๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว |
แม่กับเมียไปแล้วก็จัดสรร |
เครื่องอานว่านยาสารพัน |
สำหรับกันอาวุธไม่ไว้ใจ |
กราบลาแม่ยายแล้วเยื้องย่าง |
ขึ้นช้างพร้อมพรั่งทั้งบ่าวไพร่ |
ออกจากเมืองสุพรรณทันใด |
เข้าไปกรุงศรีอยุธยา |
รีบไปหาท่านผู้รับสั่ง |
แล้วยับยั้งค้างอยู่ที่เคหา |
จนแจ่มแจ้งแสงศรีสุริยา |
ก็เข้ามาเฝ้าองค์พระทรงธรรม์ ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ |
เสด็จสถิตพระที่นั่งสุธาสวรรย์ |
เสนาเข้าเฝ้าอยู่พร้อมกัน |
บังคมคัลแน่นท้องพระโรงชัย |
ทอดพระเนตรแลมาเห็นพลายแก้ว |
ผ่องแผ้วพระกระมลแจ่มใส |
เออเอ็งเร่งยกพลไกร |
จงไปเป็นสุขสวัสดี |
ปราบลาวให้ละเอียดลงเป็นแป้ง |
จะเรืองฤทธิ์เรี่ยวแรงดังราชสีห์ |
กูจะให้อาวุธไปราวี |
ดาบนี้ที่ด้ามประจุพราย |
ประทานผ้ายกดีสีสะอาด |
สนับเพลาเจียระบาดอันเฉิดฉาย |
ทั้งหมวกตุ้มปี่มีระบาย |
พลายแก้วกราบถวายบังคมลา |
ออกไปยังศาลาลูกขุน |
ชุลมุนพวกพหลพลอาสา |
ตรวจพร้อมเสร็จสรรพแล้วรับตรา |
ลาท่านผู้ใหญ่ท่านให้พร ฯ |
๏ ได้ฤกษ์เลิกพลพยุหบาตร |
เกลื่อนกลาดคั่งคับสลับสลอน |
ยกออกมานอกพระนคร |
ทั้งช้างม้าหมู่นิกรโยธี |
เสื้อแสงแดงดาดดูสง่า |
ถือสาตราอาวุธมาอึงมี่ |
ธงเทียวเถือกทุ่งลุมพลี |
ฆ้องตีหึ่งโห่สนั่นนาน |
ถึงปากบางลางอยู่ข้างหนึ่ง |
ยกพลข้ามถึงข้างฟากบ้าน |
ปลงหาบยาบเยิบสาแหรกยาน |
ถอดคานคึกคักพักผู้คน |
กินอยู่พูวายสำเร็จแล้ว |
พลายแก้วจึงสั่งพวกพหล |
ให้เร่งเคลื่อนไคลคลายาตราพล |
ไปอยู่ต้นทางที่จะคลาศคลาย |
ปลงวางช้างม้าอยู่ท่ากู |
เที่ยวอยู่ที่ศาลาวัดป่าฝ้าย |
พวกพลโยธากราบลานาย |
ขยายยกกองทัพไปฉับพลัน ฯ |
๏ พลายแก้วอยู่เดียวก็เหลียวแล |
เห็นแม่กับพิมจอดอยู่นั่น |
ลงจากศาลามาหากัน |
ปรึกษาสำคัญทั้งสามคน |
ไปทัพทางไกลไม่รู้เหตุ |
จะสังเกตปลูกโพธิ์ไว้สามต้น |
ถ้าแม้นจะย่อยยับถึงอับจน |
ขอให้โพธิ์พิกลไปเหมือนกัน |
นั่งปรึกษากันมิทันช้า |
ให้เที่ยวหาหน่อโพธิ์ขมีขมัน |
ค่อยขุดมิให้ฉุดกระชากฟัน |
ดินนั้นพันพอกไว้ดิบดี |
ยกลงเรือแล้วก็ข้ามฟาก |
ผลักหัวเรือบากไปถึงที่ |
ขึ้นบกยกโพธิ์มาทันที |
มีต้นไม้ใหญ่ได้สำคัญ |
จึงแต่งเครื่องบัตรพลีบูชา |
บวงสรวงเทวดาที่อยู่นั่น |
ขุดหลุมแล้วพิษฐานพลัน |
ปลูกกันคนละต้นนั่งบนไป ฯ |
๏ ทองประศรีนั้นพิษฐานก่อน |
ถ้าม้วยมรณ์ชีวาหารอดไม่ |
ให้ต้นโพธิ์ของข้านั้นบรรลัย |
ถ้าตัวไข้โพธิ์ไข้เหมือนตัวเป็น |
แม้นตัวอยู่ดีมีสุข |
