๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ |
ปรารภจะประพาสพนาศรี |
ด้วยข่าวข้างทางสุพรรณบุรี |
ว่ากระบือเถื่อนมีอยู่มากครัน |
จึงดำรัสตรัสสั่งขุนศรีวิชัย |
มึงเร่งกลับไปสุพรรณนั่น |
บอกอ้ายขุนไกรใจฉกรรจ์ |
ให้คุมไพร่พวกมันไปเตรียมการ |
อีกห้าวันกูจะออกไปแรมไพร |
ล้อมไล่มหิงสากล้าหาญ |
ให้หาที่ดอนใหญ่ใกล้ลำธาร |
จะตั้งค่ายรายด่านลานพลับพลา |
อ้ายเหล่าอาสาห้าร้อยปลาย |
ให้เร่งไล่ฝูงควายมาไว้ท่า |
แล้วพระองค์ทรงผินพระพักตร์มา |
สั่งพระยาเดโชผู้ชัยชาญ |
จงเร่งรีบรัดจัดกระบวน |
เลือกล้วนชาวเจ้าเหล่าทหาร |
อิกทั้งพลม้าคชาธาร |
ให้พร้อมในห้าวารจะยกไป ฯ |
๏ ฝ่ายพระยาเดโชผู้รับสั่ง |
มาทิมดาบกรมวังหาช้าไม่ |
สั่งการนายชำนาญในทันใด |
รับสั่งให้หมายทั่วพนักงาน |
จะเสด็จประพาสพนาวา |
ล้อมไล่มหิงสากล้าหาญ |
นายเวรกรมวังได้ฟังการ |
เขียนหมายลนลานลงทันใจ |
เขียนแล้วก็ส่งให้นักการ |
รับหมายเดินงานไม่ช้าได้ |
ส่งให้นายเวรมหาดไทย |
เร่งหมายบอกออกไปให้ทั่วกัน |
ฝ่ายว่านายควรมหาดไทย |
เอาหมายไปเรียนท่านผู้ใหญ่นั่น |
บัดนี้จะเสด็จเมืองสุพรรณ |
ให้ห้าวันตามที่มีหมายมา ฯ |
๏ ครานั้นเจ้าพระยาจักรี |
ครั้นแจ้งคดีแล้วให้หา |
พันพุฒพันจันท์มิทันช้า |
พร้อมกันที่ศาลาลูกขุนใน |
เรียกทั้งพันเภากับพันภาณ |
เอาบาญชีคลี่อ่านหาช้าไม่ |
เกณฑ์ช้างม้าผู้คนสับสนไป |
พนักงานของใครให้รีบมา |
สั่งให้พันจันท์นั้นแต่งทาง |
ให้ราบรื่นฟื้นถางให้หนักหนา |
ประมาณทางกว้างได้สักแปดวา |
จงเร่งรัดอย่าช้าในห้าวัน ฯ |
๏ ฝ่ายว่าขุนศรีวิชัย |
ขี่ช้างวางไปกับลูกนั่น |
ข้ามทุ่งมุ่งมาเมืองสุพรรณ |
จนตะวันสิ้นแสงลงลับไพร |
ให้ขับช้างตะบึงมาถึงบ้าน |
เขียนหมายลนลานไม่ช้าได้ |
สั่งให้ทนายนั้นถือไป |
ถึงท่านขุนไกรผู้ภักดี |
ทนายรับหมายแล้วไคลคลา |
วิ่งมาครู่หนึ่งก็ถึงที่ |
ส่งให้ขุนไกรในทันที |
แจ้งเรื่องตามมีในหมายไป ฯ |
๏ ครานั้นขุนไกรใจหาญ |
รับหมายแล้วอ่านหาช้าไม่ |
สั่งนายหมวดพลันทันใด |
จงเที่ยวติดตามไพร่ให้รีบมา |
สั่งเสร็จพอเวลาเข้าไต้ไฟ |
ขุนไกรก็เข้าในเคหา |
กับนางทองประศรีภิริยา |
ทั้งบุตรพลายแก้วแววไว |
ให้มีลางคืนนั้นสนั่นอึง |
แมลงมุมตีอกผึงหาหยุดไม่ |
สยดสยองพองขนทุกคนไป |
เย็นยะเยือกจับใจไปทุกยาม |
ทองประศรีนอนหลับแล้วกลับฝัน |
ความกลัวตัวสั่นตกใจหวาม |
สะดุ้งฟื้นตื่นขึ้นให้ครั่นคร้าม |
อารามตกใจปลุกซึ่งสามี |
ขุนไกรถามไปว่าอะไรเจ้า |
นางจึงเล่าความฝันนั้นถ้วนถี่ |
ว่าฟันฉันหักกระเด็นเห็นไม่ดี |
ช่วยทำนายฝันนี้ให้แจ้งใจ |
ขุนไกรได้ฟังดังใครผลาญ |
เอ๊ะจะมีเหตุการเป็นข้อใหญ่ |
ถ้ากูทำนายว่าร้ายไป |
ทองประศรีที่ไหนจะห่างตัว |
ไม่ร้ายดอกฝันดีจะมีสุข |
เจ้าอย่าเป็นทุกข์จงฟังผัว |
แต่ใจคิดครั้งนี้มิรอดตัว |
น่ากลัวกูจะม้วยด้วยกระบือ ฯ |
๏ ครั้นรุ่งสางล้างหน้าคว้าพลายแก้ว |
สว่างแล้วยังไม่ตื่นขึ้นเจียวฤๅ |
อุ้มลูกประคองทั้งสองมือ |
ประจงจูบลูบถือแต่เบาเบา |
พลายแก้วลืมตาคว้ากอดคอ |
หม่อมพ่อจะไปข้างไหนเล่า |
ลุกขึ้นทำไมยังไม่เช้า |
ดังพ่อเจ้าจะหนีลูกนี้ไป |
ขุนไกรได้ฟังลูกชายว่า |
ยกทูนเกศาน้ำตาไหล |
อุ้มลูกเข้ากอดทอดถอนใจ |
พ่อนี้มิใคร่จะไปเลย |
ด้วยรับสั่งจำเพาะเจาะมา |
สุดปัญญาพ่อแล้วพลายแก้วเอ๋ย |
น่าที่แต่นี้จะห่างเชย |
กะไรเลยวิปริตเห็นผิดใจ |
จึงเหลียวหน้ามาสั่งทองประศรี |
ลูกของเราเท่านี้เอาใจใส่ |
ยังเด็กอ่อนนอนนั่งระวังระไว |
เจ้าเลี้ยงพลายแก้วไว้ให้จงดี |
ถ้าหากว่าผิดพลั้งจงสั่งสอน |
อย่าสลัดตัดรอนให้หน่ายหนี |
อุตส่าห์สอนวิชาบรรดามี |
ให้ลูกนี้สืบวงศ์พงศ์พลายไป ฯ |
๏ ทองประศรีได้ฟังผัวสั่งสอน |
เห็นผิดกว่าแต่ก่อนก็สงสัย |
ทั้งกอดจูบลูกยาเห็นอาลัย |
ดูพิไรน้ำคำรํ่าสั่งเมีย |
จะไปไหนไม่เหมือนดังครั้งนี้ |
วิปริตผิดทีมาสั่งเสีย |
เข้าประคองตีนผัวทูนหัวเมีย |
ดังไฟเลียลามไหม้ในใจน้อง |
ยิ่งคิดยิ่งวิตกเพียงอกหัก |
ผัวรักจักไปไกลจากห้อง |
พอแลดูหน้าผัวขนหัวพอง |
ทองประศรีเศร้าจิตรคิดแปลกใจ ฯ |
๏ ครานั้นขุนไกรใจกล้า |
นุ่งผ้าคว้าดาบหาช้าไม่ |
ลุกออกจากห้องย่องเดินไป |
ให้อาลัยห่วงเมียละเหี่ยนัก |
เหลียวหน้ามาดูเจ้าพลายแก้ว |
สุดใจพ่อแก้วเพียงอกหัก |
น้ำตาคลอตาประหม่านัก |
ตัดรักหักใจแล้วไคลคลา |
คุมคนออกจากเมืองสุพรรณ |
ถึงเขาพระพอตะวันจะลับหล้า |
สั่งไพร่ให้สำรวจตรวจตรา |
คอยท่ารับเสด็จพระภูธร ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ทรงสวัสดิ์ |
พูนพิพัฒน์ภิญโญสโมสร |
ไสยาสน์เหนืออาสน์อลงกรณ์ |
ในแท่นที่บรรจถรณ์อันพรายพรรณ |
