๏ จะกล่าวถึงนางพิมพิลาไลย |
นอนเดียวเปลี่ยวใจอยู่ในหอ |
คอยทัพตรับฟังยังรั้งรอ |
ไม่แจ้งข้อเนื้อความประการใด |
รำลึกดึกดื่นทุกคืนคอย |
แต่ละห้อยหาหลับสนิทไม่ |
นอนวันฝันเห็นให้เป็นไป |
หลงใหลเพ้อพูดดังผีลง |
อยู่อยู่แล้วก็จู่ออกนอกห้อง |
หัวเราะร้องร่าเร่อมะเมอหลง |
เพอิญเข็ญเป็นไข้ไม่คืนคง |
แต่ทรุดทรุดแล้วทรงเสมอไป |
สายทองเข้าประคองประคับปลอบ |
จะฟังชอบหูเหืองหามีไม่ |
โอ้พ่อพลายแก้วแววไว |
ไม่เห็นใจเมียแล้วกระมังนา ฯ |
๏ ครานั้นศรีประจันผู้แม่เถ้า |
เห็นลูกสาวซูบเศร้าลงหนักหนา |
กลัดกลุ้มคลุ้มคลั่งไม่ฟังยา |
มดหมอหามาก็หลายคน |
หมอจะเอาอะไรให้ทุกสิ่ง |
ข้าไทชายหญิงวิ่งสับสน |
วุ่นวายทั้งบ้านแกบานบน |
จนใจไม่รู้ว่าเป็นไร |
ถามหมอลางหมอว่าไม่ตาย |
ลางหมอก็ว่าร้ายเห็นไม่ได้ |
บ้างก็ว่าลมบาทยักษ์ชักหัวใจ |
บ้างก็ว่าไข้เพื่อเลือดระดูทำ |
บ้างว่าผีเรือนวิ่งเข้าออก |
ศรีประจันตากลอกไม่เป็นสํ่า |
มดหมอตะแก่ด่าว่าระยำ |
มานั่งกินพล่ำพล่ำสบายใจ |
คนเจ็บร้องเสียงเหมือนวัวมอ |
อ้ายหมอนั่งหัวร่อหาดูไม่ |
จะให้มันรักษาไปว่าไร |
ไสหัวให้ไปพ้นเรือนกู |
หมออยู่ไม่ได้ไปสิ้นเรือน |
ศรีประจันด่าเปื้อนสนั่นหู |
หาหมอมาให้มากเปลืองหมากพลู |
เข้ามาดูลูกแล้วรำคาญใจ |
ผอมนักผอมหนาตาบ้องแบว |
กอดลูกเข้าแล้วก็ร้องไห้ |
แม่เฝ้ารักษามาแต่ไร |
ก็มิได้เคลื่อนคลายสักเวลา |
ไม่รู้ว่าเป็นโรคสิ่งอันใด |
คิดคิดผิดใจเป็นหนักหนา |
ยาหมอให้กินสิ้นตำรา |
เสียเงินสักตะกร้าไปได้แล้ว |
อุตส่าห์เถิดนะเจ้ากินข้าวปลา |
เอาใจไว้ท่าออพลายแก้ว |
แต่ยกทัพขึ้นไปไม่วี่แวว |
มิได้แว่วเรื่องราวว่าอย่างไร |
ปลอบลูกถูกต้องประคองมือ |
กินข้าวต้มฤๅแม่จะต้มให้ |
ไม่พูดจามาบ้างเป็นอย่างไร |
ฤๅผีใครมาเข้าบอกเรามา |
ลูกเต้าของเราทำไมมัน |
พ่อพันศรผัวข้าฤๅไรขา |
จะเซ่นเหล้าข้าวทั้งเต่าปลา |
ไม่รู้ว่าพ่อมาอย่าถือใจ |
ช่วยลูกพอให้คลายหายขาด |
จะทำบุญตักบาตรส่งไปให้ |
มัวแลบลิ้นปลิ้นตาอยู่ทำไม |
ออพิมเป็นไข้มาช่วยกัน |
นางพิมฮึดฮัดขัดใจ |
ผีสางอะไรที่ไหนนั่น |
โทษเอาพ่อข้าสารพัน |
นับวันไปเถิดไม่รอดตาย |
หนักอกหนักใจลูกหนักหนา |
แม่อย่ารักษามันไม่หาย |
ทำกะไรจะได้เห็นหน้าพ่อพลาย |
กอดสายทองเข้าสะอื้นไป ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายศรีประจัน |
ตัวสั่นน้ำตาลงหลั่งไหล |
ดูลูกวิปริตเห็นผิดใจ |
รำลึกขึ้นได้ถึงขรัวตา |
แกจึงลุกออกมานอกห้อง |
ร้องเรียกข้าไทอยู่ไหนหวา |
หมากพลูใส่พานลนลานมา |
เข้าในวัดป่าเลไลยพลัน |
ครั้นถึงจึงตรงเข้าไปหา |
ประเคนหมากขรัวตาขมีขมัน |
ออพิมเป็นไข้กะไรครัน |
มดหมอทั้งสุพรรณไม่เคลื่อนคลา |
ใหลเล่อเพ้อพูดดังผีเข้า |
ผอมโศกซูบเศร้าลงหนักหนา |
เห็นจะไม่เป็นตัวแล้วขรัวตา |
กรุณาช่วยดูให้แจ้งใจ ฯ |
๏ ครานั้นจึงท่านขรัวตาจู |
พิเคราะห์จับยามดูหาช้าไม่ |
ครั้นดูรู้ประจักษ์ก็ทักไป |
ออพิมพิลาไลยนี่เคราะห์ร้าย |
มันตกลงที่นั่งนางสีดา |
เมื่อทศพักตร์ลักพาไปสูญหาย |
ถ้าแม้นไม่จากผัวตัวจะตาย |
ถ้ายักย้ายแก้ไขไม่เป็นไร |
ผลัดชื่อเสียพลันว่าวันทอง |
จะครอบครองทรัพย์สินทั้งปวงได้ |
โรคนั้นพลันจะคลายหายไป |
หาบรรลัยไม่ดอกสีกายาย ฯ |
๏ ศรีประจันรับคำแล้วอำลา |
ดีใจขรัวตาแกว่าหาย |
ถึงเรือนร้องไปว่าไม่ตาย |
ขรัวตาตะแก่ทายกูแน่ใจ |
แล้วก็จัดข้าวปลาแลกล้วยอ้อย |
ขนมเล็กขนมน้อยเอาลงใส่ |
จะทำขวัญเจ้าพิมพิลาไลย |
ข้าวของจัดไว้ก็ใส่ลง |
ยายศรีประจันตักขวัญลูก |
ผิดผิดถูกถูกแกว่าหลง |
ขวัญเอ๋ยอย่าเที่ยวไปไพรพง |
กลางดงคนเดียวอยู่เปลี่ยวดาย |
อย่าหลงชมเสือสีห์หมีเม่น |
กระแตกระเต็นเต้นตุ่นกระต่าย |
อย่าหลงชมแรดช้างแลกวางทราย |
ชะนีค่างนางกรายจะหลอนเลียน |
แล้วก็ตักข้าวปลาเข้ามาฟาด |
โรคภัยหายขาดบาดหนามเสี้ยน |
เอาด้ายดำผูกมือรื้อดับเทียน |
เปลี่ยนพิมผลัดชื่อวันทองพลัน |
อยู่มาข้าวปลาก็กินได้ |
หลับใหลไม่เพ้อมะเมอฝัน |
