อธิบายบทเสภา เล่ม ๓

บทเสภาที่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย คือในฉบับหมอสมิธพิมพ์นั้นเป็นต้น สังเกตดูสำนวนกลอนเข้าใจว่า เมื่อกวีช่วยกันชำระตกแต่งใหม่ในรัชกาลที่ ๒ ทำแต่ต้นมาเพียงจบตอนกำเนิดพลายงามซึ่งจัดเป็นตอนที่ ๒๔ อยู่ในเล่ม ๒ ของฉบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้ ครั้นกวีมาช่วยกันชำระตกแต่งบทเสภาอิกคราว ๑ เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ไปจับตั้งต้นแต่ตอนแต่งงานพระไวย คือ แต่ตอนที่ ๓๓ ในเล่ม ๓ นี้ ไปจนจบตอนที่ ๔๒ เพียงสิ้นเรื่องนางสร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ แต่บทเสภาตอนกลางอันว่าด้วยเรื่องตีเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่พระเจ้าเชียงใหม่ขอนางสร้อยทอง จนสมเด็จพระพันวษาปล่อยพระเจ้าเชียงใหม่กลับไปเมือง เห็นจะไม่ได้ตรวจชำระใหม่ใน ๒ ยุคนั้น สังเกตดูเป็นสำนวนเก่า อยู่ข้างเร่อร่าไม่เรียบร้อยสนิทสนมเหมือนสำนวนในระยะข้างหน้าแลข้างหลัง ความข้อนี้ทำนองจะปรากฏแก่กวีเมื่อรวบรวมบทเสภาเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน จึงมีกวีในรัชกาลที่ ๔ มีครูแจ้งเป็นต้น แต่งบทเสภาตอนตีเมืองเชียงใหม่ประชันบทเดิม ได้มาเมื่อหาต้นฉบับสอบชำระเสภาพิมพ์ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณคราวนี้หลายสำนวน มีที่แต่งดีๆ จะทิ้งเสียน่าเสียดาย ด้วยการที่กรรมการหอพระสมุดฯ พิมพ์บทเสภาคราวนี้ ประสงค์จะรักษาหนังสือดีในทางวรรณคดีเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อตรวจสอบเทียบเคียงกัน เห็นว่าตอนใดบทแต่งประชันเขาแต่งดีกว่าบทเดิม แลดีถึงสมควรจะยกย่องในทางวรรณคดีได้ ก็เอาบทประชันลงแทนบทเดิม เหมือนอย่างตอนกำเนิดกุมารทองลูกนางบัวคลี่ ที่พิมพ์ไว้ในตอนที่ ๑๖ เล่ม ๒ นั้นเป็นตัวอย่าง

บทเสภาในเล่ม ๓ นี้ ที่เป็นบทประชันเลือกลงมาแทนบทเดิมมีบางตอน จะชี้แจงต่อไปโดยลำดับ คือ :-

ตอนที่ ๒๗ เรื่องพลายงามอาสา ใครแต่งหาทราบไม่ ข้างต้นใช้บทเดิม แต่งต่อใหม่ตรงที่สมเด็จพระพันวษากริ้วด้วยไม่มีใครอาสาไปตีเมืองเชียงใหม่ แก้ไขเรื่องที่พลายงามเข้าอาสาให้แยบคายขึ้น

ตอนที่ ๒๘ เรื่องพลายงามได้นางศรีมาลา เป็นสำนวนเดียวกับตอนที่ ๒๗ ต่อมา ความในตอนนี้เขาแก้เนื้อเรื่องแห่งหนึ่ง บทเดิมพอขุนแผนพลายงามขึ้นไปถึงเมืองพิจิตร พระพิจิตรก็ให้นิมนต์พระมาทำพิธีแต่งงานพลายงามกับนางศรีมาลา ทำให้เข้าใจว่าได้ขอร้องตกลงกันไว้แต่ก่อนนั้นแล้ว บทที่แต่งประชัน เขาแต่งให้พลายงามไปเห็นนางศรีมาลาแล้วมีความรักใคร่จึงลอบเข้าหา เห็นว่าที่เข้าแก้เป็นเช่นนี้ถูกต้องสมต้นสมปลาย เพราะเมื่อกองทัพกลับ สมเด็จพระพันวษาทรงตั้งพลายงามเป็นจมื่นไวย แล้วมีรับสั่งให้แต่งงานกับนางศรีมาลา ขุนช้างมาช่วยงานจึงเกิดวิวาทกัน ก็ถ้าแต่งงานที่เมืองพิจิตรแล้ว ทำไมจะมาแต่งงานกันใหม่อิก ถึงคำขุนแผนกราบทูล ในบทเดิมก็ว่า (พระไวย)