ทรงสดับจำเรียงเสียงขับกล่อม |
สะพรั่งพร้อมสาวสุรางค์ดังนางสวรรค์ |
บำเรอราชบาทบงสุ์พระทรงธรรม์ |
เกษมสันต์สำราญหฤทัย |
รวยรื่นชื่นกลิ่นบุปผากรอง |
ประทีปแก้วแสงส่องจำรัสไข |
ทรงดำริราชการงานเวียงชัย |
จนประทมหลับไปในราตรี ฯ |
๏ ครั้นรุ่งเช้าฝ่ายเจ้าพนักงาน |
เตรียมการโดยกระบวนถ้วนถี่ |
กรมช้างจัดช้างที่ตัวดี |
คนขี่ครบทั่วตัวคชา |
จ่าดาบขวาซ้ายก็จ่ายเครื่อง |
ขนเนื่องมาวางไว้ข้างหน้า |
กรมช้างพลางผูกมิทันช้า |
เบาะอานผ่านหน้าดาราราย |
สองหูพู่จามรีกรอง |
ปกตระพองทองพร้อยห้อยตาข่าย |
แต่ล้วนช้างพระที่นั่งทั้งพังพลาย |
หลากหลายเข้ากระบวนส่วนคชา |
พระที่นั่งพุดตานสำหรับเสด็จ |
ผูกเสร็จทอดพระแสงแสนสง่า |
นายทรงบาศเป็นควาญชำนาญมา |
ใส่ครุยกรองนุ่งผ้าสมปักลาย |
ผูกทั้งพระที่นั่งกระโจมทอง |
วงพระสูตรรูดคล้องเป็นสองสาย |
เบาะปักหักทองขวางสล้างลาย |
เขนยอิงพิงฝ่ายประปฤษฎางค์ |
ผูกทั้งพระที่นั่งเถลิงศอ |
พระยี่ภู่ปูคอกันกระด้าง |
พระที่นั่งประพาสโถงแรมทาง |
ต่างต่างแลล้วนละกลกัน |
หมอควาญนุ่งลายใส่เสื้อ |
ประจุเจือเวทมนตร์ดลขยัน |
เจียระบาดคาดกับปั้นเหน่งพลัน |
จัดสรรเลือกล้วนแต่ตัวดี |
ถัดมาช้างที่นั่งต่างกรม |
ข้าไทเกณฑ์ระดมอยู่อึงมี่ |
ทั้งช้างดั้งช้างกันนั้นมากมี |
หมอควาญขับขี่อยู่ครบครัน |
หน้าช้างสล้างล้วนเหล่าทหาร |
เพียงจะราญรอนรบภพสวรรค์ |
กระบวนช้างพร้อมสรรพฉับพลัน |
จึงจัดสรรอัสดรที่ตัวดี |
พระยาศีเสาวพ่าห์จัดม้าต้น |
หลวงทรงพลเตรียมกระบวนเป็นถ้วนถี่ |
ให้นายม้าผูกม้าพาชี |
ล้วนขับขี่แคล่วคล่องว่องไว |
ม้าต้นพระที่นั่งตัวประเสริฐ |
ลํ้าเลิศทั้งสองผ่องใส |
ผ่านดำขำเหลืองเรืองวิไล |
สูงได้สามศอกโดยประมาณ |
ผูกเครื่องกุดั่นฝรั่งเศส |
อย่างเทศพรรณรายฉายฉาน |
พระแสงปืนซ้ายขวาอาชาชาญ |
เบาะอานปักเอี่ยมอุไรมี |
โกลนทองคล้องห้อยพลอยประดับ |
วาบวับจับคลุมกำมะหยี่ |
ไหมทองถักบังเหียนแนบเนียนดี |
งามสมพาชีที่โสภา |
ม้าหนึ่งชื่อว่าพลาหก |
ม้าหนึ่งชื่อกระหนกภูษา |
นายม้าจูงประคองทั้งสองม้า |
ขุนหมื่นขี่อาชามาในกระบวน |
ขุนนางขี่ช้างตามเสด็จ |
เตรียมเสร็จตามที่ถี่ถ้วน |
หัวพันเที่ยวสำรวจตรวจจำนวน |
เวลาจวนก็พร้อมพลนิกร ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช |
ทุกประเทศฦๅลบสยบสยอน |
ครั้นจวนแจ้งแสงศรีรวีวร |
พระภูธรเสด็จสู่ที่สรงชล |
ไขสุหร่ายหยัดย้อยเป็นฝอยฟอง |
อาบละอองต้องพระองค์ดังสายฝน |
น้ำกุหลาบหอมฟุ้งจรุงปน |
ทรงสุคนธาประทิ่นกลิ่นโอฬาร |
สาวสนมกรมในเป็นขนัด |
รำเพยพัดเสร็จทรงสรงสนาน |
จับพระแสงข้างที่มิทันนาน |
พระภูบาลออกท้องพระโรงชัย |
ชาวภูษามาลาก็เชิญเครื่อง |
คลานเนื่องกันเข้ามาหาช้าไม่ |
ทรงเครื่องต้นสำหรับประพาสไพร |
ตามพิชัยฤกษ์กำลังวัน |
สนับเพลาเชิงงอนซ้อนกาบ |
พระภูษาเข้มขาบริ้วทองคั่น |
ฉลององค์ทรงประพาสในวันนั้น |
กำมะหยี่สีอัญชันพรรณราย |
สายรัดพระองค์ทรงข้างนอก |
ริ้วทองกรองดอกเฉิดฉาย |
พระแสงน้อยเหน็บพระองค์ตรงข้างซ้าย |
พระธำมรงค์เพชรรายอร่ามเรือง |
ทรงพระมาลาพื้นดำ |
ประดับบุษราคัมน้ำเหลือง |
พระแสงดาบคาบค่ายทำลายเมือง |
ย่างเยื้องเสด็จขึ้นเกยพลัน |
กลองชนะตีจ้าท้าเชิญเสด็จ |
กระบวนหน้าเตรียมเสร็จเป็นเหล่าหลั่น |
ต่างถวายบังคมลงพร้อมกัน |
เสด็จจากเกยสุวรรณทันที |
ทรงช้างพระที่นั่งพุดตานทอง |
กระทั่งแตรแซ่ฆ้องซ้องเสียงปี่ |
กึกก้องทั่วท้องธรณี |
ให้เคลื่อนโยธีเป็นทิวไป ฯ |
๏ เสียงกระดึงคอช้างดังโหน่งโหน่ง |
โหยงโหยงม้าวางควบย่างใหญ่ |
เครื่องสูงบังแทรกอยู่ชั้นใน |
ธงทิวปลิวไสวใบโบกบน |
คลายคลี่โยธีอันหาญฮึก |
ก้องกึกอลหม่านอยู่สับสน |
เสียงสนั่นครั่นครื้นภูมิดล |
เสียงพลเพียงปัถพีพัง |
โล่เขนดาบดั้งทั้งหอกทวน |
ตามกระบวนพยุหบาตรหน้าหลัง |
พลม้าร่าเริงด้วยกำลัง |
พลช้างช้างดั้งทั้งกันแซง |
พลปืนถือปืนปลายหอก |
พลดาบดาบกลอกออกเป็นแสง |
พลทวนถือทวนกระบวนแซง |
พลดั้งเสึ้อแดงดูดาษไป |
เสียงเอิกเกริกอึงคะนึงก้อง |
ทั้งฆ้องกลองดนตรีปี่ไฉน |
ออกทุ่งมุ่งป่าพนาลัย |
ตัดไปข้ามท่าวาริน |
ผู้คนช้างม้าดาดาษ |
ฝูงสัตว์จัตุบาทก็ตื่นสิ้น |
นกหกตกใจผวาบิน |
โผผินร่อนร้องระงมดง ฯ |
๏ พระเสด็จโดยทางพนมมาศ |
ชมเถินเนินสะอาดร่มระหง |
ชื้อชิดมิดแสงพระสุริยง |
วิหคหงส์ร่อนร้องระวังไพร |
นกแก้วจับต้นตุมกาพลอด |
นกกรอดจับเถาตำลึงใหญ่ |
สาลิกาจับเกดเข้าบังใบ |
เขาไฟจับต้นรกฟ้าคู |
วายุภักษ์จับกิ่งแสลงพัน |
เบญจวรรณจับหว้าอยู่เคียงคู่ |
เค้าโมงจับโมกแล้วเมียงดู |
กระลุมพูจับบนต้นโพบาย |
นกเขาจับข่อยขันก้อง |
