๏ ครานั้นวันทองผ่องโสภา |
อยู่เคหากับขุนช้างให้หมางหมอง |
ไม่มีสุขทุกเวลาน้ำตานอง |
ด้วยว่าท้องสิบเดือนไม่เคลื่อนคลา |
จะคลอดบุตรสุดปวดให้รวดร้าว |
ตึงหัวเหน่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยต้นขา |
แสงหิ่งห้อยพรอยพรายพร่างสายตา |
จะเรียกหาเจ้าขุนช้างให้หมางใจ |
แต่นวดนวดปวดมวนให้ป่วนปั่น |
สุดจะกลั้นกลอกหน้าน้ำตาไหล |
พยุงท้องร้องเรียกพวกข้าไท |
จะขาดใจแล้วช่วยด้วยแม่คุณ |
ขุนช้างตื่นฟื้นตัวหัวผงก |
เห็นเมียตกใจผวาออกว้าวุ่น |
ประคองนางพลางบนเอาต้นทุน |
อย่าท้อแท้แม่คุณจงแข็งใจ |
พลางดูท้องร้องว่าเออออกแล้วซิ |
ตั้งสติอารมณ์จะข่มให้ |
นางวันทองร้องเสือกกลิ้งเกลือกไป |
ขุนช้างได้หมอนรองประคองคอ |
เรียกหาข้าคนอลหม่าน |
บนนอกชานพวกผู้หญิงออกวิ่งสอ |
ให้ไปรับยายสายกับยายยอ |
แต่ล้วนหมอตำแยเซ็งแซ่มา |
เข้าถือท้องต้องถูกว่าลูกต่ำ |
เอาหน้าคว่ำไขว่ขวางไปข้างขวา |
ช่วยผันแปรแก้ไขใกล้เวลา |
บ้างตำยาขยำส้มต้มน้ำร้อน |
นางวันทองร้องไห้ใจจะขาด |
พอกรรมชวาตวาตะประทะถอน |
อรุณฤกษ์เบิกสุรินทร์ทินกร |
อุทรคลอนเคลื่อนคลอดไม่วอดวาย |
พอพ้นท้องร้องแว้นางแม่หวีด |
หน้าซีดอกสั่นมิ่งขวัญหาย |
ขุนช้างมองร้องอ้ายหนูเป็นผู้ชาย |
ทั้งย่ายายเยี่ยมลูกให้หยูกยา |
แล้วทอดเตาเข้าไฟไม่ไข้เจ็บ |
ครั้นจะเก็บความกล่าวยาวหนักหนา |
ค่อยกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงไว้จนใหญ่มา |
กระทั่งอายุเจ้าได้เก้าปี |
ไม่คลาดเคลื่อนเหมือนแม้นขุนแผนพ่อ |
เหลืองลอออวบอ้วนเป็นนวลศรี |
ทั้งจุกผมกลมกล่อมละม่อมดี |
ช่างพาทีฉอเลาะพูดเพราะพราย |
นางวันทองน้องคะนึงถึงขุนแผน |
ด้วยลูกแม้นเหมือนเหลือเป็นเชื้อสาย |
บอกบ่าวไพร่ให้สำเหนียกเรียกลูกชาย |
ชื่อว่าพลายงามน้อยแก้วกลอยใจ ฯ |
๏ ฝ่ายขุนช้างหมางจิตรให้คิดแค้น |
ลูกขุนแผนมั่นคงไม่สงสัย |
เมื่อกระนั้นเหมือนกูครั้นดูไป |
ก็กลับไพล่เหมือนพ่ออ้ายทรพี |
อีแม่มันวันทองก็สองจิตร |
ช่างประดิษฐ์ชื่อลูกให้ถูกที่ |
เรียกพ่อพลายคล้ายผัวอีตัวดี |
ทุกราตรีตรึกตราจะฆ่าฟัน |
พอวันทองน้องป่วยลงด้วยเคราะห์ |
มาจำเพาะจะวิโยคให้โศกศัลย์ |
ฟังเสียงเงียบระงับหลับกลางวัน |
พลายงามนั้นนั่งกับพ่อที่หอกลาง |
ขุนช้างเห็นเป็นทีไม่มีเพื่อน |
แกล้งชี้เชือนชักพาลงมาล่าง |
ให้ขี่หลังนั่งบ่าแล้วว่าพลาง |
ไปชมช้างกวางทรายมีหลายพรรค์ |
ทั้งนกยูงฝูงหงส์มันลงเกลื่อน |
จับไก่เถื่อนมาเลี้ยงฟังเสียงขัน |
พูดให้เพลินเดินพลางกลางอรัญ |
แกล้งให้หมั่นดูแลฝูงแกกา |
โพระดกนกงั่วกระตั้วเต้น |
กระแตเล่นไม้โจนโผนผวา |
เจ้าพลายงามถามพ่อพูดจ้อมา |
ขุนช้างพาเลี้ยวไปปะไม้ซุง |
เห็นลับลี้ที่สงัดขัดเขมร |
สะบัดเบนเบือนเหวี่ยงลงเสียงผลุง |
ปะเตะซ้ำต้ำผางเข้ากลางพุง |
ถีบกระทุ้งถองทุบเสียงอุบโอย |
พลายงามร้องสองมือมันอุดปาก |
ดิ้นกระดากถลากไถลร้องไห้โหย |
พอหลุดมือรื้อร้องวันทองโวย |
หม่อมพ่อโบยตีฉันแทบบรรลัย |
ไม่เห็นแม่แลหาน้ำตาตก |
ขุนช้างชกฉุดคร่าไม่ปราศรัย |
จนเหงื่อตกกระปรกประปรอมขึ้นคร่อมไว้ |
หอบหายใจฮักฮักเข้าหักคอ |
พลายงามดิ้นสิ้นเสียงสำเนียงร้อง |
ยกแต่สองมือไหว้หายใจฝ่อ |
มันห้ามว่าอย่าร้องก็ต้องรอ |
เรียกหม่อมพ่อเจ้าขาอย่าฆ่าเลย |
จงเห็นแก่แม่วันทองของลูกบ้าง |
พ่อขุนช้างใจบุญเจ้าคุณเอ๋ย |
ช่วยฝังปลูกลูกไว้ใช้เช่นเคย |
ผงกเงยมันก็ทุบหงุบลงไป |
บีบจมูกจุกปากลากกระแทก |
เสียงแอ๊กแอ๊กอ่อนซบสลบไสล |
พอผีพรายนายขุนแผนผู้แว่นไว |
เข้ากอดไว้มิให้ถูกลูกของนาย |
ขุนช้างเห็นว่าทับจนตับแตก |
เอาคาแฝกฝุ่นกลบให้ศพหาย |
แล้วกลิ้งขอนซ้อนทับให้ลับกาย |
ทำลอยชายชมป่ากลับมาเรือน ฯ |
๏ ฝ่ายผีพรายนายขุนแผนแค้นขุนช้าง |
อุตส่าห์ง้างขอนใหญ่ให้เขยื้อน |
แล้วเป่าแก้แผลหายละลายเลือน |
เจ้าพลายเคลื่อนคลายฟื้นเหมือนตื่นนอน |
นางพรายบอกว่าเราบ่าวขุนแผน |
มาทำแทนเมื่อมันทับช่วยรับขอน |
ไม่ม้วยแล้วแก้วตาอย่าอาวรณ์ |
อยู่นี่ก่อนเถิดนะเจ้าอย่าเศร้าใจ |
แม่ของเจ้าเราจะบอกออกมารับ |
แล้วหายวับวู่วามตามวิสัย |
เจ้าพลายงามยามเย็นไม่เห็นใคร |
เที่ยวร้องไห้หาแม่ชะแง้คอย |
จะไปเรือนเฟือนทางที่กลางป่า |
นึกน้ำตาหยดเหยาะลงเผาะผอย |
เจ้าแหงนดูสุริย์ฉายก็บ่ายคล้อย |
ให้นึกน้อยใจพ่อพูดล่อลวง |
เสียแรงลูกผูกใจจะได้พึ่ง |
พ่อโกรธขึ้งสิ่งไรเป็นใหญ่หลวง |
โอ้มีพ่อก็ไม่เหมือนเพื่อนทั้งปวง |
มีแต่ลวงลูกรักไปหักคอ |
รู้กระนี้มิอยากเรียกพ่อดอก |
จะไปบอกแม่วันทองให้ฟ้องพ่อ |
เที่ยวผันแปรแลหาน้ำตาคลอ |
นึกระย่อเยือกเย็นไม่เห็นใคร |
ดูครึ้มครึกพฤกษาป่าสงัด |
ไม่แกว่งกวัดก้านกิ่งประวิงไหว |
จังหรีดร้องก้องเสียงเคียงเรไร |
ทั้งลองไนเรื่อยแร่แวแววับ |
ดุเหว่าร้องมองเมียงว่าเสียงแม่ |
ยืนชะแง้แลดูเงี่ยหูตรับ |
อยู่นี่แน่แม่จ๋าจงมารับ |
วิ่งกระสับกระสนวนเวียนไป ฯ |
๏ ฝ่ายพวกพรายกายสิทธิฤทธิรุตม์ |
เหมือนลมวุดวู่หนึ่งถึงไหนไหน |
ไปเข้าฝันวันทองถึงห้องใน |
เหมือนจะให้เห็นลูกคิดผูกพัน ฯ |
