๏ จะกล่าวถึงพระเจ้าเชียงใหม่ |
ตรองตรึกนึกไปให้ฉงน |
เจ้าล้านช้างตอบไม่ชอบกล |
แยบยลดูเห็นเป็นมารยา |
เราให้ไปขอนางสร้อยทอง |
จะขัดข้องฤๅให้ก็ไม่ว่า |
บรรณาการไม่รับกลับคืนมา |
ตอบแต่ว่าลูกยายังเด็กนัก |
อันขอสู่วิสัยจะให้ปัน |
ควรผ่อนผันผัดไปให้ประจักษ์ |
นี่พูดจาบิดเบือนทำเชือนชัก |
จะอุบายย้ายยักสักอย่างไร |
ด้วยกลัวเราจะพลัดเป็นศัตรู |
ถ้ายกไปโจมจู่สู้ไม่ได้ |
เห็นจะคิดลับลมเป็นคมใน |
จะนิ่งไว้ท่วงทีมิเป็นการ |
คิดพลางทางสั่งมหาปาด |
เอ็งฉลาดใจคอก็กล้าหาญ |
จงรีบลอบไปอย่าได้นาน |
ถึงล้านช้างสืบดูให้รู้ความ |
เขาคิดการบ้านเมืองประการใด |
ปรึกษาว่าอย่างไรในเค้าสนาม |
ฟังทั้งเรื่องธิดาพะงางาม |
ใครติดตามขอบ้างฤๅอย่างไร ฯ |
๏ ครานั้นจึงกวานมหาปาด |
กราบบาททูลลาหาช้าไม่ |
แต่งตัวเสร็จสรรพฉับไว |
ข้าวตากใส่ไถ้แล้วผูกม้า |
พอเช้าตรู่จู่ออกจากเชียงใหม่ |
ขับม้าวิ่งไวเข้าในป่า |
ข้าวตากใส่ปากเคี้ยวกินมา |
ไม่หยุดพักชักช้ารีบคลาไคล |
ออกแต่เช้าราวเที่ยงจึงพักม้า |
พอตกบ่ายไคลคลาหาช้าไม่ |
กลางคืนมืแสงเดือนเตือนม้าไป |
ตีเหล็กไฟสูบยามาพลางพลาง |
ม้าอ่อนผ่อนม้าลงกินน้ำ |
ครั้นหายเหนื่อยเรื่อยรํ่ามาผางผาง |
จนเดือนตกพักผ่อนนอนริมทาง |
พอสว่างขึ้นม้ารีบคลาไคล |
เล็ดลอดดอดดั้นอรัญวา |
ถึงพรานไพรในป่าหาพบไม่ |
เลียบห้วยเหวเขาลำเนาไพร |
หลีกบ้านน้อยใหญ่ในทางมา |
ล่วงเข้าเขตแคว้นแดนเวียงจันทน์ |
ยังอิกสองวันจะถึงท่า |
ทราบความตามบ้านพวกละว้า |
ว่ามีชาวอยุธยามาเวียงชัย |
มหาปาดนิ่งนึกตรึกตรา |
จำจะฟังกิจจาให้ใกล้ใกล้ |
คิดแล้วแต่งกายให้คล้ายไทย |
เข้าในเวียงจันทน์ทันที |
เดินปนไปกับลาวแลชาวใต้ |
ไม่ครั่นคร้ามขามใครในกรุงศรี |
เที่ยวฟังข่าวราชการงานธานี |
จนถึงที่ศาลาลูกขุนใน |
เห็นโรงใหญ่ยาวสิบเก้าห้อง |
มีข้าวของคนผู้อยู่ขวักไขว่ |
พูดจาภาษานั้นเป็นไทย |
ก็แจ้งใจว่าชาวอยุธยา |
ทั้งข้าราชการเมืองล้านช้าง |
พวกขุนนางท้าวแสนก็แน่นหน้า |
เข้าออกพูดกันจำนรรจา |
ว่าไทยขึ้นมายังเวียงชัย |
จะมารับพระราชบุตรี |
ไปเป็นมเหสีเจ้ากรุงใต้ |
อิกสิบห้าราตรีจะคลาไคล |
ได้ความแน่แล้วก็กลับมา |
เจ็ดวันรีบตะบึงถึงเชียงใหม่ |
ลงจากม้าเข้าในพระโรงหน้า |
ก้มเกล้ากราบงามลงสามลา |
ทูลว่าข้าพเจ้าไปเวียงจันทน์ |
ได้เข้าไปถึงศาลาลูกขุน |
เห็นเพี้ยพญาว้าวุ่นจ้าละหวั่น |
พวกไทยในเมืองก็มากครัน |
โจษกันทั่วไปในธานี |
ว่าทหารอยุธยาห้าร้อย |
มาคอยรับสร้อยทองผ่องศรี |
กำหนดอิกสิบห้าราตรี |
จะส่งนางไปบุรีศรีอยุธยา ฯ |
๏ ครานั้นพระเจ้าเชียงใหม่ |
โกรธราวกับไฟไหม้เวหา |
เหม่เจ้าธานีศรีสัตนา |
ทำย้อนยอกนอกหน้าไม่เกรงกู |
ขอนางโดยดีก็มิให้ |
ลอบสมคบเอาไทยขึ้นมาขู่ |
ดีแล้วเป็นไรจะได้ดู |
กูมิให้ศัตรูมันดูแคลน |
เฮ้ยเร่งเกณฑ์ทัพในฉับพลัน |
เลือกสรรแต่ที่กล้าสักห้าแสน |
กูจะยกไปประชิดติดแดน |
แก้แค้นเจ้าบุรีศรีสัตนา |
จะตีเมืองล้านช้างให้จงได้ |
ไม่เอาไว้ให้เหลือสักเส้นหญ้า |
กริ้วก้องท้องพระโรงรจนา |
ท้าวพระยาข้าเฝ้าก็ตกใจ ฯ |
๏ ครานั้นอุปฮาดพระยาแมน |
กับแสนตรีเพชรกล้าเป็นผู้ใหญ่ |
ก้มเกล้าทูลพลันในทันใด |
ขอพระองค์จงได้กรุณา |
จะยกไพร่ไปล้อมเมืองล้านช้าง |
หนทางที่จะไปไกลหนักหนา |
กว่าจะจัดทัพได้ให้ยาตรา |
เห็นจะช้าไม่ทันส่งนางไป |
คำเพี้ยมหาปาดมาทูลบอก |
เขาจวนจะยกออกไปเมืองใต้ |
ถ้าจะให้ได้นางมาเวียงชัย |
ขอให้ทัพบกยกไปพลัน |
ไปดักอยู่กลางทางที่นางมา |
เข้าห้อมล้อมเมื่อเวลามาถึงนั่น |
คงจับได้ไทยลาวชาวเวียงจันทน์ |
นางนั้นก็จะได้มาพารา ฯ |
๏ ครานั้นพระเจ้าเชียงใหม่ |
ฟังตอบชอบพระทัยเป็นหนักหนา |
เออเอ็งเร่งรัดจัดโยธา |
แสนตรีเพชรกล้าจงยกไป |
พบแล้วล้อมจับเอาตัวมา |
ไพร่พลอย่าฆ่าให้ตักษัย |
อย่าให้นางสร้อยทองหมองพระทัย |
รีบรัดเร่งไปอย่าได้ช้า ฯ |
๏ ครานั้นเพชรกล้าก็รับสั่ง |
ถวายบังคมงามสามท่า |
เลือกทหารตัวดีมีวิชา |
ล้วนอยู่คงแกล้วกล้าได้ห้าพัน |
พร้อมสาตราอาวุธปืนไฟ |
หน้าไม้ทวนแทงแข็งขัน |
ช้างม้าพร้อมสรรพฉับพลัน |
พอรุ่งแจ้งแสงตะวันก็ยกไป |
รีบรัดตัดมาในป่ากว้าง |
ตรงมาทางภูเวียงเลี่ยงเขาใหญ่ |