ดุเหว่าร้องจับหว้าแล้วผันผาย |
ค้อนหอยจับเหียงเรียงราย |
กระสาจับกระสังส่ายหมายมองปลา |
กะทาจับต้นโคนดินสอ |
ปักก้อพองขนแล้วขันจ้า |
อัญชันจับเชิงบรรพตา |
สร้อยอิร้าคาบลูกพุมเรียงบิน |
ชมแถวแนวเถินเนินบรรพต |
เป็นหลั่นลดซับซ้อนชะง่อนหิน |
วุ้งเวิ้งเชิงผาชลาริน |
ดังเพชรนิลกระจ่างอยู่พร่างพราย |
เปลวปล่องช่องผาศิลาชะงัก |
เป็นตระพักชะโงกเงื้อมดูแหงนหงาย |
เต็งรังปริงปรูประดู่ลาย |
งอกรายริมเชิงบรรพตา |
บ้างผลิดอกออกช่ออรชร |
พระพายพัดขจรกลิ่นบุปผา |
บ้างทรงผลหล่นกลาดพสุธา |
ฝูงทิชาจับจิกเหล่าลิงชิง |
ลิงค่างบ่างชะนีก็ครวญร้อง |
พยัคฆ์มองหมายละมั่งลงหมอบนิ่ง |
กระต่ายเต้นเม่นหมีชะนีลิง |
โดดโผนโจนวิ่งด้วยตกใจ |
ชมพลางมาในทางพนมชัฏ |
เลี้ยวลัดตามเถินเนินไศล |
รีบเร่งรี้พลสกลไกร |
ถึงดอนใหญ่ให้หยุดซึ่งโยธี |
ให้ตั้งตำหนักห้างลงกลางไพร |
แรมอยู่ที่ในพนาศรี |
จึงตรัสสั่งขุนไกรไปทันที |
พรุ่งนี้มึงไปไล่กระบือมา |
แล้วสั่งฤทธานนต์ให้ทำคอก |
เอาไม้ปักรอบนอกให้แน่นหนา |
ทั้งสองรับสั่งบังคมลา |
ออกมาเร่งรัดจัดการ ฯ |
๏ หลวงฤทธานนต์ผู้รับสั่ง |
มาเรียกพวกล้อมวังอลหม่าน |
นายหมวดตรวจคนอยู่ลนลาน |
ปั่นด้านแผ้วถางต่างตรวจตรา |
ให้ชำระพุ่มพงดงชัฏ |
แต่งตัดเริงรามหนามหนา |
บ้างจักตอกบ้างออกไปเกี่ยวคา |
บ้างจุดพงเผาป่าแล้วทำทาง |
บ้างฟันบ้างถากบ้างลากฉุด |
บ้างปักบ้างขุดอยู่ยุ่งย่าง |
ให้ตั้งคอกใหญ่ไว้ตรงกลาง |
บ้างถากถางตัดฟันแล้วบั่นรอน |
บ้างไปทิ้งเถาวัลย์ขันชะเนาะ |
ผูกเป็นเปลาะบ้างรัดมัดเป็นท่อน |
ที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็อาวรณ์ |
มุลนายตีต้อนต้องก้าวยาว |
บ้างเหนื่อยนักหยุดพักลงนอนกรน |
ถูกนายหมวดหวดก้นดังขวับขวาว |
ตื่นวิ่งตกใจไปเป็นระนาว |
เกรียวกราวสาละพาฮาเฮโล |
บ้างฉวยฉุดยุดลากกระชากอาด |
พวนขาดไม้ลัดเอาร้องโล่ |
ทำคอกตอกหลักลงใหญ่โต |
บ้างโห่บ้างร้องอยู่ก้องไพร |
ผู้ตรวจกวดขันรันโบยตี |
คนละทีสองทียกมือไหว้ |
ถึงจะเบื่อเหลือทนก็จนใจ |
น้ำตาไหลหลีกหลบกระทบกัน |
ฝนตกห่าใหญ่ลงในดง |
เดินหลงล้มกลิ้งอยู่ตัวสั่น |
บ้างซุกซ่อนเข้าไปนอนในไพรวัน |
จนสายัณห์หยุดงานสำราญใจ |
บ้างเก็บผักหักฟืนบ้างยืนเยี่ยว |
บ้างก็เที่ยวค้นคว้าหาเป็ดไก่ |
บ้างหุงข้าวนอนหลับกับเตาไฟ |
บ้างเหื่อไหลเต็มอ่อนลงนอนกรน ฯ |
๏ ครานั้นขุนไกรพลพ่าย |
ครั้นรุ่งเช้าเรียกทนายอยู่สับสน |
แล้วพาพวกอาสาห้าร้อยคน |
เที่ยวไล่ค้นกระบืออื้ออึงไป |
ลอดลัดสกัดทางในกลางดง |
เวียนวงตามเถินเนินไคล |
โห่ร้องก้องสนั่นพนมไพร |
จุดไฟเผาพงเป็นวงมา |
ควันคลุ้มกลุ้มกลบตรลบไป |
เปลวไฟโพลงพลามลามป่า |
ไม้ไหล้ไหม้ยับอรัญวา |
งูเห่าเต่าฝาก็บรรลัย |
เนื้อเบื้อเสือสางกวางทราย |
หมีหมูหมู่กระต่ายไม่อยู่ได้ |
ลิงค่างโลดโผนโจนจากไม้ |
นกหกตกใจไปทั้งดง |
กระบือเถื่อนใหญ่น้อยนับร้อยพัน |
หวาดหวั่นวิ่งกระเจิงละเลิงหลง |
ตกใจด้วยไฟนั้นไหม้พง |
เสียงคนโห่ส่งก็ตรงมา |
บ้างแหงนหงายลองเชิงเบิ่งบิด |
อ้ายเพื่อนกันรันขวิดขึ้นมาหน้า |
เสียงเขากระทบกันสนั่นป่า |
ป่วนปั่นเป็นบ้าละลานใจ |
ฝูงกระบือยัดเยียดเบียดกัน |
เสียงคนโห่สนั่นหวั่นไหว |
ทั้งม้าล่อฆ้องกลองตะขาบไฟ |
อื้ออึงคะนึงไปในไพรวัน ฯ |
๏ ครานั้นสมเด็จพระพันวษา |
เสด็จบนพลับพลาแล้วผินผัน |
เห็นกระบือใหญ่น้อยสักร้อยพัน |
ยัดเยียดเบียดกันอยู่วุ่นวาย |
จึงตรัสว่าฮ้าเฮ้ยอ้ายขุนไกร |
เป็นไรมิต้อนให้เข้าค่าย |
มึงไว้ใจแต่ไพร่ให้ไล่ควาย |
มึงลอยชายอยู่เปล่าไม่เข้ายา ฯ |
๏ ขุนไกรได้ยินพระโองการ |
เผ่นทะยานจับหอกออกยืนหน้า |
พวกไพร่โห่ฉาวเกรียวกราวมา |
ฝูงกระบือเป็นบ้าอยู่ลนลาน |
ตื่นครื้นโลดโผนโดนโดด |
อ้ายงอนโกรธออกหน้ากล้าหาญ |
มันไล่ขวิดผู้คนอลหม่าน |
ขุนไกรก็ทะยานออกยืนรับ |
ถีบโดดโลดแทงเป็นกังหัน |
เสียงหอกสนั่นอยู่ฉับฉับ |
ถูกควายตายล้มลงย่อยยับ |
จะนับก็ได้สักร้อยปลาย |
ฝูงกระบือเจ็บคลั่งกำลังตื่น |
แหกครืนเข้าป่าพากันหาย |
วิ่งแยกแตกกระจัดพลัดพราย |
ที่ตายก็ตายอยู่เต็มไป ฯ |
๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ |
กริ้วโกรธตละพิษเพลิงไหมั |
ดังลมกาลพานพัดขัดพระทัย |
ไขพระสุรเสียงประเปรี้ยงมา |
เหม่เหม่ดูดู๋อ้ายขุนไกร |
แทงกระบือน้อยใหญ่เสียหนักหนา |
แกล้งแทงเล่นกูเห็นอยู่ต่อตา |
จนแตกหนีเข้าป่าพนาลัย |
เหวยเหวยเร่งเร็วเพชฌฆาต |
ฟันให้หัวขาดไม่เลี้ยงได้ |
เสียบใส่ขาหยั่งขึ้นถ่างไว้ |
ริบสมบัติข้าไทอย่าได้ช้า |
ฝ่ายพวกเพชฌฆาตอาจอง |
รับสั่งแล้วตรงเข้าฉุดคร่า |
ได้ตัวขุนไกรมัดไพล่มา |
ตอกหลักแล้วว่าให้ก้มลง ฯ |
