๏ ครานั้นขุนแผนแสนสะท้าน |
อาศัยอยู่บ้านพระหมื่นศรี |
เป็นสุขสบายหลายราตรี |
วันเมื่อจะมีซึ่งเหตุมา |
ขุนแผนวันทองกับนางแก้ว |
หลับแล้วสำราญใจในเคหา |
พระจันทร์แจ้งแสงสว่างกระจ่างฟ้า |
ดาราดาษไปในอัมพร |
พระพายพาบุปผชาติสะอาดกลิ่น |
รวยรินรสต้องละอองอ่อน |
ขุนแผนตื่นฟื้นตัวที่เตียงนอน |
ให้อาวรณ์คิดคะนึงถึงลาวทอง |
โอ้เพื่อนยากจากเมืองมาอยู่ใต้ |
มาจำใจพลัดพรากไปจากห้อง |
วันทองแก้วกิริยาก็มาครอง |
สงสารน้องประหนึ่งพี่ไม่อีนัง |
พลัดผัวตัวต้องไปลำบาก |
ตรำตรากตรอมใจในเขตขัง |
ถ้ารู้ข่าวเข้าไปถึงในวัง |
เห็นจะตั้งตาคอยให้ไปรับ |
เราก็ได้สัญญาว่าจะเลี้ยง |
ไม่หลีกเลี่ยงย้อนยอกกลอกกลับ |
จะเพิกเฉยเลยละให้ลี้ลับ |
เป็นเห็นกับเมียสองที่ต้องใจ |
บุราณว่าเสียทรัพย์อย่าเสียศิล |
เสียอื่นสิ้นอย่าเสียวาจาได้ |
นางก็ไม่มีผิดคิดนอกใจ |
จากไปเป็นเหตุด้วยขุนช้าง |
มันเพ็ดทูลใส่ไคล้ให้เป็นโทษ |
พระจึงโปรดให้พรากไปจากข้าง |
บัดนี้ก็สิ้นเรื่องเคืองระคาง |
แต่ตัวนางยังขังไว้วังใน |
เพราะผ่านเกล้าเจ้าชีวิตท่านทรงลืม |
ปลื้มจิตรจึงไม่ออกมานอกได้ |
จำจะต้องทูลขอต่อทรงชัย |
ครั้นคิดไปให้เกรงจะราคี |
พระองค์ก็ยกโทษโปรดแล้ว |
จะกล้าแกล้วทูลกวนไม่ควรที่ |
ถ้าพระองค์ไม่ทรงพระปรานี |
ก็จะเสียความดีที่มีมา |
จะละเมียเสียเล่าอนาถใจ |
คิดไปให้สงสารเป็นหนักหนา |
แต่เวียนคิดจนแจ้งแสงสุริยา |
ล้างหน้าแล้วก็ลุกจากห้องใน |
ตรงมาหาพระจมื่นศรี |
ว่าลูกนี้มีทุกข์เป็นข้อใหญ่ |
ถ้อยความก็สำเร็จเสร็จไป |
เพราะเจ้าคุณเอาใจช่วยป้องกัน |
ให้รำคาญสงสารแต่ลาวทอง |
ที่ยังต้องกักขังในวังนั่น |
โปรดด้วยช่วยทูลพระทรงธรรม์ |
ให้ได้ลาวทองนั้นกลับออกมา ฯ |
๏ ครานั้นฝ่ายว่าพระหมื่นศรี |
ฟังวาทีพลันตอบขุนแผนว่า |
เจ้าก็เป็นคนดีมีปัญญา |
ช้าช้าไว้สักปีดีกระมัง |
เหมือนดับไฟไม่ทันจะสิ้นเปลว |
ด่วนเร็วจะกำเริบเมื่อภายหลัง |
มิใช่อยู่อื่นไกลอยู่ในวัง |
ห้ามประตูกักขังทุกเวลา |
ไม่เข้านอกออกในเหมือนใครอื่น |
จะตื่นอะไรไปหนักหนา |
ชู้ผัวหาไหนใครจะมา |
ช้าช้าสักหน่อยก็เป็นไร ฯ |
๏ ขุนแผนตอบคำพระหมื่นศรี |
ที่ตรงตัวชั่วดีหาแคลงไม่ |
ข้อที่คิดสงสารรำคาญใจ |
ด้วยนางมิได้ผิดแก่ตัว |
เดิมพระองค์ทรงพระพิโรธลูก |
ลาวทองต้องถูกขังเพราะผัว |
ลูกพ้นโทษทิ้งไว้ให้หมองมัว |
เหมือนใจชั่วหลงเมียเสียข้างนี้ |
จึงเกิดความร้อนรนทำวนใจ |
ฟ้าจะผ่ามาอย่างไรให้รู้ที่ |
เจ้าคุณช่วยขยับขยายที่ร้ายดี |
เห็นทีก็จะทรงพระเมตตา ฯ |
