๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าขุนช้าง |
ความสมัครรักนางไม่เชือนเฉย |
สั่งบ่าวเหล่าช่างชำนาญเคย |
ปรุงหอเร็วเหวยให้ทันการ |
พวกช่างบ้างเลื่อยบ้างก็ถาก |
โปกปากโผงผึงอึงทั้งบ้าน |
หอใหญ่เก้าห้องท้องกระดาน |
เท่าวิหารจึงจะสมกับใจกู |
พวกผู้หญิงแช่แป้งทำขนม |
ซื้อกล้วยอ้อยส้มลูกชมพู่ |
ทั้งมะพร้าวน้ำตาลหมากพลู |
ไก่หมูกุ้งปลามามากมี |
ขุนช้างนับวันไว้ใกล้เวลา |
จึงชวนศรพระยาผู้เป็นพี่ |
มาบ้านศรีประจันในทันที |
แจ้งคดีว่าการนั้นเตรียมแล้ว |
ลูกมาหารือคุณแม่เจ้า |
จะขอรื้อหอเก่าของพลายแก้ว |
เอาไปถวายวัดเสียยังแล้ว |
จะได้แผ้วถากถางพื้นแผ่นดิน |
อันหอของลูกนี้โตใหญ่ |
หาที่ไหนไม่เหมือนของลูกสิ้น |
ราวกับวิมานทองของพระอินทร์ |
ศรีประจันได้ยินหัวเราะงอ |
ชะหอห้องของลูกข้าโตใหญ่ |
ขอบใจสิ้นทีแล้วอีพ่อ |
จะเอาอะไรบอกไปอย่ารั้งรอ |
ปลูกหอให้ดีเถิดลูกอา |
หอเก่าจะเอาไปปลูกวัด |
ก็ตามแต่ถนัดแม่ไม่ว่า |
หอใหม่ใหญ่โตสมหน้าตา |
รีบร้นขนมาอย่านอนใจ |
ว่าแล้วท่านยายศรีประจัน |
ลุกมาหาลูกพลันพลางปราศรัย |
ประโลมปลอบวันทองให้ต้องใจ |
จะมิให้รู้กลมารยา |
ลูกเอ๋ยแม่คิดไม่รู้แล้ว |
สงสารออแก้วเป็นหนักหนา |
จะตายจริงฤๅจะรอดตลอดมา |
ไม่รู้ว่าจะเป็นประการใด |
คิดว่าหอห้องของเจ้านั้น |
เอาทำบุญสุนธรรม์ส่งไปให้ |
เดชะบุญผัวเจ้าไม่บรรลัย |
กลับมาปลูกใหม่ก็เหมือนกัน |
เอาไปถวายวัดปลูกกุฎี |
กุศลจะมีเป็นแม่นมั่น |
ถ้าผัวมาปลูกใหม่ให้ใหญ่ครัน |
จอมขวัญแม่จะว่าประการใด ฯ |
๏ ครานั้นวันทองเจ้าหลงกล |
แยบยลของแม่หารู้ไม่ |
หันหน้าตอบมาในทันใด |
เหมือนลูกคิดไว้เจียวแม่คุณ |
เอาไปปลูกกุฎีฤๅศาลา |
ลูกก็โมทนาไม่ว้าวุ่น |
สุดแต่ได้กุศลผลบุญ |
จะได้ช่วยเจ้าประคุณให้รอดมา |
ศรีประจันฟังลูกก็ถูกใจ |
รีบลุกออกไปจากเคหา |
บอกขุนช้างพลันมิทันช้า |
ว่าแม่ลวงมันอีวันทอง |
มันหารู้กลของแม่ไม่ |
เจ้าจงรีบไปจากบ้านช่อง |
ใช้ให้แต่บ่าวกับพวกพ้อง |
พี่น้องชวนกันมาช่วยรื้อ |
ขุนช้างฟังว่าก็ดีใจ |
รีบลุกออกไปไม่อึงอื้อ |
สั่งบ่าวเร็วหวาอย่าช้ามือ |
รื้อหอไปถวายท่านวัดกลาง |