๏ ครานั้นฝ่ายว่าตาขุนไกร |
ตกใจดังจะยับเป็นผุยผง |
ตัวสั่นขวัญหนีเหมือนผีลง |
จะดำรงกายได้ก็เต็มที |
หน้าซีดผาดเผือดจนเลือดหาย |
ภูตพรายในตัวก็หลีกหนี |
สิ้นสติตัวสั่นขวัญไม่มี |
ดังจะดับชีวีในทันใด |
โอ้ว่าอนิจจานะอกเอ๋ย |
กะไรเลยเกิดเหตุขึ้นจนได้ |
เมื่อจะมาวันนั้นก็พรั่นใจ |
เป็นลางใหญ่กู่ก้องในห้องเรือน |
ทองประศรีแก้วพี่ก็ฝันร้าย |
จึงแกล้งทำนายเสียป่นเปื้อน |
กรรมทันพี่แล้วแก้วเพื่อนเรือน |
เจ้านับวันแล้วจะเลื่อนเป็นปีไป |
สุดคิดพี่แล้วแก้วพี่เอ๋ย |
ที่ไหนเลยจะได้คืนไปรักใคร่ |
เป็นวิบากจะจากเจ้าจำไกล |
สุดใจด้วยต้องอาญาตาย |
อนิจจาลูกข้ายังเล็กอยู่ |
ไหนจะรู้ว่าพ่อมาฉิบหาย |
ขุนไกรกลิ้งเกลือกลงเสือกกาย |
ฟูมฟายน้ำตาแล้วพาที |
อ้อนวอนเพชฌฆาตทั้งหลายว่า |
ไหนไหนตัวข้าจะเป็นผี |
ท่านจงเอ็นดูด้วยช่วยปรานี |
บอกนางทองประศรีให้แจ้งใจ |
ว่าข้าขุนไกรนั้นถึงกาล |
ท่านประหารชีวิตให้ตักษัย |
ให้เจ้าระวังตัวกลัวภัย |
ว่าแล้วรํ่าไรไม่สมประดี |
โอ้โอ๋อนิจจาตัวกูเอ๋ย |
กรรมสิ่งไรเลยไม่พอที่ |
มาตายอยู่ในป่าพนาลี |
ซากผีจะเป็นเหยื่อแก่แร้งกา |
ลูกแก้วก็มิได้มาเห็นผี |
ทองประศรีก็มิได้มาเห็นหน้า |
จึงเรียกฤทธานนต์สหายมา |
ช่วยบอกกับเมียข้าให้แจ้งใจ |
หลวงฤทธานนต์ได้ฟังสั่ง |
น้ำตาไหลหลั่งไม่กลั้นได้ |
เกลอเอ๋ยอย่าอาวรณ์ร้อนรนไป |
จะเป็นห่วงบ่วงใยทำไมมี |
อุตส่าห์บริกรรมภาวนา |
เมื่อเวรามาแล้วก็ถึงที่ |
ใครจะอยู่คํ้าฟ้าทั้งตาปี |
ถึงพระศุลีอินทร์จันทร์ย่อมบรรลัย |
ต้องจุติจากสวรรค์ชั้นฟ้า |
เกิดมาแล้วหาพ้นความตายไม่ |
ขุนไกรฟังสหายค่อยคลายใจ |
บรรยายสอนให้ทุกสิ่งอัน |
ค่อยระงับดับความโศกา |
ภาวนาประนมมือถือมั่น |
คิดถึงคุณพระพุทธพระธรรมนั้น |
อภิวันท์พระสงฆ์ทรงศีลา |
ทั้งคุณบิดามาตุเรศ |
บังเกิดเกศก่อเกล้าเกศา |
ขออำนาจจะประกาศแก่เทวา |
ให้ทราบทั่วฟากฟ้าสุธาธาร |
ด้วยตัวข้าขุนไกรกระทำผิด |
ถึงชีวิตจะม้วยสังขาร |
จะตายด้วยความสัตย์ปฏิญาณ |
อย่างพงศ์พลายฝ่ายทหารอันชาญชัย |
ปากว่าตาปิดจิตรปลง |
ระงับลงไม่พรั่นหวั่นไหว |
ก้มหน้าหลับตาภาวนาไป |
ได้ที่ให้นิ้วเขาฟันลง |
เพชฌฆาตฟาดด้วยดาบอันคมกล้า |
ขุนไกรชีวาเป็นผุยผง |
ดวงจิตรพอระงับดับลง |
ทำมะรงเอาศพไปเสียบไว้ ฯ |
๏ ครานั้นหลวงฤทธานนต์ |
เห็นสหายของตนนั้นตักษัย |
เขียนหนังสือลับพลันทันใด |
แล้วสั่งนายไหมมิได้ช้า |
เอ็งเร่งไปสุพรรณบุรี |
บอกนางทองประศรีเหมือนกูว่า |
รับสั่งให้ริบเอาตัวมา |
บอกแม่รักอย่าให้นอนใจ |
นายไหมรับคำแล้วอำลา |
จัดแจงย่ามละว้าคว้าหอกใหญ่ |
ได้มีดเหน็บหลังเก้กังไว้ |
ประเดี๋ยวใจเข้าป่าพนาลี ฯ |
๏ ครานั้นสมเด็จพระพันวษา |
เสด็จประทับพลับพลาพนาศรี |
ประพาสป่ามาได้หลายราตรี |
พระภูมีจะคืนเข้าเวียงชัย |
จึงตรัสสั่งพระยาเดโชพลัน |
ให้ประกาศพลขันธ์น้อยใหญ่ |
จะเลิกประพาสพนาลัย |
กลับไปในรุ่งพระสุริยา |
พระยาเดโชให้บัตรหมาย |
ทั้งไพร่นายเตรียมกระบวนถ้วนหน้า |
ตั้งริ้วผูกระวางช้างม้า |
คอยท่ารับเสด็จพระภูมี |
ครั้นรุ่งรางสางแสงทินกร |
พระเสด็จบทจรออกจากที่ |
สระสรงทรงเครื่องเรืองมณี |
จรลีขึ้นประทับที่เกยชัย |
ทรงช้างพระที่นั่งหลังคาทอง |
ม่านชิดปิดป้องทั้งสองไข |
ให้คลายคลี่รี้พลสกลไกร |
ช้างแซงม้าใช้ก็ตามมา |
พลปืนดาบดั้งทั้งทวนทอง |
เป็นแถวถ่องแต่ล้วนเหล่าอาสา |
รีบเร่งพลไกรไคลคลา |
ถึงกรุงอยุธยาด้วยฉับพลัน ฯ |
๏ นายไหมไปถึงบ้านทองประศรี |
แกไต่ถามทันทีขมีขมัน |
มีธุระทำวนสิ่งไรนั้น |
กินหมากด้วยกันอย่าเกรงใจ |
นายไหมพอจะบอกออกปากว่า |
น้ำตาคลอตาลงหลั่งไหล |
ว่าธุระหลวงฤทธานนต์ใช้ |
แจ้งอยู่ในหนังสือนี้มากมาย |
หนังสือว่ามาถึงทองประศรี |
อันขุนไกรสามีเพื่อนสหาย |
ต้องรับพระราชอาญาตาย |
เสียบไว้หน้าค่ายกระบือนั้น |
รับสั่งให้ริบเอาลูกเมีย |
หนีเสียอย่าอยู่ที่บ้านนั่น |
ออกไปให้พ้นแดนสุพรรณ |
หนังสือมาณวันจงแจ้งใจ ฯ |
๏ ทองประศรีแจ้งความตามหนังสือ |
สองมือข้อนอกเข้าร้องไห้ |
โศกาปิ้มว่าจะบรรลัย |
กลิ้งเกลือกเสือกไปไม่สมประดี |
นางครวญครํ่ารํ่าว่าอยู่ว้าวุ่น |
โอ้พ่อคุณสูญหายตายเป็นผี |
ไม่เจ็บไข้เมื่อไปยังอ้วนพี |
ไม่พอที่ถูกฟันจนบรรลัย |
เสียแรงพ่ออยู่ยงคงกระพัน |
ใครใครทั้งนั้นไม่สู้ได้ |
คืนนั้นเมียฝันไม่พรั่นใจ |
ครั้นบอกให้ก็ทำนายทายว่าดี |
แต่ก่อนร่อนชะไรไม่พลั้งพลาด |
ควรฤๅมาประมาทไปถึงที่ |
ทอดทิ้งลูกเมียเสียอย่างนี้ |
นี่จะให้หันหน้าไปหาใคร |
ยังจะถูกเขาริบเอาฉิบหาย |
จะทรงร่างค้างกายที่ไหนได้ |
แม่ลูกสองคนเป็นจนใจ |
นางสะอึกสะอื้นไห้อยู่ไปมา |
