๏ จะกล่าวถึงขุนแผนแสนสนิท |
เรืองฤทธิฦๅจบพิภพไหว |
ได้กินเมืองกาญจน์บุรีไม่มีภัย |
สมสนิทพิสมัยด้วยสองนาง |
ลาวทองกับเจ้าแก้วกิริยา |
ปฏิบัติวัตถาไม่ห่างข้าง |
คลึงเคล้าเช้าเย็นไม่เว้นวาง |
แต่ระคางขุ่นข้องให้หมองใจ |
ด้วยอีสร้อยฟ้ามันทำเข็ญ |
คบเถรทำให้ลูกกูหลงใหล |
นิ่งฉะนี้น่าที่ออหมื่นไวย |
จะเสียคนป่นไปเป็นชาติกา |
คิดแล้วจึงเรียกเจ้าลาวทอง |
สั่งน้องเจ้าจงอยู่ดูเคหา |
แต่งตัวแล้วเรียกแก้วกิริยา |
มาขึ้นช้างงาสง่างาม |
สัปคับประดับกูบละไม |
บ่าวไพรพรั่งพร้อมล้อมหลาม |
ออกจากบ้านบากตรงเข้าดงราม |
ข้ามทุ่งธารแถวแนวลำเนา |
สามวันครึ่งก็ถึงอยุธยา |
พอพระพิจิตรบุษบามาถึงเข้า |
แลไปใครหนอคุณพ่อเรา |
ปลงช้างวางเข้าไปวันทา |
จึงถามความพลันในทันใด |
มีธุระสิ่งไรนะเจ้าขา |
ทั้งคุณพ่อคุณแม่บุษบา |
ลงมาจะประสงค์สิ่งอันใด ฯ |
๏ ครานั้นพระพิจิตรบุษบา |
บอกว่าศรีมาลาเจ้าเป็นไข้ |
เจ็บหนักเจียนจักถึงบรรลัย |
ใช้อ้ายทิดขึ้นไปจึงได้มา |
ขุนแผนบอกว่ามิใช่ไข้ |
เชิญคุณพ่อขึ้นไปบนเคหา |
จะได้รู้ร้ายดีศรีมาลา |
ว่าแล้วก็พากันขึ้นไป |
ทั้งพระพิจิตรบุษบาข้าคน |
สับสนอยู่ที่หอนั่งใหญ่ |
พระไวยเห็นพ่อมาระอาใจ |
ออกไปไหว้บิดาแลมารดา ฯ |
๏ ครานั้นศรีมาลานารี |
หมองศรีเศร้าสร้อยละห้อยหา |
รู้ว่าพ่อแม่ทั้งสองมา |
ก็ไคลคลาจากห้องด้วยหมองใจ |
กราบเท้าบิดาแลมารดา |
นางโศกาสะอึกสะอื้นไห้ |
เล่าความตามจริงทุกสิ่งไป |
เหลือใจแล้วที่ลูกจะทานทน |
ดูเถิดหลังพังแล้วล้วนแนวไม้ |
เป็นริ้วรอยลายไปทุกแห่งหน |
ว่าเป็นชู้กับน้องชายพลายชุมพล |
พระไวยเชื่อคำคนเขาเจรจา |
แม้นเขาว่าแก้วเกิดขึ้นในท้อง |
ก็จะต้องแหวะออกเหมือนเขาว่า |
อย่างนี้น่าที่จะมรณา |
ว่าพลางโศกาสะอื้นไป ฯ |
๏ พระพิจิตรบุษบาได้แจ้งการ |
แสนสงสารไม่กลั้นน้ำตาได้ |
น้ำตาคลอตาพลางว่าไป |
เป็นไฉนฉะนี้นะลูกอา |
เพราะข้ารักขุนแผนแว่นไว |
จึงยินยอมยกให้เสนหา |
แต่แรกเริ่มเดิมนั้นได้สัญญา |
ว่าลูกข้ามันไม่สู้รู้อะไร |
ด้วยเป็นชาวบ้านนอกคอกนา |
กิริยาพาทีหาดีไม่ |
ถึงจะผิดพลั้งบ้างเป็นอย่างไร |
เจ้าก็ไม่ด่าตีศรีมาลา |
ด้วยคำมั่นสัญญาว่าดังนี้ |
ไยจึงตีด่าเล่นเป็นหนักหนา |
ดังเชลยตีทัพจับได้มา |
เสียแรงข้ารักเจ้าเป็นเท่าไร |
ส่วนพ่อแม่ของเจ้าเมื่อเราเลี้ยง |
กล่อมเกลี้ยงมิให้หมองน้ำใจได้ |
ลูกข้าข้าก็รักเพียงดวงใจ |
แต่ริ้นไรก็มิได้ให้ตอมตัว |
ถึงจะโบยตีมิให้หนัก |
จนลูกรักเติบใหญ่ได้มีผัว |
ยกให้หมายใจจะฝากตัว |
กลับมาชั่วช้าได้ให้อายคน ฯ |
๏ ครานั้นพระหมื่นไวยพลายงาม |
ฟังความคั่งแค้นทุกขุมขน |
กระทบกระแทกแดกดันให้บัดดล |
ฉันนี้จนไม่รู้ที่จะเจรจา |
อันมีเมียสองก็ต้องห้าม |
ตามคำโบราณท่านย่อมว่า |
มันเกาะแกะเกินก้ำเป็นธรรมดา |
ใช่ว่าจะไม่เลี้ยงให้เที่ยงธรรม |
ศรีมาลาข้าก็ให้เป็นเมียหลวง |
ข้าไททั้งปวงไม่เกินก้ำ |
ถึงสร้อยฟ้าหล่อนก็ว่าอยู่ในคำ |
ทั้งให้ถือน้ำทุกปีมา |
เงินทองของข้าวเท่าใดใด |
ก็มอบไว้ให้หมดทั้งเคหา |
ครั้นว่าเห็นสิ่งไรไม่ชอบตา |
ฉันว่าหล่อนก็เถียงขึ้นเสียงดัง |
ทำเป็นโกรธบ่าวข้าด่าประชด |
เหลือจะอดลูกนี้จึงตีมั่ง |
ทำแต่พอให้หลาบปราบพอฟัง |
ใช่จะตั้งเคี่ยวเข็ญดังเจรจา |
เจ้าชีวิตชุบเลี้ยงถึงเพียงนี้ |
มีเมียไม่ดีก็ขายหน้า |
เพื่อนขุนนางทั้งสิ้นจะนินทา |
ใช่ว่าจะไม่รักหล่อนเมื่อไร |
ฤๅคุณพ่อกับคุณแม่บุษบา |
หารู้ทะเลาะตีด่ากันบ้างไม่ |
ประเพณีมีมาแต่ก่อนไร |
มิใช่ใจใครจะลุถึงโสดา |
ธรรมดาว่ามนุษย์ปุถุชน |
ยังมักหมิ่นมืดมนด้วยโมหา |
จะให้หมดโมโหโกรธา |
สุดปัญญาที่ลูกจะผ่อนปรน |
คุณพ่อดูแต่ลิ้นอยู่กับฟัน |
กระทบกันก็ไม่รู้ว่ากี่หน |
จะไม่ให้ตีรันฉันก็จน |
พ่อแม่ก็จะป่นเป็นหว่านไป ฯ |
๏ ครานั้นพระกาญจน์บุรีศรีสงคราม |
ได้ฟังความลูกว่าไม่นิ่งได้ |
