๑๓๑ - ๒๒๔

๑๓๑ ณวัน ๗ ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๔๔ ปีขานจัตวาศก เพลา ๒ โมงเศษ ศุภสวัสดิฤกษ เสด็จเข้าพระนครปราบดาภิเศก อดิเรกเฉกสมบัติจักรพรรตรา พร้อมถวาย ๑๒ พระกำนัล ๑๒ พระคลัง แล้วมีพระราชโองการรับสั่งให้ตั้งกรุงเทพมหานครยังฝั่งบุรพทิศ พระสุริยทรงกลด ๗ วัน เมื่อตั้งทวาราวดีอุดมโชคเข้าเหยียบกรุงธนบุรี

๑๓๑ ตอนนี้ปลื้มมาก เลยรวบความเสียหมด ที่จริงท่าจะจดไว้ให้ถ้วนถี่ก็จะยืดยาวเกินกำลังท่าน

๑๓๒ แรกเสด็จยั้งประทับณวัดควงไม้พระมหาโพธิบัลลังก์ ประจญพระยามารด้วยพระบารมี ๓๐ ทัศ เปนปฐมกระษัตริย์สมเด็จเอกาทศรฐ พระเจ้าปราสาททอง เสด็จข้ามฟากฝั่งมหรณพ เฉลิมภพกรุงทวาราวดี พระโองการให้ฐาปนาที่ท้องสนามในเปนพระอุโบสถหอไตรย์เสร็จ เชิญพระแก้วมรกฎมาประดิษฐาน ส่วนพระธรรมไว้หอไตรย์ ก่อพระเจดียฐานประจุพระบรมธาตุพร้อมเสร็จ

๑๓๒ ท่านนึกของท่านสนุกดี คือเสด็จมาเหยียบเมืองแรกก็ประทับพลับพลาวัดโพธิ์ ซึ่งท่านเรียกว่าโพธิบัลลังก์ ผจญมารก็คือมารฟากตวันตก เสด็จข้ามฟากมาเฉลิมภพกรุงทวาราวดี ก็คือย้ายมาเสียฟากตวันออก ไม่อยู่เมืองธนซึ่งเปนเมืองน้อย

ในเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เสด็จเถลิงถวัลยราชปราบดาภิเศก จะเล่าซ้ำในที่นี้ก็ออกจืด ๆ จึงอยากจะกล่าวถึงเรื่องพระนามที่ท่านยกย่องไว้ว่า “สมเด็จพระเอกาทศรฐพระเจ้าปราสาททอง”

นามเอกาทศรฐนี้ พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม) เปนผู้เดาว่าเปนใหญ่ในแว่นแคว้นสิบเอ็ด ชอบกลอยู่ แต่เขาก็รับว่าเขาเดา เข้าใจว่าเปนพระนามที่เกิดใช้ขึ้นภายหลังตั้งแต่พระนเรศร์ฤๅพระอนุชาพระนเรศร์ เหนือนั้นขึ้นไปจะได้ใช้สมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่งเปนนามคู่กับกรุงมาก

นามพระเจ้าอู่ทอง รามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร ตรงกับนามนารายน์อวตารมาครองกรุงศรีอยุทธยาซึ่งใช้รามษุนทร

นามบรมราชาธิราช เปนพระราชาที่เปนใหญ่กว่าราชา จะต่อเข้ากับพระนามใดต่อได้ ฤๅจะไม่ต่อกับอไรเรียกเปล่า ๆ ก็ได้ ราชาสามัญนั้นคือ อินทรราชา,ไชยราชา, บรมราชา, นครินทรราชา, เทียรราชา, แลอะไร ๆ อื่น ๆ เหล่านี้ ครองเมืองก็ตาม ไม่ได้ครองเมืองก็ตาม เปนชั้นพระราชา คือเจ้านายแท้ ผู้ซึ่งเปนใหญ่กว่าราชาเหล่านี้ จึงเปนบรมราชาธิราช

สรรเพชญ์ เห็นจะมาจากชื่อไทย อย่างเดียวกันกับสัพเพชังกูรพุทธวงษาที่ยังใช้อยู่ในเมืองสิบเก้าเจ้าฟ้า

นามพระบรมไตรโลกนารถ เปนนามที่คล้ายกับติโลกราชเจ้านครพิงเชียงใหม่ แลที่เชียงใหม่เรียกพระอินทราชาว่าพระยาบรมไตรย์จักร เห็นจะใช้กันหลายเมืองอยู่ในรดูหนึ่งพร้อม ๆ กัน เกี่ยวข้องแก่การข้างฝ่ายพุทธสาสนูปถัมภก

พระเจ้าปราสาททองตรงกันกับเจ้าหอคำ

ธรรมฤกราชฤๅธรรมิกราชาธิราช อันมาจากพระเจ้าทรงธรรม

พระเจ้าช้างเผือก เปนคำที่ยกย่องว่ามีช้างเผือก

พระมหาจักรพรรดิ ยกย่องว่ามีอำนาจมากปราบแว่นแคว้นทั่วถึง

พระนามเหล่านี้เปนคุณนาม อาจจะใช้ทั่วไปได้ทุกพระองค์พระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่พระนามประจำ คราวนี้เรียกเช่นนี้ คราวน่าจะเรียกอย่างอื่นก็ได้ ฤๅใช้ตามแบบที่เคยอย่างไรก็ใช้เช่นนั้น เช่นพระนามสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตร ไม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ถ้าจะมีศุภอักษรถึงเมืองเขมรใช้เช่นนั้น ใช้ปนกับใหม่ก็ได้ เหมือนอย่างศุภอักษร องค์สมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี (องค์ด้วงบิดานโรดมแลศรีสวัสดิเจ้าแผ่นดินเขมรทุกวันนี้) ซึ่งยังมีอยู่มาก ใช้ว่าขอให้นำขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าเลอทะบง ดังนี้เปนต้น

เพราะฉนั้นในการที่กรมหลวงนรินทรเทวียกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าในที่นี้ เปนยกย่องด้วยความเคารพถูกต้องตามแบบอย่าง

๑๓๓ ให้บุรณวัดโพ

๑๓๓ บุรณวัดโพธิ์ตอนนี้เห็นจะบุรณเล็กน้อย เพราะน่าจะไม่มีหลังคาฤๅมุงหลังคาจากเปลี่ยนเปนกระเบื้อง ไม่ใช่ปฏิสังขรณ์ใหญ่ที่กล่าวในพงษาวดาร ข้อวินิจฉัยเรื่องวัดโพธิ์ออกจะยืดยาวอยู่สักหน่อย ผู้อ่านจะต้องรู้ว่ากำแพงพระนครทั้ง ๒ ฝั่งน้ำ ได้สร้างขึ้นแต่ฝั่งละ ๓ ด้าน ข้างริมน้ำไม่มีกำแพง ฝั่งตวันตกกำแพงตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ยืนไปตามลำคลองบางกอกใหญ่ จนถึงคลองข้างวัดโมฬีโลกย์ ไปตามแนวหลังวัดอรุณ ไปออกบางกอกน้อยที่หลังวัดอมรินทร์เปนคูพระนคร แล้วเลี้ยวลงมาตามแนวคลองบางกอกน้อยจนถึงแม่น้ำ ข้างฟากนี้ตั้งแต่ป้อมวิไชเยนทร์ คือที่สุนันทาลัย มาตามแนวคลองตลาด คลองหลอด (ตามที่ปันระยะให้เรียกใหม่ใน รศ๔๑ ๑๒๗ นี้) จนถึงคลองโรงไหมวังน่า เพราะเหตุฉนั้น วัดโพธารามตั้งอยู่หลังวัดลงแม่น้ำ น่าวัดหันมาทางตวันออก ป่าช้าอยู่ต่อน่าวัดยืนไปในดอน เปนที่ยาวรีเหมือนวัดแจ้ง เมื่อเวลาก่อกำแพง จะก่อออกไปให้หมดเขตรป่าช้าเมืองจะกว้างเกินกำลังไป จึงก่อกำแพงตัดเอาป่าช้าออกไปไว้นอกเมือง ทั้งวัดแจ้งวัดโพธิ์ วัดแจ้งเดี๋ยวนี้ที่วัดยังคงยาวยืนเข้าไปในสวนเปนอันมาก ซึ่งเรียกกันว่าปรก แต่ข้างฝ่ายวัดโพธิ์นี้ กลายเปนบ้านเรือนคนไป เพราะเหตุที่ก่อกำแพงพระนครขึ้นใหม่ ขยายกว้างออกไป แนวคลองโอ่งอ่างไปออกบางลำภู กำแพงเดิมที่คั่นในระหว่างป่าช้ากับวัดนั้นรื้อเสีย จึงกลายเปนบ้านคนไป เมื่อเวลาประหารชีวิตรพระยาปังกลิมา ที่กล่าวไว้ในพงษาวดาร ว่าประหารชีวิตที่ป่าช้าวัดโพธาราม นอกกำแพงพระนครฝ่ายตวันออกนั้น ยังเปนกำแพงเก่าอยู่ ที่ป่าช้าที่ประหารชีวิตรนั้นคือที่ห้างแซมสันเดี๋ยวนี้

ยังมีที่เห็นยากยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอิก คือตามแถบน่าพระอุโบสถมีคลองขุดพรอนไป มีเกาะเปน ๒ ชั้น ที่คลองแลเกาะ ๒ ชั้นนี้ จะเปนที่อื่นไม่ได้ นอกจากสวนเจ้าเชฐ ซึ่งภายหลังทำคุกทำหอกลองลงในที่เหล่านั้น คลองชั้นในเห็นจะใกล้ข้างพระอุโบสถ จึงได้ปรากฎว่า เมื่อทรงสร้างวัดพระเชตุพนยกใหญ่ได้ถมดินเสียเปนหนักเปนหนา ต้องถึงเกณฑ์คนหัวเมืองเข้ามาถมดิน ในการที่เอาที่วัดข้างตวันออกกลับเปนที่เมืองเสียนี้ คงจะได้ใช้ที่ดินข้างใต้ซึ่งเปนกุฎีวัดอยู่เดี๋ยวนี้แทน วัดแต่ก่อนยาวตามตวันออกตวันตก เปลี่ยนเสียให้เปนยาวตามเหนือตามใต้ ความที่ว่านี้โดยความพิจารณารูปหนังสือ ไม่ใช่ กุ ขอให้ผู้อ่านพิจารณาดูหนังสือให้ทั่วไปเถิดจะลงรูปเช่นนี้ฤๅไม่

๑๓๔ ณปลายปี องเชียงสือมาสู่โพธิสมภาร

๑๓๔ องเชียงสือนี้เปนเชื่อวงษ์เจ้าเมืองญวนข้างใต้ ดังที่ได้กล่าวเรื่องราว ไว้ในคำวิจารณ์ที่ ๔๘ นั้นแล้ว

เวลาเมื่อองเชียงสือเข้ามาอยู่กรุงเทพ ฯ ทรงชุบเลี้ยงอย่างเจ้าประเทศราชที่สนิททำนองเจ้าเขมร แต่นั่งเฝ้าฝ่ายขวาในระหว่างเสา เสมอแนวเจ้ากรมตำรวจเฝ้า ฝ่ายเจ้าเขมรนั้นเฝ้าฝ่ายซ้าย ต่อหลังสมุหนายก ข้อซึ่งไม่ได้ให้เฝ้าในหมู่ขุนนางอย่างเจ้าเขมรนั้น เพราะองเชียงสือนั่งขัดสมาธิ์เฝ้า จึงเข้าไปอยู่หว่างเสาซึ่งตรงกับเฉลียงที่เจ้านายเฝ้า บรรดาพรรคพวกที่เข้ามาได้พระราชทานเบี้ยหวัด มีตำแหน่งราชการ ที่เปนช่างก็ได้ทำการเปนช่างทหารในญวน แลการอื่น ๆ เช่นรำโคม แจวเรือญวนแจวนำกระบวนเสด็จ คนเหล่านี้เปนพรรคพวกองเชียงสือได้ดูแลจัดการ แลบรรดาบ่าวไพร่เหล่านั้นได้อนุญาตให้เข้าออกไปมาทางปากน้ำได้สดวก องเชียงสือได้รับมารดาแลภรรยาเข้ามาอยู่ด้วย เพราะเหตุที่ข้างฝ่ายเมืองญวนนั้น ไม่มีที่พึ่งพาอาไศรย หลบหลีกอยู่ตามเมืองชายทเลแลเกาะ หนีข้าศึกมิใคร่จะพ้น เวลาเมื่อมีการพระราชสงครามรบพม่า ก็ได้ตามเสด็จในกองทัพ ทรงพระกรุณาโปรดให้ยกกองทัพออกไปช่วยตีขบถถึง ๒ ครั้งไม่สำเร็จได้ ในครั้งที่สององเชียงสือได้ออกไปกับกรมหลวงเทพหริรักษ์ ก็ไม่สำเร็จเสียท่วงทีเข้ามา เหตุด้วยพวกขบถยังมีกำลังกล้า เมื่อกรมหลวงเทพหริรักษ์กลับเข้ามาแล้ว องเชียงสือยังอยู่ภายหลัง เห็นเหลือกำลังที่จะทำศึกต่อไปอิกได้ จึงต้องหนีกลับเข้ามาอิกเปนครั้งที่สอง คอยท่วงทีดูกำลังข้างฝ่ายขบถ

ข้อซึ่งองเชียงสือหนีไม่ได้กราบถวายบังคมลาออกไปในครั้งหลังนั้น เหตุด้วยเมื่อเวลาก่อนจะเข้ามากรุงเทพ ฯ องเชียงสือมีพวกพ้องเปนฝรั่งเศสอยู่คนหนึ่ง ไปว่ากล่าวขอให้ช่วย ขอกองทัพฝรั่งเศสมารบขบถ ผู้ที่เปนเพื่อนนั้นก็เปนคนสามัญ มิใช่ข้าราชการฝรั่งเศส องเชียงสือก็เปนคนสิ้นคิดรเหรหนอยู่ กลัวว่ารัฐบาลฝรั่งเศส จะไม่เชื่อถือเอาธุระ จึงได้มอบบุตรอันยังเด็กอยู่ให้ไปเปนจำนำคนหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อสหายผู้นั้นพาบุตรองเชียงสือออกไปเมืองฝรั่งเศส พเอินสบช่องกำลังเมืองฝรั่งเศสเปนจลาจล จึงพาไปพักอยู่ที่เมืองฮอแลนด์ องเชียงสือก็ทอดธุระว่าเปนอันไม่สำเร็จ จึงได้มุ่งน่าจะพึ่งกรุงศรีอยุทธยาฝ่ายเดียว

ครั้นมาถึงเวลาเมื่อจะคิดหนีนั้น การเกิดประจวบกัน คือสหายฝรั่งเศสผู้นั้นกลับมาจากเมืองฝรั่งเศส ตามเข้ามาหาถึงในกรุง ครั้นเมื่อความทรงทราบก็เปนที่ทรงรังเกียจ ว่าองเชียงสือคบฝรั่ง แต่ไม่ใช่กริ้วกราดอันใดให้ปรากฎออกมา องเชียงสือรู้ในใจเอง ว่าคงจะเปนที่ทรงเคลือบแคลง ส่วนข้อความที่สหายผู้นั้นนำเข้ามาแจ้ง ก็เพียงแต่ฝรั่งเศสรับว่าจะอุดหนุน ยังมิได้ให้กำลังวังชาอันใดมา องเชียงสือจึงให้ผู้เปนสหายนั้นกลับออกไปเสียจากกรุงเทพ ฯ

แต่มีข้อความที่ได้ทราบข่าวคราวดีอยู่อย่างหนึ่ง ว่าหัวน่าไตเซิน ผู้ที่ตั้งตัวเปนเจ้า ๓ คนนั้น เกิดความบาดหมางกันแลกัน ทั้งที่พวกนั้นได้ปกครองแผ่นดินมาถึง ๓๐ ปีแล้ว การปราบปรามบ้านเมืองไม่ราบคาบได้ทั่วถึง ราษฎรได้ความลำบากยากแค้น เบื่อหน่ายผู้ปกครองในเวลานั้น นึกถึงเชื้อวงษ์ที่เคยปกครองมาแต่ก่อน น่าที่จะได้ราษฎรเปนกำลัง เพราะเหตุที่องเชียงสือเกรงข้อที่จะทรงเคลือบแคลง อย่างหนึ่งเห็นช่องที่พวกขบถจะมีกำลังอ่อนลงอย่างหนึ่งเช่นนี้ จึงได้คิดหนีออกไป มิได้กราบถวายบังคมลา ยกจู่ออกไปก็ตีเมืองไซ่ง่อนได้ จึงได้คิดทำศึกต่อขึ้นไป ในขณะเมื่อหนีไป พอได้เมืองไซ่ง่อน ก็ส่งต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย ขอพระราชทานกำลังอุดหนุน ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสาตราอาวุธเสบียงอาหารเนือง ๆ องเชียงสือทำศึกอยู่หลายปี จึงได้เมืองกุยเยิน แล้วทำต่อขึ้นไปจนในที่สุดได้เมืองตังเกี๋ย ตั้งตัวขึ้นเปนดึกว่างเด ยี่ห้อแผ่นดินว่า ยาลอง ในราวปีรกาตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ มาจนปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๐ จึงเปลี่ยนเปนแผ่นดินมินมางองค์ที่มีพระราชสาส์นบอกเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ที่ได้คัดสำเนาลงไว้ในท้ายพระราชวิจารณ์นี้

เรื่องเมืองญวนที่เกี่ยวข้องกับเมืองเราตั้งแต่องเชียงสือเข้ามา มีปรากฎในพระราชพงษาวดารหลายตอน คือน่า ๓๓๗, ถึงน่า ๓๓๙, ๓๙๐, ๓๙๖, ๓๙๘. แต่ชั้นเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ดูเอาใจใส่สอบสวนในเรื่องไมตรีกับเมืองญวนนี้มาก ท่านได้สำเนาพระราชสาส์นทั้งไปแลมาเกือบหมด มีเหลืออยู่ในห้องอาลักษณ์น้อยนัก แต่ได้ทราบว่าหนังสือที่เอาไปนั้นตกไปที่เจ้าพระยาภาณุวงษ์ ไปปลูกออฟฟิศอยู่ริมน้ำ ๆ เซาะฤๅปลวกขึ้นเสาพังลงน้ำไปหมด แต่ข้อความที่ได้ไปนั้น ท่านได้เก็บใจความลงแล้วในจดหมายเหตุ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๓ แต่ข้อความที่เก็บลง น่าจะแปลกแปลงสำนวนฤๅมีเข้าใจผิดอยู่ในนั้นบ้าง ข้อที่ขาดอยู่เปนนิตย์นั้น หนังสือเก่า ๆ ไม่ใคร่ลงศักราชเดือนปีชั้นหนึ่งแล้ว ผู้ที่คัดถึงพบเข้าก็ยิ่งเมินเฉย ไม่เอื้อเฟื้อแก่เดือนปี บางทีลักษณเดิมเขาแต่งหนังสือเอาศักราชตั้งเปนหลัก สุดแต่มีอไรก็จัดลำดับตามรายเดือนไปจนสิ้นปี ไม่กำหนดเรื่อง อิกไนยหนึ่งตั้งใจจะกำหนดแต่เรื่อง ยกความมารวมกันไว้ในแพนกเดียว แต่ถ้าจะทำเช่นนั้น ควรจะยกศักราชมาลงให้ทุกระยะ แต่เขาหาได้ทำดังนั้นไม่ ไม่สังเกตแลไม่ยกศักราชมาลง ทำให้ศักราชสูญไปได้เปนอันมาก เพราะฉนั้น ข้อความที่ปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๑ ซึ่งกรมหลวงดำรงมารวมพิมพ์ขึ้น จึงไม่มีศักราชโดยมาก แต่มีข้อความเรื่องเมืองญวนมาก ซึ่งไม่มีสำเนาเหลืออยู่ห้องอาลักษณ์เลย ที่มีอยู่ก็เปนความต่างหาก เห็นจะเปนที่หลงเหลือเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ไม่ได้ไป มีในรัชกาลที่ ๑ บ้าง รัชกาลที่ ๒ มาก แต่บางทีจะไม่ตรงกันกับที่มีในจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ไม่ได้สอบสวน รัชกาลที่ ๓ ไม่มีเลยแต่สักฉบับเดียว

พระราชสาส์นเมืองญวน ไม่มีกถาคำนำทำนองพระราชสาส์นลาว เปนอย่างหนังสือไปมาธรรมดา เปนการไม่สมควรที่จะนำเอาพระราชสาส์นเหล่านั้น มาลงต่อท้ายพระราชวิจารณ์นี้ให้มากมายเกินไป แต่เห็นว่าพระราชสาส์นญวนนี้ ถ้าหากว่าไม่พลัดพรายได้หมด จะเปนเล่มโตแต่ลำพังพระราชสาส์นไม่มีอื่นปน จะเต็มไปด้วยข้อราชการที่พึงกำหนดชั้นเชิงทางดำเนินในเวลานั้น แต่ครั้นเมื่อหนังสือทั้งปวงหายเสียโดยมาก เหลืออยู่แต่นิดเดียวเท่านี้ น่าเลืยดายที่จะปล่อยให้สูญเสีย เพราะหนังสือเขียนด้วยเส้นดินสออยู่ในสมุดดำอันชื้นราลบเลือนได้ง่าย ถ้าไม่พิมพ์ขึ้นไว้จะกลับร้ายไปกว่าหนังสือที่พังลงน้ำนั้น เพราะเหตุที่หนังสือนั้น เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ได้คัดใจความไว้แล้ว แต่หนังสือที่เหลืออยู่นี้ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ไม่รู้สึกเลย เห็นว่าไม่มากมายเท่าใด จึงได้พิมพ์ติดท้ายไว้ สำหรับได้เห็นสำนวนที่มีไปมา

มีข้อความซ้ำอยู่ด้วยเรื่องพระราชสาส์นมีไปถึงเจ้าเมืองตังเกี๋ยฉบับหนึ่ง ซึ่งเก็บความลงไว้ในพงษาวดารรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ เลอียดลอออยู่ แต่เห็นปรากฎว่าได้ตัดฤๅได้เปลี่ยนถ้อยคำเสียบ้าง ให้เพราะฤๅให้ความชัดขึ้น แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าดีกว่าต้นฉบับ จึงได้คัดสำเนาจากต้นฉบับมาติดท้ายหนังสือนี้ไว้ จะได้อ่านเทียบ

ส่วนหนังสือที่เจ้าตังเกี๋ยมีมาฉบับแรก เจ้าพระยาทิพากรวงษ์เห็นจะได้ไป จึงไม่มีอยู่ในห้องอาลักษณ์ แต่ไปได้คำตอบที่เจ้าเมืองตังเกี๋ยมีมาสืบทางไมตรี ซึ่งเปนพระราชสาส์นโต้ตอบติดกันกับฉบับที่ได้ไว้ ข้อความดีอยู่ จึงได้พิมพ์ไว้อิกฉบับหนึ่งเปนหมวดแรก

ผู้อ่านต้องเข้าใจว่าเจ้าเมืองตังเกี๋ยผู้ที่เขียนหนังสือนี้ เปนเจ้าคนหนึ่งในพวกไกเซิน มาตั้งเปนเจ้าอยู่เมืองแง่อาน ซึ่งมีความเสียใจที่จะกล่าวว่า กรมหลวงนรินทรเทวีเขียนลงไว้ว่า “ไตรเกริน” นั้นไม่ผิด ในหนังสือสำเนาที่มีไปมาต่าง ๆ ใช้ตัว ต, เปนด้วยเสมียนอ่านตัว ต, เปนตัว ก, อย่างซึมซาบ หนังสือก็กลายเปนตัว ก, ไป

เรื่องราวสาเหตุที่จะมีราชสาส์นมานั้น เพราะเมืองเวียงจันท์รบกับเมืองพวน เจ้าเมืองพวนบอกขอกองทัพออกไปเมืองแง่อาน ญวนยกกองทัพเข้ามารบลาวในเมืองพวน แตกลาวไปครั้งหนึ่ง แล้วจะยกลงมาตีเมืองเวียงจันท์ เจ้านันทเสนซึ่งเปนเจ้าล้านช้าง จึงได้มีศุภอักษรลงมาขอกองทัพกรุงขึ้นไปช่วย ทัพกรุงขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันท์ ญวนถอยออกไปอยู่เมืองพวน กองทัพไทยยกตามออกไปเมืองพวน ญวนก็เลิกออกไปเมืองติงเง

ข้อซึ่งญวนไม่รบกับเราในเวลานั้น เหตุด้วยรวังหลังอยู่เหมือนกัน ด้วยบ้านเมืองญวนเวลานั้นไม่ปรกติ องเชียงสือซึ่งเข้าพึ่งกรุงเทพ ฯ ได้ขอกองทัพออกไปช่วยต่อรบญวนทางไซ่ง่อนถึง ๒ คราว ปรากฎว่าไทยคิดจะช่วยตีเมืองญวนให้แก่องเชียงสือรู้ทั่วไป แต่หากข้างฝ่ายกรุงมีศึกพม่าพัวพันอยู่ไม่ทำการไปได้น่าเดียว องเชียงสือได้ข่าวกำลังพวกไตเซินอ่อนลงด้วยหัวน่าแตกความสามัคคีกัน เห็นเปนห่วงที จึงได้ออกไปเกลี้ยกล่อมผู้คนยกเข้าโจมตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืนได้โดยง่าย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงพระกรุณาองเชียงสือ อุดหนุนด้วยสาตราอาวุธเสบียงอาหาร กำลังคิดจะขึ้นไปตีเมืองเว้ ถ้าหากว่าข้างฝ่ายเมืองตังเกี๋ยจะทำให้เปนสัตรูกันขึ้นกับไทยข้างฝ่ายเหนืออิกทางหนึ่ง ก็จะเปนถูกศึกขนาบ ข้างฝ่ายใต้องเชียงสือตีขึ้นไป ข้างฝ่ายตวันออกทัพกรุงตีออกไป จะเปนการพะว้าพะวัง

เพราะเหตุฉนั้น เจ้าเมืองตังเกี๋ยจึงได้มีพระราชสาส์นเข้ามาผูกพันทางไมตรี อ้างว่าเมืองลาวเหล่านี้เคยส่งบรรณาการฝ่ายญวน เจ้าล้านช้างไปห้ามปรามขัดขวาง เดินทางกลับร้ายเปนดี ขอให้ที่กรุงยกกองทัพออกไปทางหนึ่ง ข้างฝ่ายเหนือจะตีองเชียงสือลงมา ขอให้เราช่วยจับองเชียงสือส่ง เมืองญวนจะทดแทนคุณ

เหตุผลที่เปนเช่นนี้แล้ว ก็เปนธรรมดาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ จะไม่รับคำชักชวนของเจ้าเมืองตังเกี๋ย แต่เพื่อจะไม่ให้เกิดศึกยืดยาวไป เพราะจะเปนความรำคาญทางหนึ่ง ซึ่งเพิ่มเติมการรบพม่าที่มีอยู่แล้ว จึงได้ตอบไปว่าไม่ได้ห้ามไม่ให้เมืองลาวเหล่านี้ประพฤติตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ก่อน แต่ไม่ยอมที่จะแต่งกองทัพออกไปรักษาเขตรแดนฤๅเกี่ยวข้องด้วย พระราชสาส์นฉบับนี้แต่งเปนภูมถานมาก

เจ้าตังเกี๋ยมีหนังสือตอบมา ยอมรับคำอธิบายที่มีไปในพระราชสาส์นทุกอย่าง แลผูกพันทางไมตรีสืบไป พระราชสาส์นญวนฉบับนี้ ลงวันเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗

คราวนี้หนังสือที่มีอยู่ข้ามไปเปนปีชวดฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ นับเปนหมวดที่ ๒ มีพระราชสาส์นญวน ๒ ฉบับ ไทย ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งเปนพระราชสาส์นเจ้าเวียดนาม องเชียงสือ เมื่อตีเมืองตังเกี๋ยได้แล้ว อ้างว่าเมื่อปีกุนเบญจศก มีพระราชสาส์นให้ทูตออกไปถึงเมืองตังเกี๋ย คุมสิ่งของออกไปพระราชทาน (ของพระราชทานครั้งนี้เปนทีเครื่องอภิเศก เพราะเหตุที่ปราบปรามเมืองญวนอยู่ในอำนาจได้ ทั้งตอนเหนือตอนกลางตอนใต้) ตอบรับสิ่งของแลส่งของเข้ามาถวายด้วย กวางเถิงดาว คำทราย เตียงกวางเฮา ๑ ทานลำเวียนโหย เวียนบะ ๑ เปนราชทูตคุมเข้ามาทางเรือ พระราชสาส์นลงเดือน ๖ ขึ้น ค่ำ ๑ ยาลองศักราช ๑ ปีชวดฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖

อิกฉบับหนึ่งตอบพระราชสาสน์เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำปีกุนเบญจศก ได้รับข่าวกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จสวรรค์คต คิดถึงพระเดชพระคุณจัดของเข้ามาสดัปกรณ์ พระราชสาส์นลงวันเดียวกัน ทูตสำรับเดียวกัน

พระราชสาส์นกรุงศรีอยุทธยา ตอบรับสิ่งของแลส่งของไปพระราชทาน มีข้อความว่าด้วยเรื่องเจ้าเวียดนามคืนพระมาลามาว่าเปนอย่างสูงไม่เคยใส่ถวายคืน (ทีเขาจะกลัวว่าเปนรับมงกุฎจากเรา) จึงส่งของอื่นไปพระราชทาน ตอบรวมทั้งของที่ส่งมาสดัปกรณ์กรมพระราชวังด้วย พระราชสาส์นลงวัน ๔ เดือน ๙ ขึ้น ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๖๖ ปีชวดฉศก

อิกฉบับหนึ่งมีเนื้อความว่า เสี้ยนหนามหลักตอในเมืองญวนก็หมด เปนศุขอยู่แล้ว แต่พระนครศรีอยุทธยากับกรุงอังวะยังเปนปัจจามิตรกันอยู่ เมื่อเดือน ๖ ปีชวดฉศก ได้ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ล้อมอยู่เดือนเศษจึงได้ มยุง่วนแม่ทัพพม่าถูกปืนตาย อ้ายนาขวาเจ้าเมือง อพยบหนีข้ามแม่น้ำของไปก็ตามจับได้สิ้น ทำลายกำแพงเสียแล้วกวาดครัวลงมา พม่าเห็นจะเจ็บแค้น ตกระดูแล้งจะยกลงมาตอบแทนฤๅประการใดยังไม่ได้ความ ถ้าทัพพม่าไม่มา ทัพพระนครศรีอยุทธยาจะยกไปทำแก่ทางอังวะ แต่เมืองชายทเล คือมฤท, ทวาย, เมาะตมะ, ย่างกุ้ง, ถ้าแต่กำลังทัพบกไปตีมันอุดหนุนกันได้ จำจะต้องมีทัพเรือไปกันทัพพม่า ได้คิดเตรียมทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ ตลอดจนเมืองไทร เมืองตานีให้เปนทัพเรือ แต่ไม่สู้สันทัดนัก จะขอกองทัพเรือพระเจ้ากรุงเวียดนาม ๒๐๐ ลำ คิดดูมรสุมลมเดือนอ้ายมาจากเมืองญวน เดือนยี่ถึงมลากา ปลายเดือนยี่ต้นเดือนสามเปนลมสำเภา เลี้ยวขึ้นไปทางเกาะหมากเมืองไทร เมืองถลางได้สดวก ถึงอังกฤษซึ่งตั้งอยู่เกาะหมากนั้น ก็จะมีหนังสือแต่งคนออกไปบอกเสียแล้วก็จะไม่มีวิวาทสิ่งใด กำหนดจะได้ยกเมื่อใด จึงจะมีพระราชสาส์นไปให้แจ้ง พระราชสาส์นลงวันเดียวกันกับฉบับแรก

มีหนังสือเจ้าพระยาคลังถึงองไลโบเสนาบดี ให้นำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าเวียดนามฉบับหนึ่ง ดำเนินรับสั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กรมพระราชวังบวร ฯ ส่งดีบุกบรีสุทธิ์ไปให้เจ้าเวียดนาม แลว่าด้วยเรื่องสำเภาซึ่งซัดไปอยู่เมืองญวนติดไปอิกฉบับหนึ่ง

ต่อนั้นมามีสำเนาพระราชสาส์นเมืองญวน นับเปนเหมวดที่ ๓ ปีขานอัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ สามฉบับ ๆ หนึ่งถวายของบรรณาการ ฉบับหนึ่งส่งของสดัปกรณ์กรมพระราชวังหลัง อิกฉบับหนึ่งเปนคำตอบพระราชสาส์น แลบอกข่าวที่ทูตออกไปทางบกตายที่เมืองญวน

ต้นเหตุที่มีพระราชสาส์นออกไปทางบกนี้ ทรงพระราชดำริห์ว่า องเชียงสือเปนไมตรีกับเราดีอยู่ก็จริง แต่เมื่อได้เมืองญวนทั้งหมดแล้ว ด้วยความจำเปนอันเกี่ยวข้องกัน เพราะอาณาเขตรติดต่อกันก็ดี ฤๅมีความกำเริบเปลี่ยนความคิดไปอย่างไรก็ดี ฝ่ายเราไม่รู้ทางบก มีพระราชประสงค์จะให้รู้ทางบกไว้ จึงได้แต่งให้พระยาจักราเปนราชทูต พระยาราชวังสรร ซึ่งเปนผู้คุ้นเคยมีอุปการะกับเจ้าเวียดนาม เปนอุปทูต นายเสน่ห์เปนตรีทูต เชิญพระราชสาส์นออกไปทางบก พระยาจักราแลนายเสน่ห์มหาดเล็ก ไปเปนไข้ป่าตายเสียที่เมืองเว้ เจ้าเวียดนามจึงได้ส่งพระยาราชวังสรรแลไพร่ที่เหลือตายเข้ามาทางเรือ ในพระราชสาส์นฉบับนี้ว่าถึงเรื่องพระยาเชียงเงิน ซึ่งไปกวาดครอบครัวเมืองแถงเข้ามา เห็นจะเปนเมื่อครั้งยกขึ้นไปช่วยเจ้านันทเสน กล่าวความเปนไม่มีเคลือบแคลงสงไสย พระราชสาส์นฉบับนี้ ลงวันเดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ ศักราชยาลอง ๕ ปีขานอัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘

อิกฉบับหนึ่ง ตอบรับพระราชสาส์น บอกข่าวตั้งกรมพระราชวังบวร ฯ มีทูตเชิญเข้ามาทั้ง ๒ ฉบับ กำทรายกายเก่อถนจ๊กหาว ราชทูต ทำลุนตามเมียงหาว อุปทูต คุมของเข้ามาถวายด้วย พระราชสาส์นลงวันเดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ ศักราชยาลอง ๕ ปีขานอัฐศกจุลศักราช ๑๑๖๘

พระราชสาส์นรัชกาลที่ ๑ มีสำเนาอยู่ที่ห้องอาลักษณ์แต่เท่านี้ พระราชสาส์นรัชกาลที่ ๒ มีมาก ถ้าจะกล่าวนำเปนฉบับ ๆ ซึ่งควรจะนับเปนหมวดที่ ๔ เห็นเรื่องจะยืดยาว จึงเปนการจำเปนที่จะกล่าวแต่ย่อพอได้รูปความ

พระราชสาส์นฉบับแรก บอกข่าวสวรรค์คตสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แลเรื่องลงโทษหม่อมเหม็น ลงวันศุกร เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก

มีตำราเรียกว่ากฎสำหรับทำพระราชสาส์นอยู่ในต้นร่างนั้นด้วย แต่พระราชสาส์นญวนตอบ แลทูตญวนเข้ามาเยี่ยมพระบรมศพ ไม่มีฉบับ เห็นจะตกไปที่เจ้าพระยาทิพากรวงษ์เสียแล้ว

แต่พอเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ก็พอเกิดเหตุขึ้นด้วยเรื่องเมืองเขมร ซึ่งถ้าหากว่าไมตรีในระหว่างองเชียงสือกับกรุงเทพ ฯ ไม่มีอยู่แต่ก่อน แลไม่อาไศรยความผ่อนผันของรัฐบาลในเวลานั้น น่าจะเกิดเหตุถึงรบพุ่งกันได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดความลำบากขึ้นนั้น คือ พระนารายน์รามาธิบดี นักพระองค์เองซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เศกไปให้ครองกรุงกัมพูชา อยู่ได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่พิราไลย มีลูกยังเด็กอยู่ ๔ คน คือ องค์จันทร์ ๑ องค์อิ่ม ๑ องค์สงวน ๑ องค์ด้วง ๑ ฟ้าทะละหะซึ่งเปนบิดาเลี้ยงนักองค์เองมาแต่ก่อน ได้เปนผู้บังคับบัญชาราชการสิทธิ์ขาดในเมืองเขมร เวลานั้นญวนกำลังอยู่ในเวลารบกันภายในเมือง ไม่สู้มีอำนาจบังคับบัญชาเขมรได้นัก ฟ้าทะละหะปกครองเมืองเขมรตามคำสั่งของกรุงเทพ ฯ ฝ่ายเดียวโดยมากทุกอย่าง ได้พาองค์จันทร์เข้ามาเฝ้า ๒ ครั้ง จนฟ้าทะละหะนั้นชรามาก มาตายในกรุงเทพ ฯ จึงได้พระราชทานอภิเศกให้นักองค์จันทร์ ซึ่งเวลานั้นมีอายุเพียง ๑๖ ปี ขึ้นเปนสมเด็จพระอุไทยราชา เจ้ากรุงกัมพูชา

ครั้นเมื่อปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ ราว ๆ กันกับเวลาฉลองวัดพระเชตุพนครั้งหลัง พระอุไทยราชาเข้ามาเฝ้าอิกครั้งหนึ่ง อาการเปนคนอยู่ข้างจะทลึ่งทลั่ง ความคิดนั้นทำนองจะอยากได้เมืองพระตบอง เมืองเสียมราฐ เมืองสวายจิต ที่พระองค์เอง ยอมถวายไว้แต่รัชกาลที่ ๑ นั้นคืน เวลาเช้าเสด็จออกพระแกล ยังไม่มีผู้ใดได้เข้าเฝ้า ก็ตรงเข้ามาเปนทีว่าจะทูลลา กริ้วว่าทลึ่ง องค์จันทร์ได้ความอาย ทั้งไม่สมคิดที่ได้ทำให้ปรากฎไว้ว่าจะเอาเมืองพระตบองเสียมราฐคืน ก็เลยกระดากไม่เดินทางเมืองพระตบอง (ซึ่งเวลานั้นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ซึ่งเปนบิดาภรรยานักองค์เองถึงแก่อสัญกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระยาวิบุลยราช (แบน) เปนพระยาอภัยภูเบศร์ เปนผู้ว่าราชการเมือง) ลงเรือเสียที่เมืองโตนดล่องลงไปบันทายเพชทีเดียว พอประจวบกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เสด็จสวรรค์คต เมืองเขมรจึงได้แต่งให้นักองค์สงวนแลนักองค์อิ่ม ซึ่งเปนน้องที่ ๒ ที่ ๓ ของเจ้ากรุงกัมพูชาเข้ามาเฝ้า ในการผลัดแผ่นดินใหม่จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งนักองค์สงวน เปนพระมหาอุปโยราช นักองค์อิ่มเปนมหาอุปราช ตามประเพณีตำแหน่งเมืองเขมร กลับออกไปเมือง