๏ พระหมื่นศรีสุดที่จะห้ามปราม |
เมื่อไม่ฟังแล้วก็ตามแต่วาสนา |
พูดกันพอควรจวนเวลา |
เรียกหาบ่าวไพร่เข้าในวัง |
พวกทนายตามกันออกล้นหลาม |
ขุนแผนเดินตามมาข้างหลัง |
นั่งลงตรงนอกลับแลบัง |
คอยฟังว่าจะโปรดประการใด ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงศักดิ์ |
ปิ่นปักหลักทวีปทั้งน้อยใหญ่ |
สถิตในปรางค์มาศปราสาทชัย |
นางในหมอบเฝ้าเป็นเหล่ามา |
ตรัสประภาษราชกิจพระนิเวศน์ |
จนสุริเยศเรืองแรงแสงกล้า |
เสด็จออกท้องพระโรงรัตนา |
เบิกบรรดาข้าเฝ้าให้เข้าไป |
ต่างถวายบังคมก้มกราบ |
หมอบราบตามตำแหน่งผู้น้อยใหญ่ |
ที่มีข้อราชการงานเวียงชัย |
ก็ทูลให้ทรงทราบทุกสิ่งอัน ฯ |
๏ ครานั้นจมื่นศรีเสาวรักษ์ราช |
ชาญฉลาดตริตรึกให้นึกพรั่น |
ครั้นได้ช่องทูลฉลองไปฉับพลัน |
อันชีวันอยู่ใต้พระบาทา |
บัดนี้ขุนแผนแสนสะท้าน |
ให้เกล้ากระหม่อมฉานกราบทูลว่า |
ซึ่งโทษผิดติดตัวแต่ก่อนมา |
ทรงพระกรุณาให้พ้นภัย |
ยินดีพ้นที่จะประมาณ |
จะขอทำราชการแก้ตัวใหม่ |
ไปกว่าชีวันจะบรรลัย |
มิให้ขุ่นเคืองเบื้องบาทา |
ลาวทองต้องติดอยู่ในวัง |
กักขังช้านานมาหนักหนา |
ขอพระเดชปกเกศจงเคลื่อนคลา |
จะได้มาเป็นกำลังราชการ ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ทรงธรณี |
ได้ฟังจมื่นศรีแถลงสาร |
ฉุนพิโรธพระพักตร์เผือดเดือดดาล |
อ้ายนี่หาญเห็นกูนี้ใจดี |
ครั้นขุนเพชรขุนรามตามออกไป |
บังอาจใจฆ่าคนเสียป่นปี้ |
กูก็งดอาญาไม่ฆ่าตี |
ซ้ำยกอีวันทองให้แก่ตัว |
ยังลวนลามตามขออีลาวทอง |
จองหองไม่คิดผิดท่วมหัว |
พูดเล่นตามใจไม่เกรงกลัว |
เพราะตัวอีลาวทองต้องอยู่วัง |
ไกลตาตกว่าไม่ไว้ใจ |
มันกลัวกูนี้จะไพล่เอาข้างหลัง |
ฟังมันเจรจาดูน่าชัง |
ถ้าแม้นตั้งหน้ารับราชการไป |
ทำดีแล้วอย่าว่าแต่ลาวทอง |
อีกสักสองสามคนกูจะให้ |
เห็นไม่ทำแล้วยิ่งซ้ำทะนงใจ |
ละไว้จะกำเริบทุกเวลา |
ถ้าตามใจยอมให้อีลาวทอง |
จะจองหองเย่อหยิ่งขึ้นหนักหนา |
เป็นว่าไรไม่ขัดสักเวลา |
ทีหลังจะชะล่าไม่เกรงใคร |
เฮ้ยเอาตัวมันไปส่งไว้คุก |
ประทุกห้าประการหมดอย่าลดให้ |
เชื่อมหัวตะปูซ้ำให้หนำใจ |
สั่งเสร็จเสด็จในที่ไสยา |
พระหมื่นศรีตระหนกตกใจ |
ถอยหลังออกไปเป็นหน้าบ้า |
บอกขุนแผนให้ฟังหลั่งน้ำตา |
เมื่อกูว่าแล้วเอ็งไม่ฟังกู ฯ |
๏ ฝ่ายพวกนครบาลได้รับสั่ง |
เข้าล้อมหน้าล้อมหลังอยู่เป็นหมู่ |
พาขุนแผนคุมออกนอกประตู |
พระหมื่นศรีเอ็นดูร้องสั่งไป |
ฝากด้วยเถิดพ่อเจ้าทุกเช้าคํ่า |
จองจำแต่พออัชฌาสัย |
นครบาลรับคำแล้วนำไป |