เหลียวหน้ามาเห็นเจ้าพลายแก้ว |
รู้แล้วฤๅพ่อนั้นสังขาร์ |
เจ้ากำพร้าพ่อแล้วแก้วแม่อา |
พลางกอดลูกยาเข้าจาบัลย์ |
เจ้าพลายแก้วสะอึกสะอื้นอ้อน |
ไม่หลับนอนก่นแต่จะโศกศัลย์ |
ทองประศรีแสนเศร้าเฝ้ารำพัน |
กรรมทันแล้วจะทำฉันใดดี |
เหย้าเรือนจะเย็นเป็นป่าช้า |
ฝูงข้าจะกระจัดกระจายหนี |
กรมการสุพรรณจะยํ่ายี |
ไม่อยู่นี่ได้แล้วแก้วแม่อา |
ข้าไทได้ฟังทองประศรี |
โศกีรํ่าไรไปหนักหนา |
ชวนกันไม่กลั้นซึ่งน้ำตา |
ต่างก็มาร้องไห้อยู่อื้ออึง |
อาลัยขุนไกรทุกตัวคน |
บางก็มาตีตนแล้วบ่นถึง |
พ่อไม่ถือโทษโกรธขึ้ง |
ข้าไทได้พึ่งทุกเวลา |
จะไปไหนไม่มีใครข่มเหง |
เขาเกรงพ่อขุนไกรไปทุกหน้า |
แต่นี้มีแต่เขาจะบีฑา |
พวกบ่าวไพร่บ่นบ้าอยู่วุ่นวาย ฯ |
๏ เย็นวันนั้นเวียงวังคลังนา |
กับตำรวจซ้ายขวามามากหลาย |
บ่าวไพร่ใหญ่น้อยสักร้อยปลาย |
ให้รายรอบรั้วบ้านท่านขุนไกร |
ฝ่ายผู้รั้งราชการเมืองสุพรรณ |
ว่าตะวันพลบคํ่าจะเข้าได้ |
จะเข้าริบวันนี้ผิดทีไป |
พรุ่งนี้จึงจะได้ทำบาญชี |
ครั้นแล้วจัดกันให้กองไฟ |
เร่งระวังบ่าวไพร่อย่าให้หนี |
ล้อมไว้ในเวลาราตรี |
พรุ่งนี้เราจึงจะทำการ ฯ |
๏ ครานั้นฝ่ายนางทองประศรี |
เห็นคนอึงมี่อยู่รอบบ้าน |
ตกใจลุกล้มซมซาน |
ลนลานอุ้มเอาเจ้าพลายแก้ว |
ฉวยเงินสองถุงกับกระบุงทะลุ |
เอาผ้าปะปุโดดเรือนแหยว |
สองมือแหกช่องทางล่องแมว |
บังเงาเข้าแนวแถวเสาเรือน |
โก้งโค้งลงมองทางช่องรั้ว |
ลอดตัวออกมาหน้าตาเปื้อน |
จูงลูกหลบแลงตามแสงเดือน |
พบเพื่อนบ้านเก่าเข้าขอทาน |
แม่เอ๋ยข้าวปลาข้าหมดสิ้น |
ไม่มีกินเขาริบเสียทั้งบ้าน |
เพื่อนเรือนแผ่เผื่อช่วยเจือจาน |
ได้ข้าวสารผักปลาแล้วคลาไคล |
พ้นบ้านขึ้นต้นไม้ไขว่ห้างนอน |
อ้อนวอนปลอบลูกอย่าร้องไห้ |
แม่ลูกเขาจะผูกเอาคอไป |
นางกอดลูกเข้าไว้แล้วโศกา |
โอ้ว่าพลายแก้วของแม่เอ๋ย |
เกิดมาไม่เคยจะนอนป่า |
ตกยากกรากกรำกับมารดา |
กำพร้าเพื่อนแม่แม่ปรานี |
ได้ยินนกยูงทองร้องในไพร |
เหมือนเสียงตาขุนไกรที่เป็นผี |
พ่อคุณช่วยรักษาในราตรี |
อย่าให้สัตว์เสือหมีมากล้ำกราย |
อยู่บ้านห้างยามดึกนางนึกพรั่น |
ให้หวั่นหวั่นกลัวภัยใจคอหาย |
เอาชายผ้ามาผูกเอวลูกชาย |
จะตกต้นไม้ตายมิไว้ใจ |
อิกชายหนึ่งกระหวัดรัดมั่นคง |
ผูกลงกับกิ่งต้นไม้ใหญ่ |
ไม่มีผ้าผูกเปลจะเห่ไกว |
ค่อยเอามือลูบไล้ให้ลูกนอน |
พลายแก้วก็เฝ้าแต่โศกี |
ดังชีวีจะขาดสักร้อยท่อน |
คิดถึงพ่อขุนไกรให้รุ่มร้อน |
อาวรณ์บ่นไปไม่สมประดี |
ผุดลุกผุดนั่งไม่ตั้งตัว |
เกาหัวหน้าบู้ยู่ยี่ |
มดแดงมดคันมันสิ้นที |
ยุงริ้นบินหวี่อยู่นี่แน |
ลูกหาวนอนจะนอนก็ไม่ได้ |
คันก้นพ้นใจทีเดียวแม่ |
เอ็นดูลูกด้วยมาช่วยแล |
มดรังแกกัดข้าสักห้าตัว |
พ่อตายมิได้อยู่เรือนเหย้า |
อ้ายพวกเหล่ากรมการมันล้อมทั่ว |
ลูกตามแม่มาก็น่ากลัว |
ลอดรั้วมาได้ใช่พอดี |
จะหลับจะนอนก็ไม่ได้ |
ยุงริ้นบินไต่อยู่หวู่หวี่ |
มดขบแม่ตบให้ฉันที |
แต่พอรุ่งพรุ่งนี้จะหนีไป |
ทองประศรีได้ยินเจ้าพลายว่า |
แสนสงสารลูกยานํ้าตาไหล |
ลูกเอ๋ยมีกรรมทำอย่างไร |
แม่ไล่มดแล้วแก้วแม่อา |
ทั้งสองเหนื่อยอ่อนก็นอนไป |
ที่บนต้นไม้ไทรสาขา |
พากันหลับไปมิได้ช้า |
ตลอดในเพลาราตรี ฯ |
๏ ครั้นรุ่งเช้าเวียงวังคลังนา |
ตำรวจที่มาแต่กรุงศรี |
กับกรมการสุพรรณบุรี |
เข้าบ้านทองประศรีในทันใด |
ไล่จับโคกระบือช้างม้า |
ฝูงข้าชายหญิงวิ่งขวักไขว่ |
ลูกอ่อนเถ้าแก่แซ่เซ็งไป |
ตกใจไม่เป็นสมประดี |
ได้อีเผื่อนต้นเรือนมาเฆี่ยนถาม |
มันจึงบอกออกความว่านายหนี |
เงินทองของข้าวบรรดามี |
จึงให้ทำบาญชีทั้งข้าคน |
แล้วขึ้นบนเรือนท่านขุนไกร |
ริบได้เครื่องเรือนเกลื่อนกล่น |
พนักงานของใครมิให้ปน |
ขนมานอกชานทำบาญชี |
หอกดาบกระบี่ครํ่าขันน้ำถม |
แพรพรมสักหลาดกำมะหยี่ |
ทองขาวทองเหลืองเครื่องดีดี |
ถ้วยชามตามมีจดหมายไว้ |
เงินตราห้าพันนั้นใส่กลัก |
สอดใส่ด้ายถักตีตราใหญ่ |
กำปั่นเครื่องเงินทองนั้นสองใบ |
ลั่นกุญแจขนไปประทุกช้าง |
หูกฝ้ายด้ายไหมใส่เกวียนลาก |
ครกสากใส่แพทั้งโอ่งอ่าง |
ขนมาตรวจตราที่ศาลากลาง |
สำเร็จแล้วก็วางขึ้นช้างไป |
คืนหนึ่งถึงศรีอยุธยา |
เข้ามากราบเรียนท่านผู้ใหญ่ |
ส่งของที่ริบตาขุนไกร |
เข้าไว้ในคลังดังบาญชี ฯ |
๏ ครั้นรุ่งกระจ่างสว่างแล้ว |
จะกล่าวถึงพลายแก้วกับทองประศรี |
นางจะพาลูกไปกาญจน์บุรี |
ก็รีบรี่ลงจากต้นไม้พลัน |
มือกระเดือดกระบุงแล้วจุงลูก |
จิตรผูกเกรงภัยให้นึกพรั่น |
เดินเลียบชายละเมาะเสาะสำคัญ |
ด้นดั้นลัดป่าพนาลี |
เห็นลูกมะละกอสมอไข่ |
ตกดาษกลาดไปอยู่กับที่ |
พลายแก้วเห็นแล้วก็ยินดี |