ความทุกข์ไม่กำเนิดเกิดเข็ญ |
ขอให้โพธิ์ชุ่มชอุ่มเย็น |
ให้เห็นประจักษ์อยู่แก่ตา |
ว่าแล้วเท่านั้นด้วยทันใด |
ยกต้นโพธิ์ใส่ไว้หลุมหน้า |
เจ้าพลายไหว้วอนแก่เทวา |
ตัวข้าจะขึ้นไปชิงชัย |
แม้นจะมีชัยแก่ไพรี |
ขอให้โพธิ์ต้นนี้งอกงามไสว |
ถ้าแม้นจะอาสัญบรรลัย |
ขอให้โพธิ์ข้านี้ตายตาม |
แม้นตัวข้านี้มิป่วยไข้ |
ขอให้โพธิ์สุกใสเรืองอร่าม |
ถ้าสำเร็จณรงค์สงคราม |
ขอให้งามเขียวชอุ่มเป็นพุ่มชัฏ |
อธิษฐานแล้วพลันทันใด |
ยกต้นโพธิ์ใส่ในหลุมอัด |
รากรอมพร้อมสิ้นเอาดินยัด |
น้ำตาพิมเจ้าก็หยัดกระเด็นลง |
ยกมือกราบกรานเทพารักษ์ |
สะอื้นไห้ฮักฮักตะลึงหลง |
ประคองต้นโพธิ์น้อยละห้อยงง |
ขอเดชะเทพทรงศักดาฤทธิ์ |
โพธิ์ทองของพิมพิษฐาน |
ถ้าอยู่บ้านตัวตายวายดับจิตร |
ขอให้โพธิ์ตายตามอย่างามชิด |
มาดแม้นคงชีวิตไม่บรรลัย |
ขอให้โพธิ์ชุ่มชื่นระรื่นร่ม |
น้ำสุรามฤตพรมไม่เปรียบได้ |
ถ้าตัวไข้ไผ่ผอมตรอมใจ |
ใบโพธิ์จงสลดลงหลากตา |
ครั้นพิษฐานแล้วจึงปลูกลง |
นํ้าตาตกซกสรงลงโซมหน้า |
พูนพวนถ้วนสิ้นทุกหลุมมา |
นํ้ารดปลดผ้าสไบพลัน |
ทั้งสามผืนผ้าพับลงไว้ |
ประจงใจแล้วก็ห่มประจำมั่น |
ขอเดชะผ้านี้ที่ผูกพัน |
ห่มโพธิ์สำคัญทั้งสามคน |
ต่างคนต่างจะไปไกลตา |
กลับมาขอให้พบกันเป็นผล |
แม้นตัวข้าตายวายชนม์ |
ให้สู่สวรรค์ชั้นบนสบายใจ |
จะเกิดไปในภพชาติหน้า |
ขอให้ข้าพบกันให้จงได้ |
ร้อยกัปแสนกัลป์อนันต์ไกล |
พบกันไปตราบเท่าเข้านิพพาน ฯ |
๏ ครั้นห่มโพธิ์เสร็จสรรพทั้งสามต้น |
สามคนจากที่พิษฐาน |
ลงเรือพร้อมกันมิทันนาน |
บ่าวคํ้าเรือกรานออกพายไป |
จอดวัดป่าฝ้ายที่ท้ายเขื่อน |
เตือนคนขนของไม่ช้าได้ |
บรรทุกหลังช้างพลันทันใด |
พลายแก้วแววไวไหว้มารดา |
ทองประศรีอวยพรสถาผล |
จงสวัสดิมงคลไปภายหน้า |
นางพิมไหว้พลันกลั้นนํ้าตา |
สะอื้นออกปากว่าไปจงดี |
เจ้าพลายแก้วสั่งพิมพิลาไลย |
สงวนใจสงวนรักไว้ท่าพี่ |
แล้วเด็ดรักหักใจจรลี |
ย่างขึ้นจากที่นาวาพลัน |
ทองประศรีกับพิมพิลาไลย |
บ่าวไพร่ก็ผลักหัวเรือหัน |
ผัวเมียชะแง้แลดูกัน |
น้ำตาหยดอดกลั้นจนลับไป |
บ่าวไพร่พูดเล่นกันเฮฮา |
นางพิมก้มหน้าไม่พูดได้ |
แม่ผัวโลมเล้าเอาใจ |
กลับไปยังสุพรรณพารา ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว |
แม่กับเมียไปแล้วละห้อยหา |
ตระเตรียมพร้อมกันทันเวลา |
ช้างม้าหาบคอนสลอนไป |
แฟ้มโพล่โย้ยานอยู่ยาบยาบ |
หัวปลาอ้างาบดังกาบไผ่ |
กลักพริกกลักขิงกริ่งกร่างไป |