เอาตัวเข้าคุกใหญ่ในทันที |
โซ่ตรวนเอามาทั้งคาขื่อ |
ตีนมือใส่ล่ามไปตามที่ |
เข้มงวดตรวจตรัดพัศดี |
พระหมื่นศรีไปบ้านรำคาญใจ |
จึงเรียกแก้วกิริยากับวันทอง |
น้ำตานองตกเซ็นกระเด็นไหล |
บอกความตามจริงทุกสิ่งไป |
รับสั่งให้จำผัวไว้ตรึงตรา |
ให้ทูลขอลาวทองกูห้ามแล้ว |
อ้ายพลายแก้วไม่ฟังคำกูว่า |
ทูลขึ้นตละไฟไหม้พารา |
สุดปัญญาเหลือที่จะทัดทาน ฯ |
๏ ครานั้นวันทองแก้วกิริยา |
ฟังว่าดังอกจะแตกฉาน |
ให้อัดอั้นตันใจอาลัยลาน |
ไม่ควรการเลยมาด่วนให้ควรเป็น |
ค่อยเป็นสุขแล้วมาทุกข์ไปอิกเล่า |
ชะรอยเขาคนนี้นี่ตัวเข็ญ |
จึงพิกลดลใจมิให้เย็น |
ไม่เคยเห็นจะอยู่ด้วยกันนาน |
ตั้งแต่เริ่มไปประเดิมก็ไม่ดี |
ปีละร้อยเรือนเดือนละร้อยบ้าน |
จนนอนเวรเกณฑ์ขาดราชการ |
ยังทะยานปีนข้ามกำแพงไป |
นางลาวสาวน้อยคนนี้เอ๋ย |
เมื่อไรเลยพ่อจะตัดเสียขาดได้ |
ทั้งทุกข์ทั้งแค้นแน่นหัวใจ |
สะอื้นไห้โศกเศร้าเฝ้าครํ่าครวญ |
ครั้นคลายวายโศกลงได้บ้าง |
สองนางลุกรีบมาโดยด่วน |
สงสารแต่วันทองท้องแก่จวน |
อักอ่วนย่างเยื้องพยุงตัว ฯ |
๏ ครั้นถึงคุกซุกซนด้นเดามา |
เห็นหน้าซบลงตรงตีนผัว |
สองนางกลิ้งเกลือกเสือกตัว |
ทูนหัวช่างไม่เล่าให้เมียฟัง |
จะทูลความตามขอเจ้าลาวทอง |
ปรึกษาน้องก็จะห้ามปรามไว้มั่ง |
นี่เนื้อว่าเคราะห์กรรมให้จำบัง |
แต่ดงรังร้อยรื้อมาเท่าไร |
เมื่อคุมส่งลงมาแต่พิจิตร |
ยังหาติดขื่อคาอย่างนี้ไม่ |
เป็นความน่าที่จะมีภัย |
ยังกลับไปเป็นชอบทุกสิ่งอัน |
ไม่ควรจะมาด่วนแต่โดยได้ |
ทำใจว้าวุ่นหุนหัน |
เลยเก่าใหม่ได้ยากต้องจากกัน |
โอ้แต่นี้นับวันจะทนทุกข์ |
จะต้องจำซ้ำเชื่อมหัวตะปู |
จะรู้ฤๅว่าเมื่อไรจะได้สุข |
จะดับชีวิตจิตใจอยู่ในคุก |
ฤๅจะทุกข์ไปจนได้พ้นภัย |
เวรกรรมทำไว้ฉันใดเลย |
ไม่มีเงยหน้าเทียมกับเขาได้ |
ไหนจะท้องไหนจะทุกข์ระทมใจ |
ผู้คนข้าไทที่ไหนมี |
จะส่งข้าวเช้าเย็นก็แสนยาก |
จะออกปากพึ่งใครที่ไหนนี่ |
ถึงท้องไส้ก็จะมาทั้งตาปี |
กลัวแต่ที่จะคลอดซึ่งลูกยา |
ถ้าอยู่ไฟใครเล่าจะส่งเสีย |
เมียเหลียวหาใครไม่เห็นหน้า |
จะตักนํ้าคํ่าเช้าหาข้าวปลา |
เห็นแต่แก้วกิริยาผู้เดียวดาย |
ถ้ามาอยู่ได้ที่ในคุก |
พอคลายทุกข์หุงต้มได้ง่ายง่าย |
คิดไปใจเจียนจะขาดตาย |
สองนางฟูมฟายฝ่ายน้ำตา ฯ |
๏ ขุนแผนแสนโศกด้วยสองนาง |
นํ้าตาพร่างพรายซาบลงอาบหน้า |
พี่คิดผิดจึงติดถึงขื่อคา |
เป็นเวลาเคราะห์กรรมมานำไป |
อันเหตุที่พี่ขอเจ้าลาวทอง |
เพราะได้น้องสองคนมาอยู่ใกล้ |
ยังนางเดียวต้องลำบากยากไร้ |
