๏ ครานั้นขุนแผนแสนเสนี |
ถึงกรุงศรีชื่นชมสมหมาย |
จึงปรึกษาหารือกับลูกชาย |
ให้ผู้คนทั้งหลายทั้งลาวไทย |
ไปจอดนาวาที่ท่าคั่น |
อยู่ด้วยกันกับเรือเจ้าเชียงใหม่ |
ส่วนเรือประเทียบทองทั้งสองไซร้ |
ให้เข้าไปจอดท่าวาสุกรี |
แล้วสั่งขุนหมื่นพนักงาน |
ประจำชานพระฉนวนเป็นถ้วนถี่ |
เสร็จพลันชวนกันจรลี |
เข้าไปที่ศาลาลูกขุนใน |
กราบเรียนเจ้าพระยาจักรี |
ว่าบัดนี้กระบวนเรือทั้งน้อยใหญ่ |
รับนางมาถึงซึ่งกรุงไกร |
ทั้งตัวเจ้าเชียงใหม่ก็เอามา |
แต่พวกครัวลาวเป็นชาวไพร |
มอบไว้เมืองพิจิตรนั้นหนักหนา |
ทั้งวัวควายเกวียนต่างแลช้างม้า |
เครื่องสาตราอาวุธสารพัน |
ครั้นจะให้รวบรวมเอาลงมา |
ก็เกรงจะชักช้าจึงผ่อนผัน |
ให้ยับยั้งคอยฟังตราสำคัญ |
พณหัวเจ้าทั่นจะบัญชา |
อนึ่งพวกลาวชาวเวียงจันทน์ |
ที่มาส่งนางนั้นสามร้อยกว่า |
รับแต่กึงกำกงนั้นลงมา |
แล้วแต่พระกรุณาจะโปรดปราน ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าพระยาจักรี |
ฟังคดีปรีดิ์เปรมเกษมสานต์ |
ให้จดความตามบอกมิทันนาน |
จะได้อ่านกราบทูลพระกรุณา |
แล้วยิ้มย่องหันหน้ามาชมเชย |
เจ้าเอ๋ยไม่เสียทีที่อาสา |
เจ้าพ่อลูกสองคนพ้นปัญญา |
ช่างแกล้วกล้าศึกเสือเหลือประมาณ |
สักอึดใจได้เมืองเชียงใหม่สิ้น |
ทั้งแผ่นดินเราเห็นเป็นยอดทหาร |
ได้ดังพระประสงค์คงโปรดปราน |
บำเหน็จบำนาญจะรวยด้วยความดี |
แล้วเรียกนครบาลมาบอกกล่าว |
ท่านจงจำเจ้าลาวไว้ตามที่ |
ด้วยเป็นโทษยังไม่โปรดในคดี |
กว่าจะมีรับสั่งพระทรงธรรม์ ฯ |
๏ ครานั้นท่านเจ้ากรมยมราช |
ก็จัดแจงเพชฌฆาตที่เข้มขัน |
โจมใจอาจฟาดใจกล้าทะลวงฟัน |
ราชมัลยิ่งยวดตำรวจใน |
ถือหวายอ้ายถนัดมัดเท่าแขน |
คาดราตคดแน่นทั้งนายไพร่ |
เอาโซ่ตรวนขื่อคามาทันใด |
ตำแหน่งใครใครก็ไปไม่รอรั้ง |
เอาเครื่องจำจำจองเจ้าเชียงใหม่ |
นายไพร่นั่งห้อมล้อมหน้าหลัง |
งำเมืองเพชรปาณีเสียงมี่ดัง |
ราชศักดิ์ปลัดวังเกณฑ์กันมา ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าเชียงอินท์สิ้นความคิด |
ดังชีวิตจะม้วยดับสังขาร์ |
หวาดหวั่นพรั่นตัวกลัวอาญา |
ตกประหม่าหน้าซีดสลดใจ |
แลเห็นเพชฌฆาตราชมัล |
สำคัญว่าชีวิตหารอดไม่ |
เหงื่อกาฬซ่านทั่วทั้งตัวไป |
ทอดอาลัยก้มหน้าไม่พาที ฯ |
๏ ครั้นสายแสงอโณทัยได้เวลา |
ฝ่ายท่านเจ้าพระยาราชสีห์ |
ทั้งเจ้าพระยามหาเสนาบดี |
จตุสดมภ์กรมทั้งสี่ก็เข้าวัง |
ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน |
กล่นเกลื่อนซ้ายขวามาพร้อมพรั่ง |
ท่านจักรีเข้าไปถึงในวัง |
จึงสั่งขุนแผนกับลูกชาย |
เจ้าคอยท่าอยู่หน้าพระโรงทอง |
เราจะกราบทูลฉลองเรื่องถวาย |
ให้ทรงทราบอนุสนธิ์ต้นปลาย |
แล้วจะเบิกสองนายเฝ้าบาทบงสุ์ |
พระองค์คงจะรับสั่งถาม |
ถึงการณรงค์สงครามตามประสงค์ |
จะตรองตรึกนึกไว้ให้ทุกกระทง |
อย่าลืมหลงเค้ามูลทูลความจริง |
เรารำคาญแต่ฝ่ายพระท้ายน้ำ |
ด้วยว่าทำต้องตำหนิตริกริ่ง |
หากแต่ได้ชัยชนะพอพะพิง |
จงรอนิ่งอยู่ที่ทิมริมประตู |
ครั้นว่าจวนเวลาพวกข้าเฝ้า |
ต่างก็เข้าไปคอยทุกหมวดหมู่ |
มหาดเล็กกรมวังพรั่งพรู |
เข้าสู่พระโรงชัยอันไพบูลย์ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ดำรงโลก |
ระงับโศกราษฎรให้ร้อนสูญ |
เนาในปรางค์รัตน์จำรัสจรูญ |
เพิ่มพูนสุขาสถาพร |
ล้วนเหล่าสาวสนมกำนัลนาง |
เคียงข้างพระแท่นบรรจถรณ์ |
พอสุริย์ฉายสายส่องช่องบัญชร |
บทจรจากห้องบรรทมพลัน |
เสด็จสู่ที่ทรงสรงสนาน |
สุคนธารหอมฟุ้งทั้งปรุงกลั่น |
ทรงภูษาพื้นแดงแย่งสุบรรณ |
รัดพระองค์ดวงกุดั่นเด่นมณี |
พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์อันบวร |
บทจรออกจากข้างในที่ |
นางเชิญเครื่องเนื่องตามจรลี |
พระภูมีออกพระโรงรัตนา |
ประทับพระที่นั่งบัลลังก์อาสน์ |
งามดังเทวราชตรัยตรึงศา |
ให้เบิกหมู่ข้าเฝ้าท้าวพระยา |
เข้ามาในท้องพระโรงชัย |
เจ้าพระยาพระหลวงกระทรวงการ |
คุกคลานพรั่งพรูดูไสว |
เข้าเฝ้าพระองค์ทรงภพไตร |
บังคมไหว้แล้วก็หมอบอยู่พร้อมกัน ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าพระยาจักรี |
อัญชลีทูลไปทันใดนั่น |
ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงธรรม์ |
ชีวันอยู่ใต้พระบาทา |
ขุนแผนพลายงามที่ไปทัพ |
ยกกลับจัตุรงค์มาถึงท่า |
คุมเรือประเทียบทองทั้งสองมา |
ทั้งพระยาเชียงใหม่ใจฉกรรจ์ |
ได้เงินทองของส่วนพัทยา |
เงินตราเบ็ดเสร็จเจ็ดสิบกำปั่น |
ครัวลาวได้มารวมห้าพัน |
แต่สกรรจ์พันร้อยห้าสิบคน |
ปืนใหญ่สองร้อยน้อยสามพัน |
ทวนนั้นพันถ้วนล้วนพู่ขน |
ดาบเชลยพันสองเป็นของพล |
ดาบโรงแสงต้นห้าร้อยปลาย |
ช้างสามร้อยห้าม้าแปดร้อย |
โคกระบือใหญ่น้อยนั้นมากหลาย |
ทั้งนายไพร่ไม่เป็นอันตราย |
สบายด้วยเดชะพระบารมี |
อันตัวเจ้าเชียงใหม่ใจพาล |
ให้จำไว้ห้าประการตามที่ |
ควรมิควรฉันใดในคดี |
แล้วแต่พระภูมีจะโปรดปราน ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงศักดิ |
