- คำนำ
- ตำนานเสภา
- คำอธิบาย
- อธิบายบทเสภา เล่ม ๓
- ตอนที่ ๑ กำเนิดขุนช้างขุนแผน
- ตอนที่ ๒ พ่อขุนช้างขุนแผน
- ตอนที่ ๓ พลายแก้วบวชเณร
- ตอนที่ ๔ พลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม
- ตอนที่ ๕ ขุนช้างขอนางพิม
- ตอนที่ ๖ พลายแก้วเข้าห้องนางสายทอง
- ตอนที่ ๗ พลายแก้วแต่งงานกับนางพิม
- ตอนที่ ๘ พลายแก้วถูกเกณฑ์ทัพ
- ตอนที่ ๙ พลายแก้วยกทัพ
- ตอนที่ ๑๐ พลายแก้วได้นางลาวทอง
- ตอนที่ ๑๑ นางพิมเปลี่ยนชื่อวันทอง ขุนช้างลวงว่าพลายแก้วตาย
- ตอนที่ ๑๒ นางศรีประจันยกนางวันทองให้ขุนช้าง
- ตอนที่ ๑๓ พลายแก้วได้เป็นขุนแผน ขุนช้างได้นางวันทอง
- ตอนที่ ๑๔ ขุนแผนบอกกล่าว
- ตอนที่ ๑๕ ขุนแผนต้องพรากนางลาวทอง
- ตอนที่ ๑๖ กำเนิดกุมารทองบุตรนางบัวคลี่
- ตอนที่ ๑๗ ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ได้นางแก้วกิริยา
- ตอนที่ ๑๘ ขุนแผนพานางวันทองหนี
- ตอนที่ ๑๙ ขุนช้างตามนางวันทอง
- ตอนที่ ๒๐ ขุนช้างฟ้องว่าขุนแผนเป็นขบถ
- ตอนที่ ๒๑ ขุนแผนลุแก่โทษ
- ตอนที่ ๒๒ ขุนแผนชนะความขุนช้าง
- ตอนที่ ๒๓ ขุนแผนติดคุก
- ตอนที่ ๒๔ กำเนิดพลายงาม
- ตอนที่ ๒๕ เจ้าล้านช้างถวายนางสร้อยทองแก่พระพันวษา
- ตอนที่ ๒๖ พระเจ้าเชียงใหม่ชิงนางสร้อยทอง
- ตอนที่ ๒๗ พลายงามอาสา
- ตอนที่ ๒๘ พลายงามได้นางศรีมาลา
- ตอนที่ ๒๙ ขุนแผนแก้พระท้ายน้ำ
- ตอนที่ ๓๐ ขุนแผนพลายงามจับพระเจ้าเชียงใหม่
- ตอนที่ ๓๑ ขุนแผนพลายงามยกทัพกลับ
- ตอนที่ ๓๒ ถวายนางสร้อยทอง สร้อยฟ้า
- ตอนที่ ๓๓ แต่งงานพระไวยพลายงาม
- ตอนที่ ๓๔ ขุนช้างเป็นโทษ
- ตอนที่ ๓๕ ขุนช้างถวายฎีกา
- ตอนที่ ๓๖ ฆ่านางวันทอง
- ตอนที่ ๓๗ นางสร้อยฟ้าทำเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๘ พระไวยถูกเสน่ห์
- ตอนที่ ๓๙ ขุนแผนส่องกระจก
- ตอนที่ ๔๐ พระไวยแตกทัพ
- ตอนที่ ๔๑ พลายชุมพลจับเสน่ห์
- ตอนที่ ๔๒ นางสร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ
- ตอนที่ ๔๓ จระเข้เถรขวาด
ตอนที่ ๓๔ ขุนช้างเป็นโทษ
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงศักดิ | ปิ่นปักหลักโลกนาถา |
สถิตเหนือพระแท่นแว่นฟ้า | พอสุริยาเร่งรถขึ้นเรืองรอง |
ถึงเวลาพระก็ฟื้นตื่นไสยาสน์ | ลงจากอาสน์เสด็จออกนอกห้อง |
นางในถ้วนหน้าข้าทูลละออง | หมอบชม้อยคอยจ้องประจำงาน |
พระชำระสระสรงทรงสุคนธ์ | ปรุงปนประทิ่นกลิ่นหอมหวาน |
ทรงพระแสงเนาวรัตน์ชัชวาล | พระภูบาลออกท้องพระโรงเรือง |
ประทับพระที่นั่งบัลลังก์อาสน์ | อำมาตย์หมอบนอบน้อมประนมเนื่อง |
ตรัสประภาษราชการบ้านเมือง | แล้วชำเลืองมาข้างเหล่ามหาดชา๑ฯ |
๏ ครานั้นขุนช้างเห็นว่างจังหวะ | ขอเดชะฝ่าพระบาทปกเกศา |
ชีวิตอยู่ใต้พระบาทา | แต่เกล้ากระหม่อมเป็นข้าฝ่าละออง |
อยู่ในมหาดชากว่าแปดปี | แต่หวายเปรียะยังไม่มีได้ถูกต้อง |
บัดนี้จมื่นไวยใจคะนอง | ทุบถองกระหม่อมฉันแทบบรรลัย |
แต่ต่อยแล้วมิหนำซ้ำท้าทาย | ถึงเจ้านายของมึงหากลัวไม่ |
บ่าวไพร่กว่าร้อยต่อยร่ำไป | พวกขุนนางขวางไว้จึงไม่ตาย |
เมื่อขณะทุบถองร้องด่าว่า | ก็ต่อหน้าขุนนางสิ้นทั้งหลาย |
ได้ห้ามปรามรู้เห็นเป็นมากมาย | แม้นมิสัตย์ขอถวายซึ่งชีวา ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงธรรม | ได้ทรงฟังถ้อยคำขุนช้างว่า |
พระนิ่งนึกตรึกความตามกิจจา | ข้อที่ว่าทุบตีทีจะจริง |
อันจะร้องท้าทายถึงนายเจ้า | มันจะเสกใส่เอาให้ใหญ่ยิ่ง |
เหตุที่เกิดความยุ่งขึ้นนุงนิง | เพราะอ้ายนี่ถือหยิ่งว่าพ่อเลี้ยง |
ครั้นเต็มเมาเข้าจะว่ามันหยาบคาย | อ้ายไวยอายจึงทะเลาะเบาะเถียง |
เกินกันแต่ละน้อยค่อยเลียบเคียง | ครั้นด่ามันมันก็เหวี่ยงเอาสาใจ |
แม้นจะนิ่งความไว้ไม่ไต่ถาม | อ้ายหมื่นไวยก็จะหยามขึ้นหยาบใหญ่ |
จะถือว่าเจ้ารักแล้วหนักไป | โกรธใครก็จะพาลพาโลตี |
พระตริเสร็จตรัสสั่งตำรวจใน | ไปหาตัวจมื่นไวยเข้ามานี่ |
ตำรวจรับสั่งวิ่งเป็นสิงคลี | ครั้นถึงที่บ้านบอกพระหมื่นไวย |
รับสั่งให้หาไปในบัดนี้ | ขุนช้างทูลคดีเป็นความใหญ่ |
พระไวยแจ้งกิจจาเรียกข้าไท | ลงบันไดเดินเหย่าเข้าวังพลัน |
นุ่งถมปักลนลานเป็นการเร็ว | เอาผ้ากราบคาดเอวขมีขมัน |
เข้าไปเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ | บังคมคัลคอยฟังพระโองการ ฯ |
๏ ครานั้นพระปิ่นนรินทร์ราช | มีพระสิงหนาทอยู่ฉาดฉาน |
เหวยอ้ายไวยอย่างไรเมื่อทำงาน | จึงฮึกหาญข่มเหงอ้ายขุนช้าง |
เตะต่อยแล้วมิหนำซ้ำท้าทาย | จ้วงจาบเจ้านายได้ทุกอย่าง |
ใครเล่าเป็นเจ้าของอ้ายช้าง | เอ็งอ้างว่าไม่กลัวคือตัวใคร |
พวกขุนน้ำขุนนางเข้ากางกั้น | แต่กระนั้นมึงยังหาฟังไม่ |