แกว่งไกวเยิ่นเยิ่นเดินตามกัน |
บ้างเหนื่อยเมื่อยล้าแข้งขาขัด |
บ้างคัดลูกสะบ้าว่าไม่หัน |
บ้างยั้งหยุดกินยาทาน้ำมัน |
ลุกขึ้นได้ไล่กันก็รีบไป |
บ้างลงนั่งชักกัญชานัยน์ตาหลับ |
โงกหงับหาวนอนผ้าผ่อนไหม้ |
ลุกขึ้นอู้อี้ตีเหล็กไฟ |
ข้ามทุ่งมุ่งไปพนาวา ฯ |
๏ พลายแก้วขี่คชสังหาร |
สูงตระหง่านเงื้อมเงื้อมอยู่ในป่า |
วันหนึ่งก็พอถึงทุ่งโสภา |
อนิจจาพิมพี่ผู้งามงอน |
บ้านกระทงตรงข้ามไปท่าโพธิ์ |
โอ้ว่าโพธิ์สามต้นยังอ่อนอ่อน |
คํ่าลงปลงทัพให้หลับนอน |
รุ่งยกพลผ่อนข้ามน้ำไป |
ลัดล่วงนครสวรรค์ดั้นดง |
ตัดทางหาลงตามน้ำไม่ |
ร่มรื่นพื้นพรรณดอกไม้ |
เจ้าพลายละห้อยไห้ถึงเมียรัก |
โอ้เจ้าพิมนิ่มนวลของพลายแก้ว |
จะข้อนทรวงหนักแล้วเพียงอกหัก |
มาส่งทัพกลับไปอาลัยนัก |
ดูผิวพักตร์พิมเผือดไม่พาที |
มาด้วยจะได้ชี้ให้ชมเล่น |
ในดงเย็นยามยากมากับพี่ |
สารพัดรุกขชาติสะอาดดี |
สกุณีจับรังอยู่จอแจ ฯ |
๏ นกเขาจับข่อยอยู่เคียงคู่ |
ผัวมาอยู่ไกลพิมเจ้าเหลือแหล่ |
คับแคทำรังบนต้นแค |
พี่ห่างแหหอเหินมาเดินไพร |
กระลุมพูจิกพวงชมพู่เทศ |
สังเกตเหมือนผ้าชมพูพิสมัย |
พะยอมหอมหวนมายวนใจ |
เหมือนกลิ่นสไบเจ้ายังติดมา |
หอมกลิ่นบุปผชาติดาษดง |
เหมือนกลิ่นแก้มพี่หลงตะลึงหา |
นกแก้วจับแก้วแจ้วเจรจา |
เวทนาน้องจะพูดกับผู้ใด |
นกขมิ้นบินจับต้นมะเดื่อ |
โอ้ว่าเนื้อเจ้าจะหมองไม่ผ่องใส |
จะเมินหมางขมิ้นทาระอาใจ |
โอ้เจ้าพิมพิลาไลยของผัวอา |
พิศพรรณพฤกษามาตามทาง |
มะปรางเปรียบแก้มนางทั้งซ้ายขวา |
อินพรมนมสวรรค์จันทน์คณา |
พี่จนกระแจะจันทน์ทาทุกอย่างไป |
เห็นกระทุ่มพุ่มชัฏระบัดตั้ง |
เหมือนผมพิมเจ้าสะพรั่งเพราไสว |
เปล่าจิตรคิดเย็นยะเยือกใจ |
สักเมื่อไรจะได้พบเจ้าพี่อา ฯ |
๏ ครวญพลางทางเร่งพลไกร |
มาในเถื่อนแถวแนวป่า |
ถึงป่าใหญ่ไม้กลาดดาษดา |
ต้นพฤกษากรอบเกราะกระเทาะพัง |
ยางยูงสูงโยนโอนสะบัด |
พระพายพัดเอนลู่ดูสะพรั่ง |
ลมกระแทกแตกลั่นสนั่นดัง |
ถูกรังหนูพุกยุ่งสยุมพู |
ปลายทอดยอดแยะตลอดไส้ |
เป็นตะไคร่คราบเครอะออกเยอะอยู่ |
กระแตตามกระรอกมาเข้าคารู |
งูเขียวเลี้ยวไล่ตลอดปลาย |
ลางต้นล้มตั้งตละปัก |
รากหักขึ้นแทงระแหงหงาย |
กะตุ้มกะติ้มเกะกะปะกันตาย |
ยอดหวายพันคลุมอยู่ซุ้มเซิง |
เป็นนํ้ากรังรังเรอะอยู่เฉอะฉะ |
เขยอะขยะขยุกขยุยดูยุ่ยเหยิง |
รุงรังรุกรุยเป็นปุยเซิง |
กะพะกะเพิงพันผูกลูกหวายไป |
ลางต้นโกร๋นกร่อนจนปล้อนเปลือก |
เทือกถูกโคลนช้างเอาข้างไส |
เขียวชอุ่มพุ่มชื้อชอื้อใบ |
