๏ จะกล่าวถึงขุนแผนแสนสนิท |
เรืองฤทธิพริ้งเพริศเฉิดฉัน |
อาศัยอยู่ในพนาวัน |
สองคนด้วยกันกับวันทอง |
แช่มชื่นรื่นร่มพนมพนัส |
สิ้นวิบัติไพรีไม่มีข้อง |
อิงแอบแนบเนื้อนวลละออง |
หนุนแต่ขอนไม้รองสำราญใจ |
ไร้ฟูกถูกเนื้อวันทองอ่อน |
เหมือนนอนเตียงทองอันผ่องใส |
เพลินฟังวังเวงเพลงเรไร |
พิณพาทย์ไพรกล่อมขับสำหรับดง |
มืดสิ้นแสงเทียนประทีปส่อง |
ก็ผ่องแสงจันทร์กระจ่างสว่างส่ง |
บุปผชาติสาดเกสรขจรลง |
บุษบงเบิกแบ่งระบัดบาน |
เรณูนวลหวนหอมมารวยริน |
พระพายพัดประทิ่นกลิ่นหวาน |
เฉื่อยฉิวปลิวรสสุมามาลย์ |
ประสานสอดกอดหลับระงับไป ฯ |
๏ วันทองน้องนอนสนิทฝัน |
ถนัดจำสำคัญหาลืมไม่ |
สิ้นฝันพลันตื่นด้วยตกใจ |
ปลอบปลุกผัวให้ทำนายนาง |
น้องฝันว่าได้เอื้อมถึงอากาศ |
ประหลาดเด็ดสุริยาลงมาล่าง |
ถนอมชมอมชื่นแล้วกลืนพลาง |
สว่างทั่วตัวน้องถนัดตา |
แล้วยังมีชายหนึ่งนั้นสามารถ |
องอาจแคะควักเอาตาขวา |
ทิ้งไปให้มืดทุกเวลา |
น้องนี้โศกาอนาถใจ |
ดวงตาควักไปไม่ได้คืน |
กลับเอาดวงอื่นมายื่นให้ |
มืดมัวชั่วช้ากว่าเก่าไป |
จะดีร้ายฉันใดช่วยบอกมา ฯ |
๏ ขุนแผนฟังฝันให้หวั่นจิตร |
คิดเห็นทั้งคุณโทษเป็นหนักหนา |
ดวงใจเจ้าจะได้ซึ่งลูกยา |
เหมือนฝันว่าได้ชมพระอาทิตย์ |
จะสิ้นความทุกข์ร้อนผ่อนวิโยค |
ที่ร้อนโรคสิ่งไรจะไปล่ปลิด |
ลูกในครรภ์เจ้านั้นจะเรืองฤทธิ |
เป็นคู่คิดควรเราจะพึ่งพา |
ที่ฝันว่าดวงตากระเด็นจาก |
จะลำบากมากมายไปภายหน้า |
ครั้นจะบอกออกอรรถให้ชัดมา |
กลัวว่าวันทองจะหมองใจ |
ชักชวนนวลนางให้ล้างหน้า |
ต่างชำระกายาผ่องใส |
เผือกมันต้มกันตามอยู่ไพร |
หาลูกไม้เงาะพลับกระจับบัว ฯ |
๏ วันทองนึกถึงฝันให้พรั่นจิตร |
คิดคิดเห็นจะท้องต้องคำผัว |
อนิจจาทุกข์ยากลำบากตัว |
เกลือกกลั้วปัถพีธุลีลม |
สารพัดขัดสนจนยาก |
แสนลำบากยวดยิ่งทุกสิ่งสม |
มาซ้ำท้องสองทุกข์เข้าระทม |
ยิ่งทุกข์แล้วยิ่งถมมาทับทรวง |
ถ้าแม้นอยู่เรือนเหย้าลูกเต้ามี |
จะยินดีเหลือแสนเฝ้าแหนหวง |
มีลูกเหมือนหนึ่งมีมณีดวง |
นี่มีมาให้เป็นห่วงเมื่อสิ้นคิด |
เจ้ามาเกิดเหมือนหนึ่งจะแกล้งฆ่า |
มันไม่น่ายินดีแต่สักหนิด |
จะเลี้ยงดูอย่างไรในไพรชิด |
คิดคิดก็กำสรดสลดใจ ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสวาดิ |
ประหลาดแล้วมีท้องมาร้องไห้ |
วิปริตคิดเห็นเป็นอย่างไร |
จึงเอาใจปลอบนางให้แต่งกาย |
จะอยู่นี่นานนักไม่ได้น้อง |
ดูทำนองเหตุภัยยังไม่หาย |
พระทรงฤทธิจะคิดเคืองระคาย |
เห็นไม่วายสงครามมาตามรบ |
จำจะออกนอกดงที่เราอยู่ |
ไปตามหมู่ภูผาหาที่หลบ |
ซ่อนเร้นมิให้ใครพานพบ |
กว่าเรื่องราวจะสงบด้วยนานวัน |
ว่าแล้วเรียกพรายทั้งหลายมา |
แล้วผูกม้าสีหมอกขมีขมัน |
ชวนวันทองน้องลาพนาวัน |
ขึ้นม้าพากันเข้าป่าไม้ ฯ |
๏ ร่มรื่นพื้นพรรณบุปผา |
สะอาดตาช่อชูดูไสว |
ขุนแผนชักม้าคลาไคล |
บัดใจถึงเขาธรรมเธียร |
ที่เชิงเขาเหล่าพรรณมิ่งไม้ |