รู้แน่ว่าทางนางจะไป |
ให้หยุดทัพซุ่มไว้ใกล้เชิงดอย |
ตรีเพชรจึงสั่งหมู่ทหาร |
อย่าไปเที่ยวตามบ้านหากล้วยอ้อย |
พอพวกไทยมาใกล้ได้ร่องรอย |
คอยฟังเสียงปืนสัญญานั้น |
แยกออกเป็นหัวละแปดสิบ |
ย่องกริบล้อมลัดสกัดกั้น |
จับเป็นเอามาอย่าฆ่าฟัน |
สั่งกันแล้วก็ซ่อนอยู่กลางไพร ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระเจ้าล้านช้าง |
ครั้นจวนวันส่งนางไม่นิ่งได้ |
เสด็จออกยังท้องพระโรงชัย |
สั่งให้ตระเตรียมการทั้งปวง |
ให้จัดกองอาสาไปตามส่ง |
กึงกำกงหัวหน้าเป็นข้าหลวง |
ท้าวพระยาทุกเหล่าเจ้ากระทรวง |
ทบวงการของใครให้จัดแจง |
พวกสนมกรมวังทั้งตำรวจ |
หมอยาหมอนวดตามตำแหน่ง |
กองอาสาหน้าหลังทั้งแทรกแซง |
แต่รุ่งแจ้งพร้อมกันวันจะไป |
แล้วดำรัสตรัสสั่งมเหสี |
แก้วพี่ตัวเจ้าเอาใจใส่ |
สั่งเสียพนักงานการฝ่ายใน |
เตรียมองค์อรไทจะไคลคลา ฯ |
๏ ครานั้นนางเกสรมารศรี |
มาตำหนักพระบุตรีเสนหา |
ชลนัยน์ไหลหลั่งลงถั่งตา |
ส้วมกอดพระธิดาแล้วรํ่าไร |
โอ้ว่าสร้อยทองของแม่อา |
พระบิดาจะให้ไปเมืองใต้ |
อิกสามวันขวัญข้าวจะจากไป |
เหมือนดังใจแม่จะขาดอนาถนัก |
ดังตายจากพรากองค์พระลูกแก้ว |
แต่นี้แล้วจะโศกวิโยคหนัก |
จะหาไหนได้เหมือนพระลูกรัก |
เหมือนมาควักแก้วตามารดาไป |
อกเอ๋ยเคยเห็นกันเย็นเช้า |
ได้ชมเจ้าชื่นจิตรพิสมัย |
แต่เกิดมามิได้ร้างไปห่างไกล |
ร่วมใจร่วมสุขทุกวันมา |
แต่อุ้มท้องแม่ประคองด้วยความรัก |
ระวังเจ้าเฝ้าพิทักษ์รักษา |
เผ็ดร้อนผ่อนอดทุกเวลา |
จำศีลภาวนาเป็นนิรันดร์ |
ครั้นยามปลอดคลอดองค์พระลูกแก้ว |
อุ้มแล้วค่อยต้องประคองขวัญ |
ถนอมชมกินนมแม่ทุกวัน |
จนชันษาได้หลายปีมา |
เจ้าแม่แต่นี้จะลับแล้ว |
ดังดวงแก้วตาแตกทั้งซ้ายขวา |
ไปด้วยได้ก็จะไปกับลูกยา |
รํ่าพลางโศกาด้วยอาลัย ฯ |
๏ ครานั้นสร้อยทองผ่องศรี |
กอดบาทชนนีสะอื้นไห้ |
อนิจจาพระบิดาไม่อาลัย |
จะพรากไปจากอกพระมารดา |
ขืนเอาไปใจลูกจะขาดวิ่น |
คงจะสิ้นชีพเสียในกลางป่า |
ไหนจะไปได้ถึงอยุธยา |
ด้วยอุราชอกช้ำเสียเต็มที |
เกิดมาไม่เคยพรากจากพระแม่ |
จะเหลียวแลหาใครที่ไหนนี่ |
จะตั้งแต่โศกศัลย์พันทวี |
ลูกนี้ไหนจะคงชีวาลัย |
อกเอ๋ยเกิดมาช่างอาภัพ |
สำหรับแต่จะทุกข์ทนหม่นไหม้ |
พ่อแม่แหนหวงดังดวงใจ |
กลับจะต้องพรากไปในทันตา |
หวังจะให้แม่พ่อพอเป็นสุข |
กลับเกิดเข็ญเป็นทุกข์เพราะตัวข้า |
บ้านเมืองสุโขมโหฬาร์ |
ลูกเกิดมาให้มารผลาญผจญ |
สาเหตุว้าวุ่นที่ขุ่นหมอง |
ก็เพราะลูกสร้อยทองนึ้เป็นต้น |
ทั่วทั้งพระนครได้ร้อนรน |
จะคงอยู่เป็นคนไปทำไม |
พระแม่เจ้าจงทูลพระบิดา |
ให้ฟันฆ่าลูกเสียให้ตักษัย |
จะได้สิ้นสาเหตุเภทภัย |
ทูลพลางสะอื้นไห้อยู่ไปมา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมนางเกสร |
สองกรกอดลูกแล้วปลอบว่า |
อย่าตรอมใจไปนักนะลูกอา |
มิใช่พระบิดาจะไม่รัก |
เดิมเจ้าเชียงใหม่ให้มาขอ |
ข่มขู่พระพ่อพูดหาญหัก |
เหมือนจะให้เราไปสามิภักดิ |
เห็นเสียศักดิเธอไม่บัญชาตาม |
เขาจึงพิโรธโกรธเคือง |
จะยกมาตีเมืองทำหยาบหยาม |
แต่ชาวเมืองเรานั้นสิครั่นคร้าม |
เกิดสงครามน่ากลัวจะเสียที |
ก็จะเสียทั้งองค์พระลูกรัก |
เสียศักดิเสียสิ้นบุรีศรี |
ร้อนใจไพร่ฟ้าประชาชี |
ด้วยธานีตกเข็ญเป็นเชลย |
เพราะเหตุบ้านเมืองจะเคืองแค้น |
แสนวิตกเท่านี้ดอกลูกเอ๋ย |
หาไม่ไหนเล่าจะละเลย |
ให้ทรามเชยพลัดพรากต้องจากไป |
จะเปลื้องทุกข์พ่อแม่ก็แต่เจ้า |
เหมือนสำเภาพาข้ามทะเลใหญ่ |
ทั้งไพร่ฟ้าประชาชนจะพ้นภัย |
เพราะว่าได้พึ่งองค์พระลูกรัก |
อันพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา |
พระเดชาปราบได้ทั้งไตรจักร |
ตัวเจ้าไปเป็นข้าสามิภักดิ |
ก็สมศักดิสมยศหมดทั้งปวง |
พระองค์ก็ทรงพระเมตตา |
ตรัสสั่งความมากับข้าหลวง |
ว่าจะเลี้ยงแก้วตาสุดาดวง |
มิให้ใครล้ำล่วงเกียรติยศ |
อิกทั้งบุรีศรีสัตนา |
ก็มิให้ใครมาเบียดเบียนหมด |
ไปเถิดแก้วตาอย่าลาลด |
เหมือนแทนทดคุณชนกชนนี |
เกียรติยศจะระบือฦๅโลก |
สร่างวิโยคก็จะเปรมเกษมศรี |
คงเป็นสุขทุกทิวาราตรี |
มารศรีอย่าละห้อยน้อยใจ ฯ |
๏ ครั้นปลอบลูกค่อยคลายวายวิโยค |