แมงภู่ไชในนอกเป็นพรอกโพรง |
ค่างลิงวิ่งเลี้ยวแล่นตลอด |
ไม้คอดหักโลดกระโดดโหยง |
เถาวัลย์พันย้อยดังแกล้งโยง |
โจงโคร่งครือคระอยู่ครึมครำ |
ครั้นถึงหว่างเขาเงาชะโงก |
เป็นตรวยโตรกเตียนตลิบตลอดถํ้า |
เป็นแผ่นเพิงตระพักชะงักง้ำ |
แต่ตีนตํ่าแลต้องนัยน์ตาพราย |
ต้องแสงสุริยนระยับแสง |
บ้างเด่นแดงแข่งเขียวประสานสาย |
หมอกม่วงโมราราวระบาย |
ลวดลายดุจแต้มเบญจรงค์ |
ที่เด่นแดงดังแสงปัทมราช |
ประหลาดเล่ห์ปะวะหลํ่างามระหง |
ที่ดำดังหนึ่งนิลบรรจง |
จับพงพฤกษ์พุ่มชอุ่มตา |
ที่ขาวราวกับเม็ดเพชรรัตน์ |
น้ำซัดเป็นละลอกกระฉอกฉ่า |
ฝอยฟุ้งพุ่งเต้นกระเซ็นมา |
กระทบผาซ่าสาดสะเทือนไพร ฯ |
๏ ครั้นเดินดงลงธารละหานหิน |
น้ำรินแลลาดสะอาดใส |
กรวดกระจายพรายเม็ดเป็นมูลไป |
โอ้พิมพิลาไลยของพี่อา |
มาด้วยผัวจะเก็บก้อนกรวดให้ |
ที่ชอบใจพี่จะเก็บให้หนักหนา |
กรีดเล็บเก็บเล่นลออตา |
อนิจจาเนื้อคู่เจ้าอยู่ไกล |
ของข้าวเจ้ามักรักของเล่น |
เห็นอะไรงามงามแล้วไม่ได้ |
ถ้ามาด้วยผัวแล้วในแนวไพร |
จะนั่งร้อยมาลัยบนหลังช้าง |
จะห้อยหอมล้อมรอบสัปคับ |
เป็นสร้อยสนแซมประดับสดสล้าง |
คิดคิดไม่วายเสียดายนาง |
เจ้าแนบข้างของแก้วไม่แววมา |
ตัดทางถึงกำแพงระแหงเถิน |
ชมนักมักเนิ่นอยู่หนักหนา |
เนิ่นเรื่องเครื่องเขาจะนินทา |
วางตราผู้รั้งด้วยทันที |
จัดพลเสร็จสรรพทั้งสามเมือง |
ยกเครื่องของเลี้ยงอยู่อึงมี่ |
ครั้นได้พิชัยฤกษ์ดี |
ตีฆ้องลั่นปืนเป็นสำคัญ |
โห่ร้องเอิกเกริกเลิกทัพ |
จับอาวุธถือกับมือมั่น |
ช้างม้าอัดแอแจจัน |
กระทั่งถึงเขตขัณฑ์เมืองเชียงทอง |
ให้กองหน้าเที่ยวค้นพวกเชียงใหม่ |
พบที่ไหนไล่กระหนํ่าทุกบ้านช่อง |
ห้ำหั่นฟันตายลงก่ายกอง |
ข้าวของขนริบพัลวัน |
ตียับเยินไปมิได้ยั้ง |
กระทั่งถึงเชียงทองก้องสนั่น |
พวกเชียงใหม่หลายทัพรับไม่ทัน |
ทัพไทยไล่ฟันตะลุยไป |
ด้วยมันประมาทอาจอง |
ทะนงว่าเชียงทองหาสู้ไม่ |
ยินยอมยกธงแล้วปลงใจ |
นายไพร่เที่ยวทั่วทั้งพารา |
บ้างเที่ยวหาผักปลามาห่างค่าย |
ไทยแทงล้มตายเป็นหนักหนา |
ต่อรู้ว่าไพรีนั้นมีมา |
จึงเรียกหาผู้คนอลหม่านไป |
กลับเขาค่ายรอบขอบคู |
ชาวเชียงทองดูเห็นหวั่นไหว |
สังเกตเหตุรู้ว่าทัพไทย |
ก็ดีใจปิดประตูเสียฉับพลัน ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าเมืองเชียงทอง |
ทั้งพวกพ้องปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
ดีใจทัพไทยมาช่วยทัน |
กูจะตัดหัวมันชาวเชียงอินท์ |