๏ ครานั้นวันทองผ่องโสภา |
เมื่อลูกแก้วแววตาจะอาสัญ |
คิ้วกระเหม่นเป็นลางแต่กลางวัน |
ให้หวั่นหวั่นหวิวหวิวหิวหาวนอน |
พอม่อยหลับคลับคล้ายเห็นพลายน้อย |
ขุนช้างถ่อยทับไว้ด้วยไม้ขอน |
ผวาฟื้นตื่นตาให้อาวรณ์ |
สะอื้นอ่อนในอกตกตะลึง |
พอแมงมุมอุ้มไข่ไต่ตีอก |
นางผงกเงี่ยฟังดังผึงผึง |
ประหลาดลางหมางจิตรคิดคะนึง |
รำลึกถึงลูกชายเจ้าพลายงาม |
ลุกออกมาหาจบไม่พบเห็น |
ที่เคยเล่นอยู่กับใครเที่ยวไต่ถาม |
แต่อีดูกลูกครอกมันบอกความ |
ว่าเห็นตามพ่อขุนช้างไปกลางไพร |
นางแคลงผัวกลัวจะพาไปฆ่าเสีย |
น้ำตาเรี่ยเรี่ยตกซกซกไหล |
ออกนอกรั้วตัวคนเดียวเที่ยวเดินไป |
โอ้อาลัยเหลียวแลชะแง้เงย |
เห็นคุ่มคุ่มพุ่มไม้ใจจะขาด |
พ่อพลายงามทรามสวาดิของแม่เอ๋ย |
เจ้าไปไหนไม่มาหาแม่เลย |
ที่โคกเคยวิ่งเล่นไม่เห็นตัว |
ฤๅล้มตายควายขวิดงูพิษขบ |
ไฉนศพสาบสูญพ่อทูนหัว |
ยิ่งเย็นย่ำค่ำคลุ้มชอุ่มมัว |
ยิ่งเริ่มรัวเรียกร่ำระกำใจ |
เสียงซ้อแซ้แกกาผวาว่อน |
จิ้งจอกหอนโหยหาที่อาศัย |
จักจั่นเจื้อยร้องริมลองไน |
เสียงเรไรหริ่งหริ่งที่กิ่งรัง |
ทั้งเป็ดผีปี่แก้วแว่วแว่วหวีด |
เสียงจังหรีดกรีดแซ่ดังแตรสังข์ |
นางวันทองมองหาละล้าละลัง |
ฤๅผีบังซ่อนเร้นไม่เห็นเลย |
จะบนหมูสุราร่ำว่าครบ |
ขอให้พบลูกตัวทูนหัวเอ๋ย |
แล้วลดเลี้ยวเที่ยวแลชะแง้เงย |
โอ้ทรามเชยหลากแล้วพ่อแก้วตา |
ตะโกนเรียกพลายงามทรามสวาดิ |
ใจจะขาดคนเดียวเที่ยวตามหา |
สะอื้นโอ้โพล้เพล้เดินเอกา |
สกุณานอนรังสะพรั่งไพร |
เห็นฝูงนกกกบุตรยิ่งสุดเศร้า |
โอ้ลูกเราไม่รู้ว่าอยู่ไหน |
ชะนีโหวยโหยหวนรัญจวนใจ |
ยิ่งอาลัยแลหาน้ำตานอง |
พอแว่วแว่วแจ้วเสียงสำเนียงเรียก |
นึกสำเหนียกหลายหนขนสยอง |
ตรงเซิงซุ้มคุ่มเคียงนางเมียงมอง |
เห็นลูกร้องไห้สะอื้นยืนเหลียวแล |
ความดีใจไปกอดเอาลูกแก้ว |
แม่มาแล้วอย่ากลัวทูนหัวแม่ |
เป็นไรไม่ไปเรือนเที่ยวเชือนแช |
แม่ตามแต่ตะวันบ่ายเห็นหายไป ฯ |
๏ เจ้าพลายน้อยสร้อยเศร้าแล้วเล่าว่า |
หม่อมพ่อพาเวียนวงให้หลงใหล |
แล้วทุบถีบบีบจมูกของลูกไว้ |
เอาขอนไม้ทับคอแทบมรณา |
พอพวกพ้องของขุนแผนแล่นมาช่วย |
จึงไม่ม้วยแม่คุณบุญหนักหนา |
ยังช้ำชอกยอกเหน็บเจ็บกายา |
พูดน้ำตาผอยผอยด้วยน้อยใจ ฯ |
๏ นางวันทองร้องไห้ใจจะขาด |
โอ้ชาตินี้มีกรรมจะทำไฉน |
แล้วเล่าความตามจริงทุกสิ่งไป |
เจ้ามิใช่ลูกเต้าเขาจึงชัง |
พ่อของเจ้านั้นฤๅชื่อขุนแผน |
เป็นคนแค้นกับขุนช้างแต่ปางหลัง |
เอาทุกข์ร้อนก่อนเก่าเล่าให้ฟัง |
เดี๋ยวนี้ยังอยู่ในคุกเป็นทุกข์ทน |
จึงจนใจไม่มีที่จะพึ่ง |
มันทำถึงสาหัสก็ขัดสน |
ครั้นจะฟ้องร้องเล่าเราก็จน |
แม้นไม่พ้นมือมันจะอันตราย |
แต่รู้อยู่ว่าย่าทองประศรี |
อยู่บ้านกาญจน์บุรีวัดเชิงหวาย |
แม้นไปถึงพึ่งพาย่าพ่อพลาย |
จะสบายบุญปลอดตลอดไป |
แต่ทางนั้นวันครึ่งจึงถึงบ้าน |
ทางกันดารเดินดงจะหลงใหล |
โอ้ใครเล่าเขาจะพาเจ้าคลาไคล |
นางร้องไห้สะอื้นกลืนน้ำตา ฯ |
๏ เจ้าพลายงามถามซักตระหนักแน่ |
พลางบอกแม่ลูกแสนแค้นหนักหนา |
อ้ายคนนี้มิใช่พ่อจะขอลา |
ไปหาย่าอยู่บ้านกาญจน์บุรี |
สงสารแต่แม่คุณของลูกแก้ว |
จะลับแล้วตายเป็นไม่เห็นผี |
เพราะพ่อเลี้ยงเดียงสาไม่ปรานี |
อยู่ที่นี่ชีวันจะบรรลัย |
ไปสู้ตายวายวางเสียข้างหน้า |
ด้วยเกิดมามีกรรมจะทำไฉน |
ขอลาแม่แต่นี้นับปีไป |
แล้วร้องไห้หวนคิดถึงบิดา |
โอ้พ่อคุณขุนแผนของลูกเอ๋ย |
เมื่อไรเลยลูกจะได้ไปเห็นหน้า |
ต้องติดคุกทุกข์ทุเรศเวทนา |
เจ้าครวญคร่ำร่ำว่าด้วยอาลัย ฯ |
๏ นางวันทองร้องไห้จิตรใจหาย |
กอดเจ้าพลายงามน้อยละห้อยไห้ |
โอ้ลูกแก้วแววตาจะลาไป |
หนทางป่าค่าไม้พ่อไม่เคย |
จะเลี้ยวหลงวงวกระหกระเหิน |
เจ้าจะเดินไปถูกฤๅลูกเอ๋ย |
โอ้ยากเย็นเข็ญใจกะไรเลย |
เพราะกรรมเคยพรากสัตว์ให้พลัดพราย |
เดี๋ยวนี้เล่าเจ้าจะพรากไปจากแม่ |
แม่จะแลเห็นใครน่าใจหาย |
พลางส้วมสอดกอดแอบไว้แนบกาย |
สะอื้นไห้ไม่วายฟายน้ำตา ฯ |
๏ จนจวนค่ำน้ำค้างลงพร่างพราย |
ปลอบลูกชายพลายน้อยเสนหา |
อ้ายศัตรูรู้ความจะตามมา |
แม่จะพาเจ้าไปฝากขรัวนากไว้ |
แล้วพากันดั้นดัดไปวัดเขา |
เห็นสมภารคลานเข้าไปกราบไหว้ |
แล้วเล่าความตามจริงทุกสิ่งไป |
เจ้าคุณได้โปรดด้วยช่วยธุระ |
เอาลูกอ่อนซ่อนไว้เสียในห้อง |
เผื่อพวกพ้องเขามาหาอย่าให้ปะ |
ท่านขรัวครูผู้เถ้าว่าเอาวะ |
ไว้ธุระเถิดอย่ากลัวที่ผัวเลย |
ถ้าหากว่ามาค้นจนถึงห้อง |
กูมิถองก็จงว่าสีกาเอ๋ย |
ฆ่าลูกเลี้ยงเอี้ยงดูกูไม่เคย |
อย่าทุกข์เลยลุงจะช่วยลูกอ่อนไว้ ฯ |
๏ นางวันทองหมองหมางไม่สร่างทุกข์ |
กระหมวดจุกลูกยาน้ำตาไหล |
เห็นจวนค่ำจำลาทั้งอาลัย |
ลงบันไดเดินด่วนด้วยจวนเย็น |
พอเข้าไปในรั้วด่าผัวโผง |
อ้ายตายโหงหักคอไม่ขอเห็น |
แต่ชาตินี้มีกรรมจึงจำเป็น |
ได้ชายเช่นนี้มาเป็นสามี |
ขึ้นบนเรือนเหมือนใจจะจากร่าง |
เห็นขุนช้างชิงชังผินหลังหนี |
เข้าในห้องหมองอารมณ์ไม่สมประดี |
เห็นแต่ที่นอนเปล่ายิ่งเศร้าใจ |
คิดถึงลูกผูกพันให้หวั่นอก |
น้ำตาตกผอยผอยละห้อยไห้ |
โอ้ลูกเอ๋ยเคยนอนแต่ก่อนไร |