ถีบถองต่อยชกตกบันได | จริงเท็จเป็นกะไรให้ว่ามา ฯ |
๏ พระไวยทูลตามข้อขอเดชะ | ข้าพระพุทธเจ้าไม่มุสา |
ซึ่งขุนช้างกราบทูลพระกรุณา | เสกแสร้งแกล้งว่าเอาแต่ดี |
ที่ข้อว่าหยาบช้าเป็นสาหัส | แม้นเป็นสัตย์จงประหารให้เป็นผี |
ขุนช้างไปช่วยงานเมื่อวานนี้ | รับประทานอาหนีเข้าตึงตน |
กล่าวคำหยาบช้าสารพัน | กระหม่อมฉันห้ามปรามเป็นหลายหน |
เข้ายุดหยอกมารดาต่อหน้าคน | เหลือทนแล้วจึงได้วิวาทกัน |
โป้งโหยงหยาบคายเป็นหลายข้อ | ด่าทอถอดชื่อกระหม่อมฉัน |
เต็มอายต่อหน้าธารกำนัล | แล้วเสกสรรลำเลิกโพนทะนา |
เมื่อครั้งนั้นกระหม่อมฉันได้เจ็ดปี | ขุนช้างพาไปฆ่าตีที่ในป่า |
จนสลบซบอยู่กับพสุธา | กลัวมิตายหมายว่าจะไม่ลับ |
ทั้งสลบตบต่อยปะเตะปะตะ | แสกศีรษะซ้ำเอาไม้ซีกสับ |
ลากตัวไปในรกยกขอนทับ | แล้วขุนช้างวางกลับไปบ้านตน |
เดชะบุญกระหม่อมฉันไม่บรรลัย | ฟื้นขึ้นได้ซานมาหาชีต้น |
ซ่อนตัวอยู่กับท่านอาจารย์นน | มิให้คนเห็นตัวด้วยกลัวตาย |
เมื่อวานนี้อ้ายขุนช้างอ้างความหลัง | พูดดังดังได้ยินสิ้นทั้งหลาย |
กระหม่อมฉันบอกกล่าวทั้งไพร่นาย | แม้นมิสัตย์ขอถวายซึ่งชีวา ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ดำรงภพ | ฟังจบที่พระไวยให้การว่า |
ข้างต้นความดูเห็นเป็นอาญา | แต่ข้างปลายกลายมานครบาล |
จำเลยแก้เป็นฉกรรจ์มหันตโทษ | จำจะซักข้างโจทก์ให้แตกฉาน |
เฮ้ยขุนช้างหมื่นไวยมันให้การ | ว่าประมาณอายุสักเจ็ดปี |
มึงแกล้งชวนเอาไปในป่าใหญ่ | เอาขอนทับไว้แล้วแล่นหนี |
มันสู้นิ่งความมากว่าแปดปี | จนวานนี้เอ็งว่าต่อหน้าคน |
ข้อหยาบช้าสาหัสเขาปฏิเสธ | เกิดวิวาทขึ้นเพราะเหตุนี้เป็นต้น |
มันบอกกล่าวเล่าทั่วทุกตัวคน | นี่แน่ะเฮ้ยเหตุผลเป็นอย่างไร ฯ |
๏ ขุนช้างได้ฟังรับสั่งถาม | เห็นว่าความเก่าเกิดก็หวั่นไหว |
ด้วยจริงใจในอกก็ตกใจ | เหงื่อไหลโซมตัวกลัวอาญา |
แข็งใจกราบทูลไปทันที | พระบารมีปกเกล้าเหนือเกศา |
ซึ่งพระไวยกราบทูลพระกรุณา | ล้วนเสกแสร้งแกล้งว่าใช่ความจริง |
ซึ่งจะได้ตีฆ่าหามิได้ | แกล้งกล่าวเสกใส่ให้ใหญ่ยิ่ง |
ถ้าฆ่าตีก็จะมีที่อ้างอิง | ไยจึงนิ่งความไว้ไม่กราบทูล |
ครั้นเกล้ากระหม่อมฟ้องหาว่าต่อยตบ | แกล้งจะกลบความร้ายให้หายสูญ |
จึงเสกแสร้งใส่เอาเป็นเค้ามูล | เอาความเท็จเพ็ดทูลแต่โดยเดา |
กระหม่อมฉันจะได้ว่าหามิได้ | พระหมื่นไวยยุแยงแกล้งมอมเหล้า |
ล่อให้พูดจาประสาเมา | แล้วเอาความร้ายมาบ้ายทา |
อันที่ท้าถึงเจ้ากล่าวสาหัส | แม้นมิสัตย์ขอพระองค์ลงโทษา |
ถ้าแม้นไม่จริงจังดังเจรจา | รับพระราชอาญาจนบรรลัย ฯ |
๏ พระองค์ทรงภพตบพระเพลา | กูจะเอาความจริงให้จงได้ |
เฮ้ยขุนนางข้าเฝ้าอย่าเข้าใคร | บรรดาไปช่วยงานเมื่อวานนี้ |
ใครรู้เห็นเป็นอย่างไรให้เร่งว่า | อย่าเห็นแก่หน้าขุนนางแลเศรษฐี |
ขุนช้างว่าหมื่นไวยไล่ทุบตี | พาทีถึงเจ้ากล่าวหยาบคาย |
ข้างหมื่นไวยว่าขุนช้างอ้างความหลัง | พูดดังดังได้ยินสิ้นทั้งหลาย |
เมื่อเล็กเล็กเอาไปล้างให้วางวาย | บุญตัวไม่ตายจึงรอดมา |
เมื่อขุนช้างอ้างว่าฆ่าหมื่นไวย | เต็มเมาฤๅไม่สู้หนักหนา |
อย่าได้เข้าข้างใครให้เจรจา | จงเร่งว่าอย่าได้เห็นกับบุคคล ฯ |
๏ บรรดาข้าเฝ้าเหล่าไปงาน | จึงกราบทูลพระโองการตามเหตุผล |
กระหม่อมฉันจำไว้ได้ทุกคน | เป็นต้นด้วยขุนช้างไปช่วยงาน |
รับพระราชทานเหล้าจนเมามาย | แล้ววุ่นวายว่ากล่าวห้าวหาญ |
ขึ้นตั้งท่าอวดตนว่าหนุมาน | แล้วพูดจาเกี้ยวพานถึงวันทอง |
พระนายอายหน้าว่าไม่ฟัง | จึงตึงตังต่อยตีกันมี่ก้อง |
ขุนช้างโป้งปากหากคะนอง | ร้องลำเลิกความหลังออกคลั่งไป |
ว่าเมื่อพระไวยอยู่กับมารดา | ขุนช้างเอาไปฆ่าในป่าใหญ่ |
เอาไม้ซีกสับลงที่ตรงไร | เอาขอนทุ่มทับไว้จะให้ตาย |
พระไวยขัดใจก็เรียกบ่าว | มี่ฉาวชกซ้ำล้มคว่ำหงาย |
ซึ่งจะท้าว่ากล่าวถึงเจ้านาย | กระหม่อมฉันทั้งหลายไม่ได้ยิน |
แต่ขุนช้างกินเหล้าเมาเต็มประดา | จนเปลื้องผ้าจากกายความอายสิ้น |
ไม่เข้าใครใส่กลเป็นมลทิน | พระภูมินทร์จงทราบพระบาทา ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงธรรม | พิเคราะห์คำให้การพยานว่า |
วินิจฉัยไปด้วยพระปรีชา | ซึ่งข้อที่หยาบช้านั้นสำคัญ |
ความโจทก์กล่าวหาเป็นสาหัส | แม้นเป็นสัตย์ก็โทษถึงอาสัญ |
ถ้าไม่เป็นสัตย์โทษโจทก์เหมือนกัน | อิกข้อนั้นซึ่งหาว่าฆ่าตี |
ถ้าแพ้กับทานบนจนกับพยาน | ผู้ทำผิดต้องประหารให้เป็นผี |
แต่หากเบาด้วยเมาอยู่เต็มที | ไม่รู้สึกสมประดีก็ว่าไป |
จำจะซักหมื่นไวยให้กระจ่าง | จะเอาโทษขุนช้างยังไม่ได้ |
จึงตรัสว่าฮ้าเฮ้ยอ้ายหมื่นไวย | เมื่อแรกไอ้ขุนช้างมันฆ่าตี |
ไยจึงนิ่งความไว้ไม่กล่าวหา | พึ่งมาว่าเมื่อเขาฟ้องไม่ต้องที่ |
