- คำนำ
- ตำนานเสภา
- คำอธิบาย
- อธิบายบทเสภา เล่ม ๓
- ตอนที่ ๑ กำเนิดขุนช้างขุนแผน
- ตอนที่ ๒ พ่อขุนช้างขุนแผน
- ตอนที่ ๓ พลายแก้วบวชเณร
- ตอนที่ ๔ พลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม
- ตอนที่ ๕ ขุนช้างขอนางพิม
- ตอนที่ ๖ พลายแก้วเข้าห้องนางสายทอง
- ตอนที่ ๗ พลายแก้วแต่งงานกับนางพิม
- ตอนที่ ๘ พลายแก้วถูกเกณฑ์ทัพ
- ตอนที่ ๙ พลายแก้วยกทัพ
- ตอนที่ ๑๐ พลายแก้วได้นางลาวทอง
- ตอนที่ ๑๑ นางพิมเปลี่ยนชื่อวันทอง ขุนช้างลวงว่าพลายแก้วตาย
- ตอนที่ ๑๒ นางศรีประจันยกนางวันทองให้ขุนช้าง
- ตอนที่ ๑๓ พลายแก้วได้เป็นขุนแผน ขุนช้างได้นางวันทอง
- ตอนที่ ๑๔ ขุนแผนบอกกล่าว
- ตอนที่ ๑๕ ขุนแผนต้องพรากนางลาวทอง
- ตอนที่ ๑๖ กำเนิดกุมารทองบุตรนางบัวคลี่
- ตอนที่ ๑๗ ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ได้นางแก้วกิริยา
- ตอนที่ ๑๘ ขุนแผนพานางวันทองหนี
- ตอนที่ ๑๙ ขุนช้างตามนางวันทอง
- ตอนที่ ๒๐ ขุนช้างฟ้องว่าขุนแผนเป็นขบถ
- ตอนที่ ๒๑ ขุนแผนลุแก่โทษ
- ตอนที่ ๒๒ ขุนแผนชนะความขุนช้าง
- ตอนที่ ๒๓ ขุนแผนติดคุก
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดพลายงาม
- ตอนที่ ๒๕ เจ้าล้านช้างถวายนางสร้อยทองแก่พระพันวษา
- ตอนที่ ๒๖ พระเจ้าเชียงใหม่ชิงนางสร้อยทอง
- ตอนที่ ๒๗ พลายงามอาสา
- ตอนที่ ๒๘ พลายงามได้นางศรีมาลา
- ตอนที่ ๒๙ ขุนแผนแก้พระท้ายน้ำ
- ตอนที่ ๓๐ ขุนแผนพลายงามจับพระเจ้าเชียงใหม่
- ตอนที่ ๓๑ ขุนแผนพลายงามยกทัพกลับ
- ตอนที่ ๓๒ ถวายนางสร้อยทอง สร้อยฟ้า
- ตอนที่ ๓๓ แต่งงานพระไวยพลายงาม
- ตอนที่ ๓๔ ขุนช้างเป็นโทษ
- ตอนที่ ๓๕ ขุนช้างถวายฎีกา
- ตอนที่ ๓๖ ฆ่านางวันทอง
- ตอนที่ ๓๗ นางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ พระไวยถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๙ ขุนแผนส่องกระจก
- ตอนที่ ๔๐ พระไวยแตกทัพ
- ตอนที่ ๔๑ พลายชุมพลจับเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๒ นางสร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ
- ตอนที่ ๔๓ จระเข้เถรขวาด
ตอนที่ ๓ พลายแก้วบวชเณร
๏ จะกล่าวถึงพลายแก้วแววไว | เมื่อบิดาบรรลัยแม่พาหนี |
ไปอาศัยอยู่ในกาญจน์บุรี | กับนางทองประศรีผู้มารดา |
อยู่มาจนเจ้าเจริญวัย | อายุนั้นได้ถึงสิบห้า |
ไม่วายคิดถึงพ่อที่มรณา | แต่นึกนึกตรึกตรามากว่าปี |
อยากจะเป็นทหารชาญชัย | ให้เหมือนพ่อขุนไกรที่เป็นผี |
จึงอ้อนวอนมารดาได้ปรานี | ลูกนี้จะใคร่รู้วิชาการ |
พระสงฆ์องค์ใดวิชาดี | แม่จงพาลูกนี้ไปฝากท่าน |
ให้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ | อธิษฐานบวชลูกเป็นเณรไว้ ฯ |
๏ ครานั้นทองประศรีผู้มารดา | ได้ฟังลูกว่าหาขัดไม่ |
อันสมภารที่ชำนาญในทางใน | ท่านขรัววัดส้มใหญ่แลดีครัน |
เจ้าคิดนี้ดีแล้วแก้วแม่อา | แม่จะพาไปฝากขรัวบุญนั่น |
จะได้รู้การณรงค์คงกระพัน | ให้เหมือนกันสืบต่อพ่อขุนไกร |
ว่าแล้วจึงสั่งพวกบ่าวข้า | ชวนกันเร็วหวาอย่าช้าได้ |
กูจะบวชลูกชายสายสุดใจ | เอ็งจงไปเที่ยวหาผ้าเนื้อดี |
ทำจีวรสบงสไบลาด | หาทั้งย่ามบาตรมาตามที่ |
ลงมือพร้อมกันในวันนี้ | อ้ายถีอีล่ามาช่วยกู |
ฝ่ายพวกข้าไทไปหาของ | หมากพลูใบตองที่มีอยู่ |
บ้างก็มาเย็บกรวยช่วยกันดู | ปอกหมากพันพลูทั้งฟั่นเทียน |
เอาผ้าขาวมาวัดตัดสบง | เย็บลงฝีเข็มเหมือนเล็มเลี่ยน |
ตัดจีวรสไบตะไกรเจียน | เย็บทับจับเนียนเป็นเนื้อเดียว |
อังสะนั้นแพรหนังไก่นุ่ม | รังดุมหูไหมใส่เย็บเสี้ยว |
มานั่งพร้อมล้อมทั่วตัวเป็นเกลียว | เอิกเกริกกราวเกรียวด้วยศรัทธา |
บางคนออกมาหาขมิ้น | โขลกสิ้นแล้วไปเอามาอิกหวา |
ออแม่เอ๋ยไม่เคยฤๅไรนา | ย้อมผ้าซีดอยู่ดูไม่ดี |
เอาน้ำส้มพรมแก้แลเห็นสุก | พ้นทุกข์แล้วหนอหัวร่อรี่ |