ลมพัดกวัดไกวอยู่หันเหียน |
รกฟ้าขานางยางตะเคียน |
กันเกราตระเบาตระเบียนและชิงชัน |
สนสักกรักขีต้นกำยาน |
ฉนวนฉนานคล้าคลักจักจั่น |
ปรางปรูประดู่ดูกมูกมัน |
เหียงหันกระเพราสะเดาแดง |
เต็งแตวแก้วเกดอินทนิล |
ร้อยลิ้นตาตุ่มชุมแสง |
ขวิดขวาดราชพฤกษ์จิกแจง |
สมุลแว้งแทงทวยกล้วยไม้ |
กระพ้อเงาะระงับกระจับบก |
กระทกรกกะลำพอสมอไข่ |
ผักหวานตาลดำลำไย |
มะเฟืองไฟไข่เน่าสะเดานา |
ไทรโศกอุโลกโพกพาย |
โพบายไกรกร่างอ้อยช้างหว้า |
พลับพลวงม่วงมันจันทนา |
ปักษาเพรียกพร้องร้องจอแจ ฯ |
๏ นกกระลางลางล้วงได้ด้วงจิก |
ลูกอ้าปากริกร้องวอนแม่ |
ดุเหว่าจับเถาตำลึงแล |
เห็นลูกสุกแดงแจ๋เข้าจิกกิน |
นกขมิ้นจับเถาขมิ้นเครือ |
คาบเหยื่อเผื่อลูกแล้วโผผิน |
สาลิกาพาหมู่เที่ยวจู่บิน |
เขาคูคู่ถิ่นอยู่ริมรก |
กระทาปักหาตัวเมียจ้อ |
ชูคอปีกกางหางหก |
ค้อนทองร้องรับกันป๊กป๊ก |
นกตุ่มเปรียวปรื๋อกระพือบิน |
ไก่ป่าขันแจ้วอยู่แนวไพร |
เขี่ยคุ้ยขุยไผ่เป็นถิ่นถิ่น |
หารังเรียกคู่อยู่กับดิน |
หยุดกินวิ่งกรากกระต๊ากไป ฯ |
๏ รอนรอนอ่อนแสงพระสุริยง |
ชักม้าเลียบลงตรงน้ำไหล |
ครั้นถึงธารท่าชลาลัย |
ชวนวันทองน้องให้ลงจากม้า |
ปลดอานม้าพลางทางเปลื้องเครื่อง |
แล้วชวนนางย่างเยื้องลงสู่ท่า |
ต่างกินอาบซาบเย็นเส้นโลมา |
บุษบาบานช่ออรชร |
เด็ดฝักหักรากกระชากฉุด |
เผลาะผลุดรากเลื้อยอะล่อนจ้อน |
ขุนแผนปล้อนปอกง่าวดูขาวงอน |
ว่าวอนลองกินเถิดน้องรัก |
หม่อมเอ๋ยฉันไม่เคยจะกินราก |
กลัวคันปากแสบลิ้นจะกินฝัก |
เชื่อพี่ลองหน่อยอร่อยนัก |
กลัวแต่จักติดใจเมื่อได้รส |
ก็นั้นบัวหัวเดียวจะให้ข้า |
อนิจจาตัวหม่อมจะยอมอด |
หม่อมไม่มีฉันนี้ก็จะงด |
บัวไม่หมดดอกเจ้าเฝ้าเสียดาย |
เออกระนั้นหม่อมดำลงไปชัก |
ฉันจะเลือกหาฝักหักง่ายง่าย |
เก็บบัวยั่วยวนชวนสบาย |
ต่างค่อยคลายเหน็ดเหนื่อยที่เมื่อยล้า |
แล้วขึ้นจากท่าพากันจร |
หาที่หลับนอนที่ในป่า |
รุ่งเช้าเที่ยวไปในพนา |
ทนลำบากยากมาไม่มีภัย ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนคะนอง |
ตั้งแต่พาวันทองมาป่าใหญ่ |
ครั้นล่วงหลายเดือนก็เตือนใจ |
ด้วยครรภ์นางนับได้เจ็ดเดือนปลาย |
อลักเอลื่อเหลือสมเพชเวทนา |
จะคลอดลูกหยูกยาไม่หาง่าย |
มาอยู่ในป่าเปลี่ยวเที่ยวซังตาย |
จะหมายพึ่งใครได้ก็ไม่มี |
แต่คิดมาคิดไปอกใจตัน |
สงสารลูกในครรภ์นั้นสิ้นที่ |
จะย่อยยับอับจนแล้วคราวนี้ |
ก็โศกีสะอื้นไห้อยู่ในดง ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าวันทอง |
เห็นผัวมัวหมองก็พิศวง |
ฉงนนักซักถามไปตามตรง |
หม่อมจงแจ้งความไปตามคิด |
เหตุไรร้องไห้อยู่ฮักฮัก |
ฤๅแคลงรักแหนงใจไม่สนิท |
ฤๅว่าจะไม่อยู่เป็นคู่ชิด |
ฤๅระอิดระอาก็ว่าไป ฯ |
๏ โอ้แสนสุดสวาดิของพึ่เอ๋ย |
อย่าคิดเลยพี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ |
อันตัวเจ้าเท่าเทียมกับดวงใจ |
สิ้นสงสัยแล้วเจ้าอย่าเสียดแทง |
