ่นดินพระนารายน์ แลวิธีส่งพระราชสาส์น ธรรมเนียมเฟื้องสลึงกระจุกกระจิกต่าง ๆ รุ่งเรืองขึ้นมาโดยลำดับ ปรากฎเช่นเรื่องทูตไปลังกา ที่มีจดหมายเหตุอยู่ในหอสมุดนั้นเปนต้น

ในครั้งแผ่นดินกรุงธนนี้ ก็ค้นคว้าหาแบบนั้นมาใช้ตกลงเปนสำเร็จรูปการที่ทำนั้นเช่นนี้

หมายลงวันอังคารเดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำปีวอกอัฐศก หมื่นพิพัฒโกษารับรับสั่งเหตุด้วยเวลานั้นเมืองนครขึ้นกรมท่า จัดให้ขุนสกลมณเฑียรกรมวัง ขุนวิเศษนุชิตกรมคลัง นายเทียรฆราษอาลักษณ์ นายจิตรบำเรอแวงตำรวจนอกซ้าย นายบัลลังก์กุญชรแวงตำรวจในขวา แวงจตุลังคบาท จำทูลพระราช โองการ ๑ ตราพระครุธพาห์ ๑ พระสุพรรณบัตร ๑ ออกไปมอบเมืองให้เจ้านคร เปนเจ้าขันธสิมา

พระราชโองการนั้นดูกิริยาอาการ ที่ใช้ว่าจาฤกจริงอยู่ แต่ไม่เห็นบอกจำนวนทองเหมือนสุพรรณบัตร ทีจะไม่ได้เขียนในแผ่นทอง ส่วนสุพรรณบัตรนั้นเปนแผ่นทองหนัก ๖ สลึง มีกลักบรรจุทองชั้นหนึ่ง เงินชั้นหนึ่ง ไม้ชั้นหนึ่ง ทั้ง ๒ อย่าง ตราพระครุธพาห์นั้นประทับในหุ่นครั่ง แล้วบรรจุผอบมีกล่องเงินอิกชั้นหนึ่ง เจียดเขียนลายทองอิกชั้นหนึ่ง แล้วจึงตั้งบนพานแว่นฟ้าผูกกระโจมต่างคลุมสักหลาดแดง แต่การที่จะจาฤกแลจะประทับตรานั้นต้องหาฤกษ์พานาทีตั้งหัวหมูบายศรีใหญ่โตมาก

ข้อความในพระราชโองการนั้น ก็ว่าพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวร บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตรัสเอาพระยานครเปนเจ้าขันธสิมา ให้ผู้นั้น ๆ เชิญเสด็จพระราชโองการตราครุธพาห์ออกมามอบเมือง ใจความก็เท่านั้นเอง

สุพรรณบัตรว่าทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยานครคืนเมืองเปนเจ้าขันธสิมา นามขัติยราชนิคม สมมุติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เศกไปณวันอาทิตย์เดือน ๑๑ ขึ้น ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก

ยังมีตั้งพิธีเปนแบบให้สนองพระราชโองการ ส่งไปให้เจ้านครเขียนกลับเข้ามาว่าข้าพระพุทธเจ้าพระเจ้านครศรีธรรมราช ชอกราบถวายบังคมทูลว่า ที่โปรดให้ผู้นั้น ๆ เชิญพระราชโองการตราพระครุธพาห์ พระสุพรรณบัตรเสด็จไปพระราชทานมอบเมืองให้ข้าพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเชิญเสด็จพระราชโองการแลตราพระครุธพาห์เสด็จกลับโดยผู้นั้น ๆ เท่านั้นเอง แต่เปน ๒ ตอนอยู่ ตอนล่างทำนองเปนศุภอักษรขึ้นบรมสุจริตปฏิการาธิคุณ อดุลยดิเรก เอกสัตยาในขัติยราชนิคม สมมติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช ถวายอภิวาทบังคมแด่พระบาทสมเด็จ ฯลฯ เนื้อความก็เปนอย่างเดียวกัน

มีกฎอย่างตั้งผู้ว่าราชการเมืองอิกฉบับหนึ่ง ในกฎฉบับนี้ว่าปนกันทั้งสารตรานำแลกฎ ไม่ได้ใช้แยกกันเปนคนละฉบับเหมือนเช่นชั้นหลัง ๆ มา ผู้ซึ่งมีชื่อในกฎ คือ พระยาราชสุภาวดี พระศรีไกรลาศ พระไชยนาท นี่เปนขุนนางกรุงซึ่งให้อยู่ด้วยเจ้านราสุริวงษ์ ยังรักษาเมืองอยู่เรียกว่าเสนาบดีข้าหลวง ส่วนเสนาบดีเมืองนครนั้นดูเหมือนจะได้เอาเข้ามาไว้เสียในกรุงด้วยเจ้านคร พึ่งจะให้กลับออกไปครั้งนี้ มีรายชื่อคือพระยากระลาโหม พระยาโกษา พระยาอุไทยธรรม พระส้วย

ยกความชอบเจ้านครว่า ครั้งพระนครศรีอยุทธยาเสียแก่พม่าข้าศึก กรมการพลเมืองหาที่พึ่งมิได้ ยกปลัดเมืองขึ้นเปนเจ้าผ่านขันธสีมาได้พึ่งพาอาไศรยสับประยุทธชิงไชยชนะแก่ข้าศึก ทั้งยกความชอบว่าธิดาได้ราชโอรสแลได้ตามเสด็จการสงคราม จะเอาไว้ในกรุงเทพ ฯ ก็มีแต่บ่าวไพร่เล็กน้อยไม่ต้องการอันใด เจ้านราสุริวงษ์สวรรคาไลย จึงควรให้ไปบำรุงพระเกียรติยศแทนสืบไป

กำหนดเกียรติยศนั้นว่า “ฝ่ายพระยานครเคยผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขันธสีมาอยู่แล้ว ก็ให้ผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขันธสีมา ฝ่ายผู้ซึ่งผ่านแผ่นดินเปนเจ้าขันธสีมาสืบมาแต่ก่อนนั้น เหมือนกับพระยาประเทศราชประเวณีดุจเดียวกัน” มีข้อความมัว ๆ เช่นนี้ ต่อไปก็ว่าด้วยของพระราชทาน ชื่อสิ่งของพระราชทานเรียกอย่างเจ้าหมด มาลามีขนนกการเวก ของพระราชทานนั้นมีจำนวนมาก มีคำสั่งว่า “เครื่องราชาโภคสิ่งใดมิครบนั้น ให้พระเจ้านครศรีธรรมราชเสนาบดีทำนุบำรุงจัดแจงขึ้นจงบริบูรณ์” ต่อนั้นไปว่าด้วยของพระราชทานลูกหลวงได้เสื้อผ้าแลถาดหมากคนโทกาไหล่ทองอย่างเจ้าราชนิกุล เสนาบดีแลมหาดเล็กอิก ๓ คน ได้เสื้อผ้าถาดหมากคนโทเงิน มหาดเล็กอิก ๖ คนได้แต่เงิน ต่อนั้นไปก็ตักเตือนให้บำรุงบ้านเมืองใช้ถ้อยคำเหลิงเจิ้งว่า “อิกประการหนึ่งควรให้เจ้าขันธสีมาบำรุงฝ่ายน่าฝ่ายในให้สรรพไปด้วยสุรางคนางปรางค์ปราสาท ราชเรือนหลวงน้อยใหญ่ในนอกพระนครขอบขันธสีมา”

แต่เมืองธนเองยังไม่มีปราสาท เมืองนครมุงแฝกก็เห็นจะไม่สำเร็จ นอกนั้นก็สั่งตามเคยของกฎตั้งหัวเมือง แปลกแต่เรื่องให้คิดอ่านไปยืมเงินเมืองแขกซื้อปืน

แลได้ความว่าในการที่เจ้านครกลับออกไปครั้งนี้ ให้เจ้าพระยาอินทวงษา อรรคมหาเสนาธิบดี คุมเรือรบเรือไล่พล ๕๐๐ ออกไปส่ง แล้วให้เจ้าพระยาอินทวงษาอยู่เร่งส่วย

มีจดหมายว่าได้นำร่างขึ้นถวาย มีผู้เฝ้าอยู่เวลานั้น คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงคราม หม่อมเจ้าประทุมไพจิตร หม่อมเจ้ามงคล เจ้าพระยาอนุวงษราชา เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยามหาสมบัติ เจ้าพระยาอินทรงษา เจ้าพระยาราชนายก ต่อนั้นไปมีอิกถึง ๑๙ คน แต่ปลาดที่พระยาจักรี พระยามหาเสนา พระยายมราชลงมาอยู่ในพวกหลังนี้

ต่อนั้นไปมีเรื่องค่าธรรมเนียมหยุม ๆ หยิม ๆ ต่าง ๆ กำหนดว่าเบ็จเสร็จเปนเงิน ๔๑ ชั่ง ๓ บาท แล้วคิดยกค่าตั้งค่าตราออกเสีย ๓๐ ชั่ง เห็นจะเปนตามพระกระแส ยังคงจะต้องเสีย ๑๐ ชั่ง ๑๑ ตำลึง ๓ บาท ถ้าเปนเจ้าพระยาจะได้ลดลงกึ่งหนึ่งนำขึ้นกราบทูล ว่าเจ้าพนักงานเห็นพร้อมกัน ว่าเจ้านครขัดสน จึงจะลดค่าธรรมเนียมแต่กึ่งหนึ่ง เปนเงิน ๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง รับสั่งว่าอย่างธรรมเนียมจะฟั่นเฟือนไปให้เรียกเต็ม แต่ที่ให้เรียกเต็มนี้เฉพาะที่เจ้าพนักงานจะได้ ส่วนค่าตั้งค่าตราที่จะเปนของหลวงยกพระราชทานให้ ซ้ำพระราชทานเงินเจ้านคร ๓๐ ชั่ง ลูกหลวง ๖ ชั่ง เสนาบดี ๓ ชั่ง มหาดเล็กคนละชั่ง

ภายหลังเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ให้เจ้านครลดยศเสนาบดีลงเสีย เจ้านครก็เกิดกระด้างกระเดื่อง เกณฑ์คนเข้ามาร่อนทองก็ไม่ครบตามเกณฑ์ สักเลขก็ได้จำนวนน้อยไปกว่าแต่ก่อน มีตราให้หาถึง ๒ ครั้งก็บิดพลิ้วไม่เข้ามา จึงให้ยกเจ้านครออกเสียจากเจ้านคร เอาเข้ามาณกรุง ให้เจ้าพัดฝ่ายน่าเปนเจ้าพระยานคร ตำแหน่งเจ้านครก็เปนหมดกันอยู่เพียงนั้น

ข้อซึ่งกล่าวว่าให้รับพระโองการ เมียให้รับพระเสาวนีความน่าจะจริง ไม่เคยได้ยินใครเล่า แต่สังเกตดูสำเนาสารตรา ตั้งเจ้าพัดเปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ซึ่งได้ลงในหนังสือเทศาภิบาลแผ่นที่ ๒๘ วันที่ ๑ กรกฎาคม ว่าความยั้งชงักชอบกลอยู่ คือกล่าวว่า

“พระยาตากสินได้ว่าราชการแผ่นดินครั้งนั้น กอบไปด้วยโมหะโลภะ มิได้ประพฤติการให้ชอบโดยขนบบุราณ ตั้งให้เปนถึงเจ้านคร มีอรรคมหาเสนา จตุสดมภ์ มหาดเล็ก ตั้งชื่อข้าเฝ้าเทียมพระเจ้าอยู่หัว”

มาเพียงระยะนี้ได้ความชัดเจนว่า เจ้านครมีอำนาจตั้งเสนาบดีครบตำแหน่งเหมือนอย่างกรุงเทพ ฯ ก็ใกล้เข้าไปมากกับที่จะสมจริงว่า ยอมให้ใช้พระราชโองการด้วยชั้นหนึ่งแล้ว ยังมีความต่อไปอิกว่า

“จะสั่งกิจราชการบัตรหมายประการใดกว่ารับสั่ง ดุจดังอนุวงษ์ราชวงษ์ ถึงอนุวงษ์ราชวงษ์ก็ดี มีแต่รับสั่ง ตั้งแต่เจ้ากรมปลัดกรม หลวงขุนหมื่น นายเวร ปลัดเวร หามีเสนาบดีเหมือนดังนี้ไม่”

เมื่อได้ความเช่นนี้ข้าพเจ้าจึงปลงใจว่า ความซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีทรงจดหมายไว้นี้ ไม่ผิดจากความจริง แต่สารตราจะกล่าวให้ชัดก็เกรงฤๅกระดาก ด้วยไม่ได้มีในตราตั้งเดิม เปนแต่รับสั่งอนุญาต จึงยั้งไว้เสีย จะว่าเปนพระราชโองการเถื่อนแท้ทีเดียวไม่ได้

๕๙ มารดาเจ้า เทียบที่กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์

๕๙ ข้อซึ่งเจ้าจอมมารดาฉิม ได้รับเทียบที่เปนกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์นี้ชอบกลน่าจะจริง เพราะอยากจะยกเปนคู่กับสมเด็จพระปฐมบรมไอยิกาเธออยู่

๖๐ โปรดให้ลูกเขยไปเปนเจ้าช่วยราชการเมืองนคร ได้กลับคืนไปเมืองปีมแมสัพศก

๖๐ ลูกเขยผู้นี้คือเจ้าพระยานครพัด ที่เรียกกันว่าเจ้าพัด เปนต้นวงษ์ของพวกนครศรีธรรมราช เดิมได้บุตรสาวคนใหญ่ของเจ้านครเปนภรรยา จึงไปเปนมหาอุปราชเรียกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อเจ้านครเสียเมืองก็ต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพ ฯ ด้วย ครั้นเมื่อเจ้านครกลับออกไปเปนเจ้าครั้งนี้ ก็โปรดให้กลับออกไปเปนวังน่าตามเดิม อยู่มาเมื่อปลายแผ่นดินตากชายาเจ้าอุปราชเมืองนครตาย ด้วยความโปรดปรานอย่างตึงตังอย่างไร ฤาเพราะความคิดของเจ้ากรุงธนบุรี ที่จะคิดปลูกฝังลูกให้ได้ครองเมืองอื่น ๆ กว้างขวางออกไป แนวเดียวกันกับให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ออกไปครองเมืองเขมรนั้น จึงได้พระราชทานบุตรหญิงเจ้านคร ซึ่งเปนน้องเจ้าจอมมารดาฉิม มารดาพระพงษ์นรินทร์ให้ออกไปเปนชายา บุตรีเจ้าพระยานครคนเล็กนี้ที่เจ้าพระยาพิไชยราชามาขอ กริ้วว่าบังอาจจะมาเปนเขยน้อยเขยใหญ่ ให้ประหารชีวิตรเจ้าพระยาพิไชยราชาเสียนั้น กล่าวกันว่าเมื่อเวลาพระราชทานมีครรภ์ ๒ เดือน เจ้าพัดจะไม่รับก็ไม่ได้ เมื่อรับไปแล้วก็ต้องไปตั้งไว้เปนนางเมืองไม่ได้เปนภรรยา บุตรที่มีครรภ์ไปนั้นเปนชายชื่อน้อย ภายหลังได้เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครผู้นี้มีอำนาจวาศนามากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน เปนเรื่องที่เขาเล่ากระซิบกันเปนการเปิดเผย แลพวกบุตรหลานเจ้ากรุงธนบุรีก็นับถือว่าเปนพี่น้อง เหตุฉนั้นจึงนับเกี่ยวข้องกันในเชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรีกับพวกนครศรีธรรมราช พระยาเสน่หามนตรีบุตรเจ้าพระยานครน้อย ได้คุณปลัดเสงี่ยมบุตรพระพงษ์นรินทร์เปนภรรยา ส่วนบุตรหลานเจ้ากรุงธนบุรีอื่น ๆ ไม่ได้มีสามีเปนขุนนางเลย ได้แต่กับเจ้านายในพระราชวงษ์ประจุบันนี้ทั้งสิ้น นี่เหตุที่นับว่าเปนญาติกันจึงยกให้กัน บุตรีเจ้าพระยานครพัด ที่เกิดด้วยชายาเก่าทำราชการในรัชกาลที่ ๑ สองคน คุณนุ้ยใหญ่อยู่วังหลวงเปนเจ้าจอมมารดา กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ คุณนุ้ยเล็กอยู่วังน่าเปนเจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้าปทัมราช คุณนุ้ยเล็กนี้ออกไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือ รับสั่งเรียกหม่อมป้านุ้ย อยู่มาจนรัชกาลประจุบันนี้ บุตรภรรยาน้อยของเจ้าพระยานครพัดที่ข้าพเจ้ารู้จัก คือท่านผู้หญิงหนูภรรยาเจ้าพระยาทิพากรวงษ์

๖๑ ปีวอกเข้าวสันตรดูฝน นางพระยาล้ม

๖๑ นางพระยานี้ได้ฟังจากคำรับสั่งว่าได้ฝึกหัดให้ขึ้นเล่นยืนบนก้นครก แลเล่นอะไรได้ต่าง ๆ ทอดพระเนตรอยู่เนือง ๆ อยู่มากาลวันหนึ่งมีแขกเมืองมาเฝ้า รับสั่งให้นำนางพระยามาเล่นให้แขกเมืองดู นางพระยาดื้อเสียไม่เล่น รับสั่งให้เอาสากเหล็กกระทุ้งเลยตายด้วยความชอกช้ำ

๖๒ เดือนอ้าย ลุศักราช ๑๑๓๙ ปีรกานพศกเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก

๖๒ เรื่องเจ้ากรุงธนบุรีตั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก กรมพระราชวังบวร พระองค์ที่ ๑ เปนเจ้าพระยาสุรสีห์นั้น ตามความเข้าใจกัน ดูเหมือนหนึ่งจะว่าพเอินเปนลางที่จะได้เปนกระษัตริย์สืบไปภายน่า แต่ความจริงเจ้ากรุงธนบุรีใช่จะไม่มีสติยับยั้งถึงเช่นนั้น เปนวิไสยของเจ้ากรุงธนบุรีเปนคนกล้า แลชอบการที่ปรากฎว่าสัตรูครั่นคร้าม เรื่องตั้งชื่อนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุเมื่อจุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัปตศก อแซวุ่นกี้ยกเข้ามาตีเมืองพิศณุโลกย์ เมื่อแรกถึงกำลังยกเข้าติดเมืองสวรรคโลกย์ จับได้กรมการ ๒ คน ให้ถามว่า “พระยาเสือ” เจ้าเมืองพิศณุโลกย์อยู่ฤๅไม่ พระยาเสือนี้ได้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ สมกับชื่อปรากฎพระนามกรมพระราชวังนั้นว่าพระยาเสือทั่วไปในฝ่ายข้างเหนือ ส่วนพระพุทธยอดฟ้านั้น เมื่อมาตั้งล้อมเมืองพิศณุโลกย์อยู่ อแซวุ่นกี้ขึ้นม้ากั้นร่มระย้ามีพลทหารถือปืนแห่น่า ๓๐๐๐ ถือทวนตามหลัง ๑๐๐๐ เจ้าพระยาสุรสีห์ยกออกโจมตี ได้รบกันถึงตลุมบอน ไทยต้านทานไม่อยู่กลับเข้าเมือง แต่ออกโจมตีแตกกลับเข้ามาเช่นนี้ ๒ ครั้ง เจ้าพระยาจักรีจึงได้ว่ากับเจ้าพระยาสุรสีห์ ว่าทัพเจ้าเปนหัวเมืองสู้ไม่ได้ ข้าจะออกตีเอง เจ้าพระยาจักรียกออกโจมตีชนะบ้างแพ้บ้างถึง ๙ วัน ๑๐ วัน อแซวุ่นกี้จึงให้มาบอก ว่าพรุ่งนี้เราอย่ารบกันเลย ให้ “เจ้าพระยากระษัตริย์ศึก” แม่ทัพออกมาเราจะขอดูตัว เจ้าพระยาจักรีขึ้นม้ากั้นสัปทนออกไปให้อแซวุ่นกี้ดูตัว อแซวุ่นกี้จึงให้ล่ามถามว่าอายุเท่าใด ตอบว่าอายุ ๓๐ เศษ แล้วถามอแซวุ่นกี้ ๆ ตอบว่าอายุ ๗๒ อแซวุ่นกี้ชม ว่ารูปร่างก็งามฝีมือก็เข้มแขง สู้รบกับเราผู้เถ้าได้ จงอุส่าห์รักษาตัวไว้ ภายน่าจะได้เปนกระษัตริย์ แล้วให้เอาเครื่องม้าทองสำรับ ๑ สักหลาดพับ ๑ ดินสอแก้ว ๒ ก้อน น้ำมันดิน ๒ หม้อ มาให้เจ้าพระยาจักรี