ช่วยกันผูกราวขึงผึ่งทันที | แห้งดีเข้าไตรไว้บนพาน |
ฝ่ายพวกแม่ครัวที่ตัวยวด | หุงต้มเร็วรวดอลหม่าน |
หน้าดำคลํ้าไหม้ใกล้เชิงกราน | บ้างซาวข้าวสารใส่กะทะ |
บ้างต้มบ้างพะแนงบ้างแกงขม | คั่วยำทำขนมอยู่เอะอะ |
ส้มสูกลูกไม้ใส่ธารณะ | ใส่กระบะเรียงรายไว้หลายใบ ฯ |
๏ ครั้นสำเร็จเสร็จการท่านทองประศรี | เรียกข้าด่ามี่อยู่ไจ่ไจ่ |
อ้ายโม่งอีมาช้าอยู่ไย | มึงเอาขันใบใหญ่มาใส่น้ำ |
ขมิ้นดินสอพองเอาไว้ไหน | เมื่อวานกูใส่ไว้ในถ้ำ |
แกอาบนํ้าลูกยาทาขมิ้นตำ | ชำระนํ้ารํ่ารดหมดเหงื่อไคล |
ครั้นอาบนํ้าพลายแก้วแล้วแต่งตัว | หวีหัวผัดหน้าให้ผ่องใส |
นุ่งผ้ายกจีบเป็นกลีบใบ | เสื้อครุยสวมใส่อุไรกรอง |
ลำพอกดอกไม้ไหวสะบัด | คาดเข็มขัดถักสายเป็นลายสอง |
แหวนเพชรเม็ดอร่ามงามเรืองรอง | ให้ถือซองธูปเทียนบุษบัน |
จึงเรียกนายดำที่ลํ่าใหญ่ | ให้แบกลูกเดินไปเอาร่มกั้น |
ทองประศรีมารดามาด้วยกัน | บ่าวข้าจ้าละหวั่นแบกของมา |
ครั้นว่ามาถึงวัดส้มใหญ่ | เอาข้าวของตั้งไว้ศาลาหน้า |
แม่พาพลายแก้วผู้แววตา | ไปกราบไหว้วันทาท่านสมภาร |
ท่านเจ้าขาฉันพาลูกมาบวช | ช่วยเสกสวดสอนให้เป็นแก่นสาร |
ด้วยขุนไกรบิดามาถึงกาล | จะได้อธิษฐานให้ส่วนบุญ |
อิกทั้งวิชาการอ่านเขียน | เจ้าจะได้รํ่าเรียนเสียแต่รุ่น |
ฝ่ายท่านอาจารย์สมภารบุญ | ทอดใจใหญ่ครุ่นแล้วว่ามา |
อนิจจาขุนไกรบรรลัยแล้ว | อ้ายลูกชายพลายแก้วเหมือนหนักหนา |
รูปอาลัยให้คิดถึงบิดา | จะเลี้ยงลูกให้สีกาอย่าระคาง |
แล้วหันหน้ามาสั่งแก่เณรคง | เอ็งนิมนต์พระสงฆ์ลงไปล่าง |
ปูเสื่อสาดอาสนะกะที่ทาง | โกนหัวเจ้าพลายพลางแล้วพามา |
ครั้นแล้วลงมาศาลาใหญ่ | พระสงฆ์ลงไปอยู่พร้อมหน้า |
พลายแก้วอุ้มไตรไปวันทา | ขรัวบุญให้บรรพชาเป็นเณรพลัน |
บวชเสร็จจึงนางทองประศรี | เร่งแม่ครัวมี่อยู่ตัวสั่น |
บาตรพระสะพรั่งตั้งเรียงกัน | ยกขันข้าวบาตรมาทันที |
ช่วยกันตักบาตรธารณะ | เสร็จถวายพรพระประเคนมี่ |
ฉันแล้วก็ยถาสัพพี | เณรแก้วทองประศรีกรวดนํ้าพลัน ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว | บวชแล้วรํ่าเรียนด้วยเพียรหมั่น |
ปัญญาไวว่องคล่องแคล่วครัน | เรียนสิ่งใดได้นั่นไม่ช้าที |
จนอาจารย์ขยาดฉลาดเฉลียว | เถรเณรออกเกรียวอยู่ที่นี่ |
จะเปรียบเณรแก้วได้นั้นไม่มี | บวชยังไม่ถึงปีก็เจนใจ |
หนังสือสิ้นกระแสทั้งแปลอรรถ | จนสมภารเจ้าวัดไม่บอกได้ |
ลูบหลังลูบหน้าแล้วว่าไป | สิ้นไส้กูแล้วเณรแก้วอา |
ยังแต่สมุดตำรับใหญ่ | พื้นแต่หัวใจพระคาถา |
กูจัดแจงซ่องสุมแต่หนุ่มมา | หวงไว้จนชราไม่ให้ใคร |
ความรู้นอกนี้ไม่มีแล้ว | กูรักเณรแก้วจะยกให้ |
อยู่คงปล้นสะดมมีถมไป | เลี้ยงโหงพรายใช้ได้ทุกตา |
เณรแก้วได้ตำรับของท่านขรัว | คิดถึงตัวอยากเรียนให้ยิ่งกว่า |
วันหนึ่งจึงเข้าไปวันทา | จะขอลาไปสุพรรณบุรี |
ไปสืบหาวิชาเรียนต่อไป | ท่านสมภารชอบใจหัวเราะรี่ |
ท่านวัดปาเลไลยนั้นขยันดี | กับสีกาทองประศรีรู้จักกัน |
เณรแก้วจึงลามาหาแม่ | ทองประศรีวิ่งแร่มารับขวัญ |
พ่อเอ๋ยมาไยทำไมนั่น | แม่ขาขรัวทั่นให้ลูกมา |
รํ่าเรียนจบแล้วท่านบอกให้ | ว่าวัดป่าเลไลยดีหนักหนา |
ว่ารู้จักมานานกับมารดา | แม่จงพาลูกนี้ไปฝากไว้ ฯ |
๏ ทองประศรีดีใจหัวเราะร่า | จริงแล้วเณรหนาแม่นึกได้ |
อันที่เมืองสุพรรณนั้นไซร้ | ทางในท่านดีมีสององค์ |
วัดป่าเลไลยท่านสมภารมี | ทั้งขรัวที่วัดแคแม่เคยส่ง |
กับขุนไกรรักใคร่กันมั่นคง | จะพาลงไปฝากยากอะไร |
ว่าพลางนางสั่งซึ่งบ่าวข้า | เองไปเรียกช้างม้าอย่าช้าได้ |
ให้เขาผูกพังบู่กูจะไป | อ้ายพลายกางผูกไว้ให้พ่อเณร |
ข้าวของจัดใส่ในสัปคับ | ทั้งข้าวกับรีบหาขะมักเขม้น |
ให้พอเพียงเลี้ยงเจ้าทั้งเช้าเพล | ให้อ้ายเสนกับตาพุ่มแกคุมไป |