คลายคลี่มีเนื้อขึ้นทุกวัน |
ศรีประจันค่อยสำราญบานใจ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงโฉมเจ้าขุนช้าง |
รู้ว่านางนั้นคลายหายไข้ |
พลายแก้วไปทัพก็หายไป |
ไม่ได้ข่าวราวเรื่องว่าร้ายดี |
เมื่อไรไหนมันจะได้กลับ |
ลาวมันมิแหวะตับลงกลิ้งคี่ |
ฤทธิเดชเวทมนตร์อะไรมี |
ถ้าตีเชียงทองได้จะกลับมา |
อย่าเลยจะผลอขอวันทอง |
ถนอมไว้ในห้องจะดีกว่า |
จะพูดจาว่าขานกับมารดา |
บอกศรีประจันว่าออแก้วตาย |
จึงสั่งบ่าวไพร่ไปเร็วหวา |
ไปหาป้ากลอยกับป้าสาย |
ว่ากูเชิญมาในห้องทั้งสองยาย |
อ้ายบ่าวรับคำนายวิ่งลนลาน |
ครั้นถึงยายกลอยกับยายสาย |
บอกว่านายให้เชิญเข้าไปบ้าน |
ทั้งสองยายได้ฟังมาลนลาน |
ถึงบ้านขุนช้างเข้าทันใด |
ขุนช้างว่าวอนให้อ่อนจิตร |
เงินทองไม่คิดจะเสียให้ |
จงปรานีตัวข้าพากันไป |
ขอวันทองให้ข้าสักที |
ออแก้วผัวนั้นมันไปทัพ |
แตกยับลาวแทงเสียเป็นผี |
ใครจะรอดมาได้ก็ไม่มี |
บัดนี้นางพิมพิลาไลย |
แม่ผลัดชื่อว่าเจ้าวันทอง |
หมอทายว่าจะครองทรัพย์สินได้ |
จงช่วยเอ็นดูข้าพากันไป |
ขอวันทองให้ข้าหน่อยรา ฯ |
๏ ครานั้นยายกลอยกับยายสาย |
ไม่รู้แยบคายขุนช้างว่า |
หลงใหลแต่จะได้เงินตรา |
ก็รับคำอำลามาทันใด |
สองยายอาบน้ำแต่งตัว |
ทาแป้งหวีหัวนุ่งผ้าใหม่ |
ขุนช้างเสือกหาข้าไท |
ที่ไว้เนื้อเชื่อใจแต่ก่อนมา |
ค่อยกระซิบกระซาบสั่งคดี |
ธุระของกูมีเป็นหนักหนา |
กูเคยไว้ใจแต่ไรมา |
อย่าช้าเอ็งรีบออกไปวัด |
เก็บเอากระดูกผีที่ป่าช้า |
ใส่หม้อใหม่มาให้ถนัด |
อ้ายบ่าวรีบมาป่าช้าชัฏ |
จัดหม้อกระดูกได้ไวทันการ |
ขุนช้างรับหม้อใหม่เข้าในห้อง |
นุ่งผ้ายกทองแล้วห่มส่าน |
จับกระจกขึ้นชูดูกระบาน |
เห็นหัวตัวล้านรำคาญใจ |
กูแค้นน่าแพ่นลงสักโขก |
โสโครกไม่เอาแก้วเอาการได้ |
เกลี้ยงหน้าเกลี้ยงหลังดูจังไร |
จับเขม่าเข้าใส่สักสองเพรียง |
เปื้อนเปรอะเลอะหน้าเหมือนทาเล่น |
หวีกระจายรายเส้นไม่มิดเกลี้ยง |
เอาไม้น้อยสอยเส้นให้รายเรียง |
มุหน่ายป้ายเคียงลงเต็มที |
อ้ายหยอกหยอยมันน้อยกว่าที่เปล่า |
ผมขี้เค้าน่าเกลียดขี้เกียจหวี |
อนิจจาข้าวของเงินทองมี |
ช่วยทาสีทาสาได้กว่าพัน |
ซื้อช้างซื้อม้าก็กว่าร้อย |
ผมหน่อยหนึ่งกะไรไม่มิดขวัญ |
ถ้าซื้อได้กูจะใส่เสียให้ครัน |
ตัดกันดูเล่นเส้นงามงาม |
ถ้ารู้ว่าจะล้านแต่กำเนิด |
กูไม่ปรารถนาเกิดอ้ายสํ่าสาม |
ขัดแค้นแน่นใจดังไฟลาม |
ลุกเดินผลีผลามเข้าห้องใน |
จับหม้อกระดูกผูกกระดาษ |
บ่าวไพร่หมอบกลาดทั้งน้อยใหญ่ |
ขุนช้างเรียกบ่าวที่ไว้ใจ |
ส่งหม้อกระดูกให้แล้วเดินมา |
ลงจากเรือนพลันตะวันเที่ยง |
สองยายเดินเรียงมาข้างหน้า |
ถึงเรือนศรีประจันมิทันช้า |
ถามหาท่านยายศรีประจัน |
อีบ่าวบอกว่าอยู่ข้างใน |
แล้ววิ่งไปบอกนายขมีขมัน |
ว่าขุนช้างมาหาตาเป็นมัน |
หยุดยั้งอยู่นั่นตีนบันได ฯ |
๏ ยายศรีประจันเปิดหน้าต่าง |
แลเห็นขุนช้างร้องปราศรัย |
เหงื่อไหลโซมหน้าพ่อมาไย |
จะไปไหนเชิญขึ้นมาข้างบน |
ขุนช้างก็ย่างขึ้นบันได |
สองยายนั้นไซ้เดินติดกัน |
นั่งลงแลมาตาเหลือกลน |
ยกมือไหว้วนเป็นซนไฟ |
ศรีประจันรับไหว้มิใคร่ทัน |
หันหน้ามาเสือกเชี่ยนหมากให้ |
พ่อมาหลายคนทำวนอะไร |
เป็นไฉนยายกลอยยายสายมา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าขุนช้าง |
ทำครวญครางอู้อี้แล้วยี่หน้า |
น้ำตากระเด็นเป็นเม็ดเช็ดน้ำตา |
เอาหม้อกระดูกมาตั้งลงไว้ |
นี่คือกระดูกออพลายแก้ว |
ลาวแทงเสียแล้วเขาเอามาให้ |
พระยาเชียงทองมันสองใจ |
เข้าด้วยเชียงใหม่แล้วกลับมา |
ทำเป็นเข้าด้วยออพลายแก้ว |
ยกทัพมาแล้วถึงกลางป่า |
หยุดทัพหลับนอนมาหลายครา |
ครั้นเพลาพลบคํ่าลงรำไร |
พระยาเชียงทองย่องมาแทง |
เลือดแดงตลอดจนปอดไหล |
ร้องขึ้นอึงมี่มันหนีไป |
ออแก้วก็สิ้นใจไปไม่ช้า |
บ่าวมาถึงกรุงก็ติดคุก |
หลายคนทนทุกข์อยู่หนักหนา |
อ้ายมากฝากหม้อกระดูกมา |
ว่าแล้วทำหน้าเป็นทุกข์คลาย |
อายุมันสั้นเท่านั้นแล้ว |
คิดคิดถึงออแก้วก็ใจหาย |