พระอุไทยราชามีความรแวงว่าเจ้าสองคนนั้นจะมีกำลังมากขึ้น หวังจะตัดกำลังให้อ่อน จึงให้จับตัวพระยาจักรี พระยากลาโหม ซึ่งเปนผู้เข้ามาด้วยนักองค์ทั้งสอง คราวรับตำแหน่งนั้นไปฆ่าเสีย แลสงไสยว่า พระยาเดโช (เมน) ซึ่งเปนตำแหน่งพระยาสังขโลก เจ้าเมืองกระพงสวาย จะคิดอ่านเปนขบถเข้าด้วยพระยาจักรี พระยากลาโหม จึงให้ยกขึ้นไปตีเมืองกพงสวาย พระยาสังขโลกไม่ทันรู้ตัว ก็หนีเข้ามากรุงเทพ ฯ พระยาอภัยภูเบศร์ ผู้รักษาเมืองพระตบองก็ไม่ไว้ใจ จัดการป้องกันรักษาเมืองพระตบอง เมื่อการครั่นกันอยู่เช่นนั้น พอนักพระองค์แก้ว ซึ่งเคยเข้ามาอยู่กรุงธนบุรีแต่ก่อน ไปเปนผู้ใหญ่อยู่ในเมืองเขมรคู่กับฟ้าทะละหะนั้นตายลง แต่ไม่ได้ตายในเมืองบรรทายเพชร์ องค์สงวนเวลานั้นบวชอยู่สึกออกมา ว่าจะไปปลงศพ ก็เกิดรแวงว่าองค์สงวนจะไปคิดการขบถ องค์สงวนเห็นท่วงทีไม่ไว้ใจได้ จึงได้หนีเข้ามาเมืองโพธิสัตว์ พระอุไทยราชาก็ให้ยกผู้คนติดตาม ข้างองค์สงวนก็ตั้งกองรักษาตัว จะเกิดสู้รบกันขึ้น ข้อความทราบถึงที่กรุงเทพ ฯ จึงโปรดให้พระยาราชรองเมือง แลผู้อื่นยกออกไปฟังการอยู่ที่เมืองพระตบอง

ฝ่ายพระอุไทยราชาตกใจ ได้ข่าวว่ากองทัพกรุงเทพ ฯ ออกไป รแวงผิดอยู่ จึงให้ไปขอกองทัพญวนมาช่วย ญวนเห็นเปนทีที่จะเข้าแทรกแซงได้ถนัด จึงส่งกองทัพขึ้นมาช่วยรักษาเมืองเขมร ฝ่ายองค์อิ่มมหาอุปราช แลองค์ด้วงน้องชายเล็ก ตกใจกองทัพญวนขึ้นมา ก็พากันเปิดหนีเข้ามากรุงเทพ ฯ อิก เมื่อการเปนมากขึ้นเช่นนั้นแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยายมราช พาตัวองค์สงวนลงไป เพื่อจะสมัคสมานกับองค์จันทร์ให้เปนที่เรียบร้อย ยังไม่ทันจะไปถึง องค์จันทร์ได้ข่าวว่ากองทัพกรุงไป ก็เปิดหนีลงไปอยู่เมืองไซ่ง่อน

ด้วยเหตุนี้จึงเปนเรื่องที่ได้มีพระราชสาส์นไปมากันในระหว่างกรุงศรีอยุทธยากับกรุงเวียดนามด้วยเรื่องเมืองเขมร ตั้งแต่ปีมเมีย โทศก จุลศักราช ๑๑๗๒ จนถึงปีรกาเบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ องค์จันทร์จึงได้กลับขึ้นมาอยู่เมืองพนมเปญ

ทางโต้ตอบกันในระหว่างสองพระนครนี้ ก็ด้วยถือว่าเมืองเขมรอยู่ในบำรุงทั้งสองฝ่าย ข้างฝ่ายญวนก็ฟังเสียงแลพูดตามข้อความที่องค์จันทร์กล่าว แต่ข้างฝ่ายกรุงไว้อาการเปนกลาง ๆ มีข้อซึ่งจะกล่าวได้ถนัด ว่าองค์จันทร์ไม่มีความอ่อนน้อมยำเกรง การที่โต้ตอบไปมาก็มีชั้นเชิงราชการอยู่ในนั้น เช่นกับที่กรุงมีพระราชสาส์นไป ว่าองค์จันทร์กำเริบ เพราะได้กองทัพญวนมาเปนกำลัง แต่ญวนแก้ว่า เห็นว่าเปนเวลากำลังจะทำการพระบรมศพ การของไทยก็เหมือนการของญวน จึงได้ขึ้นมารงับเหตุการไว้

ญวนกล่าวว่าองค์จันทร์ หนีลงไปเมืองไซ่ง่อน เพราะกองทัพไทยยกออกไปตกใจกลัว ข้างไทยแก้ว่าเพราะเห็นว่าเปนระหว่างทุกข์ ของเจ้ากรุงเวียดนาม ด้วยดึกท้ายเห่าพระราชมารดาสวรรค์คต จึงมิอยากจะให้กวนญวน เช่นนี้เปนต้น ถ้าจะเก็บข้อความเหล่านี้มากล่าวจะยืดยาวไป ควรจะพิจารณาในสำเนาพระราชสาส์น ได้มีทูตออกไปเมืองญวนแลทูตญวนเข้ามาหลายเที่ยว ลงปลายที่สุด ก็เปนญวนแลไทยพร้อมกันพาองค์จันทร์คืนขึ้นมาอยู่เมืองเขมร แต่องค์จันทร์บิดพลิ้วไม่ขึ้นมาทันที ต่อญวนพาขึ้นมาแล้ว ไทยจึงออกไปภายหลัง

ในตอนปลาย แห่งพระราชสาส์นนี้กล่าวถึงองค์จันทร์ให้กองทัพยกขึ้นมาตีเมืองพระตบอง แต่ได้ความว่าเจ้าเวียดนามให้ขึ้นมาชำระอยู่แล้ว จึงแต่งให้ทูตออกไปฟังความ ท้องเรื่องนั้นการก็เปนอันสงบ องค์จันทร์คงขึ้นอยู่ทั้งสองฝ่าย แต่สนิทข้างญวนรแวงข้างเรา เพราะเหตุที่ฝ่ายน้องทั้ง ๓ คนมาอยู่ข้างเรา

ถึงว่ามีเหตุการ ซึ่งต้องเจรจากันอยู่ในระหว่างสองพระนครนี้ ด้วยเรื่องความเมืองเขมร แต่ทางไมตรีถามข่าวคราวศุขทุกข์เยี่ยมเยียนกันเปนปรกติเรียบร้อย ไม่มีหมองหมางอันใด

มีระหว่างซึ่งไม่ได้มีสำเนาพระราชสาส์นเหลืออยู่ ๒ ปี ไปได้พระราชสาส์นเจ้าเวียดนามมินมางโดยพเอินไปพบหลงปนอยู่ในพระราชสาส์นจีน บอกเตี้ยนวั่งเด๊ คือองเชียงสือสวรรค์คตฉบับหนึ่ง บอกมินมางเสวยราชสมบัติใหม่ฉบับหนึ่ง ในปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ เพราะทำนองพระราชสาส์นเปนอย่างจีน เขาจึงเข้าใจว่าเปนพระราชสาส์นเมืองจีน ได้เก็บมาพิมพ์ติดท้ายหนังสือนี้ด้วย สำเนาพระราชสาส์นที่เหลืออยู่หมดสิ้นเชิงเพียงเท่านี้

๑๓๕ ณ ปีเถาะต้นปีมีบันทิด ๒ คนเข้าวังน่า จับตัวได้ประหารชีวิตรทั้งผู้รู้เห็น เอี้ยง บุตรหญิง ๑ บุตรชาย ๒ เกิดบุตรชาย ๒ จุ้ย บุตรหญิงอยู่วังหลวง พระยาภัยโนฤทธิ์ บุตรหญิง ๒ อยู่วังหลวง พระโองการทรง (ส่ง) สิ้นทั้ง ๓ คน ให้ประหารชีวิตรพร้อมกัน พ่อ, แม่, ลูก, เปนเสร็จ

๑๓๕ ความในวังนี้ทราบเลอียดออกไปกว่าในพงษาวดาร พระยาอภัยรณฤทธิ ผู้นี้เดิมเปนขุนกลาง

๑๓๖ ณกลางปีเถาะในวังหลวง เพง, ทองคำ, มอญ, งานที่ ทำผิดคิดมิชอบ สืบสวนเปนสัตย์เฆี่ยน คนละ ๑๐๐

๑๓๖ เรื่องนี้ไม่ปรากฎในพงษาวดาร

๑๓๗ ประหารชีวิตรทั้งขุนแก้วน้องพระยาสรรค์

๑๓๗ อ้ายตาขุนแก้วมาตายถึงป่านนี้ด้วยเรื่องอะไรก็ไม่รู้

๑๓๘ ณปลายปี พระโองการ รับสั่งให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกไปตีไกรเกริน

๑๓๘ การที่ยกทัพไปช่วยองเชียงสือเปน ๒ คราว ครั้งแรกปีเถาะเบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ โปรดให้พระยานครสวรรค์ยกทัพบกไปทางเมืองกัมพูชา แลให้เกณฑ์ทัพเขมรเข้าบรรจบ ยกลงไปตีเมืองไซ่ง่อน

ในเวลานั้นเมืองไซ่ง่อน ได้แก่พวกขบถไตเซิน องติงเวืองครองเมืองไซ่ง่อนได้รบกับญวนหลายครั้ง พระยานครสวรรค์มีฝีมือเข้มแขงรบญวนชนะ แต่จะเปนด้วยเหตุใดไม่ปรากฎ พระยาวิชิตณรงค์แลขุนนางซึ่งอยู่ในกองทัพนั้น มีใบบอกกล่าวโทษว่าพระยานครสวรรค์ได้เรือแลไพร่ญวนแล้ว ส่งคืนลงไปให้แม่ทัพญวน นายทัพนายกองทั้งปวงพากันสงไสยว่าจะเปนขบถ มีใบบอกเข้ามา ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า นายทัพนายกองไม่ปรองดองกัน จะทำการไปไม่ตลอด จึงให้หากองทัพกลับ พระยานครสวรรค์นั้นต้องรับพระราชอาญาประหารชีวิตร ที่ป่าช้านอกวัดโพธาราม ข้อความทั้งนี้ในพระราชพงษาวดาร แลพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อความลงกัน แต่พงษาวดารญวนไม่มี เห็นจะเปนพงษาวดารญวน ตั้งใจจะกล่าวแต่เรื่องราวขององเชียงสืออย่างเดียว เพราะตามทำนองความที่แต่งนั้น ผู้แต่งเรียกว่าพงษาวดาร แต่เอาความประพฤติแลเปนไปขององเชียงสือขึ้นเปนที่ตั้ง ก็กลายเปนประวัติขององเชียงสือเท่านั้น หาใช่พงษาวดารไม่ เพราะองเชียงสือไม่ได้ไปในกองทัพด้วย จึงไม่มีข้อความในประวัติขององเชียงสือ

แต่ครั้งกรมหลวงเทพหริรักษ์ออกไปในปีมโรงฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ นี้ องเชียงสือไปด้วยในกองทัพ จึงได้มีข้อความในพงษาวดารญวน แต่ภูมิ์แผนที่กล่าวต่าง ๆ กันไป ด้วยความรู้ค่อนจะอยู่ข้างอ่อนด้วยกันทั้งนั้น พงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ น่าจะเยี่ยมกว่าเพื่อนในชั้นเชิงที่กล่าว แต่จะวินิจฉัยว่าใครถูกใครผิดแน่ นอกจากตรวจแผนที่ให้ได้ความชัดเจนก็จะยังว่าแน่ไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่มีแผนที่ในมือที่จะตรวจได้ทันที จึงขอทิ้งไว้ให้ผู้ที่จะแต่งพงษาวดารสอบสวนเอาเอง จะได้บรรยายข้อความที่แปลกกันลงไว้ทั้ง ๓ อย่าง ดังต่อไปนี้

พระราชพงษาวดาร

ว่า กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพเรือออกไปกับองเชียงสือ ถึงเมืองพุทไธมาศ เกณฑ์พระยาราชาเศรษฐี พระยาทัศดาเข้าบรรจบทัพ ยกไปตั้งค่ายอยู่อ่าวมนาวริมแม่น้ำแดนเมืองสักแดก เปนหลายค่าย ให้องเชียงสือแต่งขุนนางญวน กับไทยข้าหลวง ไปเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร ในแว่นแคว้นเมืองสักแดก เมืองโลงโห้ เมืองสม่าถ่อ ทั้ง ๓ เมืองมาเข้าด้วยเปนอันมาก

องติงเวืองเจ้าเมืองไซ่ง่อนแต่งกองทัพขึ้นมาตั้งอยู่เมืองสักแดก ได้ต่อรบกันกับกองทัพไทยเปนหลายครั้ง ยังไม่แพ้ชนะกัน วันหนึ่งทัพเรือฝ่ายไทยยกไปรบทัพเรือญวน แล้วถอยขึ้นมาเอาศีศะเรือรบเข้าจอดอยู่น่าค่าย ทั้งเครื่องสาตราวุธปืนใหญ่น้อยไว้ในเรือด้วยความประมาท ครั้นเพลาน้ำขึ้นทัพเรือญวนยกตามขึ้นมาถึงน่าค่าย ยิงปืนเรือรดมขึ้นมาทำลายค่าย ทหารไทยเสียทีลงเรือออกต่อรบมิทัน ก็ทิ้งค่ายแตกหนีเปนอลหม่าน นายทัพนายกองจะกดไว้มิอยู่

ในพงษาวดารรัตนโกสินทร์ว่า ทัพบกนั้นโปรดให้พระยาวิชิตณรงค์เปนแม่ทัพยกไปทางเมืองเขมร เกณฑ์กองทัพเขมรสมทบไปได้ไพร่พล ซึ่งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เกณฑ์ให้ ๕๐๐๐ ยกไปทางเมืองเปียมจอซาแดก ถึงแพรกพระยามัน สู้รบกับญวนไตเซินหลายครั้ง ญวนสู้ไม่ได้ถอยไป จึงยกล่วงไปเมืองเปียมบาราย ตีค่ายบ้านป่ายุง

ส่วนทัพกรมหลวงเทพหริรักษ์ ไปได้กองทัพพุทไธมาศเข้าด้วยแล้ว ยกไปเข้าปากน้ำเมืองปาศัก ตั้งอยู่คลองวามนาว ฝ่ายญวนมาตั้งรักษาที่ปากคลองวามนาว ทางจะลงไปซาแดก ล่องโห่ ไซ่ง่อน ทัพไทยจะยกหักลง ไปไม่ได้ จึงยกขึ้นมาตั้งค่ายบนบก หมายจะตีค่ายญวนบนบกให้แตกเสียก่อน ไม่ได้คิดรวังหลัง ครั้นน้ำมากขึ้นญวนเอาเรือรบลัดมาทางคลององเจืองออกแม่น้ำใหญ่ แล้วมาปิดปากคลองวามนาวด้านหลังทางไว้ ฝ่ายทัพญวนด้านปากคลองลำน้ำเมืองไซ่ง่อนก็ตีเข้ามา ข้างฝ่ายลำน้ำสมิถ่อตีรุกหลังเข้าไป ทัพไทยอยู่ในระหว่างศึกขนาบ ก็ทิ้งเรือรบเสีย หนีขึ้นบกไป

ในพงษาวดารญวน ในที่หนึ่งกล่าวว่ากองทัพไทยกับองเชียงสือยกออกไป องเชียงสือเข้าตีได้ด่านเกียมยาง แล้วยกเข้าไปตีได้ด่านเมืองฮ่าเตียง ฝ่ายพวกโดด๊ก เมืองอางยาง (ซึ่งจะเรียกชื่อยาก ถึงเรียกก็จำไม่ได้นั้น) ให้ทหารออกรักษาตำบลซาแด๊ก แลด่านตำบลบาเช่า ตำบลกล้าโอน องเชียงสือตีได้ทั้ง ๓ แห่ง กองทัพกรุงไปตั้งตำบลซาแด๊กออกหมายไปเกลี้ยกล่อม ต่อนั้นไปกล่าวถึงทหารวิเศษอย่างข้างจีน ที่มาอาสาต่าง ๆ อันไม่มีสารอันใดเปนอันมาก แล้วจึงกล่าวว่าพวกไตเซินปฤกษากันถึงสองอย่าง แต่อย่างที่ได้ตกลงทำนั้น ว่าพวกเรา (คือไตเซิน) ตั้งทัพอยู่ที่หมีทอนี้ แล้วจัดทหารไปตั้งซุ่มอยู่ในลำคลองหรัดเคงิมกองหนึ่ง ให้ยกขึ้นไปตำบลซาแด๊ก รบล่อให้พวกองเชียงสือกับกองทัพฝ่ายสยามไล่ลงมาพ้นจากหรัดเคงิม แล้วให้กองซุ่มสกัดต้นน้ำไว้ กองทัพที่หมีทอตีขนาบขึ้นไป ตามที่ตกลงกันนี้เปนอันได้จัดกองทัพมาล่อทัพไทย ให้ไล่ถลำไปดังเช่นความคิดนั้น ส่วนองเชียงสือว่าอยู่ค่ายหนึ่งต่างหาก พวกไตเซินยกไปตีหน่วงไว้ จะไปช่วยกันก็ไม่ได้ (เมื่อจุดประทัดแลตีม้าล่อเปนอันมาก หลายครั้งหลายหนซ้ำ ๆ ซาก ๆ แล้ว) ก็แตกด้วยกันทั้ง ๒ กอง เท่านั้น

กองทัพถอยขึ้นมากรุงกัมพูชา แล้วก็คืนกลับเข้ามากรุงเทพ ฯ ทั้ง ๒ กอง

ในเรื่องรบญวนได้พบจดหมายรายวันทัพ ครั้งเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ณเมืองพุทไธมาศ ออกคำสั่งแนะนำกองทัพชอบกลดีอยู่ ในกระแสรับสั่งนั้นว่า “นายทัพนายกองจะรบญวน ให้รู้ทางหนีทีไล่แลทำนองศึกข้างญวน ธรรมดาเรือรบญวนเจาะช่องปืนแคบพอจุปากบอกปืนจะเบนไปซ้ายขวาไม่ได้มากนัก ถ้ากองทัพหลบหลีกฤๅรุกร้นเข้าไปให้พ้นทางปืนแล้ว ญวนเห็นเสียทางปืนแล้วกระโดดน้ำหนีเท่านั้น ให้นายทัพนายกองตีโอบญวนเข้าไปแต่ห่าง ๆ อย่าให้ยิงปืนได้ถนัด ฤๅหลีกให้พ้นทางปืน เมื่อกระชั้นเข้าไปแล้ว ก็ให้รุกขยิกเข้าไปทีเดียว” คำสั่งเช่นนี้ออกจากที่ได้เคยรบกับญวนพวกนี้เอง

๑๓๙ ณปีมโรงฉศก ถวายพระเพลิงแผ่นดินต้นที่วัดบางยี่เรือ มีการมหรศพสมโภชพร้อมเสร็จ

๑๓๙ ฌาปนกิจเจ้ากรุงธนวัดบางยี่เรือตรงกับพงษาวดาร

๑๔๐ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์สิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงที่วังเก่า

๑๔๐ พระราชทานเพลิงเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ที่วังเก่า เพราะวัดแจ้งยังอยู่ในพระราชวัง

๑๔๑ แล้วมีพระโองการให้หาบรรดาเมืองขึ้นเอก, โท, ตรี, จัตวา, ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ ให้เข้ามาเฝ้าพร้อมณกรุงเทพมหานคร

๑๔๑ หัวเมืองที่หาเข้ามาครั้งนี้เกณฑ์ไพร่มามาก ปักฉลากกะด้านให้ทำกำแพงพระนครจนแล้วสำเร็จ

๑๔๒ บรรดาสุริวงษ์กัมพูชา ทรง (ส่ง) เข้ามากรุง

๑๔๒ เชื้อราชวงษ์กัมพูชาที่เข้ามากรุงเทพ ฯ ครั้งนั้น คือนักพระองค์เอง นักองค์เมนฤๅมินซึ่งเขาตั้งชื่อว่า “สมเด็จพระมหากระษัตรีย์” นักองค์อีซึ่งเขาตั้งชื่อว่า “สมเด็จพระศรีวรราชธิดา” แลนักองค์เภา ซึ่งยังไม่มีชื่อ องค์เองโปรดให้สร้างวังอยู่คอกกระบือ องค์เมน ในพงษาวดารเขมรเขากล่าวว่าเข้าไปอยู่ในวังน่าเหมือนกัน แต่พงษาวดารไทยว่าตาย เหลือแต่องค์อีกับองค์เภา เข้าไปเปนพระสนมเอกอยู่ในวังน่า นักองค์อีมีพระองค์เจ้า คือพระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรไนย หนึ่งตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้แห่งหนึ่งว่า “กัมโพชฉัตร” พระองค์เจ้าหญิงวงษ์มาลา นักองค์เภา มีพระองค์เจ้า คือพระองค์เจ้าหญิงปุก เสด็จอยู่จนแผ่นดินประจุบันนี้ ภายหลังเมื่อองค์จันท์เปนพระอุไทยราชาขึ้น ให้เข้ามาทูลขอออกไปเมืองเขมร ไม่พระราชทาน ว่าแม่ลูกจะพลัดกัน

๑๔๓ ณเดือน ๘ ปีมเสง พระโองการรับสั่งให้มีลครผู้หญิงโรงใหญ่สมโภชพระแก้ว ประทานเงินโรงวันละ $\begin{array}{c}๑๐\\\begin{array}{c|c}
\quad&\quad\\\hline
\quad&\\\end{array}\end{array}$

๓ วัน สำรับพระสงฆ์ทรงประเคน แลถวายน้ำผึ้งไม้เท้า ศาลาฉ้อทานตั้งรายรอบพระนคร ทิ้งต้นกัลปพฤกษ์ ๓ วัน ต้น (ละ) $\begin{array}{c}๑\\\begin{array}{c|c}
\quad&\quad\\\hline
\quad&\\\end{array}\end{array}$
มีการมหรศพสมโภชพร้อมเถลิงพระนครด้วย

๑๔๓ ปูมปีมโรงฉศก จดหมายไว้ว่า วันจันทร์เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ เชิญพระแก้วมรกฎ เข้าวิหารวัดพระศรีรัตนสาศดาราม”

ฉลองวัดพระแก้วคราวแรก เดือน ๖ ปีมเสงสัปตศกลงร่องรอยกันดี มีสวดมนต์รอบกำแพงพระนคร กรมหลวงนรินทรเทวีเอง เปนน่าที่ตั้งศาลาฉ้อทานแห่งหนึ่ง

๑๔๔ พระบางประทานคืนไปเวียงจันท์

๑๔๔ เมื่อเวลาเสด็จขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์ปลายแผ่นดินกรุงธนบุรี ได้เชื้อวงษ์พวกเมืองเวียงจันท์ลงมา มีเจ้านันทเสนเปนลูกคนใหญ่ ตามพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่าเจ้าบุญสาร ซึ่งเปนเจ้าล้านช้างที่หนีไปนั้น กลับเข้ามาเมืองเวียงจันท์ จึงโปรดตั้งให้เจ้านันทเสนลูกขึ้นไปเปนเจ้าเวียงจันท์ แต่ได้พบในสำเนาสุวรรณบัตรที่ห้องอาลักษณ์ว่า “ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้านันทเสนคืนเมืองเปนพระเจ้าขันธเสมา นามขัติยราชเปนเจ้านันทเสนพงษ์มลาน เจ้าพระนครพระเวียงจันทบุรี เศกไปณวัน ๕ ๑๔ ๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก” มีพระราชโองการคล้ายกันกับตั้งเจ้านคร ขึ้นพระนามเอกาทศรฐ

ขุนสกลมณเฑียร กรมวัง

นายเทียรฆราษ อาลักษณ์

ขุนวิเศษ มหาดไทย

นายจิตรบำเรอ

นายบังลังก์กุญชร

แวงจตุลังคบาท จำทูลขึ้นไป

ข้อที่หลงไปว่าตั้งในรัชกาลที่ ๑ นั้น เพราะตัวคงยังไม่ได้ขึ้นไป ด้วยมีเวลาก่อนเปลี่ยนแผ่นดินอยู่ ๓ เดือนเท่านั้น เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน จึงได้พระราชทานพระบาง ให้เชิญกลับขึ้นไปด้วย ในจดหมายเหตุ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ว่าเจ้าอินเปนตาเจ้าฟ้ากุณฑล ผิดกันกับที่รู้จากสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์แลพระองค์สุบงกช เจ้านันทเสนเปนตาเจ้าฟ้ากุณฑล ต้องกล่าวโทษเมื่อปลายแผ่นดิน จึงตั้งเจ้าอินเปนเจ้าเมือง เจ้าอินนี้เปนตาพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าสุบงกช

๑๔๕ ปีมเสงน้ำมาก เข้าสารเกวียนละ $\begin{array}{c}๑\\\begin{array}{c|c}
\quad&\quad\\\hline
\quad&\\\end{array}\end{array}$
พระโองการรับสั่งให้จำหน่ายเข้าฉางแจกราษฎรให้ทั่วถึงกัน

๑๔๕ ปีมเสงน้ำมากนี้ เปนคู่เทียบน้อยกว่าปีเถาะในรัชกาลที่ ๓ มากกว่าปีมแมเบญจศกในรัชกาลประจุบันนี้

๑๔๖ ลุศักราช ๑๑๔๘ ปีมเมียอัฐศก เข้ายังแพงเสมอ ได้ข่าวพม่ามาทำนาปลายแดน

๑๔๖ กระบวนสืบสวนราชการหมู่นี้ อยู่ข้างกวดขันว่องไวมาก

๑๔๗ ณเดือน ๑๒ พม่าตั้งฉางเข้าฉางเกลือมาถึงสามสบลาดหญ้า

๑๔๗ พม่าพึ่งจะย่างเดินเข้ามาในแดนต่อเดือน ๑๒ พอเดือนอ้ายก็ได้ยกออกไปตั้งรับทีเดียว จึงทันท่วงที

๑๔๘ เจ้าอังวะยกแยกทางเหนือทางใต้ เปนทัพกระษัตริย์ทั้ง ๕ ทาง

๑๔๘ กองทัพพม่าครั้งนี้ ทีว่าแยกเปน ๕ ทางนั้น คือทัพที่ ๑ เข้าทางมฤท ตีชุมพรไชยา นาย ๖ ไพร่ ๒,๕๐๐ เปนทัพน่า ทัพหนุน ๔,๕๐๐ แยกเปนกองทัพเรือไปตีเมืองถลางกองหนึ่ง ๓,๐๐๐ จึงรวมคนในทัพที่ ๑ นี้ ๑๐,๐๐๐

ทัพที่ ๒ เปนทัพเมืองทวายปนกับพม่าเข้าทางด่านเจ้าขว้าว มุ่งมาตีราชบุรี กองน่านาย ๕ ไพร่ ๓,๐๐๐ กองหนุนนาย ๔ ไพร่ ๓,๐๐๐ ทัพหลัง ๔,๐๐๐ รวม ๑๐,๐๐๐

ทัพที่ ๓ เปนทัพใหญ่ ประชุมพลเมืองเมาะตมะ เข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แม่ทัพใหญ่ ๑ นายทัพ ๑๐ พล ๑๐,๐๐๐ เปนทัพน่า นายทัพใหญ่คนนี้ชื่อเมียนหวุ่น ซึ่งมาเกะกะอยู่บ่อย ๆ ทัพหนุนของกองน่า เมียนเมหวุ่นมาวุ่นอยู่เหมือนกัน นายทัพ ๕ พล ๕,๐๐๐ ตะแคงกามะ ราชบุตรที่ ๓ ขุนนาง ๔ พล ๑๐,๐๐๐ เปนกองที่ ๓ ในทัพนี้ ตะแคงจักกุราช บุตรที่ ๒ ขุนนาง ๔ พล ๑๐,๐๐๐ เปนกองที่ ๔ ในทางนี้ พระเจ้าปดุงตั้งปีกซ้าย ปีกขวาทัพน่าทัพหลังเปนกองหนึ่งต่างหาก พล ๒๐,๐๐๐ เปนกองที่ ๕ ในทัพนี้ รวมพลที่มาทางพระเจดีย์สามองค์นี้ ๔๕,๐๐๐

กองทัพทางที่ ๔ เข้าทางเมืองตากสำหรับตีหัวเมืองเหนือ ทัพน่า ๓,๐๐๐ กองหนุน ๒,๐๐๐ รวม ๕,๐๐๐

ทัพที่ ๕ สโตะมหาศริยอุจนา เจ้าเมืองตองอู คน ๒๓,๐๐๐ เมื่อถึงเมืองเชียงแสนแล้ว แยกมาตีสวรรคโลกย์ ศุโขทัย พิศณุโลกย์ ๕,๐๐๐ ทางแจ้ห่มให้อปะระกามณีเจ้าเมืองเชียงแสนเกณฑ์ลาว ๓,๐๐๐ นายทัพพม่า ๖ นาย คุมพล ๑๕,๐๐๐ รวมเปนคนทางนี้ ๑๘,๐๐๐ ตีตอนข้างเหนือแลตอนพายัพ รวมคนทั้งหมด ๑๐๓,๐๐๐

การที่พม่าคึกคักขึ้นในครั้งนี้ เหตุด้วยไปตีเมืองยะไข่ได้ เรื่องราวนั้นมังระเจ้าแผ่นดินที่ ๓ ตาย จิงกูจาลูกเปนเจ้า มังหม่องลูกมังล็อกเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ยกเข้าชิงเมืองอังวะได้ อแซวุ่นกี้ฆ่ามังหม่องเสียขึ้นนั่งเมือง เปลี่ยนเจ้าติด ๆ กันมา ๓ คน ปดุงที่เปนลูกมังลองเจ้าแผ่นดินคนแรก ฆ่าอแซวุ่นกี้แลจิงกูจาเสีย ขึ้นนั่งเมืองเปนเจ้าแผ่นดิน นับว่าเปนที่ ๗ ในเร็ว ๆ นั้นเอง แต่ที่จริงก็เปนชั่วที่ ๒ เท่านั้น เจ้าปดุงคนนี้ออกบ้า ๆ หน่อย ๆ ฟุ้งซ่าน แต่เปนคนกล้าหาญคิดการโผงผาง มีลูกแขง ๆ จึงแต่งกองทัพขึ้นไปตีเมืองธัญวดี ยะไข่ได้ เปนธรรมเนียมของพม่า ถ้าตีเมืองมอญเมืองยะไข่ได้แล้วต้องตีเมืองไทย ปดุงก็เดินทางนั้น จึงได้ยกทัพเข้ามาคราวนี้ เข้ามาด้วยเวลากำลังอำนาจเปี่ยมเต็มที่ จึงได้เกณฑ์คนได้มากตีไม่ให้มีเว้นช่องตลอดพระราชอาณาเขตร คิดจะหุ้มเข้ามาทุกทางทีเดียว แต่การไม่ใคร่จะได้สมคิด ด้วยขุนนางพม่าเปนคนโลภแลกดขี่ไพร่ คนที่เกณฑ์มานั้นก็เปนคนชาติต่าง ๆ เช่น มฤท ทวาย มอญ ลาว เงี้ยว จนการบังคับบัญชาในระหว่างนายทัพกับไพร่พลรแวง ๆ กันอยู่ จึงเดินเข้ามาไม่ได้พร้อมกันทั้ง ๕-๖ ทาง

ผ่ายข้างความคิดกรุงเทพ ฯ ไม่คิดแผ่ออกรับทุกทาง ตั้งต้นรับแต่ ๓ ทาง คือทางทวาย ให้เสนาบดีออกไปตั้งรับราชบุรี ทางเหนือกรมพระราชวังหลังตั้งรับนครสวรรค์ ให้ทัพน่าขึ้นไปตั้งพิจิตร ทัพหลวงวังน่าออกไปรับทัพกระษัตริย์ตั้งลาดหญ้า เสด็จพระราชดำเนินหนุน ในเชิงรบใช้ทางตัดลำเลียง พอเห็นอ่อนจึงเข้าตีโดยแรงหักเอาทัพน่าแตก พอทัพน่าแตกทัพอื่น ๆ ก็ถอย เหตุด้วยการตัดลำเลียง ทำให้กำลังอ่อนลงแล้ว

แต่ทัพทวายที่เข้ามานั้นไม่เข้มแขงอไร ดูเหมือนมาโดยเสียไม่ได้ ทัพกลับจากลาดหญ้าเดินพบกันเข้าตีก็แตก ทัพทางข้างใต้คือทัพมฤทนั้น ตอนต้นทิ้งทีเดียวไม่คิดช่วย ต่อทัพเมาะตมะแลทวายแตกแล้ว วังน่าจึงเสด็จออกไป พม่าได้ตีเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกยับทั่วไป เหลือแต่ถลางกับพัทลุงเท่านั้น เมืองตวันตกมายับเยินถูกพม่าตีในครั้งนี้ ครั้งก่อน ๆ ก็ไม่ได้เยี่ยมกรายอไร ข้างฝ่ายเหนือพม่าอยู่ข้างจะกระจายมากกว่าทางอื่น จึงต้องเสด็จพระราชดำเนินหนุนขึ้นไป ตีต้อนออกไปเปนตอน ๆ ทัพข้างฝ่ายเหนือนี้ทำท่าคล้าย ๆ อย่างเก่ามาก ต้อนออกทางกำแพงเพ็ชร์บ้าง ออกทางเชียงใหม่บ้าง ถ้าจะว่าพม่าตีกรุงทุกคราวแล้ว ครั้งนี้ใหญ่โตมากกว่าทุกครั้งทุกคราว ท่าน จึงร้องว่าเปนทัพกระษัตริย์ทั้ง ๕ ทาง

๑๔๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกาธิราชทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จพระดำเนินพลทัพยี่สิบหมื่น ออกตัดศึกที่ฮึกหาญ ไม่ต้านทานพระบารมี เจ้าอังวะหนีณวัน ๑๔ ๓ ค่ำ เสด็จกลับมาถึงกรุงเดือน ๔

๑๔๙ นี่ออกจะเปนจดอย่างปลื้ม แต่ข้อความที่จริงนั้น ดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว ครั้งนั้นพม่าเสียไพร่พลยับเยินมาก ซึ่งจะทำอิกครั้งหนึ่ง ให้ใหญ่เท่านั้นไม่ได้ต่อไป

๑๕๐ ปีมแม ไปตีตานี, กลิอ่อง, มฤท,

๑๕๐ ไปตีตานีนั้น คือกองทัพกรมพระราชวัง ไปรบพม่าทัพที่ ๑ ซึ่งมาตีชุมพร ไชยา แลหัวเมืองตวันตก ครั้นเมื่อพม่าแตกไปแล้วจึงได้ตีตานีต่อไป ส่วนกลิอ่องทำนองจะหมายความที่พระพุทธยอดฟ้า เสด็จออกไปตีทวายครั้งแรก ตีได้ค่ายวังปอ แลเมืองกลิอ่องปีกกากลางทุ่งแล้ว เข้าล้อมเมืองทวาย ขัดเสบียงเลิกทัพกลับทางคมองส่วย ครั้งนั้นได้แต่เมืองกลิอ่อง จึงจดไว้แต่เพียงกลิอ่องกระมัง แต่เมืองมฤทไม่มีเค้ามูลในเวลานี้ เปนแต่พม่าถอยกองทัพที่ ๑ ซึ่งไปตีหัวเมืองตวันตกนั้นกลับไปมฤท

๑๕๑ แล้วทำเมืองใหม่

๑๕๑ ความข้อนี้ ฟั่นเฟือนอยู่มาก พิเคราะห์ดูเวลาวังหลวงเสด็จออกไปตีเมืองกลิอ่องครั้งนั้น วังน่าเสด็จขึ้นไปเชียงใหม่ เหตุใดจึงได้หายสูญไป จะมาสร้างเมืองใหม่ในเวลานี้ เมืองได้สร้างจนถึงสมโภชแล้ว จะมากล่าวในที่นี้อิกเห็นซ้ำซาก จึงอยากจะแก้ตัวหนังสือที่สองในสี่คำนี้ ที่ว่า ทำ ให้เปน ทาง แล้วเติมคำที่สี่ลงว่า เชียง รวมเปน ๕ คำ อ่านว่า แล้วทางเมืองเชียงใหม่ ถ้าจะรวมอ่านกับวรรคที่หมายเลข ๑๔๙ ว่าปีมแมไปตีตานี กลิอ่อง มฤท แล้วทางเมืองเชียงใหม่ ก็ดูเหมือนจะได้ความ ฤๅ ทำ เปลี่ยนเปน ตั้ง อ่านว่า แล้วตั้งเมืองเชียงใหม่ ถ้าหากว่าเปนเนื้อความอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้ จะสนิทลงร่องรอยกับพงษาวดารดี แต่ถึงต่อเติมมากจึงไม่กล่าวยืนยัน ขอให้ผู้อ่านพิจารณาดูพงษาวดารระยะนี้เถิด

๑๕๒ ณปีวอกนพศก ทรงพระดำริห์จะรื้อยกพระไตรย์ปิฎก ให้พระพุทธสาสนารุ่งเรือง โปรดเบื้องสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ศุขในอนาคตภายภาคน่า โดยกำหนดการที่จะเลี้ยงพระทั้งข้างน่าข้างใน รับเลี้ยงจนจบพระไตรย์ปิฎก

๑๕๒ ทำสังคายนาย ท่านรู้สึกว่าเปนการใหญ่ ท่านคงถูกเกณฑ์เลี้ยงพระด้วย

๑๕๓ แต่ประฐมกระษัตริย์ลำดับมาถึงที่นั่งสุริยาอำมรินทร์สิ้นกระษัตริย์จนแผ่นดินเดิม หาได้เพียรเพิ่มพระบารมีที่จะทรงสร้างไม่ (มี) แต่สมเด็จพระไอยกาเปนประฐมได้ยกพระไตรย์ปิฎก

๑๕๓ ในที่นี้มีคำเรียกว่าแผ่นดินเดิมแทนแผ่นดินต้น คงแปลว่าเจ้ากรุงธนนั้นเอง

๑๕๔ เสร็จแล้วฉลองหอไตรย์ ออกโรงลครเล็ก เลิกแล้วเพลาค่ำจุดดอกไม้ ตกลงหลังคาหอไตรย์ไหม้ แต่พระไตรย์ปิฎกรื้อขนได้สิ้น ที่อุโบสถพระแก้ว ลูกไฟไม่ถึงยังบริบูรณ์ดีอยู่ พระโองการตรัสว่า เทวดารักษาบำรุงพระสาสนาเห็นว่าหอไตรย์ยังต่ำอยู่ จึงจำเพาะให้ไหม้แต่หอไตรย์ ลูกไฟไม่ตกถึงพระอุโบสถ จะชำรุดมัวหมองนั้นหาไม่ จะได้ทรงสร้างพระมรฑปขึ้นทรงพระไตรย์ปิฎก