จำจะให้เจ้าหัวนั้นออกไป |
บอกแม่ทัพไทยให้ทราบสิ้น |
มิได้ขบถต่อพระองค์ทรงธรณินทร์ |
ท้าวเพี้ยได้ยินก็พร้อมใจ |
จึงไปนิมนต์พระสังฆราช |
วิชาสามารถหากลัวไม่ |
อิกทั้งพระสงฆ์สององค์ไป |
ออกหลังเมืองมาได้นอกพารา |
ฝ่ายพวกทหารเจ้าเชียงใหม่ |
ไว้ใจว่าพระสงฆ์ไม่เข่นฆ่า |
เดินดึ่งถึงทัพอยุธยา |
เรียกหาให้เปิดประตูรับ |
พวกไทยเห็นพระสงฆ์องอาจ |
ประหลาดเปิดค่ายออกไล่จับ |
พาตัวเข้าไปให้นายทัพ |
นั่งเป็นอันดับกันลงไป |
พระยากำแพงระแหงเถิน |
ว่าหลวงลาวทำเกินไม่ไว้ได้ |
โทษด้อมมองกองทัพถึงบรรลัย |
พลายแก้วห้ามไว้ว่าอย่าทำ |
จึงถามไปพลันทันใด |
พากันมาไยจะใกล้คํ่า |
บอกตามจริงพลันท่านอย่าอำ |
ใครนำแนะบอกให้ออกมา ฯ |
๏ ครานั้นจึงท่านพระสังฆราช |
กล้าหาญชาญฉลาดเป็นหนักหนา |
แก้ไขด้วยไวปัญญา |
สาธุตัวข้านี้เป็นชี |
เจ้าเมืองเชียงทองให้มาหา |
ท่านผู้ถืออาญามาถึงนี่ |
อวยพรให้เป็นสุขสวัสดี |
แจ้งความตามที่มีศึกมา |
ล้อมรอบขอบเวียงเชียงทอง |
มากมายก่ายกองเป็นหนักหนา |
แต่ฟันแตกแหลกตายหลายเวลา |
ก็ไม่ล่าเลิกทัพกลับไป |
ที่ในเมืองข้าวปลานั้นหมดสิ้น |
จะออกไปหากินก็ไม่ได้ |
จึงทำเป็นยินยอมพร้อมใจ |
เข้าด้วยเชียงใหม่ไม่ฆ่าฟัน |
ครั้นจะบอกไปศรีอยุธยา |
พวกลาวตรวจตราอยู่เข้มขัน |
สารพัดขัดสนจนทุกอัน |
วันนี้ดีใจเห็นไทยมา |
จึงให้ข้อยมาบอกจะออกรบ |
ตีตลบหน้าหลังให้หนักหนา |
ขอท่านแม่ทัพไทยให้สัญญา |
วันใดฤกษ์พาจะได้ตี |
ทัพไทยเข้าตีจะตีด้วย |
ฟันให้มันมอดม้วยลงเป็นผี |
ท่านอย่าได้กังขาราคี |
อันถ้อยคำทั้งนี้เป็นความจริง |
ถ้าแม้นคิดคดขบถใจ |
จงฆ่าให้ตายสิ้นทั้งชายหญิง |
แต่เด็กเท่าลูกฝ้ายให้ตายจริง |
ฟันทิ้งเสียเถิดไม่ขอตัว ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว |
ฟังพระสังฆราชแล้วก็ยิ้มหัว |
ทัพเราชาวใต้มิได้กลัว |
ถึงเชียงทองทำชั่วขบถไป |
อันทัพเชียงใหม่นี้คงยับ |
จะตามจับมันมาให้จงได้ |
มัดมาฆ่าฟันให้บรรลัย |
บัดนี้ชีต้นได้มาเจรจา |
เราเชื่อถือด้วยว่าเป็นพระสงฆ์ |
คงซื่อตรงว่าไรไม่มุสา |
ท่านจงกลับไปในพารา |
บอกพระยาเชียงทองให้แจ้งใจ |
พรุ่งนี้เวลาตะวันบ่าย |
จะทำลายทัพลาวให้จงได้ |
เร่งรัดจัดพหลพลไกร |
ได้ฤกษ์เมื่อไรให้พร้อมกัน ฯ |
๏ ครานั้นพระสังฆราชา |
รับคำอำลาขมีขมัน |
เร็วไวเข้าในกำแพงพลัน |
บอกความสารพันที่สั่งไป |
เจ้าเมืองเชียงทองครั้นพลบคํ่า |
ทำตามคำสังฆราชหาช้าไม่ |
ลากปืนขึ้นป้อมด้วยทันใด |
เตรียมอาวุธน้อยใหญ่คอยเวลา |