จนเจ้าได้สิบปีเข้านี่แล้ว |
อยู่หลัดหลัดพลัดพรากไปจากแม่ |
แม่ยังแลเห็นแต่ฟูกของลูกแก้ว |
โอ้พลายงามทรามสวาดิจะคลาศแคล้ว |
เสียงแจ้วแจ้วเจ้าวันทองนองน้ำตา ฯ |
๏ ฝ่ายขุนช้างครางเคราอ้ายเจ้าเล่ห์ |
เมาโมเยยิ้มกริ่มอยู่ริมฝา |
เสียงวันทองร้องไห้จุดไฟมา |
ส่องดูหน้านั่งเคียงบนเตียงนอน |
ทำไถลไถ่ถามเป็นความหยอก |
ฤๅหนามยอกเจ็บป่วยจะช่วยถอน |
พลางรับขวัญวันทองร้องละคร |
เจ้าทุกข์ร้อนรำคาญประการใด ฯ |
๏ นางวันทองข้องขัดสะบัดหน้า |
ขุนช้างรำทำท่าเข้าคว้าไขว่ |
นางผลักพลิกหยิกข่วนว่ากวนใจ |
ไฮ้อะไรนี่เล่าเฝ้าเซ้าซี้ |
ลูกข้าหายตายเป็นไม่เห็นศพ |
อย่ามากลบรอยเสือเบื่อบัดสี |
เจ้าพาไปในป่าพนาลี |
แล้วก็มิพามาว่ากะไร ฯ |
๏ ขุนช้างฟังช่างแก้อีแม่เจ้า |
ข้าเมาเหล้าหลับซบสลบไสล |
ใครบอกเจ้าเล่าว่าข้าพาไป |
หล่อนไม่ได้ตามข้าผ่าเถิดซิ |
เมื่อกลางวันยังเห็นเล่นไม้หึ่ง |
กับอ้ายอึ่งอีดูกลูกอีปิ |
แล้วว่าเจ้าเล่าก็ช่างนั่งมึนมิ |
ว่าแล้วสิอย่าให้ลงไปดิน |
ลูกปะหล่ำกำไลใส่ออกกลบ |
ฉวยว่าพบคนร้ายอ้ายคอฝิ่น |
มันจะทุบยุบยับเหมือนกับริ้น |
ง้างกำไลไปกินเสียแล้วกรรม |
แล้วแก้เก้อเร่อออกไปนอกห้อง |
ตะโกนร้องเรียกข้ามาด่าพร่ำ |
ไปเที่ยวตามถามหาถึงท่าน้ำ |
ไม่พบทำถอนใจกลับไปเรือน |
รินสุรามาดื่มลืมสติ |
อุตริร้องไห้ใครจะเหมือน |
ขึ้นหอขวางกลางแจ้งเห็นแสงเดือน |
โอ้พ่อเพื่อนชีวิตของบิตุรงค์ |
แกล้งร้องร่ำคร่ำครวญทำหวนโหย |
ละโอดโอยเอกทุ้มจนลุ่มหลง |
ถึงท่อนปลายกรายเกริ่นเป็นเดินดง |
ปีกเจ้าอ่อนร่อนลงในดงเตย |
แล้วรู้ตัวกลัวเมียร้องเสียใหม่ |
เจ้าจำไกลพ่อแล้วลูกแก้วเอ๋ย |
เสียงอ้อแอ้แผ่กายนอนหงายเงย |
จนลืมเลยซบเซาด้วยเมามาย ฯ |
๏ นวลนางวันทองค่อยย่องย่าง |
เห็นขุนช้างหลับสมอารมณ์หมาย |
สะอื้นอั้นพันผูกถึงลูกชาย |
จนพลัดพรายเพราะผัวเป็นตัวมาร |
จึงเย็บไถ้ใส่ขนมกับส้มลิ้ม |
ทั้งแช่อิ่มจันอับลูกพลับหวาน |
แหวนราคาห้าชั่งทองบางตะพาน |
ล้วนต้องการเก็บใส่ในไถ้น้อย |
ไปอยู่บ้านท่านย่าจะหายาก |
เมื่ออดอยากอย่างไรได้ใช้สอย |
แล้วนั่งนึกตรึกตราน้ำตาย้อย |
รำคาญคอยสุริยาจะคลาไคล ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพลายงามทรามสงสาร |
พึ่งสมภารอยู่ในห้องนั่งร้องไห้ |
พวกศิษย์เณรเถนชีต้นช่วยฝนไพล |
มาลูบไล้แผลที่มันตีรัน |
แล้วสมภารท่านก็หลับระงับเงียบ |
ยิ่งเย็นเยียบเยือกใจเมื่อไก่ขัน |
เพราะแม่ลูกผูกจิตรคิดถึงกัน |
เฝ้าใฝ่ฝันเฟือนแลเห็นแม่มา |
ดุเหว่าร้องซ้องเสียงสำเนียงแจ้ว |
ให้แว่วแว่วว่าวันทองร้องเรียกหา |
สะดุ้งใจไหววับทั้งหลับตา |
ร้องขานขาสุดเสียงแต่เที่ยงคืน |
ครั้นรู้สึกนึกได้ให้ละห้อย |
เจ้าพลายน้อยนิ่งนอนถอนสะอื้น |
จนเคาะระฆังหงั่งเหง่งเสียงเครงครื้น |
สมภารตื่นเตือนสีต้นสวดมนต์เกน ฯ |
๏ นางวันทองร้องไห้เมื่อใกล้รุ่ง |
น้ำค้างฟุ้งฟ้าแดงเป็นแสงเสน |
ด้วยวัดเขาเข้าใจเคยไปเจน |
โจงกระเบนมั่นเหมาะห่มเพลาะดำ |
แล้วถือไถ้ใส่ขนมผ้าห่มหุ้ม |
ออกย่างดุ่มเดินเหย่าก้าวถลำ |
ลงจากเรือนเชือนมาข้างท่าน้ำ |
แล้วรีบร่ำเดินตรงเข้าดงตาล |
ถึงวัดเขาเช้าตรู่ดูลูกน้อย |
เห็นมาคอยนั่งท่าน่าสงสาร |
จะนั่งหยุดพูดจาจะช้าการ |
ลาสมภารพามาป่าสะแก |
ให้ขนมส้มสูกแก่ลูกรัก |
สงสารนักจะร้างไปห่างแม่ |
หนทางบ้านกาญจน์บุรีตรงนี้แล |
จำให้แน่นะอย่าหลงเที่ยววงเวียน |
อุตส่าห์ไปให้ถึงเหมือนหนึ่งว่า |
ให้คุณย่าเป็นอาจารย์สอนอ่านเขียน |
จงหมายมุ่งทุ่งกว้างตามทางเกวียน |
ที่โล่งเลี่ยนลัดไปในไพรวัน |
แล้วเกล้าจุกผูกไถ้ที่ใส่ของ |
ให้แหวนทองทุกสิ่งทำมิ่งขวัญ |
แล้วกอดลูกผูกใจจะไกลกัน |
สะอื้นอั้นออกปากฝากเทวา |
ขอเดชะพระไพรข้าไหว้กราบ |
ช่วยกำราบเสือสิงห์มหิงสา |
ทั้งปู่เจ้าเขาเขินขอเชิญพา |
ไปถึงย่าอย่าให้หลงเที่ยววงวน |
ทั้งพ่อคุณขุนแผนแสนวิเศษ |
บังเกิดเกศแก้วตาสถาผล |
ช่วยลูกชายพลายงามเมื่อยามจน |
ให้รอดพ้นภัยพาลถึงกาญจน์บุรี |
นางครวญคร่ำร่ำว่าน้ำตาตก |
เหมือนหนึ่งอกพุพองเป็นหนองฝี |
แม่อุ้มท้องครองเลี้ยงถึงเพียงนี้ |
ได้สิบปีเศษแล้วจะแคล้วกัน |
เคยกินนอนวอนแม่ไม่แหห่าง |
จะอ้างว้างเปล่าใจในไพรสัณฑ์ |
ทั้งจุกไรใครเล่าจะเกล้าพัน |
จะนับวันนับเดือนไปเลื่อนลับ |
นับปีมิได้มาเห็นหน้าแม่ |
จะห่างแหหายเหมือนเมื่อเดือนดับ |
โอ้เสียชาติวาสนาแม่อาภัพ |
ให้ย่อยยับยากแค้นแสนระยำ |
จะมีผัวผัวก็พลัดกำจัดจาก |
จนแสนยากอย่างนี้แล้วมิหนำ |
มามีลูกลูกก็จากวิบากกรรม |
สะอื้นร่ำรันทดสลดใจ ฯ |
๏ เจ้าพลายงามความแสนสงสารแม่ |
ชำเลืองแลดูหน้าน้ำตาไหล |
แล้วกราบกรานมารดาด้วยอาลัย |
ลูกเติบใหญ่คงจะมาหาแม่คุณ |
แต่ครั้งนี้มีกรรมจะจำจาก |
ต้องพลัดพรากแม่ไปเพราะไอ้ขุน |
เที่ยวหาพ่อขอให้ปะเดชะบุญ |
ไม่ลืมคุณมารดาจะมาเยือน |
แม่รักลูกลูกก็รู้อยู่ว่ารัก |
คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน |
จะกินนอนวอนว่าเมตตาเตือน |
จะจากเรือนร้างแม่ไปแต่ตัว |
แม่วันทองของลูกจงกลับบ้าน |