๑๕๔ ในที่นี้น่าจะกล่าวถึงแผนที่วัดพระศรีรัตนสาสดาราม สักหน่อย ในรัชกาลที่ ๑ มีพระอุโบสถอยู่อย่างทุกวันนี้ กับมีหอไตรย์อยู่ตรงสูนย์กลาง พระอุโบสถเปนสระใหญ่ หอไตรย์อยู่ในกลางสระ การฉลองหอไตรย์นี้เกิดเพลิงไหม้ จึงได้ถมสระนั้นเสีย ทำเปนพระมณฑปตั้งอยู่เหนือทักษิณซ้อนกัน ๓ ชั้น ที่ทักษิณนั้นมีพนักกำแพงแก้วฤาจะเรียกว่าไพรฑี เจาะเปนคูหาสำหรับตั้งตะเกียง แลมีฉัตรปรุธงจรเข้ปักสลับกัน หลังพนักกำแพงแล้วนั้น มีโคมทองแดงปรุปิดทองคำเปลว ตั้งรายรอบทั้งสามชั้น อัฒจันท์นั้นตรงขึ้นไปทั้งสามชั้น คล้ายอัฒจันท์ขึ้นพระปรางค์ พลสิงห์เปนนาคตัวประดับกระจกศีศะหล่อปิดทอง มีสัตว์หิมพานต์ยืนเชิงอัฒจันท์คู่หนึ่งทั้งสามชั้น เข้าใจว่าเมื่อทำพระมณฑปนี้แล้ว จึงได้สร้างหอพระมณเฑียรธรรม แลหอพระนาค เหตุด้วยหนังสือไว้บนพระมณฑปไม่หมด เพราะฉนั้นพระรเบียงตอนข้างเหนือจึงต้องย่อเปิดกว้างออกไปกว่าข้างใต้ ด้วยจะให้น่าหอพระนาค แลหอพระมณเฑียรธรรมใกล้กันเข้ามาอิกไม่ได้ ด้วยข้างด้านเหนือของพระมณฑป ตรงประตูเหนือนั้น เปนที่ตั้งหอพระเชษฐบิดรที่เชิญมาแต่กรุงเก่า รูปร่างจะเปนอย่างไรไม่ปรากฎ แต่เรียกกันว่าวิหารขาว ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงทำใหม่อย่างเดียวกับวัดพระเชตุพน จึงเปลี่ยนชื่อเรียกว่าวิหารยอด แต่วิหารขาวยังเรียกกันอยู่ก็มี พระเชษฐบิดร ก็ยังคงอยู่ในวิหารยอดจนทุกวันนี้ ด้านข้างตวันออกพระมณฑป มีพระเจดีย์ไม้สิบสองหุ้มทองแดงตั้งบนฐาน มีมารแบก ๒ องค์ ด้านตวันออกนอกพระรเบียงมีพระปรางค์ ๘ องค์ เดิมประดับกระจกสีต่าง ๆ จะเปนพระราชดำริห์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงไว้ฤๅอย่างไรไม่ปรากฎ แต่ได้เห็นร่างหมายในรัชกาลที่ ๓ ว่า “จหมื่นไววรนารถรับพระราชโองการใส่เกล้า ฯ สั่งว่าทรงพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์น่าวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ๘ องค์ลงรักปิดทองเสร็จแล้ว จะได้บรรจุพระพุทธเจดีย์องค์หนึ่ง พระธรรมเจดีย์องค์หนึ่ง พระปเจกเจดีย์องค์หนึ่ง พระสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระภิขุนีสาวกเจดีย์องค์หนึ่ง พระชาฎกโพธิสัตว์องค์หนึ่ง พระสงฆเจดีย์องค์หนึ่ง พระยาจักรเจดีย์องค์หนึ่ง กับจะได้เชิญพระบรมธาตุ ใส่ในกล่องทองคำ บรรจุพระพุทธรูปศิลาขาวในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาศดารามองค์หนึ่ง กำหนดพระสงฆ์ ๔๗ เจ้า ๓ รวม ๕๐ จะได้สวดพระพุทธมนต์ ในพระอุโบสถ ณวัน ๒ ค่ำ ปีมเมียฉศกจุลศักราช ๑๑๙๖ ครั้นรุ่งขึ้นจะได้เชิญพระบรมธาตุ พระธรรมเข้าบรรจุพระปรางค์ แลพระศิลาขาว เจ้า ๓ องค์ในที่นี้ คือกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เจ้าฟ้ามงกุฎ พระองค์เจ้าอำไพ”

เมื่อได้ความเช่นนี้ น่าจะสันนิษฐานได้ว่า พึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ท่วงทีฐานก็เปนมารเจ๊กแบก ทั้งกำแพงก่อเพิ่มออกไปอิกชั้นหนึ่ง เก๋งบอกหนังสือก็เปนอย่างจีน กำลังเปนเวลาที่เล่นการช่างอย่างจีน จึงควรสันนิษฐานว่าเปนของรัชกาลที่ ๓

ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระศรีรัตนเจดีย์แลพระพุทธปรางค์ปราสาทขนาบลงสองข้างพระมณฑป ถึงว่าการก่อพระเจดีย์แลพระพุทธปรางค์ปราสาท ได้ก่อสูงขึ้นไปถึงชั้นฐานบัตรแล้วก็ดี แต่ทักษิณซึ่งหุ้มติดกันเปนแผ่นเดียว ยังพึ่งจะก่อขึ้นไปได้สัก ๒ ศอก ฤๅ ๒ ศอกเศษ ถมดินก็ยังไม่ทั่ว เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นจำได้ ยังได้เห็นทักษิณพระมณฑปทั้งสามชั้น พร้อมอยู่ด้วยเครื่องประดับ เปนแต่ทักษิณใหม่วงรอบอยู่ข้างนอกเท่านั้น พระเจดีย์ทอง ๒ องค์ พึ่งจะย้ายไปน่าพุทธปรางค์ปราสาทในชั้นหลังทีเดียว แต่เหมือนกับก่อใหม่ทับบนพระเจดีย์เก่า เพราะจมอยู่ในพื้นทักษิณเสียมาก พระรเบียงย่อที่ประตูยอดซุ้มมงกุฎตรงประตูสวัสดิโสภานั้น ย่อในรัชกาลที่ ๔

การที่กล่าวถึงไฟไหม้หอไตรย์ ในหนังสือฉบับนึ้ ก็ไหม้ที่ระหว่างพระมณฑป แลพระพุทธปรางค์ปราสาท เหมือนอย่างเช่นไหม้พระพุทธปรางค์ปราสาทในรัชกาลประจุบันนี้ ถ้าจะเห็นเปนความอัศจรรย์ในข้อที่ไม่ไหม้พระอุโบสถ จะเติมไฟไหม้ชั้นหลังนี้ด้วยก็ได้ นับว่าเปนการข้นอยู่ ที่ไหม้แห่งเดียวกันทั้งสองคราว

๑๕๕ ณวัน ๑ ๗ ค่ำ ปีรกาเอกศก เพลาบ่าย ๓ โมง ๖ บาท อสนิบาตพาดสายตกติดน่าบันมุขเด็จเบื้องทิศอุดรไหม้ตลอดทรงบนปราสาท ปลายหักฟัดฟาดลงพระปรัศซ้ายเปนสองซ้ำ ลงซุ้มพระทวารแต่เฉพาะไหม้

๑๕๕ พระที่นั่งอัมรินทรมหาปราสาทองค์นี้ มีจดหมายไว้ในปูมปีมโรงฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ ว่ายกยอดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เพลาเช้า ๒ โมง ๔ บาท วันที่เพลิงไหม้นั้นถูกต้องกันกับจดหมายนี้

๑๕๖ พระโองการตรัสว่าเราได้ยกพระไตรย์ปิฎกเทวดาให้โอกาศแก่เรา ต่อเสียเมืองจึงจะเสียปราสาท ด้วยชตาคอดกิ่วใน ๗ ปี ๗ เดือน เสร็จสิ้นพระเคราะห์เมือง

๑๕๖ พระราชปรารภที่กล่าวนี้ น่ากลัวจะเปนเรียงลงไม่ชัดเจนเอง อยากจะใคร่เข้าใจว่า กระแสพระราชโองการว่าชะตาเมืองคอดกิ่ว น่ากลัวจะหวั่นกันมาแต่ครั้งมหาโสภีตะ ทำนายเมื่อปลายแผ่นดินกรุงธนบุรี คือจุลศักราช ๑๑๓๙ ที่ว่าจะเสียกรุงบางกอกแก่พม่าข้าศึก คำอันนี้คงเปนที่หวาดหวั่นกันอยู่เสมอ แต่เมื่อนับปีดูก็นานหนักหนาถึงรอบหนึ่งแล้ว ฤๅใครจะถวายพยากรณ์อย่างไรอิกทำนองนั้น จึงถือว่าเปนเวลาชตาเมืองคอดกิ่ว แต่ด้วยเดชะพระราชกุศล ที่ยกย่องพระไตรปิฎก จึงได้มีเหตุแต่เพลิงไหม้พระมหาปราสาท ไฟไหม้พระมหาปราสาทนั้น ก็เปรียบเหมือนเสียเมือง เพราะเมืองต้องเสียก่อนปราสาทจึงไหม้ จึงเปนอันสิ้นเคราะห์พระนครเพียงไฟไหม้ปราสาทเท่านั้น

๑๕๗ จะถาวรลำดับกระษัตริย์ ๑๕๐ ปี

๑๕๗ คำที่ว่าถาวรลำดับกระษัตริย์ถึง ๑๕๐ ปีนั้น ดูปราถนาน้อยเกินนัก ถ้าหากว่าจะใช้กำหนดปี ควรจะใช้ว่าถาวรสืบกระษัตริย์ถึง ๑๕๐ ปี นี่ไม่เช่นนั้น ใช้ว่าลำดับกระษัตริย์ ถ้าจะว่า ๑๕๐ องค์ ฤๅ ๑๕๐ ชั่ว, ไม่ได้ฤๅ อิกประการหนึ่งนั้นบาทสังขยา ในหนังสือนี้เอาแน่ไม่ได้ ผู้คัดเติมสูญตกสูญง่ายนัก จะเห็นต่อไปข้างน่า สิ้นพุทธสาสนา ๕๐๐ ปี ใครจะเชื่อว่าตั้งใจเขียนเช่นนั้นบ้าง เพราะ ๕๐๐๐ พรรษานี้เปนของติดปากคนแก่

๑๕๘ แล้วพระยาราชวังเมืองสมุหคชบาล กราบทูลว่าครั้งพระเจ้าปราสาททอง เพลิงฟ้าผ่าปราสาท ๓ ปี ได้เมืองทวายมาเปนเมืองขึ้นแต่ครั้งนั้น พระราชทานเงินพระยาราชวังเมือง $\begin{array}{c}๑\\\begin{array}{c|c}
\quad&\quad\\\hline
\quad&\\\end{array}\end{array}$

๑๕๘ พระยาราชวังเมืองคนนี้ ว่าเปนพระยาอินทรอรรคราช ปลัดเมืองนครศรีธรรมราชอยู่แต่ก่อน คงจะเปนขุนนางเก่า รู้ขนบธรรมเนียมราชการแผ่นดินมาก เรื่องได้เมืองทวาย อยู่ข้างจะมีพระราชประสงค์ เพราะการยังค้างอยู่, ไปตีไม่ได้

๑๕๙ ต้องกับพระโหราทูลเมื่อผึ้งจับต้นจันทน์ที่เกยทิศประจิม ว่าจะได้นางกับเครื่องบรรณาการมา (แต่) ต่างประเทศ

๑๕๙ เกยต้นจันทน์นี้ ได้รื้อเสียเมื่อทำคลังเครื่องแก้ว เปนเกยติดออกมาจากหลังกำแพงแก้วพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ข้างฝ่ายตวันออกอยู่ที่เก๋งที่ทรงบาตรเดี๋ยวนี้ ข้างฝ่ายตวันตกอยู่ที่ต้นจันทน์ เปนที่สำหรับเสด็จมาประทับกลางแจ้ง ตามธรรมเนียมอย่างเก่าชอบนั่งเล่นบนเกย จนตกมาถึงชั้นพระองค์เจ้ามงคลเลิศยังชอบ ข้าพเจ้าเคยไปนั่งกินเข้าบนเกยที่บ้านเสมอ เกยในวังนี้, ข้างฝ่ายตวันออก เรียกว่าเกยต้นพิกุล ดอกพิกุลจากต้นนั้นเรียกว่าพิกุลเกยใคร ๆ ก็รู้ นับว่าเปนดอกงามกว่าที่อื่น เกยข้างตวันตก, เรียกว่าเกยต้นจันทน์ ต้นจันทน์นั้นก็ใหญ่มากแลลูกโตเกินปรกติ พิกุลเกยนี้สำหรับร้อยมาไลย์เจ้านายทรงทุกองค์ จะเปนกรมหลวงบดินทร์ผิด ฤๅตำราปากะวิชาเข้าใจผิดเองก็ไม่ทราบ ชี้เอาว่าพิกุลข้างพระทวารตวันตกตรงศาลาข้าม เปนพิกุลเกย หลงฤๅเหลวอไรอย่างหนึ่ง

การซึ่งทรงพระวิตก เรื่องไฟไหม้พระมหาปราสาทนี้ เห็นจะได้รับสั่งบ่นไม่สบายพระไทยมาก แลตัวอย่างที่พระยาราชวังเมือง กราบทูลให้เปนที่สบายพระราชหฤทัยขึ้นได้ จึงมีผู้ทำเรื่องราวกราบบังคมทูลถวายไชยมงคล ตั้งแต่กรมพระราชวังลงไป จนพระสังฆราช ราชาคณะ แลข้าราชการ

จดหมายกรมพระราชวังเปนกลอนว่า

“เดือนเจ็ดปีรกาเอกศก
วันอาทิตย์ขึ้นค่ำหนึ่งเปนตก ยกศักราชขึ้นพันร้อยห้าสิบเอ็ดปี
เพลาบ่ายสามโมงกับหกบาท ลงปราสาทเพลิงฟ้าอสุนีศรี
ไหม้สิ้นพระที่นั่งปรัศตรี ฝ่ายซ้ายข้างที่ชลธาร
แล้วผ่าซ้ำซุ้มประตูวัง ในวันเดียวสองครั้งราชฐาน
เหตุเห็นเปนอัศจรรย์กาล ขอประทานทูลถวายทำนายไว้
อันฟ้าลงในวังครั้งนี้ จักเกิดสวัสดีมียิ่งใหญ่
จะมีพระอานุภาพปราบไป ในทศทิศสิบประการ
แล้วจะแผ่อาณาจักรขอบเขตร ทั่วประเทศทิศาศาล
จะเพิ่มพึ่งพระบรมสมภาร ยังสฐานนิเวศน์อยุทธยา
จะเปนปิ่นปกปักษ์ประชาชน ทั่วสกลประเทศทุกภาษา
จะบริบูรณสมบัติวัฒนา จะปรากฎพระเกียรติขจายจร
นานาประเทศทั้งหลาย จะถวายสุวรรณสโมสร
จะยงยิ่งสิ่งเกียรติในพระนคร จะถาวรเปนบรมจักรา
อันหมู่ปะจาฆ่าศึก แค่หมายนึกก็จะสิ้นสังขาร์
ครั้งนี้กรุงศรีอยุทธยา จะบรมสถาพรพูล
สิ่งซึ่งขัดสนวิกลเหตุ จะพ้นเพทสิ้นไภยเสื่อมสูญ
สารพรรณสรรพสิ่งจะอาดูลย์ พูลเพิ่มมาด้วยพระบารมี
จะได้ผ่านพิภพจบโลกย์ รงับโศกให้ศุขกระเษมศรี
ซึ่งพระที่นั่งอันตรายด้วยอัคคี จะให้มีสังเวชพิจารณา
ในพระไตรลักษณญาน ประทานโลกย์ให้ล่วงสงสาร์
คือทุกขัง อนิจจัง อนัตตา จะให้ปัญญาเพิ่มพูลภิญโยไป
จะให้สำเร็จโพธิญานภายน่า โดยพระไทยปราถนาให้แจ้งใส
อันเหตุอื่นพิปริตจะติดไป ไม่มีมั่นคงอย่าสงกา
ขอให้พระชนมายุยืนยาว ตราบเท้าร้อยพันพระวษา
สิ่งซึ่งเปนมงคลนานา จงประกอบมาให้ศุขพระองค์เอย”

ฉบับในห้องอาลักษณ์ มีเนื้อความเพียงเท่านี้ แต่อยู่มา ณ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว กรมหลวงวรเสรฐสุดา ท่านค้นหนังสือที่ตำหนักพบ จึงนำมาประทาน ได้สอบกับฉบับห้องอาลักษณ์ ๆ ความขาดไป เห็นจะเปนด้วยผู้จดจำได้เท่าใดก็เอยลงไปเท่านั้น ฉบับของกรมหลวงวรเสรฐ ท่านมีต่อออกไปอิกยังไม่เอย ว่าดังนี้

“แต่ในประจุบันทันปรากฎ จะยิ่งยศยอดโลกย์สูงส่ง
ถ้าพระชนม์ควรกำหนดปลดปลง จะได้ทรงทิพย์ศุขพิมานอินทร์
ในดาวดึงษพิภพ ละล่วงลบเทวาทั้งปวงสิ้น
เสวยสมบัติเปนอัมรินทร์ อนาคตก็จะภิญโยไป
ถวายพรประจุบันอนาคต จงปรากฎให้สำเร็จเปนศุไข
จะพ้นจตุราผ่าไภย เสร็จในแต่ศุขติภูมิ เอย”

ส่วนพระราชาคณะ สมเด็จพระสังฆราช พระพุทธโฆษา ถานานุกรม พระสงฆ์อันดับวัดบางว้าใหญ่ ถวายพระพรตามแบบ จะได้คัดแต่ใจความว่า “เมื่อพิจารณาดูตำราอย่างธรรมเนียมโบราณ โลกยโวหารนั้น เห็นว่าจะให้จำเริญพระราชอิศิริยยศราชานุภาพ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ได้แต่ฝ่ายข้างจำเริญสิ่งเดียว ข้างฝ่ายวิบัติอันตรายนั้น เห็นจะเสียแต่พระราชทรัพย์สิ่งของซึ่งเพลิงฟ้าไหม้ ตามพระเคราะห์บ้านพระเคราะห์เมืองจะให้เสียพระราชทรัพย์อันเปนที่รักพึงใจ ได้ชื่อว่าบังเกิดเปนวิบัติอันตรายอยู่แล้ว เห็นว่าจะเสียแต่พระราชทรัพย์เท่านั้น แลอันตรายสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะได้มีแก่พระนครแลสมเด็จบรมบพิตร สืบไปนั้นหามิได้ สมด้วยเรื่องราวในคัมภีร์พระพิมพานิพานนั้น ต่อนี้ไปอ้างพระราชกุศลศีลทานแลพระไทยหวังต่อพระโพธิญาณ เปนที่ตั้ง อาจจะกันอันตรายได้หมด แล้วถวายพระพรด้วยกล่าวอ้างสักกัตวาทั้งอัตถ์ทั้งแปล แล้วอ้างเดชานุภาพพระรัตนไตรย์ ยกพุทธสังฆมังคะลังโลเกเปนต้น แปลข้อความตลอดแล้ว จึงถวายพระราชกุศลถวายพระพรข้างท้าย”

พระพิมลธรรม พระญานสิทธิ ว่าแต่โบราณสืบมาถือว่า “อัสนีบาศตกถูกงอนไถ ถูกคานหาบ ถูกเสากระโดง แลถูกเกวียน ถูกเรือน ลอมเข้ายุ้งเข้าเปนนิมิตรอันดี เจ้าของนั้นจะได้เปนใหญ่ จะได้ลาภต่าง ๆ เปนอันมาก จะเสียแต่ของที่หักแตกไหม้เสียด้วยเพลิง จะมีผลร้ายสืบไปนั้นหามิได้ ดังอสุนีบาศตกลงในโลกธาตุ ถูกต้นไม้แตกหัก ถูกสัตว์ก็ตายตามยถากรรม จะร้ายไปอิกหามิได้ สมด้วยวาระพระบาฬีในคัมภีร์พระพิมพา ว่าอสุนีย์ตกต้องกำแพงแลบ้านเรือนในเมืองใด เปนนิมิตรจะให้เมืองนั้นมีไชยชนะ ฆ่าศึกเมืองอื่นจะอปราไชยพ่ายแพ้แก่ชาวเมืองนั้น ลงท้ายถวายพระพร อายุ วรรณะ ศุขะ พะละ สัพพโสตถีภวันตุเต”

พระพุฒาจาริย์ พระธรรมมุนี พระราชมุนี วัดบางยี่เรือ ว่า “แรกเกิดเหตุตกใจ แต่ครั้นเชิญพระคัมภีร์พิมพานิพานมาดู แลคิดตามโลกยสาตร เทียบโดยอดีตแลประจุบัน ที่ได้ยินบ้างที่ได้เห็นบ้าง อดีตนั้นว่าอสุนีย์ลงถูกศีศะคานซึ่งหามอยู่เหนือปา ทายว่าได้เปนพระมหากระษัตริย์ ก็ได้จริง ยกทัพไปอสุนีย์ถูกช้างพระที่นั่ง ได้บ้านเมืองก็มี อสุนีย์ถูกพระมเหษีได้พระนครก็มี เห็นว่าอสุนีย์ลงถูกทิศอุดรต้องตำราว่าสวัสดีมีไชย จึงไม่ได้ตกใจ” แลถวายพระพรต่อไป

พระธรรมโกษา ถานานุกรมอันดับวัดบางว้าน้อย อ้างคัมภีร์พระพิมพานิพาน แลอ้างพระราชกุศลมียกพระไตรปิฎกเปนต้น ยกธรรมะขึ้นกล่าว ธัมมัญจเรสุจริตัง เปนต้น แปลจนตลอด

พระพนรัต พระญาณไตรโลกย์ ถานานุกรมพระสงฆ์ ข้อความอื่นก็คล้ายคลึงกัน มีอ้างคัมภีร์พิมพานิพาน เปนต้น

พระธรรมไตรโลกย์ พระธรรมเจดีย์ พระวิเชียรมุนี พระอริยมุนี พระอริยวงษมุนี พระญาณรักขิต ถานานุกรมทั้งปวง วัดเจ้าขรัวหงษ์ แสดงความเห็นอย่างเดียวกันกับที่ว่า ๆ มาแล้ว แต่พระธรรมกิตติ์ วัดนาค ถวายพระพรทีเดียว ไม่มีความเห็นอไร

พระเทพมุนี ถานานุกรมพระสงฆ์วัดสังฆจายน์ ข้อความก็ไม่แปลกอไร แต่ออกชื่อพระมหาปราสาท เรียกว่า “พระอัมรินทรมหาปราสาท”

พระราชกระวี พระศรีสมโพธิ์ วัดแจ้ง ข้อความคล้ายกันกับที่ว่ามาข้างต้น แต่ข้างท้ายลงเปนสัจจาธิษฐาน

ฝ่ายข้าราชการนั้น เริ่มข้อความว่า “ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย ฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน พระราชวังหลวง กรมพระราชวังบวรสฐานมงคล กรมพระราชวังหลัง เจ้าต่างกรมฝ่ายน่าฝ่ายใน แลข้าทูลลอองธุลีพระบาท ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกัน ขอพระราชทานถวายไชยมงคล ให้จำเริญพระราชศิริสวัสดิทฤฆายุศม์ แลสมเด็จพระบาทบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณแก่ข้าทูลลอองธุลีพระบาท แลสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรทั้งปวง ประดุจจะเขาขอบจักรวาฬ อันเปนที่พึ่งแก่สัตว์อันประเสริฐ ด้วยข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง พิจารณาเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ในอสุนีย์บาศลงถูกต้องพระอัมรินทรมหาปราสาทครั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์ด้วยจักษุเห็นพิฦกพึงกลัว เมื่อพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาจักษุ ตามตำราสยามภาค พุกามภาค เตลงภาค ว่าเทพยเจ้าให้ฤกษ จะให้มีกระบะเดชะให้จำเริญพระอิศิริยศราชานุภาพยิ่งขึ้นไป ฝ่ายตำราจีน ว่าถ้าฟ้าลงบ้านเมืองสำเภาผู้ใด ผู้นั้นจะบังเกิดลาภเปนอันมาก ได้แต่ฝ่ายข้างจำเริญฝ่ายเดียว อันผลจะให้วิบัติไปในอนาคตกาลนั้นสืบดูหาอย่างมิได้”

ต่อนี้อ้างคัมภีร์พิมพานิพานอิก แล้วจึงว่า “ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยินดี ทราบเกล้า ฯ เปนมั่นคงไม่มีความแคลงในเหตุร้ายหามิได้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง ขอถวายไชยศิริมงคล ให้พระองค์ปราศจากสรรพทุกขโศกโรคไภย ให้ทรงพระเดชานุภาพปราบไปในทศทิศ ให้มีพระราชลาภมาแต่นานานุประเทศ เปนพระเกียรติยศยิ่งกระษัตราธิราชแต่ก่อน ให้จำเริญพระชนมายุสืบไป ในพระราชศิริสมบัติ ให้ได้ร้อยพระวะษาพันพระวะษา ถ้าพระชนมายุควรแก่กำหนดแล้ว ในอนาคตกาลนั้น ขอให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสวยสมบัติในศุขติภูมิ แล้วให้สำเร็จแก่พระโพธิญาณในอนาคตกาลนั้นเถิด ขอเดชะ”

ณ วันอังคารเดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ ปีรกาเอกศก เสด็จออกทอดพระเนตร์พระมณฑป ได้เอาเรื่องราวข้าทูลลออง ฯ ถวายไชยมงคลกราบทูลพระกรุณา เมื่อกราบทูลพระกรุณานั้น

สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ

เจ้าพระยามหาเสนา

พระยาธรมา

พระยาพลเทพ

พระยายมราช

เจ้าพระยามหาสมบัติ

พระยาราชรองเมือง

พระยาสมบัติบาล

พระยาเดโช

พระยาวิชิตณรงค์

เฝ้าอยู่ด้วย

๑๖๐ ลุศักราช ๑๑๕๔ ปีชวดจัตวาศก พระยาทวายแต่งเครื่องบรรณาการกับนางเข้ามาถวายยังกรุงเทพมหานคร พม่ารู้ฆ่าบิดามารดาพระยาทวาย แล้วแต่งคนลงมาผลัด ให้พระยาทวายขึ้นไปอังวะ พระยาทวายฆ่าพม่าที่ลงมาผลัดเปนเจ้าเมืองนั้นเสีย แขวง (แขง) เมืองอยู่

๑๖๐ เรื่องเมืองทวายสวามิภักดิ์นี้ ได้ความว่าเดือดร้อนด้วยพม่าจัดการปกครองใหม่ ให้เมืองทวาย, เมืองมฤท, เมืองตนาว, ขึ้นอยู่ในเมืองเมาะตมะ เจ้าเมืองเมาะตมะ ให้มาลงเอาเงินตามหัวเมืองเหล่านั้น หัวเมืองเหล่านั้นก็เร่งเรียกตามราษฎรแลเจ้าเมืองกรมการเรี่ยรายกัน ครั้นถูกเรียกเงินบ่อย ๆ หนักเข้าก็ขัดแขง เจ้าเมืองเมาะตมะจึงได้ตั้งเจ้าเมืองทวายใหม่ลงมาเปลี่ยน ครั้นเมื่อเจ้าเมืองทวายคนใหม่ลงมา พวกเจ้าเมืองเก่าล่อลวงฆ่าเสียแล้ว ตั้งแขงเมือง พม่าเตรียมทัพจะลงมาตี นางทวายที่ถวายมานี้อยู่จนรัชกาลที่ ๓ เรียกว่านางตะแคง

๑๖๑ ฝ่ายเจ้าอังวะรู้ แต่งกองทัพมาป้องกันเมืองทวายไว้

๑๖๑ คำที่ว่าป้องกันไว้นี้ไม่เข้าทีเลย ถ้าหากจะว่าเมื่อครั้งเสด็จยกไปตีครั้งก่อน ที่เรียกว่าตีกลิอ่องนั้นจะเข้าทีกว่า เพราะในครั้งนั้นกองทัพพม่าที่มาตีหัวเมืองตวันตกยังอยู่ในเมืองทวาย ครั้นเมื่อกองทัพหลวง เสด็จยกออกไปพม่าก็ไม่ไว้ใจทวาย ด้วยเห็นว่าพวกทวายได้ความเดือดร้อนเกลียดชังพม่าอยู่มาก ถ้าหากว่ากองทัพไทยไปถึง พม่าอยู่ในเมืองทวายกลับเปนขบถขึ้น จะถูกขนาบทั้งในเมืองนอกเมือง จึงได้ทิ้งเมืองทวายให้ทวายรักษา พม่ายกออกไปตั้งซุ่มอยู่เสียนอกเมืองดูท่วงทีทั้งสองฝ่าย ทวายกับไทยยังเข้ากันไม่ติด ทวายก็ป้องกันเมืองแขงแรงอยู่ พม่าเห็นท่วงทีเช่นนั้น จึงได้กลับเข้าไปในเมือง จัดการป้องกันเมืองทวายต่อไปใหม่ ในชั้นหลังนี้เมื่อทวายแขงเมืองได้ขับไล่ฆ่าฟันพม่าเสียหมดแล้ว ที่เขียนว่าป้องกันในที่นี้เห็นจะใช้คำผิด

๑๖๒ พระยาทวายแต่งศุภอักษรถวายมาว่า พระยาทวายกับสรรพสัตว์ในเมืองทวาย ให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระเมตตาแก่สัตว์ในเมืองทวายเหมือนเกิดแต่สายพระอุทร ด้วยพระราชนัดดาของพระองค์ แต่ครั้งกรุงเก่าแตก มาอยู่ณเมืองทวาย จะขอพระบารมีแผ่ไปช่วยในครั้งนี้ จะได้เชิญพระราชนัดดาออกมาถวาย แล้วจะถือน้ำพระพิพัฒสัจจาถวายต่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ให้ไทยผู้มีชื่อถือมาเปนหนังสือลับของพระราชนัดดา

๑๖๒ การรับแขกเมืองทวายครั้งนี้เปนการใหญ่ เห็นจะได้ค้นตำหรับตำรากันมาก ตั้งเปนต้นตำรารับแขกเมือง ลักษณอย่างเดียวกับตั้งต้นราชาภิเศก โสกันต์ ลงสรง

๑๖๓ ได้ทราบในศุภอักษรแน่ว่าพระราชนัดดาจริง

๑๖๓ พระราชนัดดาในที่นี้ควรจะเรียกว่าพระราชภาคินัย คือพระองค์เจ้าชี ภายหลังพระราชทานเฉลิมพระนามพระอัษฐิเปนกรมขุนรามินทรสุดา เพราะเปนพระธิดาของพระเจ้ารามณรงค์ พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า

๑๖๔ ยกพยุหทัพหลวงเสด็จไปเหยียบเมืองทวาย

๑๖๔ ผลของการที่ทูตทวายเข้ามานี้ ได้กองทัพเจ้าพระยายมราชคุมพล ๕๐๐๐ ออกไปตั้งรักษาเมือง แต่เมื่อไปตั้งอยู่ก็เปนการระแวง ๆ กันอยู่เหมือนกัน เจ้าพระยายมราชตั้งอยู่นอกเมือง แต่ให้มีไทยเข้าไปคุมอยู่ในเมือง ทัพพม่ายังไม่ยกลงมา คงจะเปนเหตุด้วยในเมืองเมาะตมะ ก็รวนเต็มทีเกือบจะลุกอยู่เหมือนกัน แล้วกองทัพหลวงทั้งสองวังจึงได้ยกขึ้นไป ตั้งทัพที่แม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบุรี ส่งเจ้าครอกชีลงมาได้เฝ้าที่ค่ายหลวง ส่งเข้ามากรุงเทพ ฯ แล้ว วังน่าจึงได้เสด็จออกไปเมืองทวาย ท่านไปทอดพระเนตรเห็นกิริยาพระยาทวายว่าไม่สนิท จึงคิดจะทำลายเมืองทวายเสียทีเดียว ไม่ให้พม่าเปนที่พักกองทัพยกเข้ามาตีกรุงต่อไปได้ แต่ไม่ต้องด้วยกระแสพระราชดำริห์วังหลวง ข้างวังหลวงท่านอยากจะเอาเมืองทวาย ไว้เปนที่มั่น สำหรับยกขึ้นไปตีเมืองพม่า ต่อไปอิก การที่พระราชดำริห์ต่างกันนี้มีผล คือ พวกกองทัพวังหลวงที่ออกไปก่อน แลพวกทัพวังน่ารู้พระกระแสวังน่าว่าจะเลิกเมือง ก็คิดหาผลประโยชน์ต่าง ๆ ลักลอบพาคนหนีเปนต้น วังหลวงเสด็จประทับอยู่ที่แม่น้ำน้อย ทรงทราบว่าพวกข้าราชการข่มเหงพวกทวายมาก กริ้วให้คอยสกัดทางอยู่ข้างใน ข้างฝ่ายในเมืองทวายเองถูกเข้าเช่นนั้น ก็เบื่อหน่ายกระด้างกระเดื่องมากขึ้น กรมพระราชวัง เพื่อจะให้สมกับที่ทรงพระดำริห์จึงไปหาคนไทย ที่ตกอยู่ในเมืองทวาย สำหรับบอกข่าวคราวให้กองทัพไทยทราบนั้น ได้ตัวตามาที่ทรงรู้จักทั้งสองพระองค์ ตานั่นยืนยันว่าพระยาทวายกลับใจ ด้วยกลัวเจ้าอังวะจะลงโทษบิดา แลได้พยานอื่นอิกบ้าง วังหลวงจึงได้อนุญาตให้ส่งพระยาทวายเข้ามาเลี้ยงไว้ในกรุง แต่กองทัพนั้นคงรักษาเมืองทวายต่อไปอิก

เรื่องตีมฤทที่หนังสือฉบับนี้ได้กล่าวไว้ในวรรคที่ ๑๔๙ เก้ออยู่แห่งหนึ่ง แลที่ทัพหลวงไปตีทวาย อันกล่าวในครั้งนี้เปนเรื่องเดียวกัน คือทรงพระราชดำริห์จะทำตอบแทนพม่า ข้างฝ่ายวังน่าจะเสด็จลงไปทางทเล ต่อเรือข้างหัวเมืองชายทเลตวันตก แล้วจะยกขึ้นไปตีเมืองมฤท ตนาว เมืองเมาะตมะ ย่างกุ้ง ข้างฝ่ายวังหลวงจะเสด็จออกไปเมืองทวายเปนทัพบก ยกตีเมาะตมะขึ้นไปอย่างเดียวกับทัพเรือ แต่ในระหว่างนั้นพม่าเตรียมกองทัพพร้อมยกลงมาเมืองทวาย ฝ่ายทวายในเมืองก็กระด้างกระเดื่อง ลอบออกหากองทัพพม่า ข้างฝ่ายทัพหลวงพรักพร้อมแล้ว ก็เสด็จยกออกทางคมองส่วยไปตั้งอยู่ที่หินดาดไกลเมืองทวาย ๒ คืน การที่กองทัพบังคับบัญชาพวกทวายให้ขนลำเลียงเสบียงอาหารรับกองทัพ ก็ทำกวดขันมากขึ้น ทวายก็กลับเปนขบถ เมืองมฤทก็พลอยเปนขบถด้วย ยกตีกองทัพไทยที่อยู่รักษาเมือง แตกร่นเข้ามาจนถึงทัพหลวง, เลยถอยกองทัพกลับ ข้างฝ่ายทัพเรือยกขึ้นไปตีมฤท ได้รบกันแต่ไม่ได้เมือง แล้วก็ยกกลับมาเหมือนกัน เมืองมฤท แลเมืองทวายก็หลุดไปทีเดียวในครั้งนั้น

๑๖๕ ได้พระราชนัดดากับพระยาทวาย ไทย (แล) ทวายมาเปนฝุ่นเมือง กรุงเทพมหานครภูลศุขเกษมมา

๑๖๕ ความข้อนี้กล่าวรวมกันเหมือนกับเปนคราวเดียวหมด เพราะท่านไม่ได้ตั้งใจจะจดราชการทัพศึกให้ชัดเจน

คำว่าฝุ่นเมือง, แทนพลเมืองนี้ มีถึงสองแห่ง ทีแต่ก่อนจะเคยใช้กัน

ความที่จะกล่าวต่อไปนี้ เปนพระราชดำริห์ที่มีในท้องเรื่อง แต่ไม่ปรากฎเกี่ยวพันในจดหมายกรมหลวงนรินทรเทวีเลย ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าถ้ายกมากล่าวไว้ในที่นี้ จะได้เห็นกระแสพระราชดำริห์แต่ก่อน ในเรื่องคิดเอาทัพเรือไปตีเมืองมฤท ขึ้นไปบรรจบทัพบกที่เมืองทวาย แล้วยกขึ้นไปตีเมืองพม่าชัดเจนดีขึ้น อิกประการหนึ่งนั้น สำเนาหนังสือฉบับนี้หอพระสมุดได้ไว้ แลคัดขึ้นเปนตัวพิมพ์ดีด มีข้อความที่มัวมนท์อยู่บ้าง ความที่ชัดอยู่แต่ผู้อ่านไม่เข้าใจความหมาย ฤๅเข้าใจความหมายผิดต่างกันไปกับข้าพเจ้าบ้าง แลไม่รู้จักบทกลอนเลยนั่นแน่ จึงเขียนเส้นดินสอชักชวนจะแก้ลงไว้ข้างล่างหลายแห่ง ซึ่งพอแลเห็นเข้าก็ใจหาย จึงเกิดพยายามที่จะลอกเพลงยาวบทนั้นมาลงไว้ในที่นี้ ตามอัตโนมัต ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าความควรจะเปนอย่างไร แต่หนังสือเก่า ๆ เช่นนี้ก็อาจจะเดาพลาดได้ ถ้าผู้ใดอยากจะสอบสวนบ้าง ขอเชิญให้ไปดูที่หอพระสมุด

แต่ในเบื้องต้นที่จะคัดหนังสือนี้ จะต้องอธิบายเรื่องสำหรับให้ผู้อ่านเข้าใจสักเล็กน้อย คือข้อหนึ่งมีคำทำนายในกาลครั้งนั้น ว่าหงษ์ลงในหนอง พรานผู้หนึ่งยิงหงษ์ตาย ภายหลังเสือกินพรานผู้ที่ยิงหงษ์ตายนั้นเสีย

ผลทำนายเทียบ หงษ์นั้นคือเมืองหงษาวดี เดิมเสียแก่เมืองพม่าสิ้นสูญเชื่อพระวงษ์มาช้านาน เมื่อแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์เจ้าฟ้าพรกรุงเก่า สมิงทอแลพระยาทะละ คิดขบถแขงเมืองตั้งรามัญประเทศขึ้นเปนเอกราช มีเมืองหงษาวดีเปนพระมหานคร ได้กระทำศึกกันกับพม่า รามัญมีไชยชะนะจับเจ้าแผ่นดินพม่าลงมาขังไว้ในเมืองหงษาวดี อองไจยะนายบ้านมุกโชโบ ซึ่งเปนมังลองมาตีเมืองหงษาวดีได้ จึงได้แก่พรานผู้ซึ่งยิงหงษ์ตาย ฝ่ายกรมพระราชวังพระองค์ที่ ๑ เมื่อยังเปนเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพิศณุโลกย์ พวกพม่าเรียกกันว่าพระยาเสือ จนมีปรากฎในพงษาวดาร เมื่ออแซวุ่นกี้จะยกมาตีเมืองพิศณุโลกย์ ถามว่าพระยาเสืออยู่ฤๅไม่ ได้ความว่าไม่อยู่ขึ้นไปเชียงใหม่ จึงให้ยั้งทัพอยู่ที่บางธรณี ต่อกองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์กลับจากเมืองเชียงใหม่แล้ว จึงได้ยกเข้าตีเมืองพิศณุโลกย์ นามที่เรียกว่าเสือนี้ ย่อมใช้ทั่วไปในประเทศที่ใกล้เคียงทั้งปวง ฤๅนามสุรสีห์คิดขึ้นประกอบให้แปลว่าพระยาเสีอ เช่นกับอแซวุ่นกี้เรียกพระพุทธยอดฟ้าว่าเจ้าพระยากระษัตริย์ศึก จึงประกอบพระนามขึ้นเปนสมเด็จเจ้าพระยากระษัตริย์ศึก เพราะนามผู้สำเร็จราชการเมืองพิศณุโลกย์ ในแผ่นดินกรุงธนบุรี เรียกเจ้าพระยาอนุชิต เช่นกับมีโคลงยอพระเกียรติกล่าวไว้ว่า

