ทางพิจารณาหาตัวผู้เขียนจดหมาย

หนังสือฉบับนี้ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ คัดสำเนามาให้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน รัตนโกสินทร์๔๑ศก ๑๒๗ ว่าในการที่หาหนังสือสำหรับหอพระสมุด ได้หนังสือฉบับนี้จากข้างวังน่า เห็นว่าเปนจดหมายเหตุที่มีข้อความเพิ่มเติม แต่เปนคนละอย่างกับสยามประเภท ฤๅจะพูดตามภาษาที่เรียกกันอยู่ว่า “มีกุ” แต่ไม่ใช่กุอย่างสยามประเภท

ครั้นเมื่อได้มาแล้ว ก็มีใจผูกพันอยู่ที่จะอ่าน เพราะพลิก ๆ ดูเห็นข้อความชอบกล เมื่อหมดธุระแล้วจึงได้เปิดขึ้นอ่านดะไปโดยเร็ว เพราะอยากรู้ความ จบในพักเดียวนั้น ความคิดแรกที่เกิดขึ้นในใจก็นึกว่า ซึ่งกรมหลวงดำรงกล่าวว่าเปน กุ ชนิดหนึ่งนั้นผิดไปเสียแล้ว เห็นจะได้อ่านดะ ๆ ไม่ได้พิจารณา หนังสือฉบับนี้มีข้อความแปลกปลาดน่าฟังอยู่ จะต้องอ่านอิกครั้งหนึ่งในเวลาอื่น

ในเบื้องต้นนั้นความวิตกวิจารณก็เกิดขึ้นว่า ใครหนอจะเปนผู้เรียบเรียงหนังสือฉบับนี้ มีหลักอันหนึ่งที่ว่าได้มาแต่วังน่า แต่จะเปนใครในวังน่าได้เรียบเรียงฤๅประการใด จึงตั้งวงคิดหาตัวผู้เรียงจนถึงได้เขียนลงเปนจดหมายบรรทึก ดังที่ได้คัดลงไว้ต่อไปนี้

“หนังสือที่จดลงนี้ ปรากฎโดยโวหารแลทางดำเนินความ ใช้ถ้อยคำเปนสำนวนจดหมายผู้หญิง คงจะเปนเจ้านาย แต่จะเปนเจ้านายเก่าฤๅเจ้านายใหม่ซึ่งเปนราชตระกูลนี้ แต่เนื่องในเชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี ฤๅจะมีเกี่ยวข้องในเชื้อวงษ์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งได้เปนตระกูลในเวลานั้นคราวหนึ่งก็อาจจะเปนได้”

“ข้อที่เห็นเช่นนี้ เพราะผู้เขียนนับถือเจ้ากรุงธนบุรี เรียกว่าแผ่นดินต้น ใช้ถ้อยคำกล่าวถึงโดยความเคารพ เหมือนอย่างลูกหลานเจ้ากรุงธนบุรีพูด ตามที่ได้เคยฟังมาเปนอันมาก เมื่อกล่าวถึงสัญญาวิปลาศก็กล่าวด้วยความเห็นใจ ว่าเปนการบังเอินเปนไปเช่นนั้น ด้วยเปนเวลาเคราะห์กรรม แลเปนเวลาจะสิ้นบุญสิ้นวาศนา เมื่อกล่าวถึงการดุร้ายก็ค่อนจะเปนคำอยู่ข้างอวด ๆ ว่าเก่งกาจฤๅใจฅอเด็ดเดี่ยว อย่างเดียวกันกับลูกหลานขุนหลวงเสือกล่าวถึงขุนหลวงเสือ ยกย่องในการที่มีความเห็นล่วงน่า เช่น รู้สึกตัวว่าสิ้นบุญแล้ว เมื่อเขาเชิญให้บวชก็ยินดีปรีดาที่จะออกบวช ครั้นเมื่อเจ้าบุญมีรามลักษณ์ไปชวนให้สึกก็ไม่ยอมสึก ว่าสิ้นบุญแล้ว อย่าไปสู้เขาเลย ดังนี้เปนต้น แลเปนผู้รู้กิริยาอัชฌาไศรยเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งลูกหลานเขาเล่ากันอยู่ว่า เมื่อจะรับสั่งกับใคร ๆ ย่อมเรียกพระองค์เองว่าพ่อ ดังนี้ ข้าพเจ้าเปนผู้คุ้นเคยในหมู่ลูกหลานเจ้ากรุงธนบุรีมาก คือคุณปลัดเสงี่ยมบุตรพระพงษ์นรินทร์ได้เลี้ยงมา ทั้งได้คุ้นเคยกับเจ้านายผู้หญิงลูกหม่อมเหม็นหลายองค์ จึงได้รู้เรื่องราวของเจ้ากรุงธนบุรี แลพระกิริยาอัชฌาไศรย ทั้งทราบถ้อยคำของลูกหลานเหล่านั้น เคยยกย่องกันอย่างไรด้วย”