ครั้นตระเตรียมสำเร็จเสร็จการ | พากันออกจากบ้านเขาชนไก่ |
ตัดทุ่งมุ่งตรงเข้าพงไพร | สามวันทันใดถึงสุพรรณ |
จึงแวะเข้าวัดป่าเลไลย | ตรงไปยังกุฎีขรัวมีนั่น |
ทองประศรีกราบกรานสมภารพลัน | ดีฉันมิได้มาหาคุณเลย |
ขรัวมีดีใจหัวเราะร่า | ไม่เห็นหน้าหลายปีสีกาเหวย |
เณรนี้ลูกใครไม่คุ้นเคย | ทองประศรีว่าคุณเอ๋ยลูกฉันเอง |
แต่เพียงขุนไกรแกวอดวาย | ดีฉันนี้เป็นหม้ายอยู่เท้งเต้ง |
บวชลูกจะให้เรียนเป็นบทเพลง | ก็โก้งเก้งอยู่ไกลไม่ได้การ |
จะเอามาฝากไว้ให้ขรัวปู่ | โปรดบอกความรู้เอ็นดูหลาน |
ถ้าไม่เรียนรํ่าทำเกียจคร้าน | ทรมานทำโทษโปรดตีโบย |
สมภารจึงว่าอย่าร้อนใจ | ไม่ฟังสอนเลี้ยงได้ฤๅยายโหวย |
แต่ทว่าข้าก็ไม่ใคร่ทำโพย | จะสั่งสอนไปโดยปัญญามัน |
ถ้าเด็กดีเด็กก็มีแต่คนชม | ชั่วแล้วเขาก็ถมผู้ใหญ่นั่น |
เพื่อนก็เป็นเชื้อผู้ดีมีเผ่าพันธุ์ | จะผ่าเหล่าเสียนั้นเห็นผิดไป |
ทองประศรีฟังขรัวหัวเราะร่า | พ่อเณรจำไว้หนาเอาใจใส่ |
ฝากลูกแล้วก็ลาคลาไคล | กลับถึงเขาชนไก่ก็ขึ้นเรือน ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว | ปัญญาคล่องแคล่วใครจะเหมือน |
หมั่นหมักภักดีมิให้เตือน | หัดเทศน์สามเดือนก็ขึ้นใจ |
มหาชาติธรรมวัตรสารพัดเพราะ | ถ้อยคำมั่นเหมาะไม่เปรียบได้ |
สุ้งเสียงเป็นเสน่ห์ดังเรไร | เทศน์ที่ไหนคนชมนิยมฟัง |
จนขึ้นชื่อฦๅชาว่าเปรื่องปราด | ชาวบ้านร้านตลาดเจียนจะคลั่ง |
เถรเณรอดเพลไปคอยฟัง | เข้าไปนั่งพูดจ้อขอเนื้อความ |
เจ้าอุตส่าห์ศึกษาวิชาการ | เขียนอ่านท่องได้แล้วไต่ถาม |
ตำรับใหญ่พิชัยสงคราม | สูรย์จันทร์ฤกษ์ยามก็รอบรู้ |
อยู่ยงคงกระพันล่องหน | ภาพยนตร์ผูกใช้ให้ต่อสู้ |
รักทั้งเรียนเสกเป่าเป็นเจ้าชู้ | ผูกจิตรหญิงอยู่ไม่เคลื่อนคลาย |
ท่านขรัวหัวร่อว่าออแก้ว | เรื่องเจ้าชู้รู้แล้วต้องมั่นหมาย |
เมียของเขาเจ้าอย่าได้ทำร้าย | สาวแก่แม่หม้ายเอาเถิดวา |
กูจะให้วิชาสารพัด | ให้ชะงัดเวทมนตร์พระคาถา |
ท่วงทีเอ็งจะดีดังจินดา | แล้วคายชานหมากมาให้เณรกิน |
เณรแก้วรับแล้วกินชานหมาก | ขรัวต่อยด้วยสากแทบหัวบิ่น |
ไม่แตกไม่บุบดังทุบหิน | ท่านขรัวหัวเราะดิ้นคากๆ ไป |
เจ้าเณรหมั่นปรนนิบัติพัดวี | ท่านขรัวก็ยิ่งมีความรักใคร่ |
แต่ฝึกสอนทดลองจนว่องไว | มีน้ำใจกำเริบทุกวันมา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงขุนช้างเมื่อรุ่นหนุ่ม | หัวเหมือนนกตะกรุมล้านหนักหนา |
เคราคางขนอกรกกายา | หน้าตาดังลิงค่างที่กลางไพร |
ไปสนิทติดพันเจ้าแก่นแก้ว | ลูกตาหมื่นแผ้วบ้านรั้วใหญ่ |
สู่ขอพ่อแม่ก็ปลงใจ | ขุนช้างจึง่ได้เป็นภรรยา |
มาอยู่กับเรือนเป็นเพื่อนนอน | ร่วมเรียงเคียงหมอนได้ปีกว่า |
ล้มเจ็บจับไข้หลายเวลา | แล้วกลายมาเป็นบิดริดสีดวง |
ผอมแห้งหน้าแข้งจนเป็นเกล็ด | อยากเป็ดอยากไก่นั้นใหญ่หลวง |
ของแสลงมันแกล้งให้ตากลวง | ขุนช้างเศร้าเหงาง่วงเป็นทุกข์ร้อน |
เห็นเมียเจ็บไข้ใจคอหาย | วุ่นวายให้ไปหาตาหมอค่อน |
เงินใส่พานตั้งข้างที่นอน | บนบานวานวอนให้วางยา |
หมอว่าโรคตัดอัติสาร | ป่วยการพิทักษ์รักษา |
เมื่อไข้หนักเกือบจักมรณา | แต่แรกสิมิหาข้ามาดู |
ว่าแล้วก็ลามาจากบ้าน | ขุนช้างสงสารเศร้าโศกอยู่ |
ร้อนรุ่มกลุ้มใจดังไฟวู | เป็นไม่รู้ที่จะคิดประการใด |
อยู่มาแก่นแก้วก็ดับจิตร | สิ้นชีวิตขุนช้างนั่งร้องไห้ |
ปลงศพเผาผีอึงมี่ไป | ทำบุญส่งให้เนืองเนืองมา ฯ |
๏ ทีนี้จะกล่าวเรื่องเมืองสุพรรณ | ยามสงกรานต์คนนั้นก็พร้อมหน้า |
จะทำบุญให้ทานการศรัทธา | ต่างมาที่วัดป่าเลไลย |
หญิงชายน้อยใหญ่ไปแออัด | ขนทรายเข้าวัดอยู่ขวักไขว่ |
ก่อพระเจดีย์ทรายเรี่ยรายไป | จะเลี้ยงพระกะไว้ในพรุ่งนี้ |
นิมนต์สงฆ์สวดมนต์เวลาบ่าย | ต่างฉลองพระทรายอยู่อึงมี่ |