การที่อแซวุ่นกี้ทำเช่นนี้ จะเปนการที่ยกย่องสัตรูว่าเข้มแขง เพื่อจะยกฝีมือแลกำลังตัว ว่าถ้าผู้อื่นคงสู้ไม่ได้ ตามธรรมดาข้าศึกต้องสรรเสริญฤทธิ์เดชสัตรู ฤๅจะเปนกลอุบายยุให้กำเริบแตกร้าวกันก็ตาม เจ้ากรุงธนบุรีมิได้ถือว่าเปนเช่นนั้น ถือว่าคำที่สัตรูสรรเสริญนั้น เปนเกียรติยศใหญ่แก่แม่ทัพกรุง ถ้ายิ่งให้คำสรรเสริญนี้เลื่องฦๅมากไปในประเทศทั้งปวง ประเทศซึ่งเคยกลัวอำนาจพม่า ได้ยินว่าอแซวุ่นกี้ซึ่งเปนแม่ทัพใหญ่ แลเปนเชื้อพระวงษ์ ยกย่องสรรเสริญแม่ทัพแผ่นดินสยามเช่นนี้ จะเปนที่ยำเกรงทั่วไปหมด ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์มีนามควรจะแปลได้ว่าพระยาเสือ ฤๅจะตั้งตามคำสรรเสริญแต่ก่อนมาแล้ว แต่เจ้าพระยาจักรีชื่อยังไม่ต้องตามที่สัตรูยกย่อง จึงได้ยกขึ้นเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก พิฦกมหิมา ทุกนครารอาเดช นเรศร์ราชสุริยวงษ์ องค์อรรคบรินายก ณกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ตรงกันกับคำสรรเสริญนั้น

ข้อที่หนังสือกรมหลวงนรินทรเทวีเรียกเจ้าฟ้า เปนคำยกย่องภายหลัง อย่างเดียวกันกับเรียกพระเจ้ามหากระษัตริย์ศึก

๖๓ เสด็จยกพยุหทัพไปตีเมืองปาศักดิ์ เมืองโขง เมืองอัตปือ กลับมาเดือน ๑๐ ปีจอสัมฤทธิศก ณเดือนอ้ายปีจอกลับไปตีเมืองศรีสัตนาคนหุต ยังตั้งมั่นล้อมอยู่แรมปี ยังไม่เข้าเมืองได้

๖๓ กองทัพไปตีเมืองเขมรป่าดง เอามารวมกล่าวกับตีเมืองเวียงจันท์ติดต่อกันตามที่จดหมายฉบับนี้ไม่ตั้งใจ จะกล่าวเรื่องทัพศึกให้แน่นอน ที่จริงตีปาศักดิ์แลเขมรป่าดงปีวอกอัฐศก ปีรกานพศกกลับมาได้รับตำแหน่งเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ปีจอสัมฤทธิศกจึงไปตีเวียงจันท์

เรื่องเมืองเวียงจันท์ในคำวิจารณ์นี้ยังไม่ได้กล่าวที่ไหนเลย เพราะไม่อยากจะเก็บข้อความซึ่งปรากฎในพงษาวดารแล้วมาพูดร่ำเรื่องลงไปอิก แต่บัดนี้พบสำเนาพระราชสาส์น แลศุภอักษรที่มีไปมาในแผ่นดินกรุงธนบุรี ซึ่งไม่มีข้อความปรากฎในพงษาวดาร เห็นว่าควรจะนำมาเล่าเติมลงในที่นี้ได้ จะไม่สู้ฟั่นเฝืออันใดนัก แต่สำเนาพระราชสาส์นแลศุภอักษร ยืดยาวมากไม่มีแก่นสาร เปนตั้งพิธีอวดกันไปอวดกันมา ยิ่งสมณสาส์นแล้วเกือบจะหาแก่นมิได้ในนั้น แต่ยังนึกเสียดายว่าเปนหนังสือเก่า ทิ้งไว้ก็จะสูญเสีย จึงได้คัดมาลงติดท้ายหนังสือนี้ไว้

บัดนี้จะได้เล่าเรื่องนำทางพอให้ถึงเวลามีพระราชสาส์นไปมานี้ แลเก็บความในพระราชสาส์นโดยย่อลงในที่นี้ด้วย ถ้าขี้เกียจจะได้ไม่ต้องอ่านสำเนาพระราชสาส์นซึ่งติดอยู่ในท้ายสมุดเล่มนี้

๑ ผู้อ่านควรสังเกตว่า คำที่อ้างถึงพระราชไมตรีฤๅประเพณีโบราณ ที่อ้างถึงในพระราชสาส์น แลศุภอักษรมีไปมากันนี้ ไม่ได้มุ่งหมายจะอ้างข้อความลึกซึ้งขึ้นไปยิ่งกว่าเมื่อจุลศักราช ๑๐๕๗ ปีกุนสัปตศก ในแผ่นดินพระเพทธราชาประมาณ ๗๕ ปีล่วงมาถึงเวลานั้น

มีเรื่องราวในพงษาวดารล้านช้างว่าเจ้าล้านช้างเวียงจันท์คน ๑ ชื่อสุริยวงษาธรรมิกราชาขึ้นเปนเจ้ากรุงล้านช้างเวียงจันท์ ขับไล่พี่น้องไปอยู่ต่างเมืองหมด มีลูก ๓ คน คือเจ้าราชบุตร ๑ กุมารีลงท่า ๑ สุมัง ๑ ในขณนั้นมีเจ้าชาวเมืองแสนหวี ๒ คน ชายชื่ออินทกุมาร ผู้หญิงชื่อจันทกุมารี ลงมาอาไศรยอยู่ที่เมืองเวียงจันท์ นางจันทกุมารีได้กับราชบุตร มีลูกชื่อกิงกิสกุมารแล จันทรโฉม ส่วนอินทกุมารพี่ชายได้ลาวเปนเมีย มีลูกชื่อเจ้านก ราชบุตรเปนชู้กับเมียขุนนางพ่อให้ฆ่าเสีย ครั้นเมื่อเจ้าล้านช้างตายเหลือแต่หลานยังเด็ก พระยาเมืองจันท์อรรคมหาเสนาเมืองล้านช้างจึงรับนางสุมังลูกเจ้าล้านช้างเปนเมียแลขึ้นเปนเจ้า

ฝ่ายเมืองน่านแลเชื้อวงษ์ซึ่งแตกฉานไปอยู่เมืองอื่น ๆ ยกมารบชิงเมืองกันกับพระยาเมืองจันท์จนถึงภายหลังที่สุดนั้นลูกของคนที่หนีไปเมืองญวน ชื่อพระไชยองค์แว มาชิงได้เมืองล้านช้าง กิงกิสะอินทโฉม แลเจ้านก กลัวพระไชยองค์แวจะพยาบาทปู่ว่าขับไล่บิดาไปต่างเมืองจึงหนีขึ้นไปเมืองพง คุมกำลังลงมาตีเมืองหลวงพระบาง ซึ่งน้องต่างบิดาร่วมมารดาของพระไชยองค์แวรักษาอยู่ ผู้รั้งเมืองหลวงพระบางเห็นจะรักษาเมืองไม่ได้ จึงเชิญพระแก้วพระบางลงไปเมืองเวียงจันท์ กิงกิสะกุมารได้นั่งเมืองหลวงพระบาง กลับใช้ชื่อกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวอย่างเดิม แยกกันเปนล้านช้างเมืองชวาฤๅเซาหลวงพระบาง เปนล้านช้างเก่าฝ่ายหนึ่ง ล้านช้างจันทร์บุรี คือเมืองเวียงจันท์ ใช้ชื่ออย่างเดียวกันฝ่ายหนึ่ง แล้วเจ้ากิงกิสจึงยกลงไปตีเมืองเวียงจันท์ ด้วยมีสาเหตุแก่กันเช่นกล่าวมานี้ เมืองเวียงจันท์หวังจะหากำลังฤๅเห็นจะต่อสู้ไม่ได้ จึงได้แต่งทูตเชิญพระราชสาส์นมากรุงศรีอยุทธยาว่าจะถวายพระราชธิดา แลขอกองทัพขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองศรีสัตนาคนหุต ที่กรุงจึงได้แต่งกองทัพขึ้นไปตั้งอยู่ใกล้เมืองเวียงจันท์ ซึ่งกองทัพเมืองหลวงพระบางมาตั้งติดเมืองอยู่แล้วนั้น แม่ทัพไทยให้ทั้ง ๒ เมืองทำไมตรีปันเขตรแดนกันเสร็จแล้ว ทัพเมืองหลวงพระบางก็เลิกไป เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจึงได้แต่งราชบุตรีมีบรรดาศักดิ์เปนพระแก้วฟ้า ทั้งสมบัติวัตถาข้าไทเปนอันมาก ให้ลงมาถวาย แต่นั้นมาก็ไม่เห็นมีเรื่องราวอะไร ที่กล่าวถึงเกี่ยวพันกันต่อไปอิก

๒ เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก เจ้าวงเจ้าเมืองหลวงพระบางยกลงมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันท์อิก ตั้งล้อมเมืองไว้ เจ้าเวียงจันท์บุญสารออกต่อรบกันอยู่ประมาณ ๒ เดือนไม่แพ้ไม่ชนะกัน เจ้าเวียงจันท์จึงให้ไปขอกองทัพพม่าลงมาตีเมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงพระบางถอยกองทัพกลับไปรบพม่า พม่าก็ตีเอาเมืองหลวงพระบางได้

๓ เรื่องพระวอที่เปนสาเหตุที่ทัพกรุงขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์นั้น ได้ความว่าด้วยเหตุที่เชื้อวงษ์เมืองเวียงจันท์เที่ยวกระจุยกระจายตั้งแต่พระยาสุริยวงษาธรรมิกราชขับเสียนั้นคราวหนึ่ง ตั้งแต่พระยาเมืองจันท์ขึ้นเปนเจ้าล้านช้างอิกครั้งหนึ่ง แลพม่ามารบกวนให้บ้านเมืองยับเยินแตกฉานซ่านเซนเปลี่ยนเจ้านายบ่อยบ่อยนั้นด้วย เจ้าหล่อจะเปนลูกใครก็ไม่ปรากฎ ผู้เปนเจ้าล้านช้างเวียงจันท์ ถึงพิราไลยไม่มีลูก นายวอกับนายตา ๒ คน จึงนำกุมารไม่ปรากฎชื่ออันเปนเชื้อวงษ์ในเมืองเวียงจันท์ทางเจ้าตนใดก็ไม่ทราบ ไปให้เปนเจ้า นายวอกับนายตาจะขอเปนอุปราช เจ้าเวียงจันท์ใหม่ไม่ยอม ตั้งให้เปนแต่พระวอแลพระตา ตำแหน่งเสนาบดื จึงเกิดวิวาท พระวอกับพระตายกไปตั้งที่หนองบัวลำภู ตั้งชื่อเมืองว่า จำปานครขวางกาบแก้วบัวบาน เจ้าเวียงจันท์ยกไปรบ พระวอกับพระตาเห็นจะสู้ไม่ได้ จึงไปขอกองทัพพม่ามาช่วย เจ้าล้านช้างแต่งคนไปคอยดักเข้าหาพม่า ขอให้พม่ากลับไปตีพระวอ พม่าก็ทำตาม พระตาตายในที่รบพระวอสู้ไม่ได้ หนีลงไปอาไศรยเจ้านครจำปาศักดิ ภายหลังเกิดวิวาทกับเจ้านครจำปาศักดิ จึงยกขึ้นมาตั้งอยู่ดอนมดแดงแขวงเมืองอุบล ส่งบรรณาการมาขอพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าล้านช้างรู้ว่าพระวอวิวาทกับเจ้านครจำปาศักดิ จึงให้พระยาสุโพลงมาตีพระวอ จับพระวอได้ฆ่าเสีย ท้าวก่ำบุตรพระวอแลท้าวเพี้ยบอกเข้ามา เจ้ากรุงธนบุรีจึงให้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์ เมื่อปีจอสัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๑๔๐ ได้เมืองเวียงจันท์ กับทั้งพระแก้วพระบางแลราชวงษ์ลงมากรุงธน

๔ เรื่องทัพฮ่อฤๅจีนมาตีอังวะครั้งแรกปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ มาถึงเมืองแสนหวี ทางไกลเมืองอังวะ ๑๕ คืน พม่าตีแตกไป

ฮ่อยกมาตีอิกครั้งที่ ๒ ตีหัวเมืองระเข้าไปจนกระทั่งถึงบ้านยองนี ใกล้เมืองอังวะทางคืนหนึ่ง พม่าตีแตกออกไปอิก

ปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑ ฮ่อยกกลับเข้ามาอิก ถึงเมืองกองดุงปะมอทางไกลเมืองอังวะ ๕ คืน เจ้าอังวะเห็นว่าเปนศึกใหญ่จะต่อสู้ไม่ได้ จึงขอเปนไมตรีแต่งเครื่องบรรณาการไปให้แม่ทัพ การศึกสงบ

ข้อที่ฮ่อเข้ามาตีเมืองพม่า ๓ คราวนี้ เปนโอกาศดีของเจ้ากรุงธนบุรีมาก ที่พอได้คุมกันตั้งตัวติด ข้อความที่อ้างถึงทัพจีนตีเมืองพม่าในพระราชสาส์นนั้นคือทัพฮ่อ ๓ คราวนี้

๕ เจ้ากรุงธนบุรีขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ปีขานโทศกจุลศักราช ๑๑๓๒ ไม่ได้เมืองเชียงใหม่ เปนเรื่องที่กล่าวในพระราชสาส์นว่าไปลองจดฝีมือพม่า

๖ จุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก ปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า เจ้าอังวะให้โปสุพลามารักษาเมืองเชียงใหม่ เปนคราวเดียวกันกับที่คุมพลมาช่วยตีเมืองหลวงพระบาง แลได้เมืองล้านช้างเปนเมืองขึ้นด้วย

๗ จุลศักราช ๑๑๓๔ ปีมโรงจัตวาศก โปสุพลาลงมาตีเมืองลับแล เมืองพิไชย ๒ คราวในปีเดียว คงเปนคราวเดียวกันกับที่ในพระราชสาส์นเจ้าล้านช้าง ว่าเกณฑ์ให้เจ้าล้านช้างลงมาช่วยตีเมืองนครราชสิมา

๘ จุลศักราช ๑๑๓๖ ปีมเมียฉศก กองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปตีได้เมืองเชียงใหม่ โปสุพลาแตกขึ้นไปเมืองเชียงแสน แลตีค่ายพม่าบ้านบางนางกุ้งเขาชงุ้ม จับได้พม่ามากในปีเดียวนั้นด้วย เปนข้อความที่ได้กล่าวในศุภอักษร ที่ส่งพระยาหลวงเมืองแสนขึ้นไป

ข้อความต่าง ๆ ที่สาธกมากล่าวไว้ตามลำดับที่ได้หมายเลขมาข้างต้นนี้ ล้วนแต่เปนเหตุฤๅเปนเรื่องที่จะประกอบความเข้าใจในการที่กรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันท์ ได้เปนไมตรีครั้งนั้นเพราะเหตุใด ไม่ใช่ตั้งใจจะเล่าพงษาวดารเมืองลาว ฤๅลำดับเรื่องพระราชพงษาวดารไทย

บัดนี้จะว่าด้วยพระราชสาส์นแลศุภอักษรซึ่งมีไปมา ในพระราชสาส์นล้านช้างฉบับแรก ลงวัน ๒ ๑๐ ค่ำ ศักราช ๑๓๒ คือตัดเลขพันออกเสีย จะเปนด้วยตามลบรื้ออย่างไรกันอย่างหนึ่ง

ข้อความในศุภอักษรฉบับนี้ ว่ากรุงศรีสัตนาคนหุตกับกรุงมหานครศรีอยุทธยา เคยเปนไมตรีสนิทกันมาแต่ก่อน ข้างกรุงศรีอยุทธยาเกิดเปนแต่เวรกรรม จึงขาดทางพระราชไมตรี ข้างฝ่ายเมืองศรีสัตนาคนหุตก็มีข่าขบถขัดสน เจ้าพระยานครราชสิมาได้ขึ้นไปช่วยตีขบถปราไชยไปตั้งอยู่ดอนมดแดง

ตามความที่ว่านี้ เข้าใจว่าไม่ใช่พระวอ คงจะได้เกิดข่าขบถ ซึ่งแตกลงมาตั้งอยู่ดอนมดแดงก่อนแล้ว เมื่อพระวอออกจากเมืองนครจำปาศักดิจึงมาเข้าพวกข่าขบถนั้น

การที่เจ้าพระยานครราชสิมาขึ้นไปช่วยครั้งนี้ จึงได้ทราบว่ากรุงสยามได้ตั้งขึ้นใหม่เปนบ้านเมืองแล้ว ได้แต่งให้พระยาไทรทรงยศทศบุรี พระยาศรีรัตนาธิเบศร์ไมตรี เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการลงมาขอดทางพระราชไมตรี ขออย่าให้กรุงเทพ ฯ ละวางเมืองศรีสัตนาคนหุต ๆ ก็จะไม่ละวางกรุงเทพ ฯ ไพร่พลที่เจ้าพระยานครราชสีมาเอาเข้ามาช่วยราชการนั้น เมื่อเสร็จราชการแล้ว จึงจะให้คืนเมือง ข้อความในพระราชสาส์นเพียงเท่านี้

มีศุภอักษรเสนาบดีกรุงล้านช้าง ถึงเสนาบดีกรุงเทพ ฯ ข้อความก็อย่างเดียวกัน แต่มีเติมออกไปว่า เมื่อศักราช ๑๓๑ ตัว คือ ๑๑๓๑ ข่าขบถ จึงให้อุปฮาดสงครามมีหนังสือไปขอให้เจ้าพระยานครราชสิมาขึ้นมาช่วยตีข่าขบถแตกไปตั้งอยู่ดอนมดแดง ทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินได้ตั้งขึ้นใหม่ มีความยินดี จึงให้มาเจริญทางพระราชไมตรี ขอเจ้าพระยานครราชสิมาอยู่ช่วยราชการ แลไทยมอญอันเข้ามาทำราชการอยู่ในมุกคาตาแสงกรุงศรีสัตนาคนหุต ถ้าเสร็จราชการแล้วก็จะให้กลับ แต่หลวงวังแลไพร่ลาวม่วงหวาน ๒๐ ครัว ขอต่ออรรคมหาเสนาธิบดีไว้สำหรับเปนผู้ใช้ท่องเที่ยวเจริญทางพระราชไมตรี ในท้ายศุภอักษรบอกน้ำหนักทองพระราชสาส์น แลกล่อง แลผอบหูสะวินถุง กับเครื่องราชบรรณาการแลของบรรณาการอรรคมหาเสนา

วินิจฉัยด้วยเหตุผลอันใด เมืองล้านช้าง จึงได้เริ่มผูกการพระราชไมตรีขึ้นครั้งหนึ่ง เหตุนั้นคือจีนฮ่อมาตีเมืองพม่าอยู่ถึง ๓ ปี พม่ามือไม่ว่าง ฝ่ายเวียงจันท์กลัวเมืองหลวงพระบางที่เปนอริกันเก่าแก่จะยกลงมาตี เมื่อพม่ามาช่วยไม่ทัน ก็จะเสียท่วงที จึงหวังจะอาไศรยกองทัพข้างกรุงขึ้นไปช่วย

ครั้นเมื่อเกิดขบถขึ้นในเมือง กลัวเมืองหลวงพระบางจะพลอยซ้ำ ครั้นจะขอกองทัพกรุงก็ไม่ทัน จึงขอให้เมืองนครราชสิมาขึ้นไปช่วย

ข้างฝ่ายเมืองนครราชสิมา เมื่อบ้านเมืองข้างนี้เปนจลาจล ผู้คนแตกฉานขึ้นไปทางเมืองลาวมาก หวังจะยกขึ้นไปติดตามด้วย จึงได้ยกขึ้นไปช่วย แลสืบหาผู้คนซึ่งแตกขึ้นไปอยู่เมืองลาว เปนธรรมดาทางดำเนินราชการของเมืองลาว ไม่มีอะไรนอกจากหวงคนยิ่งกว่าอย่างอื่น คิดจะพยายามที่จะชักโอ้เอ้เหลวไหลให้ช้า ๆ ไป กันเอาคนไว้ สบเหมาะกับที่ต้องการกำลังกรุงเทพ ฯ ช่วย เผื่อหลวงพระบางมาตี จึงได้มีราชสาส์นลงมาผูกทางไมตรี แลพูดโยกย้ายจะเอาคนนั้นไว้ พระราชสาส์นครั้งนี้ใช้เสมอกันทั้ง ๒ เมือง ทำยศศักดิ์เอะอะไปตามแผนข้างลาว

ข้างฝ่ายเจ้ากรุงธนบุรี อัชฌาไศรยเปนคนละอย่างตรงกันข้าม ไม่สู้จะรังเกียจ ในการที่จะถ่อมคำลดหย่อนเกียรติยศที่ไม่มีแก่นสาร เปนคนมีความปราถนาใหญ่โตลึกซึ้ง ซึ่งคิดจะรวบรัดเอาด้วยกำลังอำนาจในภายหลัง แต่ในระหว่างที่คบกันนี้ คบก็ให้ได้เปรียบไว้ให้เสมอ จะได้สมคิดฤๅไม่ก็ตาม ถ้าเปนทีควรลองแล้วต้องลอง ไม่ได้ก็แล้วไป อัซฌาไศรยเจ้ากรุงธนบุรีเปนเช่นนี้ จึงได้แต่งพระราชสาส์นตอบ พระราชสาส์นนี้แต่งเอง เขาจดไว้ว่า “วัน ๓ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก ทรงแต่งพระราชสาส์น แลศุภอักษรแล้ว ทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งให้พระสุนทรไมตรีราชทูต หลวงภักดีวาจาอุปทูต ขุนพจนาพิมลตรีทูต จำทูลพระสุพรรณบัตรรัตนพระราชสาส์นแลศุภอักษรขึ้นไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต”