อย่าพักพูดเลยเจ้าพอเข้าใจ |
สารพัดที่จะได้มารู้ความ |
เพราะรักดอกจึงรีบลงมาหา |
จะได้เห็นประจักษ์ตาว่าเสี้ยนหนาม |
พ่อดูหน้าเจ้าเป็นฝ้าเหมือนทาคราม |
มีเมียสองต้องห้ามแต่ไรมา |
เหมือนนิทานท่านท้าวยศวิมล |
มเหสีสองคนเป็นซ้ายขวา |
ชื่อว่าจันท์เทวีกับจันทา |
ทั้งสองรานั้นร่วมมารดากัน |
แต่พี่น้องท้องเดียวยังทำได้ |
คบอีเถ้าจัญไรโกหกนั่น |
ทำเสน่ห์เล่ห์กลทุกสิ่งอัน |
จนท้าวนั้นลุ่มหลงปลงฤทัย |
นางจันท์เทวีไม่มีผิด |
มันเสียดส่อข้อคิดให้ขับไล่ |
อันเรื่องนี้เจ้าก็รู้อยู่แก่ใจ |
เป็นไฉนจึงประมาทนะลูกอา |
คนดีอยุธยาหาสิ้นไม่ |
เจ้าอย่าถือตัวไปฟังพ่อว่า |
พ่อรู้แน่แล้วว่าลูกนี้ถูกยา |
เจ้าไม่เชื่อบิดาจะเสียคน ฯ |
๏ สร้อยฟ้ากับอีไหมอยู่ในห้อง |
ได้ฟังหัวพองสยองขน |
เปิดหน้าต่างลอยหน้าว่าลนลน |
ใครทำเวทมนตร์เอาตัวมา |
ข้างนี้รู้อยู่แล้วว่าพระไวย |
ต้องยาแฝดแปดไปจนมืดหน้า |
ทุกเช้าค่ำร่ำละห้อยคอยบิดา |
เมื่อไรจะลงมาได้จับมัน |
บัดนี้คุณพ่อมาน่าดีใจ |
จะได้จับอ้ายคนมนตร์ขยัน |
รูปร่างอย่างไรได้เห็นกัน |
อย่าช้าเลยตะวันจะค่ำไป ฯ |
๏ พระกาญจน์บุรีชี้หน้าด่าอึง |
อุเหม่มึงอย่าท้าอีหน้าไพร่ |
อีเม้ยเฮ้ยอย่าช้าเอ็งจงไป |
หยิบกระจกที่ออไวยเขาส่องมา |
อีเม้ยรับกลับเข้าในห้องใน |
หยิบกระจกบานใหญ่กะหลาป๋า |
เทศแท้เที่ยงดีมีราคา |
เอาออกมาให้ขุนแผนผู้แว่นไว |
ขุนแผนผินรับจับกระจก |
พลางหยิบยกกระดานชนวนใหญ่ |
มาขีดเขียนเลขยันต์ลงทันใด |
แล้วลบผงลงใส่กระจกพลัน |
โอมอ่านมนตร์ครบจบศีรษะ |
ขอเดชะพระเวทวิเศษขยัน |
ถ้าใครทำมนตร์ยาใจอาธรรม์ |
จงปรากฏเห็นกันให้ทันตา |
ก็เกิดเป็นรูปนิมิตติดกระจก |
อกต่ออกอิงแอบเข้าแนบหน้า |
ใบรักรัดกระสันกันสองรา |
ขุนแผนฮาดังลั่นนั่นเป็นไร |
พระพิจิตรบุษบากับข้าคน |
ต่างเห็นมนตร์สัจจังทั้งเรือนใหญ่ |
ขุนแผนหยิบยื่นให้หมื่นไวย |
เอ็งดูดู๋นี่อะไรให้ว่ามา ฯ |
๏ พระหมื่นไวยเมินหน้าหาดูไม่ |
ข้าเข้าใจอยู่นักไม่พักว่า |
ถ้าทำมั่งก็เป็นเช่นบิดา |
ใช่ตัวข้าโง่เง่าไม่เท่าทัน |
แม้นไม่ดีที่ไหนจะพ้นโทษ |
เมื่อทรงโปรดให้ไปตีเชียงใหม่นั่น |
จึงได้มีความสุขทุกคืนวัน |
เพราะพ่อนั้นรักที่ศรีมาลา |
ถึงจะทำความผิดสักเท่าไร |
พ่อก็เข้ากันไปมิได้ว่า |
ข้าทำไม่ได้เช่นใจของบิดา |
ใครผิดก็ต้องว่าตามจริงไป ฯ |
๏ ขุนแผนชี้หน้าด่าอึง |
อุเหม่มึงลำเลิกพ่อเล่นได้ |
ลุกฉวยดุ้นแสมแร่เข้าไป |
พระหมื่นไวยวิ่งหาย่าช่วยที ฯ |
๏ ทองประศรีตะแกโกรธกระโดดโหยง |
ทุดอ้ายบ้าลำโพงตายโหงผี |
ข่มเหงหลานกูไยไอ้อัปรีย์ |
มึงอวดว่าตัวดีมีวิชา |
จองหองว่าส่องกระจกได้ |
เข้าใจว่ายิ่งยวดพูดอวดหมา |
มึงทำเป็นกูเห็นอยู่อัตรา |
กูไม่ปรารถนาจะเชื่อใคร |
ทำไมกับเล่นกลให้คนดู |
อ้ายแขกตรังกานูก็เล่นได้ |
มันโยนลูกทองคลีเป็นสี่ใบ |
อมฟืนอมไฟได้แดงแดง ฯ |
๏ พระพิจิตรบุษบาก็ตกใจ |
ร้องห้ามลูกไปจนเสียงแห้ง |
ฉุดชายกระเบนรั้งกำลังแรง |
บุษบาคร่าแย่งเอาไม้ไป |
ขุนแผนยั้งหยุดให้สุดคิด |
ด้วยเกรงพระพิจิตรผู้เป็นใหญ่ |
บุษบาจึงว่ากับพระไวย |
จะขอลาลูกไปเสียสักปี |
อลักเอลื่อเหลือทนด้วยท้องไส้ |
เมื่อคลอดลูกแล้วจะให้มาอยู่นี่ |
จะตั้งเคี่ยวเข็ญกันรันตี |
น่าที่ศรีมาลาจะบรรลัย ฯ |
๏ ครานั้นหมื่นไวยเจ้าพลายงาม |
ฟังความแค้นคั่งดังเพลิงไหม้ |
กระทบกระแทกแดกดันให้ทันใด |
ช้าอยู่ไยเล่าหม่อมศรีมาลา |
จัดแจงเงินทองของเจ้า |
เร็วเข้าขนลงไปตีนท่า |
ไปอยู่เมืองพิจิตรกับบิดา |
ต่อคลอดลูกออกมาสักห้าคน |
จึงมาอยู่กับเราเหมือนเก่าก่อน |
หม่อมแม่ท่านจะสอนให้เป็นผล |
ไปเถิดแก้วตาแม่หน้ามน |
ขนของลงบรรทุกเรือกัญญา ฯ |
๏ บุษบาว่าหม่อมเจ้าจอมเขย |
ช่างแง่งอนกะไรเลยเป็นหนักหนา |
กระทบกระแทกแดกดันให้มารดา |
มิให้ไปก็ว่ากันโดยดี |
ใช่เรานี้จะลงมาว่าขาน |
ห้าวหาญฮึกฮักให้อึงมี่ |