ทิ้งไว้ก็เป็นพี่นี้อาธรรม์ |
มิได้นึกว่าพระองค์จะทรงโกรธ |
ให้จองจำทำโทษถึงมหันต์ |
ครั้งนี้ตายเป็นเห็นเท่ากัน |
ด้วยโทษทัณฑ์แทบพ้นจะทนไป |
อันเครื่องพันธนาที่จำจอง |
อิกสักสองเท่านี้ก็หนีได้ |
จะเสียสัตย์ขัดสนจึงจนใจ |
หนีไปใครจะนับว่าเป็นชาย |
เสมือนหนึ่งบิดาท่านทำโทษ |
แม้นมิโปรดตามทีไม่หนีหาย |
จะทนไปให้ตลอดจนวอดวาย |
สู้ตายตามแต่พระอาญา |
ตัวเจ้าวันทองสิท้องไส้ |
อลักเอลื่อเหลือใจเป็นหนักหนา |
ไปอยู่บ้านนานนานจึงค่อยมา |
พอเห็นหน้าเยี่ยมเยือนว่าอยู่ดี |
เจ้าแก้วกิริยานั้นตัวเปล่า |
พอหุงข้าวต้มแกงกินที่นี่ |
เวียนมาเวียนไปเป็นไรมี |
เมื่อแก้วพี่อยู่บ้านนานวันไป |
คลอดลูกคลอดเต้าจะเปล่าตา |
เจ้าแก้วกิริยาเป็นเพื่อนได้ |
ข้าวน้ำคํ่าคืนหาฟืนไฟ |
กว่าจะออกเดินได้เจ้าจึงมา |
พี่จะทรมานไปหลายวัน |
กว่าพวกตรวจทั้งนั้นจะนับหน้า |
จึงจะอ้อนวอนเขาทุเลาลา |
จะไปหาเยี่ยมเจ้าอย่าเศร้าใจ |
ครั้นจะอยู่ด้วยพี่ที่นี่เล่า |
จะคลอดลูกคลอดเต้าอย่างไรได้ |
จวนคํ่าแล้วน้องวันทองไป |
อย่าร้องไห้เลยจงเหือดที่เดือดดาล |
อุตส่าห์ฝากตัวพระจมื่นศรี |
ลูกเมียท่านมีอยู่ที่บ้าน |
เจียมตัวกลัวเขาอย่าระราน |
พี่นี้นานเนิ่นแล้วจะพ้นภัย |
เจ้าแก้วไปส่งเจ้าวันทอง |
แล้วจัดแจงข้าวของออกมาให้ |
ข้าวปลาผ้าผ่อนท่อนสไบ |
ตามประสาเข็ญใจที่เรามี ฯ |
๏ นางแก้วกิริยากับวันทอง |
น้ำตานองอาบหน้าทั้งสองศรี |
สะอื้นถอนใจใหญ่ให้รอรี |
อำลาสามีแล้วเดินไป |
ครั้นถึงสองนางย่างเข้าห้อง |
จัดแจงข้าวของหาช้าไม่ |
หมากบุหรี่ผ้าผ่อนท่อนสไบ |
ที่นอนหมอนมุ้งได้ไปตามมี |
เหลือมือถือแบกไปไม่ไหว |
ก็ไหว้วานข้าไทพระหมื่นศรี |
ส่งถึงคุกพลันทันที |
พัศดีนายตรวจก็เอ็นดู |
ให้คนโทษในคุกช่วยปลูกทับ |
ที่นอกหับเผยให้นางแก้วอยู่ |
ครั้นสิ้นแสงพระอาทิตย์ปิดประตู |
ร้อยลั่นแหล่งคู่กันทั่วไป ฯ |
๏ ครั้นยามดึกกำดัดสงัดนอน |
พระจันทรแจ่มกระจ่างสว่างไสว |
ขุนแผนแสนโศกวิโยคใจ |
เขาร้อยไว้ตัวติดทั้งขื่อคา |
โซ่ตรวนถ้วนครบห้าประการ |
ทรมานมึนเมื่อยเป็นหนักหนา |
จะพลิกตัวตึงทั่วทั้งกายา |
ยิ่งนานยิ่งระอาระอิดใจ |
โอ้ว่าคนโทษทั้งปวงเอ๋ย |
กะไรเลยทนทานตั้งปีได้ |
อันตัวกูจะอยู่ให้จองภัย |
เป็นว่าไม่ต้องการจะทานทน |
เพียงถือสัตย์สุจริตไม่คิดหนี |
แต่เท่านี้ก็พอจะเป็นผล |
ไม่คิดคดต่อเจ้าข้าวแดงตน |
ก็เป็นคนเลิศโลกย่อมฦๅชา |
คิดแล้วจึงสะเดาะด้วยฤทธิมนตร์ |
ตรวนหล่นคนหลับสนิทหน้า |
ร่วงกราวเท้ามือทั้งขื่อคา |