ฝ่ายว่าท่านยายศรีประจัน |
จัดแจงของพลันไว้หอขวาง |
พี่น้องกับบ่าวเจ้าขุนช้าง |
วางเข้ารื้อหอแบกเอาไป |
เร่งรีบขนออกไปนอกบ้าน |
ถวายท่านวัดกลางหาช้าไม่ |
กองเรียงถ้วนทั่วทุกตัวไม้ |
แล้วพากันกลับไปยังบ้านพลัน ฯ |
๏ จะกล่าวถึงท่านยายทองประศรี |
อยู่กาญจน์บุรีที่เขาชนไก่นั่น |
คอยท่าลูกชายมาหลายวัน |
นานครันไม่เห็นเจ้ากลับมา |
สงสารออพิมพิลาไลย |
จะตั้งใจคอยผัวอยู่หนักหนา |
เมื่อแรกจากกันวันจะมา |
ก็โศกเศร้าโศกาด้วยอาลัย |
นี่จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ |
จะดีอยู่ฤๅจะตรอมผอมไข้ |
พรุ่งนี้จำกูจะลงไป |
เยี่ยมออพิมพิลาไลยดูสักที |
คิดแล้วสั่งเหล่าบ่าวข้า |
จัดแจงเร็วหวาให้ถ้วนถี่ |
เอ็งไปผูกควายที่เท้าดี |
วันรุ่งพรุ่งนี้ให้เทียมเกวียน |
กูจะไปเยี่ยมลูกสะใภ้ |
มึงอย่าให้สายนักจักถูกเฆี่ยน |
แล้วสั่งให้อีทับกับอีเทียน |
เฝ้าบ้านมึงอย่าเบียนล้วงก้นกู |
ว่าแล้วก็เข้าไปหลับนอน |
พอรุ่งแสงทินกรขึ้นตรู่ตรู่ |
ลุกขึ้นล้างหน้าหาหมากพลู |
แล้วตรวจดูผู้คนขนของไป |
ประทุกแล้วก็ขึ้นเกวียนพลัน |
ผายผันรีบมาหาช้าไม่ |
ตะวันเที่ยงหยุดนอนแดดอ่อนไป |
สองคืนเข้าในเมืองสุพรรณ |
ถึงบ้านไม่เห็นหอลูกชาย |
ทองประศรีใจหายให้หวาดหวั่น |
ย่างขึ้นบนเรือนด้วยฉับพลัน |
ฝ่ายยายศรีประจันมาต้อนรับ |
บ่าวเอาเชี่ยนหมากออกมาตั้ง |
ทองประศรีลงนั่งกระแทกปับ |
ศรีประจันบอกว่าครานี้ยับ |
ออแก้วไปทัพก็ล้มตาย |
พูดพลางน้ำตาแกหลั่งไหล |
มาทิ้งให้ลูกสาวข้าเป็นหม้าย |
เคราะห์ร้ายทุกสิ่งจริงแล้วยาย |
ออพิมก็เจียนตายไม่เป็นตัว |
ต้องผลัดชื่อให้มันว่าวันทอง |
ค่อยผุดผ่องขึ้นได้เพราะท่านขรัว |
ครั้นวันทองหายคืนพอฟื้นตัว |
ได้ข่าวผัวตายเล่าเศร้าหนักลง |
ร้องไห้ข้อนอกทุกเวลา |
จวนเจียนจะเป็นบ้าว่าใหลหลง |
ผ้าผ่อนสารพัดตัดทำธง |
หอห้างรื้อส่งถวายวัด |
ฝ่ายยายทองประศรีได้ฟังว่า |
ผูกคิ้วนิ่วหน้าให้เคืองขัด |
นี่ใครมาบอกออกความชัด |
สารพัดไม่จริงทุกสิ่งอัน |
ลูกข้าถ้าตายอยู่เมืองลาว |
ข่าวคราวคงจะมีมาบ้างนั่น |
กับอนึ่งพวกไพร่ไปกับมัน |
ยังไม่ทันเห็นใครกลับลงมา |
ศรีประจันว่าไพร่ที่เหลือตาย |