อีเถ้าเข้าใจเป็นไรมี |
ลำเลิกว่าข้านี้ก็เข้าใจ |
เจ้าเป็นพระนายแม่ยายจน |
ทิ่มตำร่ำประดนแดกดันให้ |
คิดมั่งแต่หลังก็เป็นไร |
เว้นไว้แต่ไม่คลอดเจ้าออกมา |
ถึงจะไม่คิดคุณอีเถ้าบ้าง |
เหลียวดูข้างข้างนี้เถิดหนา |
หัวหงอกออกอร่ามตามกันมา |
เพราะอีศรีมาลาจึงเจ็บใจ |
บ้านเมืองของกูกูก็อยู่ |
ใครมาข่มเหงกูเช่นนี้ไม่ |
มึงแกล้งใช้ให้อ้ายทิดนั้นขึ้นไป |
บอกว่าเป็นไข้จึงลงมา |
ถ้ากูรู้ว่าวิวาทกันกับผัว |
เคืองหัวแม่ตีนกูไม่ดูหน้า |
ตั้งแต่วันนี้ไปกูไม่มา |
ตามแต่วาสนาเถิดขาดกัน |
เจ็บไข้ก็อย่าให้ไปบอกกู |
ผีสางกูไม่ดูเป็นแม่นมั่น |
ถึงมึงจะอยู่ตึกให้ครึกครัน |
กูจนก็จะดั้นไปตามจน |
เสียแรงหมายใจจะได้พึ่ง |
แต่งมึงก็ไม่เห็นจะเป็นผล |
มันกลับเป็นไพรีเข้าตีตน |
จะกังวลด้วยมึงไปทำไม |
แต่เลือดในตัวมันชั่วช้า |
ยังควักออกเสียหาอาลัยไม่ |
กูนึกว่าอ้ายพม่ามันพาไป |
สิ้นอาลัยลืมกันจนวันตาย ฯ |
๏ เออก็ดูเอาเถิดเจ้าจอมแม่ |
เซ็งแซ่นี่กะไรน่าใจหาย |
ใครเล่าเขาไม่นับว่าแม่ยาย |
จึงว่าเปรียบเทียบทายทุกอันไป |
ดีชั่วผัวเมียเขาตีกัน |
เขาหาฆ่าฟันกันเสียไม่ |
หายโกรธก็จะดีด้วยกันไป |
เป็นผู้ใหญ่ควรแต่จะปรองดอง |
นี่กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ |
จะกระชากลากไปเสียจากห้อง |
แกล้งมายุเด็กให้ใจคะนอง |
แล้วมาร้องแปร้นแปร้นแสนรำคาญ |
นิ่งอยู่ไยเล่าเจ้าศรีมาลา |
ไม่ส่งเสียงเถียงว่าให้ฉานฉาน |
หม่อมแม่ท่านอยู่เป็นกระทู้การ |
ไม่เหมือนน้ำใจท่านจึงโกรธา |
ข้ากลัวเจ้าแล้วแต่นี้ไป |
ถึงล่วงเกินอย่างไรก็ไม่ว่า |
จะเป็นเครื่องเคืองในใต้บาทา |
มารดาแค้นขัดจะตัดรอน |
เมียกลัวผัวอยู่ไม่ดูแคลน |
หม่อมแม่เถียงแทนอยู่ย่อนย่อน |
ลูกสาวนิ่งเฉยไม่เคยงอน |
ท่านแม่มาสอนให้งอนงด |
กระทบกระแทกแดกดันทุกอันว่า |
ก็ใครใจโสดาจะได้อด |
มันน่าตอบแทนดูให้รู้รส |
หากอดด้วยว่าเห็นเป็นแม่ยาย |
คุณพ่อเป็นไรไม่ว่าขาน |
ช่างกะไรไล่พาลกันง่ายง่าย |
ด่าลูกสาวกระทบกระเทียบเปรียบปราย |
ป่ายถึงอ้ายพม่ารามัญ |
สู่ขอพ่อแม่ก็ยกให้ |
แต่แรกเป็นไรไม่เลือกสรร |
โกรธแล้วค่อนว่าสารพัน |
แดกดันร่ำว่าให้สาใจ |
ข้าเจ้านี้แลเผ่าพวกพม่า |
แต่แรกนั้นท่านหารู้จักไม่ |
ด้วยว่าข้าตัดผมเสียเป็นไทย |
จึงหลงยกให้ลูกสาวมา |
เดี๋ยวนี้รู้ว่ามิใช่ไทย |
จะกระชากลากไปเสียต่อหน้า |
เขาไม่ให้ไปจึงโกรธา |
อย่าว่าแต่มาสักเพียงนี้ |
ถึงจะยกกันมาสักห้าพัน |
เคี่ยวเข็ญเล่นกันให้ป่นปี้ |
สู้กันจนตายวายชีวี |
ใครดีก็มาพาไปดู ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
แค้นคิดตาเพ่งเขม็งอยู่ |
เอ๊ะอ้ายไวยกะไรกล้าต่อหน้ากู |
ข่มขู่ขยี้เล่นเป็นผักยำ |
ชี้ข้ามหัวพ่อเป็นตอไม้ |
แคะไค้ว่าเล่นไม่เป็นส่ำ |
นับมึงไม่ได้อ้ายใจดำ |
ถ้อยคำหยาบช้าสามานย์ |
ทั้งนี้มึงเห็นว่ายากทรัพย์ |
จึงไม่นับน้ำหน้าว่าขาน |
ข่มเหงแม่ยายขายประจาน |
ท่านก็พ่อแม่ของกูมา |
มึงไซร้ก็ได้แจ้งเนื้อความหลัง |
กูได้เล่าให้ฟังเป็นหนักหนา |
เมื่อลักแม่มึงหนีขุนช้างมา |
ไม่พึ่งพาท่านได้ก็ดูเอา |
จะพากันฉิบหายตายโหงเสีย |
มึงจะได้มีเมียที่ไหนเล่า |
ยังกลับมาขู่รู่ทำดูเบา |
อ้ายขี้เค้าคนอกตัญญู |
เป็นแต่จมื่นไวยยังเพียงนี้ |
ถ้านานไปได้ดีจะครันอยู่ |
เป็นไรเป็นไปจะได้ดู |
กูก็เป็นถึงพระกาญจน์บุรี |
พ่อตาก็เป็นพระพิจิตร |
จะชอบผิดอย่างไรให้รู้ที่ |
อ้ายจองหองจะถองดูสักที |
ว่าแล้วลุกรี่ตรงเข้ามา ฯ |
๏ ทองประศรีกั้นกางขวางไว้ |
แกขัดใจฉวยสากตำหมากง่า |
อ้ายหน้าด้านทะยานใจไม่เข้ายา |
เขาว่ากันลูกเขยกับแม่ยาย |
งุ่นง่านการงานอะไรของตัว |
ประสมหัวพลอยเห่าเอาง่ายง่าย |
จองหองจะถองไม่มีอาย |
ร้องด่าท้าทายแต่หลานกู |
กูถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงไว้ |
แต่อายุออไวยยังเด็กอยู่ |