เขาจะพาลว้าวุ่นแม่ทูนหัว |
จะก้มหน้าลาไปมิได้กลัว |
แม่อย่ามัวหมองนักจงหักใจ ฯ |
๏ นางกอดจูบลูบหลังแล้วสั่งสอน |
อำนวยพรพลายน้อยละห้อยไห้ |
พ่อไปดีศรีสวัสดิกำจัดภัย |
จนเติบใหญ่ยิ่งยวดได้บวชเรียน |
ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ |
เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน |
แล้วพาลูกออกมาข้างท่าเกวียน |
จะจากเจียนใจขาดอนาถใจ |
ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก |
ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล |
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย |
แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา |
เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น |
แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา |
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญาณ์ |
โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง ฯ |
๏ นางวันทองหมองมัวกลัวขุนช้าง |
ไม่เหมือนอย่างคนทั้งปวงมันหวงหึง |
ออกชายทุ่งมุ่งเมินเดินตะบึง |
กลับมาถึงเรือนร่ำระกำตรอม |
ทุกเย็นเช้าเศร้าหมองเฝ้าร้องไห้ |
ด้วยอาลัยพลายงามทรามถนอม |
ถึงยามกินสิ้นรสสู้อดออม |
จนซูบผอมผิวพรรณทุกวันคืน ฯ |
๏ เจ้าพลายงามตามทางไปกลางทุ่ง |
เขม้นมุ่งเขาเขินเดินสะอื้น |
ออกหลังบ้านตาลตะคุ่มเป็นพุ่มพื้น |
ร่มรื่นรังเรียงเคียงตะเคียน |
ต้นแคคางกร่างกระทุ่มชอุ่มออก |
ทั้งช่อดอกดูไสวเหมือนไม้เขียน |
เจ้าพลายเพลินเดินพลางตามทางเกวียน |
ตลอดเลี่ยนลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยมา |
ถึงโคกฆ้องหนองสะพานบ้านกะเหรี่ยง |
เห็นโรงเรียงไร่ฝ้ายทั้งซ้ายขวา |
พริกมะเขือเหลืองามอร่ามตา |
สาลิกาแก้วกินแล้วบินฮือ |
เห็นไก่เตี้ยเขี่ยคุ้ยที่ขุยไผ่ |
กระโชกไล่ลดเลี้ยวมันเปรียวปรื๋อ |
พบนกยูงฝูงใหญ่ไล่กระพือ |
มันบินหวือโห่ร้องคะนองใจ |
จนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยข้อให้ท้อแท้ |
คิดถึงแม่วันทองแล้วร้องไห้ |
พระสุริยาสายัณห์ลงไรไร |
เหมือนจิตรใจเจ้าจะขาดลงรอนรอน |
พอจวนพลบพบฝูงจิ้งจอกน้อย |
วิ่งร่อยร่อยตามเขาแล้วเห่าหอน |
แสยงเส้นโลมาให้อาวรณ์ |
ถึงดงดอนแดนบ้านกาญจน์บุรี |
เห็นวัดร้างข้างเขาดูเก่าแก่ |
ยังมีแต่รูปพระชินสีห์ |
โบสถ์โบราณบานประตูยังดูดี |
พอราตรีกราบไหว้อาศัยนอน |
ครั้นรุ่งเช้าเอาขนมทั้งส้มลิ้ม |
พอกินอิ่มแล้วออกเดินเนินสิงขร |
ถึงบ้านกร่างทางคนเขาหาบคอน |
เห็นเด็กต้อนควายอึงคะนึงไป |
ไม่รู้ความถามเหล่าพวกชาวบ้าน |
ว่าเรือนท่านทองประศรีอยู่ที่ไหน |
เด็กบ้านนอกบอกเล่าให้เข้าใจ |
แกอยู่ไร่โน้นแน่ะยังแลลับ |
มะยมใหญ่ในบ้านกินหวานนัก |
กูไปลักบ่อยบ่อยแกคอยจับ |
พอฉวยได้ไอ้ขิกหยิกเสียยับ |
ร้ายเหมือนกับผีเสื้อแกเหลือตัว |
ถ้าลูกใครไปเล่นแกเห็นเข้า |
แกจับเอานมยานฟัดกระบานหัว |
มาถามหาว่าไรช่างไม่กลัว |
แกจับตัวตีตายยายนมยาน ฯ |
๏ เจ้าพลายงามถามแจ้งแล้วแกล้งว่า |
เอ็งช่วยพาเราไปชมมะยมหวาน |
จะขึ้นลักหักห่อให้พอการ |
มาสู่ท่านทั้งสิ้นกินด้วยกัน |
พวกเด็กเด็กดีใจไปสิหวา |
ซ่อนข้าวปลาปล่อยควายแล้วผายผัน |
บ้างเหน็บหน้าผ้านุ่งเกี้ยวพุงพัน |
หัวเราะกันกูจะห่อให้พอแรง |
พอถึงบ้านท่านยายทองประศรี |
พวกเด็กชี้เรือนให้แล้วแอบแฝง |
เจ้าพลายงามขามจิตรยังคิดแคลง |
ค่อยลัดแลงเล็งแลมาแต่ไกล |
ดูเงียบเชียบเลียบรอบริมขอบรั้ว |
ไม่เห็นตัวท่านย่าน่าสงสัย |
ประตูหับยับยั้งยืนฟังไป |
เสียงแต่ไนออดแอดแรดแรแร |
รู้ว่าคนบนนั้นนั่งปั่นฝ้าย |
จะอุบายบอกความตามกระแส |
ขึ้นมะยมห่มล้อทำตอแย |
ให้ท่านแลเห็นเรามาเอาตัว |
จึงจะบอกออกตามเนื้อความลับ |
ได้อยู่กับย่ากำเนิดบังเกิดหัว |
แล้วเมียงมองย่องดอดเข้าลอดรั้ว |
ค่อยแฝงตัวขึ้นบนต้นมะยม |
แล้วพยักกวักเรียกอ้ายเด็กเด็ก |
ลูกเล็กเล็กหลบลอบค่อยหมอบก้ม |
ระวังตัวกลัวยายเถ้าเจ้าคารม |
เก็บมะยมซุบซิบกระหยิบตา ฯ |
๏ ครานั้นท่านยายทองประศรี |
กับยายปลียายเปลอยู่เคหา |
ให้พวกเหล่าบ่าวไพร่ไปไร่นา |
ตามประสาเพศบ้านกาญจน์บุรี |
แต่ขุนแผนแสนสนิทต้องติดคุก |
ไม่มีสุขเศร้าหมองทองประศรี |
จนซูบผอมตรอมใจมาหลายปี |
อยู่แต่ที่ในห้องนองน้ำตา |
แต่หูไวได้ยินมะยมหล่น |
เป็นทำวนแหวกมองตามช่องฝา |
เห็นเด็กเด็กเล็ดดลอดดอดเข้ามา |
แกฉวยคว้าไม้ตระบองค่อยมองเมียง |
ลงบันไดอ้ายเด็กเล็กเล็กวิ่ง |
แกไล่ทิ้งด่าทอมันล้อเถียง |
ชกโคตรเค้าเหล่ากอเอาพอเพียง |
พอแว่วเสียงอยู่บนต้นมะยม |
มองเขม้นเห็นลูกหัวจุกน้อย |
เหม่อ้ายจ้อยโจรป่าด่าขรม |
อย่าแอบอิงนิ่งนั่งตั้งเทพนม |
ลงมาก้มหลังลองตระบองกู ฯ |
๏ เจ้าพลายงามคร้ามพรั่นขยั้นหยุด |
ความกลัวสุดแสนกลัวตัวเป็นหนู |
จึงว่าฉานหลานดอกบอกให้รู้ |
อันที่อยู่เมืองสุพรรณบ้านวันทอง |
ทองประศรีชี้หน้าว่าอุเหม่ |
อ้ายเจ้าเล่ห์หลานข้ามันน่าถอง |
มาเถิดมาย่าจะให้ไม้ตระบอง |
แกคอยจ้องจะทำให้หนำใจ |
เจ้าพลายงามความกลัวจนตัวสั่น |