ใจความในพระราชสาส์นนั้น ว่าทรงยินดีควรที่จะเปนมิตร เพราะพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เปนขัติยวงษ์ทรงพิภพอันสูงใหญ่ กรุงศรีอยุทธยาทุกวันนี้ก็อับปางอยู่ ขอให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตช่วยทนุบำรุง ให้เปนแผ่นดินเดียววงษ์เดียวกันสืบไป มีสัตรูมาฝ่ายใดก็จะเปนศัตรูของฝ่ายหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งจะขอเจ้าพระยานครราชสิมาไว้ช่วยราชการนั้นก็แล้วแต่พระราชดำริห์ ถ้าเห็นว่าจะได้ถ่ายเดียวจึงให้ทำ ถ้าจะได้ส่วนหนึ่งสองส่วนเสียส่วนหนึ่งอย่าให้ทำ ให้ไว้ธุระแก่กรุงเทพ ฯ แล้วอวดอ้างต่อไปว่า มีลิปูต้าทั่งอรรคมหาเสนาบดีจีนเข้ามาที่กรุง ขอให้ทำแผนที่ท่าทางที่จะไปกรุงอังวะส่งออกไป เหตุว่ากองทัพพม่ายกขึ้นไปตีเมืองสีฉวน เมืองห้วยหลำปลายแดนกรุงจีน จีนตีพม่าแตกกลับไป กำลังยกทัพจีนไปตีเมืองอังวะ แล้วจะขอให้กองทัพจีนมาขึ้นที่กรุงศรีอยุทธยาอิกทางหนึ่ง ได้ตอบออกไปว่า ยังขัดสนด้วยเสบียงอาหาร บัดนี้พม่ามาทำแก่เมืองถลาง เมืองกาญจนบุรี เมืองศรีสวัสดิ์ เมืองอุไทยธานี เมืองสวรรคโลกย์ ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ตวันตกตวันออก กองทัพหัวเมืองตีกองทัพพม่าเลิกไป ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยายังไม่ได้จดฝีมือดูความคิด จึงเสด็จยกขึ้นไปจดฝีมือพม่าดูที่เชียงใหม่ บัดนี้เห็นแจ้งอยู่แล้ว พอจะทำตอบแทนกรุงอังวะได้ถ่ายเดียว เสบียงอาหารก็มีบริบูรณ์แล้ว จะมีหนังสือออกไปขอกองทัพพระเจ้ากรุงจีนมาขึ้นที่กรุง สมทบทัพขึ้นไปตีเมืองอังวะ แต่ขัดสนอยู่ด้วยม้า จึงให้มีศุภอักษรมาด้วย

พระราชสาส์นนี้ ลงวันที่ได้กล่าวมาแล้วว่าทรงแต่งข้างต้นนั้น

ศุภอักษรว่า ได้นำข้อความที่กรุงศรีสัตนาคนหุต ขอสืบทางพระราชไมตรีนี้ปฤกษาลูกขุนทั้งปวง เห็นว่าแต่ก่อนก็ได้เคยเปนไมตรีกันมา ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็ได้เสด็จปราบปรามราชสัตรูราบคาบสิ้นแล้ว ควรที่จะรับเปนไมตรีตามราชประเพณี สืบดูกฎหมายอย่างธรรมเนียมกรุงศรีอยุทธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ก่อน ๒ ฝ่ายฟ้าเคยเปนสุวรรณปัถพีสืบราชวงษ์กันมา ครั้งนี้ขอให้มีพระราชสาส์น แลศุภอักษรขึ้นไปว่ากล่าวตามประเพณีแต่ก่อน จะได้เปนศรีสวัสดิในกรุงศรีอยุทธยา เหมือนแหวนเพ็ชร์เรือนทอง ถ้าเสนาบดีล้านช้างเห็นด้วย ให้นำความขึ้นกราบทูล จะขอพระราชบุตรีมาไว้เปนมเหษีกรุงศรีอยุทธยา ได้นำความขึ้นกราบทูล ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ทำตามคำปฤกษา จึงให้ทูตจำทูลพระราชสาส์น แลคำลูกขุนปฤกษาขึ้นมา เรื่องเจ้าพระยานครราชสิมามีแจ้งมาในพระราชสาส์นแล้ว แต่เรื่องหลวงวังไทยมอญลาวม่วงหวาน ๒๐ ครัว ซึ่งจะขอไว้นั้นไม่ควร ไม่ได้นำความขึ้นกราบทูล ถ้าอรรคมหาเสนาบดี จัดการเรื่องที่จะเปนบรมกัลยาณมิตรสำเร็จแล้ว เรื่องหลวงวังแลลาวม่วงหวาน ขอไว้นั้นก็จะได้อยู่ อนึ่งจะต้องการม้าใหญ่ศอกนิ้ว ๓๐๐ ม้า ให้ช่วยจัดม้าส่งลงมาให้ตามที่ต้องการ ราคาอย่างไรให้ช่วยทดรอง จะเบิกเงินคลังส่งขึ้นไปให้

เครื่องบรรณาการที่ส่งแลของที่ให้เสนาบดี มากกว่าที่ส่งลงมาหลายเท่า ศุภอักษรนี้ก็ลงวันเดียวกัน

ความคิดที่มีพระราชสาส์นแลศุภอักษรครั้งนี้ เจ้ากรุงธนบุรีมีท่าทางที่ควรหวังว่าจะสมคิดมากกว่าขอลูกสาวเจ้ากรุงจีน ฤๅมีท่าทางที่จะได้ลูกสาวเจ้าล้านช้างมากกว่าที่จะได้ม้า ๓๐๐ ข้อที่ขอม้าไปนั้นไม่ได้มีความมั่นหมายว่าจะได้ แต่เปนข้อหนึ่งซึ่งเปนทางที่จะอวดอ้างกำลัง การที่ลาวได้รับพระราชสาส์น แลศุภอักษรเช่นนี้ ใช่ว่าจะเดือดร้อนอันใด ก็นิ่งโอ้เอ้เสียไม่ตอบเท่านั้น เปนราโชบายอย่างดีของลาว กว่าจะมีอไรไปโดนปังเข้า จึงค่อยแล่นไปใหม่

แต่ไม่น่าจะสงไสยเลย ว่าเจ้าพระยานครราชสิมาคงจะได้รับท้องตรามีข้อความอย่างอื่น คือให้คิดอ่านสืบสวนหาครัวที่แตกฉานซ่านเซนขึ้นไป เอากลับลงมาบ้านเมือง พวกขบถที่แตกไปอยู่ดอนมดแดงนั้น เมื่อไม่มีผลประโยชน์อย่างใด ก็อย่าให้ไปปราบปราม ฤๅคิดเกลี้ยกล่อมเอาใจไว้ สังเกตดูตามศุภอักษรซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างน่า เจ้าพระยานครราชสิมาได้ทำอย่างที่เดานี้

ต่อนั้นมาข้างฝ่ายกรุงก็มีการทัพศึกพัวพัน ข้างฝ่ายล้านช้าง การวิวาทกับหลวงพระบางก็ไม่แล้ว ในปีเถาะตรีศกจุลศักราช ๑๑๓๓ นั้นเอง เจ้าวงษเจ้าเมืองหลวงพระบางก็ยกลงมาตีเมืองล้านช้างตามที่กลัวอยู่ แต่เวลานั้นศึกพม่ากับฮ่อสงบลง พระเจ้าล้านช้างจึงให้ไปขอกองทัพเมืองพม่ายกลงมาตีเมืองหลวงพระบาง ได้เมืองหลวงพระบางยอมอ่อนน้อมต่อพม่า เมื่อเมืองล้านช้างสิ้นกลัวอันตรายอันใดแล้วก็นิ่งเฉยเสีย ไม่ตอบพระราชสาส์น

แต่ครั้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๓๕ ปีมเสงเบญจศก โปสุพลายกมาตีเมืองล้านช้าง ด้วยพระวอไปขอกองทัพพม่ามาช่วยรบ แล้วก็หวนกลับเข้าไปเอาเมืองล้านช้างเอง กวาดต้อนราชบุตรเสนาอำมาตย์ไปเมืองอังวะ แล้วจึงไปตั้งอยู่เชียงใหม่ กำหนดว่าจะยกทัพลงมาตีกรุงเทพ ฯ ซึ่งได้มาตีเมืองลับแลเมืองพิไชย ๒ เที่ยวนั้น มีหนังสือให้เมืองล้านช้างยกมาตีเมืองนครราชสิมา แต่เจ้าล้านช้างหาได้ยกลงมาตามคำสั่งไม่ เมื่อกองทัพกรุงขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พวกลาวเมืองเวียงจันท์หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร คือพระยาหลวงเมืองแสนอรรคมหาเสนา พระยาหาญอาษา พระยาจันทวงษ พระยาโคตร พระยาบุตรโคตร แลผู้อื่น ๆ เปนท่วงทีพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ให้มีศุภอักษรขึ้นไป ลงวัน ๖ ๑ ค่ำ ปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ มีความว่า

ศุภอักษรท่านอรรคมหาเสนาบดีกรุงเทพ ฯ มาถึงอรรคมหาเสนาบดีกรุงศรีสัตนาคนหุต ด้วยมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า พม่ายกมาทำร้ายทางเมืองตาก บ้านระแหง เมืองกำแพงเพ็ชร์ทางหนึ่ง มาทางลันเตท่าดินแดงแขวงเมืองกาญจนบุรี เมืองศรีสวัสดิ ฝ่ายตวันตกทางหนึ่ง พระเดชานุภาพแผ่ไป พวกลาวมอญพากันทำร้ายพม่าล้มตายยับเยิน มอญแลลาวเข้ามาสวามิภักดิ์เปนข้าขอบขันธเสมาบ้าง พาครอบครัวอพยพเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารบ้าง ที่ตั้งต้านต่อตีรบพม่าเข้าไปก็มีบ้าง พระเดชานุภาพแผ่ไปถึงมอญลาว พระยาจ่าบ้านพระยาลำพูนแลลาวแว่นแคว้นเชียงใหม่ลำพูน ก็มาสวามิภักดิ์ขึ้น ยังแต่โปชุพลาโปมยุง่วน จะเสด็จขึ้นไปสังหารเสียให้สิ้น ให้เสนาบดีทูลพระเจ้าศรีสัตนาคนหุต ให้คอยฟังข่าวเอา กรุงอังวะเห็นจะไม่พ้นเงื้อมพระหัดถ์ จะขึ้นไปเอามาใช้เปนข้า

แต่กรุงศรีสัตนาคนหุตเดิมเปนมิตรแล้วละราชไมตรีเสีย ไปเปนใจด้วยพม่านั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ยังไม่เสียคลองพระราชไมตรี จึงให้ส่งลาวล้านช้างซึ่งพม่าเอาไปมัดผูกจำจอง ขึ้นมาให้อรรคมหาเสนาบดีทูลถวายเจ้าล้านช้าง ให้เร่งเปนใจไปด้วยพม่า จงเกณฑ์กองทัพไปช่วยโปชุพลา โปมยุง่วน ถึงเมืองเชียงใหม่ จะเสด็จขึ้นไปตี ประการหนึ่งให้เร่งตัดท่าทาง ขนเข้าปลาเสบียงอาหาร อย่าให้กองทัพไทยไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุตได้ ประการหนึ่งจงโอบอ้อมเอาไทยข้าขอบขันธเสมากรุงเทพ ฯ ไว้ จะได้กันกรุงศรีสัตนาคนหุตเห็นจะรุ่งเรืองเปนใหญ่ เพราะเปนใจไปด้วยพม่าแท้ อย่าให้ไพร่เมืองลาวเปนศุขได้ แต่ไพร่เมืองลาวก็ไปสู่พระบรมโพธิสมภารประมาณหมื่นหนึ่งแล้ว บัดนี้ได้ส่งพระยาเมืองแสนกับท้าวพระยามีชื่ออิก ๖ คน ไพร่ชาย ๖๑ หญิง ๓ ขึ้นมาให้อรรคมหาเสนาบดีทูลถวายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ศุภอักษรฉบับนี้ ให้พระยาหลวงเมืองแสนถือไปเมืองล้านช้าง

ตามข้อความนี้ดูกริ้วมาก แลที่จริงก็ควรจะกริ้ว ศุภอักษรฉบับนี้เรียงข้อความอยู่ข้างแขงดี

คราวนี้ไม่ใช่เวลาที่ลาวจะช้า ได้ข่าวว่าลาวเข้ามาอยู่เมืองไทยถึงหมื่นหนึ่งก็ตาเหลือก ทั้งถูกพม่าทำเสียเจ็บแสบยับเยินมาก จึงได้มีพระราชสาส์นตอบศุภอักษรในเดือน ๔ ปีนั้นเอง หนังสือไปเมืองลาวได้ตอบใน ๒ เดือน นับว่าเปนอย่างเร็วที่สุด แลข้อความในศุภอักษรฉบับนี้ออกจะยกย่องมากขึ้นด้วย ดำเนินความว่าจุลศักราช ๑๑๓๔ ตัว ได้รำพึงถึงทางพระราชไมตรี จึงได้แต่งทูตลงมา แลทัพพระยานครราชสิมาก็ยังจำเริญทางพระราชไมตรีมิได้ขาด ความที่ว่าเช่นนี้เปนการแก้ตัวเก้อ ๆ ด้วยความกระดากใจ แล้วจึงชักความต่อไปว่า

มาจนถึงศักราช ๑๑๓๕ ตัวนั้น โปชุพลาถือมหันตโยธามาข่มเหงกรุงศรีสัตนาคนหุตก็เปนโทรมนัศทุกขาแก่ประชากร ข่มเหงเอาพระราชบุตรแลเสนาอำมาตย์ไปกรุงอังวะค้างอยู่ ตัวโปชุพลาถอยไปเชียงใหม่ ให้มาว่าขอให้เมืองล้านช้างเอากำลังมาทางเมืองนครราชสิมา เจ้าล้านช้างรำพึงถึงทางพระราชไมตรีแต่ก่อน ไม่เคยเปนเวรานุเวรกัน จึงขัดเสียมิมา

อยู่มาศักราช ๑๑๓๖ ตัว สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงพระกรุณาสั่งเจ้าพระยานครราชสิมาให้ส่งศุภอักษร แลพระยาหลวงเมืองแสน มาถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต ณเดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ พระเจ้าล้านช้างได้แจ้งศุภอักษรแล้ว มีความโสมนัศปราโมทย์ จึงให้อรรคมหาเสนาพร้อมกับอริยสงฆ์ราชครู แต่งตั้งทางพระราชไมตรีให้ถาวรสืบไป จึงแต่งให้พระยาสุธาราชาจ่าบ้านปัญญามงคล พระยามหาอำมาตย์สุรตังรไมตรี จำทูลพระราชสาส์นมงคลราชบรรณาการ ลงมายังพระเจ้ากรุงเทพ

ข้อซึ่งข้าไพร่กรุงเทพอันขึ้นไปอยู่กรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ไม่ได้ห้ามหวงป้องกัน เมื่อพระยานครราชสิมาจะกลับ ก็ได้บอกป่าวร้องให้คืนไป ส่วนผู้ซึ่งมิอยากไป ก็หลบหลีกอยู่ ผู้ที่สมัคไปก็มี ได้ให้คืนไป เจ้าพระยานครราชสิมาคืนไปถึงเมืองแล้วใช้ให้กรมการมาขอ ก็ได้บอกป่าวร้องกะเกณฑ์ให้ไป ภายหลังได้ให้ขึ้นไปขออิก ก็ได้ป่าวร้องให้หัวบ้านหัวเมืองส่งไปให้อิกก็มาก บัดนี้ยังค้างอยู่แต่พวกที่เปนทุกขยากแอบแฝงทำมาหากินอยู่ ไม่ได้มีจำนวนไว้

อนึ่งราชบุตรราชนัดดาเสนาอำมาตย์ อันไปค้างอยู่เมืองอังวะนั้น คืนมาถึงบ้านเมืองเมื่อใด ก็จะให้พร้อมกันแต่งการนำเครื่องมงคลราชาภิเศกสมเด็จพระเจ้ากรุงเทพ

อิกประการหนึ่ง พระราชบุตรพระราชนัดดาเสนาอำมาตย์ ที่ไปค้างอยู่เมืองอังวะ จะหลีกหนีลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกรุงเทพเมื่อใด ขอให้มีความเมตตากรุณาไพร่กรุงศรีสัตนาคนหุต อันกลัวพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ขอให้กลับไปบ้านเมือง พระราชสาส์นนี้ลงวัน ๔ ๔ ค่ำปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖

ศุภอักษรเสนาบดีมาถึงเสนาบดื อ้างถึงการที่พระยาไทรทรงยศมาครั้งก่อน แลโปสุพลาลงมา ศักราชไม่ตรงกันกับพระราชสาส์นทั้ง ๒ แห่ง เปนด้วยแรงหลวม มีความชัดว่าลูกเจ้าล้านช้างที่ส่งไปนั้น คือเจ้าราชบุตร พระยาหลวงเมืองแสน พม่าเอาตัวขึ้นไปเชียงใหม่ศักราช ๑๓๖ ตัว เดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำ โปชุพลาให้พม่าสามร้อย ถือหนังสือมาสั่งให้เมืองเวียงจันท์ เข้ามาตีทางเมืองนครราชสิมา เมืองล้านช้างไม่ยอมทำตาม แลที่โปรดให้พระยาหลวงเมืองแสนกลับขึ้นไป เปนที่ยินดี จึงได้ให้พระยาสุพรรณบัตรมงคล พระยาสุพันธุมิตรไมตรี ท้าวตัง นำสมณสาส์น แลศุภอักษรมาถึงอรรคมหาเสนาบดี ต่อนั้นไปก็แก้ตัวเรื่องครัวไทย แลจะให้เสนาอำมาตย์ราชโอรส ลงมาทำอติเรกการมงคล ขอให้ช่วยส่งพลเมืองลาวคืนเหมือนในพระราชสาส์น

มีศุภอักษรพระยาหลวง เมืองแสน เฉพาะตัว มายังเสนาบดีอิกฉบับหนึ่ง บอกว่าได้พึ่งพระบารมีกลับมาถึงบ้านเมือง นำกิจการทุกประการ กราบทูลพระเจ้าล้านช้างแล้ว ทรงยินดีนัก จึงแต่งให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์น สมณสาส์น แลศุภอักษรลงมา

ในหนังสือฉบับนี้ว่า มีศุภอักษรโปรดขึ้นไป ให้จับพม่าซึ่งลงมาอยู่ในกรุงล้านช้าง จำส่งลงมาถวายนั้น พม่าที่แตกจากเชียงใหม่ ไม่ได้ไปเมืองล้านช้าง พม่าซึ่งโปชุพลาให้ลงมาขอกำลังนั้น เมืองนครลำปางได้สกัดฆ่าฟันเสีย ไม่ได้มาถึงเมืองศรีสัตนาคนหุต

อิกประการหนึ่งครอบครัวข้าไพร่กรุงเทพฯ ที่อพยบเข้ามาอยู่ในกรุงศรีสัตนาคนหุต มากน้อยเท่าใดมิได้เกียจกัน แจ้งอยู่ในสุวรรณบัตรแลศุภอักษรทุกประการ ขอให้เสนาบดีนำขึ้นกราบบังคมทูล

หนังสือนี้ลงวันศักราช ๓๖ ตัว เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำวันจันทร์

มีสมณสาส์นอิกฉบับหนึ่ง มีจดหมายไว้ว่าได้รับวัน ๒ ๑๕ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัปตศก ข้อความในสมณสาส์นนั้น ครึคระเต็มที แต่งเปนภาษาไทยแล้ว ยังต้องแปลออกเปนภาษาไทยอิกที ใจความนั้นก็ฝากของมาเปนบรรณาการ สมเด็จพระสังฆราช จิวรไหมคู่ ๑ จีวรผ้าด้ายคู่ ๑ บรรจุในลุ้ง กับเสื่อ ๒ ผืน ฉันใดทางพระราชไมตรี ๒ พระนครจะวัฒนาการไปตราบเท่า ๕๐๐๐ พระวรรษา ก็ใส่ไว้ในปัญญาสมเด็จพระสังฆราช

มีการประชุมแปลพระราชสาส์นนี้ พระราชาคณ ๓๐ กับข้าราชการอิกเปนหลายคน สอบสวนว่าเปนถูกต้องแล้ว

ลัทธิโต้ตอบอย่างลาว มีเรื่องอไรมาแต่ครั้งไหนไม่ว่า เก็บร้อยกันลงราวกับจะแต่งพงษาวดาร กล่าวถึงศักราชทุกครั้ง แต่ศักราชนั้นจะห่างกันเท่าใดก็ช่าง เรื่องที่หนังสือมีไป ข้อความจะว่ากระไรก็ช่าง นึกจะตอบอย่างไรก็ตอบ ในตอนนี้เจ้ากรุงธนบุรีกริ้วเสียแล้ว ไม่มีพยายามที่จะแต่งคำนำพระราชสาส์นให้ยืดยาว ขึ้นต้นนิดหนึ่งก็จับใจความทีเดียว ข้อความในพระราชสาส์นนั้นว่า