“อนึ่งในหนังสือฉบับนี้ กล่าวถึงประสูตรเจ้าฟ้าเหม็น ดูเปนรู้เรื่องราวสนิทสนมมาก จนความที่ไม่จำเปนจะต้องยกขึ้นกล่าวเช่นพระพุทธยอดฟ้า เสด็จพระราชดำเนินตามพระศรีสากยมุนีไปถึงพลับพลา เซ กรมขุนกระษัตรานุชิตประคองพระองค์ไว้ ดังนี้”

“ข้อซึ่งคิดเห็นว่าผู้เขียนตั้งอยู่ในพระบรมราชวงษ์นี้ คือแสดงความเคารพนับถือ ยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้ามาก เช่นเรียกเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึกเปนต้น ทั้งถ้อยคำที่จะออกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ก็ออกพระนามเหมือนอย่างเจ้านายเก่า ๆ รับสั่ง คือเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าว่า สมเด็จพระไอยกา เรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เรียกกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทว่า พระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระไอยกาวังบวรสฐานมงคล เรียกกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ว่า สมเด็จพระบิตุฉาวังบวรสฐานมงคล เรียกกรมพระราชวังหลังว่า พระวังหลัง”

“การที่เรียกพระนามเช่นนี้ ปรากฎว่าหนังสือฉบับนี้ได้เขียนในรัชกาลที่ ๓ ก่อนที่เรียกพระนามตามพระพุทธรูปฉลองพระองค์ เรียกตามแบบกรุงเก่า เปนธรรมเนียมพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสวรรค์คตไปองค์ใหม่เปนขึ้นแทนแล้ว เรียกองค์เก่าว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ์ ถ้าถวายพระเพลิงแล้ว บางทีก็เปลี่ยนเปนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถ้ามีองค์ที่ ๓ ขึ้น องค์ที่ ๑ ก็เปนสมเด็จพระไอยกา องค์ที่ ๒ เปนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง นี่เปนคำใช้อย่างเขียนหนังสือฤๅพูดทางราชการ แต่ถ้าเปนคำพูด มักจะเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า แผ่นดินต้น รัชกาลที่ ๒ ว่า แผ่นดินกลาง อันเปนเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจว่า ถ้าเช่นนั้น รัชกาลประจุบันก็เปนแผ่นดินปลาย เปนคำไม่เพราะ จึงโปรดให้ใช้พระนามตามพระพุทธรูปฉลองพระองค์เสีย แต่ถึงดังนั้น เจ้านายผู้ใหญ่ท่านยังรับสั่งอยู่ตามเดิม ไม่ใคร่จะเปลี่ยนแปลงไปได้จนเคยได้ยิน หนังสือฉบับนี้แต่งก่อนบัญญัติให้เรียกพระนาม แต่เมื่อฟังก็เข้าใจได้ง่าย เพราะเคยได้ยินมา”

“ข้อซึ่งคเนว่าจะเกี่ยวข้องเปนเชื้อตระกูลเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เพราะเห็นว่ากล่าวถึงเจ้านครแลเรื่องพระพงษ์นรินทร์ ต้องกันกับที่เคยได้ยินจากเชื้อสายพระพงษ์นรินทร์ มีคุณปลัดเสงี่ยมเปนต้น เล่าความเกี่ยวข้องพัวพันกันในเชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี กับพวกนครศรีธรรมราช มีเรื่องราวมาก จึงน่าจะสันนิษฐานว่า ผู้เขียนหนังสือฉบับนี้ เปนเจ้านายในราชตระกูลนี้ แต่คงจะมีเชื้อสายเกี่ยวพันเชื้อวงษ์เจ้ากรุงธนบุรี แลนครศรีธรรมราชด้วย”