พี่รักเจ้าเท่ากับเมื่อแรกรัก |
ด้วยประจักษ์เห็นใจไม่กินแหนง |
สิ่งใดมิได้ระแวงแคลง |
พี่จะแจ้งจริงเจ้าอย่าเศร้าใจ |
น้ำตาตกอกจะครากด้วยยากอยู่ |
พี่ดูดูเห็นท้องน้องเติบใหญ่ |
คงจะคลอดลูกยาไม่ช้าไป |
จะได้ใครรักษาพยาบาล |
เราสองคนจนใจไร้ที่อยู่ |
เปลอู่ขัดขวางเพราะห่างบ้าน |
หยูกยาสารพัดจะกันดาร |
ที่นอนหมอนมุ้งม่านก็ไม่มี |
ยังส่วนลูกฟูกเมาะก็ขาดครบ |
พี่ปรารภลูกน้อยจะหมองศรี |
จะกรำฝนทนแดดทั้งตาปี |
เรานี้อดอยากอยู่เท่าใด |
ยังลูกอ่อนก็จะอ้อนแต่อาหาร |
น่ารำคาญคิดมาน้ำตาไหล |
ทั้งผัวเมียแสนอนาถเพียงขาดใจ |
สุดอาลัยแล้วก็กอดกันโศกา ฯ |
๏ ครั้นค่อยวายกำสรดสลดจิตร |
ขุนแผนคิดตรองตรึกแล้วปรึกษา |
ได้ยินข่าวเล่าฦๅออกชื่อมา |
ว่าพระพิจิตรบุษบานั้นใจดี |
ใครขัดสนจนไปก็ได้พึ่ง |
ถ้าโทษถึงชีวิตจะเป็นผี |
ท่านก็มักเมตตาปรานี |
อันตัวพี่กับเจ้าจะเข้าไป |
เราก็เป็นคนดีมีวิชา |
พี่คิดว่าหาเป็นกะไรไม่ |
แก้วตาอย่าประหวั่นพรั่นใจ |
ถึงจะส่งลงไปในอยุธยา |
พระองค์ก็คงรับสั่งถาม |
ความเก่าเรายังดีอยู่หนักหนา |
ทั้งพอหวังด้วยกำลังวิทยา |
ว่าแล้วผูกม้าเรียกภูตพราย |
อุ้มวันทองน้องส่งขึ้นสีหมอก |
ขับออกจากป่าเวลาสาย |
ชักม้าสะบัดย่างอย่างเยื้องกราย |
ไม่ควบขับให้ระคายขย่อนท้อง |
สงสารนักด้วยอลักเอลื่อเหลือ |
ค่อยประคองต้องเนื้อมิให้หมอง |
ดั้นดัดลัดไปดังใจปอง |
ถึงห้วยหนองหยุดทุกระยะมา |
ขุดเผือกมันสู่กันมาตามจน |
พักร้อนผ่อนปรนมาในป่า |
สิบวันดั้นพนมพนาวา |
ชักม้าเข้าพิจิตรบุรี |
พอถึงวัดจันทร์ตะวันพลบ |
แวะเคารพรูปพระชินสีห์ |
พักอยู่ศาลาขวางข้างกุฎี |
จนเข้าแสงอัคคีจึงไคลคลา |
บริกรรมทำผงลงหลายเล่ห์ |
เป็นเสน่ห์จุณเจิมเฉลิมหน้า |
แล้วบังกายให้หายทั้งอาชา |
ตรงมายังจวนเจ้าเมืองพลัน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงท่านพระพิจิตร |
พระอาทิตย์ตกดินสิ้นแสงฉัน |
ลงนั่งกลางบ้านสำราญครัน |
สว่างแจ้งแสงจันทร์กระจ่างตา |
ให้บ่าวเล็กเล็กมาเล่นไล่ |
ชอบใจหัวร่ออยู่ร่วนร่า |
ทั้งนางนารีศรีบุษบา |
ซึ่งเป็นภรรยาผู้ร่วมใจ |
ออกมานั่งกับผัวหัวร่อเด็ก |
อ้ายลูกเล็กเล็กมาเล่นไล่ |
เดือนหงายกลางบ้านสำราญใจ |
ท้องนางนั้นก็ได้ห้าเดือนปลาย ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนกับวันทอง |
ทั้งสองบังตัวให้สูญหาย |
เข้าไปไม่มีใครทักทาย |
มองดูแยบคายเห็นชื่นบาน |
ลงจากม้าพลันทันใด |
ผูกสีหมอกไว้ประตูบ้าน |
แล้วคลายเวทบังกายมิได้นาน |
ผัวเมียก็คลานเข้าวันทา |
หมอบลงตรงหน้าทั้งสองท่าน |
ขุนแผนอ่านมนตร์เป่าเข้าหนักหนา |
เชื่อใจในพระเวทวิทยา |
รำลึกตรึกตราถึงคุณครู ฯ |
๏ ครานั้นพระพิจิตรบุษบา |
เห็นหญิงชายเข้ามาวันทาอยู่ |
ชะรอยคนต่างเมืองชำเลืองดู |
จะใคร่รู้ซักถามเนื้อความไป |
ดูราหนุ่มน้อยกับนางงาม |
เดินตามกันมาจะไปไหน |
บ้านช่องตำแหน่งอยู่แห่งใด |