ไม่พอที่จะกล้าอาสาตาย |
ให้แม่พิมเป็นหม้ายอยู่เอกา ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายศรีประจัน |
ได้ยินขุนช้างนั้นรำพันว่า |
ออแก้วตายแล้วนะอกอา |
แม่นับวันคอยท่าอยู่ทุกวัน |
วันทองเป็นไข้ก็ไม่ตาย |
เคราะห์โศกโรคร้ายเป็นกวดขัน |
ออพลายกลับตายเสียก่อนมัน |
เข้าหอยังไม่ทันสักเท่าไร |
วันทองร้องไห้มิได้งด |
จะปลอบมันไม่อดร้องไห้ได้ |
เรียกหาวันทองร้องอึงไป |
หัวใจเอ็งขาดแล้วแก้วแม่อา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมนางวันทอง |
อยู่ในห้องได้ยินขุนช้างว่า |
เสียงแม่ร้องไห้โฮโผล่ออกมา |
เห็นหน้าขุนช้างก็ขัดใจ |
ใครมาว่าชั่วผัวกูตาย |
แกล้งใส่ความร้ายกูจะด่าให้ |
อ้ายงูเห่าเจ้าเล่ห์ทุกอย่างไป |
หม้อใบละสิบเบี้ยสู้เสียมา |
กระทืบตีนผางผางกลางประตู |
โคตรแม่มึงกูขี้คร้านด่า |
กลับเข้าในหอคลอน้ำตา |
ทอดตัวโศกาในที่นอน |
โอ้พ่อพลายแก้วของเมียเอ๋ย |
เมียไม่เชื่อมันเลยอ้ายหัวกล้อน |
มันแกล้งร้องระบุยุยอน |
ซอกซอนส่อเสียดจนไปทัพ |
แล้วกลับมาเจรจาว่าสอพลอ |
เอากระดูกใส่หม้อมาสับปลับ |
พูดได้เชือนแชอ้ายแม่ยับ |
กลอกกลับปลอกปลิ้นไปทุกตา |
คิดมาก็เป็นน่าน้อยใจ |
ผัวไปเท่านี้มีคนว่า |
ถ้าพ่อไม่ไปใครจะมา |
สุดปัญญาเมียแล้วพ่อแก้วเอย ฯ |
๏ ศรีประจันได้ฟังลูกสาวด่า |
รำคาญใจหนักหนาพ่อแม่เอ๋ย |
ใครใครอย่าได้ถือมันหน่อยเลย |
แต่ก่อนมันไม่เคยเป็นเช่นนี้ |
แต่เพียงเป็นไข้สันนิบาตคลั่ง |
ว่าไรไม่ฟังบ่นอู้อี้ |
ด่าอึงคะนึงบานขี้คร้านตี |
ไม่เห็นผีออแก้วแล้วแม่นา ฯ |
๏ ครานั้นยายกลอยกับยายสาย |
ครั้นได้แยบคายแล้วจึงว่า |
เข้าไปกระซิบกระหยิบตา |
ว่านี่แน่คุณป้าศรีประจัน |
กฎหมายตั้งไว้แต่ไรมา |
ว่าใครกล้าอาสาไปทัพขันธ์ |
ถ้าเสียทัพกลับมาให้ฆ่าฟัน |
กฎหมายตั้งมั่นตามกระทรวง |
ถ้าแม้นตัวตายลงในทัพ |
ลูกเมียให้จับเป็นหม้ายหลวง |
ไพร่ซึ่งเสียทัพกลับทั้งปวง |
ให้ติดพวงส่งเข้ายังคุกใน |
วันทองจะต้องเป็นหม้ายหลวง |
จะยากเย็นเป็นห่วงหาน้อยไม่ |
ยักย้ายถ่ายเทเสียเป็นไร |
ขอให้ขุนช้างเอาเป็นเมีย |
เขาจะคิดแก้ไขที่ในกรุง |
เงินทองสักกี่ถุงจะสู้เสีย |
อย่าให้เกิดความใหญ่เป็นไฟเลีย |
ไกล่เกลี่ยเสียเถิดแต่ไกลไกล ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายศรีประจัน |
ตัวสั่นน้ำตาลงหลั่งไหล |
วันทองเป็นหม้ายผัวตายไป |
ไม่เห็นหน้าใครจะป้องกัน |
ขุนช้างมั่งมีเศรษฐีใหญ่ |
เงินทองเสียได้ไม่คิดพรั่น |
เห็นจะได้พึ่งพาข้างหน้าครัน |
คิดแล้วเท่านั้นจึงว่าไป |
วันทองเดี๋ยวนี้ก็ผัวตาย |
จะนิ่งไว้เป็นหม้ายเห็นไม่ได้ |
เกิดความหนามเสี้ยนจะยากใจ |
จะขอให้ก็ตามแต่ปัญญา |
แต่ทว่าทุ่งกว้างหนทางไกล |
กูนี้ไม่รู้แห่งที่จะว่า |
ถ้าแม้นไม่ตายออพลายมา |
เบื้องหน้าจะเกิดเนื้อความกัน ฯ |
๏ ครานั้นยายกลอยกับยายสาย |
จึงว่าพลายแก้วตายเป็นแม่นมั่น |
พวกไพร่ติดคุกอยู่ทุกวัน |
แม้นว่าพลายแก้วนั้นรอดกลับมา |
ท่านไม่รู้เห็นจะเป็นไร |
เขาก็คงปรับไหมเอาแก่ข้า |
ถ้าท่านยอมให้ปันจงสัญญา |
ช้าอยู่ไม่ได้ภัยจะมี |
ถ้าเขามาเกาะเอาตัวไป |
ถ้อยความข้างในจะอึงมี่ |
ผันแปรแก้กันให้ทันที |
แรมปลายเดือนนี้จะทำการ |
ยายศรีประจันก็รับคำ |
ว่าแรมสามคํ่าให้ถึงบ้าน |
จงเร่งรีบมาอย่าช้านาน |
ว่าขานแน่นอนไม่ผ่อนไป ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมนางจันทอง |
อยู่ในห้องได้ยินว่าแม่ให้ |
ลุกเต้นปัดปัดด้วยขัดใจ |
ร้องด่าข้าไทแจ้วแจ้วมา |
สายทองของน้องไปข้างไหน |
ไปเรียกอ้ายพรมมาหาข้า |
งานการเช้าคํ่าไม่นำพา |
โคตรแม่มึงคิดว่าประการใด ฯ |
๏ ครานั้นสายทองผู้พี่เลี้ยง |
ได้ยินเสียงน้องเรียกอยู่ไจ่ไจ่ |
ร้องเรียกตาพรมระงมไป |
ไวไวมาหาแม่วันทอง |
ฝ่ายว่าตาพรมนั้นหัวล้าน |
ขานขาลุกออกมานอกห้อง |
ลงนั่งเอี้ยมเฟี้ยมแล้วเยี่ยมมอง |
แม่ร้องเรียกหาฉันว่าไร |
วันทองชี้หน้าด่าประจาน |
แม่มึงอ้ายหัวล้านหาดีไม่ |