แล้วกลับบ้านเตรียมการเลี้ยงเจ้าชี | ปิ้งจี่สารพัดจัดแจงไว้ |
ทำน้ำยาแกงขมต้มแกง | ผ่าฟักจักแฟงพะแนงไก่ |
บ้างทำห่อหมกปกปิดไว้ | ต้มไข่ผัดปลาแห้งทั้งแกงบวน |
บ้างก็ทำวุ้นชาสาคู | ข้าวเหนียวหน้าหมูไว้ถี่ถ้วน |
หน้าเตียงเรียงเล็ดข้าวเม่ากวน | ของสวนส้มสูกทั้งลูกไม้ |
มะปรางลางสาดลูกหวายหว้า | ส้มโอส้มซ่าทั้งกล้วยไข่ |
ทุกบ้านอลหม่านกันทั่วไป | จนดึกดื่นหลับใหลไปฉับพลัน |
ครั้นรุ่งแจ้งแสงทองส่องฟ้า | ต่างตกแต่งกายาขมีขมัน |
หนุ่มสาวเถ้าแก่มาแจจัน | พร้อมกันที่วัดป่าเลไลย ฯ |
๏ ฝ่ายว่านางพิมกับมารดา | พาบ่าวไพร่ออกมาหาช้าไม่ |
ข้าวปลาธารณะจัดหาไป | ธูปเทียนดอกไม้ใส่พานมา |
ถึงวัดนั่งลงตรงพระทราย | แล้วถวายนมัสการถ้วนหน้า |
หญิงชายเต็มไปในวัดวา | ปูเสื่อสาดคอยท่าพระสงฆ์ไว้ |
ฝ่ายพระสงฆ์ห่มดองครองผ้า | เสร็จแล้วลงมาศาลาใหญ่ |
เถรเณรนั่งจัดถัดกันไป | สัปปุรุษกราบไหว้ด้วยยินดี |
ต่างถวายเภสัชจัดพานเรียง | ห่มผ้าสไบเฉียงอยู่ตามที่ |
อาราธนาศีลขึ้นทันที | สมภารมีก็ให้ศีลไปพลัน |
แล้วถวายพรพระตั้งนโม | พวกสีกาหาโออยู่ตัวสั่น |
จัดของใส่สำรับลงฉับพลัน | ตั้งถวายเป็นหลั่นกันลงมา |
ลูกศิษย์เถรเณรประเคนบาตร | อังคาสข้าวของไว้ตรงหน้า |
ช่วยเหลือคอยสำรวจตรวจตรา | นํ้ายาพร่องต้องตักเอาเติมไป ฯ |
๏ ฝ่ายว่านางพิมมีศรัทธา | กล้วยขนมส้มซ่าใส่ถาดใหญ่ |
หยิบขันข้าวบาตรเดินนาดไป | ใส่แต่หัวโต่งลงมาพลัน |
ครั้นว่ามาถึงเจ้าเณรแก้ว | แลแล้วเรรวนนึกหวนหัน |
เจ้าเณรนี้ทีเหมือนรู้จักกัน | นางก็ตักจังหันทัพพีโต |
หมูผัดปลาแห้งทั้งแกงไก่ | ไข่พอกซีกใหญ่ใส่อักโข |
ไส้กรอกปลาแห้งแตงโม | แกงโถหนึ่งใส่ให้พอแรง |
เณรแก้วก้มหน้าไม่ทันรู้ | เห็นของมากเงยดูก็ตาแข็ง |
ปะหน้าสีกาพิมยิ้มตะแคง | สีกานี้มิแกล้งข้าฤๅไร |
ตักบาตรเหลือล้นจนโอสิ้น | จะรู้ที่เปิบกินกะไรได้ |
หวานเค็มก็เต็มสำรับไป | ส่วนที่ของชอบใจมิให้เรา |
นางพิมยิ้มไปล่ไฮ้เจ้าเณร | ข้าคิดว่าหลวงเถนเห็นโอเปล่า |
เขาใส่ให้อักโขพาโลเอา | จะให้เขาเสียศรัทธาขืนว่าไป |
เณรใจบึกๆ นึกเป็นครู่ | เหมือนเคยเล่นกับกูกูจำได้ |
ชื่อว่าสีกาพิมพิลาไลย | สาวขึ้นสวยกะไรเพียงบาดตา |
ครั้นพระสงฆ์ฉันเสร็จสำเร็จพลัน | ท่านสมภารมีนั้นก็ยถา |
อันดับรับสัพพีโมทนา | สัปปุรุษสีกาก็กรวดนํ้า |
ต่างคนยินดีปรีดา | เสร็จแล้วกลับมาอยู่คลาคล่ำ |
เสียงแซ่ซ้องบ้างร้องเป็นลำนำ | บ้างฟ้อนรำฉลองทานสำราญครัน ฯ |
๏ อยู่มาปีระกาสัปตศก | ทายกในเมืองสุพรรณนั่น |
ถึงเดือนสิบจวนสารทยังขาดวัน | คิดกันจะมีเทศน์ด้วยศรัทธา |
พระมหาชาติทั้งสิบสามกัณฑ์ | วัดป่าเลไลยนั้นวันพระหน้า |
ตาปะขาวเถ้าแก่แซ่กันมา | พร้อมกันนั่งปรึกษาที่วัดนั้น |
บ้างก็รับทศพรหิมพานต์ | บ้างก็รับเอาทานกัณฑ์นั่น |
ที่ลูกดกรับชูชกกัณฑ์กลางวัน | ให้ยายศรีประจันกัณฑ์มัทรี |
มหาราชพันชาติกัณฑ์กลางคืน | ฟังหัวเราะครึกครื้นกันอึงมี่ |
ฉ้อกษัตริย์สงัดเงียบเชียบดี | ตาหมื่นศรีคนแก่แกรับไป |
นางวันรับกัณฑ์จุลพน | เณรอ้นดีถนัดหัดขึ้นใหม่ |
เทศน์กัณฑ์มหาพนชีต้นใจ | ตาไทก็รับไปทันที |
วันประเวศน์นั้นท่านวัดแค | เป็นกัณฑ์ของตาแพกับยายคลี่ |
เออกัณฑ์หนึ่งใหญ่ให้ใครดี | ยากที่สัปปุรุษจะรับไป |
ออเออจริงแล้วกัณฑ์กุมาร | ให้เจ้าขรัวหัวล้านบ้านรั้วใหญ่ |
นายบุญคุ้นกันไปไวไว | ถึงขุนช้างยื่นให้ใบฎีกา |
จะมีพระมหาชาติสิบสามกัณฑ์ | วัดป่าเลไลยนั้นวันพระหน้า |
ตามแต่ใจหม่อมจะศรัทธา | พ่อขาทำบุญบ้างเป็นไร |
นางพิมศรีประจันกัณฑ์มัทรี | กุมารยังหามีใครรับไม่ |
ขุนช้างหัวร่ออ่อชอบใจ | ที่กัณฑ์ใหญ่ใหญ่เรายินดี |
จะคิดอะไรกับสิ้นยัง | ถึงสิ้นสักห้าชั่งยังไม่หนี |
เกิดชาติใหม่ก็จะได้ไปมั่งมี | ทำบุญอย่างนี้เราเต็มใจ |