“เมื่อเห็นความเช่นนี้แล้ว จึงตั้งวงพิจารณากันให้แคบเข้าว่าหนังสือนี้เปนสำนวนผู้หญิงฤๅผู้ชาย ก็เห็นปรากฎชัดว่าเปนสำนวนผู้หญิง แลถ้าเปนผู้หญิงแล้ว จะเปนชาววังหลวงฤๅชาววังน่า เทียบสำนวนคล้ายพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้าประทุมเมศ ซึ่งเขียนหนังสือประทานพรในเวลาสรงน้ำสงกรานต์ทุก ๆ ปี จึงลงเนื้อความเห็นเอาว่าคงเปนเจ้านายผู้หญิงในวังน่า ข้อความที่แต่งนั้นไม่ใช่เปนจดหมายไม่ใช่พงษาวดาร เปนแต่นึกอะไรได้ก็จดลงไป ความรู้การงานรู้มากเปนช่อง ๆ แต่ไม่เปนหลักถานในทางราชการ รู้เรื่องในวังเลอียดกว่านอกวัง หนังสือฉบับนี้พึ่งได้เขียนในรัชกาลที่ ๓ แลไม่ทันแล้วสำเร็จ ฤๅจะไม่กล้าเขียนแผ่นดินประจุบันหยุดไว้เสีย ฤๅห่างเหินไปไม่รู้การประจุบันอย่างใดอย่างหนึ่ง”

“เมื่อได้ความเช่นนี้แล้ว ก็ไปตรองหาเจ้านายวังน่าทีเดียว เจ้านายวังน่าที่เปนพระราชนัดดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ก็มีสองพวก คือพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้าในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๓ พระองค์เจ้าในกรมพระราชวังบวร มหาศักดิพลเสพย์”

“เมื่อเช่นนี้ตรวจดูก็เห็นแต่พระองค์เจ้าประชุมวงษ์ แลพระองค์เจ้าขนิษฐา ซึ่งเปนพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๒ อันเจ้าจอมมารดาเปนธิดาเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อเปนพระองค์เจ้ามีนามว่า พระองค์เจ้าปัญจปาปี ภายหลังเรียกว่าคุณสำลี เปนกำพร้า รักใคร่กันกับเจ้าฟ้าเหม็นพี่ชายมาก ครั้นเมื่อเจ้าฟ้าเหม็นเปนโทษ จึงพลอยต้องถูกประหารชีวิตรด้วย ฤๅมารดาคุณสำลี จะเปนชาวนครดอกกระมัง ถ้าเช่นนั้นก็จะสมกับตั้งเกณฑ์ไว้ ๓ ข้อ”

“อิกองค์หนึ่งก็พระองค์เจ้าอรุณ อันเปนพระเจ้าบวรวงษ์เธอชั้น ๓ ด้วยเจ้าจอมมารดากรมพระราชวังก็เปนบุตรีเจ้าพระยานคร (พัด) เจ้าจอมมารดาพระองค์อรุณก็เปนน้องท่านผู้หญิงอิน ภรรยาเจ้าพระยานคร (น้อย) ไม่ปรากฎว่าเกี่ยวข้องอันใดกับเจ้ากรุงธนบุรี ฤๅจะเกี่ยวพันกัน ด้วยเหตุที่กรุงธนบุรีกับเมืองนครเกี่ยวพันกันมาก เช่นกล่าวมาแล้ว แต่หากจะไม่รู้”

“ใน ๓ พระองค์นี้ พระองค์เจ้าขนิษฐาแลพระองค์เจ้าอรุณรู้จักคุ้นเคยอยู่ เพราะท่านอยู่จนแผ่นดินประจุบันนี้ แต่องค์แรก ถ้าหากว่าแต่ง น่ากลัวจะฉาดฉานเกินนี้ เพราะดูท่านอยู่ข้างเก่งกาจอยู่ แต่องค์หลังดูท่านจะเรียบนัก น่าจะไม่แต่ง อิกประการหนึ่ง เหตุไฉนท่านจะไปนิ่งเงียบอยู่เพียงแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้า ท่านคงจะต้องกล่าวถึงกรมพระราชวังพระบิดาของท่าน อันเปนที่ควรจะรื่นเริง เพราะมีบุญเกินปรกติ”