เป็นอะไรเมียฤๅพี่น้องกัน ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสุภาพ |
กับวันทองก้มกราบลงที่นั่น |
ขุนแผนจึงบอกไปฉับพลัน |
ตัวลูกอ่อนนั้นชื่อวันทอง |
ตัวข้าชื่อขุนแผนแสนสงคราม |
ดั้นแดนดงรามมาทั้งสอง |
จึงเล่าเรื่องความไปดังใจปอง |
เดิมวันทองชื่อพิมพิลาไลย |
ขุนช้างชิงนางจากหอห้อง |
ข้าจึงลักวันทองเข้าป่าใหญ่ |
ล้างทัพยับตายกระจายไป |
จนใจอยู่ป่ามาหลายเดือน |
วันทองท้องแก่น่าสงสาร |
กลัวจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นกลางเถื่อน |
ครั้นจะพากันเข้าไปเหย้าเรือน |
เกรงจะเหมือนทำกรรมให้มารดา |
รู้ว่าเจ้าคุณเอ็นดูสัตว์ |
จึงดั้นดัดลัดดงตรงมาหา |
ฝากชีวิตข้าพเจ้าทั้งสองรา |
เจ้าคุณกรุณาได้โปรดปราน ฯ |
๏ ครานั้นพระพิจิตรบุษบา |
ฟังผัวเมียว่าน่าสงสาร |
ทั้งต้องเดชพระเวทอันเชี่ยวชาญ |
ให้รักสองคนปานดังลูกตัว |
เรียกข้าให้เอาม้าไปผูกถือ |
จูงมือขึ้นจวนทั้งเมียผัว |
ฟังคำพ่อว่าเจ้าอย่ากลัว |
ดีชั่วไว้พ่อจะผ่อนปรน |
ว่าพลางทางสั่งพวกบ่าวข้า |
ให้จัดหาสำรับอยู่สับสน |
ขุนแผนวันทองทั้งสองคน |
ชำระตนอาบน้ำสำราญใจ |
นางศรีบุษบาให้ผ้าผลัด |
กระแจะแป้งแต่งจัดมาส่งให้ |
นั่งบนหอกลางที่ข้างใน |
พระพิจิตรเรียกให้กินข้าวปลา |
ทั้งสี่คนกินเสร็จสำเร็จกิจ |
พระพิจิตรให้จัดซึ่งเคหา |
ให้อยู่เรือนข้างหอต่อออกมา |
สามีภิริยาค่อยบานใจ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงนางแก้วกิริยา |
แต่ได้เงินสิบห้าขุนแผนให้ |
ไถ่ตัวออกจากขุนช้างไป |
อยู่ในกรุงศรีอยุธยา |
อาศัยอยู่เรือนเพื่อนบ้านเก่า |
เขาก็ช่วยบำรุงรักษา |
ชายใดได้เห็นก็ต้องตา |
นางอุตส่าห์เจียมตัวว่าผัวมี |
ซื้อขายวายล่องแต่ของถูก |
ลูกไม้ขนมส้มลิ้นจี่ |
ร้านชำทำฉลากหมากฝาดดี |
ยาบุหรี่เพชรบูรณ์ใบตองนวล ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
พระพิจิตรจงรักบำรุงสงวน |
อยู่ที่เรือนหลังใหม่ข้างในจวน |
มาได้ถ้วนเดือนหนึ่งรำพึงคิด |
พระพิจิตรบุษบาให้อาศัย |
รักใคร่เราเหมือนบุตรสุจริต |
แต่นานไปที่ไหนความจะมิด |
ด้วยพระองค์ทรงฤทธิยังโกรธา |
สั่งกำชับกรมการด่านคอย |
อายัติซ่องใหญ่น้อยไว้แน่นหนา |
ใครจับได้ให้ส่งไปพารา |
ด้วยโทษฆ่าคนตายเสียหลายพัน |
จะร้อนถึงพระพิจิตรผู้บิดา |
ที่เมตตาเลี้ยงดูให้อยู่นั่น |
สักหน่อยก็จะพลอยเป็นโทษทัณฑ์ |
ที่พูดนั้นว่าจะบอกไปขอไว้ |
เมื่อพระองค์ยังทรงพระพิโรธ |
ที่ไหนจะโปรดยกโทษให้ |
ถ้านิ่งอยู่รู้ข่าวถึงกรุงไกร |
สั่งให้ส่งลงไปจะเสียที |
คิดพลางทางปรึกษาเจ้าวันทอง |
น้องรักผู้ร่วมชีวิตพี่ |
พี่เกรงว่าอยู่ไปในพิจิตรนี้ |
คงจะมีเหตุภัยให้รำคาญ |
จะขอให้พระพิจิตรท่านบอกส่ง |
ลงไปอยุธยามหาสถาน |
สารภาพรับผิดคิดให้การ |
ต้านทานข้อฟ้องของขุนช้าง |
เหตุด้วยตัวเราเข้ามาหา |
มิได้ไปจับมาแต่ป่ากว้าง |
โทษทัณฑ์นั้นเล่าจะเบาบาง |
เห็นมีทางข้างจะกรุณา |
เมื่อจะเอาโทษทัณฑ์ฉันใด |