ปิ่นปักอยุธยามหาสถาน |
ฟังทูลเรื่องขุนแผนแสนสำราญ |
ดังได้ผ่านเมืองสวรรค์ชั้นโสฬส |
อ้ายเชียงอินท์ดูหมิ่นกูหนักหนา |
วันนี้จะดูหน้าให้ปรากฏ |
มันอวดดีเป็นไรไม่ไว้ยศ |
พอได้ตัวหัวหดไปทันใด |
การสงครามครั้งนี้มิใช่เล่น |
พิเคราะห์ไปก็เห็นเป็นศึกใหญ่ |
เพราะเรื่องมันยุ่งยากลำบากใจ |
มิใช่ไปรบราอย่างสามัญ |
ด้วยมันจับพวกเราเอาไปไว้ |
รู้ว่าไปก็คงฆ่าเสียอาสัญ |
อ้ายพ่อลูกเล็ดลอดดอดไปทัน |
แก้กันว่องไวได้คนเรา |
กับอนึ่งถึงกระบวนที่รบพุ่ง |
ถ้ามัวมุ่งล้อมเมืองก็เปลืองเปล่า |
จะฆ่าฟันมันอย่างไรให้บางเบา |
มันมากมายหลายเท่าเราที่ไป |
อ้ายพ่อลูกมันดีที่กลศึก |
ลอบสะอึกเข้าไปจับเจ้าเชียงใหม่ |
เหมือนตัดต้นสาเหตุเภทภัย |
พอจับได้ก็เสร็จสำเร็จการ |
ต้องยกย่องว่าดีมีความชอบ |
ควรประกอบยศศักดิอรรคฐาน |
จงเรียกตัวมันมาอย่าได้นาน |
อ้ายหน้าด้านท้ายน้ำก็เอามา ฯ |
๏ ครานั้นท่านเจ้าคุณได้รับสั่ง |
เหลียวบอกตำรวจวังที่อยู่หน้า |
เรียกท้ายน้ำขุนแผนแสนศักดา |
กับลูกยาพลายงามทั้งสามคน |
ตำรวจวังคลานคล้อยถอยออกมา |
แจ้งกิจจาขุนแผนนั้นเป็นต้น |
ว่าพระจอมนรินทร์ปิ่นภูวดล |
ให้หาท่านสามคนในบัดนี้ ฯ |
๏ ขุนแผนกับลูกชายพลายงาม |
ได้ฟังความปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
นุ่งสมปักเข้าพลันในทันที |
รีบรี่มายังท้องพระโรงชัย |
น่าสงสารแต่ฝ่ายพระท้ายน้ำ |
ได้ยินคำกรมวังดังจับไข้ |
ผลัดสมปักตัวสั่นพรั่นฤทัย |
เผลอไผลตามมาละล้าละลัง |
ขุนแผนพลายงามเข้ามาก่อน |
พระท้ายน้ำค่อยผ่อนมาทีหลัง |
กราบกรานคลานตามตำรวจวัง |
ต่างหมอบชม้อยคอยฟังพระบัญชา ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช |
ทอดพระเนตรพ่อลูกก็หรรษา |
จึงมีสีหนาทประภาษมา |
ดูราขุนแผนกับพลายงาม |
มิเสียแรงเป็นชายชาติทหาร |
ชำนิชำนาญชาญชัยในสนาม |
ครั้งนี้กูใช้ไปสงคราม |
มีไพร่ไปแต่สามสิบห้าคน |
เมืองเชียงใหม่ไพร่ฟ้าก็กว่าแสน |
ไปไล่แล่นลุยลาวเอาแหลกป่น |
ข้าศึกฮึกหาญไม่ทานทน |
ได้คนคืนเมืองเพราะมือมึง |
ดีหนักหนากล้าจับเจ้าเชียงใหม่ |
มึงคิดอ่านอย่างไรเมื่อไปถึง |
ไหนว่ารบมากมายที่ปลายบึง |
อย่าอ้ำอึ้งจงเล่าให้เข้าใจ ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสามารถ |
อภิวาททูลแจ้งแถลงไข |
ด้วยเดชะพระองค์ทรงภพไตร |
จึงมีชัยได้สิ้นทั้งพารา |
เกล้ากระหม่อมอาสาไปครานี้ |
กับทหารตัวดีสามสิบห้า |
ได้อาศัยในคุณวิทยา |
กับบารมีพระองค์ผู้ทรงธรรม์ |
ขึ้นไปถึงบึงใหญ่ให้หยุดพัก |
ซุ่มสำนักคนผู้อยู่ที่นั่น |
แล้วปรึกษายินยอมพร้อมใจกัน |
กระหม่อมฉันสองคนกับพลายงาม |
ปลอมลาวเข้าไปสะกดคน |
ขึ้นบนคุกใหญ่ในยามสาม |
พบพระท้ายน้ำนั้นไม่ครั่นคร้าม |
ทั้งนายไพร่ต่างตามกันออกมา |
พวกเวียงจันทน์นั้นก็พาออกมาด้วย |
ช่วยกันฟันผู้คุมเสียหนักหนา |
แล้วเข้าไปโรงแสงแย่งสาตรา |
ทั้งลักม้าโรงในได้ครบคน |
แล้วไปชิงช้างงาเอามาค่าย |
เวลาบ่ายลาวยกมาสับสน |
เกล้ากระหม่อมพร้อมกันออกประจญ |
ลาวป่นแตกทัพยับระยำ |
ในวันนั้นกระหม่อมฉันกับพลายงาม |
สะกดตามเข้าวังเวลาค่ำ |
จับได้เจ้าเชียงใหม่ในหอคำ |
ก็ยอมทำสัตย์ให้ด้วยใจจง |
ขอเป็นข้าทูลละอองรองพระบาท |
มอบกายถวายราชย์ตามประสงค์ |
แต่นั้นมากิริยาก็คงตรง |
จงทราบเบื้องบาทบงสุ์พระทรงชัย ฯ |
๏ ครานั้นสมเด็จนเรนทร์สูร |
ฟังทูลยินดีจะมีไหน |
มิเสียทีอ้ายนี่เหล่าขุนไกร |
ทั้งลูกหลานชาญชัยไวปัญญา |
อันตัวอ้ายเถ้าเจ้าเชียงใหม่ |
จะปล่อยไปดอกกูไม่เข่นฆ่า |
ถึงมันองอาจอหังการ์ |
จะว่ามันเป็นขบถก็เป็นพาล |
ด้วยเมืองมันนั้นเป็นเอกเทศ |
อยู่นอกเขตอยุธยามหาสถาน |
เมื่ออ่อนน้อมยอมถวายบรรณาการ |
ก็ไม่ควรล้างผลาญให้บรรลัย |
ถ้าอาฆาตเอามันไปฟันฆ่า |
ใครจะเชื่ออยุธยาต่อไปได้ |
ไว้มันกลับทุจริตผิดต่อไป |
จึงควรให้ลงโทษถึงชีวี |
อ้ายขุนแผนพลายงามมีความชอบ |
กูจะตอบแทนมึงให้ถึงที่ |
ขุนแผนให้ไปรั้งกาญจน์บุรี |
มีเจียดกระบี่เครื่องยศให้งดงาม |
สัปทนคนโทถาดหมากทอง |
ช้างจำลองของประทานทั้งคานหาม |
สำหรับใช้ไปณรงค์สงคราม |
ให้สมตามความชอบที่มีมา |
ให้เป็นที่พระสุรินทฦๅชัย |
มไหสูรย์ภักดีมีสง่า |
แล้วตรัสสั่งคลังในมิได้ช้า |
เติมเงินตราสิบห้าชั่งเป็นรางวัล |
ทั้งเสื้อผ้าสมปักปูมส่าน |
พระราชทานมากมายหลายหลั่น |
ส่วนอ้ายลูกชายพลายงามนั้น |
จะให้มันมียศปรากฏไป |
ยังหนุ่มแน่นว่องไวมิใช่น้อย |
ควรเอาไว้ใช้สอยให้ใกล้ใกล้ |
จะตั้งแต่งให้มึงให้ถึงใจ |
ให้สมที่มีชัยได้เมืองมา |
ให้เป็นจมื่นไวยวรนาถ |
หัวหมื่นมหาดเล็กเวรข้างฝ่ายขวา |
พระราชทานเครื่องยศแลเงินตรา |
ปูมส่านเสื้อผ้าสารพัน |
แล้วตรัสว่าอ้ายไวยพึ่งได้ดี |
บ้านช่องมันจะมีที่ไหนนั่น |
หัวหมื่นมีแต่ตัวก็ชั่วครัน |
ต้องทำบ้านให้มันเสียครั้งนี้ |
ดูก่อนเจ้ากรมยมราช |
จงบาตรหมายนายอำเภอไปเหยียบที่ |