ก็ล่องหนออกมาจากคุกพลัน ฯ |
๏ ถึงทับแก้วกิริยาเห็นยังตื่น |
นั่งสะอื้นรัญจวนป่วนปั่น |
เข้าทับประคองปลอบน้องพลัน |
จะโศกศัลย์ครวญครํ่าไปทำไม |
ถึงร้องไห้ใช่ว่าจะเป็นสุข |
เหลือทุกข์แล้วจะทุกข์ไปถึงไหน |
ทุกข์นักก็จะหนักลงรํ่าไป |
จะเจ็บไข้ให้ห่วงถึงดวงตา |
ฟังคำพี่ว่าเถิดน้องแก้ว |
พี่มาแล้วลืมทุกข์เสียดีกว่า |
กอดนางพลางช่วยเช็ดนํ้าตา |
เงยหน้าจูบหน่อยเถิดกลอยใจ |
งามชื่นอย่าสะอื้นอาลัยวอน |
เจ้านอนเถิดพี่จะกล่อมให้ |
กอดประทับกับทรวงด้วยห่วงใย |
หลับใหลอยู่ในห้องทั้งสองรา ฯ |
๏ ครานั้นทำมะรงแลยามใน |
ตื่นขึ้นร้องไปขานยามหวา |
ถึงใครใครรับลำดับมา |
ว่าชื่อเรียกหาซ้ำต่อไป |
รับสิ้นสุดไปไม่ขาดแคลน |
แต่ขุนแผนหารับร้องโฮยไม่ |
หลับอยู่ไม่รู้ฤๅอย่างไร |
เรียกชื่อซ้ำไปไม่ขานมา |
ยามในเอาชุดไปจุดส่อง |
ยังแต่โซ่ตรวนกองแล้วเจ้าข้า |
หนีลอดไปได้ทั้งขื่อคา |
เรียกกันเร็วหวาตามให้ทัน |
เราตื่นอยู่ดูเห็นเมื่อตะกี้ |
จะซุกซนด้นหนีไปไหนนั่น |
บอกพัศดีมาพร้อมหน้ากัน |
งกงันงุ่มง่ามตามค้นดู |
ถึงทับหับเผยเลยพ้นไป |
กำลังตกใจวุ่นวายอยู่ |
ต่างคนต่างมองทุกช่องรู |
ริมประตูเพดานซานซมไป |
ไม่พบปะจะอย่างไรไฉนนี่ |
พัศดีตรองตรึกนึกขึ้นได้ |
เมียมันอยู่หับเผยเฮ้ยอย่างไร |
เอ็งเอาชุดจุดไฟไปมองดู |
เห็นขุนแผนกับแก้วกิริยา |
ร้องบอกกันมาว่าอยู่อยู่ |
ทำมะรงขัดใจไม่บอกกู |
ฉวยขุนแผนลากถูครู่ออกมา |
ขุนแผนลุกโลดโดดคำราม |
อ้ายสํ่าสามข่มเหงพ่อหนักหนา |
ฉุดกระชากลากปล้ำทำนานา |
หน้ากูนี้จะหนีเอ็งฤๅไร |
พัศดีทำมะรงตรงเข้ามา |
ต่างคนด่าว่าหากลัวไม่ |
เฆี่ยนให้หลังพังฟังมันไย |
เข้าไปกลุ้มรุมจะคุมมา ฯ |
๏ ขุนแผนตวาดอำนาจครุฑ |
มือหลุดหัวคะมำเข้าตำฝา |
เข้าจับกุมวุ่นวายเป็นหลายครา |
ขุนแผนร้องว่าอย่าทำกู |
นี่นึกว่าจะเอากูเข้ากรึง |
หน้ามึงฤๅจะจำกูไว้อยู่ |
ไม่เชื่อยังคะนองก็ลองดู |
เอาคาสวมท่วมหูทั้งโซ่ตรวน |
ขุนแผนบริกรรมซ้ำสะเดาะ |
หลุดเผลาะกองกลิ้งทุกสิ่งถ้วน |
ลูกโซ่โย้เย่เปรปรวน |
พยักชวนเฮ้ยออเจ้าเข้ามาจำ |
ทำมะรงพัศดีเห็นดีจริง |
นั่งนิ่งยกมือขึ้นไหว้พรํ่า |
ลูกขอโทษโปรดเถิดที่ได้ทำ |
กรรมของพ่อดอกได้โปรดปราน |
ถ้าแม้นพ่อหลบลี้หนีไป |
โทษทัณฑ์ก็จะได้กับดีฉาน |
มุลนายท่านคงว่าด่าประจาน |
เฆี่ยนตีบักอานทุกคนไป ฯ |
๏ ขุนแผนว่าเราก็เจ้าเลี้ยง |
สาบานแล้วหาเบี่ยงความสัตย่ไม่ |
ถ้ากูคิดหลบลี้หนีไซร้ |
กลางวันก็จะไปได้สบาย |
เฮ้ยจงดูเล่นเป็นขวัญตา |
พอว่าแล้วอึดใจให้ตัวหาย |