“เจ้าพระยาอนุชิตเชื้อ อาษา
ครองพิศณุโลกา เพริศแพร้ว
เจ้าพระยาพิไชยรา ชาชื่อ
ครองสวรรคโลกยแผ้ว ผ่องน้ำใจถวิล”

ดังนี้ ข้อซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีตั้งชื่อตามนามประจามิตรเรียก ด้วยเห็นว่าเปนคำซึ่งประจามิตรยกย่องด้วยความเกรงขาม จึงเปนสง่าแก่กรุงศรีอยุทธยา

บัดนี้จะได้คัดกลอนนั้นมาลง แต่ตอนต้นขาดหายไปหาไม่ได้ คงเปนเรื่องยอเมือง ความที่เหลืออยู่นั้นดังนี้

“ประกอบด้วยโภชนากระยาหาร ทุกถิ่นถานบริบูรณหนักหนา อยู่เย็นเปนศุขทุกทิวา เช้าค่ำอัตราทั้งราตรี ประหนึ่งว่าจะไม่มีค่ำคืน รวยรื่นเปนศุขกระเษมศรี ไม่เห็นเช่นว่าจะเปนถึงเพียงนี้ มาเยินยับอัปรีศรีศักดิคลาย ทั้งถนนหนทางอารามราช มาวินาศสิ้นสุดสูญหาย สารพัดย่อยยับกลับกลาย อันตรายไปจนพื้นปัถพี เมื่อพระกาฬจะมาผลาญดังทำนาย แสนเสียดายภูมิพื้นกรุงศรี บริเวณอื้ออนด้วยชลธี ประดุจจะเกาะอสุรีลงกา เปนคันขอบชอบกลถึงเพียงนี้ มาเสียสูญไพรีอนาถา ผู้ใดใครเห็นจะไม่นำพา อยุทธยาอาภัพลับไป เห็นจะสิ้นอายุพระนคร ให้อาวรณ์ผู้รักษาหามีไม่ เปนป่าหญ้ารกดังพงไพร แต่จะสาบสูญไปทุกทิวา คิดมาก็เปนน่าอนิจจัง ด้วยกรุงเปนที่ตั้งพระสาสนา ทั้งอารามเจดีย์ที่บูชา ปฏิมาฉลององค์พระทรงญาณ ก็ทลายยับยุ่ยเปนผุยผง เหมือนพระองค์เสด็จดับสังขาร ยังไม่สิ้นสาสนามาอรทาน ทั้งเจดีย์วิหารก็สูญไป เสียพระนิเวศน์บุรีวัง พระที่นั่งทั้งสามงามไสว ตั้งเรียบรเบียบชั้นเปนหลั่นไป อำไพวิจิตรรจนา มุขโถงมุขเด็ดมุขกระสัน เปนเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา เพดาลุในไว้ดวงดารา ผนังฝาดาดแก้วดังวิมาน ที่ตั้งบัลลังก์แก้วทุกองค์ ทวารลงอัฒจันทร์น่าฉาน ปราบพื้นรื่นราบดังพระลาน มีโรงคชาธารตระการตา ทิมดาบคดลดพื้นกำแพงแก้ว เปนถ่องแถวยืดยาวกันหนักหนา เปนที่แขกเฝ้าเข้าวันทา ดั่งเทวานฤมิตรประดิษฐไว้ สืบทรงวงษ์กระษัตริย์มาช้านาน แต่บุราณแล้วไม่นับพระองค์ได้ พระที่นั่งซึ่งตั้งอยู่ข้างใน มีสระชลาไลชลธี ชื่อที่นั่งบรรยงรัตนาศน์ ที่ประพาศมัจฉาในสระศรี ทางเสด็จเสร็จสิ้นสารพรรณมี เปนที่กระษัตริย์สืบมา ก็สูญสิ้นศรีมลายหายหมด จะปรากฎสักสิ่งไม่มีว่า อันถนนหนทางมรรคา คิดมาก็เสียดายทุกสิ่งอัน ร้านเรียบรเบียบด้วยรุกขา ขายของนานาทุกสิ่งสรรพ์ ทั้งพิธีปีเดือนคืนวัน สารพรรณจะมีอยู่อัตรา รดูใดก็ได้เล่นกระเษมศุข แสนสนุกนิ์ทั่วเมืองหรรษา ตั้งแต่นี้แลหนาอกอา อยุทธยาจะสาบสูญไป จะหาไหนได้เหมือนกรุงแล้ว ดังดวงแก้วอันสิ้นแสงใส นับวันแต่จะยับนับไป ที่ไหนจะคืนคงมา ไปปรากฎเหตุเสียเหมือนดังนี้ มีแต่บรมศุขา ครั้งนี้มีแต่พื้นพระสุธา อนิจจาสังเวชทนาใจ ทั้งนี้เปนต้นด้วยผลเหตุ จะอาเพทกระษัตริย์ผู้เปนใหญ่ มิได้พิจารณาข้าไทย เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา สุภาสิตท่านกล่าวเปนราวมา จะตั้งแต่งเสนาธิบดี ไม่ควรอย่าให้อัคฐาน จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี จึงเสียทีเสียวงษกระษัตรา เสียยศเสียศักดินัศเรศ เสียทั้งพระนิเวศน์วงษา เสียทั้งตระกูลนานา เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร สารพัดจะเสียสิ้นสุด ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร เหมือนหนอนเบียฬให้ประจำกรรม อันจะเปนเสนาธิบดี ควรที่จะพิทักษ์อุประถัมภ์ ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น ป้องกันปัจจาอย่าให้มี นี่ทำหาเปนเช่นนั้นไม่ เหมือนไพร่ชาติชั่วช้ากระลาสี เหตุไภยใกล้กลายร้ายดี ไม่มีทีจะรู้สักประการ ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที มิได้มีเหตุเสียจึงแตกฉาน ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป ถึงเพียงนี้ละไม่มีที่กริ่งเลย ไม่เคยรู้ล่วงลัดจะคิดได้ ศึกมาชิงลาเลิกกลับไป มิได้เห็นจะฝืนคืนมา จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่ ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา ครั้นทัพเขากลับยกมา จะองค์อาจอาษาก็ไม่มี แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ จนเมืองคร่ำเปนผุยยับยี่ ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี เมืองยับอัปรีจนทุกวัน เหตุเสียกรุงศรีอยุทธยา เหมือนคำที่ว่าไม่เศกสรร ฉล้าใจเคยได้แต่ครั้งนั้น จึงประชิดติดพันแต่นั้นมา แตกยับกลับไปก็หลายหน คิดกลจะลวงให้หลงหา แต่งคนให้ถือหนังสือมา เจรจาความเมืองเปนไมตรี ทำไว้แต่พอให้รอรั้ง ขยับยกเข้ามาตั้งตนาวศรี จะเดินมั่นกันติดทางดี ทำนองทีจะคิดให้ชิดไว้ เห็นจะผ่อนโยธาอาหาร มันคิดการมิให้ใครสงไสย จะนิ่งอยู่ดูเบาเอาใจ เห็นเหตุไภยจะเกิดการมา จะเร่งรัดตัดคิดมันเสียก่อน บั่นรอนอย่าให้ทันแน่นหนา จำจะคิดให้ผิดแต่ก่อนมา เปนทัพน่านาวายกไป ตามทางทเลไปสงขลา จะขุดพระสุธาเปนคลองใหญ่ ให้เรือรบออกประจบเอาเมืองไทร ปากใต้ฝ่ายทเลให้พร้อมกัน จึงจะยกไปตีเอามฤท จะปิดปากน้ำเสียให้มั่น ทัพเรือมันจะพลอยเข้าช่วยกัน จะตีบั่นเกยทัพให้ยับไป รบไหนจะให้ยับลงที่นั่น แต่กึ่งวันไม่ให้ทนทานได้ จะทำการครั้งนี้ให้มีไชย จะไว้เกียรติให้สืบทั้งแผ่นดิน มันทำเมืองเราก่อนเท่าใด จะทดแทนมันให้หมดสิ้น มันจิตรอหังกาทามิฬ จะล้างให้สุดสิ้นอย่าสงกา การเสร็จสำเร็จลงเมื่อไร ซึ่งคิดไว้ขอให้สมปราถนา แม้นมิได้ก็ไม่กลับคืนมา จะเห็นเมืองพม่าในครั้งนี้ เกรงกริ่งอยู่แต่ข้างทัพบก จะไม่ยกหักได้ให้ถึงที่ เกลือกมันกั้นตัดทางดี จะตัดที่สเบียงอาหารไว้ ไม่สมคเนให้เรรวน ทำป่วนไม่หักเอามันได้ เท่านี้ดอกที่วิตกใจ +จะทำให้เสียการเหมือนทวาย เมื่อชนะแล้วกลับแพ้ให้แชไป จึงเสียไชยเสียเชิงไม่สมหมาย พากันหนีแต่ไม่มีอันตราย ถ้าเสียหายอย่างอื่นไม่เปนไร อันกรุงรัตนอังวะครั้งนี้ฤๅ จักพ้นเนื้อมืออย่าสงไสย พม่าจะมาเปนข้าไทย จะได้ใช้สร้างกรุงอยุทธยา แม้นสมดังจิตรไม่ผิดหมาย จะเสี่ยงทายตามบุพเพวาศนา จะได้ชูกู้ยกนัครา สมดังปราถนาทุกสิ่งอัน ถ้าเสร็จการอังวะลงตราบใด จะพาใจเปนศุขกระเษมสันต์ ไอ้ชาติพม่ามันอาธรรม์ เที่ยวล้างขอบขันธทุกภารา แต่ก่อนก็มิให้มีความศุข รบรุกฆ่าฟันเสียหนักหนา แต่บ้านร้างเมืองเซทั้งวัดวา ยับเยินเปนป่าทุกตำบล มันไม่คิดบาปกรรมอ้ายลำบาก แต่พลัดพรากจากกันทุกแห่งหน มันเหล่าอาสัตย์ทรชน ครั้งนี้จะป่นเปนธุลี เพราะเหตุบาปกรรมมาซ้ำเติม จะพูลเพิ่มให้รยำยับยี่ ด้วยทำนายว่าไว้แต่ก่อนมี เหมือนครั้งมอญไปตีเอานัครา คือหงษ์มาหลงกินน้ำหนอง เหตุต้องเมืองมอญหงษา ตัวนายอองไจยมือพรานป่า คิดฆ่าหงษ์ตายจึงได้ดี คือพม่ามาตีเอามอญได้ ก็สมในทำนายเปนถ้วนถี่ ยังแต่พยัฆเรืองฤทธี จะกินพรานที่ยิงหงษ์ตาย บัดนี้ก็ถึงแก่กำหนด จะปรากฎโดยเหตุเปนกฎหมาย ทัพเราเข้าต้องคำทำนาย คือเสือร้ายอันแรงฤทธา จะไปกินพรานป่าที่ฆ่าหงษ์ ให้ปลดปลงม้วยชีพสงขาร์ แล้วมีคำทำนายบุราณมา ว่าพม่าจะสิ้นซึ่งรูปกาย ถ้าผู้ใดใครเห็นให้เขียนไว้ จึงจะได้ประจักษ์สืบสาย เหตุเปนเห็นต้องเหมือนคำทาย อังวะจะฉิบหายในครั้งนี้ ถ้าพร้อมใจพร้อมจิตรช่วยคิดการ จะสำราญทั่วโลกย์กระเษมศรี นี่จนใจสิ่งไรก็ไม่มี เห็นทีจะตะพายไปตามจน จะไปได้ฤๅมิได้ยังไม่รู้ จะเสือกสู้ไปตามขัดสน ถ้าสุดคิดผิดหมายที่ผ่อนปรน ก็จะบนบวงสรวงแก่เทวา เดชะเทเวศรช่วยอวยไชย ที่คิดไว้ขอให้สมปราถนา ตั้งแต่สวรรคชั้นกามา ตลอดจนมหาอรรคพรหม ขอจงมาช่วยอวยพรไชย ที่มาทไว้ให้ได้ดังประสงค์ จงดลใจไทยกรุงให้นิยม ช่วยรดมกันให้สิ้นศึก เอย”

ข้อความตามในพระราชนิพนธ์นี้ ถ้าผู้อ่านพิจารณาด้วยญาณ อันหยั่งลงว่าเปนเรื่องจริง ไม่ใช่อ่านเรื่องวงษ์ ๆ จักร ๆ จะรู้สึกน้ำใจท่านผู้เปนต้นตระกูลของเรา ว่ามีความอัปรยศทุกข์ร้อนลำบากยากเข็ญแค้นเคืองสักเพียงใด ความคิดเช่นนี้ใช่ว่าจะมีแต่กรมพระราชวัง ย่อมมีทั่วไปในผู้มีบรรดาด้กดิ แลผู้มีปัญญาในเวลานั้น

แต่ความคิดทั้งปวงเหล่านั้น เมื่อมาคิดดูภายหลังนี้ เห็นว่าทำไปไม่ไหว เพราะกำลังข้างฝ่ายกรุงอ่อนนัก บ้านเมืองรกร้างเปนป่าไปหมด ผู้คนก็แตกฉานซ่านเซ็น ถึงว่ารวมกันเข้าได้ แลมีน้ำใจองอาจกล้าหาญที่จะต่อสู้พม่าได้จริงน่ากลัวจะทนไม่ได้นาน แต่เปนเคราะห์ดีที่พม่าต้องรบพวกฮ่อ กำลังข้างเมืองหลวงไม่ได้หนุน พวกหัวขโมยซึ่งมาเกลื่อนกล่นอยู่ตามหัวเมืองริมทเลในรามัญประเทศทวายตนาวศรีแลมฤท ซึ่งเปนเมืองต่างชาติจากพม่าเหมือนกัน ได้รับความย่ำยีเดือดร้อนแสนสาหัสเหมือนกัน เหตุที่พม่าคิดจะผูกพันเปนไมตรีในรัชกาลที่ ๑ ด้วยห่วงน่ารวังหลัง คือข้างฝ่ายเหนือจีนฮ่อก็ยกลงมาตีรบกวนอยู่ ข้างฝ่ายตวันตกเฉียงใต้ชายทเลก็ร้อนจวนลุกอยู่ แต่ข้างเราไม่ไว้ใจว่าถ้าเปนไมตรีเข้าแล้ว พวกหัวขโมยเหล่านั้น ก็จะสาดเข้ามาทำอันตราย อำนาจเมืองอังวะก็เอาไว้ไม่อยู่ จึงไม่รับทางไมตรี แลเปนคำที่ปู่ย่าตายายแช่งสาปกันไว้ ไม่ให้เปนไมตรีกับพม่า ถือขลังมาจนรัชกาลที่ ๔ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์นำสายสร้อยซึ่งพระเจ้าเมงดงเมง ส่งลงมาประทาน มาถวายไม่ทรงรับ ว่าปู่ย่าตายายห้ามไม่ให้คบกับพม่า

การที่พวกฮ่อยกมาตีเมืองพม่า ที่กรุงเทพ ฯ ได้ทราบชัดเจนดี ได้มีพระราชสาส์นไปมาทั้งข้างเมืองจีนแลกรุงศรีสัตนาคนหุต ตั้งแต่แผ่นดินตาก แต่หากกำลังเรายังทำไปไม่ไหว จึงได้เริดร้างมาจนถึงพม่ารบกับอังกฤษ ราชการทัพศึกข้างฝ่ายพม่าก็เปลี่ยนรูปเปนอย่างอื่นไปหมด

๑๖๖ รับสั่งพระโองการตรัสวัดสะแกให้เรียกวัดสระเกษ แล้วบุรณปฏิสังขรณ์ เห็นควรที่ต้นทางเสด็จเข้าพระนคร

๑๖๖ ปฏิสังขรณ์วัดสะแกแลเปลี่ยนชื่อเปนวัดสระเกษ เอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์ เพราะเปนต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนคร มีคำเล่า ๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุรธาภิเศก ตามประเพณีกลับจากทางไกลที่วัดสะแก จึงได้เปลี่ยนนามว่าวัดสระเกษ

๑๖๗ ประทับชุมพลทหารพร้อม ณ วัดโพธิ์ เหมือนครั้งนารายน์เปนเจ้าชุมพล จึงสร้างวัดไว้ในเกาะสองชั้น ให้เรียกวัดนารายน์ชุมพล

๑๖๗ แล้วจึงเสด็จมาประชุมพลที่วัดโพธิ์ จึงพระราชทานชื่อ เทพ ฤๅ เชตุชุมพล แต่ในที่นี้ท่านกล่าวว่าชื่อวัดนารายน์ชุมพล

๑๖๘ อยู่จนตราบเท่าแผ่นดินนี้

๑๖๘ คำที่ว่าอยู่จนตราบเท่าแผ่นดินนี้นั้น ปรากฎเหมือนหนึ่งชื่อวัดพระเชตุพนพึ่งได้เปลี่ยนในรัชกาลที่ ๓

๑๖๙ ลุศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลูเบญจศก มีการสมโภชพร้อม โขนลครหุ่นงิ้วมอญรำ ครบการเครื่องเล่น ทำล้อเลื่อนตามทางสถลมารค สุดอย่างที่จะงามตา ได้เห็นเล่าฟังมาแต่ก่อน ๆ ไม่เสมอแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ องค์เอง พระพงษนรินทร์ตามเสด็จ

๑๖๙ ข้อความที่ว่าตอนนี้, ดูเหมือนว่าในวันสมโภชทรงผนวช จะได้มีงานมหรศพสมโภชด้วย รุ่งขึ้นพวกที่เล่นมหรศพสมโภชนั้น ขึ้นล้อเลื่อนแห่ไปตามทางอิกเวลาหนึ่ง

๑๗๐ ส่วนเสด็จทรงเครื่องต้นฉลองพระสอพระกรน้อย ทรงประพาศเครื่องประดับพระองค์เสร็จ ทรงพระมหามงกุฎเสด็จทรงพระยานุมาศ

๑๗๐ ท่านว่าด้วยเครื่องต้นเปนสำนวนเก่าดี คือพระกรน้อยทรงประพาศ ฉลองพระสอ พระกรน้อยนั้น คือที่แขนต่อแคบรัด ต่างว่าสรวมเสื้อชั้นใน, แล้วจึงสรวมทรงประพาศ ทรงประพาศนั้นคือตัวเสื้อเปนเสื้อกั๊กมีชาย ในหนังสือเก่า ๆ แลบททรงเครื่องยังใช้ว่าสอดเสื้อทรงประพาศ แต่ภายหลังมานี้ ไม่รู้จักคำที่ว่าฉลองพระองค์ทรงประพาศเปนอย่างไร เหตุด้วยหลงทรงประพาศที่แต่งศพ แลทรงประพาศเครื่องยศผู้ว่าราชการเมืองแลราชทูต ซึ่งมิได้ต่อแขนแลหลวมทูมทาม ผิดกันกับรูปฉลองพระองค์เครื่องต้น จึงเรียกชื่อฉลองพระองค์เครื่องต้นไปเสียต่างหาก เรียกรวมกันทั้งแขนทั้งตัว แต่งอย่างเครื่องต้นเปนแต่งพระกรน้อยทรงประพาศ ถ้าแต่งเครื่องใหญ่คงจะสรวมเสื้อครุยอิกชั้นหนึ่งอย่างแต่งพระศพ

๑๗๑ องค์เองใส่พระมหากระฐินใหญ่

๑๗๑ นักพระองค์เองนี้, พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เลี้ยงเปนพระราชบุตรบุญธรรม

๑๗๒ พระพงษนรินทร์ใส่ชฎาเบื้อง (เบี่ยง) กรรเจียกทัด ขึ้นยานุมาศตามเสด็จ

๑๗๒ พระพงษ์นรินทร์โอรสเจ้ากรุงธนบุรี มีบรรดาศักดิ์รองเสนาบดี เช่นแห่สระสนานก็ขึ้นช้างต่อเสนาบดี ที่โปรดให้สรวมพระชฎาเบี่ยง แลทัดกรรเจียกนั้น ก็คือชฎาพระกลีบฤๅชฎาเดินหน แต่ความจริงชฎากับกรรเจียกไม่เกี่ยวข้องแก่กัน ชฎาเดินหนไม่จำเปนต้องทัดกรรเจียกด้วย เหตุฉนั้นเจ้านายตามพระบรมศพฤๅชักศพ เมื่อสรวมชฎาเบี่ยงจึงไม่ได้ทัดกรรเจียก การที่โปรดให้ทัดกรรเจียกเช่นนี้ ตัวข้าพเจ้าแลท่านกลางจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ โยงโปรยพระศพกรมสมเด็จพระเทพศิรินธรามาตย์ สรวมชฎาเบี่ยง แต่โปรดให้ทัดกรรเจียกเปนพิเศษ อย่างเดียวกันกับแบบนี้

๑๗๓ มีการสมโภชแห่เครื่องเล่นเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุทธ, อิเหนา, มิใช่แห่รูป รูปภาพ แต่ล้วนลครโขนขึ้นรำร้องบนจักรชักล้อเลื่อนตามทางสถลมารค มีตาแต่สองตาดูแห่ไม่เห็นทั่ว จะพรรณาเหลือกำลัง ทั้งคนร้องคนรำยังอยู่ จึงรวมงามไวใน (ไนย) ตา อันการมหรศพสมโภชทรงผนวชเฉลิมวงษ์พงษ์กระษัตริย์สืบมา

๑๗๓ เรื่องทรงผนวชกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ดูผู้แต่งปลื้มสนุกสนานมาก แต่คุมเรื่องไม่ใคร่ติด เล่ากระจัดกระจายไป ถ้าจะเรียงภาษาใหม่, น่าจะกล่าวว่า ไม่เคยได้ยินว่าครั้งใดแต่ก่อนมา ได้เคยมีการแห่ทรงผนวชสนุกแลใหญ่โต เหมือนครั้งทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ โปรดให้ทรงเครื่องต้นฉลองพระองค์ทรงประพาศพระกรน้อย มีฉลองพระสอแลเครื่องประดับทรงพระมหามงกุฎ ทรงพระยานุมาศ นักพระองค์เองเจ้าเขมร, สรวมชฎาพระมหากระฐิน พระพงษ์นรินทร์, สรวมชฎาเบี่ยงทัดกรรเจียก ขึ้นยานุมาศตามเสด็จเปนหางนาค มีการมหรศพสมโภช โขน, หุ่น, ลคร, งิ้ว, มอญรำ, กระบวนแห่แต่งลคร เรื่อง รามเกียรติ์, อุณรุทธ, อิเหนา, ให้ตัวโขนลครขึ้นบนล้อเลื่อนลากไปในกระบวน, ร้องรำไปพลาง ไม่เคยได้ยินว่าการทรงผนวชครั้งใด จะเปนที่สนุกสนานน่าดูเหมือนครั้งนี้

๑๗๔ ณเดือน ๑๐ ทิ้งไฟในวัง ทิ้งหนังสือเปนสัตย์ ใส่ด้วยบทประหารชีวิตร ที่จากแดง

๑๗๔ มีในพงษาวดาร

๑๗๕ ข้างในทำกลลวงล่อต่อทรัพย์จับรูปสักนาม โจทย์ ๓ จำเลย ๒ ประหารชีวิตรที่วัดเขียน

๑๗๕ น่าจะไม่มีในพงษาวดาร

๑๗๖ ปีเถาะสัพศก พระโองการรับสั่งให้ช่างทำพิไชยราชรถขึ้นจะทรงพระโกษฐพระอัฐิ ๗ รถ ให้ตัดเสาพระเมรุตั้งทรงประดับเครื่องให้เสร็จแล้วแต่ในปีเถาะ

๑๗๖ รถ ๗ รถ ก็คือรถที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ ตั้งพระราชหฤไทยจะทำขึ้นไว้สำหรับแผ่นดิน แต่เปนการจำเปนอยู่เองที่จะต้องให้ใช้ก่อน สำหรับทอดพระเนตร

๑๗๗ ได้พระคชาธารเจ้าพระยามงคลจักรพาฬเล็บครบ (แล) พระอินทรไอยรา

๑๗๗ ช้างเล็บครบนี้ไม่ปรากฎ พระอินทรไอยรา เปนช้างพังเผือกตรี

๑๗๘ ลุศักราช ๑๑๕๘ ปีมโรงอัฐศก เขีญพระอัฐิทรงพิไชยราชรถ รถพระ, รถชัก (โยง) รถโปรยเข้าตอก รถที่นั่งรองรถจันทร์ ๒ รูปสัตว์แรด ทรงสังเคดเพลิงแห่น่ารูปสัตว์ถ้วนพัน (พรรค์) ทรงสังเคดผ้าไตรย์บาตร ตั้งแห่ในราชวัตรฉัตรจรงค์เรียง ชักแห่เข้าพระเมรุทิศมุขแทรกมุขกระสัน ประดับชั้นสามส้าง เที่ยวกางประจำประตูชั้นใน ฉัตรเงินลำยอง ฉัตรทอง ฉัตรนากบรรจง เยี่ยมทรงอย่างปรางค์ปราสาท เทวราชประนมกร ๙ ชั้น

๑๗๘ พรรณนาด้วยงานพระเมรุ, ถ้วนถี่ พอใช้

๑๗๙ อย่างพระเมรุพระบรมโกษฐพระพุทธเจ้าหลวงกรุงเก่า

๑๗๙ อ้างว่าพระเมรุ ที่ทำครั้งนั้นเหมือนพระเมรุในพระบรมโกษฐ พระพุทธเจ้าหลวงกรุงเก่า คงจะได้ถ่ายแบบครั้งนั้น เพราะตัวนายช่างที่ทำการยังมีชีวิตรอยู่ บางทีท่านผู้แต่งท่านจะได้เห็นเอง แต่เห็นจะยังทรงพระเยาว์

๑๘๐ ชักพระอัฐิเข้าพระเมรุทอง ถวายพระเพลิงสมเด็จพระไอยกาพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินกลาง

๑๘๐ ในที่จะออกพระนาม สมเด็จพระปฐมบรมมหาไปยกาธิบดี เห็นจะหวังจะให้สั้น จึงได้ใช้สมเด็จพระไอยกาพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินกลาง เพราะไม่มีคำจะเรียก ก็ซอกเรียกไปพอให้เข้าใจ

๑๘๑ กรมหลวงนรินทร์รณเรศสินพระชนม์ต้นปีมเสง ถวายพระเพลิงที่พระเมรุ

๑๘๑ อธิบายความว่า, กรมหลวงนรินทร์รณเรศ พระราชทานเพลิงเมรุกลางเมือง คือพระเมรุใหญ่นี้เอง

๑๘๒ ณวัน ๔ ค่ำ อ้ายมาลักเพศเข้าวังหลวงจับตัวได้ ประหารชีวิตรทีวัดตะเคียน

๑๘๒ อ้ายมาเปนเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว

๑๘๓ ณวัน ๑๒ ๘ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๖๑ ปีมแมเอกศก สมเด็จตรัสสา เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษเสด็จสู่สวรรคาไลย

๑๘๓ คำที่เรียกว่าสมเด็จตรัสสานี้, ไม่เคยได้ยิน แต่เรียกเจ้านายว่าตรัส, นั้น คงจะได้เรียกอย่างเดียวกับเสด็จ เช่นตัวอย่างตรัสน้อยครั้งกรุงเก่า แต่ตรัสสาจะแยกเปนฝ่ายอิตถีลึงค์ ก็ดูแปลกอยู่สักนิดหนึ่ง ถ้าเรียกแต่เฉพาะองค์เดียว ก็น่าจะเดาว่าเปนอย่างอื่นไปได้ แต่นี่เรียกทั้งสองพระองค์ แปลกไม่เคยได้ยินใครเล่าเลย

๑๘๔ ณวัน ๑๑ ๒ ค่ำ สมเด็จตรัสสาเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี เสด็จสู่สวรรคาไลย

๑๘๔ ขอให้สังเกต สมเด็จพระศรีสุดารักษ์ เรียกเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ แต่สมเด็จพระเทพสุดาวดี เรียกเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ดูถูกต้องดีหนักหนา เพราะเหตุที่เจ้ากรมสมเด็จพระเทพสุดาวดีเปนพระยาพานทอง เจ้ากรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์เปนพระ

บัดนี้จะตั้งวินิจฉัย ในเรื่องเจ้าต่างกรมแปลว่ากระไร เหตุไฉนชื่อเจ้ากรมจึงเหมือนกับชื่อเจ้า ข้อนี้วินิจฉัยง่ายคือเจ้าฟ้าก็ดี พระองค์เจ้าก็ดี ที่มีข้าไทยเลขสมสังกัดขึ้นมาก การบังคับบัญชาคนข้าไทยเหล่านั้น ต้องมีข้าของเจ้าคนหนึ่งสองคนฤๅสามคน เปนผู้ควบคุม ผู้คนมากด้วยกันจะเปนแต่จางวางนายเวรสมุห์บาญชีชื่อเดิม ควบคุมคนมาก ๆ ก็ดูไม่สมควร เจ้าแผ่นดินจึงได้โปรดให้ยกคนหมู่นั้นขึ้นเปนกรมต่างหากกรมหนึ่ง คงอยู่ในเจ้าองค์นั้น เจ้าองค์นั้นมีอำนาจตั้งเจ้ากรมเปนพระยาพระหลวงขุนหมื่น ปลัดกรมเปนพระหลวงขุนหมื่น สมุห์บาญชีเปนหลวงขุนหมื่นมีชื่อตำแหน่ง ส่วนเจ้าซึ่งเปนผู้ปกครองกรมนั้น เปนเจ้าฟ้าก็คงเปนเจ้าฟ้า เปนพระองค์เจ้าก็คงเปนพระองค์เจ้า แต่การที่ผู้ใดจะออกพระนามเดิมจริง ๆ ดูเปนการไม่เคารพ เช่น กับจะออกพระนามกรมหลวงจักรเจษฎาว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าลา เช่นนี้ก็ดูเปนการต่ำสูง จึงเรียกเสียว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า กรมหลวงจักรเจษฎา ตามชื่อเจ้ากรมซึ่งเปนหัวน่าข้าไทยของท่าน ส่วนพระองค์เจ้าเล่า ตามอย่างเก่า ๆ เขายังเรียกพระองค์เจ้ากรมหมื่นนั่น พระองค์เจ้ากรมหมื่นนี่ คำที่ใช้จ่าน่าบาญชีเจ้านาย ก็ใช้ว่าพระองค์เจ้ามีกรม แลพระองค์เจ้ายังไม่มีกรมเช่นนี้เปนตัวอย่าง ชื่อเจ้ากรม ปลัดกรมอย่างเก่า ๆ ไม่ได้ใช้คำสูงวิเศษอไร แลไม่ได้ใช้เปนผู้หญิงผู้ชาย เช่นเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพย์ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ก็เห็นได้ตรงว่า พระนารายน์คงไม่ได้ตั้งพระขนิษฐาให้ชื่อโยธาทิพย์องค์หนึ่ง แลพระราชบุตรีให้ชื่อโยธาเทพ ซึ่งเปนชื่อทหารผู้ชายเช่นนั้น เห็นชัดว่าเปนชื่อสำหรับเจ้ากรมเท่านั้น

การค่อย ๆ เข้าใจผิดกันมาทุกทีเพราะเรียกพระนามกรมจนจับหน้าเจ้าองค์นั้นเสียแล้ว จึงกลายเปนชื่อเจ้าองค์นั้น ชื่ออย่างเจ้ากรมของตัว คงเหลืออยู่แต่เจ้าฟ้าซึ่งได้รับพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามเปนเจ้าฟ้าก่อนเปนกรม เช่นเจ้าฟ้ามหามาลากรมพระบำราบปรปักษ์ ใช้ทั้ง ๒ อย่าง การที่ชักเลอะนั้นเพราะเจ้าฟ้าที่ไม่ได้รับพระสุพรรณบัตร แลชื่ออย่างไทย ๆ เช่นชักตัวอย่างเจ้าฟ้าลา กรมหลวงจักรเจษฎามานั้น เปนเหตุให้ฟั่นเฟือนได้ประการหนึ่ง

สมเด็จพระบรมราชชนนี แต่ไหนแต่ไรมาใช้ว่ากรมพระเทพามาตย์ คงเปน “มาตย” ไม่ใช่ “มาตุ” ที่แก้เปน มาตุ นั้นแก้ตามความหลง ถ้าจะเอามาวินิจฉัยว่าพระราชชนนี ทำไมจึงไม่ใช้สมเด็จ แต่พระอรรคมเหษียังใช้สมเด็จได้ ฤๅเจ้านายอื่น ๆ ยังตั้งเปนกรมสมเด็จได้ ถึงทีพระราชชนนี เหตุใดจึงตั้งเปนแต่กรมพระ ความข้อนี้วินิจฉัยได้ง่าย สมเด็จนั้นอยู่น่าคำนำ ตามแบบโบราณเขาใช้สมเด็จพระพันปีหลวง ฤๅสมเด็จพระราชมารดา สมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระบรมราชชนนี ถ้าหากว่าพระนามของท่าน เปน คำไทย ๆ เช่น สมเด็จพระบรมราชชนนี รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ใครเลยจะกล้าออกพระนามไทย ๆ ต่อท้ายสมเด็จได้ เพราะเหตุฉนั้น สมเด็จพระพันปีหลวงแต่โบราณ ก็มีพระนามไทย ๆ เขาจึงเรียกสมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระเทพามาตย์ แต่ด้วยความเคารพยิ่งขึ้นไป จึงไม่ออกพระนามแม้แต่สมเด็จพระพันปีหลวง เรียกแต่ชื่อเจ้ากรม ว่ากรมพระเทพามาตย์ทีเดียว

การที่เปลี่ยนชื่อเจ้ากรมในรัชกาลที่ ๒ เปนพระอมรินทรามาตย์ ด้วยความประสงค์จะแก้จืดแลจะให้สูงขึ้น ได้ยกสมเด็จซึ่งเปนคำนำพระพันปีหลวง มาใช้นำชื่อกรม เปนสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ “สมเด็จ” ฤๅจะว่า “สมเด็จของ” กรมพระอมรินทรามาตย์ มีปรากฎในหมายเก่าใช้ “สมเด็จกรมพระอมรินทร์” “สมเด็จกรมพระศรีสุลาไลย” ทุกแห่ง ยังถูกต้องดีอยู่

ข้อซึ่งมาเกิดฟั่นเฟือนมากไปนั้น ด้วยในรัชกาลที่ ๔ มีพระราชบัญญัติ พระศรีภูริปรีชารับพระบรมราชโองการ ออกหมายลงวันเดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีชวดจัตวาศกจุลศักราช ๑๒๑๔ ก่อนข้าพเจ้าเกิดปีหนึ่ง สาเหตุข้อพระราชบัญญัตินี้ แลความมุ่งหมายเปนอย่างอื่นแท้ เหตุที่เกิดขึ้นนั้นดังนี้

ทรงได้ยินคำกราบทูลว่า สมเด็จพระเดชา แลสมเด็จพระปรมานุชิต เปนต้น ทรงรแวงไป ว่าดูเหมือนบรรดาศักดิ์จะเสมอสมเด็จพระราชาคณะ อันเรียกว่าสมเด็จพระอริยวงษาคตญาณ สมเด็จพระพุฒาจาริย์แลอื่น ๆ อิกอย่างหนึ่งนั้น มีผู้กราบทูลเรียกพระนามกรมพระว่า พระราม พระพิพิธ พระพิทักษ์ ก็จะเหมือน พระพิพิธเดชะ พระอินทรเทพ แลอื่น ๆ ไป จึงได้บัญญัติลงว่า

“จะออกพระนามพระเจ้าอยู่หัววังหลวงวังน่า ให้ใช้ “พระบาท” นำสมเด็จ ถ้าจะออกพระนามสมเด็จพระเดชา สมเด็จพระปรมานุชิต ให้ใช้ “กรม” นำน่าสมเด็จ จะได้ผิดกับสมเด็จพระราชาคณะ ถ้าจะใช้พระนามกรมพระรามอิศเรศ กรมพระพิพิธ กรมพระพิทักษ์ ให้ใช้ “กรม” นำน่า พระ”

มีข้อความปรากฎ อยู่ในหนังสือวชิรญาณวิเศษเล่ม ๒ น่า ๓๕๘

พระราชบัญญัติอันนี้ ไม่ได้ทรงรฦกถึงแบบเดิม ซึ่งเคยใช้สมเด็จกรมพระอัมรินทร์ สมเด็จกรมพระศรีสุลาไลย ซึ่งคงใช้อยู่ จนถึงเวลาออกพระราชบัญญัตินั้นเลย พระราชประสงค์แต่จะแก้ข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่ง ซึ่งเปนเวลาหลงเอาชื่อเจ้ากรม มาเปนชื่อเจ้าเสียช้านานแล้วนั้น

คำที่ใช้ว่า “พระบาท” นำน่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้น น่าจะมาจาก ศุภอักษร ซึ่งมีข้อความว่า “ท่านเสนาธิบดินทร์ นรินทรามาตย์ ผู้ภักดีบำเรอพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐ” เปนต้น ถ้าจะชักเอาพระบาทให้ขาดวรรค “ผู้ภักดีบำเรอ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐ” ก็เปนอันเข้าใจใช้ได้ว่า สมเด็จในพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน ควรจะมีพระบาทนำ แต่ก็เปนบัญญัติใหม่ เพื่อจะให้ผิดจากสมเด็จพระราชาคณะนั้นเอง ของเก่า ๆ หาได้ใช้เปนหลักถานมั่นคงไม่

แต่กรมนำน่าสมเด็จ ไม่สนิทเหมือนพระบาทนำสมเด็จ กรมนำเข้าข้างน่าต้องเข้าใจว่าเจ้าองค์นั้น พระนามเหมือนเจ้ากรม ถ้าเอากรมต่อท้ายสมเด็จตามแบบเก่า ได้ความว่าเจ้าองค์นั้นเปนสมเด็จ กรมที่ต่อข้างท้ายนั้นเปนชื่อของเจ้ากรม สำเร็จรูปเปนเนื้อความว่า “สมเด็จของกรมซึ่งพระปรมานุชิตเปนเจ้ากรม” เรียกสั้นเปนสมเด็จกรมพระปรมานุชิต เมื่อมีกรมอยู่ข้างท้ายสมเด็จเช่นนี้ จะเหมือนสมเด็จพระราชาคณะที่ไหนได้