บ้างปลุกเครื่องอานใส่มงคล |
รดมนต์น้ำว่านให้หาญกล้า |
พวกชายสบายใจในพารา |
ตีฆ้องกลองจ้าทั้งเชียงทอง ฯ |
๏ ครานั้นฟ้าลั่นสันบาดาล |
ยอดทหารเชียงอินท์สิ้นทั้งสอง |
อิกปราบเมืองแมนแสนกำกอง |
ปรองดองปรึกษาราชการ |
บัดนี้ไทยขึ้นมาล้อมทัพ |
อ้ายเชียงทองก็กลับทำห้าวหาญ |
ปิดประตูลากปืนยืนทะยาน |
ยิงต้านตอบโต้เป็นโกลี |
ทัพไทยโอบหลังตั้งดัก |
จะกักทัพเราไว้มิให้หนี |
นิ่งอยู่ดูจะเสียท่วงที |
มันจะตีดื้อดึงถึงแดนเรา |
ยั่นไยไทยมาสักกี่หมื่น |
จะตีให้มันตื่นขึ้นตีนเขา |
ให้ย่นแยกแตกทัพแล้วจับเอา |
ส่งเข้าเชียงอินท์สิ้นทั้งทัพ |
ตัวอ้ายเชียงทองจองหองกล้า |
ลูกเมียมัดมาเอาดาบสับ |
ลูกเด็กเล็กน้อยให้ย่อยยับ |
จึงกำชับเมืองแมนแสนกำกอง |
สองท่านคอยต้านด้านกำแพง |
ยิงแทงรบรุกจุกช่อง |
รับพวกอ้ายลาวชาวเชียงทอง |
เราสองนายนี้จะตีไทย |
พลมันกี่หยิบพริบตาเดียว |
หาต้องรบขับเคี่ยวเท่าไรไม่ |
ครั้นปรึกษายินยอมพร้อมใจ |
ต่างก็ไปเตรียมทัพฉับพลัน |
แต่ล้วนม้ากล้าแข็งแรงสามารถ |
สวมเสื้อแดงคาดชมพูมั่น |
ดาบตะพายกรายขยับสำหรับฟัน |
ทวนทองถือประจันประจำกาย |
หอกซัดๆ แซงบนหลังม้า |
เบาะอานผ่านหน้าดูเฉิดฉาย |
เครื่องอานว่านยาสำหรับกาย |
ทนายปืนปั้นลํ่าตะแบงมาน |
บ้างปลุกย้อมเครื่องอานอ่านเวท |
วิเศษสุดศักดากล้าหาญ |
ล้วนเคยได้ประจญประจัญบาน |
จัดการพร้อมสรรพทั้งทัพไป |
ครั้นได้พิชัยเพชรฤกษ์ |
เอิกเกริกโห่ร้องสนั่นไหว |
ออกจากค่ายพลันทันใด |
สะพรั่งพลไพร่ได้กระบวน |
สองนายขึ้นนั่งบนหลังม้า |
ขับร่าเริงรบตลบหวน |
แสงดาบปลาบแวบแปลบปลายทวน |
จวนถึงค่ายไทยให้ปักธง ฯ |
๏ ครานั้นพลายแก้วผู้แม่ทัพ |
ยืนขยับดังพระยาราชหงส์ |
เรืองฤทธิ์เชี่ยวชาญการณรงค์ |
เห็นลาวยกพลตรงมาครามครัน |
จึงชวนผู้รั้งทั้งสามคน |
ให้จัดแจงแต่งตนขมีขมัน |
ตรวจเตรียมพลไพร่ให้พร้อมกัน |
ผูกพันเครื่องครบในสงคราม |
เจ้าพลายแก้วก็เสกน้ำมันให้ |
ทาไพร่ทานายสิ้นทั้งสาม |
แต่งตัวขึ้นม้าสง่างาม |
ตามยามเลิศล้วนประสิทธิ์ดี |
ครั้นได้มหาพิชัยฤกษ์ |
เอิกเกริกเลิกทัพออกจากที่ |
โห่ร้องลั่นฆ้องกระแตตี |
กรูกรีเอิกเกริกระดมปืน |
กึกก้องสะเทือนท้องสุธาวาส |
ลาวตกใจขยาดจนแตกตื่น |
ควันมัวมืดคลุ้มดังกลางคืน |
ใกล้ลาวแล้วก็ยืนจะดูที ฯ |
๏ จะกล่าวถึงเจ้าเมืองเชียงทอง |
กับพวกพ้องเตรียมกระบวนไว้ถ้วนถี่ |
พอได้ยินปืนผาที่ราวี |
เห็นทัพไทยเข้าตีประจันกัน |
เปิดประตูกรูออกไปนอกเมือง |