พัศดีทำมะรงงงวุ่นวาย |
พ่อคุณลูกตายแล้วทีนี้ |
กลับมาเถิดพ่ออย่าท้อใจ |
ลูกไม่จำพ่อแล้วอย่าหลบหนี |
ขุนแผนคลายฤทธิประสิทธี |
พวกผู้คุมยินดีลงวันทา |
นั่งพูดกันอยู่พอตรู่รุ่ง |
สุริยาพวยพุ่งพระเวหา |
พัศดีเดินออกนอกคุกมา |
เข้าหาเจ้าประคุณพระยายม |
เจ้าคุณถามว่าไปไหนแต่เช้า |
ขอรับใส่เกล้าใส่กระผม |
ด้วยขุนแผนแสนประสิทธิดังฤทธิลม |
เครื่องจำจองถมก็หลุดไป |
ครั้นว่าก็ว่าไม่หนีดอก |
จะเชื่อแต่ปากบอกนั้นไม่ได้ |
ข้าพเจ้าเฝ้าตัวก็กลัวภัย |
เจ้าคุณจงได้กรุณา ฯ |
๏ พระยายมได้ฟังพัศดี |
ไปหาตัวมานี่เร็วเร็วหวา |
พัศดีรับคำแล้วอำลา |
รีบมาถึงคุกเข้าทันใด |
บอกว่าพระยายมท่านให้หา |
เชิญรีบไคลคลาอย่าช้าได้ |
จึงพาตัวขุนแผนผู้แว่นไว |
ไปถึงนั่งไหว้ทั้งสองรา |
พระยายมว่าอย่างไรเจ้าขุนแผน |
เหลือแสนทำขุ่นวุ่นหนักหนา |
ตัวต้องโทษเขาทำตามอาญา |
ยังหาญกล้าหักโซ่กุญแจไป |
ฤๅเชื่อว่าตัวดีมีฤทธิ์เดช |
รู้เวทมนตร์ดีจะหนีได้ |
จะแกล้งเราเหล่านี้ให้มีภัย |
ทำได้ทำไปทุกสิ่งอัน |
แม้นทราบถึงองค์พระผ่านฟ้า |
ก็จะลงอาญาถึงอาสัญ |
ว่ากะไรว่าไปอย่าเกรงกัน |
จะนิ่งอั้นถือดีอยู่ว่าไร ฯ |
๏ ขุนแผนตอบคำพระยายม |
ความสัตย์เกล้ากระผมหาหนีไม่ |
แต่ว่าต้องจองจำระกำใจ |
ทนทานไม่ได้ทั้งขื่อคา |
เจ้าคุณเป็นใหญ่ได้โปรดเกล้า |
ข้าพเจ้าไม่หลบลี้หนีหน้า |
จะตายตามความสัจปัฏิญา |
มิให้มีผิดมาถึงเจ้าคุณ ฯ |
๏ พระยายมได้ฟังขุนแผนว่า |
ถ้ากระนั้นวันหน้าก็อย่าวุ่น |
เราจะตามใจเจ้าเอาบุญ |
อย่าลืมคุณพระองค์ทรงเลี้ยงมา |
เจ้าจงให้สัตย์ปัฏิญาณ |
ดังว่าขานไม่คิดจะหนีหน้า |
ให้เราแจ้งใจพลันเหมือนสัญญา |
คำหนึ่งเราไม่ว่าจะตามใจ ฯ |
๏ ขุนแผนประนมก้มกราบกราน |
ตั้งสัตย์ปัฏิญาณสาบานให้ |
ถ้าว่าหลบลี้หนีไป |
ให้ตกนรกต่ำใต้อเวจี |
แม้นตายจะสู้ตายอยู่ในคุก |
กว่าจะโปรดพ้นทุกข์ไปจากที่ |
มิได้คิดชั่วช้ากาลี |
ตั้งแต่วันนี้จนวันตาย ฯ |
๏ พระยายมราชครั้นได้ฟัง |
จึงสั่งนายตรวจสิ้นทั้งหลาย |
อย่าจองจำขุนแผนให้วุ่นวาย |
ตามแต่จะสบายอย่าขัดใจ |
ขุนแผนก็อย่าออกไปเที่ยวเล่น |
ใครใครเขาเห็นจะว่าได้ |
ไปเถิดอย่าช้าพากันไป |
พัศดีกราบไหว้พากันมา |
ตั้งแต่วันนั้นสืบสืบไป |
ทำมะรงน้อยใหญ่มิได้ว่า |
ค่อยอยู่เป็นสุขทุกเวลา |
กับนางแก้วกิริยาที่คุกใน |
วันทองอุตส่าห์มาเยี่ยมผัว |
ทั้งที่ตัวขุ่นข้องท้องไส้ |
ขุนแผนยามปลอดก็ดอดไป |
หาวันทองได้เนืองเนืองมา |
ค่อยเสงี่ยมเจียมตัวด้วยกลัวโทษ |
เพราะพระองค์ทรงโกรธเป็นหนักหนา |