ส่วนกรมพระที่ทิ้งกรมข้างน่าเสียนั้นผิดแท้ ไม่ทราบว่าเหตุผลอย่างไร จะเปนด้วยสั้นแลง่าย เคยได้ยินที่สุดจนเจ้านายในกรมนั้นเอง เช่นพระองค์เจ้าชิดเชื้อพงษ์ หม่อมเจ้ายินดี ก็มักจะเรียกว่าพระพิพิธ พระองค์เจ้าสิงหนาท แลหม่อมเจ้าลมุน ก็เรียกพระพิทักษ์ เว้นไว้แต่ถ้าพูดกันมาก ๆ จึงจะเรียกแต่ว่าในกรม เหมือนหม่อมเจ้าทั้งปวงเรียกบิดา ข้อที่หลงไปเรียกชื่อเจ้ากรมเปนเจ้า เช่นพระพิพิธ พระพิทักษ์นี้ เปนหลงอย่างเอก

พระราชบัญญัติที่ได้ยกมากล่าวนี้ ไม่บัญญัติไปถึงพระนามสมเด็จพระพันปีหลวงก็จริง แต่เมื่อบัญญัติลงว่า เจ้านายอันเปนสมเด็จจำจะต้องมีกรมนำ จึงจะผิดกับสมเด็จพระราชาคณะ เช่นนั้นแล้ว ก็ลามมาถึงพระนามสมเด็จพระพันปีหลวงกลายเปนกรมสมเด็จพระอัมรินทร์ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ กรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย ตลอดจนกรมสมเด็จพระเทพศิรินธร์ ก็เปนเช่นนั้นด้วย จนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเปนต้นเหตุแห่งเรื่องที่กล่าวอยู่บัดนี้ อันเปนเจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ ก็ต้องเลิกเจ้าฟ้า เติมกรมนำน่าสมเด็จ เปนกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ไปด้วย

แต่ครั้นมาในชั้นหลัง จะทรงรแวงขึ้นมา ว่าสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปเหมือนกันเข้ากับกรมสมเด็จต่าง ๆ ฤๅอย่างไร จะถวายเทศนาโปรดให้หยอดท้าย เช่นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ สมเด็จพระบรมราชชนนี พระที่ลืมหยอดท้ายเช่นนี้ต้องถูกลงจากธรรมาศน์ไปก็มี แต่ไม่ได้เติมในฉลากสดัปกรณ์ การจึงได้เปนแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

ข้อซึ่งพาให้เลอะลืมต้นเหตุแห่งการตั้งกรมมีอิก คือยกตัวอย่างกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล กรมพระราชวังบวรสฐานภิมุข นับว่าเปนเจ้านายอย่างสูงชั้นพระราชา ก็ใช้ว่ากรมพระราชวัง ไม่ได้ใช้ว่ากรมพระยาราชวัง ความวินิจฉัยอันนี้ผิดมาก ที่วังน่าแลที่วังหลังนี้ เขาไม่ได้เรียกตามชื่อบุคคล ผู้ที่เปนข้าราชการสองกรมนั้น มีมากด้วยกัน เขาจึงเรียกเอาตามชื่อวัง วังน่าเรียกว่าวังบวรสฐานมงคล วังหลังเรียกว่าวังบวรสฐานภิมุข ส่วนพระองค์เองท่านเปนสมเด็จพระอนุชาธิราช แลสมเด็จพระเจ้าหลานเธอต่างหาก การที่พาเลอะเพราะเอากรมไปนำวังเข้าอิก ที่จริงกรมในที่นี้ใช้แทนคำว่าฝ่าย เปนหมวดเปนแพนก ไม่ควรจะเอาไปเทียบกับยศเจ้านาย ที่เรียกตามยศเจ้ากรมนั้นเลย

ทางที่พาเลอะอิกเรื่องหนึ่งนั้น คือตามกฎหมายเดิม ไม่มีคำนำพระนามเจ้านายที่เปนผู้ใหญ่กว่าพระเจ้าแผ่นดิน จะเปนพระไอยกาก็ตาม พระอาว์ พระพี่ก็ตาม ใช้คำนำว่า พระเจ้าน้องยาเธอเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่าเปนการบกพร่อง ถ้าจะเปนการถือเกียรติยศก็ไม่เข้าเรื่อง จึงทรงพระราชดำริห์แก้เรื่องนี้ แต่แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ มีข้อความปรากฎอยู่ในประกาศอันข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะได้นำมาลงในหนังสือวชิรญาณวิเศษไว้ คงจะอยู่ในเล่มเดียวกับที่ได้อ้างถึงนี้ ฤๅก่อนขึ้นไปเล่มหนึ่ง

พระราชปรารภนั้น ว่าข้อซึ่งบัญญัติให้เรียกพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าพี่นางเธอนี้ ไต่ตามตัวอย่างที่เคยมีมาในรัชกาลที่ ๑ เรียกสมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์ ควรจะเดินตามแบบอย่างนั้น จึงได้บัญญัติให้เรียกพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าพี่นางเธอ

แต่เมื่อบัญญัติลงเช่นนี้แล้ว คำนำเช่นนั้นย่อมทั่วไปถึงกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ พระองค์เจ้าทินกร เพื่อจะยกกรมขุนเดชอดิศร ให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่าเจ้านายที่ออกพระนามมาแล้ว จึงได้พระราชทานเพิ่มคำสมเด็จนำพระนาม แลให้เจ้ากรมเปนพระยา เทียบอย่างสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ ในรัชกาลที่ ๑

แต่มาขาดความพิจารณาไม่ทั่วถึงเสียในระยะนี้เอง ด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่รัชกาลที่ ๑ ท่านเปนเจ้าฟ้า สมเด็จเปนคำนำของเจ้าฟ้า แต่หากไม่เรียกออกพระนามเจ้าฟ้า เรียกแต่สมเด็จเปล่าเอาต่อกับชื่อเจ้ากรม ว่าสมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี เลยหลงไปว่าสมเด็จนั้นเปนชั้นของเจ้าต่างกรมอย่างยอด อันมีเจ้ากรมเปนพระยา สมเด็จใช้แทนคำว่าพระยาอยู่แล้ว จึงเรียกสำเร็จรูปเปน กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี ตามบัญญัติกรมนำน่าสมเด็จ ดราวนี้ก็คลาศรอยจับรูปไม่ติดทีเดียว ครั้นตั้งกรมขุนเดชอดิศร จะให้เปนต่างกรมอย่างสูงที่สุด จึงได้เปนกรมสมเด็จพระเดชาดิศร

แต่ครั้นเมื่อพิเคราะห์ไป ยศเช่นนี้ไปทันกันกับสมเด็จพระพันปีหลวง แลสมเด็จพระพี่นางเธอรัชกาลที่ ๑ ซึ่งท่านเปนเจ้าฟ้าหาที่แปลกกันมิได้ จึงโปรดให้เติมคำนำลงเสียน่าสมเด็จว่า “พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร” “พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิต” แก้ไขยักเยื้องไปพอให้แปลกกัน เมื่อลงรูปเช่นนี้จะเปนอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะต้องเข้าใจว่า พระองค์เจ้ามั่ง องค์นี้พระนามเดชาติศร แต่เหตุไฉนเจ้ากรมจึงมาชื่อพ้องกัน ไม่เคยยกขึ้นสู่ความวินิจฉัย แต่ในชั้นหลัง ๆ มา เมื่อเกิดเซ็นชื่อกัน เจ้านายต่างกรมบางองค์ มีความเดือดร้อนว่าลายเซ็นของตัวเหมือนกับเจ้ากรม ไม่ทันพิศ บางคนหลงว่าลายเซ็นของเจ้ากรมเปนลายพระหัดถ์ของเจ้า

ในเรื่องเจ้านายซึ่งไม่ได้เปนเจ้าฟ้า ได้รับยศเปนสมเด็จนี้ชอบกลอยู่ น่าจะมีเค้ามูลอย่างหนึ่งอย่างใด จะว่าสูงเกินไปจนถึงไม่มีเลยเปนแน่ก็ว่าไม่ได้ แต่ขุนนางยังเปนสมเด็จเจ้าพระยาได้ มีตัวอย่างที่ข้าพเจ้ารงับไว้ยังไม่ได้วินิจฉัยนานมาแล้วเรื่องหนึ่ง คือเมื่อเวลาเรียงพระราชประวัติสามรัชกาลสำหรับเทศนากระจาดใหญ่ เมื่อสมโภชพระนคร ข้าพเจ้าเปนผู้เรียบเรียงรัชกาลที่ ๓ แลรัชกาลที่ ๔ เมื่อเก็บข้อความทั้งปวงรวบรวมจะเรียงขึ้นนั้น กรมหลวงบดินทร์รับสั่งยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จออกไปขัดทัพปากแพรก เปนพระองค์เจ้าต่างกรม เจ้ากรมเปนแต่หมื่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย โปรดให้ออกพระนามในท้องตราว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ท่านรับสั่งยืนยันเปนแน่นอน ไม่ใช่อย่างเลอะ ๆ แต่เวลานั้นหนังสือที่ต้องค้นคว้าเรียบเรียงมาก เวลามีไม่พอจึงได้ทูลขอรงับไว้เสีย ว่าถ้าจะลงความข้อนี้ในพระราชประวัติ จะต้องหาหลักถานไว้ต่อสู้เขาให้ดีหน่อยจะเกิดเปนปากเสียง ว่ายกย่องกันเกินไป ครั้งนี้รงับไว้เสียทีหนึ่งเกิด การก็ค้างกันมา

เมื่อพิเคราะห์ดูเจ้านายที่ไม่ใช่เจ้าฟ้า เช่น กรมสมเด็จพระปรมานุชิต กรมสมเด็จพระเดชาดิศรเปนสมเด็จด้วยอไร เปนได้ด้วยพระราชทานให้เปน ไม่ใช่พระราชทานให้เปนเจ้าฟ้า เปนสมเด็จอย่างสมเด็จเจ้าพระยา อย่างสมเด็จพระราชาคณะ จึงมาคิดเห็นว่า น่าจะมีแบบอย่างอไรมาแต่ก่อนบ้าง ถ้าหากว่าคำที่กรมหลวงบดินทร์รับสั่งนี้เปนความจริงก็น่าจะอย่างเช่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ นี้เปนตัวอย่าง แต่เวลานั้นคิดเห็นไม่ได้ เหตุด้วยเรื่องบัญญัติเอากรมนำน่า สมเด็จเข้าไปขวาง ที่จะคิดเห็นไปว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ความยกย่องเปนกรมสมเด็จพระเจษฎาบดินทร์ไม่ได้เปนอันขาด ไม่มีจดหมายข้อความในที่สฐานใดเลย จึงเปนข้อที่ฉงนต้องขอรงับไว้ก่อน แต่ถ้าหากว่าสมเด็จเปนแต่คำนำ ไม่เที่ยวแก่กรมตามแบบเก่า เช่นเคยใช้สมเด็จกรมพระอัมรินทร์ สมเด็จกรมพระศรีสุลาไลยแล้ว จะใช้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ฤๅอย่างสั้นว่า สมเด็จกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก็จะขัดข้องอันใด ก็อย่างเดียวกันกับสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร สมเด็จกรมพระปรมานุชิต จะว่าเหมือนสมเด็จพระราชาคณะก็ไม่เหมือน เพราะมีกรมอยู่ท้ายสมเด็จ เห็นว่าแยบคายดีหนักหนา ดีกว่าพระราชบัญญัติแก้ไขให้ใช้กรมนำสมเด็จ

ตัวอย่างความลำบากซึ่งเคยอึดอัดใจอย่างยิ่ง ได้เกิดขึ้นเมื่อครั้งกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ท่านเปนกรมพระอยู่แล้ว แต่เพื่อจะยกย่องให้สูง เช่นสมเด็จพระปรมานุชิต ฤๅสมเด็จพระเดชา แต่พระองค์ท่านเปนเจ้าฟ้า เปนสมเด็จอยู่ในคำนำพระนามเดิมแล้ว แลตั้งเปนกรมสมเด็จอิกซ้ำหนึ่ง สมเด็จเดิมทิ้งเสียก็ไม่ได้ สมเด็จใหม่ไม่เติมเข้าก็ไม่สำเร็จกิจการเลื่อนกรม จึงต้องลงทั้งสองอย่าง กลายเปน “สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์” สมเด็จถึงสองหนเผยิบผยาบเต็มที ถ้าหากว่าวินิจฉัยลงว่า คำซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวี เรียกสมเด็จพระพี่นางรัชกาลที่ ๑ นี้ ถูกต้องตามแบบอย่างความมุ่งหมายเดิมแล้ว จะเรียกได้ง่าย ว่า “สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์” สนิทสนมดีมาก

ถ้าหากว่าความวินิจฉัย อันนี้ตกลง ผลที่จะเรียกในแผ่นดินประจุบันนี้ จะออกพระนามได้ดังเช่นกล่าวต่อไป

๑ สมเด็จพระเจ้าบรมไปยิกาเธอเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี

ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี

๒ สมเด็จพระเจ้าบรมไปยิกาเธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

๓ สมเด็จพระบรมราชไปยิกา กรมพระอมรินทรามาตย์

ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์

๔ สมเด็จพระบรมราชไอยิกา กรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์

ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์

๕ สมเด็จพระราชมหาไปยิกา กรมพระศรีสุลาไลย

ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระศรีสุลาไลย

๖ สมเด็จพระบรมราชชนนี กรมพระเทพศิรินธรามาตย์

ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระเทพศิรินธรามาตย์

๗ สมเด็จพระเจ้าบรมไอยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

๘ สมเด็จพระเจ้าไอยกาเธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

๙ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

๑๐ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

๑๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์

ฤๅสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์

เช่นนี้เปนต้น อาจจะลงร่องรอยได้ เห็นผิดกันที่ในระหว่างที่เปนเจ้าฟ้าแลมิได้เปนเจ้าฟ้า แลผิดกันกับสมเด็จพระราชาคณะ

จึงเห็นว่าข้อความ ซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีเรียก สมเด็จตรัสสาเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี แลสมเด็จตรัสสาเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ น่าจะถูกต้องแยบคายดีหนักหนา

๑๘๕ เชิญพระโกษฐไว้ (ที่พระ) ที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฟ้าผ่าปราสาทแต่ไม่ไหม้

๑๘๕ เรื่องฟ้าลงปราสาทนี้ไม่ปรากฎในพงษาวดาร

๑๘๖ เดือน ๕ ปีวอกโทศก เชิญพระโกษฐขึ้นทรงพิไชยราชรถตามกันเข้าพระเมรุทอง ร่วมชั้นพระเบญจาเดียวกัน ถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว

๑๘๖ พระโกษฐครั้งนี้ทำขึ้นใหม่ทั้งคู่ เรียกว่ากุดั่นใหญ่, กุดั่นน้อยหุ้มทอง ภายหลังจึงรื้อทองคำ ออกไปรวมทำพระโกษฐทองใหญ่

๑๘๗ ได้พระคชาธาร พระเทพกุญชร มาเปนศรีพระนครสืบลำดับกระษัตริย์

๑๘๗ คำที่ว่า, มาเปนศรีพระนครสืบลำดับกระษัตริย์ เพราะเหตุที่ พระเทพกุญชรอยู่จนรัชกาลที่ ๓

๑๘๘ พระโองการรับสั่งให้ขุดคลองรอบเกาะ ให้บ่ายเรือพระที่นั่งได้เรียกว่าคลองมหานาก

๑๘๘ ขุดคลองมหานาค, มีคำว่ารอบเกาะมาอิก เกาะในที่นี้จะเปนอย่างไร บางทีก็จะเหมือนกันกับชั้นหลัง คือมีเกาะในรหว่างโรงเรือกับวัดด้านหนึ่ง เกาะด้านตวันออก ที่เรียกว่าเกาะยายชี ด้านหนึ่ง แต่ในที่นี้เห็นจะหมายความว่าเกาะข้างเหนือวัด อยู่ตรงน่าบ้านชายเสรฐวงษ์ คลองหลังเกาะตื้นกลายเปนฝั่งไปเสียแล้ว

๑๘๙ ณเดือน ๖ รกาตรีนิศก ฉลองวัดพระเชตุพน ผลทานมากทิ้งฉลากพระราชโอรสพระราชนัดดา นักสนมสินธพคชานาเวศ เปนยอดยิ่งบารเมศ จำหน่ายทาน ฉลากละ $\begin{array}{c}๕\\\begin{array}{c|c}
\quad&\quad\\\hline
\quad&\\\end{array}\end{array}$
$\begin{array}{c}๔\\\begin{array}{c|c}
\quad&\quad\\\hline
\quad&\\\end{array}\end{array}$
$\begin{array}{c}๓\\\begin{array}{c|c}
\quad&\quad\\\hline
\quad&\\\end{array}\end{array}$
ต้นกัลปพฤกษ ๘ ต้น ทรงโปรยน่าพลับพลา ดอกไม้เงินทอง

๑๘๙ ฉลองวัดพระเชตุพน ทิ้งฉลากเช่นนี้ ในรัชกาลที่ ๓ ฉลองก็ทำเหมือนกัน แต่ดอกไม้เงินทองนี่จะเปนพิกุลเงินพิกุลทองกระมัง

๑๙๐ แต่ทรงสร้างจนฉลองจาฤกไว้ ณแผ่นศิลาอยู่ในพระสาสนา ๕๐๐ สิ้นเสร็จ

๑๙๐ ข้อที่เขียนไว้ว่าอยู่ในพระสาสนา ๕๐๐ สิ้นเสร็จ นี่คงจะผิดตกสูญ เพราะ ๕๐๐๐ พระวษา ย่อมรู้ปรากฎชัดเจนอยู่

เรื่องวัดพระเชตุพนนี้ น่าจะไขความให้กว้างไว้ที่ตรงนี้ได้อิกหน่อย ผู้อ่านจะได้สังเกตข้อความให้ชัดเจน เรื่องราวที่ยกมาว่านี้ เก็บมาจากสำเนาคำจาฤกวัดพระเชตุพน ซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีท่านอ้างในข้อนี้ มีเรื่องราวกล่าวตั้งแต่เริ่มสร้างจนฉลอง ศิลานี้อยู่ที่วิหารพระโลกนารถ เริ่มต้นขึ้นดังนี้ “ศุภมัศดุพระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๓๑ พระวษา ณวัน ๒ ๑๑ ค่ำ ปีรกานักษัตเอกศก (๑๑๕๑) สมเด็จพระบรมธรรมรึกมหาราชาธิราชพระเจ้ารามาธิบดี บรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านพิภพไอสวริยาธิปัต ถวัลยราชกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชมหาสฐาน เสด็จทอดพระเนตรเห็นวัดโพธาราม เก่าชำรุดปรักหักพังเปนอันมาก ทรงพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์สร้างให้บริบูรณ์งามขึ้นกว่าเก่า ที่ซึ่งเปนลุ่มดอนห้วยคลองสระบ่อร่องคูอยู่นั้น ทรงพระกรุณาให้เอาคนสองหมื่นเศษขนดินมาถมเต็มแล้ว รุ่งขึ้นปีหนึ่งสองปีกลับยุบล่มลงไป จึงให้ซื้อมูลดินถม สิ้นพระราชทรัพย์ ๒๐๕ ชั่ง ๑๕ ตำลึง บาท ๓ สลึง จึงให้ปราบที่พูนมูลดินเสมอดีแล้ว ครันณวัน ๕ ๑๑ ๑๒ ค่ำปีฉลู นักษัตเบญจศก (๑๑๕๕) ให้จัดการปฏิสังขรณ์” ต่อนั้นไปจำแนกรายการโดยเลอียด จะบอกแต่ใจความคือ สร้างพระอุโบสถมีกำแพงแก้ว มีพระรเบียงล้อมตามคำจาฤกว่าสองชั้น เห็นจะเปนด้วยกลัวว่าจะพรรณนายาวไป จะกินที่จาฤกมาก ที่แท้พระรเบียงวัดพระเชตุพนนี้หาได้เปนสองชั้นรอบไม่ เพราะเหตุที่ลานพระอุโบสถ ข้างในเปนสี่เหลี่ยม รเบียงจึงต้องเปนสี่เหลี่ยม มีวิหารทิศกลางย่าน พระรเบียงทั้งสี่ทิศ พระรเบียงที่ว่าเปนสองชั้น พระรเบียงชั้นนอกฤๅชั้นที่สองนั้น ไม่ได้กั้นหุ้มมุมพระรเบียงชั้นใน ย่อเข้ามาทั้งสองข้างชนพระวิหารทิศ เพราะฉนั้นเมื่อดูภายนอกรอบพระรเบียงจึงเห็นเปนไม้สิบสอง เปนการช่างอย่างดีซึ่งข้าพเจ้าพอใจเปนอันมาก ได้ชมอยู่เปนนิจ ไม่มีแห่งใดเหมือนเลย ต่อนี้ไปกล่าวถึงพระเจดีย์ตรงมุขวิหารตวันตก ซึ่งเรียกพระเจดีย์ศรีสรรเพชฯดาญาณ ตามนามพระพุทธรูปซึ่งได้บรรจุไว้ในภายใน เรื่องราวนั้นออกจะไม่พอที่ คือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งหุ้มทองคำอันสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างไว้ในวัดพระศรีสรเพชฯกรุงเก่า ครั้นเมื่อเสียกรุงพม่าเอาไฟไปสุมให้ทองคำไหลลงมา เพราะเหตุวาพระนั้นหุ้มแผลงจะลอกยาก เมื่อถูกไฟแรงเช่นนั้น หุ่นทองเหลืองข้างในก็พรุนชำรุดไปด้วย ทรงพระราชปรารภจะปฏิสังขรณ์ มีพระราชปุจฉาไปถามพระราชาคณะ ว่าจะยุบลงหล่อเสียใหม่จะได้ฤๅไม่ ท่านพระราชาคณะเหล่านั้นมั่นในตัวหนังสือ ถวายพระพรว่าไม่ควร เมื่อจะทำอะไรไม่ได้เช่นนั้นแล้ว จึงได้ทรงพระราชดำริห์สร้างพระเจดีย์องค์นี้ขึ้น เชิญพระพุทธรูปองค์นั้นเข้าบรรจุไว้เสียในพระเจดีย์ คือพระเจดีย์ไม้สิบสององค์กลางที่วัดพระเชตุพนนั้น มีพระระเบียงล้อมสามด้าน ส่วนองค์ข้างเหนือข้างใต้ ซึ่งเห็นปรากฎอยู่บัดนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนชั้นหลัง ยังอิกองค์หนึ่งซึ่งสูงอยู่กว่าเพื่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น ด้วยเหตุที่พระเจดีย์สององค์เดิมทรงพระราชอุทิศเปนของรัชกาลที่ ๒ แลที่ ๓ จึงต้องมีรัชกาลที่ ๔ แต่เรื่องนี้ครั้นเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรค์คต ได้มีพระราชดำรัสเฉพาะตัวข้าพเจ้า ว่าพระเจดีย์วัดพระเชตุพนนั้นกลายเปนใส่คแนนพระเจ้าแผ่นดินไป ถ้าจะใส่คแนนอยู่เสมอจะไม่มีที่สร้าง ควรจะถือว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งสี่พระองค์นั้นท่านได้เห็นกันทั้งสี่พระองค์ จึงควรมีพระเจดีย์อยู่ด้วยกัน ต่อไปอย่าให้ต้องสร้างทุกแผ่นดินเลยดังนี้ พระเจดีย์องค์ที่ ๔ นั้น ก็พึ่งมาแล้วสำเร็จในรัชกาลประจุบันนี้ พระเจดีย์ห้าองค์ฐานเดียวกันสี่ทิศ ได้สร้างในรัชกาลที่ ๑ พระวิหารคดสี่ทิศ หอไตรย์หลังคามุงกระเบื้องหุ้มดิบุก ฝาแลเสาปิดทองลายรดน้ำ มาทำเปลี่ยนใหม่ในรัชกาลที่ ๓ เปนหอไตรย์ยอด การเปรียญ หอรฆัง วิหารน้อยสำหรับสัปรุษไหว้พระ ศาลาราย เปนของทำในรัชกาลที่ ๑ ทั้งสิ้น กุฎีดูเหมือนจะมีแต่ตอนใน แต่ตอนคณะกุฎิ์จะเปนของเกิดขึ้นใหม่ พระพุทธรูปมาจากเมืองพิศณุโลกย์ สวรรคโลกย์ ศุโขทัย เมืองลพบุรี กรุงเก่า วัดศาลาสี่น่าใหญ่น้อย ๑๒๔๘ พระองค์ มาซ่อมแปลงต่อให้บริบูรณ์ดี พระพุทธรูปซึ่งเปนพระประธาน มาแต่วัดศาลาสี่น่า ถวายพระนามว่าพระพุทธเทวปฏิมากรน่าตัก ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว พระพุทธรูปยืนสูง ๒๐ ศอก ทรงพระนามว่าพระโลกนารถสาสดาจาริย์ เชิญมาแต่วัดพระศรีสรรเพชฯกรุงเก่า เชิญประดิษฐานไว้ในวิหารตวันออกมุขหลัง มุขน่าพระนาควัดเขาอินทร์ เมืองสวรรคโลกย์ ทิศใต้เทศนาธรรมจักร พระกรุงเก่า วิหารตวันตกพระนาคปรกมาแต่ลพบุรี พระป่าเลไลยวิหารเหนือหล่อใหม่ พระพุทธรูปวิหารคดมาแต่หัวเมืองต่าง ๆ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ๖๘๙ องค์ พระทำด้วยอิฐปูนของสำหรับพระอารามเก่าชำรุด ๑๘๒ องค์ กำหนดการปฏิสังขรณ์ว่า ๗ ปี ๘ เดือน ๒๕ วันจึงสำเร็จ สิ้นพระราชทรัพย์ทั้งสร้างแลช่วยคนรักษาเปนเงิน ๓๗๘๕ ชั่ง ๖ ตำลึง แต่แพรแดงห่มพระสิ้น ๑๐๐ พับ

การฉลองกำหนดเริ่มงานณวัน ๖ ๑๒ ๕ ค่ำ ปีรกาตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ เริ่มด้วยทรงถวายพระอารามตามพระบาฬี มอบถวายพระวันรัตน เมื่อถวายเสร็จแล้วพระสงฆ์รับไตรย์ไปสรงน้ำแล้ว ครองไตรย์มาสวดมนต์เวลาเย็นวันละ ๑๐๐๐ รูป พระสงฆ์ฉันเช้าเพลสามวัน ๑๐๐๐ รูป ถวายกระจาดทุกองค์ มีพระพวกทำดอกไม้เพลิงอิกพวกหนึ่งต่างหาก ตั้งโรงฉ้อทาน “แลโขนอุโมงค์โรงใหญ่ หุ่นลครมอญรำรบำโมงครุ่ม กุลาตีไม้ ปรบไก่งิ้วจีนงิ้วญวน หกขเมนไต่ลวดลอดบ่วง รำแพนนอนหอกนอนดาบ โตล่อแก้วแลมวย เพลากลางคืนประดับไปด้วยประทีปแก้วรย้าแก้ว โคมพวงโคมราย แลดอกไม้รุ่ง สว่างไปทั้งพระอาราม มีหนังคืนละ ๙ โรง ดอกไม้เพลิงคืนละ ๒๐๐ พุ่ม รทาใหญ่ ๘ รทา พลุ ประทัด เพนียง ดอกไม้ม้า ดอกไม้กระถาง ดอกไม้กลต่าง ๆ แลมังกรล่อแก้ว ญวนรำโคม เปนที่โสมนัศบูชา โอฬาริกวิเศศ เปนพระราชทรัพย์ทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ ฉลากพิกัดค่าพระราชกุมาร พระราชบุตรี พระภาคินัยราช แลนางพระสนม ราชกุญชร อัศดรมากฉลากละ ๕ ชั่ง ๔ ชั่ง ๒ ชั่งเปนเงิน ๓๓๘ ชั่ง เงินใส่ผลมนาว ๑๖๘ ชั่ง เข้ากันทิ้งทาน ๕๐๖ ชั่ง คิดทั้งเงินค่าผ้าทรงพระ ดอกไม้สดบูชาพระ เลี้ยงพระสงฆ์ กระจาดณโรงฉ้อทาน เครื่องไทยทาน ทำเครื่องโขน โรงโขน เครื่องเล่นเบ็ดเสร็จ ทั้งถวายระย้าแก้วสำหรับพระอาราม เปนเงินในการฉลอง ๑๙๓๐ ชั่ง ๑๔ ตำลึง รวมกันทั้งสร้าง ๕๘๑๑ ชั่ง ลงท้ายก็เปนพระราชทานส่วนพระราชกุศล แผ่นศิลาที่จาฤก ณวัน ๒ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๖๓ ปีรกาตรีศก มีบาญชีรายเลอียดในสิ่งของที่ได้จ่ายการทำพระอารามนี้ ตลอดจนเวลาฉลอง โรงฉ้อทานคราวนี้ เจ้าข้างในโรงหนึ่ง คงจะเปนเจ้าข้างในวังหลัง เจ้าพระยาพลเทพโรงหนึ่ง พระยาพระคลังโรงหนึ่ง พระยายมราชโรงหนึ่ง พระยาศรีพิพัฒน์โรงหนึ่ง วิเศทโรงหนึ่ง ของไทยทานไตรย์แพรพันกะหนึ่งไตรย์ บาตรเหล็กถลก ๑๐๘๙ เพราะพระราชทานพระที่ไม่มีบาตรด้วย ๘๐ ฝาบาตรเชิงบาตร ๑๑๓๘ ธรรมกรกกล่องเข็ม ย่ามมีเครื่องใน มีดอรัญวาสี มีดหมาก แหนบเหล็กไฟ พัชนี ร่มแพร เสื่ออ่อน โอเถา โอคณะ กามะพร้าว ช้อนมุก กลักไม้ ลายใส่เทียน ธูป เทียน น้ำผึ้ง น้ำมันพร้าว น้ำมันงา ไม้เท้า สายรเดียง รองเท้า อย่างละ ๑๑๐๐”

๑๙๑ มีโขนโรงใหญ่ดอกไม้พุ่ม, พลุ, ไฟเพนียง, กรวด, เสียงประโคมฉลองเสร็จ

๑๙๑ โขนโรงใหญ่ที่เรียกว่าโขนอุโมงค์คือชักรอก ดอกไม้เพลิงเกณฑ์พุ่มพระแลมีรทาใหญ่

มีความจาฤกเรื่องพระธาตุเมืองน่านอยู่ในหนังสือวชิรญาณ ไม่ทราบว่าคำจาฤกนี้ได้ติดไว้ในที่แห่งใด น่าจะอยู่ในวัดพระเชตุพน ฤๅบางทีจะร่างไว้แล้วยังไม่ได้จาฤก เพราะเปนเวลาจวนแจ คำจาฤกลงพระพุทธสาสนกาล ๒๓๕๑ ตรงกับปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ ภายหลังการฉลองเปนช้านาน ก่อนปีสวรรค์คตพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ปีหนึ่ง ดูก็เปนเรื่องราวชอบกลดี เปนกิจการอันหนึ่ง ซึ่งได้เกิดขึ้นแลเกี่ยวในวัดพระเชตุพน

ใจความที่ร่างจาฤกนั้น ว่าเมืองน่านบอกลงมา ว่าเดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิศก ไหซึ่งบรรจุพระธาตุขุดขึ้นมาลอยวนอยู่หลังน้ำ ตรงปากถ้ำน้ำน่าน ใต้ด่านบ้านแผก สามเณรเก็บได้เปิดขึ้นพบพระธาตุ ๒๓๕ พระองค์ กับเครื่องสักการบูชา เจ้าฟ้าเมืองน่านจะล่องลงมาเฝ้า จึงเชิญพระบรมธาตุลงเรือขนานส่งลงมาถวาย จึงโปรดให้แห่พระธาตุลงมาทำการสมโภช ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แล้วไปตั้งให้ประชุมชนสักการบูชา ที่วัดพระศรีรัตนสาสดาราม แล้วเชิญเข้าบรรจุไว้ในพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี อัญเชิญมาแต่เมืองศุโขทัย พระพุทธชินศรีอยู่วิหารทักษิณ สนองพระองค์ ดุจจะทรงสถิตย์นั่งเสวยผลศุขฌาณสมาบัติภายใต้ร่มไม้จิกแทบขอบสระมุจลินท์ พระชินราชสถิตย์ ณ พระวิหารด้านประจิม สนองพระองค์ดุจจะทรงนั่งตรัสธรรมเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตร ข้อความเลอียดได้คัดติดท้ายพระราชวิจารณ์นี้ไว้ หมายอักษร (ค)

๑๙๒ ณเดือน ๑๒ ฉลองวัดสระเกษ มีพระโองการรับสั่งให้ข้างน่าข้างใน ตั้งเลี้ยงพระให้สิ้นทั้งวัด ประทานเงินหลวง ต้นกัลปพฤกษ โปรยทานการมหรศพสมโภชเสร็จ

๑๙๒ ฉลองวัดมักจะทำต่อ ๆ กัน เพราะได้อาไศรยไม้ไล่ที่จะทำพลับพลาแลโรงงาน ย้ายไปจากวัดที่ฉลองแรก

๑๙๓ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ, หลานเธอ แต่งเรือประพาศคู่เคียงประสานเสียงดอกสร้อยสักรวาดุริยางค์จำเรียง ถวายลำร้องรับกับเสียงดอกไม้น้ำ

๑๙๓ พลับพลาคงจะได้ปลูกริมคลองมหานาค เปนพลับพลาสองน่า น่าหนึ่งออกสนาม น่าหนึ่งลงน้ำ มีเรือสักรวา, ดอกสร้อย, เพลง, เล่นในคลองมหานาค ดอกไม้เพลิง ก็ได้เล่นดอกไม้น้ำ ทำนองนักขัตฤกษ์ลอยพระประทีป เห็นจะสนุกมาก ฉลองวัดราชโอรสปลูกพลับพลาแลมีงานเช่นนี้

๑๙๔ สทาโป้งปีบ, ไฟเพนียง, พุ่ม, พลุ, กรวด, เสียงสนั่นครื้นแผ้วพื้นเมฆา จันทราทรงกลด หยุดยั้งรถโมทนา ทานเจ้าหล้าเหลือแหล่ ผึ่งแผ่พระบารมี สมโภชครบสัตวาร เสร็จการฉลองวัด

๑๙๔ ขอให้สังเกตคำว่า โป้งปีบ คำที่เรียกดอกไม้เพลิงชนิดหนึ่งว่า ป้องปีบ นั้น เห็นจะมาจากคำว่า โป้งปีบ

๑๙๕ ณปีจอจัตวาศก ปลายปี กรมหลวงเทพหริรักษสิ้นพระชนม์ ถวายเพลิงที่วัดราชบุรณ

๑๙๕ วังท่านอยู่น่าวัด แลวัดท่านก็ปฏิสังขรณ์

๑๙๖ ณวัน ๕ ๑๒ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๖๕ ปีกุนเบญจศก พระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระไอยกา วังบวรสฐานมงคล เสด็จสวรรค์คต อยู่ในราชสมบัติได้บุรณวัดมหาธาตุ ทรงสร้างพระมรฑปประจุพระบรมธาตุ แล้วบุรณวัดสุวรรณ, วัดไชยชนะสงคราม

๑๙๖ พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระไอยกา วังบวรสฐานมงคลนี้ หมาย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท คำว่าสวรรค์คตใช้ในที่นี้ ที่ใช้ว่าสวรรคาไลย เห็นจะกำหนดว่ารองสวรรค์คต

๑๙๗ สละราชสมบัติทรงผนวช ๗ วัน ยอดศีลบารมี อยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี

๑๙๗ การทรงผนวชกรมพระราชวังพระองค์แรกนี้ ไม่ปรากฎในพระราชพงษาวดาร ในจดหมายเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ก็มีข้อความแต่กรมพระราชวังพระองค์ที่ ๒ ทรงผนวชเมื่อหายประชวรอย่างบนตัวบวช

การทรงผนวชกรมพระราชวังองค์แรก มีข้อความเลอียด อยู่ในจดหมายข้างที่ซึ่งเห็นว่าไม่ยาวนัก จึงคัดลงไว้ในนี้ตลอดเรื่อง ดังนี้

๏ “ศุภมัศดุพระพุทธศักราช ล่วงแล้ว ๒๓๓๘ พระวษาเศศสังขยาเดือนหนึ่งกับ ๒๘ วัน ปรจุบัณณะวัน ๓ ๑๔ ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสัพศกเพลาเช้า เสด็จออกมุขมาตยามนตรีกระวีราชโหราจารทั้งปวง เฝ้าพระบาทบงกชมาศเปนอันมาก ณพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สมเด็จพระอนุชาธิราช ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จลงมาเฝ้าทูลลา ทรงบรรพชากับทรงพระราชศรัทธาที่จะให้เปนหิตตานุหิตประโยชน์แก่คนทั้งปวง อันต้องพันทะนะไภยอยู่ณะเรือนตรุะเรือนจำอันเปน $\left. \begin{array}{}\mbox{ครุ } \\\mbox{ลหุ }\end{array} \right\}$ โทษ แลโทษเจ้านันทเสน กับพวกเจ้านันท ซึ่งเปนกระบถต่อแผ่นดิน แต่โทษเจ้านันทนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้งดไว้ก่อน คนโทษนอกนั้น โปรดให้ออกจากพันทนาสิ้น เว้นแต่ไอ้ $\left. \begin{array}{}\mbox{พม่า } \\\mbox{รามัญ } \\\mbox{สลัด }\end{array} \right\}$ ซึ่งเปนฆ่าศึกแผ่นดิน แลพระพุทธสาศนาให้จำไว้ก่อน ศริยคนโทษแต่ได้ออกจากเวรจำเปน $\left. \begin{array}{}\mbox{ไทย } \\\mbox{จีน } \\\mbox{แขก } \\\mbox{เขมน }\end{array} \right\}$ ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงพระราชศรัทธาบวดคนโทษที่ทูลขอได้นั้น ๓๒ คน ครั้น ณ วัน ๔ ๑๕ ๘ ค่ำ ปีเถาะสัพศกเพลาบ่าย ๔ โมง ๘ บาท ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระผนวด จนเพลาบ่าย ๕ โมง ๗ บาท เสร็จบรรพชาณะพระอุโบสถพระมหาธาตุพระอารามหลวง สมเด็จพระสังฆราชเปนพระอุปชฌา พระญานสังวรเปนพระกำมวาจา พระธรรมกิจเปนอนุสาวนะ พระสงฆ์คณะหัถบาท ๔๑ รูป เปน ๔๔ พระองค์ด้วยกัน ทรงบรรพชาอุปสมบถณะพระภัทศรีมาวัดมหาธาตุ ครั้นณวัน ๕ ๘ ค่ำ ปีเถาะสัพศก เพลาค่ำล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงขึ้นพระบริยายบำเพ็ญพระธรรมภาวนา ครั้นณวัน ๑ ๘ คำ ปีเถาะสัพศก เพลาบ่าย ๓ โมง พระสงฆ์ ๕๐๐ จำเริญพระปริตณะพระรเบียงพระอุโบสถวิหารวัดพระมหาธาตุ ครั้นรุ่งขึ้นณวัน ๒ ๘ ค่ำปีเถาะสัพศก เพลาเช้า พระสงฆ์ราชาคณะห้าร้อยรับพระราชทานฉันเปนพระราชกุศลการฉลอง ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ครั้นณวัน ๔ ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะสัพศก เพลาเช้า ๔ โมง ๖ บาท พร้อมพระฤกษ ล้นเกล้า ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ลาพระผนวดศริทิวาวาร พระเนกขัมมานิสงษเปนสัตะวารดิดถี” ๚ะ๛