เมื่อได้เห็นพระราชสาส์นแล้ว จึงสืบพม่าแม่กองทัพซึ่งจับมาได้ เมื่อได้ความแล้วก็ทรงขัดแค้น ว่าต้องข่มเหง เสียราชบุตรราชนัดดาไป ไม่เลี้ยงให้ได้ความอดสู แล้วซ้ำให้ส่งบรรณาการดอกไม้ทองเงิน ถ้ามิใช่พระเจ้าล้านช้างแล้ว ก็จะสู้เสียชีวิตร ที่ไหนจะทนทานมาได้ถึงเพียงนี้ ควรที่จะเสวยพระอสุชลธาราอยู่แล้ว ครั้งนี้กรุงศรีอยุทธยาจะขออาสา แต่ให้พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตบำรุงมาโดยพระราชทรัพย์ช้างม้ารี้พลบ้าง พระนครศรีอยุทธยา กับกรุงกัมพูชาธิบดี ขอรับประกันตีเอารัตนบุรอังวะ ส่งพระราชบุตรพระราชนัดดาไปถวาย ถ้ากรุงล้านช้างกลัวไม่ชนะพม่า กลัวไภยแปดเปื้อน ก็ให้เร่งบอกขึ้นไปยังเมืองอังวะให้ลงมารบกัน จะได้ดูทั้ง ๒ ฝ่าย พระเจ้าล้านช้างเปนอิศรภาพมงกุฎพระนครศรีสัตนาคนหุต จะมานิ่งทรมานอยู่มิกู้คืนพระนครดูก็อัศจรรย์ แต่ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยาจะทำไปกว่าจะได้กรุงอังวะ

อิกประการหนึ่งซึ่งทรงพระกรุณาการุญภาพเปนคลองทางบุรราชประเพณีนั้น ชื่นชมโสรมนัศยินดี จะได้มีความสงไสยในพระเจ้าล้านช้าง ผู้เปนโบราณกระษัตริย์นั้นก็หาไม่ แต่สงไสยว่าถ้าไม่ทรงพระกรุณาช่วยกันล้างพม่า ให้มหานครศรีสัตนาคนหุต หลุดพ้นจากทาษมาเปนไทยก่อน พระนครศรีอยุทธยาจะตามไปเปนเขยทาษกรุงอังวะฤา ก็มิเต็มพระราชหฤไทย พระราชสาส์นนี้ลงวัน ๓ ๗ ค่ำ ภูมิบาลฤกษ ปีมแมสัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗

ศุภอักษรมีกำกับพระราชสาส์นฉบับนี้ ข้อความอย่างอื่นก็เหมือนกันกับพระราชสาส์น แต่ยกเปนคำลูกขุนปฤกษากราบบังคมทูลเห็นควรจะทรงช่วย ยกคำพ้อตัดที่แรง ๆ ออกเสีย เติมคำยอพระเจ้าล้านช้างลงเสียลอยลิ่วทีเดียว เอากรุงกัมพูชาอำมาตย์แขกฝรั่งมอญจีนลาวพม่าเขมร เข้าเปนที่ปฤกษาพร้อมกันด้วย เมื่อนำความขึ้นกราบทูล ก็โปรดให้ทำตามคำปฤกษา แลบอกส่งเครื่องราชบรรณาการ แลพระราชทานเสนาบดี มีของพระราชทานพระยาหลวงเมืองแสนส่วนหนึ่งต่างหากด้วย ศุภอักษรนี้ลงวันเดียวกันกับพระราชสาส์น

ส่วนสมณสาส์นตอบ เปนทีเจ้ากรุงธนบุรีเล่นเสียใหญ่ แต่งให้เปนพระราชาคณนำสมณสาส์นเข้ามาถวายทอดพระเนตร มีรับสั่งแก่พระอย่างไร แล้วจึงนำสมณสาส์นมาปฤกษา ยกย่องพระเกียรติยศ แลพระคุณสมบัติอันมีในพระองค์ ทั้งที่ได้ทรงทนุบำรุงพระพุทธสาสนาแลบำรุงแผ่นดิน ขอให้พระสงฆ์เมืองล้านช้างพิจารณาดู ว่าซึ่งพระมหากระษัตริย์กรุงเทพมหานครทรงปฏิบัติเช่นนี้ จะต้องตามพระพุทโธวาทสมควร ซึ่งพระเจ้าล้านช้างจะเปนไมตรีฤๅไม่ ถ้าเห็นสมควรก็ให้ทูลให้เปนไมตรีกัน จะได้เปนที่พึ่งแก่ประชาชน ให้พระสาสนารุ่งเรืองไปถ้วน ๕๐๐๐ พระวรรษา

ของที่พระสังฆราชถวายมา จิวรไม่ได้ตัดเปนขันธตามพระวิไนยทุติยบัญญัติ ครองจะเปนอาบัติจึงบูชาไว้เปนพุทธบูชา ได้ส่งจิวรที่ตัดเปนขันธตามทุติยบัญญัติไปถวายเปนตัวอย่าง ให้พระสังฆราชห่มแลให้ว่ากล่าวพระสงฆ์ให้ห่มจีวรเปนขันธตามตัวอย่าง สมณสาส์นก็ลงวันเดียวกันกับพระราชสาส์น

เมื่อได้เขียนหนังสือนี้ส่งลงพิมพ์แล้ว ไปได้สำเนาศุภอักษรเมืองล้านช้างมาอิกฉบับหนึ่ง คัดจากหนังสือวชิรญาณ เล่ม ๓ น่า ๔๒ ปีกุนนพศกจุลศักราช ๑๒๔๙ ศุภอักษรฉบับนี้ ลงวัน ๓ ๑๐ ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัปตศก ตอบศุภอักษรล้านช้างซึ่งนัดให้ขึ้นไปรับพระยอดแก้วกัลยาณีศรีกระษัตริย์ พระราชธิดาเจ้าล้านช้าง ไม่ยอมไปรับเหตุด้วยเปนเวลาศึกติดพันนั้นประการหนึ่ง ฝ่ายล้านช้างไม่พูดถึงการที่จะเข้ามือกันต่อรบพม่าให้เปนมั่นคงนั้นอย่างหนึ่ง ในศุภอักษรว่า มีเข้าเตรียมอยู่พร้อมให้ขึ้นไปรับ ก็ตอบว่าไม่ขึ้นไปรับ จะเอาลงมาให้ก็ตามใจ

ศุภอักษรฉบับนี้ คงจะเปนฉบับหลังที่สุด ซึ่งปรากฎว่าหนังสือในลำดับเรื่องล้านช้างนี้คงจะหายอย่างมาก ๓ ฉบับ ถ้าหากว่าไม่มีพระราชสาส์น เพราะไม่เห็นกล่าวความถึงในศุภอักษรตามเคย ถ้าไม่มีพระราชสาส์นก็คงขาดศุภอักษรที่เสนาบดีเมืองล้านช้างมีลงมาฉบับเดียว ความจึงจะติดต่อกัน หนังสือนี้ไม่ควรจะหาย เมื่อสังเกตดูอาการกิริยาที่ลงพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณครั้งหนึ่งแล้ว ก็นิ่งหายเงียบไป จนถึงปีชวดสัมฤทธิศก จึงได้ลงต่อ ๆ กันไปอิก ๗ ฉบับ ก็ไม่เปนลำดับกัน หนังสือก็ยังพลัดพรายอยู่ การที่รวมหนังสือลงครั้งนั้น ไม่ได้ดูเนื้อความ ไม่ดูลำดับวันคืน ลงไว้ฟังเล่นเหมือนขานนาค จึงได้บกพร่องอยู่ดังนี้ ว่าโดยท้องเรื่องนั้นสืบอนุสนธิว่า

เมื่อพระเจ้ากรุงล้านช้างได้รับพระราชสาส์น ซึ่งลงวันเดือน ๗ ขึ้นค่ำ ๑ ปีมแมสัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ อันมีข้อความ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งว่าให้ปลดเปลื้องจากเปนเชลยพม่าเสียก่อนจึงจะยอมเปนเขย อิกข้อหนึ่ง ว่าจะรับอาสาไปติดตามพระราชบุตรจากพม่ามาคืนให้ แต่ต้องอุดหนุนด้วยกำลัง ฤๅโดยพระราชทรัพย์บ้าง

เจ้าล้านช้างจะตอบพระราชสาส์น ฤๅจะให้มีลงมาแต่ศุภอักษรข้อความก็เปนอย่างเดียวกัน ว่าพระราชธิดานั้นให้แต่งขึ้นไปรับเถิด ข้อที่จะให้ช่วยอุดหนุนกำลังนั้น ได้เตรียมเข้าไว้ ๕๐๐ เกวียน พร้อมแล้วให้ขึ้นไปขนเอา แลเมืองล้านช้างไม่มีปืนที่จะรักษาบ้านเมืองพอ ขอให้ส่งปืนขึ้นไปให้ ๒๐๐๐ บอก

เจ้ากรุงธนที่จะยอมเสียทีในเชิงเช่นนี้ไม่มี ในเดือน ๑๐ นี้ กำลังพม่าเขาชงุ้มบางนางแก้ว แลที่อื่นแตกเลิกไปหมด เปนเวลาที่กำลังมีไชย จึงได้ตอบขึ้นไปว่า ถ้าพม่าไม่ยกลงมาก็จะยกขึ้นไปตีพม่า จะรับพระราชธิดาเจ้าล้านช้างลงมาไว้ก็เปนห่วง ในเวลาไปทำศึก ทั้งเจ้าล้านช้างก็ไม่รับที่จะช่วยกันต่อสู้พม่า ปืนที่ขอลงมานั้น ถ้าจะสู้พม่าแล้ว จะให้คนขึ้นไปกับปืนคาบศิลาสักสี่ห้าพัน ฝึกหัดชาวล้านช้างให้ยิงปืนเปน เข้าที่จะให้ขึ้นไปรับนั้นก็ไม่ไปรับ เมื่อจะเอามาส่งได้ก็เอามา ถ้ามาไม่ได้ก็แล้วไปเถิด เพื่อจะไว้ชั้นเชิงให้เปนสง่า

เห็นว่าศุภอักษรฉบับนี้ จะเปนฉบับหลังที่สุด เพราะข้อความนั้นเอื้อมเข้าไปเปนทางจะขึ้นไปรักษาเมืองล้านช้าง ทีเจ้าล้านช้างก็จะเปนที่ระแวงใจ อิกประการหนึ่งข้างฝ่ายกรุงในเวลานั้นเอง อแซวุ่นกี้ก็ยกเข้ามาตีเมืองพิศณุโลกย์ เห็นจะเปนยุติสงบเรื่องกันตอนหนึ่ง

มาเกิดขึ้นใหม่ก็เรื่องพระวอ ในปีจอสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๔๐ ซึ่งทัพกรุงยกขึ้นไปตีได้เมืองล้านช้าง แลราชประยุรวงษ์พระแก้วพระบางลงมา

๖๔ ฝ่ายผู้รักษากรุงเก่าเชื่อถือมหาดาว่า (เปน) ผู้มีบุญ จะมารื้อถ่ายการน้ำ จะขนทรัพย์ขึ้นสร้างวัดพระราม ผูกโครงช้างเผือกผู้งาดำ ผ้าขาวหุ้มโครง ผ้าดำหุ้มงา เพลาเย็นรอน ๆ ชูรูปช้างไว้วัดถะมุฆราช (ธรรมิกราช) คนที่ไม่รู้ด้วยในกลเชื่อถือมาก

๖๔ เรื่องมหาดาทำกลโกหกได้ความพิศดารออกไป ชื่อวัดซึ่งเขียนว่าถมุฆราชนี้ คือ วัดธรรมิกราช

๖๕ เมืองมือด่างโกหกอยู่วัดสังฆจาย ขึ้อน้ำยาเสน่ห์ล่วงอาญาจักร หม้อละ$\begin{array}{c} \\\begin{array}{c|c} ๕&\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ ไปประสมมหาดาวัดพระราม ได้แจกลงมาถึงข้างใน วิเศทต้นเถ้าแก่แม่เจ้าได้ทาด้วยหลายคน ผู้รั้งกรมการหลงเชื่อถือหมด จะได้รื้อถ่ายการน้ำก็หามิได้ มหาดาคิดล่อลวงถ่ายเททรัพย์ผู้เชื่อถือมาบุรณทำบุญด้วยเปนอันมาก จนได้ปิดทองพระเกือบแล้ว

๖๕ เมืองมือด่างนี้เปนหมออิกคนหนึ่ง ไม่มีปรากฎในพงษาวดาร ซึ่งเรียกเมืองมือด่างเฉย ๆ นี่เปนอย่างลัทธิที่เคยมี แก่แล้วจะไปเรียกอ้ายก็สงสาร เปนผู้สมรู้กับอ้ายมหาดา

๖๖ กิติศัพท์รู้ลงมาถึงท่านราชาคณะ พระพนรัตวัดระฆังถวายพระพรรับสั่งให้นิมนต์มหาดาลงมาณวัดแจ้ง ให้ชุมนุมสงฆ์ไล่เลียงดูถามกิจสมณะมหาดาว่าจะบุรณวัดที่ชำรุดพม่าเผาเสีย จะบุรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร พระอุโบสถ พระพุทธรูป เจดียฐานขึ้นอย่างเก่าโดยสติปัญญา พระพนรัตถวายพระพร แผ่นดินต้นก็เห็นด้วย รับสั่งให้มหาดาขึ้นไปสร้างวัด อิ่มเอิบกำเริบอิทธิฤทธิ์ว่าจะฆ่าไม่ตาย ได้กลับขึ้นไป ผู้คนหลงใหลเชื่อว่ามหาดามีบุญจริง จะขี่ช้างเผือกผู้งาดำขึ้นปราสาทสุริยาอำมรินทร์

๖๖ ข้อที่เรียกมหาดาลงมาชำระแล้ว หลงเชื่อปล่อยให้กลับขึ้นไปใหม่ นี่ไม่ได้ลงในพงษาวดาร

๖๗ เมื่อมหาดากลับขึ้นไป รับสั่งให้สุริยภักดีธรมาแตงขึ้นไปฟังดูแยบคาย ว่าจะศรัทธาจริงฤๅจะคิดเปนการแผ่นดิน ดูแยบคายให้แน่ สุริยภักดีธรมาแตง เพลาสงัดถือดาบเดินขึ้นไปบนปรางค์วัดพระราม เห็นมหาดานอนตื่นอยู่ในปรางค์แต่สองคนกับที่เรียกพระท้ายน้ำ มหาดาตกใจกลัวยกมือคำนับผิดกิจสมณะ เขาซักว่าได้เงินทองเอาไปเสียไหน มหาดาว่าถ่ายเทกันเก่าไปใหม่มา เห็นเปนกลโกหกแน่กลับลงมาทูล

๖๗ สุริยภักดีธรมาแตง แปลไม่ออก จะเปนพระสุริยภักดีคนหนึ่ง พระยาธรมาแตงคนหนึ่ง ก็ไม่ใช่ บางทีจะเปนพระสุริยภักดีคนนี้ เปนบุตรพระยาธรมาแตงได้ฤๅอย่างไร ข้อที่ว่าถ่ายเททรัพย์เก่าไปใหม่มา ดูเหมือนจะหมายความว่าเงินที่ได้รับมาแล้ว เอากลับคืนไปให้เข้าเรี่ยรายอิก เพื่อจะให้ปรากฎว่ามีคนนับถือมาก ล่อให้คนนับถือตาม

๖๘ จึงรับสั่งให้เจ้าลูกเธอกรมอินทรพิทักษ์ขึ้นไปจับ เธอเมตตาสัตว์ที่หลงทำบุญเชื่อถือมหาดาให้ฝีพายกระทุ้งโห่ร้องขึ้นไป ที่ได้ยินเสียงอื้ออึงหนีได้มาก ที่ยังอยู่ในบริเวณวัดนั้น จับส่งลงมา ทั้งผู้รั้งกรมการกรุงเก่าข้าราชการที่อยู่แขวงกรุงหลงเชื่อจับส่งลงมาหมด รับสั่งว่าตั้งเดโชท้ายน้ำจตุสดมภ์ ยังขาดแต่พระยายมราช (พระยายมราชของเรา) อยู่ในระหว่างโทษ ฝากไปกับมหาดา วิเศทต้นเถ้าแก่ยายเลี้ยงที่ได้ทายาเมืองมือด่าง ล่วงอาญาจักรไปประจบมหาดา รับสั่งให้ประหารชีวิตรเสียด้วยกัน แต่มารดาเจ้ากับอยู่งาน ๔ คนด้วยกัน ลงพระอาญาคนละร้อยจำไว้

๖๘ กรมหมื่นอินทรพิทักษ์ขึ้นไปจับมหาดานี้ก็ไม่ปรากฎ แต่ข้อที่ใจดีนั้นน่าจะถูกต้อง สังเกตดูเจ้าคนนี้เปนคนอ่อนต้องรับโทษทัณฑ์ก็มาก การทัพศึกก็ดูไม่เข้มแขง ในจดหมายบานแพนกที่ลงในหนังสือเทศาภิบาล เรียกเปนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เจ้ากรุงธนบุรีจะเห็นอย่างไรอยู่ จึงได้คิดจะเอาหลบออกไปเปนเจ้ากรุงกัมพูชา ยกเจ้าฟ้าเหม็นขึ้นเปนเจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์ ดูเหมือนจะเห็นการภายในว่าจะไปไม่ตลอด แลดูพระพุทธยอดฟ้า ไม่ถือว่าเปนสำคัญอันใดในเจ้าองค์นี้ เมื่อเวลายกทัพออกไปเมืองเขมรด้วยกัน พร้อมกับเจ้าบุญจันท์ กรมขุนรามภูเบศร์ ให้จับเจ้าบุญจันท์สำเร็จโทษ แต่เจ้าจุ้ยกรมขุนอินทรพิทักษ์นี้ ให้แต่เขมรล้อมไว้เท่านั้น ก็แหกหนีเข้าเมืองปราจินได้ แต่ครั้นเมื่อไพร่พลทราบว่าเปลี่ยนแผ่นดินทิ้งเสีย ก็พากันหนีขึ้นไปกับพระยานครราชสีมาเก่า ซึ่งถูกเปลี่ยนสำหรับให้กรมพระราชวังหลังขึ้นไปเปนผู้สำเร็จราชการเมือง พากันไปอาไศรยอยู่ที่เขาน้อยใกล้ปัถวี ทีจะไปอยู่นานไม่เร็วนัก ถึงปลูกต้นหมากรากไม้ไว้ ครั้นได้ตัวลงมาก็ทรงพระกรุณาโปรดจะไม่ประหารชีวิตร แต่หากตัวไม่ยอมอยู่ เห็นจะเปนคนอ่อนมากจนไม่น่ากลัวอันตราย

๖๙ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกเข้าเมืองได้ณวัน ๒ ๑๐ ค่ำ เจ้าเมืองหนี ได้พระแก้ว พระบาง

๖๙ ความตรงนี้เอาเรื่องมหาดาแทรกกลาง เรื่องจึงได้แขวนอยู่ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกไปล้อมเมืองเวียงจันท์ อยู่จนวัน ๒ ๑๐ ค่ำ จึงได้ ๆ เมือง เจ้าบุญสารเจ้าเมืองล้านช้างหนี ได้พระแก้วพระบาง

๗๐ พระไอยกาเข้าเมืองได้ ๓ วัน เจ้าลูกทรงครรภ์ประสูตรเจ้า ณวัน ๖ ๑๐ ค่ำ ประสูตรเปนพระราชกุมาร ประโคมแตรสังข์ ลั่นฆ้องไชย แมงมุมทั้งไข่จิ้งจกตกพร้อมกันแมงมุมอนิจกรรม จิ้งจกไปได้ ๑๒ วันเจ้าแม่สิ้นพระชนม์

๗๐ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกพระไอยกาเข้าเมืองเวียงจันท์ได้ ๓ วัน ข้างนี้เจ้าลูกประสูตร นี่กล่าวโดยความชื่นชมยินดีสนิทสนม เจ้าลูกองค์นี้ คือสมเด็จพระเจ้าปฐมบรมไอยิกาเธอ ทีท่านผู้แต่งหนังสือนี้ จะได้ไปอยู่ที่นั้น เหตุด้วยเปนหลาน จึงรู้เรื่องแมลงมุมแลจิ้งจกตก แลรู้เรื่องสิ้นพระชนม์ใน ๑๒ วัน

๗๑ ส่วนเจ้าลูกให้พระพี่นางเธอเอาไปเลี้ยง ให้นามเจ้าสุพันธุวงษ์

๗๑ คำที่เรียกว่าพระพี่นางในที่นี้ เปนข้อสงไสยอันหนึ่ง ซึ่งยังจะมีต่อไปในข้อที่ลงโทษภายน่า ว่าจะเปนพระพี่นางของเจ้ากรุงธนบุรี ฤๅสมเด็จพระเทพสุดาวดี สมเด็จพระศรีสุดารักษ์ไว้วินิจฉัยต่อไป แต่ข้อซึ่งต้องจดลงไว้ว่าประโคมในเวลาประสูตร แลนามสุพันธุวงษ์ เพื่อจะให้รู้ว่าเทียบที่เจ้าฟ้า

๗๒ ศพนั้นก่อกุฎิ์ไว้วัดบางยี่เรือ ให้ประโคมทุกเพลา ณเดือนอ้ายมีศุภอักษรขึ้นไปถึงเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก ว่าสำเร็จการศึกแล้วให้กลับลงมา บุตรนั้นเสียแล้วยังแต่หลานเปนผู้ชาย แล้วรับสั่งให้หาเจ้านครด้วย