นายบุญยินดีรี่กลับมา | เผดียงพระเอาฎีกาไปส่งให้ |
ครบทั้งสิบสามกัณฑ์เป็นหลั่นไป | ชาวบ้านน้อยใหญ่ก็เตรียมการ ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าจอมหม่อมขุนช้าง | น้ำใจกว้างขวางให้ฟุ้งซ่าน |
เด็กเอ๋ยหาไม้อย่าได้นาน | จักสานกระจาดนั้นเตรียมไว้ |
เอาเงินตราไปหาซื้อสังเค็ด | บริขารเบ็ดเสร็จทั้งน้อยใหญ่ |
หาผ้าเนื้อดีมาทำไตร | ที่ผู้หญิงนั้นไปหาเครื่องกัณฑ์ |
ข้าวแป้งระแนงตำทำเป็นผง | มุกกลมขนมกงเร่งจัดสรร |
สิ่งหนึ่งอย่าให้น้อยตั้งร้อยอัน | อย่ากลัวเปลืองนํ้ามันไปซื้อมา |
ส้มสูกลูกไม้ใส่ของสวน | ให้ถี่ถ้วนถูกแพงก็ไม่ว่า |
อย่าทำใจทมิฬเขานินทา | เขานับหน้าว่ากูเป็นผู้ดี ฯ |
๏ ครานั้นฝ่ายนางศรีประจัน | เรียกข้าด่าลั่นอยู่อึงมี่ |
แม่พิมช่วยแม่บ้างมาข้างนี้ | เข้ามานี่ช่วยกันทันเวลา |
บ่าวไพร่ทำขนมประสมปั้น | ชุบแป้งทอดนํ้ามันอยู่ฉ่าฉ่า |
เฮ้ยไฟร้อนนักชักฟืนรา | อีคงควักตักมาว่าเกรียมดี |
วางไว้ตามชะมดแลกงเกวียน | ฟั่นเทียนเรียงไว้อย่าให้บี้ |
ขนมกรุบขนมกรอบเห็นชอบที | คลุกน้ำตาลพริบพรีใส่ที่ไว้ |
ข้าวเม่ากวนแป้งนวลชุบทอด | เอาไม้แยงแทงหลอดใส่ยอดไข่ |
มะพร้าวน้ำตาลหวานไส้ใน | สุกแทงขึ้นไว้อ้ายลูกโคน |
บางควักแป้งแบ่งปันช่วยกันหวา | ฝูงข้าอึงมี่ดังมีโขน |
ศรีประจันเร่งของร้องตะโกน | ค่อยส่งมาอย่าโยนจะยับไป ฯ |
๏ ครานั้นเจ้ากัณฑ์ทศพร | ลุกขึ้นตื่นนอนแต่ก่อนไก่ |
ขนของเครื่องกัณฑ์สนั่นไป | ถึงวัดป่าเลไลยได้อรุณ |
เครื่องกัณฑ์ตั้งพานในการเปรียญ | จุดธูปเทียนไหว้พระอยู่กรุ่นกรุ่น |
ชีต้นให้ศีลบอกส่วนบุญ | แล้วว่าจุณณีย์บทบาลีไป |
ทศพรหิมพานต์ทานกัณฑ์ | จบพลันกัณฑ์หลังขึ้นตั้งใหม่ |
ถึงกัณฑ์มหาพนชีต้นใจ | จบแล้วเธอก็ไปกุฎีพลัน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงขุนช้างเพื่อนตื่นสาย | วุ่นวายล้างหน้าจ้าละหวั่น |
อีเด็กเอ๋ยเจ้าข้ามาพร้อมกัน | เออหมากประจำกัณฑ์กูลืมไป |
กูเป็นพ่อหม้ายมาหลายปี | ของนี้ไม่มีใครทำได้ |
รูปสัตว์มะละกอกูท้อใจ | มีใครอยู่บ้างเป็นช่างแกะ |
ถ้าบ้านเรานี้ไม่มีใคร | ช่างอยู่ที่ไหนไปแค่นแคะ |
นางเมืองบอกพลันว่าอีฉันแหละ | พอเล็มและค่อยคลำจะทำไป |
มะละกอซื้อมาตะกร้าจีน | เอาหยักหั่นควั่นสิ้นหาช้าไม่ |
เม็ดยอช่อตั้งขึ้นบังใบ | รายเรียงเคียงใส่ไว้เบื้องบน |
แกะเป็นหลวงชีขี่ตาเถน | แกะเจ้าเณรเคียงคั่นไว้ชั้นต้น |
แกะแร้งกินผีดูพิกล | เอาดอกรักปักปนกับดาวเรือง |
ขุนช้างชอบใจให้รางวัล | จัดสรรตอบแทนแหวนทองเหลือง |
ราคาไม่มากมายก็หลายเฟื้อง | นางเมืองรับไปใส่นิ้วมือ |
ครั้นแล้วจึงสั่งกับข้าไท | เอ็งยกเครื่องกัณฑ์ไปให้อึงอื้อ |
แหนแห่แซ่ถนนให้คนฦๅ | ประจำกัณฑ์นั้นถือไปให้ดี |
ถ้ามึงทำหายหกตกหล่น | กูจะถองกำด้นให้กลิ้งคี่ |
อ้ายบ่าวแบกเครื่องกัณฑ์ไปทันที | โห่มี่ไปวัดป่าเลไลย |
แต่บรรดาเครื่องกัณฑ์ที่เอามา | วางเรียงไว้หน้าศาลาใหญ่ |
ผู้คนอัดแอเซ็งแซ่ไป | ใครใครก็มาดูอยู่มากมี ฯ |
๏ ครานั้นนางพิมพิลาไลย | เรียกหาข้าไทให้มานี่ |
ทำหมากประจำกัณฑ์ให้ฉันที | หมากพลูสำลีไปหามา |
บ้างเอามะละกอมาผ่าจัก | ช่วยกันแกะสลักเป็นหนักหนา |
แล้วย้อมสีสดงามอร่ามตา | ประดับประดาเป็นทีศีขรินทร์ |
แกะเป็นราชสีห์สิงห์อัด | เหยียบหยัดยืนอยู่ดูเฉิดฉิน |
แกะเป็นเทพนมพรหมินทร์ | พระอินทร์ถือแก้วแล้วเหาะมา |
แกะรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ | ผาดผันเผ่นผยองล่องเวหา |
ยกไปให้เขาโมทนา | ฝูงข้าก็รับไปทันที |
ครั้นถึงศาลามาตั้งไว้ | สัปปุรุษสุดใจไปดูมี่ |
เออเขาทำหมดจดงดงามดี | ไม่เสียทีที่ลำบากพากเพียร |
รูปสัตว์หยัดย่องตละเป็น | ดูเด่นเห็นสะอาดดังวาดเขียน |
เขาช่างแกะสลักจักเจียน | ทั้งการเปรียญต่างชมขรมไป ฯ |