ที่ป่าไหนมันฆ่าว่าให้ดี | มีผู้รู้เห็นบ้างฤๅอย่างไร ฯ |
๏ ขอเดชะปกเกล้าปกกระหม่อม | ด้วยยังย่อมเมื่อเขาทำจำไม่ได้ |
รู้แต่ว่าป่าหลังสุพรรณไป | ครั้นจะอ้างก็ไม่มีใครมา |
จะร้องก็ไม่ได้ไกลบ้านคน | ครั้นจะหนีก็ไม่พ้นเป็นกลางป่า |
เดชะบุญปลดปลอดรอดชีวา | จะไปร้องฟ้องหาก็เด็กนัก |
ไม่รู้ว่ารั้วแขวงกรมการ | โรงศาลอยู่ที่ไหนไม่รู้จัก |
จึงมิได้ว่าขานมานานนัก | จนอารักษ์ดลใจให้พาที |
จะอ้างอิงนั้นไม่ได้เป็นในป่า | เหลือปัญญาขอพิสูจน์ไปตามที่ |
ถ้าแม้นแพ้แก่สัตย์ดำนัที | ขอถวายชีวีพระทรงธรรม์ ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ทรงธรณินทร์ | ได้ฟังสิ้นถ้อยคำหมื่นไวยนั่น |
จึงมีสีหนาทประภาษพลัน | อ้ายไวยนั้นมันว่าก็ชอบกล |
แล้วตรัสว่าฮ้าเฮ้ยอ้ายขุนช้าง | มึงอย่าพลางเล่าไขไปแต่ต้น |
ถ้าแม้นว่าทำผิดคิดผ่อนปรน | อย่าอั้นอ้นบอกให้หมดอย่าปดกู ฯ |
๏ ขุนช้างฟังพระองค์ทรงถามซัก | เป็นทุกข์หนักมือประนมก้มหน้าอยู่ |
เหงื่อไหลหน้าหลังลงพรั่งพรู | เป็นครู่จึงทูลพระกรุณา |
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีบาท | องค์พระหริราชนาถา |
ซึ่งถ้อยคำจมื่นไวยใช่สัจจา | เสกแสร้งใส่ว่าสารพัน |
ที่จะได้ตีรันนั้นหามิได้ | กล่าวพอให้กลบความกระหม่อมฉัน |
ขุนนางเข้ากับพระไวยไปทั้งนั้น | เพราะเป็นพวกเดียวกันกับพระนาย |
กระหม่อมฉันจนใจไร้พวกพ้อง | ได้อยู่ก็แต่ต้องพิสูจน์ถวาย |
ถ้าแม้นแพ้จงล้างให้วางวาย | กระหม่อมฉันขอถวายซึ่งชีวี ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงชัย | วินิจฉัยในสำนวนถ้วนถี่ |
อ้ายขุนช้างเอามุสามาพาที | ในคดีพิรุธทุกประการ |
แต่พยานร่วมกันยังติดใจ | ผิดวิสัยความหลวงกระทรวงศาล |
เดี๋ยวนี้แพ้ทานบนจนพยาน | อ้างเองยังกลับค้านทุกคนไป |
ถึงจะพูดจาประสาเมา | ก็จัดเอาเป็นข้อพิรุธได้ |
ถ้าสั่งกรมเมืองให้ติดไม้ | ครู่เดียวก็จะได้เท็จจริงกัน |
แต่ครั้งนี้อ้ายไวยสิโปรดปราน | ไพร่บ้านพลเมืองก็ฦๅลั่น |
จะเป็นเข้ากับอ้ายไวยใส่ความมัน | จริงเท็จทั้งนั้นใครจะรู้ |
จำจะต้องพิสูจน์ตามกระบวน | ให้มันสิ้นสำนวนที่ต่อสู้ |
เท็จจริงข้างใครให้คนดู | ตัวกูจึงจะพ้นคนนินทา |
จึงตรัสว่าฮ้าเฮ้ยอ้ายขุนช้าง | มึงอ้างข้าราชการก็พร้อมหน้า |
กูได้ถามความข้อว่าหยาบช้า | พวกขุนนางต่างว่าไม่ได้ยิน |
อันความฉกรรจ์มหันตโทษ | พยานโจทก์กลับเจือจำเลยสิ้น |
ครั้นอ้างเขาไม่รับก็กลับลิ้น | ปลิ้นไปติดใจค้านพยานตัว |
กูเห็นแน่แท้เท็จสิ้นทั้งหมด | ถ้าใส่บทแล้วก็โทษถึงตัดหัว |
ข้อหยาบช้ามึงมุสาไม่เกรงกลัว | แล้วทำชั่วถอดชื่ออ้ายหมื่นไวย |
ข้อหาว่าทุบตีข้อนี้รับ | ที่ถอดชื่อพอจะปรับกันลงได้ |
ข้อหยาบช้าโทษมึงถึงบรรลัย | จะยกโทษให้ไอ้ขุนช้าง |
แต่ข้อหาฆ่าฟันนั้นลับนาน | ไม่มีพยานขอพิสูจน์ทั้งสองข้าง |
ยังไม่แน่ข้างหมื่นไวยฤๅอ้ายช้าง | มิพิสูจน์ไม่กระจ่างซึ่งกิจจา |
ปรึกษาเสร็จตรัสสั่งสี่พระครู | ไปดูให้โจทก์จำเลยมันจัดหา |
เครื่องสำหรับดำน้ำให้ทำมา | ไปปักหลักลงที่หน้าตำหนักแพ |
เข้ามณฑลกันวันพรุ่งนี้ | จนถึงที่วันดำน้ำเจ็ดค่ำแน่ |
ให้กำกับกันอยู่คอยดูแล | ให้พร้อมแต่เวลาบ่ายโมงปลาย |
พนักงานกรมไหนให้ไปดู | พระครูจัดแจงแต่งบัตรหมาย |
คุมตัวไว้ในวังทั้งสองนาย | พระสั่งเสร็จผันผายเข้าข้างใน ฯ |
๏ ครานั้นพระครูผู้รับสั่ง | ออกมานั่งยังที่ทิมดาบใหญ่ |
จัดแจงแต่งหมายแยกย้ายไป | สั่งให้เรียกหลักนครบาล |
ให้ทำมะรงสำรองไว้สองหลัก | แล้วปักมณฑลแลทำศาล |
เสมียนเขียนฟ้องคำให้การ | สุภาการให้อยู่ดูเป็นกลาง |
มิให้ส่งข้าวปลามาแต่บ้าน | ขุนศาลหาให้กินทั้งสองข้าง |
ให้โจทก์จำเลยหาผ้าขาวบาง | มาปูกลางศาลทั้งสองรองบัตรพลี |
หมากพลูใส่กระทงประจงเจียน | ทั้งธูปเทียนดอกไม้บายศรี |
เครื่องตั้งสังเวยกรุงพาลี | มีมะกรูดส้มป่อยกระแจะจันทน์ |
ผ้าขาวนุ่งผ้าขาวห่มพรมลาด | เสื่อสาดสายสิญจน์ให้จัดสรร |
หม้อข้าวหม้อแกงใหม่และหม้อกรัณฑ์ | กระโถนขันน้ำตั้งทั้งกระแชง |
กระติกเหล้าข้าวสารเชิงกรานใหม่ | ข่าตระไคร้หอมกระเทียมพริกแห้ง |
ครกสากคนใช้ไก่พะแนง | ทั้งสองแห่งจัดหาให้เหมือนกัน |
ขุนช้างกับพระไวยได้บัญชา | ก็รีบสั่งบ่าวข้าขมีขมัน |
บัดเดี๋ยวใจได้มาสารพัน | ถ้วนจบครบครันดังบัญชา |
เข้ามณฑลเสร็จถึงเจ็ดค่ำ | นักการทำไม้หลักไปปักท่า |
ที่ตำหนักแพโถงโรงนาวา | ทำมะรงหาฆ้องไว้คอยตี |
คำสาบานแช่งชักอาลักษณ์อ่าน | ตระลาการอ่านสำนวนถ้วนถี่ |
เอาเชือกผูกเอวไว้ให้ดิบดี | ประจำที่คอยท่าเสด็จมา ฯ |
๏ พวกชายหญิงวิ่งพรูดูดำน้ำ | ทั้งสาวหนุ่มกลุ้มกล้ำมาหนักหนา |
ผู้ใหญ่เด็กเจ๊กฝรั่งทั้งละว้า | แขกข่ามอญลาวมี่ฉาวไป |