นางจัดเครื่องอุปโภคทั้งน้อยใหญ่ |
เรียกสี่พี่เลี้ยงของทรามวัย |
เข้าไปช่วยเลือกของที่ต้องการ |
เครื่องประดับลำหรับนางกษัตริย์ |
อร่ามรัตน์พรรณรายฉายฉาน |
มงกฎแก้วแพรวเพชรเก็จกาญจน์ |
กุณฑลสร้อยสังวาลบานพับ |
จุฑามณีวลีทรง |
ธำมรงค์วาวแววแก้วประดับ |
เพชรนิลเพทายหลายสำรับ |
อาภรณ์พร้อมสรรพทุกสิ่งอัน |
แล้วเลือกจัดภูษาผ้าทรง |
คลุมบรรทมห่มองค์ทุกสิ่งสรรพ์ |
ยกปักหักทองกรองสุวรรณ |
แพรพรรณต่างต่างที่อย่างดี |
ภาชนะเงินทองของเครื่องต้น |
เครื่องสุคนธ์ขันทองกล่องพระศรี |
ทั้งสิ่งของต้องพระทัยของเทวี |
บรรดามีมอบไปให้ลูกรัก |
แล้วเลือกเหล่าสาวสรรค์กำนัลนาง |
ที่รูปร่างส่งศรีมีศักดิ |
เคยสนิทชิดใช้ใจสามิภักดิ |
ล้วนสมัครตามติดพระธิดา |
เบ็ดเสร็จสามสิบห้านารี |
ให้พี่เลี้ยงทั้งสี่เป็นหัวหน้า |
แล้วข้าหลวงชั้นสองรองลงมา |
โขลนจ่าทาสีก็มากมาย |
พวกขอเฝ้าเหล่าข้าอยู่ในกรม |
ก็ระดมมาเลือกได้มากหลาย |
ให้พี่เลี้ยงจางวางเป็นตัวนาย |
คุมเหล่าข้าผู้ชายไปรับใช้ |
แล้วนางสั่งให้จัดซึ่งสิ่งของ |
ทั้งเงินทองแจกปูนบำเหน็จให้ |
ถ้วนทั่วตัวคนที่จะไป |
มิให้ใครย่นย่อท้อระอา ฯ |
๏ จัดพลางนางทรงกันแสงโศก |
หวนวิโยคลูกน้อยละห้อยหา |
จึงตรัสเรียกโฉมยงองค์ธิดา |
กับพี่เลี้ยงกัลยาเข้าห้องใน |
กอดลูกทรวงสะท้อนสอนสั่ง |
เจ้าจะพรากจากวังไปเวียงใต้ |
จะพากันไปอยู่ในหมู่ไทย |
อย่าได้ประมาทนะลูกรัก |
อันขนบธรรมเนียมของเมืองใต้ |
ต้องเพียรเอาใจใส่ให้รู้จัก |
อีกบรรดานารีที่พบพักตร์ |
เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ในวัง |
ที่ใครควรเคารพก็นบนอบ |
ที่ควรชิดคิดชอบอย่าผินหลัง |
อย่าโหดไร้ให้เขาพากันชิงชัง |
แต่อย่าพลั้งเผลอคบคนเสเพล |
คนเช่นนั้นมันมักเที่ยวแทรกแซง |
ประจบประแจงด้วยอุบายหลายเล่ห์ |
พอเราหลงปลงอารมณ์สมคะเน |
ก็ถ่ายเทเอาทรัพย์เสียนับพัน |
อันคนชั่วย่อมระคนปนกับดี |
ถ้าดีมีชั่วก็มีอยู่ที่นั่น |
ถึงเมืองลาวเมืองไทยไม่ผิดกัน |
เพราะเช่นนั้นขวัญข้าวเจ้าจำไว้ |
อนึ่งหญิงรูปทรงที่ส่งศรี |
ย่อมมีทั้งผู้ดีมีทั้งไพร่ |
จะผิดกันแน่แท้แต่ที่ใจ |
กับที่ได้อบรมนิยมมา |
นางกษัตริย์เขาจัดว่าล้ำเลิศ |
ประเสริฐด้วยสุริวงศ์พงศา |
ถือมั่นสัตย์ธรรม์จรรยา |
ทั้งวาจามารยาทสะอาดดี |
เพราะว่าเป็นวิสัยในพงศ์พันธุ์ |
ฝึกสอนสืบกันมาตามที่ |
ซึ่งจะผ่าเหล่าไปมิใคร่มี |
เหตุนี้จึงนิยมชมทั่วไป |
กษัตริย์ถึงต่างทิศผิดภาษา |
อันจะต่างจรรยานั้นหาไม่ |
ถ้าประเพณีวงศ์เจ้าทรงไว้ |
ถึงกษัตริย์กรุงไทยคงเมตตา |
แต่ทว่าอย่าลืมนะปลื้มใจ |
ว่าถวายเจ้าไปให้เป็นข้า |
ถึงพระองค์ทรงพระกรุณา |
อย่ากำเริบเติบใหญ่ให้เมามัว |
คำบุราณท่านว่ามาแต่ก่อน |
สำหรับสอนสตรีที่มีผัว |
ว่าวิสัยภรรยาประพฤติตัว |
ดีชั่วเจ็ดอย่างต่างต่างกัน |
อย่างหนึ่งทุจริตคิดร้ายผัว |
อิกอย่างมัวโลภโมโทสัน |
อิกอย่างหนึ่งการงานคร้านทั้งนั้น |
ทั่นว่าเมียอุบาทว์ชาติกาลี |
อันหญิงดีที่เป็นภรรยา |
กำหนดไว้ในตำราว่าเป็นสี่ |
หนึ่งเลี้ยงดูภัสดาด้วยปรานี |
หนึ่งร่วมทุกข์สุขมีเสมอกัน |
หนึ่งนั้นเคารพนบนอบผัว |
หนึ่งยอมตัวให้ใช้ไม่เดียดฉันท์ |
จึงอยู่เย็นเป็นสุขทุกคืนวัน |
ด้วยผัวนั้นวางใจที่ในตัว |
แต่บริจามหากษัตริย์นั้น |
ผิดกับหญิงสามัญที่มีผัว |
ต้องจงรักภักดีแล้วเกรงกลัว |
เหมือนอย่างตัวเป็นข้าฝ่าธุลี |
ตั้งใจสนองรองบาทา |
ให้ทรงพระกรุณาเป็นราศี |
ถึงขัดข้องหมองใจในบางที |
ไม่ควรที่ให้เคืองเบื้องบทมาลย์ |
เพราะถ้าจอมกษัตริย์ขัดพระทัย |
มักเกิดภัยอันตรายหลายสถาน |
ถ้าหากว่าพระองค์ทรงโปรดปราน |
ก็ชุบเลี้ยงสำราญตระการใจ |
จึงจะได้ความสุขทุกเวลา |
ญาติวงศ์พงศาได้อาศัย |
เป็นสุขทั้งบรรดาเหล่าข้าไท |
ทรามวัยจงจำดังรำพัน |
แล้วหันมาว่าแก่สี่พี่เลี้ยง |
เจ้ากล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูอย่าเดียดฉันท์ |
นึกว่าเจ้าสร้อยทองน้องร่วมครรภ์ |
เป็นเพื่อนยากบากบั่นไปเมืองไกล |
เช้าเย็นเห็นหน้ากันเท่านี้ |
จะชั่วดีสี่เจ้าเอาใจใส่ |
ได้เลี้ยงดูมาแต่ก่อนร่อนชะไร |
อย่าปล่อยให้เสียหายเมื่อปลายมือ |
ถึงจะไปได้ดีมีชื่อเสียง |