อ้ายชาติข้าสองตามึงไม่ดู |
มุดหัวคุดคู้อยู่ในคุก |
ออไวยไปขอจึงออกได้ |
ขึ้นไปตีเชียงใหม่ได้เป็นสุข |
ไปกินกาญจน์บุรีไม่มีทุกข์ |
กลับมาหาญรานรุกผู้มีคุณ |
มึงจะเป็นผู้ดีสักกี่ชั้น |
เมื่อกระนั้นเขาก็เรียกว่าอ้ายขุน |
เป็นเจ้าเมืองกาญจน์บุรีพอมีบุญ |
ลืมคุณออไวยไปขอมา |
มึงไม่ไปเสียให้พ้นเรือน |
กูมิต่อยให้เปื้อนก็จึงว่า |
มือเหน็บชายกระเบนร้องเกนมา |
กล้าดีก็มาอย่ารั้งรอ ฯ |
๏ พระไวยแอบย่าร้องว่าไป |
ไม่พอที่เลยอะไรนี่คุณพ่อ |
เกรี้ยวโกรธโกรธาด่าทอ |
ให้เพื่อนบ้านเขาหัวร่อเล่นเกรียวเกรียว |
เมียผัวชั่วดีก็ตีกัน |
แม่ยายมาเถียงดันอยู่เกรี้ยวเกรี้ยว |
จะเอาแต่ใจตนไปคนเดียว |
เคี่ยวเข็ญให้อยู่ในถ้อยคำ |
ลูกสาวชั่วช้าไม่ว่าเลย |
มาว่าแต่ลูกเขยเล่นพล่ำพล่ำ |
สารพันดันแดกกระแทกตำ |
ใจใครไม่ช้ำก็ใช่คน |
ด่าลูกสาวเปรียบแล้วมิหนำ |
ยังซ้ำลำเลิกเล่นออกปี้ป่น |
สุดที่จะด้านทานทน |
ถึงเลกชาวทรพลไม่เช่นนี้ |
ถ้าแม้นช่วยมายกเป็นลูกเขย |
ก็หาเถียงไม่เลยให้จู้จี้ |
จะทนทานด้านหน้าทั้งตาปี |
ถึงด่าแม่ออกมี่ไม่เจ็บใจ |
นี่ก็หาได้ช่วยมาไม่ดอก |
ข้าหาเป็นลูกครอกของใครไม่ |
จะขึ้นเสียงเปรี้ยงด่าดังข้าไท |
อันจะละเลยให้อย่าพึงคิด |
แต่ศึกเสือเหนือใต้ยังไปรบ |
มิได้หลบลูกปืนแต่สักหนิด |
คนอื่นหมื่นแสนจะแทนฤทธิ |
เว้นแต่เจ้าชีวิตแลจนใจ ฯ |
๏ ขุนแผนร้องแปร้นเจ้าลูกชาย |
พ่อตาแม่ยายหากลัวไม่ |
อวดอิทธิฤทธาว่ามากไป |
ใครใครไม่กลัวทั้งแผ่นดิน |
จะสู้ทนจนยับไม่กลับถอย |
กูก้อยไม่กลัวเสียหมดสิ้น |
ว่าไม่งอนง้อขอใครกิน |
ดูหมิ่นกันเล่นแต่ปานนี้ |
เป็นขุนนางโตใหญ่ที่ไหนเล่า |
จะเหยียบหัวอ้ายเถ้าเสียป่นปี้ |
คุณย่ายิ่งตามใจยิ่งได้ที |
ตั้งแต่นี้ขาดกันจนวันตาย |
ถ้ากูบรรลัยอย่าไปเผา |
ถึงชีวิตออเจ้าจะสูญหาย |
ผีมึงกูก็ไม่ไปกล้ำกราย |
หมายแต่จะเอาชีวิตกัน |
ฟ้าฟื้นของกูที่เอาไว้ |
เร่งเอามาให้ขมีขมัน |
มีศึกเมื่อไรได้เล่นกัน |
ถ้าไม่ให้จะไล่ฟันเอาเดี๋ยวนี้ ฯ |
๏ พระไวยวิ่งกลับเข้าในห้อง |
ร้องว่าคุณพ่อไม่พอที่ |
มาพลอยโมโหเป็นโกลี |
ถึงจะตีตบต่อยไม่น้อยใจ |
ราวกับคนอื่นมาขืนค่อน |
มาสลัดตัดรอนอย่างนี้ได้ |
จับดาบทูนหัวกลัวสุดใจ |
ออกไปกลัวพ่อจะฟาดฟัน |
คุณย่าเจ้าขาเข้ามานี่ |
ทองประศรีรับเอาขมีขมัน |
ถือดาบกระดกงกงัน |
ร้องด่าตาชันอื้ออึงไป |
กูคิดว่าคนดีอ้ายผีเปรต |
ให้แล้วกลับเพศมาคืนได้ |
ฟันหักหัวหงอกกลับกลอกไป |
ใครจะเจรจาได้เหมือนเช่นมัน |
ไหนกะไรหนักหนาค่ากี่เฟื้อง |
ราวกับค่าควรเมืองเจียวฤๅนั่น |
ทุดไสหัวไปให้เห็นตะวัน |
ฟันปลาก็ไม่เข้ามึงเอาไป |
อ้ายคนบัดสีไม่มีจริง |
ว่าแล้วก็ทิ้งฟ้าฟื้นให้ |
อ้ายขี้ตรวนกวนได้แต่ออไวย |
เข้าด้วยลูกสะใภ้เป็นตัวตี ฯ |
๏ ขุนแผนแค้นหยิบเอาดาบมา |
จบทูนเกศาลุกจากที่ |
นางแก้วกิริยาตามสามี |
ศรีมาลาบุษบาก็คลาไคล |
พระพิจิตรก็ตามขุนแผนมา |
อาลัยศรีมาลาน้ำตาไหล |
ถึงท่าเรือจอดพลันทันใด |
พูดจาปราศรัยกันไปมา |
พระพิจิตรบุษฐษจึงว่าไป |
พ่ออาลัยห่วงหลังเป็นหนักหนา |
ส่วนเจ้าก็จะไปเสียไกลตา |
ไม่รู้ว่าศรีมาลาจะอย่างไร |
พระไวยเห็นหน้าก็ชิงชัง |
หาเหมือนเมื่อแต่หลังมาแล้วไม่ |
เชื่อถือสร้อยฟ้าทุกตาไป |
มันจะยุยงให้แต่ด่าตี |
จะได้พึ่งคุณย่าก็หาไม่ |
พลอยซ้ำเสือกไสไปถ้วนถี่ |
จะหันหน้าพึ่งใครก็ไม่มี |
พ่อนี้อาลัยด้วยไกลตา |
ขุนแผนกราบเท้าว่าเจ้าคุณ |
อย่าหมกมุ่นไปเลยฟังลูกว่า |
จะเป็นไรมีกับศรีมาลา |
ดังดวงชีวาของลูกชาย |
กลับไปใช่ลูกจะเลยละ |
คงจะแก้ไขให้จนหาย |
มิให้นางอยู่เปลี่ยวผู้เดียวดาย |
จะให้พรายทั้งสองอยู่ป้องกัน |
อ้ายไวยมัวหมองต้องยาแฝด |
แปดเปื้อนไปทั้งคุณย่านั่น |
จึงหลงเชื่อฟังไปข้างมัน |
สิบห้าวันแล้วลูกจะกลับมา |
ที่เคืองใจนั้นไว้ธุระลูก |
ไม่แก้ไขให้ถูกแล้วจึงว่า |