นางสาวสาวอยู่ในเรือนเห็นเพื่อนอึง | ลุกทะลึ่งออกมาไม่ช้าได้ |
ชวนเพื่อนเตือนกันให้รีบไป | ดูพระไวยกับขุนช้างดำน้ำกัน |
ที่เถ้าแก่อยากดูไม่อยู่บ้าน | อุ้มลูกจูงหลานเป็นจ้าละหวั่น |
ที่โรงเรือเหลือหลามคนครามครัน | ยัดเยียดเบียดกันอยู่วุ่นวาย |
พวกท้าวนาวในวังทั้งปวง | โขลนจ่าข้าหลวงสิ้นทั้งหลาย |
รู้ว่าขุนช้างกับพระนาย | เวลาบ่ายวันนี้จะดำน้ำ |
ต่างอาบน้ำทาแป้งแต่งตัว | หวีหัวนุ่งห่มให้คมขำ |
บ้างหาหมากใส่ซองสองสามคำ | บ้างชักนำเพื่อนฝูงจูงมือมา |
ถึงที่ตำหนักแพแออัด | เบียดเสียดเยียดยัดกันหนักหนา |
ออกเพียบแพแซ่ซ้องท้องคงคา | คอยท่าว่าเมื่อไหร่จะได้ดำ |
ข้างพวกคนที่เหล่าเป็นชาวเรือ | ทั้งใต้เหนือตลอดจอดออกส่ำ |
เรือเล็กเล็กน้อยน้อยออกลอยลำ | แน่นแม่น้ำเซ็งแซ่อยู่แจจัน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสมเด็จพระพันวษา | ปิ่นปักอยุธยามหาสวรรย์ |
เนาในปราสาทแก้วอันแพรวพรรณ | ฝูงกำนัลนบนอบหมอบแน่นไป |
ทรงพระราชดำริตริตรึก | ระลึกถึงพลายงามเป็นความใหญ่ |
ดำน้ำกับขุนช้างจะอย่างไร | จนบ่ายได้เวลาสามโมงปลาย |
จึงชำระสระสรงทรงเครื่อง | อร่ามเรืองเนาวรัตน์จำรัสฉาย |
ทรงพระแสงกุดั่นพรรณราย | ผันผายจากที่มนเทียรทอง |
ขึ้นเกยลาทรงมหายานุมาศ | พร้อมอำมาตย์ราชกระวีมี่ก้อง |
ประโคมแตรสังข์ประดังกลอง | มาตามท้องฉนวนลงซึ่งคงคา ฯ |
๏ ครั้นถึงจึงเสด็จขึ้นบนอาสน์ | หมู่อำมาตย์บังคมก้มหน้า |
ตำรวจใหญ่ลงในเรือกัญญา | ทอดทุ่นกระสุนง่าว่าห้ามคน |
ทำมะรงลงเรือขึ้นเหนือน้ำ | หลายลำขึ้นล่องออกสับสน |
สิ่งอันใดลอยตายในสายชล | ก็เสือกไสให้พ้นไม่แผ้วพาน |
พระผู้จอมนรินทร์ปิ่นธรณี | พระจึงมีพระราชบรรหาร |
ไปบอกพระครูหวาอย่าช้านาน | เวลากาลจะอัสดงให้ลงดำ ฯ |
๏ พระครูผู้รับสั่งก็บังคับ | ตามตำรับอัยการโบราณร่ำ |
พระหมื่นไวยให้ขึ้นข้างเหนือน้ำ | ขุนช้างดำฝ่ายใต้ให้สมควร |
เดิมขุนช้างเป็นโจทก์ก็จริงแล | แต่ไต่ถามคดีกันถี่ถ้วน |
เป็นสัตย์รับรองท้องสำนวน | ข้อพิสูจน์นี้เป็นส่วนของพระไวย |
กับอนึ่งซึ่งเขาเป็นขุนนาง | ขุนช้างต้องดำข้างฝ่ายใต้ |
ปรึกษาเห็นพร้อมกันในทันใด | แล้วจึงคุมออกไปนอกมณฑล |
พาดำเนินย่างย่องทั้งสองนาย | ผู้คุมรายกำกับอยู่สับสน |
ชำระตัวสระหัวทั้งสองคน | ชนไก่แล้วก็ลงในคงคา |
ผู้คุมกุมยึดหางเชือกไว้ | จับลำไม้ไผ่คอยพาดบ่า |
ที่ริมฝั่งตั้งขันนาฬิกา | ทำมะรงตั้งท่าเข้าข่มคอ |
ตีฆ้องหม่งดำลงทั้งสองข้าง | พอขุนช้างดำมุดก็ผุดฝอ |
ผู้คุมเอาโซ่ใหญ่เข้าใส่คอ | พวกคนดูด่าทอออกเพรียกมา |
พวกผู้คุมกลุ้มฉุดไม่ละวาง | ขุนช้างร้องโปรดก่อนพุทธิเจ้าข้า |
พระไวยคนนี้มีวิชา | เป่าซ้ำทำมาให้ต้องตน |
ฤทธิเดชพระเวทเข้าจับใจ | ทนไม่ไหวหัวพองสยองขน |
เอาจำเลยขึ้นเหนือน้ำดำข้างบน | เป่ามนตร์ลงมาข้าติดใจ ฯ |
๏ พระองค์ทรงฟังขุนช้างว่า | ชะต้าอ้ายเจ้าสำนวนใหญ่ |
แพ้เขาเฝ้าว่าโว้เว้ไป | กลับพาโลว่าอ้ายไวยใช้เวทมนตร์ |
ด้วยสิ้นคิดมันก็บิดเอาซึ่งหน้า | มันแกล้งว่าจะให้ซ้ำดำอิกหน |
อ้ายโกหกแผ่นดินลิ้นกะลาวน | ชอบแต่เฆี่ยนเสียให้ป่นคนเช่นนี้ |
แต่ซึ่งว่าให้จำเลยขึ้นเหนือน้ำ | ถ้อยคำมันร้องนั้นต้องที่ |
จะตัดสินก็ไม่สิ้นซึ่งราคี | ด้วยคดีเกิดขึ้นเพราะตัวมัน |
ให้มันขึ้นเหนือน้ำดำอิกที | จงจัดแจงเดี๋ยวนี้ขมีขมัน |
ถ้าแพ้เขาอิกครั้งอย่าฟังกัน | เอาไปฟันเสียบเสียให้สาใจ ฯ |
๏ พระครูรับพระโองการลนลานมา | อย่าช้านายช้างมาดำใหม่ |
เอาเชือกผูกบั้นเอวเร็วพระไวย | คุมออกไปยุดหลักทั้งสองนาย |
เอาไม้พาดบ่าพลันแล้วลั่นฆ้อง | ข่มคอลงทั้งสองแล้วหย่อนสาย |
พวกคนดูชุลมุนอยู่วุ่นวาย | ทั้งเรือพายแทรกเสียดเข้าเบียดกัน |
ด้วยขุนช้างนั้นพิรุธทุจริต | พอดำมิดไม่ถึงสักกึ่งกลั้น |
บันดาลเห็นเป็นงูเข้ารัดพัน | ตัวสั่นกลัวสุดผุดลนลาน |
พระกาญจน์บุรีโดดน้ำตามลงไป | อุ้มพระไวยขึ้นมาต่อหน้าฉาน |
เหล่าพวกผู้คุมนครบาล | เอาคลังใส่ไอ้หัวล้านลากขึ้นมา ฯ |
๏ พระองค์ทรงกริ้วกระทืบบาท | ยมราชเอาไปจำให้แน่นหนา |
อ้ายเสี้ยนหนามแผ่นดินลิ้นลังกา | น้อยฤๅฆ่าคนได้ช่างไม่คิด |
แต่กูมันยังคดปดเล่นได้ | มันถือใจว่าไม่มีอาญาสิทธิ์ |
ลอยหน้าท้าทายถวายชีวิต | เดี๋ยวนี้ผิดแพ้เขาเข้าสองยก |
บังอาจฆ่าคนได้แล้วไม่สา | แต่กูมันยังกล้ามาโกหก |
อย่าเอาไว้ให้พื้นแผ่นดินรก | ไปผ่าอกเสียอย่าให้ดูเยี่ยงกัน |
มันเอาอ้ายไวยไปฆ่าที่ป่าไหน | เอามันไปเสียบเสียที่ป่านั่น |
สั่งเสร็จเสด็จจากที่นั่งพลัน | ขึ้นยานุมาศผาดผันเข้าวังใน ฯ |
๏ ฝ่ายท่านจตุสดมภ์ยมราช | ประกาศสั่งขุนหมื่นน้อยใหญ่ |
คนโทษถึงมรณาอย่าไว้ใจ | ไปส่งให้เจ้ากระทรวงหลวงพัศดี |