ตรงทั้งสี่พี่เลี้ยงต้องเชื่อถือ |
เอาเป็นที่ปรึกษาหารือ |
เขาสัตย์ซื่อเห็นใจแต่ไรมา |
ให้เจ้าไปสวัสดีมีชัย |
อย่าเจ็บไข้เดินทางไปกลางป่า |
จนถึงซึ่งกรุงอยุธยา |
อยู่เป็นสุขทุกทิวาแลราตรี |
สร้อยทองบุตรีกับพี่เลี้ยง |
หมอบเรียงประณตบทศรี |
รับพรนางเกสรชนนี |
ค่อยคลายคลี่ชอกช้ำระกำใจ |
ครั้นพลบคํ่าสุริยนสนธยา |
ชวนธิดาคืนเข้าตำหนักใหญ่ |
สองนางโศกาด้วยอาลัย |
จนหลับไปในที่ศรีไสยา ฯ |
๏ ครั้นถึงวันฤกษ์ดีศรีมงคล |
พวกพหลพลนิกายทั้งซ้ายขวา |
ตั้งกระบวนแลสะพรั่งฝั่งคงคา |
ตรงหน้าเวียงจันทน์ฟากพันพร้าว |
เหล่าอาสาอาวุธประจำมือ |
บ้างก็ถือธงเทียวเขียวขาว |
พร้อมพรั่งนายไพร่ทั้งไทยลาว |
ถอยเรือยาวเทียบท่าไว้หน้าวัง |
เรือกระบวนหน้าหลังทั้งเรือประเทียบ |
จอดเรียบพลพายก็พร้อมพรั่ง |
เรือส่งคนขนของซ้องประดัง |
ทั้งสองฟากริมฝั่งตั้งพลับพลา |
เสนาพระยาลาวผู้ใหญ่น้อย |
ต่างคนมาคอยอยู่พร้อมหน้า |
ทั้งหญิงชายชาวเมืองเนื่องกันมา |
ทั้งสองข้างมรรคาล้วนผู้คน |
ที่ในวังพรั่งพร้อมเหล่านารี |
มีพวกพระญาติวงศ์นั้นเป็นต้น |
บ้างโศกาอาลัยให้ทำวน |
เกลื่อนกล่นพร้อมหน้ามาส่งนาง ฯ |
๏ ฝ่ายนางเกสรชนนี |
พอรุ่งแสงสุริย์ศรีขึ้นสางสาง |
ยังอาลัยลูกยาโศกาพลาง |
ให้สำอางอรองค์สรงวารี |
น้ำกุหลาบอาบอบตรลบไป |
ลูบไล้ขมิ้นผงส่งฉวี |
แล้วตักน้ำรํ่ารดหมดราคี |
ขัดสีผุดผ่องละอองนวล |
ทรงสุคนธ์ปนปรุงจรุงกลิ่น |
กระแจะจันทน์ประทิ่นกลิ่นหอมหวน |
ผัดผิวเอี่ยมลออแต่พอควร |
ด้วยนางครวญมิใคร่จะไยดี |
กระหมวดมุ่นมวยอย่างนางกษัตริย์ |
ปักปิ่นเพชรรัตน์จำรัสศรี |
แล้วแซมช่อบุปผามาลี |
ทรงกุณฑลมณีมีราคา |
ภูษาซิ่นยกกนกทอง |
สไบกรองเนื้อนุ่มคลุมอังสา |
สร้อยสะอิ้งสังวาลตระการตา |
ทองกรซ้ายขวาหาพุรัด |
คาดสายเข็มขัดรัดพระองค์ |
ธำมรงค์ทรงทั้งสองพระหัตถ์ |
งามผ่องต้องตาสารพัด |
สมเป็นนางกษัตริย์สวรรยา |
ครั้นเสร็จทรงเครื่องเรืองบวร |
จึงนวลนางเกสรเสนหา |
ตรัสชวนลูกแก้วแววตา |
ออกมาข้างนอกตำหนักจันทน์ |
พระญาติวงศ์พงศามาคอยส่ง |
ต่างองค์กลั้นวิโยคโศกศัลย์ |
อำนวยพรพระธิดาวิลาวัณย์ |
แล้วพากันมาเฝ้าเจ้ากรุงไกร ฯ |
๏ ครั้นถึงที่สถิตบิตุรงค์ |
นางสร้อยทองเจ้าทรงกันแสงไห้ |
ยกพานธูปเทียนกับดอกไม้ |
คลานไปตั้งลงตรงพระพักตร์ |
ยอกรกราบบาทพระบิดา |
ก้มหน้าซบลงที่ตรงตัก |
โศกสะท้อนถอนสะอื้นอยู่ฮักฮัก |
แล้วหน่วงหนักหักใจอาลัยลา |
กระหม่อมฉันทูลลาฝ่าพระบาท |
จะแคล้วคลาศจากไปไกลหนักหนา |
หวังสนองพระคุณมุลิกา |
เอาชีวาถวายใต้ธุลี |
จะทุกข์สุขอย่างไรไปวันหน้า |
จะกลับมาฤๅมิมาไม่รู้ที่ |
ขอแต่ให้พระชนกชนนี |
มีความสุขาสถาพร |
ลูกประมาทพลาดพลั้งมั่งฉันใด |
ให้ขุ่นเคืองพระทัยมาแต่ก่อน |
พระบิตุรงค์จงโปรดซึ่งโทษกรณ์ |
จากจรอย่าให้กรรมประจำไป |
ถึงไปจะได้ความทุกข์ยาก |
จะย่อท้อต่อลำบากนั้นหาไม่ |
แต่เหลือที่จะเป็นห่วงบ่วงใย |
ที่ในสมเด็จพระมารดา |
เช้าเย็นเห็นลูกอยู่เป็นนิจ |
ต้องปลดปลิดพรากไปไกลหนักหนา |
จะเฝ้าแต่ครวญครํ่ารํ่าโศกา |
เกลือกว่าจะด่วนประชวรไป |
จงโปรดเกล้าเอาเป็นพระธุระ |
อย่าให้พระชนนีนั้นตักษัย |
ทูลพลางนางทรงโศกาลัย |
สะอื้นไห้กราบประณตบทมาลย์ ฯ |
๏ ครานั้นพระเจ้ากรุงศรีสัตนา |
ฟังลูกทูลลาแสนสงสาร |
ดังศรศักดิปักดวงฤดีดาล |
เสียวสะท้านสะท้อนถอนพระทัย |
ให้อัดอั้นอาดูรพูนเทวศ |
น้ำพระเนตรท่วมถั่งลงหลั่งไหล |
สู้แข็งขืนกลืนโศกวิโยคไว้ |
โลมเล้าเอาใจพระลูกรัก |
โอ้ว่าทรามวัยดวงใจพ่อ |
เจ้าอย่าท้อฤทัยอาลัยหนัก |
อันเกิดมาวาสนาย่อมนำชัก |
ก็ประจักษ์อยู่แล้วนะแก้วตา |
พ่อก็แสนแหนหวงดวงสวาดิ |
แต่บุพเพสันนิพาสวาสนา |
ให้เพอิญเกิดเหตุเภทพาลา |
จึงต้องพรากจากบิดาในครานี้ |
มิใช่ว่าพลัดพรากไปยากไร้ |
จะไปได้ที่พำนักเป็นศักดิศรี |
อยู่ในที่อยุธยาธานี |
คงจะมีความสุขทุกเวลา |
จงหักใจไปเถิดนะลูกรัก |
ช่วยชูศักดิสุริวงศ์พงศา |
เหมือนบำรุงกรุงศรีสัตนา |
ให้ไพร่ฟ้าสุขเกษมเปรมฤทัย |
อย่าวิตกที่ตรงองค์พระแม่ |
พ่อจะคอยดูแลเอาใจใส่ |
จงไปสวัสดีอย่ามีภัย |
อยู่ในอยุธยาธานี ฯ |
๏ ประสาทพรเสร็จแล้วก็แคล้วคลาศ |