ชี้บอกทองประศรีไปทันใด |
โน่นแน่แม่เอ๋ยลูกไม้ป่า |
แม่ไปเก็บเอามาเถิดข้าไหว้ |
ลูกอยากนักจักกินให้สิ้นใบ |
แม่ก็เก็บส่งให้มิได้ช้า |
ครั้นถึงหนองน้ำหยุดอาศัย |
ค่อยสบายคลายใจขึ้นหนักหนา |
เอาข้าวเย็นที่เหลือเมื่อคํ่ามา |
คดใส่ห่อผ้าให้ลูกกิน |
พลายแก้วบิแล้วเอาเข้าเคี้ยว |
แห้งเหนียวพ้นใจร้องไห้ดิ้น |
แกงอยู่ไหนแม่ขาขอทาลิ้น |
ข้าวติดคอตาปลิ้นไม่กินแล้ว |
ทองประศรีฟังว่าน้ำตาไหล |
จะเอาแกงที่ไหนพ่อพลายแก้ว |
วิ่งหนีเขามาตาบ้องแบว |
แว่วแว่วเหมือนจะเหลือแต่เนื้อปลา |
พลายแก้วว่าข้าวเย็นกับปลาแห้ง |
เรี่ยวแรงมันจะมีฤๅแม่ขา |
ไม่ได้แกงก็แบ่งแต่ปลาร้า |
ละลายน้ำให้ข้าจงไวไว |
ทองประศรีกอดลูกเข้าโศกา |
แม่มิรู้จะเอามาแต่ไหนได้ |
ลูกเอ๋ยตกลำบากยากไร้ |
จนใจสิ้นคิดของมารดา |
ว่าแล้วก็พากันคลาไคล |
ตามทางหว่างไม้ไพรพฤกษา |
เห็นลูกร้อนแดดนั้นแผดกล้า |
เอาผ้าคลุมหัวให้ลูกชาย |
พลายแก้วเดินหลังรั้งเอวแม่ |
ห้อแห้หน้านิ่วหิวระหาย |
ร้อนเท้าเจ้าเดินเหยียบกรวดทราย |
เจ้าพลายเหนื่อยอ่อนวอนมารดา |
แม่ขาสุดปัญญาของลูกนี้ |
เหลือที่จะล้าเลื่อยเหนื่อยหนักหนา |
คอแห้งคร่องแคร่งแข็งใจมา |
แม่เดินช้าช้าอย่าให้เร็ว |
ลูกก้าวยาวนักก็จักล้ม |
เจ็บระบมตีนแตกจนแหลกเหลว |
แผ่นดินร้อนเหลือใจดังไฟเปลว |
แม่ก็อุ้มใส่สะเอวต่องแต่งมา |
เหนื่อยนักยักให้ขึ้นขี่หลัง |
เอากระบุงถือบังไปข้างหน้า |
ครั้นเมื่อยเข้าก็เอาขึ้นบนบ่า |
มือหนึ่งจับขาลูกยาไว้ |
เท้านางพุพองค่อยย่องเดิน |
ครั้นเมินสะดุดเหเซไถล |
ลูกพลัดจากบ่าผวาไป |
ล้มกลิ้งอยู่ในพนาลี |
เจ้าพลายลุกขึ้นยังมึนหน้า |
ร้องว่าลูกแทบจะเป็นผี |
เจ็บขัดแข้งขาข้าสิ้นที |
ทีนี้แม่ขาอย่าอุ้มเลย |
แม่ลูกไปถึงบ้านกาญจน์บุรี |
ทองประศรีบอกลูกว่าพ่อเอ๋ย |
ในเมืองนี้มีคนที่คุ้นเคย |
แล้วเดินเลยไต่ถามเนื้อความไป |
ด้วยผัวเคยบอกเล่าแต่เก่าก่อน |
ว่าญาติมีที่ดอนเขาชนไก่ |
ครั้นไปพบพวกพ้องของขุนไกร |
เขาก็ทำเรือนให้มิได้ช้า |
นางค่อยทำมาหากิน |
เงินทองทรัพย์สินค่อยเก็บหา |
ช่วยคนบ่าวไพร่ทำไร่นา |
ซื้อที่ทางช้างม้าแลวัวควาย |
มีคนนับหน้าถือตา |
ทรัพย์สินได้มาด้วยค้าขาย |
ค่อยตั้งตัวทำกินเป็นถิ่นสบาย |
อยู่กับลูกชายมาหลายปี ฯ |
๏ ทีนี้จะกล่าวถึงนายจันศร |
กล้าหาญมาแต่ก่อนดังราชสีห์ |
อาจองคงกระพันชาตรี |
เคหาอยู่ที่บ้านโป่งแดง |
เพื่อนชำนิชำนาญในการปล้น |
รุกร้นโห่ฉาวเกรียวกราวแย่ง |
เที่ยวตีเรือเหนือใต้ได้พอแรง |
คบพวกเมืองกำแพงไว้พร้อมกัน |
ตั้งกระพอกจอกจานซานกินเหล้า |
อ้ายขโมยครั้นเมาก็จ้าละหวั่น |
ฟันแทงกันเล่นไม่เว้นวัน |
ด้วยอยู่ยงคงกระพันไม่พรั่นพรึง |
ประจุปืนลูกใส่ไฟจุดชุด |
ยิงกันอุตลุดอยู่ผางผึง |
ถูกใครไม่เข้าเปล่าทุกตึง |
ต่างกำเริบอื้ออึงคะนึงไป ฯ |
๏ ครานั้นจันศรผู้ใจกล้า |
ว่าอ้ายชาวเราหวากูคิดได้ |
วันนี้จะไปตีขุนศรีวิชัย |
ที่บ้านรั้วใหญ่ในสุพรรณ |
มันเป็นพ่อของอ้ายขุนช้าง |
เมียมันชื่อนางเทพทองนั่น |
มั่งมีมากมายเป็นหลายพัน |
ไปช่วยกันขนมาสักห้าลำ |
เขาว่าบ่าวมากครันมันเศรษฐี |
แต่พวกเราเท่านี้เห็นพอปลํ้า |
พวกไพร่ยินยอมลงพร้อมคำ |
ต่างแต่งตัวกำยำไม่ย่อท้อ |
บ้างถือหอกดาบปืนคาบหิน |
เขนงดินเต้าชนวนทวนฮ่อ |
เอาช้างมาเหวยเฮ้ยอย่ารอ |
อ้ายบ่าวฉวยได้ขอเกี่ยวมารับ |
นายจันศรขึ้นช้างวางห้อยโหน |
เพื่อนเอาปลายหอกโยนเข้าต้ำฉับ |
ตำก้นรนส่งขึ้นสัปคับ |
ไสช้างหยับหยับแล้ววางมา ฯ |
๏ ครั้นมาถึงชายไพรใกล้สุพรรณ |
ปลงช้างรวมกันอยู่ในป่า |
นายจันศรปลูกศาลขึ้นเพียงตา |
เอาผ้าขาวลาดดาดเพดาน |
ต่างคนเอาประเจียดแลมงคล |
หอกดาบของตนขึ้นบนศาล |
เหล้าข้าวบัตรพลีพลีการ |
คาวหวานธูปเทียนสว่างตา |
ทั้งกระแจะจุณจันทน์นํ้ามันหอม |
พวกขโมยห้อมล้อมอยู่พร้อมหน้า |
นายจันศรตั้งนโมขึ้นวันทา |
ชุมนุมเทวดาทั้งแปดทิศ |
พระอิศวรพระนารายณ์แลพระพรหม |
โคดมโยคีฤๅษีสิทธิ์ |
ครูบาอาจารย์ชำนาญฤทธิ์ |
พระจันทร์พระอาทิตย์เรืองฤทธี |
อีกทั้งวิรุฬหกวิรูปักษ์ |
กุเวรยักษ์ธตรฐทิศทั้งสี่ |
เทวดาเดินทางนางธรณี |
ท้าวกรุงพาลีขอทำการ |
โอมทรงมหาทรงทุกแหล่งหล้า |
ปลุกขนายเขี้ยวงาที่บนศาล |
เมฆมืดหมอกคลุ้มกลุ้มดินดาน |
โอมอ่านอาพัดซึ่งสุรา |
เสกแล้วให้กินคนละที |
ใจวับหูฉี่เนื้อหนังหนา |
ฤทธิ์เหล้าแล่นขยับจับสายตา |
ต่างตกแต่งกายาไว้ครบตัว |
เสื้อผ้าอาวุธประจำตน |
ผ้าประเจียดมงคลเอาคาดหัว |
ล้วนหยักรั้งจังกาดูน่ากลัว |
จันศรไม่ชั่วนำหน้ามา |
อ้ายขโมยเดินแซงทั้งสองข้าง |
เร่งทนายขับช้างเร็วเร็วหวา |
ถึงบ้านรั้วใหญ่ในมิช้า |
เอาขวานหมูจู่ผ่าประตูตึง |