วุ่นวายติดคุกอยู่หนักหนา |
ขุนช้างเข้าไปในพารา |
ได้ข่าวเขามาเล่าให้ฟัง |
แต่กระนั้นวันทองยังไม่เชื่อ |
ลงเรือรีบไปดังใจหวัง |
ได้ดูโพธิ์พิษฐานเห็นจริงจัง |
ใบก็บังเหตุร่วงประจักษ์ตา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมนางวันทอง |
เศร้าหมองโศกสร้อยละห้อยหา |
เช้าเย็นไม่เป็นสุขทุกเวลา |
รู้ว่าแม่ผัวมาก็ดีใจ |
ผุดลุกจากห้องย่องออกมา |
นั่งไหว้นํ้าตาลงหลั่งไหล |
เดชะบุญคุณแม่มาถึงไว |
เจียนจะไม่เห็นใจของวันทอง |
ขุนช้างมันมาว่าวุ่นวาย |
แทบจะผูกคอตายอยู่ในห้อง |
สอพลอขอแม่แม่ปรองดอง |
ยกย่องยอมให้เป็นเมียมัน |
ขรัวตาวัดป่าเลไลยดู |
ว่าชนะศัตรูเป็นแม่นมั่น |
หม่อมพลายไม่ตายวายชีวัน |
ข้างแม่ศรีประจันไม่เชื่อฟัง |
ขุนช้างนัดงานแรมสามคํ่า |
ลูกครวญครํ่าไม่มีที่จะหวัง |
จะหลบลี้หนีไปแต่ลำพัง |
สุดกำลังด้วยไม่รู้ที่จะไป |
เดชะบุญคุณแม่พอมาถึง |
เหมือนหนึ่งชุบลูกขึ้นมาได้ |
โปรดหัวแก้จนให้พ้นภัย |
ลูกจะไปอยู่บ้านกาญจน์บุรี ฯ |
๏ ศรีประจันฟังลูกก็ขัดใจ |
ดูมันช่างพูดได้ไม่บัดสี |
อีจองหองฟ้องแม่แก้ตัวดี |
กูมิตีให้อายก็ดูเอา |
น้อยฤๅช่างพิไรใส่เอากู |
ฤๅมึงไม่รู้บ้างดอกเล่า |
อ้ายมากฝากกระดูกมาให้เรา |
ขุนช้างเขาจึงช่วยรับเอามา |
บอกว่าพลายแก้วไปทัพตาย |
ฉิบหายม้วยมุดสุดสังขาร์ |
กูนี้คิดสมเพชเวทนา |
เขาจะจิกหัวคร่าไปทนทุกข์ |
เก็บเอาไปเป็นหม้ายอยู่ในวัง |
คุมขังเช้าเย็นไม่เป็นสุข |
ขุนช้างเขาช่วยบนให้พ้นทุกข์ |
เงินทองเขาจุกจานเจือไป |
มันจึงค่อยคลายหายโทษทัณฑ์ |
กูจึงผ่อนผันยอมยกให้ |
จะอยู่กาญจน์บุรีดีมึงไป |
กูมิใส่เอาด้วยไม้มิใช่กู ฯ |
๏ ทองประศรีฟังว่าก็ขัดใจ |
ชะช่างพูดได้ไม่เข้าหู |
ดูอีคนใจเบาเถ้าหัวงู |
ช่างไม่สืบสาวดูให้แน่นอน |
สุดแท้แต่มาล่อก็พอใจ |
ยกลูกสาวให้เสียร่อนร่อน |
ถ้าออแก้วมาได้ไม่ม้วยมรณ์ |
นี่จะคิดผันผ่อนประการใด |
ศรีประจันร้องว่าแม่เจ้าเอ๋ย |
อย่าถือผีไปเลยหามาไม่ |
ถึงมันตีทัพกลับมีชัย |
ก็จะพึ่งอะไรได้กับมัน |
ยายทองประศรีได้ฟังว่า |
เจ็บใจหนักหนาโกรธตัวสั่น |
เป็นไรมีดีแล้วได้ดูกัน |
เล่นมันจนหัวโดนกำแพง |
ว่าพลางทางลงจากเรือนมา |