ตรัสประภาษชวนพระมเหสี |
พาธิดายาใจจรลี |
มาที่ชานชาลาข้างหน้าวัง |
ต่างองค์ขึ้นทรงยานุมาศ |
เดียรดาษเสนาทั้งหน้าหลัง |
พวกนางในต่างตามห้ามไม่ฟัง |
คับคั่งลงมาท่านที |
หยุดประทับเกยชัยที่ใกล้ฝั่ง |
แล้วลงเรือที่นั่งหลังคาศรี |
พร้อมกระบวนนำตามข้ามวารี |
มาถึงที่พลับพลาท่าหาดทราย |
พวกเหล่าเสนาพฤฒามาตย์ |
ประชาราษฎร์เซ็งแซ่อยู่แหล่หลาย |
สามกษัตริย์ยุรยาตรนาดกราย |
ผันผายขึ้นสู่พลับพลาชัย ฯ |
๏ เจ้าพระยาจึงพาพระท้ายน้ำ |
กำกงเสนาข้าหลวงใหญ่ |
ก้มเกล้ากราบกรานคลานเข้าไป |
บังคมไหว้ถวายบังคมลา |
พระเจ้าล้านช้างพลางปราศรัย |
เออไปให้เป็นสุขทุกถ้วนหน้า |
พระท้ายนํ้าจงนำซึ่งกิจจา |
ทูลพระเจ้าอยุธยาภูวไนย |
ว่าเรานี้ถวายบังคมคัล |
ถึงพระองค์ทรงธรรม์ผู้เป็นใหญ่ |
ขอฝากฝังธิดายาใจ |
ไว้ในใต้เบื้องบทรัช |
ยังย่อมเยาว์การงานพานจะอ่อน |
ขอให้ทรงสั่งสอนแล้วฝึกหัด |
ทั้งธรรมเนียมกรุงใต้ไม่สันทัด |
จะข้องขัดอย่างไรได้โปรดปราน |
แลบัดนี้กรุงศรีสัตนา |
กับกรุงศรีอยุธยามหาสถาน |
ก็ร่วมแผ่นสุวรรณอันโอฬาร |
ราชการสองประเทศเหมือนเขตเดียว |
เราจะรักษาถวายข้างฝ่ายเหนือ |
ถ้าศึกเสือเกิดกระหนาบคาบเกี่ยว |
ขอให้ช่วยระดมกันกลมเกลียว |
คงขับเคี่ยวเอาชัยได้ทุกเมือง |
เราถวายพรชัยด้วยใจจง |
ให้พระองค์ทรงยศฟุ้งเฟื่อง |
เสวยสุขอดิเรกอเนกเนือง |
อย่าขุ่นเคืองราคีมาบีฑา |
ตรัสแล้วจึงประทานซึ่งสิ่งของ |
แก้วแหวนเงินทองทั้งเสื้อผ้า |
สั่งให้พระท้ายน้ำนำยาตรา |
เป็นกองหน้ามาก่อนกระบวนนาง |
แล้วเรียกกึงกำกงเข้ามาสั่ง |
เจ้าไประไวระวังให้รอบข้าง |
จงสำรวจตรวจดูตามลู่ทาง |
ป่ากว้างทางภูเขียวนั้นเปลี่ยวนัก |
ตรงต่อแดนไทยลาวชาวเชียงใหม่ |
หน้าหลังระวังระไวให้จงหนัก |
ค่ำคืนหยุดหย่อนจะผ่อนพัก |
เตรียมปืนหลักหักไฟให้มั่นคง |
ต่อเข้าเขตโคราชถึงลำชี |
จึงจะพ้นหน้าที่เจ้าตามส่ง |
จงมอบหมายท้ายน้ำนำจตุรงค์ |
ให้เขาห้อมล้อมวงแต่นั้นไป |
จงไปดีมาดีศรีสวัสดิ |
พ้นวิบัติเสี้ยนหนามความเจ็บไข้ |
เมื่อเสร็จส่งองค์นางถึงกรุงไทย |
อย่าช้าไปรีบลามาเวียงจันทน์ ฯ |
๏ ครานั้นพระท้ายน้ำกึงกำกง |
กราบลงแล้วออกไปทันใดนั่น |
เข้ากระบวนหน้าหลังพรั่งพร้อมกัน |
คอยเสียงกลองสำคัญให้ยาตรา |
พวกลาวชาวด่านบ้านหนองบัว |
แต่งตัวกำยำออกนำหน้า |
ถัดไปพวกไทยอยุธยา |
แล้วถึงกองอาสาอยู่หน้าช้าง |
กองแซงเดินรายทั้งซ้ายขวา |
ล้วนลาวอาสาทั้งสองข้าง |
กระบวนส่วนองค์อนงค์นาง |
อยู่ท่ามกลางหว่างพลให้พ้นภัย |
กึงกำกงเสนามาข้างหลัง |
คอยระวังโฉมตรูอยู่ใกล้ใกล้ |
กองหลังกองเสบียงเรียงกันไป |
แล้วอาสาวางไว้ข้างท้ายพล |
พรั่งพร้อมพหลพลโยธา |
ช้างม้าคั่งคับอยู่สับสน |
พวกตามพระธิดาทั้งข้าคน |
ก็เกลื่อนกล่นเข้ากระบวนถ้วนทุกกอง ฯ |
๏ ครั้นถึงเวลาได้พิชัยฤกษ์ |
เมฆเบิกรัศมีรพีผ่อง |
ขุนโหรสั่งพลันให้ลั่นฆ้อง |
เสียงประโคมกึกก้องกลองสัญญา |
จึงกษัตริย์จอมลาวเจ้าล้านช้าง |
เสด็จพาธิดานางมาข้างหน้า |
จูงส่งขึ้นยังหลังคชา |
ให้ยาตรารี้พลสกลไกร |
น่าสงสารสองกษัตริย์เมื่อพลัดลูก |
พระทัยผูกโศกศัลย์ไม่กลั้นได้ |
พอลูกลับกลับคืนเข้าวังใน |
กันแสงไห้ไม่เป็นสมประดี |
นางเกสรข้อนทรวงพิไรรํ่า |
เช้าคํ่าขุ่นข้องให้หมองศรี |
เฝ้าวิโยคโศกศัลย์พันทวี |
หลายราตรีจึงค่อยวายคลายอาลัย ฯ |
๏ จะกล่าวถึงสร้อยทองผ่องโสภา |
แต่จากมาไม่สร่างกันแสงไห้ |
พี่เลี้ยงโลมเล้าจะเอาใจ |
ชวนชมมิ่งไม้ในพนา |
สร่างโศกเสียมั่งเถิดนะแม่ |
โน่นแน่จงดูประตูป่า |
ไม้สูงยูงยางสล้างตา |
เขาว่าพ้นไปเป็นไพรวัน |
เพราะรกเรื้อเสือสางแลช้างเถื่อน |
กล่นเกลื่อนอาศัยในไพรสัณฑ์ |
ถ้าคนไปน้อยตัวเขากลัวกัน |
ไปพบมันน้อยนักมักทำร้าย |
แต่มานี่ถึงเราจะเข้าป่า |
ช้างม้าไพร่พลนั้นล้นหลาย |
เสือสิงห์ก็จะวิ่งกระจัดกระจาย |
หลบหายเข้าไพรมิให้พบ |
จะได้ชมพรรณไม้ที่ในป่า |
มีนานาดูได้ไม่รู้จบ |
ที่มีผลเปรี้ยวหวานตระการครบ |
ที่มีดอกกลิ่นกลบตรลบลง |
ถึงว่ามิ่งไม้ในสวนศรี |
มิได้มีเหมือนในไพรระหง |
ประเดี๋ยวหนึ่งจะถึงที่ปากดง |
แม่จงคอยชมพนมไพร |
ที่ชายป่าตอนนี้ยังมีบ้าน |