หาบ้านให้อ้ายไวยในบุรี |
ดูท่วงทีพอให้ใกล้ใกล้วัง |
แล้วตรัสสั่งเจ้ากรมทหารใน |
ไปปลูกเหย้าเรือนให้สักห้าหลัง |
ทั้งเรือนครัวรั้วรอบขอบกำบัง |
ให้สมกับกูตั้งเป็นหมื่นไวย ฯ |
๏ เบือนพระพักตร์มาพบพระท้ายน้ำ |
กริ้วซ้ำดังจะฆ่าให้ตักษัย |
มีพระสีหนาทประภาษไป |
เหม่ไอ้ท้ายน้ำมึงทำงาม |
เสียแรงกูรักใคร่ให้เป็นพระ |
มิรู้จะขี้ขลาดชาติส่ำสาม |
ให้กูหลงไว้ใจในสงคราม |
จนอ้ายลาวเอาไปล่ามดังผูกลิง |
ช่างไม่คิดสู้มันให้พรั่นท้อ |
ทุดกะไรใจคอเป็นผู้หญิง |
ช่างชาติชั่วสิ้นที่อัปรีย์จริง |
ไปนั่งนิ่งให้มันจับได้อับอาย |
ถ้ามิได้ช่วยไอ้ขุนแผนรบ |
จะจำครบผูกเฆี่ยนเสียสองหวาย |
อ้ายคนชั่วชาติข้าขายหน้านาย |
จงหมายถอดเป็นไพร่ใช้เฝ้าประตู ฯ |
๏ แล้วตรัสสั่งเจ้ากรมตำรวจหน้า |
ไปเอาพระยาเชียงใหม่มานี่หรู |
ส่วนพระยาธรมาก็ไปดู |
ให้รับสองนางสู่ที่วังใน |
ตำรวจรีบมาบอกผู้รักษา |
พระโองการให้หาเจ้าเชียงใหม่ |
เข้าหิ้วปีกซ้ายขวาพาเข้าไป |
บังคมไหว้หมอบพรั่นสั่นสะท้าน ฯ |
๏ ครานั้นพระปิ่นนรินทร์ราช |
มีพระสีหนาทอยู่ฉาดฉาน |
เหวยพระยาเชียงใหม่น้ำใจพาล |
ตัวทำการไม่สมอารมณ์นึก |
เข้าชิงนางจับไทยแล้วไม่หนำ |
ยังซ้ำมีสารมาท้าทำศึก |
โทษทัณฑ์นั้นอย่างไรที่ใจฮึก |
อย่านิ่งนึกเร่งว่ามาบัดดล ฯ |
๏ เจ้าเชียงใหม่ได้ฟังพระโองการ |
หนาวสะท้านซ่านเสียวทุกขุมขน |
เหงื่อตกอกร้อนดังเพลิงลน |
เหมือนจะด้นดำไปใต้พสุธา |
สารภาพกราบทูลสนองไป |
พระทรงชัยได้โปรดเหนือเกศา |
อันความผิดพลั้งแต่หลังมา |
ข้าพระบาทโทษถึงซึ่งชีวิต |
ถ้าทรงพระกรุณาไม่ฆ่าฟัน |
พระราชทานโทษทัณฑ์ที่ทำผิด |
ขอเป็นข้าบาทบงสุ์พระทรงฤทธิ |
รักษาสัตย์สุจริตจนวายปราณ |
ขอถวายสมบัติกษัตรา |
อิกทั้งลานนามหาสถาน |
ไว้ในใต้เบื้องบทมาลย์ |
พึ่งพระโพธิสมภารสืบต่อไป ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ |
ฟังจบตรัสตอบเจ้าเชียงใหม่ |
เมื่อออเจ้ารู้ตัวกลัวภัย |
เราจะยกโทษให้ในครั้งนี้ |
จะให้กลับไปครองเมืองเชียงใหม่ |
จงตั้งใจสัตย์ซื่อต่อกรุงศรี |
ตามเยี่ยงอย่างเจ้าประเทศเขตธานี |
รักษาให้ไมตรีจีรังกาล |
ตรัสพลางทางสั่งท่านผู้ใหญ่ |
ทั้งฝ่ายมหาดไทยแลทหาร |
จงพาเจ้าเชียงใหม่ไปสาบาน |
อธิษฐานถือน้ำทำสัจจา |
แล้วจัดแจงแต่งบ้านรับแขกเมือง |
กั้นฝาเฝืองเป็นข้างในแลข้างหน้า |
ให้เป็นที่อาศัยในพารา |
ทั้งเจ้าข้าอย่าให้ได้เดือดร้อน |
จ่ายเสบียงอาหารการกินอยู่ |
เครื่องเสื่อสาดลาดปูแลผ้าผ่อน |
พวกบ่าวไพร่ให้มีที่หลับนอน |
นครบาลดูอย่าให้ใครบีฑา ฯ |
๏ แล้วตรัสสั่งพลันในทันใด |
ยังพวกไพร่ไปทัพสามสิบห้า |
ทั้งอ้ายพวกหาบหามตามโยธา |
เอาเงินตราผ้าให้เป็นรางวัล |
แล้วให้ยกราชการงานเมือง |
ปลดเปลื้องหน้าที่ทุกสิ่งสรรพ์ |
สังกัดไว้ในอาทมาตนั้น |
ต่อมีทัพขับขันจึงเรียกใช้ |
ให้มันมีตราภูมิ์คุ้มห้ามขาด |
ทั้งอากรขนอนตลาดอย่าเก็บได้ |
ทำบาญชีมีนายหมวดกองไว้ |
ให้ขึ้นแก่จมื่นไวยสิ้นทั้งนั้น |
ส่วนนายไพร่พวกลาวชาวล้านช้าง |
ที่ตามมาส่งนางสร้อยทองนั่น |
จงเบิกเงินเสื้อผ้ามาให้มัน |
แล้วส่งไปเวียงจันทน์ทั้งไพร่นาย |
ครั้นสิ้นข้อดำรัสตรัสเสร็จ |
พระเสด็จจรจรัลผันผาย |
ขึ้นจากพระโรงคัลพรรณราย |
เยื้องกรายคืนเข้าปราสาทชัย ฯ |
๏ ฝ่ายพระยาธรมาธิบดี |
มาถึงที่ประตูวังหาช้าไม่ |
บอกแก่ท้าวนางที่ข้างใน |
ให้เกณฑ์กันลงไปรับสองนาง |
แล้วสั่งให้จัดสีวิกากาญจน์ |
ผูกม่านลายปักหักทองขวาง |
พร้อมพรั่งทั้งคู่ดูสำอาง |
ท้าวนางเถ้าแก่แซ่กันมา |
จึงเชิญนางสร้อยทองผ่องศรี |
ขึ้นทรงวอจรลีไปข้างหน้า |
วอหลังนารีศรีสร้อยฟ้า |
ท้าวนางนำมายังวังใน |
แล้วเร่งรัดจัดตำหนักรักษา |
ให้สร้อยทองสร้อยฟ้าอยู่อาศัย |
มิให้อนาทรร้อนฤทัย |
ตั้งใจคอยรับสั่งพระทรงธรรม์ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ทรงศักดา |
มิ่งมงกุฎอยุธยามหาสวรรค์ |
สถิตที่แท่นแก้วแกมสุวรรณ |
เหล่ากำนัลพระสนมประนมกร |
ครั้นสิ้นแสงสุริยาภาณุมาศ |
พระจันทร์เคลื่อนเลื่อนราชรถร่อน |
ดารารายพรายพร่างกลางอัมพร |
ประภัสสรแสงรื่นพื้นแผ่นดิน |
สว่างไสวในวังดังเมืองสวรรค์ |
ด้วยแสงจันทร์นั้นส่องกระจ่างสิ้น |
พระพายเฉื่อยเรื่อยพัดมารินริน |
พระองค์ทรงถวิลถึงสองนาง |
สร้อยทองลูกของเจ้าเวียงจันทน์ |
เชิดชื่อฦๅลั่นมากรุงล่าง |
ว่างามขำล้ำเลิศในล้านช้าง |
ดูหมายมาดสวาดินางทุกแดนไตร |
กับอนึ่งนารีศรีสร้อยฟ้า |
ก็เป็นยอดธิดาเจ้าเชียงใหม่ |
รูปร่างจะตระการสักปานใด |
พระตริพลางตรัสใช้เจ้าขรัวนาย ฯ |
๏ ครานั้นท่านท้าววรจันทร์ |
รับสั่งทรงธรรม์แล้วผันผาย |
ไปบอกสองอรไทให้แต่งกาย |
ผัดพักตร์พรรณรายดังนวลจันทร์ |
กระหมวดมุ่นมวยผมดูสมพักตร์ |
ปิ่นปักวาวแววแก้วกุดั่น |
แซมมวยด้วยบุปผาลาวัณย์ |
สองกรรณใส่ตุ้มหูพู่ระย้า |
สวมใส่กำไลทองทั้งสองกร |
ธำมรงค์เรียงสลอนทั้งซ้ายขวา |
นุ่งยกทองทอลออตา |