หาพันนายบ้านตามตำแหน่ง |
ปะตัวพันโชติกำนันแตง |
ชี้แจงความเล่าให้เขาฟัง |
พลายแก้วลูกข้าอาสาทัพ |
ยังไม่ทันได้กลับอยู่ภายหลัง |
อีแม่เถ้าซุกซนพ้นกำลัง |
เชื่อฟังคนยุว่ามันตาย |
ช่างไม่สืบดูให้รู้ข่าว |
ยกลูกสาวให้มีผัวเสียง่ายง่าย |
คงจะเกิดความใหญ่กันมากมาย |
ขอเชิญนายไปด้วยช่วยเป็นพยาน ฯ |
๏ ครานั้นพันโชติกำนันแตง |
ฟังแจ้งทองประศรีมาว่าขาน |
เขาอาสาไปทัพรับราชการ |
ต้องเป็นภารธุระของตัวเรา |
จำจะไปว่ากล่าวเสียให้งาม |
เมื่อไม่ฟังก็ตามความคิดเขา |
จะได้พ้นความผิดติดตัวเรา |
ว่าเท่านั้นแล้วก็รีบมา |
ครั้นถึงบ้านท่านยายศรีประจัน |
ชวนกันขึ้นไปบนเคหา |
นั่งที่เตียงตั้งสั่งสนทนา |
พันโชติจึงว่านี่แน่ยาย |
พลายแก้วเขาสิอาสาทัพ |
รับสั่งตรัสใช้เป็นมากหลาย |
ยังมิได้รู้เห็นว่าเป็นตาย |
จะด่วนทำวุ่นวายไม่บังควร |
ซึ่งจะยกลูกสาวให้มีคู่ |
พิเคราะห์ดูให้ดีถี่ถ้วน |
ฉวยเกิดถ้อยความลามลวน |
จะต้องกวนข้าเจ้าให้ส่งตัว |
ศรีประจันว่าพ่อเอ๋ยอย่าพักว่า |
ลูกข้าคงจะให้มันมีผัว |
จะเกิดเหตุอย่างไรก็ไม่กลัว |
เงินทองรดหัวให้มันไป |
คนทุกวันมันจะให้ใครดี |
ถึงหาไม่ว่ามีแกล้งเสกใส่ |
ถ้ามาดแม้นไปทัพกลับมีชัย |
ก็จะพึ่งอะไรได้กับมัน ฯ |
๏ ท่านยายทองประศรีได้ฟังว่า |
เจ็บใจหนักหนาจนตัวสั่น |
เป็นไรเป็นไปได้ดูกัน |
ฉันบอกกล่าวทั่นทั้งสองนาย |
แน่เฮ้ยอียายศรีประจัน |
กูว่าเท็จอย่าให้ทันตะวันบ่าย |
เพราะกูสมัครรักลูกชาย |
ออพลายกูห้ามมันไม่ฟัง |
มันพึ่งรุ่นเล็กเป็นเด็กหนุ่ม |
กลัดกลุ้มไม่คิดดูหน้าหลัง |
หลงรักวอนวิงเอาจริงจัง |
กูจึงเซซังมาตามใจ |
ถึงเอ็งจะพรากจากออพลาย |
กูหามีความเสียดายสักนิดไม่ |
ด้วยพืชพรรณมันไม่น่าจะอาลัย |
นี่ซังตายว่าไว้พอเป็นที |
ว่าแล้วก็ลงจากเรือนพลัน |
วันทองวิ่งถลันตามทองประศรี |
ศรีประจันฉวยไม้ไล่ต้านตี |
ฉุดวันทองรี่ขึ้นบนเรือน |
ทองประศรียื้อยุดฉุดชิงกัน |
ศรีประจันเรียกข้ามากล่นเกลื่อน |
พวกศรีประจันมากลากขึ้นเรือน |
ทองประศรีหน้าเฝื่อนโกรธกลับไป ฯ |
๏ ครานั้นจึงเจ้าขุนช้างล้าน |
ครั้นถึงวันนัดงานหาช้าไม่ |
จัดแจงรีบร้อนไม่นอนใจ |