ขาดยับทับพังดังเสียงโครม |
โห่เร้าเข้าโถมตีเรือนผึง |
อ้ายเสือเอาวาปาปืนปึง |
อึงคะนึงชาวบ้านสะท้านกลัว |
เสียงดังเกรียวกราวฉาวฉ่า |
ตีเร้าเข้ามาเป็นหัวหัว |
ชาวบ้านแตกตื่นยังมึนมัว |
จับตัวให้ได้คบไฟโพลง ฯ |
๏ ครานั้นขุนศรีวิชัย |
ตื่นขึ้นตกใจโดดเรือนโหยง |
เทพทองขุนช้างยังโก้งโค้ง |
ผัวผ้าโล้งโต้งโดดเรือนไป |
อ้ายขโมยรุกไล่ไขว่คว้า |
ตีซ้ายป่ายขวาตะพัดไล่ |
พุ่งซ้ำตำแทงแกว่งคบไฟ |
ตีฝาเคาะไม้อยู่อึงคะนึง |
ไล่จับผู้คนอลหม่าน |
เสียงปืนสะท้านสะเทื้อนผึง |
ชาวบ้านตื่นแตกแหกรั้วอึง |
ตกร้านเรือนตึงไม่สมประดี |
บางก็วิ่งเสือกสนไปลนลาน |
อุ้มลูกจูงหลานแล้ววิ่งหนี |
แบกลุ้งถุงย่ามไปตามมี |
อพยพหลบลี้อยู่พันพัว |
ยายลาวโดดผลุงหัวทลุงซิ่น |
ติดดิ้นมือคว้าเที่ยวหาผัว |
ยายเต่าวิ่งวนอยู่ก้นรั้ว |
ร้องโอยเจ้าขรัวกลัวเจ้าคุณ |
ยายมอญล้มผลุงกระบุงกลิ้ง |
อุยย่ายตายจริงตละกุ่น |
ชายหญิงวิ่งว่อนไปตามบุญ |
หลังไหล่เปื้อนฝุ่นผลุนวิ่งโทง |
อ้ายเจ๊กก๊วยพวยขึ้นปีนตลิ่ง |
ทิ้งกางเกงปะเลงวิ่งไปโล้งโต้ง |
พลัดตกลงนํ้าดำโก้งโค้ง |
เสือกตะโพงเต็มหอบเข้าลอบปลา |
หลงร้องโลเลว่าตะเข้ฉวย |
มะจิไบไซบวยซวยไอ๊ย่า |
อ้ายตาฟางวางเซ่อเง่องงมา |
เอาคอผ่าเข้าไปในง่ามยอ |
สำคัญว่าขโมยเอาขาหนีบ |
ตีนถีบไปมาตาปอหลอ |
ลูกยอหล่นถูกหลังนั่งวอนง้อ |
พ่ออย่าถองลูกนักสะบักจม |
อีแขนฉิ่งวิ่งโดนอ้ายโจรป่า |
ฉวยข้อมือฉุดคร่าว่าตาส้ม |
อ้ายขโมยว่าเอ๊ะปะเตะล้ม |
ลุกขึ้นซานซมวิ่งงมไป |
พวกโจรสับสนอยู่กล่นเกลื่อน |
ตีฝาเคาะเรือนทุบโอ่งไห |
โห่ฉาวกราวเกรียวเที่ยวค้นไป |
ครั้นจับได้แม่ลูกให้ผูกคอ |
เทพทองร้องขอชีวิตฉัน |
ขุนช้างกลัวตัวสั่นตาปอหลอ |
ยั่นกูอีเถ้าเอาให้พอ |
เทพทองร้องขอแต่โทษตัว |
พวกขโมยจูงมาที่กลางบ้าน |
อ้ายหัวล้านนี้ฤๅคือเจ้าผัว |
เทพทองร้องว่านี่ลูกตัว |
ผัวกลัวเขาทิ้งวิ่งหนีไป |
อ้ายขโมยเอาไฟเข้าลนก้น |
มึงจะทนฤๅจะบอกออกความให้ |
เงินทองข้าวของไว้ที่ใด |
มัดแขนแอ่นไพล่อย่าปิดกู |
เทพทองร้องว่าข้าจนใจ |
ขโมยเอาดินใส่ระเบิดหู |
ขุนช้างกราบกรานวานเอนดู |
ขอโทษแม่ตูจงงดไว้ |
เงินทองของดีมีห้าพัน |
อยู่ในกำปั่นจะบอกให้ |
อ้ายขโมยโห่มี่มันดีใจ |
ผ่ากำปั่นใบใหญ่ขนออกมา |
ทรัพย์มากเอาไปไม่ได้สิ้น |
เหลือทิ้งเทดินเสียหนักหนา |
จันศรว่าพวกเราเอาตัวมา |
ให้ผู้หญิงมันว่าปรบไก่ไป |
จันศรขึ้นนั่งยังก้นครก |
บ่าวเต้นหยกหยกอยู่ขวักไขว่ |
ที่บางคนยืนมองส่องคบไฟ |
ร้องชะฉ่าฮ้าไฮ้มโนพรวด |
เฮ้ยอีแม่ลูกลุกขึ้นรำ |
นิ่งอยู่กูจะตำให้กบหนวด |
มิเชื่อกูลองดูเล่นสักรวด |
เอาด้ามหอกออกหวดมึงรำไป |
เจ้าขุนช้างกับนางเทพทอง |
ว่าไม่มีปี่กลองรำไม่ได้ |
อ้ายขโมยทั้งกองร้องฮ้าไฮ้ |
บ้างปากไล่เป็นปี่ตี๋ต๋อยแต |
ขุนช้างกับนางเทพทองรำ |
โจ๋งจะกะโจ๋งครํ่าทำแยงแย่ |
อ้ายขโมยว่าลูกยักถูกแท้ |
ตีอีแม่ยังเลวเอวแข็งไป |
เทพทองกลัวหนักยักสี่มุม |
โจ๋งจะกะโจ๋งครุ่มหาหยุดไม่ |
ตะติงเหน่งติงโหน่งกะโพงใส่ |
ยักไหล่ไพล่ก้นวนตามโทน |
นมยานโยนฟัดตุนัดตุเหน่ง |
ซัดแขนโก้งเก้งเหมึอนเพลงโขน |
ขุนช้างไม่นิ่งตละลิงทะโมน |
โลดโผนกลอกกลับขึ้นจับลอย ฯ |
๏ ครานั้นขุนศรีวิชัย |
คุมชาวบ้านได้ไม่คิดถอย |
พร้อมกันนั่งกองสักสองร้อย |
ต่างคอยสกัดตัดทางดู |
บ้างก็ถือปืนแลหน้าไม้ |
แกว่งไฟเตรียมชุดจุดดินหู |
ทวนหลาวดาบหอกออกพรั่งพรู |
ยืนซุ่มกลุ้มอยู่เป็นหมู่ไป ฯ |
๏ ครานั้นฝ่ายว่านายจันศร |
ใจคอแน่นอนเป็นนายใหญ่ |
เสร็จแล้วร้องตะโกนเรียกโจรไพร |
จับหาบไวไวจะไคลคลา |
บ่าวไพร่ได้หาบมาพร้อมกัน |
นายจันศรนั้นเพื่อนออกหน้า |
เจ้าทรัพย์แม่ลูกผูกคอมา |
ให้ร้องเจ้าข้าใครอย่าตาม |
ท่านจะฆ่าข้าเจ้าให้บรรลัย |
พวกโจรแซงไปเป็นสามง่าม |
ยิงปืนสำทับอยู่วับวาม |
ตูมตามโห่ลั่นสนั่นไป |
ขุนศรีวิชัยกับชาวบ้าน |
กักด่านเห็นโจรเข้ามาใกล้ |
โห่ร้องครั่นครื้นยิงปืนไฟ |
กระโชกไล่พวกโจรวิ่งโผนมา |
แม่ลูกขุนช้างพลัดจากจุง |
ขโมยทิ้งหาบผลุงยั่นสู้หวา |
กระโชกไล่ชาวบ้านทะยานคว้า |
ฉาดฉับรับราเข้าฟันกัน |
เสียงกริ่งโกร่งกร่างปืนผางผึง |
เอะอะอึงคะนึงเป็นจ้าละหวั่น |
แทงเปล่าไม่เข้าเหล่าขโมยนั้น |
มันยิ่งโกรธโลดถลันไล่ฟันมา |
ชาวบ้านล้มตายลงก่ายกอง |
บ้างเจ็บปวดเลือดนองร้องเหวยหวา |
ขุนศรีวิชัยไล่ฟันฝ่า |
พบจันศรวิ่งร่าเข้ารบกัน |
ถือหอกกลอกกลับทั้งสองข้าง |
ยกเท้าก้าวย่างดังกังหัน |
ท่วงทีหนีไล่พัลวัน |
รบรุกบุกบั่นประจัญบาน |
จนหอกต่อหอกออกเป็นประกาย |
ทั้งสองนายฤทธาต่างกล้าหาญ |
เรี่ยวแรงแทงปะทะระราน |
ทนทานหักโหมเข้าโรมรัน |