แน่นเนื่องมากมายค่ายปิหลั่น |
ลำพังทัพนับได้สักห้าพัน |
นอกนั้นชาวเมืองออกช่วยรบ |
ล้วนปืนหอกออกสะพรั่งทั้งไพร่นาย |
แหกค่ายควันกลุ้มคลุ้มตลบ |
ถอนขวากลากปืนออกยืนรบ |
จุดคบเผาค่ายทลายไป ฯ |
๏ ฝ่ายปราบเมืองแมนแสนกำกอง |
เห็นพวกเชียงทองเข้ามาใกล้ |
ปล่อยปืนตับตึงลั่นเป็นควันไฟ |
ทวนแทงแย้งไขว่ประจันกัน |
เสี้ยมไม้รวกยาวเป็นหลาวแหลน |
เงยแหงนแทงผลับปับปั่น |
บ้างเข้ารุมกระหนาบเอาดาบฟัน |
บ้างถลันหอกแทงแย้งขวาซ้าย |
ทั้งสองข้างต่างยิงกันครืนครืน |
ลูกปืนแรงทะลุปรุค่าย |
ถูกคนป่นล้มระเนนตาย |
แข้งขาขาดหายกระจุยไป |
พวกเชียงทองมีค่ายปิหลั่นรับ |
ลุกปืนปับแบนเปล่าหาเข้าไม่ |
รบกันป่วนลั่นสนั่นไพร |
ยังไม่มีชัยชนะกัน ฯ |
๏ ครานั้นฟ้าลั่นสันบาดาล |
คุมพวกพลทหารแข็งขัน |
เห็นไทยไล่ทัพมาฉับพลัน |
คมสันรูปร่างสำอางดี |
ขี่ม้าร่าเริงบันเทิงท่า |
องอาจดังพระยาราชสีห์ |
จะใคร่ถามล่อลวงดูท่วงที |
ว่าความรู้มันจะดีสักเพียงไร |
จึงร้องตวาดเหวยเฮ้ยไทยเล็ก |
พึ่งรุ่นเด็กยังหาครบปีบวชไม่ |
เราแลดูรูปเจ้าก็เข้าใจ |
ว่าเรียนได้แต่เสน่ห์เล่ห์ลม |
กับทำอิทธิฤทธิ์ได้นิดหน่อย |
จะมาพลอยทำศึกไม่เห็นสม |
ฤๅเพื่อนฝูงยั่วใจให้นิยม |
จึงอาสาซานซมกระเซิงมา |
นามกรของท่านนั้นชื่อไร |
เจ้าไทยจึงเชื่อท่านหนักหนา |
เราขอถามตามจริงจงบอกมา |
พาราเชียงทองนั้นของใคร |
แดนลาวต่อลาวเขาขึ้นกัน |
อ้ายเชียงทองนั้นหาตรงไม่ |
โกหกยกเมืองไปขึ้นไทย |
เจ้าเชียงอินท์จึงใช้ให้เรามา |
จับอ้ายเชียงทองผู้ขบถ |
พร้อมลูกเมียหมดไปเข่นฆ่า |
ใช่การของเจ้าอยุธยา |
มารุกรานหาญกล้าด้วยเหตุใด |
มีพลขึ้นมาสักหยิบมือ |
ไม่พอครือทัพเวียงเชียงใหม่ |
แต่เหยียบก็จะเงียบสงัดไป |
ไม่ต้องทันถึงได้ประจัญบาน ฯ |
๏ ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายแก้ว |
ยิ้มแล้วตอบคำที่ว่าขาน |
เรานี้ฤๅคือว่าองค์พระกาล |
ยอดทหารอยู่ในอยุธยา |
เราชื่อว่านายพลายแก้ว |
ได้ทดลองกันแล้วจึงอาสา |
เจ้าเชียงทองข้องเคืองพระบาทา |
เป็นสองหน้าแหนงคดขบถไป |
ถวายเมืองกับกรุงอยุธยา |
แล้วกลับมาขึ้นเวียงเชียงใหม่ |
กำแพงระแหงแจ้งบอกไป |
พระองค์ใช้ให้เรามาฟาดฟัน |
ครั้นมาถึงเวียงเชียงทอง |
ปรองดองเหมือนเดิมไม่บิดผัน |
ว่าถูกห้อมล้อมไว้ไม่หนีทัน |
จึงแกล้งล่อลวงทั่นให้ตายใจ |
บัดนี้ก็ช่วยเราออกรบ |
ให้พวกท่านบัดซบให้จงได้ |
ท่านอย่าองอาจประมาทไทย |
ถ้าไม่ดีที่ไหนเราจะมา |
นามกรของท่านนั้นชื่อไร |