จะจับทั้งอ้ายคนทำมนตร์ยา |
แก้หน้าเจ้าคุณให้คืนดี ฯ |
๏ พระพิจิตรบุษบาจึงว่าไป |
ข้าเห็นใจเจ้ามาแต่ก่อนกี้ |
ซื่อตรงคงคดเจ้าไม่มี |
นับปีมาแล้วแต่เชื่อใจ |
ค่อยอยู่จงดีศรีมาลา |
ฟังคำพ่อว่าอย่าร้องไห้ |
มิใช่ไม่รักเจ้าเมื่อไร |
อยู่ได้ก็จะอยู่ด้วยลูกยา |
ครั้นปลอบลูกแล้วก็ลงเรือ |
ยังอาลัยลูกเหลือละห้อยหา |
ศรีมาลาฟูมฟายฝ่ายน้ำตา |
พระพิจิตรบุษบาก็คลาไคล ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
พระพิจิตรลับตาหาช้าไม่ |
ถอดดาบฟ้าฟื้นยืนแกว่งไกว |
กลับเข้าไปในบ้านด้วยทันที |
พวกบ่าวพระไวยตกใจวิ่ง |
ทั้งผู้ชายผู้หญิงหลบหน้าหนี |
ขุนแผนแค้นใจใช่พอดี |
เฮ้ยอ้ายไวยมานี่มาเล่นกัน |
เด็ดขาดกันไปใช่พ่อแม่ |
ถึงกูเถ้ากูแก่ก็ไม่พรั่น |
เป็นตายร้ายดีกูคงฟัน |
เมียม่อยมึงด้วยกันก็ดูเอา |
หลบหัวไปไหนไม่ลงมา |
ฉวยก้อนอิฐปาหัวนอนเข้า |
เป้งเป้งหลายทีไม่มีเบา |
พระไวยเข้าเรือนเงียบไม่เกรียบเลย |
ทองประศรีเยี่ยมหน้านัยน์ตาชัน |
ขโมยปล้นกลางวันเจ้าข้าเอ๋ย |
แต่น้อยคุ้มใหญ่กูไม่เคย |
เด็กเหวยไปบอกกรมเมืองมา |
ขุนแผนแค้นแม่ไม่นิ่งได้ |
เอาอิฐแพ่นขึ้นไปที่ริมฝา |
ทองประศรีร้องว้ายกูตายวา |
ปิดประตูร้องด่าอื้ออึงไป ฯ |
๏ ครานั้นนางแก้วกิริยา |
เห็นวุ่นวายหนักหนาไม่นิ่งได้ |
ปลอบผัวโลมเล้าเอาใจ |
ใกล้ค่ำแล้วอย่าช้าน่ารำคาญ |
ขุนแผนฟังว่าก็คลาไคล |
ศรีมาลาตามไปจนนอกบ้าน |
ถึงป่าช้าพลันมิทันนาน |
กราบกรานขุนแผนผู้บิดา |
เจ้าประคุณทูนหัวของลูกเอ๋ย |
จะละเลยลูกไว้ไม่เห็นหน้า |
ลูกจะพึ่งบุญใครด้วยไกลตา |
สร้อยฟ้าเสียดแสร้งสารพัน |
พระไวยเหมือนไฟกำเริบแรง |
มันคอยเข้าเฝ้าแยงอยู่เจียวนั่น |
เอาฟืนฝอยใส่ซ้ำทั้งน้ำมัน |
นับวันนับจะไหม้เป็นจุณไป |
ตัวลูกคนเดียวเฝ้าเกรี้ยวกราด |
ไหนจะมีชีวาตม์อยู่ไปได้ |
ร่ำพลางข้อนอุราโศกาลัย |
กลิ้งเกลือกเสือกไปกับบาทา ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนอาลัย |
เอาใจปลอบลูกเสนหา |
พ่อจะให้นางพรายทั้งสองรา |
อยู่รักษาลูกแก้วอย่ากลัวภัย |
ขึ้นไปจะยกกระบวนทัพ |
ลงมาจับอ้ายไวยให้จงได้ |
จึงจะได้แก้แค้นที่แน่นใจ |
ซักไซ้เอาจริงอีสร้อยฟ้า |
มันทำเจ้าเท่าไรจะทดแทน |
ให้หายแค้นแสนสมกับน้ำหน้า |
จะฉีกแล่แผ่เนื้อเอาเกลือทา |
เวลานี้ก็จวนจะค่ำแล้ว |
เจ้าจะเที่ยวอยู่ในป่าช้าผี |
คนเดียวไม่ดีนะลูกแก้ว |
ปิศาจกลาดคะนองว่องแวว |
ลูกแก้วฟังพ่อจงคืนไป |
ศรีมาลาวันทาแล้วลาพ่อ |
น้ำตาคลอคลอสะอื้นไห้ |
เดินเดียวเหลียวหลังยังอาลัย |
ขุนแผนทอดถอนใจมาขึ้นช้าง |
กับนางแก้วกิริยาคลาไคล |
บ่าวไพร่ตามพรูดูสล้าง |
ร้องเพลงไก่ป่ามาตามทาง |
ขุนแผนขี่พลายกางขับช้างมา |
สามวันครึ่งถึงเมืองกาญจน์บุรี |
ช้างประทับกับที่ขึ้นเคหา |
บ่าวไพร่พร้อมกันไม่ทันช้า |
นางแก้วกิริยาเข้าห้องใน |
ฝ่ายพระกาญจน์บุรีอยู่ที่จวน |
ปั่นป่วนหาหายโมโหไม่ |
แค้นด้วยลูกชายพระนายไวย |
ให้ร้อนรุ่มกลุ้มใจดังไฟลุก |
แต่ฮึดฮัดขัดใจเจียนจะคลั่ง |
นอนนั่งเช้าเย็นไม่เป็นสุข |
เฝ้าแต่ตรอมตรมระทมทุกข์ |
คิดจะผลาญรานรุกอยู่ทุกวัน ฯ |
๏ จะกลับกล่าวถึงเจ้าพลายชุมพล |
ที่ดั้นด้นไปอยู่สุโขทัยนั่น |
ตายายรักใคร่ใครจะทัน |
ตัวนั้นบวชเข้าเป็นเณรนาน |
เล่าเรียนขอมไทยว่องไวดี |
แปลคัมภีร์เปรื่องปราดออกฉาดฉาน |
เช้าเย็นเณรเอากราดไปกวาดลาน |
แสนสำราญเป็นสุขทุกเวลา |
วันหนึ่งเณรเอากราดกวาดมลทิน |
ยังมีขอมดำดินเมืองหงสา |
มือถือลานทองของวิชา |
หมายจะถามปริศนาของรามัญ |
ผุดขึ้นที่ระหว่างกลางบริเวณ |
ถามปริศนาเณรชุมพลนั่น |
ชุมพลแก้ไขได้ฉับพลัน |
ลานนั้นขอมให้ก็ได้มา |
เรียนวิชาในลานชำนาญใจ |
ล่องหนหายตัวได้ดังปรารถนา |
อยู่คงสารพัดสาตรา |
ดำพสุธาก็ได้ดังใจปอง |
กำลังรุ่นหนุ่มน้อยแน่งสนิท |
อิทธิฤทธิฦๅดีไม่มีสอง |