๗๒ การพระศพสมเด็จพระเจ้าปฐมบรมไอยิกาเธอ ซึ่งเปนพระมารดาเจ้าฟ้าเหม็นองค์นี้ มีหมายว่าจุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก มีหมายเวรนายควรรู้อัศว์ ว่าเจ้าพระยาจักรีรับรับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่าจะได้พระราชทานเพลิงพระศพพระมารดาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ณวัดบางยี่เรือนอก ให้ทำการเมรุเปนอย่างพระศพเจ้าฟ้า แลเครื่องการพระศพครั้งนี้ เจ้าพระยาจักรีให้ช่างทำสังเคดเอก ฉัตรราชวัตรหีบบุทองอังกฤษทั้งสิ้น แลโรงพิเศษทิมพระสงฆ์สังเคตสามสร้าง แลโขนโรงหนังรำ ระทาดอกไม้เพลิงต้นกัลปพฤกษ์ การทั้งปวงเหมือนอย่างพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ พระเจ้านราสุริวงษ์ จะได้พระราชทานเพลิงพระศพพระมารดาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ณะเดือน ๗ ปีวอกโทศก หลวงศรีกาฬสมุดให้ตัวอย่าง มีรูปเมรุ ในงานเมรุคราวนี้ พระราชทานเงินโรงการเล่นขึ้นทุก ๆ อย่าง

๗๓ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกทราบแล้ว เร่งรีบการที่จะส่งพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกฎลงมา ประทับ (รอน) แรมมาถึงกรุงเก่า ณวันเดือนสี่ รับสั่งให้ตั้งพลับพลาที่ประทับ ณบางธรณีสวนมปราง

๗๓ การรับพระแก้วมรกฎมีในหมายรับสั่งเหมือนกัน เริ่มว่าณวัน ๓ ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๑ ปีกุนเอกศก เสด็จออกท้องพระโรง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกฎ (เสด็จ) ณวัน ๕ ๓ ค่ำเพลาตี ๑๑ ทุ่ม ถึงท่าเจ้าสนุกณวัน ๖ ๓ ค่ำ ครั้นณวัน ๓ ๓ ค่ำ พระแก้วมาถึงท่าเจ้าสนุก ครั้นรุ่งขึ้นณวัน ๔ ๑๐ ๓ ค่ำ ปีกุนเอกศก ตั้งการสมโภช ให้มีเครื่องเล่น ต้นกัลปพฤกษ์ ๓ วัน ๓ คืน กลางวันมีลครหลวงวิชิตณรงค์หนึ่งโรง ช่องระทา ๓ โรง เพลงนายอ้นนายดีหนึ่งวง ปรบไก่นายแก้ว อำแดงนุ่นหนึ่งวง ญวนหก กลางคืนหนังโรงใหญ่พระราชสุภาวดีโรงหนึ่ง หมื่นแก้วโรงหนึ่ง ต้นกัลปพฤกษ์วันละ ๔ ต้น ๆ ละ $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ ทั้ง ๓ วัน เปนเงิน $\begin{array}{c}๑๒ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ ดอกไม้มีระทา ๔ ระทา จุดทั้ง ๓ คืน๑๐

ครั้นรุ่งขึ้น ณวัน ๗ ๑๓ ๓ ค่ำ เพลาเช้า แห่พระแก้วพระบางไปลงเรือต้นตพานเรือกเก่าฟากตวันตก เปนเรือพระที่นั่ง ๑๓ วา ทรงพระแก้วลำหนึ่ง เรือพระที่นั่ง ๑๕ วา ซึ่งถวายพระสงฆ์วัดชลัก ทรงพระบางลำหนึ่ง โขมดยาทองทึบใส่พระคำภีร์ลำหนึ่ง เรือคู่แห่พระราชาคณะ โขมดยาใหญ่ ๔ โขมดยาน้อย ๓๓ รวมเรือโขมดยา ๓๗ เรือศีศะนก ๑๑ เรือพระสงฆ์กราบ ๑๑ รวมเรือพระ ๕๗ ลำ เรือดั้งมีลครแลพิณพาทย์ครบลำ ๖ เรือกราบขึ้นไปรับพระแก้วพระบาง ๒ ลำ เรือพระที่นั่งกรมขุนอินทรพิทักษ์ลำหนึ่ง เรือตามเสด็จในกรม ๖ ข้าทูลลออง ฯ ๑๖ รวม ๒๒ รวมเปนเรือขึ้นไป ๒๕ ลำ เรือกราบกลับลงมาแต่กองทัพ เรือแฝง ๖ เรือข้าทูลลออง ฯ ๒๐ รวม ๒๖ ลำ รวมเรือกราบข้างฝ่ายคฤหัศ ๕๑ ลำ รวมเรือแห่ทั้งปวง ๑๑๕ ลำ

แห่ลงมาประทับแรมขนานน้ำ ประจำท่าพระราชวังหลวง (กรุงเก่า)

ครั้นรุ่งขึ้น ๑ ๑๔ ๓ ค่ำ แห่มาประทับแรมอยู่ที่ประทับสามโคก ครั้นรุ่งขึ้นวัน ๒ ๔ ค่ำ ถึงพระตำหนักบางธรณีเพลาค่ำวัน ๑ ๑๔ ๓ ค่ำ ณวัน ๒ ๔ ค่ำ ให้จุดดอกไม้เพลิง ๒ คืน มีดอกไม้รุ่ง ๔ ขด ฝอยทอง, กังหัน, ช่อม่วง, แลดอกไม้น้ำ,

๗๔ ณวัน ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก รับสั่งให้ข้างในลงเรือประพาศ ๔ ลำ ข้างน่า ๔ ลำ ให้เจ้านครแต่งประพาศ ๒ ลำ ๖ ลำด้วยกัน ให้พร้อมลำแต่ตีสิบเอ็ด

๗๔ เรือประพาศที่กล่าวไว้ในนี้แปลว่าเรือดอกสร้อยศักรวา เช่นเขาแต่งว่า “ศักรวามาพร้อมเรือประพาศ” ข้อความที่มีในร่างหมายว่าด้วยเสด็จขึ้นไปรับ วันคลาศเคลื่อนกันกับที่ท่านจดไว้นี้ แต่ควรจะเชื่อหมายรับสั่งเปนแน่ มีข้อความในหมายรับสั่งนั้นว่าดังนี้

“ครั้น ณวัน ๓ ๔ ค่ำ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกฎ ณพระตำหนักบางธรณี ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมง ฯทรงฯ ให้แห่ลงมานครธนบุรี กระบวรแห่น่าเครื่องเล่นโขนลงสามป้านหลวงรักษาสมบัติหนึ่ง งิ้วลงสามป้านพระยาราชาเศรษฐีหนึ่ง หลวงรักษาสมบัติหนึ่ง ๒ ลำ ลครไทยหมื่นเสนาะภูบาลลำหนึ่ง หมื่นโวหารภิรมย์ลำหนึ่ง ลครเขมรหลวงพิพิธวาทีลงเรือสามป้านลำหนึ่ง ปี่กลองจีนหลวงโชฎึกลำหนึ่ง ญวนหกลงเรือญวนลำหนึ่ง หุ่นลาวลงเรือกุแหละลำหนึ่ง ชวารำหน้าลำหนึ่ง มโหรีไทยหลวงอนุชิตธารา มโหรีฝรั่งหลวงศรียศ มโหรีเขมรพระองค์แก้วลำหนึ่ง”

“เรือดั้งเรือโขมดยาลงมาชักเรือลครรำ ๓ รามัญลำหนึ่ง ปลายเชือก ๒ หลัก สามป้าน ๔ คู่ชัก เรือพระที่นั่งทรงหนึ่ง เรือแฝง๑๑ ๘ เรือพระเจ้าลูกเธอ ๒๓ เรือคู่แห่ชัก ๘๔ รวมเรือกราบ ๑๑๒ ลำ แห่หลังเรือเครื่องเล่นงิ้วญวน ๒ ลำ เรือกราบแห่ ๑๖ รวม ๑๙ รวมเปนเรือขึ้นไปรับถึงบางธรณี ๑๕๔ ลำ บรรจบกับที่แห่ลงมารวมเปนเรือ ๒๔๖ ลำ”

พระแก้วมรกฎมาขึ้นที่ตพานป้อมต้นโพธิ์ปากคลองนครบาล คงจะอยู่เยื้องเหนือน่าพระอุโบสถเดี๋ยวนี้ สัศดีเกณฑ์ให้ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายทางแลล้อมรอบโรงพระแก้ว ตั้งกระบวรแห่มีเครื่องสูงกลองชะนะคู่แห่ ๔๐ แห่เข้าประตูรามสุนทรมาไว้ในโรง

๗๕ เรือข้าราชการสวนเรือพระที่นั่งเจ้าคันธวงษ์ล่มน่าวัดระฆังพี่เลี้ยงทั้ง ๔ รับเสด็จไว้ได้

๗๕ เจ้าคันธวงษ์คนนี้ไม่รู้ว่าใคร สุพันธุวงษ์เห็นจะไม่เรียกผิด เพราะเปนหลาน วัดระฆังเวลานั้นเรียกวัดบางว้า ที่เรียกวัดระฆังเรียกตามประจุบันเวลาเล่าเรื่อง

๗๖ พอสว่างเรือประพาศข้างใน ถึงน่าวัดไชยชนะสงคราม

๗๖ วัดไชยชนะสงครามนี้ เรียกตามเวลาที่เขียนหนังสือ ไม่ใช่เวลาเมื่อเกิดเหตุเหมือนกัน

๗๗ ดวงพระสุริยเยี่ยมเพียงปลายไม้ ฤกษ์บนนั้นวิปริต รูปเมฆเปนอาวุธ ผ่ากลางดวงพระอาทิตย์เปนอัศจรรย์

๗๗ คงจะได้เห็นกันว่าเปนลาง แต่เห็นจะยังไม่ใช่ลางแผ่นดินแผ่นทรายทีเดียว เปนลางจะถูกเฆี่ยนถูกฆ่ากันมาก

๗๘ พอสายงายถึงพร้อมกันที่ประทับ ทราบว่าเรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าคันธวงษ์ เรือข้าราชการสวนเรือเจ้าล่มพี่เลี้ยงทั้ง ๔ รับเสด็จไว้ได้ กริ้วบโทนพัน (พานท้าย) ที่นั่ง ให้ลงพระราชอาญาคนละร้อย ฝีพายคนละห้าสิบ

๗๘ คำที่ว่าบโทนพันที่นั่ง บโทนพานท้ายเรือพระที่นั่งเสียดอกกระมัง

๗๙ ขุนนางบรรดาตามเสด็จ ให้ลงพระราชอาญาภรรยาแทนผัว ๆ จะได้แห่พระแก้ว

๗๙ ถึงไปแห่ก็ไม่สนุกเต็มที

๘๐ เสด็จกลับรับพระแก้วพระบางลงมา เรือประพาศดอกสร้อยสักรวา มโหรีปี่พาทย์ลครโขนลงแพลอยเล่นมาตามกระแสชลมารค พยุหยาตรากระบวนเรือ ประทับท่าวัดแจ้งเชิญพระแก้วขึ้นทรงพระยานมาศ แห่มาณโรงพระแก้ว อยู่ที่ท้องสนาม

๘๐ แห่พระทางเรือตามที่ว่านี้ ลครโขนเล่นมาในเรือ ไม่ใช่ทอดทุ่นน่าพระตำหนักแพ ซึ่งเรือฤๅแพพระมาจอดฉลองอย่างเช่นทำกันในชั้นหลัง ๆ ร้องรำกันลงมาในกระบวนแห่ทีเดียว ดูก็จะครึกครื้นอยู่ ถ้าหากว่าไม่เงียบเหงาด้วยเรื่องเมียถูกเฆี่ยน

๘๑ พลับพลาเสด็จอยู่กลาง ลครผู้หญิงลครผู้ชายอยู่คนละข้าง เงินโรงผู้หญิง $\begin{array}{c}๑๐ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ เงินโรงผู้ชาย $\begin{array}{c}๕ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ มี ๗ วัน ต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น ๆ ละ $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ บรรดาการมหรศพสมโภชพร้อม เครื่องเล่นดอกไม้พุ่มสะทาถ้วนเสร็จ

๘๑ การฉลองพระแก้วแลพระราชกุศล อยู่ข้างจะได้ความกว้างออกไป พลับพลานั้นเห็นจะเปนพลับพลายาวปลูกขึ้นใหม่ ทอดพระเนตรได้ทั้ง ๒ ด้าน แต่ข้อความในหมายรับสั่งยังมีพิศดารขึ้นไปกว่านั้น คือพระแก้วลงมาถึงโรงแล้ว ไม่ได้สมโภชเปนการใหญ่ทันที จะเปนด้วยการปลูกสร้างฤๅตกแต่งยังไม่เรียบร้อยอย่างหนึ่ง จึงรอไว้สมโภชพร้อมกับวิสาขบุรณมี ในระยะที่ว่างนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิณพาทย์ไทยพิณพาทย์รามัญ แลมโหรีไทย มโหรีแขก ฝรั่ง มโหรีจีน ญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภช ๒ เดือนกับ ๑๒ วัน พระราชทานเบี้ยเลี้ยงผู้ที่มาเล่นนั้น หมื่นราชาราชมโหรีไทยชาย ๒ หญิง ๔ พระยาธิเบศรบดีมโหรีแขก ๒ มโหรีฝรั่ง ๓ พระยาราชาเศรษฐีองเชียงซุน มโหรีญวน ๑๕ พระยาราชาเศรษฐีจีน มโหรีจีน ๖ พระยารามัญวงษ์มโหรีมอญ คนเพลงชาย ๒ หญิง ๔ พิณพาทย์ ๙ หลวงพิพิธวาที มโหรีเขมรชาย ๔ หญิง ๓ หมื่นเสนาะภูบาลพิณพาทย์ไทย ๕ รามัญ ๕ ลาว ๑๒

ครั้น ณวัน ๗ ๖ ค่ำ เสด็จออกพลับพลายก ฯทรงฯ ให้เรียกเครื่องเล่นคู่มวยคู่ปล้ำ กระบี่กระบองทั้งปวงให้เล่นทอดพระเนตรก่อนการสมโภช ๔ วัน พระราชทานรางวัลถึง $\begin{array}{c}๒๕ \\\begin{array}{c|c} ๓&\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$

งานสมโภชแท้นั้นได้เริ่มต่อวัน ๔ ๑๓ ๖ ค่ำ เปนต้น งานติดต่อกันไป ๗ วัน ๗ คืน การสมโภชได้แบ่งออกตั้งทั้ง ๒ ฟากลำน้ำเจ้าพระยา เหตุด้วยเวลานั้นไม่มีกำแพงข้างริมน้ำ ตั้งรทาฟากละ ๑๐ ต้น หว่างรทามีโรงรำ ๙ โรงทั้ง ๒ ฟาก ในโรงรำฟากตวันออกนั้น มีโขน ๓ โรง รำหญิง ๒ โรง งิ้ว ๑ โรง หนังกลางวัน ๑ โรง หุ่นลาว ๒ โรง กลางคืนมีหนังไทยหว่างรทา ๙ โรง หนังจีน ๒ โรงรวม ๑๑ โรง โรงงานมหรศพใหญ่ฟากตวันออก มีหุ่นลาวโรงหนึ่ง ลครเขมรโรงหนึ่ง งิ้วจีนโรงหนึ่ง งิ้วญวนโรงหนึ่ง รวม ๔ โรง การเล่นที่กันมาเล่นฝังตวันออก เปนงิ้วเปนหุ่นลาวลครเขมรเช่นนี้ เพราะเหตุที่ฟากตวันออกเปนหมู่บ้านญวนแลจีน เช่นตลาดสำเพ็ง มีผู้คนมาก

ส่วนข้างตวันตก โรงรำหว่างรทา ๙ โรง นั้นมีโขน ๒ โรง รำหญิง ๒ โรง งิ้ว ๑ โรง หุ่นมอญ ๑ โรง โรงงานมหรศพใหญ่ ลครข้างใน ๑ โรง เงินโรงวันละ $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} ๑๐&\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ โขนโรงใหญ่ ๒ โรง ลครผู้ชายโรงใหญ่ ๑ โรง เทพทอง ๑ โรง รวม ๕ โรง

หกไม้สูงสามต่อต้นหนึ่ง หกไม้ลำเดียวสามต้น ไต่ลวดสายต่ำหนึ่ง ญวนหก คนต่อเท้า ๒ คน ปรบไก่วงใหญ่ ๑ วง โมงครุ่ม รเบง ชวารำหน้า ตรีวิไสย กระอั้วแทงควาย จีนเงาะ กลางคืนหนังหว่างรทา ๑ โรง หนังโรงใหญ่ ๒ โรง มังกร ญวนรำโคม เวลาเย็นมีมวยน่าพลับพลา พระราชทานรางวัลใน ๗ วันนั้นถึง $\begin{array}{c}๔๖ \\\begin{array}{c|c} ๑๑&๓\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$

ต้นกัลปพฤกษ์ทิ้งทานฟากตวันออก ๔ ต้น ฟากตวันตก ๘ ต้น รวมวันละ ๑๒ ต้น ๆ ละ $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$

เขารวมเงินในการรับพระแก้ว ตั้งแต่เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ขึ้นไปรับที่ท่าเจ้าสนุกวัน ๕ ๓ ค่ำ มาจนถึงเสร็จการสมโภชวัน ๔ ๖ ค่ำ ทั้งค่าปลูกสร้าง ค่าเลี้ยง เงินงาน ดอกไม้เพลิง รวมกัน $\begin{array}{c}๓๗๙ \\\begin{array}{c|c} ๓&๑\\\hline &๒\\ \end{array}\end{array}$ ๒ ในท้ายจดหมายนั้นเขียนไว้ว่า “พระราชทานน้ำอฤตย กล่าวครื มรรค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑ สัถถาเทวามนุสานัง” ดูปลื้มมาก

๘๒ (เงิน) วันละ $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ แจกทานคนแก่อายุ ๖๐$\begin{array}{c} \\\begin{array}{c|c} ๑&๒\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ อายุ ๘๐ $\begin{array}{c} \\\begin{array}{c|c} ๒&\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ อายุร้อย $\begin{array}{c} \\\begin{array}{c|c} ๒&๒\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ สมโภชถ้วนสัตวาร

๘๒ เงินเพียงวันละชั่งเดียว แจกคนอายุ ๓ ชั้นนี้ คนแก่เห็นจะมีน้อยเต็มทีจึงได้พอ

๘๓ ให้มีลครผู้หญิงประชันกับลครเจ้านครวันหนึ่ง เงินโรง $\begin{array}{c}๕ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ ลครหลวงแบ่งออกประชันกันเอง โรงละ $\begin{array}{c}๕ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ มีอิก ๓ วัน

๘๓ ในจดหมายที่ได้ยกมาลงไว้มีแต่มีมโหรีก่อนงาน ซ้อมมวยก่อนงาน ในหนังสือกรมหลวงนรินทรเทวีนี้ กลับได้ความว่ามีท้ายงาน ต่อออกไปอิกถึง ๓ วันดังนี้ ลครเจ้านครนี้ดูออกจะตื่น ๆ กันอยู่อย่างไร แต่เริ่มแรกจับตัวได้ก็กล่าวถึงได้ลคร เมื่อกลับออกไปเปนเจ้านครก็กล่าวถึงเรื่องลคร จะฉลองพระแก้วก็ต้องให้หาตัวเจ้านครเข้ามา เพื่อจะให้เอานางลครลงเรือประพาศ แลเล่นสมโภชพระแก้ว ถึงให้มาเล่นประชันกับลครหลวง ทีลครของเจ้านครจะดีแลน่าจะไม่ใช่ลครชาตรี ที่จะดีเพราะไม่ได้บ้านแตกเมืองเสียด้วยพม่า ยังคุมโรงกันติดอยู่ ส่วนลครหลวงนั้นคงจะพึ่งผสมขึ้นใหม่ บทลครเจ้านครคงเปนบทที่ได้ไปจากกรุงเก่า แต่เมื่ออ่านเวลานี้คล้ายลครชาตรี แลเห็นว่าเปนชาวนอกคัดเขียนออกไป ได้คัดตัวอย่างตามฉบับเดิมไว้พอให้แลเห็น

“มาจ่กล่าวบทไป เถึงสุริวํงเทพใทเรืองษี สีอํงลวนทรํงธรนี ทุกบุรีตรีช่วาใมเทยิมทัน ทาวรวมบิตุเรดมานดา วิดทยายิงยวดกวดขัน อันพระเชตถาภูทรํงทำ งามลำเทวาเนรมิด ผิวภองออ่รสุนทร่าโฉม ประโลมโลกเลิดลำล่ลานจิด ดงงพระนะราวํงทรํงฤทธ ทุกทิดเกรงเดดกระจายจอน”

กล่าวเมืองที่แปลกซึ่งเห็นปรากฎว่ามีแต่กรุงเก่า ไม่มีในกรุงเทพ ฯ

“โรงเคริองโรงแสงใภยจิด เพงพิดเรยิงรันทรงสายขวา ที่นังโถงโรงสุวันอ่ลังกา สาลาใญด่าดภูดูงาม อันที่นังทรํงปีนทังซายขวา เปนสง่าเอกเอยิมเหยิมหาน เก้ยสํงสุมํนทาพิเสกชาน โรงอาลักเรยิงตามเปนลันมา”

หนังสือนี้ที่หอสมุดเขาว่าเปนพระราชนิพนธ์พระพุทธยอดฟ้า แต่ข้าพเจ้าเห็นมิใช่ เปนหนังสือบทลครกรุงเก่า ชาวเมืองนครศรีธรรมราชคัดไป สำเนียงจึงได้กวัดแกว่ง ถ้าหากว่าจะได้เปนพระราชนิพนธ์แก้ไข ก็มีแปลกอยู่แต่ที่ไม่ใช้น่าพาทย์คาบลงที่คำหนึ่งฤๅคำสาม นึกสงไสยว่ากรุงเก่าก็คงจะไม่ใช้กันมาบ้างแล้ว