หยุดขยั้นอยู่ไม่กล้าลงมาได้ |
แล้วนึกว่าย่าตัวกลัวอะไร |
โจนลงไปกราบย่าที่ฝ่าตีน ฯ |
๏ ทองประศรีตีหลังเสียงดังผึง |
จะมัดมึงกูไม่ปรับเอาทรัพย์สิน |
มาแต่ไหนลูกไทยฤๅลูกจีน |
เฝ้าลักปีนมะยมห่มหักราน |
เจ้าพลายน้อยคอยหลบแล้วนบนอบ |
ฉันเจ็บบอบแล้วย่าเมตตาหลาน |
ข้าเป็นลูกพ่อขุนแผนแสนสะท้าน |
ข้างฝ่ายมารดาชื่อแม่วันทอง |
จะมาหาย่าชื่อทองประศรี |
อย่าเพ่อตีฉันจะเล่าความเศร้าหมอง |
ย่าเขม้นเห็นจริงทิ้งตระบอง |
กอดประคองรับขวัญกลั้นน้ำตา |
แล้วด่าตัวชั่วเหลือไม่เชื่อเจ้า |
ขืนตีเอาหลานรักเป็นหนักหนา |
จนหัวห้อยพลอยนอพ่อนี่นา |
แล้วพามาขึ้นเรือนเตือนยายปลี |
ช่วยฝนไพลให้เหลวเร็วเร็วเข้า |
อีเปลเอาขันล้างหน้าออกมานี่ |
แกตักน้ำร่ำรดหมดราคี |
ช่วยขัดสีโซมขมิ้นสิ้นเป็นชาม |
แล้วทาไพลให้หลานสงสารเหลือ |
มานั่งเสื่อลันไตปราศรัยถาม |
เจ้าชื่อไรใครบอกออกเนื้อความ |
จึงได้ตามขึ้นมาถึงย่ายาย ฯ |
๏ เจ้าพลายน้อยสร้อยเศร้าแล้วเล่าเรื่อง |
แต่อยู่เมืองสุพรรณเหมือนมั่นหมาย |
แม่วันทองครองเลี้ยงไว้เคียงกาย |
ให้ชื่อพลายงามน้อยแก้วกลอยใจ |
ให้ไหว้บุญขุนช้างเหมือนอย่างพ่อ |
มันลวงล่อหลานหลงไม่สงสัย |
พาหลานเที่ยวเลี้ยวทางไปกลางไพร |
เอาขอนไม้ทับคอแทบมรณา |
แม่จึงบอกออกว่าพ่อชื่อขุนแผน |
ขุนช้างแค้นเคืองคิดริษยา |
อยู่ไม่ได้ในสุพรรณจึงดั้นมา |
ขอพึ่งบุญคุณย่าประสาจน ฯ |
๏ ทองประศรีตีอกชกผางผาง |
ทุดอ้ายช้างชาติข้าอ้ายหน้าขน |
ลูกอีเถ้าเทพทองคลองน้ำชน |
จะฆ่าคนเสียทั้งเป็นไม่เอ็นดู |
ทำราวเจ้าชีวิตกูคิดฟ้อง |
ให้มันต้องโทษกรณ์จนอ่อนหู |
แกบ่นว่าด่าร่ำออกพร่ำพรู |
พ่อมาอยู่บ้านย่าแล้วอย่ากลัว |
แม้นอ้ายขุนวุ่นมาว่าเป็นลูก |
มันมิถูกนมยานฟัดกระบานหัว |
พลางเรียกอีไหมที่ในครัว |
เอาแกงคั่วข้าวปลามาให้กิน |
พอบ่ายเบี่ยงเสียงละว้าพวกข้าบ่าว |
ทั้งมอญลาวเลิกนาเข้ามาสิ้น |
บ้างสุมไฟใส่ควันกันยุงริ้น |
ตามที่ถิ่นบ้านนอกอยู่คอกนา ฯ |
๏ ครั้นพลบค่ำย่ำฆ้องทองประศรี |
เรียกยายปลียายเปลเข้าเคหา |
เย็บบายศรีนมแมวจอกแก้วมา |
ใส่ข้าวปลาเปรี้ยวหวานเอาพานรอง |
เทียนดอกไม้ไข่ข้าวมะพร้าวพร้อม |
น้ำมันหอมแป้งปรุงฟุ้งทั้งห้อง |
ลูกปะหล่ำกำไลไขออกกอง |
บอกว่าของพ่อเจ้าแต่เยาว์มา |
เอาสอดใส่ให้หลานสงสารเหลือ |
ด้วยหน่อเนื้อนึกรักเป็นหนักหนา |
เหมือนพ่อแผนแสนเหมือนไม่เคลื่อนคลา |
ทั้งหูตาคมสันเป็นมันยับ |
พลางเรียกหาข้าคนมาบนหอ |
ให้นั่งต่อต่อกันเป็นอันดับ |
บายศรีตั้งพรั่งพร้อมน้อมคำนับ |
เจริญรับมิ่งขวัญรำพันไป ฯ |
๏ ขวัญพ่อพลายงามทรามสวาดิ |
มาชมภาชนะทองอันผ่องใส |
ล้วนของขวัญจันทน์จวงพวงมาลัย |
ขวัญอย่าไปป่าเขาลำเนาเนิน |
เห็นแต่เนื้อเสือสิงห์ฝูงลิงค่าง |
จะอ้างว้างเวียนวกระหกระเหิน |
ขวัญมาหาย่าเถิดอย่าเพลิดเพลิน |
จงเจริญร้อยปีอย่ามีภัย |
แล้วจุดเทียนเวียนวงส่งให้บ่าว |
มันโห่กราวเกรียวลั่นสนั่นไหว |
คอยรับเทียนเวียนส่งเป็นวงไป |
แล้วดับไฟโบกควันให้ทันที |
มะพร้าวอ่อนป้อนเจ้าทั้งข้าวขวัญ |
กระแจะจันทน์เจิมหน้าเป็นราศี |
ให้สาวสาวลาวเวียงที่เสียงดี |
มาซอปี่อ้อซั้นทำขวัญนาย ฯ |
๏ แล้วพวกมอญซ้อนซอเสียงอ้อแอ้ |
ร้องทะแยย่องกระเหนาะย่ายเตาะเหย |
ออระน่ายพลายงามพ่อทรามเชย |
ขวัญเอ๋ยกกกะเนียงเกรียงเกลิง |
ให้อยู่ดีกินดีมีเมียสาว |
เนียงกะราวกนตะละเลิงเคลิ่ง |
มวยบามาขวัญจงบันเทิง |
จะเปิงยี่อิกะปิปอน |
ทองประศรีดีใจให้เงินบาท |
เห็นแต่ทาสพรั่งพร้อมล้อมสลอน |
ถึงเวลาพาเจ้าเข้าที่นอน |
มีฟูกหมอนมุ้งม่านสำราญใจ ฯ |
๏ เจ้าพลายงามถามย่าว่าพ่อแผน |
ต้องคับแค้นเคืองเข็ญเป็นไฉน |
ไม่เคยคุ้นคุณย่าช่วยพาไป |
พอหลานได้เห็นหน้าบิดาตัว |
ได้ฟังหลานท่านย่าน้ำตาตก |
สะอื้นอกอาดูรว่าทูนหัว |
พ่อเอ็งย่าว่าไรเขาไม่กลัว |
เพราะเมามัวเมียลาวนางชาววัง |
ไปทูลขอพระองค์ทรงพระโกรธ |
ให้ลงโทษทนทุกข์ใส่คุกขัง |
แต่ไม่ต้องจองจำอยู่ลำพัง |
ถึงสิบปีแล้วยังไม่พ้นเลย |
รุ่งพรุ่งนี้สิย่าจะพาเจ้า |
ไปหาเขาอยู่ที่ทับริมหับเผย |
ให้พ่อเห็นเย็นอารมณ์ได้ชมเชย |
พูดจนเลยลืมหลับระงับไป ฯ |
๏ เห็นแสงทองหมองจิตรคิดถึงลูก |
สั่งบ่าวผูกช้างสัปคับใหญ่ |
ใส่ข้าวปลาผ้าผ่อนท่อนสไบ |
กับไต้ไฟฟักแฟงแตงน้ำตาล |
ทั้งปูนยาสาคูแลพลูหมาก |
จะไปฝากขุนแผนแสนสงสาร |
อ้ายกุลาตาหลอเป็นหมอควาญ |
แล้วพาหลานขึ้นช้างตามทางมา |
ลงบางขามข้ามบ้านสะพานโขลง |
ออกทุ่งโล่งเลี้ยวทางไปข้างขวา |
สองวันครึ่งถึงกรุงอยุธยา |
ลงเดินพาพลายงามไปตามทาง ฯ |
๏ จะกล่าวฝ่ายนายขุนแผนที่แสนทุกข์ |
แต่ติดคุกขัดข้องให้หมองหมาง |
อยู่หับเผยเคยสะอาดขาดสำอาง |
จนผอมซูบรูปร่างดูรุงรัง |
ผมยาวเกล้ากระหวัดตัดไม่เข้า |
เหตุด้วยเขาคงทนทั้งมนตร์ขลัง |
อยู่เปล่าเปล่าเล่าก็จนพ้นกำลัง |
อุตส่าห์นั่งทำการสานกระทาย |
ให้นางแก้วกิริยาช่วยทารัก |
ขุนแผนถักขอบรัดกระหวัดหวาย |
ใบละบาทคาดได้ด้วยง่ายดาย |
แขวนไว้ขายทั้งเรือนออกเกลื่อนไป |
พอมารดามาถึงทับรับเข้าห้อง |
ทั้งข้าวของผู้คนขนมาให้ |