จะรู้สึกสำนึกบ้างเป็นไร |
เป็นบ่าวไพร่บ้านช่องไม่นำพา |
ดีแต่เที่ยวโกหกพกลม |
มันน่าตบให้ล้มจมขี้หมา |
ให้หมาฝูงถนัดพลัดเข้ามา |
มึงหลับตาเฝ้าประตูไม่ดูแล |
มันมาเที่ยวเยี่ยวขี้มีแต่เปื้อน |
อ้ายขี้เรื้อนเห่าระเบ็งเซ็งแซ่ |
อีตัวเมียก็บอนหอนแงแง |
ปล่อยโคตรแม่มึงไว้ให้อึงคะนึง ฯ |
๏ ครานั้นยายกลอยกับยายสาย |
วันทองด่าวุ่นวายนั่งหน้าบึ้ง |
ขุนช้างทำไม่รู้ไขหูตึง |
นิ่งอยู่ดูจะอึงเอาหนักไป |
จึงชวนยายกลอยกับยายสาย |
ว่าบ่ายแล้วเราลายกมือไหว้ |
ศรีประจันซ้ำว่าอย่านอนใจ |
ที่สัญญากันไว้ให้รีบมา |
วันทองร้องด่าไปอึงมี่ |
เหวยยายมีว่าไรไปไหนหวา |
งานการเช้าคํ่าไม่นำพา |
เสียงเฮฮาที่ไหนไปนั่งพูด |
ลิ้นลมมึงดีอีขี้ข้า |
หัวหูดังกะลามะพร้าวขูด |
ชาติอีโกหกนกทิ้งทูด |
อีผักกูดต้มกะทิอุตริดี |
ยายกลอยยายสายนายขุนช้าง |
ลุกจากหอกลางเดินเร็วรี่ |
รีบลงจากบันไดในทันที |
ออกจากบ้านท่านศรีประจันไป |
ยายกลอยยายสายว่ากูขายหน้า |
ทีนี้หาปรารถนามาอิกไม่ |
โคตรเค้าเขาขุดเอาสุดใจ |
ถึงเอาทองกองให้ก็ไม่มา |
ขุนช้างว่าไม่เป็นเช่นนั้นดอก |
วันทองแม่แกบอกเป็นปริศนา |
ร้องบอกกับฉันเป็นมารยา |
ว่าให้เชิญแม่เทพทองไป |
หล่อนจึงขึ้นโคตรแม่แน่กระนั้น |
ว่าให้ไปหากันตามผู้ใหญ่ |
คงจะได้เป็นเมียอย่าเสียใจ |
หาที่ไหนไม่เหมือนแม่แก้วตา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมนางวันทอง |
อยู่ในห้องโหยหวนละห้อยหา |
โอ้พ่อพลายแก้วแววตา |
มรณาแน่แล้วฤๅอย่างไร |
วันพ่อม้วยมุดสุดชีวิต |
เมียจะฝันสักนิดก็หาไม่ |
ลางร้ายก็ไม่มีให้แจงใจ |
บ่าวไพร่ไปด้วยไม่เห็นมา |
เขาว่านายตายไพร่ติดคุก |
เมียทุกข์เหลือที่จะตามหา |
สารพัดขัดสนจนทุกตา |
ไม่รู้ว่าอยุธยานั้นอย่างไร |
แต่เกิดเป็นตัววันทองมา |
หาได้เข้าอยุธยาสักหนไม่ |
วันเมื่อส่งผัวตัวก็ไป |
จำได้อยู่แต่ว่าคลองบางลาง |
โพธิ์ปลูกด้วยกันสำคัญไว้ |
ถ้ากะไรจะดูพอรู้บ้าง |
ถ้าพ่อแก้วตายวายวาง |
โพธิ์กลางต้นนั้นจะบรรลัย |
คิดคิดขึ้นมาน่าแค้นแม่ |
จะสืบสาวดูให้แน่หาได้ไม่ |
หลงใหลเชื่อฟังอ้ายจังไร |
ยอมยกลูกให้ไอ้ขุนช้าง |
โอ้ว่าอนิจจาวันทองเอ๋ย |
กะไรเลยแสนยากนี้สุดอย่าง |
แต่ระกำช้ำใจไม่วายวาง |
นี่ได้สร้างกรรมไว้อย่างไรมา |
มีผัวผัวอยู่สองสามวัน |
จากกันไม่ได้มาเห็นหน้า |
เมื่อวันจากหอคลอน้ำตา |
กำชับไว้หนักหนาด้วยห่วงน้อง |
ในจิตรคิดว่าจะกลับหลัง |
สั่งแล้วสั่งเล่าทั้งเศร้าหมอง |
ออกปากฝากข้ากับสายทอง |
แล้วจึงไปจากห้องด้วยจำใจ |
พอสายทองย่องเข้าไปดูน้อง |
นางวันทองเห็นหน้าน้ำตาไหล |
กอดคอสายทองร้องรํ่าไร |
น้องไม่อยู่แล้วพี่สายทอง ฯ |
๏ สายทองปลอบว่าอย่าร้องไห้ |
รำคาญใจดูเจ้ายิ่งเศร้าหมอง |
พี่น้องแนบหน้าน้ำตานอง |
ร้องไห้สะอึกสะอื้นไป |
โอ้แม่วันทองของพี่เอ๋ย |
กะไรเลยหามีสุขสักนิดไม่ |
เพราะอ้ายขุนช้างจัญไร |
มันพอใจตัวเจ้าแต่รุ่นมา |
ลดเลี้ยวเกี้ยวสกัดทั้งวัดบ้าน |
อ้ายจัณฑาลคนนี้นี่หนักหนา |
จนได้กับพ่อแก้วแววตา |
มันยังส่อเสียดว่าทุกสิ่งอัน |
เพ็ดทูลเจาะจงให้ทรงใช้ |
จนร้องไห้แทบเทียมจะอาสัญ |
เดี๋ยวนี้มันยิ่งว่าสารพัน |
ว่าหม่อมพลายแก้วนั้นเธอบรรลัย |
เห็นจะเป็นเล่ห์กลอ้ายสอพลอ |
เอากระดูกใส่หม้อมาส่งให้ |
ให้หลงว่าพ่อพลายนั้นตายไป |
จึงได้มาขอแม่วันทอง |
มันหมายว่าตัวมันมีทรัพย์ |
มีเงินแล้วจะนับให้คล่องคล่อง |
แม่เถ้าของเราก็ปรองดอง |
เราพี่น้องสองคนก็จนใจ |
นี่เวรกรรมจะทำอย่างไรดี |
จะหลบลี้หนีไปข้างไหนได้ |
แม่ผัวของเจ้าก็อยู่ไกล |
ไม่รู้แห่งหนไหนกาญจน์บุรี |
อย่าเลยนะเจ้าเราจะไป |
วัดป่าเลไลยเจ้ากับพี่ |
ไปหาขรัวตาจูแกดูดี |
ประเดี๋ยวนี้แม่ศรีประจันนอน |
แม่อยู่ในห้องอย่าร้องไห้ |
พี่จะไปหาหมากกับพลูก่อน |
หาได้ใส่ขันตะวันรอน |
เร้นซ่อนซุบซิบกระหยิบตา |
ออกมาจากห้องทั้งสองคน |
ผ่อนปรนลอบลงจากเคหา |
ถึงวัดเหยียบย่องมองเข้ามา |
ขึ้นกุฎีขรัวตาด้วยทันใด |