ก็ตามใจด้วยเรานี้เป็นข้า |
ได้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา |
จะหลบลี้หนีหน้าไปทำไม |
ถือตามคำโบราณท่านว่ามา |
ว่าว่ายน้ำเข้าหาจระเข้ใหญ่ |
ยากง่ายตายเป็นประการใด |
ให้เป็นไปตามกรรมที่ทำมา |
พี่รักเจ้าสู้เอาชีวิตแลก |
ถึงจะแหลกครั้งนี้พี่ไม่ว่า |
จะแก้ไขมิให้น้องต้องอาญา |
ก้มหน้าไปเถิดเจ้าอย่าเศร้าใจ ฯ |
๏ ครานั้นวันทองผ่องโสภา |
ได้ฟังผัวว่าน้ำตาไหล |
อุตส่าห์กลั้นโศกาแล้วว่าไป |
น้องได้ใคร่ครวญทุกสิ่งมา |
เราผิดชีวิตถึงบรรลัย |
ด้วยฆ่าฟันนายไพร่เสียหนักหนา |
ต้องกระทรวงล่วงพระราชอาชญา |
ซ้ำหลบลี้หนีหน้าดังคนคด |
พวกแตกทัพคงกลับไปกราบทูล |
เป็นเค้ามูลว่าเราคิดขบถ |
ถึงในจิตรไม่คิดทรยศ |
จะนิ่งกดความไว้ก็ไม่ดี |
ยากเย็นจำเป็นต้องจำไป |
จะตายเป็นเป็นกะไรให้รู้ที่ |
น้องมิได้อาลัยแก่ชีวี |
เมื่อมิโปรดปรานีก็ตายไป |
น้องกลัวสิ่งเดียวแลพ่อเจ้า |
จะขืนเอาส่งให้ขุนช้างใหม่ |
ไม่ทนอายตายเสียยังเต็มใจ |
ว่าพลางสะอื้นไห้อยู่ไปมา ฯ |
๏ ขุนแผนประคองวันทองน้อย |
น้ำตาย้อยซึมซาบลงอาบหน้า |
เช็ดน้ำตาพลางทางพูดจา |
เจ้าจะโศกาไปไยมี |
แม้นพระองค์มิทรงพระเมตตา |
ก็ฟันฆ่าเสียเถิดให้เป็นผี |
จะก้มหน้าเกิดใหม่ให้ได้ดี |
ชาตินี้มีกรรมเราทำไว้ |
อันจะส่งเจ้าไปให้ขุนช้าง |
พี่จะติดตามนางหาวางไม่ |
จะฆ่ามันมิให้ทันได้เจ้าไป |
อย่าเสียใจจงระงับดับโศกา |
ปลอบพลางทางชวนเจ้าวันทอง |
น้ำตานองตักน้ำให้ล้างหน้า |
แล้วเข้าไปในห้องของบิดา |
วันทาแทบเท้าทั้งสองคน ฯ |
๏ ครานั้นพระพิจิตรบุษบา |
เห็นสองราหมองไหม้ใจฉงน |
ทักถามความลูกไปบัดดล |
ทำวนสิ่งไรมาแต่เช้า ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสนิท |
ได้ฟังพระพิจิตรก็ก้มเกล้า |
ชี้แจงเนื้อความตามสำเนา |
ข้าพเจ้าคิดกลัวซึ่งโทษทัณฑ์ |
ด้วยมีตราอายัติสกัดด่าน |
รั้วแขวงกรมการก็กวดขัน |
แต่ปิดบังลูกชายไว้หลายวัน |
ลูกคิดเกรงเกลือกอันตรายมี |
หลวงปลัดยกกระบัตรกรมการ |
จะบอกกล่าวข่าวขานไม่ควรที่ |
จะเป็นคบคนผิดติดราคี |
พระพันปีก็จะทรงพระโกรธา |
เจ้าประคุณบอกส่งลูกลงไป |
ให้พ้นภัยราคีจะดีกว่า |
ช่วยแต่แจ้งไปในท้องตรา |
ว่าลูกเข้ามาหาแต่โดยดี |
กับบอกคำให้การดีฉานว่า |
ทั้งถ้อยคำภรรยาให้ถ้วนถี่ |
ให้สมกับลุแก่โทษโปรดสักที |
นอกนี้สุดแต่กรรมที่ทำมา ฯ |
๏ ครานั้นพระพิจิตรบุรี |
ได้ฟังวาทีขุนแผนว่า |
เห็นจริงนิ่งนึกตรึกตรา |
เดิมบิดาได้คิดจะขอไว้ |
ด้วยตัวเจ้าชำนาญการสงคราม |
เคยปราบปรามปัจจามิตรทิศน้อยใหญ่ |
จะได้ตรวจด่านทางข้างพงไพร |
ครั้นคิดไปเห็นไม่สมอารมณ์คิด |
ด้วยคดีมีอยู่ในตัวเจ้า |
จะว่าเราเข้าด้วยกับคนผิด |
จะส่งเจ้าเล่าสงสารเป็นสุดฤทธิ |
จนจิตรจริงจริงจึงนิ่งมา |
ตรองตามความคิดของเจ้านี้ |
ความทั้งปวงท่วงทีดีหนักหนา |
ด้วยเจ้ามาสารภาพกับบิดา |
ก็เห็นว่าใช่ขบถที่คดร้าย |
โดยจะพิจารณาว่าความเก่า |
รูปความงามข้างเจ้าอยู่เหลือหลาย |