สั่งบ่าวไพร่ให้ขนเครื่องหอมา |
ครั้นถึงบ้านท่านยายศรีประจัน |
พวกพ้องพร้อมกันเป็นหนักหนา |
พันศรราทยาศรพระยา |
ขุนช้างก็มาพร้อมเพรียงกัน |
ฟื้นที่ขุดดินตั้งเสาหมอ |
ยกเครื่องเรือนต่อขมีขมัน |
ปรับพื้นติดฝาเข้าฉับพลัน |
แล้วมุงหลังคานั้นทันที |
ฝ่ายว่าท่านยายศรีประจัน |
จัดสรรของเลี้ยงไว้ถ้วนถี่ |
กับข้าวของหวานล้วนดีดี |
เลี้ยงกันอึงมี่ทั้งบ้านไป |
นางวันทองมองเห็นหอขุนช้าง |
ใจนางแทบจะคลั่งนั่งร้องไห้ |
เพ้อพร่ำร่ำด่าเป็นบ้าใจ |
แช่งชักส่งไปไม่ไยดี |
ขุนช้างปลูกหอสำเร็จพลัน |
ลาท่านศรีประจันมาจากที่ |
ครั้นถึงบ้านพลันทันที |
เตรียมขันหมากอึงมี่อยู่วุ่นไป ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายศรีประจัน |
กับบ่าวนั้นก็มาหาช้าไม่ |
ครู่หนึ่งถึงวัดป่าเลไลย |
ขึ้นบันไดไปหาท่านสมภาร |
เอาหมากพลูประเคนเข้าทันที |
ว่าวันนี้นิมนต์สวดมนต์บ้าน |
ด้วยออแก้วนั้นตายวายปราณ |
จะทำงานวันทองกับขุนช้าง ฯ |
๏ ครานั้นท่านขรัวตาจู |
ฟังดูวิปริตเห็นผิดอย่าง |
ออแก้วยังไม่ตายวายวาง |
งดพลางฟังรูปก่อนเป็นไร |
รู้แน่แล้วฤๅว่ามันตาย |
ปลายมือมันจะเกิดเนื้อความใหญ่ |
ฟังคำรูปว่าอย่าเบาใจ |
เห็นจะไม่เป็นผลดอกกระมัง |
ศรีประจันฟังว่าก็ขัดใจ |
เจ้าคุณนี่อะไรพลอยบ้าหลัง |
หลงเพ้อพูดไปไม่จิรัง |
เชื่อฟังไม่ได้ไม่เอาการ |
ขรัวจูว่าดูเถิดศรีประจัน |
มางกงันเจรจาว่าขาน |
กูนี้มิใช่การก็เป็นการ |
ด้วยออแก้วมันเป็นหลานได้เลี้ยงมา |
เมื่อไม่ฟังรูปห้ามก็ตามใจ |
นิมนต์องค์อื่นไปเถิดดีกว่า |
รูปกลัวออแก้วมันกลับมา |
มันจะว่ารู้เห็นพลอยเป็นใจ |
ศรีประจันลาแล้วลุกเก้กัง |
มายังวัดกลางหาช้าไม่ |
แล้วแวะวัดพลับลำดับไป |
นิมนต์ให้สวดมนต์เวลาเย็น ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายเทพทอง |
จัดของขันหมากขะมักเขม้น |
สั่งข้าด่าทอคอเป็นเอ็น |
ช่วยกันวิ่งเต้นบ้างเป็นไร |
เฮ้ยบอกยายกลอยกับยายสาย |
จนจะบ่ายแต่งตัวหาแล้วไม่ |
ตะวันสูงอยู่แล้วจะได้ไป |
แชเชือนอยู่ทำไมไม่แต่งตัว ฯ |
๏ ครานั้นยายกลอยกับยายสาย |
ผลัดผ้าวุ่นวายแล้วหวีหัว |
พวกแต่งเด็กจัดแจงแต่งกันนัว |