เอาหมากพลูส่งให้กับเจ้าเณร |
จึงประเคนขรัวตาหาช้าไม่ |
ขรัวตามองป้องหน้าถามว่าใคร |
นึกได้หัวร่ออ่อวันทอง |
กูผลัดชื่อให้ไข้ก็หาย |
เป็นไรไม่สบายหน้าตาหมอง |
เมื่ออ้วนพีดีขึ้นเป็นก่ายกอง |
เอ็งมาสองคนนี้ด้วยเหตุไร ฯ |
๏ ครานั้นวันทองกับสายทอง |
พี่น้องยกมือขึ้นกราบไหว้ |
ดีฉันร้อนรนเป็นพ้นใจ |
ด้วยผัวไปตีทัพไม่กลับมา |
เขาบอกเรื่องราวเป็นข่าวร้าย |
เขาว่าผัวฉันตายจริงฤๅขา |
ขรัวปู่ช่วยดูตามตำรา |
จะจริงเหมือนเขาว่าฤๅอย่างไร ฯ |
๏ ครานั้นจึงท่านขรัวตาจู |
พิเคราะห์จับยามดูหาช้าไม่ |
ยามสูรย์ยามจันทร์ก็มั่นใจ |
เห็นไม่เป็นไรก็ว่ามา |
ทักทายตามที่ยามตรีเนตร |
ใครบอกเหตุโกหกอย่าเชื่อหวา |
ผัวเองมีชัยได้พารา |
ข้าศึกเป็นจุณวิจุณไป |
ได้ทั้งพัสดุเงินทอง |
ข้าวของผู้คนเป็นไหนไหน |
หน่อยหนึ่งก็จะมาอย่าตกใจ |
เอ็งอย่าเชื่อใครใครไปวุ่นวาย ฯ |
๏ ครานั้นวันทองกับสายทอง |
พี่น้องได้ฟังทุกข์โศกหาย |
เช็ดน้ำตาล่อยล่อยค่อยสบาย |
กราบลาผันผายมาบ้านพลัน |
ครั้นถึงก็ขึ้นบนเคหา |
สองราปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
บอกแก่แม่เถ้าศรีประจัน |
ตามท่านทายนั้นทุกสิ่งไป |
ฉันออกไปหาท่านขรัวปู่ |
ท่านดูว่าหาเป็นไรไม่ |
หม่อมแก้วตีทัพกลับมีชัย |
ได้ทั้งครอบครัวตัวจวนมา ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายศรีประจัน |
สั่นหัวว่ากูไม่เชื่อหวา |
ทายตามยามเล่ห์เวลา |
มันจะสู้ตาเห็นได้อย่างไร |
อวดว่าดูแน่อุแหม่ลูก |
ลางทีมันหาถูกสักนิดไม่ |
เอ็งอย่าพาซื่อเชื่อถือไป |
ก็พวกไพร่ติดคุกอยู่ทุกคน |
เขาจะเก็บเอาไปเป็นหม้ายหลวง |
จะกอดเข่าเหงาง่วงลงครางร่น |
ไม่มีใครติดตามด้วยความจน |
ผ่อนปรนเสียเถิดอย่ารำคาญ |
ออแก้วใช่แม่ไม่รักใคร่ |
มันบรรลัยไม่กลับมาถึงบ้าน |
ขุนช้างมันชั่วแต่กระบาน |
ถึงหัวล้านหัวเหลืองเครื่องในดี ฯ |
๏ วันทองได้ฟังคำแม่ว่า |
ดังจะฆ่าตัวตายให้เป็นผี |
ทอดตัวร้องไห้ไม่สมประดี |
แม่ว่าอย่างนี้ก็จนใจ |
เห็นแต่เงินทองของเขา |
หมูหมาก็จะเอามายกให้ |
ขรัวปู่ทายมาว่าเชือนไป |
แม่ไม่เอ็นดูแก่วันทอง |
ถึงคนไม่อายก็อายผี |
อายุสิบหกปีมีผัวสอง |
ถึงจะขืนยกให้ไม่ปรองดอง |
ผัวของข้ายังไม่เป็นไร |
เมื่อมดหมอทักทายว่าไม่ถูก |
โพธิ์ปลูกเป็นสำคัญนั้นเป็นใหญ่ |
จะไปดูให้แน่แท้แก่ใจ |
ถ้าหม่อมบรรลัยก็โพธิ์ตาย ฯ |
๏ ศรีประจันฮึดฮัดให้ขัดใจ |
อย่าว่ายืดยาวไปอีฉิบหาย |
มึงจะให้กูก้อยพลอยวุ่นวาย |
จะรักอยู่เป็นหม้ายฤๅอย่างไร |
ถึงต้นโพธิ์ต้นไทรจะไปสืบ |
มิใช่ทางแค่คืบกูหาไปไม่ |
แม้นว่ายั่งยืนขืนขัดใจ |
กูจะให้ขุนช้างเสียวันนี้ ฯ |
๏ วันทองได้ฟังคำแม่ว่า |
ทอดตัวโศกาอยู่กับที่ |
แผดร้องก้องไปใช่พอดี |
ฆ่าตีเสียเถิดไม่น้อยใจ |
เอากำเนิดเกิดใหม่ในชาติหน้า |
หาปรารถนาเข้าท้องเลยอิกไม่ |
ร้อยกัปแสนกัลป์แต่นั้นไป |
แม่เชื้ออะไรเป็นเช่นนี้ |
เห็นแต่สินทรัพย์สัปดน |
จะเอาคนไปยกให้กับผี |
จงฆ่าเสียให้ตายวายชีวี |
ตีอกชกหัวทอดตัวไป |
มันจะมาเมื่อไรไอ้หัวเกลี้ยง |
กูจะเอาไม้เสี่ยงลงให้ได้ |
แปร้นแปรดแผดเสียงเปรี้ยงเปรี้ยงไป |
กูไม่อยู่แล้วให้เป็นคน ฯ |
๏ ศรีประจันเต้นหรับจับไม้แร่ |
โคตรแม่มึงกูตีให้ปี้ป่น |
ขอดค่อนเจรจาว่าซุกซน |
ขึ้นบนหอพลันงกงันไป |
ตีต้องวันทองร้องกรีดกรีด |
เน้นนีดลงสีข้างผางใหญ่ |
ตะแคงพลิกหยิกซ้ำให้หนำใจ |
แกหวดป่ายด้วยไม้จนเป็นแนว |
วันทองไม่ร้องขอโทษตัว |
ผัวตายก็จะตายตามผัวแก้ว |
อ้ายขุนช้างผมดกนกเค้าแมว |
เชื้อแถวหัวเกลี้ยงไม่เลี้ยงกัน ฯ |
๏ ศรีประจันหยิกเอาที่ฝีปาก |
อิว่ายากมึงจะลายตลอดสัน |
เขาเป็นเศรษฐีมั่งมีครัน |
เขาจะตบเอาฟันมึงออกกอง |
ลิ้นกระด้างคางแข็งแกล้งว่าขาน |
หยาบช้าสามานย์อีจองหอง |
ได้ขุนช้างไว้เหมือนขุมทอง |
ร้องไปตีไปให้หลังพัง ฯ |
๏ วันทองร้องไห้ไม่วายเถียง |
ตีลงส่งเสียงให้คลุ้มคลั่ง |
ที่จะตีให้หยุดสุดกำลัง |
แม่ไม่ฟังแล้วไม่ฟังกัน |
ต้นโพธิ์ปลูกไว้ไม่ไปดู |