ทำมะรงลงเหล็กตะลีตะลาน | ประทุกประทาห้าประการไม่ให้หนี |
โซ่ตรวนขื่อคาไม่ปรานี | สี่ทำมะรงจูงมาพาไปคุก |
ขุนช้างถูกจำตรวนถ้วนสามชั้น | เคยย่างยาวก้าวสั้นก็ล้มปุก |
ผู้คุมรุมไล่ก็ไม่ลุก | ทำเป็นจุกเจ็บท้องร้องอื้ออึง |
ทำมะรงโกรธาคว้ามัดหวาย | ป่ายลงทั้งกำดังต้ำผึง |
ตีซ้ำคว่ำหงายตายช่างมึง | ผิดก็เสียเฟื้องหนึ่งบอกศาลา |
ขุนช้างเข้าใจเขาไม่ฟัง | ลุกขึ้นตึงตังทำเป็นบ้า |
อ้าปากแลบลิ้นปลิ้นตา | แก้ผ้านุ่งทิ้งวิ่งโทงเทง |
หยิบเอาก้อนขี้หมาไล่ปาคน | เอาหัวชนเสาเล่นเต้นเหยงเหยง |
ลากตรวนโกรกกรากปากร้องเพลง | คนดูอัดวัดเป้งเข้าด้วยคา |
ทำมะรงร้องขู่ว่าอุแหม่ | กูจะแก้มึงด้วยหวายให้หายบ้า |
อ้ายอัปรีย์เอาขี้เที่ยวไล่ปา | แก้ผ้าวิ่งโชนออกโพนเพน |
พวกผู้หญิงแลมาหันหน้าหนี | สิ้นที่ร้องเบื่อมันเหลือเถน |
อ้ายพวกหนุ่มคะนองมันร้องเกน | ไม่โจงกระเบนเสียบ้างนี่อย่างไร |
พวกบ่าวมากับนายพลอยขายหน้า | วิ่งพวยฉวยผ้ามานุ่งให้ |
ทำมะรงฉุดคร่าพาตัวไป | เอาเข้าในคุกขึงจำตรึงตรา |
คาไม้จริงยิงตะปูดูให้มั่น | โซ่ร้อยแหล่งแกล้งสรรให้แน่นหนา |
เอาอิฐหนุนก้นโด่งโยงหัวคา | ใส่ขื่อมือยื้อคร่าให้ตึงตัว ฯ |
๏ ขุนช้างต้องพันธนาถึงสาหัส | มือรัดเอวโยงเอาโคลงหัว |
จะไหวติงก็ไม่ได้ใจสั่นรัว | โอ้ตัวกูถึงวันจะบรรลัย |
ผุดปากภาวนาหน้าเป็นหลัง | ปัตติสังขาเยเผลไพล่ |
การะนังยังมุระกุสะไล | มอลอกอขอไขคัจไฉมิ |
หิรูปักขาหิราปักเข | สัมตันสันเตเยตะสิ |
มุดทะกังทั้งกะทะคั้นกะทิ | ต่อยปะเตะตกกะติปากแตกตาย |
ทำมะรงโกรธาด่าอึงมี่ | สวดอะไรอย่างนี้อ้ายฉิบหาย |
เขาจะได้ตรวจคนบ่นวุ่นวาย | มึงไม่รู้ฤทธิ์หวายฤๅอึงไป |
ขุนช้างร้องขอโทษอย่าโกรธขึ้ง | เจ็ดตำลึงสิบสลึงลูกจะให้ |
จงลดก่อนผ่อนคลายให้หายใจ | แล้วจะให้ค่าลดสิบตำลึง |
เออกระนั้นสิอย่าโกรธโทษถึงตาย | ครั้นมิทำมุลนายเขาโกรธขึ้ง |
พอให้เขาตรวจตราอย่าอื้ออึง | ลั่นกุญแจแล้วจึงจะเคลื่อนคลาย ฯ |
๏ จะกล่าวถึงวันทองผ่องโสภา | อยู่เคหานอนไม่หลับกระสับกระส่าย |
ด้วยผัวไปเป็นความกับลูกชาย | จะดีร้ายเป็นอย่างไรจึงไม่มา |
พออ้ายพลับกลับไปร้องไห้งอ | คุณพ่อเป็นความแพ้คุณแม่ขา |
ส่งเข้าคุกประทุกทั้งขื่อคา | พระพันวษากริ้วกราดคาดโทษตาย |
เขาเอาไว้สุดคนก้นกระซุง | ต้องจำนั่งยังรุ่งจนเช้าสาย |
แขวนจนก้นพ้นกระดานสงสารนาย | เมื่อฉันมายังไม่คลายอิกขอรับ ฯ |
๏ วันทองฟังเล่าบอกข่าวผัว | ทอดตัวร้องไห้จนลมจับ |
กลิ้งเกลือกเสือกนอนอ่อนพับ | ดังจะดับชีวันไปทันใด |
พวกบ่าวข้อนอกตกตะลึง | อื้ออึงอัดแอเข้าแก้ไข |
นวดเหยียบนัดยาทาน้ำดอกไม้ | พอลมถอยค่อยได้สติพลัน |
ลุกขึ้นลนลานคลานเข้าห้อง | ประจงจ้องจับกุญแจไขกำปั่น |
เปิดฝาคว้าทองสองสามอัน | แล้วหยิบขันปากสลักตักเงินตรา |
ใส่ลงในกระทายเป็นหลายขัน | ปากนั้นกอบเบี้ยเกลี่ยปิดหน้า |
แล้วส่งให้อีเขียดกระเดียดมา | ทั้งข้าวปลาหาไปใส่ขันโต |
แล้วจัดแจงสำรองของกำนัล | เนื้อฉมันน้ำผึ้งเป็นครึ่งโถ |
ให้บ่าวเที่ยวหาซื้อปลาเทโพ | บรรทุกเรือแตงโมแล้วรีบมา ฯ |
๏ ครั้นถึงจอดเรือแล้วรีบไป | ข้าไทตามหลังมาหนักหนา |
บ้างแบกโต๊ะของกำนัลขันข้าวปลา | ถึงริมคุกขึ้นหาพัศดีกลาง |
ของกำนัลให้ท่านพัศดี | คุณพ่อได้ปรานีดีฉันบ้าง |
จะขอไปส่งข้าวเจ้าขุนช้าง | คุกตะรางอย่างไรฉันไม่เคย |
พัศดีเรียกทำมะรงเนียม | ช่วยพาพี่แกไปเยี่ยมผัวหน่อยเหวย |
ทำมะรงรับคำนำลุกเลย | เข้าประตูหับเผยถึงคุกใน |
วันทองร้องง้อพ่อทำมะรง | ช่วยถอดลงมากินข้าวได้ฤๅไม่ |
ทำมะรงว่าไปเยี่ยมกันก็ไป | ถอดไม่ได้โทษอย่างนี้พี่วันทอง ฯ |
๏ วันทองแข็งใจเข้าในคุก | แลเห็นคนทนทุกข์สยดสยอง |
น่าเกลียดน่ากลัวหนังหัวพอง | ผอมกะหร่องร่างกายคล้ายสัตว์นรก |
เขาใส่คาอาหารไม่พานไส้ | เห็นวันทองขึ้นไปไหว้ประหลก |
เอากล้วยทิ้งชิงกันตัวสั่นงก | ใครมีแรงแย่งฉกเอาไปกิน |
สุดแต่มีของให้แล้วไม่เลือก | จนชั้นเปลือกก็ไม่ปอกขยอกสิ้น |
เป็นหิดฝีพุพองหนองไหลริน | เหม็นกลิ่นราวกับศพตรลบไป |
ตัวเล็นเป็นขนไต่บนกระบาน | นางก้าวหลีกลนลานไม่ดูได้ |
อุตส่าห์ทนจนถึงก้นคุกใน | ขุนช้างเห็นเมียไปร้องไห้แง |
วันทองเห็นผัวทอดตัวไห้ | ขุนช้างใส่งองอกระป้อกระแป้ |
น้ำตาน้ำมูกตละลูกกะแอ | แม่เอ๋ยแม่ทิ้งเสียได้ไม่พุทโธ |
จะเดินเหินเข้าที่ไหนไปอย่าช้า | แม่เมตตาอย่าให้ตายในตรวนโซ่ |
เอาเงินใส่ในถุงให้โตโต | แล้วไปหาเจ๊กโล้ซื้อเหล้ามา |
โอ๊ยลืมไปแล้วแม่ช่วยแก้ไข | แม่จะเดินข้างในฤๅข้างหน้า |
ของกำนัลเลือกสรรจัดเอามา | ทั้งข้าวปลาเหล้าแกล้มหมูแนมญวน ฯ |
๏ วันทองขัดใจไอ้คนเคอะ | ยังซมเซอะไปจนคอจะเด็ดด้วน |