อายุสิบห้าปีเปี่ยมคะนอง |
สุโขทัยสยองแสยงฤทธิ ฯ |
๏ คืนหนึ่งเณรตื่นขึ้นแต่ดึก |
อกสะทึกให้สะท้อนถอนจิตร |
พลิกกลับก็ไม่หลับลงสักนิด |
เณรนอนนิ่งคิดรำพึงตรอง |
หวนจิตคิดคะนึงถึงท่านย่า |
ทั้งบิดามารดายิ่งหม่นหมอง |
เราหลบลี้หนีมาน้ำตานอง |
แต่คราวต้องโพยภัยพี่ไวยตี |
นานแล้วแต่พรากจากพ่อแม่ |
จะแก่เถ้าลงอย่างไรไม่รู้ที่ |
คุณย่าน่าจะหง่อมลงเต็มที |
แปดปีเศษแล้วแต่เรามา |
ครั้นจะไปเยี่ยมเยือนก็ทางไกล |
แต่อาลัยครุ่นจิตคิดหนักหนา |
ให้ตื้นตื้นตันใจไปทุกตา |
จนสุริยาเยี่ยมยอดยุคันธร |
อดิเรกแอร่มแจ่มศรี |
ปัถพีแจ้งจำรัสประภัสสร |
แซ่เสียงปักษาทิชากร |
เณรลุกจากที่นอนล้างหน้าพลัน |
ลงจากกุฎีแล้วเดินมา |
มัดหญ้าเป็นยักษ์โตถงั่น |
แข้งขาข้อลำกำยำครัน |
ปากปั้นเขี้ยวขบเข้าติดไว้ |
แล้วมัดไม้ไผ่เป็นตระบอง |
สอดใส่ในสองมือยักษ์ใหญ่ |
ครั้นสำเร็จเสร็จสรรพด้วยฉับไว |
ขึ้นบันไดหยิบกระดาษเข้ากุฎี |
ดินสอดำซ้ำเขียนเป็นอักษร |
ถึงบิดรไต่ถามความถ้วนถี่ |
พับผนึกมิดชิดสนิทดี |
รีบรี่เดินออกมานอกชาน |
จัดแจงสารพัดบัตรพลี |
ลุกลงจากกุฎีมาปลูกศาล |
วงด้ายสายสิญจน์วิชาการ |
แล้วเสกซ้ำปลุกมารด้วยมนตรา |
ถ้วนคำรบจบคาบซัดข้าวสาร |
ยักษ์ทะยานสูงเยี่ยมเทียมภูผา |
ทะลึ่งโลดโดดสำแดงแผลงศักดา |
ตวาดว่าให้นั่งลงทันใด |
เอาหนังสือผูกคอกระชับมั่น |
ซ้ำสั่งหุ่นนั้นหาช้าไม่ |
เอ็งจงรีบถือหนังสือไป |
ให้พ่อกูที่กาญจน์บุรี ฯ |
๏ ยักษ์รับกราบลาทะลึ่งโลด |
ข้ามโขดเขาเขินคิรีศรี |
ยูงยางหักระเนนเป็นธุลี |
เหยียบเสือช้างบี้ด้วยบาทา |
วิ่งกลมดังลมเพชรหึง |
ตึงตึงตีนเตะเข้ายอดผา |
พังครืนครื้นครั่นสนั่นมา |
พสุธาสะท้านสะเทื้อนดง |
ข้ามละหานธารท่าป่าทุ่ง |
หมายมุ่งทิวไม้ไพรระหง |
ตะวันรอนอ่อนแสงพระสุริยง |
ยักษ์ก็ตรงเข้าเมืองกาญจน์บุรี |
ชาวเมืองรู้ทั่วต่างกลัวยักษ์ |
พรั่นนักจะพาลูกเมียหนี |
ตกใจไม่เป็นสมประดี |
ทั้งพระกาญจน์บุรีก็ตกใจ |
เสียงอะไรตึงตังดังหนักหนา |
ลงจากจวนมาหาช้าไม่ |
แลเห็นยักษ์พลันในทันใด |
ก็แจ้งใจว่ายักษ์วิชาการ |
จึงเสกผ้าขาวบางแล้วขว้างไป |
เป็นลิงใหญ่ไล่โลดโดดสังหาร |
ยักษ์กับลิงวิ่งเข้าประจัญบาน |
คนผู้ดูพล่านทั้งพารา |
ลิงล่อยักษ์ไล่ทะลึ่งโลด |
ลิงโดดยักษ์เงื้อตระบองง่า |
ยักษ์ตีลิงไล่ตระบองมา |
ลิงกัดยักษ์คว้าต้นคอคั้น |
ลิงผลักยักษ์เซพอเหห่าง |
ลิงง้างตระบองยักษ์หักสะบั้น |
ยักษ์เตะลิงรับจับตีนทัน |
ยักษ์ล้มลิงถลันคั้นไม่วาง |
ยักษ์มนตร์ตนน้อยศักดาเดช |
ลิงเวทมัดซ้ำด้วยลำหาง |
ยักษ์ร้ายกลายกลับเป็นหญ้าฟาง |
ลิงก็หายกลายร่างเป็นผ้าไป ฯ |
๏ ขุนแผนแลเห็นแผ่นกระดาษ |
เอ๊ะประหลาดคลี่ดูหาช้าไม่ |
อักษรบวรลักษณวิไล |
ของลูกแต่สุโขทัยธานี |
แต่พลัดพรากพ่อแม่ไม่แลเห็น |
จะอยู่เป็นสุขทุกข์ไม่รู้ที่ |
อนึ่งองค์ทรงธรรม์พระพันปี |
ยังดีฤๅกริ้วบ้างเป็นอย่างไร |
ยังสำราญราชการพระเป็นเจ้า |
โรคภัยเบาบางฤๅไฉน |
อนึ่งพี่ศรีมาลากับพี่ไวย |
ดีร้ายกันอย่างไรไม่แจ้งการ |
คุณย่าอยู่หลังยังเป็นสุข |
ฤๅเจ็บไข้ได้ทุกข์ถึงตัวท่าน |
แต่ลูกพรากจากมาก็ช้านาน |
จะคลายทุกข์ถึงหลานบ้างฤๅไร |
แม่แก้วกิริยาแม่ลาวทอง |
ทั้งสองอยู่ดีฤๅไฉน |
ลูกนี้ให้เป็นห่วงบ่วงใย |
อยู่ที่ในแม่แก้วกิริยา |
อันตัวลูกอยู่ดีศรีสวัสดิ |
ไม่เคืองขัดทุกวันก็หรรษา |
ได้พึ่งบุญคุณยายกับคุณตา |
ลูกศรัทธาบวชเข้าเป็นเณรใน |
พ่อแม่พี่ย่าบรรดาญาติ |
ขอประสาทแผ่ส่วนกุศลให้ |
ครั้นอ่านทราบเสร็จพลันในทันใด |
พับไว้กลับคืนขึ้นบนจวน ฯ |
๏ ขุนแผนเฝ้าคะนึงถึงสารา |
เข้าเคหาห้องน้อยละห้อยหวน |
คิดถึงลูกผูกใจอาลัยครวญ |
ปั่นป่วนเปี่ยมปิ้มปริ่มน้ำตา |
โอ้ตัวกูนี้มีลูกชาย |
ที่มั่นหมายก็ไม่สมปรารถนา |
อ้ายไวยรักใคร่ดังแก้วตา |
มันกลับมาลบหลู่เอากูนี้ |
เพราะเย่อหยิ่งยศศักดิเสียเหลือแสน |