“คราวนี้ยังเหลืออยู่องค์เดียวแต่พระองค์เจ้าประชุมวงษ์ ซึ่งถึงว่าจะสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ ก็สิ้นพระชนม์เสียแต่แรก ไม่ทันรู้จักท่าน แต่ดูจะเปนผู้ใหญ่มีหลักถานมั่นคง พระชัณษาคงจะราวกันกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ก็คือจวน ๒๐ ปีฤๅ ๒๐ ปีแล้วตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ เรื่องราวที่แต่ง ความมากอยู่ในรัชกาลที่ ๑ บางทีท่านจะเสด็จเข้ามาอยู่ในวัง ความในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าน้อยไป ท่านคงเสด็จขึ้นไปอยู่วังน่า ครั้นเมื่อวังน่าสวรรค์คตแล้ว เสด็จกลับลงมาอยู่วังหลวง ในรัชกาลที่ ๓ กรมพระราชวังสวรรค์คตแล้ว ก็เสด็จขึ้นไปเปนแม่วังอยู่วังน่า ความจึงได้ไปขาดอยู่เพียงนั้น จึงปลงใจว่าน่าจะเปนพระองค์เจ้าประชุมวงษ์ เปนผู้ได้เรียงจดหมายฉบับนี้”

ครั้นเมื่อเขียนข้อความข้างต้นนี้แล้วเสร็จ มีเวลาว่างได้อ่านหนังสือนั้นซ้ำอิกทีหนึ่ง ไปกระทบคำที่สงไสยเข้าคำหนึ่ง มีแต่ว่ากรมหมื่นไม่ได้ออกพระนาม นึกว่าคนที่คัดจะคัดตก เหมือนอย่างที่มีในหนังสือแห่งหนึ่งว่า เจ้าทัศพงษ์ เจ้า แล้วก็เลยไปอื่น สงไสยว่าตั้งใจจะเขียนว่าทัศไพ แต่ตกเสีย เห็นแต่วันแรกแล้ว มาอ่านวันหลังนี้จึงไปพบเข้าอิกแห่งหนึ่งมีความว่า “วันเดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง ปีมโรงสัมฤทธิศก เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ ไว้พระศพบนปราสาท พระโองการตรัสสั่งกรมหมื่น ว่าสิ้นลูกคนนี้แล้ว พระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน อากรขนอนตลาดเจ้าดูชำระเถิดอย่าทูลเลย” อิกแห่งหนึ่งว่า “ณเดือนห้าจุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก กรมหมื่นสิ้นชนมายุ ประชุมเพลิงณวัดราชบุรณ” เมื่อได้ความเช่นนี้ก็มาปรากฎชัดว่า ข้อความที่คิดเดามาแต่แรกนั้นผิดหมดทั้งสิ้น กรมหมื่นองค์นี้ คือกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ พระนามเดิมหม่อมมุก เปนบุตรเจ้าพระยามหาสมบัติกรุงเก่า เปนพี่เจ้าพระยาพลเทพ (ปิ่น) บิดาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ซึ่งเปนตาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ เมื่อแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรีได้เปนนายกวด เปนพระสามีของเจ้ากุ พระเจ้าน้องนางเธอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรียกกันว่า เจ้าครอกวัดโพ เพราะตั้งวังอยู่ท้ายสนมแถบวิหารพระนอนวัดพระเชตุพน เจ้าครอกวัดโพนี้ ได้เก็บตลาดท้ายสนมจนตลอดพระชนมายุ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ ต่อเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว กรมหมื่นอับศรสุดาเทพจึงได้เปนผู้เก็บต่อมา ถ้อยคำที่จดลงไว้ ไม่ใช้ว่าสิ้นพระชนม์ ไม่ใช้ว่าถวายพระเพลิง เช่นจดเรื่องสิ้นพระชนม์ของพระองค์อื่น นี่ก็เห็นปรากฎถูกต้องตามข้อความที่เล่ากันมาว่า กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ไม่ไว้พระองค์เปนเจ้าแท้ กรมหลวงนรินทรเทวีก็อยู่ข้างจะกดขี่ มีตัวอย่างกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงเล่าว่า เจ้านายไปทูลลาโสกันต์ กรมหลวงนรินทรเทวีประทับบนยกพื้นในประธานท้องพระโรง