๑๙๘ เจ้าลำดวน, เจ้าอินทปัต คบคิดกับอินกระลาโหม พินาศอัคคี สกลนิกร จะทำศึกเสี้ยนแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกา

๑๙๘ เจ้าลำดวนคนนี้ เปนคนเคยรับราชการทัพศึก สังเกตดูการที่คิดอ่าน เปนอย่างยุง ๆ กระเดื่องไม่เปนล่ำเปนสันอไร ดูเหมือนจะเปนคนมีแต่โวหาร

๑๙๙ นายเวร ปลัดเวรฟ้องกราบทูล ไต่ถามรับเปนสัตย์ ลงพระราชอาญาคนละ ๑๐๐ ให้สำเร็จโทษ ณ วัดประทุมคงคา (คนอื่น) ทั้งนั้นให้ประหารชีวิตรตัดศีศะเสียบไว้สำเหร่

๑๙๙ ในเรื่องหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัตก่อเหตุผลอย่างไร มีข้อความอยู่ในจดหมายเจ้าพระยาทิพากรวงษ์เดิม แลที่กรมหลวงดำรงได้แก้ไขเพิ่มเติมนั้นแล้ว ทั้งกิจการที่กรมพระราชวังพระองค์แรกได้ทรงอย่างไร ทั้งในทางราชการแลในส่วนพระองค์ ย่อมมีปรากฎอยู่ในพระราชพงษาวดาร แลในจดหมายทั้งปวงนั้นแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้คิดจะกล่าวซ้ำข้อความซึ่งได้กล่าวไว้ในที่อื่นแล้ว

แต่มีหนังสือซึ่งหอพระสมุดซื้อไว้เรียกว่า “หนังสือนิพานวังน่า” ข้าพเจ้าเห็นตามข้อความในนั้น ว่าเปนของพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรพระธิดากรมพระราชวัง ที่เกิดด้วยนักองค์อี ซึ่งเปนธิดาของสมเด็จพระอุไทยราชา เจ้ากรุงกัมพูชา เจ้านายข้างในมี ๒ องค์ ยังพระองค์เจ้าปุกอิกองค์หนึ่ง ซึ่งเปนธิดานักองค์เภา เสด็จอยู่จนข้าพเจ้ารู้จัก ได้ทูลลาโกนจุกแลบวชเณร เห็นได้ว่าไม่ใช่โวหารของพระองค์เจ้าปุก เพราะอัชฌาไศรยไม่มีความสามารถ งึมงำไป พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร ได้ความจากพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ ว่าท่านอยู่ข้างจะเฟื่องฟู ว่าตามพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์รับสั่งว่า “ท่านบอ ๆ” คงจะเปนผู้เรียงหนังสือนี้ ไม่ผิดพระองค์ได้

หนังสือนี้ท่านผู้แต่งไม่ทราบอักขรวิธีเขียนด้วยความลำบาก หาอไรต่ออไรบรรทุกลงไปเพื่อจะสำแดงเครื่องหมายให้เข้าใจคำที่หวังจะกล่าว จึงไม่เปนการง่ายแก่ผู้ที่จะอ่าน ถ้าจะอ่านตามตัวแทบจะไม่ได้ข้อความเท่าใด จำจะต้องเดาอ่าน แต่ถึงเดาอ่านดังนั้น ยังจะกลั้นหัวเราะไม่ได้ ไปขันเสียในถ้อยคำที่จดลงไว้บ้าง เบื่อคำครวญครางช้ำซากชวนให้พลิกข้ามไปเสียบ้าง ไม่ใคร่จะได้ข้อใจความถ้วนถี่ ถ้าจะคิดอักขรวิธีรักษาต้นฉบับ จะเปนการลำบากทั้งการเรียงพิมพ์ แลทั้งผู้ที่จะอ่าน จึงเห็นว่าจะคัดลายมือผู้เขียนหนังสือไม่เปนลงไว้ก็ไม่เปนประโยชน์อันใด นอกจากหัวเราะเล่น จึงได้อ่านแปลข้อความตามที่จะอ่านได้ ศัพท์ที่ควรจะแก้ให้ถูกได้ตามความหมายได้แก้ แต่ศัพท์ที่ผิดแท้ไม่ถูกภาษาใดคงไว้ ถ้าจะแก้ก็จะมากเกินไป หนังสือนี้ถ้าจะนำมาลงในคำอธิบายพระราชวิจารณ์ ก็จะยืดยาวมากทำให้ข้อความฟั่นเฟือนไปเสีย แต่ครั้นจะทิ้งเสียก็เห็นมีอันตรายอยู่เฉพาะหน้า คือสมุดทั้ง ๒ เล่มนั้นเก่าชำรุดลบเลือนมาก ถึงเก็บดีก็จะไม่อยู่ได้เท่าใด อิกประการหนึ่ง ถ้าจะปล่อยให้นักปราชเวลานี้อ่านแก้ไขตามชอบใจ กลัวจะเดาผิดมากนัก เพราะได้เห็นปรากฎที่เขาเดาลากเส้นรงขึ้นไว้เล่มหนึ่ง มีคำที่ผิดใจความเปนอันมาก จึงได้คิดอ่านเขียนแปลลงไว้ ติดต่อในท้ายสมุดเล่มนี้ เพื่อว่ามีผู้ใดประสงค์จะอ่านจะได้อ่านได้ ถ้าไม่อ่านก็ไม่ต้องอ่าน แต่ข้อความคงไม่สูญหายเสียทีเดียว

จะบอกแต่ใจความโดยย่อไว้ ในที่นี้ว่า

ตั้งต้นกรมพระราชวังทรงพระประชวร เวลาแรกที่ตกใจกันนั้น ประทับทรงปิดทองพระ เห็นพระฉวีวรรณเศร้าหมอง จึงพากันอยู่ประจำรักษา

อิกตอนหนึ่งทรงอธิฐาน ว่าถ้าจะหายประชวรให้เสวยพระสุธารศลงไปได้ ครั้นเมื่อเสวยพระสุธารศก็ทรงพระอาเจียน ทรงพระดำริห์เห็นว่าจะไม่รอด จึงรับสั่งว่าจะไม่เสวยพระโอสถต่อไป เพราะจะเปนเครื่องหน่วงเหนี่ยวให้พระชนม์ยืนยาวไปอิก ได้ความทุกขเวทนานาน จึงดำรัสสั่งเสียพระองค์เจ้าในกรม แลนางข้างใน

ภายหลังเสด็จออกวัดมหาธาตุ ซึ่งพระมณฑปอันเพลิงไหม้ยังทำไม่แล้ว ขณะนั้นทรงพระประชวรพระยอด มีทุกขเวทนากล้า จึงชักพระแสงดาบออกจะแทงพระองค์เสีย พระโอรสชิงไว้ทูลเล้าโลมได้พระสติรงับเสด็จกลับเข้าพระราชวัง ทอดพระเนตรพระวิมานมณเฑียรด้วยความอาไลย แล้วเสด็จออกท้องพระโรงตรัสบอกข้าราชการว่าจะเสด็จสวรรค์คต ให้อุส่าห์ทำราชการสนองพระเดชพระคุณในพระเชษฐาธิราชโดยความซื่อตรง

สมเด็จพระเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นไปเยี่ยมพระประชวร ทูลฝากพระโอรสแลพระธิดา ขอให้ได้คงครองอยู่ในพระราชวังบวรสืบไป สมเด็จพระเชษฐาทรงรับคำเปนมั่นคงแล้ว จึงรับสั่งเรียกกรมพระราชวังหลังมาสั่ง ให้ทำนุบำรุงน้องแลหลาน

เมื่อกรมพระราชวังสวรรค์คตแล้ว สมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จไปประทับเบื้องพระเศียร ทรงพระกรรแสงเศร้าโศก แล้วดำรัสปลอบเจ้านายที่เปนธิดากรมพระราชวังอันกำลังโศกเศร้าอยู่มาก จนพระองค์เจ้าเกสรเปนลมแน่นิ่งไป แล้วเชิญพระศพออกตั้งที่ ให้หมายบอกโกนศีศะทั่วทั้งพระราชอาณาเขตร

ครั้นเมื่อพระบุพโพตก พระบุพโพนั้นมีสีแดง ซึ่งผู้แต่งหนังสือเห็นว่าเปนเนื้อหน่อพุทธางกูร ได้เชิญพระบุพโพไปพระราชทานเพลิงที่วัดชนะสงคราม

ในกาลวันหนึ่ง ผู้แต่งหนังสือออกไปมีเทศน์ เคาะพระโกษฐ์เชิญให้ทรงฟังธรรม ขณะนั้นพระโกษฐ์ลั่น กำลังเทศนาค้างอยู่ มีผู้มาบอกว่าเชษฐาสองคนเปนโทษ เมื่อไถ่ถามได้ความว่าเปนโทษขบถก็ไม่มีใครปรานี แต่ถึงดังนั้นผู้แต่งหนังสือได้บ่นถึงเชษฐาสองคนนั้น ว่ามีอิทธิฤทธิ์อานุภาพเปนที่ยำเกรงแก่ประเทศราช มีเจ้ากาวิละเปนต้น ได้ทำการทัพศึกมีไชยชนะ รำพรรณไปจนลงปลายถึงว่า ฤๅพระราชบิดาจะมาพาเอาไปเสียด้วย เพราะเห็นว่าดีกว่าอยู่

แต่นั้นไปพรรณนาคร่ำครวญ แล้วก็รื้อความยกย่องพระเกียรติยศ แลพระเดชานุภาพ พระปรีชากล้าหาญของกรมพระราชวังทวนไปทวนมา

เรื่องหนึ่งนั้น กรมพระราชวังจะเสด็จขึ้นไปทรงปฏิสังขรณ์วัดที่กรุงเก่า มีผู้ทิ้งหนังสือท้าทายขู่ว่าจะทำอันตราย ความทราบถึงวังหลวง รับสั่งให้ไปทูลห้าม กรมพระราชวังไม่ฟังเสด็จขึ้นไป ก็ไม่มีเหตุอันใด เห็นจะเปนสร้างวัดสุวรรณดาราราม

ต่อนั้นไปกล่าวถึงความทุกข์ของตัวผู้แต่งหนังสือ ว่าเมื่อเกิดเคลือบแคลงกันขึ้นในระหว่างวังหลวงกับวังน่า ในหนังสือฉบับนี้พูดเปนฝ่ายข้างวังน่า ว่าวังหลวงเกณฑ์เขมรลากปืนขึ้นป้อมก่อน กรมพระราชวังจึงใช้นักองค์อี ให้ไปสืบสวนความจากเขมร ได้ความมากราบทูลว่าปืนนั้นได้ลากขึ้นเมื่อพิธีตรุส การที่ทรงขัดเคืองก็เบาบางลงแล้ว วังหลวงกำลังกริ้วเจ้าลำดวนเจ้าอินทปัต แลขัดเคืองนักองค์อีอยู่ จึงให้ชำระ พระยาพระเขมรผู้หนึ่ง ซึ่งเปนขุนนางอยู่ในองค์พระอุไทยราชา เคยนับถือนักองค์อี กลับเบิกความปรักปรำเอานักองค์อี ว่ายุยงกรมพระราชวัง จึงต้องรับพระราชอาญาจำทั้งตัวแลบ่าวไพร่ ว่าจะประหารชีวิตเสีย ภายหลังรับสั่งให้ไปสืบถามวันทาเจ้าจอมมารดาซึ่งเปนนักโทษอยู่ในเวลานั้น วันทาว่าไหน ๆ ตัวก็ตาย จะให้การตามสัจจริง ดูเหมือนจะเปนด้วยถ้อยคำวันทานั้น แลคำอธิษฐานของท่าน นักองค์อีจึงไม่ต้องประหารชีวิตร ภายหลังจึงทรงพระกรุณาให้พ้นโทษทั้งนายแลบ่าว แลพระราชทานเบี้ยหวัดด้วย

เมื่อสรรเสริญพระเกิยรติยศไปแล้วก็เลี้ยวเข้าหาเมืองเขมร เลยเล่าถึงพงษาวดารเมืองเขมร ตั้งแต่พระเจ้าประทุมสุริวงษ์ จนถึงต้องฤๅษีสาป

ต่อนั้นไปกล่าวถึงงานพระเมรุ ว่าด้วยเชิญพระบรมศพออก แลพระเบญจาจนถึงพระราชทานเพลิงลอยพระอังคารเชิญอัษฐิกลับ ผู้แต่งรู้สึกเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจเพราะพลับพลาไม่มีงานน่าพลับพลา ประชันกับวังหลวงเช่นแต่ก่อน

ครั้นเมื่อเสร็จงานแล้ว ทรงสงไสยว่าพระอัษฐิวังน่าดำ ให้เอานางข้างในมาชำระไต่สวน ที่เห็นเปนคนสัจซื่อบริสุทธิอยู่ ก็ให้รับราชการอยู่ในวังหลวง ที่เปนที่รังเกียจก็พระราชทานไปแก่เจ้านาย

เมื่อคนไปจากวังเสียมากเช่นนั้นความเปลี่ยวเปล่าเหงาง่วงก็มากขึ้น

กล่าวถึงทูตญวนเข้ามาสดัปกรณ์พระบรมอัษฐิ แลเจ้านายผลัดกันจัดธูปเทียนขึ้นไปเฝ้าบูชา ที่พระที่นั่งพรหมเมศร์ธาดา อันเปนที่ไว้พระอัษฐิ

กล่าวถึงได้พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งมีนิ้วพระหัดถ์ไม่บริบูรณ์มาแต่โบราณตามตำนานนั้น กรมพระราชวังมีบารมีมากจึงสามารถต่อนิ้วนั้นสำเร็จได้

กล่าวถึงเวลาที่เสด็จออกทรงผนวช ยกเทียบเหมือนพระเวสสันดร วังหลวงเหมือนพระเจ้ากรุงสญไชย กล่าวถึงเรื่องขอชีวิตรเจ้าเวียงจันท์ ซึ่งต้องหาว่าเปนขบถ ความปรากฎอยู่ในจดหมายเรื่องทรงผนวช ซึ่งได้มีอยู่ในหนังสือนี้ ผู้แต่งพ้อตัดว่ากุศลนั้นไม่ช่วย

บ่นถึงความเสื่อมยศเสื่อมเกียรติไม่มีคนยำเกรง แลบอกตำแหน่งของตัวว่า เมื่อยังเสด็จอยู่ทั้งสองพระองค์ นั่งต่างหาก แต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอสองพระองค์ นอกนั้นเจ้านายทั้งวังหลวงวังน่านั่งเสมอกันปนกัน เสียดายว่ากรมพระราชวังไม่มีพระโอรสด้วยพระอรรคชายาจะได้สืบวงษ์ต่อไป มีแต่ลูกพระสนมจึงได้ถอยยศศักดิ แลแค้นพี่น้องกันเอง ว่าไม่มีความสามัคคีพยาบาทปองร้ายกัน เหมือนไม่ใช่ร่วมบิดาเดียวกัน

ข้อความที่กล่าวรวบรวมทั้งหมดวนไปวนมาก็เปนฝ่ายข้างแค้น แลเสียใจต่าง ๆ แต่ถ้าพูดติเตียนเหน็บแนมแหลมออกมาแล้วก็กลบกลับสรรเสริญวังหลวงแลถวายพระพรต่าง ๆ ลงข้างท้ายก็กลายเปนแช่งคน

ผู้แต่งได้พยายามทำโคลง ทำร่าย ทำกาพย์ ความอย่างเดียวกันวนไปวนมา แต่โคลงเห็นเปนเกินกำลังยิ่งกว่าอย่างอื่นหมด เมื่อรวบรวมความที่ได้อ่านหนังสือนี้แล้ว เห็นว่าผู้แต่งหนังสือ เปนผู้รักเกียรติรักยศ เชื่อฤทธิเดชานุภาพของกรมพระราชวัง ว่าดีกว่าวังหลวงทุกอย่าง เว้นไว้แต่เปนน้องจำต้องอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่า วังหลวงก็ออกจะเกรงใจ ย่อมยกย่องว่าเปนหลักแผ่นดินถึงจะมีข้อขัดเคืองอย่างไร วังหลวงก็อดเอาเบาสู้ ความรักกันในระหว่างพี่น้องเปนการบริบูรณ์มั่นคงดี ความมุ่งหมายที่จะป้องกันรักษาบ้านเมืองร่วมกันเปนอันหนึ่งอันเดียว แต่ข้าไทยทั้งสองฝ่ายต่างถือเปนพวกเปนเหล่า ข้อความทั้งปวงเปนอย่างความคิดพวกวังน่าแท้ ความคิดเช่นนี้ มีตลอดมาทุกคราววังน่าชั้นหลัง ๆ

เมื่อรวบรวมความลงก็ไม่ผิดกับชาววังน่าชั้นหลัง ๆ แลไม่ปองร้ายกันถึงจะหักล้างกันลงข้างหนึ่ง เปนแต่ประมูลอวดดีกัน นินทากัน เตะตีนกัน ซึ่งนับว่าเปนแบบอย่างอันไม่ให้ความเจริญแก่แผ่นดิน ซึ่งการสมาคมกับนา ๆ ประเทศใกล้ชิดกันเข้าเช่นประจุบันนี้ ถ้าหากว่าเปนอยู่อย่างเดิมพลาดพลั้งจะมีอันตรายแก่แผ่นดินได้เปนอันมาก

แต่น่าชมผู้ที่แต่งหนังสือนี้อย่างหนึ่งว่าหนังสือก็ไม่รู้ เรียงข้อความก็ไม่เปน แต่ได้ว่ากลอนดี ๆ ออกมาได้เปนหลายแห่ง ทั้งทำให้ผู้ฟัง มีใจรู้สึกสงสารได้มาก อยู่ในเหตุการที่ตกต้องแก่ตัวผู้แต่ง จึงควรนับว่าสำแดงกลอนแลสำแดงเนื้อความดีอยู่ จึงได้ผลทั้งแต่งหนังสือไม่เปนเช่นนั้น

ให้ผู้ที่มีความประสงค์จะอ่านดูในหนังสือติดท้าย ซึ่งหมายตัว (ฆ)

๒๐๐ ณวัน ๑๕ ๑๒ ค่ำ ปีชวดฉศก พระองค์เจ้าพระชัณษา ๗ ขวบตามเสด็จลงที่นั่งบัลลังก์

๒๐๐ พระองค์เจ้าองค์นี้ มีนามว่าจันทบุรี ตามชื่อเมืองเวียงจันท์

๒๐๑ ตกหว่างเรือไม่จม ลอยพระองค์ได้ โปรดประทานพระนามหมายสมโภชเจ้าฟ้ากุณฑล ๓ วัน เฉลิมพระขวัญพร้อมพระญาติวงษ

๒๐๑ ในจดหมายเหตุ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ว่าตกหลังเรือบัลลังก์ ในที่นี้ว่าตกหว่างบัลลังก์

๒๐๒ ข้าราชการสมโภชถ้วนหน้า

๒๐๒ การสมโภชแต่ก่อนมีแต่เฉพาะเจ้าฟ้า ทั้งประสูตรแลโสกันต์

๒๐๓ ณปีฉลูสัพศก สามพระยามรณภาพ ประทานเพลงวัดสุวรรณทาราม

๒๐๓ ผู้ที่เปนข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นเสนาบดี ตายในรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยามหาเสนา (บุญนาค) เจ้าพระยาพระคลัง (หน) พระยาธรรมาธิกรณ์ (ทองดี) ๓ พระยานี้น่ากลัวจะเปนท่าน ๓ คนแรก ถ้าพระยาธรรมดาจะจดไว้ทำไม

๒๐๔ ณวัน ๑ ค่ำ ปีขานอัฐศก วังสฐานภิมุขอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปีสวรรคาไลย

๒๐๔ เรื่องกรมพระราชวังหลังทิวงคต จดหมายเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ว่าเดือนอ้ายขึ้น ๑๐ ค่ำ เหลวไป ไม่รู้ว่าเอามาแต่ไหน ในจดหมายกรมหลวงนรินทรเทวี ต้องกันกับจดหมายในปูมปีขานอัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ ขาดแต่วันในปูมว่าวันพุฒเดือนอ้ายขึ้น ๗ ค่ำ เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ชักพระศพวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ พระราชทานเพลิงวันจันทร์เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ได้พบร่างหมายเรื่องกรมพระราชวังหลังทรงผนวช ที่จริงก็ไม่มีข้อความในจดหมายของกรมหลวงนรินทรเทวี แต่ร่างรับสั่งที่มีอยู่นั้นเปนสมุดดำ คร่ำคร่าขาดหลุด เขียนด้วยเส้นดินสอ กลัวจะสูญเสีย จึงคัดมาลงไว้ในที่นี้ก็เปนเรื่องปลาดอยู่บ้าง ไม่มีในจดหมาย เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ฤๅแห่งหนึ่งแห่งใด เมื่อกรมพระราชวังหลังทรงผนวชนี้ พระชนมายุมากถึง ๕๖ แล้ว ทรงผนวชได้ ๕ ปีก็ทิวงคต จะเปนด้วยไม่ได้ทรงผนวชมาแต่ก่อน เพราะไม่มีเวลาว่าง ฤๅจะเปนด้วยทรงเกิดสังเวชขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่ปรากฎ แต่การทรงผนวชนั้นอย่างเปิดเผยเต็มที่ ไม่ใช่อย่างบวชแก้สินบน เช่นกรมพระราชวังที่ ๑ ที่ ๒ ทั้งสองพระองค์ ในร่างรับสั่งมีความว่า “เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช รับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่าณวันเดือน ๘ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีจอจัตวาศก (จุลศักราช ๑๑๖๔ เปนปีที่ ๒๑ ในรัชกาลที่ ๑) พระฤกษจะได้ทรงผนวชพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี พระองค์เจ้าฉัตร ทรงผนวชเปนหางนาค ณวัดพระศรีสรรเพชญ์๑๐ ทรงผนวชแล้ว จะได้ฉลองถวายเครื่องไทยทานพระสงฆ์ ๕๐ รูป

บัดนี้จะได้คัดแต่ข้อใจความ ไมคัดอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามลักษณหมาย

การสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ณวันเดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำมีเวียนเทียน ครั้นรุ่งขึ้น ณวันเดือน ๘ ขึ้น ๑๐ ค่ำ มีหมายให้ไปแต่งพระที่นั่งสุทไธสวริย์๒๑ แลพลับพลาเปลื้องเครื่อง ๆ นี้คงเปนที่น่าวัดพระศรีรัตนสาสดาราม มีริ้วกระบวนแห่น่าธงไชย ธงสามชายนำริ้วคู ๑ ม้านำริ้วคู่ ๑ ธงรายข้างละ ๕๐ ธงคั่นคู่ ๑ ทวนข้างละ ๕๐ ปืนข้างละ ๕๐ ธนูข้างละ ๒๕ ดาบสองมือข้างละ ๕๐ ดาบโลห์ข้างละ ๕๐ ธงฉานข้างละ ๕ ขุนนางเดินเท้า นุ่งสมปักลายเสื้อครุยขาวสรวมพอก ถือดอกบัวขาวข้างละ ๑๐๐ สายกลางปี่กลองจีนสำรับ ๑ กลองแขกสำรับ ๑ ปี่พาทย์ตี ๔ หาม ๔ หกสำรับ กลองชนะ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง, กลอง ๖๐ แตรงอน ๒๐ แตรวิลันดา ๘ สังข์ ๒ รวม ๓๐ เฉลี่ยงบาตร ๓ เฉลี่ยง กั้นกลด ๑ หาม ๘ ทั้ง ๓ เฉลี่ยง เฉลี่ยงผ้าไตรย์ กั้นกลด ๑ หาม ๘ ทั้ง ๓ เฉลี่ยง เครื่องสูง ๒ สำรับ ๔๐ พระแสง ๔ พระยานุมาศ ๓ ยานนุมาศต่อกัน อินพรหมสำรับละ ๔ ขุนนางเคียงสำรับละ ๔ พระกลดบังสูริยสำรับละองค์ คนหามสำรับละ ๑๐ กระบวนหลัง ขุนนางแห่เดินทางเท้าข้างละ ๕๐ ดาบโลห์ข้างละ ๒๐ ธนูข้างละ ๒๐ ปืนข้างละ ๒๕ ทวนข้างละ ๒๐ สายกลางมหาดเล็กบำเรอเชิญพระแสง ง้าว ๒ ทวน ๒๔ เครื่องสูงสำรับ ๑ ปี่พาทย์ไทยตี ๔ หาม ๔ สองสำรับ ปี่พาทย์ญวนตี ๔ หาม ๔ หนึ่งสำรับ ปี่กองสำรับหนึ่ง ๗ คน

กระบวนเดินทางไหนไม่ปรากฎในหมาย น่าจะออกทางประตูเทวาพิทักษ ฤๅประตูศักดิไชยสิทธิ ไปเข้าประตูสวัสดิโสภา มีเลี้ยงพระสงฆ์เพล

จำนวนพระสงฆ์นั่งหัถบาศ

อุปัชฌา สมเด็จพระสังฆราช
คู่สวด พระพิมลธรรม
พระธรรมกิตติ์
สมเด็จพระพนรัต
พระธรรมไตรโลกย์ วัดหงษ์
พระธรรมอุดม๑๑ วัดราชบุรณ
พระพุทธโฆษา วัดท้ายตลาด
พระโพธิวงษ์ วัดจักรวรรดิ
พระธรรมเจดีย์ วัดสุวรรณธาราม
พระอริยมุนี วัดสุวรรณธาราม
พระธรรมโกษา วัดอมรินทาราม
พระพรหมมุนี วัดสระเกษ
พระญาณสมโพธิ วัดกลาง
พระเทพเมาฬี วัดหงษ์
พระเทพมุนี วัดสังฆจายน์
พระรัตนมุนี วัดหงษ์
พระญาณสังวรเถร๑๒ วัดราชสิทธาราม
พระวินัยรักขิต วัดราชสิทธาราม
พระญาณโพธิ วัดสังฆจายน์
พระเทพกระวี วัดปากน้ำ
พระนิกรม วัดปากน้ำ
พระสุเมธใหญ่ วัดชนะสงคราม
พระญาณวิริย วัดมหาธาตุ
พระบวรวิริยเถร วัดบางลำภู
พระญาณรักขิต วัดรฆัง
พระญาณสิทธิ๑๓ วัดเชตุพน
พระศรีสมโพธิ วัดแจ้ง
พระสุเมธน้อย วัดราชคฤห์
พระวรญาณมุนี วัดราชบุรณ

รวมที่สังฆรี นิมนต์ ๓๐ รูป๑๔

พระราชวังหลังนิมนต์

พระครู
พระอาจาริย์คง
พระปลัด
พระสมุห์
พระใบฎีกา
พระวินัยธร
พระธรรมบาล
มหาลา
ขรัวทน
ขรัวจู
ขรัวสาน
ขรัวอยู่
มหามี
มหาสน
วัดรฆัง ๑๔ รูป
พระอาจาริย์มาก
พระปลัด
วัดอมรินทาราม ๒ รูป
อธิการวัดเชิงเลน
พระอาจาริย์ชูวัดมหาธาตุ
พระอาจารย์วัดโคกมลิ
พระอาจาริย์วัดสังฆจายน์
รวม

รวมพระราชวังหลังนิมนต์ ๒๐ มีผ้าสบงแลกระจาด ถวายพระตามธรรมเนียม

กรมพระราชวังหลังจะเสด็จอยู่วัดใดไม่ได้กล่าวชัดเจน แต่ควรจะเข้าใจว่าเสด็จอยู่วัดรฆัง เพราะนิมนต์พระวัดนั้นมานั่งหัถบาศมาก ส่วนพระองค์เจ้าวาสุกรื พระองค์เจ้าฉัตรนั้น มีหมายสั่งให้จัดขุนหมื่นพันทนาย ตำรวจนอก ตำรวจสนม สนมพลเรือน ชาวที่ หมอโรง ไปอยู่ประจำ แห่งหนึ่งให้มีตำรวจนอกซ้าย ๒ ขวา ๒ ตำรวจสนมซ้าย ๒ ขวา ๒ สนมพลเรือน ๑ ชาวที่ ๑ หมอ ๒ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวาสุกรีอยู่วัดพระเชตุพน พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าฉัตร อยู่วัดรฆัง

๒๐๕ ณวัน ๕ ๔ ค่ำ ราชาภิเศกกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล กรมหลวงเสนานุรักษรับพระบัณฑูรน้อย

๒๐๕ อุปราชาภิเศกนี้ร่างรับสั่งมีขึ้นต้นว่า “ณวัน ๕ ๑ ค่ำ ปีขานอัฐศก เพลาเช้า ๓ โมง สมเด็จบรมธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนารถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน พร้อมด้วยมุขมาตยมนตรี กระวีชาติราชประโรหิตา โหราจาริย์ เฝ้าพระบาทบงกชมาศ จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งเจ้าพระยามหาเสนา ให้ตั้งพระราชพิธีมังคลามหาอุปราชาภิเศก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล ตามอย่างเจ้ากรมขุนพรพินิต พระโอรสของหลวงพระบรมโกษ เปนกรมพระราชวังบวร” จาฤกพระสุพรรณบัตรเดือนยี่ขึ้น ๖ ค่ำ ปีขานอัฐศก เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช จตุสดมภ์ประชุมพร้อมกัน ที่วัดพระศรีรัตนสาสดาราม พระสุพรรณบัตรอย่างเก่า จาฤกว่า “สมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้า ฯ ดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล ทฤฆายุศะมะศิริสวัสดิ์”

ตั้งพลับพลาเปลื้องเครื่องหลังหนึ่ง เรียกว่าท้องพระโรงหนึ่ง หลังละ ๕ ห้อง ห้องเครื่องหลังหนึ่ง ๓ ห้อง ที่หลังพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ มี ราชวัตรฉัตรรายทางมาตามรอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนสาสดาราม จนถึงประตูสุวรรณบริบาล ซึ่งเรียกว่าวิเศษบริบาล มีพลับพลาเปลื้องเครื่องอิกแห่งหนึ่ง ราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายรอบพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ที่สรงตั้งชาลาพระมหาปราสาทข้างตวันออก ล้อมด้วยฉัตรเงิน ฉัตรทอง ฉัตรนาก ใช้ถาดทองแดงมีตั่ง แต่ไม่มีสหัสธารา บนพระมหาปราสาท จัดพระแท่นมณฑลอย่างพระราชพิธี โรงพิธีพราหมณ์ตั้งข้างประตูสุวรรณบริบาล ซีกข้างตวันตก ตั้งต้นกัลปพฤกษที่นอกระเบียงวัดพระศรีรัตนสาสดาราม หว่างโรงลครเหนือ ๒ ต้น ใต้ ๒ ต้น ทิ้ง ๓ วัน มีทอง ๑๘ ตำลึง เงิน ๒๔ ชั่ง พระสวดมนต์ราชาคณะ ๓๔ พระอาจาริย์ในกรุงแลบางช้างอิก ๖ เจ้าทรงผนวชคงเปนกรมสมเด็จพระปรมานุชิตองค์หนึ่ง ถานา ๑๒ จึงรวม เปน ๕๓ รูป

กระบวนเสด็จ กระบวนน่ามหาดเล็กนายเวร วังหลวง ๔ มหาดเล็ก ๔๐ คู่ รวมเปน ๘๔ คน ตำรวจ ๔๒ คู่ มหาดเล็กวังน่าแห่หลัง นายเวร ๔ มหาดเล็ก ๓๐ แตรงอน แตรฝรั่ง สังข์ ๒๖ กลองชนะ ๒๐ คู่ เครื่องสูงน่าห้าชั้นคู่ ๑ สามชั้น ๖ คู่ บังแทรก ๔ หลังเครื่องห้าชั้นคู่ ๑ สามชั้น ๕ คู่ บังแทรก ๔ มีพระแสงหว่างเครื่องแลคู่เคียง กระบวนนุ่งสมปักลายเสื้อครุย แต่งพระองค์ทรงสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาน้ำยาเทศเขียนทองโจงหางหงษ์ รัดพระองค์หนามขนุน ฉลองพระองค์เข้มขาบลายพดกฤชจีบอย่างเทศ ทรงคาดแครงเจียรบาท นอกเจียรบาทรัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับพลอยเพ็ชร์ ทรงเหน็บพระแสงกั้นหยั่นฝักประดับเพ็ชร์ถมยาราชาวดี ดอกไม้เพ็ชร์ประจำลาย ทรงพระสังวาลย์ประดับเพ็ชร์ สพักเฉวียงพระอังษา ทรงพระธำมรงค์เพ็ชร์ครบนิ้ว พระหัดถ์ทั้ง ๒ พระกร แล้วทรงพระมาลาเสร้าสูงสีแสด เครื่องประดับเพ็ชร์มีขนนกวายุภัก แต่มีเปลี่ยนเครื่องทรงทุกเวลา วันแรกขากลับ ทรงพระภูษาลายทองเข้มขาบ ฉลองพระองค์เข้มขาบริ้ว พระแสงกั้นหยั่นเปลี่ยนเปนดอกไม้ประดับมรกฎประจำลาย

วันที่ ๒ เวลาบ่าย ทรงลายเขียนทอง แต่ฉลองพระองค์เปนตาดเงินผุดไหม กั้นหยั่นดอกไม้เพ็ชร์ พระธำมรงค์มรกฎ พระมาลาเสร้าสูงสีกุหร่าประดับเพ็ชร์ ครั้นเพลาเสด็จกลับเปลี่ยนทรงเข้มขาบดอกผุดทอง ฉลองพระองค์เข้มขาบริ้วขาวพื้นทอง พระแสงกั้นหยั่นกุดั่นประดับเพ็ชร์

วันทรงฟังสวดที่ ๓ ทรงลายเขียนทอง ฉลองพระองค์เข้มขาบพื้นแดงริ้วทอง ทรงพระธำมรงค์ปทัมราศ พระมาลาเสร้าสูงสีดำ วันนี้มีม้าตามขึ้น ๒ ม้า ครั้นเวลาเสด็จกลับทรงพระภูษาเข้มขาบผุดทอง ฉลองพระองค์เข้มขาบพื้นเขียวริ้วทอง ทรงพระธำมรงค์เพ็ชร์ครบนิ้วพระหัดถ์ พระมาลาเสร้าสูงสีเขียวพลอยมรกฎ

ในวันที่ทรงฟังสวดทั้ง ๓ วันนั้น เมื่อประทับพลับพลาเปลื้องเครื่องแล้ว ทรงพระภูษาลายพื้นขาวโจงหางหงษ์ ทรงรัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพ็ชร์ พระธำมรงค์เพ็ชร์ครบนิ้วพระหัดถ์ ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระมหามงคลจนสวดจบ แล้วจึงเสด็จทางมุขหลังทรงพระเสลี่ยงไปพลับพลา เปลื้องเครื่องเหมือนกันทั้ง ๓ วัน เวลาเช้าทรงพระเสลี่ยงโดยปรกติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกทรงถวายสังฆทานเลี้ยงพระ แล้วกรมพระราชวังเสด็จไปประทับทิมสงฆ์ให้ทิ้งทาน แล้วจึงเสด็จกลับพลับพลา ครั้นณวัน ๑ ๑๐ ๒ ค่ำ ปีขานอัฐศก เพลาเช้าทรงเครื่องเหมือนเวลาบ่ายก่อน ๆ เปลี่ยนแต่ฉลองพระองค์เปนอย่างน้อยพื้นตาดผุดไหม ประดับฉลองพระสอลงยาราชาวดีประดับพลอย รัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพ็ชร์ เครื่องพระมหากระฐิน (พูดอ้อมแอ้มเหลวไหลเต็มที) ทรงพระธำมรงค์ครบ ๒ พระหัดถ์ ทรงพระมหากระฐินน้อย กระบวนแห่ใส่พอกขาว เสด็จมาถึงพลับพลาเปลื้องเครื่องแล้วว่าสรงเสียครั้งหนึ่งก่อน แล้วจึงทรงเครื่องอย่างฟังสวด ขึ้นไปบนพระมหาปราสาท เสด็จพระราชดำเนินออกเลี้ยงพระแลถวายไทยทาน มีกระจาดเทียนใหญ่ ๑๐๐ ธูปใหญ่ ๑๐๐ สบงผืน ๑

เพลาเช้า ๓ โมง ๖ บาท พระลักขณาสถิตย์ราษีมิน เสวยนวางค์ศุกรตรียางค์จันทร์ พระอาทิตย์ พระพฤหัศ พระศุกร เปน ๑๑ กับพระลักขณา พระเสาร์ พระราหู เปนมหาอุดมโยค พระจันทร์สถิตย์ณราษีเมศ เสวยพระมหัถฤกษ์ พร้อมด้วยจตุรงควัฒนา ศุภวารมหาดิถี มงคลมหาพิไชยฤกษ์ เสด็จลงมาที่สรงสนาน พระราชโกษาถวายพระภูษา ฉลองพระองค์ครุยขาวสำรดแผ่ลวด เสด็จนั่งเหนือตั่งบนถาดทองแดง บ่ายพระภักตร์บูรพทิศ หลวงพิพิธภูษาถวายเครื่องพระมุรธาภิเศก

สมเด็จพระสังฆราช
พระพนรัต
พระญาณสังวร
พระพิมลธรรม
พระธรรมอุดม
พระโพธิวงษ์
พระพุทธโฆษาจาริย์
พระเทพกระวี
พระธรรมราชา
พระปัญญาวิสารเถร
พระวินัยรักขิต

พระราชาคณะ คามวาสี ๙ อรัญวาสี ๒

พระอาจาริย์ทอง
พระอาจาริย์ทอง
พระอาจาริย์มี
พระอาจาริย์วัดบางช้าง
รวม ๑๔

ถวายพระเต้าประทุมนิมัตร ปัญจสุทธินัทที สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระเต้าเบญจครรภพระมหาสังข์ทักษิณาวัฎ พระมหาสังข์ทองมหาสังข์เงิน แล้วพราหมณ์ถวายน้ำ ทรงพระภูษาพื้นแดงเขียนทอง ทรงสพักกรองทองขาว เสด็จประทับพลับพลาคอยฤกษ์ ครั้นได้ฤกษ์เสด็จทรงพระเสลี่ยงน้อย เข้ามาประทับคอยในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีพระราชโองการให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ออกมาเชิญเสด็จเข้าไปข้างใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอหลายพระองค์ เชิญดอกไม้ธูปเทียนตามเสด็จ จึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอโนทัยมาเชิญพระนามเข้าไป ครั้นเพลาเช้า ๔ โมง ๕ บาทได้ฤกษ์ โหร ๓ คนสั่งให้ประโคม สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงมอบพระราชทานพระนาม ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล พระราชทานพระแสงดาบยี่ปุ่นฝักมะขามสีหว้าห่ามสำหรับกรมพระราชวังบวร จึงดำรัสฝากพระบวรพุทธสาสนา แลให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรมราชประเพณี แล้วพระราชทานพระพรไชยศิริสวัสดิ์ จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่ง สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพิทักษมนตรี ให้สั่งรับพระบัณฑูร กรมพระราชวังเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบยาว ๑๓ วา ประทับฉนวนประจำท่าเหนือพระตำหนักแพ มีเรือดั้งคู่ชัก ๓ คู่ กลองแขกเรือตำรวจ ข้าราชการตามเสด็จ ๒๓ ลำ ตามเสด็จข้ามไปพระราชวังบวร ขุนมหาสิทธิโวหารปลัดกรมพระอาลักษณ์ เชิญพานพระนามข้ามไปตามเสด็จ จึงทูลเกล้า ฯ ถวาย ณ พระที่นั่งเสด็จออกข้างน่า พระราชทานเงิน ให้แก่ขุนมหาสิทธิโวหาร ๕ ตำลึง