ห่มผ้าพื้นไหมอุไรกรอง |
วิไลเลิศเฉิดฉินดังกินรี |
จรลีตามกันมาทั้งสอง |
ขรัวนายนำนางขึ้นปรางค์ทอง |
เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทา |
เจ้าขรัวนายบังคมประนมสนอง |
นางสร้อยทองหมอบเฝ้าอยู่ฝ่ายขวา |
ที่น้อมกายเบื้องซ้ายข้างนี้มา |
คือนางสร้อยฟ้านารี ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช |
ทอดพระเนตรรูปทรงทั้งสองศรี |
น่าชมสมเป็นราชบุตรี |
ท่วงทีคนละอย่างดูต่างกัน |
พินิจทรงสร้อยทองละอองพักตร์ |
นรลักษณ์งามเลิศเฉิดฉัน |
ละมุนละม่อมพร้อมพริ้งทุกสิ่งอัน |
สมเป็นขวัญของประเทศเขตลาวกาว |
ดูสงบเสงี่ยมงามทรามสวาดิ |
มารยาทสนิทสนมสมเป็นสาว |
กระนี้ฤๅจะมิฦๅในแดนลาว |
จนเชียงใหม่ได้ข่าวเข้าช่วงชิง |
แล้วผินพักตร์มาพิศเจ้าสร้อยฟ้า |
ดูจริตกิริยากระตุ้งกระติ้ง |
ท่าทางท่วงทีก็ดีจริง |
จะเสียอยู่แต่สักสิ่งด้วยรายงอน |
หูตากลอกกลมคมคายเหลือ |
พิศแล้วเบื่อดูได้แต่ร่อนร่อน |
จะเปรียบก็เหมือนอย่างนางละคร |
งามงอนอ้อนแอ้นบั้นเอวกลม |
เพราพริ้งเพรียวเหลือดังเรือแข่ง |
กล้องแกล้งพายจิบก็เจียนล่ม |
ดูริมฝีปากบางลูกคางกลม |
เห็นลาดเลาเจ้าคารมเป็นมั่นคง |
ถ้าเป็นม้าก็ม้าขึ้นระวาง |
ถ้าเป็นช้างก็ช้างอย่างต้องประสงค์ |
ถึงจะผูกเครื่องทองเป็นรองทรง |
ถ้าคนขี่ไม่ประจงคงเจ็บตัว |
สร้อยทองลูกของเจ้าล้านช้าง |
ยศอย่างมารยาทจะยังชั่ว |
แต่ข้างนางสร้อยฟ้าดูน่ากลัว |
กระซิบตรัสแก่เจ้าขรัววรจันทร์ |
แน่ะขรัวนายท่วงทีอีสองคน |
ดูชอบมาพากลฤๅไม่นั่น |
สร้อยทองดูทำนองจะดีครัน |
สร้อยฟ้านั้นท่าทางเหมือนนางละคร |
จะเอาไว้เป็นช้างระวางใน |
ลองใจขับขี่ดูทีก่อน |
ก็นึกกลัวตัวแก่ไม่แน่นอน |
ฤๅจะควรผันผ่อนประการใด ฯ |
๏ เจ้าขรัวนายได้ฟังรับสั่งถาม |
ก็ทราบความตามพระอัชฌาสัย |
จึงกราบทูลพระองค์ทรงภพไตร |
เห็นถูกต้องตามพระทัยที่ใคร่ครวญ |
นางสร้อยทองต้องลักษณะนัก |
นรลักษณ์งามดีถี่ถ้วน |
แต่สร้อยฟ้าดูจริตกระบิดกระบวน |
เห็นไม่ควรที่จะเคียงพระบาทา |
ดูท่าทางอย่างเรือต้องละลอก |
กลับกลอกกลิ้งกลมคมหนักหนา |
กระหม่อมฉันเกรงจะขัดพระอัธยา |
เหมือนทรงม้าที่พยศต้องกดไว้ |
ถึงแม้ว่ารูปทรงส่งสัณฐาน |
จะโปรดปรานก็ไม่หย่อนผ่อนลงได้ |
จะเป็นเครื่องอักอ่วนกวนพระทัย |
มิให้เบิกบานสำราญองค์ |
ไม่เหมือนนางสร้อยทองผ่องศรี |
นั่นควรที่ยกย่องต้องประสงค์ |
ดูท่วงทีกิริยานั้นสมทรง |
ควรรองบาทบงสุ์พระทรงชัย |
นางสร้อยฟ้าถ้าจะรับราชการ |
เพียงชั้นนางพนักงานเห็นพอได้ |
ขอพระองค์ผู้ทรงภพไตร |
จงทรงวินิจฉัยให้สมควร ฯ |
๏ ครานั้นภูมินทร์บดินทร์สูร |
ฟังเจ้าขรัวนายทูลทรงพระสรวล |
ข้าก็เบื่อคนจริตกระบิดกระบวน |
จึงอักอ่วนคิดไปให้ระอา |
แต่จะเลี้ยงเพียงเป็นนางพนักงาน |
ดูก็พานต่ำต้อยจะน้อยหน้า |
ด้วยมันเป็นลูกสาวท้าวพระยา |
ให้มีคู่สู่หาเสียเป็นไร |
อย่าเลยอ้ายพลายงามมีความชอบ |
ได้ประกอบยศศักดิเป็นไหนไหน |
พร้อมสรรพเคหาทั้งข้าไท |
ยังแต่ไม่มีเมียจะถือน้ำ |
ได้นึกอยู่ว่าจะดูหาเมียให้ |
เราจะได้เลี้ยงชุบอุปถัมภ์ |
ปล่อยไว้ฉวยได้คนระยำ |
มันจะทำเสื่อมเสียวิชาดี |
มันก็เป็นจมื่นไวยวรนาถ |
หัวหมื่นมหาดเล็กใช้อยู่ใกล้ที่ |
ถึงตัวเจ้าเชียงใหม่ในครั้งนี้ |
มันก็มีคุณรับบำรุงมา |
เห็นจะไม่ขัดใจเจ้าเชียงใหม่ |
เราขอเขาคงให้ดังเราว่า |
ให้สำเร็จเสร็จเรื่องอีสร้อยฟ้า |
ทั้งมีหน้ามีตาอ้ายหมื่นไวย |
ดูเหมาะหมดพอสมอารมณ์หมาย |
เจ้าขรัวนายจะเห็นเป็นไฉน |
อ้ายหมื่นไวยได้อีสร้อยฟ้าไป |
ก็จะได้เป็นกำลังราชการ ฯ |
๏ เจ้าขรัวนายกราบก้มบังคมบาท |
เคารพรับพระราชบรรหาร |
จึงทูลความตามกระแสพระโองการ |
ซึ่งประทานจมื่นไวยนั้นควรนัก |
ครั้งนี้มีชัยได้เมืองลาว |
ฦๅข่าวทั่วหล้าอาณาจักร |
ถ้าประทานสร้อยฟ้าให้สมรัก |
ก็จะยิ่งสามิภักดิ์พระทรงชัย ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช |
ปิ่นปักนัคเรศเป็นใหญ่ |
ฟังขรัวนายทูลสนองต้องพระทัย |
เอออ้ายไวยมันสมกับสร้อยฟ้า |
แล้วหันมาปราศรัยนางสร้อยทอง |
อย่าหม่นหมองจะเลี้ยงให้งามหน้า |
สมเป็นราชบุตรีศรีสัตนา |
ซึ่งบิดายกให้ด้วยไมตรี |
จึงตรัสสั่งคลังในพนักงาน |
ให้จัดของพระราชทานตามที่ |
หีบหมากทองลงยาราชาวดี |
เงินยี่สิบชั่งทั้งขันทอง |
แหวนเรือนรังแตนทั้งแหวนงู |
ตุ้มหูระย้าเพชรเก็จก่อง |
ผ้ายกทองยกไหมสไบกรอง |
ทั้งสิ่งของส่วนพี่เลี้ยงกัลยา |
จัดตำหนักให้อยู่ตึกหมู่ใหญ่ |
ข้าไทให้เป็นสุขทุกถ้วนหน้า |
แล้วตรัสปราศรัยนางสร้อยฟ้า |
เอ็งก็อย่าอาวรณ์ร้อนฤทัย |
ถึงพ่อเอ็งจู่ลู่ให้กูโกรธ |
กูก็ได้ยกโทษโปรดให้ |
เมื่อราชการเสร็จสรรพเขากลับไป |
กูไซร้จะเป็นพ่อออสร้อยฟ้า |
จะเลี้ยงดูมิให้ได้อายเพื่อน |
ถึงจะมีเหย้าเรือนไปวันหน้า |
จะตกแต่งให้ดีมีหน้าตา |
มิให้ใครครหานินทากู |
เอ็งจงยับยั้งอยู่วังใน |
ขรัวนายไปจัดเรือนให้มันอยู่ |
ฝากเจ้าขรัวนายด้วยจงช่วยดู |