คารมใหญ่ยิ่งยวดมาอวดกล้า |
โมโหโอหังช่างเจรจา |
พริบตาเดียวดอกจะบรรลัย |
จะพากันสิ้นชาติวาสนา |
ที่ยกมาหาเหลือกลับไปไม่ |
จะบอกเจ้าเอาบุญให้อุ่นใจ |
จงอ่อนน้อมยอมไทยจะรอดตัว ฯ |
๏ ครานั้นจึงพระยาฟ้าลั่น |
ฟังพลันตบมือแล้วร้องหัว |
ชะต้าว่าได้ช่างไม่กลัว |
เขารู้ทั่วทุกแคว้นแดนภพไตร |
ว่าเมืองเชียงทองแต่บุราณ |
ถิ่นฐานเคยขึ้นกับเชียงใหม่ |
มันหากคิดคดขบถไป |
จึงมีภัยถึงเวียงเมืองเชียงทอง |
เขาจะทำกันประสาข้ากับเจ้า |
ใช่ธุระอย่าเข้ามาเกี่ยวข้อง |
ขืนสู่รู้ปั้นลํ่าทำคะนอง |
อย่านึกปองว่าจะรอดไปเป็นคน |
เราฤๅชื่อพระยาฟ้าลั่น |
เพื่อนนั้นสันบาดาลท่านอย่าฉงน |
ว่าพลางสำทับแล้วขับพล |
เกลื่อนกล่นกลุ้มกันกระชั้นมา |
พวกไทยโห่ครื้นเอาปืนยิง |
ฉวยหอกกลอกกลิ้งวิ่งเข้าหา |
พวกลาวกลุ้มกลาดดาษดา |
เอาวารับมันบ่ยั่นใคร |
ลาวถูกปืนปั่นหันเห |
บ้างซวนเซซอนซุกไม่ลุกได้ |
บ้างถูกหม้อดินทิ้งกลิ้งเกลื่อนไป |
เปลวไฟลุกวาบขึ้นปลาบตา |
ลาวยิงปืนผึงตึงถูกไทย |
ตายเจ็บปวดไปเป็นหนักหนา |
ย่อย่นร่นถอยหย่อยลงมา |
ลาวได้ทีท่าสะอึกไป |
พระยาฟ้าลั่นสันบาดาล |
ต้อนพลทหารกระโจมไล่ |
กวัดแกว่งดาบหอกออกไล่ไทย |
โห่ร้องก้องไปที่ในดง ฯ |
๏ พลายแก้วแววไวใจกล้า |
รีบเร่งอาชากระทืบส่ง |
มือถือดาบประทานผลาญณรงค์ |
ตรงใส่สันบาดาลที่นำกอง |
ฟันฉับลาวรับด้วยปลายทวน |
แทงสวนหลบได้ด้วยไวว่อง |
ลาวไพล่พลาดถลานัยน์ตาพอง |
ร้องหมาซี้แม่แร่เข้ามา |
พลายแก้วฟาดฟันสนั่นฉับ |
คอพับตะพายแล่งตลอดบ่า |
ฟ้าลั่นแลเห็นเข่นอาชา |
ตรงเข้าฟันพระยากำแพงเพชร |
ฉับเปล่าไม่เข้าพลัดตกม้า |
พลายแก้ววางร่ามาระเห็จ |
ฟันถูกฟ้าลั่นหันขี้เล็ด |
หัวเด็ดตกม้าลงมาดิน |
ไพร่เห็นนายตายก็แตกหนี |
ไทยไล่ตามตีเตลิดสิ้น |
บ้างป่วยเจ็บไปเลือดไหลริน |
บางล้มดิ้นตายยับไม่นับตัว |
ทัพไทยไล่ลามตามพิฆาต |
ลาวหนีเกลื่อนกลาดไม่เห็นหัว |
ปล่อยช้างม้าอาวุธด้วยความกลัว |
ครอบครัวทิ้งขว้างตามทางไป |
เมืองนครลำปางไม่ต่อสู้ |
ชาวเมืองหนีพรูไม่อยู่ได้ |
เมืองลำพูนผู้คนด้นเข้าไพร |
ทัพไทยอยู่ค่ายสบายควัน |
เที่ยวสกัดตัดทางไปเชียงอินท์ |
ค้นเก็บทรัพย์สินเป็นจ้าละหวั่น |
แต่บ้านจอมทองช่วยป้องกัน |
ไม่มีชาวทัพนั้นทำร้ายใคร |
เทวดาดลใจให้คิดปอง |
ด้วยจะได้ลาวทองพิสมัย |
จึงเพอิญอารีมีแก่ใจ |
เที่ยวเข้าออกได้อยู่อัตรา |
แต่บรรดาพวกไพร่ที่ได้เมีย |
แก่สาวได้เสียตามวาสนา |
สำราญรื่นชื่นใจทุกเวลา |
คอยท่าจะล่องไปกรุงไกร ฯ |