ข้าจะอยู่ทำไมที่ไหนนั่น |
พรุ่งนี้พอแจ้งแสงตะวัน |
ตัวฉันจะลาแม่บรรลัย ฯ |
๏ ศรีประจันได้ฟังวันทองว่า |
นึกสงสารขึ้นมาไม่ตีได้ |
กลัวจะผูกคอตายวุ่นวายไป |
อย่าร้องไห้ไปเลยนะลูกอา |
เจ้าจะไปดูโพธิ์ก็ตามใจ |
พรุ่งนี้จึงไปฟังแม่ว่า |
แม่ได้อุ้มท้องวันทองมา |
จะขืนขัดลูกยาไม่ต้องการ |
วันทองได้ฟังคำแม่ว่า |
เสียแรงมารดาเลี้ยงดูฉาน |
ถึงแม้นพ่อแก้วตายวายปราณ |
จะขืนให้ไอ้หัวล้านไม่ยอมใจ |
เมื่อปากมันมีแต่ขี้ฟัน |
ลูกจะนอนกับมันอย่างไรได้ |
เหมือนเอาตัวไปขว้างเสียกลางไพร |
แม่ไม่รักลูกแล้วฤๅนา |
ศรีประจันปลอบลูกให้ถูกใจ |
แม่มิอยากยกให้อย่าพักว่า |
แม่รักลูกแก้วดังแววตา |
จะขืนใจลูกยาไปทำไม |
ดึกดื่นอยู่แล้วแก้วแม่อา |
ฟังคำแม่ว่าอย่าร้องไห้ |
แกนอนกับวันทองที่ห้องใน |
ครั้นจะไปกลัวลูกผูกคอตาย ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าขุนช้าง |
ความสมัครรักนางไม่เหือดหาย |
อยู่บ้านรำคาญใจไม่สบาย |
ลอบมาบ้านท่านยายศรีประจัน |
ได้ยินเสียงอึงคะนึงห้อง |
แกตีวันทองร้องสนั่น |
แล้วกลับยินยอมพร้อมใจกัน |
จะไปดูโพธิ์สำคัญที่มั่นใจ |
ขุนช้างฟังสังเกตตำแหน่งที่ |
แล้วรีบรี่กลับมาหาช้าไม่ |
ครั้นถึงบ้านเรียกหาพวกข้าไท |
สั่งให้ไปผูกเอาช้างมา |
ขุนช้างวางขึ้นบนหลังช้าง |
จอบเสียมเตรียมวางมาหนักหนา |
รีบรัดตัดมุ่งข้ามทุ่งนา |
พอรุ่งถึงท่าบางลางพลัน |
ปลงช้างดูทางสังเกตได้ |
ก็รีบข้ามน้ำไปขมีขมัน |
พบโพธิ์ปลูกเรียงไว้เคียงกัน |
ใบนั้นเขียวพุ่มชอุ่มตา |
จับต้นกลางกระโชกโยกให้หนัก |
เดชะอารักษ์เขารักษา |
ด้วยพลายแก้วตั้งสัตย์ปฏิญา |
กันจอบเสียมมีดพร้าให้ผิดไป |
แต่ว่าต้นโพธิ์ยังอ่อนนัก |
โยกหนักใบหล่นไม่ทนได้ |
ใบหดเหี่ยวหยองดังต้องไฟ |
ขุนช้างกับบ่าวไพร่ก็กลับมา ฯ |
๏ ครั้นรุ่งสว่างกระจ่างแสง |
สุริยาแจ่มแจ้งพระเวหา |
นวลนางวันทองผ่องโสภา |
วอนเตือนมารดาด้วยทันใด |
ยายศรีประจันร้องเรียกข้า |
เร็วเร็วเข้าหวาอย่าช้าได้ |
ดูข้าวปลาหมากพลูกูจะไป |
เรือแพอยู่ไหนไปถอยมา |
เฮ้ยพวกผู้ชายออกพายหัว |
แต่งตัวไวไวไอ้ชาติข้า |
แกลุกขึ้นเหน็บรั้งตั้งจังกา |
ด่าฉกโคตรแม่ออกแซ่ไป |
วันทองกับยายศรีประจัน |
ลงเรือพร้อมกันหาช้าไม่ |
ออกเรือเถิดหวาช้าอยู่ไย |
ข้าไทออกเรือพายเฝือมา |
ตุ๋มติ๋มก้าวก่ายพายตามเพลง |
โคลงเคลงเถียงกันอย่างไรหวา |
ยกพายไม่ทันหันมาว่า |
ฟ้าผ่าเถิดเอ๋ยเคยขี่ควาย |
แต่กระดิกพลิกขาก็รู้กัน |
ไปข้างนี้ข้างนั้นได้ง่ายง่าย |
พายเรือเบื่อใจเป็นจะตาย |
ถ่อพายไม่ถนัดผลัดไปมา |
ศรีประจันร้องด่านัยน์ตาชัน |
พายไม่พร้อมกันอ้ายชาติข้า |
ดีแต่จะโว้เว้เฮฮา |
กูปาลงด้วยถ่อให้คอพับ |
ประเดี๋ยวเบาประเดี๋ยวหนักขยักขย่อน |
โคลงเคลงจะนอนก็ไม่หลับ |
เถียงกันออกแซ่อีแม่ยับ |
แกจับไม้ใส่เปรี้ยงเถียงกันไป |
รีบเร่งตะเบ็งมาคืนกับวัน |
ถึงบางลางพลันหาช้าไม่ |
วาดเรือเข้าจอดทอดไว้ |
ข้าไทอาบน้ำดำอื้ออึง ฯ |
๏ วันทองไปถึงไม่อาบน้ำ |
ขึ้นบกเดินรํ่าไปจนถึง |
เห็นใบโพธิ์ตกตีอกตึง |
ร้องอึงหวีดวิ่งไปเร็วไว |
ล้มราบกราบลงกับต้นโพธิ์ |
โอ้พ่อพลายตายแล้วไม่มาได้ |
เมียเห็นเที่ยงแท้แน่แก่ใจ |
โพธิ์ใบเหี่ยวสลดลงหลากตา |
ใต้ต้นหล่นลงยังสดสด |
เห็นปรากฏเที่ยงแท้แน่หนักหนา |
แน่แล้วพ่อแก้วมรณา |
เวราสิ่งไรมาตามทัน |
เขาบอกข่าวให้ยังไม่เชื่อ |
ทีนี้เหลือยั้งจิตรคิดอดกลั้น |
พ่อไม่ได้กลับมาเห็นหน้ากัน |
นับวันแต่จะช้ำระกำใจ |
เมียมีศัตรูอยู่รอบข้าง |
อ้ายขุนช้างแลเป็นศัตรูใหญ่ |
ถ้าแม้นพ่ออยู่ดีไม่มีภัย |
จะคุ้มครองน้องได้สารพัน |
ถึงศัตรูคิดร้ายไม่หน่ายแหนง |
ดังกำแพงเพชรเจ็ดชั้นกั้น |
ทีนี้จะได้ใครป้องกัน |
แม่ศรีประจันเหมือนหลักปักขี้ควาย |
แต่ยังไม่รู้เห็นเลยสักอย่าง |
ยังยกให้ไอ้ขุนช้างเสียง่ายง่าย |
ชีวิตเมียไม่รอดเห็นวอดวาย |
พ่อตายคนเดียวเมียเปลี่ยวใจ |
อยู่ไปไอ้ขุนช้างจะเพียรขอ |
เมียจะตายตามพ่อหาอยู่ไม่ |