เพราะกินเหล้าจึงต้องเข้าถึงโซ่ตรวน | ยังหลงเล่อลามลวนข้างเหล้ายา |
ขุนช้างเห็นเมียโกรธขอโทษตัว | แม่ต่อยหัวพี่สักโขกก็ไม่ว่า |
ใจคอท้อแท้แล้วแม่อา | ได้หน้าลืมหลังพลั้งพลาดไป |
จะด่าทออย่างไรก็ไม่ว่า | เอาเงินตราค่าคุกนั้นมาให้ |
กับค่าลดสิบตำลึงให้ถึงใจ | เสียไหนเสียไปเถิดแม่คุณ |
วันทองตอบว่าอย่าปรารมภ์ | เงินทองมีถมอย่าว้าวุ่น |
ข้าจะเอาออกไปให้นายมุล | ถึงเจ้าคุณบ้านนอกก็ปรานี ฯ |
๏ ทำมะรงให้อ้ายรอดถอดขื่อคา | กินข้าวปลาเถิดพี่ช้างอย่างครางอี๋ |
เป็นตายอยู่กับตัวกลัวไยมี | จะด้นดำดินหนีได้เมื่อไร ฯ |
ขุนช้างฟังว่าคว้าชามข้าว | เปิบใส่ปากเปล่าไม่กลืนได้ |
เคี้ยวข้าวเป็นแป้งคอแห้งไป | เอาน้ำใส่กลั้วคอให้พอกลืน |
จะกินได้แต่ละคำเอาน้ำกลั้ว | คิดถึงตัววางชามข้าวเฝ้าสะอื้น |
วันทองปลอบว่าอุตส่าห์กลืน | ขืนใจกินเถิดพ่อพอมีแรง |
เห็นผัวยังนั่งครางนางช่วยป้อน | เอาช้อนตักแกงแย้แก้คอแห้ง |
ทั้งเนื้อพล่าปลาไหลไก่พะแนง | ขุนช้างแข็งใจกินสิ้นชามโคม |
แล้วสั่นหัวบอกพลันเท่านั้นเถิด | ประดักประเดิดพี่นักอย่าหักโหม |
คิดถึงตัวขึ้นมาน้ำตาโซม | โถมกอดคอภรรยาแล้วว่าวาน |
แม่คุณทูนหัวจงรีบไป | เอาเงินติดท่านข้างในให้ว่าขาน |
เพ็ดทูลผ่อนปรนช่วยบนบาน | ขอประทานโทษตนให้พ้นภัย |
วันทองว่าหาใครไม่ได้ดอก | หนามยอกเอาหนามบ่งคงจะได้ |
วิ่งนักมักล้มก้มซวนไป | จะอ้อนวอนพ่อไวยดูสักที |
ขุนช้างว่าจริงแท้แม่ทูนหัว | จะรอดตัวก็เพราะแม่ช่วยแก้พี่ |
ถ้าพ้นโทษโปรดถอดรอดชีวี | แม่ไปไหนจะให้ขี่ไปต่างวัว ฯ |
๏ วันทองว่าอย่าสำออยไปหน่อยเลย | พวกพ้องข้าไม่เคยขี่คอผัว |
สิ้นชีวิตก็ไม่คิดเสียดายตัว | อย่ากลัวเลยอย่างไรไม่ทิ้งกัน |
ว่าพลางหยิบเงินในกระทาย | ให้กับนายทำมะรงขมีขมัน |
ทั้งนายร้อยนายใหญ่ให้ทั่วกัน | คนโทษทัณฑ์ให้ทานทุกคนไป |
ฝากฝังสามีแล้วมิช้า | ก็ลุกลาออกจากในคุกใหญ่ |
ให้เงินพัศดีกลางนางรีบไป | ขึ้นบนเรือนพระไวยมิได้ช้า |
โถมเข้าส้วมสอดกอดพระไวย | ร้องไห้แทบสลบซบหน้า |
พระหมื่นไวยสงสารกับมารดา | วันทาทำเป็นถามไปฉับพลัน |
หม่อมแม่ทุกข์เข็ญเป็นอย่างไร | อย่าร้องไห้จงบอกออกกับฉัน |
ฤๅปู่ย่าตายายวายชีวัน | ไม่ทันบอกออกก็ร่ำแต่โศกี |
วันทองจึงว่าพ่อทูนเกล้า | ทุกข์แม่เทียมเท่าจะเป็นผี |
เหลียวไม่เห็นใครในครั้งนี้ | ซึ่งจะช่วยชีวีให้รอดตาย |
เห็นแต่ดวงใจพระไวยแม่ | ที่จะแก้ทุกข์ร้อนให้ผ่อนหาย |
เจ้าขุนช้างคนคดประทษร้าย | เพราะเช่นนั้นอันตรายจึงถึงตัว |
เหมือนนมยานกลิ้งอกแม่หมกไหม้ | ถึงชั่วดีเขาก็ได้มาเป็นผัว |
ครั้นจะนิ่งให้ตายอายติดตัว | จะเชิดชื่อฦๅทั่วชั่วกัลปา |
เหตุเท่านี้จึงนิ่งทิ้งไม่ได้ | แม่จนใจจึงซานด้านมาหา |
พ่อคุณจงการุญกับมารดา | ช่วยทูลขอชีวาขุนช้างไว้ |
พระองค์ทรงพระกรุณา | คงหาขัดอัธยาพ่อพลายไม่ |
ขุนช้างสั่งถึงพ่อขออภัย | อย่ามีบาปกราบไหว้พ่อหมื่นมา |
นอกกว่าพ่อใครจะขอเห็นไม่ได้ | พ่อจงช่วยชีวิตไว้ใช้ต่างข้า |
อันที่ได้ผิดพลั้งแต่หลังมา | พ่ออย่าผูกเวรานั้นสืบไป ฯ |
๏ ครานั้นพระไวยพลายงาม | จึงตอบความมารดาหาช้าไม่ |
แม่มาอ้อนวอนว่าข้าทำไม | ข้ามิได้ฟ้องหานายขุนช้าง |
ข้างเขาอิกจะเอาชีวิตข้า | ไปกราบทูลพระพันวษาเอาทุกอย่าง |
แกล้งใส่ความจะให้ตายวายวาง | นี่หากมีที่อ้างจึงพ้นภัย |
เมื่อขุนช้างเขาพาไปฆ่าตี | ความนี้แม่ก็ทราบอยู่เต็มไส้ |
จะสงสารฉานบ้างก็เป็นไร | นี่หากฟื้นขึ้นได้จึงรอดตัว |
เมื่อลูกชายจะตายแม่ไม่คิด | แม่รักแต่ชีวิตข้างท่านผัว |
จึงเที่ยวท่องร้องไห้ไม่คิดตัว | เพราะว่ากลัวขุนช้างจะบรรลัย |
พระองค์กำลังทรงพระพิโรธ | จะให้ทูลขอโทษอย่างไรได้ |
เหมือนโถมถาผ่าขวางเข้ากลางไฟ | เป็นจนใจลูกแล้วนะมารดา ฯ |
๏ วันทองกอดพระไวยร้องไห้กลิ้ง | ความทั้งนี้ก็จริงเหมือนเจ้าว่า |
เมื่อขุนช้างฆ่าพ่อแทบมรณา | มารดาก็แจ้งอยู่เต็มใจ |
อุตส่าห์พาพ่อไปฝากวัด | เอาผ้าตัดทำธงแก้สงสัย |
แม่ไม่เห็นเจ้าสักวันปิ้มบรรลัย | นอนร้องไห้รักร่ำทุกค่ำคืน |
อันผัวรักก็หาหนักกว่าลูกไม่ | ลงบันไดสามขั้นเป็นคนอื่น |
ถึงว่ารักจริงจังดังจะกลืน | ก็ไม่เหมือนพ่อหมื่นของแม่เลย |
ซึ่งเคืองขุ่นขุนช้างที่ล้างผลาญ | ก็นมนานมาแล้วนะลูกเอ๋ย |
เอาบุญอย่าอาฆาตจองเวรเลย | ถ้าพ่อเฉยแล้วไม่ช้าท่านฆ่าแท้ |
เหมือนปล่อยปลาปล่อยเต่าเอากุศล | ให้พ้นจากความเข็ญเห็นกับแม่ |
สู้อุตส่าห์เลี้ยงเจ้าเฝ้าดูแล | ตั้งแต่พ่อยังอยู่ในอุทร |
เจ้าเกิดมามารดาถนอมเจ้า | บดข้าวสามเวลาอุตส่าห์ป้อน |
อาบน้ำใส่เปลเห่ให้นอน | แต่อ่อนอ่อนจนได้วัฒนามา |
ขุนช้างอุตส่าห์หาข้าน้อยน้อย | ให้พ่อไวยใช้สอยเป็นหนักหนา |