๏ ครานั้นขุนช้างจวนเวลา | สั่งข้าตักน้ำใส่ขันใหญ่ |
พวกบ่าวหาบน้ำตามกันไป | เติมใส่เต็มขันในทันที |
เจ้าขุนช้างอาบนํ้าสำราญใจ | ข้าไทเข้ากลุ้มรุมกันสี |
เอาขมิ้นถูตัวให้ทั่วดี | ขี้ไคลไหลรี่สีออกมา |
ผิวหนังยังเขียวเหมือนผักตบ | นี่จวนจบมหาพนแล้วสิหว่า |
เข้าห้องดินสอพองละลายทา | ประทั่วกายาจนพุงลาย |
ควักเอามุหน่ายขึ้นป้ายปีก | ฉีกผมปกกบาลให้ล้านหาย |
ยังโล่งเลี่ยนเตียนกลางอย่างแปลงควาย | หัวกูฉิบหายน่าอายใจ |
นุ่งยกลายกระหนกเหมหงส์ | เหมือนผ้าทรงใครใครหามีไม่ |
เกี้ยวส่านปักทองกรองดอกไม้ | ผ้าเช็ดเหงื่อไคลใส่ชมพู |
ครั้งนี้จะแต่งไปให้ยิ่งยวด | จะไปอวดนางพิมให้ยิ้มอยู่ |
นิ้วก้อยใส่รังแตนแหวนงู | นิ้วชี้เชิดชูนั้นแหวนเพชร |
นิ้วนางแหวนประดับทับทิม | เอ๊ะทีนี้นางพิมปิ้มสำเร็จ |
แหวนเครื่องของบิดายอดห้าเม็ด | ชาวสุพรรณมันเข็ดว่ามั่งมี |
เดินย่องไปส่องกระจกใหญ่ | ทุดหัวจัญไรเหมือนล่องขี้ |
ถึงหัวชั่วแต่ตัวเป็นผู้ดี | อ้ายเด็กมานี่เอาเสื่อไป |
มึงไปอยู่ด้วยกูสักสิบคน | แต่พอตามก้นอย่าไปไหน |
คนโทถาดหมากเครื่องนากใน | มึงถือไปอ้ายจีดอย่ากรีดกราย |
ขุนช้างย่างลงจากเคหา | เดินย้ายส่ายมาหน้าแหงนหงาย |
เห็นใครดูก็พยักทักทาย | เหมือนควายขวิดเฝือเหงื่อท่วมมา |
ครั้นว่ามาถึงการเปรียญใหญ่ | สัปปุรุษสุดใจอยู่พร้อมหน้า |
เขาหลีกทางขุนช้างก็เข้ามา | บ่าวปูเสื่อคล้านั่งเพโท |
เพื่อนฝูงเห็นเข้าก็มาหา | ทักทายพูดจาว่ากันโอ้ |
ที่บางคนพูดมากปากโว | ว่าพุทโธ่เหงื่อไหลกะไรนี้ |
ขุนช้างเคืองขัดสะบัดหน้า | ไม่พอที่จะมาว่าจู้จี้ |
เมินหน้าเสียพลันทันที | เรียกหมอนมือชี้อยู่เว้โว้ |
สั่งบ่าวไพร่ให้กองของเครื่องกัณฑ์ | เผือกมันของเรานั้นอักโข |
อ้อยขาวอ้อยแดงแตงโม | ส้มโอมะดูกลูกมะไฟ |
ชะมดกงเกวียนข้าวเหนียวแดง | หินฝนทองครองแครงแตงลูกใหญ่ |
นอกศาลาข้าวของที่กองไว้ | จัดให้เป็นลำดับอย่าซับซ้อน |
ยกเข้ามาข้างในไตรกับบาตร | เสื่อสาดฟูกเมาะเบาะหมอน |
พานหมากประจำกัณฑ์นั้นอย่าซ่อน | ยกไปก่อนตั้งหน้าพานผ้าไตร |
แล้วจุดธูปเทียนขึ้นบูชา | ชีต้นเทศนาหาช้าไม่ |
พวกทายกสัปปุรุษสุดใจ | ก็จุดเทียนปักดอกไม้ไหว้บูชา ฯ |
๏ ครานั้นนางพิมพิลาไลย | ว่าจวนกัณฑ์เราไปเถิดแม่ขา |
แล้วก็ลุกไปพลันมิทันช้า | อาบน้ำผลัดผ้าด้วยฉับพลัน |
จึงเอาขมิ้นมารินทา | ลูบทั่วกายาขมีขมัน |
ทาแป้งแต่งไรใส่น้ำมัน | ผัดหน้าเฉิดฉันดังนวลแตง |
เอาซี่สีฟันเป็นมันขลับ | กระจกส่องเงาวับดูจับแสง |
นุ่งยกลายกระหนกพื้นแดง | ก้านแย่งทองระยับจับตาพราย |
ชั้นในห่มสไบชมพูนิ่ม | สีทับทิมทับนอกดูเฉิดฉาย |
ริ้วทองกรองดอกพรรณราย | ชายเห็นเป็นที่เจริญใจ |
ใส่แหวนเพชรประดับทับทิมพลอย | สอดก้อยแหวนงูดูลิ้นไหว |
อีเด็กเอ๋ยหีบหมากเครื่องนากใน | ขันถมยาเอาไปอย่าได้ช้า |
ข้าไททาแป้งแต่งตัว | หวีหัวใส่น้ำมันกันหน้า |
สำเร็จเสร็จพลันทันเวลา | ก็ออกมาหน้าเรือนในทันที |
ศรีประจันครั้นแลเห็นลูกสาว | กูนี้หัวหงอกขาวมันพ้นที่ |
จะตกแต่งตัวไปทำไมมี | คว้าผ้ายกตานีห่มดอกคำ |
ลูกสาวหัวเราะร่าว่าแม่เอ๋ย | ช่างไม่อายเขาเลยเห็นผิดสํ่า |
ศรีประจันครั้นมองร้องกรรมกรรม | ผลัดผ้าตารางดำห่มขาวม้า |
แม่เดินนำทางนางพิมตาม | ดูเหมือนหนึ่งนางห้ามงามหนักหนา |
บ่าวไพร่ตามกันเป็นหลั่นมา | พวกข้าก็แบกเครื่องกัณฑ์ไป |
ครั้นว่ามาถึงการเปรียญ | ธูปเทียนกระจ่างสว่างไสว |
ปูเสื่อนั่งพลันในทันใด | แม่ลูกกราบไหว้ด้วยยินดี |
ครั้นพระสงฆ์เทศน์จบกัณฑ์กุมาร | เจ้าขรัวหัวล้านก็เร็วรี่ |
ประเคนเครื่องกัณฑ์ในทันที | ปี่พาทย์ก็ตีเป็นเพลงไป ฯ |
๏ ครานั้นนางพิมศรีประจัน | ให้บ่าวยกเครื่องกัณฑ์หาช้าไม่ |
บาตรย่ามบริขารพานผ้าไตร | ส้มสูกลูกไม้เป็นหลายพรรณ |