กลัวอ้ายแผนนี้จะพึ่งให้เผาผี |
ชุมพลพ่อเห็นต่อจะเต็มดี |
ฝากผีได้แล้วเจ้าแก้วตา |
แต่เล็กเล็กเท่านี้ยังมีใจ |
เห็นจะพอพึ่งได้ไปภายหน้า |
จึงเขียนหนังสือพลันมิทันช้า |
มาผูกคอยักษ์หญ้าในทันใด |
เอาสายเชือกกระหวัดรัดมั่น |
ผูกพันสะพายแล่งที่หัวไหล่ |
กลับปลุกยักษ์ลุกทะลึ่งไป |
ลุยไม้ไหล้ล้มระทมเตียน |
แต่ละก้าวยาวโยชน์โดดปลิว |
แล่นลิ่วลมพัดฉวัดเฉวียน |
ลุยน้ำข้ามป่าท่าเกวียน |
เร็วเจียนจะเหาะระเห็จไป ฯ |
๏ ครู่หนึ่งถึงสุโขทัยพลัน |
ยักษ์นั้นเข้าวัดหาช้าไม่ |
เณรเห็นยักษ์หญ้ามาแต่ไกล |
ดีใจแก้ยักษ์ในทันที |
เห็นกระดาษที่สายตะพายบ่า |
ก็รู้ว่าพ่อตอบอักษรศรี |
จะได้ข่าวพ่อแผนแสนยินดี |
หยิบหนังสือมาคลี่ออกอ่านพลัน |
อักษรบวรลักษณมงคล |
ถึงพ่อเณรชุมพลคนขยัน |
ซึ่งเจ้าให้ยักษ์มนต์ด้นอรัญ |
ถือหนังสือสำคัญถึงบิดา |
ได้ทราบข่าวลูกยาว่าสุขสวัสดิ |
ทั้งพ่อแม่โสมนัสเป็นหนักหนา |
ทั้งยินดีที่เจ้าบรรพชา |
โมทนาคำนับรับส่วนบุญ |
แต่ซึ่งเจ้าไต่ถามความทุกข์สุข |
พ่อนี้มีแต่ทุกข์ให้หมกมุ่น |
เพราะอ้ายไวยหยาบช้าทารุณ |
มันลืมคุณพ่อแล้วนะแก้วตา |
เจ้าก็รู้อยู่เรื่องมันถูกเสน่ห์ |
พ่อจะแก้เล่ห์กระเท่ห์จึงอุตส่าห์ |
เข้าไปในกรุงอยุธยา |
พระพิจิตรบุษบามาพร้อมกัน |
ว่ากล่าวเตือนมันฉันผู้ใหญ่ |
ส่องกระจกชี้ให้เห็นข้อขัน |
มันกลับโกรธขึ้งยิ่งดึงดัน |
ขึ้นเสียงเถียงสนั่นไม่เกรงใคร |
ลำเลิกเบิกชาว่าเอาพ่อ |
ว่ามันขอจึงพ้นจากคุกได้ |
ประจานให้คนฟังนั่งเต็มไป |
จึงสุดแสนแค้นใจในครั้งนี้ |
ถ้าวันนั้นท่านย่าไม่มาขวาง |
ก็คงล้างอ้ายไวยให้เป็นผี |
เพราะย่าย่อยพลอยหลงไม่มีดี |
อ้ายไวยได้ทีจึงแรงร้าย |
พ่อกลับมากาญจน์บุรีไม่มีสุข |
ระทมทุกข์เช้าเย็นไม่เห็นหาย |
ไม่แก้แค้นสมประสงค์ก็คงตาย |
เป็นลูกชายช่วยพ่อบ้างเป็นไร |
เจ้าก็เรืองฤทธาวิชาการ |
ถึงผูกหุ่นยักษ์มารใช้มาได้ |
จงคิดผูกหุ่นพลสกลไกร |
ปลอมเป็นมอญใหม่ยกลงมา |
กรากตรงเข้าประชิดติดเดิมบาง |
ไม่สู้ห่างสุพรรณนั้นหนักหนา |
ให้เลื่องฦๅอื้ออึงถึงอยุธยา |
พระพันวษาคงจะใช้อ้ายไวยรบ |
คงเกณฑ์พ่อไปด้วยให้ช่วยมัน |
เราช่วยกันให้ดีตีประจบ |
ห้ำหั่นมันเสียให้บัดซบ |
แล้วตัวเจ้าจึงหลบไปเมืองบน |
แต่ผู้อื่นมิใช่ไอ้ไวยนั้น |
อย่าฆ่าฟันผู้ใดให้ปี้ป่น |
เห็นกับพ่อขอให้พลายชุมพล |
เจ้ารีบผูกหุ่นยนต์ยกลงมา ฯ |
๏ สิ้นสารอ่านเสร็จสำเร็จเรื่อง |
ชุมพลเคืองแค้นใจเป็นหนักหนา |
คิดคิดสงสารพ่อคลอน้ำตา |
ชะต้าพี่ไวยใช่พอดี |
ลบหลู่ดูถูกถึงบิดา |
สาอะไรกับเราเท่าแมลงหวี่ |
เมื่อหน้าหาไหนจะไยดี |
จะนับพี่น้องกันไปทำไม |
เราก็เรืองพระเวทวิทยา |
จะแทนคุณบิดาให้จงได้ |
เสียดายหนอทุ่งกว้างหนทางไกล |
ถ้าเหาะได้ก็จะไปในเดี๋ยวนี้ |
ให้เคืองขุ่นมุ่นหมกในอกช้ำ |
จนพลบค่ำสิ้นแสงพระสุริศรี |
เข้าห้องหับก็ไม่หลับสนิทดี |
เฝ้าตรองตรึกนึกที่ทุกข์บิดา ฯ |
๏ ครั้นรุ่งเช้าเจ้าเณรพลายชุมพล |
ร้อนรนรำคาญใจเป็นหนักหนา |
ห่มดองครองรัดกับกายา |
เข้ามาบ้านพลันด้วยทันใด |
จึงแจ้งกิจจากับตายาย |
ว่าหลานชายนี้หาสบายไม่ |
บิดามารดาข้าอยู่ไกล |
รำลึกถึงสุดใจจะขอลา |
เจ้าขรัวผัวเมียก็ตามใจ |
ลาอาจารย์สึกให้เหมือนหลานว่า |
ผัดหลานให้รอพอแล้วนา |
ตาจะจัดบ่าวข้าให้เจ้าไป |
ชุมพลตอบคำเจ้าขรัวตา |
ว่าหลานมาคนเดียวยังมาได้ |
จะขอแต่ม้าดีพอขี่ไป |
ที่ว่องไวเคล่าคล่องทำนองดี ฯ |
ตาว่าเห็นว่าได้แต่อ้ายกะเลียว |
มันประเปรียวหนักหนาอ้ายม้าผี |
ต้องผูกกกราดทอดหญ้าทั้งตาปี |
ใครขึ้นขี่มันหกชกสุดใจ |
กัดลูกอีแป้นแทบแขนขาด |
ยังเป็นคุดทะราดหาหายไม่ |
เจ้าสิประสิทธิฤทธิไกร |
จะขี่ได้ก็ดูเอาเถิดรา ฯ |
๏ ชุมพลฟังตาก็ลาไป |
ถอนหญ้าเสกใส่ด้วยคาถา |
ถึงโรงกะเลียวเลี้ยวเข้ามา |
ยื่นหญ้าแล้วก็เสกด้วยเวทมนตร์ |
ลูบหลังอาชาแล้วว่าไป |