เห็นลูกชายพลายงามถามทันใด |
นี่ลูกใครหน้าตาน่าเอ็นดู ฯ |
๏ ทองประศรีชี้แจงแถลงเล่า |
นี่ลูกเจ้าแล้วเป็นไรไหว้เสียหนู |
แล้วบอกความตามที่มีศัตรู |
ขุนแผนรู้รับขวัญกลั้นน้ำตา |
เข้าส้วมสอดกอดจูบแล้วลูบหลัง |
น้ำตาพรั่งพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา |
แค้นขุนช้างดังจะดิ้นสิ้นชีวา |
มันชะล่าชะเลยจนเคยตัว |
ฉุดคร่าพาวันทองไปครองคู่ |
เห็นว่ากูถือสัตย์ไม่ตัดหัว |
ทั้งลูกเต้าเอาไปฆ่าเหมือนม้าวัว |
หมายว่ากลัวแล้วกระมังอ้ายจังไร |
วันนี้ค่ำจำจะไปให้ถึงบ้าน |
สับกระบานหัวเชือดให้เลือดไหล |
ลูกผู้ชายตายไหนก็ตายไป |
ขัดใจฮึดฮัดกัดฟันฟาง ฯ |
๏ ท่านย่าทองประศรีว่าอีพ่อ |
แม่จะขอทานทัดเหมือนขัดขวาง |
ไปฆ่าผีดีกว่าฆ่าขุนช้าง |
จะสืบสร้างบาปกรรมไปทำไม |
ลูกของเจ้าเล่าก็มาหาเจ้าแล้ว |
ใช่เชื้อแถวเจ้ายังมีอยู่ที่ไหน |
จงฟังแม่แต่เท่านั้นแล้วกันไป |
พ่อจะได้ภาวนารักษากาย |
ลูกของเจ้าเล่าแม่จะรับเลี้ยง |
ช่วยกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงไว้ได้ถวาย |
ที่กริ้วโกรธโทษกรณ์จะผ่อนคลาย |
คราวเคราะห์ร้ายเจ้าจงเจียมเสงี่ยมตน |
โบราณท่านสมมุติมนุษย์นี้ |
ยากแล้วมีใหม่สำเร็จถึงเจ็ดหน |
ที่ทุกข์โศกโรคร้อนค่อยผ่อนปรน |
คงจะพ้นโทษทัณฑ์ไม่บรรลัย ฯ |
๏ ครานั้นขุนแผนแสนสุภาพ |
ก้มกราบมารดาน้ำตาไหล |
ลูกเห็นแต่แม่คุณค่อยอุ่นใจ |
ช่วยสอนให้พลายงามเรียนความรู้ |
อันตำรับตำราสารพัด |
ลูกเก็บจัดแจงไว้ที่ในตู้ |
ถ้าลืมหลงตรงไหนไขออกดู |
ทั้งของครูของพ่อต่อกันมา |
แล้วลูบหลังสั่งความพลายงามน้อย |
เจ้าจงค่อยร่ำเรียนเขียนคาถา |
รู้สิ่งไรก็ไม่สู้รู้วิชา |
ไปเบื้องหน้าเติบใหญ่จะให้คุณ |
เรายากแล้วแก้วตาอย่าประมาท |
ทั้งสิ้นญาติสิ้นเชื้อจะเกื้อหนุน |
ทุกวันนี้มีแต่ย่ายังการุญ |
พ่อพึ่งบุญเถิดลูกได้ปลูกเลี้ยง |
จงนึกว่าย่าเหมือนกับแม่พ่อ |
ถึงด่าทอเท่าไรอย่าได้เถียง |
อันพ่อนี้มิได้อยู่ใกล้เคียง |
ไม่ได้เลี้ยงลูกแล้วนะแก้วตา |
พลางกอดพลายงามแอบไว้แนบอก |
น้ำตาตกพร่างพรายทั้งซ้ายขวา |
โอ้มีกรรมทำไว้แต่ไรมา |
พอเห็นหน้าลูกแล้วจะแคล้วกัน |
มาหาพ่อพ่อไม่มีสิ่งไรผูก |
ยังแต่ลูกประคำจะทำขวัญ |
อยู่หอกปืนยืนยงคงกระพัน |
ได้ป้องกันกายาข้างหน้าไป ฯ |
๏ เจ้าพลายงามความแสนสงสารพ่อ |
น้ำตาคลอคลอตกซกซกไหล |
รับประคำร่ำว่าประสาใจ |
ฉันจะใคร่อยู่ด้วยช่วยบิดา |
ได้ตักน้ำตำข้าวทุกเช้าค่ำ |
ที่พอทำฟืนผักจะหักหา |
ให้พ่อพ้นทนทุกข์แล้วลูกยา |
จะอุตส่าห์เล่าเรียนค่อยเพียรไป ฯ |
๏ ขุนแผนแสนสวาดิจะขาดจิตร |
กะจิริดรู้ว่าจะหาไหน |
น่าสงสารท่านย่าพลอยอาลัย |
น้ำตาไหลพรากพรากเพราะยากเย็น |
ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้ |
ในคุกใหญ่มันยากแค้นถึงแสนเข็ญ |
เหมือนกับนรกตกทั้งเป็น |
มิได้เว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย |
แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช |
อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย |
คนทั้งหลายนายมุลก็คุ้นเคย |
เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจองจำ |
ทั้งข้าวปลาสารพันทุกวันนี้ |
พระหมื่นศรีเธอช่วยชุบอุปถัมภ์ |
ค่อยเบาใจไม่พักต้องตักตำ |
คุณท่านล้ำล้นฟ้าด้วยปรานี |
ถ้าแม้นเจ้าเล่าเรียนความรู้ได้ |
จะพาไปพึ่งพระจมื่นศรี |
ถวายตัวพระองค์ทรงธรณี |
จะได้มีเกียรติยศปรากฏไป ฯ |
๏ พลายงามน้อยสร้อยเศร้ารับเจ้าคะ |
ดีฉันจะพากเพียรเรียนให้ได้ |
ต่างพูดจาพาทีค่อยดีใจ |
จนจวนใกล้โพล้เพล้ถึงเวลา |
ทองประศรีสั่งความว่ายามค่ำ |
แม่จะจำจากพ่อแก้วไปแล้วหนา |
ขุนแผนแสนสะท้านไหว้มารดา |
พลายงามลาพ่อลูกผูกอาลัย |
ตามย่ามาพ้นทับที่หับเผย |
ไม่ลืมเลยเหลียวหน้าน้ำตาไหล |
ทั้งขุนแผนแสนสวาดิเพียงขาดใจ |
ต่างอาลัยแลลับวับวิญญาณ์ |
ไปขึ้นช้างข้างวัดท่าการ้อง |
พอเดือนส่องแสงสว่างกลางเวหา |
ออกข้ามทุ่งกรุงศรีอยุธยา |
รีบกลับมาถึงบ้านกาญจน์บุรี ฯ |
๏ อันเรื่องราวกล่าวความพลายงามน้อย |
ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี |
ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี |
เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนตร์ |
ปัถมังตั้งตัวนะปัดตลอด |
แล้วถอนถอดถูกต้องเป็นล่องหน |
หัวใจกริดอิทธิเจเสน่ห์กล |
แล้วเล่ามนตร์เสกขมิ้นกินน้ำมัน |
เข้าในห้องลองวิชาประสาเด็ก |
แทงจนเหล็กแหลมลู่ยู่ขยั้น |
มหาทะมื่นยืนยงคงกระพัน |
ทั้งเลขยันต์ลากเหมือนไม่เคลื่อนคลาย |
แล้วทำตัวหัวใจอิติปิโส |
สะเดาะโซ่ตรวนได้ดังใจหมาย |
สะกดคนมนตร์จังงังกำบังกาย |
เมฆฉายสูรย์จันทร์ขยันดี |
ทั้งเรียนธรรมกรรมฐานนิพพานสูตร |
ร้องเรียกภูตพรายปราบกำราบผี |
ผูกพยนต์หุ่นหญ้าเข้าราวี |
ทองประศรีสอนหลานชำนาญมา |
จนอายุพลายงามสิบสามขวบ |
ดูขาวอวบอ้วนท้วนเป็นนวลหน้า |
ด้วยเนื้อแตกแรกรุ่นละมุนตา |
กิริยาแย้มยิ้มหงิมหงิมงาม |
นัยน์ตากลมคมขำดูดำขลับ |
ใครแลรับรักใคร่ปราศรัยถาม |