ขนมนมเนยก็หลายอย่าง | ยกเข้าไปจัดวางไว้เป็นหลั่น |
ข้างหน้าตั้งหมากประจำกัณฑ์ | ปี่พาทย์ตีลั่นขึ้นทันที ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสมภารเรียกเณรแก้ว | ขานแล้วดีฉานหลานอยู่นี่ |
กูป่วยมาหลายวันไม่ทันที | เณรไปเทศน์มัทรีนี้แทนกู |
เณรแก้วกราบแล้วลุกลนลาน | หยิบมัทรีมาทานอ่านอยู่ |
ว่าท่องตามทำนองของท่านครู | ซ้อมดูจนคล่องว่องไว |
ทั้งคาถาบาลีจุณณีย์บท | กำหนดแม่นยำจำไว้ได้ |
แล้วเรียกเณรอ้นพลันทันใด | มาแบกคัมภีร์ไปให้ข้าที |
เณรอ้นรับคำแล้วอำลา | มาครองผ้าสไบหนังไก่สี |
จบจับรับเอาห่อคัมภีร์ | คอยอยู่ที่บันไดจะไคลคลา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว | เย็นแล้วจะไปเทศน์ก็ผลัดผ้า |
ห่มดองครองแนบกับกายา | แล้วไปวันทาท่านขรัวมี |
ลุกออกจากห้องของสมภาร | อธิษฐานแล้วก็เสกขี้ผึ้งสี |
ให้เณรอ้นเดินนำแบกคัมภีร์ | มาจากกุฎีถึงศาลา |
นั่งต่ำมากว่าสงฆ์สำรวมกาย | ชม้ายเห็นเจ้าพิมผู้นิ่มหน้า |
พิมน้อยพอชม้อยไปปะตา | อายหน้าก้มนิ่งอยู่ในที |
เณรพลายจึงร่ายละลวยซ้ำ | ประจำจิตรประสมเนตรวิเศษศรี |
กำลังมนตร์ดลพิมให้ยินดี | ไม่ขาดที่จะแลล่อไปต่อตา |
พอสบพักตร์เณรพยักให้ทันใด | ด้วยน้ำใจผูกพันกระสันหา |
เชิญกระหยับมานี่เถิดสีกา | ท่านสมภารไม่มาอาพาธไป |
จึงให้ข้าเจ้ามาเทศนา | ท่านเจ้ากัณฑ์จะว่าเป็นไฉน |
นางพิมยิ้มตอบไปทันใด | ไหนไหนก็เหมือนกันไม่ฉันทา |
ไม่เลือกเณรเลือกขรัวว่าชั่วดี | ตามแต่บาลีพระคาถา |
พูดพลางยิ้มเหลือบไปปะตา | ก็เสือกพานหมากมาให้สายทอง |
ก้มกรานตั้งพานหมากอังคาส | ขึ้นธรรมาสน์จับจบคัมภีร์จ้อง |
มือจับหนังสือถือประคอง | อ่านต้องตามบทจุณณีย์ |
จนถึงแทบทางพระนางคลา | พบพระยาพยัคฆราชสีห์ |
นางชะอ้อนวอนขอจรลี | จนราตรีแจ่มแจ้งด้วยแสงจันทร์ |
ถึงอาศรมอารมณ์ให้เยือกเย็น | ด้วยไม่เห็นพระลูกผู้จอมขวัญ |
ทรงกันแสงโศกาจาบัลย์ | เสด็จดั้นด้นตามพระลูกยา |
สัปปุรุษหญิงชายครั้นได้ฟัง | เสียงสาธุดังขึ้นพร้อมหน้า |
ทุกคนดลใจให้ศรัทธา | นางพิมเปลื้องผ้าทับทิมพลัน |
จีบจบคำรบถ้วนสามที | ยินดีวางลงในพานนั่น |
ถวายแล้วนอบนบอภิวันท์ | พิษฐานสำคัญด้วยศรัทธา |
สาธุสะเดชะข้าทำทาน | ให้พร้อมยศบริวารไปภายหน้า |
สารพัดมั่งมีปรีดา | ว่าแล้วนั่งฟังด้วยตั้งใจ ฯ |
๏ ขุนช้างเห็นนางถวายผ้า | ชะต้าเขาเป็นหญิงยังทำได้ |
จะมานั่งนิ่งดูอดสูใจ | เรามิให้น้อยหน้านินทากัน |
จึงว่าสาธุโมทนา | ความศรัทธาเลื่อมใสกะไรนั่น |
ถึงตัวเรามิได้เป็นเจ้ากัณฑ์ | ก็ศรัทธามากครันในอารมณ์ |
ว่าแล้วเหลียวหน้ามาดูพิม | ยิ้มเปลื้องผ้ากรองที่ครองห่ม |
จีบจับพับถือมือประนม | ยกเหนือผมแล้วพิษฐานไป |
สาธุสะเดชะเมตตาจิตร | ขอให้สมอารมณ์คิดพิสมัย |
ให้ได้เร็วพลันให้ทันใจ | แต่ในคํ่าวันนี้อย่าคลาศคลา |
ว่าพลางวางเคียงผ้านางพิม | ขอให้ผ้าสีทับทิมอย่าแคล้วข้า |
จงบันดาลเคลื่อนคล้อยให้ลอยมา | แต่เวลาคํ่าวันนี้อย่านานไป ฯ |
๏ นางพิมพิลาไลยครั้นได้ฟัง | แค้นคั่งอัดอั้นให้มันไส้ |
ทุดถ่มน้ำลายด้วยอายใจ | สั่งข้าไทให้หยิบเอาพานมา |
อีพรมอีบู่รู้ใจนาย | เดินกรายเข้าไปหยิบเอาพานผ้า |
ข้ามหัวขุนช้างกลางศาลา | ขุนช้างเพ่งดูตาด้วยขัดใจ |
สายทองร้องว่าฮ้าอีพรม | ชายผ้าปัดผมท่านหาดูไม่ |
กิริยาชั่วถ่อยน้อยเมื่อไร | ไปเถิดหนอแม่พิมอย่าฟังเลย |
นางพิมย่างเท้าก้าวเดินมา | ช่างขายหน้าจริงๆ แม่เจ้าเอ๋ย |
ยิ่งกว่าลูกชาวไร่มันไม่เคย | นางก็ด่าเปรียบเปรยมาบ้านพลัน ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว | สีกาพิมไปแล้วให้ป่วนปั่น |
ด้วยความรักตรึงจิตรคิดผูกพัน | ก็ตัดบั่นหั่นข้ามเนื้อความไป |
อ่านคาถาว่าครบพอจบบาท | ก็จบเทศน์ลงธรรมาสน์หาช้าไม่ |