เพราะใกล้ด่านพวกละว้ามาทำไร่ |
ปลูกกล้วยอ้อยน้อยหน่าข่าตะไคร้ |
ตรงกอไผ่โน่นแน่แลเห็นเรือน |
ลูกเล็กเล็กยืนดูอยู่เป็นกลุ่ม |
ที่ตรงซุ้มยายตามากันเกลื่อน |
ตักนํ้าท่ามาให้ไม่ต้องเตือน |
อยู่กลางเถื่อนช่างกะไรใจเขาดี |
ทางริมบ้านชานรอบถึงขอบไร่ |
ดูเป็นเรือนสวนไสวไปจากนี่ |
ปลูกมะพร้าวหมากม่วงเป็นท่วงที |
ต้นลิ้นจี่ส้มสูกลูกลำไย |
สวนพลูดูค้างสล้างสลอน |
ที่ริมรั้วปลูกหม่อนไว้เลี้ยงไหม |
ด้วยเป็นบ้านชาวป่าพนาลัย |
ต้องปลูกให้พอเพียงเลี้ยงชีวา |
ถึงที่เปลี่ยวเลี้ยวพ้นที่คนอยู่ |
พี่เลี้ยงชี้ชวนดูหมู่ปักษา |
จับต้นจันทน์นั่นนกสาลิกา |
ที่บินมาทางโน้นโน่นแซงแซว |
เสียงที่ดังป๊กป๊กนกค้อนทอง |
เสียงดุเหว่าเร่าร้องอยู่แจ้วแจ้ว |
นกกระเต็นเต้นไต่ไม้แตงแตว |
ฝูงนกแก้วร่อนร้องออกก้องไพร |
นกกระทาขันจ้าเที่ยวหาคู่ |
กระลุมพูอยู่รังกำลังไข่ |
กางเขนเล่นหางอยู่หว่างไม้ |
ไก่ป่าเปรียวปรื๋อกระพือบิน |
นกเขาเรียกคูกุ๊กกู๊ก้อง |
นกขุนทองเพลินพลอดยอดกระถิน |
นกกดลดเลี้ยวเที่ยวหากิน |
นกขมิ้นบินโผจับโพบาย |
เหล่าสัตว์จัตุบาทก็กลาดกล่น |
แลเห็นคนมามากกระดากหาย |
เนื้อถึกแล่นโลดโดดตะกาย |
ตุ่นกระต่ายหลบลี้หนีเข้าพง |
แต่พอแลเห็นแปลบก็แวบหาย |
น่าเสียดายมิได้ชมสมประสงค์ |
พอแดดกล้ามาถึงที่ปากดง |
ลมลงชักชื้อชะอื้อเย็น |
ยางยูงสูงไสวในพนัส |
ร่มชัฏแดดในมิใคร่เห็น |
น้ำค้างค้างใบไม้ไหลกระเซ็น |
หนทางเป็นร่องเซาะจำเพาะตัว |
เป็นเซิงรกปกคลุมทั้งสองข้าง |
ที่ตรงกลางทางลึกแทบท่วมหัว |
ล้วนแต่เหล่าเถาวัลย์ขึ้นพันพัว |
ดูน่ากลัวนางประหวั่นพรั่นฤทัย |
ได้ยินแซ่แต่เสียงชะนีโหย |
โวยโวยอยู่บนต้นไม้ใหญ่ |
นกยูงทองร้องรับระวังไพร |
วังเวงใจเปลี่ยวเปล่าเศร้าอุรา |
ที่ในดงตรงห้วยละหานน้ำ |
คลาคลํ่าหลากเหลือผีเสื้อป่า |
สีสันต่างต่างสำอางตา |
บ้างบินมาบินไปในไพรวัน |
ไม้ดอกออกดื่นรื่นพนัส |
สารพัดสุกกรมนมสวรรค์ |
ยมโดยพลับพลวงจวงจันทน์ |
สัตบรรณแทงทวยทั้งกล้วยไม้ |
พิกุลแก้วเกดกฤษณา |
จำปาดกดอกออกไสว |
พี่เลี้ยงเคียงข้างอรไท |
ชี้ชวนชมไปให้สำราญ |
นางสร้อยทองค่อยคลายวายเทวศ |
จนล่วงเขตป่าไม้ไพรสาณฑ์ |
แต่แรมร้อนผ่อนมาสิบห้าวาร |
ถึงหมู่บ้านภูเวียงเคียงคิรี |
ให้ปลงช้างตั้งค่ายรายล้อม |
ไพร่พลพรั่งพร้อมกันอึงมี่ |
พี่เลี้ยงชวนนางพลางจรลี |
ลงสู่ที่สระสรงพระคงคา |
เย็นฉ่ำน้ำไหลมาพลั่งพลั่ง |
ล้นหลั่งถั่งชะง่อนก้อนภูผา |
เป็นลำธารมาแต่ชานบรรพตา |
ล้วนศิลาแลเลื่อมละลานใจ |
ที่แดงเหมือนแสงทับทิมสด |
ที่เขียวเหมือนมรกตอันสดใส |
ต่างสีซ้อนซับสลับไป |
แลวิไลเพลิดเพลินตามเนินดอน |
รื่นรื่นแสนสบายพระพายพัด |
หอมดอกไม้ในพนัสแนวสิงขร |
ครั้นเวลาสายัณห์ลงรอนรอน |
บทจรคืนพลับพลาพนาลัย ฯ |
๏ จะกล่าวถึงแสนตรีเพชรกล้า |
ซุ่มพลโยธาอยู่ป่าใหญ่ |
พวกสอดแนมมาแถลงให้แจ้งใจ |
ว่าลาวไทยกับนางอยู่ปางคา |
ครั้นพลบคํ่ารีบรัดจัดทหาร |
กะด้านแบ่งปันกันทั่วหน้า |
แยกย้ายหมอบมองย่องเข้ามา |
ส่วนตรีเพชรกล้าก็อ่านมนตร์ |
อึดใจเป่าไปได้เจ็ดคาบ |
ฟ้าวาบจันทร์อับพยับฝน |
มืดมัวทั่วทิศทุกตำบล |
ลมวนพัดซ้ำกระหน่ำมา |
ยางยูงสูงหักกระจักกระจาย |
ฝุ่นทรายปลิวกลุ้มคลุ้มเวหา |
เสียงสนั่นครั่นครื้นพนาวา |
พสุธาดังจะควํ่าทำลายไป ฯ |
๏ ครานั้นบรรดาพวกไทยลาว |
ตาขาวตัวสั่นอยู่หวั่นไหว |
ต่างคนตระหนกตกใจ |
ทั้งนายไพร่ไม่เป็นสมประดี |
กำกงแคลงจิตรคิดหวาดหวั่น |
พระท้ายน้ำตัวสั่นดังลงผี |
จะเกิดเหตุอะไรในพงพี |
ทั้งฟืนไฟไม่มีดับมืดไป ฯ |
๏ ครานั้นจึงแสนตรีเพชรกล้า |
ยิงปืนสัญญาหาช้าไม่ |
เหล่าทหารพร้อมกันในทันใด |
ยิงปืนไฟตึงตังดังประดา |
โห่เกรียววิ่งกรูจู่เข้าล้อม |
ไล่อ้อมเลี้ยวลัดสกัดหน้า |
พระท้ายน้ำเห็นลาวเกรียวกราวมา |
ตกประหม่านิ่งอึ้งตะลึงแล |
มืดมนอนธการไม่เห็นหน้า |
ไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ไหนแน่ |
จะสู้รบเสียกระบวนด้วยจวนแจ |
ทั้งนายไพร่วิ่งแต้ไปตามบุญ |
พวกลาวไล่ลัดสกัดกั้น |
พวกไทยหนีกันอยู่ว้าวุ่น |
บ้างล้มลุกคลุกคลานวิ่งซานซุน |
ลาวมากชุลมุนจับมัดมา |
ตรีเพชรจับได้พระท้ายน้ำ |
ทั้งกึงกำกงตัวเป็นหัวหน้า |