สิ้นท่าคว้าชิดเข้าบิดหอก |
กลับกลอกกุมจับขยับหัน |
เล่นจนสุดฤทธิ์เข้าชิดกัน |
กอดคอพัลวันล้มกลิ้งไป |
พวกอ้ายขโมยพร้อมล้อมจับตัว |
เอาดาบสับหัวหาเข้าไม่ |
ผูกคอแทงผึงตึงตึงไป |
ดังว่าแทงขอนไม้ไม่เข้ามัน |
เอาดาบฟันผ่าลงบ่าฉับ |
เยินยับหักร้นไปจนกั่น |
ขโมยว่าอ้ายนี่มันดีครัน |
หอกดาบหักสะบั้นยับเยินไป |
จึงมัดตีนคุดคู้ดังหมูปิ้ง |
ทั้งแทงทั้งยิงหาเข้าไม่ |
อ้ายขโมยอิดหนาระอาใจ |
นี่จะทำอย่างไรพอได้คิด |
จึงเอาหลาวตำรูทวารไป |
ขุนศรีวิชัยก็ดับจิตร |
ตายอยู่กลางป่าหลับตามิด |
อ้ายขโมยทำฤทธิ์ยิงปืนไฟ |
พากันโห่ร้องไปก้องป่า |
ข้าวของตกบ่าหาเก็บไม่ |
ชาวบ้านครั้นคร้ามไม่ตามไป |
เที่ยวซุกซ่อนนอนไพรด้วยความกลัว ฯ |
๏ ครั้นเวลารุ่งสว่างนางเทพทอง |
ชวนพวกพ้องเข้าป่าหาผีผัว |
แม่ลูกงกงันตัวสั่นรัว |
เที่ยวค้นคว้าหาทั่วทั้งชายไพร |
มาประสบพบผีตีอกผลุง |
นมยานฟัดพุงรํ่าร้องไห้ |
โอ้พ่อเพื่อนยากจากเมียไป |
มาทิ้งลูกเมียไว้ให้เอกา |
กรรมจริงสิ่งใดให้ตายโหง |
กลิ้งอยู่โล้งโต้งที่กลางป่า |
ชาติก่อนเห็นพ่อจะเสียบปลา |
ชาตินี้เขาจึงฆ่าเสียบพ่อไว้ |
ดูสมเพชเวทนาหนักหนานัก |
ช่วยกันชักหลาวผลุดหลุดออกได้ |
ขุนช้างกอดศพซบรํ่าไร |
กลิ้งเกลือกเสือกไปไห้โศกา |
โอ้ว่าเจ้าประคุณผู้เพื่อนยาก |
ตายจากลูกไปไม่เห็นหน้า |
พ่อทิ้งลูกไว้ให้กำพร้า |
ควรฤๅโจรป่ามันฆ่าตาย ฯ |
๏ ที่นี้จะกล่าวถึงบ่าวข้า |
วิ่งกรูกันมาเป็นมากหลาย |
ร้องไห้รักวุ่นถึงมุลนาย |
ฟูมฟายน้ำตาอยู่อึงคะนึง |
เสียงหวีดหวาดเหวยหวายที่ชายป่า |
บ้างบ่นบ้าตีอกอยู่ผึงผึง |
สิ้นบุญมุลนายร้องไห้อึง |
ที่พึ่งสิ้นแล้วรำพันไป |
ครั้นว่าค่อยคลายวายโศกา |
หามศพเข้ามาหาช้าไม่ |
ฝังไว้ป่าช้าแล้วคลาไคล |
กลับเข้าไพรตรวจตราหาทรัพย์พลัน |
แต่บรรดาข้าวของขโมยทิ้ง |
ตกกลิ้งกลางป่าพนาสัณฑ์ |
เก็บมาได้จบครบครัน |
ก็ชวนกันขนกลับไปฉับไว ฯ |
๏ จะกล่าวกลอนถึงพันศรโยธา |
เพื่อนไปค้าละว้ามาเป็นไข้ |
ศรีประจันรักษาระอาใจ |
แต่คลายคลายแล้วก็ให้ป่วยหนักมา |
ด้วยปิศาจมันเข้าประจำตัว |
ให้อยากหมูเนื้อวัวอั่วพล่า |
ยัดคำโตโตโม้เต็มประดา |
แลบลิ้นปลิ้นตาเจียนบรรลัย |
นางศรีประจันตกใจจ้าน |
ไปนิมนต์สมภารหาทันไม่ |
พันศรโยธาก็สิ้นใจ |
บ่าวข้าร้องไห้อยู่อึงคะนึง |
นางพิมตกใจร้องไห้จ้า |
มือเช็ดน้ำตาวิ่งมาถึง |
ศรีประจันล้มคะมำลงต้ำตึง |
ตีอกผางผึงทูนหัวเมีย |
พ่อไม่คิดถึงออพิมพิลาไลย |
ช่างสลัดตัดใจทิ้งไปเสีย |
สงสารลูกน้อยละห้อยละเหี่ย |
พ่อมาทิ้งลูกเมียให้เอกา |
แต่ก่อนร่อนชะไรไปร้อยทิศ |
พ่อยังครองชีวิตมาเห็นหน้า |
ครั้งนี้ชะล่าใจให้มรณา |
ตั้งแต่จะลับตาไปทุกวัน |
นางพิมพิลาไลยร้องไห้งอ |
เข้ากอดศพพ่อแล้วโศกศัลย์ |
พ่อเอ๋ยเคยเห็นอยู่ทุกวัน |
ถึงเจ็บไข้เช่นนั้นก็ยังดี |
พอได้ฝนหยูกยาหาให้กิน |
มาตายสูญสิ้นไปเมืองผี |
ลูกมิได้ปฏิบัติพัดวี |
ค่ำวันนี้ลูกรักจักเห็นใคร |
เหย้าเรือนจะเย็นเป็นป่าช้า |
หม้อยาจะราแล้วพ่อข้าไหว้ |
ฟูกผ้าเสื่อสาดกลาดเต็มไป |
จะปูไว้ให้ใครเล่าพ่ออา |
ฝ่ายว่าวงศาคณาญาติ |
ตกใจหวีดหวาดร้องเหวยหวา |
พากันรํ่าไรอยู่ไปมา |
ครั้นคลายโศกาก็พร้อมกัน |
อาบน้ำศพแล้วทาขมิ้น |
ผ้าขาวหุ้มสิ้นตราสังมั่น |
เข้าไม้ไว้ในเรือนใหญ่นั้น |
คํ่าสวดทุกวันหลายคืนมา ฯ |
๏ อยู่มาศรีประจันเทพทอง |
ทั้งสองตรองตรึกแล้วปรึกษา |
ผัวเราสิม้วยมรณา |
ครั้นจะนิ่งไว้ช้าก็ไม่ดี |
จำจะแต่งการศพเสียให้ได้ |
อย่าให้ลำบากแก่ซากผี |
คิดพร้อมใจกันในทันที |
นิมนต์สมีขรัวส้มท่านสมภาร |
จึงให้แต่งการศพที่วัดเขา |
ช่างเชาฉลุฉลักจักสาน |
บ้างก็ทำตาชะแลงแผงเพดาน |
ปลูกเมรุผูกม่านไว้เบื้องบน |
ช่างระทาดอกไม้ไฟพะเนียง |
แต่งแม่ครัวเลี้ยงไม่ขัดสน |
พลุประทัดจัดสรรจังหันกล |
จุดบนทิ้งนํ้าดำผุดไป |
แบบโลงทำด้วยทองอังกฤษ |
ติดลวดหนวดโตดอกไม้ไหว |
เป็นกนกรกเรี้ยวเกี่ยวกันไป |
กระจกขาวเขียวใส่ไว้แวววาม |
ที่หน้าบันปั้นภาพอร่ามตา |
เป็นอินทราขี่คชเศียรสาม |
รัดเกล้าเหมทองผ่องเพรางาม |
กระจังตามบัวแย้มแกมกันไป |
ครั้นเสร็จก็ชักทั้งสองศพ |
เวียนประจบแล้วตั้งในเมรุใหญ่ |
ปี่กลองครํ่าเคร่งโหม่งเหม่งไป |
ค่ำจุดดอกไม้ไฟพะเนียง |
ประทัดพลุผลุตึงอยู่ผึงผาง |
จังหันกรวดวางครางส่งเสียง |
โป้งปีบตับราวปิ๊วป๊าวเปรี้ยง |
จอหนังตั้งเรียงเล่นครื้นไป |
ครั้นแสงทองส่องฟ้าเพลาสว่าง |
พระสงฆ์ลงสามสร้างไม่ช้าได้ |
มีโขนหุ่นชักอยู่ขวักไขว่ |
เลี้ยงพระถวายไตรไทยทาน |
ครั้นครบสามวันก็ปลงศพ |
ญาติกามาครบอลหม่าน |
ฉลองธาตุถวายกระจาดท่านสมภาร |
แล้วเลิกกลับเข้าบ้านในทันที ฯ |