ร้องไห้จนซบสลบไป |
ยังแต่หัวใจอยู่ริกริก |
ล้มลงตรงใต้ต้นโพธิ์กลาง |
ปิ้มจะตายกายนางไม่กระดิก |
นานนานถอนใจเหงื่อไหลซิก |
แน่นิ่งอยู่ไม่พลิกซึ่งกายา ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายศรีประจัน |
ลูกสาวไปนานครันคอยหนักหนา |
คิดคิดผิดใจไม่เห็นมา |
ไม่รู้ว่าจะเป็นประการใด |
กลัวจะผูกคอล้มก้มคอตาย |
แกวุ่นวายตามมาหาช้าไม่ |
เห็นลูกนอนซบสลบไป |
ตกใจเข้ากอดเอาวันทอง |
เห็นนางแน่นิ่งไม่ติงกาย |
ใจคอแกหายร้องเรียกก้อง |
น้ำตาอาบหน้าอยู่ฟูมฟอง |
กอดลูกร้องไห้อกใจตัน |
วันทองเอ๋ยแม่วันทองเอ๋ย |
ไม่อออือออกมาเลยเรียกตัวสั่น |
อีเด็กเร็วหวามาช่วยกัน |
ข้าไททั้งนั้นก็วิ่งมา |
บ้างเข้าหนุนหลังบางร้องไห้ |
นวดคลำขยำไปบีบสองขา |
กดหว่างคิ้วไว้ให้ลืมตา |
ศรีประจันร้องว่าแต่เบาเบา |
ที่ขาตะไกรไยไม่ต้อง |
มือถือมะกรูดจ้องอยู่เปล่าเปล่า |
เต็มทีหนักหนาหวาชาวเรา |
กัดหัวแม่ตีนเข้าอือออกมา |
ศรีประจันเข้าปลอบหอบลงเรือ |
อ้ายเดื่อคํ้าพายออกจากท่า |
วันทองฟื้นตัวยังมัวตา |
โศกาครวญคร่ำมาตามคลอง |
โอ้พ่อร่วมห้องของเมียเอ๋ย |
ไม่ควรเลยที่จะพรากไปจากห้อง |
ตัวตายหายเสียงอยู่เชียงทอง |
ตัวของน้องนี้ก็คงตาย |
อาภัพเกิดมาชะตาชั่ว |
มีผัวประเดี๋ยวหนึ่งก็เป็นหม้าย |
จะเอามีดกรีดคอตามพ่อพลาย |
หมายเกิดชาติใหม่ได้พบกัน |
โอ้พ่อเจ้าประคุณของวันทอง |
พ่อทิ้งเรือนทิ้งห้องไปสู่สวรรค์ |
ทิ้งเมียเสียรักทุกสิ่งอัน |
แต่เปลวไฟก็ไม่ทันจะพาดตา |
ถึงกะไรได้ฟืนแต่สักดุ้น |
พอแทนคุณพ่อพลายก็ไม่ว่า |
เห็นแต่กระดูกใส่หม้อใหม่มา |
เมียเห็นเวทนาเป็นพ้นไป |
ครั้นจะว่ามิใช่ก็ใจกริ่ง |
จะสำคัญว่าจริงก็ไม่ได้ |
เพราะอ้ายขุนช้างมันจัญไร |
ถ้าคนอื่นเอามาให้จะเชื่อกัน |
โอ้ว่าอนิจจาวันทองเอ๋ย |
กะไรเลยวิบากจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
เกิดมาอาภัพสารพัน |
แต่ยังน้อยน้อยนั้นก็พ่อตาย |
อยู่มากับแม่จนมีเรือน |
ไม่ล่วงวันทันเดือนก็เป็นหม้าย |
จะอยู่เป็นคนไม่พ้นอาย |
อ้ายฉิบหายรบกวนจนป่วนไป |
ผัวตายทางไกลไม่ไปถึง |
เมียหามีที่พึ่งแห่งไรไม่ |
สุดจิตรที่จะคิดประการใด |
เหลืออาลัยเมียแล้วพ่อแก้วตา ฯ |
๏ ศรีประจันสงสารรำคาญใจ |
น้ำตาหลั่งไหลลงอาบหน้า |
กอดวันทองร้องไห้ในนาวา |
โอ้ว่าพ่อพลายมาตายไป |
เลยร้องไห้ใหลเล่อเพ้อรำพัน |
ถึงผัวขวัญของแกที่ตักษัย |
เมียเคยปรนนิบัติไม่ขัดใจ |
รบกินไก่ต้มปลาร้าไม่ราวัน |
เมียจะตายตามผัวกลัวผีหลอก |
กลัวหายใจไม่ออกเมื่ออาสัญ |
จะโจนน้ำให้ตายไปตามกัน |
ก็กลัวจระเข้มันจะคาบไป |
เมียจะเชือดคอตายเสียหลายครั้ง |
แต่รอรั้งกลัวเจ็บไม่เชือดได้ |
จะผูกคอหาเชือกมาเตรียมไว้ |
เชือกก็ใหญ่กลัวจะรัดมัดต้นคอ |
โอ้พ่อออพิมของเมียแก้ว |
ตายแล้วกลัวจะไปไม่พบพ่อ |
จึงคิดแล้วคิดเล่าเฝ้ารีรอ |
กะไรพออยู่ไปให้ชรา |
แล้วแกกลับหวนระลึกนึกขึ้นได้ |
ออพลายแก้วแววไวตายแล้วหวา |
นี่จะทำอย่างไรเล่าอกอา |
อนิจจาออพลายมาตายไป |
วันทองฟังแม่เพ้อละเมอว่า |
ยิ่งโศกาสะอึกสะอื้นไห้ |
ศรีประจันงันงกตีอกใจ |
แกเผลอไผลรำพันด้วยฟั่นเฟือน |
คิดคิดขึ้นมาน่าแค้นใจ |
หัวอกใครเช่นนี้ไม่มีเหมือน |
เขาเลี้ยงกันแก่เถ้ากับเหย้าเรือน |
เพื่อนทุกข์เพื่อนยากไม่จากกัน |
นี่เนื้อแท้ว่ากรรมมาทำเข็ญ |
เพอิญเป็นให้วิโยคโศกศัลย์ |
มาอยู่กับวันทองได้สองวัน |
ยังไม่ทันจะรู้ว่าอย่างไร |
มีศึกเชียงทองต้องไปทัพ |
แม่ยังรับถ้อยคำจำไว้ได้ |
ออกปากฝากพิมพิลาไลย |
ด้วยเจ้าหมายใจจะกลับมา |
นางพิมร้องไห้พิไรรํ่า |
ศรีประจันบ่นพรํ่ารำพันว่า |
ทั้งแม่ลูกฟูมฟองนองนํ้าตา |
จนเรือจอดทอดท่ายังอาลัย ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมนางสายทอง |
อยู่ในห้องได้ยินเสียงร้องไห้ |
เปิดหน้าต่างเห็นเรือจอดบันได |
วิ่งลงไปหาน้องด้วยทันที |
วันทองร้องบอกกับสายทอง |
หัวน้องขาดเด็ดจริงแล้วพี่ |
โพธิ์กลางบางใบแทบไม่มี |
สองต้นยังดีประจักษ์ตา |