ถึงกัณฑ์สักรบรรพด้วยฉับไว | แล้วต่อไปจนครบสิบสามกัณฑ์ |
ทายกทั้งประสกแลสีกา | บ้างกรวดน้ำกรวดท่าด้วยจอกขัน |
โมทนาชื่นชมสมภารครัน | พอสองยามเสร็จกันก็ครรไล ฯ |
๏ ดึกกำดัดลมพัดมาอ่อนอ่อน | พระจันทรแสงสว่างกระจ่างไข |
เงียบสงัดทั้งวัดป่าเลไลย | เจ้าเณรน้อยละห้อยให้คะนึงนาง |
โอ้พิมนิ่มนวลของเณรแก้ว | เจ้าไปแล้วจะรำลึกถึงพี่บ้าง |
ฤๅงามปลื้มแม่จะลืมนํ้าใจจาง | แต่ครุ่นครางครวญคิดจนค่อนคืน |
ทำไฉนจึงจะได้นางพิมชม | ให้เคลื่อนคลายอารมณ์รํ่าสะอื้น |
รักนางพ่างเพียงจะกลํ้ากลืน | หญิงอื่นหมื่นแสนไม่นำพา |
ได้ร่วมหมอนพี่จะช้อนขึ้นชมชื่น | ทุกคํ่าคืนมิได้ขาดเสนหา |
ทำไฉนจึงจะได้สนทนา | กับพิมแก้วแววตาสักสองคำ |
บ้านช่องของน้องซึ่งตำแหน่ง | ไม่รู้แห่งเห็นเจ้าเข้าจวนคํ่า |
ได้ชมนางแต่เมื่อกลางสำแดงธรรม | อ้ายขุนช้างเจ้ากรรมจลาจล |
เจ้าเดือดด่าพาบ่าวเข้าไปบ้าน | พี่พลุ่งพล่านเทศน์พลั้งเป็นหลายหน |
พอลับเจ้าพี่เฝ้าเป็นทุกข์ทน | พรุ่งนี้เช้าพี่จะด้นไปโดยเดา |
ถึงจะอยู่ซอกห้วยหุบเหวผา | จะเสาะหาไปให้พบตำแหน่งเจ้า |
ยิ่งคะนึงถึงนางไม่บางเบา | ไก่ก็เร้าเร่งรีบในราตรี |
กอดผ้าสีทับทิมของพิมน้อง | จูบประคองหอมซาบอาบทรวงพี่ |
ยิ่งรัญจวนหวนหาในราตรี | จวนจะรุ่งพระสุริย์ศรีขึ้นรางราง ฯ |
๏ ครานั้นนางพิมนิ่มสนิท | เกิดนิมิตประจักษ์ใจเมื่อใกล้สว่าง |
ว่าว่ายข้ามน้ำได้ไปกลางทาง | กับพี่นางสายทองคะนองใจ |
ถึงฝั่งหยั่งตื้นพอยืนตรง | สายทองส่งบัวทองประคองให้ |
หอมห่อผ้าห่มชมชื่นใจ | แล้วกลับข้ามน้ำได้ดังจินดา |
สิ้นฝันเท่านั้นก็ตื่นตัว | ไม่เห็นบัวทองหายก็คว้าหา |
เสียดายดวงโกสุมปทุมา | อนิจจาอกโอ้มาหายไป |
จึงขยับจับปลุกสายทองพลัน | เล่าความฝันให้ฟังหาช้าไม่ |
จะเป็นเหตุเภทพาลประการใด | ทำนายให้น้องหน่อยหนึ่งเถิดรา ฯ |
๏ สายทองฟังน้องบอกนิมิต | ประจักษ์จิตรคิดความไม่กังขา |
เคยได้สังเกตไว้แต่ไรมา | แก้วตาอย่าประหวั่นพรั่นใจ |
ซึ่งฝันว่าได้ดอกบัวชม | จะได้คู่สู่สมพิสมัย |
ชายนี้เห็นทีไม่ใกล้ไกล | คงจะได้โดยพลันมิทันช้า |
ซึ่งฝันว่าพี่เด็ดดอกบัวส่ง | คงจะได้พึ่งแม่ไปภายหน้า |
ถ้ากะไรได้เหมือนดังจินดา | แม่เมตตาสายทองให้ได้ดี ฯ |
๏ นางพิมร้องไฮ้พี่สายทอง | ทำนายน้องอะไรอย่างนั้นพี่ |
แต่อยู่ด้วยกันมาทั้งตาปี | พี่เห็นวี่เห็นแววที่ไหนมา |
พี่สายทองฤๅเห็นน้องนี้ร้อนรน | เป็นกังวลบ่นอย่างไรจึงแกล้งว่า |
บัวทองน้องฝันยังติดตา | ทำนายผัวตัวข้าไม่เออออ |
ซึ่งฝันว่าพี่เด็ดดอกบัวส่ง | ถ้าตรงเข้าพี่สายทองจะหัวร่อ |
วานทำนายให้น้องต้องใจคอ | เงินหม้อทองหม้อจะพอใจ ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าขุนช้าง | คะนึงนางนิทราหาหลับไม่ |
พลิกควํ่าครํ่าครวญรัญจวนใจ | โอ้แม่พิมพิลาไลยของขุนช้าง |
ฟังเสียงเกลี้ยงกลมเมื่อเจ้าว่า | วาจาแจ้วเจื้อยแจ่มกระจ่าง |
อรชรอ้อนแอ้นบั้นเอวบาง | หมื่นนางก็ไม่มีเหมือนนางเดียว |
เจ้าห่มสีทับทิมริมขลิบทอง | สอดสองซับในสไบเขียว |
แขนอ่อนท่อนท้ายแม่พริ้งเพรียว | งามตาเมื่อเจ้าเหลียวชำเลืองมา |
ทำไฉนจะได้แนบสนิทนาง | ขุนช้างจะทูนเหนือเกศา |
จะคลึงเคล้าเฝ้าเฟ้นเป็นอัตรา | ข้าวปลาจะป้อนให้หล่อนกิน |
ยามเดินจะเชิญโฉมเจ้าขี่ช้าง | ยามนอนจะให้นางหอมประทิ่น |
อาบน้ำจะทำสุหร่ายริน | แผ่นดินมิให้ย่างระคายกาย |
รักเจ้าเท่าเทียมดวงชีวิต | กลัวจะเสียแรงคิดไม่เหมือนหมาย |
ด้วยรูปชั่วกลัวเจ้าจะเกลียดกลาย | ถึงใจรักก็จักอายด้วยลายงอน |
รื้อคิดขึ้นมาจะว่าไย | ถึงชั่วดีก็จะไปดูทีก่อน |
ถ้าว่างคนจะซนเข้าว่าวอน | ถูกลมเห็นจะอ่อนละมุนลง |
เปิดมุ้งรุ่งแล้วฤๅยังหนอ | อ่อแสงพระจันทร์ยังสูงส่ง |
ได้ทีพี่จะไปเป็นมั่นคง | หาเจ้าเกศสุริยงทรงโสภา ฯ |