ทั้งคนผู้บ่าวไพร่ให้สบาย |
ถ้าหากมันคิดถึงพ่อแม่ |
ให้เถ้าแก่พาไปดังใจหมาย |
รับสั่งแล้วจึงท้าวเจ้าขรัวนาย |
พาสร้อยฟ้าผันผายลงมาพลัน ฯ |
๏ ครั้นรุ่งแสงสุริยาภาณุมาศ |
โอภาสพรรณรายฉายฉัน |
ฝ่ายว่าพระองค์ผู้ทรงธรรม์ |
จรจรัลออกพระโรงรัตนา |
พรั่งพร้อมเสนาข้าเฝ้า |
ทุกหมู่เหล่าแวดล้อมอยู่พร้อมหน้า |
เจ้าเชียงใหม่พ้นพระราชอาชญา |
ก็เข้ามาเฝ้าเบื้องบาทบงสุ์ |
พระองค์ทรงดำริตริตรา |
ถึงขอบขัณฑสิมาโดยประสงค์ |
เห็นว่าเจ้าเชียงใหม่นั้นใจจง |
ควรให้คงยศได้ไม่เสียการ |
จึงตรัสว่าฮ้าเฮ้ยเจ้าเชียงใหม่ |
เราจะให้กลับหลังยังสถาน |
ทั้งบ่าวไพร่ชายหญิงแลศฤงคาร |
ตัวท่านจงคืนเอาขึ้นไป |
ไปรักษาพระนิเวศน์เขตขัณฑ์ |
ป้องกันศึกเสือเหนือใต้ |
ถ้าแม้นมีปัจจามิตรมาทิศใด |
เหลือกำลังก็ให้บอกลงมา ฯ |
๏ เจ้าเชียงใหม่ได้ฟังรับสั่งโปรด |
ปราโมทย์ดังจะเหาะขึ้นเวหา |
ก้มกราบทูลพระองค์ทรงศักดา |
ขอรองพระบาทากว่าจะตาย |
ไปเบื้องหน้าถ้าทำให้เคืองขัด |
แม้นเป็นสัตย์จงประหารให้ฉิบหาย |
ตัวจำนำคำรับไม่กลับกลาย |
ขอถวายบุตรไว้ใต้บาทา ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ |
ฟังจบทรงพระสรวลสำรวลร่า |
เออเจ้าเชียงใหม่ไปพารา |
แล้วไปมาหากันก็เป็นไร |
ซึ่งลูกสาวในอกยกให้ข้า |
ก็ขอบใจหนักหนาเจ้าเชียงใหม่ |
แต่เห็นหน้าข้าก็นึกตั้งใจไว้ |
จะขอสร้อยฟ้าให้กับอ้ายพลาย |
มันน่าชมสมกันนี่กะไร |
ลูกสาวเจ้าเชียงใหม่ก็เฉิดฉาย |
อ้ายพลายงามความรู้ก็เลิศชาย |
จะได้เป็นสุขสบายทั้งสองรา |
อย่าเสียใจว่าได้กับต่ำศักดิ์ |
อ้ายพลายงามก็รักเหมือนลูกข้า |
เป็นหัวหมื่นมหาดเล็กเด็กชา |
จงนึกว่าเราทั้งสองเกี่ยวดองกัน ฯ |
๏ เจ้าเชียงใหม่ได้ฟังรับสั่งขอ |
รันทดท้อฤทัยให้ไหวหวั่น |
เสียดายศักดิสุริวงศ์พงศ์พันธุ์ |
อัดอั้นมิใคร่ออกซึ่งวาจา |
นึกถึงสร้อยฟ้านิจจาเอ๋ย |
ไม่ควรเลยจะระคนลงปนข้า |
ครั้นขัดก็จะเคืองเบื้องบาทา |
จึงกราบทูลพระกรุณาด้วยจำใจ |
อันลูกสาวเกล้ากระหม่อมถวายขาด |
ไว้เป็นข้าฝ่าพระบาทจนตักษัย |
ซึ่งจะพระราชทานจมื่นไวย |
ก็สุดแท้แต่พระทัยจะโปรดปราน |
อันพระไวยคนนี้ก็มีศักดิ |
แหลมหลักเปรื่องปราชญ์ชาติทหาร |
ต่อไปคงจะได้ราชการ |
กระหม่อมฉานจะได้พึ่งเพื่อนสืบไป ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ |
ฟังจบตรัสว่าเออเจ้าเชียงใหม่ |
แม้นมีเหตุเภทพาลประการใด |
จะได้ใช้ให้ออไวยไปช่วยกัน |
ท่านจงคืนหลังยังพารา |
ญาติวงศ์คอยท่าจะโศกศัลย์ |
ทั้งเจ้าไพร่จงเป็นสุขทุกคืนวัน |
พระสั่งเสร็จจรจรัลเข้าวังใน ฯ |
๏ ฝ่ายว่าเจ้าเชียงอินท์ปิ่นประชา |
เสด็จขึ้นกลับมาที่อาศัย |
มีรับสั่งโปรดปรานประการใด |
ก็เล่าให้เมียแจ้งแห่งกิจจา ฯ |
๏ ครานั้นนางอัปสรมเหสี |
ได้ฟังคดีที่ผัวว่า |
ยินดีที่จะได้ไปพารา |
แต่ทุกข์ถึงธิดาดวงชีวัน |
ให้อีไหมไปบอกเจ้าสร้อยฟ้า |
ให้ออกมาทันทีขมีขมัน |
สร้อยฟ้าจึงลาขรัวนายพลัน |
เถ้าแก่โขลนนั้นกำกับมา ฯ |
๏ ครั้นถึงที่สถิตของบิดร |
นางยอกรกราบบาททั้งซ้ายขวา |
เจ้าเชียงใหม่กอดลูกแล้วโศกา |
ว่าพ่อแม่นี้จะลาเจ้ากลับไป |
เพราะมีตัวเจ้าถวายจึงคลายเคือง |
ได้เมื้อเมืองเจ้าจะตกอยู่กรุงใต้ |
จะโปรดปรานประทานให้หมื่นไวย |
เหลืออาลัยอยู่แล้วแก้วพ่ออา ฯ |
๏ ครานั้นสร้อยฟ้ามารศรี |
ฟังคดีเพียงจะดิ้นสิ้นสังขาร์ |
สองกรกอดบาทพระบิดา |
ก้มหน้าซบลงแล้วโศกี |
โอ้ว่าเจ้าประคุณของลูกแก้ว |
จะละลูกเสียแล้วเอาตัวหนี |
ถึงตกไร้ใกล้ชนกชนนี |
ก็พอมีเยื่อใยในใจคอ |
ซึ่งยกลูกถวายถ่ายชีวิต |
ลูกไม่คิดบิดเบือนดอกเจ้าพ่อ |
ท่านจะใช้ตักน้ำฤๅหามวอ |
ไม่ย่อท้อจะแทนพระคุณไป |
แสนทุกข์อยู่แต่ที่จะมีผัว |
พระทูนหัวอกเอ๋ยหาเคยไม่ |
จะดูการเรือนเหย้าเขาข้างไทย |
จะอย่างไรก็ไม่รู้ประเพณี |
ก็จะถูกติฉินยินร้าย |
อัปยศอดอายชาวกรุงศรี |
สำหรับเขาค่อนว่าทั้งตาปี |
มีแต่จะอับอายขายบาทา |
ประการหนึ่งผู้ซึ่งจะเป็นผัว |
มิใช่ตัวเขาสมัครรักใคร่ข้า |
ประทานไปถ้าเขาไม่มีเมตตา |
ก็จะพาลด่าว่าเอาตามใจ |
แม้นจะทำย่ำยีถึงตีตบ |
จะสู้รบหลบหนีไปไหนได้ |
ตัวคนเดียวตกอยู่ในหมู่ไทย |
จะพึ่งใครยามยากลำบากกาย |
จะได้แต่ร้องไห้ไปจนม้วย |
แม่พ่อพอจะช่วยก็ห่างหาย |
ไหนจะอยู่ไปตลอดคงวอดวาย |
นางฟูมฟายชลนาโศกาลัย ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าเชียงใหม่อาลัยลูก |
พันผูกนั่งสะท้อนถอนใจใหญ่ |
แข็งขืนกลืนกลั้นน้ำตาไว้ |
โลมเล้าเอาใจของลูกรัก |
เป็นกรรมของเรานะเจ้าเอ๋ย |
แต่เกิดมาพ่อไม่เคยจะหาญหัก |
ครั้งนี้ขัดสนจนใจนัก |
เจ้าเหมือนที่พึ่งพักของบิดา |
ตลอดถึงวงศาคณาญาติ |
ประชาราษฎร์เพื่อนยากมากหนักหนา |
เป็นเชลยกองทัพเขาจับมา |
เหมือนลูกยาช่วยให้รอดตลอดไป |
ถ้าไม่มีตัวเจ้าเข้าถวาย |
ก็คงพากันตายอยู่เมืองใต้ |
นี่พอให้ไว้เนื้อเชื่อพระทัย |
จึงโปรดให้กลับคืนไปเมืองเรา |
ซึ่งพระองค์ทรงขอให้พระไวย |