ด้วยไปทัพกลับแกล้งว่าล้มตาย |
แม่ยายพรากเมียจึงเสียใจ |
ถึงเป็นใจใครมั่งจะไม่แค้น |
เขาทดแทนกว่านี้มีไหนไหน |
เพียงเจ้ารับเมียเก่าเอามาไว้ |
ใครเลยจะลงว่าคิดคด |
เป็นอยู่ก็ที่สู้กองทัพหลวง |
เขาจึงล่วงหาผิดว่าคิดขบถ |
แต่กองทัพนับพันเป็นหลั่นลด |
ทั้งหมดรุมเอาเจ้าคนเดียว |
เจ้าก็อดออมใจไม่ราญรอน |
เขาทำก่อนก็เหลือจะหน่วงเหนี่ยว |
ที่กองทัพแตกตายกระจายเกรียว |
ไม่อดเหนียวจะโทษเจ้าอย่างไร |
ลงไปถึงพระองค์จะทรงโกรธ |
คงถามก่อนลงโทษที่ข้อใหญ่ |
ทูลให้ทราบความจริงอย่านิ่งไว้ |
เห็นจะสิ้นสงสัยไม่โกรธา |
แต่ทว่าข้อรับสั่งนั้นบังคับ |
ในท้องตราก็กำชับเป็นหนักหนา |
ถ้าจับได้ให้จำอย่าลดลา |
ส่งไปอยุธยาทั้งผัวเมีย |
จะผ่อนผันได้บ้างตามทางไป |
ถึงกรุงไกรไม่จำจะซ้ำเสีย |
พ่อสงสารเศร้าใจดังไฟเลีย |
ทั้งสองราอย่าละเหี่ยละห้อยใจ |
อันจะช่วยแก้ไขที่ในบอก |
ไม่ยากดอกความดีมีไหนไหน |
เพียงแต่แจ้งความจริงทุกสิ่งไป |
พ่อมิให้มัวหมองทั้งสองคน |
ทั้งเสื้อผ้าอาหารการกิน |
จะจัดให้เสร็จสิ้นไม่ขัดสน |
จงปลดเปลื้องเรื่องร้อนคิดผ่อนปรน |
แล้วมาอยู่เมืองบนกับบิดา ฯ |
๏ ครานั้นบุษบาให้อาลัย |
กอดวันทองร้องไห้พิไรว่า |
แม่รักเจ้าเท่าลูกในอุรา |
อนิจจาจะพรากจากแม่ไป |
โอ้ว่าวันทองของแม่เอ๋ย |
จะละเลยไปแล้วทั้งรักใคร่ |
ท้องแก่แม่นี้ให้หวั่นใจ |
ถ้าต้องโทษที่ไหนจะคืนดี |
แม่เป็นห่วงบ่วงใยใจจะขาด |
อนาถนักจะอย่างไรไม่รู้ที่ |
เดชะบุญให้ตลอดรอดสักที |
สิ้นคดีแล้วเจ้าจงกลับมา ฯ |
๏ วันทองสองกรเข้าข้อนอก |
นํ้าตาตกตันใจอาลัยว่า |
ถึงตัวไปใจอยู่กับมารดา |
จะหาไหนได้เหมือนเจ้าประคุณ |
ลูกเป็นคนโทษแม่โปรดไว้ |
ไม่จองจำซ้ำให้ซึ่งเกื้อหนุน |
รักเหมือนลูกเต้าจะเอาบุญ |
นอนอุ่นกินอิ่มไม่อาวรณ์ |
ที่กรุงไกรใครเขาจะเมตตา |
อิฐผากลางถนนจะต่างหมอน |
ตะรางเรือกเฝือกฟากต่างฟูกนอน |
จนชั้นนํ้าใครจะคอนให้อาบกิน |
ญาติกาหาไหนมีใครเล่า |
จะส่งข้าวปลาหมดคงอดสิ้น |
จะเป็นความถามไถ่ในบุริน |
เงินแต่เท่าปีกริ้นก็ไม่มี |
เขาจะเรียกค่าฤชาตุลาการ |
จะผูกมัดรัดประจานไม่ควรที่ |
ถ้าแพ้ลงคงปรับทับทวี |
เลือดเนื้อเท่านี้เป็นเงินทอง |
ยิ่งคิดก็ยิ่งค่นจนทุกอย่าง |
สุดอาลัยใจนางยิ่งมัวหมอง |
กลิ้งเกลือกเสือกรํ่านํ้าตานอง |
อยู่ในห้องร้องไห้สนั่นเรือน ฯ |
๏ ครั้นว่าค่อยคลายวายโศกา |
บุษบาค้นของกองกล่นเกลื่อน |
เรียกบ่าวมาสั่งนั่งตักเตือน |
อย่าแชเชือนจัดของที่ต้องการ |
ที่นอนหมอนมุ้งเสื่ออ่อน |
ผ้าผ่อนดีดีมีในบ้าน |
กะทะกะทอหม้อไหแลเชิงกราน |
เสบียงอาหารทั้งจานชาม |
หีบหมากเครื่องนากปริกทอง |
เต้าปูนถมตลับซองเอาใส่ย่าม |
ขาดเหลือเผื่อต้องเป็นถ้อยความ |
เงินสามชั่งให้เอาไปกิน |
พระพิจิตรออกมาศาลากลาง |
ให้หาขุนนางมาพร้อมสิ้น |
แต่งบอกออกความให้ได้ยิน |
มิให้มีมลทินทุกข้อไป |
คำให้การวันทองกับขุนแผน |
เอาผูกแน่นหยิกเล็บหาช้าไม่ |