สายทองฟังน้องก็ตกใจ |
กลิ้งเกลือกเสือกไปไม่เงยหน้า |
พี่น้องร้องไห้กันสองรา |
อยู่ในนาวาจนรอนรอน |
สายทองปลอบว่าอย่าร้องไห้ |
แม่เอ๋ยขึ้นไปบนเรือนก่อน |
สายทองประคองเข้าห้องนอน |
ว่าวอนพูดจาด้วยอาลัย |
สายทองว่าพี่นี้มั่นหมาย |
ว่าหม่อมแก้วยังหาตายจริงๆ ไม่ |
ขรัวจูดูแจ้งไม่แคลงใจ |
ดูทีไรไม่ผิดแต่สักที |
เมื่อครั้งวันทองน้องเป็นไข้ |
ถ้าไม่ได้ขรัวจูก็เป็นผี |
ผลัดชื่อเสียใหม่สบายดี |
วานซืนนี้เธอยังว่าไม่เป็นไร |
ซึ่งต้นโพธิ์กลางนั้นใบร่วง |
เห็นจะเป็นคนลวงหาเชื่อไม่ |
พี่กริ่งว่าขุนช้างทำจัญไร |
อ้ายหัวใสมันเอาหม้อกระดูกมา |
สอพลอขอแม่แม่ให้ปัน |
วันนั้นเราด่ามันหนักหนา |
เถียงกันอึงบ้านกับมารดา |
วอนว่าจะไปดูโพธิ์สำคัญ |
รุ่งขึ้นอ้ายจัญไรไม่เห็นตัว |
อ้ายชาติชั่วทำโพธิ์เป็นแม่นมั่น |
วันนี้เมื่อเย็นพี่เห็นมัน |
มาแอบอยู่ด้วยกันทั้งบ่าวนาย |
จงสงบความไว้ก่อนเถิดแม่ |
เห็นแน่เหมือนจิตรพี่คิดหมาย |
มาดแม้นหม่อมแก้วเธอล้มตาย |
ลางร้ายก็จะมีสักสิ่งอัน |
วันทองว่าพี่ว่าก็เห็นจริง |
แต่คิดกริ่งใจน้องยังนึกพรั่น |
คิดคิดยิ่งวิตกอกใจตัน |
สะอื้นอั้นจนหลับกับที่นอน ฯ |
๏ ครั้นรุ่งขึ้นขาวรอบขอบฟ้า |
สกุณากู่ก้องร้องสลอน |
วันทองตื่นตาก็อาวรณ์ |
ปรับทุกข์ปรับร้อนกับสายทอง |
ถึงหม่อมแก้วตายจริงฤๅหาไม่ |
จะอาลัยอะไรกับข้าวของ |
แต่ผัวรักยังไม่ได้ครอบครอง |
น้องนึกจะอุทิศทำบุญไป |
มาดแม้นหม่อมแก้วรอดกลับมา |
ข้าวของก็คงหามาได้ใหม่ |
จะเอาของหม่อมแก้วแววไว |
ทำบุญส่งไปให้หมดตัว |
วันนี้จะไปวัดป่าเลไลย |
ทั้งจะได่ไล่เลียงกับท่านขรัว |
หมากพลูยังมีที่ในชั้ว |
ทูนหัวช่วยพาให้ข้าไป |
ว่าแล้วไปหาศรีประจัน |
รำพันบอกความสะอื้นไห้ |
บัดนี้ผัวลูกก็บรรลัย |
จะลาแม่ออกไปยังวัดพลัน |
ผ้าผ่อนของหล่อนที่เหลือไว้ |
เอาทำบุญส่งไปให้ผัวฉัน |
เงินทองเสื้อผ้าสารพัน |
ศรีประจันว่าไปเถิดแม่ไป |
การบุญสุนธรรม์แม่ไม่ว่า |
เจตนากรวดน้ำส่งไปให้ |
ของผีของสางเอาไว้ไย |
ถมไปเงินทองของขุนช้าง |
วันทองฟังว่าก็ขัดใจ |
สะบัดหน้าลุกไปจากหอขวาง |
เข้าห้องจัดของออกกองวาง |
พลางเรียกข้าคนให้ขนไป |
ครั้นแล้ววันทองกับสายทอง |
พี่น้องเดินมาหาช้าไม่ |
ครู่หนึ่งถึงวัดป่าเลไลย |
ขึ้นบันไดไปหาท่านอาจารย์ |
ขรัวจูแลดูเห็นวันทอง |
เอ๊ะอะไรขนของอลหม่าน |
ร้องไห้ร้องห่มออกซมซาน |
ที่บ้านใครเขาว่าเป็นอย่างไร ฯ |
๏ ครานั้นวันทองกับสายทอง |
พี่น้องยกมือขึ้นกราบไหว้ |
ฉันดูโพธิ์ที่พิษฐานไว้ |
ใบร่วงหล่นไปประหลาดตา |
ครั้นจะว่าหม่อมแก้วไม่บรรลัย |
ก็กริ่งใจเห็นผิดอยู่หนักหนา |
ข้าวของทั้งนี้ที่เอามา |
หมายว่าจะอุทิศทำบุญไป |
มาดแม้นผัวฉันรอดตลอดมา |
ข้าวของคงจะหามาได้ใหม่ |
แต่ล้วนของหม่อมแก้วแววไว |
ทำบุญส่งให้จนสิ้นตัว ฯ |
๏ ขรัวจูได้ฟังหัวเราะร่า |
จริงฤๅหวาเองคิดมิใช่ชั่ว |
ทำบุญส่งไปอย่าได้กลัว |
ช่วยผัวให้มาจงไวไว |
ว่าแล้วหยิบผ้าที่อย่างดี |
ห่อคัมภีร์ห่มพระทรงเครื่องให้ |
ผ้าผืนอัตลัดตัดธงไป |
เงินทองเอาไว้จะสร้างพระ |
แล้วแกจึงว่ากับวันทอง |
ของเอ็งโมทนาเอาเถิดหนะ |
พิษฐานให้ผัวมาเร็ววะ |
ขอให้ได้ปะกันพรุ่งนี้ |
วันทองหัวเราะทั้งน้ำตา |
เจ้าคุณขาว่ากะไรเมื่อตะกี้ |
ถ้าผัวฉันไม่ม้วยชีวี |
จะบนปลูกกุฎีถวายวัด |
จริงจริงฤๅหวาว่าให้แน่ |
กูจะแก้มาให้ไม่เคืองขัด |
ในเดือนนี้มิมาถ้าผิดนัด |
จงเอาไฟเผาวัดกูจริงจริง ฯ |
๏ ครานั้นวันทองกับสายทอง |
พี่น้องได้ฟังขรัวทุกสิ่ง |
ท้าทายพนันมั่นคงจริง |
ค่อยสบายหายกริ่งบรรเทาทุกข์ |
ทั้งพวกข้าไทที่ตามมา |
ได้ฟังขรัวว่าก็เป็นสุข |
ค่อยเสื่อมสร่างโศกเศร้าบรรเทาทุกข์ |
พี่น้องลาลุกครรไลมา |
ครั้นมาถึงเรือนเข้าหาแม่ |
ข้าไทเซ็งแซ่อยู่พร้อมหน้า |
เล่าตามถ้อยคำท่านขรัวตา |
ศรีประจันร้องว่าไม่เชื่อใคร |
ขรัวตาแกเห็นกับสินบน |
ข้าวของเอ็งขนเอาไปให้ |
สอพลอพูดพอให้ชอบใจ |
กูไม่เชื่อใครใครสักนิดเลย ฯ |