พวกไพร่ไล่ค้นพลโยธา |
ได้มาครบตัวไม่มีตาย ฯ |
๏ ครานั้นสร้อยทองผ่องศรี |
กับฝูงนารีสิ้นทั้งหลาย |
ร้องกรีดหวีดวิ่งอยู่วุ่นวาย |
ได้ยินเสียงพวกผู้ชายอื้ออึงไป |
มืดมัวทั่วสิ้นทั้งดินฟ้า |
ไม่เห็นหน้าไพรีอยู่ที่ไหน |
ต่างคนโศกาอาลัย |
แซ่เสียงร้องไห้ในพลับพลา ฯ |
๏ ครานั้นตรีเพชรทหารใหญ่ |
ครั้นจับตัวนายไพร่ได้พร้อมหน้า |
ยังแต่นางสร้อยทองผ่องโสภา |
จึงร่ายคาถาแล้วเป่าไป |
ที่มืดมนอนธการก็เสื่อมหาย |
ให้พลรายรอบพลับพลาหาช้าไม่ |
พาทหารมีชื่อถือคบไฟ |
ตรงเข้าข้างในไปทันที |
ฝ่ายนางสร้อยทองเห็นตรีเพชร |
ดังใครฟันคอเด็ดลงกับที่ |
ตกใจไม่เป็นสมประดี |
พี่เลี้ยงทั้งสี่ประคองไว้ |
ครั้นนางค่อยดำรงทรงกายา |
ตรีเพชรบอกมาหาช้าไม่ |
แม่เจ้าอย่าตระหนกตกพระทัย |
มิใช่โจรป่ามายํ่ายี |
พระเจ้าเชียงอินท์ปิ่นกษัตริย์ |
ตรัสใช้ให้มาเชิญโฉมศรี |
ไปครองเวียงเชียงใหม่ในครั้งนี้ |
จะทรงโศกีไปว่าไร |
ว่าแล้วให้ผูกช้างม้า |
พานางยาตราหาช้าไม่ |
กับทั้งสาวสรรค์กำนัลใน |
นางสร้อยทองร้องไห้สะอื้นมา |
ไทยลาวผู้ชายทั้งนายไพร่ |
ที่จับได้ใส่โตงกไว้ถ้วนหน้า |
พระท้ายน้ำนั้นจำทั้งขื่อคา |
ให้จูงตามกันมาในกลางไพร ฯ |
๏ น่าสงสารแต่ฝ่ายพระท้ายน้ำ |
ลาวมันจำจูงมาน้ำตาไหล |
คิดไปให้ละเหี่ยเสียน้ำใจ |
ควรฤๅเป็นได้ถึงเพียงนี้ |
เพราะตัวกูระยำทำสะพร่าว |
หลงไว้ใจลาวไม่พอที่ |
นึกว่าอ้ายกำกงคงจะดี |
เห็นท่วงทีเจ้ามันนั้นวางใจ |
จึงเพิกเฉยเลยละพระธิดา |
มิรู้ว่าจะมามีเหตุใหญ่ |
ให้ศัตรูจู่จับเอาตัวไป |
ที่ไหนจะได้คืนอยุธยา |
ถ้าหากมันฟันเสียให้บรรลัย |
ไม่เสียใจตายเสียยังดีกว่า |
นี่มันทำจำจองทั้งขื่อคา |
จะเอาหน้าไปแฝงไว้แห่งใด |
ไหนยังจะขึ้นชื่อฦๅชา |
ว่าจับทหารอยุธยาเอามาได้ |
ยิ่งคิดยิ่งแค้นแน่นหัวใจ |
ไม่แลดูหน้าใครในทางมา |
พวกไพร่บางคนก็ทุกข์ร้อน |
เฝ้าสะท้อนถอนใจไม่เงยหน้า |
อ้ายบางคนที่คะนองร้องเฮฮา |
ใจกล้าเล่นหัวไม่กลัวใคร |
กองทัพรีบเร่งตะเบ็งมา |
ไม่ช้าก็ถึงเมืองเชียงใหม่ |
เข้าในเมืองพลันทันใด |
ลาวไพร่พลเมืองเนื่องมาดู |
สาวแก่แม่หม้ายตะกายวิ่ง |
ชายหญิงเบียดเสียดเป็นหมู่หมู่ |
อะไรนั่นมัดกันมาเป็นปู |
ถามไถ่จะใคร่รู้ซึ่งเรื่องราว |
เขาบอกว่าชาวใต้ไทยอยุธยา |
ต่างก็เรียกกันมาอยู่มี่ฉาว |
ตาหลอแกล้งแกว่งล่อล้อพวกลาว |
จนสาวสาวหลบเมินสะเทินอาย |
ที่แก่เถ้าเอากล้วยทิ้งไปให้ |
บักไทยใครหิวกินให้หาย |
ตาหลอเก็บยัดอัดตะพาย |
เดินส่ายมาหน้าทำตาโพลง |
จะดูไทยฤๅลาวยาวฤๅสั้น |
อีลาวร้องบักนั่นจะตายโหง |
ตารักหยักรั้งนั่งโก้งโค้ง |
นี่แหละเฮ้ยเสือโคร่งของเมืองไทย |
มึงไม่เคยเห็นเต้นมาดู |
จะเอาแมวฤๅหนูกูจะให้ |
อีพวกลาวขากทดกดหัวไทย |
ดูมันไม่ได้ขายหน้าตา ฯ |
๏ ครั้นถึงศาลาลูกขุนใน |
พวกขุนนางน้อยใหญ่อยู่พร้อมหน้า |
กึงกำท้ายน้ำจำครบมา |
พวกอาสามัดกันเป็นหลั่นไป |
อันนางสร้อยทองผ่องโสภา |
ยังหาได้ลงจากช้างไม่ |
ให้ยืนช้างอยู่หน้าศาลาใน |
กว่าจะได้รับสั่งพระภูมี |
เพี้ยพระยาผู้ใหญ่ก็ไต่ถาม |
ตรีเพชรบอกความเป็นถ้วนถี่ |
จึงถามพระท้ายนํ้าตามคดี |
เดิมทีอย่างไรให้การมา |
จึงขึ้นมารับเอานางไป |
คิดอ่านอย่างไรให้เร่งว่า |
เขาถวายเจ้ากรุงอยุธยา |
ฤๅว่าสู่ขอประการใด ฯ |
๏ ครานั้นจึงพระท้ายน้ำ |
ต้องจำแค้นขัดอัชฌาสัย |
ตริตรึกนึกอยู่แต่ในใจ |
บอกมันฤๅไม่ก็เหมือนกัน |
ตัวเรานี้มันคงฟันฆ่า |
ถึงจะม้วยชีวาก็ไม่พรั่น |
ไม่ควรของ้อไหว้ให้ความมัน |
ก็นิ่งอั้นไม่บอกออกวาจา ฯ |
๏ ขุนนางทั้งปวงก็ขัดใจ |
เป็นใดไม่เว้าอ้ายตายห่า |
จองหองสุดใจไทยอยุธยา |
เย็นแล้วก็พากันคลาไคล |
ท้ายน้ำกำกงก็เอามา |
คุมไว้ข้างหน้าชาลาใหญ่ |
พวกขุนนางต่างคนก็เข้าไป |
เฝ้าพระเจ้าเชียงใหม่พร้อมหน้ากัน ฯ |
๏ ครานั้นพระเจ้าเชียงอินท์ |
ปิ่นพิภพเชียงใหม่ไอศวรรย์ |
ทอดพระเนตรเห็นตรีเพชรพลัน |
ทั้งพระท้ายน้ำนั้นที่จำมา |
ทรงพระสรวลตบหัตถ์อยู่ฉัดฉาน |
ลุกทะยานจับพระแสงแกว่งเงื้อง่า |
ถามตรีเพชรพลันมิทันช้า |
สร้อยทองได้มาฤๅว่าไร ฯ |
๏ ครานั้นตรีเพชรจึงกราบทูล |
ขอเดชะนเรนทร์สูรผู้เป็นใหญ่ |
นี่ชื่อพระท้ายน้ำนำพลไกร |