เอาทองคำทำกำไลสร้อยเสมา | ตะกรุดโทนถมยาล้วนอย่างดี |
ยามตรุษสงกรานต์ไปลานวัด | สารพัดใส่กายให้ถ้วนถี่ |
บ่าวเล็กเล็กเหลือหลามตามมากมี | ให้นางศรีแม่นมนั้นอุ้มไป |
ยามขุนช้างรักใคร่ใครจะเหมือน | ชั่วแต่ดาวกับเดือนไม่ให้ได้ |
แต่ของมีในสุพรรณสิ่งอันใด | ถ้าชอบใจแล้วไม่ขัดให้ขุ่นมัว |
ที่ร้ายนั้นก็มีดีก็มาก | พ่อหากเป็นทารกไม่รู้ทั่ว |
อย่าคุมโทษโปรดเถิดให้เป็นตัว | เหมือนทูนหัวแทนคุณของมารดา ฯ |
๏ ครานั้นพระไวยก็ใจอ่อน | ได้ฟังมารดรอ้อนวอนว่า |
ครั้นจะนิ่งให้ขุนช้างวางชีวา | ก็สงสารมารดานั้นสุดใจ |
ถ้าบรรลัยไหนจะมีซึ่งความสุข | จะทุกข์ทุกข์เข็ญเข็ญจนเป็นไข้ |
ผูกคอล้มก้มคอตายวุ่นวายไป | บาปกรรมก็จะได้กับเราแท้ |
ถึงขุนช้างชั่วช้าเหมือนหมาหมู | เขาก็รู้อยู่ทั่วว่าผัวแม่ |
จะนิ่งเสียทีเดียวไม่เหลียวแล | ก็ตั้งแต่คนเขาจะนินทา |
คิดแล้วจึงว่าแก่แม่ไป | เป็นจนใจด้วยพระเกิดเกศา |
ครั้นจะขัดเหมือนไม่คิดถึงมารดา | จะแกล้งให้เวทนากับลูกชาย |
แม่จงกลั้นน้ำตาอย่าร้องไห้ | ลูกจะไปเพ็ดทูลขยับขยาย |
ถ้าท่านโปรดก็จะปลอดไม่วอดวาย | ถึงเวรตายแล้วก็จนพ้นกำลัง ฯ |
๏ เออพ่อคุณการุญให้จงได้ | แม่จะให้ค่าทูลสักสองชั่ง |
แม้นพ่อช่วยเห็นไม่ม้วยไปจริงจัง | คงประทังคลายโทษเพราะโปรดปราน ฯ |
๏ ชะน้อยฤๅมารดาช่างว่าได้ | นึกว่าไก่แล้วจะล่อด้วยข้าวสาร |
เห็นว่าลูกนี้จนอ้างบนบาน | เหตุว่าท่านเศรษฐีมีเงินทอง |
เพราะได้เงินสองชั่งจึงตั้งบ้าน | ปลูกเรือนฝากระดานขึ้นห้าห้อง |
เลี้ยงเมียเลี้ยงข้ามาเป็นกอง | เพราะเงินทองสินบนของมารดา ฯ |
๏ เจ้าประคุณทูนหัวของแม่เอ๋ย | อย่าถือเลยแม่นี้เหมือนคนบ้า |
ใจไม่อยู่กับตัวชั่วช้า | พูดออกมาไม่ทันคิดแม่ผิดครัน |
อย่าช้าเชิญพ่อไปขอโทษ | เหมือนหนึ่งโปรดแม่ให้ไปสวรรค์ |
จะได้บุญนั้นนับตั้งกัปกัลป์ | พ่อจอมขวัญรีบจรอย่านอนใจ ฯ |
๏ ครานั้นพระไวยชัยชาญ | ความสงสารมารดาน้ำตาไหล |
จึงปลอบแม่อย่าละเหี่ยเสียน้ำใจ | ลูกจะไปทูลขอดูตามบุญ |
ร้องสั่งศรีมาลาหาล่วมหมาก | ทั้งห่อผ้ากานากร่มญี่ปุ่น |
กล้องยาแดงหุ้มปลายนพคุณ | บ่าวใส่ยาฉุนทั้งอุดเตา |
แล้วพระไวยอาบน้ำชำระกาย | กรายเข้าเคหาผลัดผ้าเก่า |
นุ่งม่วงสีไพลไหมตะเภา | ห่มหนังไก่เปล่าปักเถาแท้ |
พลางยิ้มหยอกหยิกแก้มศรีมาลา | แล้วรีบมาหอนั่งสั่งท่านแม่ |
ก็รีบออกจากเรือนไม่เชือนแช | ข้าไทอัดแอตามติดมา |
ประเดี๋ยวหนึ่งถึงในพระราชฐาน | ทั้งข้าราชการก็พร้อมหน้า |
ครั้นแสงสุริโยทัยได้เวลา | ก็เข้ามาคอยเฝ้าพระทรงธรรม์ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระจอมจักรพรรดิ | ผ่านสมบัติอยุธยามหาสวรรย์ |
สถิตเหนือแท่นแก้วแพรวพรรณ | สะพรั่งพร้อมพระกำนัลนารี |
ล้วนแรกรุ่นรูปร่างเหมือนอย่างวาด | เอี่ยมสะอาดนวลละอองผ่องศรี |
บำเรอบาทมุลิกาเจ้าธานี | บรรทมอยู่ในที่แท่นทองทรง |
ครั้นอรุณรุ่งรางสว่างฟ้า | พระตื่นจากนิทรามาที่สรง |
เย็นฉ่ำน้ำกุหลาบอาบพระองค์ | เสด็จทรงภูษาอันอำไพ |
พระหัตถ์ซ้ายกรายจับพระแสงเพชร | จึงเสด็จออกท้องพระโรงใหญ่ |
ประทับเหนือแท่นแก้วอันแววไว | พร้อมไปด้วยอำมาตย์ราชกระวี |
เจ้าพระยาแลพระยาพระหลวง | ทุกกระทรวงเฝ้าประณตบทศรี |
คอยฟังรับสั่งพระพันปี | เงียบสงัดอยู่ในที่พระโรงชัย |
พระองค์มีสีหนาทประภาษถาม | ความฎีการาษฎรเรื่องน้อยใหญ่ |
ต้องตำแหน่งขุนนางข้างกรมใด | ก็ทูลความตามในตำแหน่งตน ฯ |
๏ ครานั้นจมื่นไวยวรนาถ | เห็นว่างราชการกราบลงสามหน |
ขอเดชะฝ่าละอองบาทยุคล | พระเดชพระคุณเป็นพ้นคณนา |
ควรมิควรกระหม่อมฉานประทานโทษ | ขอพระองค์จงโปรดซึ่งเกศา |
ด้วยขุนช้างโทษถึงมรณา | ต้องพระราชอาชญาอยู่คุกใน |
บัดนี้มารดาข้าพระพุทธเจ้า | โศกเศร้าแทบชีวิตจะตักษัย |
เฝ้าวิงวอนเช้าค่ำร่ำไรไป | มิได้รับประทานซึ่งข้าวปลา |
ถ้าไม่รับกราบทูลฝ่าธุลี | เห็นท่วงทีมิตายก็เป็นบ้า |
ก็สุดแสนสงสารด้วยมารดา | กระหม่อมฉันเกิดมาจนบัดนี้ |
แต่เจ็ดขวบก็พรากจากกันไป | ยังมิได้แทนคุณเท่าเกศี |
ขอประทานโทษขุนช้างไว้สักที | เหมือนหนึ่งช่วยชีวีของมารดา ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์พงศ์กษัตริย์ | ทราบรหัสแห่งคำหมื่นไวยว่า |
พระนิ่งนึกตรึกไตรอยู่ไปมา | ครั้นมิไว้ชีวาอ้ายขุนช้าง |
อีวันทองผ่ายผอมตรอมใจตาย | อ้ายลูกชายก็จะต้องหมองหมาง |
ครั้นระคายอายหน้าเพื่อนขุนนาง | จะสะเทิ้นเหินห่างไปทุกวัน |
นึกว่าเอาใจไว้ใช้สอย | แต่น้อยน้อยมือศึกมันแข็งขัน |
เป็นหน่อเนื้อเชื้อทหารชาญฉกรรจ์ | อย่าให้มันละห้อยน้อยวิญญาณ์ |
จึงตรัสว่าฮ้าเฮ้ยอ้ายหมื่นไวย | อีแม่มึงนั้นกูให้ชังน้ำหน้า |