พร้อมทั่วขันหมากยกออกมา |
ยกขันหมากเอกทั้งสี่ขัน |
เลือกสรรเชื้อผู้ดีที่มีหน้า |
ล้วนรุ่นสาวขาวสวยสะอาดตา |
แต่งตัวเต็มประดามาด้วยกัน |
ให้หามโหรีที่ดียอด |
ระนาดฆ้องหน่องหนอดเสนาะลั่น |
ได้ฤกษ์เอิกเกริกแล้วยกพลัน |
เสียงสนั่นอื้ออึงคะนึงไป |
ครั้นมาถึงบ้านท่านศรีประจัน |
โห่ร้องฆ้องลั่นอยู่หวั่นไหว |
ตาผลหัวล้านทะยานไป |
ปิดประตูมิให้ใครเข้ามา |
เถ้าแก่แก้เงินออกยื่นให้ |
แกจึงเปิดให้ไปบนเคหา |
ขันหมากตั้งเคียงเรียงกันมา |
เถ้าแก่นำหน้าขึ้นนั่งพรม |
เถ้าแก่ที่เรือนก็ต้อนรับ |
จึงนับโต๊ะเตียบใหญ่ใส่ขนม |
ทั้งหมูไก่เหล้าเข้มเต็มขวดกลม |
กล้วยส้มร้อยสิ่งตามสัญญา |
ทุนสินเงินตราผ้าไหว้ |
เอาออกนับรับใส่โต๊ะสามขา |
เถ้าแก่สองข้างต่างสนทนา |
ขนของเข้าเคหาด้วยทันใด |
แถมพกยกให้ตามทำนอง |
เอาข้าวของคาวหวานมาตั้งให้ |
เลี้ยงดูอิ่มหนำสำราญใจ |
เถ้าแก่กลับไปโดยฉับพลัน ฯ |
๏ ครั้นรอนรอนอ่อนแสงพระสุริย์ฉาย |
ขุนช้างแต่งกายขมีขมัน |
อาบน้ำผลัดผ้าแล้วทาจันทน์ |
พอกพันขนอกรกรุงรัง |
จะแต่งตัวไปให้เต็มประดา |
หยิบกระจกยกมาประจงตั้ง |
ขี้ผึ้งอะไรเหนียวเหมือนเคี่ยวตัง |
เฝ้านั่งเวียนมองส่องดูเงา |
กูแค้นใจกับอ้ายหนวดนี่ยวดยิ่ง |
ไยไม่วิ่งขึ้นไปงอกบนหัวเล่า |
มาแกล้งขึ้นที่คางเป็นครังเครา |
ยิ่งโกนมันยิ่งเอาหนักขึ้นมา |
ส่วนผมบนกระบานสิล้านเกลี้ยง |
มันหลีกเลี่ยงกันไปให้ขายหน้า |
แล้วนุ่งยกอย่างดีมีราคา |
พึ่งซื้อหามาได้แต่ในวัง |
ห่มส่านอย่างดีสีสะอาด |
เข็มขัดคาดราคากว่าสิบชั่ง |
ลงจากเรือนเดินมาเก้กัง |
บ่าวไพร่ตามหลังสะพรั่งมา |
เพื่อนบ่าวชาวบ้านก็มาด้วย |
เห็นสะสวยดูตัวหัวเราะร่า |
พวกคนดูซุบซิบกระหยิบตา |
เฮ้ยดูคนสองหน้าตาลุกโพลง |
ถึงบ้านท่านยายศรีประจัน |
ตาผลนั้นจึงหับประตูโผง |
ขุนช้างขัดใจว่าไอ้โกง |
อ้ายล้านตายโหงมาแกล้งใคร |
ตาผลว่าเจ้าประคุณขุนช้างขา |
ลูกล้านมาแต่แดงแดงหาแกล้งไม่ |
พ่อเศรษฐีมั่งมีเป็นเท่าไร |
เอาเงินให้ลูกเถิดจะเปิดรับ |
ส่งเงินให้ตาผลขึ้นบนหอ |
นั่งระเบียงเรียงต่อเป็นอันดับ |
ได้เวลาพระมาครบสำรับ |
ทั้งวัดพลับวัดกลางที่วางมา |
พระเข้าไปในหอนั่งรออยู่ |