แต่พระราชนิพนธ์เจ้ากรุงธนบุรีนั้นผิดจากนี้มาก มีเล่ากันว่าดังโฮกฮากหลายตอน เมื่อจวนจะคลั่งอยู่แล้ว พระราชนิพนธ์ที่ต้องถูกเฆี่ยนถูกตีกันมากตอนถวายลิง ว่า

“กลางวันก็ใช้กลางคืนก็ใช้ นั่งยามตามไฟตีเกลาะเคาะไม้อยู่ไม่ได้วังหนีมา”

ต้นเสียงร้องไม่ได้ถูกเฆี่ยนเสียหนักหนาจนร้องได้

ฉบับที่ได้เห็นดูไม่รุนแรงเหมึอนคำเล่าที่กล่าวมาแล้ว แต่ใช้ศัพท์ลึก ๆ รุ่มร่ามอยู่ น่าพาทย์ตามแต่จะต้องการที่ไหน ๆ ได้หมด ร้องได้คำหนึ่งก็ถึงน่าพาทย์ สามคำก็ถึงน่าพาทย์ ลักษณะที่เปนเช่นนี้ไม่ใช่เฉพาะเจ้ากรุงธนบุรี อย่างเก่าก็มีมา ส่วนที่เจ้ากรุงธนบุรีแก้นั้น มักจะปรากฎอยู่ในตอนทัพศึกแลในเรื่องอิทธิฤทธิ์วิชาไปทางนั่งพระธรรม

ตัวอย่างน่าพาทย์นึกจะเอาที่ไหนเอาที่นั่นดังนี้

“๏ ฝ่ายเทพะภาลีคมคัน เชิญพระพอรผายผรรอาษา มาจัดพลแปลงกายา เปนภาษาราชภาลี ๚

ฝ่ายเทวะท้งงนั้นบิดเบือน เหมือนหนึ่งวานรกระบี่ศรี ๚ แพละ

เหาะจากไกรลาศคิริย เข้าทำลายพิทธีทันใด ๚ เชิด กราว

เสนายักษ

๏ ฝ่ายมารซึ่งได้รักษา อหังกาเข้าบุกรุกไล่ ๚ เชิด วานร

พวกภาลีต่อชิงไชย เข้าดับไฟตีอสุรา ๚ เชิด ๒ คำ”

ตอนที่ว่าด้วยการรบทำนองเนื้อความดังต่อไปนี้

“๏ ทศกรรฐครั่นเห็นก็เดือดดาล ทยานเข้าชิงไชยศรี ปีกป้องกองหน้าเข้าราวี อสุรีผลันผลุนชิงไชย ๚ เชิด

ใหล้กระบี่ตีตามฟันฟาด ผาดโผดโจนติดกระชิดใหล้ วานรล้มตายพ่ายไป ใหล้ตามหั้มหั่นไพยรี ๚ เชิด ๔ คำ ๛

๏ พระรามก็ยอทับแดก แยกกองรุกรบยักษี ๚

๏ ฝ่ายกองคอยแอบในพนาลี ก็ตีขนาบข้างมา ๚ เชิด ๛

๏ กลับรบหมู่มารพังพ่าย ล้มตายมอศม้วยสังขา ใหล้รุกบุกบันฟันมา โกลาหะลังเปนโกลี ๚ เชิด กราวรำ ๔ คำ”

บทเข้าพระกรรมฐานร้องช้า ๒๐ คำ เหลือสติกำลังเช่นต่อไปนี้

ช้า พระมุนีจึงว่าเวรกำม์ มันทำท่านท้าวยักษี อันจะแก้ไขไปให้ดี ต่อกิจพิทธีว่องไว จึงจะสิ้นทิละสาบหยาบหยาม พยายามอะนุโลมลามใหม้ ล้างลนอะกุศลถุละใจ เข้าไปในเชาวะวิญ์ญาณ เปนศิละสุทวุทธิ หิริโดยตะทังคะประหาร คือบาทแห่งโคตระภูญาน ประหารโทษเปนที่หนึ่งไป แล้วจึงทำขึ้นที่สอง โดยเนกขัมะคลองแถลงไข ก็เปนศิลาทับรงับไป อับไพพิฦคะโอฬา อย่าว่าแต่พาละโภยไภย ปืนไฟไม่กินณะยักษา ท้งงหกสวรรคชั้นฟ้า จะฆ่าหย่างไรไม่รู้ตาย อย่าคัละนาไปถึงผู้เข็นฆ่า แต่วิญาคิดก็ฉิบหาย จะทำอย่างใดไม่รู้ตาย อุบายถอยต่ำลงมา อันได้เนกขัมะประหารแล้ว คือแก้ววิเชียรไม่มีค่า ท้งงฤทธิแลจิตระวิชา อิกกุพะนามะโนมัย กอบไปด้วยโสตรประสาทญาณ การชาติหน้าหลังลฦกได้ ถึงนั่นแล้วอันจะบันไลย ไมมีกะตัวถ่ายเดียว อย่าประมาณแต่การเพียงนี้ สามภพะธาตรีไม่คาเคี่ยว สาบไปแต่ในนาทีเดียว หมี่ทันเหลี่ยวเนตรอสุรา จะสาอไรกับรามลักษ ถึงไตรจักรทั่วทศทิศ์ษา ไม่ครันคฤๅฤทธิวิทธยา ถ้าปราถนาเจ้าเรียนเอา ๚ ๒๐ คำ ๛”

ข้อความที่เรียงลงนี้เปนความในใจเจ้ากรุงธนบุรี สำแดงออกให้เห็นชัดเจนดีนัก ที่เชื่อวิชากล้าหาญแลที่เพลิดเพลินในทางกรรมฐาน รูปร่างความคิดเปนเช่นนี้

ลครเจ้านครกับลครหลวงเล่น ก็เห็นจะพอตีรั้งกันไปคนละไม้

สังเกตดูโปรดลครมาก ไปตีเมืองฝางได้แล้ว ยังให้มารับลครขึ้นไปเล่นสมโภชพระฝาง การฉลองพระนี้ดูเจ้ากรุงธนบุรีเองจะสนุกมากกว่าคนอื่น

๘๔ ถวายเงินกัลปนาให้ซื้อทองคำเครื่องประดับพระแก้ว $\begin{array}{c}๑๐๐ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$

๘๔ พระแก้วเมื่ออยู่เวียงจันท์นั้น การตกแต่งเห็นจะไม่มีอะไรผิดจากพระธรรมดา จึงได้อุทิศเงินถวายไว้ ค่อยซื้อทองทำเครื่องประดับไป

๘๕ เสร็จการสมโภชแล้วให้ทอผ้าไตรย์เอกไตรย์ละ $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ ๑๐๐ ไตรย์ ถวายทั้งวัด

๘๕ การหาผ้าเวลานั้นจะเหลือหา จึงต้องทอ ราคาก็แพงมากอยู่ แต่คำที่ว่าถวายทั้งวัดลงไปข้างท้ายนี้ น่าจะพลาดพลั้งอย่างไรอยู่ ฤๅ “ทั้ง,” จะเปน “ทุก,” ถวายทุกวัด ฤๅสำหรับสวดมนต์ฉลองพระแก้ว

๘๖ ถวายเงินไปที่วัดชำรุดคร่ำคร่าในแขวงกรุงธนบุรี วัดละ $\begin{array}{c}๑๐ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ให้เจ้าวัดจัดแจงทำเครื่องบนขึ้น บุรณปฏิสังขรณ์โดยกำลังสมณเปนหลายวัด

๘๖ วัดเห็นจะไม่มีหลังคาโดยมาก เงินนี้คงจะสำหรับทำหลังคาครอบโบสถ์เท่านั้น

๘๗ ให้ปลูกไม้ไผ่ ๑๐๐๐ ไม้แก่น ๑๐๐๐ ไว้ท่าท่านผู้มีบุญจะมาข้างน่า จะได้สร้างปราสาท ไม้ไผ่จะทำนั่งร้าน ไม้แก่นดูกในก่อตั้งเสาปราสาทปลูกไว้สำหรับผู้มีบุญจะมาพระองค์ท่านจะเหาะแล้ว

๘๗ เรื่องปลูกไม้ไผ่. ปลูกไม้แก่น เห็นบ้าพูดเปนลาง

๘๘ ให้แต่งสำเภาทรงพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้าปักกิ่ง ว่าจะขอลูกสาวพระเจ้าปักกิ่ง ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชผู้เถ้า กับหลวงนายฤทธิหลวงนายศักดิ์เปนราชทูต หุ้มแพรมหาดเล็กเลวไปมาก แต่งเครื่องบรรณาการไปกล่าวขอลูกสาวเจ้าปักกิ่ง

๘๘ เรื่องขอลูกสาวเจ้าปักกิ่งนี้ เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าให้ฟัง แต่ครั้นเมื่อค้นดูในสำเนาพระราชสาส์นห้องอาลักษณ์ จำนวนจุลศักราช ๑๑๔๓ ได้ความว่าทูตครั้งนั้นเปน ๒ สำรับ ทูตที่เชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการตามเคยสำรับหนึ่ง แต่พระราชสาส์นนั้น ไม่ใช่ส่งของไปเจริญทางพระราชไมตรี ตามธรรมเนียมเท่านั้น มีข้อความแถมท้ายพระราชสาส์น เหมือนหนึ่งเข้าใจว่าหนังสือฉบับนั้น พระเจ้ากรุงจีนจะได้อ่านเอง

กล่าวโทษเจ้าพนักงาน ว่าเรียกค่าธรรมเนียมรับบรรณาการถึง ๓๐ ชั่ง แล้วก็ลดจำนวนบรรณาการลงเสีย หักเปนค่าธรรมเนียม แลขังทูตไม่ให้เที่ยวเตร่ แลแกล้งทูตไม่ให้กลับด้วยเรือของตัว ต้องโดยสารเรือเข้ามา ข้อความทั้งนี้พระเจ้ากรุงต้าฉิ่งทรงทราบฤๅไม่

ข้อหนึ่งเชลยที่ได้ส่งไปเมืองจีน เมื่อไม่อยากฟังเรื่องศึกพม่าแล้ว ขอให้ส่งกลับเข้ามาให้ถูกตัวถูกฝา คำที่ว่าถูกตัวถูกฝานี้ เจ้ากรุงธนบุรีชอบพูดนัก ตราตั้งเจ้านครก็ใช้ถูกตัวถูกฝา ถ้าเปนกรรมการกิมตึ๋งก็เห็นจะเปนสังฆราชผิดฝา ไม่ปรากฎว่าเชลยครั้งไรส่งไปเมื่อไร ที่จริงเชลยเหล่านี้ ก็คงตกอยู่ตามกวางตุ้งนั้นเอง

ต่อไปอิกว่าด้วยช่วยคนหาปลาเรือแตกพลัดเข้ามาบ้าง ช่วยจีนที่ลงมารบเมืองพม่า พม่าจับได้เอามาไว้เสียปลายเขตรแดนข้างใต้ กองทัพกรุงเทพ ฯ ขึ้นไปรบพม่าได้จีนเหล่านั้นมาเปนคราว ๆ หลายคราว ได้ให้เข้าสารให้เสื้อผ้าคิดเฟื้องคิดสลึง รวมเบ็ดเสร็จเปนเงิน ๔ ชั่งเศษ พระเจ้ากรุงต้าฉิ่งทราบความฤๅไม่

คราวนี้ ถวายของนอกบรรณาการ ฝาง ๑๐๐๐๐ หาบ, งาช้าง ๑๐๐ หาบ, ดีบุก ๑๐๐ หาบ, นอรมาด ๑ หาบ, พริกไทย ๓๐๐๐ หาบ, ช้างพลาย ๑ ช้าง

จะขอแต่งสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปเที่ยวละ ๓ ลำ อย่าให้ต้องเสียค่าจังกอบ จะซื้อของที่ไม่ต้องห้าม เช่นอิฐเข้ามาสร้างพระนคร

ขอให้ช่วยหาต้นหนสำเภา จะแต่งไปซื้อทองแดงเมืองยี่ปุ่น เข้ามาทำพระนครเหมือนกัน

ข้อความทั้งนี้ว่าลงไปในพระราชสาส์นหมด พระราชสาส์นลงวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก

พระราชสาส์นทราบภายหลัง ว่าถูกคืนให้แก้ใหม่ ให้เหมือนอย่างเก่า ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย

มีหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ถึงจ๋งต๊กหมูอี้ ขอป้ายสำเภาสร้างใหม่ ๒ ลำ กับให้ช่วยจ้างต้นหนเปนเงินเท่าไรจะเสียให้

อิกฉบับหนึ่ง เปนหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ว่าแต่งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช, พระยาราชสุภาวดี, พระพี่เลี้ยง, หลวงราไชย, หลวงศรียศ, หลวงราชมนตรี, นายฤทธิ, นายศักดิ, นายเวรมหาดเล็กข้าหลวง คุมสำเภา ๑๑ ลำ พาของไปถวาย จำนวนเท่าที่ว่ามาแล้วให้ลิปูต้าทั่ง ฝาง ๑๐๐๐ หาบ เหลือฝางอิก ๙,๐๐๐ หาบ ไม้ดำ ๓๐๐ หาบ ไม้แดง ๑๘๐๒ หาบ ๒๐ ชั่ง, ให้จ๋งต๊กหมูอี้ ฝาง ๕๐๐ หาบ, ไม้แดง ๕๐๐ หาบ, นายห้าง ๔ ห้าง ฝางห้าง ละ ๑๐๐ หาบ, ไม้แดงห้างละ ๑๐๐ หาบ เหลือฝาง ๑๗๐๐ หาบ, ไม้แดง ๙๐๒ หาบ, ไม้ดำ ๓๐๐ หาบ ๗๖ ชั่ง ให้ขายใช้จ่าย, ต้องการเตียบทองแดงสำหรับเลี้ยงพระ ๕๐๐ ใบ พานของคาวทองขาว ๒๕๐ ใบ หวาน ๒๕๐ ใบ หม้อทองแดงใส่ไฟ ๑๐๐ ใบ, ส่งตัวอย่างให้คุมออกไปด้วย แลให้ข้าหลวงมีชื่อเหล่านี้ซื้ออิฐส่งเข้ามาก่อน แล้วจึงให้เรือกลับไปรับทูต

ทูตสำรับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชนี้ คงมีพระสาส์นฉบับหนึ่งต่างหาก เรื่องขอลูกสาว แต่จะซ่อนแต่งซ่อนแปลกันยังไร ไม่ได้เก็บสำเนาไว้ในห้องอาลักษณ์ทีเดียวจึงไม่ได้ความ

มีบาญชีคิดเงินอยู่ในสมุดสำเนาพระราชสาส์น ว่าถวายเจ้าปักกิ่งเปนของนอกบรรณาการ คิดราคาสิ่งของตามบาญชีที่กล่าวมาแล้ว เปนเงิน ๑๘๖๖ ชั่ง ๓ ตำลึง ๒ บาทสลึง

ให้ลิปูต้าทั่ง คิดราคาของ เปนเงิน ๕๖ ชั่ง ๕ ตำลึง

ให้จ๋งต๊กหมูอี้ คิดราคาของ เปนเงิน ๓๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

ให้นายห้าง ๔ ห้าง คิดราคาของ เปนเงิน ๓๐ ชั่ง

รวมที่ส่งของไปแจกเปนเงิน ๑๙๘๙ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๒ บาทสลึง

เหลือสิ่งของสำหรับให้จำหน่ายใช้การ เพราะเหตุที่ไม่ได้เอาเงินออกไปจ่าย เอาของออกไปจ่ายต่างเงิน เปนราคา ๔๕๓ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึงเฟื้อง

รวมเปนสินค้าที่ได้บรรทุกเรือออกไป ๑๑ ลำครั้งนี้ เปนราคาเงิน ๒๔๔๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึงบาท ๓ สลึงเฟื้อง

เจ้ากรุงธนบุรีไม่ได้ทราบผลของการที่แต่งทูตออกไปนี้ด้วยหมดเวลา, สังเกตดูถ้อยคำที่จดหมาย อยู่ข้างพลุ่งพลั่ง แต่ไม่ใช่บ้า

๘๙ ทรง (ส่ง) พระราชสาส์นไปแล้ว เขาฟ้องว่าญวนเขมรรู้กันคิดขบถต่อแผ่นดิน รับสั่งให้ประหารชีวิตรเจ้าน่ำก๊ก (แล) เล่าเอี๋ยลูกชาย บรรดาพวกญวนฆ่าเสียครั้งนั้นมาก

๘๙ เรื่องประหารชีวิตเจ้าน่ำก๊กนี้ คือประหารชีวิตรองเชียงซุน กับองกลัดบุตรที่เรียกว่า เล่าเอี๋ย ข้อความในพงษาวดารกล่าวแต่ว่าไม่มีความสวามิภักดิ์ คิดจะหนีกลับไปเมืองญวนจึงได้ประหารชีวิตรเสีย การที่ประหารชีวิตรนี้ดูเปนร้ายกาจมากในเวลานี้ ถ้าว่าตามคติเก่าในเวลานั้น ถือกันว่าเข้ามารู้กิจการบ้านเมืองแล้วกลับออกไปคงจะคิดกลับเข้ามาประทุษฐร้าย จึ่งถือเสียเหมือนเปนคนสอดแนม ถึงครั้งองเชียงสือ กรมพระราชวังก็ทรงพระดำริห์อย่างเดียวกัน แต่มีคำเล่าฦๅต่อกันไป จนถึงจดลงไว้เปนหนังสือในพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ก็มี ว่า “เจ้ากรุงธนนั่งพระธรรม เห็นว่าองเชียงซุนกลืนเพ็ชรลงไปไว้ ถามไม่รับจึงให้ฆ่าค้นเอาเพ็ชร์” ความที่ว่าไม่เห็นจริง เพราะไม่ได้ฆ่าแต่องเชียงซุนคนเดียว ลูกเต้าบ่าวไพร่ก็ตายด้วยกันเปนหลายคน ที่เหลืออยู่ก็ขับไล่ออกไปเสียไม่ให้อยู่ อาการกิริยาเปนกลัวทางเปนไส้ศึก จึ่งมีอยู่บ่อย เช่นจะไปทัพก็ต้องฆ่าพม่าที่ไม่ไว้ใจเสียก็มี ฆ่าทวายเสียก็มี เพราะเหตุที่ไม่น่าเชื่อเช่นนี้ ไปพบข้อความในหนังสือที่เรียกว่าพงษาวดารญวน กล่าวออกจะใคร่ชอบกลว่า “องเชียงสือ เมื่อเวลาได้นั่งเมืองไซ่ง่อน กำหนดว่าเดือน ๖ ปีฉลูตรีศกจุลศักราช ๑๑๔๓ แต่งให้ทามตีนเปนราชทูต จำทูลพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ขอเปนทางพระราชไมตรี

เวลานั้นเรือสำเภาลำหนึ่งของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา บรรทุกสินค้าไปขายเมืองจีนกลับมาจากเมืองกวางตุ้ง ถึงน่าเมืองฮ่าเตียง ลือถูทังผู้รักษาเมืองกำปอดแลเมืองฮ่าเตียง คุมสมัคพรรคพวกออกปล้นตีเรือ ฆ่านายเรือตาย เก็บสินค้าเงินทองไป พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทราบ จึงให้ตีทามตีน ราชทูต แล้วจำขังคุกไว้

พระองค์แก้วเขมรทูลยุยง ว่าเจ้าเมืองไซ่ง่อน ให้ทามตีนถือหนังสือลับมาถึงตงเทกซุน ให้เปนไส้ศึกจะคิดชิงเอากรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงเชื่อพระองค์แก้ว จึงให้ประหารชีวิตรตงเทิกซุนกับกลินเทียนติ๊ด กับสมัคพรรคพวก ๕๓ คนเสีย คนนอกนั้นเนรเทศให้ออกไปอยู่นอกกรุง” ข้อความที่ว่านี้ดูออกจะแยบคายอยู่สักหน่อย กล่าวต่อไปในที่อื่น ว่าญวนพวกนี้ตกมาถึงรัชกาลที่ ๑ โปรดให้คงคืนกลับเข้าไปอยู่ในกรุง คือพวกญวนบ้านบางโพธิ์

เนื้อความในท้องเรื่องของพงษาวดารฉบับนี้ ออกจะดีมีหลักถาน แต่ปีที่สอบสวนผู้แต่งไม่มีความรู้ หลงไปว่าตัวรู้ เทียบศักราชผิดตั้ง ๒๐ ปี ปรากฎว่าแต่รัชกาลกรุงเทพเปลี่ยนกันเมื่อใดก็ไม่ทราบ ซ้ำแต่งอย่างแปลหนังสือจีนมีกากหยากเยื่อ ที่ไม่มีข้อความเข้าไปปนอยู่มากนัก จึงทำให้หนังสือเสียไปเปนอันมาก

๙๐ แล้วกริ้วข้างในนางอยู่งาน ลูกขุนนางไม่ใช้ ให้เก็บลูกพลเรือนชาวตลาด ญวนงานกลางยกขึ้นไปเปนนางอยู่งาน มารดาเจ้าอยู่งานเก่า ให้เปนเข็ญใจ โทษนุ่งเล็ดงา ห่มผ้าวาสลึง

๙๐ กริ้วข้างในนี่แปลกอยู่ไม่เคยได้ยิน งานกลางเปนญวน เห็นจะเลือกญวนพุทไธมาศที่กวาดมา

๙๑ ขับเจ้าหอกลางไปอยู่ที่วังนอก

๙๑ วังนอกนี้, จะหมายว่านอกพระราชวัง คงจะต้องมีใครอยู่อิกสักคนหนึ่ง เจ้าหอกลางนี้ไม่ใช่ตระกูลอื่นยกขึ้น คงจะเปนญาติของเจ้ากรุงธนบุรีอย่างลูกพี่ลูกน้อง ฤๅเปนลูกของน้า อาจจะเปนลูกเจ้าฮั่นได้ฤๅไม่