มิใช่พ่อพอใจจะให้เจ้า |
แต่จะขัดพระดำรัสเหมือนดูเบา |
จึงจำยกให้เขาตามบัญชา |
ข้อนี้ก็ได้มีรับสั่งแล้ว |
ว่าจะเลี้ยงลูกแก้วให้สมหน้า |
ด้วยพระองค์ทรงพระกรุณา |
จงพึ่งฝ่าบาทบงสุ์พระทรงชัย |
ไปวันหน้าถึงว่าจะอาดูร |
จะเฝ้าแหนเพ็ดทูลก็พอได้ |
อนึ่งที่ตัวพระจมื่นไวย |
เมื่อขึ้นไปย่ำยีบุรีเรา |
ถึงเมื่อไปเป็นปรปักษ์จะหักหาญ |
ด้วยทำการถวายเจ้านายเขา |
เมื่อเราอ่อนเขาก็หย่อนผ่อนให้เบา |
จนเลยเข้ากันเป็นมิตรสนิทมา |
คงเห็นกับไมตรีมีแต่หลัง |
ทั้งเป็นเมียประทานพระผ่านหล้า |
ถึงเกิดข้อเคืองขัดอัธยา |
เห็นจะไม่ตีด่าให้อับอาย |
พ่อจะให้เถรขวาดฉลาดเวท |
เธอวิเศษฤทธีดีใจหาย |
อยู่เป็นเพื่อนป้องกันอันตราย |
กับเพี้ยควานขนานอ้ายด้วยอิกคน |
แม่เจ้าเขาคงเลือกเหล่าผู้หญิง |
ที่เชื่อใจได้จริงมาแต่ต้น |
มอบไว้ใช้ชิดติดกับตน |
ถึงพ่อไปเมืองบนไม่ละเลย |
อันจะเป็นแม่เหย้าเจ้าเรือน |
ดูให้เหมือนแม่เจ้าเถิดลูกเอ๋ย |
เขาดีจริงสิ่งไรเจ้าไม่เคย |
ทรามเชยถามแม่ให้แน่ใจ ฯ |
๏ ครานั้นนางอัปสรชนนี |
เรียกสร้อยฟ้านารีเข้าเรือนใหญ่ |
สงสารลูกโลมเล้าเอาใจ |
อย่าร้องไห้ไปนักนะลูกอา |
เกิดมาเป็นมนุษย์ปุถุชน |
ความทุกข์มิได้พ้นจนสักหน้า |
สุดแท้แต่กรรมที่ทำมา |
ถึงเวลาสิ้นสุขก็ทุกข์ไป |
ถ้าถึงคราวพ้นเข็ญที่เป็นทุกข์ |
ก็กลับมีความสุขสืบไปใหม่ |
เป็นธรรมดามาฉะนี้แต่ไรไร |
จะหวาดหวั่นพรั่นใจไม่ต้องการ |
พระพ่อได้เจ้าถวายถ่ายโทษ |
เหมือนเจ้าโปรดพ่อให้ได้คืนสถาน |
ดังกัณหาชาลีสองกุมาร |
เพิ่มประโยชน์โพธิญาณพระบิดา |
เป็นกุศลผลบุญอันยิ่งใหญ่ |
จะค้ำชูตัวไปในภายหน้า |
ไม่ควรย่อท้อคิดระอิดระอา |
จงก้มหน้าสนองพระคุณไป |
ซึ่งภูบาลจะประทานให้มีผัว |
เจ้าอย่ากลัวชั่วร้ายหามีไม่ |
เป็นสตรีมีผัวกันทั่วไป |
เพราะว่าเป็นวิสัยแห่งโลกีย์ |
ถึงเนื้อคู่อยู่ห่างต่างภาษา |
จนหน้าตาไม่รู้จักมักจี่ |
สำคัญแต่ที่ให้ได้คนดี |
ก็จะมีความสุขไม่ทุกข์ใจ |
เหมือนเช่นพระอุณรุทนางอุษา |
ก็อยู่ห่างต่างพาราเป็นไหนไหน |
หลับอยู่เทวดาพาอุ้มไป |
ยังรักใคร่ปรองดองทั้งสองรา |
ถึงตัวแม่เมื่อสาวคราวพวยพุ่ง |
ก็อยู่เวียงเชียงตุงไกลหนักหนา |
พระปู่เถ้าเจ้าเชียงใหม่ไปขอมา |
พึ่งเห็นหน้าพ่อเจ้าต่อวันงาน |
ถึงพ่อเจ้าเล่าก็ไม่ได้เห็นแม่ |
ได้ยินแต่ว่ารูปทรงส่งสัณฐาน |
ยังอยู่ด้วยกันมาเป็นช้านาน |
มิได้มีร้าวรานประการใด |
ด้วยวิสัยในการประเวณี |
ย่อมอยู่ที่ดวงจิตพิสมัย |
พอถึงกันก็ประหวัดกำหนัดใน |
แต่พอได้รู้รสก็หมดกลัว |
ยิ่งหนุ่มสาวคราวแรกภิรมย์รัก |
พอประจักษ์ได้เสียเป็นเมียผัว |
มักหลงใหลคลึงเคล้าเฝ้าพันพัว |
ราวกับตัวขึ้นสวรรค์ชั้นตรัยตรึงศ์ |
เมื่อแรกแรกร่วมเรียงเคียงเขนย |
อย่ากลัวเลยจะพิโรธโกรธขึ้ง |
ต่อนานวันว่างวายคลายเคล้าคลึง |
นั่นแลจึงจะได้รู้ดูใจกัน |
วิสัยชายคล้ายกับคชสาร |
ถ้าหมอควาญรู้ทีดีขยัน |
แต่ทว่าบางยกตกน้ำมัน |
ต้องรู้จักผ่อนผันจึงเป็นเพลง |
ธรรมดาสตรีที่มีผัว |
ต้องเกรงยำจำกลัวผัวข่มเหง |
เพราะถ้าผัวตัวนั้นยังคุ้มเกรง |
ถึงคนอื่นครื้นเครงมิเป็นไร |
ถ้าผัวทิ้งคนเดียวเปลี่ยวอนาถ |
เหมือนสิ้นชาติสิ้นเชื้อที่เนื้อไข |
หญิงที่ผัวทิ้งขว้างห่างเหไป |
จะเข้าไหนเขากระหยิ่มมักยิ้มเยาะ |
ถึงจะหาลูกผัวแก้ตัวใหม่ |
ก็ยากนักจักได้ที่มั่นเหมาะ |
ด้วยสิ้นพรหมจารีที่จำเพาะ |
เหมือนไส้กลวงด้วงเจาะรังเกียจกัน |
ด้วยเหตุนี้มีผัวอย่ามัวประมาท |
ถ้าพลั้งพลาดเพียงชีวาจะอาสัญ |
ต้องเอาใจสามีทุกวี่วัน |
ให้ผัวนั้นเมตตาอย่าจืดจาง |
จงเคารพนบนอบต่อสามี |
กิริยาพาทีอย่าอางขนาง |
จะยั่วยวนฤๅว่าที่มีระคาง |
ไว้ให้ว่างคนผู้อยู่ที่ลับ |
สังเกตดูอย่างไรชอบใจผัว |
ทั้งอยู่กินสิ้นทั่วทุกสิ่งสรรพ |
ทำให้ได้อย่าให้ต้องบังคับ |
เป็นแม่เรือนเขาจึงนับว่าดีจริง |
อันเป็นเมียจะให้ชอบใจผัว |
สิ่งสำคัญนั้นก็ตัวของผู้หญิง |
ทำให้ผัวถูกใจไม่มีทิ้ง |
ยังมีอีกสิ่งก็อาหารตระการใจ |
ถ้ารู้จักประกอบให้ชอบลิ้น |
ถึงแก่สิ้นเพราพริ้งไม่ทิ้งได้ |
คงต้องง้อขอกินทุกวันไป |
จงใส่ใจจัดหาสารพัน |
เป็นต้นต้มตีนหมูให้ชูรส |
ไข่ไก่สดปลาต้มยำทำขยัน |
ตับเหล็กสันในแลไข่ดัน |
หั่นให้ชิ้นเล็กเล็กเหมือนเจ๊กทำ |
พยายามเลี้ยงดูให้ชูใจ |
ถึงจะมีเมียใหม่ให้คมขำ |
เสน่ห์ปลายจวักไม่รู้จักทำ |
หลงใหลไม่กี่น้ำก็จำคลาย |
พ่อเจ้ามีห้ามสักสามร้อย |
เป็นไรไม่หลุดลอยไปง่ายง่าย |
ปะสาวสาวเข้าก็ซมหลงงมงาย |
แต่พอหน่ายก็แพ้แม่ทุกที |
ทำไมกับสาวสาวอีลาวเคอะ |
ถึงจะสวยมันก็เซอะดังซากผี |
ยังชมว่าท่านยายแยบคายดี |
มิได้มีเหมือนแม่จนแก่ชรา |
อันเป็นหญิงสุดแต่สิ่งปรนนิบัติ |
ใครสันทัดผัวก็รักเป็นหนักหนา |
แม้นเจ้าทำเหมือนคำของมารดา |
ดีกว่ายาแฝดฝังทั้งตาปี ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมนางสร้อยฟ้า |
รับคำมารดาใส่เกศี |
เจ้าแม่ไปขอให้สวัสดี |