เป็นนายพวกไทยอยุธยา |
นั้นกำกงตัวนายฝ่ายล้านช้าง |
คุมกระบวนส่งนางมากลางป่า |
องค์นางสร้อยทองก็ได้มา |
ยังอยู่ศาลาลูกขุนใน |
พวกนางกำนัลนั้นหลายร้อย |
เงินทองเพชรพลอยเป็นไหนไหน |
ไพร่พลเจ็ดร้อยทั้งลาวไทย |
ให้จำไว้ทั้งหมดไม่ลดกัน ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าเชียงอินท์ปิ่นภพ |
ฟังไม่จบคำทูลเป็นมูลมั่น |
ไม่เห็นนางสร้อยทองที่ปองนั้น |
ก็หุนหันด่าว่าเสนาใน |
ลืมพระท้ายน้ำแลกำกง |
หาได้ทรงไต่ถามเนื้อความไม่ |
ดุด่าอื้ออึงคะนึงไป |
นี่มึงทำอย่างไรไอ้เสนา |
ธรรมเนียมที่ไหนจะใคร่รู้ |
ให้ไพร่ดูนางเล่นเห็นทั่วหน้า |
ทำไมจึงมิให้อ่อนเข้ามา |
ควรแล้วฤๅว่าประการใด |
ก็รู้ว่านางนี้เป็นที่รัก |
ชั่วนักเสนาทั้งน้อยใหญ่ |
มัวจะเอาแต่หน้าไม่ว่าใคร |
เฆี่ยนให้แทบตายเอาหวายมา |
รั้ววังไม่มีฤๅไฉน |
สร้อยทองผ่องใสอยู่ไหนหวา |
เหตุใดให้คอยอยู่ศาลา |
ปราสาทแก้วรจนานั้นของใคร |
ฤๅมึงเห็นว่าไม่ควรคู่ |
ที่นางจะอยู่นั้นไม่ได้ |
อ้ายพวกไทยขี้ข้าเอามาไย |
ส่งไปไว้คุกจงทุกคน ฯ |
๏ พวกข้าเฝ้าตระหนกตกประหม่า |
พระสุรเสียงดังฟ้าคำรนฝน |
กรมเมืองคุมไทยไปบัดดล |
กรมวังอลวนถอยออกมา |
ไปบอกกล่าวท้าวนางที่ข้างใน |
รับสั่งให้รับนางอยู่ข้างหน้า |
กริ้วนักเชิญไปอย่าได้ช้า |
ท้าวนางต่างพากันตกใจ |
โขลนจ่าทนายเรือนเกลื่อนกล่น |
ต่างคนวุ่นวิ่งไม่นิ่งได้ |
ท้าวนางออกหน้าพากันไป |
ถึงศาลาในก็กราบกราน |
เชิญนางสร้อยทองผ่องโสภา |
ลีลาลงจากคชสาร |
รับขึ้นทรงสีวิกากาญจน์ |
พามาหน้าฉานพระโรงคัล ฯ |
๏ ครานั้นพระเจ้าเชียงใหม่ |
เห็นวอมาใกล้ให้ป่วนปั่น |
กระทืบบาทตวาดอยู่นี่นัน |
พากันมาไยในที่นี่ |
ผู้ชายพายเรืออยู่เต็มไป |
จะดูเล่นฤๅไรไฉนนี่ |
ช่างกะไรรั้ววังดังไม่มี |
อีพวกนี้น่าเฆี่ยนให้เจียนตาย |
ท้าวนางต่างพากันหวาดหวั่น |
ความกลัวตัวสั่นมิ่งขวัญหาย |
รีบเร่งเข้าวังทั้งไพร่นาย |
คอยรับสั่งจะถวายนางสร้อยทอง ฯ |
๏ ครานั้นจึงพระเจ้าเชียงอินท์ |
สมถวิลกระหยิ่มยิ้มย่อง |
คะนึงนางมิได้ว่างฤทัยปอง |
เสด็จขึ้นจากท้องพระโรงชัย |
ประทับที่แท่นสุวรรณบรรจถรณ์ |
ให้อาวรณ์ร้อนรนไม่ทนได้ |
กระซิบสั่งสาวสรรค์กำนัลใน |
นางสร้อยทองอยู่ไหนไปเรียกมา ฯ |
๏ นางในได้ฟังรับสั่งใช้ |
รีบไปบอกคุณท้าวจะเอาหน้า |
ช่วยกันจัดแจงแต่งกายา |
แล้วนำนางขึ้นมามนเทียรทอง |
ครั้นถึงนอบนบอภิวันท์ |
หมอบอยู่ริมฉากชั้นที่กั้นห้อง |
เจ้าขรัวนายทูลความตามทำนอง |
ถวายนางสร้อยทองผ่องโสภา ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าเชียงอินท์ปิ่นนคร |
เห็นบังอรนึกรักเป็นหนักหนา |
เพ่งพิศโฉมนางไม่วางตา |
ลักขณาเพริศพริ้งทุกสิ่งอัน |
เสียอยู่แต่ดูยังเป็นเด็ก |
ร่างเล็กไม่สมภิรมย์ขวัญ |
นึกละอายเหล่าสุรางค์นางกำนัล |
แสนกระสันครวญใคร่อยู่ไปมา |
อย่าเลยจำจะงดอดใจไว้ |
จะช้านานเท่าไรไปหนักหนา |
เรื่องนางนี้ทีเจ้าอยุธยา |
จะโกรธายกทัพมาถึงเมือง |
จำจะต้องคิดอ่านการศึกก่อน |
ตัดรอนไพรินให้สิ้นเรื่อง |
เมื่อเสร็จสิ้นเหตุการณ์รำคาญเคือง |
พอนางเชื่องคงได้ชมสมใจปอง |
คิดพลางทางภิปรายทายทัก |
นงลักษณ์ตัวเจ้าอย่าเศร้าหมอง |
จะเลี้ยงเจ้าเป็นใหญ่ในเรือนทอง |
ให้ครอบครองสมบัติกษัตรา |
วันหน้าถ้าเจ้าคิดถึงบิดร |
สองนครมิใช่ไกลหนักหนา |
จะหากันเมื่อไรก็ไปมา |
กัลยาอย่าประหวั่นพรั่นใจ |
ว่าแล้วจึงดำรัสตรัสสั่ง |
ตำหนักทองสองหลังให้จัดให้ |
ทั้งสมบัติวัตถาแลข้าไท |
เอาใจให้เป็นสุขทุกสิ่งอัน ฯ |
๏ ครานั้นนวลนางสร้อยทอง |
หม่นหมองวิโยคโศกศัลย์ |
อยู่ในห้องร้องไห้ไม่วายวัน |
นางรำพันคํ่าเช้าเฝ้าโศกา |
นิจจาเอ๋ยจากแม่ไปเมืองใต้ |
ก็ร้องไห้ร่ำรักกันหนักหนา |
ลงไปไม่ถึงอยุธยา |
เขาจับมาเชียงใหม่ในกลางคัน |
ปานนี้พ่อแม่จะคิดถึง |
หลงรำพึงว่าลูกเกษมสันต์ |
หมายใจว่าจะได้พึ่งพากัน |
ด้วยสำคัญว่าลูกไปได้ดี |
ถ้ารู้ว่าเขาจับมาเชียงใหม่ |
จะคั่งแค้นแน่นใจกะไรนี่ |
ฤๅจะยกโยธามาราวี |
ด้วยปรานีจะรับเอากลับไป |
ลูกนี้สุดที่จะคิดแล้ว |
น้ำตาหลั่งถั่งแถวสะอื้นไห้ |
นี่เนื้อว่าเวรกรรมได้ทำไว้ |
นางมิได้เป็นสุขทุกราตรี ฯ |