๙๒ เจ้าลูกเธอทรงผนวช

๙๒ เจ้าลูกเธอทรงผนวช เข้าใจว่ามีองค์เดียวแต่เจาจุ้ยกรมขุนอินทรพิพักษ์ นอกนั้นยังเด็กอยู่

๙๓ แล้ว (ประทาน) เงินนอนเจ้าลูกเธอข้างในองค์ละ $\begin{array}{c}๑๐๐ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ ทองเครื่องประดับ $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ มอบให้พี่เลี้ยงนางนมคุมของไว้

๙๓ แล้ว ที่เก้ออยู่ตรงนี้ จะว่าแล้วประทานเงินนอนจะเปนอย่างไร ที่ให้พี่เลี้ยงนางนมคุมของไว้ เพราะมารดาเจ้าถูกเนรเทศลงไปเปนไพร่เสียแล้ว

๙๔ พี่เลี้ยงยกขึ้นไปเปนสมศรีเปนสมทรง ดูพระจริต (นั้น) ฟั่นเฟือนเข้า (ตั้ง) แต่ฆ่าญวน

๙๔ สมศรี สมทรง จะตรงกับที่เขมรเขาเรียกว่าหม่อมทรง แปลว่าเมียเจ้าฤๅไม่

๙๕ มีโจทย์ฟ้องว่าขายเข้าเกลือลงสำเภามาราย ๆ

๙๕ ที่นี่เขียนเต็มตามความจริง คือบอกว่าเริ่มลงมือต้องการเงิน

๙๖ จนกลางปีฉลูได้ยินข่าวราชการกัมพูชาว่าเขมรดงยกมาล้อมพุทไธเพ็ชร์ ยังแต่ลูกองค์โตนองค์เองได้ ๙ ขวบว่าราชการอยู่ เจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกเสด็จไปปราบกัมพูชาทัพหัวเมืองพร้อม

๙๖ เขมรฆ่านักองค์รามเสีย ฟ้าทละหะมูตังตัวขึ้นเปนสมเด็จฟ้าทละหะ ทำนุบำรุงองค์เองว่าราชการ

๙๗ กรมอินทรพิทักษลาผนวช เสด็จกับทัพหัวเมือง

๙๗ ได้ความชัดว่าที่ว่าเจ้าลูกเธอทรงผนวชนั้น คือกรมหมื่นอินทรพิทักษ์ ที่ลาผนวชนี้เอง

๙๘ อยู่ภายหลังกรุงธนบุรีเกิดโกลี พันศรี พันลา ยื่นฟ้อง ว่าขุนนางแลราษฎรขายเข้าเกลือลงสำเกา โยธาบดีผู้รับฟ้องกราบทูล รับสั่งให้เร่งเงินที่ขุนนาง (แล) ที่ราษฎรขายเข้าเกลือ ให้เฆี่ยนเร่งเงินเข้าท้องพระคลัง ร้อนทุกเส้นหญ้า สมณาประชาราษฎรไม่มีศุข ขุกเข็ญเปนที่สุดในปลายแผ่นดิน

๙๘ เรื่องห้ามบรรทุกเข้าเกลือ เปนข้อกวดขันมาก เพราะเหตุที่บ้านเมืองไม่ปรกติ เสบียงอาหารไม่บริบูรณ์ แต่เปนช่องเมื่อชำระไม่เปนธรรม ความก็ยิ่งเกิดมากขึ้น ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งมีผู้อาสาฟ้องมากขึ้น

๙๙ เงินในคลังในหายสองพันเหรียญ ๆ ละ$\begin{array}{c} \\\begin{array}{c|c} &๑\\\hline ๑&๓\\ \end{array}\end{array}$ แพรเหลือง ๑๐ ม้วน รับสั่งเรียกแต่หาไม่ได้ ชาวคลังต้องเฆี่ยนใส่ไฟย่างแสนสาหัส ท่านสงไสยว่าข้างในขโมยเงินในคลัง

๙๙ เงินเหรียญที่ว่าหายนี้ ภายหลังได้ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า อยู่ในกำปั่นบนตำหนักนั้นเอง กำปั่นนั้น วางแทนลูกหีบเหยียบขึ้นลงทางพระแกล แต่อย่างไรลืมเสีย ในเวลานั้นไม่มีใครนึกได้เลย

๑๐๐ จนพระมาตุฉา พระพี่นางเธอ

๑๐๐ พระมาตุฉาแลพระพี่นางเธอในที่นี้ จะเปนใครแน่ ถ้าหมายความว่าพระมาตุฉาของเจ้ากรุงธนบุรี ก็มีเจ้าฮั่น แต่พระพี่นางไม่ปรากฎ ถ้าจะว่าพระมาตุฉาของแผ่นดินประจุบัน คือรัชกาลที่ ๓ มี แต่พระพี่นางเธอไม่มี ถ้าหากว่าจะเปนพระมาตุฉาแลพระพี่นางเธอของเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก พระพี่นางนั้นมีแน่แล้ว แต่พระมาตุฉาอาจหมายความว่าเจ้าจอมมารดากรมหลวงจักรเจษฎาทีเดียวฤๅ มีคำกระซิบกันว่า เจ้าจอมมารดากรมหลวงจักรเจษฎา เปนน้องนางของสมเด็จพระบรมราชชนนีรัชกาลที่ ๑ แต่เปนเด็กห่างกันมาก เห็นจะเปนบุตรภรรยาน้อย ได้พบร่างรับสั่งการศพแปลกอยู่ คือเปนศพโกษฐ เผาเมรุวัดสุวรรณาราม เรือที่รับศพใช้เรือศรีตั้งแว่นฟ้า ที่เมรุตั้งแว่นฟ้า ๓ ชั้น สวดสี่สร้าง กัลปพฤกษ์ ๔ ต้น มีโขนมีหุ่นมอญรำหนัง ๒ โรง แต่ฉัตรฤๅเครื่องสูง อย่างใดไม่กล่าวถึง นอกนั้นเปนอย่างศพเจ้านาย เว้นไว้แต่เครื่องประโคมไม่มีแตรสังข์ ไม่มีจ่ากลอง สังเกตดูการศพเปนศพหลวงแท้ จนกระทั่งส่งสำรับเลี้ยงข้าราชการ ตั้งโรงครัว สั่งฝักแค ๓ สาย เห็นจะเปนทรงสายหนึ่ง วังน่าสายหนึ่ง สมเด็จพระพรรวษาสายหนึ่ง ตามที่เคยมา เผาแล้วมีแปรรูป มีเครื่องส่งอังคารเปนส่วนการหลวง อังคารไปลอยไม่ใช่วัดประทุมคงคา เรียกว่าวัดสุวรรณคูหา มีข้อที่จะพึงเห็นว่าเทียบชั้นศพอย่างไรนั้น คือหมายฉบับนี้เจ้าพระยาอภัยภูธรหมาย น่าจะได้สั่งกันว่าให้หมายอย่างศพกรมขุนสุนทรภูเบศร์ จึงได้มีจดหมายลงไว้ว่า พระยาบำเรอภักดิ์ไปต่อเรียนเจ้าพระยาอภัยภูธรว่า ม่านขาวผูกเมรุสี่ทิศนั้นในข้อรับสั่งครั้งกรมขุนสุนทรภูเบศร์๑๒ไม่มี เจ้าพระยาอภัยภูธรว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องใช้ หมายฉบับนี้ปีจอฉศก เปนปีที่ ๖ ในรัชกาลที่ ๒ กรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระชนม์เสียแต่ในรัชกาลที่ ๑ แล้ว เรื่องราวที่กระซิบเล่ากันแลการที่ทำนี้ยกมาสำหรับให้ผู้อ่านพิจารณา ว่ากรมหลวงนรินทรเทวีอาจจะกล่าวถึงผู้นี้ ว่าเปนพระมาตุฉาฤๅไม่ ดูคเนยาก ถ้าหากว่าไม่ใช่พระพี่นางแลพระมาตุฉา ในข้อนี้เปนอันยังไม่ได้ความทั้ง ๓ ฐานตามที่กล่าวมานั้น

๑๐๑ ให้จำหม่อมเจ้านัดดาแทนมารดาเจ้า (แล) แทนอยู่งาน คนรำใหญ่ให้เฆี่ยนคนละ ๑๕๐ คนละ ๑๐๐ คนละ ๕๐ คนรำเล็ก ให้พ่อ, แม่, พี่น้อง (แล) ทาษรับพระราชอาญา $\begin{array}{c}๑ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ ๑๐๐ ให้เจ้าตัวแต่คนละ ๒๐ ที ๑๐ ทีตามรับสั่ง

๑๐๑ ที่ว่าให้จำหม่อมเจ้านัดดาแทนมารดาเจ้า ก็มัวมนท์เต็มที จะเดาว่าให้จำลูกกรมขุนอนุรักษ์สงคราม, กรมขุนรามภูเบศร์, แทนมารดาของต่างกรมเหล่านั้นฤๅ ก็ไปมีแทนอยู่งานเดิมลงไปอิก ความก็ยังมัวมาก ความต่อลงไปค่อยชัดขึ้น แต่ที่ลงท้ายเลข ๑ เหนือตีนกาแลเลข ๑๐๐ นั้น เห็นจะเปนร้อยหนึ่งอย่างคนเขียนเลขไม่เปน

๑๐๒ หลวงประชาชีพ (มี) โจทย์ฟ้องว่าขายเข้ารับสั่งให้ตัดศีศะหิ้วเข้ามาถวายที่เสด็จออกทอดพระเนตร

๑๐๒ เรื่องหิ้วหัวหลวงประชาชีพเข้ามาถวายทอดพระเนตรนี้ไม่มีในพงษาวดาร แต่ได้พบจดหมายรายวันทัพ เมื่อเสด็จอยู่เมืองพุดทายมาด ประหารชีวิตหลวงประชาชีพเรื่องฉ้อเข้าหลวง เปนการแต่ต้นแผ่นดินมาเห็นจะไม่ใช่เรื่องนี้ ในพงษาวดารมีว่าทรงตัดหัวเองด้วยพระหัตถ์ที่ต่าหนักแพก็มิใช่หลวงประชาชีพ

๑๐๓ เหตุผลกรรมของสัตว์ พื้นแผ่นดินร้อน ราษฎรเหมือนผลไม้ เมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมีชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแก่น ปลายแผ่นดินแสนร้อนรุมสุมรากโคน โค่นล้มถมแผ่นดินด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น

๑๐๓ ปรารภถึงเรื่องความเดือดร้อนในที่นี้ เปนสำนวนเก่าดี กล่าวด้วยความสังเวชแลความเคารพ

๑๐๔ ผู้รักษากรุงเก่า พระชิตณรงค์ ผูกขาดขึ้นไปจะเร่งเงินไพร่แขวงกรุงเก่าให้ได้โดยจำนวน $\begin{array}{c}๕๐๐ \\\begin{array}{c|c} &\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ เร่งรัดไพร่เมืองยากครั้งนั้นสาหัส

๑๐๔ พระวิชิตณรงค์รับผูกขาดขึ้นไปเร่งเงินกรุงเก่า ชัดดีกว่าในพงษาวดาร เรื่องเร่งเงินนี้ ไม่ใช่เรื่องขายเข้าขายเกลือลงสำเภา มาทางกฎหมายที่ว่าขุดทรัพย์แผ่นดินได้ ต้องแบ่งเปนหลวง ในเวลาเมื่อกำลังวุ่นวายที่กรุง ใครมีอไรก็ฝังไว้ทั้งนั้น ครั้นเมื่อพม่ากลับไปแล้ว เจ้าของผู้ฝังจะจำที่ซึ่งตัวฝังทรัพย์ไว้ได้ก็น้อย เจ้าของทรัพย์ที่ฝังไว้ตัวล้มตายหายจากตกไปเปนเชลยพม่า ทรัพย์สมบัติเลยติดอยู่ในแผ่นดินก็มาก ครั้นเมื่อเจ้าของทรัพย์ที่รอดอยู่ขึ้นไปขุดทรัพย์ที่ตัวฝังไว้ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ที่ไม่ได้เพราะหลงลืมที่ไปเสีย เพราะเวลาบ้านเมืองปรกติกับเวลาร้างไม่เหมือนกัน มีผู้ขุดพบเก็บไว้เสียก่อนบ้าง ผู้ที่ไปขุดทรัพย์ของตัวไม่พบ ไปพบทรัพย์ของคนอื่นถือเอาเสียบ้าง จึงกำหนดว่าบรรดาใครจะไปขุดทรัพย์ ให้แจ้งต่อรั้วแขวงอำเภอกำนันผู้รักษาเมืองกรมการกำกับคุมไปให้ขุด ถ้าชี้ว่าที่แห่งใดซึ่งตัวฝังทรัพย์ไว้ ให้ขุดแต่เฉพาะที่นั้น ผู้ที่ไปขุดเช่นนี้เปนคนมีทรัพย์มาก ๆ แม่นยำก็ขุดได้จริง ๆ เมื่อได้ทรัพย์มามากก็แบ่งถวายช่วยราชการแผ่นดิน เหตุด้วยเวลานั้น เจ้ากรุงธนบุรีตั้งตัวเปนเหมือนอย่างเถ้าแก่ฤๅกงสี คนทั้งปวงเหมือนกุลี เถ้าแก่เปนผู้หาเข้าหาปลาจำหน่ายให้แก่พวกกุลีแจกเลี้ยงกันกิน เงินจะได้มาทางใดไม่ว่า เจ้ากรุงธนบุรีเปนผู้ซื้อเข้ามาแจกเฉลี่ยเลี้ยงชีวิตรกันในเวลาขัดสน อิ่มก็อิ่มด้วยกันอดก็อดด้วยกัน ครั้นเมื่อได้ทำไร่ไถนาบริบูรณ์ขึ้นแล้วไม่ต้องแจกเข้า แต่เมื่อผู้ใดขุดทรัพย์ได้ ก็ยังต้องถวายช่วยราชการแผ่นดิน ซื้อเข้าซื้อปลาซื้อเกลือขึ้นฉางเปนเสบียงกองทัพ ซึ่งเปนการป้องกันรักษาอันตรายทั่วกันหมดเหมือนกัน ครั้นตกลงมาในชั้นหลัง ทรัพย์ซึ่งเจ้าของฝังไว้ต่างคนต่างไปขุดหมดแล้ว เหลือแต่ทรัพย์ซึ่งไม่มีเจ้าของจึงตกเข้าในกฎหมายลักษณะทรัพย์แผ่นดิน ใครขุดได้ต้องมีแบ่งเปนภาคหลวง คนขุดนั้นไม่มีเวลาหยุดหย่อน ผู้ที่เก็บภาคหลวงก็คือเจ้าเมืองกรมการ ที่ฉ้อฉลปิดบัง อไรกันเกิดขึ้น จึงมีการผูกขาด เช่น พระวิชิตณรงค์รับผูกขาดขึ้นไป จะไปเรียกภาคหลวงจากคนขุดให้ได้ ๕๐๐ ชั่ง แต่เปนธรรมดาข้าหลวงเช่นนี้ หาผลประโยชน์ส่วนตัวด้วยความคดโกงต่าง ๆ เจือในราชการ ราษฎรจึงได้ความเดือดร้อนแลพากันเกลืยดชังมาก

การที่คอยเก็บภาคหลวงในการขุดค้นเงินเก่าเช่นนี้ เลิกในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งความจริงก็เปนเวลาเหลือทรัพย์อยู่น้อยแล้ว ก็กลับเปนช่องเปิดให้พวกที่มีโลภเจตนากล้า ขุดคัดค้นทลายไม่เลือกว่าอไร บรรดาที่สงไสยว่าจะมีทรัพย์อยู่ เลยตลอดไปจนถึงคิดปฤษณา ซึ่งติดต่อมาเกือบร้อยปียังไม่แล้ว จนในคลองเมืองน่าพระราชวัง มีผู้ไปร่อนพลอย ได้พลอยแดง ซึ่งเรียกกันว่าพลอยเมืองมีมาจนรัชกาลที่ ๔ ยังได้เห็น ข้อที่เล่าเรื่องนี้มาได้เลอียดลออเพราะได้ฟังคำเล่าเรื่องพวกเจ้าคุณชาวบางช้างทั้งปวง แลพวกข้างฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย ได้ขอไปขุดทรัพย์แลถูกอันตรายต่าง ๆ มี เรื่องราวมาก จึงนำเรื่องนี้มาเล่า เพื่อจะให้เห็นว่าพระวิชิตณรงค์ผูกขาดนั้น ผูกขาดอย่างไร

๑๐๕ รับสั่งให้ขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ เอาปืนขึ้นไปต่อยศิลา ปากนกปืน ๑๐๐๐

๑๐๕ ขุนแก้วน้องพระยาสรรค์คนนี้ไม่มีชื่อในพงษาวดาร มีแต่หลวงเทพ

๑๐๖ ไปคบคิดกับกำนันบ้านแขวงกรุงเก่า ปักหนังสือชวนผู้รักษากรุงว่าจะเข้าด้วยกันฤๅไม่เข้า เวลา ๒ ยามจะเข้าเผาบ้าน ผู้รักษากรุงว่าไม่เข้า จะเผาก็เผาเสีย เพลา ๒ ยาม ผู้ร้ายเข้าล้อมบ้าน ได้สู้รบกันอยู่สามารถ กองผู้ร้ายทิ้งพลุรดมเผา บุตรผู้รักษากรุงโจนน้ำหนีผู้ร้ายพุ่งหอกซัดถูกบุตรพระยาอินทรอภัยผู้รักษากรุงกับบุตรภรรยาสิ้นชีวิตรในไฟ ๔ คน

๑๐๖ ขุนแก้วผู้นี้ชื่อทำไมจึงได้หายไป ไม่มีในพงษาวดารเลย ขึ้นชื่อก็นายบุญนากกับขุนสุรทีเดียว ขุนสุรภายหลัง ได้เปนพระยาสีหราชเดโชในรัชกาลที่ ๑ ขุนชนะอิกคนหนึ่งที่ไม่มีชื่อในพงษาวดาร ก็ได้เปนพระยาสรรค์ในรัชกาลที่ ๑ แต่ขุนแก้วในจดหมายฉบับนี้ ว่าต้องประหารชีวิตรภายหลัง ยังเอาตัวไม่ได้ว่าใคร

๑๐๗ พระยาอินทรอภัยกลับมาทูล

๑๐๗ ในจดหมายนี้ได้ความว่าตัวผู้รักษากรุงมีต่างหาก คือพระยาอินทรอภัย ไม่ใช่พระยาวิชิตณรงค์ ซึ่งรับผูกขาดขึ้นไป พงษาวดารกล่าวความกลมกลืนอยู่

๑๐๘ ลุศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีนิศก รับสั่งให้พระยาสรรค์ไปจับผู้ร้ายที่เผาบ้านผู้รักษากรุง พระยาสรรค์ขึ้นไป น้องพระยาสรรค์เปนกองผู้ร้าย จับพระยาสรรค์ตั้งเปนแม่ทัพลงมา

๑๐๘ พระยาสรรค์คนนี้อัชฌาไศรยชอบกล ความปรากฎทั้งในพงษาวดารแลในจดหมายฉบับนี้ ว่าเปนผู้ถูกเขาจับให้เปนแม่ทัพก็ตกลงเปนแม่ทัพลงมา ครั้นลดเจ้ากรุงธนบุรีลงเสียจากราชสมบัติแล้ว ก็ปรากฎว่าตั้งใจจะถวายสมบัติแก่สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ก็ไม่ยั่งยืนอยู่ได้ กลับใจไปปล่อยเจ้ารามลักษณ์ออกให้ไปทำร้ายกรมพระราชวังหลัง จะว่ามีความคิดจะตั้งตัวเองเปนใหญ่ ก็คิดไม่แขงแรงตลอดรอดฝั่งอย่างไร ครั้นเมื่อเขาจับเจ้ารามลักษณ์ได้แล้วก็ควรจะรู้ว่าเจ้ารามลักษณ์คงให้การซัดถึงตัว จะแก้โดยทางสารภาพฤๅแก้โดยทางต่อสู้ก็ไม่แก้ นิ่งเฉยอยู่เช่นนั้น ครั้นพระพุทธยอดฟ้าเสด็จมาถึง ก็ออกมาเฝ้าทำไม่รู้ไม่เห็น เห็นจะเปนคนที่ไม่มีสติปัญญาเปนสลักสำคัญอันใดเลย ใครจับไสให้ไปทางไหนก็จะไปทางนั้น

๑๐๙ ณวัน ๗ ๑๑ ๔ ค่ำ เพลาตี ๑๐ ทุ่ม ตั้งค่ายมั่นคลองรามัญ

๑๐๙ คลองรามัญ คือคลองมอญ ปรากฎว่าชื่อมาจากพวกมอญอยู่ เปนคลองในกำแพงพระนคร

๑๑๐ ยิงรดมลูกปืนตกในกำแพงเสียงสนั่นหวั่นไหว

๑๑๐ ยิงปืนจากคลองมอญลูกปืนตกในกำแพง ๆ พระราชวังเวลานั้นตั้งอยู่แนวคลองนครบาล คือคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม

๑๑๑ ข้างในตกใจร้องอื้ออึง ประทมตื่นคว้าได้พระแสงทรงเสด็จขึ้นบนที่นั่งเย็น ตรัสเรียกฝรั่งที่ประจำป้อม ฝรั่งได้รับสั่งยิงปืนใหญ่ออกไปถูกเรือข้าศึกล่ม เขาไปจับบุตรภรรยาฝรั่งมาให้ยิง