ถึงปีแล้วจงใช้ให้คนมา |
ให้แจ้งข่าวเจ้าประคุณว่าเป็นสุข |
ก็จะสบายคลายทุกข์ของตัวข้า |
สั่งพลางต่างองค์ทรงโศกา |
เพียงว่าจะสิ้นสมประดี ฯ |
๏ ครั้นสุริย์ฉายบ่ายคล้อยลงรำไร |
เจ้าเชียงใหม่กับองค์มเหสี |
แสนสงสารลูกยายิ่งปรานี |
เวลานี้จวนเจ้าจะเข้าวัง |
เอาธำมรงค์เก้ายอดถอดให้ลูก |
ถ้าจะขายถูกถูกก็สิบชั่ง |
ไว้ต่อเมื่อยากจนพ้นกำลัง |
จำนำไว้ในวังพอแก้จน |
แล้วเลือกสรรนางลาวพวกสาวใช้ |
นางสาวไหมพี่เลี้ยงนั้นเป็นต้น |
กับรุ่นรุ่นรูปดีอิกสี่คน |
เอาไว้เป็นเพื่อนตนเถิดลูกอา |
แล้วสั่งซ้ำกำชับกับสาวไหม |
เอ็งเอ๋ยอย่าถือใจว่าเป็นข้า |
นึกว่านางเป็นน้องร่วมท้องมา |
จงอุตส่าห์หมั่นระวังสั่งสอนกัน |
จวนประตูปิดแล้วแก้วแม่เอ๋ย |
อย่าช้าเลยกลับไปเข้าไอศวรรย์ |
แม่จงอยู่เป็นสุขทุกนิรันดร์ |
อันตรายราคีอย่ามีพาน ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าสร้อยฟ้า |
ฟังว่าดังอุระจะแตกฉาน |
กราบตีนพ่อแม่ให้แดดาล |
ชลนัยน์ไหลซ่านลงโซมทรวง |
เย็นนักจักช้าก็มิได้ |
เป็นทุกข์ใจจะรีบเข้าวังหลวง |
พระสุริยาจวนพลบจะลบดวง |
ให้เป็นห่วงบ่วงใยมิใคร่จร |
พวกเถ้าแก่เตือนตักว่าจักค่ำ |
นางยิ่งซ้ำแสนทุกข์สะท้อนถอน |
จึงจำจากบิดาแลมารดร |
เฝ้าอาวรณ์โศกเศร้าจนเข้าวัง ฯ |
๏ ครานั้นพระเจ้าเชียงใหม่ |
อาลัยลูกยาน้ำตาหลั่ง |
แลตามสร้อยฟ้าจนฝาบัง |
แล้วนิ่งนั่งสะอื้นไห้อยู่ไปมา |
ทั้งนางอัปสรมเหสี |
ก็โศกีร่ำรักเป็นหนักหนา |
กระทั่งพวกสาวสรรค์กัลยา |
ต่างก็พลอยโศกาด้วยอาลัย |
ครั้นว่าค่อยคลายวายโศกา |
จึงเรียกเหล่าเสนาเข้ามาใกล้ |
บอกว่าพระองค์ผู้ทรงชัย |
ยกโทษโปรดให้ไปธานี |
จงไปสั่งพวกลาวบ่าวไพร่ |
ให้เตรียมตัวกลับไปบุรีศรี |
พร้อมพรั่งตั้งแต่ในพรุ่งนี้ |
ฤกษ์ดีวันมะรืนจะคืนเมือง ฯ |
๏ ฝ่ายว่าเสนาพระยาลาว |
ทราบข่าวว่าจะได้กลับไปเหนือ |
ต่างดีใจรีบรัดไปจัดเรือ |
หาพริกเกลือเตรียมเสบียงไปเลี้ยงกัน |
ส่วนพวกพลลาวบ่าวข้า |
ก็ติดตามกันมาจ้าละหวั่น |
ช่วยกันยาเรือแพอยู่แจจัน |
บางคนนั้นเก็บของมากองไว้ |
บ้างไปซื้อเสื้อผ้าหาของกิน |
ที่ใครมีหนี้สินรีบใช้ให้ |
ขะมักเขม้นอารามยามจะไป |
ถึงเหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลไม่ขุ่นเคือง |
พวกพ่อค้ารู้ข่าวลาวจะกลับ |
เอาของหาบหยับหยับมาแน่นเนื่อง |
ชวนให้ซื้อของข้าวเอาไปเมือง |
ราคาเฟื้องขายสลึงให้พึงใจ |
ฝ่ายพวกนางลาวเหล่าข้าหลวง |
ห่วงสมบัติต่างรีบหาหีบใส่ |
เก็บพับผ้าผ่อนท่อนสไบ |
แป้งน้ำมันเอาไปให้พอแรง |
บรรดาพวกที่จะได้กลับไปบ้าน |
ต่างเบิกบานยิ้มหัวทั่วทุกแห่ง |
ที่ต้องอยู่อยุธยาทำตาแดง |
หัวอกแห้งใครทักไม่พูดจา |
เจ้าเชียงใหม่ครั้นเห็นก็สงสาร |
แจกบำเหน็จบำนาญให้หนักหนา |
สูเอ๋ยอยู่หน่อยกับสร้อยฟ้า |
พอปีหน้าข้าจะให้ได้ไปเมือง ฯ |
๏ พอรุ่งเช้ากลาโหมมหาดไทย |
ทั้งกรมแสงคลังในมาแน่นเนื่อง |
ผู้คนขนของมานองเนือง |
แต่ล้วนเครื่องอุปโภคที่ริบไว้ |
บอกว่ามีพระราชโองการ |
พระราชทานคืนสิ่งศฤงคารให้ |
ของเหล่านี้ที่ส่งมากรุงไกร |
กลับขึ้นไปถึงพิจิตรจงแวะรับ |
ช้างม้าพาหนะบ่าวไพร่ |
คืนไปตามรับสั่งให้เสร็จสรรพ |
เอาบาญชีคลี่สำรวจตรวจนับ |
มอบแล้วต่างกลับไปฉับพลัน |
พวกเสนาพระยาลาวชาวเชียงใหม่ |
ก็รับของขนไปเป็นหลั่นหลั่น |
เรียกเรือมาเรียงไว้เคียงกัน |
เอาของบรรทุกเรียบเพียบทุกลำ |
ทั้งของหลวงของเหล่าท้าวพระยา |
ผู้คนขนมาอยู่คลาคล่ำ |
บรรทุกแล้วถอยมาทอดจอดประจำ |
ในท้องน้ำเสียงลาวออกฉาวไป |
ที่ตรงท่าหน้าบ้านตะพานลง |
ให้จอดเรือลำทรงเจ้าเชียงใหม่ |
ต่อลงมาข้างท้ายเรือฝ่ายใน |
ให้จอดเรือพวกไพร่ข้างใต้น้ำ |
ครั้นพร้อมเสร็จเจ้าเชียงใหม่มเหสี |
จรลีลงเรือเมื่อใกล้ค่ำ |
เรือพวกท้าวพระยามาประจำ |
เรียงลำคอยท่าจะคลาไคล ฯ |
๏ พอดาวประกายพรึกขึ้นพวยพุ่ง |
ใกล้รุ่งแสงทองจะส่องไข |
พระจันทร์เคลื่อนเลื่อนบ่ายลงชายไม้ |
สกุณไก่ก้องขันสนั่นเมือง |
พวกลาวต่างฟื้นตื่นนิทรา |
หุงข้าวเผาปลากันตามเรื่อง |
พออุทัยไขแสงขึ้นแรงเรือง |
แลประเทืองทั่วฟ้าสุธาธาร |
ลงเรือพร้อมพรั่งทั้งนายไพร่ |
เจ้าเชียงใหม่ลุกออกมานอกม่าน |
พอได้ฤกษ์รังสีรวีวาร |
ให้ออกเรือจากตะพานในทันใด |
น้ำขึ้นตีกรรเชียงเสียงครั่นครึก |
ตกลึกผ่านมาหน้าวังใหญ่ |
ท้าวคิดถึงลูกยายิ่งอาลัย |
น้ำตาไหลนิ่งนั่งอยู่ข้างท้าย |
เรือตามน้ำขึ้นมาคว้างคว้าง |
ถึงเพนียดคล้องช้างก็ใจหาย |
เห็นช้างผูกเสาเคียงอยู่เรียงราย |
โอ้ช้างพลายตามโขลงมาหลงซอง |
งวงพาดงาเหงากับเสาจลุง |
ตาจะมุ่งดูอะไรเมื่อใจหมอง |
น้ำตาซาบอาบหน้าอยู่เนืองนอง |
ทั้งสองข้างมีงาไม่กล้าแทง |
ช้างเอ๋ยเคยกล้าอยู่กลางเถื่อน |
ไม่กลัวเพื่อนแล่นไล่ด้วยใจแข็ง |
ความทะนงหลงตัวว่าเรี่ยวแรง |
ถูกเขาแกล้งปกพาเอามาคล้อง |
ด้วยความรักนางพังกำบังตา |
ติดโขลงตามมาได้คล่องคล่อง |
เพราะตัณหาพาหลงตรงเข้าซอง |
จึงมาต้องผูกมัดอยู่อัตรา |