เอาอ้ายช้างเป็นผัวแสนชั่วช้า | ช่างไม่คิดถึงหน้าอ้ายหมื่นไวย |
โดยอ้ายช้างล้มตายไปเป็นผี | จะไปดีเสียกับพ่อมึงก็ได้ |
มาเฝ้าเซ้าซี้พิรี้พิไร | ให้โปรดไอ้ใจบาปคนหยาบช้า |
แต่ลูกเลี้ยงมันยังพาไปฆ่าตี | มึงไม่มีใจโกรธดอกฤๅหวา |
มาขอไว้ให้หนักพสุธา | ชอบแต่ฆ่าอย่าให้ดูเยี่ยงกัน ฯ |
๏ ขอเดชะฝ่าละอองธุลีบาท | องค์อิศราธิราชรังสรรค์ |
ซึ่งข้อนายขุนช้างล้างชีวัน | กระหม่อมฉันก็แสนจะแค้นใจ |
ก็มั่นหมายแก้แค้นแทนขุนช้าง | แต่มารดามาขวางเป็นข้อใหญ่ |
จะทิ้งให้โศกศัลย์บรรลัย | ก็เหมือนไม่คิดถึงคุณของมารดา |
จึงกลั้นโกรธกราบทูลบทมาลย์ | ขอรับพระราชทานซึ่งโทษา |
ขอพระองค์ทรงพระกรุณา | แก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้ภักดี ฯ |
๏ จึงตรัสว่าดูราอ้ายหมื่นไวย | โทษอ้ายช้างนั้นไซร้ถึงเป็นผี |
จะยกให้ไม่ประหารผลาญชีวี | ทั้งนี้เพราะกูเอ็นดูมึง |
อีแม่จะได้หายคลายโศกเศร้า | เพราะลูกเต้าได้ดีเป็นที่พึ่ง |
อันคนโทษทุจริตผิดลึกซึ้ง | โทษถึงชีวันจะบรรลัย |
กูนี้ไม่พอใจให้ใครแก้ | มึงจะแทนคุณแม่จึงยกให้ |
ตรัสแล้วสั่งราชรองเมืองไป | เร่งถอดไอ้ขุนช้างในฉับพลัน |
แล้วจงส่งตัวให้จมื่นไวย | อย่าให้ใครคิดเอาค่าลดลั่น |
พระสั่งเสร็จเสด็จจากพระโรงคัล | กรายพระกรจรจรัลเข้าวังใน ฯ |
๏ พระรองเมืองรับพระราชโองการ | ลนลานออกมาหาช้าไม่ |
บ่าวตามเป็นพรวนชวนพระไวย | ตรงไปประทับหับเผยพลัน |
ใช้ทนายวุ่นวิ่งเป็นสิงคลี | รีบไปเรียกพัศดีขมีขมัน |
ให้ทำมะรงไปถอดขุนช้างนั้น | เข้าช่วยกันอึดอัดคัดตรวนพลาง |
บ้างถอดคาหาไม้มาต่อยขื่อ | อึงอื้อโปกโป้งเสียงโกร่งกร่าง |
ประเดี๋ยวหลุดล่อนกายนายขุนช้าง | พยุงย่างย่องแย่งแข้งขาพัน |
ทำมะรงนำมาหน้าหับเผย | เงยหน้าเห็นพระรองเมืองนั่น |
กับพระหมื่นไวยนั่งใกล้กัน | งกงันหมอบกรานคลานเข้ามา |
ทั้งรักทั้งกลัวหมอบตัวราบ | กราบจนหัวคะมำตำต้นขา |
พระนายอายใจไม่เจรจา | ก็อำลาท่านราชรองเมืองพลัน |
ขุนช้างงกเงิ่นเดินไม่ได้ | พระไวยให้ทำเปลขมีขมัน |
ให้พวกบ่าวเข้าหามมาตามกัน | ขุนช้างนั่งมาในนั้นหนวดพรุมพราม |
เหมือนตุ๊กตากวางตุ้งดูพุงพลุ้ย | หัวทุยผมเถิกเป็นถ่อง่าม |
แดดส่องต้องแสงดูแดงวาม | คนผู้ดูหลามตลอดมา ฯ |
๏ ครู่หนึ่งถึงจวนพระหมื่นไวย | วันทองเห็นดีใจเป็นหนักหนา |
เข้าพยุงจุงผัวให้ไคลคลา | ขุนช้างกอดภรรยาเข้าร่ำไร |
วันทองเจรจาว่ากับผัว | เจ้ารอดตัวเพราะพ่อฤๅมิใช่ |
เออแม่ชีวันไม่บรรลัย | เพราะพ่อคุณโปรดให้รอดชีวิต |
ตั้งแต่วันนี้ไปในเบื้องหน้า | จะมอบตัวเป็นข้าจนดับจิต |
ไปศึกเสือเหนือใต้ลูกไม่คิด | จะตามติดไปทุกย่างไม่ห่างกัน |
พระไวยสั่งสร้อยฟ้าศรีมาลา | จัดสำรับข้าวปลาประจงสรร |
บัดเดี๋ยวใจได้มาสารพัน | แล้วเชิญวันทองให้รับประทาน |
สำรับคาวของเคียงเรียงวาง | ก็เชื้อเชิญขุนช้างกินอาหาร |
บริโภคอิ่มหนำสำราญ | ยกสำรับของหวานมาวางพลัน |
ทั้งผัวเมียอิ่มหนำสำราญใจ | เข้าไปหาพระไวยในเรือนนั่น |
ว่าพ่อจงเป็นสุขทุกนิรันดร์ | นับวันคงจะได้เป็นใหญ่โต |
จงผ่องแผ้วแคล้วคลาศราชภัย | ขอให้เป็นบรมสุโข |
ฦๅเลื่องกระเดื่องดินภิญโญ | จะได้พึ่งร่มโพธิพ่อสืบไป ฯ |
๏ พระไวยน้อมคำนับรับพรพลาง | ขุนช้างเอาเงินทองออกกองให้ |
ยี่สิบชั่งหวังจะแทนคุณพระไวย | พ่อเอาซื้อข้าวใหม่ไว้เลี้ยงกัน |
พระไวยสั่งว่าอย่าเอาไว้ | เดี๋ยวนี้มีใช้อยู่ดอกทั่น |
เอาเงินให้อย่างนี้ไม่ดีครัน | เหมือนหนึ่งฉันเอาสินบนกับมารดา ฯ |
๏ วันทองรู้กิริยาอัชฌาสัย | กอบเงินใส่กระทายส่งให้ข้า |
ครั้นตะวันจวนค่ำก็อำลา | ลงนั่งในนาวาข้าเต็มลำ |
ทั้งหญิงชายพายตะเบ็งเร่งตะบึง | กระทั่งถึงเมืองสุพรรณไม่ทันค่ำ |
ยายเทพทองมองเห็นแกเต้นรำ | ลูกรอดจำมาได้ดีใจแท้ |
รีบร้อนต้อนรับขึ้นบนเรือน | บรรดาเพื่อนเคหามาเยี่ยมแซ่ |
บนหอนั่งเยียดยัดออกอัดแอ | พูดกันแต่เย็นเยี่ยมเข้ายามปลาย |
ขุนช้างสั่งศรพระยาหาน้ำมนต์ | มารดตนเสียให้จัญไรหาย |
นิมนต์สงฆ์สวดสะเดาะที่เคราะห์ร้าย | ซัดน้ำชำระกายถ้วนสามวัน ฯ |
-
๑. คำ “มหาดชา” ใช้ในหนังสือเสภาหลายแห่ง สันนิษฐานว่าผู้แต่งจะหมายถึง “เด็กชา” ซึ่งเป็นมหาดเล็กพวกหนึ่งมีหน้าที่รับใช้ประจำพระที่นั่ง และพระตำหนัก เวลามีราชการประชุมต้องคอยรับใช้ในที่ประชุมด้วย ดังปรากฏว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ตั้ง “กรมเด็กชา” ขึ้น มีหน้าที่รักษาพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่งน้ำมัน และจุดตะเกียงในพระบรมมหาราชวังทุกแห่ง เมื่อมีงานจรต้องเป็นผู้ดูแลรักษาราชพัสดุต่างๆ ที่เป็นของสำหรับพระที่นั่ง มีหน้าที่ยกของต่างๆ ในเวลากลางคืนด้วย ↩