๑๑๑ การเอะอะในวังเวลานั้นในที่นี้ว่าเห็นจริง พระที่นั่งเย็นนั้นคงจะอยู่ใกล้น่าวินิจฉัย พอตะโกนกันได้ยินกับป้อมวิไชยประสิทธิ์

๑๑๒ พอรุ่งสว่างเห็นหน้าว่าไทย (ใคร) ฝรั่งโจนกำแพงลงไปหากัน ผู้คนเบาบางร่วงโรยนัก

๑๑๒ พอรุ่งสว่างเห็นหน้าว่าไทย คำนี้ถ้าเปลี่ยนว่าเปนใครจะเข้าความดีกระมัง

๑๑๓ เสด็จออกน่าวินิจฉัยทราบว่าพระยาสรรค์มาปล้นตีเมือง ให้จำภรรยากับบุตรไว้

๑๑๓ ท้องพระโรงเรียกว่าวินิจฉัย เห็นจะเปนต้นเหตุของที่เสด็จออกเรียกว่าวินิจฉัย เช่นอมรินทรวินิจฉัย อิศราวินิจฉัย ราชกิจวินิจฉัย จนเมืองเขมรก็ยังไปตั้งขึ้นใหม่ ว่าเทวาวินิจฉัย

๑๑๔ เสด็จเข้ามาฟันตราง ปล่อยคนโทษข้างใน

๑๑๔ ข้างในนี้เห็นจะเปนข้างในผู้หญิงจะไม่ใช่ตรางที่ขังผู้ชายในพระราชวัง

๑๑๕ พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์ต่อสู้ลากปืนจ่ารงค์ขึ้นป้อม ข้าศึกถอยหนี

๑๑๕ พระยารามัญวงษ์คนนี้เดิมเปนพระยาบำเรอภักดิ์ แลพระยาอำมาตย์ มีชื่ออยู่ในพงษาวดารเปนพวกพระยาสรรค์ พระยาธิเบศร์หายชื่อไป บางทีจะเปนคนไม่สำคัญ แลไม่ใช่ธิเบศร์เก่าซึ่งได้ตัวในค่ายโพธิ์สามต้น คนนั้นเปนศรีธรรมาธิราชที่ไปเมืองจีน

๑๑๖ เสด็จกลับออกไปมีรับสั่งห้าม ว่าสิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย

๑๑๖ คำที่ว่าเจ้ากรุงธน รับสั่งเช่นนี้ สมกับคำที่เล่าว่ารับสั่งหลายคราว พบตัวอย่างในจดหมายรายวันทัพเล่มซึ่งตั้งต้นแต่ ณวัน ๖ ๑๒ ๒ ค่ำ ปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ เสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่ อันกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ได้ทรงเก็บข้อความลงในพงษาวดารหมดแล้ว แต่มีข้อซึ่งจะพึงสังเกตอาการกิริยา อันทางเรียงพงษาวดารท่านไม่ต้องการใช้นั้นเหลืออยู่หลายแห่ง แต่แห่งหนึ่งควรยกมาเปนตัวอย่าง ในข้อซึ่งบรรยายถ้อยคำเจ้ากรุงธนบุรีนี้ได้ คำรับสั่งอันนี้ได้รับสั่งเวลาประทับอยู่ค่ายเขาพระ กำลังล้อมค่ายพม่าบ้านบางนางแก้ว เมื่อณวัน ๒ ๔ ค่ำปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ เพลาเช้า เมื่อได้ลงพระราชอาญาผู้ซึ่งยิงปืนหามแล่นไม่พร้อมกัน ทีละสามสิบสี่สิบนัดตามรับสั่ง ไปยิงแต่ทีละนัด จนข้าศึกรู้ตัวเสร็จแล้ว จึงมีข้อความจดลงไว้ว่า “อนึ่งเพลาเช้า ๕ โมงเศษ หลวงรักษ์มณเฑียรมาเฝ้า จึงตรัสว่าข้าราชการทั้งปวง ใช้ให้ไปทำศึกบ้านใดเมืองใด พ่อมิได้สกดหลังไปด้วยก็มิได้สำเร็จราชการ ครั้งนี้พ่อไปราชการสงครามเมืองเชียงใหม่ ให้ลูกอยู่ทำราชการข้างหลัง แลมาพ่ายแพ้แก่พม่าให้ขายพระบาทพ่อ แล้วกล่าวโทษกันว่าอดเข้าปลาอาหาร อันทำการศึกครั้งนี้พ่อจะชิงชังแก่ลูกผู้ใดหามิได้ รักใคร่เสมอกัน อันเปนกระษัตราธิราชเจ้าแผ่นดิน ถ้าผู้ใดมีความชอบมิได้ปูนบำเหน็จ ผู้ใดผิดมิได้เอาโทษ ทำฉนี้ก็ไม่ควรแก่ราชการแผ่นดินหามิได้ ประเวณีกระษัตราธิราช ผู้ใดมีความชอบปูนบำเหน็จรางวัล ให้รั้งเมืองครองเมืองตามถานานุกรมลำดับ ถ้าโทษผิดควรจะตีก็ตี ควรจะฆ่าก็ฆ่าเสียจึงจะชอบด้วยราชการแผ่นดิน จะทำสงครามกับพม่าไปได้ แลพ่ออุสาหทรมานเที่ยวทำการสงครามมาทั้งนี้ ใช่จะจงพระไทยปราถนาหาความศุขแต่พระองค์ผู้เดียวหามิได้ อุสาหสู้ยากลำบากพระกายทั้งนี้ เพื่อจะทนุอำรุงพระสาสนาให้สมณะชีพราหมณ์ประชาราษฎร เปนศุขทั่วขอบขันธเสมา เพื่อจะมิให้มีคนอาสัตย์อาธรรม แลครั้งนี้ลูกทั้งหลายทำการพ่ายแพ้แก่พม่า ครั้นจะเอาโทษก็เสียดายนัก ด้วยได้เลี้ยงดูมาเปนใหญ่โตแล้ว ผิดครั้งนี้จะยกไว้ให้ทำราชการแก้ตัวครั้งหนึ่งก่อน แลเอาบุตรภรรยามาจำไว้สิ้นแล้ว แลอันจะตั้งค่ายอยู่เมืองราชบุรีนั้น ถ้าพม่ายกมาตีรับรองหยุด มีไชยชำนะแล้วจึงจะพ้นโทษทั้งนายทั้งไพร่ เร่งคิดอ่านจงดีเถิด อันพ่อจะละพระราชกำหนดบทพระอัยการศึกเสียนั้นมิได้ ถึงมาทตัวจะเปนนายทัพนายกองมิได้ จะพิดทูลขอตัวเปนไพร่ก็ตามใจสมัค ถ้าจะทำไปได้ก็ให้เร่งคิดอ่านทำการแก้ตัวไป ให้รอดชีวิตรเถิด”

ข้อความที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ข้อความซึ่งสำหรับจะกล่าวตรงนี้ สาธกมาพอให้เห็นเปนตัวอย่าง

๑๑๗ พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์ (ว่าถ้า) มีให้สู้ (จะ) อยู่ ตายด้วยเจ้าเข้าแดง

๑๑๗ ความหวิดหวิดอยู่ แต่ถ้าหากว่าเติมความเสียหายอย่างในวงเล็บมือว่า ถ้ามิให้สู้จะสู้อยู่ตายตัวยเจ้าเข้าแดง ดังนี้แล้วก็เปนใช้ได้ แต่ความในตอนนี้คงปรากฎว่า ผู้ที่นับถือคิดถึงบุญคุณเจ้ากรุงธนบุรีคงมีมาก ขุนนางจึงต้องตายกว่า ๓๐ คน

๑๑๘ พระยาสรรค์ให้นิมนต์พระราชาคณะ ให้ถวายพระพรให้ทรงบรรพชา ชำระพระเคราะห์เมือง ๓ เดือน

๑๑๘ ตามพงษาวดารความตรงกันข้าม ว่ารับสั่งให้นิมนต์พระราชาคณะให้ออกไปเจรจาความเมืองรับผิด ข้อที่หนังสือนี้ว่า พระยาสรรค์ให้พระราชาคณะทูลให้ทรงบรรพชา ชำระพระเคราะห์เมือง ๓ เดือนความเห็นจะลงกันได้ เปนถูกทั้ง ๒ ฝ่ายต่างคนต่างคิด

๑๑๙ ทรงพระสรวลตบพระเพลาว่า เอ้หิภิกขุมาถึงแล้ว ให้เชิญพระกรรบิดออกไป

๑๑๙ ที่ว่าทรงพระสรวลตบพระเพลาว่า “เอหิภิกขุลอยมาถึงแล้ว” นี้สมสำนวนเจ้ากรุงธนมาก รู้เท่าแต่หลงหน่อย ๆ

๑๒๐ เพลา ๓ โมงเช้า ทรงบรรพชา ณวัน ๑๒ ๔ ค่ำ (เสด็จ) อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปีกับ ๔ เดือน ทรงผนวช

๑๒๐ วันทรงผนวชในพงษาวดารกล่าวรวบตั้งแต่วันให้ไปเจรจาว่าเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ เหมือนหนึ่งว่าทรงผนวชในวันนั้น แต่ในที่นี้ว่าแรม ๑๒ ค่ำ

ถูกกับจดหมายในปูมปีฉลูตรีศกจุลศักราช ๑๑๔๓ จดไว้ว่า “วันเสาร์เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ พระยาสรรค์ยกมาตีขุนหลวง วันอาทิตย์เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ขุนหลวงบวชวัดแจ้ง”

๑๒๑ ณวัน ๔ ๑๔ ๔ ค่ำ พระยาสวรรค์ขึ้นนั่งซัง แจกเงินข้างในกลับออกไปนอนอยู่ข้างน่า สั่งว่าจะฟังลครร้องอยู่ข้างใน จะฟังแต่น้ำเสียง

๑๒๑ วันนั่งซังของพระยาสรรค์นี้ พงษาวดารว่าแรม ๑๓ ค่ำ ในที่นี้ว่า ๑๔ ค่ำ คำว่าพระยาสรรค์ขึ้นนั่งซังนี้ชอบกลดีอยู่

๑๒๒ ครั้นคนเสียงคลอดบุตร พระยาสรรค์ให้ประโคม ท่านให้ไปห้ามว่าอย่าให้ทำเลย มันสุดชาติแล้ว

๑๒๒ เรื่องห้ามประโคมใช้คำว่าท่านคำเดียว เข้าใจว่าเจ้ากรุงธนที่ทรงผนวช

๑๒๓ พระยาสรรค์มีเทศนา ให้ข้างในออกไปฟังธรรม ไฟเทียนเจ้าคุณใหญ่ไหม้ม่าน ได้ยินเสียงคนอื้ออึงชักหอกดาบที่ท้องพระโรง ข้างในกลับเข้ามาเพลา ๒ ทุ่ม

๑๒๓ มีเทศนาในท้องพระโรงข้างในออกฟัง ทีจะทำให้เปนตามเคย แต่เพราะเหตุที่ความสงไสยรวนกันอยู่ ไฟไหม้ม่านจึงตกใจกันมาก ข้อที่รวนนั้น ก็เหตุด้วยกรมพระราชวังหลังเสด็จลงมาถึง คงจะรู้กันอยู่ว่าเจ้าคุณใหญ่ ซึ่งเปนผู้ทำให้ไฟไหม้ม่านนั้นเปนฝักฝ่ายข้างกรมพระราชวังหลัง

๑๒๔ สองยามเกิดศึกกลางเมือง พระยาสรรค์ปล่อยเจ้ารามลักษณ์ออกไป

๑๒๔ เพราะเหตุที่พระยาสรรค์ตกใจเรื่องไฟไหม้ประกอบกับที่กลัวกรมพระราชวังหลัง จึงปล่อยเจ้ารามลักษณ์

๑๒๕ เรียกท่านที่ทรงผนวชว่าประจุออกเถิด ท่านว่าสิ้นบุญเราแล้วอย่าทำเลย

๑๒๕ เมื่อเจ้ารามลักษณ์หลุดออกไปได้ ก็ตรงไปที่โบสถ์วัดแจ้ง เพราะเหตุว่าตรางที่ขังคงจะไม่ห่างจากโบสถ์นั้นเท่าใด ข้อที่เจ้ากรุงธนบุรีร้องตอบเช่นนี้ตรงกันกับที่เคยได้ยินคุณปลัดเสงี่ยมเล่าว่า พระพงษ์นรินทร์อายุได้ ๑๒ ปี เข้าไปติดอยู่ในโบสถ์วัดแจ้งที่ขังเจ้ากรุงธนนั้นด้วย เจ้ากรุงธนร้องตอบออกมาเช่นนี้ แล้วได้บอกด้วยว่าคงไม่รอด บ้านเมืองเปนของสองพี่น้องเขานั่นแนะ ถ้าไม่ตายก็ฝากตัวเขาให้ดีเถิด ได้ให้ประคำสายหนึ่งที่ติดตัวไปแก่พระพงษ์นรินทร์ในเวลานั้น พระพงษ์นรินทร์ยังได้รักษาประคำนั้นไว้ได้ เปนประคำกระดาษเลขยันต์ลงรักปิดทองทั้ง ๑๐๘ เม็ด

๑๒๖ เจ้ารามลักษณ์ออกไปจุดไฟบ้าน ไหม้ตลอดลงมาจนถึงวังหลัง ได้สู้รบกันจนแสงทองขึ้น

๑๒๖ ที่ซึ่งเจ้ารามลักษณ์จุดไฟนั้น จุดที่เหนือบ้านปูน ๆ ในเวลานั้นน่าจะไม่ใช่บ้านปูนบางยี่ขันทุกวันนี้ ชรอยจะตั้งอยู่ในระหว่างวัดอมรินทร์ ที่เปนวัดบางว้าน้อยกับสวนมังคุด เจ้ารามลักษณ์ตั้งค่ายรายโอบขึ้นไปวัดบางว้า ที่กล่าวในพงษาวดาร คงเปนวัดบางว้าน้อยคือวัดอมรินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้กำแพงพระนครด้านเหนือ จุดไฟก็จุดบ้านริมวัดบางว้า เพื่อจะให้ไหม้ลามลงมาถึงบ้านปูนซึ่งอยู่เหนือสวนมังคุด แต่ครั้นเมื่อไฟไหม้ลงมาจวนจะถึงบ้านปูน ด้วยสัตยาธิษฐานของกรมพระราชวังหลัง ลมกลับไปข้างเหนือ ซึ่งเปนทางเจ้ารามลักษณ์ลงมาจุดไฟ การที่ขึ้นไปจุดข้างเหนือนั้น เจ้ารามลักษณ์คงจะเปนผู้ตีข้างเหนือลงมา พระยาสรรค์คงจะรับเปนผู้ตีข้างใต้จากพระราชวังกระทบขึ้นไป แต่ครั้นเมื่อเจ้ารามลักษณ์ไปทำการไม่สมคิด ตัวกลับไปอยู่ข้างใต้เปลวไฟ พระยาสรรค์เห็นเสียทีก็คงถอยทีเดียว เพราะพระยาสรรค์เปนคนสันดานไม่แน่นอน ครั้นเมื่อเจ้ารามลักษณ์แตกไปแล้ว กรมพระราชวังหลังตั้งค่ายรายลงมาแต่บ้านปูนถึงคลองนครบาล คือคลองข้างวัดอรุณราชวราราม ซึ่งเปนคลองคูพระราชวัง ก็แปลว่าได้เมืองฝั่งตวันตกหมด เว้นไว้แต่พระราชวังเท่านั้น เปนส่วนพระยาสรรค์รักษา

๑๒๗ พระยาเจ่ง ขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์ ลากปืนใหญ่มาช่วยพระวังหลัง

๑๒๗ ขุนแก้วคนนี้เปนคนโลเล เหมือนอย่างพระยาสรรค์พี่ชาย แต่เวลานี้ยังไว้ตัวเปนพวกกรมพระราชวังหลัง แต่พระยาเจ่งนั้นเปนคนซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระพุทธยอดฟ้า เห็นจะไม่ถูกกันกับพระยารามัญวงษ์ จะตรงกันข้าม

๑๒๘ เจ้ารดจาแต่งกองมอญเปนทัพเรือตีกระหนาบหนุนพระวังหลัง

๑๒๘ เจ้ารดจาน่าที่จะไม่ใช่คนอื่น เห็นจะเปนท่านผู้หญิงเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งตั้งบ้านอยู่เหนือกำแพงพระนครฟากตวันออก คือวังกรมหลวงจักรเจษฎา เหตุฉนั้นจึงต้องเปนทัพเรือเพราะข้ามฟาก เจ้ารดจาผู้นี้เปนชาวเมืองเชียงใหม่ เปนมารดาเจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทรในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท

๑๒๙ เจ้ารามลักษณ์สู้แต่ผู้เดียว โดยโมหาร เหลือกำลังแตกหนีไปอยู่วัดยาง พระวังหลังติดตามจับได้ ไต่ถามได้ความจริงว่าพระยาสรรค์ปล่อยเธอออก ความตกอยู่พระยาสรรค์สิ้น

๑๒๙ วัดยางในคลองบางกอกน้อยริมวัดลครทำ ซึ่งเขาจะให้อ่านว่านครธรรมก็ได้นั้น เปนระยะไกลจากเมืองพอที่จะหนีไปถึงแลจับได้กันที่นั้นทัน

๑๓๐ สมเด็จพระไอยกาเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก เสด็จอยู่กรุงกัมพูชา ถอยมาประทับด่านกระบินทร์ ทราบว่ากรุงธนข้นเข็ญเปนศึกขึ้นกลางเมืองถึง ๒ ครั้ง จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร

๑๓๐ ในเวลาเมื่อที่กรุงเกิดเหตุนี้เสด็จอยู่เสียมราฐ การที่ไปตั้งเสียมราฐครั้งนั้นดูเหมือนจะรแวงการข้างภายในอยู่มากแล้ว จึงได้รั้งรอไม่สู้จะทำการเดินออกไปเร็ว

  1. ๑. ในวงเล็บมือเปนคำที่เติมลงไปใหม่ เพื่อจะให้เห็นใจความบริบูรณ์ขึ้น

  2. ๒. องกลักนี้เห็นจะเปนเล่าเอี๋ยในจดหมายกรมหลวงนรินทรเทวี

  3. ๓. คนที่พระมเหษีกรุงเวียดนาม มีหนังสือฝากเงินเข้ามาให้ สำเนาอยู่ในท้ายพระราชวิจารณ์นี้

  4. ๔. เห็นจะเปนองกะวีนี้เอง ที่เปนผู้มีราชสาส์นเข้ามาเมื่อรัชกาลที่ ๑

  5. ๕. ปูมปีมเสงเบญจศก จุลศักราช ๑๑๓๕ จดไว้ว่าเดือนอ้ายข้างขึ้น พม่ายกมาตีพิไชย วัน ๓ ๒ ค่ำ พม่าหนี

    ปูมปีมเมียฉอศก จุลศักราช ๑๑๓๖ ว่าวัน ๓ ๑๑ ๑๒ ค่ำ ยกทัพหลวงไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้นวัน ๗ ๑๓ ๒ ค่ำ เพลา ๑๐ ทุ่มได้เมืองเชียงใหม่ โปสุพลาหนี

  6. ๖. ปูมปีมแมสัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ จดไว้ว่าวัน ๑ ๕ ค่ำ เพลา ๒ ทุ่ม พม่ายกหนีจากเขานางแก้วไปปากแพรก วัน ๑ ๕ ค่ำ พม่าแตกจากปากแพรก

  7. ๗. ปูมปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ จดไว้ว่า วัน ๕ ๑๕ ๖ ค่ำ เพลา ๒ ยามเสศ เสียเมืองพิศณุโลกย์ เข้าเกวียนละ ๒ ชั่ง

  8. ๘. ปูมปีวอกอัฐศกจุลศักราช ๑๑๓๘ จดไว้ว่าวัน ๒ ๑๒ ๑๐ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมง นางพระยาล้มขาดใจ

  9. ๙. ดีร้ายคนนี้นี่เองเจ้าบุตรแก้ว ซึ่งภายหลังลงมาอยู่กรุงเทพฯ เปนผู้รับพระกรเจ้าฟ้ากุณฑลเมื่อโสกันต์

  10. ๑๐. ถ้าผู้ใดได้เห็นต้นตำราจะเห็นรอยหรดาลจาง ๆ เช่นนี้ $\begin{array}{c} \\\begin{array}{c|c} ๑&\\\hline \quad&\quad\\ \end{array}\end{array}$ จะว่าข้าพเจ้าคัดเพิ่มเติมเอาเองตามชอบใจ ขอให้ดูยอดเงินทิ้งต้นละตำลึงวันละ ๔ ต้น เหตุใดเงินจึงจะเปน ๑๒ ชั่ง ยอดนอกก็ถูกกันหมด การที่เปนเช่นนี้ เพราะเดิมเปนตัวดินสอมาลากเส้นหรดาล แต่ผู้ลากอวดรู้ตามแบบนักเรียนใหม่ ๆ ซึ่งว่าหนังสือเก่าอ่านไม่ออก

  11. ๑๑. เรือแฝงนี้เปนเรือประเทียบ

  12. ๑๒. หม่อมเรืองพระสหายกรมพระราชวังที่ ๑ เดิมเปนเจ้าบำเรอภูธร ภายหลังเปนกรมขุนสุนทรภูเบศร์ ตากรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