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ดำรัสให้ตั้งโรงวิเศษ ๒ โรง เลี้ยงข้าทูลลออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย แลเลี้ยงโต๊ะครบ ๓ วัน ทีฆายุศะมะสวัสดี

ข้อซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ดำรงพระยศเปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคลแล้ว ไม่เสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังบวร มีข้อความตามที่เล่าก็ต้องกันกับที่มีปรากฎอยู่ ว่าเปนพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้คัดมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๓ น่า ๙๒ ถึงน่า ๙๔ จะได้ตัดข้อความแต่เฉพาะเรื่องนี้มาลงไว้ มีข้อความดังนี้

“ก็แลเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระมหากรุณาโปรดตั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย เปนกรมพระราชวังบวร คุณเสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ว่าพระบวรราชวังร้างไม่มีเจ้าของซุดโซมยับเยินไป เย่าเรือนข้างในก็ว่างเปล่ามาก ขอพระราชทานให้เชิญเสด็จกรมพระราชวังพระองค์ใหม่ ขึ้นไปทรงครอบครองพระบวรราชวัง จึงจะสมควร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า มีพระราชโองการดำรัสว่า ไปอยู่บ้านช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา ๆ แช่งเขาชักไว้ เปนหนักเปนหนา แลมีรับสั่งว่าพระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว กรมพระราชวังพระองค์ใหม่อย่าต้องเสด็จไปพระบวรราชวังเก่าเลย คอยเสด็จอยู่พระบรมมหาราชวังนี้ทีเดียวเถิด อย่าต้องประดักประเดิดยักแล้วย้ายเล่าเลย”

ถ้าผู้ใดอยากจะทราบความเลอียดกว่านี้ ให้ดูหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๓ น่าที่บอกไว้ข้างต้นนั้น

๒๐๖ ณเดือน ๖ ปีเถาะนพศก ตั้งเขาไกรลาศ แห่โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑล ทรงเครื่องต้นประดับพระองค์ ทรงพระมหามงกุฎ สมมุติวงษอย่างเทวอับศร

๒๐๖ โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลนี้ คลาศปีกันอยู่กับในพงษาวดารปีหนึ่ง รายการที่กล่าวไว้ในพงษาวดารเลื่อนลอยมาก ดูเหมือนแลดูตัวอย่างใหม่ ๆ กล่าวประจบให้เปนเก่า ที่จนอั้นก็อั้นทีเดียว เช่นทำเขาไกรลาศที่ไหนไม่รู้ ชี้แผนที่วังไม่ถูก ว่าไปทรงเสลี่ยงทางประตูท้ายที่ทรงบาตร ที่ชาลาพระมหาปราสาท ข้างในไปที่สระอโนดาตไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

๒๐๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกา จูงพระกรเสด็จขึ้นยอดเขาไกรลาศ

๒๐๗ ในพงษาวดารไม่ได้กล่าวความว่าใครจูงทีเดียว

๒๐๘ กรมขุนอิศรานุรักษเปนพระอิศวร ทรงพระมหากฐิน ทรงประพาศเครื่องต้น เปนพระอิศวรประสาทพร

๒๐๘ ในพงษาวดารว่าถึงกรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ ว่าทรงชฎาเดินหน ทรงฉลองพระองค์ครุย เห็นจะเห็นกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เมื่อครั้งโกนจุกลูกหญิงศรีวิไลย แต่เชื่อว่าคงจะทรงเครื่องต้นจริง ตามที่กล่าวไว้ในหนังสือนี้ เพราะมีตัวอย่างเมื่อเครื่องต้นทำแล้วเสร็จ พระราชทานให้เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ทรงเมื่อแห่ทรงผนวชเปนคราวแรก เพราะพระองค์ของท่านไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น อยากทอดพระเนตร กรมขุนเสนานุรักษ์ แลกรมขุนอิศรานุรักษ์นี้ ว่างามนักทั้งสององค์ เห็นจะโปรดให้ทรงทอดพระเนตร ยังมีตัวอย่างต่อมาอิกในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงเมื่อแห่ทรงผนวช รัชกาลที่ ๓ นี้, ถ้าไม่มีตัวอย่างท่านคงไม่ทรงริขึ้น

๒๐๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระไอยกา จูงพระกรขึ้นส่งถึงยอดเขา พระอิศวรรดน้ำสังข์ทักษิณาวัฎแล้วประสาทพระพร

๒๐๙ ในชั้นต้นที่จะสอบสวน เรื่องโสกันต์เจ้าฟ้าคุณฑลนี้ ได้ดูจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ซึ่งกรมหลวงดำรงชำระไว้อื่น ๆ ก็ได้ความชัดเจน แต่ข้อที่เขาไกรลาศตั้งแห่งใดไม่ปรากฎ กับมีข้อความที่จะแปลว่ากระไรไม่ได้ คือ “ณวัน ๖ ๔ ค่ำ เพลาเช้า แห่มาโสกันต์ที่พระมหาปราสาท แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน”

อิกข้อหนึ่งซึ่งกล่าวว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ แต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุยทรงชฎาเดินหน

ข้อความที่คัดลงในจดหมายเหตุนี้ ปรากฎว่าได้คัดในร่างหมายซึ่งยังมีอยู่โดยมาก เว้นไว้แต่ความ ๒ ข้อที่กล่าวมานี้ ผูอ่านหมายไม่เข้าไจ ฤๅปากไวเอาการใหม่ปนการเก่า ก็จะเปนได้ ในร่างหมายนี้เองมีตัวแก้ไขจากลายมือเดิมหลายแห่ง กลัวจะต้องตำรากระทรวงวัง ถ้าจะมีการอไร เอาร่างหมายเก่าออกมาตกแทรกวงกา แล้วให้เสมียนคัดขึ้นเปนหมายใหม่ จึงเลอะเทอะไปก็มี การที่จะอ่านต้องเข้าใจอ่าน ในที่นี้จะเก็บข้อความจากหมายเก่าเอาแต่สิ่งที่สำคัญควรสังเกต

หมายฉบับนี้ “เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช”๑๕ รับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ กำหนดงานสวดมนต์ณวัน ๑๕ ๔ แรมค่ำ ๑ ๒ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิศก เพลาบ่าย ๒ โมง ๖ บาท พระสงฆ์ ๕๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์ ณวัน ๖ ๔ ค่ำ พระฤกษจรดพระกัลบิดกรรไกร ณวัน ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ สมโภชเวียนเทียนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ๓ วัน”

เขาไกรลาศพิเคราะห์ดู ได้ความจากวางริ้ว เวลาถึงพระมหาปราสาทแลเวลากลับจากพระมหาปราสาท ว่าตั้งที่เก๋งกรงนก คือใกล้ไปข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย กระบวนแห่ก็ตามอัตรา คือคู่แห่เด็ก ๘๐ ๘๔ ทั้งต้นเชือกปลายเชือก แตรใน ๙ เครื่อง ๒๑ พระแสง ๕ บัณเฑาะว์ ๒ พราหมณ์โปรยเข้าตอก ๒ เคียงพระราชยาน ๑๒ อินทร์พรหม ๑๖ หามพระราชยาน ๑๐ เครื่องหลัง ๘ พระแสง ๒ รวมกระบวนใน ๑๗๕ คน กระบวนนอกคู่แห่ผู้ใหญ่ ๘๐ แตร ๔๒ กลองชนะ ๔๐ ในหมายมีแต่กระบวนข้างน่า กำหนดแตรตามระยะทางเช่นโสกันต์ชั้นหลัง ๆ การที่วางกระบวนเมื่อถึงเกย ก็อย่างชั้นหลัง ๆ แต่นางเชิญเครื่องเชิญพระแสงหลังให้เลี้ยวขึ้นอัฒจันท์ปราสาท นางสระเข้าประตูพรหม

มีกำหนดผู้ตรวจตรา ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเข้ามาจัดกระบวนในพระราชวัง ให้เจ้าพระยายมราชจัดกระบวนที่ประตูราชสำราญ เจ้าพระยามหาเสนาจัดที่ประตูวิเศษไชยศรีข้างใน เจ้าพระยาธรมาจัดที่เกยพระมหาปราสาท เมื่อกระบวนเดินพ้นมาแล้ว จึงให้เจ้าพระยาทั้ง ๓ เดินตามกระบวนมา

วันสรงที่เขาไกรลาศ ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช จัดการที่มุมตวันออกเฉียงใต้ เจ้าพระยามหาเสนา ตวันออกเฉียงเหนือ เจ้าพระยาธรมา ตวันตกเฉียงใต้ เจ้าพระยายมราช ตวันตกเฉียงเหนือ พอโสกันต์เสร็จแล้ว ถวายผ้าสบงแล้ว กลับเข้าไปที่ท้ายพระมหาปราสาท ทรงตักบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาท ตักบาตรนี้ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่พระเข้าไปรับ ตักเข้าลงในบาตรสำหรับไปเลี้ยงพระ ซึ่งกำลังสวดถวายพรพระอยู่ ครั้นทรงบาตรเสร็จแล้วเสด็จกลับออกมาทางที่เสด็จเข้าไปนั้น จึงลงมาทรงพระเสลี่ยงน้อย ไปสรงที่สระอโนตาต

มีแปลกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนว่าไม่ได้แต่งพระองค์ในมณฑป จะลงมาแต่งที่นักแร้ข้างหนึ่ง ที่เรียกว่ามุมตวันตกข้างเหนือ แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อข้อนี้ เห็นจะแดดร้อนนัก แลตัวหนังสือที่เขียนลงไว้เปนตัวเล็ก ๆ ใครจะเขียนเพิ่มเติมลงไปก็ไม่ทราบ นอกจากนั้นก็ไม่มีแปลกปลาดอไรจากโสกันต์ชั้นหลัง ๆ

๒๑๐ เจ้าบุตรแก้วรับพระกรลงจากยานุมาศ ขึ้นบนเกยพระมหาปราสาท

๒๑๐ เจ้าบุตรแก้วที่สำหรับรับพระกรนี้ ได้เห็นชื่อในบาญชีเปนผู้เลี้ยงพระฉันจุรูป ๑ ในจำนวนมากด้วยกันนั้น พระที่ฉันสำรับเจ้าบุตรแก้ว เปนพระสมุห์วัดบางลำภู ฉันไก่ต้ม ๓ ตัว ไก่จาน ๑ นมโค ๑ โถ ทีจะเปนลูกสาวเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันท์ที่มีชื่อในพระราชสาส์นเวียงจันท์ เมื่อแผ่นดินกรุงธน รับพระกรในที่นี้ คือเวลาไปทรงฟังสวด ไม่ใช่รับที่เขาไกรลาศ

๒๑๑ ณวัน ๑๐ ๓ ค่ำ กรมหลวงจักรเจษฎาสิ้นพระขนม์ ถวายพระเพลิงวัดมงคลภิมุข

๒๑๑ วัดบพิตรภมุขในครั้งนั้น เห็นจะเรียกว่ามงคลภิมุข

๒๑๒ ณวัน ๘ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิศก เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ ไว้พระศพบนปราสาท

๒๑๒ เจ้าฟ้าที่เรียกว่ากรมพระสุนทรเทพพระองค์นี้ คือที่เรียกกันว่า ทูลกระหม่อมใหญ่ ปรากฎพระนามบัดนี้ว่าสมเด็จพระเจ้าไอยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ชื่อที่ใช้พระนามว่ากรมพระ บางทีเจ้ากรมจะได้เปนพระในครั้งใดคราวหนึ่ง เปนพระราชธิดาที่ทรงพระกรุณาโปรดปรานมาก มีเรื่องราวปรากฎ ในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพทรงพระประชวร ทรงพระวิตกมากไม่สบายพระราชหฤไทย รับสั่งปรับทุกข์ไต่ถามหาทางที่จะรักษาทั่วไป ทั้งข้าราชการแลพระสงฆ์ สมเด็จพระวันรัต แลพระพุทธโฆษา พระเทพเมาฬี จึงได้ถวายพระพร ถึงวิธีซึ่งจะบำบัดพระโรค ทรงพระกรุณาโปรดให้ทำตามวิธีซึ่งพระราชาคณะทั้ง ๓ ถวายพระพรนั้น มีร่างรับสั่งปรากฎอยู่เริ่มว่า “ณวันเดือน ๖ ค่ำจุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมโรงสัมฤทธิศก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพฝ่ายใน ทรงพระประชวรพระโรคนั้นประทังมาจนถึงณวันเดือน ๘ แรม ๒ ค่ำ พระโรคนั้นหนักไป ครั้นณวันเดือน ๙ ขึ้นค่ำ ๑ เพลาเช้าโมงเศษ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม เสด็จออกณพระที่นั่งบุษบกมาลา มหาจักรพรรดิพิมาน ข้าทูลลออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย กราบถวายบังคม เฝ้าลำดับตามตำแหน่งโดยขนาด จึงมีพระราชโองการมานพระบันฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งจหมื่นไววรนารถหัวหมื่นหมาดเล็ก ว่าสมเด็จพระพนรัตวัดพระเชตุพน ถวายพระพรให้ตั้งมหาสวัสดี พิธีจำเริญพระชัณษาเวลากลางวันกลางคืน ๓ วัน พระพุทธโกษา พระเทพเมาฬี ถวายพระพรให้ตั้งพระราชพิธีตามพุทธวัจนะ จำเริญพระชัณษา เวลากลางวันกลางคืน ๗ วัน ในพระราชพิธี ของสมเด็จพระพนรัตนั้นว่า ให้อาราธนาพระห้ามสมุท ๑ พระห้ามพระญาติ ๑ พระห้ามแก่นจันทน์ ๑ พระคันธารราฐ ๑ พระไชย ๑ ทรงเครื่องทั้ง ๕ พระองค์ มาประดิษฐานบนเตียง เตียงนั้นดาดเพดาลุผ้าขาวบริสุทธิแล้ว ตั้งหม้อน้ำ ๔ ทิศ ขันน้ำ ๔ ทิศ ลอยดอกบัวหลวงหม้อละ ๕ ดอก ขันละ ๕ ดอก ลงยันต์แผ่นดิบุกประจำทุกหม้อทุกขัน แล้วเอาใบบัวหลวงปิดปากหม้อน้ำขันน้ำ จึงเขียนรูปท้าวจตุโลกบาล ประจำทิศทั้ง ๔ แล้วทำฉัตรผ้าขาว ๓ ชั้น ปักเตียงพระพุทธรูป ๔ ทิศ จึงตั้งขันสรงใบหมี่ง ฟั่นเทียนยาวเท่าพระองค์ตาม ๔ ทิศ วันละ ๔ เล่มเทียน หนัก ๓ บาท ด้ายไส้เทียน ๓๒ เส้น ตาม ๔ ทิศวันละ ๔ เล่ม ให้ตั้งตามบนเตียง ๆ ที่จะตั้งนั้น ให้ทำโครงหุ้มผ้าขาวทั้ง ๘ เตียง แล้วให้ก่อพระเจดีย์ทราย วันละสองหมื่นแปดพันองค์ ทำธงน้อยปักให้ครบพระทรายแล้ว ให้ทำไม้ค้ำโพธิ์ ๔๐ อัน ให้แต่งเครื่องบูชาพระพุทธรูป วันละ ๕ สำรับ ท้าวจตุโลกบาลวันละ ๔ สำรับ จึงวงสายสิญจน์ให้รอบในบริมณฑลที่กระทำนั้น จึงเอาดอกมลิซ้อนวันแรก ๑๐๘ ดอก วันกลาง ๒๑๖ ดอก วันสุด ๔๓๒ ดอก ให้เลือกที่ตูมแย้มจะใกล้บานในเพลาเดียวนั้น เมื่อพระสงฆ์นั่งปรกหนึ่ง สวดทิศละ ๕ รูป ๔ ทิศ ๒๐ รวม ๒๑ รูป สวดสามภาณมหากัสสป โมคคัลลานะ จุนทคิริมานน เพลาเดียวให้จบ แล้วให้สวดตั้งแต่โมสปริต (เห็นจะโมรปริต) ไปจนจบพระปริต แล้วสวดพระสักกัตวาทิศละเจ็ดพันสวด ๔ ทิศ วันหนึ่งสองหมื่นแปดพัน สวดสามวันเปนแปดหมื่นสี่พันจบ เมื่อพระสงฆ์สวดเคารพสิ้นแสงพระอาทิตย์แล้ว ให้พระสงฆ์นั่งปรกอธิฐานเฉภาะพระพุทธรูป จึงเอาดอกมลิปรายลง ๑๖ ครั้ง เมื่อปรายดอกมลินั้น ให้บริกรรมด้วยสุคโต แล้วให้อธิฐานน้ำในขันสรงนั้นว่า ขออาราธนาพระคงคาเจ้า มีคุณ ๑๒ (ประการ) เปนมารดาแห่งสัตว์ทั้งหลาย จงรับเอาพระพุทธมนต์ แลคุณพระรัตนไตรยให้เปนน้ำทิพย์โอสถชำระสริรโรค ขอให้พระโรคบันดาที่เกิดนั้น ให้อันตะระทานหายเปนอันขาดทีเดียว

ในการพระราชพิธีของพระพุทธโฆษา พระเทพเมาฬีนั้นว่า นิมนต์พระสงฆ์ ๒๑ รูปสวดพระปริต แล้วให้ปล่อยหมู เป็ด ไก่ หอย เต่า ปลา ทั้ง ๗ วัน วันสุดนั้น ให้อาราธนาพระบรมธาตุมาตั้งบนเตียง แล้วอธิฐานขออานุภาพพระบรมธาตุเจ้า จงเปนที่พึ่ง ขอให้พระโรคที่บังเกิดนั้นอันตะระทานหาย นั้นให้ตั้งการพระราชพิธีตามสมเด็จพระพนรัต พระพุทธโฆษาจาริย์ พระเทพเมาฬีนั้นเถิด แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งให้ตั้งโรงทานเลี้ยงพระสงฆ์เจ้าเณร รูปชีรวมกันกับพระราชพิธีทั้ง ๑๐ วัน”

การพระราชพิธีนี้ ได้ลงมือทำส่วนสมเด็จพระวันรัต ตั้งแต่วันเดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ เพลาบ่าย ขึ้น ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ แต่เช้าไปจนรุ่ง การพิธีพระพุทธโฆษา พระเทพเมาฬี ตั้งแต่วันเดือน ๙ ขึ้น ๗ ค่ำ ถึงเดือน ๙ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ครบ ๗ วัน ๗ คืน พระสงฆ์ที่ทำพิธีฉันเช้าเพลทุกวัน โรงพระราชพิธีปลูกในพระราชวัง ที่ชาลาหว่างพระตำหนักตึก๑๖ กับหอพระติดกัน เตียงใหญ่ตั้งพระพุทธรูปในกลางโรง ๕ องค์ เตียงน้อยมีกระโจมเทียนตั้ง ๘ ทิศ ตั้งหม้อน้ำแลขันน้ำประจำ ส่วนพระทรายนั้น ๘ ตำรวจก่อ แลทำธงเล็กปัก มีเทียนบูชาด้วย วันละสองหมื่นแปดพัน ไม้ค้ำโพธิ์ปรากฎว่าเท่าพระชนม์พรรษา ท่อนหนึ่งยาว ๘ ศอกทาดินสอพอง กรอกเบี้ยผ้าขาวหุ้ม ไปค้ำพระศรีมหาโพธิทีเดียว มีเครื่องบูชากระบะมุกบูชาพระ ๕ สำรับ ส่วนเครื่องบูชาจตุโลกบาลจัดลงพานส่งให้โหรบูชา เทียนเล็กสองหมื่นห้าพัน บูชาพระทราย ส่งให้ตำรวจบูชา ให้แผ่ดิบุกส่งไปถวายสมเด็จพระวันรัตลงยันต์ สัตว์ที่ปล่อยให้กรมท่าแลกรมสรรพากรในจัดซื้อ

การพิธีนี้ทำเมื่อจวนสิ้นพระชนม์มากแล้ว วันเดือน ๙ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เปนวันเลิกแห่พระกลับ ครั้นณวันอาทิตย์เดือน ๙ แรมค่ำ ๑ เพลาเช้า ๒ โมง ๗ บาท นิพ์พาน เลยมีร่างหมายรับสั่งเชิญพระศพขึ้นปราสาทต่อไปด้วยในเล่มเดียวกัน ในหมายไม่ได้กล่าวถึงเรื่องพระโกษฐ แลสรงน้ำพระศพ จะอยู่เล่มอื่นฤๅสั่งกันเปล่าประการใด มีแต่บาญชีเครื่องที่ตั้งพระศพ สังเกตดูว่าเปนการใหญ่ มีของหลวง พานพระภูษาโยง เครื่องทองน้อยตั้งน่าพระศพสำรับหนึ่ง ขันเชิงรองแว่น ๒ แว่นกาไหล่ทอง ๒ ต้นไม้เงิน ๒ ต้นไม้ทอง ๒ ชุมสาย ๔ เครื่องสูงห้าชั้น ๑๕ มณฑปเพลิง ๔

ส่วนเครื่องในกรม เครื่องมัสการทองคำเชิงเทียนหงษ์ พระล่วม๑๗ประดับเพ็ชร์ เครื่องใน ๑๒ สิ่ง บ้วนพระโอษฐทองคำ เครื่องสรงพระภักตร์เครื่องใน ๔ สิ่ง ขันลงยาพานทองคำรอง พานเงินรองผ้าเช็ดพระภักตร์ ถาดเงินตะทองรองน้ำสรงพระภักตร์ พานทองรองเครื่องพระสำอางสำรับหนึ่ง มีเครื่องใน ๑๒ สิ่ง หีบพระฉายทองคำหนึ่ง พระฉายหนึ่ง เครื่องทองคำขันน้ำเสวยรองพานจอกลอย บ้วนพระโอษฐถมปากแตร พานทองเครื่องชำระพระหัดถ์ พานทองคำรองพระภูษา ๒ พัชนีหักทองขวางหนึ่ง พระแซ่ด้ามทองคำหนึ่ง หม้อน้ำถมถาดรองหนึ่ง เครื่องบูชาพระศพในกรม ๓

หมายฉบับหนึ่ง ว่าด้วยสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ จนถึงแรม ๕ ค่ำ สวดพระอภิธรรม ๒ เตียง พระสงฆ์ ๓๒ รูป เปนส่วนในกรม ตั้งแต่วันแรม ๖ ค่ำไป จึงเปนส่วนหลวงจนถึงกำหนดพระราชทานเพลิง

อิกฉบับหนึ่ง พระราชทานเพลิงพระบุพโพ กำหนดวันศุกรเดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ การพระราชทานเพลิงพระบุพโพก็ตามเคย ไม่แปลกปลาดอันใด

ในพงษาวดารพยายามที่จะกล่าวถึงเรื่องพระโกษฐอย่างหลง ๆ ว่าให้รื้อทองที่หุ้มพระโกษฐ ๆ อไรก็ไม่รู้ มาเติมทองขึ้นอิก ทำเปนพระโกษฐทองคำกุดั่นแปดเหลี่ยม ยอดทรงมงกุฎขึ้นไว้องค์หนึ่ง สำหรับพระองค์ดังนี้ ความที่ถูกต้องนั้นคือ รับสั่งให้รื้อทองที่หุ้มพระโกษฐกุดั่น ทรงพระศพสมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์นั้น มารวมกันทำพระโกษฐทองใหญ่ ไม่ใช่มาทำโกษฐกุดั่น ผู้เขียนพงษาวดารหมายว่ากุดั่น แปลว่าลวดลาย ลวดลายอย่างเช่นพระโกษฐทองใหญ่นั้น, ควรจะเรียกว่ากุดั่น แต่ภาษาในราชการ เขาเรียกพระโกษฐสมเด็จพระพี่นางนั้นว่ากุดั่นน้อย, กุดั่นใหญ่พระโกษฐแปดเหลี่ยมยอดทรงมงกุฎ เขาเรียกว่าพระโกษฐทองใหญ่ พระโกษฐทองใหญ่นี้ทำแล้วเสร็จในปีมโรงนั้นทั้งพระลองเงินด้วย รับสั่งให้เชิญเข้ามาตั้งถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณซึ่งเสด็จประทับอยู่ คุณเสือพระสนมเอกทูลห้ามปรามว่า ทรงอไรเช่นนั้นน่ากลัวเปนลาง เห็นพระโกษฐเข้าก็ร้องไห้ล่วงน่าเสียก่อน รับสั่งว่ากูไม่ถือ ไม่เอามาตั้งดูทำไมกูจะได้เห็น ตั้งถวายทอดพระเนตรอยู่เปนหลายวัน ครั้นทูลหม่อมใหญ่สิ้นพระชนม์ลง ทรงพระโทมนัศมาก จึงรับสั่งว่าให้เอาพระโกษฐทองใหญ่ไปประกอบถวายทอดพระเนตร ยกไว้เสียแต่พระลองเงิน ด้วยเหตุที่พระราชทานครั้งนั้นเปนตัวอย่างต่อมา เจ้านายใหญ่ ๆ ที่สำคัญจึงได้พระราชทาน ตั้งแต่กรมหลวงศรีสุนทรเทพเปนต้นติดต่อกันมา เรื่องราวที่ถูกต้องนั้นดังนี้

๒๑๓ พระโองการตรัสสั่งกรมหมื่นว่าสิ้นลูกคนนี้แล้ว พระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน อากรขนอนตลาดเจ้าดูชำระเถิดอย่าทูลเลย

๒๑๓ ซึ่งเรียกกรมหมื่นเปล่านั้น คือกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ เพราะเปนพระสามีของท่าน ๆ จึงเรียกกรมหมื่นเปล่า แต่ก่อนตลาดนี้เห็นจะมีส่วนได้ขึ้นในกรมหลวงศรีสุนทรเทพ

๒๑๔ ถวายพระเพลิงที่พระเมรุทอง

๒๑๔ พระเมรุทองนี้ แปลว่าไม่ใช่เมรุผ้าขาว เมรุแผงทำกลางเมือง

๒๑๕ ณเดือน ๔ ฉลองวัดพระศรีรัตนสาสดาราม มีพระราชโองการรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ, พระเจ้าหลานเธอข้างน่าข้างใน ข้าราชการเจ้าพระยาแลพระยาผู้ใหญ่ผู้น้อย รับเงินทำสำรับละ $\begin{array}{c}\\\begin{array}{c|c}
\quad&๑\\\hline
\quad&\\\end{array}\end{array}$
เลี้ยงพระวัดพระศรีรัตนสาสดารามวันละ ๕๐๐ ทรงประเคนครบตติยวาร แล้วถวายไตรย์บาตรใส่น้ำผึ้งเต็มบาตร ๕๐๐ ครบเครื่องไทยทาน ต้นกัลปพฤกษ ๘ ต้น ทรงโปรยดอกไม้เงินทองเปนทานครบการฉลองทั้งปฏิสังขรณ์บุรณเสร็จ มีลครผู้หญิง ๓ วัน การมหรศพพร้อมเครื่องสมโภชเสร็จ ฉลองพระศรีรัตนสาสดาราม

๒๑๕ จดหมายของกรมหลวงนรินทรเทวี ท่านก็เขียนดีอยู่ แต่ตอนท้ายว่าฉลองพระศรีรัตนสาสดารามซ้ำอยู่นั้น ถ้ายกรามเสีย ใช้แต่พระศรีรัตนสาสดาก็จะดี

การฉลองวัดครั้งนี้ ร่างหมายมีที่จะตรวจเอาความแน่นอนได้ มีจดหมายบันทึกลงไว้ข้างเบื้องต้นว่า “ณวัน ๖ ๑๕ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก เพลาเช้า ๒ โมงเศษ เสด็จออกขุนนางณพระทีนั่งบุษบกมาลา มหาจักรพรรดิพิมาน มีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระยามหาอำมาตย์ ว่าทรงสร้างพระอารามวัดพระศรีรัตนสาสดาราม เปนที่พระเชตุพน๑๘ พระพุทธรูปพระแก้วมรกฎ พระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ พระธรรมเจ้าเสร็จบริบูรณ์แล้ว จะฉลองเพื่อจะให้เปนหิตาชณะประโยชน์ในพระพุทธสาสนา ให้ถาวรถ้วน ๕๐๐๐ พระวษา ให้จัดแจงเจ้าพนักงานการทั้งปวง ให้พร้อมจงทุกพนักงาน ข้าพระพุทธเจ้าเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระยามหาอำมาตย์ รับพระราชโองการใส่เกล้า ฯ จัดแจ้งเจ้าพนักงานในข้อรับสั่งฉนี้”

ต่อนี้ไปขึ้นร่างหมาย มีรอยตกแทรกวงกา จะได้คัดตัดที่วงกาออกเสีย เอาแต่ที่เนื้อความคงไว้ เริ่มต้นหมายว่า

“ณวัน ๖ ๑๕ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๑ ด้วยพระยามหาอำมาตย์ รับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า ทรงพระราชศรัทธาทรงสร้างพระอาราม วัดพระศรีรัตนสาสดาราม พระสงฆ์จะได้ตั้งสวดพระพุทธมนต์ณวันเดือน ๖ แรม ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ ปีมเสงเอกศก เพลาบ่ายพระสงฆ์วันละสองพันรูป ทั้ง ๓ วัน จะได้แบ่งพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน วัน ๗ ๖ เพลาเช้า ในจำนวนสองพัน ๖๖๗ รูป เพลาเพลพระสงฆ์ทำดอกไม้ ๑๐๐ รูป รวม ๗๖๗ รูป” วันแรม ๙ ค่ำ จำนวนเท่ากัน แรม ๑๐ ค่ำ ลดรายสองพันลงไปรูปหนึ่ง ถวายกระจาดเช้าเพล ๓ วัน เสร็จแล้ว แลในวันแรม ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ ๑๐ ค่ำ มีพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถบอกอานิสงษ์วันละกัณฑ์ ครั้นเวลาบ่าย ณวันเดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ จะได้ตั้งบายศรี แก้ว ทอง เงิน ตอง ในพระอุโบสถเปนบายศรีดอกไม้เวียนพระเทียนวันหนึ่ง ณวันแรม ๑๑ ค่ำ ๑๒ ค่ำ ตั้งบายศรีบูชาไว้ หาได้เวียนพระเท่ยนไม่ มีหนังมีดอกไม้เพลิง ณวัน ๖ ๖ ค่ำ ไปเปนคำรบ ๗ คืน จะได้มีการเครื่องเล่นสมโภช เพลากลางวันพร้อมกัน ณวัน ๑ ๑๑ ๖ ค่ำ เพลาเช้าไปจนถึงณวัน ๗ ค่ำ เปนคำรบ ๗ วัน แต่โรงฉ้อทานนั้นให้เลี้ยงพระสงฆ์ เถร เณร ชี พราหมณ์ ข้าทูลลออง ฯ อาณาประชาราษฎรชายหญิง แต่ณวัน ๗ ๖ ค่ำ เพลาเช้าไปทุกวัน จนถึงณวันเดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำเพลาเย็น จึงเลิกโรงฉ้อทาน แลสำรับปฏิบัติพระสงฆ์ในจำนวนสองพันเปนสำรับกระทงข้างน่าพันหนึ่ง ข้างในพันหนึ่ง สำรับพระสงฆ์ทำดอกไม้ฉันในพระอุโบสถ สำรับข้างในวันละ ๓๐ ที่พระรเบียง นายโรงฉ้อทาน ยกมาถวายวันละ ๗๐ รูป รวม ๓ วัน ๓๐๐ รูป จึงเกณฑ์แผ่พระราชทุศลพระราชทานให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม พระองค์เจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหลานเธอ มีกรมหากรมมิได้ ข้าทูลลออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน ทำสำรับคาวหวาน แลโรงฉ้อทาน

ในพระอุโบสถ ๓๐ รูป ข้างในปฏิบัติ คาว ๓๐ หวาน ๓๐ สำรับ

หอพระมณเฑียรธรรม ๕๐ กรมพระราชวัง๑๙ปฏิบัติ คาว ๕๐ กระทง หวาน ๕๐ กระทง

พระระเบียงด้านตวันตก แต่ประตูใต้ถึงประตูกลาง พระสงฆ์ ๔๕ รูป ข้างใน แต่ประตูกลางถึงประตูเหนือพระสงฆ์ ๕๐ รูป ข้างใน รวมพระสงฆ์ ๙๕ รูป แต่ประตูเหนือถึงมุม

กรมหมื่นนราเทเวศ

กรมหมื่นนเรศโยธี

กรมหมื่นเสนีบริรักษ๒๐

กรมหมื่นเสนีเทพ๒๑

กรมหมื่นนเรนทรพิทักษ์

องค์ละ ๑๐ รูป

พระยาอุไทยธรรม๒๒ ๒ รูป

พระไชยสุรินทร๒๓ ๓ รูป รวมพระสงฆ์ ๑๕๐ รูป

พระรเบียงด้านเหนือ แต่มุมตวันตกถึงมุมตวันออก

ที่ ๑ กรมหลวงเสนานุรักษ๒๔

ที่ ๒ กรมหลวงพิทักษมนตรี

องค์ละ ๒๐ รูป

ที่ ๓ กรมขุนกระษัตรานุชิต

ที่ ๔ กรมขุนอิศรานุรักษ์

องค์ละ ๑๕ รูป

ที่ ๕ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์

ที่ ๖ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์

องค์ละ ๑๐ รูป

ที่ ๗ พระองค์เจ้าคันธรศ๒๕

ที่ ๘ พระองค์เจ้าทับทิม๒๖

ที่ ๙ พระองค์เจ้าทับ๒๗

ที่ ๑๐ พระองค์เจ้าสุริยา๒๘

ที่ ๑๑ พระองค์เจ้าดารากร๒๙

ที่ ๑๒ พระองค์เจ้ามั่ง๓๐

องค์ละ ๔ รูป

ที่ ๑๓ พระมหาอำมาตย์

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร๓๑

คนละ ๒ รูป

พระยาจ่าแสนบดี

พระยาราชนิกุล

หลวงพิศลูเทพ

คนละรูปรวม ๗ รูป

ที่ ๑๔ พระราชสงคราม ๒ รูป

หลวงวิสูตรโยธามาตย์

หลวงราชโยธาเทพ

หมื่นนรินทรเสนี

คนละรูปรวม ๕ รูป

ที่ ๑๕ พระยาสีหราชเดโช

พระยาท้ายน้ำ

พระยาพิไชยโนฤทธิ

พระยาพิไชยสงคราม

พระยาราชสุภาวดี

คนละ ๒ รูป

หลวงศรสำแดง รูป ๑

รวมพระสงฆ์ ๑๑ รูป

ที่ ๑๖ พระพิเดชสงคราม

พระรามพิไชย

คนละรูป รวม ๒ รูป

ที่ ๑๗ พระยายมราช๓๒ ๓ รูป

พระยาราชมนตรี

พระยาศรีสุริยวงษ์

คนละ ๒ รูป

จมื่นไววรนารถ

จมื่นเสมอใจราช

จมื่นสรรเพธภักดี

จมื่นศรีสรรักษ

คนละรูป รวมพระสงฆ์ ๑๑ รูป

ที่ ๑๘ พระยาสุรเสนา ๒ รูป

แต่มุมเหนือถึงประตู

หม่อมขุนเณร๓๓

พระยามหาโยธา๓๔

พระยามหาเทพ

พระอินเทพ

พระพิเรนเทพ

หลวงราชรินทร์

หลวงอินทร์เดชะ

หลวงพรหมบริรักษ์

หลวงสุริยภักดี

คนละ ๒ รูป

หมื่นราชามาตย์

หมื่นไชยภรณ์

หมื่นไชยภูษา

หมื่นทิพรักษา

หมื่นราชาบาล

หมื่นสมุหพิมาน

หมื่นประทานมณเฑียร

หมื่นราชามาตย์นอกราชการ

หลวงหฤไทย

หลวงอภัยสุรินทร์

เลี้ยงพระสงฆ์คนละรูป

พระยาศรีเสาวพาห ๒ รูป

หลวงปราบพลแสน

หลวงสุนทรสินธพ

หลวงศรีอัศวเดช

หลวงอภัยเสนา

หลวงสุเรนทรวิชิต

หลวงคชสิทธิเปนพระยาวังเมือง

หลวงพิชวกรรม์

พระครูประโรหิต

พระเกษม

พระไกร สี

หลวงราชเสนา

พระประชาชีพ

หลวงพิพิธสาลี

หลวงเสนานน

หลวงพลอาไศรย

คนละ ๒ รูป รวมพระสงฆ์ ๔๕ รูป

แต่ประตูเหนือไปประตูกลาง

พระยาราชประสิทธิ์

พระยาอภัยสรเพลิง

พระยาราไชย

พระยาพิพัฒโกษา

พระยาธิเบศโกษา

พระรองเมือง

พระยาศรีพิพัฒน์

พระอภัยรณฤทธิ์

พระยาสมบัติบาล

คนละ ๒ รูป

หลวงสุนทรสมบัติ

หลวงเทพโยธา

พระสุรสงคราม

พระยาราชทูต

พระรัตนโกษา

พระราชอากร

พระพิไชยสวรรค์

หลวงสุนทรโกษา

หลวงรักษาสมบัติ

หลวงสวัสดิโกษา

หลวงอินทรสมบัติ

หลวงมงคลรัตน

นายบุญมีราชนิกุล

คนละรูป รวมพระสงฆ์ ๓๑ รูป

ข้างในปฏิบัติพระรเบียงด้านตวันออก แต่เหนือประตูกลางถึงมุมใต้ ๑๐๙ รูป ทิศใต้แต่มุมตวันออกถึงเสมากลาง ๑๐๐ รวมพระสงฆ์ ๒๐๙ รูป

ให้ผู้ต้องเกณฑ์ทำสำรับปฏิบัติคาวหวาน ไปดูอย่างกระจาดคาวหวานรองกระทง ณทิมดาบชาววัง แล้วให้เย็บกระทงน้อย ใส่ของคาว

ของคาว

ไส้กรอก
ไข่เป็ด ๕ ใบ
ไก่แพนง
หมูผัดกุ้ง
มะเขือชุบไข่
ไข่เจียว
ลูกชิ้น
กุ้งต้ม
หน่อไม้
น้ำพริก
ปลาแห้งผัด
แตงโม
เข้าสาร ๒ ทนานหุงใส่ก้นกระทงใหญ่

ของหวาน

ของหวาน ขนมฝอย
เข้าเหนียวแก้ว
ขนมผิง
ขนมไส้ไก่
กล้วยฉาบ
น่าเตียง
หรุ่ม
สังขยา
ฝอยทอง
ขนมตไล
รวม ๑๐ สิ่ง