ทองประศรีดีใจไล่ฤกษ์ยาม |
ได้สิบสามปีแล้วหลานแก้วกู |
จะโกนจุกสุกดิบขึ้นสิบค่ำ |
แกทำน้ำยาจีนต้มตีนหมู |
พวกเพื่อนบ้านวานมาผ่าหมากพลู |
บ้างปัดปูเสื่อสาดลาดพรมเจียม |
ทั้งหม้อเงินหม้อทองสำรองตั้ง |
มีทั้งสังข์ใส่น้ำมนต์ไว้จนเปี่ยม |
อัฒจันทร์ชั้นพระก็ตระเตรียม |
ตามธรรมเนียมฆ้องกลองฉลองทาน |
ถึงวันดีนิมนต์ขรัวเกิดเถ้า |
อยู่วัดเขาชนไก่ใกล้กับบ้าน |
พอพิณพาทย์คาดตระสาธุการ |
ท่านสมภารพาพระสงฆ์สิบองค์มา |
นั่งสวดมนต์จนจบพอพลบค่ำ |
ก็ซัดน้ำมนต์สาดเสียงฉาดฉ่า |
ผู้ชายเสียดเบียดสาวชาวละว้า |
เสียงเฮฮาฮึดฮัดเมื่อซัดน้ำ |
ผู้หญิงหยิกตะกายผู้ชายทับ |
เสียงหนุบหนับเหนาะแหนะแขยะขยำ |
จนอีหังคลั่งใจถีบไอ้ดำ |
ลุกขึ้นปล้ำกันออกอึงเสียงตึงตัง |
ทองประศรีดีใจว่าใครแพ้ |
สนุกแน่แล้วอ้ายดำปล้ำอีหัง |
แล้วให้หลานผลัดผ้ามาเก้กัง |
เข้าไปนั่งกราบกรานสมภารครู |
ขรัวเกิดแลมองเห็นทองประศรี |
ถามว่านี่ลูกใครเล่าไอ้หนู |
เจ้าขรัวย่าอ้าปากน้ำหมากพรู |
เล่าให้รู้แต่ต้นมาจนปลาย |
เดี๋ยวนี้เล่าเจ้าขุนแผนยังติดคุก |
นี่โกนจุกแล้วจะได้ไปถวาย |
ท่านขรัวครูดูพ่อของออพลาย |
เคราะห์จะคลายเคลื่อนบ้างฤๅอย่างไร ฯ |
๏ ท่านขรัวครูรู้เรื่องให้เคืองแค้น |
ทุดอ้ายแผนถ่อยแท้ไม่แก้ไข |
เมื่อความรู้กูสอนเจ้าหล่อนไว้ |
ยังวิ่งไปเข้าคุกสนุกจริง |
อ้ายเจ้าชู้กูได้ว่ามาแต่ก่อน |
จะทุกข์ร้อนอ่อนหูเพราะผู้หญิง |
หัวเราะพลางทางเอกเขนกอิง |
พินิจนิ่งดูกายเจ้าพลายงาม |
เห็นน่ารักลักขณะก็ฉลาด |
จะมีวาสนาดีขี่คานหาม |
ถ้าถึงวันชั้นโชคโฉลกยาม |
ก็ต้องตามลักษณะว่าจะรวย |
แต่ที่เมียเสียถนัดปัตนิ |
ตัวตำหนิรูปขาวเป็นสาวสวย |
แต่อ้ายนี่ขี้หลงจะงงงวย |
ต้องถูกด้วยละโมบโลภโลกีย์ |
แล้วท่านขรัวหัวร่อว่าออหนู |
มันเจ้าชู้เกินการหลานอีศรี |
ก็แต่ว่าอายุสิบแปดปี |
จะได้ที่หมื่นขุนเป็นมุลนาย |
ทั้งเมียสาวชาวเหนือเป็นเชื้อแถว |
อีนั่นแล้วมันจะมาพาฉิบหาย |
อันอ้ายขุนแผนพ่อของออพลาย |
จะพ้นปลายเดือนยี่ในปีกุน |
นับแต่นี้มีสุขไม่ทุกข์ร้อน |
ได้เตียงนอนนั่งเก้าอี้เป็นที่ขุน |
ทองประศรีดีใจไหว้เจ้าคุณ |
ช่วยแบ่งบุญให้ได้ฟื้นคืนสักที |
สมภารรับกลับมายังอาวาส |
เสียงพิณพาทย์พวกพ้องทองประศรี |
หาเสภามาทั่วที่ตัวดี |
ท่านตามีช่างประทัดถนัดรบ |
ดูทำนองพองคอเสียงอ้อแอ้ |
พวกคนแก่ชอบหูว่ารู้จบ |
ตารองศรีดีแต่ขันรู้ครันครบ |
กรับกระทบทำหลอกแล้วกลอกตา |
แล้วนายทั่งดังโด่งเสียงโว่งโวก |
ว่ากระโชกกระชั้นขันหนักหนา |
ฝ่ายนายเพชรเม็ดมากลากช้าช้า |
ตั้งสามวาสองศอกเหมือนบอกยาว |
ส่วนนายมาพระยานนท์คนตลก |
ว่าหยกหยกหยาบช้าคนฮาฉาว |
ตาทองอยู่รู้ว่าภาษาลาว |
แล้วส่งกราวเชิดเพลงโหน่งเหน่งไป |
ครั้นรุ่งเช้าเจ้าพลายก็โกนจุก |
เป็นพ้นทุกข์พ้นร้อนนอนหลับใหล |
จนผมยาวเจ้าได้ตัดมหัดไทย |
คิดจะใคร่ไปเป็นข้าฝ่าธุลี |
เดชะบุญทูลขอพ่อพ้นโทษ |
เหมือนได้โปรดบิดาเป็นราศี |
แต่นิ่งนึกตรึกตราจนราตรี |
เข้าข้างที่นอนย่าน้ำตาคลอ |
ทำคลึงเคล้าเฝ้าวอนด้วยอ่อนหวาน |
พรุ่งนี้หลานจะลาไปหาพ่อ |
จะได้เฝ้าเจ้าชีวิตชิดชอบพอ |
ทูลขอเผื่อจะโปรดที่โทษทัณฑ์ ฯ |
๏ ทองประศรีดีใจให้อนุญาต |
เจ้าเชื้อชาติพงศ์พลายจงผายผัน |
จะได้ช่วยพ่อแม่คิดแก้กัน |
ตามกตัญญูเถิดประเสริฐดี |
ย่าจะให้ไปส่งจนถึงพ่อ |
จึงพาต่อไปหาพระหมื่นศรี |
ตามแต่บุญวาสนาบารมี |
อันย่านี้นับวันจะบรรลัย |
มีลูกเต้าเล่าก็ทำให้ซ้ำทุกข์ |
ไม่มีสุขสักเวลาน้ำตาไหล |
โรคก็ซ้ำช้ำบอบทั้งหอบไอ |
ใครจะได้เผาผีก็มิรู้ |
เจ้าจงจำตำราที่ย่าสอน |
จะถาวรเพิ่มยศไม่อดสู |
ย่าจะให้ไอ้พลัดไอ้ปัดไอ้ปู |
เข้าไปอยู่ติดตามทั้งสามคน |
พอถือร่มสมปักตักน้ำท่า |
หุงข้าวปลาสารพัดไม่ขัดสน |
พูดจนดึกตรึกการกับหลานตน |
แล้วหลับจนแจ่มแจ้งแสงตะวัน ฯ |
๏ รู้สึกกายยายทองประศรีย่า |
เอาเงินผ้าเสื้อใส่ในกำปั่น |
ทั้งหวานคาวข้าวปลาสารพัน |
ขนขึ้นบรรทุกสัปคับช้าง |
พลายงามลาย่าช่วยอวยสวัสดิ |
ได้ฤกษ์พาสารพัดไม่ขัดขวาง |
ขึ้นขี่หลังพังสะเทินเดินตามทาง |
ไม่แรมค้างข้ามทุ่งถึงกรุงไกร |
ไปหาพ่อพอพบนั่งนบนอบ |
ขุนแผนสอบไต่ถามความสงสัย |
เจ้าพลายน้อยค่อยเล่าให้เข้าใจ |
ลูกจะใคร่ให้พระนายถวายตัว ฯ |
๏ ขุนแผนแสนสวาดิอนุญาตว่า |
จงอุตส่าห์สืบตระกูลเถิดทูนหัว |
พ่อพงศ์พลายหมายศึกอย่านึกกลัว |
จะพาตัวเจ้าไปให้พระนาย |
แล้วซักไซ้ไต่ถามถึงความรู้ |
ให้ท่องดูได้สมอารมณ์หมาย |
ทีเข้าออกบอกความตามอุบาย |
สอนลูกชายอยู่จนสนธยา |
พอเสียงฆ้องกลองย่ำเข้าค่ำพลบ |
ถึงเดินพบผู้ใดไม่เห็นหน้า |
ชวนลูกชายพลายงามตามกันมา |
ไปเคหาพระหมื่นศรีที่ริมคลอง |
ขึ้นบันไดไฟอร่ามถามพวกบ่าว |
พอรู้ข่าวว่าสบายค่อยคลายหมอง |
ตรงมาหอรอรั้งยั้งหยุดมอง |
หมื่นศรีร้องเรียกว่ามาสิเกลอ |
ด้วยรักใคร่ใจซื่อถือว่าเพื่อน |
ไม่บากเบือนหน้าหนีดีเสมอ |
ขุนแผนพาลูกไปนั่งไหว้เธอ |
ถามว่าเออนั่นใครที่ไหนมา ฯ |
๏ ขุนแผนบอกออกว่าลูกเจ้าวันทอง |
ที่มีท้องเกือบแก่มาแต่ป่า |