คิดถึงเพื่อนก็เหมือนกับตัวเรา |
แต่ก่อนเก่าสารพันจะหรรษา |
สมบัติพัสถานก็ลานตา |
เมืองไหนไม่มาประมาทแคลน |
เพราะหลงรักสร้อยทองปองสวาดิ |
พลั้งพลาดจึงทุกข์เสียเหลือแสน |
เสียบ้านเสียเมืองได้เคืองแค้น |
แม้นแต่ลูกสายใจมิได้คืน |
ยิ่งคิดยิ่งเหงาเศร้าวิญญาณ์ |
น้ำตาไหลหลั่งนั่งสะอื้น |
ถึงบ้านมอญเห็นขอนมอญลงยืน |
น้ำตื้นให้ถ่อต่อไปพลัน |
ผ่านโพธิสามต้นเห็นต้นโพธิ |
กิ่งไสวใหญ่โตสูงถงั่น |
สามต้นปลูกเรียงไว้เคียงกัน |
ต้นหนึ่งนั้นอยู่กลางดูบางใบ |
เหี่ยวแห้งรันทดสลดหมอง |
สองต้นสดชื่นรื่นไสว |
เหมือนเราสองจะไปครองซึ่งเวียงชัย |
ลูกน้อยละห้อยไห้เป็นโพธิกลาง |
โอ้วิบากปากน้ำพระประสบ |
สักเมื่อไรจะได้พบกับลูกบ้าง |
ครวญคร่ำร่ำหามาตามทาง |
ถึงบ้านขวางท่าตอให้ท้อใจ |
เหลียวหน้ามาทางมเหสี |
ก็เห็นนางโศกีสะอื้นไห้ |
ยิ่งเบื่อบ้านย่านทางหมางฤทัย |
นกไม้มีดื่นไม่ชื่นชม |
ครั้นจวนเย็นจอดหาที่อาศัย |
เช้าไปแดดร้อนผ่อนพักร่ม |
ข้ามบ้านผ่านแขวงเมืองอินทร์พรหม |
ชัยนาทมโนรมย์ลำดับมา |
พ้นนครสวรรค์แปรไปแควใหญ่ |
เข้าปากน้ำเกยชัยในสาขา |
ถึงบางคลานไม่รอถ่อนาวา |
จนถึงหน้าเมืองพิจิตรบุรี ฯ |
๏ ฝ่ายผู้รั้งกรมการทราบสารตรา |
ต่างก็มารับรองต้องตามที่ |
มอบของนานาบรรดามี |
ตามบาญชีสั่งไปให้คืนนั้น |
ที่ครอบครัวสิ่งของต้องประสงค์ |
ก็จัดส่งกรุงศรีขมีขมัน |
สำเร็จเสร็จในไม่กี่วัน |
แล้วบอกบั่นตามคดีที่มีมา ฯ |
๏ ฝ่ายข้างเจ้าเชียงใหม่ให้จัดกัน |
พวกหนึ่งนั้นเดินบกยกล่วงหน้า |
ให้คุมครัววัวต่างแลช้างม้า |
ไปคอยท่าหน้าเมืองสัชนาลัย |
กระบวนเรือน้อยใหญ่ก็ไคลคลา |
เข้าคลองพิงมาหาช้าไม่ |
ตกท่ากงลงทางน้ำยมไป |
พ้นบ้านใหม่ไม่ช้าถึงท่าเรือ ฯ |
๏ ฝ่ายผู้รั้งสังคโลกกรมการ |
รักษาด่านพระนครข้างตอนเหนือ |
ทราบว่าปล่อยเจ้าเชียงใหม่ให้คืนเมือ |
จัดพริกเกลือข้าวปลาหาเตรียมไว้ |
ครั้นพวกลาวบ่าวนายถึงพร้อมเพรียง |
เอาเสบียงอาหารมาจ่ายให้ |
แล้วตรวจสอบตามบาญชีที่จะไป |
ทั้งนายไพร่ช้างม้าเครื่องอาวุธ |
ให้หลวงพลสงครามตามไปส่ง |
ถึงปากดงพงแดนเป็นที่สุด |
แล้วให้แต่งม้าใช้ไปเร็วรุด |
บอกเมืองเถินทราบดุจเดียวกัน ฯ |
๏ ครั้นกระบวนพร้อมพรั่งทั้งนายไพร่ |
เจ้าเชียงใหม่ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ขึ้นบกยกออกจากเมืองพลัน |
เจ็ดวันถึงแคว้นแดนนคร |
ท้าวพระยาผู้รักษาเมืองลำปาง |
ต่างก็มาพร้อมพรั่งดั่งแต่ก่อน |
เจ้าเชียงใหม่ค่อยสบายคลายอาวรณ์ |
ให้พักผ่อนเหน็ดเหนื่อยที่เลื่อยล้า |
ส่วนพระยาข้าเฝ้าเจ้าเชียงใหม่ |
ก็จัดแจงนายไพร่ให้ล่วงหน้า |
รีบไปบอกข่าวชาวพารา |
ว่าพระเจ้าเชียงใหม่ได้คืนเมือง ฯ |
๏ ฝ่ายว่าพวกลาวชาวเชียงใหม่ |
ต่างดีใจพร้อมหน้ามาแน่นเนื่อง |
จัดกระบวนแหนแห่แลประเทือง |
ธงเทียวเขียวเหลืองบรรดามี |
ทั้งราชยานคานหามแลวอทอง |
ฆ้องกลองเครื่องสังคีตดีดสี |
แล้วป่าวร้องบอกลาวชาวบุรี |
มาคอยรับอยู่ที่เมืองลำพูน |
ครั้นพระเจ้าเชียงใหม่ไปถึงนั่น |
ก็พากันมาเฝ้าเจ้าไอศูรย์ |
ทั้งเสนาอำมาตย์ราชประยูร |
เพ็ดทูลต้อนรับด้วยยินดี ฯ |
๏ พอได้ฤกษ์วันดีมีมงคล |
ต่างตนประณตบทศรี |
เชิญเจ้าสวรรยาเข้าธานี |
ครองบุรีเนาวรัฐเป็นฉัตรชัย |
เชิญพระองค์ขึ้นทรงยานมาศ |
ทั้งนางราชเทวีศรีใส |
แห่ออกนอกเมืองลำพูนชัย |
ไปยังเวียงเชียงใหม่ในวันนั้น |
ทั้งสองข้างทางแห่ให้ปักฉัตร |
ผูกแผงราชวัติขึ้นกางกั้น |
เจ้าของบ้านนั่งเรียงอยู่เคียงกัน |
พอเจ้านายถึงนั่นก็อวยพร |
พลางโปรยบุปผามาลัย |
ยกมือกราบไหว้อยู่สลอน |
องค์พระเจ้าเข้าคืนพระนคร |
เหมือนพระเวสสันดรแต่ก่อนมา |
สาธุชัยตุภวัง |
ชัยมังคลังพระเจ้าข้า |
ให้พ่อเจ้าเป็นสุขทุกเวลา |
ชาวพาราต่างอำนวยอวยพร ฯ |
๏ ครั้นว่ามาถึงนิเวศน์วัง |
พระครูบามานั่งอยู่สลอน |
แต่งบัตรพลีตั้งสลับซับซ้อน |
ตามแบบอย่างปางก่อนเคยฟาดเคราะห์ |
พระสังฆราชอัญเชิญเจ้าเชียงใหม่ |
เข้านั่งในซุ้มกล้วยเป็นกรวยเกราะ |
มเหสีก็มีซุ้มจำเพาะ |
แล้วพระสงฆ์สวดสะเดาะขึ้นพร้อมกัน |
สวดเสร็จสังฆราชเอาบาตรน้ำ |
เสกซ้ำด้วยพระมนต์ดลขยัน |
รดสะเดาะเคราะห์ร้ายให้หายพลัน |
เสียงประโคมครื้นครั่นสนั่นดัง |
ครั้นตกบ่ายชายแสงพระสุริยา |
พระญาติวงศ์พงศามาพร้อมพรั่ง |
ทั้งเสนาข้าเฝ้าเหล่าชาววัง |
ประชุมนั่งในท้องพระโรงรัตน์ |
เชิญองค์เจ้าเชียงใหม่มเหสี |
สถิตที่แท่นประทับสำหรับกษัตริย์ |
ตั้งบายศรีเครื่องกระยาสารพัด |
ประจงจัดหลายอย่างต่างต่างกัน |
ให้พระยาจ่าบ้านเป็นผู้ใหญ่ |
อวยชัยจำเริญเชิญพระขวัญ |
แล้วผู้หัตถ์รัดด้ายถวายพลัน |
ตามเยี่ยงอย่างปางบรรพ์ประเพณี |
สมโภชเสร็จเสด็จออกพลับพลา |
ราษฎรเข้ามาอยู่อึงมี่ |
เตรียมลุกุยมาทั่วที่ตัวดี |
ปล้ำประชันกันที่สนามใน |
เอิกเกริกอยู่จนสนธยา |
จึงเลิกงานต่างมาที่อาศัย |
เจ้าเชียงอินท์สำราญบานฤทัย |
ครองเชียงใหม่เป็นสุขทุกวันวาร ฯ |