พัศดีนายตรวจก็เมตตา |
ทั้งพระยายมราชไม่เคืองใจ ฯ |
๏ จะกล่าวถึงเจ้ามารล้านขุนช้าง |
แต่เป็นความตามนางหาได้ไม่ |
ทั้งเสียทรัพย์ยับเยินเพอิญไป |
นอนใคร่ครวญคะนึงถึงวันทอง |
ข้าไทในเรือนออกเกลื่อนพล่าน |
ไม่ต้องการที่จะชมประสมสอง |
ถึงข้าไทมันก็ไม่ยอมปรองดอง |
แต่ปวดท้องนอนควํ่าทุกคํ่าคืน |
เฝ้าฝันถึงวันทองทุกเวลา |
ข้าวปลากินไม่ได้ให้ขมขื่น |
นั่งไม่เป็นสุขลุกขึ้นยืน |
พอม่อยหลับกลับตื่นนัยน์ตาชัน |
หลับตาลงไม่ได้ให้เห็นผี |
เพอิญให้เห็นนี่แล้วเห็นนั่น |
นอนสะดุ้งเป็นกุ้งเต้นไม่เว้นวัน |
แต่ไก่ขันจนสายไม่คลายเลย |
กดท้องร้องรนกระวนกระวาย |
ลูกจะตายเป็นแท้พ่อแม่เอ๋ย |
เมื่อวันทองอยู่นี่ไม่มีเลย |
ถึงเพียงนี้มิเคยจะได้เป็น |
จะเป็นมั่งแต่ละครั้งแต่ละหน |
ที่มันก่นอย่างนี้มิเคยเห็น |
นี่กะไรมันเอาทุกเช้าเย็น |
ถ้าขืนเป็นเช่นนี้ปีเดียวตาย |
ผลุนโผนโจนออกไปนอกห้อง |
ร้องเรียกศรพระยาไปไหนหาย |
ขึ้นมาเล่นหมากรุกให้ทุกข์คลาย |
ศรพระยาหน้าหงายเดินเร็วมา |
เทหมากรุกออกมาม้าโคนตั้ง |
ขุนช้างย่างม้าพลั้งตาโป่งหวา |
ทิ่มวุ่นกินขุนศรพระยา |
พ่อเจ้าขาขอโทษโปรดไถ่ตัว |
ขุนช้างหัวร่อพ่อไม่ให้ |
ศรพระยาวอนไหว้พ่อทูนหัว |
ฉันเล่นเป็นแต่เสือกินวัว |
หมากรุกฉันกลัวแล้วพ่อคุณ |
ถึงพระครูก็สู้พ่อไม่ได้ |
มันเหลือใจกินกันจนชั้นขุน |
ฉันก็เดินซมเซอะมัวเงอะงุน |
เออเขาฦๅกันวุ่นแต่วังใน |
ว่าขุนแผนทูลขอเจ้าลาวทอง |
ถูกกริ้วจำจองไว้คุกใหญ่ |
วันทองอยู่เดียวคงเปลี่ยวใจ |
เราน่าไปพูดจาดูตามที |
เมื่อจากไปใช่ว่านางโกรธแค้น |
อ้ายขุนแผนมันมาพาเจ้าหนี |
บัดนี้เข้าคุกทุกข์เต็มที |
เห็นจะคืนมาดีไม่มีงอน ฯ |
๏ ขุนช้างฟังคำศรพระยา |
จริงจริงฤๅหวาอ้ายพ่อศร |
ลุกขึ้นนั่งยองยองร้องละคร |
พระภูธรไปค้างอยู่กลางไพร |
อันพระยาช้างเผือกคชสาร |
จะประสบพบพานก็หาไม่ |
จะยกทัพกลับเข้าพระเวียงชัย |
วันนี้พี่จะได้วันทองมา |
อ้ายดีอ้ายไทยไปผูกช้าง |
สั่งแล้วลุกย่างไปผลัดผ้า |
ลงจากหอกลางขึ้นช้างมา |
บ่าวไพร่พร้อมหน้าสะพรั่งไป |
มาถึงกรุงพอรุ่งขึ้นสางสาง |
ปลงช้างข้างวัดธรรมาใหญ่ |
ครั้นสายขึ้นพลันด้วยทันใด |
ให้บ่าวเข้าไปอยุธยา |
เจ็ดคนด้วยกันผันผาย |
คอยดูแยบคายข้างหลังหน้า |
ถ้าพบวันทองแล้วอย่าช้า |
ฉวยเอาตัวมาอย่ากลัวใคร |
พวกบ่าวรับคำขุนช้างสั่ง |
พร้อมพรั่งกันมาไม่ช้าได้ |
พากันลัดลอดสอดแนมไป |
จนใกล้หน้าบ้านพระหมื่นนาย ฯ |
๏ ครานั้นวันทองผ่องโสภา |
ครั้นแสงสุริยาสว่างฉาย |