จับมงคลคู่ไว้คอยท่า |
ฝ่ายยายศรีประจันผู้มารดา |
ให้ลูกยานุ่งขาวห่มขาวพลัน |
นางพิมขัดใจไม่ยอมนุ่ง |
แกตีผลุงเข้าที่หลังดังสนั่น |
อีว่ายากปากกล้าเอาผ้าพัน |
ปลํ้ากันอุตลุดฉุดมือมา |
นางพิมเหนี่ยวสายยูประตูแน่น |
แกฉุดแขนตัวสั่นตีนยันฝา |
มือหลุดล้มไถลไปเป็นวา |
แกเดือดด่าแปรดแปร้นลุกแล่นไป |
ยืนร้องบอกมาว่าชีต้น |
สวดมนต์เถิดเจ้าคะจะเข้าไต้ |
เจ้าสาวเจ็บจุกครางอยู่ข้างใน |
มาซัดน้ำไม่ได้แล้วเจ้าคะ |
สวดจบจะขอทานนํ้ามนต์ไว้ |
รดเอาข้างในได้ดอกหนะ |
ขุนช้างคอยดูอยู่เงอะงะ |
อาราธนาศีลพระก็สวดมนต์ |
ซัดน้ำสำเร็จเสร็จสรรพ |
พระกลับยกสำรับกันสับสน |
เพื่อนบ่าวผลัดผ้ามาทุกคน |
นั่งข้างบนกินเลี้ยงเรียงกันมา |
ครั้นกินอยู่อิ่มหนำสำราญ |
ต่างก็กลับไปบ้านด้วยหรรษา |
ขุนช้างกริ่มใจไม่ไคลคลา |
หาเสภามาขับรับมโหรี ฯ |
๏ รุ่งเช้าสมภารแลพระสงฆ์ |
พอสุริยงรุ่งแจ้งแสงศรี |
ครองผ้าลงมาจากกุฎี |
บาตรตะลุ่มโอมีสำหรับมา |
ถึงหอใหม่ขึ้นไปเป็นอันดับ |
แม่ครัวจัดสำรับไว้คอยท่า |
เณรยกบาตรตั้งไม่รั้งรา |
พระก็สวดคาถาขึ้นฉับพลัน |
ขุนช้างเอื้อมมือถือขันข้าว |
จับเอาทารพีขมีขมัน |
จึงร้องมาว่าคุณแม่ศรีประจัน |
เอ็นดูฉันให้แม่พิมหล่อนออกมา |
ใส่บาตรด้วยกันร่วมขันเสีย |
หล่อนเป็นเมียฉันแล้วคุณแม่ขา |
ศรีประจันฟังคำร้องซ้ำว่า |
เป็นไรหวาออพิมไม่ออกไป |
นางพิมเคืองข้องร้องตวาด |
ข้าหาปรารถนาไปใส่ไม่ |
อายกับหมูหมาพวกข้าไท |
ว่าแล้วรํ่าไรร้องไห้งอ |
ศรีประจันบ่นพลางครางฮือ |
ขุนช้างเจ้าอย่าถือเลยอีพ่อ |
ตั้งแต่เจ็บเต็มทีเมื่อปีจอ |
ใจคอมันให้กลุ้มคลุ้มคลั่งไป |
ขุนช้างว่าลูกเห็นก็เช่นนั้น |
แม่พิมหล่อนเป็นสันนิบาตไข้ |
ถึงจะขุดโคตรเค้าสักเท่าไร |
ลูกก็ไม่ถือหล่อนอย่าร้อนรน |
พระสวดจบสำเร็จเสร็จสรรพ |
เจ้าเณรยกสำรับมาสับสน |
ขนมจีนน้ำยาห้าคะนน |
ชีต้นฉันได้ใส่เต็มที |
จัดแจงข้าคนขนของหวาน |
ใส่จานเชิงเทียบเป็นที่ที่ |
ทองหยิบฝอยทองล้วนของดี |
ตามมีใส่ลงแล้วส่งมา |
ประเคนท่านฉันอิ่มแล้วเสร็จสรรพ |
ยกสำรับเกะกะพระยถา |
เจ้าเณรขนกระจาดดาษดา |
พระก็ลามายังอารามพลัน ฯ |
๏ ครั้นพลบคํ่ายํ่าแสงทินกร |