เอาความหลังทั้งนั้นพรรณนา |
จะพามามอบไว้ให้เจ้าคุณ |
ด้วยไม่มีที่เห็นแต่เป็นโทษ |
พระนายโปรดช่วยเหลือทั้งเกื้อหนุน |
เป็นที่พึ่งจึงมาจงการุญ |
เอาแต่บุญเถิดพ่อเจ้าเมื่อคราวจน |
อันวิชาย่าสอนลูกอ่อนแล้ว |
เห็นคล่องแคล่วการศึกพอฝึกฝน |
ถ้ากะไรได้ช่องเห็นชอบกล |
ช่วยผ่อนปรนโปรดถวายเจ้าพลายงาม ฯ |
๏ พระหมื่นศรีดีใจปราศรัยทัก |
ดูแหลมหลักลูกทหารชาญสนาม |
เป็นข้าเฝ้าเจ้าชีวิตอย่าคิดคร้าม |
มีสงครามเมื่อไรคงได้ดี |
ไว้ธุระจะถวายช่วยบ่ายเบี่ยง |
ให้ชุบเลี้ยงลูกรักเป็นศักดิศรี |
ที่กินอยู่ผู้คนของเรามี |
อยู่เรือนนี้นั่งนอนไม่ร้อนรน |
ขุนแผนเล่าเจ้าก็รู้อยู่ว่ารัก |
จนเจียนจักแหล่นตายด้วยหลายหน |
ก็เอ็นดูอยู่ว่าเกลอถึงเธอจน |
ที่ขัดสนสารพัดไม่ขัดกัน |
แต่สุดช่วยด้วยว่าอาญาหลวง |
ต่อได้ท่วงทีก่อนจะผ่อนผัน |
จริงนะเจ้าเราก็คิดทุกคืนวัน |
คงช่วยกันไปกว่ากายจะวายวาง ฯ |
๏ นายขุนแผนแสนชื่นให้ตื้นอก |
อุตส่าห์ยกมือไหว้มิได้หมาง |
สู้กลืนกล้ำน้ำตาแล้วว่าพลาง |
พ่อเหมือนอย่างพ่อแม่ช่วยแก้ทุกข์ |
จนยากเย็นเป็นโทษถึงโหดไร้ |
ยังส่งให้ข้าวปลาเป็นผาสุก |
ก็หมายมั่นกตัญญูถึงอยู่คุก |
กราบพ่อทุกทุกคืนค่อยชื่นใจ |
อันลูกชายพลายงามตามแต่พ่อ |
ลูกจะขอกราบลาช้าไม่ได้ |
พลางลูบหลังสั่งลูกผูกอาลัย |
พ่อจะไปก่อนแล้วนะแก้วตา |
อยู่พึ่งบุญคุณพ่อต่อไปเถิด |
จะประเสริฐสมหวังเป็นฝั่งฝา |
แล้วลงเรือนเดือนสว่างกระจ่างตา |
ก็กลับมาหับเผยที่เคยนอน ฯ |
๏ ครานั้นจมื่นศรีเสาวรักษ์ราช |
เรียกพลายงามทรามสวาดิมาสั่งสอน |
จะเป็นข้าจอมนรินทร์ปิ่นนคร |
อย่านั่งนอนเปล่าเปล่าไม่เข้าการ |
พระกำหนดกฎหมายมีหลายเล่ม |
เก็บไว้เต็มตู้ใหญ่ไขออกอ่าน |
กรมศักดิหลักชัยพระอัยการ |
มนเทียรบาลพระบัญญัติตัดสำนวน |
แล้วให้รู้สุภาษิตบัณฑิตพระร่วง |
ตามกระทรวงผิดชอบคิดสอบสวน |
ราชาศัพท์รับสั่งให้บังควร |
รู้จงถ้วนถี่ไว้จึงได้การ |
ที่ไม่สู้รู้อะไรผู้ใหญ่เด็ก |
มหาดเล็กสามต่อพ่อลูกหลาน |
เสียตระกูลสูญลับอัประมาณ |
เพราะเกียจคร้านคร่ำคร่าเหมือนพร้ามอญ |
นี่ตัวเจ้าเหล่ากอทั้งพ่อแม่ |
อย่าเชือนแชอุตส่าห์จำเอาคำสอน |
แล้วจัดแจงห้องหับให้หลับนอน |
ไม่อาวรณ์เธอช่วยเลี้ยงเป็นเที่ยงธรรม์ ฯ |
๏ ครานั้นพลายงามทรามสวาดิ |
แหลมฉลาดเลขผาปัญญาขยัน |
อยู่บ้านพระหมื่นศรียินดีครัน |
ทุกคืนวันตามหลังเข้าวังใน |
เธอเข้าเฝ้าเจ้าก็นั่งบังไม้ดัด |
คอยฟังตรัสตรึกตราอัชฌาสัย |
ค่อยรู้กิจผิดชอบรอบคอบไป |
ด้วยมิได้คบเพื่อนเที่ยวเชือนแช |
ครั้นอยู่บ้านอ่านคำพระธรรมศาสตร์ |
ตำรับราชสงครามตามกระแส |
ค่อยชื่นชุ่มหนุ่มตะกอดูฟ้อแฟ้ |
นางสาวแส้ใส่ใจจะใคร่พบ |
เขาไปหามาสู่ไม่รู้เกี้ยว |
แต่พอเหลียวเห็นผู้หญิงก็วิ่งหลบ |
อุตส่าห์เพียรเรียนดูจนรู้ครบ |
รู้ขนบธรรมเนียมก็เจียมใจ ฯ |
๏ ครานั้นท่านพระจมื่นศรี |
ถึงวันดีได้ช่องก็ผ่องใส |
จึงจัดแจงแต่งธูปเทียนดอกไม้ |
จะเข้าไปทูลถวายเจ้าพลายงาม |
นุ่งถมปักชักกลีบจีบสลับ |
ครั้นเสร็จสรรพสำราญขึ้นคานหาม |
พวกข้าคนอลหม่านถือพานตาม |
เจ้าพลายงามตามหลังเข้าวังใน |
ถึงพระลานวานเขาพวกชาวที่ |
ที่ค่อยมีกิริยาอัชฌาสัย |
ถือพานทองรองธูปเทียนดอกไม้ |
ยกเข้าไปเตรียมตั้งพอบังควร |
ให้พลายงามตามไปนั่งตรงตั้งของ |
ตามทำนองพระหมื่นศรีสั่งถี่ถ้วน |
ฝ่ายข้าเฝ้าเจ้าพระยาเวลาจวน |
ต่างก็ชวนกันเข้ามาหน้าพระโรง |
นุ่งถมปักชักชายกรายกรีดเล็บ |
ผ้ากราบเหน็บแนบหน้าดูอ่าโถง |
พอเวลานาทีถ้วนสี่โมง |
เข้าพระโรงพร้อมหน้าข้าราชการ ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช |
มงกุฎเกศอยุธยามหาสถาน |
สถิตแท่นแว่นฟ้าโอฬาฬาร |
ดังวิมานเมืองฟ้าสุราลัย |
ห้ามแหนแน่นหนุนละมุนหมอบ |
งามประกอบกิริยาอัชฌาสัย |
ระเรื่อยรับขับร้องทำนองใน |
สำราญราชหฤทัยทุกเวลา |
ยามกลางวันนั้นก็ออกพระโรงรัตน์ |
มีแต่ตรัสสรวลสันต์ทรงหรรษา |
ทั้งเหนือใต้ไพรีไม่มีมา |
สำราญใจไพร่ฟ้าประชาชี |
ด้วยเดชะบุญญาอานุภาพ |
มีแต่ลาภมาประมูลพูนภาษี |
แต่บรรดาข้าเฝ้าเหล่าเสนี |
ใครทำดีได้ประทานถึงพานทอง ฯ |
๏ ฝ่ายพระจมื่นศรีเสาวรักษ์ราช |
อภิวาทบาทมูลทูลฉลอง |
ขอเดชะพระกรุณาฝ่าละออง |
ดอกไม้ธูปเทียนทองของพลายงาม |
บุตรขุนแผนแสนสะท้านหลานทองประศรี |
ความรู้มีเรียบราบไม่หยาบหยาม |
จะขอรองมุลิกาพยายาม |
พลางกราบสามทีสดับตรับโองการ ฯ |
๏ ครานั้นสมเด็จพระพันวษา |
เหลือบเห็นหน้าพลายงามความสงสาร |
จะออกโอษฐโปรดขุนแผนแสนสะท้าน |
แต่กรรมนั้นบันดาลดลพระทัย |
ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอก |
นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล |
ลืมประภาษราชกิจที่คิดไว้ |
กลับเข้าในแท่นที่ศรีไสยา ฯ |
๏ อันเรื่องราวกล่าวความพลายงามสวาดิ |
เป็นมหาดเล็กแล้วค่อยแกล้วกล้า |
อยู่ด้วยพระหมื่นศรีผู้ปรีชา |
เฝ้าเวลาเช้าเย็นไม่เว้นวัน |
มุลนายถ้วนหน้าก็ปรานี |
มิได้มีใครรังเกียจเดียดฉันท์ |
ถึงว่าท่านจางวางทั้งสองนั้น |
ก็ฝากตัวกลัวทั่นทุกคนไป ฯ |