เขียนบอกเสร็จพลันในทันใด |
ใส่กระบอกส่งให้ผู้คุมรับ |
ให้เรือมาจอดที่หน้าท่า |
บ่าวข้าขนของลงเสร็จสรรพ |
เรียกผู้คุมสั่งซํ้าแล้วกำชับ |
เอ็งคุมวันทองกับขุนแผนไป |
เมื่อยังไม่ถึงอยุธยา |
อย่าเพ่อจองจำไปจนใกล้ |
ถ้าจะแวะกลางทางบ้างอย่างไร |
ก็ตามใจลูกกูดูจงดี ฯ |
๏ ขุนแผนวันทองนองนํ้าตา |
กราบลาพ่อแม่ทั้งสองศรี |
พระพิจิตรบุษบาก็ปรานี |
ถ้อยทีถ้อยสั่งหลั่งนํ้าตา |
จากจวนชวนกันลงบันได |
ผัวเมียเสียใจเป็นหนักหนา |
ท่านผู้ชายผู้หญิงก็ตามมา |
แวะหาม้าสีหมอกบอกคดี |
สีหมอกเอ๋ยท่านจะส่งเราลงไป |
จะตายเป็นเป็นกะไรไม่รู้ที่ |
จึงพากันเข้ามาลาพาชี |
แม้นมิตายคราวนี้คงพบกัน |
วันทองว่าพี่สีหมอกของน้องเอ๋ย |
เคยยากมาด้วยน้องในไพรสัณฑ์ |
ยุงริ้นมันกินมาหลายวัน |
อุตส่าห์ให้น้องนั้นได้ขี่มา |
ต้องบุกป่าฝ่าดงพงชัฏ |
ดั้นดัดดงรามหนามหนา |
อดอยากหญ้าฟางกลางพนา |
เป็นหลายวันคืนมาในป่ารก |
ถึงเมืองพอมีที่จะอยู่ |
ก็มาจู่จากซ้ำน้ำตาตก |
เป็นเพื่อนยากเพื่อนตายมาหลายยก |
จากอกอกน้องจะพองพัง |
ขุนแผนว่าลาแล้วเจ้าเพื่อนยาก |
จะตายจากฤๅจะพบกันวันหลัง |
แม้นถ้าไม่มรณาชีวายัง |
ถึงติดคุกคุมขังไม่วายคิด |
จะเร็วช้าถ้ามีเวลาออก |
จะมาหาม้าสีหมอกที่พิจิตร |
อยากจะพาเจ้าไปก็ได้คิด |
ขุกชีวิตเรานี้จะมรณา |
เขาจะส่งสีหมอกเป็นม้าใช้ |
จะผูกขึงกรึงไว้อดน้ำหญ้า |
สิ้นสูญบุญเราไปลับตา |
เวทนาที่ไหนใครจะรัก |
สีหมอกฟังว่าน้ำตาไหล |
ด้วยพระมนตร์ดลใจให้ประจักษ์ |
กลอกหัวตัวสั่นรันทดนัก |
ซบพักตร์แทบเท้าทั้งสองรา |
ขุนแผนวอนสั่งพระพิจิตร |
เจ้าคุณจงคิดถึงตัวข้า |
ฝากม้าคู่ชีวิตกับบิดา |
ด้วยลูกยาเหลือที่จะห่วงใย |
พระพิจิตรตอบว่าอย่าปรารมภ์ |
เด็กเรามีถมพอเลี้ยงได้ |
น้ำท่าหญ้าฟางก็ถมไป |
อย่าอาลัยคะนึงถึงอาชา ฯ |
๏ ว่าพลางทางพากันคลาไคล |
สีหมอกมีใจละห้อยหา |
ขุนแผนวันทองนองน้ำตา |
ลงนาวาเข้าในประทุนมิด |
พระพิจิตรบุษบาก็อาลัย |
ขุนแผนวันทองไหว้พระพิจิตร |
เรือออกจากท่าเพ่งตาพิศ |
ต่างคนต่างคิดจนไกลกัน |
พระพิจิตรบุษบาก็มาจวน |
ครํ่าครวญวิโยคโศกศัลย์ |
เรือล่องว่องไวไปฉับพลัน |
ข้ามบ้านนี้เมืองนั้นเนืองเนืองมา |
แวะเข้าบ้านไหนได้เบี้ยเลี้ยง |
ข้าวสารเสบียงก็หนักหนา |
ล่องเลี้ยวเข้าทางบางพุทรา |
ผ่านมาหน้าเมืองลพบุรี |
ครั้นพ้นเมืองจวนเย็นเห็นถิ่นฐาน |
พฤกษาสำราญเกษมศรี |
ผู้คุมเห็นเวลาเข้าราตรี |
ก็แวะเรือจอดที่ตำบลนั้น ฯ |
๏ ขุนแผนจับฟ้าฟื้นแล้วขึ้นบก |
บุกรกเยื้องกรายผายผัน |
เห็นโพรงต้นไทรใหญ่ใส่ดาบพลัน |
แล้วร่ายเวทอาถรรพ์กันกำบัง |
จึงตั้งความสัตย์อัธิษฐาน |
กราบกรานอารักษ์แล้วฝากฝัง |
ข้ากลับมาเมื่อไรอย่าได้พลั้ง |
เบื้องหน้าถ้าจะตั้งเป็นบ้านเรือน |
ให้เรียกว่าบ้านดาบก่งธนู |
เพราะฟ้าฟื้นฝังอยู่จงแม่นเหมือน |
แล้วล่องเรือต่อไปไม่แชเชือน |
เตือนกันมาจนใกล้อยุธยา ฯ |
๏ ผู้คุมกราบกรานประทานโทษ |