เรียกเจ้าที่ไปทูลลาให้ขึ้นไปนั่งบนยกพื้นด้วย แต่กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์มานั่งอยู่ที่พื้นเฉลียง แลหมอบกราบเจ้านายที่ไปทูลลา เพราะเหตุฉนั้นผู้แต่งหนังสือนี้ จึงได้ใช้คำผิดกับเจ้านายองค์อื่นสิ้นพระชนม์ กรมหลวงนรินทรเทวี กับกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์มีพระโอรส เปนกรมหมื่นนรินทรเทพองค์หนึ่ง กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์องค์หนึ่ง ครั้นเมื่อขยายพระบรมมหาราชวังออกไปชิดวัดพระเชตุพน จึงได้โปรดให้ย้ายไปอยู่ในที่ซึ่งเปนวังบุรพาภิรมย์เดี๋ยวนี้ กรมหมื่นนเรนทร์เปนปู่พระยาอร่ามมณเฑียรทุกวันนี้ ครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ พระราชทานเฉลิมพระนามพระอัฐิขึ้นเปนกรมหลวงนรินทรเทวี ด้วยเหตุดังนี้ ท่านจึงสนิทชิดชมกับรัชกาลที่ ๑ มาก ข้อที่เรียกกรมหมื่นเปล่า ก็เหตุที่เปนพระสามีของท่าน แลยิ่งทำให้ปรากฎว่าหนังสือฉบับนี้ ท่านไม่ได้มุ่งหมายที่จะเรียงเปนพงษาวดารฤๅจดหมายเหตุให้ผู้อื่นอ่าน เปนแต่ลูกหลานพี่น้องไปไต่ถามการเก่า ๆ ก็เล่าให้ฟังแล้วเขียนลงไว้ ที่นึกได้ก็เขียนนึกไม่ได้ก็แล้วไป ประมาณพระชนมายุ คงจะได้ประสูตรแต่ครั้งกรุงเก่ายังไม่เสีย เทียบด้วยพระชนมายุพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ซึ่งประสูตรเมื่อปีกรุงเสีย ท่านคงแก่กว่าพระพุทธเลิศหล้าหลายปี ตั้ง ๑๐ ปีขึ้นไป พระพุทธเลิศหล้าสวรรค์คต พระชนมายุนับเรียงปีว่า ๕๘ เมื่อเรียงหนังสือฉบับนี้ในรัชกาลที่ ๓ พระชนมายุกรมหลวงนรินทรเทวี คงอยู่ในเรือน ๗๐ เมื่อได้ความดังนี้ ก็เปนที่โล่งใจเปนอันมาก ไม่มีท่าทางที่จะพลาดพลั้งเปนอย่างอื่นเลยแน่แล้ว ข้อความทั้งปวงที่กล่าว ยุติด้วยเหตุผล คือท่านทรงทราบการเรื่องกรุงเสียโดยฟังคำเล่า ได้ทรงเห็นการในแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรีเอง เพราะเหตุที่พระมารดาเจ้าฟ้าเหม็นเปนหลานของท่าน ท่านจึงทราบเรื่องแมลงมุมแลจิ้งจกตก เพราะเหตุที่พระสามีของท่านเปนข้าราชการในครั้งกรุงธนบุรี จึงได้นับถือเจ้ากรุงธนบุรี เพราะเหตุที่ท่านเข้าวังออกวังอยู่ จึงทราบการในวัง ข้อความที่ได้จดลงไว้นี้ ถึงว่ามีที่เคลื่อนคลาศแลห่างเหินอยู่บ้าง เปนอย่างที่คนแก่พูดกัน แต่มีข้อสำคัญซึ่งน่ารู้ ไม่ได้รู้จากที่อื่นอยู่หลายอย่าง ที่เปนสำคัญในทางราชประเพณี คือเจ้าต่างกรมมีเจ้ากรมเปนพระยาเรียก กรมพระยา ในทางคำยกย่องเจ้าฟ้าฝ่ายในเรียก ตรัสสา บานพระวิหารวัดสุทัศน์ เปนฝีพระหัดถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงสลักเปนต้น เปนเรื่องที่น่ารู้ฤๅไม่

แต่ชื่อซึ่งผู้คัดจดหมายนี้เขียนมาว่า “จดหมายเหตุตั้งแต่กรุงเก่าเสียแล้วเจ้าตากมาตั้งกรุงธนบุรี” นั้นไม่ได้เรื่อง คงจะเปนด้วยผู้ได้คัดหนังสือนี้จากฉบับเดิม นึกไม่ออกว่าจะจดชื่ออย่างไร ก็ตั้งชื่อไปตามบุญตามกรรม ผิดจากความจริงที่ได้จากหนังสือนี้ จึงได้แก้เสียใหม่เช่นจ่าไว้ข้างน่าว่า “จดหมายความทรงจำ ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่จุลศักราช ๑๑๒๙ ถึงจุลศักราช ๑๑๘๒ เปนเวลา ๕๓ ปี”

พระที่นั่งอัมพรสถาน

วันที่ ๒๘ มิถุนายน รัตนโกสินทร๔๑ศก ๑๒๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