แล้วให้เอากระโถนขันน้ำไปตั้งทั้งเพลาเช้าเพลาบ่าย เภสัชอังคาดถวายทั้ง ๒ เพลา แต่งน้ำชุบาลถวายเพลาบ่ายด้วย ให้ครบพระสงฆ์ซึ่งได้ปฏิบัติทั้ง ๓ วัน ให้ไปรับเงินที่กรมวัง มาทำสำรับถวายรูปละ ๑ บาท แล้วให้เอาชามไปรับเอาแกงร้อน เข้าอย่างเทศ น้ำยาขนมจีนต่อท่านข้างใน ไปถวายพระสงฆ์ซึ่งได้ปฏิบัติ เปนชามรูป ๑ วันละ ๓ ใบ แล้วให้เอาน้ำชาไปถวายพระสงฆ์ซึ่งได้ปฏิบัติด้วย

แกงร้อนเจ้าคุณข้างใน๓๕ ทำเกณฑ์ยกไปปฏิบัติ หลวงราชมณู หลวงภิเดช ขุนหมื่นในกรม รับเลขพันพุฒ ๑๐๐ คน

เข้าอย่างเทศ เจ้าของหุงเข้า

พระยาจุฬา๓๖

หลวงศรีเนาวรัตน

หลวงศรียศ

หลวงนนทเกษ

ขุนราชเศรษฐี

ขุนศรีวรข่าน

ขุนสนิทวาที

หมื่นสนิทวาที

หมื่นเสน่ห์วาที

หมื่นศรีทรงภาษา

หมื่นสำเร็จวาที

หมื่นพินิตภาษา

ขุนเมาะตมิข่าน

ขุนวิวานิข่าน

ขุนไหวัตข่าน

วังน่าสมทบ

ขุนกัลยา

ขุนสุนทร

ขุนอนุชิต

รวม ๑๘ คน

ท้าวทองกีบม้าเปนผู้แต่ง ใส่ชามใส่พานรอง ผู้ยกไปปฏิบัติ

หลวงอรรคเนศร

หลวงศรสำแดง

ขุนหมื่นในแสงปืน รับเลขต่อพันพุฒ ๑๐๐ คน

น้ำยาเจ้าคุณข้างในทำ เจ้าตลาดเบิกเข้าทำขนมจีนวันละเกวียน กระจาดซึ่งใส่ขนมจีน พันพุฒ พันเทพราช เกณฑ์

ของนอกจากรายเกณฑ์ ๓ สิ่งนี้ ดูเปนไม่ได้เลี้ยงทั่วไปทุกอย่าง แกงร้อนแลเข้าอย่างเทศ เลี้ยงในรายสองพันแต่สามร้อยสามสิบ คือส่วนข้างในกับพระทำดอกไม้ร้อยหนึ่ง รวมเปนสี่ร้อยสามสิบรูป แต่น้ำยานั้นเลี้ยงในรายสองพันหกร้อยหกสิบเจ็ดเต็มจำนวน เห็นจะเปนใครทำสู้ไม่ได้ น่าที่ยกน้ำยาเข้าอย่างเทศ ที่ได้คนจ่ายกองละร้อย ที่สำหรับพระข้างใน ถ้าเปนส่วนข้าราชการข้างน่า ให้ผู้ปฏิบัติเอาชามไปรับมาถวายพระสงฆ์

กองเลี้ยงน้ำชา เจ้าของ

พระยาอภัยพิพิธ

หลวงท่องสื่อ

หลวงแก้วอายัต

หลวงเสนี

หลวงสุนทร

ขุนท่องสื่อ

ขุนท่องสมุท

ขุนเทพภักดี

ผู้ยกไปปฏิบัติ มหาดเล็กจ่าหุ้มแพรเปนนายกอง มหาดเล็กเลวยก เลี้ยงรายสองพันแต่สามร้อยสามสิบสี่ ทำดอกไม้ร้อยรูปเท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี กรมฝ่ายใน ทำกระจาดถวายพระสงฆ์ในสองพัน ทำดอกไม้วันละร้อย พระสัสดีปลูกโรงกระจาดขื่อกว้าง ๑๐ ศอก ยาว ๙ ห้อง ยกพื้นมีพาไลรอบโรง ๑ เกณฑ์หลวงราชฤทธานน หลวงนันทเสน ขุนหมื่นรับเลขต่อพันพุฒ พันเทพราช ๑๐๐ คน ยกกระจาดไปถวายพระที่มาฉันทุกวัน

น้ำชุบาลถวายพระสงฆ์เพลาบ่าย นอกจากข้าราชการปฏิบัติ มีนายวิเสทฉ้อทานต้นจัดโถพานรองพร้อม หัวป่าพ่อครัวต้นด้วย

เกณฑ์ พระยาจันทราทิตย์๓๗

พระอินทราทิตย์

หลวงราชฤทธานน

หลวงนนทเสน

หลวงทิพรักษา

หลวงมหามณเฑียร

ขุนกำแพงบุรี

ขุนศรีวังราช

ขุนวิจารณ์

ใช้เลขจำนวนยกสำรับ

เกณฑ์เปนสารวัด พระรเบียงด้านตวันออก แต่มุมเหนือ ถึงมุมใต้

หลวงวิสูตรอัศดร

หมื่นชำนิภูบาล

หมื่นชำนาญภูเบศร

ตวันตกแต่ประตูใต้ถึงมุมเหนือ

จมื่นราชนาคา

จมื่นราชสมบัติ

เหนือแต่มุมตวันตกถึงมุมตวันออก

หลวงศรีเสาวราช

หลวงศรีโยวภาศ

หลวงวาสุเทพ

ใต้มุมตวันออกถึงเสมากลาง

หลวงราชพิมาน

พันเงิน

พันทอง

สารวัตรเหล่านี้สำหรับตรวจ ใครขาดให้เอาความบอกผู้รับสั่ง ทีจะไม่ไว้ใจกันด้วยเรื่องน้ำฤๅอย่างไร จึงเผดียงพระสงฆ์ให้เอากาน้ำมาด้วยทุกองค์

โรงฉ้อทานสัสดี ปลูกตามเจ้าของให้อย่าง

โรงน่าวัดมหาธาตุ

เจ้าครอกใหญ่วังหลัง๓๘

โรงท่าพระ

กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์

โรงรองงาน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช

โรงสีตพานช้าง๓๙ เจ้าพระยามหาเสนา๔๐

โรงตพานตรงวังน่า๔๑ เจ้าพระยาธรรมา๔๒

โรงหอกลอง พระยาโกษาธิบดี๔๓

จำนวนคนยกสำรับ ๙๘๘ คน

โรงทำน้ำยาเจ้าคุณข้างใน ปลูกที่ริมกำแพงออกประตูสวัสดิโสภา ขื่อ ๑๐ ศอก ยาว ๗ ห้อง มีพาไลยกพื้นน่าหลังกั้นฝาตีรั้วล้อมรอบ

กั้นฝาศาลาออกประตูสวัสดิโสภา เปนโรงแกงร้อน ๒ ศาลา กั้นฝาศาลาออกประตูเทวาพิทักษ์ เปนโรงหุงเข้าอย่างเทศ โรงต้มน้ำชาทั้ง ๒ ศาลา ตีรั้วรอบทั้ง ๔ ศาลา

เครื่องนมัสการ ในพระอุโบสถตั้งทองใหญ่ พระมณฑปตั้งทองน้อย แลได้ความว่าสุหร่ายสำหรับสรงพระ มีใช้แล้วในเวลานั้น จะเปนสุหร่ายอื่นนอกจากที่ต้องอัดเข้าไปด้วยสูบ คู่ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เปนไม่ได้ เพราะเหตุที่มีข้อความดังนี้

“ให้ส่งน้ำดอกไม้เทศให้ช่างสุหร่ายอัดสุหร่าย เตรียมทูลเกล้า ฯ ถวายสำหรับทรงสรงน้ำพระพุทธรูป”

ในหมายนี้ ไม่ได้ว่าถึงการมหรศพ สั่งรวมเปนการตามเคย พึ่งจะฉลองวัดพระเชตุพนแล้วใหม่ ๆ มีข้อความที่สั่งเฉภาะแต่พิณพาทย์ ๔ วง อยู่ ๔ มุมพระรเบียง แลให้แต่งโรงลครข้างใน แลโรงลครผู้ชาย ลครข้างในคงจะเล่นโรงหลังวัด ซึ่งเปนโรงช่อฟ้าใบระกา ประจำอยู่ข้างประตูเข้าวัดพระแก้ว เพราะเหตุฉนั้นจึงมีในหมายแต่ให้ปลูกโรงที่ลครแต่งตัว ทิ้งทานปรากฎว่าวันละ ๖ ต้นเท่านั้น

มีเลี้ยงเจ้าเมืองลาว เมืองพุทไธมาศเมืองบัตบอง แขกเมืองญวน หัวเมืองทั้งปวง เลี้ยงที่ศาลาศาลหลวง แลศาลาสารบาญชี ในเวลานั้น พระอุไทยราชาเจ้ากรุงกัมพูชา มีชื่ออยู่ในพวกแขกเมืองด้วย ไพร่เลี้ยงที่ประตูเทวาพิทักษ์ เจ้าคุณข้างในทำเปนสำรับโต๊ะเงิน คาว ๒๐ หวาน ๒๐ โต๊ะทองขาวเท้าปรุคาว ๑๐ หวาน ๑๐ ขันน้ำนั้นใช้ขันทองพานถมรอง ๓ สำรับ ขันถมพานเงินรอง ๕ สำรับ ขันทองขาวพานรอง ๑๐ สำรับ

ขุนทินตั้งพานหมากเครื่องทองคำ ๔ สำรับ เครื่องนาก ๔ สำรับ เครื่องเงิน ๔ สำรับ นักสวดเลวพานกลึงไปแจก

๒๑๖ พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าวัดพนันเชิง ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ณเมืองโศกโขไทย ชลอเลื่อนลงมากรุงประทับท่าสมโภช ๗ วัน

๒๑๖ วัดสุทัศน์นี้ กำหนดว่าเปนกึ่งกลางพระนคร จึงตั้งเทวสฐานมีเสาชิงช้าลง ณ ที่นั้น ตามประเพณีพระนครโบราณ ข้อซึ่งว่าพระราชประสงค์จะทำให้สูงเท่าวัดพนันเชิงนั้น ก็ชอบกล เพราะถมพื้นสูงขึ้นไปมาก ในพระนครซึ่งเปนที่ลุ่ม

เรื่องสร้างวัดสุทัศน์นี้ ค้นหมายได้ในกระทรวงวัง ตั้งแต่ขุดรากไปจนก่อฤกษ์ แลการสมโภชพระพุทธรูปใหญ่ ซึ่งเชิญลงมาแต่เมืองศุโขทัย ได้ความว่า พระราชดำริห์เดิมได้พระราชทานนามวัดว่า “มหาสุทธาวาศ” ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเปนสุทัศน์ ใจความที่ได้จากในหมายนั้นดังนี้

ฉบับหนึ่ง ด้วยพระยาอภัยรณฤทธิรับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า พระฤกษ์จะได้ขุดรากพระอุโบสถ วัดทำใหม่ ณเสาชิงช้า พระราชาคณะ ๒๐ รูป จะได้สวดพระพุทธมนต์ ณวัน ๑ ๓ ค่ำ ปีเถาะนพศก (จุลศักราช ๑๑๖๙) เพลาบ่าย ครั้นสวดพระพุทธมนต์จบแล้ว พระสงฆ์ราชาคณะ ๕ รูป จะได้ประน้ำพระพุทธมนต์ คนผู้กระทำการเครื่องหัดถกรรมแลที่ขุดทั้งปวง แล้วโหรจะได้บูชาเทวดา ๘ ทิศแลพระภูมิ์เจ้าที่กรุงพาลี ตามประเพณีไสยสาตรนั้น ครั้นรุ่งขึ้น ณวัน ๒ ๓ ค่ำ เพลาย่ำฆ้องรุ่ง จะได้ตั้งบายศรีซ้ายขวา บูชาพระฤกษ์ ครั้นเถิงเพลาเช้าโมง ๓ บาท ได้พระมหาพิไชยฤกษ์ ให้ลงมือขุดรากพระอุโบสถให้พร้อมกัน ครั้นพระสงฆ์ถวายไชยมงคลแล้ว จะได้รับพระราชทานฉัน ให้นายด้านกองวัดปลูกโรงมีพาไลประดับด้วยราชวัตรฉัตรกระดาดผูกต้นกล้วยต้นอ้อย สำหรับพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์โรงหนึ่ง ให้ตำรวจเอาเตียงมีเสาโครงเพดาลุไปตั้ง สำหรับรองพระพุทธรูปเตียงหนึ่ง เตียงรองเครื่องนมัสการเตียงหนึ่ง สังฆการีเชิญพระพุทธรูปห้ามสมุท ไปตั้งเปนประธานองค์หนึ่ง บาตรน้ำ ๕ มีเทียนติดปากบาตร ต่อนั้นไปก็สั่งตามเคย แปลกแต่ให้ตั้งราวรับสายสิญจน์รอบจังหวัดที่จะขุดแลให้เกณฑ์คนส่งให้นายด้านที่จะขุดราก ๑๒๐๐ คน อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง อาหารเวลานั้นช่างถูกจริง ๆ เข้าสารจ่ายต่างหาก ส่วนราคากับเข้า สำรับคาวสำรับละสลึงเฟื้อง หวานสำรับละสลึง ให้มีขนมจีนน้ำยาด้วย

อิกฉบับหนึ่ง ด้วยพระยามหาอำมาตย์รับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่า หลวงโลกทีปโหรมีชื่อ กำหนดพระฤกษ์จะได้ก่อรากพระอุโบสถวัดมหาสุทธาวาศ ทูลเกล้า ฯ ถวาย ณวัน ๔ ๑๐ ๖ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๑๗๐) เพลาบ่าย ๒ โมง ๖ บาท พระราชาคณะ ๕๐ รูปจะได้สวดพระพุทธมนต์ ครั้นรุ่งขึ้น ณวัน ๕ ๑๑ ๖ ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๒ โมง ๖ บาท พระฤกษ์จะได้ก่อรากพระอุโบสถ แล้วพระสงฆ์จะได้รับพระราชทานฉัน ให้นายด้านปลูกโรงสำหรับพระสงฆ์สวดโรงหนึ่ง มีราชวัตรฉัตรธงประดับต้นกล้วยต้นอ้อย ศาลเทวดา ๔ ศาล ให้ปักไม้พาดราวรับด้ายสายสิญจน์ให้รอบพระอุโบสถ แล้วให้เอาธงจีนไปปักปลายเสาแบบให้ครบทุกเสา ให้แปดตำรวจปลูกพลับพลาข้างน่าข้างใน ฉนวนที่สรงที่ลงพระบังคลให้พร้อม ตั้งเตียงพระพุทธรูป เชิญพระห้ามสมุทไปตั้งเปนประธานองค์หนึ่ง มีหม้อน้ำพระพุทธมนต์ ๕ ทราย ๕ ให้สนมรับเครื่องนมัสการทองน้อยต่อท่านข้างในไปตั้ง ให้สัสดีเกณฑ์ราชวัตรฉัตรเบญจรงค์ปัก ๘ ทิศ เครื่องทองน้อยในที่นี้เห็นจะเปนเครื่องทองทิศ เวลานั้นจะเรียกว่าทองน้อย เพราะมีข้อบังคับว่าให้มีธูปเทียนพุ่มเข้าตอกดอกไม้สำหรับเครื่องให้พร้อม นอกนั้นก็เรื่องเลี้ยงพระตามเคย

อิกฉบับหนึ่ง ด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชรับ ๆ สั่ง ใส่เกล้า ฯ ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า ทรงพระราชศรัทธาให้อาราธนาพระพุทธรูป ซึ่งอยู่ณเมืองศุโขทัยลงมากรุงเทพ ฯ แล้วทอดทุ่นอยู่กลางน้ำน่าพระตำหนักแพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการมหรศพสมโภช เพลากลางวันกลางคืน ครั้นเถิงณวัน ๓ ๕ ค่ำ (ไม่มีปีไม่มีศักราช เห็นจะเปนปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐) เพลาเช้าพระสงฆ์ ๒๐ รูป รับพระราชทานฉันที่เรือบัลลังก์ แล้วเถิงเพลาบ่าย ๒ โมง จะได้ตั้งบายศรีทอง, เงิน, ตอง, ที่เรือน่าพระพุทธรูป สมโภชเวียนพระเทียนนั้นให้ข้าทูลลออง ฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนมารับแว่นเวียนพระเทียนให้พร้อมจงทุกหมู่ทุกกรม อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

สั่งบายศรีแปลกอยู่ บายศรีเงินสำรับ ๑ ทองสำรับ ๑ ตอง ๒ สำรับ รวม ๔ สำรับ ให้มีพุ่มเข้าขันเชิงพานรองนำวัก แว่น (สำหรับ) เวียนเทียน เทียนติด เทียนยอดบายศรี แป้งหอม น้ำมันหอม

อนึ่งพระพุทธรูปนั้น ไม่ใช่องค์เดียวเห็นจะ ๓ องค์ จึงสั่งเครื่องนมัสการให้สนมพลเรือนรับเครื่องทองน้อย สำหรับบูชาพระพุทธรูปองค์ใหญ่สำรับ ๑ เครื่องกระบะมุก สำหรับบูชาพระพุทธรูปองค์น้อย ๒ สำรับ

หมายฉบับที่ ๓ นื้ ควรจะอยู่ที่ ๒ แต่เหตุไฉนเขาจึงจดไว้เปนที่ ๓ ก็ไม่ทราบ ครั้นจะคัดขึ้นไปไว้ที่ ๒ เกรงจะผิด เหตุด้วยหมายฉบับหลังไม่มีปีแลศักราช จึงได้ลงเรียงไว้ตามลำดับเดิม แต่ไม่เห็นมีท่าทางที่จะผิด ด้วยการที่หล่อแก้ช่อมแปลงได้ทำที่วัดสุทัศน์ มีเดือนปีปรากฎว่าเปนเดือนยี่ปีมโรงสัมฤทธิศก สมโภชพระเดือน ๕ จะเปนเดือน ๕ ปีมเสงเอกศกไม่ได้ เพราะพระยังไม่ได้ไปถึงที่ดังนี้

๒๑๗ ณวัน ๑๕ ๖ ค่ำ ยกทรงเลื่อนชักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระ ทุกน่าวัง, น่าบ้าน, ร้านตลาดจนถึงที่

๒๑๗ การชักเลื่อนพระตามทางบกนั้น แพพระพุทธรูปได้มาเทียบที่ท่าช้าง แต่ที่ท่าช้างประตูเมืองไม่ตรงถนน ถึงว่าจะตรงถนนพระก็ใหญ่กว่าประตูเข้าไม่ได้ จึงต้องรื้อกำแพง เมื่อแห่พระมาถึงแล้วจึงก่อกำแพงขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนั้นในราชการจึงเรียกเปนท่าพระมาจนทุกวันนี้

๒๑๘ ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุสาหเพิ่มพระบารมี หวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ทำนุบำรุงพระสาสนา เสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้นเซพลาด

๒๑๘ เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทตามกระบวนนี้ ดูเปนลักษณอย่างเดียวกันกับแบกตัวลำยอง เห็นจะเสด็จพระราชดำเนินได้จริง เพราะการชักพระเช่นนี้คงเดินไปช้า ๆ แลไปติดไปขัดต้องหยุดเอะอะกันบ่อย ๆ เปนเวลาได้ทรงพัก แต่คงจะทรงเหนื่อยมาก เพราะทรงพระประชวรอยู่แล้วจึงได้เซ

๒๑๙ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรารับพระองค์ไว้

๒๑๙ กรมขุนกระษัตราองค์นี้ คือเจ้าฟ้าเหม็น เดิมเปนเจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์ แล้วเปลี่ยนเปนเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ได้รับกรม เปนกรมขุนกระษัตรานุชิต

๒๒๐ พระศรีสากยมุนี มีลายจาฤกไว้ (ใน) แผ่นศิลา ตั้งศักราชว่าไปข้างน่า ลุงจะให้สัตย์ต่อหลาน ผู้น้อยจะเปนผู้ใหญ่ ๆ จะได้เปนผู้น้อย จาฤกไว้แต่แรกสร้าง ยัง (มี) อยู่

๒๒๐ คำจาฤกแผ่นศิลา ที่พระศรีสากยมุนี ซึ่งผู้แต่งนำมาลงไว้ในที่นี้ เห็นจะเปนด้วยเห็นจริงในใจว่า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เปนอาว์ ถวายสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนหลาน

๒๒๑ แล้วยกพระขึ้นที่เสด็จกลับ ออกพระโอษฐ์เปนที่สุดเพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้นแล้ว

๒๒๑ ข้อซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวถึงยกพระขึ้นที่ในข้อนี้ เมื่อตรวจสอบสวนหลายแห่งเข้า ได้ความว่าท่านไม่ได้หวังจะกล่าวว่าพอแห่พระไปถึงแล้วก็เชิญขึ้นตั้งที่ทีเดียว เปนอันได้ความว่า การเชิญพระขึ้นตั้งที่นั้น คงจะเปนในปีมเสงเอกศกต้นปีจวนสวรรค์คตอยู่แล้ว ถ้าจะลำดับการวัดสุทัศน์แลแห่พระศรีสากยมุนีทั้งน้ำทั้งบกเห็นจะเปนดังนี้

เดือน ๓ ปีเถาะนพศกจุลศักราช ๑๑๖๙ ขุดราก

เดือน ๕ ปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ พระศรีสากยมุนีลงมาถึงสมโภช

เดือน ๖ แห่ทางบกขึ้นไปวัดสุทัศน์ ในเดือน ๖ นั้นเองก่อฤกษ์ แต่ได้ความต่อไปว่าได้ทรงปฏิสังขรณ์แก้ไขพระศรีสากยมุนี เททองใหม่ที่วัดสุทัศน์นั้นเอง แรกที่จะรู้เรื่องนี้ ได้เห็นคำอาราธนาเทวดาสำหรับราชบัณฑิตย์อ่าน ซึ่งได้มาแต่หอสมุด มีเนื้อความขึ้นนโมสามจบ อิติปิโสแล้วจึงอาราธนาออกชื่อว่า ข้าพระพุทธเจ้า พระยาธรรมปรีชา หลวงธรรมสุนทร หลวงเมธาธิบดี ขุนศรีวรโวหาร ราชบัณฑิตยาจาริย์ทั้งปวง พร้อมกันกระทำอัชเชสนะกิจ อาราธนาสัตยาธิฐาน เฉภาะพระภักตรพระศรีรัตนไตรย์เจ้า ด้วยสมเด็จบรมขัติยาธิบดินทร์ ปิ่นประชามหาสมมติเทวราช พระบาทบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ต่อนั้นไปก็สรรเสริญพระบารมีแลพระราชศรัทธา บำรุงพระสาสนาแผ่พระราชกุศล แล้วจึงดำเนินความต่อไปว่า บัดนี้ทรงพระราชศรัทธากระทำการปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่ตรำแดดตรำฝนต้องเพลิงป่าหาผู้จะพิทักษ์รักษามิได้ อยู่ที่เมืองศุโขทัยนั้น ทรงพระราชกรุณาใท้อาราธนา ลงมาไว้เปนที่เจดียฐาน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เปนที่ไหว้ที่สักการบูชา ลักขณะอันใดมิได้ต้องด้วยพระพุทธลักขณา ผิดจากพระบาฬีแลอัตถคาถานั้น ทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์ขึ้น ให้ต้องด้วยพระอัตถคาถาพระบาฬี ตั้งพระไทยจะให้พระราชพิธีปฏิสังขรณ์นี้สำเร็จโดยศิริสวัสดิ์ ปราศจากพิบัติบกพร่อง การที่จะใส่ไฟสำรอกขี้ผึ้งเททองนั้น จะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ต้องด้วยพระราชประสงค์ จงทุกประการ จึงมีพระราชบริหารดำรัสสั่งให้อาราธนาพระเถรานุเถร ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายคามวาสี แลอรัญวาสี มีสมเด็จพระสังฆราชาธิบดีเปนประธาน ให้มาประชุมกันเจริญพระปริต ขอพระรัตนไตรย์ให้ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาข้าพระพุทธเจ้าราชบัณฑิตย์มาอาราธนา อัญเชิญเทพยเจ้าทุกสฐานสัคเคกาเมจรูเป ฯลฯ ลงท้ายเปนคำสัตยาธิฐาน ยังกิญจิรตนังโลเก ฯลฯ แล้วก็จบ

เมื่อได้เห็นเช่นนี้ ถึงว่าจะเชื่อว่าเปนประกาศรัชกาลที่ ๑ ก็ยังไม่สู้แน่ ภายหลังได้พบหมายเปนข้อความต้องกัน จึงเอามาเปนแน่ได้ ในหมายฉบับนี้ ว่าพระชำนิรจนารับ ๆ สั่งใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดกล้า ฯ สั่งว่า ซึ่งสั่งไปแต่ก่อน ว่าจะได้หล่อพระพุทธรูปพระองค์ใหญ่ณวัดเสาชิงช้า ณวัน ๒ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิศก เพลาบ่าย ๓ โมงนั้น บัดนี้โหรมีชื่อคำณวนพระฤกษ์ทูลเกล้า ฯ ถวายเลื่อนเข้ามา พระสงฆ์ ๓๐ รูปจะได้เจริญพระพุทธมนต์ เพลาบ่ายวันขึ้น ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ ครั้นณวัน ๔ ๒ ค่ำ เพลาเช้า ๒ โมงบาท ๑ พระฤกษ์จะได้เททอง พระสงฆ์ที่สวดมนต์จะได้รับพระราชทานฉันนั้น ให้นายด้านวัดปถูกโรงทึมสงฆ์ ให้พอพระสงฆ์ แลสั่งอื่น ๆ ต่อไปตามตำราหมาย

มีข้อความยันกัน ว่าอันหนึ่งให้ราชบัณฑิตย์แต่งคำอาราธนาเทวดา แล้วให้นุ่งผ้าขาวสรวมเสื้อครุย ไปอาราธนาเทวดา ณวันเดือน ๒ ขึ้น ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ เพลาบ่าย ๕ ค่ำ เพลาเช้าทั้ง ๔ วัน มีบูชาจุฬาฐทิศทั้ง ๔ วัน

มีเกณฑ์ดอกไม้แขวน แต่เรียกชอบกลว่า แล้วให้เย็บพรหมโหดร้อยพู่กลิ่น ส่งให้สนมพลเรือนออกไปแขวนบูชาวันละ ๑๐๐ พวงทั้ง ๔ วัน แลมีกำหนดอิกว่า อนึ่งให้ล้อมวังเหลาไม้กลัดเข้าไปส่ง ณ ทิมดาบชาววัง จะได้ส่งให้ท่านข้างในเย็บพรหมโหด ๕๐ กำ ๆ ละ ๓๐ อัน ให้ส่งทั้ง ๓ วัน

เมื่อมีการที่ต้องหล่อแก้ไขอยู่เช่นนี้ ก็ต้องกินเวลาไปอิกช้านาน เปนเวลาที่ได้ก่อพื้นพระอุโบสถแลฐานพระขึ้นไปถึงที่ทันกันกับการตกแต่ง คงจะไปแล้วเสร็จได้ยกพระพุทธรูปขึ้นที่ ในปีมเสงเอกศกใกล้เวลาเสด็จสวรรค์คตได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปในเวลาเชิญพระขึ้นตั้งที่อันเปนเวลาทรงพระประชวรมากอยู่แล้ว จึงรับสั่งว่า “เพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้นแล้ว” เหตุด้วยทรงเปนห่วง กลัวจะสวรรค์คตเสียก่อนที่ได้เชิญพระขึ้นที่ การแต่งพระศรีสากยมุนีแลการก่อฐานพระ คงจะได้ทรงเร่งรัดอยู่มาก ครั้นเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นเชิญพระขึ้นที่ทันสมพระราชประสงค์ ทรงพระโสมนัศ จึงทรงเปล่งอุทานว่า “สิ้นธุระแล้ว”

กรมหลวงนรินทรเทวี นำมากล่าวในที่นี้ ด้วยความยินดีต่อพระราชศรัทธา พระราชอุสาหะ ทั้งหวังจะสรรเสริญพระสติสัมปชัญญ ซึ่งทรงกำหนดทราบกาลของพระองค์ ถ้าหากว่าไม่ทรงประกอบด้วยพระสติสัมปชัญญแลมิได้ผูกพันพระราชหฤไทย ในการที่จะได้ทอดพระเนตรเห็นพระศรีสากยมุนีขึ้นตั้งที่ ไม่ทรงเร่งรัดให้การนั้นสำเร็จไปพร้อมกัน ช้าไปอิกไม่เท่าใด ก็จะไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ได้ทรงสร้างปราสาทราชมณเฑียรพระราชวังพระนคร แลพระอารามใหญ่อย่างวัดพระเชตุพนเปนต้น มิได้ทรงทอดทิ้งให้การนั้นติดค้างอยู่เลย ย่อมทำให้แล้วสำเร็จ ทันทอดพระเนตรทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นไว้แต่วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งได้ลงมือในปลายแผ่นดินเสียแล้ว จึงไม่ทรงหวังพระราชหฤไทย ว่าจะได้ทอดพระเนตรการพระอารามนั้น แล้วสำเร็จ ทรงกำหนดพระราชหฤไทยไว้แต่เพียงให้ได้เห็นพระศรีสากยมุนีขึ้นตั้งที่ ก็เปนอันพอพระราชประสงค์ ความที่ทรงมุ่งหมายนั้นได้สำเร็จดังพระราชประสงค์ คำซึ่งรับสั่งว่าสิ้นธุระนั้น กรมหลวงนรินทรเทวี จึงถือว่าเปนคำปลงพระชนมายุ

๒๒๒ ณเดือน ๗ เดือน ๘ ทรงประชวรหนักลง ณเดือน ๙ ข้างขึ้นทรงพระองค์ไม่ได้ ประทมแจกเบี้ยหวัด

๒๒๒ กล่าวกันว่าพระพุทธยอดฟ้าประชวรทรงพระโสภะอยู่ถึง ๓ ปี ไม่ได้เสด็จออก ในที่นี้ปรากฎว่าท่านเสด็จอยู่บ้างไม่ใช่ประชวรไม่เสด็จไปข้างไหน ประชวรหนักทรงพระองค์ไม่ได้แล้ว ยังเสด็จออกบรรธมแจกเบี้ยหวัด

๒๒๓ มีลครฉลองทานที่ท้องพระโรง

๒๒๓ ลครฉลองทานนี้ เห็นจะมีเปนงานประจำปี เมื่อแจกเบี้ยหวัดเสร็จแล้วก็มีงานฉลองทาน

๒๒๔ ณวัน ๕ ๑๓ ๙ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๗๑ ปีมเสงเอกศก เพลายาม ๔ บาท พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระไอยกา เสด็จสวรรค์คต อยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี

๒๒๔ เวลาในพงษาวดารว่า ๓ ยาม ๘ บาท

  1. ๑. พระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ น่า ๓๑, ถึงน่า ๔๓ หน้า ๕๐, น่า ๕๓, น่า ๑๐๔, น่า ๑๒๑, น่า ๑๓๐, น่า ๑๓๓, น่า ๑๔๙, น่า ๑๕๐, น่า ๑๖๑, น่า ๑๗๘, น่า ๑๙๕, น่า ๑๙๘, น่า ๒๐๗, น่า ๒๑๑, น่า ๒๒๐, น่า ๒๒๑, น่า ๒๒๔, น่า ๒๓๔, น่า ๒๔๒, น่า ๒๔๔, น่า ๒๕๓,

  2. ๒. มหาอุปโยราชนี้ เปนตำแหน่งตรงกันกับที่เมืองล้านช้างเรียกว่า “อุปยุวราช” เข้าใจกันว่าเปนฝ่ายหลัง แต่ใหญ่กว่าฝ่ายน่า ฝ่ายน่าเปนอุปราช

  3. ๓. ปูมปีมเมียอัฐศกจุลศักราช ๑๑๔๙ จดไว้ว่า วัน ๕ ๑๔ ๓ ค่ำ ยกทัพหลวงไปไทรโยก ท่าขนุน วัน ๔ ๔ ค่ำ ตีพม่าสามสบ วัน ๖ ๔ ค่ำ พม่าแตกไป

  4. ๔. ปูมปีมแมนพศกจุลศักราช ๑๑๔๙ จดไว้ว่า วัน ๖ ๓ ค่ำ ตีค่ายวังปอ วัน ๑ ๑๐ ๓ ค่ำ เวลายามได้ค่ายวังปอ วัน ๔ ๑๑ ๓ ค่ำ ตีกลิอ่อง วัน ๗ ๔ ค่ำเวลายามได้กลิอ่อง

  5. ๕. พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชปราสาท พระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์

  6. ๖. กล่าวท่อนนี้ด้วยทัพมังลอง

  7. ๗. เห็นจะคิดสืบสวนกัน หาช่องที่ไม่มีเขาสูง แต่ภายหลังคงทราบแล้วว่าทำไม่สำเร็จ ด้วยกว้างเหลือเกินจึงไม่คิดลงไปสงขลาทีเดียว

  8. ๘. กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส

  9. ๙. กรมหมื่นสุรินทรักษ

  10. ๑๐. เคยเรียกเช่นนั้นครั้งหนึ่ง เอาอย่างกรุงเก่า ภายหลังจึงเปลี่ยนเปนวัดพระศรีรัตนสาสดาราม

  11. ๑๑. พระธรรมอุดมวัดราชบุรณฉันจุ ภายหลังเปนสมเด็จพระวันรัต

  12. ๑๒. พระญาณสังวร วัดราชสิทธ ภายหลังเปนสมเด็จพระญาณสังวร แล้วจึงเปน สังฆราช

  13. ๑๓. วัดพระเชตุพน ภายหลังเปนสมเด็จพระวันรัต

  14. ๑๔. จำนวนในหมายมี ๒๙ เท่านี้ แต่ยอด ๓๐

  15. ๑๕. บุญรอด ทวดเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช

  16. ๑๖. พระตำหนักตึกในที่นี้ ไม่ใช่ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งเปนที่ตำหนักสมเด็จกรมพระศรีสุลาไลย ที่เรียกตำหนักตึกมาแต่รัชกาลที่ ๓ จนถึงเวลาทำพระที่นั่งจักรกรี จนสมเด็จกรมพระสุดารัตนราชประยูร เสด็จอยู่ตำหนักนั้นต่อมา ก็เรียกกันว่าเสด็จตำหนักตึก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับรับสั่งว่าหลงไป ว่าเปนตำหนักตึกที่เคยเสด็จอยู่ ตำหนักตึกที่รับสั่งถึงนี้ คือตำหนักในหมายรับสั่งฉบับนี้ อยู่ที่ตำหนักสมเด็จพระสุดารัตนประทับในรัชกาลประจุบันนี้ ตำหนักตึกกลายเปนแปลว่าตำหนักเจ้านายที่เปนใหญ่ในพระราชวัง

  17. ๑๗. พระล่วมองค์นี้ว่าเปนหัวแหวนเครื่องประดับต่าง ๆ ของเจ้าจอมมารดาวันทา ในกรมพระราชวังที่ ๑ ซึ่งเปนชู้กับนายทองอิน กระลาโหม เปนโทษจะต้องประหารชีวิตร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ ทูลขอพระราชทานชีวิตไว้ ทรงพระกรุณาโปรดยกโทษประหารชีวิตร จึงนำหัวแหวนทั้งปวงนี้มาถวายทรงทำพระล่วมองค์นี้ขึ้น ยังอยู่ในตู้หอพระธาตุมณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง จนบัดนี้

  18. ๑๘. พระเชตุพนคำนี้เวลานั้นเห็นจะหมายความว่า เปนที่อยู่ของพระพุทธเจ้า เช่นพระราชมณเฑียรพระราชวัง เพราะฉนั้นข้อความซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีทรงไว้ในเรื่องวัดพระเชตุพน ว่าชื่อวัดนารายน์ชุมพลมาจนทุกวันนี้ เห็นจะไม่ผิด ถ้าจะเอามาใช้เทียบอย่างเรื่องวัดพระแก้วนี้ ว่าได้ทรงสร้างพระอารามวัดนารายน์ชุมพล เปนพระเชตุพน ถวายพระพุทธรูปก็เห็นจะพอไปได้

  19. ๑๙. กรมพระราชวังองค์นี้ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย

  20. ๒๐. กรมหมื่น ๓ องค์แรก ในกรมพระราชวังหลัง

  21. ๒๑. กรมหมื่นเสนีเทพ ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท

  22. ๒๒. พระยาอุไทยธรรม์ชื่อกลาง เปนชาวบางช้าง

  23. ๒๓. เปนน้องกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ แลเจ้าพระยาพลเทพ ปิ่น

  24. ๒๔. เวลานั้นรับพระบัณฑูรน้อย

  25. ๒๕. ภายหลังเปนกรมหมื่นศรีสุเรนทร

  26. ๒๖. ภายหลังเปนกรมหมื่นอินทรพิพิธ

  27. ๒๗. ภายหลังเปนกรมหมื่นจิตรภักดี

  28. ๒๘. ภายหลังเปนกรมหมื่นพระรามอิศเรศ

  29. ๒๙. ภายหลังเปนกรมหมื่นศรีสุเทพ

  30. ๓๐. ภายหลังเปนกรมสมเด็จพระเดชาดิศร

  31. ๓๑. เจ้าพระอภัยภูเบศร แบน

  32. ๓๒. พระยายมราชคนนี้ชื่อ บุญมา บุตรพระยาจ่าแสนยากรกรุงเก่า เปนพี่เจ้าพระยามหาเสนาบุญนาค

  33. ๓๓. ที่ในพงษาวดารเรียกว่าเจ้าขุนเณร เปนกองโจรมีฝีมือเข้มแขงเมื่อครั้งทัพลาดหญ้า

  34. ๓๔. คือพระยาเจ่ง

  35. ๓๕. เจ้าจอมมารดาแว่น เรียกกันว่าคุณเสือ แต่ยกย่องเปนใหญ่จึงเรียกเจ้าคุณข้างใน

  36. ๓๖. ชื่อแก้วเปนทวดพระยาจุฬาเดี๋ยวนี้

  37. ๓๗. เปนทวดกรมหลวงดำรงราชานุภาพ

  38. ๓๘. เจ้าครองทองอยู่เปนชายากรมพระราชวังหลัง

  39. ๓๙. โรงสีตพานช้างนี้ คืออยู่หลังยุทธนาธิการ

  40. ๔๐. เจ้าพระยามหาเสนาคนนี้ ชื่อบุญนากบุตรพระยาจ่าแสนยากรครั้งกรุงเก่า สามีเจ้าคุณนวล เปนข้าหลวงเดิมต้นตระกูลฟากข้างโน้น

  41. ๔๑. ตพานกรงนี้ที่เดี๋ยวนี้เรียกว่าตพานเซี่ยว เรียกติดมาแต่ตพานเก่าอันมีรูปเซี่ยวเหมือนขนมเปียกปูน แต่ในรัชกาลที่ ๑ เรียกตพานกรง เพราะมีฝาลูกกรงกันทั้ง ๒ ข้าง

  42. ๔๒. เจ้าพระยาธรรมคนนี้ชื่อสด เดิมเปนพระยามณเฑียรบาล ข้าหลวงเดิมกรมพระราชวังพระองค์ที่ ๑

  43. ๔๓. พระยาโกษาคนนี้ คือเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์กุน เดิมเปนพระราชประสิทธิ์ครั้งกรุงธนบุรี เปนพระยาศรีพิพัฒน์ แล้วจึงเปนพระยาพระคลัง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