“เมื่อไปทัพได้กับศรีมาลา ลูกพระยาพิจิตรบุรี แต่รักใคร่ยังมิได้ทำงานการ เขาผ่อนผัดนัดงานมาเดือนสี่” เห็นว่าเรื่องที่ถูกควรเป็นอย่างที่แต่งในบทประชัน แต่หนังสือบทที่ได้มาฉบับขาดเพียงพลายงามเข้าไปถึงเตียงนอนนางศรีมาลา ต่อนั้นต้องช่วยกันแต่งในหอพระสมุดฯ ไปจนถึงบทพลายงามชมดงจึงต่อบทของครูแจ้งไปจนตลอดตอน

บทที่ ๒๙ เรื่องขุนแผนพลายงามแก้พระท้ายน้ำเป็นของครูแจ้งแต่ง ดูเหมือนจะสมมตได้ว่าตอนนี้เป็นดีอย่างยอดของสำนวนเสภาครูแจ้ง ส่วนตัวเรื่องแก้ไขบ้าง เช่นวิธีรบแลชื่อแม่ทัพเชียงใหม่ผิดกับในเสภาเดิม แต่เป็นเพียงพลความเท่านั้น

บทที่ ๓๐ เรื่องขุนแผนพลายงามสะกดพระเจ้าเชียงใหม่ เป็นของครูแจ้งแต่งเหมือนกับตอนก่อน

บทที่ ๓๑ เรื่องขุนแผนพลายงามยกทัพกลับ ก็เป็นเสภาครูแจ้งเหมือนกัน แต่ต้องแก้ไขในหอพระสมุดฯ หน่อยหนึ่ง ตรงเมื่อขุนแผนพลายงามกลับมาถึงเมืองพิจิตร ให้เรื่องนางศรีมาลาเข้ากับตอนที่ ๒๘

บทที่ ๓๒ เรื่องถวายนางสร้อยทองสร้อยฟ้า ตอนนี้เป็นบทเดิม ครูแจ้งแต่งเพิ่มเติมแต่เล็กน้อย แต่ข้างท้ายตรงพระเจ้าเชียงใหม่ครวญขากลับขึ้นไปเมือง ครูแจ้งเอาแผนที่บางกอกว่าไม่เข้าทีจึงตัดออกเสีย เอาบทเดิมเข้าแทน

บทเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณในเล่ม ๓ มีบทเสภาที่ยังไม่เคยพิมพ์มาแต่ก่อน ในเรื่องตีเมืองเชียงใหม่ ๕ ตอน กับเรื่องจระเข้เถรขวาดอิกตอน ๑ รวมเป็น ๖ ตอนด้วยกัน นอกจากนั้นเป็นบทเดิมทั้งสิ้น เป็นแต่ตรวจชำระให้เรียบร้อยดีขึ้น

บทเสภาตอนที่ ๔๓ เรื่องจระเข้เถรขวาดนั้น ที่จริงเป็นเสภาแต่งแทรกเรื่อง เห็นจะแต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ แต่ฉบับที่พบในคราวนี้มีถึง ๓ ความ ความที่ ๑ ดูเป็นสำนวนเก่า กลอนไม่สู้ดีนัก ความที่ ๒ เป็นสำนวนแต่งใหม่เกลี้ยงเกลาดีแต่ยังสั้น ครูแจ้งเอาความที่ ๒ นั้นมาแต่งแทรกเสริมขยายให้พิสดารออกไปเป็นอิกความ ๑ ของครูแจ้งดีกว่า ๒ สำนวนที่แต่งมาแต่ก่อน จึงได้เลือกเอามาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ จบเพียงเล่ม ๓ เท่านี้ กรรมการเห็นว่าบทเสภาเดิมต่อนี้ไป ทั้งตัวเรื่องแลสำนวนกลอนไม่ควรนับว่าเป็นสาระในทางวรรณคดี จึงไม่ชำระพิมพ์

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