ลงจากเรือนพลางย่างกราย |
หมายใจว่าจะไปหาผัวรัก |
เดินออกมาตามถนนขวาง |
พวกบ่าวขุนช้างมันรู้จัก |
มันแกล้งเดินไปไม่ทายทัก |
วันทองเดินก้มพักตร์จะรีบไป |
ครั้นถึงกลางย่านสะพานช้าง |
ไกลบ้านที่นางอยู่อาศัย |
มันเข้าห้อมล้อมพลันด้วยทันใด |
ไปไหนไม่ปะพะพานตัว |
กู้เงินเจ้าคุณมาห้าชั่ง |
ตั้งแต่หลบเสียทั้งเมียผัว |
วันนี้มาพบเข้าจะเอาตัว |
วันทองกลัวตัวสั่นร้องอึงไป |
ใครได้กู้เงินมาว่าเปล่าเปล่า |
จะพาตัวเราไปข้างไหน |
ชาวบ้านเอ๋ยวานช่วยด้วยเป็นไร |
ข้าไหว้พ่อแม่สิ้นทั้งปวง ฯ |
๏ ผู้คนหญิงชายทั้งหลายนั้น |
ต่างคนคิดสำคัญว่าเงินหลวง |
จะช่วยช่วงชิงไว้ใช่กระทรวง |
อ้ายพวกนั้นมันก็หน่วงเอาตัวไป |
จนออกประตูวัดสวนหลวง |
ฝูงคนทั้งปวงไม่ช่วยได้ |
ฝ่ายพวกเรือคอยรับก็ฉับไว |
ลงเรือข้ามไปถึงฝั่งพลัน |
ขึ้นบกตะบึงถึงฉับไว |
ขุนช้างดีใจจนตัวสั่น |
แม่อย่าร้องไห้ไปด้วยกัน |
พี่หมายมั่นมารับเจ้ากลับไป |
ว่าพลางทางเรียกช้างจำลอง |
อุ้มวันทองขึ้นช้างหาช้าไม่ |
วันทองด่าทอไม่พอใจ |
ผลักไสทึ้งผมถ่มนํ้าลาย |
ขุนช้างไสช้างพลางปลอบน้อง |
แม่อย่าร้องไห้ร่ำระส่ำระสาย |
พี่รักเจ้าเท่าแทบประดาตาย |
มั่นหมายไม่เว้นสักเวลา |
วันทองแค้นใจให้สะอื้น |
กูจะคืนดีด้วยอย่าพักว่า |
ฆ่าฟันหั่นคอเสียเถิดรา |
แม้นมึงขืนพาเอากูไป |
ถึงบ้านเมื่อไรตายเมื่อนั้น |
จะอยู่ถึงสามวันอย่าสงสัย |
กูไม่ขออยู่กินสิ้นอาลัย |
ส่งเสียงร้องไห้ไปเรี่ยทาง |
ขุนช้างดีใจด้วยได้น้อง |
ส้วมกอดวันทองไม่แหห่าง |
โอ้ว่าเจ้าโฉมเฉิดเลิศปาง |
ไปครองปรางค์เถิดเทพลินลา |
สมบัติมอบครอบครองให้น้องสิ้น |
พี่คือโสภิณท้าวยักษา |
อันมนุษย์พี่น้องทั้งสองรา |
ดังว่าขุนแผนที่ติดคุก |
กี่ปีจึงจะมาหาเจ้าได้ |
มากลับไปเรือนร่วมภิรมย์สุข |
จงสร่างโศกเสื่อมเศร้าบรรเทาทุกข์ |
ปลํ้าปลุกกอดจูบลูบคลำไป |
วันทองร้องไห้มิได้เงย |
โคตรแม่มึงเอ๋ยกูมันไส้ |
ค้อนพลางด่าพลางมากลางไพร |
พอใกล้รุ่งก็ถึงเมืองสุพรรณ |
เอาช้างประทับกับบันได |
อุ้มวันทองไปขมีขมัน |
เข้าห้องวางน้องกับเตียงพลัน |
จะดิ้นโดยโหยหันไปทำไม |
เมื่อเป็นสาวคราวแรกเจ้าตัวเปล่า |
วันทองเจ้ายังสู้พี่ไม่ได้ |
นี่มีท้องอลักเอลื่อเหลือใจ |
จะดิ้นไยเหนื่อยเปล่าไม่เข้ายา |
ขุนช้างร่วมภิรมย์สมสนิท |
สมคิดสมมาดปรารถนา |
จำชั่วเสียตัวทั้งนํ้าตา |
ครั้นสิ้นแสงสุริยาก็หลับไป |
ขุนช้างปรีดิ์เปรมเกษมสุข |
เฝ้าปลํ้าปลุกเชยชิดพิสมัย |
แต่ฟอนเฟ้นเคล้นนมภิรมย์ใจ |
ดังว่าได้ประสบพบขุมทอง ฯ |