พ่ออย่าโกรธโปรดหัวกับตัวข้า |
ขุนแผนตามใจให้ตรึงตรา |
เหยียดขาตรวนใส่ตะปูพับ |
ขุนแผนสงสารเจ้าวันทอง |
เอาผ้ารองรัดวงประจงจับ |
จะขึ้นบกค่อยประคองรองรับ |
ผูกสายหยกยกขยับให้นางเดิน |
วันทองน้องกระเดียดกระทายน้อย |
ค่อยค่อยย่างก้าวยกเท้าเขิน |
มือถือสายหยกยกสะเทิน |
พลั้งเท้าก้าวเกินก็ก้มลง |
หวีดว้ายกระทายพลัดตกหก |
ขุนแผนยกปัดป้องละอองผง |
ฟักฟูมอุ้มน้องให้ยืนตรง |
น้ำตาลงอาบหน้าด้วยปรานี ฯ |
๏ จะกล่าวถึงนางแก้วกิริยา |
แต่คอยคอยผัวมาให้หมองศรี |
ครวญครํ่ารำพึงเกือบถึงปี |
ไม่แจ้งคดีว่าผัวมา |
วันนั้นวันพระสิบห้าค่ำ |
นางเคยไปฟังธรรมเทศนา |
อาบนํ้าทาแป้งแต่งกายา |
นํ้ามันทาลูบผมพอสมตัว |
นุ่งตาเล็ดงาห่มผ้าผวย |
ไม่ชุ่มชวยด้วยระคายเป็นหม้ายผัว |
ไกลญาติขาดมิตรคิดถึงตัว |
ลูกผัวกลับมาจะกินใจ |
ลงเรือนขยับจับผ้าห่ม |
ระวังนมมิให้ออกมานอกได้ |
มือถือสมุกหมากตามยากไร้ |
ดอกไม้ธูปเทียนถือติดมือมา |
ครั้นถึงขอบรั้วหัวถนน |
แลเห็นคนพรั่งพรูอยู่หนักหนา |
ยืนชะแง้แลไปด้วยไกลตา |
เห็นหน้าขุนแผนกับวันทอง |
ดูหน้าฝ้าคลํ้าจำไม่ได้ |
แปลกใจจริงจังไปทั้งสอง |
ครั้นจะสำคัญว่าวันทอง |
เห็นมีท้องอลักเอลื่อนัก |
ขุนแผนเขม้นเห็นเจ้าแก้ว |
แว่วแว่วจะรู้จักมิรู้จัก |
ดูรูปโฉมคล้ายคล้ายจะทายทัก |
เกลือกมิใช่น้องรักจักรำคาญ |
วันทองเห็นเจ้าแก้วกิริยา |
นางชม้ายชายตาไม่ว่าขาน |
จะทักด้วยรู้จักกันมานาน |
คิดอายก็สะท้านสะเทินใจ |
นางแก้วได้ยินเขาพูดจา |
ว่าได้ขุนแผนมาไม่สงสัย |
หลีกแหวกแทรกคนด้นเข้าไป |
นั่งไหว้น้ำตาละลุมลง |
กอดตีนขุนแผนวันทองไว้ |
อนิจจาแปลกไปเจียนจะหลง |
ได้ยินเขาพูดกันจึงมั่นคง |
พ่อไปดงสูญหายจนวายฦๅ |
ขุนแผนฟังคำจำเสียงได้ |
คิดว่าใครเจ้าแก้วพี่แล้วฤๅ |
วันทองลูบไล้ด้วยไม้มือ |
ต่อเรียกชื่อจึงรู้ว่าน้องยา |
เพราะความจนข้นขุ่นในน้ำใจ |
ปราศรัยแล้วสะเทินเมินหน้า |
ขุนแผนเดินตรวนชวนเมียมา |
นางแก้วกิริยาก็ตามไป ฯ |
๏ ถึงทิมดาบในมิได้ช้า |
ขุนนางพร้อมหน้าทั้งน้อยใหญ่ |
พระหมื่นศรีเห็นขุนแผนแว่นไว |
ก็เรียกหามาใกล้ด้วยยินดี |
ต่อยกลักใบบอกเอาออกดู |
อ่านรู้เนื้อความจนถ้วนถี่ |
พูดจาปราศรัยเป็นไมตรี |
พระพันปีขุ่นเคืองเป็นพ้นคิด |
แต่พิเคราะห์เนื้อความตามใบบอก |
ว่าเจ้าออกมาหาพระพิจิตร |
อ่อนน้อมยอมถวายซึ่งชีวิต |
รับผิดแล้วข้าเห็นไม่เป็นไร |
เอ็งไปป่าพาไปแต่วันทอง |
ที่นั่งรองนั้นได้มาแต่ไหน |
อ้ายพ่อเอ๋ยเชลยมันเหลือใจ |
แต่ทุกข์ยากแล้วยังได้สำรองมา |
ขุนแผนว่าเมียเกล้ากระผม |
นานนมแต่ยังไม่ไปป่า |
ทิ้งไว้ให้อยู่กับมารดา |
พอกลับมาพบกันที่กลางทาง |
พระหมื่นศรีมีแก่ใจให้กินอยู่ |
เลี้ยงดูสารพัดไม่ขัดขวาง |
พูดจาปราศรัยกันไปพลาง |
เหมือนอย่างแต่ก่อนร่อนชะไร |
ครั้นสายได้เวลาจวนห้าโมง |
ขุนนางไปท้องพระโรงทั้งน้อยใหญ่ |
พระหมื่นศรีผลัดผ้าแล้วคลาไคล |
ไปคอยเฝ้าพระองค์ทรงศักดา ฯ |