ขุนช้างนอนอยู่ในหอใหญ่นั่น |
แต่คลั่งคลุ้มงุ่มง่ามมาสามวัน |
ให้ผูกพันถึงเจ้าพิมกระหยิ่มใจ |
แต่ลองข้อนนอนกอดหมอนข้างนึก |
เต็มดึกนั่งเพ้อจนเหลอใหล |
เหงื่อเปียกเปื้อนที่นอนร้อนภายใน |
ครั้นหลับไปก็ละเมอเพ้อถึงพิม |
ลุกขึ้นนั่งตีกรับขับเสภา |
โอ้ว่าเจ้าสาวแท้อีแม่ฉิม |
เมื่อไรจะให้มาเชยชิม |
เจ้าขนมปลากริมของพี่อา |
แม้นปะแล้วจะซดให้หมดหม้อ |
แม่ปลาหมอต้มเค็มพี่เต็มหา |
อยากจะใคร่กินเหล้ากับเต่านา |
คุณแม่ส่งตัวมาให้ข้าเอย ฯ |
๏ ศรีประจันได้ฟังนั่งชมเปาะ |
เหมือนเจ้าเงาะขับเสภาเจ้าข้าเอ๋ย |
จึงปลอบลูกยาอย่าช้าเลย |
เจ้าก็เคยเข้าหออย่าท้อใจ |
นางวันทองแค้นคั่งประดังร้อง |
กระทุ้งห้องสนั่นหวั่นไหว |
ชังนํ้าหน้าอ้ายหัวล้านขี้คร้านไป |
แม่จะใคร่ได้เขาก็เอาเอง |
ตะแก่ฟังลูกยาว่าประชด |
มันเหลืออดถกเขมรขึ้นเต้นเหยง |
ดูอีพิมว่าได้ช่างไม่เกรง |
แกฉวยไม้ป่ายเป้งลงหลายที |
นางวันทองร้องแซ่พ่อแม่เอ๋ย |
ข้าไม่เคยพบเห็นเช่นนี้นี่ |
เขาไม่รักอ้ายล้านมาพาลตี |
คนไม่อายอายผีบ้างเถิดรา |
ยังส่งเสียงเถียงคำไม่ตกฟาก |
แกฉวยเชือกกระชากมาจากฝา |
มัดมือยื้อโยงขึ้นหลังคา |
เอาไม้มาตีกลมระดมไป |
จะเข้าหอฤๅไม่ให้เร่งว่า |
มิบอกมาแล้วแม่หาแก้ไม่ |
นางวันทองร้องดิ้นจะสิ้นใจ |
พี่สายทองไปไหนไม่เข้ามา |
ช่วยด้วยเถิดจะม้วยในครั้งนี้ |
ขอโทษน้องทีเถิดพี่ขา |
สายทองได้ฟังหลั่งน้ำตา |
วิ่งมาชิงไม้มิให้ตี |
แม่อย่าหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า |
ตกนักงานข้าเจ้าอย่าจู้จี้ |
ฉันจะช่วยปลอบหล่อนให้อ่อนดี |
ทำไมที่จะเข้าหออย่าท้อใจ |
ว่าแล้วแก้มัดที่มือน้อง |
พาเข้าในห้องยังร้องไห้ |
สายทองรีบร้นไปฝนไพล |
ทาหลังไหล่ลูบที่แนวตี |
นางวันทองบ่นไปถึงพลายแก้ว |
จะตายแล้วฤๅจะอยู่ไม่รู้ที่ |
ถ้าพ่อตายลางร้ายคงจะมี |
ครั้งนี้สุดคิดในจิตรใจ |
จะไปสืบให้ตระหนักประจักษ์แจ้ง |
ไม่รู้แห่งกรุงศรีอยู่ที่ไหน |
เป็นหญิงเหลือจะวิ่งไปกลางไพร |
ในป่าไม้เสือสัตว์สารพัน |
จะนิ่งอยู่ก็ภัยใกล้เช่นนี้ |
น่าที่ตัวน้องจะอาสัญ |
นี่เนื้อแท้ว่ากรรมมาตามทัน |
แต่รำพันจนหลับระงับไป ฯ |