น้องรักจักให้พี่เป็นผล |
พี่ต้องตรากตรำจำทน |
พ้นทุกข์เสียเถิดในวันนี้ |
กะเลียวหลังเหล็กได้ฟังว่า |
รับหญ้ายืนร้องอยู่ก้องมี่ |
ชุมพลแก้ม้าไม่ช้าที |
วางเบาะอานดีแล้วผูกพัน |
โกลนแผงแต่งพร้อมละม่อมละมุน |
โจนผลุนขึ้นม้าขมีขมัน |
กระทืบส่งลงแส้เป็นสำคัญ |
ม้าผันผกผยองทำนองทวน |
แคล่วคล่องว่องไวดังใจนึก |
สะอึกไล่เรี่ยวแรงคำแหงหวน |
ถูกน้อยรอยเรียบระเบียบกระบวน |
มาถึงจวนคุณตาฮาก้องไป |
ดีใจเต้นหรบตบมือ |
ลูกเสือแล้วฤๅจะไม่ได้ |
เรียกหลานขึ้นมาตาชอบใจ |
หยิบดาบยื่นให้ในทันที |
ดาบนี้แต่ครั้งเจ้าคุณปู่ |
ท่านฟันหมู่มอญพม่าพากันหนี |
จึงให้ชื่อว่าชนะไพรี |
เป็นของดีสืบมาจนตายาย |
ตานี้แก่เถ้าเฝ้าห่วงใย |
กลัวว่าสิ้นบุญไปจะสูญหาย |
ทุกวันนี้ก็ไม่มีลูกผู้ชาย |
พ่อพลายเอาไว้ให้จงดี ฯ |
๏ ชุมพลรับดาบแล้วกราบลา |
ให้บ่าวเอาม้าไปไว้ที่ |
ครั้นสิ้นแสงสุริยาในราตรี |
จัดแจงบายศรีพลีการ |
กับบ่าวไพร่ยกไปที่ป่าช้า |
ผ่าไม้ไผ่ปักเป็นเสาศาล |
จัดธูปเทียนชัยขึ้นใส่พาน |
ชักสายสิญจน์โยงผ่านป่าช้าชัฏ |
ได้ฤกษ์แล้วเบิกโขลนทวาร |
โอมอ่านพระเวทวิเศษจัด |
แล้วหยิบเอาข้าวสารมาหว่านซัด |
เร่งรัดเรียกผีทุกตำบล |
บรรดาภูตผีที่ถ้ำหนอง |
ห้วยคลองป่าไม้ไพรสณฑ์ |
ต่างกู่ก้องร้องเรียกกันอลวน |
ด้วยกลัวมนตร์รีบมาไม่ช้าที |
ต่างรับเครื่องเซ่นไม่เว้นตน |
ชุมพลเซ่นเสร็จแล้วเลือกผี |
เอาแต่โหงพรายร้ายราวี |
พรุ่งนี้กูจะไปยังสุพรรณ |
พวกออเจ้ามาเข้ากระบวนทัพ |
ไปกำกับหุ่นมนตร์พลขันธ์ |
โหงพรายต่างรับด้วยฉับพลัน |
ชุมพลนั้นกลับบ้านสำราญใจ ฯ |
๏ ครั้นพวยพุ่งรุ่งแสงสุริฉาย |
เจ้าพลายเข้าไปในเรือนใหญ่ |
กราบลาเจ้าขรัวสุโขทัย |
ทั้งตายายอวยชัยประสิทธี |
แล้วอาบน้ำชำระกายา |
นุ่งผ้าใส่เสื้อสำอางศรี |
เข็มขัดรัดแน่นสนิทดี |
สอดสวมเครื่องมีฤทธิไกร |
ประจงจบจับดาบของคุณตา |
แล้วเผ่นขึ้นอาชาหาช้าไม่ |
ฤกษ์ดีขี่ควบอาชาไนย |
ออกจากสุโขทัยด้วยทันที |
ฝูงพรายรายล้อมพร้อมมา |
ยกทัพโยธาแต่ล้วนผี |
กำลังม้าร่าแรงราวี |
ขับขี่ดังจะปลิวไปตามลม ฯ |
๏ ครั้นถึงกึ่งกลางมรรคา |
หยุดม้าเข้านั่งที่บังร่ม |
ลงยันต์เท้าม้าด้วยอาคม |
พรมน้ำมันพระเวทวิเศษดี |
ครั้นแล้วเกี่ยวหญ้ามาฉับพลัน |
ผูกหุ่นถ้วนพันไว้กับที่ |
ซัดข้าวสารเสกประสิทธี |
หุ่นก็มีชีวิตขึ้นเป็นคน |
สองมือถือเครื่องสาตราวุธ |
อุตลุดอึงป่าโกลาหล |
ต่างนบนอบหมอบไหว้พลายชุมพล |
เจ้าขึ้นนั่งยังบนหลังกะเลียว |
แล้วสั่งหุ่นมนตร์พลไพร่ |
จะยกไปเป็นทัพขับเคี่ยว |
ให้โห่เสียงมอญใหม่ให้กราวเกรียว |
กำชับสั่งคำเดียวเป็นสำคัญ |
อันพวกเหล่าชาวประชาราษฎร |
เพียงตีต้อนอย่าฆ่าให้อาสัญ |
สั่งแล้วเสร็จสรรพฉับพลัน |
ขับม้าผายผันผยองไป |
ข้ามธารทางป่าท่าทุ่ง |
ฝุ่นฟุ้งโห่โหมกระโจมไล่ |
ชาวบ้านตื่นแตกแหกเข้าไพร |
ตกใจกองทัพรับไม่ทัน |
บ้างอุ้มลูกจูงหลานคลานเข้ารก |
ผ้าผ่อนล่อนหลกไปตัวสั่น |
งันงกหกล้มลงจมกัน |
พวกชาวบ้านป่วนปั่นทุกแห่งไป |
ถึงเดิมบางพลันมิทันช้า |
ให้ตั้งค่ายในป่าไว้กว้างใหญ่ |
สงบทัพยับยั้งระวังระไว |
ด้วยใกล้สุพรรณพารา ฯ |
๏ ครานั้นผู้รั้งเมืองสุพรรณ |
ได้ทราบข่าวหวาดหวั่นเป็นหนักหนา |
เกณฑ์คนขึ้นประจำใบเสมา |
รักษาป้อมค่ายไว้มั่นคง |
รั้วขวากลากมาสนามเพลาะ |
มั่นเหมาะค่ายคูดูระหง |
ด่านทางวางรอบเป็นขอบวง |
ให้ม้าใช้สืบส่งคดีมา |
แล้วรีบจัดแจงแต่งใบบอก |
ขุนแพ่งออกควบม้ามาในป่า |
พอรุ่งถึงกรุงอยุธยา |
ตรงเข้าไปศาลาลูกขุนใน |
วางบอกนายชำนาญด้วยการทัพ |
นายเวรรับต่อยตราหาช้าไม่ |
นำความเรียนเจ้าคุณมหาดไทย |
แล้วคัดเขียนความในใบบอกมา ฯ |
๏ ครานั้นท่านเจ้าคุณมหาดไทย |
ร้อนใจตรองตรึกแล้วปรึกษา |
ลูกขุนเห็นพร้อมกันมิทันช้า |
เข้ามาเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ ฯ |